วันศุกร์ที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ดังตฤณวิสัชนา On Air ครั้งที่ ๖๔ / วันที่ ๑๕ มิ.ย. ๕๕

« กลับสู่สารบัญเรียงตามครั้งที่ออกอากาศ

สวัสดีครับทุกท่าน วันนี้วันศุกร์ที่ ๑๕ มิถุนายน ๒๕๕๕ นี่คือรายการดังตฤณวิสัชนา ผมดังตฤณมาตอบคำถามให้คุณเป็นเวลาครึ่งชั่วโมง ทุกคืนวันจันทร์ พุธ และศุกร์ เวลาสามทุ่มตรงนะครับ ก็อย่างเคย ถ้าจะทักทายไถ่ถามเข้ามาในรายการ ให้เข้าไปที่เฟสบุ๊ค http://www.facebook.com/HowfarBooks

สำหรับวันนี้นะครับ เป็นวันศุกร์ที่หลายๆคนก็คงจะได้เวลาดีใจ เดี๋ยวพรุ่งนี้ก็เป็นวันหยุดนะครับ ถ้าหากว่าอากาศช่วงนี้มันมีความรู้สึกว่าน่าจะสบายขึ้น ก็คงจะมีกะจิตกะใจคิดไปพักผ่อน หรือว่าพาใครที่ใกล้ตัวไปเที่ยวกัน แล้วก็สำหรับคนที่เจริญสติได้พอสมควรแล้วนี่ ก็อาจจะอยากจะปลีกวิเวกไปบ้าง เพราะว่าช่วงนี้ พูดถึงทั้งสภาพอากาศและสภาพความรู้สึกที่มันมีอยู่โดยรวมก็น่าจะดีขึ้น หลังจากผ่านช่วงร้อนๆมา



๑) ทำอย่างไรกับพวกขี้เสี้ยม ยุแยงให้คนทะเลาะกัน?

พวกที่ชอบนินทาว่าร้ายหรือว่าใส่ไคล้ หรือว่ายุให้รำ ตำให้รั่ว หรือว่าเขาอยู่กันดีๆไม่ชอบ มีความทุกข์ อยากจะมีความสุขด้วยการเห็นเขาทะเลาะเบาะแว้งกันนี่ ก็จัดเป็นพวกที่อยู่ในกลุ่มคนที่ละเมิดศีลข้อมุสาวาท ถ้าหากว่าเรามองผลของกรรมของเขา ที่เขาจะต้องประสบอยู่แล้วนี่ก็คือ วันๆไม่มีความสุขที่แท้จริงหรอก มีความสุขมีความสะใจที่ได้เห็นคนอื่นเขาตีกัน เวลาตัวเองยุแยงตะแคงรั่วได้สำเร็จ แต่ว่าความร้อนหรือความทรมานใจ ความกระวนกระวายใจ ที่มันมีอยู่ในหมู่คนพวกนี้นี่นะ ไม่สามารถจะนอนอย่างเป็นสุขได้ ไม่สามารถจะนั่งอยู่เฉยๆแล้วหมดความฟุ้งซ่านไปได้ วันๆมีแต่กลุ่มความคิดแบบที่มันมีอาการโป้งป้าง มีอาการทุรนทุราย มีอาการกระสับกระส่ายไม่อยู่นิ่งนะครับ

ผมเคยเห็นนะบางคน ชอบธรรมะนี่แหละ แล้วก็โดยสภาพทั่วไปภายนอกนี่ ผิวๆเหมือนกับมีความเย็น เหมือนกับอยากจะเอาดี อยากจะได้ดีทางธรรม แต่ด้วยนิสัยติดตัวที่เห็นคนมีความสุขกันไม่ได้ มันไปกระตุ้นให้ส่วนลึก เกิดปฏิกิริยาขึ้นมา อยากจะเห็นคนตีกันมากกว่า อยากจะเห็นคนเข้าใจผิดกันมากกว่า อย่างบางทีก็เริ่มต้นจากข้ออ้างด้วยตัวเองนะ บอกตัวเองว่าไหนลองดูซิ ที่เขาดีกันนี่ ดีจริงหรือเปล่า จะลองของ จะทดลองดูว่าทองมันจะเป็นทองแท้หรือเปล่า ทำตัวเป็นหินลองทอง ก็พอยุให้เขาเหมือนกับเข้าใจผิดกันได้นี่ ก็จะมีความรู้สึกกระหยิ่มใจ มีความสะใจ ว่านี่ไง เห็นมั้ย ไม่ได้ดีกันจริง ไม่ได้มีความรักกันจริง

คือมันไม่มีใครเอาความคิดมาพูดกันนะ ปกติคงไม่มีใครมาบอกหรอกนะว่า นี่ชั้นไปยุให้คนเขาตีกันก็เพราะว่ามีความสุขที่ได้เห็นสันติภาพมันหายไป กลายเป็นสงครามขึ้นมาแทน มันไม่มีใครพูดกันว่าตัวเองคิดอย่างนี้ แต่ตัวธรรมชาติของจิตเอง และตัวธรรมชาติของกรรมวิบากเอง เขาเห็น เขารู้อยู่ ว่าเกิดอะไรขึ้นที่เป็นเจตนาปรุงแต่งใจ มีความคิดชั่วร้ายเกิดขึ้น และไม่นิยามนะ คนที่ทำนี่จะไม่นิยามนะว่านี่คือเป็นการคิดชั่วร้าย แต่เป็นการคิดว่า เออนี่จะลองดูซิ ว่านี่เขาจะดีกันจริงไหม หรือไม่ก็อาจจะมีข้ออ้างต่างๆนานา โดยที่สุดสรุปแล้วนี่ มันมีอาการเล็งของใจ ว่าอยากให้เขาตีกันนั่นแหละ มันก็หนีไปเป็นอื่นไม่ได้ มันมีเจตนาชั่วร้ายนั่นแหละ

ส่วนที่ถามว่า จะทำอย่างไรกับคนพวกนี้ ถ้าหลักการที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ ท่านบอกว่า ‘คนเขาร้ายมาอย่างไร เราก็ให้ดีเป็นตรงกันข้ามกลับไป’ เขาโกหกมา เราพูดคำจริงไป เขายุแยงตะแคงรั่วมา เราก็ส่งเสริม สรรเสริญบุคคลที่ควรส่งเสริม สรรเสริญ ให้เขาเห็น ให้เขาเห็นเป็นตัวอย่างว่าการตัดสินใจที่จะทำให้เกิดสันติภาพ การตัดสินใจที่จะทำให้เกิดความปรองดองกัน การตัดสินใจที่จะทำให้มีความคิดดีๆเกิดขึ้นต่อกันมันเป็นอย่างไร ทำให้เขาเห็น

แล้วก็ถ้าเรามีความจริง มีความเป็นของจริง คือใจของเรานี่ อยากจะให้เกิดความรู้สึกสมานฉันท์ ให้เกิดความรู้สึกที่ดีต่อกันจริงๆไม่ได้มีความคิดแอบแฝงอะไรอยู่ ไม่ได้มีประเภทที่ว่าซ่อนมีดไว้ข้างหลัง ปากปราศรัยน้ำใจเชือดคออะไรแบบนี้ ความดีจริงๆของเรานี่ อาจจะทำให้เขาเกิดความรู้สึกอยากจะเอาดีตามได้บ้าง นี่คือหลักการของพระพุทธเจ้านะ คือว่าถ้าเรามีดีเป็นแรงบันดาลใจให้เขาเห็นได้ หรือว่ามีพลังแห่งความสว่างมากพอที่จะไปกลืนความมืดของเขา คือสว่างพอที่จะไปขับไล่ความมืดในใจของเขาได้ อะไรก็แล้วแต่ที่เป็นขั้วตรงข้ามกับสิ่งที่เขาทำอยู่ สิ่งที่เขาเป็นอยู่ วันหนึ่งมันอาจจะชนะได้ ถ้ากำลังของเรามีมากพอ แล้วก็ตัวเราเป็นของจริงนานพอ

ตามหลักที่มีไว้ในอภิธรรมก็คือ ‘กำลังของกุศล อยู่เหนือกว่ากำลังของอกุศล’ พูดง่ายๆว่าถ้าน้ำหนักความดีกับความชั่ว เอามาชั่งวัดกัน สมมุติว่ามีปริมาณน้ำหนักห้าสิบห้าสิบเท่ากันนี่ ตัวความสว่างมันจะชนะ ตัวกุศลจะชนะอกุศล นั่นเพราะอะไร? ก็ขอให้คิดดูง่ายๆก็แล้วกันนะครับว่า เวลาอยู่ในที่มืด แล้วมีแสงสว่างผุดขึ้นมานี่ ความมืดกับความสว่างอันไหนชนะ คือแม้กระทั่งว่าเป็นไฟฉายดวงเล็กๆนะครับ ก็สามารถทำให้ความมืดในอาณาบริเวณกว้างขวางนี่มันหายไป กลายเป็นการเห็นว่ามีทัศนียภาพอยู่อย่างไรในบริเวณรอบๆ หรือว่าเราสามารถที่จะมองจากที่ไกล แค่ไฟฉายดวงเล็กๆนี่ มันสามารถเห็นได้ไกลเป็นกิโลๆ หรือแม้กระทั่งดวงดาวนะครับ อยู่ห่างออกไปเป็นร้อยๆปีแสง เป็นล้านๆปีแสง ก็ยังสามารถที่จะเห็นได้ ถึงแม้ว่าจะต้องกินเวลานานหน่อย กินเวลาเป็นร้อยปี กินเวลาเป็นล้านปี กว่าจะได้เห็นแสง แต่ก็ได้เห็น ทั้งๆที่มันวิ่งผ่านความมืดของจักรวาลอันกว้างใหญ่ไพศาลมา อุตส่าห์มากระทบตาเราได้

ตรงนี้แหละที่โดยธรรมชาติ แสงสว่างชนะความมืด แสงสว่างเห็นจากที่ไกลได้ ยิ่งถ้าหากว่าเรามีกลุ่มสังคมที่มีความสว่างมากพอ สมมุติว่ามีดีซักหมื่นคน มันอาจจะชนะความมืดของคนเป็นแสนหรือเป็นล้านได้ ก็อย่างที่เปรียบเทียบให้ฟังว่า ในห้องมืดถ้าหากว่าเราฉายแสง แค่แม้แต่ไฟฉายดวงเล็กๆก็สามารถที่จะเอาชนะความมืดได้

ตรงนี้นะครับพระพุทธเจ้าท่านตรัส สรุปก็คือ ถ้าเราเห็นคนชั่วอย่างไร ให้เราทำดีเป็นตรงกันข้ามอย่างนั้น แล้วถ้าหากว่าความดีของเราจริงพอ นานพอ ก็จะเอาชนะความชั่วได้ในที่สุด นะครับ อันนี้เป็นหลักการ ส่วนรายละเอียดนี่ก็รู้ๆกันน่ะนะว่ามันไม่ใช่ง่ายๆหรอก ไม่ใช่เรื่องง่ายๆที่เราจะไปเปลี่ยนนิสัยของคนที่ติดไปแล้ว มีความเคยชินอย่างนั้นไปแล้ว จะให้เขาเปลี่ยนแปลงกันง่ายๆนี่มันคงไม่ใช่ของที่จะทำกันได้หวานๆ



๒) ทำอย่างไรให้เขาตระหนักถึงความเป็นครู และมีความรับผิดชอบในหน้าที่ของตนได้? เคยบอกไปแล้ว แต่เขาก็เกลียดเราไปเสียอย่างนั้น?

อันนี้เข้าใจว่า คงหมายถึงว่า มีครูบาอาจารย์ที่ไม่ค่อยจะรับผิดชอบ เดี๋ยวนี้มีเยอะเลย ที่มีหน้าที่ของครู แต่ไม่มีจิตวิญญาณของความเป็นครูนะ อาจจะไม่มีความรับผิดชอบในหน้าที่การสอน หรืออาจจะประพฤติตนไม่ค่อยสมกับความเป็นครูด้วยประการต่างๆนี่ ในฐานะของศิษย์ การที่เราจะไปเตือนคนที่เป็นครูบาอาจารย์ ที่เขามีความรู้สึกว่ามีฐานะเหนือกว่าเราอยู่นี่ก็คงยากหน่อย แต่ถ้าหากว่ารวมกลุ่มกัน คือไม่ใช่เตือนกันเป็นคนๆ ไม่ใช่เอาตัวเราแค่คนเดียวไป แต่ว่ารวมกลุ่มเพื่อนที่เขามีความเห็นตรงกับเรา ว่าครูไม่ทำหน้าที่ของครูที่ดีนะครับ ก็อาจจะทำให้เกิดความรู้สึกขึ้นมาได้

เพราะว่าคนๆหนึ่ง ก็ขอให้นึกนะว่าอัตตา นึกถึงอีโก้ของคนๆหนึ่ง อยู่ๆใครจะมาติ ใครจะมาว่านี่ ต่อให้ผิดจริงก็จะมีความรู้สึกไม่ดี และไม่อยากยอมรับ อยากจะเข้าข้างตัวเองว่าตัวเองทำในสิ่งที่ดีอยู่แล้ว เป็นในสิ่งที่เหมาะสมอยู่แล้ว หรือว่าเป็นสิ่งที่ไม่น่าแตะต้องได้อะไรแบบนั้น เป็นอันทัชเอเบิลอะไรแบบนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่มีอาชีพที่เป็นที่เคารพ อย่างเช่น จะเป็นหมอ จะเป็นครู จะเป็นภิกษุ หรือจะเป็นคนที่อยู่ในระดับการปกครองบ้านเมือง อะไรต่างๆนี่ ฐานะของคนเหล่านี้เป็นอีโก้ที่มันเสริมอีโก้เดิมของมนุษย์ธรรมดาคนนึงให้หนาขึ้น บอกว่าเราอยู่ในฐานะที่ไม่ควรจะเป็นที่แตะต้องได้ เป็นที่ถูกกล่าวว่าได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับคนที่อยู่ในฐานะต่ำกว่า

เอาง่ายๆก็แล้วกันนะครับ ถ้าเปรียบเทียบเห็นได้ชัดที่สุด คนที่เกิดก่อน เอาแค่ปีเดียวหรือสองปีนี่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในไทยเราก็จะนับถือเรียกพี่เรียกเชื้อนะครับ ซึ่งเป็นมารยาทอันดีของไทย เป็นมารยาทที่ทำให้จิตใจอ่อนโยน แต่คนที่มีความรู้สึกถือตัวไปแล้ว ว่าตัวเองเกิดก่อน แม้กระทั่งปีหรือสองปีนี่ แค่เกิดก่อนนะ มันไม่ยอมรับความผิดหรือว่าไม่อยากจะได้รับคำเตือนจากคนที่อ่อนเยาว์กว่าแล้ว นี่ง่ายๆเลยนะ อีโก้ของคนเรานี่ ถ้าหากว่าอยู่ในฐานะที่เหนือกว่า แม้กระทั่งอายุนี่ ก็ไม่อยากจะรับฟังจากคนที่อายุน้อยกว่า

ทีนี้ถ้าเป็นอาจารย์ แล้วเราเป็นลูกศิษย์ แล้วเราคนเดียวไปเตือน มันจะเกิดความรู้สึกอย่างไร ทั้งอ่อนอาวุโสกว่า และก็อยู่ในฐานะที่เป็นลูกศิษย์ โดยความทรงจำของคนนี่ มันจะจำเป็นฐานะนะครับว่า อันนี้อยู่เหนือกว่า หรือต่ำกว่าเรา หรือเสมอกับเรา ถ้าบอกว่าเป็นลูกศิษย์มาหน้าเดียวนี่ มาคนเดียว มาหัวเดียวโดดๆนี่ ก็จะเกิดความรู้สึกไม่พอใจขึ้นมา หรือเกิดความรู้สึก ต่อให้ยอมรับว่าเป็นความผิดของตัวเองจริงๆแต่มันก็จะไม่สะเทือน จะไม่มีความรู้สึกว่านี่มีความสำคัญพอที่จะต้องไปนำพา แต่ถ้าหากว่ารวมกลุ่มกันแล้วไปพูดดีๆพูดแบบขอร้อง พูดแบบมีสัมมาคารวะ พูดแบบที่มีความเกรงอกเกรงใจ มีความนับถือกัน มันจะเกิดความรู้สึกผิดขึ้นมา เพราะว่าพลังของกลุ่มคนมันจะเอาชนะความรู้สึกเกี่ยวกับเรื่องของฐานะสูงกว่าหรือต่ำกว่าได้

สังเกตไหม หรือแม้กระทั่งว่าคนที่มีอาวุโสมากๆเวลาที่ไปพูดในที่ประชุม ถึงแม้ว่าผู้ฟังจะเป็นกลุ่มบุคคลที่มีฐานะด้อยกว่า บางทีก็ต้องมีการไหว้กัน อย่างไหว้ออกทีวีอย่างนี้ ต่อให้เป็นคนระดับปกครองของประเทศ ก็ยกมือไหว้ประชาชน นี่แสดงให้เห็นนะว่า กลุ่มพลังนะครับ ถ้าหากว่ามีจำนวนมากพอ มันเอาชนะเรื่องของความรู้สึกเหนือกว่าต่ำกว่าไปได้ด่านหนึ่ง

ด่านที่สองก็คือ พูดอย่างไร พูดอย่างไรถึงจะทำให้เกิดการยอมรับ ถึงจะทำให้เกิดการสำนึกผิด ถ้าอยู่ๆขึ้นมาเสียงแข็ง ไปขึ้นเสียง ไปตะคอก ไปข่มขู่ เห็นว่าตัวเองมีพลัง กลุ่มของตัวเองมีพลังพอที่จะเอาชนะได้ แบบนั้นจะก่อให้เกิดปฏิกิริยาทางใจ เป็นการเอาแพ้เอาชนะกัน ซึ่งธรรมดาของมนุษย์นี่ ถ้าหากว่าพูดเอาแพ้เอาชนะกัน โดยที่ไม่ได้รู้สึกว่าอีกฝ่ายดีกว่าตนนี่นะ มันสู้ขาดใจ มันไม่มีใครยอมใคร แต่ถ้าหากว่ากลุ่มพลังของเราตกลงกันอย่างดิบดี นัดหมายกันว่าจะพูดอย่างไร ใช้น้ำเสียงแบบไหน นั่งกุมมือ นั่งเอาขาชิดกันอย่างสำรวม ไม่ได้นั่งไขว่ห้าง ไม่ได้ยืนก๋าแบบทำท่านักเลง หรือว่ามีสายตาที่ดูถูกดูหมิ่นให้เกิดความรู้สึกเอาแพ้เอาชนะกันแล้วนี่ กลุ่มพลังนั้นจะเป็นกลุ่มพลังที่มีอำนาจ มีอิทธิพลทางใจ

ถ้าเราต้องการความรู้สึกผิด เราจะได้ความรู้สึกผิดจากอีกฝ่ายหนึ่ง ถ้าเราต้องการที่จะให้เขาเกิดความรู้สึกสะเทือนใจ ในทางที่จะมีการปรับปรุงตัวในทางที่ดีขึ้น เราก็จะได้ความรู้สึกสะเทือนใจในทางที่ดีนั้น ขอให้จำไว้ว่า กลุ่มพลังที่มีความสามัคคีกัน ที่มีความสามารถในการเรียกร้องความเป็นธรรมด้วยธรรมะ ไม่ใช่ด้วยอธรรม จะได้สิ่งที่ต้องการ

แต่ส่วนใหญ่ในบ้านนี้เมืองนี้นี่นะ เวลาที่เกิดเรื่องเกิดราวขึ้นมาที ก็จะมึงมาพาโวยกัน หรือว่าตีฆ้องร้องป่าว เคาะปี๊บเหมือนกับจะท้ารบกัน นึกว่าตัวเองแน่ กลุ่มตัวเองใหญ่พอ แล้วก็มีความสามารถที่จะเรียกร้องในสิ่งที่ตัวเองอยากได้กัน มุมมองแบบนี้หรือว่าเจตนาแบบนี้นี่มันก่อให้เกิดสงคราม มันไม่ได้ก่อให้เกิดสิ่งที่พึงประสงค์ ไม่ใช่จะได้มาในสิ่งที่ต้องการ ส่วนใหญ่จะได้มาในสิ่งที่ไม่ต้องการ คือเขาก็ไม่ยอม และเราก็จะรบ

ธรรมชาติของมนุษย์ก็จะเป็นแบบนี้แหละ คือพูดกันดีๆไม่ชอบ ชอบพูดกันแบบว่า เออ! กูใหญ่กว่า ข้าแน่กว่า พอเกิดความรู้สึกว่าพวกข้าแน่กว่า พวกกูใหญ่กว่านี่มันก็กลายเป็นสงครามกลางเมืองกันไม่รู้กี่ครั้งกี่หนในโลกนี้ นี่ก็เพิ่งมีข่าวไป ช่างกลตีกันไม่พอ เอาปืนมายิงคู่อริถึงบนรถเมล์นะ แล้วก็มีคนโดนลูกหลงตายไปด้วย อายุ ๔๘ ปี เป็นผู้หญิง คือฟังแล้วมันสลดหดหู่ใจนะครับ ส่วนใหญ่ก็จะเกิดจากความรู้สึกแบบดิบๆน่ะ

ตัวผมเองช่วงวัยรุ่นเคยมีเพื่อนมาทุกแบบนะครับ ก็เข้าใจว่าเขารู้สึกอย่างไรกัน ไอ้อาการยอมไม่ได้ อาการที่มีความรู้สึกว่าข้างข้าเป็นพระเอก ข้างข้าเป็นฝ่ายถูก ข้างข้าเป็นฝ่ายที่สมควรจะได้รับชัยชนะ สมควรที่จะยิ่งใหญ่ สมควรที่จะมีศักดิ์ศรีอะไรแบบนี้ ซึ่งโลกเขาเป็นกันอย่างนี้นะครับ เราก็เป็นกันอีกอย่างหนึ่งก็แล้วกัน ที่เรามาคุย ที่เรามาฟังในสิ่งที่เรียกว่าธรรมะนี่ มันก็คือสิ่งที่เป็นความสว่าง เป็นสิ่งที่จะเป็นแนวทาง เป็นเส้นทางที่จะได้มาซึ่งความสุข ไม่ใช่ความทุกข์นะครับ



๓) เป็นคนที่เซนซิทีฟมาก ออกแนวขี้แง ใครพูดให้เสียใจนิดเดียวก็น้ำตาซึม ดูหนังเศร้าหรืออ่านหนังสือเศร้าก็ร้องไห้ได้ อยากขอแนวทางหรือวิธีรับมือกับอารมณ์แบบนี้? พยายามดูจิตตอนที่มันเป็น ตอนที่มันเซนซิทีฟ แต่ก็ไม่สำเร็จ เพราะเหมือนจิตมันอยากไปอยู่กับอารมณ์นั้นมากกว่าจะเป็นผู้รู้ผู้ดู

ถ้าเซนซิทีฟมากไป มันมีผลเสียหลายอย่าง คือ จิตใจเราจะหวั่นไหวง่าย มันมีผลกระทบไปหมด ไม่ใช่เฉพาะตอนที่เราจะร้องไห้ง่ายหรือว่าจะเกิดความเศร้าโศกได้ง่ายเพียงอย่างเดียว แม้กระทั่งว่าความสามารถในการดูจิต แม้กระทั่งความสามารถที่จะเจริญสติ มันก็จะพลอยถดถอยหรือว่าถูกบั่นทอนกำลังไปด้วย กำลังของสตินี่นะ มันอาศัยความเป็นอุเบกขา ความเป็นสมาธิมาเป็นฐาน มาเป็นตัวพื้นยืน ถ้าหากว่าขาดอุเบกขา ขาดสมาธิ โอกาสที่จะมีความหวั่นไหว โอกาสที่จะดูไม่ได้ เห็นไม่เป็น มันก็มีสูง นี่เราพิจารณาถึงโทษของความเป็นคนเซนซิทีฟ

เห็นอย่างนี้แล้ว การที่เราจะไปพยายามดูมันอย่างเดียว ซึ่งมันดูไม่ไหว นึกออกใช่ไหม คือถ้าเราเป็นคนเซนซิทีฟอยู่แล้วนี่ สภาพพื้นจิตพื้นใจมันก็ไม่เป็นอุเบกขา มันมีความหวั่นไหวได้ง่าย มันมีความเสียศูนย์ได้ง่ายกว่าที่จะมีโอกาสตั้งมั่น มีความกระสับกระส่ายไป ซัดส่ายไปมากกว่าที่จะวางเฉยได้ เพราะฉะนั้นก็ต้องฝึก ฝึกไว้ก่อน หรือว่าเสริมความเป็นอุเบกขาไว้ก่อนที่มันจะมีเรื่องกระทบให้เกิดความหวั่นไหว การที่เราจะฝึกได้นะ ก็ต้องหาสิ่งที่มันสมควรจะมากระทำกับจิตแล้วก่อให้เกิดความเฉย ก่อให้เกิดความวางเฉยในทางที่ดี คือไม่ไปยินดียินร้ายกับมันมากมายนัก อย่างเช่นที่พระพุทธเจ้าคะยั้นคะยอมากที่สุดก็คือให้ดูลมหายใจ ขอให้ทำความเข้าใจอย่างนี้ก่อน คือถ้ามันไม่มีความเข้าใจนี่บางทีมันจะไม่มีกำลังใจ ไม่มีแก่ใจ แต่ถ้าเข้าใจแล้ว เห็นคุณค่าแล้ว ก็จะทำให้รู้ว่าทำไมพระพุทธเจ้าถึงคะยั้นคะยอมากมายขนาดนั้น

การที่เราเห็นลมหายใจอยู่นี่ มันมีอยู่แค่ ๒ อย่าง คือ เข้ากับออก ถ้าไม่มีอาการยาวก็มีอาการสั้น ถ้าไม่เข้าเลย ไม่ออกเลย ก็มีอาการหยุด มีอยู่แค่นี้ ภาวะซ้ำไปซ้ำมาอยู่แค่นี้ ไม่ก่อให้เกิดความรู้สึกที่ว่า เออ! ยินดีนะที่เราหายใจได้ เออ! ยินดีนะที่เราระบายลมหายใจออกได้ มันไม่มีอาการดีใจ แล้วก็ไม่เสียใจด้วยที่ลมหายใจมันหยุดไป มันมีแต่ภาวะที่ซ้ำไปซ้ำมา และบอกกับเราว่าธรรมชาติของมันมีอยู่อย่างนี้ เดี๋ยวก็เข้าเดี๋ยวก็ออก เดี๋ยวก็ยาว เดี๋ยวก็สั้น ถ้าไม่เข้าไม่ออกก็คือหยุด ไม่ได้ไปปรุงแต่งให้จิตใจเกิดความรู้สึกหวั่นไหวอะไรขึ้นมาได้

ประเด็นก็คือถ้าหากว่าเราเห็นอารมณ์ที่เป็นคุณ คือสิ่งที่ทำให้ใจนี่ไม่เกิดความยินดียินร้าย นานๆเข้ามันปรุงใจให้เกิดความรู้สึกเป็นกลางๆ เพราะว่าจิตรู้อยู่กับอะไรโดยมาก จิตก็มีความสอดคล้องกับสภาพแบบนั้น รู้อยู่กับลมหายใจเข้า รู้อยู่กับลมหายใจออกโดยมาก มันก็มีความรู้สึกว่า เออ! มีอยู่แค่นี้แหละ เดี๋ยวก็เกิด เดี๋ยวก็ดับ แสดงความไม่เที่ยงออกมา ผ่านการเข้าบ้างออกบ้าง ผ่านการที่มันเป็นสายยาวบ้าง หรือว่าเป็นระลอกเฮือกสั้นๆบ้าง เห็นอยู่แค่นี้ แล้วในที่สุดก็เกิดความตั้งมั่นขึ้นมา ตั้งมั่นอยู่ในความรู้สึกเป็นกลางๆนั่นแหละ ตั้งมั่นอยู่ในความรู้สึกเป็นอุเบกขานั่นแหละ

นี่สิ่งปรุงแต่งให้จิตเป็นอุเบกขาหน้าตาเป็นแบบนี้นะ มันแสดงความไม่เที่ยงให้เห็น และจิตที่มีความอุเบกขา จิตที่มีความตั้งมั่นนี่ มันก็เกิดความวิเวก ตัวความวิเวกนี่แหละที่จะทำให้เกิดอาการปีติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนะครับธรรมชาติของลมหายใจ ถ้าหากว่าถูกปรุงแต่งด้วยจิตที่มีความละเอียดประณีตนะ มันจะยาว และลมหายใจที่ยาวนี่ ก็จะนำความสดชื่นเข้ามามากขึ้น นี่มันทำให้เกิดปีติ ทำให้เกิดความสุข สุขทั้งใจ สุขทั้งกาย ที่ไม่มีความกระสับกระส่าย มีแต่ความวิเวก มีแต่ปีติ

ถ้าลมหายใจของเรานี่ถูกรู้ ถูกดูอยู่เรื่อยๆคือไม่ใช่จำกัดเฉพาะจะต้องมานั่งหลับตาทำสมาธิ ๑๐ นาที ๒๐ นาที แต่ดูอยู่เรื่อยๆระหว่างวัน สังเกตอยู่เรื่อยๆเล่นๆนึกได้เมื่อไหร่ก็สังเกตเมื่อนั้น ทุกครั้งที่เราเห็น จะเป็นทุกครั้งที่อุเบกขามีมากขึ้น สั่งสมมากขึ้น แล้วเราสังเกตนะครับ ถ้าหากว่าจิตของเรามีความผูกพันกับลมหายใจเป็นปกติได้ เวลามีเรื่องอะไรแรงๆมากระทบจิตกระทบใจนะ จะรู้สึกว่าหวั่นไหวน้อยลง จะมีความรู้สึกว่าใจของเรานี่ สะเทือนได้ยากขึ้น นี่แหละคุณของลมหายใจ วิธีดูลมหายใจให้เป็นนะครับ ไม่ใช่จะต้องมานั่งจ้อง เออ! มันกระทบจะงอยจมูกที่ไหน เอาแค่รู้นั่นแหละ รู้แค่ตามที่มันเป็นจริงนั่นแหละว่า เออ! มันกำลังเข้า มันกำลังออก มันกำลังยาว มันกำลังสั้น รู้แค่นั้น ใช้ได้แล้วนะครับ


เอาละครับ คืนนี้ต้องขอลาเพียงเท่านี้นะครับ ราตรีสวัสดิ์ ขอให้เจริญในธรรมทุกท่านครับ


« กลับสู่สารบัญเรียงตามครั้งที่ออกอากาศ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น