วันศุกร์ที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ดังตฤณวิสัชนา On Air ครั้งที่ ๕๒ / วันที่ ๑๘ พ.ค. ๕๕

« กลับสู่สารบัญเรียงตามครั้งที่ออกอากาศ

สวัสดีครับทุกท่าน วันนี้วันศุกร์ที่ ๑๘ พฤษภาคม ๒๕๕๕ นี่คือรายการดังตฤณวิสัชนา ผมดังตฤณมาตอบคำถามให้คุณเป็นเวลาครึ่งชั่วโมง ทุกวันจันทร์ พุธ และศุกร์ เวลาสามทุ่ม เพื่อจะทักทายไถ่ถามเข้ามาในรายการให้เข้าไปที่ http://www.facebook.com/HowfarBooks



๑) สร้างเหตุอย่างไรถึงทำให้ผู้ใหญ่และเจ้านายที่ต้องมีปฏิสัมพันธ์ด้วย เกิดความเมตตาเอ็นดู?

ความเมตตาที่มาจากผู้ใหญ่หรือผู้ที่เกี่ยวข้องที่จะให้คุณให้โทษกับเรา โดยมากแล้วก็ต้องยอมรับว่ามาจากกรรมสัมพันธ์ส่วนหนึ่ง พูดง่ายๆก็คือ หากเรามีกรรมสัมพันธ์อันดีร่วมกับพวกท่านมาจากในอดีตชาติ หรืออะไรก็แล้วแต่ที่เราจะนึกไม่ถึง อย่างเช่นบางทีอาจจะเกี่ยวโยงกับพ่อแม่เราหรือว่าตระกูลเรา หรือว่าหน้าตาของเราจะไปพ้องเข้ากับคนที่ท่านชอบหรือไม่ชอบอะไรทำนองนั้น ตามหลักจิตวิทยาก็มีอยู่ว่าเห็นปุ๊บ นึกถึงอะไรก็จะมีท่าทีมีปฏิกิริยาโต้ตอบออกมาแบบนั้น เป็นชอบ เป็นชัง เป็นรู้สึกสนิท หรือว่ารู้สึกห่างเหิน เมื่อเราพูดถึงสิ่งที่มันจับต้องไม่ได้ มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า แล้วก็ไม่สามารถใช้ใจของคนธรรมดาๆที่คิดๆนึกๆ หรือว่าคาดเดาความหมายอย่างที่เห็นๆกันอยู่ในโลกประจำวันไปหยั่งรู้เอาว่าในอดีตเราเคยมีกรรมสัมพันธ์กับท่านมาอะไรอย่างไร เราพูดถึงสิ่งที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้เป็นกลางๆในกรรมปัจจุบัน

ถ้าหากว่าพิจารณาว่าทำอย่างไรแล้วจึงจะเป็นที่รักของมนุษย์และเทวดา พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้ชัดเจนว่า ประการแรกต้องเป็นคนมีน้ำใจ คือมีความคิดอยากเกื้อกูล คิดอยากที่จะเผื่อแผ่ คิดอยากที่จะช่วยเหลือ ใครต่อใครที่ตกทุกข์ได้ยากลำบากกว่าเรานะครับ แล้วก็เป็นคนที่มีศีล มีสัตย์ พูดง่ายๆคือว่านอกจากมีน้ำใจแล้วน้ำใจที่รินออกมาต้องสะอาดด้วยศีล สะอาดด้วยการรักษาหรือว่าสังวร ระวัง ไม่ให้ทำผิดคิดร้ายหรือไปเบียดเบียนใครเขา คือไม่ใช่ว่าเราจะไปมีความเมตตาหรือว่าไปรักษาศีลเฉพาะกับผู้ใหญ่ที่จะให้คุณให้โทษกับเรา แต่ว่าจิตของเราต้องมีธรรมชาติเป็นความมีน้ำใจและความสะอาดจากการให้ทาน และรักษาศีลเป็นปกติ มันแกล้งกันไม่ได้จะไปให้ทานหรือว่าจะไปรักษาศีลเฉพาะกับคนที่เราอยากให้ เขาพึงพอใจกับเรา มันไม่ออกมามันไม่จริงมันไม่แท้มันไม่ใช่ของที่จะเป็นต้นเหตุ เป็นต้นตอของความเป็นที่รักอันแท้จริง

ความเป็นที่รักอันแท้จริงทั้งสิ้นสำหรับมนุษย์ และเทวดาต้องเป็นจิตที่มีเมตตา จิตที่มันเกิดจากการรินน้ำใจอันสะอาด ผู้ที่ให้ทานแล้วก็รักษาศีลเป็นประจำจะมีกระแสของเมตตาออกมาเอง โดยที่คนอื่นเขามองเข้ามา กี่ทีๆเขาก็รู้สึกเหมือนเดิม ว่านี่เองของจริง ของที่มันเป็นความชุ่มชื่น ชุ่มเย็น แล้วก็ของที่เป็นความสะอาดไม่มีมลทิน ถ้าหากว่ายิ่งเรามาเจริญสติหรือปฏิบัติธรรมภาวนาจนกระทั่งมีความสามารถที่จะตั้งมั่นเอาน้ำใจและความสะอาดที่เกิดจากทานและศีลที่บำเพ็ญมาดีแล้วไปแผ่เมตตาเป็นประจำ จนกระทั่งได้ ‘อัปปมัญญาสมาบัติ’ พูดง่ายๆคือได้ฌานอันเกิดจากการแผ่เมตตา อันนี้นอกจากจะเป็นที่รักของมนุษย์และเทวดาทั้งหลายแล้วนะครับ ธรรมดาแล้วไฟไม่ไหม้ตัวนะครับ คือต้องมีเมตตาระดับอัปปมัญญาด้วย อัปปมัญญานี่ก็เข้าใจง่ายๆก็แล้วกันว่าจิตมีความตั้งมั่นอยู่แล้วก็สามารถที่จะให้ความเมตตาให้ความรู้สึกปรารถนาดีกับทุกคนไม่เว้นแม้กระทั่งศัตรู ต้องทำได้เป็นปกติ ถ้าหากว่าทำได้ก็ไม่ต้องไปพึ่งกรรมสัมพันธ์ในอดีตชาติ มาสนับสนุนหรือว่าส่งเสริมให้เป็นที่รัก แล้วได้กรรมในปัจจุบันที่ทำให้เราเกิดความเป็นที่เอ็นดู เป็นที่รักใคร่ แล้วกระแสที่ออกมาชัดเจนเลยว่า คนที่มีเมตตาก็จะเป็นคนที่มีความสุขกับความรัก คนธรรมดาแยกไม่ออก คือเขาไม่สามารถจะบอกได้ว่าที่เขานึกรักเรา นึกเอ็นดูเรา นึกอยากจะช่วยเหลือ นึกอยากจะสงเคราะห์ มันมาจากไหน จริงๆแล้วมันก็มาจากการได้สัมผัสความสุขจากเรานั้นแหละความสุข ความสุขทำให้เกิดความรู้สึกเอ็นดู ทำให้เกิดความรู้สึกว่าอยากจะให้สภาพความสุขนี้ในเรามันตั้งอยู่นานๆ เพราะฉะนั้นเขาจะแห่กันเข้ามาอยากจะช่วยเหลืออยากจะประคองไอ้ความสุขแบบนี้ ที่มันเผื่อแผ่มาถึงเขาด้วยให้ยั่งยืนต่อไปนี้เป็นหลักธรรมชาติธรรมดาเลย ถ้าหากว่าเราสังเกตคนในที่ทำงานหรือว่าคนที่เรารู้จักสักคนในชีวิตจะต้องมีที่เหมือนกับมีความสุขอยู่ตลอดเวลา และความสุขนั้นเป็นอะไรที่เรานึกถึงยามที่เราเกิดความทุกข์ ยามที่เราเกิดความรู้สึกที่อึดอัด ยามที่เราเกิดความรู้สึกว่ามันหาทางออกไม่เจอ พอไปอยู่ใกล้เขาแล้วมันได้ทางออก มันได้ทางออกทางใจ ถ้าหากว่าเราเป็นที่ตั้งของความสุขอันเกิดจากความเมตตานะขอให้จำไว้เลย ไม่ใช่เฉพาะเจ้านายหรอก เทวดาก็ยังช่วยเลย



๒) ‘โลภในบุญ’ เป็นอย่างไร? มีคนมาแนะนำให้เลือกทำเฉพาะบุญใหญ่ๆ เช่นการสร้างพระ ทำสังฆทาน หรือสรรหาพระที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบเพื่อไปทำบุญด้วย เนื่องจากได้บุญเยอะ อย่างนี้เข้าข่ายการโลภบุญหรือเปล่า? เนื่องจากได้ยินมาว่าการทำบุญคือการละวาง

การทำบุญก็คือการที่เราได้ทำอะไรดีๆเพื่อคนอื่นหรือว่าการที่มีใจหักห้าม ไม่เบียดเบียนใคร เมื่อมีเรื่องยั่วยุให้ต้องเบียดเบียนอย่างนี้เรียกว่าทำบุญแล้วนะครับ คือพูดง่ายๆว่าที่มาแห่งบุญมันต้องเป็นการให้ทาน แล้วก็เป็นการรักษาศีล นอกจากนั้นบุญอันสูงสุดเลยที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ ก็คือบุญอันเกิดจากการภาวนา คือการเจริญสติ เห็นกายเห็นใจ โดยการเป็นของไม่เที่ยงไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน เพื่อที่จะปล่อยวางเพื่อที่จะให้จิตคลายออกมาจากอุปาทานทั้งปวง ถ้าหากว่าเรายึดตามที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้เป็นกรอบอย่างนี้มันชัดเจนเลยบุญ

บุญระดับล่างคือการทำทาน บุญระดับที่สองคือการรักษาศีล นั่นหมายความว่า ถ้ามีน้ำใจให้นี่ดีนะครับ แต่ยังต่ำชั้นกว่ารักษาใจให้สะอาด ด้วยกรอบของศีล แล้วก็ยังสู้ไม่ได้เลยกับการที่เราจะเห็นกายเห็นใจด้วยของไม่เที่ยงกับการที่ไม่ใช่ตัวตน ถ้าหากว่าทำบุญได้ครบวงจรแบบนี้ ถือว่าได้ทำบุญในพุทธศาสนาครบถ้วน หรืออีกนัยหนึ่งคือได้มากอบโกยสมบัติที่พระพุทธศาสนากองไว้ให้ โกยได้ครบถ้วน คำว่าโลภบุญหมายความว่าอย่างไร? คำว่าโลภบุญในความหมายของคนไทยที่ใช้กันทั่วๆไปก็หมายความว่าอยากได้บุญ อยากได้เกินไป อยากได้จนกระทั่งว่าเราไม่เข้าใจว่าน้ำใจคือการให้ทาน คือการคิดเผื่อแผ่ไม่ใช่คิดจะเอา คิดจะเอาเข้าตัวไม่ใช่ว่าไม่เป็นบุญนะ พระพุทธเจ้าท่านตรัสเปรียบเทียบไว้ว่า ถ้าหากทำด้วยความคาดหวังว่าจะได้กำไรคืนเหมือนกับนักธุรกิจลงทุนไปแล้วได้กำไรคืนมา แบบนี้ได้บุญเหมือนกัน แต่เป็นบุญชั้นต่ำที่สุด ถ้าท่านเปรียบเป็นชั้นสวรรค์ทำบุญแบบนี้ไปเรื่อยๆจนกระทั่งสิ้นชีวิต ก็ได้ไปแค่จาตุมหาราชิกาคือสวรรค์ชั้นแรก ไปเป็นเทวดาชั้นต่ำสุด แต่ถ้าหากว่าให้โดยไม่มีความคาดหวัง ไม่ได้ผูกพัน ไม่ได้มีความอยากจะเสวยบุญ ให้เพราะมีน้ำใจอยากให้จริงๆ คือพูดง่ายๆว่าคิดอยากส่งเคราะห์คน คิดอยากสงเคราะห์สัตว์เพราะความสงสารเพราะความมีใจเมตตา เพราะความรู้สึกว่าการช่วยเป็นของดี การช่วยเหลือกันและกันเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เกิดขึ้นในใจเราเอง อย่างนี้ยกระดับไปได้อีกชั้นหนึ่งคือไปอยู่สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ อันนี้พระพุทธเจ้าท่านก็เปรียบเทียบให้ว่าไปสวรรค์ชั้นใดด้วยการทำบุญแบบไหน

การโลภบุญเอาแบบที่ว่าการจะต้องไปทำเฉพาะที่นั่น ไม่ใช่น้ำใจแล้ว นั่นเป็นเรื่องของความผูกพันความคาดหวังเต็มๆเลยว่าเราต้องทำที่นี่เท่านั้นจึงจะได้บุญ เราต้องทำกับท่านองค์นั้นองค์นี้เท่านั้นถึงจะเป็นการลงทุนที่จะได้คุ้ม นี่เป็นนักธุรกิจบุญและหลายคนเป็นนักธุรกิจบุญข้ามชาติด้วย หวังจะได้ไปสวรรค์หวังจะได้ถึงนิพพานด้วยการทำบุญ ท่านใดท่านหนึ่ง องค์นั้นองค์นี้ วัดใดวัดหนึ่ง ในจังหวัดนั้นจังหวัดนี้ การที่เรามีความคาดหมาย การเล็งไว้ จิตมันแคบเรียบร้อย จิตมันมืดเรียบร้อย จิตมันห่อหุ้มด้วยความโลภ จิตถูกครอบงำด้วยความอยากได้ มันไม่มีหรอกความสว่าง มันไม่หรอกความเยือกเย็นมันมีแต่ความเร่าร้อนเวลาที่ผลบุญได้ถึงเวลาที่กรรมผลิตผลมันก็จะมาแบบร้อนๆนั่นแหละ

ยกตัวอย่างเช่นทุกวันนี้มีเยอะแยะเลย ประเภทที่ว่าเกิดมาร่ำรวยก็จริงแต่ว่าไม่มีความสุขกับเงินทองที่ตัวเองมี ตรงข้ามต้องฟาดฟันกับพี่น้อง มันต้องบางทีพ่อฆ่าลูก ลูกฆ่าแม่อะไรแบบนี้ เพื่อที่จะแย่งชิงสมบัติสมบัติที่มันล่อตาล่อใจอยู่นี่ นึกว่าเป็นสิ่งที่มีค่าที่สุดในชีวิตถึงกับทำให้กำจัดสิ่งที่เป็นต้นตอชีวิตอย่างพ่ออย่างแม่ได้ แล้วก็ทำให้เห็นทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิตมันไร้ค่าไป ทั้งๆที่มีเงินไม่รู้จะเอาไปซื้ออะไร เอาไปประกวดประชันหรือว่าจะเอาไปชิงดีชิงเด่นเอาอำนาจอะไรนักหนา แต่พอได้มาไม่มีใครเหลืออยู่เลยฆ่าทิ้งไป หรือว่าเราไปกำจัดคนที่เป็นมิตร ทำให้มิตรกลายเป็นศัตรู หรือว่าศัตรูกลายเป็นเพชฌฆาต อยากจะเข้ามาฆ่าฟันเรา ผมเคยเห็นมานะพี่น้องที่เกิดมาจากท้องเดียวกันแล้วทำงานออฟฟิศที่หลังคาติดกันด้วยนะ คืออยู่ในออฟฟิศเดียวกันแต่แยกเป็นคนละห้องคนละอาคารห่างกันนิดเดียวเอง แต่ว่าจะไปไหนมาไหนคือเห็นหน้ากันอยู่แต่ไม่สามารถจะบอกให้อีกฝ่ายรู้ได้ว่าจะไปเมื่อไหร่จะกลับมาเมื่อไหร่ เพราะกลัวอีกฝ่ายหนึ่งนี่จะจ้างมือปืนไปยิง อย่างนี้นะมีในโลก ก็ลองดูเถอะ ต้นตอของการที่จะได้เงิน ได้เงินร้อนคืออะไร ก็คือทำบุญร้อนนั่นแหละ อยากได้จัดเลยนะครับก็สมใจอยากนั่นแหละก็ได้มาพร้อมกับความร้อน คือเรามองเป็นเรื่องของผลที่จะได้มาจากเหตุแบบใดแบบหนึ่ง ก็ว่ากันไม่ได้ถ้าไม่มีใครไปชี้นำให้เห็นถูกเห็นชอบตามพระพุทธเจ้าท่านทรงตรัสไว้ก็บางทีถือว่าต่างคนต่างไป บางทีไปพูดมากๆเขาโมโห หาว่าไปขวางบุญเขาก็จะทะเลาะกันเปล่าๆนะครับ



๓) ช่วงนี้หัดแยกขันธ์อยู่ สามารถเห็นกายกับจิตแยกกันได้ แต่ไม่แน่ใจว่าแบบนี้เรียกว่า ‘สัมมาสมาธิ’ หรือเปล่า? ขอคำแนะนำด้วย?

คำว่า ‘สัมมาสมาธิ’ หมายถึงสมาธิที่เกิดจากการที่เราเจริญสติมาถูกทาง และที่จะเจริญสติได้ถูกทางต้องมีสัมมาทิฐิเป็นตัวนำหน้า พูดง่ายๆถ้าหากว่าเราตั้งมุมมองไว้ถูกต้องว่ากายใจไม่เที่ยงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น อันนี้เรียกว่าเป็นอันดับแรกที่จะนำทางเข้ามาสู่การเห็นที่ถูกต้อง แล้วถ้าหากว่าเราตั้งมุมมองในการเจริญสติถูก คือสามารถที่จะรู้สึกถึงกายรู้สึกถึงใจได้โดยไม่ไปคาดหมายมากเกินไป ไม่ไปเพ่งมากเกินไป ในขณะเดียวกันไม่ปล่อยให้จิตใจเหม่อลอยหรือฟุ้งซ่าน ก็ในที่สุดก็จะได้เกิดการรับรู้ขึ้นมาว่ากายในขณะนี้มันไม่เที่ยง เช่น ลมหายใจเดี๋ยวก็เข้า เดี๋ยวก็ออก มันสักแต่เป็นลมพัดขึ้นพัดลง พัดเข้าพัดออกแบบนี้จนไม่รู้สึกว่าลมหายใจเป็นเรา จากนั้นอิริยาบถมันจะแสดงตัวเป็นอย่างไรอยู่ก็รู้สึกได้ชัดเจนตามมา แล้วจะสุขจะทุกข์อย่างไรจะฟุ้งซ่านหรือว่าจะสงบภาวะภายในเป็นอย่างไรรู้จริงตามนั้น ตามที่มันกำลังปรากฏอยู่นี่ อย่างนี้ในที่สุดแล้วพอใจมันไม่วอกแวกไปไหน มันมีความสนใจ มันมีฉันทะ ที่จะเข้ามารู้สึกถึงภาวะทางกายทางใจอยู่เรื่อยๆมันเกิดสมาธิขึ้นมา มันเกิดความตั้งมั่นของการรับรู้ ความตั้งมั่นของการรับรู้นั่นแหละคือสมาธิ ไม่ใช่ว่าเราจะต้องแยกให้ได้อย่างนั้นอย่างนี้หรือว่าเราจะต้องไปมีภาวะใดภาวะหนึ่งเป็นพิเศษเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา

บางคนรู้สึกว่ากายกับจิตแยกกันแล้วไปพยายามก๊อปปี้เข้าใจว่านั่นเป็นสภาพของสมาธิ เป็นสภาพของวิปัสสนาฌาน แท้ๆแล้วนี่ จริงๆก็คือว่าเมื่อไหร่เราตั้งใจก๊อปปี้ของเดิมขึ้นมา ไม่เอาภาวะตามจริงที่กำลังปรากฏต่อหน้าต่อตามาเป็นตัวตั้งนะครับ ตรงนั้นกลายเป็นการปรุงแต่งไปเรียบร้อยแล้ว กลายเป็นการหลอกตัวเองไปเรียบร้อยแล้ว กลายเป็นการทำสมาธิชนิดหนึ่งที่มันไม่ได้ให้ผลเป็นการปล่อยวางอย่างแท้จริง แต่ให้ผลเป็นการปรุงแต่งแบบหนึ่ง กลายเป็นสภาพหลอกอย่างหนึ่งไม่ใช่ของจริง แต่ถ้าหากว่าเราสามารถที่จะรู้สึกถึงภาวะทางกายทางใจที่กำลังปรากฏได้ตามจริง เราจะเห็นว่าความตั้งมั่นของการรับรู้บางครั้งมันแช่นิ่งอยู่เฉยๆนะ มันไม่เคลื่อนไหวไปไหนเลย ยกตัวอย่างเช่น เห็นจิตมีความนิ่ง มีความสว่างโพลนอยู่ไม่ได้มีความแยก ไม่ได้มีความล้ำเลื่อม ไม่ได้มีการบอกเลยว่าตรงนี้รู้ ตรงนั้นเป็นสิ่งถูกรู้ มีแต่อาการรู้อยู่เฉย มีแต่อาการสว่างโพลนอยู่เฉยๆ แต่ว่าก็มีปัญญาฌานเกิดขึ้นประกอบด้วย คือเกิดความรู้สึกจิตที่สว่างโพลนอยู่เฉยๆแช่อยู่นิ่งๆนั้นนะไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน อย่างนี้ก็มีได้

คำว่าสัมมาสมาธิที่แท้แล้วพระพุทธเจ้าท่านตรัสเอาระดับฌาน แต่ว่าระดับฌานก็ยังแยกเป็นระดับต่างๆ เรียกว่า ‘อารัมมณูปนิชฌาน’ คือเพ่งอยู่เฉยๆไม่มีปัญญาฌานประกอบ คือว่ารู้ว่ามีอะไรปรากฏอยู่แต่ไม่รู้ว่าสิ่งนั้นมันเป็นอนัตตา อีกอย่างหนึ่งคือเป็นฌานในอีกแบบหนึ่ง คือเห็นความไม่เที่ยงและเห็นความไม่ใช่ตัวตน คือต่อให้มันมีความนิ่งอยู่เฉยๆ มีอาการสว่างโพลนแต่มีปัญญาฌานประกอบอยู่ด้วย ว่าลักษณะของจิตที่กำลังปรากฏนิ่งอยู่นั้นไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน พูดง่ายๆถ้าจะเอาภาษาชาวบ้านก็คือ ถ้ารู้สึกว่าที่อาการปรากฏของสภาวธรรมหนึ่งๆนี่มันเป็นตัวเราอยู่อย่างนั้นเรียกว่าเป็นฌานแบบที่เพ่งเป็นอารมณ์เฉยๆ แต่ถ้าหากว่ามีความรู้สึกว่าสิ่งที่กำลังปรากฏอยู่ต่อจิตไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนเป็นเพียงของว่าง เป็นเพียงของกลวง เป็นเพียงของเปล่า ประชุมประกอบกันชั่วคราวจะด้วยสภาพการเห็นแบบแยกหรือไม่แยกอะไรอย่างไรก็แล้วแต่ ถือว่าเป็นวิปัสสนาจริงหมด ถือว่าเป็นสิ่งที่จะทำให้ใจถอนออกจากอุปาทานยึดมั่นถือมั่น ว่านั่นเป็นเรา หรือว่าเรามีอยู่ในสิ่งนั้นนะครับ

สัมมาสมาธิ ถ้าพูดกันให้เอาตามพุทธพจน์เป๊ะๆเลย ก็ตั้งต้นตั้งแต่ปฐมฌานขึ้นไป คือมี วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา คืออย่างน้อยที่สุดคือต้องมีความสบาย แล้วก็มีความรับรู้อยู่ในสิ่งใดสิ่งหนึ่งแล้วก็มีความตั้งมั่นเป็นเอกัคคตา เอกัคคตาลักษณะจะเป็นจิตใหญ่จิตใหญ่มันต้องเข้าถึงด้วยประสบการณ์ตรงถึงจะเข้าใจว่าเป็นอย่างไร คือจิตปกติมันจะมีความฟุ้งซ่านกระจัดกระจายซัดส่าย แต่ถ้าหากว่าความฟุ้งซ่านเงียบกริบลงแล้ว ความคิดมันหายไปจากหัว แล้วมีกระแสการรวมดวงทำให้เกิดเป็นดวงสว่างอย่างใหญ่ขึ้นมา แล้วก็ตั้งมั่นอยู่ไม่ไปไหน ตรงนั้นเรียกว่าเป็นฌานนะครับ

ขอสรุปนิดนึงว่าหัดแยกขันธ์ หัดที่จะแยกกายแยกจิต คือถ้าตามหลักแล้วก็เป็นสิ่งที่ดีนะครับ แต่ถ้าจงใจแยกโดยก๊อปปี้จากของเดิมที่ทำได้มามันจะกลายเป็นการคิดนึก มันมีการเอาจินตนาการเป็นตัวตั้ง ไม่ได้เอาของจริงเป็นตัวตั้ง ถ้าหากว่าเรารับรู้อยู่ถึงสภาวะที่กำลังปรากฏตามจริงในปัจจุบันทุกครั้ง เอาตัวปัจจุบันเป็นตัวตั้งทุกครั้งแล้วเกิดความรับรู้ได้ทุกครั้งอันนั้นถูก เกิดความรับรู้ว่าไม่เที่ยงไม่ใช่ตัวตนได้ทุกครั้งประกันได้เลยว่ามาถูกทาง ถ้าหากว่าเราฝึกหัดแยกขันธ์ด้วยการจงใจทุกครั้ง ว่าเอาแบบที่เราเคยเห็นมาเป็นตัวตั้ง อันนั้นคือเป็นการเอาของเก่ามาปฏิบัติใหม่ เป็นการก๊อปปี้เอาของเดิมมาใช้ใหม่ นั่นก็คือซีร็อก ไม่ใช่ตัวจริงนะครับ



๔) ทำอย่างไรให้จิตตั้งมั่น?

ง่ายๆเลยนะครับ สำหรับผู้ที่ยังใช้ชีวิตทางโลกอยู่นะครับ พูดคำไหนคำนั้น อย่าเป๋ เพราะพูดคำไหนแล้วไม่ทำคำนั้น ก็คือการที่จิตปรุงแต่งไปหลากหลาย แล้วความตั้งมั่นไม่เกิดขึ้นในจิตที่หลากหลายหรอก แต่ความตั้งมั่นจะเป็นเพื่อนเป็นพวกเดียวกันกับจิตที่มีใจเดียว กับจิตที่มีลักษณะเป็นหนึ่งเดียว จิตที่มีลักษณะว่าตั้งใจทำอะไรแล้วทำจริง ไม่โลเล ไม่เหลาะแหละ ไม่ล้มเลิกกลางครรภ์นะครับ แล้วก็เป็นจิตที่ไม่ทำเรื่องง่ายให้เป็นเรื่องยาก แต่พยายามที่จะทำให้เรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย คือจิตมีอะไรจดจ่ออย่างเดียวไม่พยายามที่จะคิดอะไรซับซ้อน ไม่พยายามที่จะคิดอะไรที่ในลักษณะวกไปวนมา ถ้าหากว่าจิตของเรามีลักษณะความคิดที่เป็นพวกเดียวกันกับการเปลี่ยนเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่ายอันนี้ก็มีส่วนที่จะทำให้จิตตั้งมั่นได้เหมือนกันนะครับ

เรื่องของความตั้งมั่นของจิต นอกจากเราจะทำนิสัยในชีวิตประจำวันสอดคล้องกับจิตที่ตั้งมั่นแล้วนะครับ ก็จำเป็นที่จะต้องทำให้จิตใจมีความเยือกเย็นจิตใจมีความสว่างด้วย วิธีที่ง่ายที่สุดและสั้นที่สุดที่พระพุทธศาสนาได้ถือปฏิบัติเป็นธรรมเนียมกันมาก็คือ สวดมนต์บทที่เย็น บทที่มีความสามารถที่จะให้เราหลั่งรินเอาความเมตตาออกมาได้นั่นก็คือ สวดสรรเสริญพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เรียกสั้นๆว่าบทอิติปิโสนั่นเอง ถ้าหากว่าใครสวดบทนี้เป็นประจำถึงแม้ว่าจะไม่รู้คำแปลเลย ก็จะมีความรู้สึกถึงสัมผัสถึงความศักดิ์สิทธิ์สัมผัสถึงสิ่งที่อยู่สูง และใจที่ผูกกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์คือใจที่สว่าง ยิ่งถ้าหากว่าเราสามารถจะเปล่งเสียงเต็มปากเต็มคำ ‘อิติปิโส ภะคะวา อะหัง สัมมาสัมพุทธโธ ภะคะวา…’ ถ้าทำได้เปล่งเสียงเต็มปากเต็มคำได้จิตก็จะมีความรู้สึกผูกพัน จิตจะมีความรู้สึกว่าถูกปรุงแต่งด้วยแก้วเสียงที่เป็นกุศลยังจิตให้เป็นกุศลมากขึ้นมากขึ้น แล้วถ้ายิ่งสวดหลายรอบ แต่ละรอบดูไปด้วยว่าจิตมีความฟุ้งซ่านหรือไม่มีความฟุ้งซ่าน ต่างกันกับรอบก่อนๆอย่างไรเปรียบเทียบไปปัญญามันเกิดแล้ว ก็กลายเป็นปัจจัยของความตั้งมั่นขึ้นมาได้มาก จะสังเกตว่าคนที่สวดอิติปิโสบ่อยๆเวลาลงนั่งทำสมาธิ เวลาที่ดูลมหายใจ เข้าออก จะรู้สึกว่าสามารถอยู่กับลมหายใจผูกพันกับลมหายใจได้ง่ายนั่นเพราะอะไร เพราะว่าจิตมีความพร้อมที่จะดู คนที่ทำสมาธิไม่ค่อยได้ส่วนใหญ่ไม่ใช่อะไรหรอก เพราะว่าจิตไม่มีความพร้อมที่จะดูนั่นเอง จิตไม่มีความเยือกเย็นพอ จิตยังมีความฟุ้งซ่านซัดส่าย หรือว่ามีความโลภอยากได้ความนิ่ง อยากกำจัดความฟุ้งซ่านมากเกินไป จนกระทั่งมันเป็นต้นเหตุของความฟุ้งซ่านขึ้นมาซ้อนๆกันไปอีกนะครับ


คืนนี้ราตรีสวัสดิ์ ขอให้เจริญในธรรมด้วยกันนะครับ


« กลับสู่สารบัญเรียงตามครั้งที่ออกอากาศ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น