วันพฤหัสบดีที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ดังตฤณวิสัชนา On Air ครั้งที่ ๘๗ / วันที่ ๘ ส.ค. ๕๕

« กลับสู่สารบัญเรียงตามครั้งที่ออกอากาศ

สวัสดีครับทุกท่าน วันนี้วันพุธที่ ๘ สิงหาคม ๒๕๕๕ นี่คือรายการดังตฤณวิสัชนา ผมดังตฤณมาตอบคำถามให้คุณเป็นเวลาครึ่งชั่วโมง ทุกคืนวันจันทร์ พุธ และ ศุกร์ เวลาสามทุ่มตรงเช่นนี้นะครับ เพื่อที่จะทักทายและไถ่ถามเข้ามาในรายการนะครับ ให้เข้าไปที่ http://www.facebook.com/HowfarBooks



๑) การที่จิตตัดอารมณ์และอื่นๆออกไปอยู่รอบๆนี้คืออะไรคะ?

ผมเข้าใจว่า คงจะเป็นอาการที่ใจเราถอยออกมา จากการเข้าไปเสพอารมณ์ หรือว่าเข้าไปสัมผัสอารมณ์มากกว่าที่จะตัดออกไปนะ จริงๆแล้วมันก็เข้ามาอยู่กับอาการทางใจนั่นแหละ ถ้าหากว่าจิตนะครับมีความรับรู้เข้ามาที่ใจ หรืออาการทางใจอย่างใดอย่างหนึ่ง ยกตัวอย่างเช่น มีความอุเบกขา มีความเป็นกลาง มีความรู้สึกเฉยๆ ถ้าหากว่าใจของเราเข้ามาเกาะอยู่กับความรู้สึกเฉยๆนั้น ภาพและเสียงที่เข้ามากระทบใจ จะดูเหมือนเลือนรางห่างออกไป หรือดูง่ายๆถ้าประสบการณ์ในชีวิตประจำวันของคนทั่วไป ก็เช่นถ้าหากมีเสียงทีวีดังอยู่อย่างนี้นะ ชัดๆเลย บ๊งเบ๊งๆจากในหนัง ในละคร แต่ว่าเราอ่านหนังสืออยู่แล้วมีความนิ่ง มีความสนอกสนใจ มีความแน่วแน่อยู่กับการอ่านหนังสือ โดยที่ไม่ส่งใจออกไปเกาะเกี่ยวอยู่กับเสียงที่ได้ยินจากทีวี แบบนี้มันก็เหมือนกับมีแบ๊กกราวน์เป็นเสียงทีวี คือแว่วๆเข้ามาแต่ใจเราไม่เสพอารมณ์ คือไม่เข้าไปสนใจ ไม่เข้าไปเงี่ยหูฟัง มันก็รับรู้อยู่นะว่ามีเสียง แต่ว่าก็ถูกตัดออกไป ถูกสกรีนออกไป ไม่ได้เข้ามากระแทกใจเราเต็มที่ ตรงนี้ก็เรียกได้ว่า ใจของเรามีโฟกัสที่ไหน ไอ้สิ่งที่ไม่ได้ถูกโฟกัส ก็จะถูกสกรีนออกไป เข้าใจว่าน่าจะประมาณอย่างนี้นะ



๒) ช่วยอธิบายเกี่ยวกับการที่บางครั้งจิตก็โน้มเข้าไปหาอารมณ์ แต่บางครั้งก็เกี่ยวอารมณ์เข้ามาเสพ คือเห็นแต่อธิบายเองไม่ได้ค่ะ อยากทราบ พอไม่เข้าใจเลยไม่สามารถเรียบเรียงเป็นคำพูดให้ได้เข้าใจมากกว่านี้?

การที่จิตเราโน้มเข้าไปหาอารมณ์ ก็หมายความว่ามีกิเลสดึงเข้าไป หรือว่ามีความใส่ใจที่จะเข้าไปสู่สิ่งนั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นรูปที่เห็นด้วยตา หรือว่าเสียงที่ได้ยินจากหูนะครับ ถ้าหากว่าเราอยากจะฟัง มันจะมีอาการเงี่ยหูฟัง อย่างนี้คือตั้งใจจดจ่อเข้าไป แต่ถ้าเราไม่ได้อยากจะฟังนะ เสียงเข้ามากระทบเอง แล้วก็เกิดความไหวตัว เป็นการรับรู้เสียงเป็นระยะๆ อย่างนี้นะก็เรียกว่าเสียงมันเข้ามา โดยที่เราไม่ได้ส่งใจออกไป

แต่ถ้าพูดถึงความคิด ถ้าผู้ถามจะเน้นถามเกี่ยวกับความคิดนะ ก็เป็นไปได้ที่บางครั้งสัญญาเก่า ที่มันอยู่ๆผุดขึ้นมานึกถึงใครคนหนึ่ง ผุดขึ้นมาเองในหัว โดยที่ไม่ได้ตั้งใจ อย่างนี้เรียกว่าเกิดอดีตสัญญา อดีตสัญญาเข้ามากระทบใจ แล้วใจมีความไหวตัวไปตามสัญญานั้น คือจริงๆแล้วเนี่ย ถ้าอธิบายตามภาษาธรรมมะก็ต้องบอกว่า มีธรรมารมณ์เข้ามากระทบใจ แล้วธรรมารมณ์นั้น การกระทบนั้นก่อให้เกิดสัญญาขึ้นมา สัญญาก็ถือว่าเป็นสิ่งกระทบใจเหมือนกัน คือมันผุดขึ้นมาเป็นสิ่งที่ปรุงแต่งจิต ให้เกิดความจำได้หมายรู้ขึ้นมาว่า เกิดอะไรขึ้น เรานึกถึงสิ่งไหนอยู่ มันก็เป็นระลอกของธรรมารมณ์ที่เข้ามาแบบสุ่มได้ แบบแรนดอมได้ โดยที่ไม่ต้องมีตัวผัสสะกระทบทางตาทางหูจริงๆเสียก่อน

นี่ถ้าหากว่าพูดตามหลักเรื่องสมองอะไรเนี่ย เค้าบอกว่าสมองจะมีคลื่นไฟฟ้าอยู่ตลอดเวลา และคลื่นไฟฟ้าเนี่ย บางทีมันกระตุ้นให้คิดถึงสิ่งที่มันล่วงผ่านมาแล้ว อาจจะลักษณะการกระตุ้นเนี่ย มันไปกระตุ้นให้เราเกิดความรู้สึก เกิดความนึกถึงอารมณ์ที่เรารู้สึกในขณะนั้น มันชวนให้นึกถึงเหตุการณ์อย่างเช่น อารมณ์สุขแบบเปิดๆ อารมณ์สุขแบบปลอดโปร่งก็เตือนให้นึกถึงทะเล ทะเลกว้างๆที่เราเคยไปเที่ยวมา หรือว่ามันกระตุ้นให้เกิดอารมณ์เศร้า ก็อาจทำให้เกิดการนึกถึงคนรักที่จากกันไปแล้ว ทำนองนี้นะ

ซึ่งมันก็เข้าเค้านะ การอธิบายแบบนี้ตามหลักคลื่นสมองตรงนี้เนี่ย เพราะว่าในเรื่องของขันธ์ ๕ เนี่ย เวทนามันมาก่อน ถ้าเกิดเวทนาอะไรขึ้นมา แล้วสัญญามันเกิด มันถึงจำได้ มันถึงเกิดความรู้สึกขึ้นมาเป็นชอบ เป็นชัง แต่ถ้าหากว่าอยู่ๆ เรามีใจจดจ่ออยู่กับใครคนใดคนหนึ่ง แล้วโน้มใจเข้าไปหา เอาใจเข้าไปใส่มากๆ อย่างนี้เค้าเรียกว่าเป็นการที่เราหาเรื่อง จิตของเราหาเรื่อง พูดง่ายๆว่าไม่มีเรื่องมากระทบ มันก็ไปหาเรื่องของมันเอง ก็เข้าใจว่าคงอธิบายในขอบเขต ที่เข้าใจตามหลักของขันธ์ ๕ เพียงเท่านี้นะครับ



๓) เคยนั่งสมาธิต่อเนื่อง ๓ วัน ตั้งแต่ตี ๔ ถึง ๓ ทุ่ม หลังจากเลิกนั่งสมาธิ คืนต่อมาตาจะค้าง ไม่ยอมหลับจนสว่าง กลางวันอีกวันก็รู้สึกว่า ไม่มีความง่วงนอน และก็ไม่รู้จักอ่อนเพลีย ยังคงสดชื่นเหมือนเดิม เรียนถามว่าเป็นเพราะอะไรถึงนอนไม่หลับ แล้วยังไม่ง่วงนอนอีก การนั่งสมาธิเช่นนี้ผิดหรือไม่?

ก็ไม่ผิดหรอก ถ้าตามธรรมชาติเค้าจะปรับตัวของเค้าเองได้ ถ้าหากว่าไม่ง่วงเนี่ยอย่าไปกังวล บางคนเกิดความรู้สึกว่า ตัวเองนอนไม่หลับ สงสัยใกล้จะต้องตาย สุขภาพคงจะแย่ มีอาการผิดปกติ มีอาการปรวนแปรอะไรบางอย่าง

ถ้ามองตามหลักของธรรมชาติ ธรรมชาติเค้ารู้เค้าเอง ว่าเมื่อไหร่เค้าต้องการจะดับเครื่อง เมื่อไหร่เค้ายังไม่พร้อมจะดับเครื่อง ไม่ต้องเป็นกังวล ถ้าเราไม่ได้มีอาการของใจเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย อาการนอนไม่หลับมักจะ ไม่มีอาการกระสับกระส่ายสักเท่าไหร่ ก็นอนเล่นไป แต่ถ้ามีความกระสับกระส่าย มีอาการฟุ้งซ่านเข้าไปเนี่ย จะพลิกไปพลิกมา แล้วก็มีความรู้สึกเหมือนกับว่ายิ่งฟุ้งซ่านหนักขึ้นทุกที

ก็เฉพาะอันนี้พูดในกรณีของคนทำสมาธินะครับ ถ้าหากว่าเราทำสมาธิแล้วมีความตื่นตัวอยู่ จริงๆแล้วเนี่ยท่านแนะนำให้เดินจงกรม อย่าไปฝืนนอน เพราะว่าความพร้อมที่จะทำงานในทางธรรมคือ ทางสมถะและวิปัสสนาเนี่ย มันยังคงมีอยู่ ก็ใช้ให้เป็นประโยชน์ซะ หลายคนสงสัยว่าครูบาอาจารย์ ทำไมท่านเดินทั้งวันทั้งคน นั่งทั้งวันทั้งคืน สลับกัน ก็เป็นเพราะทำนองนี้แหละ สมัยพุทธกาลหรือแม้แต่สมัยนี้ก็มี ที่ท่านบำเพ็ญเพียรชนิดที่เรียกว่าขั้นอุกฤษฏ์ นั่งอย่างเดียวข้ามวันข้ามคืน หรือนั่งสลับเดิน โดยไม่เอนหลังเลย ไม่ใช่เรื่องที่จะทำให้เสียสุขภาพ ถ้าหากว่ามีปีติมีความสุข ที่เกิดจากการนั่งสมาธิหรือเดินจงกรมมากพอนะครับ

เพราะว่าร่างกายจริงๆแล้วเนี่ย เขาก็วิเคราะห์ออกมานะว่า มันไม่ได้ต้องการที่จะพักผ่อนโดยวิธีนอนหลับนะ ตัวร่างกายเองเนี่ย เค้าบอกว่าสิ่งที่ต้องการจะเปลี่ยนโหมด มันคือสมอง อันนี้เป็นความเข้าใจของเค้านะเพราะว่าโดยวิธีสังเกตคลื่นสมองของนักวิทยาศาสตร์ เค้าก็บอกว่า ถ้าหากสมมติว่า มีแต่การตื่นอย่างเดียวไม่มีการนอนเลยเนี่ย คลื่นสมองจะปั่นป่วนมากเกินไป ช่วงของการนอนเนี่ย ต้องมีการปรับคลื่นสมองให้มันมีสภาพที่ไม่ยุ่งเหยิงจนเกินไป ไม่อัดแน่นจนเกินไป เค้าว่าอย่างนั้นนะ ตามข้อวิจัยที่ผมอ่านไว้หลายปีแล้ว ไม่แน่ใจว่าเค้าทำวิจัย ค้นคว้าไปถึงไหนแล้ว

แต่มันก็เข้ากับหลักทางธรรมนะว่า สำหรับคนที่มีปีติ สำหรับคนที่มีความสุขมากๆเนี่ย จิตใจมันไม่ปั่นป่วน มันไม่มีความสับสนระหว่างวันมาก เพราะฉะนั้นก็ไม่จำเป็นที่จะต้องนอนมาก แต่ถ้าหากว่าเป็นคนธรรมดาทั่วไป ที่ทั้งคิดทั้งพูดทั้งทำ ในแบบมีความยุ่งเหยิงอยู่ตลอดเนี่ยนะ จิตมันก็ต้องการช่วงเวลาช่วงหนึ่งที่จะปรับตัว ที่จะทำให้คลื่นของใจเข้าไปอยู่ในอาการที่เหมาะสมนะ อันนี้ก็เดี๋ยวต้องออกตัวนิดนึงว่า นี้เป็นการพูดตามความเข้าใจของผมนะ ตามหลักการแล้วเนี่ย ถ้าพูดในแนววิทยาศาสตร์เค้าก็จะมองว่า เวลาเรานั่งสมาธิหรือว่าเวลาเดินจงกรม จะมีการหลั่งสารอะไรออกมาบางอย่าง ซึ่งทำให้มีความรู้สึกตื่นตัว ทำให้เกิดความรู้สึกอยากจะทำงาน มีความกระตือรือร้น ขยันขันแข็ง กระชุ่มกระชวยอะไรแบบนั้น ก็แล้วแต่จะอธิบายกันไปตามแง่มุม ที่แต่ละฝ่ายตั้งข้อสังเกตไว้

แต่ผมบอกได้อย่างหนึ่ง อันนี้ที่ชัดๆนะครับ ไม่มีใครที่นอนไม่หลับแล้วตาย คือถ้าในกรณีของการนอนไม่หลับนั้น ยิ่งเป็นการนอนไม่หลับอย่างมีความรู้สึกปกติ ไม่ได้มีความเครียด ไม่ได้มีความฟุ้งซ่าน กระวนกระวายนะ ไม่ต้องไปกลัวอะไรทั้งสิ้น ก็ขอให้มันนอนไม่หลับไปเถอะ แล้วก็ใช้เวลาช่วงนั้นนะ อาจจะลุกขึ้นมาเดินจงกรม หรือว่าทำอะไรอย่างอื่นไป จนกระทั่งเกิดความอ่อนเพลีย แล้วค่อยไปหลับก็ได้นะครับ

จริงๆความรู้สึกอ่อนเพลีย ก็เป็นอาการทางกายนะ ที่ต้องการพักผ่อนนอนหลับ ผมขอพูดเสริมเข้าไป เพราะว่าเมื่อครู่นี้ จะพูดในแง่เหมือนกับว่าร่างกายไม่เกี่ยวเลย จริงๆก็แล้วเกี่ยวนะ ความอ่อนเพลียนะ แต่พูดถึงเนี่ยว่า ที่เค้าวิจัยกันออกมาเนี่ยว่า ตัวการที่แท้จริงนะ ที่ทำให้หลับลงไปเนี่ยหรือเราจะต้องพักผ่อนกี่ชั่วโมง กี่ชั่วโมงเนี่ย ว่ากันนะครับว่าเป็นการจัดระเบียบของสมองใหม่



๔) ตามความเห็นของพี่ คนที่ไม่นับถือศาสนาใดๆ มีข้อดีข้อเสียอย่างไรบ้าง?

คนที่ไม่นับถือศาสนาเนี่ย อย่างน้อยที่สุดนะ โดยถ้าเป็นตามที่ได้ยินมาบ่อยที่สุดเนี่ย ก็รู้สึกว่าตัวเองจะได้ไม่ต้องถูกครอบงำ ตังเองจะได้ไม่ต้องถูกเหมือนกับตะล่อม หลอก หรือว่าต้อนให้เข้าไปจนมุม คนที่อยากเป็นตัวของตัวเอง เค้าจะมองนะว่า ความเชื่อทางศาสนาเนี่ย เป็นการต้อนให้เข้าจนมุม เหมือนกับถือโอกาส ฉวยโอกาส ตอนคนกำลังมีความทุกข์อยู่ แล้วก็เอาศาสนามาเผื่อแพร่ มาครอบงำ คนจะยอมกันช่วงนั้น ช่วงกำลังหาทางออกไม่ได้

เสร็จแล้วพอพวกที่เค้ารักอิสระ หรืออยากเป็นตัวของตัวเอง อย่างมากเนี่ยนะ เค้าเห็นอย่างนั้น เค้าก็เกิดความรู้สึกว่า เค้าจะไม่มีทางเป็นอย่างนั้นเด็ดขาด แต่ข้อเสียของความเป็นอิสระมากเกินไปก็คือ กิเลสบอกให้ทำอะไรก็ทำหมด คือไม่ใช่ว่าเป็นอิสระจากความเชื่อ แล้วจะได้เป็นไทแก่ตัวเอง ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์นะ อย่างน้อยที่สุดก็ยังอยู่ในกรงของกิเลสอยู่นั้นแหละ อยู่ในการบีบคั้นของความโลภ ความโกรธ ความหลง แล้วที่นี้พอคนเรามีความโลภ ความโกรธ ความหลง แล้วไม่มีขีดจำกัด ไม่มีกรอบ ไม่มีเกณฑ์อะไร ที่จะไปชี้ว่าอะไรควรทำ อะไรไม่ควรทำเนี่ย บางทีมันก็สับสนนะ

หลายคนที่ผมเคยได้ยิน พูดมาจากปากบอกว่า เค้าไม่ได้ทำให้ใครเดือดร้อน แล้วก็ไม่ได้มีความรู้สึกสงสัยอะไรในชีวิต ไม่ได้มีความอยากจะได้คำตอบอะไร ตรงนี้เนี่ยก็บางทีนะ ถ้าเราติดตามชีวิตเค้าไปจริงๆเนี่ย มันก็ไม่ได้เป็นอย่างนั้นไปตลอดนะ หลายคนที่โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อายุยังน้อยหรือว่าพึ่งอยู่กลางชีวิต แล้วอวดเก่งไว้มากๆเนี่ย ธรรมชาติเค้ามักจะเล่นตลก คือแกล้งให้เข้าสู่ภาวะที่อับจนหรืออับตัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งมาประกาศตัวทางอินเตอร์เน็ต หรือว่าให้เกิดการรับรู้ต่อสาธารณชนนะครับ ว่าชั้นเนี่ยแน่ ชั้นเนี่ยไม่เชื่อหรอกเรื่องกรรมเก่า ไม่เชื่อเรื่องศาสนา ไม่เชื่อเรื่องพระพุทธเจ้า ไม่เชื่อพระเยซู พวกนี้เนี่ยส่วนใหญ่เท่าที่เห็น ไม่ได้บอกว่าเป็นสากลนะ ส่วนใหญ่ประกาศไปไม่นานมันจะมีเรื่อง และเสร็จแล้วเป็นเรื่องที่แก้ไม่ได้ ต้องมีความทุกข์ แล้วก็ที่รู้สึกว่าสามารถพึ่งพาตัวเองมาได้ตลอด สามารถช่วยเหลือตัวเองมาได้ตลอด เอาตัวรอดได้ในทุกสถานการณ์เนี่ย จะมีหมากปราบเซียนนะครับ ที่ไม่สามารถที่จะไปเอาชนะในสิ่งที่มันเป็นโทษมหันต์ ที่เข้ามาถาโถมเข้ามา

และเสร็จแล้วก็มักจะอยู่ในภาวะที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออก จะหันไปนับถือศาสนาไหนก็เสียหน้าหรืออายตัวเอง เพราะประกาศไปแล้วนี่ ว่าตัวเองอยู่มาได้ด้วยตัวเอง ใช้ลำแข้งของตัวเอง ไม่สามารถที่จะเชื่อได้เลยว่าเป็นเรื่องของกรรมเก่า หรือว่าสิ่งศักดิ์สิทธ์ที่ไหนมา

ตรงนี้ก็สรุปง่ายๆก็คือ ข้อเสียของการไม่นับถือศาสนาเนี่ย ถ้าหากว่ามันบวกอาการดูถูกดูหมิ่น หรือว่ามีอาการอวดกล้า ปากเก่งเนี่ย ก็อาจจะมีผลอะไรบางอย่างมาพิสูจน์ใจนะ ว่ามาลองดูซิ ธรรมชาติเค้าอยากจะลองดูซิว่า เออ ที่ประกาศมาแบบนี้แน่จริงรึเปล่า อะไรแบบนี้

แต่ถ้าไม่มีศาสนาแล้วอยู่เงียบๆสงบๆไป แล้วก็ไม่ได้เบียดเบียนใคร ส่วนใหญ่ก็จะไม่มีอะไรนะ คือเท่าที่เห็นมา คนประเภทไม่ได้ไปลบหลู่ดูหมิ่นใครเค้า หรือว่าไม่ได้อวดเก่งอะไรมากมาย ตรงข้ามบางทีช่วยเหลือคน ใครต่อใครรอบข้างเนี่ย ยิ่งกว่าคนที่นับถือศาสนาซะอีก แบบนี้เค้าก็มีความสุขดีนะตามอัตภาพ ตามลักษณะกรรมที่เค้าทำนั้นแหละ พูดง่ายๆโดยสรุปก็คือว่า กรรมเป็นอย่างไรนะ สภาพชีวิตก็เป็นอย่างนั้นแหละ ไม่ว่าเราจะเชื่อหรือไม่เชื่อศาสนาไหนๆนะครับ



๕) จะรู้ได้อย่างไรว่า เมื่อไหร่รู้สึกเฉยๆ เมื่อไหร่ไม่รู้สึกทั้งอยากและไม่อยาก?

ตัวความรู้สึกเนี่ย ถ้าจะสังเกตกันนะครับ อย่าไปสนใจเรื่องความถูก ความผิดมันมากนัก อย่าไปพยายามที่จะอธิบายตัวเอง หรือว่าแปะป้ายกำกับให้ชัดๆ ว่านี่เค้าเรียกว่าสุข นี้เค้าเรียกว่าทุกข์ นี้เค้าเรียกว่าเฉย

พระพุทธเจ้าจริงๆแล้วท่านมีตรัสไว้หลายที่นะ เวทนามันไม่ได้มีแค่สุข ทุกข์ เฉยนะ บางแห่งท่านตรัสไว้แค่ ๒ อย่างเลย สุขกับทุกข์ พูดง่ายๆว่าแม้แต่รู้สึกเฉยๆเนี่ย ก็ให้ถือว่าให้กระเดียดไปทางสุข คือไม่รู้สึกอะไรเลยเนี่ย ก็ถือว่าไม่เป็นทุกข์ ถ้าไม่เป็นทุกข์เนี่ย ท่านให้ถือว่าเป็นสุขหรือกระเดียดไปทางสุขนะ แต่ถ้าหากว่ารู้สึกเฉยๆ แต่มันเบื่อ แต่มันรู้สึกเหมือนกับมันเมื่อยๆ มันล้าๆ ให้ตัดสินว่ากระเดียดไปทางทุกข์ทันที

ช่วงแรกๆ ถ้าเราไม่สามารถจะนิยามว่า นี้เค้าเรียกว่าเฉยๆแน่หรือเปล่าเนี่ย ก็ตันสินอย่างนี้ก็แล้วกันว่า เราชอบหรือไม่ชอบความรู้สึกเฉยแบบนั้น ถ้าชอบ มันไม่เห็นมีอะไร รู้สึกว่างๆเปล่าๆอย่างนี้ก็ให้กระเดียดไปทางสุข หรือตัดสินเรียกง่ายๆก็ได้ว่านี่เป็นสุข เป็นสุขแบบอ่อนๆ แต่ถ้าหากว่าเราไม่ชอบความรู้สึกเฉยๆตรงนั้น ให้ตัดเข้ามาเป็นความทุกข์เลย อยู่ข้างทุกข์นะ กระเดียดไปทางทุกข์ เพราะเหตุอะไร เพราะว่าความรู้สึกเฉยๆแบบนั้น มีความรบกวนจิตใจอยู่ แสดงว่ามันไม่เฉยจริง แต่ถ้าตัดสินไม่ได้อีก ว่าชอบหรือไม่ชอบนะ ก็ให้ตัดสินไปว่าชอบก็แล้วกัน เนื่องจากอะไร เนื่องจากเราแน่ใจได้ว่า ขณะนั้นไม่ได้มีความทุกข์ ไม่ได้มีความกระวนกระวายอยู่นะครับ

ส่วนที่ว่าจะไม่รู้สึกทั้งอยากและไม่อยาก จะทราบได้อย่างไร? ก็ดูอาการพุ่งของใจก็แล้วกัน ถ้าหากว่ามันมีอาการดันๆออกมานิดเดียวนะ มีอาการที่ใจกระเพื่อม ไม่มีความสงบสุขนิดเดียว ก็ให้ถือว่ากำลังอยากอยู่ เอาแบบนั้นก็แล้วกัน ก็ปกติคนที่ไม่อยากจริงๆนะ ใจมันจะอยู่เฉยกับที่ ไม่มีอาการพุ่ง ไม่มีอาการกระสับกระส่าย ไม่มีอาการทุรนทุราย ตัวนี้นะครับที่เป็นเกณฑ์วัดได้อย่างหนึ่ง วัดได้ง่ายๆ



๖) มีประเทศไหนที่ใช้ภาษาบาลีในการพูดคุยในชีวิตประจำวัน?

ภาษาบาลีรู้สึกว่าจะเป็นภาษาที่ตายแล้วนะ คือไม่มีคนใช้ ถึงมีคนใช้ก็หมายความว่า ไม่ได้เอามาใช้พูดจาเป็นภาษา ไม่ได้เอามาสื่อสารกันในชีวิตประจำวัน ลองเช็คดูอีกที่ละกัน ผมจำได้แบบนี้นะ

ภาษาบาลี เป็นภาษาที่ไม่มีคนใช้ในการพูดคุยในชีวิตประจำวันอีกแล้ว ก็ถือว่าเป็นภาษาที่ตายแล้ว คือเป็นภาษาที่ไม่เปลี่ยนไง และถ้าไม่เปลี่ยนก็เหมาะที่จะมาใช้บันทึกข้อความศักดิ์สิทธิ์ในศาสนา เพราะว่ามันไม่มีทางจะดิ้นเป็นอื่นอีกแล้ว อย่างถ้าสมมติว่าบันทึกข้อความในทางศาสนาไว้เป็นภาษาไทย ภาษายังดิ้นได้อยู่อีกร้อยปี สองร้อยปีเนี่ย เกิดความหมายมันเปลี่ยนขึ้นมาเนี่ยยุ่งเลย คนอีกสองร้อยปีจะเข้าใจผิดอะไรอีกมากมาย

อย่างที่เราเข้าใจผิดเช่น บางแห่งก็บอกว่าในพระคัมภีร์ที่บันทึกนะ คนสั่นหน้าเราไปบอกว่าเป็นการปฏิเสธไม่เชื่อพระพุทธเจ้า แต่จริงๆแล้วเนี่ยคือการสั่นหน้าในวัฒนธรรมของคนอินเดียยุคก่อนคือเชื่อ ยอบรับ อะไรแบบนั้น ที่เค้าว่ากัน



๗) พอมาเริ่มดูกายดูใจ และตั้งใจจะรักษาศีล ๕ ไม่ให้ด่างพร้อยโดยเฉพาะศีลวาจา ทำไมทำให้เวลาใครพูดอะไร เราจะไม่พยายามร่วมวงอภิปรายด้วย เพราะกลัวผิดศีล คนอื่นเค้าจะมองเราว่าแปลกหรือไม่?

แน่นอนครับ มองเราว่าเป็นคนที่พยายามจะแปลกแยกแน่นอนนะ คือคนทางโลกเนี่ย อย่างไรก็ไม่สามารถจะเข้าใจ และคนๆนึงเนี่ย ไม่สามารถที่จะเอาความในใจ หรือว่ารายละเอียดในชีวิตของตัวเองเนี่ย ไปบอกไป กล่าวให้ใครต่อใครทั้งโลก เขามีความเข้าใจในตัวเราได้ ก็ไม่ต้องไปพยายามทำให้เกิดความเข้าใจ แต่ว่าในขณะเดียวกันถนอมน้ำใจนิดนึง รักษาความรู้สึกของคนรอบข้างไว้ก็แล้วกันนะ คือถ้าเค้าชวนพูดด้วย เราก็พูดด้วย แต่ถ้าเค้าชวนพูดเรื่องคนอื่น เราก็อาจจะชวนพูดเรื่องที่มันมีสาระมากกว่านั้นนะครับ

อันนี้ก็ง่ายๆเลย หลักการเพื่อที่จะให้รู้สึกว่า เราไม่เป็นที่แปลกแยกมากเกินไปในสังคมเนี่ย หลักการง่ายๆก็คือ เวลาที่ใครเค้าทักทายมา เรามีไมตรีจิต ตั้งต้นก่อนเลยนะ ด้วยไมตรีจิตนี้ เราจะตอบคำไหนไปก็แล้วแต่ เราจะเลี่ยงไม่ให้เป็นไปตามประเด็นที่เค้าตั้งป้อมมาจะนินทาใครนะ หรือว่าจะเป็นการเหมือนกับการถามคำตอบคำ ในเรื่องที่เค้ามาเปิดประเด็นไว้อะไรแบบนี้เนี่ย

ถ้าหากว่าจิตของเราตั้งไว้ว่า นี่เป็นไปเพื่อการปฏิสันถาร เป็นไปเพื่อความมีไมตรีจิต เค้าก็จะรู้สึกว่าเรายังมีไมตรีจิตกับเค้าอยู่ ยังมีความสัมพันธ์อันดีกับเค้าอยู่ ถึงแม้ว่าจะไม่เข้ามาคลุกคลีสนิทด้วย อันนั้นก็เป็นธรรมดาเป็นธรรมชาติ ถ้าหากว่าเค้าอยากพูดเรื่องไหน แล้วเราไม่ต้องการพูดเรื่องนั้นเนี่ย ส่วนใหญ่ก็จะเข้ากันไม่ได้ ไม่สามารถคุยกันได้ ซึ่งถ้ามองตามหลักที่พระพุทธเจ้าท่านวางไว้ให้ตัดสินนะ การไม่เสวนากับคนมีศีลต่ำกว่า หรือว่า ไม่เสวนากับคนที่มีธาตุนิสัยในทางที่จะดึงเราลงต่ำเนี่ย ถือว่าเป็นมงคล คือเราไม่ได้ไปเหยียดเค้าว่า เค้าเป็นคนไม่ดีเป็นคนเลว หรือว่าเป็นอะไรชั้นต่ำกว่าเรา อยู่ในวรรณะที่ไม่สมควร ไม่คู่ควรที่จะไปเจรจาด้วย แต่เราระลึกตามหลักของพระพุทธเจ้าว่า คุยกับใครนะ ใจก็เป็นแบบนั้น

แล้วมันจริงๆนะสังเกตคือ ต่อให้เรามีจุดยืนอย่างไรก็แล้วแต่ แต่ถ้าเผลอเข้าไปเต็มใจคุยกับคนประเภทไหนนะ คลื่นความคิดของเราเนี่ยจะค่อยๆปรับ จะค่อยๆจูนให้ตรงกับคนประเภทนั้น และถ้าหากว่าคิดตรงกับเค้า พูดตรงกับเค้าไปนานๆ ในที่สุดก็เท่ากับว่า เรารับความเป็นตัวเค้า เข้ามาเป็นตัวเรามากขึ้นทุกที จนกระทั่งหลายครั้งเลยนะที่ผมเห็นเนี่ย พอใครอยู่บ้านนึง มีนิสัยแบบนึง พอไปอยู่อีกบ้านนึงนะ เปลี่ยนนิสัยเลย คือลักษณะวิธีที่มองโลก ลักษณะการใช้อารมณ์ ปฏิกิริยาทางใจที่ออกไปต่างๆเนี่ย มันผิดเป็นคนละคนได้ทีเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คนที่ยังไม่มีจุดยืนที่แข็งพอเนี่ยนะจะเซนซิทีฟ อยู่ใกล้ใครก็กลายเป็นคนแบบนั้น ซึ่งอันนี้เสี่ยง ถือว่าเสี่ยงมากๆ ในทางกรรมวิบากเนี่ยนะ เท่ากับว่าเรายินยอมที่จะเป็นคนบาปได้ง่ายๆ อาจจะเป็นคนบุญก็ได้ เป็นนักบุญก็ได้ถ้าอยู่ใกล้นักบุญ แต่มันเสี่ยงมากๆเลย ถ้ายังเซนซิทีฟอยู่เนี่ย เข้าใกล้หรือเฉียดใกล้คนธรรมดา บางทีเราอาจจะกลายเป็นไม่ใช่แค่คนธรรมดา มันเลวกว่าคนธรรมดาก็ได้

หลายคนเป็นอย่างนั้นนะคือ พออยู่ใกล้คนดีเนี่ยก็จะดีตาม แต่พอไปอยู่กับคนธรรมดา มันไม่รู้เป็นยังไงนะ กลายเป็นเหมือนกับอยากจะทำชั่ว ทำเลวอะไรขึ้นมา จิตยังไม่เป็นตัวของตัวเอง ก็คือค่อนข้างจะเป็นความเสี่ยง

แต่ถ้าเรามีจุดยืนที่มั่นคงแล้ว เรายืนอยู่ในจุดที่มันสว่างนะ มันก็จะอาจกลับขั้วกันได้นะ คือความแข็งแรงของเรา หรือว่าจุดยืนที่มั่นคงของเรา อาจจะกลายเป็นแรงบันดาลใจให้คนอื่น เค้าเกิดความรู้สึกว่า เออ มีความนิ่ง มีความมั่นคง ในแบบสว่างอย่างเราเนี่ย ให้ความรู้สึกดีนะ พอให้ความรู้สึกดีมากๆเข้า เค้ารู้สึกเหมือนกับติดใจความสว่าง ความดีตรงนั้นเนี่ย เราเข้าไปพูดกับเค้าเนี่ย มันกลายเป็นดึงเค้าเข้ามาหาเรา หรือว่าอยู่ในเส้นทางแบบเรา


เอาละครับก็คงจะ ต้องล่ำลากันที่นาทีนี้ ขอให้ทุกท่านนะครับนอนฝันดีราตรีสวัสดิ์ครับ แล้วก็เจริญในธรรมด้วยกันทุกท่านครับ


« กลับสู่สารบัญเรียงตามครั้งที่ออกอากาศ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น