สวัสดีครับทุกท่าน วันนี้วันศุกร์ที่ ๔ พฤษภาคม ๒๕๕๕ นี่คือรายการดังตฤณวิสัชนา ผมดังตฤณมาตอบคำถามให้คุณเป็นเวลาครึ่งชั่วโมง ทุกคืนวันจันทร์ พุธ และศุกร์ เวลาสามทุ่มตรง เพื่อจะทักทายไถ่ถามเข้ามาในรายการนะครับ ให้เข้าไปที่ http://www.facebook.com/HowfarBooks
๑) ‘กุศลธรรม’ ตัดรอน ‘กุศลธรรม’ กันเองได้หรือเปล่า?
ถ้ากุศลธรรมก็ต้องเสริมนะครับไม่ใช่ตัด เหมือนบวกเนี่ย สมมติว่าเรามีบวกสามอยู่ แล้วเอาบวกห้ามาอีกกองหนึ่ง มันก็เป็นบวกแปด คืออาจจะต่างกัน อาจจะเหมือนกับมีแบงก์ยี่สิบอยู่สามใบนะ แล้วก็แบงก์ร้อยอีกห้าใบ แล้วก็เอามาบวกกัน มันก็ได้เป็นเงินเหมือนกันนะครับ แต่อาจจะต่างประเภท ต่างจำพวกกันเท่านั้นเอง ทีนี้ถ้าพูดถึงตัวที่จะตัดรอน ตามในคัมภีร์นะท่านบอกไว้ บอกว่า กุศลธรรมเป็นปัจจัยให้เกิดอกุศลธรรมได้ พูดง่ายๆว่าถ้าหากมีบุญเคยทำบุญมามาก แล้วได้มายืนอยู่บนฐานที่มันสูงหรือที่มันมีโอกาส มีกำลังมากนะ ก็สามารถเอาโอกาสเอากำลังนั้นเนี่ย ไปทำบาปทำอกุศลได้ยิ่งกว่าคนที่ไม่มีกำลังหรือไม่มีที่ยืนที่มั่นนะครับ ยกตัวอย่างง่ายๆสมมติว่าเคยปกป้องเด็ก สตรี และคนชรา หรือว่าทุ่มกายทุ่มใจนะ ทำกิจเพื่อประโยชน์ของสังคม ทำกิจเพื่อพระศาสนา ทำกิจเพื่อให้คนในพวกเดียวกันหรือว่าพวกพ้องเนี่ยนะ ได้มีความเจริญรุ่งเรืองด้วยความขยันขันแข็งเนี่ย แล้วก็ไม่ทอดธุระไม่ดูดายในเรื่องที่เป็นบุญเป็นกุศล แบบนี้ถ้าหากว่าเกิดชาติใหม่ก็มักจะได้เป็นผู้ที่มีความกำยำล่ำสันนะ เพราะผู้ให้กำลังย่อมได้กำลัง นี่เป็นกฎธรรมชาติที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้ ทีนี้พอมีกำลังแล้วเกิดอะไรขึ้น พอเกิดชาติใหม่มันลืมว่าเคยไปทำดีอะไรไว้ เคยทำอะไรให้ใครบ้าง อย่างมีชาติหนึ่งที่พระพุทธเจ้าท่านมีร่างกายกำยำล่ำสันในช่วงที่เป็นเด็กเนี่ย ท่านก็จับพรรคพวกเหวี่ยงไปเหวี่ยงมา พูดง่ายๆเป็นนักเลงโต อย่างนี้ก็มีนะ พูดง่ายๆว่าถ้าเราพิจารณานะจากการที่ใครมีโอกาส มีกำลังนะ ก็ได้มาจากบุญ บุญเก่า แต่พอมีโอกาสมีกำลังแล้วเนี่ย ไปใช้ทำอะไร บางทีมันก็ความไม่รู้นะ แล้วก็กิเลสเนี่ยพอมันมาจับมือกัน ก็กลายเป็นความหลงผิด คิดทำอะไรที่มันไม่ดีได้นะ
๒) เคยได้ยินพระอาจารย์บางท่านกล่าวถึงคำว่า ‘ธาตุรู้’ หรือ ‘ธรรมธาตุ’ ไม่ทราบว่า ‘ธาตุรู้’ กับ ‘นิพพาน’ เกี่ยวข้องกันอย่างไร?
ธาตุรู้ก็จิตนั่นแหละนะ ถ้าหากว่าเอาตามความหมายดั้งเดิมที่มีอยู่ในพระคัมภีร์นะ ที่ท่านแบ่งเป็น ‘ธาตุ’ คำว่าธาตุ ธ ธง, สระอา, ต เต่า, สระอุ เนี่ยนะ ก็มีความหมายว่าเป็นธรรมชาติภาวะหนึ่ง เป็นธรรมชาติกองหนึ่ง ที่เป็นเอกเทศเป็นต่างหากจากภาวะอื่น จากธรรมชาติชนิดอื่น อย่างเช่น ถ้าพูดว่า ดิน น้ำ ไฟ ลมนะ แต่ละชนิดเป็นธาตุก็จะเข้าใจความหมายได้ว่า ดินคือความแข็งไม่เกี่ยวข้องกันกับธาตุน้ำที่มีความเป็นของเหลว ไม่เกี่ยวข้องกันกับธาตุลมซึ่งมีภาวะพัดไหว หรือว่าไม่เกี่ยวข้องกันกับไฟซึ่งมีลักษณะร้อน มีลักษณะอุ่น มีความเผาผลาญนะครับ ทีนี้ถ้าพิจารณาว่าธาตุมีอยู่เท่านั้นหรือเปล่า ไม่ใช่ ตามธรรมชาติแล้ว ยังมีอากาศธาตุอยู่อีกนะครับ อากาศธาตุนี่ก็เป็นช่องว่าง มีแต่ความว่าง ไม่มีลักษณะใดๆที่ปรากฏนอกเหนือจากความว่าง มีความเป็นช่องว่างอยู่ และอีกอันหนึ่งเป็นธรรมชาติสุดท้ายซึ่งวิทยาศาสตร์ไม่ยอมรับนะ เพราะว่าวิทยาศาสตร์ตั้งต้นขึ้นมาด้วยการจับต้องได้ พิสูจน์ได้ด้วยมือ ด้วยตา ด้วยหูนะ พูดง่ายๆว่าถ้าหากนอกเหนือไปจากประสาทสัมผัสทั้งห้าเนี่ย วิทยาศาสตร์ยังเข้าไปไม่ถึง เรื่องของธาตุสุดท้ายนี่ก็เป็นธาตุรู้ ก็คือวิญญาณธาตุนั่นเอง ถ้าหากว่าเราพิจารณาจากธาตุต่างๆทั้งจักรวาลแล้ว มีแต่ธาตุรู้เท่านั้นที่มีความสามารถในการรู้สึก มีความสามารถในการรับรู้นะ ธาตุอื่นๆถูกรู้หมดเลย มีแต่ธาตุรู้เท่านั้น วิญญาณธาตุเท่านั้นที่มีความสามารถที่จะรู้สิ่งอื่นได้ ทีนี้ธาตุรู้กับนิพพานเกี่ยวกันยังไง นิพพานไม่ใช่ทั้งธาตุดิน ไม่ใช่ทั้งธาตุน้ำ ไม่ใช่ทั้งธาตุลม ไม่ใช่ทั้งธาตุไฟ ไม่ใช่อากาศธาตุ แล้วก็ไม่ใช่วิญญาณธาตุด้วย ไม่ใช่ธาตุรู้ด้วยนะครับ นิพพานคือนิพพาน เป็นนิพพานธาตุ ถ้าหากว่าท่านจะกล่าวเจาะจงนะ เพื่อให้มีความเป็นต่างหากจากกัน ท่านก็ใช้คำว่า ‘นิพพานธาตุ’ เพื่อที่จะบอกว่า นิพพานเป็นธาตุต่างหากจากธาตุอื่นๆด้วยนะครับ ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกัน นิพพานถูกรู้ได้ด้วยวิญญาณธาตุ วิญญาณธาตุบอกแล้วว่าเป็นสิ่งเดียวในจักรวาล ที่มีความสามารถรับรู้ธาตุอื่นๆ ธาตุอื่นๆมีความเฉยของมันอยู่อย่างนั้น ไม่รู้สึกรู้สา ไม่มีความยินดียินร้ายนะว่าตัวเองจะเป็นยังไง แต่วิญญาณธาตุสามารถมีความยินดียินร้ายได้เมื่อเห็นธาตุอื่นๆมีอันเป็นไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้ายึดถือ ยึดครองอยู่ว่าธาตุนั้นๆมีความเกี่ยวข้องกับตน เป็นของตน เป็นเครือญาติของตน อย่างนี้ก็จะมีความเดือดร้อน มีความกระวนกระวายได้ มีความปรุงแต่งไปนะครับ คือไม่ใช่รู้อย่างเดียว มีความปรุงแต่งไป เกิดความรู้สึกเป็นทุกข์บ้างเป็นสุขบ้าง เนี่ยตรงนี้แหละที่วิญญาณธาตุเนี่ย คือเค้า คราวนี้ก็จะไม่เรียกเป็นวิญญาณธาตุ แต่จะเรียกเป็นใจที่มีความปรุงแต่งได้ เป็นจิตที่เป็นกุศลบ้างเป็นอกุศลบ้าง หรือว่าเป็นใจที่มีความรับรู้สิ่งกระทบต่างๆ แล้วเกิดการปรุงแต่งขึ้นมานะ เป็นความกระวนกระวายบ้าง เป็นความเยือกเย็นบ้าง เป็นความรู้สึกดีบ้าง เป็นความรู้สึกไม่ดีบ้าง ตรงนี้คือความแตกต่างนะครับ ทีนี้นิพพานเนี่ย ถ้าหากว่าเรามองเป็นนิพพานธาตุเนี่ยนะ แล้วก็นิพพานจะถูกรู้ได้ด้วยวิญญาณธาตุเท่านั้น แต่ว่านิพพานไม่ใช่ที่ตั้งของอะไรได้เลย คือถูกรู้ได้อย่างเดียวว่ามีอยู่จริง แต่ไม่สามารถเป็นที่ตั้งของอะไรๆได้ ไม่สามารถเป็นที่ตั้งของวิมาน ไม่สามารถเป็นที่ตั้งของธาตุอันเป็นทิพย์ ไม่สามารถเป็นที่ตั้งของดิน น้ำ ไฟ ลม ไม่สามารถเป็นที่ตั้งได้แม้กระทั่งอากาศธาตุ ดังนั้นถ้าหากใครเข้าใจว่านิพพานเหมือนช่องว่างในอากาศนะ อันนี้เปลี่ยนความเข้าใจซะ ช่องว่างในอากาศท่านจัดเป็นรูปด้วยซ้ำ ไม่จัดเป็นนามนะ อากาศธาตุไม่สามารถตั้งอยู่ในนิพพานได้ แม้กระทั่งจิตเนี่ยหมายถึงว่าถ้าเราปั้นจิตเป็นดวงๆ รวมจิต รวมกระแสจิตให้เป็นดวงๆได้ ไม่สามารถเอาจิตนั้นไปตั้งอยู่บนนิพพาน นิพพานมันว่างยิ่งกว่าช่องว่างในอากาศเสียอีกนะ ตัวนิพพานเองนะครับก็ไม่มีที่ตั้ง คือ นิพพานธาตุเนี่ยไม่ได้ตั้งอยู่ในที่ไหนๆ มีลักษณะที่ไม่มีนิมิต ไม่มีที่ตั้ง เป็นแต่ความว่างอีกแบบหนึ่ง ว่างที่ละเอียดยิ่งกว่าอากาศธาตุ นี่คือลักษณะของนิพพานที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้นะครับ ดังนั้นใครเข้าใจว่านิพพานคืออย่างนั้น คืออย่างนี้ สีชมพู สีแดง สีดำ สามเหลี่ยม สี่เหลี่ยม ไม่ใช่ทั้งนั้นนะครับ แล้วก็ไม่ใช่จิตด้วย
๓) วันนี้อารมณ์ร้อนผิดปกติ เลยพาลทะเลาะกับคนรอบข้างไปหมดเลย?
อากาศช่วงนี้น่าเห็นใจจริงๆนะ ถ้าใครถูกกดดันด้วยความร้อนเนี่ยก็คงจะต้องบอกว่า โอเค หยวนๆกันได้ มันเป็นไปได้ ช่วงนี้คงไม่ว่ากัน แต่เราก็ใช้เป็นสถานการณ์ที่เอาไว้ฝึกหัดได้ ไม่ใช่มีแต่จะบอกกันว่า เออ หยวนๆหรือว่า โอเค เห็นใจ คือเห็นใจเนี่ย มันมีเห็นใจอยู่สองอย่าง เห็นใจด้วยความรู้สึกเข้าใจแล้วก็เหมือนกับเห็นหัวอกนะ กับเห็นใจคือเห็นใจตนว่ามีลักษณะแบบนี้ มีความร้อน มีความเป็นโทสะ มีความเป็นอกุศล ถ้าหากว่าเห็นใจแบบนั้นได้ก็จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง เพราะว่านั่นคือการเจริญสติ คือการทำให้ปัญญารุ่งเรืองขึ้นโดยตรง ถ้าหากว่าเราสามารถทุกครั้งนะที่เกิดความโกรธ บันดาลโทสะขึ้นมาจะคุมได้ หรือคุมไม่ได้ไปแล้วก็แล้วแต่ ถ้าหากว่าเราเห็นว่านั่นกำลังเป็นอกุศลอยู่ อกุศลนั้นจะเป็นชนวนให้เกิดกุศลทันที มีคำอยู่ในคัมภีร์นะครับบอกว่า เมื่อใดที่สติเกิดในขณะที่เราเกิดอกุศลจิต จะด้วยโทสะหรือด้วยโลภะที่แก่กล้าอย่างไรก็แล้วแต่ ทันทีที่สติเกิด มีความรู้ว่าโทสะมันกำลังแสดงความเร่าร้อน หรือว่าโลภะมันกำลังแสดงภาวะปั่นป่วน สติตัวนั้นจะแปลงจิตให้เป็นกุศล ถือว่า ณ ขณะนั้นสติเป็นมหากุศลนะครับ ไม่ใช่กุศลธรรมดานะ ก็เอาอย่างนี้ก็แล้วกัน ช่วงนี้ถ้าหากว่ารุ่มร้อนมาก หงุดหงิดมาก เรามาดูกันนะว่า เรามาพิสูจน์กันว่าที่พระคัมภีร์ว่าไว้เนี่ย เป็นอย่างนั้นจริงๆหรือเปล่า ถ้าหากว่าเรามีสติรู้นะว่า ขณะนั้นกำลังเกิดความโมโหโกรธา แล้วรู้ว่าเป็นลักษณะของอกุศลนะ สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นลำดับต่อมา ถ้าจิตจะเปลี่ยนเป็นกุศลได้จริงนะ หลังจากเกิดสติรู้เนี่ย เราจะมีความรู้สึกผ่อนคลายลง มีความรู้สึกเบิกบานขึ้น มีความรู้สึกเยือกเย็นลง เนี่ยตรงนี้เนี่ย ถ้าหากว่าพิสูจน์ได้แล้วเราเกิดความรู้สึกขึ้นมา จะเป็นวูบๆวาบๆยังไงก็แล้วแต่ เห็นว่าลักษณะของจิต ธรรมชาติของจิตไม่ใช่ตัวตน มีเหตุปัจจัยให้เกิด เดี๋ยวมืดบ้างเดี๋ยวสว่างบ้าง ตรงนี้เป็นมหากุศลอย่างยิ่งนะ เป็นสิ่งที่เป็นมหามงคลของชีวิตเลย เพราะว่านั่นแหละคือต้นทางสู่นิพพาน เมื่อสามารถเห็นจิตไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนได้ ช่วงนี้แหละที่เป็นช่วงที่เราจะเห็นความไม่สามารถควบคุมจิต จิตมันต้องกระสับกระส่าย ระส่ำระสาย ทุรนทุราย ด้วยอากาศนะครับ ถ้าหากว่าเราเห็นว่าอาการทุรนทุรายของจิต มันเป็นเพียงลักษณะหนึ่ง เป็นเพียงสิ่งปรุงแต่งชนิดหนึ่งนะ มันเปลี่ยนได้ มันแสดงความไม่เที่ยงให้เห็นได้หลังจากเกิดสติ ตัวนี้แหละประตูนิพพาน
๔) ปีติที่คิดว่าเป็นกุศลจิต เมื่อก่อนอยากให้เกิดบ่อย แต่เดี๋ยวนี้ทำไมรู้สึกว่ามันบีบคั้นจิต?
อันนี้ก็แล้วแต่เราจะปรุงแต่งนะ สภาวะที่เกิดขึ้นกับจิตไม่ว่าอะไรทั้งนั้นนะ ถ้าหากว่าเราตั้งมุมมองไว้เป็นบวก มันจะรู้สึกดี แต่ถ้าหากว่าเราตั้งมุมมองไว้เป็นลบ มันจะรู้สึกแย่ ความรู้สึกที่เป็นบวกเป็นลบเนี่ย บางทีมันอาจจะเกิดจากการพูดคุยกัน แล้วแค่จุดประเด็นขึ้นมานะ จุดชนวนของความเห็นขึ้นมาว่า อย่างปีติเนี่ย ลักษณะของปีตินี่มันไม่ดี มันเป็นเรื่องที่ทำให้สติมันเจือจางลง หรือว่าทำให้ความก้าวหน้าในการเจริญสติมันล่าช้าอะไรแบบนี้นะ พอตั้งมุมมองไว้ไม่ดีปุ๊บ ปีติตัวเดียวกันกับที่เคยเกิดขึ้นแล้วทำให้รู้สึกดี มันกลายเป็นว่า เกิดขึ้นแล้วทำให้รู้สึกแย่ไปได้ นี่เรียกว่าการเรียนรู้นะครับ ว่าอาการปรุงแต่งทางใจมันเป็นแบบนี้เอง ภาวะตัวเดียวกันเกิดขึ้นแต่ก่อนรู้สึกดี ตอนนี้กลายเป็นรู้สึกแย่ ไม่ใช่เพราะว่ารสชาติของปีติมันต่างไป แต่เพราะว่าการปรุงแต่งทางใจที่ตัดสินให้เป็นชอบหรือชังเนี่ย มันเปลี่ยนทิศ เปลี่ยนทางนะครับ อันนี้ก็ขอให้เรียนรู้เป็นประสบการณ์ตรงว่า ปัจจัยให้เกิดความเป็นบวกเป็นลบกับภาวะหนึ่งๆเนี่ย มันหน้าตาเป็นอย่างนี้เอง
๕) มีธรรมะบทไหนพอที่จะแก้ปัญหา ดับทุกข์ คลายร้อนได้บ้าง?
ก็ประมาณอย่างนี้ก็แล้วกันนะว่า ถ้าหากเกิดความทุกข์ เกิดความร้อน ไม่ว่าจะเป็นความทุรนทุรายทางกายหรือว่าทางใจก็ตามนะ ขอให้นึกถึงพระพุทธเจ้า นึกถึงพระพุทธคุณ หมายถึงว่าคุณลักษณะหรือว่าคุณวิเศษในพระองค์พระพุทธเจ้า สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเนี่ยนะ ก็คือท่านมีความสงบระงับ คือแค่คิดนะ แค่คิดว่าพระพุทธเจ้าคือผู้ที่สงบระงับนะ เป็นผู้ที่มีนะ อันนี้เป็นสำนวนเก่านะท่านบอกว่าเป็น ‘ผู้ที่มีขนตกแล้ว’ หมายความว่าไม่มีอาการขนลุกขนชันขึ้นมาได้ ไม่มีอาการตื่นเต้น ไม่มีอาการกระวนกระวายขึ้นมาได้นะ ท่านอยู่สบายด้วยจิตที่มันไม่มีความหวั่นไหวแล้ว ด้วยจิตที่ไม่มีความสะเทือนแล้ว ด้วยจิตที่มีความสว่างโพลง ด้วยจิตที่มีความปลอดโปร่งเป็นนิรันดร์นะครับ คือคิดถึงลักษณะของพระพุทธเจ้าที่เราท่องกันตอนสวดอิติปิโสนั่นแหละ อิติปิโส ภะคะวา อะระหัง สัมมาสัมพุทโธน่ะ ถ้าหากว่าทราบคำแปล แล้วระลึกถึงคุณลักษณะของพระพุทธเจ้านะอย่างใดอย่างหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกี่ยวข้องกับความสงบ ที่เกี่ยวข้องกับความเย็น หรือที่เกี่ยวข้องกับเมตตานะ อย่างในบทพาหุงเนี่ย ก็จะมีกล่าวถึงความเย็นของพระพุทธองค์เนี่ย ที่มีปริมาณมากขณะที่สามารถยับยั้งช้างตกมันได้ ช้างนาฬาคีรีที่จะเข้ามาทำร้ายพระพุทธเจ้าเนี่ยนะ กำลังตกมันอย่างไม่สนใจว่าหน้าอินทร์หน้าพรหมไหนเนี่ย เพียงด้วยกระแสเมตตาที่ยิ่งใหญ่ของพระพุทธเจ้า ก็สามารถจะทำให้ช้างตกมันมีความสงบระงับลงได้ เพียงด้วยการระลึกแบบนี้นะครับใจมันจะเยือกเย็น ใจเราเนี่ยนะจะเยือกเย็นลงได้ทันที เพราะอะไร บางคนแปลกใจ เอ๊ะ อุปาทานหรือเปล่า มันก็ไม่เชิงว่าอุปาทาน แต่เป็นอาการปรุงแต่งอย่างหนึ่งทางใจที่ยึดเอาจิตที่มีความสงบที่สุดแล้ว มีความระงับแล้ว มีความไม่กวัดแกว่ง ไม่กระวนกระวายแล้วเป็นสรณะ นี่แหละ บางคนนะ สวดอิติปิโสมา ท่องมาตั้งนานนะก็ไม่เข้าใจ ไม่เข้าใจจุดนี้ ขอให้เข้าใจไว้ก็แล้วกันว่า การที่เรายึดใครเป็นสรณะ ก็เท่ากับยึดเอาจิตของคนคนนั้น บุคคลผู้นั้นเป็นแบบอย่าง เป็นที่ตั้ง เป็นทิศทาง ถ้าหากเราเอาบุคคลที่มีความสงบที่สุดในโลกนะ อย่างพระอรหันต์ ไม่ว่าจะลำดับตั้งแต่พระพุทธเจ้าเป็นต้นมา จนกระทั่งถึงครูบาอาจารย์สมัยนี้ที่ท่านยังปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ตามรอยบาทพระศาสดาอยู่เนี่ย เราก็เท่ากับได้ความสงบได้ความเย็นจากพวกท่านมาฟรีๆไม่ต้องลงทุนลงแรง เอาแค่ว่าจุดประกายให้เกิดความปรุงแต่งทางใจนะ ระลึกนึกถึงคุณวิเศษของพวกท่าน หรือไม่ก็ปฏิปทาแนวทางการปฏิบัติที่จะเข้าถึงความสงบของพวกท่านนะ ใจเราก็จะมีความสงบตามทันที ขอให้นึกจริงๆ ขอให้มันปรากฏอยู่ในห้วงมโนทวารของเราจริงๆเถอะ
๖) ไม่อยากรู้จิตของใครเลย แต่มองหน้าแล้วทำไมเหมือนมีใครเอาข้อมูลใส่สมองเราประจำเลยคะ?
ก็ไม่เป็นไรนะ คือถ้ารู้เนี่ย เราก็รู้ตามหลักที่พระพุทธเจ้าประทานไว้ก็แล้วกัน มันมีประโยชน์เหมือนกันนะ บางคนเนี่ยคือจิตมีแต่ม้วนเข้าหาตัว มีแต่โลกส่วนตัว รู้แต่เรื่องความอยากของตัวเองอย่างเดียวเนี่ย บางทีมันถึงขั้นที่ว่าสงสัยแปลว่า เอ๊ะ นี่ ที่รู้ ที่เห็น ที่เกิดประสบการณ์ต่างๆนานาอยู่เนี่ย มันเป็นความฝันของเราคนเดียวหรือเปล่า คนอื่นเค้ารู้สึก คนอื่นเค้านึกคิด คนอื่นเค้ารู้เค้าเห็นแบบที่เรารู้เห็นหรือเปล่า นี่มีแบบนี้กันเยอะเหมือนกันนะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พวกที่หมกมุ่นครุ่นคิดเกี่ยวกับเรื่องของตัวเองมากๆ แต่ถ้าหากว่าเรามองหน้าใคร แล้วสามารถรู้สึกถึงความรู้สึกนึกคิดของเค้าได้ อันนี้ก็เรียกว่าจูนจิต จิตของเราเนี่ยจูนเป็นเครื่องรับได้ ก็มีประโยชน์ แต่ขอให้รู้วิธีใช้ประโยชน์ก็แล้วกัน พระพุทธเจ้าตรัสไว้อย่างนี้ หลักการที่เราจะสามารถทิ้งความเป็นเขา ทิ้งความเป็นเรา ตัดทำลายอุปาทานที่มีเรา มีเขาไปได้ก็คือ เห็นภาวะทั้งภายในของเรา และก็เห็นทั้งภาวะภายนอก ซึ่งเป็นของเค้าว่าล้วนไม่เที่ยง แสดงความเปลี่ยนแปลงให้เห็นอยู่ตลอดเวลา เริ่มจากเอาของเราก่อน ถ้าหากว่าเราเกิดความรู้สึกรำคาญคน ไม่ชอบที่จะเห็นใครแล้วเกิดความระคาย มันแตกต่างจากจิตของเรา จิตของเราไม่อยากเบียดเบียน จิตของเค้ามันอยากเบียดเบียน จิตของเราไม่อยากที่จะทำอะไรให้มันซับซ้อน จิตของเค้ามันอยากทำอะไรให้มันยุ่งยากนะครับ ด้วยความต่างแบบนี้เกิดความระคายเคืองขึ้นมา เราเห็นปฏิกิริยาทางใจของเราก่อนเป็นอันดับแรกว่าปฏิกิริยาแบบนี้ ความขัดเคืองแบบนี้ ความไม่ชอบใจแบบนี้ มันเป็นอะไรที่ปรุงแต่งขึ้นมาชั่วคราวจากการกระทบกระทั่ง มีสิ่งภายนอกมากระทบใจ แล้วใจเกิดความรู้สึกขัดเคืองขึ้นมาหรือว่ามีความรู้สึกกระเพื่อม มีความรู้สึกสะเทือนขึ้นมานะ บางทีไม่ถึงขั้นขัดเคืองหรอก แต่ว่ามันสะเทือน มันเป็นความรู้สึกที่ไม่ดี ก่อความรู้สึกไม่พึงใจ พอเห็นถนัดว่าปฏิกิริยาทางใจของเรา มันปรุงแต่งขึ้นมาชั่วคราว แล้วเดี๋ยวก็หายไป ณ เวลาที่หายไป ใจเราจะรู้สึกว่างๆ ใจเราจะรู้สึกคลายจากอาการยึดว่า เนี่ยความไม่ชอบ เนี่ยเป็นความไม่ชอบของเรา จิตที่ว่างนั้นเมื่อเอาไปรู้อะไร มันก็จะรู้สึกว่าสิ่งนั้นมันว่าง มันกลวง มันไม่มีอะไร มันไม่ควรที่จะไปยึดมั่นถือมั่น แม้กระทั่งความสามารถในการรับรู้ภาวะจิตของคนอื่นเนี่ยนะ เราก็จะรับรู้ไปในแบบที่ว่าภาวะของเค้าเนี่ย ไม่ต่างจากภาวะของเรา ของเราอย่างไรของเค้าอย่างนั้น ของเราเป็นยังไง ของเรามันไม่เที่ยง ถูกปรุงแต่งขึ้นชั่วคราวด้วยอะไรอย่างหนึ่งที่มากระทบกระทั่ง ของเค้าก็เหมือนกัน เค้ากำลังพูด เค้ากำลังคุย เค้ากำลังดูอยู่กับอะไรก็แล้วแต่ จิตเค้าก็ถูกปรุงแต่งให้เกิดปฏิกิริยาทางใจ ไม่ต่างจากที่เกิดขึ้นในเรา แล้วแป๊บนึง พอแรงส่งของสิ่งกระทบต่างๆมันหมดลงเนี่ย อาการทางใจของเค้าก็ระงับ ปฏิกิริยาทางใจมันก็หายไป แรงส่งหมด ปฏิกิริยาก็หมด เนี่ยไม่แตกต่างจากของเรา รู้โดยความเป็นอย่างนี้ สังเกตโดยความเป็นอย่างนี้ ทุกที่ที่มีความรู้อย่างนี้จะเกิดปัญญา ไม่เกิดความระคาย ไม่เกิดความรำคาญ แล้วก็จะได้เลิกมีความรู้สึกไม่อยากรู้จิตของใครเลย ตัวไม่อยากรู้จิตของใครเลยตัวนี้เนี่ยนะ ถ้าหากว่ามันเกิดขึ้นเฉยๆก็ไม่มีประโยชน์ แต่ถ้าหากว่ามันเกิดขึ้นแล้วทำให้เกิดการปลุกสตินะ เกิดความรู้แนวทางขึ้นมาว่า จะรับมือกับมันอย่างไร เห็นภาวะของเค้าโดยความเป็นของไม่เที่ยง เนี่ยตรงนี้จบเลย บางทีเนี่ยพูดมันง่ายนะ แต่ว่าตอนทำจริงๆ ณ เวลาเกิดประสบการณ์ตรงเนี่ย ภาวะทางใจของเราเนี่ย จะมีความหลากหลายมาก แต่ไม่ว่าจะหลากหลายแค่ไหนนะ สิริรวมแล้วเนี่ย มันก็แบ่งได้แค่สองแบบนั่นแหละคือ ชอบกับไม่ชอบ ถ้าหากว่าไม่ชอบนะเราก็รู้ว่าไม่ชอบ ถ้าหากว่าชอบเราก็รู้ว่าชอบ ถ้าหากว่ามันเปลี่ยนไปนะครับจากชอบเป็นเฉย หรือจากไม่ชอบเป็นเฉยเนี่ย เราก็รับรู้ว่ามันเปลี่ยนไป ว่ามันต่างไป อาการรู้ เห็นภาวะที่มันเกิดขึ้นตามจริงนั่นแหละ มันจะนำไปสู่การสรุป มันจะนำไปสู่การตัดสินด้วยใจว่า อะไรๆทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นภายในหรือภายนอก ล้วนแล้วแต่แสดงความไม่เที่ยงทั้งสิ้นนะครับ
เอาละครับวันนี้ ผมไม่แน่ใจว่าถึงตรงนี้ใครยังได้ยินอยู่หรือเปล่านะ ที่หน้าจอของผมมันค้างไปนะครับ โอเค ยังไงราตรีสวัสดิ์นะครับ ขอให้เจริญในธรรมทุกท่านครับ
« กลับสู่สารบัญเรียงตามครั้งที่ออกอากาศ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น