วันพุธที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ดังตฤณวิสัชนา On Air ครั้งที่ ๙๖ / วันที่ ๒๙ ส.ค. ๕๕

« กลับสู่สารบัญเรียงตามครั้งที่ออกอากาศ

สวัสดีครับทุกท่าน วันนี้วันพุธที่ ๒๙ สิงหาคม ๒๕๕๕ นี่คือรายการดังตฤณวิสัชนา ผมดังตฤณมาตอบคำถามให้คุณ เป็นเวลาครึ่งชั่วโมง ทุกคืนวันจันทร์ พุธ และศุกร์ เวลาสามทุ่มตรงนะครับ เพื่อที่จะทักทายไถ่ถามเข้ามาในรายการ ตอนนี้เราก็มีชื่อจำง่ายๆ http://www.facebook.com/dungtrin นะครับ ก็สามารถเข้ามาที่สเตตัสล่าสุดที่จะตั้งขึ้น โดยอัตโนมัติจากทาง http://www.spreaker.com นะครับ

หลายคนก็ยังไม่รับทราบนะครับ เพราะอาจจะยังไม่ได้ติดตามฟังกันทุกครั้ง แต่ว่าในระยะยาว เข้าใจว่า น่าจะมีการรับรู้ตรงกัน เพราะคราวนี้ก็คงจะหาชื่อได้ง่ายแล้ว เอาล่ะครับ สำหรับคำถามแรกของคืนนี้นะ



๑) ถามว่า คำว่า นิโรธ ในอริยสัจ กับ นิโรธะ นิโรธสมาบัติ และก็ เนวสัญญาณาสัญญาณตนฌาน ต่างกันอย่างไร?

นิโรธ ก่อนเลยนะครับ พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้นะ เป็นธรรมชาติชนิดหนึ่งที่มีอยู่ จริงๆแล้วก็คือนิพพานนั่นเอง แต่ว่ามาใช้ในเรื่องเกี่ยวกับฌาน เพื่อให้เข้าใจง่ายว่า มันเป็นการดับ มีความหมายในการดับ แต่ไม่ใช่ว่า ดับสูญ แต่ว่า ไม่มีสัญญาเลยทีเดียว ไม่มีการเสวยเวทนานะครับ ตัวเนวสัญญาณาสัญญาณตน เหมือนว่ามี ก็ไม่ใช่ ไม่มีก็ไม่เชิงนะ แต่ว่าในความเป็นนิโรธ นี่คือ ดับเลย สัญญากับเวทนาดับ พระพุทธเจ้าเคยตรัสไว้ว่า ถ้าในธรรมชาติชนิดนี้ไม่มีอยู่ คือ ไม่มีนิโรธ ก็ไม่สามารถที่จะเข้าสมาบัติกันได้นะ ที่เป็นสมาบัติเนวสัญญาณาสัญญาณตนฌานนะครับ แต่เพราะความเป็นนิโรธมีอยู่ คือ ทำ นิพพาน จึงเข้านิโรธสมาบัติกันได้ ตัวการดับสัญญา การไม่เสวยเวทนา เป็นอย่างไร พระอรหันต์ กับ พระอนาคามีท่านรู้นะ อภิสิทธิ์เฉพาะของอริยบุคคลชั้นสูงนะครับ ไม่ใช่สิ่งที่เราจะไปคะเนกันได้ หรือ คาดเดากันว่า การดับสัญญา และก็ไม่เสวยเวทนานั้นเป็นอย่างไรนะครับ



๒) มีปัญหาเกี่ยวกับธาตุไฟเป็นอย่างมาก เดี๋ยวนี้ไม่ได้เป็นเฉพาะตอนนั่งสมาธิและสวดมนต์ ตอนสวดมนต์ก็เป็น และที่หนักที่สุดคือ เป็นระหว่างใช้ชีวิตประจำวัน ขณะที่ทำอะไรอย่างเป็นสมาธิ มันก็จะร้อนขึ้นมา โดยเฉพาะที่มือ และมันไหลไปสู่ของที่เราจับได้ด้วย ตกใจมากเลย แต่ไม่ได้ทำได้ทุกครั้งนะคะ มันเป็นของมันเอง จะทำอย่างไรดี รบกวนชีวิตประจำวันพอประมาณ หรือว่า จะเปลี่ยนเอามาใช้ทางไหนได้บ้างไหมคะ?

ตัวธาตุไฟ หรือ ความร้อนที่มันออกมาจากร่างกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เวลาที่เป็นสมาธิ บางทีก็อาจจะลืมไปนะ ที่พี่เคยบอกว่า ตัวธาตุไฟ ถ้าหากว่ามันปรากฏ พระพุทธเจ้าท่านก็แนะนำให้ดูโดยความเป็นของไม่เที่ยง ดูโดยความเห็นเป็นส่วนประกอบ เป็นตัวประกอบอย่างหนึ่งของร่างกาย ของความรู้สึกในตัวตน คือปกติไออุ่นมันก็อยู่ส่วนไออุ่น ธาตุร้อนมันก็อยู่ส่วนของธาตุร้อน ไม่แตกต่างจากแสงแดด ไม่แตกต่างจากความร้อนที่มาจากตู้อบ เตาอบ แบบนี้ ไม่แตกต่างกันโดยเนื้อหา ธาตุไฟ มันมีความร้อน มันแผ่ความร้อนเหมือนๆกัน แต่เนื่องจากมันมาแผ่อยู่ในร่างกายนี้ มันมาอยู่ในตัวนี้ ก็เลยทำให้มีการปรุงแต่งจิตไป ยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นตัวเราร้อน แต่ถ้าหากว่า เราเจริญสติมา เราก็จะเห็นว่าร่างกายปรากฏเป็นอิริยาบถต่างๆนะ ยืน เดิน นั่ง นอน และก็ในอิริยาบถนั้นๆ มีไออุ่นอยู่ต่างระดับกัน ไม่ว่าจะนั่งสมาธิแล้วมีความร้อนขึ้นมามาก หรือนั่งทำงานแล้วมีความร้อนขึ้นจากมือสู่วัตถุนะ หรืออะไรต่างๆ ที่ประสบมานะครับ ก็เป็นความร้อนในแบบที่พระพุทธเจ้าท่านให้ดูนั่นแหละว่า สักแต่เป็นธาตุไฟ ธาตุไฟมันปรากฏอย่างไร มันปรากฏเป็นความร้อนให้เรารู้สึกได้ และความร้อนในอิริยาบถหนึ่งๆนั้นมันปรุงแต่งให้เรารู้สึกได้ว่า ร่างกายของเรากำลังมีความร้อน ตัวของเรากำลังร้อน ถ้าหากว่าเรามองว่า นั่นคือ ธาตุไฟที่กำลังแสดงความร้อน ไม่รู้สึกว่า ตัวเรากำลังร้อน มันก็สักเป็นแต่ธาตุไฟที่มันกำลังแสดงให้ตัวเราดูเฉยๆ ไม่ได้มีความน่าเดือดเนื้อร้อนใจอะไร และในที่สุด ถ้าจิตไม่มีการปรุงแต่งเป็นความเดือดร้อน ไม่มีการปรุงแต่งเป็นความกลัว เป็นความรู้สึกไม่ดีอย่างใดๆ ในที่สุดธาตุไฟ มันก็จะแสดงความไม่เที่ยงให้เราเห็น ไออุ่น หรือธาตุไฟ ลักษณะของมันมีความผันผวน ไม่แตกต่างจากลมหายใจ ลมหายใจมันเข้ามาแล้วก็ออกไป ส่วนไออุ่น ไอร้อนนะ มันมีความร้อนมากบ้าง มันมีความร้อนน้อยลงบ้างนะ เพียงแต่ว่าจะไม่ได้เกิดขึ้นถี่ๆ แต่ว่าเราสามารถสังเกตเห็นได้ เวลาที่เราเกิดความตื่นเต้น ไออุ่นของเรามันก็จะเกิดขึ้นมากเป็นพิเศษ มีความรู้สึกเหมือนกับว่าตัวร้อน มีความรู้สึกเหมือนราวกับว่า จะเป็นไข้ขึ้นมา ถ้าหากสังเกตอยู่อย่างนั้นว่า ความร้อนเดี๋ยวมันก็มาก เดี๋ยวมันก็น้อย ไม่เที่ยง แล้วก็เกิดความรู้สึกขึ้นมาว่า มันไม่ได้มีเนื้อหาแตกต่างจากธรรมชาติรอบตัวนะ ที่เป็นไอแดด ที่เป็นความร้อนจากแหล่งกำเนิดความร้อนอื่นๆนะ เราก็จะค่อยๆเห็นว่า กายสักแต่เป็นธาตุ สักแต่เป็นที่ประชุมประกอบกันของ ดิน น้ำ ไฟ ลม นะครับ



๓) เวลานั่งสมาธิ เราจะตรวจสอบว่า สภาวะในสมาธิของเรา อยู่ในขั้นไหน ได้อย่างไร อยากทราบวิธีตรวจสอบตนเอง เพื่อจะได้ใช้เป็นประโยชน์ในการศึกษาคำสอนของครูบาอาจารย์ประกอบการปฏิบัติ?

การที่จะสำรวจว่าสมาธิของเราอยู่ในขั้นไหน มันจะทำให้ฟุ้งซ่านไปเปล่าๆ แต่ถ้าหากว่า เราเข้าถึงสมาธิแบบใดเป็นปกติ อันนั้นจึงควรเอามาพิจารณานะว่า สมาธิขั้นนี้มันเอาไปใช้อะไรได้บ้างแล้ว ตัวของสมาธิเองจริงๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ช่วงที่มันโยกเยกได้มากๆ ไม่ควรที่เราจะไปคำนึงถึงนะว่า ขณะนี้เรียกว่า ขณิกสมาธิ ขณะนี้เรียกว่า อุปจาระสมาธิ หรือว่า เข้าถึงฌานแล้ว เพราะว่า การมัวแต่ไปจดจ้อง มัวแต่คำนึงคำนวณ ไปตีความมันว่า มีองค์ประกอบแบบใดบ้าง เรียกสมาธิขั้นไหน แทนที่จะมีผลดี มีความเป็นเครื่องวัดความก้าวหน้า มันกลับจะรบกวนจิตใจให้เกิดความวอกแวก ให้เกิดความรู้สึกฟุ้งซ่านไปว่า เราควรจะเอาสมาธิระดับนี้ไปใช้ได้อย่างไรนะ หรือว่า เดี๋ยวจะมีความโลภขึ้นมานะ ว่าเราจะเอาให้ได้ฌานขั้นนั้นขั้นนี้นะ เค้าเรียกว่า อันนี้เรียกรูปฌาน อันนี้เรียกอรูปฌานแล้วหรือเปล่า ส่วนใหญ่เท่าที่พบนะ คนที่ยังไม่ได้ถึงสมาธิกันจริงๆ จะมีความฟุ้งซ่านเกี่ยวกับเรื่องพวกนี้กันมากนะ โดยเฉพาะคนที่หวังจะเอาสมาธิไปใช้ในการพูดคุยกัน อันนี้ไม่ได้หมายถึงน้องนะ แต่จะหมายถึง คนที่เพิ่งเล่นสมาธิทั่วไป ส่วนใหญ่จะเอามาใช้คุยกัน เอามาบอกเล่าว่า ทำสมาธิได้ถึงขั้นนั้นขั้นนี้แล้วนะ เสร็จแล้วก็จะมีการคาดหมายกันต่อๆไปว่า เดี๋ยวพรุ่งนี้จะเอาให้ได้ขั้นต่อมา แล้วก็เตรียมขั้นต่อไปว่า จะเอามาใช้เล่นฤทธิ์เล่นเดชอะไรได้บ้าง หรือว่าไปดูสวรรค์ ไปดูนรกอะไรที่ไหนนะครับ หลายคนก็ถึงขั้นที่ว่า เกิดมาไม่เคยมีจิตใจสงบเลยจากความฟุ้งซ่าน พอสงบเป็นขณิกสมาธิขึ้นมาได้ นึกว่าเป็นนิพพานก็มี เป็นการบรรลุมรรคผลขึ้นมา จู่ๆความฟุ้งซ่านมันดับพล่านไปเฉยๆ นึกว่าบรรลุธรรมอย่างนี้เคยมี เจอมาหมดแล้ว เคยได้ยินเล่ามาหมดแล้ว แล้วที่จะไปเกิดความฟุ้งซ่าน ความสำคัญผิดแบบนั้น มันก็เกิดจากการที่ไปพยายามแปะป้ายตีความว่า สมาธิที่เราทำได้คืออะไร วิธีที่ดีที่สุดที่เราทำได้ ด้วยการทำสมาธิที่มีโฟกัสจริงๆ นี่คือ เราสนใจแค่ว่า มีอารมณ์ที่กำหนดไว้เป็นสมาธิปานใด ยกตัวอย่างเช่น ถ้าหากว่า ตั้งใจจะดูลมหายใจ เราต้องเข้าใจอย่างชัดเจนเลย วางแผนไว้ล่วงหน้าด้วยการเขียนแผนที่ว่า ที่พระพุทธเจ้าท่านให้ฝึกอาณาปานสตินี่ มันมีขั้นตอนเป็นอย่างไร ขั้นต้น ขั้นกลาง ขั้นต่อยอด ขั้นแอดวานซ์เป็นอย่างไร พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้ชัดเจนเลย ขั้นต้นขึ้นมานะ ให้แค่มีสติรู้ว่า กำลังหายใจออก หรือหายใจเข้าอยู่นะ หายใจออกก็รู้ว่า หายใจออก หายใจเข้าก็รู้ว่า หายใจเข้านะ จากนั้นมีพัฒนาการขึ้นไปต่อนะครับว่า คือถ้าเราสามารถรู้ได้เป็นปกติว่า กำลังหายใจเข้า หรือ หายใจออกอยู่ ดูว่า เดี๋ยวมันก็ยาว เดี๋ยวมันก็สั้น ไม่เท่ากัน สังเกตแค่ว่า ตอนนี้มันสั้น ตอนนี้ มันยาว เอาแค่นี้ตรงนี้แหละ พอสังเกตไปนานๆ ก็พอดูได้นะว่า เรารู้มาถูกทางหรือเปล่าครับ ถ้าหากรู้มาถูกทาง มันจะเกิดความรู้สึกขึ้นมาว่า รู้ถูกทาง ลมหายใจนี่ เดี๋ยวก็เข้าเดี๋ยวก็ออก เดี๋ยวก็ยาว เดี๋ยวก็สั้น นี่มันไม่เที่ยง รู้ด้วยจิตที่มันนิ่งๆ รู้ด้วยจิตที่มันสบายๆ รู้ด้วยจิตที่มันไม่มีอาการฟุ้งซ่าน ซัดส่าย ไม่มีการคิดคำนวณว่า เรามาถึงสมาธิขั้นใดแล้วนิ่งๆสบายๆนั่นแหละ มันจะกลายเป็นผู้รู้ผู้ดู เมื่อไหร่ที่จิตเห็นลมหายใจมันไม่เที่ยงนะ ธรรมชาติของมันจะแยกออกมาเป็นผู้รู้ ผู้ดู นี่คือ สิ่งที่ปรากฏอยู่ในอานาปานสติสูตรนะครับ ถ้าหากว่าเราลองสังเกตดู ทำกันได้อย่างนั้นแหละ ไม่ว่าจะกี่พันปี ผ่านพ้นไปนะครับ ยังทำกันได้เหมือนเดิม เห็นว่าลมหายใจไม่เที่ยงเมื่อไหร่ จิตจะออกมาเป็นผู้ดูอย่างเงียบๆ สงบๆทันที อันนี้ที่มีประโยชน์จริง คือเราสามารถสังเกตได้ว่า เมื่อจิตสงบ สักแต่เป็นผู้รู้ผู้ดูลมหายใจ โดยความเป็นของไม่เที่ยงแล้วนี่นะ สิ่งที่จะตามมา คือความสามารถที่เป็นผู้รู้อาการของจิต จิตกำลังมีความสุขอยู่แค่ไหน จิตกำลังมีปีติอยู่แค่ไหน ในแต่ละครั้งที่กำลังหายใจเข้า หายใจออก นี่ตรงนี้ กำลังมีประโยชน์เลยนะ เมื่อเราสามารถสังเกตเห็นว่า จิตมีความอิ่มใจ มีความสุขไม่เท่ากัน ในแต่ละลมหายใจ บางครั้งก็มีความอึดอัด บางครั้งก็มีความสบายผ่อนคลาย เปิดกว้างนะ มันนำไปสู่การเห็นความไม่เที่ยงของจิต มันเห็นความไม่เที่ยงของอาการปรุงแต่งทางใจ ถ้าหากว่าเราเห็นทั้งธรรมชาติฝ่ายรูป คือลมหายใจ และธรรมชาติฝ่ายนาม คืออาการที่มันมีปีติบ้าง มีสุขบ้าง คลายจากความสุขบ้าง คลายจากปีติบ้าง มันก็จะมีตัวจิตผู้รู้ ผู้ดูละเอียดขึ้นไปอีกนะครับ อย่างที่บอกว่า ถ้าจิตเห็นอะไรที่มันไม่เที่ยง มันจะแยกออกมาเป็นผู้ดูทันที อันนี้มันเห็นปีติ เห็นความสุขไม่เที่ยง มันก็จะแยกออกมาเป็นผู้ดูความสุขไม่เที่ยง แยกออกมาเป็นผู้ดูปีติไม่เที่ยง แล้วการแยกออกมาดู มันมีความชัดเจน มีข้อชัดเจนเลยว่า แต่ละลมหายใจ ที่เข้าที่ออกมันต่างกันอย่างไร ตัวปีติ ตัวความสุข ตัวนี้แหละนะมันถึงจะเป็นประโยชน์อย่างแท้จริง การมานั่งคำนวณเอาว่า เรากำลังถึงสมาธิขั้นนั้นขั้นนี้มันไม่มีแผนที่บอกทางชัดเจนว่าจะให้ทำอะไรต่อนะครับ



๔) ถ้าเป็นคนมีโทสะจริต พอมีใครพูดอะไรมาจะตอบกลับเร็วคล้ายลูกบอล เจอเด้งมาก็เด้งกลับทันที พอตามดู แต่ดูไม่ทัน หลุดออกไปก่อนทุกทีค่อยมารู้สึกตัว?

อันนี้ก็ต้องจำเป็นนะครับที่เราจะต้องมาทำสมถะกัน นะ คำว่า ทำสมถะ ไม่ใช่นั่งสมาธิ หลับตาอย่างเดียว แต่อยู่ว่างๆก่อนที่จะเกิดความโมโห ที่จะเกิดโทสะ เราควรที่จะหาอะไรยึดเหนี่ยวจิตใจไว้เพื่อที่จะให้มันมีความตั้งมั่นมากขึ้น ไม่ให้มันมีความอ่อนไหว หรือ ว่า มีอาการดีดตัวรวดเร็วเกินไปจนกระทั่งไม่สามารถที่จะดูอะไรได้ หรือว่าห้ามใจอะไรได้ แล้วก็สมถะที่พระพุทธเจ้าที่ท่านตรัสแนะไว้ เป็นมาตรฐานสากลเลย ก็คือ ดูลมหายใจนี่แหละ ไม่ใช่ว่าจะต้องมานั่งหลับตา แล้วก็กำหนดลมหายใจเพื่อให้เกิดความสงบเสมอไป จำไว้นะครับว่า อยู่ในระหว่างวันเนี่ย การที่เราแค่เราสร้างความคุ้นเคยไว้ อยู่ว่างๆ ว่าเราจะดู ว่าเรากำลังหายใจเข้าอยู่หรือกำลังหายใจออกอยู่นะ แล้วก็ดูว่า หายใจเข้าอยู่ หายใจออกอยู่เนี่ยนะ มันมีลมหายใจที่ไม่เท่ากันอย่างไร เดี๋ยวก็ยาว เดี๋ยวก็สั้น เดี๋ยวก็อึดอัด เป็นลมหายใจที่อึดอัดบ้าง เป็นลมหายใจที่มีความสบายบ้าง สังเกตอยู่แค่นี้ล่ะนะ ใจมันจะรู้สึกว่า มีเครื่องผูก มีเครื่องอยู่มีเคยชินอีกแบบหนึ่งที่จะตั้งอยู่กับอะไรที่ไม่เป็นโทษ ที่มันถูกใจ อยู่กับหลัก ให้อยู่กับสิ่งที่มันเป็นเครื่องหมายแสดงถึงความไม่เที่ยง ไม่ยึดมั่นถือมั่นนะ การที่เราเห็นความไม่เที่ยงบ่อยๆ ขอให้ทราบเลยว่า นั่นเป็นเครื่องหมาย นั่นเป็นนิมิตหมาย ของการไม่ยึดมั่นถือมั่น เพราะว่า จิตนี่เห็นอะไรไม่เที่ยงบ่อยๆนะครับ การแสดงให้เห็นความไม่เที่ยงบ่อยๆ มันจะคลาย มันจะกลายมาเป็นผู้ดูโดยไม่ต้องพยายามอะไรทั้งสิ้น ไม่ต้องสั่งตัวเองเลยว่า ต้องถอยออกมา ไม่ต้องมากำกับว่า จงเป็นผู้ดู ผู้รู้ มันจะมีความสามารถของมันเองในการเป็นผู้รู้ ผู้ดูบ่อยๆ นะครับ ทีนี้ถ้าจิตของเราสร้างความเคยชินอย่างนั้นขึ้นมาได้ เมื่อไหร่ที่มีเสียง หรือ มีภาพใบหน้าคน มากระทบหู กระทบตา เป็นความรู้สึกอยากจะสวน อยากจะโต้ตอบอะไรแรงๆออกไป กลับไป คุณจะรู้สึกขึ้นไปทันทีนะว่า เหมือนกับเราแยกออกมาเป็นผู้รู้สึกถึงความโกรธ รู้สึกถึงอาการอยากสวน บางทีมันสวนกลับไป แต่มันมีจึ๊กนึงอยู่ภายในนะครับว่าอยากสวน ว่านี่เราแสดง ตอนแรกเราจะรู้สึกว่า ตัวเราเป็นผู้แสดงความโกรธออกไป พอเห็นหลายๆครั้งเข้า ว่าเรามีความโกรธ มีความรู้สึก มีอาการที่อยากจะสวน มีอาการที่เหมือนกับคล้ายๆ ไฟร้อนพวยพุ่ง พุ่งออกไปจากตัวเรา ไปกระแทกคนอื่นเค้า เห็นบ่อยๆจะรู้สึกว่า ตัวเรามันเบาบางลง แต่ว่าอาการพลุ่งพล่าน หรืออาการร้อนแรงที่จะสวนออกไปเป็นปฏิกิริยาที่จะตอบสนองกับสิ่งกระทบที่ไม่น่าจะชอบใจนัก มันดูสักแต่เป็นของมันอย่างนั้น สักแต่เป็นการสวนออกไป สักแต่มีอะไรแรงๆนะ สักแต่มีอะไรพุ่งออกไป สักแต่มีความร้อนพุ่งออกมา แล้วไม่รู้สึกว่า นี่คือตัวเราที่กำลังร้อน นี่คือตัวเราที่กำลังสวนออกไป มันจะมีแต่ตัวหนึ่งที่สักแต่รู้ แล้วก็มีอีกคนหนึ่งที่สวนออกไป นี่พอถึงขั้นนั้น ส่วนใหญ่แล้วเราจะรู้สึกว่ามันยังเผลอสวนออกไปอยู่นั่นแหละ แต่สวนไปแล้ว เกิดความขี้เกียจขึ้นมากลางคันนะครับ ยังไปไม่ถึงที่หมายดี มันอยากจะถอนตัวกลางคันอยู่ที่กลางทางเนี่ย ยังไปไม่ถึงนะ อยากจะถอยกลับซะงั้น มันคืออาการของใจที่มีความเป็นผู้รู้ มีสติกำกับอยู่ มันจะหน้าตาเป็นอย่างนี้นะ คือ มันยังโกรธเหมือนเดิม แต่มันโกรธแค่ ๕๐% มันจะถอยกลับมาขี้เกียจแล้ว ไม่อยากไปเอาเรื่องแล้ว ไม่อยากที่จะต่อความยาวสาวความยืดแล้ว บางทีปากพูดไป แต่ว่าใจไม่เอาด้วยนะ ตัวนี้อย่าไปคาดหวัง ห้ามเลยเด็ดขาดว่า อย่าไปคาดหวังว่าฝึกสติแล้ว เจริญสติแล้วจะไม่โกรธเลย คนส่วนใหญ่เข้าใจกันผิดๆว่า การที่เราจะวัดผลว่า สติเจริญไปแค่ไหน ดีไปแค่ไหน เข้าขั้นใดนะครับคือ ต้องไม่โกรธเลย บางคนนี่หน้าเขียว หน้าเหลืองเลย ไปปฏิบัติธรรมมา ดูแช่มชื่น ผู้คนให้คำสรรเสริญว่าดูผ่องแผ้ว ดูมีสง่าราศีนะ ก็เกิดตัวภาพของนักปฏิบัติ ภาพของผู้ที่สูงส่ง แล้วก็มีความรู้สึกว่า ภาพแบบนั้น มัวหมองไม่ได้จะตกต่ำลงไม่ได้ จะโกรธไม่ได้ จะแสดงความฮึดฮัดไม่ได้นะ มีสีหน้าสีตาแบบเดิมๆไม่ได้ จริงๆแล้วนั่นคือ การไปหลอกตัวเอง ตั้งต้นหลอกตัวเองไว้ว่า มันจะไม่เกิดกิเลสอะไรหลอกตัวเองขึ้นมาอีก ตราบใดยังไม่ใช่พระอรหันต์ ตราบนั้นกิเลสมันยังเกิดได้นะ ปล่อยให้มันเกิด แต่ว่าเกิดอย่างรู้ และเกิดอย่างดู เกิดอย่างเห็นนะครับ อย่าไปคาดคั้นกับตัวเองเป็นอันขาดว่า จะไม่ให้เกิดกิเลสอะไรขึ้น แม้แต่พระพุทธเจ้า ก็ตรัสนะครับว่า ถ้าจะดูเรื่องของจิต ถ้าจะดูเรื่องของใจ ท่านไม่ได้ให้ดูไปที่สภาวะของใจตรงๆ แต่ท่านให้ดูที่อาการที่เกิดขึ้นที่ประกอบของใจ ณ ขณะจิตหนึ่งๆ จิตมีราคะ ก็รู้ว่า ราคะมีอยู่ในจิต มีโทสะ ก็รู้ว่า โทสะมีอยู่ในจิต รู้อย่างนั้นแล้ว รู้ว่า โทสะหายไป รู้ว่า ราคะหายไป พอหายไป สิ่งที่เหลือ ก็คือ จิตที่ไม่มีราคะ จิตที่ไม่มีโทสะ จะได้เกิดข้อเปรียบเทียบกันได้ว่า จิตมีความแตกต่าง มีความแปรปรวนไปนะครับ เปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ไม่เหมือนกันอย่างไร มันต่างกันอย่างไรนะครับ ให้ดูโดยความเป็นอย่างนั้น ใช้ประโยชน์จากกิเลส อย่าไปนะ ห้ามกิเลสไม่ให้เกิด เพราะพอห้ามแล้ว มันก็กดไว้เฉยๆ มันไม่ได้อะไรขึ้นมาเลย หน้าเขียวหน้าเหลืองกันเปล่าๆ



๕) อาการติดเพ่งจะมีลักษณะอย่างไรบ้าง อาการนิ่งๆไม่พูด แต่รับฟังคนอื่นมากกว่าจะพูดร่วม ถือว่าเป็นการเพ่งอย่างหนึ่งไหม?

ไม่ใช่นะ ตัวอาการที่กดไว้ อาการที่ไม่อยากจะพูด บางทีมันเป็นอาการปรุงแต่งอย่างหนึ่งของใจ ที่ไม่อยากจะสูญเสียความสงบ หรือว่า สูญเสียอาการเงียบ คือ มันอยากจะเงียบอยู่อย่างนั้น แต่อาการติดเพ่ง ถ้าใช้ในความหมายร่วมสมัยนะครับ ที่เราใช้ๆกันในช่วงหลังๆ ก็หมายถึงว่า จดจ้องเกินงามนะ จดจ้องเกินพอดี ไม่ต้องออกแรงมาก ก็ไปออกแรงซะ หรือว่า ไม่ต้องพยายามคาดคั้นมาก ก็ไปคาดคั้นซะ คล้ายๆกับการที่เรามองดูผนังห้อง จริงๆแล้วแค่เราดูปกติ เหมือนดูทีวีอย่างนี้ เราก็ทอดตามองดูสบายๆมันก็เห็น นี่จะไปจ้องออกแรงไปดูให้เห็น ชัดๆ ไม่รู้จะดูตรงไหน ให้ชัดอย่างไรล่ะ แต่ว่า เราไปจ้อง ไปโก่งคอจ้อง ไปมีอาการเกร็ง เนื้อตัวไม่สบาย ตัวเพ่ง พอเราเกิดโฟกัสอะไรมากๆ เนื้อตามันจะเกร็งมีความรู้สึกเหมือนเนื้อตัวไม่สบาย แต่ถ้าหากเรารู้สบายๆ เนื้อตัวจะผ่อนคลาย แล้วจิตใจมันจะเปิดกว้าง เหมือนกับ ทอดมองดูผนังแบบสบายๆ แล้วก็เห็นว่า อันนี้เป็นผนัง ไม่ต้องไปเพ่ง ไม่ต้องไปจ้อง มองสบายๆ มันก็สามารถที่จะรับรู้ได้นะ


สำหรับวันนี้นะคิดว่า คงต้องล่ำลากันตรงนี้ เพราะไม่นั้นเสียงจะขาดไปเฉยๆครับ ราตรีสวัสดิ์ขอให้เจริญในธรรมกันทุกท่านนะครับ


« กลับสู่สารบัญเรียงตามครั้งที่ออกอากาศ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น