สวัสดีครับทุกท่าน วันนี้วันจันทร์ที่ ๒ เมษายน ๒๕๕๕ นี่คือรายการดังตฤณวิสัชนา ผมดังตฤณมาตอบคำถามให้คุณเป็นเวลาครึ่งชั่วโมงเศษ ทุกคืนวันจันทร์ พุธ และศุกร์ เวลาสามทุ่มตรงครับ และเช่นเคยวันนี้เราใช้เฟสบุ๊คคุยกัน เพื่อที่จะทักทายไถ่ถามเข้ามาในรายการนะครับ ให้เข้าไปที่ http://www.facebook.com/HowfarBooks เริ่มกันเลยก็แล้วกัน เพราะว่ามีคำถามมารอกันแล้ว
๑) ผู้เฒ่าผู้แก่มักบอกให้เราทำให้ได้อย่างใจท่าน จะได้หมดห่วงนอนตายตาหลับ เราควรตามใจท่านไหม? หรือควรแนะนำท่านอย่างไรให้ท่านไม่ยึด?
ในพุทธศาสนา ถ้าพูดถึงการไม่ยึด โดยหลักเลยท่านจะมุ่งเอาแก่นสาร เอาจุดมุ่งหมายสูงสุดเป็นเกณฑ์ในการพูดถึงกัน นั่นก็คือ ‘ไม่ยึดว่ากายใจนี้เป็นตัวตน ไม่ยึดสิ่งที่มันเป็นอนิจจังว่าเป็นนิจจัง’ เวลาพระพุทธเจ้าท่านถาม ท่านก็ถามแบบนี้ว่า ขันธ์ ๕ ลองพิจารณาดูด้วยตัวของเธอเองว่ามันเที่ยงหรือไม่เที่ยง ทุกคนก็จะตอบตรงกัน ไม่ว่าจะใครก็ตามพิจารณาเป็นส่วนๆตั้งแต่ลมหายใจ อิริยาบถสุขทุกข์ สภาพของจิต สงบฟุ้งซ่าน หรือกระทั่งความรู้สึกนึกคิด เจตนา ดูเข้าไปแล้วไม่เห็นมีตรงไหนเลยที่มันเที่ยง ตอนเด็กก็อย่างหนึ่ง ตอนหนุ่มสาวก็อย่างหนึ่ง ตอนแก่ก็อย่างหนึ่ง นี่เห็นชัดๆ ถ้าชัดกว่านั้นก็คือ มาดูกันเป็นวินาที ดูกันเป็นขณะๆเลย ลมหายใจเข้าออกมันเที่ยงไหม ความรู้สึกเป็นสุขเป็นทุกข์มันเที่ยงไหม ทุกอย่างมันกำลังแสดงความไม่เที่ยงให้เห็นอยู่ตลอดเวลา เมื่อทุกอย่างไม่เที่ยง เราก็ไม่สมควรที่จะไปทึกทักว่ามันจะทนอยู่ มันจะคงอยู่ แล้วก็ไม่สมควรที่จะไปยึดไปถือเอาว่ามันเป็นตัวตน มันเป็นตัวของเรา เรามีอยู่ในนั้น
ถ้าพูดถึงคำว่า ‘ไม่ยึด’ หรือว่า ‘ปล่อยวาง’ จริงๆแล้วเป็นสภาพของใจที่พัฒนาแล้ว เป็นสภาพของจิตที่มีสติปัญญาประกอบอยู่เต็มพร้อมแล้ว ไม่ได้มุ่งหมายเอาเรื่องของมือไม้ ว่าอย่าไปหยิบ อย่าไปจับ อย่าไปทำ อย่าไปทำตามหน้าที่ หรือว่าอย่าไปประกอบกิจใดๆเลยที่มนุษย์เขาพึงจะทำกัน เคยมีตัวอย่างที่ดีก็เรื่องของหลวงพ่อชา คงเคยได้ยินกันนะ หลวงพ่อชาเคยมีลูกศิษย์ ท่านหมายถึงเป็นพระลูกศิษย์ท่าน รู้สึกว่าหลังคารั่วหรืออะไรทำนองนั้น ท่านก็ปล่อยให้มันรั่วอยู่อย่างนั้น ปล่อยให้ฝนมันตกลงมา หลวงพ่อชาเดินผ่านมาเห็นว่าหลังคารั่ว ท่านก็ถามว่าทำไมไม่ซ่อม ทำไมไม่เอาอะไรมาอุดซะ ลูกศิษย์ท่านก็บอกว่า “ท่านปล่อยวาง” หลวงพ่อชาท่านได้ยินดังนั้นก็ “พุทโธ่... คุณปล่อยวางแบบนั้นมันปล่อยวางแบบควาย” คือปล่อยวางแบบเคี้ยวเอื้อง ไม่รู้ไม่ชี้อะไรทั้งนั้น พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนให้ปล่อยวางแบบนั้น พระพุทธเจ้าท่านมีการบัญญัติวินัยขึ้นมาบังคับ ให้ยึดมั่นถือมั่นในวินัยนั้นเป็นเกณฑ์เลยด้วยซ้ำ แม้กระทั่งในกุฏิมีหยากไย่ ท่านก็ปรับอาบัติแล้ว เป็นอาบัติเล็กน้อย ที่พูดมาทั้งหมดจะแสดงให้เห็นว่า คำว่าปล่อยวาง คำว่าไม่ยึดมั่น ไม่ยึดถือ ไม่ใช่ว่าไม่ให้ทำอะไรเลย ไม่ใช่ว่าจงอย่าไปสนใจอะไรเลย อยู่เฉยๆปล่อยให้ชีวิตมันถึงวัน รอวันจุดจบไปเรื่อยๆเท่านั้นเพียงพอแล้ว ถือว่าทำตัวเลียนแบบพระอรหันต์ ไม่ต้องมีความข้องแวะ ไม่ต้องพะวงอะไรๆได้แล้ว เป็นความเข้าใจที่ผิดมหันต์
เรามาพูดถึงเรื่องของบุคคลในโจทย์ของผู้ถามที่บอกว่า ถ้าคนแก่มีความรู้สึกว่า จะต้องได้เห็นลูกหลานเป็นอย่างใจตัวเองให้ได้ซะก่อน ถึงจะตายตาหลับ แบบนี้ถ้าเราส่งเสริมให้ท่านหายห่วง ก็คือพยายามทำตัวให้ท่านไม่เป็นกังวล ถือว่าเป็นกุศลไหม? พูดถึงประเด็นนี้ก่อน เป็นกุศลแน่นอน คือ ทำให้ท่านมีความรู้สึกคลายจากความห่วงใย เพราะผู้ใหญ่เวลาท่านจะจากไป หรือเท่าที่ผมเห็นมาเกินกว่า ๘๐-๙๐ เปอร์เซ็นต์ก็แล้วกันสำหรับคนที่สูงอายุ ถ้าหากว่าจะมีห่วง มีพะวง หรือว่าจะปฏิบัติธรรม แม้กระทั่งจะมาเจริญสติ แล้วมีความรู้สึกว่ามันไม่ปลอดโปร่งเต็มที่ ก็เพราะว่าห่วงลูกห่วงหลานนั่นแหละ บางทีไม่ได้ห่วงชีวิตตัวเอง บางทีเหมือนกับชีวิตสอนตัวเองมามากพอแล้ว ว่าอะไรอะไรมันต้องหย่อนยานลงนะ มันต้องเหี่ยวย่นลงนะ มันต้องเสื่อมสภาพไปนะ ท่านก็ใช้เวลากันมาเกือบร้อยปี หลายสิบปีเกินครึ่งศตวรรษที่จะเรียนรู้ความจริงตรงนี้ไปแล้ว แต่ท่านยังไม่เรียนรู้ความจริงว่า ลูกหลานที่อยู่ข้างหลัง บางทีก็จะต้องมีอันเสื่อมสภาพ มีอันจะต้องโรยรา มีอันจะต้องแตกกายตายดับไปเหมือนกับท่าน ตามท่านไปเหมือนกัน อันนี้ท่านยังไม่ค่อยเรียนรู้ แล้วการที่คนเรายังไม่สามารถเรียนรู้ตรงนี้ได้ ก็เลยต้องหาทางออกด้วยการไปกะเกณฑ์ ไปคาดหวังไว้ว่า ถ้าตราบใดลูกหลานยังไม่ได้อย่างใจหวัง แสดงว่าท่านยังไม่สามารถจะปลดพันธะหรือว่าภาระออกจากใจ ยังไม่สามารถยกภูเขาออกจากอกได้
ถ้าหากว่าเราสามารถทำตามที่ท่านต้องการได้ด้วยเจตนาเลยนะ ด้วยเจตนาอย่างนี้ว่า เราอยากจะให้ท่านหมดห่วงหมดกังวลแล้วก็ตายตาหลับ อย่างนี้เราถือว่าเป็นการทำบุญทำคุณตอบแทนบุญคุณที่ท่านให้ไว้กับเราอย่างเต็มที่เท่าที่เราจะทำได้แล้วนะครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเป็นพ่อเป็นแม่ แล้วพ่อแม่อยากจะเห็นเราได้ดิบได้ดี หรือว่าทำตัวอะไรให้น่าหมดห่วง แล้วเราทำตามได้ ถือว่าตอบแทนบุญคุณท่านทีเดียว เรื่องของเรื่องคือ บางทีท่านไปกะเกณฑ์หรือคาดหวังมากเกินไปจนกระทั่งเราไม่สามารถทำตามได้ หรือถ้าทำตาม มันอาจจะต้องทรมานใจไปทั้งชีวิตทีเดียว อย่างเช่น ถ้าลูกแต่งงานกับคนนี้นะ แม่จะเกิดความรู้สึกว่าตายไปไม่ห่วงอีกแล้ว แต่เราไม่ชอบคนๆนั้น แล้วเราไปฝืนใจแต่งเพื่อเอาใจแม่ เพื่อให้แม่ตายตาหลับ เสร็จแล้วปรากฏว่าอยู่ด้วยกันแล้วไม่มีความสุข แล้วเขาก็รู้ว่าเราไม่ได้รักเขา อย่างนี้เท่ากับว่าทำความสุขให้แม่ด้วยการสร้างความทุกข์ให้กับคนที่จะมาเป็นสามี นี่คือยกตัวอย่างนะ ไม่ได้บอกว่ากรณีนี้ถามถึงเรื่องของคู่ครองนะ อันนี้แค่ยกตัวอย่างในประเด็นทั่วๆไปที่ว่า ลูกมักจะกังวลว่า ถ้าไม่สามารถทำตามที่พ่อแม่กะเกณฑ์ไว้แล้วเป็นเหตุให้พ่อแม่เกิดความกังวล หรือว่าตายตาไม่หลับจะเป็นบาปเป็นกรรมหรือเปล่า? บอกไว้นะว่า ไม่เป็นบาป ถ้าท่านคาดหวังไว้เกินไป หรือว่าเราพิจารณาเห็นแล้วว่าถ้าเราทำตามแล้วจะเกิดเป็นอกุศลกับตัวเองแล้วก็คนอื่นๆได้ เราก็ต้องพยายามที่จะเปลี่ยนความเห็นที่ผิดของท่านให้เป็นความเห็นที่ถูก ไม่ใช่ไปตามใจท่านตะพึดตะพือนะครับ
ส่วนที่ว่าในประเด็นทิศทางของคำถาม ตามหลักของพระพุทธเจ้า ท่านบอกว่าเราควรทำยังไงกับคนที่กำลังจะสิ้นชีวิต กำลังจะจากโลกนี้ไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากโลกนี้ไปอย่างรู้ มีเวลาเตรียมตัวควรจะทำยังไง? ท่านก็ตรัสไว้ชัดเจนเลยบอกว่า เพื่อที่จะทำให้เขาไปดี คือของเราเป็นญาติผู้ใหญ่ เพื่อที่จะทำให้พวกท่านไปดีได้ก็คือ ‘ไปพยายามที่จะปลดห่วง ปลดความกังวล ปลดพันธะออกจากใจของพวกท่าน ไม่ใช่ไปตามใจ ไม่ใช่ไปทำอะไร อยากได้อะไร ทำตามทุกอย่างให้’ เพราะว่าหลายๆสิ่ง หลายๆอย่าง บอกแล้วว่า ถ้าทำตาม มันกลายเป็นเราสร้างบาปสร้างกรรม หรือว่าสร้างอกุศลให้กับตัวเองหรือคนอื่นได้ แต่เราปลดพันธะด้วยการค่อยๆพูดให้ใจของท่านคลายจากอาการยึดมั่นถือมั่นตามหลักของธรรมะ
ตามหลักของธรรมะเป็นยังไง? ถ้าเขายังไม่ค่อยจะมีความเลื่อมใสอะไรเลย เราก็สร้างความเลื่อมใสด้วยการปลูกฝังความเชื่อว่า ความตายหรือว่ามรณะมีกับทุกคน จะต้องเกิดขึ้นกับทุกคนไม่ใช่เฉพาะเขา อย่างเช่น ถ้าเรารู้ว่าเขากำลังมีความห่วงใยลูกหลานอยู่ เราก็พยายามพูดให้เห็นตามจริงว่า ‘เกิดเมื่อไหร่ มันก็เป็นการนับถอยหลังสู่ความตายด้วยกัน’ เมื่อนั้นแหละ นับตั้งแต่อุแว้ออกมาจากท้องแม่เคาน์ดาวน์ไปเลย ๑๐...๙...๘...๗ ถ้าแบ่งช่วงชีวิตออกเป็น ๑๐ ส่วนก็นับไปเลย ๑๐...๙...๘...๗...๖...๕...๔...๓...๒...๑...๐ มันจะต้องเกิดขึ้นกับทุกคน ตัวเขาเป็นอย่างไร คนอื่นก็จะต้องเป็นอย่างนั้น เราห่วงเขาไป เขาก็จะต้องตายอยู่ดี เราจริงจังกับชีวิตแค่ไหนยังไงก็เอาตัวรอดไม่ได้ ตรงนี้นี่เป็นหลักธรรมความจริงที่มันจะต้องเกิดขึ้นกับทุกคน พูดไปจนกระทั่งเห็นเขาเกิดความรู้สึกคล้อยตาม เห็นตามจริงได้
อันนี้ก็มาพูดต่อ คนใกล้ตายต่อให้เคยไม่เชื่อเรื่องชีวิตหลังความตายมาทั้งชีวิต แต่วินาทีจวนอยู่ จวนไป เข้าด้ายเข้าเข็ม จะต้องมีความพะวง มีความห่วงกันทุกคนว่า ตายแล้วจะเจออะไร ตรงนี้เราก็พูดให้เกิดความสบายใจ ถ้านึกถึงบุญนึกถึงกุศลที่เคยทำให้จิตสบายใจสว่าง เคยใส่บาตรพระ จะเชื่อหรือไม่เชื่อ ตอนนั้นจะทำด้วยความอะไรก็แล้วแต่ แต่ถ้าหากว่ามาระลึก มานึกถึง มาคุยกันให้เป็นเรื่องเหมือนกับติดจิตติดใจ มันเข้าไปอยู่ในใจของคนใกล้ตายได้ ตรงนี้เราก็ได้โอกาสพูดเลยว่า ถ้าใจสบายอย่างนี้นะ ใจเป็นกุศลแบบนี้ นึกถึงแต่อะไรดีๆแบบนี้นะ มันมีสวรรค์เป็นที่ไป แล้วเราก็จาระไนเลย พระพุทธเจ้าท่านแจกแจงไว้แล้ว พรรณนาไว้แล้วว่าสวรรค์เป็นยังไง ลองไปอ่านดูในพระไตรปิฎกว่าเขียนถึงไว้ยังไง ในอินเตอร์เน็ตเยอะแยะที่เป็นพุทธพจน์พูดถึงสวรรค์วิมานไว้
ถ้าหากว่าเขามีความเลื่อมใส มีความปักใจเชื่อในเรื่องของสวรรค์แล้ว ใจก็จะคลายความยึดจากโลกนี้ได้โดยธรรมชาติ คือใจมันต้องหาที่เกาะอะไรสักอย่าง ถ้าหากว่าเราหาที่เกาะใหม่ให้เขาได้ เป็นสวรรค์เป็นภาพอะไรดีๆ เป็นความรู้สึกดีๆที่งดงาม ที่เป็นทิพย์หลังความตายไป เขาก็จะเลิกยึดมั่นถือมั่นสิ่งที่มันเป็นของหยาบ มันเป็นของดิบๆแบบที่ปรากฏอยู่ในโลกนี้ไป ถ้าคุยๆกันอาจจะใช้เวลาสักสองสามวันหรืออาจจะใช้เวลาเป็นอาทิตย์ๆ จนกระทั่งเขามีความยึดมั่นถือมั่นในสวรรค์แทนที่จะยึดมั่นถือในโลกหยาบๆแบบนี้ เรารุกคืบต่อไปอีก พระพุทธเจ้าแนะนำให้ทำอย่างนี้ เป็นเปลาะๆ พอเห็นเขายึดมั่นในสวรรค์แล้ว เราก็ค่อยๆพูด แม้แต่สวรรค์ขึ้นไปแล้วจะอยู่นานแค่ไหน เสวยสุขเพียงใด อย่างไรก็ต้องกลับมาเกิดอีกนะ สวรรค์เองก็ไม่เที่ยง ไม่มีสวรรค์ที่ไหนแม้แต่ชั้นพรหมโลกที่อยู่กันเป็นกัปเป็นกัลป์ มันก็ยังมีช่วงระยะเวลาบอกอยู่ ว่ามีอายุ ๑ กัป ๑ กัลป์ ในที่สุดก็ต้องเคลื่อนหรือว่าจุติ ทิ้งสภาวะหรือว่าทิ้งสภาพภพภูมิเหล่านั้นไปจนได้
เราพูดให้เห็นความจริงจนกระทั่งคนใกล้ตายได้คลายไปอีกชั้นหนึ่ง แม้กระทั่งชีวิตหลังความตายจะดีจะเลิศเลอยังไงนะ ก็ไม่อยากยึด เพราะเห็นความไม่เที่ยง เพราะในที่สุดเราก็สามารถที่จะแนะนำลงมากระทั่งลมหายใจปัจจุบันที่มันเข้าออก ที่มันเข้าออกอยู่ตลอดเวลา ๒๔ ชั่วโมง สังเกตดูมันมีความไม่เที่ยงปรากฏอยู่ สภาพร่างกายเดี๋ยวมันมีความกระสับกระส่ายบ้าง เดี๋ยวมันมีความสงบบ้างประสาคนใกล้ตาย ก็เห็นที่มันกำลังแสดงความจริงให้ดูอยู่ ไม่ใช่มีความไม่เที่ยงเป็นชีวิตๆเท่านั้น แต่ว่าไม่เที่ยงเป็นขณะๆลมหายใจเลยทีเดียว พอคนใกล้ตายเกิดความหมดห่วงหมดอาลัย แม้กระทั่งสิ่งที่ยึดมาตลอดชีวิตว่าเป็นตัวเอง นั่นแหละตรงนั้นแหละเราทำให้เขามากที่สุดเท่าที่จะทำได้แล้ว ไม่มีอะไรที่สูงไปกว่านี้ ไม่มีอะไรที่เป็นประโยชน์ยิ่งไปกว่านี้ ต่อให้เราทำได้ครบทุกประการ เขาคาดหวังว่าเราจะเป็น ๑...๒...๓...๔...๕...๖...๗...๘...๙...๑๐ ข้อ ๑๐ ข้อนั้น เราทำได้หมดก็ไม่มีประโยชน์ ไม่มีคุณประโยชน์กับเขา ไม่เป็นที่พึ่งให้กับเขาที่แท้จริงเหมือนกับการทำให้เขาคลายจากความยึดติดในโลก คลายจากความยึดติดในภพภูมิทั้งปวง แล้วในที่สุดคลายแม้กระทั่งความยึดติดในร่างกาย แล้วก็สภาพจิตใจที่นึกว่าเป็นเขา เป็นตัวเขาลงได้อย่างสิ้นเชิง นี่แหละประโยชน์สูงสุด
๒) คนที่มีความขัดแย้งในตัวเอง สามารถเจริญสติจนบรรลุมรรคผลได้หรือไม่? ทำอย่างไรให้เลิกรู้สึกขัดแย้งในตัวเอง?
ได้นะ ถ้าถามแบบกว้างๆว่า คนๆนั้นสามารถบรรลุมรรคผลได้หรือเปล่า ถ้าคนๆนั้นในชาติๆนั้น ไม่ได้ทำ ‘อนันตริยกรรม’ คือ ฆ่าแม่ ฆ่าพ่อ ฆ่าพระอรหันต์ แล้วก็เป็นพระที่ทำสงฆ์ในอาวาสเดียวกันแตกกัน แล้วก็ไม่ได้ทำพระพุทธเจ้าห้อเลือด ซึ่งปัจจุบันไม่มีโอกาสแบบนั้นอยู่แล้ว สามารถที่จะบรรลุมรรคผลได้หมด ตัวอย่างก็เหมือนอย่างพระองคุลีมาล ที่อดีตท่านเป็นจอมโจร จำผิดหรือเปล่าไม่รู้ ‘จอมโจรเคราแดง’ คือพูดง่ายๆว่าเป็นจอมโจรที่ทุกคนหวาดกลัวกันที่สุดแหละ คือฆ่าโดยที่ไม่ต้องมีเรื่องบาดหมางกันมาก่อน เพียงเพื่อจะเอานิ้วมาห้อยคอ โดนอาจารย์หลอก อาจารย์หลอกว่าจะสำเร็จวิชาขั้นสูงสุดต้องฆ่าคนให้ได้ครบ ๑,๐๐๐ ขณะที่ท่านฆ่าคนอยู่เป็นพันคน ก็ลองนึกดูซีเรียลคิลเลอร์ มันจะต้องมีจิตใจที่ปั่นป่วนฟุ้งซ่าน แล้วก็มีความขัดแย้งในตัวเองอย่างรุนแรงเลยทีเดียว คือมโนธรรมของมนุษย์ทุกคนสั่งว่าอย่าฆ่า แต่ความอยากได้วิชาสั่งว่าต้องฆ่า มันมีความขัดแย้งในตัวเองอย่างมากมายมหาศาล ในที่สุดแล้ว พอครบธรรมะของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าไปโปรด ท่านก็สามารถที่จะบรรลุธรรมถึงขั้นสูงสุดเป็นพระอรหันต์ได้ เพราะฉะนั้น ไม่ใช่แค่ว่าตัวเองมีความขัดแย้งกับตัวเองแล้วจะบรรลุมรรคผลได้หรือเปล่า ต้องบอกว่าบรรลุได้ถึงขั้นสูงสุดเลยทีเดียว
ทีนี้ถามว่า ถ้าในขณะที่จิตใจยังสับสน ยังฟุ้งซ่าน ยังมีความขัดแย้งกับตัวเองอยู่นั้น จะบรรลุธรรมได้หรือไม่? อันนี้ต้องตอบว่า ‘ไม่’ กล่าวโดยสรุปก็คือ คุณจะต้องเปลี่ยนสภาพความขัดแย้งของตัวเอง หรือว่าสภาพฟุ้งซ่านจัดของตัวเอง ให้กลายเป็นสภาพที่มีความสงบ มีความพร้อม มีความตั้งมั่นมากพอที่จะบรรลุมรรคผลได้เสียก่อน แล้ววิธีที่จะเลิกขัดแย้งกับตัวเองก็คือ ‘หาตัวเองให้เจอว่าตัวเราจริงๆมันอยู่ตรงไหนกันแน่’ บางคนไม่สามารถที่จะตอบได้ว่าตัวเองอยากได้อะไรกันแน่ เพราะว่าสองจิตสองใจมาตลอด ทำกรรมโดยอาการสองจิตสองใจมาตลอด สองจิตสองใจยังไง? สมมติว่าเอาแค่เรื่องการบันเทิง แหม...อยากดูรายการนี้จัง แต่อีกใจหนึ่งก็ เอ๊ะ! อีกช่องหนึ่งมันกำลังฉายณเดชน์อยู่ ก็เกิดความรู้สึกสองฝักสองฝ่ายขึ้นมา จะดูช่องไหนดี เปิดมันทั้งสองช่องเลยสับไปสับมา จิตใจมันก็กระโดดไปกระโดดมา นี่ยกตัวอย่างง่ายที่สุดเลยนะในชีวิตประจำวัน เดี๋ยวนี้มีคนประเภทนี้มากขึ้นทุกที คือ ไม่รู้หรอกว่าตัวเองต้องการอะไรกันแน่ มันมีความต้องการหลากหลายไปหมด แล้วก็ตามใจตัวเองมากเกินไป จะเอาทุกความต้องการซึ่งมันเป็นไปไม่ได้ แต่พอมันเป็นไปไม่ได้ก็เลยต้องสวิทช์อย่างรวดเร็ว กระโดดไปกระโดดมา ซึ่งในที่สุด ถ้าตามใจตัวเองมากๆแบบนั้น เราก็ทำไป กับแค่เรื่องบันเทิงง่ายๆเรายังไม่รู้ใจตัวเอง เราก็ทำกับทุกเรื่องเลย ไม่ว่าจะเรื่องเรียน เรื่องจะเลือกแฟน หรือว่าจะเลือกที่จะเรียนสาขาไหน คณะใด เลือกที่จะประกอบอาชีพการงานแบบใด มันเผื่อใจไปหมด มันเผื่อเลือกไปหมด มันไม่เอาจริงสักอย่างเดียว
อาการที่เราไม่เอาจริงบ่อยๆเข้า มันกลายเป็นความสับสนในตัวเอง มันกลายเป็นความรู้สึกขัดแย้งในตัวเอง ตอบตัวเองไม่ถูกว่าตัวเองอยากเลือกอะไรกันแน่ ใจมันอยู่ที่ไหนกันแน่ วิธีที่จะมีใจเดียวไม่ใช่มานั่งทำสมาธิ คนที่มีความขัดแย้งในตัวเองมากๆ พอลงนั่งสมาธิปุ๊บ ใจมันจะอยากจะกระโดดไปทางโน้นทีทางนี้ที ซ้ายทีขวาที มันไม่ตั้งมั่นอยู่ตรงหน้า มันไม่เอาสิ่งที่กำลังปรากฏอยู่เฉพาะหน้า มันจะคอยหันซ้ายหันขวา มันจะคอยถ่วงไปข้างหลัง แล้วก็ตั้งความหวังไปข้างหน้า จิตใจมันไม่หยุดหย่อน วิธีที่จะสร้างความเด็ดเดี่ยวให้กับตัวเอง เลิกขัดแย้งกับตัวเอง ต้องใช้ชีวิตประจำวันอีกแบบหนึ่งที่แตกต่างจากเดิม ‘อย่ากลัวผิดที่จะเลือก อย่ากลัวพลาดที่จะได้เฉพาะสิ่งที่เรานึกว่ามันเป็นความน่าพอใจแค่ครึ่งเดียว อย่าไปรักพี่เสียดายน้อง เรามีใจเดียวกับทุกสิ่งทุกอย่าง’ คือ เอาเรื่องง่ายๆก่อนเลยนะ เรื่องการบันเทิง เราอยากดูอะไรเราอยากทำอะไร เอาตรงนั้น แล้วก็เมื่อทำเสร็จแล้ว ดูหนังจบอยากจะเปลี่ยนไปช่องอื่นค่อยเปลี่ยน ทำอะไรเป็นเรื่องๆ เริ่มจากอะไรที่ง่ายที่สุด แม้กระทั่งว่าตั้งใจจะตื่นเช้า วันนี้จะตื่นเช้าขึ้นสักครึ่งชั่วโมง ตื่นให้ได้ ต่อให้ความขี้เกียจมันกด มันบีบ มันพยายามที่จะดึงเราไว้ไม่ให้ลุกขึ้นจากที่นอน ยังไงก็ต้องลุกขึ้นมา ทำอะไร ตั้งใจอะไร ค่อยๆเป็นค่อยๆไปเอาทีละอย่าง วันละเล็กวันละน้อย แล้วมันจะดีขึ้นเรื่อยๆ ความรู้สึกขัดแย้งในตัวเองหรือว่าความฟุ้งซ่านไม่รู้จะเอาอะไรดี ไม่รู้จะเลือกอะไรที่มันเหมาะกับเราที่สุด มันจะค่อยๆหายไป
เรื่องเล็กน่ะไม่มีในโลกนะ ถ้าหากว่าเราไม่รู้จะเลือกอะไรแม้แต่เรื่องเล็กๆ เรื่องใหญ่ๆอย่าหวังเลยที่จะไปเลือกได้ ถ้าหากว่าเรามีความเด็ดเดี่ยว เรามีความสามารถที่จะตอบตัวเองได้ทุกเรื่อง ไม่ว่าเรื่องเล็กหรือเรื่องใหญ่ ว่าจะเอาอะไร จะทำอะไรดีในขณะนี้ มีเซนส์เกี่ยวกับเรื่องของวินัย ว่าการใช้เวลาให้กับเรื่องเล่นนี้มากเกินไปหรือเปล่า ถ้าเล่นมากเกินไป ถ้าพูดพล่ามมากเกินไป ค่อยๆหยุด ค่อยๆหันมาทำเรื่องที่มันเป็นแก่นสารที่มันเป็นประโยชน์ เหล่านี้มันจะทำให้จิตใจมีความเป็นหนึ่ง เป็นอันหนึ่งอันเดียว เป็นตัวของตัวเอง ไม่ขัดแย้งกับตัวเอง แล้วสภาพใจที่ไม่ขัดแย้งกับตัวเองนั่นแหละ พอลงนั่งสมาธิมันก็จะมีความเรียบง่าย มันก็จะมีความรู้สึกเหมือนกับว่าสามารถผูกอยู่กับอะไรได้อย่างเดียว แล้วพอเริ่มมีสมาธิ สวดมนต์ได้ไม่ฟุ้งซ่าน นั่งสมาธิเห็นแต่ลมหายใจเข้าออก ในที่สุดแล้ว มันก็สามารถเห็นตามจริง พอเห็นตามจริงได้ว่า อะไรๆมันล้วนแต่กำลังแสดงความไม่เที่ยงให้เห็นอยู่ นั่นแหละ คือมีสิทธิ์บรรลุมรรคผลแล้วนะครับ
๓) ขณะออกกำลังกายสามารถเจริญสติไปด้วยได้ไหม?
ก็เคยตอบไปหลายครั้งนะครับว่า อย่างเวลาว่ายน้ำ ที่ชัดเจนที่สุด สังเกตสัมผัสกระทบที่มือมันกระทบกับน้ำไป ต๊อบๆๆๆๆ แต่ละครั้ง ถ้าหากว่าสังเกตได้ตลอดเวลา ในที่สุดแล้วมันจะเป็นจุดสังเกต จุดสังเกตการกระทบที่เกิดขึ้นจริงในปัจจุบัน แล้วทำให้สติของเราผูกอยู่กับปัจจุบันขณะ ไม่ใช่จินตนาการ ไม่ได้นึกเอาว่านี่ขณะนี้เรากำลังกระทบอย่างไรอยู่ เรากำลังใช้มือซ้ายหรือมือขวาที่จะจ้วงไป ไม่ได้คิด ไม่ได้จินตนาการ แต่เป็นการรู้สึกถึงสิ่งที่มันกำลังปรากฏอยู่จริงๆเลย ตรงนั้นแหละ ในที่สุดมันจะทำให้เกิดสติ คำว่า ‘สติ ก็คือ อยู่กับความเป็นจริงเฉพาะหน้า’ เมื่อเกิดสติแล้ว เราก็จะรู้สึกว่าความเคลื่อนไหวทั้งหมดมันถูกรับรู้ตามไปด้วยเอง โดยไม่ต้องใช้ความพยายาม นี่ก็เรียกว่าสมาธิเริ่มเกิดแล้ว จิตมันเริ่มใหญ่ มันก็เริ่มรับรู้ได้ทั้งตัว แล้วก็ไม่ไปไหน ไม่เคลื่อนไปไหน ถ้าวอกแวก เราก็กลับมาอยู่ที่อาการจ้วงกระทบ จ้วงกระทบใหม่ กระทบอยู่ที่ไหนรู้ที่นั่น แล้วในที่สุดสติจะเกิด พอสติเกิดไปนานๆ สมาธิมันก็ตามมา
อย่างหลักการของการเจริญสติปัฏฐาน พระพุทธเจ้าก็ตรัสไว้อย่างชัดเจนใน ‘อิริยาบถบรรพ’ หรือว่าในส่วนของการรู้อิริยาบถตามจริง นั่นก็คือ ‘ไม่ว่าจะอยู่ในท่าทางไหนในอิริยาบถไหน ก็ให้รู้ไปตามจริงว่าเรากำลังอยู่ในท่าทางนั้นอิริยาบถนั้นๆ’ ไม่ใช่ไปดัดแปลงหรือว่าไปพยายามทำให้อิริยาบถมันเกิดอะไรขึ้นเป็นพิเศษ ไม่ใช่ไปพยายามเดินให้มันช้าลง ไม่ใช่ไปพยายามทำให้มันเร็วขึ้น แต่ให้มันอยู่ตรงนั้นแหละ แล้วก็ปราบสติ จูนจิตของเราให้มันตรงกับความจริงของอิริยาบถนั้นๆ แล้วรู้ วิธีที่จะรู้อิริยาบถได้ดีที่สุด ก็คือ สังเกตกระทบเอา อย่างเวลาเดิน ก็ดูว่าความรู้สึกกระทบตั๊บๆๆๆไป มันรู้สึกยังไง รู้สึกอยู่แค่นั้น มีจุดสังเกตอยู่แค่นั้น ในที่สุดก็เกิดสติ พอสติมากๆ มันก็มีสมาธิขึ้นมาจนได้
๔) สุนัขที่บ้านป่วยทรมานมาก หากเลือกฉีดยาให้มันตาย จะบาปไหม?
นั่นก็เป็นเมอร์ซี่ คิลลิ่ง (Mercy Killing) ซึ่งเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ทั่วโลกว่ามันบาปหรือไม่บาป มันดีหรือไม่ดี มันเหมาะหรือไม่เหมาะ ก็เคยมีหนังเรื่องหนึ่ง ทำเรื่องของหมอคนหนึ่งนะ ชื่อหนัง ‘You Don't Know Jack’ คนนำชื่อ ‘อัล ปาชิโน’ (Al Pacino) เล่นเป็นหมอชื่อแจ๊ค (Jack) เป็นคนที่มีตัวตนอยู่จริงร่วมยุคกับเรานี่แหละ
คือในอเมริกาสมัยก่อน เมอร์ซี่คิลลิ่งหรือว่า ‘การการุณยฆาต’ ทำให้คนป่วยที่ทรมานต้องตายไปเป็นความผิด แต่ว่าเขาพยายามทำให้เป็นความถูกต้องขึ้นมา โดยจาระไนว่าสภาพคนป่วยก็ให้ตายมันไม่มีอะไรดีเลย แต่บางคนก็ไม่มีความสามารถแม้กระทั่งจะฆ่าตัวตาย ก็ควรจะมีคนที่มาช่วยทำให้เรื่องมันง่ายขึ้น แล้วก็บางทีอาจจะไม่ใช่ว่าหมอต้องไปฆ่าเอง แต่ว่าให้คนไข้มีวิธีที่ง่ายๆที่จะตายสบาย แล้วก็ไปอย่างมีความสุขสงบ
ซึ่งหนังเรื่องนี้ก็ก่อให้เกิดการมองเห็น ไปเปลี่ยนใจคนหลายคนทีเดียวล่ะว่าการุณยฆาตมันก็เป็นเรื่องเหมาะนะ เพราะว่าถ้าหากว่าปล่อยให้คนป่วยหรือแม้แต่สัตว์ที่กำลังทรมานต้องมีความทรมานไปเรื่อยๆ สะสมความทรมานไปเรื่อยๆ มันไม่มีอะไรดี จิตใจก็เป็นอกุศลมากขึ้นเรื่อยๆ มีความเจ็บปวด มีความรวดร้าว คืออยากจะบอกว่า ตรงความรู้สึกว่ามันใช่หรือไม่ใช่ เราต้องตัดสินตรงนี้ว่า ‘ที่เราทำไปมันเดือดร้อนกับตัวเราหรือเปล่า?’
อย่างนักแสดง ‘อัล ปาชิโน’ คือเล่นเรื่องนี้ทั้งเรื่อง จิตใจยังเป็นนักแสดงอยู่ เป็นจิตใจที่ยังดีมากๆเลยนะ ด้วยความที่ว่าไม่เคยไปช่วยการุณยฆาตใครเขาจริงๆ ก็ได้แต่เป็นนักแสดง แต่ตัวหมอจริงๆถ้าคุณเห็นหน้าเขานะ จะรู้สึกเลยว่า รู้ว่าเป็นหมอแต่เหมือนเพชฌฆาต มีความเป็นเพชฌฆาตอยู่
คือถ้าต่อให้การุณยฆาตตามหลักพุทธศาสนาก็ต้องใช้กำลังใจในการฆ่า ซึ่ง ‘กำลังใจในการฆ่ามีโทสะเป็นมูล’
หมายความว่าอะไร? หมายความว่าถ้าเราฆ่าไปเรื่อยๆ ฆ่าเป็นอาชีพเลยนะ แม้กระทั่งจะเป็นการุณยฆาต จิตใจมันจะมีความเหี้ยมมากขึ้นเรื่อยๆ แล้วก็มีความเป็นเพชฌฆาตมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งตรงนั้น เวลารับโทษอาจจะไม่ใช่รับโทษแบบตกนรกหมกไหม้ แต่อาจเป็นพวกมีอายุสั้นหรือว่าจะต้องเจ็บไข้ได้ป่วย หรือว่าอาจจะจำเป็นจะต้องตายในแบบที่ต้องมีคนมาทำการุณยฆาตเข้าให้บ้าง คือปาณาติบาตยังไงก็เป็นปาณาติบาตอยู่ดี
ถ้าเราพูดกันเรื่องของธรรมชาติกรรมวิบาก เรายังไม่รู้อะไรกันอีกเยอะ บางทีที่เขาต้องทรมานอย่างนั้นมันเป็นวิบากเก่าของเขาเอง เรามีหน้าที่ช่วยให้เขาอยู่สบาย แต่จะช่วยให้ไปสบาย อันนี้เป็นเรื่องที่เราจะต้องคิดกันหลายๆชั้น ถ้าหากว่าเราเห็นว่าเขาอยู่แล้วทรมานจริงๆ เราทนไม่ไหวจริง ถ้าเราตัดสินใจไปอย่างนั้น เราก็ต้องคิดนะ คิดว่าเราจะไม่มีแมวอีก เราจะไม่เลี้ยงสัตว์อีก เพราะไม่งั้นอาจจะมีสิทธิ์ต้องทำแบบนี้อีก คือถ้าทนทำไม่ได้ ก็ต้องเข้าใจว่านั่นยังไงก็ต้องเป็นปาณาติบาตอยู่วันยังค่ำ เวลารับผลมันจะรับผลแบบก้ำกึ่ง คือมันเป็นบุญด้วยส่วนหนึ่ง อยากให้เขาพ้นทรมาน ต้องเข้าใจนะเราทำบุญด้วยนะไม่ใช่ทำบาปอย่างเดียว ไม่ใช่ทำปาณาติบาตอย่างเดียว เราทำกรรมที่ชื่อว่าช่วยให้เขาได้ไปสบายด้วย แต่ปาณาติบาตยังไงก็ต้องเป็นปาณาติบาตวันยังค่ำ ถ้าหากว่าผลของปาณาติบาตเป็นอย่างไร ยังไงเราก็ต้องได้รับผล เพียงแต่ว่าจะไม่แรงเพราะว่าเราไม่ได้ตั้งใจฆ่าด้วยการอยากประหัตประหาร ด้วยความโมโหโกรธา ด้วยความอาฆาตแค้น แต่ว่าเราอยากจะให้เขาไปสบาย มันคนละเจตนากัน แต่ปาณาติบาตยังไงก็ต้องเป็นปาณาติบาตวันยังค่ำ ให้ทำความเข้าใจอย่างนี้ก็แล้วกัน
๕) คิดไม่ดีหรือคิดทะลึ่งกับคนอื่นโดยไม่ตั้งใจ รู้สึกไม่ดี ห้ามคิดก็ไม่หาย ควรทำอย่างไร?
เรื่องของความคิด ถ้าเรายิ่งไปสู้กับมัน บางทีแทนที่จะดีมันกลายเป็นยิ่งแย่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้ามันคิดขึ้นมาโดยที่เราไม่รู้เหนือรู้ใต้ ไม่รู้ต้นสายปลายเหตุว่า เอ๊ะ! ทำไมเราคิดอย่างนี้ ทำไมมันคิดทะลึ่งแบบนี้ ทำไมมันมีครูบาอาจารย์แท้ๆ ทำไมเราถึงไปคิดไม่ดีกับท่าน ความรู้สึกว่านี่เป็นความคิดของเราแน่ๆ นี่เป็นกรรมของเราแน่ๆ มันจะทำให้เรากลุ้มใจ มันจะทำให้เราเกิดความวิตกกังวลไปว่า เดี๋ยวจะต้องไปรับผลอะไรไม่ดีหรือเปล่า คือข้างหน้าจะเป็นยังไงไม่รู้ รู้แต่ว่าตอนนี้ทุกข์ทรมานใจราวกับว่ามีใครเอาเตาร้อนๆมารมมาอบเราทีเดียว
เพื่อที่จะมีการโต้ตอบกับความคิดไม่ดีอย่างถูกต้อง ก่อนอื่น เราต้องทำความเข้าใจว่าความคิดที่มาแบบไม่รู้เหนือรู้ใต้มันมีเหตุมีผลเสมอ มันมาจากความคิดไม่ดีแบบเก่าๆนั่นแหละ เราเคยคิดไม่ดี พูดไม่ดี หรือว่าทำไม่ดีอะไรไว้ ผลมันก็มาสะสมเป็น ‘สัญญา’ เป็นความจำได้หมายรู้ เป็นอาการที่จิตมันไปเหนี่ยวไปดึงเอาลักษณะแบบนั้นมาคิดเอง เมื่อเกิดการกระทบกับภาพหรือว่าได้ยินเสียงอะไรบางอย่างที่มันกระตุ้นเตือน ยกตัวอย่างเช่น เราเคยทำเป็นเล่นๆกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ไว้ เราลืมไปแล้วตั้งแต่ตอนเด็กๆ แต่ว่าตอนโตขึ้นมาเรามาเจอครูบาอาจารย์ ภาพครูบาอาจารย์ที่มีความศักดิ์สิทธิ์มันมากระตุ้นเตือนให้นึกถึงสิ่งที่เราเคยทำเล่นๆ ล้อเลียนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ไว้ ก็อาจจะผลิตคำพูดที่มันทะลึ่งตึงตังออกมา หรือว่าความคิดที่มันแย่ๆที่เป็นอคติที่มันเป็นอะไรร้ายกาจออกมาโดยที่เราไม่ได้ตั้งใจเลย มันเป็นคนละคนกันแล้ว ตอนเด็กมันเหมือนกับตายหายจากไปแล้วแต่ว่าตัวเราที่ยังเป็นหนุ่มเป็นสาวมันยังอยู่ แล้วมันก็ยังอุตส่าห์ดึงเอาสิ่งที่มันน่าจะสาบสูญไปแล้วกลับมาคิดใหม่ มันร้ายกว่าเดิมเพราะว่าคนโตขึ้นความคิดมันก็ซับซ้อนมากขึ้น ทีนี้ถ้าเรามองว่าจริงๆแล้วสภาพตอนเราเป็นเด็กมันตายไปแล้ว มันหายไปแล้ว มันไม่มีอยู่ในโลกนี้แล้ว เหลือแต่ร่องรอยของการกระทำที่สืบเนื่องมา ตัวตนจริงๆมันไม่มี มันมีแบบนี้แหละ พอตัวตนหนึ่งตายไป อีกตัวตนหนึ่งมันก็ต้องมารับผลเป็นทายาทสืบมรดกของตัวตน ก่อนที่มันคลี่คลายมาจากเด็กมาเป็นผู้ใหญ่
พอเราเห็นแบบนี้นะว่าความคิดไม่ดีมันไม่ใช่ว่าอยู่ๆเกิดขึ้นลอยๆ มันมีเหตุมีผล แต่ถามว่าตัวตนของเราตอนนี้มันเชื้อเชิญความคิดแบบนี้มาอยู่ในหัวหรือเปล่า? ถ้าเราได้คำตอบอย่างชัดเจน ปลงใจไปเลยว่า นี่ไม่ใช่ความต้องการของเราในปัจจุบัน นี่ไม่ใช่เรื่องที่เรามีใจยินดีที่จะให้มันเป็นไป ก็ถือได้ว่า ความคิดไม่ดีที่เกิดขึ้นในหัวในขณะนี้ ในปัจจุบันนี้ เป็นเครื่องหมายของอนัตตาได้ ให้เราเรียนรู้ว่า คำว่าอนัตตาหน้าตาเป็นแบบนี้ ไม่ได้ยินดีให้มาอยู่ในหัว แต่มันก็มาอยู่ในหัว ไม่ได้ยินดีให้เกิดขึ้น มันก็เกิดขึ้น ไม่สามารถที่จะไปบังคับมัน อยากจะบังคับมันแต่ก็บังคับมันไม่ได้ จะให้เกิดเมื่อไหร่จะให้หายไปเมื่อไหร่ จะให้สามโมงเช้ามันเกิดความคิดนี้ขึ้นมาก็บังคับไม่ได้ ถ้ามันไม่อยากเกิด ถ้ามันไม่มีเหตุปัจจัยมากระตุ้นเตือนให้เกิด หรืออยากจะให้มันหายไปตอนสิบโมงหนึ่งนาทีก็ไม่สามารถให้หายไปได้
ถ้าหากว่าเรายังไปสร้างเหตุปัจจัยให้ใจมันมีอาการยึดมั่นถือมั่นโดยไม่รู้ตัว อาการยึดมั่นถือมั่นมาจากทางไหน? มาจากตรงนี้แหละที่เราไปกังวลมากเกินไป อาจจะด้วยความกลัวกลัวบาปกลัวกรรม เดี๋ยวเราจะต้องไปตกนรกหมกไหม้ เดี๋ยวเราจะต้องมีความคิดแย่กว่านี้อีก กลายเป็นคนบ้าคนบอไป อะไรก็แล้วแต่ที่ทำให้เกิดความรู้สึกพะวง นั่นแหละอาหารหล่อเลี้ยงความคิดไม่ดี นั่นแหละตัวที่ทำให้เกิดความยึดมั่นถือมั่นว่าความคิดไม่ดีเป็นเรา ทั้งๆที่ถ้าปล่อยให้มันเกิดขึ้น แล้วเรารับรู้เฉยๆว่ามันมาโดยที่เราไม่ได้เชื้อเชิญ มันอยู่ในหัวเราแป๊บหนึ่งเดี๋ยวมันก็ต้องจรหายไป เหมือนแขกแปลกหน้าเยี่ยมหน้าเข้ามา ถ้าหากว่าเราไม่เอาน้ำมาต้อนรับขับสู้ แล้วก็ไม่ไปพยายามขับไล่ให้เขาเกิดอาการฮึดสู้ขึ้นมา เดี๋ยวเขาก็ไปเอง หมดแรงเอง คิดให้ได้แบบนี้แล้วค่อยๆฝึก คือพอคิดได้ ปลงใจได้ มันยังไม่จบ มันเป็นแค่จุดเริ่มต้น อย่างนี้เขาเรียกว่าเป็นการรับฟัง แต่พอไปลงมือปฏิบัติจริงมันอีกแบบหนึ่ง
ขอให้เราจำไว้ก็แล้วกันว่า ‘เวลาเขามาอย่าต้อนรับ และก็อย่าขับไล่ แต่ให้รู้’ รู้เพื่ออะไร? เพื่อที่จะได้เห็นว่ามันไม่จริงนะ มันไม่ได้เป็นตัวของเราจริงๆ มันมาแล้วก็ไป เห็นบ่อยๆเป็นร้อยเป็นพันครั้ง ทุกครั้งอย่าคาดหวังว่ามันจะหายไป แต่คาดหวังว่ามันจะมาอีกเรื่อยๆ แล้วก็ดูไปอีกเรื่อยๆว่ามันมาอีกแล้ว มาเพื่อที่จะรบกวนจิตใจเรา แต่ถ้าไม่มีตัวเราอยู่ให้รบกวน มันก็จะมีแต่จิตที่มีสติรู้ว่า มาแล้วก็ไปๆ เป็นครั้งๆ ทุกครั้งที่เห็นว่ามาแล้วก็ไป มาแล้วก็ไป ใจมันจะสบายขึ้นเรื่อยๆ แล้วก็รู้สึกว่ามันรบกวนเราได้น้อยลงเรื่อยๆ ยิ่งอะไรที่มันมาบ่อย รบกวนจิตใจของเราไม่ได้ อันนั้นเครื่องมือเจริญสติชั้นดีเลย
๖) อยากให้อธิบายเรื่องการติดหนี้สงฆ์ เช่น ไปใช้ห้องน้ำวัด จะติดหนี้สงฆ์ไหม?
ตอบอย่างรวดเร็วนะก็คือว่า ถ้าวัดเขาอนุญาตเห็นๆ ห้องน้ำของวัดเขามีไว้ด้วยความตั้งใจบริการประชาชน อุบาสก อุบาสิกาที่มาวัด เราจะไปเป็นหนี้ได้อย่างไร บางคนก็กังวลเกินเหตุ แม้กระทั่งอะไรนิดอะไรหน่อย อย่าให้หญ้าสักต้นเดียวติดรองเท้าไปนะ ตัดทิ้งให้หมด มันเกินไป สมบัติของสงฆ์ คือ สิ่งที่พระสงฆ์ท่านก็ได้มาจากประชาชนหรือว่าพุทธศาสนิกชนช่วยกันถวายนั่นแหละ ถวายด้วยเจตนาอะไร ก็ใช้ไปตามเจตนานั้น ถ้าถวายสงฆ์ก็ต้องสงวนไว้สำหรับสงฆ์อย่างเดียว ห้ามไปใช้ ห้ามไปแตะต้อง ห้ามไปหยิบเอามาเป็นของตน แต่ถ้าหากว่าส่วนของประชาชนที่เข้าไปใช้สถานที่ เป็นการไปทำกิจกรรมในวัดตามปกติ อย่างเช่นห้องน้ำห้องท่า หรือแม้กระทั่งเราเหยียบดินในวัดมันติดเท้าออกมา มันเป็นสิ่งที่คาดหมายกันได้ว่ามันจะต้องเป็นแบบนี้ เราเข้าวัดมันจะต้องไปใช้ หรือว่าไปติดอะไรของในวัดมาบ้างเป็นเรื่องธรรมดา อย่าไปคิดมาก ที่เขาเตือนไว้มันก็เป็นการเตือนแบบเขาคิดเอาเองแหละ สรุปก็คือว่า ดูจุดประสงค์ว่าสิ่งที่ติดตัวเราออกมานั่นนะ เป็นของที่พึงจะเกิดขึ้นอยู่แล้วกับประชาชนที่เข้าวัดหรือเปล่า อย่าไปกังวลมาก
เอาล่ะครับ คืนนี้ราตรีสวัสดิ์นะ ขอให้เจริญในธรรมกันทุกท่านครับ
« กลับสู่สารบัญเรียงตามครั้งที่ออกอากาศ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น