วันเสาร์ที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ดังตฤณวิสัชนา On Air ครั้งที่ ๑๒ / วันที่ ๑๕ ก.พ. ๕๕

« กลับสู่สารบัญเรียงตามครั้งที่ออกอากาศ

๑) ชอบศึกษาเรื่องดวงชะตา แล้วสนใจอยากทำเป็นงานอดิเรก
อยากทราบว่าอาชีพหมอดูเป็นอาชีพที่ผิดศีลหรือไม่ เคยได้ยินว่าเป็นอาชีพที่ปิดกั้นมรรคผลนิพพานจริงหรือไม่?

เท่าที่ทราบนะครับ ผู้ที่พูดน่าจะเป็นพระป่า ผมไม่แน่ใจเพราะไม่เคยได้ยิน ไม่เคยได้อ่านจากข้อเขียนหรือหนังสือของท่านโดยตรง แต่เข้าใจว่าเป็นหลวงปู่เทสก์ เทสรังสี ซึ่งผมก็นับถือท่านมากเลย

คือบางที ก็ต้องดูเป็นรายๆไปด้วยเพราะว่าหมอดูที่ดูแล้วทำให้คนงมงายไปแล้วก็มี หมอดูที่ดูแล้วทำให้เชื่อกรรมวิบาก อย่างเป็นเหตุเป็นผลก็มี อาชีพหมอดูก็ไม่ต่างจากอาชีพอื่นที่ทำให้เรามีความฟุ้งซ่านไปในงานทางโลก แล้วก็มีความรู้สึกนึกคิดเกี่ยวกับอดีต ปัจจุบัน อนาคต มากเป็นพิเศษด้วย เพราะอาชีพหมอดู คนถามก็ถามเรื่องเกี่ยวกับอนาคตกันทั้งนั้น ไม่มีใครถามเรื่องอดีต ไม่มีใครถามเรื่องปัจจุบัน ว่ามันเป็นอย่างไร มีแต่ถามว่าอนาคตมันเป็นอย่างไร เพราะฉะนั้นจิตก็จะยื่นออกไปข้างหน้า โดยมากส่วนใหญ่ก็วนเวียนอยู่กับเรื่องรัก ใคร่ เรื่องของอาชีพการงาน เรื่องของดวงชะตา ที่ว่าเมื่อไรพ้นเกณฑ์ครอบงำของราหูสักที อะไรทำนองนั้น ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องที่ทำให้ออกจากปัจจุบัน

เพราะฉะนั้นดูในแง่ของการที่จิตของเรามันต้องส่งออกนอก แล้วก็ไปยุ่งกับเรื่องของคนอื่น ก็เป็นไปได้ที่ว่ามันจะไปขวางในเรื่องของการเจริญสติที่จะเน้นกันในเรื่องปัจจุบัน แต่ถามว่าปิดกั้นมรรคผลไหม มันต้องดูพฤติกรรมของการเป็นหมอดูด้วย

หมอดูผมแบ่งเป็นอย่างนี้ก็แล้วกัน สามพวกใหญ่ๆ พวกแรก ไม่รู้ หรือว่ารู้ครึ่งๆกลางๆ หรือว่ารู้น้อยมาก แล้วก็มาหากินเพื่อที่จะหวังเอาเงินอย่างเดียว พูดส่งเดช ไม่รู้อะไรเท่าไหร่ก็ใช้หลักจิตวิทยาเอา ว่าคนนี้เขากำลังมีความทุกข์อยู่ เขาต้องการอะไรล่ะ ก็ต้องการฟังสิ่งที่มันเป็นข่าวดีสำหรับเขา ต้องการฟังเรื่องว่าสามีไปมีเมียน้อยแล้วจะกลับมาหาตัวเองไหมอะไรแบบนั้น ก็พูดส่งเดชไปว่าวันนั้นวันนี้ เกณฑ์นั้นเกณฑ์นี้
หรือว่าไปแก้เคล็ด หรือว่าทำพิธีอะไรต่อมิอะไร แล้วสามีจะกลับมา
ทั้งที่ไม่มีมูลเหตุให้กล่าวอย่างนั้นได้ พวกนี้มันก็เข้าข่ายหลอกลวง มีทั้งเรื่องของการโกหกปั้นน้ำเป็นตัวแล้วก็จิตใจบิดเบี้ยวอยู่แล้ว ไม่มีทางมองอะไรได้ตามจริงอยู่แล้ว แล้วยังมายุ่งเกี่ยวกับเรื่องที่เป็นเรื่องของอนาคตที่ไม่มีใครประกันได้ ว่าจะเกิดอะไรขึ้น อันนี้ก็เรื่องปิดกั้นมรรคผลของหมอดูพรรค์นี้ก็แน่นอน

หมอดูพวกที่สอง คือ มีความรู้ในเรื่องตำราจริง แล้วก็หลักของตำราโหราศาสตร์เท่าที่ผมเห็นมาก็มีความแม่นยำ มีหลักมีเกณฑ์อะไรพอสมควร คือไปผูกเอาสิ่งต่างๆในจักรวาลโยงเข้าด้วยกัน ซึ่งเป็นเรื่องลึกซึ้งมาก ซึ่งหมอดูประเภทนี้ก็อาจจะไม่ได้พูดให้ความรู้ให้ความเข้าใจกับลูกค้าที่มาดู ก็เท่าที่เห็นนะครับ พูดโดยประสบการณ์ส่วนตัวนะ
คนที่เป็นหมอดูที่แม่นมากโดยอาศัยตำรา ส่วนใหญ่จิตจะหมกมุ่นอยู่กับ อดีต ปัจจุบัน อนาคต แล้วก็เรื่องของเกณฑ์ หลักเกณฑ์ทางดวงดาว โอกาสที่จะมามองว่าอะไรต่ออะไรเป็นไปตามกรรม หรือว่าเป็นไปตามการกระทำที่เกิดขึ้นในปัจจุบันมันค่อนข้างจะน้อย ส่วนใหญ่เขาจะเชื่อว่าทุกอย่างถูกลิขิตมาหมดแล้ว
บางตำราแม่นขนาดที่บอกได้เลยนะว่า จะหกล้มเมื่อไหร่ วันไหน หรือว่าจะไปโดนขโมยของเป็นวัตถุแบบไหน ของรักของหวงแบบไหน คือ แม่นขนาดที่เหมือนกับโลกทั้งใบปรากฏเป็นของที่ถูกลิขิตไว้แล้วโดยท้องฟ้า ที่เขาถึงบอกว่าท้องฟ้าเป็นทุกสิ่งทุกอย่างของชีวิตมนุษย์
อะไรทำนองนั้น คือพวกนี้ค่อนข้างออกห่างมาจากเรื่องของกรรม แล้วก็เรื่องของการเจริญสติแน่นอน เพราะฉะนั้นโอกาสที่เขาจะให้อะไรที่มันเป็นเหตุผล เป็นสัมมาทิฏฐิ กับลูกค้ามันก็น้อยแล้วสัมมาทิฏฐิของตัวเองมันก็น้อยด้วย

หมอดูประเภทที่สาม ซึ่งมีอยู่จริง รุ่นตั้งแต่รุ่นพ่อรุ่นปู่มันก็มีนะ
ที่ท่านเอาเรื่องของกรรมวิบาก ในพุทธศาสนามาโยงเข้ากับดวงดาว
อธิบายอย่างเป็นเหตุเป็นผลแล้วก็เอาพระสูตรมายืนยันเลยว่าพระพุทธเจ้าตรัสไว้แบบนี้ แล้วก็ดวงดาวตามโหราศาสตร์หลักการมันเป็นอย่างนี้

อันนี้ก็เหมือนกับเอาเรื่องของกรรมวิบากมาทำให้น่าเชื่อถือขึ้น
อาศัยความรู้ความสามารถของตัวเอง ทำให้ลูกค้าพลอยมีความเลื่อมใสศรัทธาในเรื่องของกรรมวิบากด้วย ใครก็ตามที่ทำให้คนคนหนึ่งศรัทธาในกรรมวิบากได้ ผมว่ามันไม่ปิดกั้นมรรคผลนะ ไม่ใช่อะไรที่จะทำให้มีความมืดบอด น่าจะมีความสว่างมากกว่า แล้วก็ถ้าหากว่าทำด้วยใจอนุเคราะห์คือหวังจะให้คนที่เขาฟัง คนที่เขามาดูดวงกับตัวนี่ มีสัมมาทิฏฐิ มีความเข้าใจถูกต้องว่ากรรมเก่าจะทำไว้อย่างไร วิบากกำลังให้ผลอย่างไร ไม่สำคัญเท่ากับที่ว่าปัจจุบัน นี่ เราทำกรรมอะไรโต้ตอบกับวิบากเหล่านั้น อย่างบางคนวิบากดีกำลังให้ผลเสวยบุญแต่กลับไปทำบาป

หรือบางคนนี่เป็นตรงกันข้ามเลยคือกำลังโดนวิบากเล่นงานอย่างหนัก
วิบากมืดที่เคยไปทำบาปทำกรรมไว้ในอดีต แต่ปัจจุบันนี่ไม่คล้อยตามไปในกระแสของกิเลส กระแสของอารมณ์ ไม่สวนตอบไปด้วยหมัดต่อหมัด ตาต่อตา ฟันต่อฟัน แต่ว่ายอมรับโดยดุษฎีนั่นเป็นของเก่าที่เคยทำมา ก็ต้องก้มหน้าก้มตารับกรรมไป ในขณะเดียวกันก็พยายามที่จะฮึดสู้ด้วยการสร้างกรรมดีใหม่ ขึ้นมาแทนที่ความมืดด้วยความสว่าง อันนี้นี่ สว่างทั้งหมอดู สว่างทั้งคนที่มาดูแล้วเชื่อ

สรุปก็คือ อันนี้เป็นความเห็นของผม ไม่ได้ไปขัดแย้งกับครูบาอาจารย์
หรือว่าผมไม่ได้บอกว่าใครพูดผิดหรือพูดถูก แต่ผมมองอย่างนี้ก็แล้วกัน ว่าถ้าหมอดูให้ความสว่างกับตัวเองแล้วก็ลูกค้า หมอดูคนนั้นก็ยังอยู่ในเส้นทางของสวรรค์และนิพพานได้อยู่ แต่ถ้าหมอดูคนไหนก็ตามคิดหลอกลวงลูกค้า ยังดูไม่เป็น ยังทำไม่ได้ แต่ว่าไปโกหกเขา ไปทำให้เขาเข้าใจผิด มาหลงเชื่อตัวเอง โดยหวังโดยเล็งว่าจะเอาเงินเอาทองเป็นหลัก แบบนี้โอกาสที่จะมืดบอดมีตั้งแต่ตอนที่ทำแล้ว ยังไม่ต้องไปพูดถึงมรรคผลนิพพาน เอาแค่สวรรค์ก็คงจะไปได้ยากแล้วล่ะนะครับ



๒) การเห็นกิเลสและความคิดเกิดแถวที่บริเวณศีรษะกับแถวบริเวณกลางอก หรือที่อื่น มีข้อแตกต่างกันหรือไม่อย่างไรครับ?

กิเลสมันเกิดได้ที่เดียวคือที่ใจ ที่รู้สึกว่ามันเกิดขึ้นที่ศีรษะ หรือว่าบริเวณกลางอกอะไรต่อมิอะไรต่างๆ มันเป็นแค่น้ำหนักทางความรู้สึกที่ปรากฏกับกายอย่างถ้าเรามีความตึงที่ขมับ ไม่ได้หมายความว่าเราเห็นกิเลสที่ขมับ แต่ว่าเป็นอาการทางกายที่มันตอบสนองที่มันสะท้อนตอบความรู้สึกโกรธหรือว่าความเครียดที่มันเกิดขึ้นนะครับ ทำความเข้าใจว่า จริงๆเราจะเห็นอาการทางกายว่าเป็นอย่างไร ก็ขอให้มองว่าเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับกาย ไม่ใช่การเห็นกิเลสที่กาย เราก็มองไปก่อนว่าจะรู้สึกที่ศีรษะหรือที่กลางอกให้เหมาะว่า นั่นเป็นอาการทางกาย เรากำลังเห็นกายอยู่ไม่ได้เห็นกิเลส แต่ถ้าหากว่ารู้ในขณะนั้นกำลังร้อน ในขณะกำลังเกิดโทสะ อันนั้นแหละเรียกว่าเห็นโทสะอยู่ เห็นกิเลสอยู่



๓) ถ้ารักพี่เสียดายน้องมีวิธีตัดสินใจอย่างไรให้พอใจกับสิ่งที่เลือกไหม?

การที่เรามีจิตใจอาลัยอาวรณ์อยู่กับของสองสิ่ง ทั้งที่ไม่มีสิทธิ์ที่จะอาลัยอาวรณ์ได้นะ ถือว่าเป็นแบบฝึกหัดที่ดี ขอให้คิดนะว่าเป็นแบบฝึกหัดที่ดีที่เราจะได้มีใจเดียว อันนี้คำถามไม่ได้ระบุมานะว่าเป็นเรื่องของแฟนหรือว่าเป็นเรื่องของสิ่งของ แต่ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของวัตถุหรือเรื่องของบุคคล เราก็ควรจะอาศัยมันเป็นแบบฝึกหัดที่จะมีใจเดียว ในเมื่อไหนๆ ก็ต้องเลือกเอาอย่างเดียว แล้วก็ทิ้งอีกอย่างหนึ่งแล้ว ก็ต้องฝึกนะครับที่จะตัดสินใจ ในขณะที่เรารู้สึกนะครับว่าสิ่งหนึ่งใช่ แล้วอีกสิ่งหนึ่งก็ใช่ โดยที่ทั้งสองสิ่งมันอยู่กับเราพร้อมๆกันไม่ได้ ต้องมีสิ่งที่ใช่ที่สุด ขอให้บอกตัวเองไว้อย่างนี้ ต้องมีสิ่งที่ใช่ที่สุด ต้องมีสิ่งที่เราให้น้ำหนักมากกว่าอีกอันหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นสิ่งของหรือบุคคล เมื่อเลือกแล้วให้บอกตัวเองว่าเป็นข้อบังคับ เป็นกติกาที่เราจะผูกใจอยู่กับสิ่งที่เลือกอย่างเดียวหรือคนเดียวทั้งนี้ก็เพื่อเป็นแบบฝึกหัด ในการสร้างความเป็นคนมีใจเดียวขึ้นมา

คือเราไม่มองหรอกว่า วัตถุมีค่าไหนแต่มองว่าใจมีค่าที่สุด สำคัญที่สุด สำหรับชีวิตตัวเองถ้าหากฝึกความมีใจเดียวไม่ได้ เราก็จะเป็นทุกข์อยู่กับการคิดถึงอีกสิ่งหนึ่งหรืออีกคนหนึ่งร่ำไป แต่ถ้าหากว่าเราฝึกความเป็นคนมีใจเดียวได้ด้วยการคิดว่า ‘เอาล่ะ เลือกอันที่ใช่ที่สุดไว้แล้ว’ แล้วเราจะตัดใจเลย อีกอันถือว่าไม่ใช่ไปแล้ว อีกอันหนึ่งใช่ที่สุด อีกอันหนึ่งต้องไม่ใช่ ไม่ใช่ว่าใช่ทั้งคู่

ด้วยความตั้งเข็มทิศหรือทิศทางไว้อย่างนี้ ตั้งความคิดไว้อย่างนี้ ตั้งคติไว้อย่างนี้ ในที่สุดแล้วเราจะเป็นคนที่มีความรู้จักที่จะยับยั้งชั่งใจ
แล้วก็ความยับยั้งชั่งใจนั่นแหละที่จะเป็นเหตุให้ใจของเรามีความมั่นคง มีความเป็นหนึ่งเดียว ซึ่งก็เป็นที่มาของความมีใจเดียว เห็นความสำคัญของมัน อย่าเห็นเป็นแค่แบบฝึกหัดเล็กๆ ที่ทำก็ได้ไม่ทำก็ได้ แต่มองให้รู้สึกถึงภาพรวมใหญ่เลยก็แล้วกันว่า ถ้าฝึกความมีใจเดียวไว้ได้จนกระทั่งเป็นคนมีความเด็ดเดี่ยวจริงๆ เลือกอะไรแล้วก็อยู่กับสิ่งนั้นจริง มันมีผลไปถึงเรื่องของความสามารถในการรักษาศีล คนมีความสามารถในการรักษาศีลได้ ส่วนใหญ่มาจากการเป็นคนมีใจเดียว ตัดสินใจอะไรไปแล้วตกลงใจอะไรกับตัวเองไปแล้วสามารถรักษาได้ สามารถที่จะมีความซื่อสัตย์กับตัวเองได้ ไว้ใจตัวเองได้



๔) ที่จริงแล้วเหมือนมีคำถามมากมายในหัว จนเริ่มต้นไม่ถูกว่าจะเริ่มอย่างไรดี แต่ด้วยจากการที่อ่านหนังสือของพี่ก็ได้คำตอบกลับมาแล้วบ้าง แต่ไม่สามารถปฏิบัติได้อย่างที่ใจคิดอยากให้เป็น เหมือนรู้ว่าถูกอยู่ทางไหนแต่ยังไม่เดินไป แล้วก็รู้สึกว่าตัวเองยังไม่เข้มแข็งพอ ปล่อยให้ตัวเองเดินไปผิดทาง ขอคำชี้แนะอยากให้ตัวเองฝึกจิตใจเข้มแข็งแน่วแน่ อยากสร้างแรงบันดาลใจมุ่งมั่นแน่วแน่ ไม่เดินตามกิเลสที่ใจ พอจะแนะนำแนวคิดใด ให้ได้สำนึกได้มากกว่านี้ได้ไหม?

ในเรื่องของการสร้างความเข้มแข็งของจิตใจนะ ขอให้คิดว่าเราไม่สามารถสั่งให้ใจมีความเข้มแข็งขึ้นมาเองลอยๆ เหมือนกับที่เราไม่สามารถสร้างกล้ามเนื้อให้ตัวเอง ด้วยการคิดว่าจงใหญ่ขึ้น จงแข็งขึ้น จงเป็นมัดๆขึ้น มันเป็นไปไม่ได้ เราต้องหาเครื่องฝึก เราต้องหาเครื่องต้านกล้ามเนื้อ มาบริหารกล้ามเนื้อให้มันค่อยๆแข็งแกร่งขึ้นมา
อันนี้เป็นหลักการทางธรรมชาติ ไม่ใช่หลักการที่ใครคิดขึ้นมา แล้วไม่ใช่สิ่งที่ใครคิดให้เป็นหรือไม่อยากให้เป็น

ถ้าหากว่าเราอยากแข็งแรงทางร่างกายแล้วต้องออกกำลังกาย ก็เหมือนกันฉันใดฉันนั้น อยากจะมีจิตใจที่เข้มแข้งคุณต้องฝึก และไม่ใช่ฝึกด้วยการใช้บทเรียนง่ายๆ หรือว่าใช้แบบฝึกหัดเพียงนั่งมองฟ้ามองดาว แต่คุณจะต้องเผชิญกับโลกความจริง ทีละนิดทีละหน่อย เอาง่ายๆ ก่อน เพื่อให้เกิดความชุ่มชื่นใจไปในตัวด้วย ท่านถึงแนะนำให้เริ่มจากการสร้างบุญสร้างกุศลเล็กๆน้อยๆ ที่เป็นไปได้ที่ทำได้จริง

ยกตัวอย่างเช่น ถ้าหากตั้งใจว่า ๑ เดือนต่อจากนี้เราจะตื่นเช้าขึ้นมาแล้วสวดมนต์อิติปิโสให้ได้ ๗ จบ ทุกเช้าไม่มีเว้น เคยตื่นนอนหกโมง ก็ตื่นเช้าขึ้นซัก ๒๐ นาที แล้วก็สวดให้ได้ ๗ จบตามที่ต้องการ แต่ละจบก็สังเกตใจตัวเองดูไปด้วยว่ามันมีความชุ่มชื่นแค่ไหน รอบแรก รับรองมันไม่ชุ่มชื่นหรอก มันแห้งแล้วมันมีแต่อาการโอดโอย มันมีแต่อาการสงสารตัวเองว่าต้องตื่นเช้าขึ้นเพื่อที่จะมาทำอะไรก็ไม่รู้ แต่พอรอบสองรอบสามสังเกตตัวเองดู จิตใจมันเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ จากเดิมที่ขุ่นมัว มีแต่ความสงสารตัวเองที่ต้องมาทำอะไรลำบาก กลายเป็นความรู้สึกชุ่มชื่นขึ้น มีความสงบเย็นมากขึ้น มีความสบายใจมากขึ้น มีความแน่วนิ่งเป็นสมาธิมากขึ้น หรือรอบต่อๆมา มันมีอาการเหมือนกลับมาฟุ้งซ่านใหม่ เราก็เห็น เห็นเป็นรอบๆว่าจิตของเราแตกต่างกันอย่างไร ในแต่ละรอบ

ในที่สุดแล้วถ้าหากว่าทำได้ครบเดือน เราจะมีความรู้สึกเข้มแข็งขึ้นมา ในความเข้มแข็งนี้มีความชุ่มชื่นอยู่ด้วย ไม่ใช่ฝืนใจอย่างเดียว มันมีความชุ่มชื่นอยู่ด้วย บอกแล้วว่าเราต้องทำอะไรที่มันเป็นเครื่องต้านจิตต้านใจสักนิดนึง มันเป็นแรงกดดันสักนิดนึง มันต้องมีความลำบากสักนิดนึง และความลำบากชนิดนี้ มันเป็นความลำบากที่มีความชุ่มชื่นเคลือบอยู่ด้วย เพราะฉะนั้นมันจะไม่ลำบากมาก ถ้าเราตั้งใจทำจริงๆ
จากนั้นจะเห็นเลยว่าไม่ว่าจะเกิดเหตุการณ์อะไรที่มาพิสูจน์ใจ
มาพิสูจน์ความแน่วแน่ของจิตนะครับ คุณจะรู้สึกว่ามันทำง่ายขึ้น
มันเอาชนะกิเลสได้ง่ายขึ้น มันทำให้คุณสามารถถึงจุดหมายได้สะดวกขึ้น

ถ้าเริ่มต้นด้วยบุญนะ ถ้าเริ่มต้นด้วยความสว่างนะ ความสว่างอันเกิดบุญนั่นแหละ มันจะเป็นความอบอุ่นใจ มันจะเป็นความเข็มแข็ง มันจะผลักดันให้เราเกิดความมุมานะที่จะทำอะไรตามความตั้งใจตัวเองได้ต่อ ไป ลองดู ถ้าหากว่าทดลองดูจริง ส่วนใหญ่จะกลับมาบอกทุกคนเลยว่ามันได้ผล



๕) อยากให้ตัวเองรู้สึกสงบ เวลาทำสมาธิ คิดฟุ้งซ่านตลอด อยากได้วิธีสร้างกำลังใจให้เกิดความเพียรมากขึ้น?

ความอยากนั่นแหละครับ ตัวต้นเหตุของความฟุ้งซ่านตลอด
ยิ่งอยากให้รู้สึกสงบเท่าไหร่มันก็ยิ่งสร้างความฟุ้งซ่านมากขึ้นเท่านั้น จำไว้เป็นคีย์เวิร์ดตายตัวเลย นี่คือกฎตายตัวของการทำสมาธิเลย ยิ่งอยากมากขึ้นเท่าไหร่ ยิ่งฟุ้งซ่านมากขึ้นเท่านั้น

วิธีคือเริ่มต้นขึ้นมาอย่าเริ่มต้นจากความอยาก อย่าไปตามใจความอยาก สำรวจดูก่อนว่าร่างกายของเรามันมีความพร้อมอยู่รึเปล่า คนที่อยากมากนะ เท้าจะเกร็งมาก มือจะเกร็งมือจะกำ หน้าผากก็จะตึง ถ้าหากว่าเราสำรวจเป็นส่วน เริ่มต้นขึ้นมาไม่เอาตามความอยาก แต่ว่าดูร่างกายว่ามันอยู่ในสภาพพร้อมหรือไม่พร้อมที่จะเป็นสมาธิ ดูก่อนว่าฝ่าเท้ามันเกร็งไหม ถ้าเกร็งก็ผ่อนซะ ดูก่อนว่าฝ่ามือมันกำไหม ถ้ากำอยู่ก็คลายซะ ถ้าหากว่าหน้าผากตึงอยู่ หน้าผากมันย่นอยู่ เพราะว่าคิ้วขมวดก็คลายซะ ขมับตึงอยู่ก็คลายซะ

แค่ทำให้ร่างกายสามจุดใหญ่ นี้มันมีความผ่อนคลายได้ กล้ามเนื้อทุกส่วนในร่างกายจะผ่อนคลายตาม เพราะมันขึ้นอยู่กับสามจุดใหญ่ นี่แหละ พอร่างกายมีอาการผ่อนพักมีอาการสบายแล้ว มันจะเห็นเลย
หายใจเข้าก็รู้ว่าหายใจเข้า หายใจออกก็รู้ว่าหายใจออก ไม่ต้องบังคับให้ความฟุ้งซ่านมันหายไปมันก็หายไปเอง เพราะว่าความสบายนี่แหละตัวศัตรูของความฟุ้งซ่านเลย คนที่ทำสมาธิไม่ได้ผล ไม่ว่าทำมากี่สิบปีก็เพราะว่าเลี้ยงความอยากอันเป็นต้นเหตุความฟุ้งซ่านไว้เท่านั้นแหละ



๖) ผมจะทดสอบหรือดูอย่างไรว่าเราก้าวหน้าในการปฏิบัติธรรมในการเจริญสติแค่ไหนแล้ว?

วิธีง่ายๆที่จะรู้ว่าเราเจริญมาถึงไหนแล้ว ก็อาจจะมองทั้งสองแง่ ในเรื่องของกำลังสติกำลังสมาธิ และอีกแง่หนึ่งคือ ในเรื่องของการอยากตามใจตัวเอง การอยากไหลตามกิเลสไปถ้าหากว่าสติกับสมาธิดีขึ้น คุณจะรู้สึกสดใสรู้เห็นอะไรคมชัดขึ้น ขยับกายขยับแข้งขยับขาขยับเนื้อตัวไปทางไหนมันก็รู้สึกตัวไปตลอด หรือว่ามีอาการทางใจเป็นปฏิกิริยาโต้ตอบกับผัสสะภายนอกมาอย่างไร ก็สามารถรู้ได้เอง โดยที่แทบไม่ต้องไปตั้งอกตั้งใจอะไรมากเป็นพิเศษ แบบนั้นก็เรียกว่าเป็นความสามารถที่เราเห็นได้ชัดว่าสติกับสมาธิมีดีขึ้น อยู่กับสิ่งไหนนาน อยู่กับการดูกายดูใจ อยู่กับการเดินจงกรมหรือว่านั่งสมาธิได้นานขึ้น อันนั้นล้วนแล้วแต่เป็นความก้าวหน้าทางการบ่มเพาะสมาธิทั้งสิ้น

ส่วนเรื่องของกิเลส เรารู้ตัวเองว่า เคยโกรธแรงได้แค่ไหน เรารู้ตัวเองว่าเคยหลงตามอาการโลภที่มันพุ่งเข้าหาวัตถุที่อยากได้อย่างมี มันมีความรุนแรงแค่ไหน เรารู้ตัวเองแล้วพอไปเจอสิ่งเดียวกัน วัตถุแบบเดียวกัน ทำนองเดียวกัน เราสามารถเปรียบวัดได้ว่าอาการทางใจมันยังพุ่งทะยานเท่าเดิมหรือเปล่า มันยังมีอาการร้อนรนเท่าเดิมหรือเปล่า แล้วถ้ามันจะร้อนขึ้นมา มันมีความแรงแค่ไหน มันอยู่ได้นานแค่ไหน เอาปริมาตร ความหนาแน่นของราคะ โทสะ โมหะเป็นตัวตั้ง แล้วก็เอาระยะเวลาที่มันยืดอายุออกไป ราคะ โทสะ โมหะ มันมีความยาวนานแค่ไหน ยืดเยื้อแค่ไหน อันนี้ล้วนแล้วแต่เป็นการวัดได้ทั้งสิ้นเลยว่าเราก้าวหน้าไปถึงไหนแล้ว

แต่ถ้าหากว่าเอาตามหลักของพระพุทธเจ้าจริง ท่านให้ดูเลยว่า
กิเลสที่ลดไป มันเป็นสัดส่วนโดยตรงกับความก้าวหน้าในการเจริญสติ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแง่ของโมหะ ในแง่ของการเข้าใจผิด สำคัญว่ามีตัวมีตน มีราคะขึ้นมานึกว่ามีตัว ตัวอยู่ในราคะ มีโทสะขึ้นมานึกว่ามีตัวเราโกรธอยู่ อย่างนี้เรียกว่ามีโมหะ แต่ถ้าหากว่าโมหะน้อยลง พอโทสะเกิดขึ้นมามันมีความรู้สึกว่าสักแต่มีความร้อนพลุ่งพล่านขึ้นมา มีก้อนอะไรแน่น ที่มันอัดอั้นตันใจขึ้นมา เวลาเกิดความหน้ามืดจากราคะ หรือว่าเกิดความโลภอะไรที่มันมีความทะยานอยาก ความทะยานอยากพอมันพุ่งออกไป มันจะรู้สึกอึดอัด ถ้าเรารู้สึกว่ามันอึดอัดน้อยลง แล้วก็คลายตัวไปได้รวดเร็ว นั่นแหละคือสภาพที่กิเลสมันเริ่มอ่อนกำลังลงแน่ แล้วมันไม่มีทางตัดสินเป็นอื่น นอกจากว่าความก้าวหน้าของเราเกิดขึ้นในการปฏิบัติธรรม

การเจริญสติไม่ว่าจะทำได้มากหรือน้อย
ไม่ว่าจะเป็นฆราวาสหรือเป็นพระ
แต่สิ่งหนึ่งที่คุณจะเห็นแน่ คือ
ถ้ามาถูก ถ้ามาตรง กิเลสมันลดลงแน่นอน



« กลับสู่สารบัญเรียงตามครั้งที่ออกอากาศ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น