วันพฤหัสบดีที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ดังตฤณวิสัชนา On Air ครั้งที่ ๘๑ / วันที่ ๒๕ ก.ค. ๕๕

« กลับสู่สารบัญเรียงตามครั้งที่ออกอากาศ

สวัสดีครับทุกท่าน วันนี้วันพุธที่ ๒๕ กรกฎาคม ๒๕๕๕ นี่คือรายการดังตฤณวิสัชนา ผมดังตฤณมาตอบคำถามให้คุณเป็นเวลาครึ่งชั่วโมงครับ ทุกวันจันทร์เวลาห้าโมงเย็น และก็วันพุธกับวันศุกร์เวลาสามทุ่มตรง เพื่อจะทักทายไถ่ถามเข้ามาในรายการให้เข้าไปที่ http://www.facebook.com/HowfarBooks



๑) เพื่อนของหนูเขาจะมีอาการฝันซ้ำๆเดิมๆ แต่ละครั้งก็จะเหมือนเดิม มันเป็นอดีตซึ่งเพื่อนของหนูเขาก็ไม่ได้คิดอะไรแล้ว ตื่นมาทีไรก็จะใจเต้น เหนื่อย ไม่ค่อยสดใส บางครั้งก็จะเผลอกลับไปคิดอีก มีวิธีไหนให้เลิกอาการแบบนี้ได้บ้างไหม?

อาการฝันซ้ำๆนะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าหากว่าเป็นเรื่องของอดีตที่ผ่านมาแล้ว แล้วก็เหมือนกับตอนลืมตาตื่นปกติก็ดูจะไม่ได้คิด ไม่ได้ไปเค้นกับสิ่งที่ผ่านมาแล้วสักเท่าไหร่ แต่ว่าพอหลับตาลงและอยู่ดีไม่ว่าดีนะ วันไหน คืนไหนที่ไม่สามารถพยากรณ์ได้ก็เกิดฝันขึ้นมาซะเฉยๆแบบนี้นะครับ ถ้าอธิบายตามกลไกธรรมชาติของจิตเนี่ย มันก็เป็นปมนะ คือมีปมอยู่ในใจ ถึงแม้ว่าเราจะรู้สึกว่าตัวเองไม่ได้คิด ไม่ได้ไปวุ่นวาย หรือว่าไปคว้ามาจับต้องอะไรแล้วด้วยจิตสำนึกยามตื่น แต่ว่าปมนั้นที่มันฝังแน่นอยู่จริงๆเป็นตัวพิสูจน์การยึดมั่นถือมั่นในระดับของจิตอยู่ ก็จะแสดงตัวออกมาในรูปของความฝันที่มันเศร้าโศกเสียใจ มันไม่สมหวัง หรือว่ามันมีความบาดเจ็บอะไรก็แล้วแต่ที่มันไม่ได้ออกไปจากใจของเราตามที่เรานึกว่ามันน่าจะผ่านไปแล้ว

ผมยกตัวอย่างง่ายๆหลายๆคนนี่นะ ยังฝันเกี่ยวกับเรื่องในวัยเด็กอยู่ซ้ำซาก ทั้งๆที่ตอนโตขึ้นมาแตกต่างจากตอนเป็นเด็กมากแล้ว อย่างตอนเป็นเด็กบางคนนะโดนรังแก รังแกบ่อยมาก แล้วก็เป็นประสบการณ์ที่มีความเจ็บช้ำน้ำใจอย่างรุนแรง มีแอบไปร้องไห้ แอบไปโศกเศร้าอยากคิดฆ่าตัวตายอะไรต่างๆแล้วพอโตขึ้นมา อาจจะเรียนเก่ง อาจจะมีเพื่อนมากขึ้น อาจจะด้วยความที่มีความสามารถ เป็นที่ยอมรับนับหน้าถือตานะครับ ก็อาจจะกลายเป็นอีกคนหนึ่งที่นอกจากจะไม่มีคนมารังแกแล้ว ยังมีคนมาชื่นชม ยังมีคนมาพยายามปกป้องอะไรแบบนี้ นี่ก็เหมือนกับปมอดีตในวัยเด็กเนี่ยไม่น่าจะเข้ามาแตะต้อง ไม่น่าจะเข้ามายุ่งเกี่ยวอะไรด้วยกับชีวิตแล้ว แต่ไม่ใช่อย่างนั้นนะครับ ในความฝันมันยังอุตส่าห์ขุดขึ้นมา อุตส่าห์ที่จะเอามาเจ็บปวด อุตส่าห์เอามาแอบร้องไห้ อยู่ในขณะหลับ

คือพอเหตุการณ์มันเหมือนกับกลับมาเกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่งเนี่ย ความรู้สึกมันเหมือนเดิม ความรู้สึกมันโอ้โหย ชั้นนี่เป็นคนที่ไม่มีค่าเอาเลยนะ มีแต่คนอยากมารุมรังแก อยากจะมาทำร้ายอะไรแบบนี้ ก็เป็นตัวที่เราสามารถบอกได้ว่าจิตของเขาจริงๆนี่ จิตโดยธรรมชาติเนี่ยนะ เวลาที่เขายึดมั่นถือมั่นอะไรแล้ว มันเกินกว่าที่เราจะ… บางที่เนี่ยจำไม่ได้หรือนึกว่ามันไม่มีอยู่ แต่จริงๆแล้วลึกๆไอ้ความรู้สึกว่ามันเป็นปมอยู่ในใจยังฝัง ถ้าหากว่าช่วงไหนมีความสุขมากๆเลยนะ ก็อาจจะลืมไปเป็นปีๆไม่ฝัน แต่วันดีคืนดีมีอะไรมาสะกิดแค่นิดเดียวในระหว่างวันนะ เตือนให้เกิดความระลึกถึง หรือว่ามันมีความเชื่อมโยงไปใกล้เคียงกันเนี่ย หลับคืนนั้นก็อาจจะฝันขึ้นมาได้ นี่ก็เป็นเรื่องการทำงานของจิตที่ซับซ้อนพิสดาร แต่จุดใหญ่ใจความก็คือ จิตมันยังมีความยึดมั่นถือมั่นอยู่ ถ้าหากว่าจิตมีความยึดมั่นถือมั่น ความซับซ้อนหรือปมต่างๆเนี่ย คุณไม่มีทางที่จะไปเคลียร์มันได้หมดเลย ศัพท์วัยรุ่นสมัยนี้ เขาเรียกไม่ไหวจะเคลียร์นะ มันเยอะ แล้วก็บางคนเนี่ยหนักกว่านั้นอีก คือไม่ใช่แค่มีปมวัยเด็กนะ มีปมตั้งแต่อดีตชาติก็มีนะ

ที่เมืองนอกเขาก็มีรายงานกันเยอะ อย่างบางคนฝันซ้ำแล้วซ้ำเล่าในฉากเหตุการณ์ หรือว่าเกี่ยวข้องกับบุคคลที่ตัวเองไม่เคยรู้จัก ไม่เคยพบเห็น หรือว่าไม่ไป ไม่เคยไปในสถานที่นั้นๆมาก่อน จนต้องเดือดร้อนถึงจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาที่มีความสามารถในการสะกดจิต ก็ไปล้วงเอาจนได้ความว่า มันเป็นเรื่องในอดีตชาติที่สามารถพิสูจน์ได้ว่า ที่ระลึกมา ที่ฝันแล้วจำได้เนี่ย มันเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงๆอะไรทำนองนั้น ก็ว่ากันไปนะครับ

เรื่องความยึดมั่นถือมั่นทางใจนะ สิ่งที่จะแก้ง่ายที่สุดนะครับ ก็คือย่าไปคาดหมายว่ามันจะหายไป เพราะว่าถ้าเกิดมีความคาดหมาย มีความคาดหวังว่ามันจะหลุดไปจากจิตของเรานะด้วยการสั่ง ด้วยการพยายามที่จะให้มันหลุดออกไปดื้อๆเนี่ยนะครับ มันจะยิ่งตอกย้ำ มันจะยิ่งเหมือนกับไปส่งอาหารเลี้ยงให้อายุมันยืนออกไปอีก หรือพูดง่ายๆก็คือว่าที่มันรัดอยู่แล้ว เราไปเพิ่มแรงรัดมันเข้าไปอีกด้วยความคาดหวังว่าจะให้มันหายไป ความอยากเนี่ยนะ ขอให้มองอย่างนี้ พระพุทธเจ้าตรัสว่าความทะยานอยาก ไม่ว่าจะอยากอะไรก็แล้วแต่ อยากในแบบเล็งโลภ อยากในแบบที่จะผลักไสให้มันพ้นตัวไป ล้วนแล้วแต่ก่อให้เกิดความทุกข์ทางใจ มันก่อให้เกิดความดิ้นพล่าน มันก่อให้เกิดความทุรนทุราย กระสับกระส่าย กระวนกระวาย ไม่สามารถที่จะหยุดนิ่งได้ นี่คือโทษ นี่คือต้นเหตุของความอยาก

ทีนี้ ถามว่าถ้าหากเราจะให้มันหายอยาก โอเค คือห้ามไม่ให้สั่งตัวเองให้มันหายไปเนี่ย เราจะทำอย่างไร สิ่งที่ดีสุดนะครับก็คือว่า เราทำใจไว้ล่วงหน้านะครับว่า ทั้งหลายทั้งปวงที่มันเกิดขึ้นเนี่ย มันอยู่นอกเหนือการควบคุมของเรา แต่ว่าเมื่อเกิดขึ้นแล้วนะครับ เราจะเตรียมใจล่วงหน้าไว้อย่างไร ในทางที่จะปล่อยวาง ในทางที่จะไม่ยึดมั่นถือมั่น อันนี้ก็สำคัญนะครับ ย้ำข้อแรกนะคือว่า

ข้อ ๑ ห้ามไม่ให้ไปคาดหวังว่ามันจะหายไป เพราะมันยิ่งกลายเป็นรัดแน่นเข้าไปอีก มันยิ่งกลุ้มเท่าไหร่ มันยิ่งรัดเข้าไปมากขึ้นเท่านั้น

ข้อ ๒ คือว่าเมื่อเกิดอาการร้อยรัด เมื่อเกิดอาการยึดมั่นอย่างรุนแรงขึ้นมา ไม่ว่าจะอยู่ในขณะลืมตาหรือว่าในฝันก็ตาม ให้หาทางทำให้มันผ่อนคลาย หาทางทำให้มันวางลงไปซะ ทำให้จิตมันออกมา ถอนออกมาจากลักษณะยึดมั่นถือมั่นเป็นทุกข์ซะ

วิธีที่ง่ายที่สุดที่จะเชื่อมต่อนะครับ ระหว่างคำสั่งของเรายามตื่นเข้าไปในขณะที่หลับฝันก็คือว่า อันนี้ที่ได้ผลนะ ก็คือทำจิตให้เป็นกุศลก่อนนอน อย่างเช่น สวดมนต์นะครับ จะเป็นสวดอิติปิโส หรือว่าจะแผ่เมตตา ทำสมาธิอย่างไรก็แล้วแต่ ที่คุณสามารถจะรู้สึกได้ว่า ก่อนนอนคุณมีความผ่อนคลาย มีความรู้สึกสบายใจ มีความรู้สึกว่าใจของเราเนี่ยสว่าง มีความผ่องใส มีความไม่ยึดมั่นถือมั่นอยู่ ถ้าหากว่าทำได้นะครับ ตรงนั้นคิดไว้ล่วงหน้าว่า…

หมายเหตุ –  สำหรับดังตฤณวิสัชนาตอนที่ ๘๑ นี้นะครับ ก็แบ่งออกเป็น ๒ ตอน เพราะว่าเมื่อครู่นี้ คอนเนคชันระหว่างผมกับทางสปรีกเกอร์ (http://www.spreaker.com) มันหายไปก็เลยต้องมาต่อใหม่ 

สรุป สำหรับคำถามแรกก็คือว่า ให้มีความสว่างทำกุศลอะไรสักอย่างหนึ่งจะเป็นสวดมนต์ก็ได้ จะเป็นนั่งสมาธิ หรือจะเป็นการเจริญสติด้วยวิธีใดๆทำให้เกิดความสว่างแล้ว เราตั้งใจว่าถ้าหากฝันร้ายแบบซ้ำๆอย่างเดิมอีก เราจะเอาความสว่างนี้ไปช่วย คือเวลาที่เกิดฝันร้ายขึ้นมาจริงๆอาจจะมาในรูปของการรู้สึกว่าตัวเองเนี่ย กลับไปสวดมนต์ใหม่ทันที หรือว่าไปนั่งสมาธิ หรือว่าเกิดสติรู้ขึ้นมาว่า ไอ้นี่เป็นแค่ความฝันนะครับ แล้วความสว่างที่เราสร้างไว้แต่เดิมเนี่ยนะครับ ก็จะมาช่วยทำให้เราเกิดความรู้สึกตัวว่านี่เป็นแค่ความฝัน มันทำอะไรเราไม่ได้มากไปกว่านี้นะครับ ตัวนี้เนี่ย หลายๆครั้งเข้า ฝึกดูบ่อยๆมันจะเห็นผลนะครับ แล้วก็สามารถเอาไปใช้ได้ตลอดชีวิตเลย ไม่ว่าจะเป็นฝันร้ายแบบซ้ำๆอย่างไรก็ตามนะครับ เราจะเกิดความเชื่อมั่นในจิตที่เป็นกุศล ในจิตที่มีความสว่างของตัวเองว่าเป็นที่พึ่ง ที่ยึดเหนี่ยวได้อย่างถาวรจริงๆนะครับ ไม่มีอะไรที่จะเป็นที่พึ่งประเสริฐให้เรามากไปกว่ากุศลและก็บุญที่เราสร้างไว้



๒) จะพิจารณาสาเหตุของอารมณ์ที่เกิดขึ้นได้อย่างไร?

อย่างถ้าคงหมายถึงว่าเราเกิดความเศร้าหรือเกิดความรู้สึกแย่ๆขึ้นมา โดยไม่รู้สาเหตุหรือว่าไม่มีสิ่งกระทบในขณะนั้นเนี่ยนะ มันมาจากอะไร คงจะถามในทำนองนี้นะครับ

คือขั้นแรกนี่นะ ในการจะเจริญสติเนี่ย ท่านไม่ให้ไปค้นคว้าอะไรมาก ไม่ให้ไปรู้อะไรมาก นอกเหนือจากไอ้สิ่งที่มันกำลังปรากฏเด่นอยู่จริงๆเป็นภาวะที่เราสามารถรู้สึกได้

ยกตัวอย่างเช่น ถ้าหากเกิดความทุกข์ขึ้นมา เกิดความรู้สึกแย่ๆขึ้นมา ท่านไม่ให้ไปรู้อะไรมากไปกว่าเห็น เห็นจริงๆว่าขณะนั้น มันมีความทุกข์ทางใจ หน้าตาความทุกข์เป็นอย่างไร มันมีความรู้สึกหม่นๆมันมีความรู้สึกบีบๆมีความรู้สึกแน่นๆหรือว่าส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายมันเกร็งอยู่ ให้รู้ไปตามจริง ไม่ต้องไปขุดคุ้ย ไม่ต้องไปหาสาเหตุอะไรทั้งสิ้น จากนั้นเนี่ยนะ ถ้าเป็นส่วนของกายกำลังเกร็งอยู่ที่ตรงไหนเนี่ย มันจะรู้สึกว่า เออ ผ่อนคลายลงไปทันที เพราะว่ารู้แล้วนี่ว่า มันเกร็งอยู่ที่ตรงนี้นะ ไอ้ตรงที่มันเกร็ง มันก็จะผ่อนคลายออกไปเอง เพราะว่าจิตเขาฉลาดนะ เขาไม่กำอะไรไว้หนักๆเปล่าๆหรอก ถ้าหากว่าเป็นอาการหม่น ถ้าหากว่าเป็นอาการอึดอัด เราหายใจทีสองที แล้วเหลียวกลับไปดูอีกทีภายในก็จะเกิดความรู้สึก ความทุกข์ตรงนั้นมันผ่อนคลายลง ลดระดับลง ท่านให้ดูอย่างนี้ไปเรื่อยๆคือไม่ได้ไปขุดคุ้ยค้นหาสาเหตุ แต่ผลพลอยได้ที่จะตามมาในระยะยาวก็คือ เมื่อเราเก่งพอที่จะเห็นว่า นี่กำลังเศร้าแล้ว นี่กำลังอมความทุกข์แล้ว นี่กำลังเกิดความอึดอัดแล้ว แล้วก็ไม่หลงไปตามความทุกข์ ไม่จมไปกับความทุกข์ที่มันกำลังท่วมท้นขึ้นมานะครับ ในที่สุดแล้ว จิตจะเกิดสติ จิตจะเกิดความสว่าง จิตจะเกิดความรู้แจ้ง คือมีความรู้สึกว่าเราสามารถรู้ชัดนะ เห็นว่าไอ้ความทุกข์ หรือว่าอาการเศร้า อาการที่มันแปลกปลอมเกิดขึ้นมาเนี่ย มันเป็นแค่สภาวะชั่วคราว ผ่านมาแล้วผ่านไป ยิ่งกว่านั้นนะ ตัวสติที่มันคมที่มันไวขึ้นมาเองเนี่ย มันจะบอกเราเลยว่า ก่อนที่จะเกิดความเศร้าตรงนั้น มันเกิดความนึกคิดขึ้นมานิดๆนะ อาจจะเป็นเรื่องที่ คือมันจะคุ้นบรรยากาศขึ้นมาก่อน ไอ้ความทุกข์ความเศร้าแบบนี้เนี่ย มันเคยเกิดขึ้นกับฉากเหตุการณ์แบบไหนหรือว่ากับใคร

ยกตัวอย่างเช่น เราอาจจะลืมไปแล้วนะ สมมุติไปทะเลาะกับเพื่อนไว้เมื่อหลายปีก่อน แล้วก็ยังไม่คืนดีกัน เสร็จแล้วอยู่ๆนึกถึงขึ้นมานิดเดียว มันไม่ได้นึกถึงเพื่อนด้วยซ้ำนะ แต่ว่าเกิดอาการในทำนองที่ว่า เออ มันมีความรู้สึกว่า ยังมีความคาใจ ยังไม่ได้คืนดีกันสักที แค่เกิดความรู้สึกประมาณนี้นะ ยังไม่ทันต้องนึกถึงหน้าเขามันเกิดความรู้สึกแย่ๆขึ้นมาแล้ว เนี่ยถ้าเป็นสติของคนธรรมดาทั่วไป จะนึกไม่ออกเลยว่าต้นเหตุมาจากไหน แต่ถ้าหากว่าเรามีสติที่คมชัดมากพอ มันจะจำได้ว่า ไอ้ตัวสาเหตุที่ก่อขึ้นมานะ มันมีอะไรบางอย่างกระทบใจ เราอาจจะไปเห็นป้ายโฆษณานะ แล้วนางแบบหรือว่านายแบบเนี่ย หน้าตาคล้ายๆกับเพื่อนของเรา แล้วอีกสองนาทีต่อมา มันนึกถึงโดยที่ไม่สามารถรู้ได้ว่า ต้นสายปลายเหตุมาจากไหน ถ้าสติมันมีความคมพอก็รู้เลยว่า นี่มันมาจากการที่เราไปเห็นคนที่หน้าคล้ายเพื่อน แล้วมันก็ไปขุดเอาความรู้สึกคาใจขึ้นมานะ อันนี้เป็นตัวอย่าง

คือสรุปง่ายๆก็นะ ตอนแรกอย่าไปขุดคุ้ยหาสาเหตุ ให้สร้างความไวของสตินะ ทันให้ได้ซะก่อนว่า สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นภาวะอารมณ์แบบไหน เกิดขึ้นแล้วสักแต่จะต้องดับไปเป็นธรรมดา เมื่อเห็นไปบ่อยๆจนกระทั่งรู้สึกว่าภาวะทางอารมณ์ไม่ว่าจะดีหรือว่าร้ายนะ มันสักแต่เป็นสิ่งผ่านมาผ่านไป เราไม่มีความยึดมั่นถือมั่น คุณภาพของจิตมันก็จะเกิดความเบ่งบานเต็มตัวขึ้นมา แล้ว ณ ขณะนั้นแหละที่สติมันจะคม คมพอที่จะรู้เลย รู้เป็นขณะๆเล็กๆนะว่ามันเกิดอะไรขึ้นเมื่อไหร่ เราไปเจอกระทบแบบไหนมา หรือกระทั่งไม่ใช่กระทบภายนอก แต่ว่าเป็นความคิดภายในอยู่ๆผุดขึ้นมา ซึ่งในทางลึกลับเขาก็อาจจะนะ พูดได้ว่าคนอื่นเขาคิดถึงเราแล้วก็มีคลื่นๆกระแทกก่อให้เกิดมโนภาพ หรือว่าอะไรที่มันเป็นผัสสะแบบเลือนๆลางๆเกี่ยวกับตัวคนๆนั้น ก่อให้เราเกิดความรู้สึกนึกถึง หรือถ้าไม่นึกถึงก็เกิดความรู้สึกค้างๆคาๆที่ติดค้างกันอยู่ครับอะไรแบบนี้นะครับ

สรุปก็คือ เพื่อที่จะรู้ให้ได้จริงๆว่า ต้นสายปลายเหตุอันลึกลับซับซ้อนทางจิตเป็นอย่างไร มีทางเดียวที่จะรู้ได้ด้วยตัวเอง คือบ่มเพาะสติให้มีความคม ให้มีความแข็งแรงขึ้นมา อย่าไปคิดๆนึกๆหรือว่าอย่าไปหาคำตอบจากคนอื่น มันไม่ได้ชัดเจนเท่ารู้แจ้งด้วยตัวเองนะครับ



๓) เวลาอยู่กับครูบาอาจารย์จะเกร็งและระวังสติมาก หรือเวลาอยู่สถานที่สัปปายะก็เช่นกัน คำถามคือไม่มีอุบายเทคนิคใดที่จะเพิ่มกำลังสติในขณะอยู่บ้านหรือที่คุ้นชิน นอกเสียจากการทำใช่มั้ย?

ในการที่จะอยู่บ้านแล้วให้มีความสังวรระวังได้เท่ากับสถานที่ที่เป็นบอกอยู่ชัดๆว่าเป็นแหล่งปฏิบัติ เป็นสถานที่ที่เอาไว้ให้ประพฤติพรหมจรรย์นะครับ ยังไงมันก็ไม่เหมือนกันหรอก เพราะว่าอยู่บ้าน เดี๋ยวก็ได้ยินเสียงข้างบ้านแล้ว เดี๋ยวก็ได้ยินเสียงทีวีแล้ว เดี๋ยวก็ได้ยินเสียงคนที่คุ้นเคยนะครับ สิ่งที่มันมากระทบใจ สิ่งที่มันมากระทบตา กระทบหู พอไม่เหมือนกันแล้วความปรุงแต่งทางใจ ยังไงก็ไม่มีทางที่จะไปเทียบกันได้หรอกครับ มันเทียบกันแล้วก็จะรู้สึกว่า เกิดความอยากที่สูญเปล่าไปเปล่าๆนะ คือ จะอยากให้ที่บ้านเป็นเหมือนกับที่วัด หรือสถานที่ปฏิบัติธรรมเป๊ะเนี่ย มันก็เป็นความอยากที่รู้อยู่แล้วว่าเป็นไปไม่ได้ ยืนพื้นอยู่บนความเป็นไปไม่ได้

ทีนี้ คือที่จะทำให้สถานที่ของเราเนี่ย มันเป็นสถานที่ที่มีความวิเวกพอสมควร มีความสัปปายะพอสมควร เท่าที่จะเป็นไปได้ก็คือ จัดสถานที่ให้มันมีความใกล้เคียงกับเรือนว่าง พระพุทธเจ้าท่านเคยตรัสนะว่า เพื่อที่จะให้เกิดการเริ่มต้นได้อย่างมีความวิเวกเนี่ย ท่านแนะนำให้เข้าไปสู่โคนไม้ เข้าไปสู่เรือนว่าง เข้าไปสู่ช่องเขาที่ไม่มีผู้คน ก็จะได้เป็นที่สำราญแก่การนั่งสมาธิ การเจริญอานาปานสติอะไรแบบนี้ ถ้าเราจะเลียนแบบก็คือ ทำให้ห้องของเรามันไม่มีอะไร ห้องของเรามันไม่มีเครื่องเตือน ไม่มีสัญลักษณ์ของสิ่งที่จะล่อใจให้เข้าไปติดกับความบันเทิง หรือว่าความหมกมุ่นแบบโลกๆมาก นี่เป็นอุบายที่ง่ายที่สุดแล้วก็ชัดเจนที่สุด จากนั้นก็คือ เราต้อง อันนี้สำคัญนะ จัดการภายนอกแล้วต้องจัดการกับภายใน คือต้องมีวินัยที่ชัดเจนว่า เวลาช่วงนั้นช่วงนี้ เราจะดิ่งตรงมาปฏิบัติภาวนา เดินจงกรม นั่งสมาธิทันที

ร่างกายกับจิตใจของเรานะมันคล้ายๆกับหุ่นยนต์ คือถ้าหากว่ามีโปรแกรมป้อนการทำงานที่สม่ำเสมอให้มันแล้วเนี่ย มันจะเกิดการเรียนรู้นะครับ คือเป็นหุ่นยนต์ที่สามารถจัดโปรแกรมได้ว่าเวลาเท่านั้นเท่านี้ ปฏิกิริยาทางกายมันจะพร้อมที่จะทำงาน พร้อมที่จะเข้าสู่โหมดของการภาวนา โหมดของการเจริญสตินะ มันจะรู้สึกขึ้นมาเลยว่าเวลาช่วงนี้เนี่ยต้องมาแล้ว ไม่สามารถที่จะไปทำอย่างอื่นได้ ถ้าหากว่าเรามีวินัยต่อเนื่องไปสักประมาณ ๒ เดือนนะ ที่บ้านมันจะมีความใกล้เคียงกันกับที่สถานที่ภาวนา ไม่ใช่เหมือนนะแต่ใกล้เคียง คือเราจะรู้สึกเหมือนกับว่า จิตของเราเนี่ย เลิกคิดเรื่องอื่น แล้วก็มีความรู้สึกถึงความสุขแบบวิเวก ความสุขแบบเย็น ความสุขแบบที่จะมีความสว่างรู้เข้ามาในกายในใจ แล้วก็ถ้าหากว่า เราสามารถเจริญสติได้อย่างถูกทาง บางทีนะมันจะเตือนเลย เหมือนกับยืนๆอยู่เฉยๆหรือว่ากำลังเดินอยู่นะในที่อื่นนอกห้อง มันจะไปนึกถึงสภาวะอะไรบางอย่างที่กำลังปรากฏเด่นอยู่ในขณะนั้น ไม่ว่าจะเป็นลมหายใจ ไม่ว่าจะเป็นเท้ากระทบ ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึกภายใน อึดอัดอยู่หรือว่าสบายอยู่ หรือมีความคิดฟุ้งซ่านอยู่ มันจะมองเหมือนกับเห็นตัวเองออกมาจากสายตาของคนอื่น แล้วก็เกิดความรู้สึกว่า นี่ถึงเวลาที่เราน่าจะเอาเวลาช่วงนี้นี่นะ มาเจริญสติให้เข้มข้น มาทำสมาธิให้จริงจัง มาเดินจงกรมให้นานๆอะไรแบบนี้ ถ้าเรามีวินัยจริงนะ ต่อเนื่องกันสัก ๒ เดือน มันจะเกิดภาวะแบบนี้ เกิดอาการแบบนี้ นี่แหละ แล้วคุณจะเกิดความรู้สึกเป็นผลตามมา ก็คือว่าบ้านมีกระแส มีบรรยากาศคล้ายกับสถานที่ปฏิบัติเข้าไปทุกที

จริงๆแล้วมันเป็นเรื่องของกระแสด้วยนะ บางทีเนี่ยเวลาที่เราเข้ากุฏิ ครูบาอาจารย์ที่ท่านปฏิบัติมานานหลาย ๑๐ ปีแล้วก็ท่านทรงฌานมากๆเนี่ย บางทีเข้าไป แค่เข้ากุฏิเท่านั้น มีความรู้สึกราวกับว่าเข้าไปในวิมานใหญ่ของพระพรหมนะ หรือว่าของ อย่างน้อยที่สุดก็สวรรค์ชั้นฟ้าอะไรแบบนั้น มีความเหมือนกับข้างในมันปลอดโปร่ง แล้วก็มีความกว้างใหญ่เกินจริง รู้สึกได้เลย อันนั้นก็เป็นกระแสของผู้ปฏิบัตินั่นเอง ไม่ใช่ว่าอิฐปูนมันสามารถขยายตัวเองออกไปได้ หรือว่าก่อกระแสหลอกความรู้สึกของเราขึ้นมาได้เอง แต่ว่าต้องมีกระแสอันเป็นของจริงของนักปฏิบัติหรือผู้ทรงฌาน ทำให้เกิดความรู้สึกไปอย่างนั้น เนี่ยถ้าเราเคยมีประสบการณ์ทำนองนี้มา เราก็จะค่อยๆมองออก เออ ถ้าหากว่าเป็นสถานที่ปฏิบัติภาวนาที่มีคนมาขยันกันมากๆมาพยายามเอาดีทางการเจริญสติ ทางการทำสมาธิมากๆก็มีกระแสคล้ายๆแบบนั้นเหมือนกัน เพียงแต่จะเบาบางกว่า เปรียบเทียบกับกระแสในห้องนอนของเรา หรือว่าที่บ้าน ที่เต็มไปด้วยการบันเทิงนะ จะรู้สึกเหมือนกับมีกระแสปั่นป่วน มีความรู้สึกเหมือนกับไม่วิเวกเท่าไหร่ อาจจะมีความสุข อาจจะมีความเบาในแบบโลกๆนะ คือมีความสุขในแบบที่ว่าบ้านแสนสุข แต่ไม่ใช่ในแบบที่ในสถานที่ปฏิบัติธรรม พอเดินเข้ามาแล้วแทนที่จะเกิดความรู้สึกวิเวก มันกลายเป็นความรู้สึกอยากเสพความบันเทิง นี่ก็เป็นกระแสที่สร้างเอาไว้ ถ้าหากว่าเรามีวินัยมากพอที่จะไปทำให้ในห้องนอนหรือว่ารอบๆบ้าน อาจจะเป็นสนามหญ้าหรือว่าชิงช้านะ ติดกระแสวิเวกของผู้ที่เจริญสติ ผู้ที่เจริญสมาธิ ในที่สุดแล้วก็จะเข้มข้นพอ กลับจากที่ทำงานเนี่ยเดินมาใกล้ๆกับที่ที่ปฏิบัติบ่อยๆมันเกิดความรู้สึกสงบวูบลงไป หรือว่าเกิดความเยือกเย็น นึกอยากปฏิบัติขึ้นมา อันนี้ก็เป็นกระแสนะ เป็นเรื่องของคลื่นที่จะจูนจิตของเราให้เข้าสู่ภาวะใดๆอันนี้เป็นอิทธิพลของสถานที่ ซึ่งทั้งหลายทั้งปวงก็มาจากผู้อยู่ผู้อาศัยนั่นแหละว่าจะสร้างกระแสแบบไหนเอาไว้

อย่างอันนี้พูดนอกประเด็นไปนิดนึง อย่างบ้านที่มีการทะเลาะกันบ่อยๆเนี่ยนะ สังเกตเดินเข้าไปนี่ยังไม่ทันไรเลยนะจะเกิดความรู้สึกวุ่นวายใจ จะเกิดความรู้สึกเหมือนร้อนๆขึ้นมา จะเกิดความรู้สึกว่าไม่สบาย ไม่สบายเนื้อ ไม่สบายตัว ครั่นเนื้อครั่นตัว เนี่ยผมเจอบ่อยเลยนะ ประเภทถ้าเข้าไปในสถานที่แปลกๆหรือว่าเข้าไปในบ้านของคนที่ทะเลาะกันบ่อยๆมันจะรู้สึกตะครั่นตะครอขึ้นมา เหมือนกับไม่ค่อยจะสบายเนื้อสบายตัว แล้วก็สืบไปแล้วจริงๆก็คนมันก็บ๊งเบ๊งกันทุกวัน สาปแช่งกันทุกวัน ไอ้กระแสการสาปแช่งอย่านึกว่ามันไปไหนนะ มันลอยอยู่แถวๆนั้น เกาะติดอยู่แถวๆนั้นนั่นแหละ คนที่อยู่คนที่อาศัยเป็นประจำแล้วด่าทอกันทุกวัน ก็เหมือนกับพอกลับเข้าบ้านมีกระแสกระตุ้นให้ยิงกันทุกวันนะ ยิงกันด้วยคำพูด จามกันด้วยขวานด้วยปากทุกวัน ตรงข้าม บ้านไหนที่มีความสงบสุขมีแต่การพูดจ๊ะจ๋า มีแต่พูดดีต่อกันเนี่ย เข้าบ้านปุ๊บ มันมีความรู้สึกอยากพูดดีขึ้นมา เข้าบ้านปุ๊บ มันมีความรู้สึกว่า เออ มองโลกในแง่ดีขึ้นมา นี่มันเป็นเรื่องกระแสนะที่อยากฝากไว้ด้วย



๔) อยากเป็นคนกล้าหาญ เอาชนะใจตัวเอง ฟันฝ่าอุปสรรคในสถานการณ์แย่ๆ จะทำได้อย่างไร?

การจะเป็นคนเข้มแข็งไม่ใช่ใช้อุบายนะ แต่ต้องใช้ความต่อเนื่องในการฝึกฝนตัวเอง ถ้าหากว่าเรารู้วิธีหมดแล้ว แต่ว่าเรายังไม่ได้ทำต่อเนื่องมากพอ มันก็เหมือนกับว่า เอ๊ะ ทำไปแล้วไม่ได้ผล แต่จริงๆมันได้นะ มันไม่มีใครทำอะไรไปแล้วสูญเปล่า ถ้าหากว่าเราฝึกตัวเองมา ๑ ปี แล้วรู้สึกเหมือนยังลุ่มๆดอนๆมันไปไม่ถึงไหน ๑ ปีนั้น ไม่ได้หายไปไหนนะ มันอยู่ในระหว่างทางที่เรากำลังสร้างเนื้อสร้างตัวอยู่ สร้างเนื้อสร้างตัวทางวิญญาณ สร้างเนื้อสร้างตัวทางจิตทางใจ ถ้าหากว่าเราหยุดไปด้วยความท้อแท้ มันก็จะเหมือนกับไม่ได้อะไรเลย กลับจมลงไปอยู่ในหนองน้ำของความเศร้าแบบเก่าๆ แต่ถ้าหากว่าเรายังต่อสู้นะ คำว่า ‘เอาชนะใจตัวเอง’ ของน้องเนี่ยนะ ก็คือทำอย่างไรเราจะต่อสู้ใช่ไหม มีวิธีเดียวก็คือ ให้กำลังใจตัวเองที่จะสู้ต่อ บอกตัวเองว่าเดินมาถึงขนาดนี้แล้ว จะยอมหยุดเฉยๆหรือว่าจะถอยหลังกลับไปสู่หนองน้ำเก่าๆอีกหรือ ถ้าหากว่าเราบอกตัวเองว่า เดินมาไกลแล้ว เอ้าเดินต่ออีกสักก้าวสองก้าวก็ยังดี แล้วบอกตัวเองอย่างนี้บ่อยๆนะ ในที่สุด วันนึงมองย้อนกลับไป อ้าวมาไกล ไกลจนกระทั่งไม่รู้กี่ร้อยกิโลแล้ว เดินมาทีละก้าวสองก้าวแท้ๆแต่พอผ่านเดือนผ่านปีไปเนี่ย ในโลกความเป็นจริงเราเดินได้ไม่รู้กี่ร้อยกี่พันกิโล ข้ามภพข้ามเดือนข้ามปี อันนี้ก็เหมือนกัน การเดินทางของจิตวิญญาณ มันวัดกันไม่ได้ว่ากี่กิโลแล้ว แต่วัดกันได้ว่า มีความสว่างประมาณไหนแล้ว ก็ลองดูก็แล้วกันว่า ความสว่างแต่เดิมมันไม่มีเอาเลย แต่ตอนนี้มีความรู้สึกเหมือนกับว่าใจลึกๆมีความสว่างเป็นเพื่อนอยู่ตลอด นี่ อันนี้ก็คือเหตุ คือปัจจัยสนับสนุนให้กล้าหาญแล้ว เป็นปัจจัยให้เราคิดว่า เออ ต่อให้ท้อแค่ไหนเนี่ย เราจะสู้ต่อ เนี่ยตัวนี้เอาชนะใจตัวเองได้แล้ว แค่บอกตัวเองเท่านี้ แล้วก็คิดแค่นี้นะว่า จะสู้ต่ออีกสักสองสามก้าวซิ จะเดินต่ออีกสักสองสามก้าวซิ เนี่ยตัวนี้ ชนะใจตัวเอง ณ ขณะนั้นที่อยากแพ้แล้ว แล้วถ้าหากว่าชนะใจตัวเองที่อยากแพ้ได้บ่อยๆในที่สุด เราจะเป็นผู้ชนะที่อยู่เหนือตัวเอง เหนือกว่ากิเลสที่มันครอบงำหัวใจเรามาชั่วกัปชั่วกัลป์นะครับ



๕) รู้สึกเข้ากับสังคมใหม่ๆไม่ได้บ่อยๆ พอเข้าสังคมใหม่ทีก็รู้สึกเข้าไม่ได้ แสดงว่าอาการของใจเราเป็นอย่างไร ถึงได้รู้สึกแปลกแยกไปเอง ซึ่งหลังๆก็รู้สึกเหมือนว่า มีคนเป็นแบบนี้เยอะขึ้นในสังคม อยากแก้อาการของใจเช่นนี้?

เพื่อที่จะให้คำตอบ เพื่อที่จะให้ใจของเราเนี่ยมันเฟรนด์ลี่หรือว่าเป็นมิตรง่าย ไม่ใช่เราจะไปฝืนใจ หรือบังคับใจให้ตัวเองเนี่ย สามารถต่อได้ติดกับทุกๆคน จำไว้นะเป็นคีย์เวิร์ดนะ ไม่ใช่บังคับใจให้ตัวเองต่อได้ติดกับทุกๆคน เพราะนั่นจะยิ่งทำให้เรารู้สึกอึดอัด เป็นภาระ เห็นสังคมเนี่ยเหมือนกับอะไรที่ต้องใส่บ่าแบกไว้ หรือว่าเอามาอุ้มไว้ ความรู้สึกทางใจลึกๆที่มันเป็นทุกข์กับการต้องแบกภาระเนี่ย มันจะทำให้ยิ่งเกิดความรู้สึกต่อต้าน เกิดความรู้สึกไม่อยากเป็นพวกเดียวกัน ไม่อยากที่จะเข้ากัน เราควรจะจำไว้ในใจอย่างนี้ว่า ถ้าไม่ชอบให้ยอมรับไปตามตรงว่าไม่ชอบ ถ้าเกิดความรู้สึกต่อต้านให้ยอมรับไปตรงๆว่ารู้สึกต่อต้าน แต่นะค่อยๆพูด ค่อยๆคุย ในแบบที่อาจจะพูดเบาๆหรือว่าเลือกพูดอะไรที่มันเป็นถ้อยคำดีๆการพูดในแบบที่มีการเลือกแล้วว่า นี่เป็นถ้อยคำดีๆเป็นถ้อยคำที่มันจรรโลงใจ มันเป็นถ้อยคำที่น่าฟัง นอกจากจะทำให้คนอื่นเขารู้สึกดีแล้ว รู้สึกรื่นหูแล้ว ตัวเราเองใจเราเองจะยังเกิดความรู้สึกที่เป็นกุศลขึ้นมาทีละน้อยด้วย

ต้องจำไว้นะไม่ใช่เจอปุ๊บ แล้วมันจะมีกุศลทางใจขึ้นมาได้ทันที แต่ว่าเราต้องเลือกคำพูด เลือกที่จะใช้วิธีพูดในแบบที่ก่อให้เกิดความรู้สึกดีๆต่อคนอื่นเขา แล้วความรู้สึกทางใจของเรามันจะค่อยๆเบิกบานขึ้นทีละนิดๆความรู้สึกที่มันเป็นบวกที่ได้พูดอะไรดีๆที่ได้คิดอะไรดีๆตรงนั้นแหละ ที่มันจะก่อให้เกิดความรู้สึกเป็นบวกต่อสังคมขึ้นมา โดยไม่ต้องฝืนบังคับ แล้วยิ่งถ้าหากว่า เรามีช่องทางสักเล็กน้อยที่จะต่อได้ติดกับใครบางคนในสังคมใหม่นั้นๆ ก็ให้ความใส่ใจกับเขามากเป็นพิเศษ คือแค่พบโอกาสเพียงน้อยนะ ขอให้นึกว่า เราเป็นนักฉวยโอกาสที่จะไปสร้างสมบุญ สร้างสมกุศล ร่วมกันคนอื่น ถ้าหากว่าใครทำให้เรารู้สึกดีเพียงน้อย ให้เราใส่ใจกับเขา เอาใจไปใส่กับเขา แล้วมีแก่ใจที่จะสื่อสารในแบบที่มันผูกมิตรกันได้ เราก็รู้สึกไม่ต่อต้าน เราก็จะรู้สึกว่า นี่เป็นการไม่ต้องมาฝืนกัน ไม่ต้องมาใส่หน้ากากกัน

คือคนเนี่ยพอรู้สึกเข้ากันไม่ได้กับสังคมใหม่เนี่ยนะ โดยธรรมดาจะมีอยู่แค่ ๒ ปฏิกิริยา หนึ่งคือ อยากสะบัดหน้าหนีเลย ใจก็เต็มไปด้วยความรำคาญ เต็มไปด้วยความขัดเคืองว่า ทำไมฉันจะต้องมาอยู่กับสังคมที่มันกระจอกแบบนี้ หรือว่ามีความไม่น่าเข้าใกล้แบบนี้ อันนั้นเป็นปฏิกิริยาแบบหนึ่ง อีกปฏิกิริยาหนึ่ง ก็คือว่า จะแกล้ง แกล้งทำเป็นดี เพื่อที่จะได้ชื่อว่าเป็นคนเข้ากับคนอื่นได้ ซึ่งทั้ง ๒ อย่างเนี่ย มันสร้างความรู้สึกลบในระยะยาวทั้งสิ้น

แต่ถ้าหากว่าเรายอมรับตามจริงก่อน มันอึดอัดนะ แล้วเราเป็นผู้ที่บอกตัวเองนะครับว่า เรากำลังหาทางออก หาทางออกด้วยการที่สร้างคำพูดดีๆเพื่อที่จะปรุงแต่งจิตใจของเราเองให้เป็นกุศล ให้มีความสว่าง ตลอดจนหาใครสักคน หาโอกาสสักโอกาสหนึ่งที่รู้สึกเข้ากันได้ ไม่ต้องฝืน แล้วก็ไปเอาใจใส่เขา เอาใจไปใส่เขามากๆนี่ตรงนี้ มันก็จะกลายเป็นการพลิกมุมมอง แทนที่เราจะรู้สึกว่า นี่สังคมแปลกใหม่ที่มันมีเราเข้ามาแปลกปลอม มันก็จะกลายเป็นว่า เราเนี่ยเข้ามาอาศัยสังคมใหม่นี้ ในการฝึกสร้างกุศลทางใจ ฝึกสร้างที่นิสัยที่มันจะเป็นมิตรง่ายนะครับ พอเราสามารถผูกมิตรได้อย่างเป็นกันเองกับคนอื่นๆเดี๋ยวมันก็จะมีคนต่อๆไปติดตามมาเองนะครับ



๖) มีหลักปฏิบัติใดในพระพุทธศาสนาบ้างมั้ย ที่จะทำให้เราประสบความสำเร็จในสิ่งที่ตั้งใจได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น เช่น สอบเรียนต่อได้ หรือว่าก้าวหน้าในอาชีพโดยฉับพลัน?

คำว่า ‘โดยฉับพลัน’ ในพุทธศาสนาเนี่ยนะ มันผูกกับความคาดหวังมากเกินไปมากกว่า คือ พระพุทธศาสนาเนี่ยแก่นหลัก คือไม่ได้แนะนำวิธีเป็นเศรษฐีร้อยล้าน หรือว่าไม่ได้แนะนำให้เป็นคนเก่งในสาขาอาชีพแบบไหน เป็นโปรเฟสชันแนลในการหาเงินในทางใดนะครับ แต่ว่าจะสนับสนุนให้ทุกคนเอาชนะทุกข์ทางใจ เพราะฉะนั้น ถ้าหากว่าพูดกันถึงแก่นแล้ว คือว่าตามหลักของพุทธศาสนามีวิธีที่จะทำให้เก่ง ทำให้รวยได้เร็วไหม ทำให้ประสบความสำเร็จได้แบบไวๆฉับพลันมั้ย อันนี้ก็ตอบแบบพุทธศาสนานะว่า ถ้าหวังอะไรแบบเร่งรัดมากเกินไป มันผูกอยู่กับความอยาก ความทะยานอยากที่มันรุนแรง ที่มันเกินตัว ที่มันไม่อยากยอมรับความจริง นั่นเท่ากับว่าเราเข้าไปเสี่ยงที่จะเป็นทุกข์อย่างแรง คือยิ่งยึดแรงเท่าไหร่ ยิ่งอยากแรงเท่าไหร่ มันยิ่งมีต้นเหตุ มันยิ่งมีเชื้อของความทุกข์เข้มข้นมากขึ้นเท่านั้น อันนี้ตามหลักพุทธศาสนานะ

แต่เอาละ โอเค ถ้าอยากจะคุยกันในแง่ของความสำเร็จจริงๆก็ต้องพูดตามเนื้อผ้านะ คือว่า คนที่จะมีความสำเร็จได้แบบลัดๆเร็วๆแล้วก็ไม่ต้องพยายามมากอะไรแบบนี้ มีทางเดียวคือ อาศัยบุญเก่าช่วย คือต้องยอมรับกันตรงๆว่า พุทธศาสนาพูดกันเรื่องนี้ พูดถึงกำลังหนุนนะว่า ใครจะมีโอกาสมากน้อยแค่ไหน อย่างคนที่ประสบความสำเร็จมากๆนี่ เขายังบอกเลยนะว่า สิ่งที่ยากที่สุดไม่ใช่ตอนพยายาม แต่ตอนที่ได้โอกาสมา โอกาสที่จะได้พยายามในทางที่จะดัง ในทางที่จะดี ในทางที่จะรวย อันนั้นแหละยากที่สุด แล้วคนอื่นเขาก็ตอบกันไม่ได้หรอกว่า โอกาสแบบนั้น ความบังเอิญแบบนั้นที่ได้มาเนี่ย มันมาจากไหน เขาตอบไม่ได้แต่พุทธศาสนาเราตอบได้ว่า เพราะเคยให้โอกาสคนอื่นไว้ เคยสนับสนุนคนอื่นไว้ เคยไม่ดูถูกแรงงานคนอื่นไว้ แล้วก็ที่สำคัญ เคยเป็นผู้มีความเพียรพยายาม มีใจรักในงานอาชีพแบบใดแบบหนึ่ง แล้วก็ไปทำบุญกับสาขาอาชีพแบบนั้นๆมา ทำบุญในที่นี้ ก็อาจจะหมายถึงการส่งเสริมคน อาจจะหมายถึงการบริจาคทรัพย์สินส่วนตัวให้เป็นสาธารณประโยชน์ในแวดวง หรืออาจจะหมกมุ่นแล้วก็คร่ำหวอดอยู่กับวงการมากพอ คือมีความขยันขันแข็งมากพอ ตรงนี้ก็จะปูทางให้ในชีวิตใหม่เป็นผู้ที่มีความสามารถ เริ่มแรกก็แตกฉานได้อย่างเร็วๆนะครับ


เอาละครับ คืนนี้คงต้องกล่าวราตรีสวัสดิ์กันเพียงเท่านี้ ก็เหมือนกับได้ขยายเวลาออกมา ๑๐ นาทีนะครับ ก็ขอราตรีสวัสดิ์กัน ณ ตรงนี้ แล้วก็เจริญในธรรมด้วยกันทุกท่านนะครับ


« กลับสู่สารบัญเรียงตามครั้งที่ออกอากาศ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น