วันเสาร์ที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ดังตฤณวิสัชนา On Air ครั้งที่ ๑๐๒ / วันที่ ๑๒ ก.ย. ๕๕

« กลับสู่สารบัญเรียงตามครั้งที่ออกอากาศ

สวัสดีครับทุกท่าน วันนี้วันพุธที่ ๑๒ กันยายน ๒๕๕๕ นี่คือรายการดังตฤณวิสัชนา ผมดังตฤณมาตอบคำถามให้คุณเป็นเวลาครึ่งชั่วโมง ทุกคืนวันจันทร์ พุธ และศุกร์ เวลาสามทุ่มตรง เพื่อจะทักทายไถ่ถามเข้ามาในรายการนะครับ ที่สเตตัสปัจจุบัน http://www.facebook.com/dungtrin ณ เวลาสามทุ่มของคืนวันจันทร์ พุธ และศุกร์ เป็นประจำนะครับ



๑) หนูมีปัญหาเรื่องงานจะถามค่ะ คือ ผู้บังคับบัญชาชอบสั่งให้หนูทำเรื่องที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งหนูไม่เต็มใจทำเลย แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ แล้วอย่างนี้หนูจะได้รับวิบากกรรมร่วมกับเจ้านายด้วยไหม

ก็อาจจะนิดๆหน่อยๆ คือการที่เราก่อกรรม โดยที่ไม่ได้ตั้งใจให้เป็นอย่างนั้น หรือว่ามีกำลังใจอ่อนที่จะทำให้มันสำเร็จผลนะครับ ตามภาษาธรรมะท่านเรียกว่าเป็น ‘กตัตตากรรม’ คือกรรมที่ไม่ได้ทำโดยเจตนา ไม่ได้ตั้งใจให้เป็นเช่นนั้น อย่างที่ท่านยกตัวอย่างกันง่ายๆก็คือว่า เรานี่แหละ แบบกรณีนี้นี่แหละ เราไม่ได้ตั้งใจจะโกง ไม่ได้ตั้งใจจะโกหก ไม่ได้ตั้งใจที่จะคิดจะเฉไฉอะไรทั้งสิ้น แต่ว่าถูกบีบบังคับ หรือว่าเป็นไปโดยสายอาชีพการงาน ตามหน้าที่ที่ผู้ใหญ่สั่งมาอีกทีหนึ่ง เราเลี่ยงไม่ได้ คือมันไม่ใช่ว่าเราไม่ได้ทำอะไรเลยนะ ทำนะ ทำตามคำสั่ง ทำตามที่คนอื่นบัญชามา เรารู้แก่ใจว่า สิ่งนั้นไม่ถูกต้อง แต่เราก็จำเป็นต้องทำนั่นแหละ อย่างนี้แหละเรียกว่ากตัตตากรรม ไม่ใช่ว่าไม่มีผลเลย มีผล แต่ว่าอ่อนมาก เนื่องจากกำลังใจที่คิดทำเนี่ย มันไม่ได้ริเริ่มขึ้นมาเอง ไม่ได้มีความอยากจะทำ มันมีความฝืนใจที่จะทำ ลักษณะของการฝืนใจที่จะทำเนี่ย ทำให้กรรมที่ก่อขึ้นไม่ครบวงจรเต็มร้อย เต็มบริบูรณ์ การที่เราเริ่มต้นขึ้นมา เรามีความรับรู้ว่าอย่างนี้ไม่ถูกต้อง นั่นคือมีแรงห้ามแล้ว แล้วเราฝืนใจทำด้วยความรู้สึกละอายต่อบาป ตัวละอายต่อบาปนี้แหละ ตัดสินว่ากรรมเนี่ยนะ ไม่ใช่ของๆเราเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ มันเป็นกรรมที่ฝืนทำไปโดยอาการที่ไม่รู้สึกว่าถูกต้อง ไม่รู้สึกว่าชอบธรรม อย่างถ้าหากว่า วิบากกรรมของเจ้านายจะต้องได้รับผลเป็นการใส่ไคล้ เป็นการโดนใส่ไคล้ เพราะกรรมอันเกิดจากการโกหก มันจะต้องโดนใส่ไคล้ มันจะต้องถูกเข้าใจผิด หรือถ้าหากว่าคิดคด ไปคดโกงทางราชการ หรือว่าทางบริษัทคู่ค้าของเรานะ ผลหรือวิบากเนี่ย มันจะต้องเป็นความพินาศของสมบัติในอนาคตกาลอย่างเนี่ย สมมติว่าเจ้านายจะต้องเสียหายเป็นรถยนต์คันหนึ่ง เราอาจจะเสียหายเป็นประมาณว่า จานล้อรถยนต์ถูกขโมยอะไรแบบเนี่ย คือไม่เสียหายขนาดที่ว่าจะต้องโดนทั้งคัน แต่ว่าโดนส่วนใดส่วนหนึ่งไป อันนี้ก็เป็นตัวอย่างง่ายๆนะ ที่ยกขึ้นมาแสดงให้เห็นถึงกำลังใจของแต่ละคนไม่เท่ากันในการทำกรรม เจ้านายสั่งเราเนี่ย เต็มร้อยเลยนะ สั่งให้เราโกง สั่งให้เราโกหก สั่งให้เราทำอะไรบางอย่างที่มันน่าฝืนใจนะ ตัวของเจ้านายเองเนี่ย ได้รับกรรมนั้นเต็มๆแน่ๆ เป็นผู้ก่อกรรมนั้นเต็มๆแน่ๆนะ แล้วก็จะต้องได้รับวิบากนั้นด้วย แล้วยังคูณเข้าไปอีก คือว่าไปฝืนใจคนอื่น ไปบังคับใจคนอื่นให้เขาทำในสิ่งที่มันไม่ถูกต้อง รู้อยู่ว่าเขาจะต้องฝืนใจ เขาจะต้องร่วมรับผิดด้วย อันนี้เนี่ยมันก็จะได้รับผลเป็นการถูกบังคับอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ให้ทำผิดอย่างใดอย่างหนึ่งในอนาคตข้างหน้าเช่นกัน



๒) ทำอย่างไรจึงจะพ้นจากวงจรคนทุจริตได้? การทุจริตมันเกิดขึ้นบ่อยมาก หนูก็พยายามเลี่ยงแล้ว จนบางทีก็ไม่สามารถเลี่ยงได้ ต้องจำยอม?

ก็ใจนี่แหละที่มันเป็นใหญ่ ใจนี่แหละมันเป็นประธาน ถ้าหากว่าคำนึงถึงวิบาก หรือว่าผลที่เราจะต้องได้รับในปัจจุบัน ก็คือเราต้องมาอยู่ในวงจรของคนโกง ของคนคด ของคนทุจริต มันอาจจะเกิดจากการที่เราเคยไปร่วมมือ ให้ความร่วมมือกับคนเหล่านี้ หรือว่าเราเองนั่นแหละเคยทำอะไรแบบทำนองเดียวกันมาก่อนนะ แล้วก็จะต้องมาอยู่ในวงจรแบบนี้อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง แต่ใจของเราที่มันไม่สมัครเข้าไปแล้ว มันไม่อยากจะทำแบบนี้อีกแล้ว มันไม่อยากจะยุ่งเกี่ยวกับคนพวกนี้อีกแล้ว ใจนั้นแหละ ที่จะเป็นตัวกำหนดให้เส้นทางของเราค่อยๆออกห่าง ค่อยๆแยกจากไป โดยตัวความไม่เต็มใจนั่นแหละ โดยตัวความรู้สึกไม่ดี โดยตัวความรู้สึกละอายนั่นแหละนะ มันสังเกตได้ ใจมันอยากจะถอยห่างออกมา เนี่ยไม่ใช่แค่ความรู้สึกอย่างเดียวนะ แต่เป็นส้นทางของเราที่เราเดินไปเนี่ย ถ้ามองเป็นภาพรวมก็เหมือนกับว่า เท้าของเราค่อยๆเบนทิศไปจากเส้นทางเดิม ที่มันบังคับให้เดินทางตรงไปสู่ความวิบัติ เดินทางตรงไปสู่การตกเหวเนี่ย มันค่อยๆเบี่ยง เหมือนกับฉีกทางออกไปสู่ความปลอดภัยแล้ว ถึงแม้ว่า ณ เวลาปัจจุบันมันยังหมิ่นเหม่ มันยังเหมือนกับว่า เอ๊ะ เราเดินลงเหวชัดๆนี่ แต่ถ้ามองเป็นเหมือนกับเปรียบเป็นรูปธรรมนะ เท้าเราเนี่ย มันค่อยๆฉีกออกห่างจากการลงเหวทีละน้อยๆ ไม่ได้ลาดลงต่ำเหมือนกับคนอื่นๆ ที่เขามุ่งหน้าดุ่มเดินไปโดยไม่รู้เหนือรู้ใต้ คือพูดง่ายๆว่า ก่อนตายเนี่ย มันพ้นปากเหวได้ทัน มันไม่ต้องดำดิ่งลงไปเหมือนคนอื่นเขา ถูกฉุดถูกลากลงเหมือนคนอื่นเขา การที่เรามีใจไม่อยากจะยุ่งเกี่ยวกับคนพวกนี้ ต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจนเป็นรูปธรรม กล่าวคือ เราจะบอกตัวเองอยู่ตลอดเวลาว่า ถ้าหากมีโอกาสเมื่อไหร่ เราจะไปทันที

จริงๆแล้วผู้ถามห้อยท้ายมา หนูไม่อยากลาออกนะ อยากจะพ้นจากวงจรอุบาทว์เหล่านี้ คือการที่เรายังต้องข้องเกี่ยวกับคนเหล่านี้ก็เพราะว่า เรายังอยู่ในสายอาชีพการงาน อยู่ในหน้าที่อะไรแบบนี้นี่แหละนะ ยังต้องเจอกับเขานี่แหละ ถ้าหากว่าเราตั้งใจไว้ว่า ถ้าไปได้เมื่อไหร่เราไปทันที ไอ้ความคิดแบบนี้ ไอ้ความตั้งใจแบบนี้นี่แหละ ที่จะทำให้พ้นจากวงจรได้จริง แต่ถ้าหากว่ายังไม่มีที่ไป พยายามแล้วไม่สามารถที่จะออกจากที่เดิมได้ ก็อยู่ไปก่อน ไม่เป็นไร เพราะว่าอยู่แต่ตัวน่ะ อยู่แต่แขนขาที่มันทำหน้าที่คล้ายเครื่องจักรกล แต่ใจเราจริงๆเนี่ยนะ ตัวใจจริงของเราเนี่ย มันไม่อยู่กับที่ทำงานแล้ว นี้ตัวนี้แหละที่เขาเรียกว่าเป็นตัวสร้างภพ เป็นตัวสร้างภูมิ ความตั้งใจนี่แหละ ความสมัครใจนี่แหละ อาการที่ใจเราอยู่ที่ไหนนั่นแหละ ตัวนั้นแหละ ถ้าหากว่าใจมันเล็งอยู่ที่ว่า เออ เราจะอยู่ที่นี่ไปจนตาย ถึงแม้ว่าจะต้องทุจริตคิดคดไปกับเขาด้วยเนี่ย อย่างนี้ยังไงมันก็ต้องเปื้อน ภพภูมิของเรายังไงมันก็ต้องหลีกไม่พ้นจากวงจรแบบเดิมๆ เพราะว่าใจมันเล็งไว้แล้วว่าจะผูกอยู่กับตรงนี้แหละ แต่ถ้าหากใจเล็งไว้ว่า ไปได้เมื่อไหร่ไปทันที อย่างนี้มันก็จะแตกต่างไป ภพที่จะเสวย ภูมิที่จะเสวยของใจที่มันเล็งอยู่ มันก็คือความสะอาด มันก็คือความปลอดจากพิษของกรรมที่ดำมืดของคนอื่น ที่เขาคอยสะบัดมาโดนเราให้เกิดความแปดเปื้อนไป



๓) ผมขออนุญาตถามสองคำถาม แต่เป็นประเด็นเกี่ยวข้องกันคือ หนึ่ง หากที่บ้านมีพระบูชามาก อยากแบ่งพระไปถวายวัดที่กำลังสร้างใหม่ คือวัดยังขาดพระพุทธรูปเนี่ย จะเหมาะสมไหม? เนื่องจากไม่ได้เป็นพระบูชามาใหม่เพื่อถวายวัดโดยเฉพาะ

คือในทางธรรมะ ในทางศาสนาของเราเนี่ยนะ พระพุทธเจ้าสนับสนุนให้มีการเจือจาน มีการแบ่งปัน สิ่งที่น่าแบ่งปัน… (เสียงขาดหายไป)

ครับ ก็กลับมาสู่รายการดังตฤณวิสัชนา หลังจากเมื่อครู่นี้ คอนเนคชันมันหายไป ก็มีการแจ้งมาจาก Spreaker.com ว่า มีปัญหาเกี่ยวกับการเชื่อมต่อ ก็ขออภัยด้วย

มาต่อคำถามจากสเตตัสเดิมนะครับ ที่บอกว่า หากมีพระบูชาที่บ้านมากเนี่ย จะเอาไปถวายวัดเป็นการเหมาะสมหรือไม่ เพราะว่าไม่ใช่พระบูชาขึ้นมาใหม่

อันนี้ก็ตอบค้างไว้ ใจความโดยสรุปก็คือว่า ถ้าหากเราเห็นเป็นของดี เป็นของที่ยังใช้การได้ เป็นของที่มีประโยชน์ เป็นของที่เอาไปถวายวัดแล้วเนี่ยนะ เรียกว่าเป็นของที่ยังมีความสมบูรณ์อยู่ ถือว่าโอเคนะครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าหากว่าเรา ยิ่งถ้าเอาใจของเราเป็นหลักนะ มีความรัก มีความเคารพ มีความเลื่อมใสในองค์พระปฏิมาอยู่ แล้วอยากที่จะให้สิ่งที่เรารัก สิ่งที่เราเคารพนั้นเป็นมหาทานแด่สงฆ์นะครับ นี่ยิ่งได้บุญใหญ่เลย คือการที่เราจะวัดว่าได้บุญหรือไม่ได้บุญ อย่าไปมองว่าจะต้องซื้อของใหม่เสมอไป แต่มองว่าของที่เราถวายเนี่ย มีค่ากับเราทางใจแค่ไหน ถ้าหากว่ามีค่าทางใจกับเรา นั่นแสดงว่าของยังดีอยู่ พระพุทธเจ้าเนี่ย ท่านไม่ได้ให้รังเกียจเลยนะว่า จะต้องเป็นของที่ซื้อใหม่เสมอไป แม้แต่พระองค์ก็เคยรับข้าว รับถวายจากนางทาสี ที่เป็นข้าวกระดำกระด่าง ที่มันไม่ค่อยสะอาดเท่าไหร่ นี่ตรงนี้จะเห็นได้ชัดเลยว่า เราจะวัดว่าของที่ถวายดีแค่ไหน เอาเรื่องทางใจเป็นหลักนะครับ

คำถามที่สองคือบอกว่า...

ถ้านำพระเครื่องไปให้ผู้อื่นเช่าต่อ (เนื่องจากมีเยอะ) จะเป็นบาปไหมครับ? เหมาะสมไหม?

ในเรื่องเกี่ยวกับการขายพระเนี่ยนะ เดี๋ยวไม่รู้พูดไปจะกระทบกระทั่ง หรือว่าจะเกิดความสะเทือนใจแก่ผู้ที่อยู่ในวงการแค่ไหน แต่อันนี้ขอให้มองเป็นอย่างนี้ก็แล้วกันว่า ผมพูดออกมาจากมุมมองของคนที่เคารพ แล้วก็ศรัทธาพระนะครับ คือถ้าอย่างเราจะตีราคาพระ เราควรตีจากวัสดุที่คนเขาอุตส่าห์ทำมาเนี่ย เราคงทำเองไม่ได้ใช่ไหม เราก็ต้องไปซื้อเขาน่ะ แต่ว่าซื้อมากะจะเอามาบูชา แล้วสิ่งที่จะเอามาบูชาก็อยากจะให้เป็นวัสดุที่มีความพิเศษ มีความมีค่านิดนึง ถ้าหากว่าเราไปจ่ายเงินที่จะซื้อสิ่งที่เขาทำมาสมราคาวัสดุเนี่ย มันก็ไม่ผิด แต่ถ้าหากว่าเป็นในกรณีของพระเครื่อง คือทำมาจากดินเนี่ยนะ สมัยก่อนเมื่อร้อยปีที่แล้ว เกจิอาจารย์เนี่ย ท่านอุตส่าห์ทำขึ้นมา ไม่ได้คิดมูลค่าอะไรเลย เอามาแจกญาติโยม เพื่อรักษาศรัทธาของพุทธศาสนิกชนให้มีความเคารพ ให้มีความยำเกรงพระสงฆ์องค์เจ้า ให้มีความรู้สึกว่าพุทธศาสนาเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์จริง หรือว่าช่วยให้เกิดขวัญและกำลังใจแก่ทหาร ที่ไปเหมือนกับออกรบแล้วก็ปกป้องชาติ อะไรแบบนั้น ข้าศึกมารุกรานก็ไปปกป้อง ท่านก็ทำให้ไปแล้วทีนี้พอพบว่า เออ มันมีฤทธิ์ มีความคงกระพันชาตรี ก็กลายเป็นของมีราคาขึ้นมาจากความวิเศษ ขึ้นมาจากความมีมนต์ขลังของครูบาอาจารย์ ที่ท่านมีฤทธิ์ มีเดชนะครับ อย่างนั้นเนี่ย มันไม่ใช่เป็นการบูชาพระด้วยความเคารพเลื่อมใสแล้ว แต่เป็นการเห็นพระนะ ตีค่าพระเครื่องเนี่ย เป็นคล้ายๆกับเสื้อเกราะกันกระสุน หรือว่าบางคนมองเป็นยิ่งกว่านั้น เป็นคล้ายๆกับเสน่ห์ยาแฝดอะไรแบบเนี่ย จะมาดึงดูดให้ใจคนอื่นมาติดมาหลง นี่ไม่ใช่ความเคารพพระแล้ว นี่ไม่ใช่ความเลื่อมใสบูชาแล้ว นี่ไม่ใช่การแสดงออกซึ่งความศรัทธาในพระพุทธเจ้าแล้ว แต่เป็นการอยากหวังหาเงินนะครับ เห็นเรามีต้นทุนอยู่ มีพระเครื่องเป็นต้นทุน ก็ไม่เหมาะนะ ถ้าในมุมมองของผมนะครับ ไม่เหมาะเลย แล้วเท่าที่ทราบมา เท่าที่เห็นมา คนที่เล่นพระเครื่องในลักษณะของการซื้อมาขายไป ไม่ได้มีความเคารพเลื่อมใสเนี่ย หน้าจะหมองลงเรื่อยๆนะ คือบางคนหน้าตาอาจจะยังดูดี ยังเหมือนกับอาเสี่ยเนี่ย เพราะว่ารวยกันเป็นล้าน ขายทีหนึ่งหลายแสนหรือว่าหลายหมื่น อะไรแบบนั้นเนี่ยนะ แต่ว่าเท่าที่สังเกตลักษณะจิตใจเนี่ย จะตกต่ำลงไปเรื่อยๆ เพราะเห็นพระเห็นเจ้าเนี่ยเป็นเครื่องมือหากิน ไม่ใช่เห็นเป็นเหมือนกับสิ่งที่เราจะเคารพบูชา สังเกตได้ง่ายๆ คนที่เล่นพระในลักษณะซื้อขาย แบบเหมือนเก็งกันเป็น เก็งกำไรกัน คล้ายๆคอนโด คล้ายๆบ้านอะไรเนี่ย จะไม่ค่อยมีศีลธรรมกันเท่าไหร่ อันนี้จากมุมมองที่ผมตั้งข้อสังเกตโดยส่วนตัวนะ ไม่ได้ว่าใคร ไม่ได้บอกเหมารวมนะ แต่คือเท่าที่เห็นเนี่ย คือมีคนรู้จัก ก็เหมือนกับเดิมก็ไม่รู้จะเอายังไงกับพระสงฆ์องค์เจ้าแหละ ไม่รู้จะเคารพหรือไม่เคารพ แต่พอเข้าไปอยู่ในวงการพระเครื่อง เห็นเป็นของค้าของขาย เห็นพระเป็นของค้าของขาย เอาพระพุทธเจ้ามาว่ากันเป็นแสน เป็นล้าน หรือเป็นหมื่น มาต่อรองราคากันอย่างเดียว ไม่ได้นึกว่าพระพุทธเจ้าเนี่ย มีความน่าเคารพอย่างไร มีความน่าศรัทธา น่ากราบไหว้อย่างไร มันคล้ายๆกับว่าใจเขาเนี่ยไหว้พระไม่ลงนะ คือพอเห็นพระเนี่ยตีเป็นราคาหมด บอกพระองค์นี้เนี่ยไม่มีราคา พระตามบ้าน พระที่อยู่ตามหิ้งพระอะไรแบบนี้เนี่ย ไปมองว่าอย่างนี้ไม่มีราคา คือใจมันตีขึ้นมาเอง เพราะว่ามันตีราคาซื้อขายกันอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน แต่พอเห็น เออ นี่พระสมเด็จนี่ มีค่าหนึ่งล้าน แบบนี้เนี่ยจิตใจมันไปหมกมุ่นกับการตีราคาพระ แล้วจะเอาใจที่ไหน เอาความเลื่อมใสมาจากที่ใด มากราบไหว้พระพุทธเจ้าได้ แล้วพอไม่เลื่อมใส ไม่ศรัทธาจริง เห็นพระเป็นเครื่องมือทำมาหากินอย่างเดียวเนี่ยนะ ในที่สุดแล้วมันก็เหมือนกับว่า ศรัทธาของชีวิตเนี่ย มันทุ่มไปที่ไหน ทุ่มไปที่เงิน เงินหลักแสน เงินหลักล้านเนี่ย มันมีค่ายิ่งกว่าพระ ขายพระได้เงินไง คือมันก็เลยมองว่า เงินเนี่ยมีค่ายิ่งกว่าพระ

ทีนี้ถ้าของเราเนี่ยนะ คืออย่าเสี่ยงดีกว่า คือผมเข้าใจแหละว่า ผู้ถามยังไม่ได้มีจิตใจแบบนั้น อย่างเนี่ยในคำถามนี้ก็คือว่า ไปให้ผู้อื่นเช่าต่อ แล้วก็ตั้งใจว่า เอาเงินที่ได้มาเนี่ยไปทำบุญช่วยเหลือวัดและผู้เดือดร้อน แล้วก็เอามาใช้จ่ายส่วนหนึ่ง ทีนี้คือในความเป็นจริงเนี่ยนะ ถึงแม้ว่าเราจะตั้งใจไว้แต่แรกเช่นนั้น แต่ว่าทำๆไปเนี่ย มันจะเผลอนะ มันจะเพลิน มันจะไม่ค่อยรู้สึกตัวนะ เวลาได้เงินมาแล้วก็รู้สึกว่า เอ๊ะ อันนี้มันทำได้นี่ แล้วก็เลยถูกชักจูงเข้าสู่เส้นทางแบบนั้นโดยไม่รู้ตัว อันนี้ก็เป็นความเห็นนะ ก็อย่าไปมองว่าผมไปตั้งใจกระทบกระทั่งคนที่อยู่ในวงการอะไรแหละ คนที่อยู่ในวงการผมก็เข้าใจว่า มีหลากหลายที่ยังเคารพยังบูชาพระ หมายถึงว่าพระสงฆ์องค์เจ้า แล้วไปทำสังฆทานอะไรแบบนี้ก็ยังมีอยู่ คนที่มีจิตใจดีงามแล้วก็ตั้งใจรักษาศีลก็ยังมีอยู่ แต่ตรงนั้นต้องระวังจิต ระวังใจกันมากทีเดียว ถึงได้สามารถจะดำรงอยู่ในความศรัทธา ดำรงอยู่ในความมีใจเคารพพระได้ ไม่ใช่เห็นพระเป็น เพราะผมก็รู้จักพี่อยู่คนหนึ่ง ก็มีชื่อเสียงพอสมควรแหละ เป็นเซียนพระเลย แล้วทุกวันนี้เนี่ย ก็คือไม่ไปยุ่งเกี่ยวกับวงการค้าขายล่ะ แต่ว่าเห็นพระเนี่ย สามารถตีราคาได้ บอกได้ว่าเป็นของจริงหรือของไม่จริง แล้วก็มีความเชี่ยวชาญชำนาญมากทีเดียวแหละ แต่ตัวท่านเองเนี่ยก็ปฏิบัติธรรม แล้วก็ไม่ยุ่งเกี่ยวกับวงการค้าขาย คือใครเอาพระมาให้ดูเนี่ย ดูให้ได้ แล้วก็เหมือนกับบอกได้ว่า ทำในสมัยไหน บอกได้ทีเดียวแหละว่า มีความขลังหรือเปล่า อะไรแบบนี้ แต่ว่าส่วนเรื่องราคาอะไรแบบนี้เนี่ย เขาก็จะไม่ยุ่งเกี่ยวนะครับ



๔) มีเพื่อนคนหนึ่งที่เพิ่งจะเริ่มปฏิบัติธรรมมาไม่นาน แต่เขากลับรู้สึกว่า การปฏิบัติทำให้ความสุขแบบโลกๆที่เขาเคยเอนจอยมันหายไป เช่น การช็อปปิ้ง หรือความอยากที่จะประสบความสำเร็จในทางโลกมันหายไป และเริ่มเบื่อการงานที่ต้องทำ ซึ่งทำให้ ณ ช่วงนี้ เขาพยายามอย่างมากที่จะตามล่าหาผัสสะที่ชอบใจ โดยการไปท่องเที่ยวต่างประเทศบ่อยๆ เขาบอกว่าอยากไปค้นหาตัวเอง เพราะเบื่อชีวิต อยากทราบว่าอาการแบบนี้เกิดขึ้นหลังปฏิบัติธรรม เป็นเพราะเหตุใด? ควรแก้ไขอย่างไร?

จริงๆแล้วเนี่ยนะ อย่าไปเหมาว่าปฏิบัติธรรมแล้วจะเบื่อโลก หรือว่าเบื่อหน้าที่การงานเสมอไป เพราะว่าคนเนี่ย ผมว่านะไม่ปฏิบัติธรรมน่ะมันยิ่งเบื่อโลก เบื่อหน้าที่การงานหนักกว่า หนักกว่านั้นอีก เพราะอะไร?

เพราะว่าสิ่งที่เป็นการงานทางโลกเนี่ยนะ เป็นของไม่น่าสนุกน่ะ มันเป็นอะไรที่ทำแล้วเหนื่อย มันเป็นอะไรที่เราไม่ได้มีความเต็มใจ ไม่ได้มีความสนุก ไม่ได้มีความสมัครใจแล้วเนี่ย มันดึงดูดเราไม่ได้ แต่ถ้าหากปฏิบัติธรรมแล้วมีความสุข ปฏิบัติธรรมแล้วเกิดความรู้สึกว่า แบบนี้ใจมันเปิด แบบนี้ใจมันสว่าง แบบนี้มันมีสติ แบบนี้มันมีความตั้งมั่นเป็นสมาธิ เปรียบเทียบแบบนี้นะ ก็เห็นๆอยู่ว่า คนเราจะชอบอะไร ก็ต้องชอบที่จะมาปฏิบัติธรรม มาเจริญสติมากกว่าทำงาน นี่พูดถึงธรรมชาติของใจ พูดถึงธรรมชาติของความรู้สึกนะ มนุษย์ย่อมเอนเอียงเข้าหาความสุข ย่อมแหนงหน่าย คลายความยินดี ในสิ่งที่จะทำให้เป็นทุกข์ มันไม่เกี่ยวหรอกว่า ปฏิบัติธรรมแล้วจะทำให้เบื่อหน้าที่การงาน คิดในทางอย่างนี้ก็ได้ ถ้าหากว่าเขาไปเที่ยวต่างประเทศอย่างเนี่ย แล้วเขาติดใจในการท่องเที่ยวไปเรื่อยๆ ก็เบื่อหน้าที่การงานได้เหมือนกัน เบื่อการที่จะอยากได้โน่นอยากได้นี่ ที่เป็นสิ่งของล่อตาล่อใจเหมือนกัน อยากเดินเท้าไปอย่างนกอิสระ ที่จะกระโดดจากขอนไม้นี้ไปอีกขอนไม้หนึ่ง แบบนี้ก็เรียกว่าเป็นคำอธิบายว่า จริงๆแล้วไม่ใช่เรื่องของการเจริญสติ ไม่ใช่เรื่องของการปฏิบัติธรรมอย่างเดียว ที่ทำให้เกิดการเบื่อหน่ายหน้าที่การงาน หรือไม่อยากที่จะเอาอะไรแบบโลกๆ ไม่อยากจะช็อปปิ้งแบบที่เคยทำๆมา ตัวความน่าเบื่อหน่ายเนี่ย มันมีอยู่แล้วในการทำงาน มันมีอยู่แล้วในการช็อปปิ้ง ที่ไม่เห็นจะมีอะไรเพิ่ม ได้ของใหม่มาแต่ความรู้สึกไม่ได้เพิ่มเติมอะไรเลย ตรงข้ามถ้าหากว่าได้ทำอะไรแปลกใหม่ อย่างเช่นไปท่องเที่ยวอย่างเนี่ย มันเกิดความสุข มันเกิดความสำราญขึ้นมา ก็ย่อมเกิดความเบื่อหน่ายวิถีทางแบบเดิมๆ นี่เปรียบเทียบนะ

ทีนี้ถ้าปฏิบัติธรรมเนี่ย ถ้าหากว่ามันประสบความสำเร็จที่จิตจริงๆเนี่ย ไม่ต้องเดินทางไปไหน หมายความว่ามีความแก่กล้าแล้วพอสมควรนะ มีสติแล้ว มีความตั้งมั่นทางสมาธิแล้วพอสมควร เหมือนกับอยู่ที่ไหน ที่นั่นกลายเป็นทะเล ที่นั่นกลายเป็นท้องฟ้า ที่มีอิสระ ที่มีความเบาสบาย ที่มีความรู้สึกปีติ ชุ่มฉ่ำ สดชื่น ถ้าประสบความสำเร็จทางจิต เราจะเห็นว่าไม่ใช่เฉพาะหน้าที่การงานที่เราจะเบื่อหน่ายนะ แม้กระทั่งร่างกาย การมีความรู้สึกเป็นสุขเป็นทุกข์แบบโลกๆ การมีความทรงจำแบบต่างๆ หมายมั่น หมายรู้ หรือมีเจตนาได้ คิดอ่านได้ เหล่านี้น่าเบื่อหมด การรับรู้อะไรทั้งหลายเนี่ย มันน่าเบื่อหมด ไม่ใช่น่าเบื่อในแบบที่เป็นทุกข์ จำเป็นจะต้องหันหลัง แล้วก็มุดดินหนี หรือว่าจะต้องติดปีกเหินฟ้าอะไรแบบนั้น คือในลักษณะของความเบื่อที่เป็นนิพพิทาจริงๆเนี่ย ยังมีความสุขอยู่ ยังมีความชุ่มฉ่ำอยู่ ยังมีความชื่นใจอยู่ แต่ไม่อยากเอา ไม่อยากเกาะเกี่ยว ทำทุกสิ่งทุกอย่างไปอย่างนั้นเอง ตามหน้าที่ ตามวาระ ตามกำหนดที่ได้รับมอบหมายมาในการมีชีวิต ยังไงๆนะ พระพุทธเจ้าท่านบอกว่า เกิดมาเนี่ยก็ต้องทำสิ่งที่ต้องทำ แต่ใจไม่ได้มีความเกาะเกี่ยว ใจเป็นอิสระอยู่ นี่อย่างนี้นะ ถ้าหากว่าเราปฏิบัติธรรมจนถึงขั้นที่สามารถรู้เข้ามาถึงภาวะภายใน ไม่ว่าจะเป็นสุข ไม่ว่าจะเป็นทุกข์ มันก็ไม่เที่ยง ไม่ว่าจะเบื่อหน่ายแค่ไหน ไม่ว่าจะผะอืดผะอมเพียงใด มันก็ไม่เที่ยง มันแสดงความไม่เที่ยงได้ และเราหาความชุ่มชื่นจากบ่อน้ำพุภายใน ที่มันผุดขึ้นมาจากการมีสติ ที่มันผุดขึ้นมาจากการรู้การเห็น ที่มันผุดขึ้นมาจากความตั้งมั่นของจิต ถ้าหากว่าเราไปถึงตรงนั้นนะ ก็จะเป็นผู้ที่ไม่ต้องเที่ยวไปไกล แล้วก็ไม่ต้องหลีกเลี่ยงหน้าที่การงานที่มันอาจจะเป็นพันธะอยู่ เป็นห่วงอยู่ เราจะสามารถที่จะทำอะไรต่อไปได้อย่างมีความสุข แล้วก็ไม่เบื่อหน่าย เพราะว่าความเบื่อหน่ายยังถูกพิจารณาให้เห็นเข้าไปนะว่า มันมีความไม่เที่ยง มันเปลี่ยนระดับได้ เดี๋ยวก็เบื่อหน่ายมาก เดี๋ยวก็เบื่อหน่ายน้อย แต่ถ้าหากว่ามันเบื่อถึงขั้นที่ใจไม่เอาอะไรจริงๆ คือไม่ติดไม่ยึดแม้กระทั่งความสบาย อย่างนั้นเนี่ย ก็จะมีใจอยากไปอยู่อีกโลกหนึ่ง โลกของบรรพชิต ไม่ใช่โลกแบบฆราวาสอย่างเราๆท่านๆ อันนี้เขาถึงมีการแบ่งไงว่า ถ้าหากอยากอยู่แบบเบาสบาย เบาตัว สบายใจจริงๆ ไม่ต้องเกาะเกี่ยวกับอะไรจริงๆ ก็ควรเป็นผู้ภิกขาจาร ไม่ใช่เป็นผู้ทำมาหากิน หาเลี้ยงชีพ มีลูกมีเต้าอะไรแบบนั้น ควรจะเป็นอิสระ เป็นบุคคลอิสระอยู่ในผ้าเหลือง มีการได้รับการคุ้มครองจากผ้าเหลืองว่า คนนี้ไม่ต้องมาแย่งชิงทำมาหากินกับคนอื่นเขา แต่ว่าทำตนให้เป็นผู้น่าเคารพเลื่อมใส ด้วยการไม่ยุ่งเกี่ยวกับกามโลกีย์ แล้วก็ทำมรรคผลนิพพานให้แจ้งอย่างเดียว เพื่อที่จะได้เป็นเนื้อนาบุญกลับมาโปรดสัตว์ได้ว่า เออ ทำอย่างไรจะไม่ต้องเป็นทุกข์ทางใจมากนัก เอาความสุขเอาความเบาของตัวเองนี่แหละมาเป็นต้นทุนในการแจกจ่ายเทศนาธรรม ตรงนี้ที่จะเป็นความแตกต่างระหว่างพระกับฆราวาส แต่ช่วงต้นๆเนี่ย ถ้าหากว่าเป็นฆราวาส คือก่อนจะเป็นพระมันก็ต้องเป็นฆราวาสก่อน ไม่มีใครเกิดมาแล้วเป็นพระได้เลย ก็ต้องเป็นแบบนี้แหละคือ มีการปฏิบัติธรรม มีการเจริญสติ และเห็นค่าของการเจริญสติ เห็นค่าของจิตที่วิเวก เห็นค่าของจิตที่เป็นอิสระซะก่อน ในขณะที่เป็นฆราวาส ถ้าหากว่าทำจนอิ่มตัวแน่ชัดแล้วก็ควรจะปลีกวิเวกไป แต่ในช่วงต้นๆ มันจะก้ำกึ่งแบบนี้ คือเหมือนเหยียบเรือสองแคม ไม่รู้ว่าจะเลือกทางไหนดี ไม่รู้ว่าจะให้ ไม่รู้ว่าจะวางแพลนชีวิตว่าจะเอานิพพาน หรือว่าเอาตำแหน่งสูงสุดทางโลก มันจะมีภาวะกลืนไม่เข้า คายไม่ออกแบบนี้แหละ มันจะเหมือนกับเบื่อๆอยากๆอย่างนี้แหละ ก็ต้องพิจารณาไปว่า สิ่งที่กำลังปรากฏเด่นที่สุดในใจเราก็คือความเบื่อ คือความหน่าย คือความรู้สึกถูกกดดันจากอาการไม่อยากจะเอา อยากจะเปลี่ยนใหม่ อยากจะเป็นอิสระ อยากจะเหินฟ้า แบบนั้นก็ต้องพิจารณา ไม่ปล่อยให้หลุดไป คือมีการเจริญสติเท่าทันความเบื่อหน่าย ความเบื่อหน่ายเป็นความรู้สึกหดหู่บ้าง เป็นความรู้สึกกดดันบ้าง จิตบางทีมันถูกบีบแคบเข้ามา บางทีมันมีลักษณะจ๋องๆจ๋อยๆ บางทีมันมีลักษณะไม่มีเรี่ยวแรง ไม่มีกำลัง บางทีมันมีลักษณะที่เหมือนกับมีอะไรมัวๆ มีอะไรที่ดำๆมืดๆมาครอบงำ เราก็เห็นลักษณะที่กำลังปรากฏเป็นตัวบอกว่า ความเบื่อกำลังแสดงหน้า แสดงตาออกมาอย่างไร เป็นภาวะอย่างไร เห็นให้ได้นะ แล้วก็เห็นให้ได้ทุกครั้ง แล้วก็สังเกตให้ได้ทุกหนด้วยว่า ลักษณะแบบนั้นๆของความเบื่อ มีความไม่เที่ยง มันค่อยๆลดระดับลงไปเอง ถ้าหากว่าเรามีสติรู้มันเห็นมัน หรือมันอาจจะทวีตัวเพิ่มขึ้น เราไม่ต้องไปรังเกียจอะไรทั้งนั้นแหละว่ามันจะเพิ่มขึ้นหรือว่าลดลง เราแค่ตั้งแง่สังเกตเท่านั้นว่า มันต่างไปได้เรื่อยๆ ไอ้ตัวความเห็นว่ามันต่างไปได้เรื่อยๆนั่นแหละ ในที่สุดมันจะพัฒนาขึ้นเป็นสติเห็นความเบื่อ และอยู่เหนือความเบื่อ พอเห็นความเบื่อไม่เที่ยงเนี่ย ใจมันจะถอนออกมาจากความเบื่อ นั่นแหละความไม่ต้องทุรนทุราย ไม่ต้องมีความอึดอัดระอาจนเกินทนนะครับ



๕) หนูเป็นสาวประเภทสอง ทุกวันนี้คบกับแฟนมาแปดปีแล้วค่ะ สุขบ้าง ทุกข์บ้าง ตามประสา เรื่องของเรื่องก็คือ หนูมักเป็นคนที่จู่ๆ ก็ชอบมีคนมาขอดูดวงให้ และทุกคนก็ทักตรงกันหมดว่า ดวงเนื้อคู่ของหนู ถ้าไม่ยอมเลิกกัน ก็จะมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งตายกันไปข้างหนึ่ง ซึ่งดวงของหนูไม่ควรจะมีคู่ ทุกครั้งที่โดนทักหนูก็จะเครียด ทุกวันนี้ก็ยังเครียดอยู่ค่ะ ที่สำคัญคือ เส้นลายมือตามตำราของแฟนหนูค่อนข้างสั้น ทำให้หนูคิดมากเข้าไปอีก ขอคำแนะนำด้วย?

เรื่องของดวง เรื่องของการมีชีวิตเป็นไปอย่างไร ถูกวางแผนไว้อย่างไรเนี่ย ทางพุทธศาสนาเราก็รับรองว่าเป็นเรื่องจริง นั่นก็คือว่า คนเราได้เคยก่อกรรมไว้ก่อนในอดีต แล้วกรรมนั้นก็ส่งผล ตอนจะตายเนี่ย ตอนจะตายจากชีวิตก่อน ก็จะบันดาลจิตดวงใหม่ขึ้นมา แล้วก็ให้มาอยู่ในสภาพร่างกายที่เหมาะสมกับจิตแบบนั้นๆนะ เช่นของมนุษย์เราเนี่ย ก็เป็นผู้มีบุญ เคยทำบุญไว้มากกว่าบาป จิตมันถึงสว่างได้มากพอที่จะเข้าท้องมนุษย์ แล้วก็พอเข้าท้องมนุษย์แล้วไม่จบแค่นั้น กรรมยิบย่อยต่างๆที่ทำมาทั้งชีวิตก่อนเนี่ย มันก็จะตกแต่งให้เกิดชะตากรรม เกิดเส้นทางนะ ว่าจะต้องโตมาเจอครูแบบไหน หรือว่าจะต้องมีความรู้สึกนึกคิดอย่างไร จะเป็นชายเป็นหญิงตามธรรมชาติ หรือว่าจะมีความเบี่ยงเบน หรือว่าจะต้องมาพบคู่ครองแบบใดเนี่ย วิบากเก่ากำหนดไว้หมด แล้วถ้าพูดแบบเข้าข้างโหราศาสตร์ก็คือว่า โหราศาสตร์เป็นหลักการจากการสังเกต จากการรวบรวมสถิติ หรือว่าจากการใช้ญาณอันเป็นทิพย์ของเทวดา หรือว่าของมนุษย์ที่มีความสามารถจะหยั่งรู้ได้ว่า ฤกษ์เกิดเนี่ยที่มันมีความสัมพันธ์กับดวงดาวเนี่ย มันบอกอะไรบ้างว่า ชีวิตทั้งชีวิตเนี่ย ช่วงต้นจะต้องเจออะไร ช่วงกลางจะต้องเจออะไร ช่วงท้ายจะต้องเจออะไร แต่ปกติเนี่ย ถ้าเป็นหมอดูที่เขามีหลักการ มีแนวคิดที่ดีชัดเจนนะ เขาจะไม่ทายเรื่องร้ายๆกันเท่าไหร่นะ คือถ้าโดยเฉพาะเกี่ยวกับเรื่องคู่เนี่ย เขาจะไม่มาทายนะว่า คู่คุณไม่ควรอยู่ด้วยกัน หรือว่าจะต้องตายจากกันให้ใจไม่ดีไปเปล่าๆ อะไรแบบนี้เนี่ย มันไม่ใช่วิสัยของคนที่มีสายตาที่ยาวไกลพอนะครับ ถ้าหากว่าเป็นหมอดูที่สายตายาวไกลพอ แล้วก็มีความแม่นจริงเนี่ย เขาจะแนะนำว่า ควรจะทำบุญร่วมกันอย่างไร อยู่ด้วยกันแบบไหน ถึงจะสร้างประโยชน์ สร้างความสุขให้กับชีวิตคู่นะครับ แล้วก็จะทำให้การอยู่ร่วมกันเนี่ย ไม่เป็นหมันเปล่า คือไม่ใช่มาทายอะไรในแบบที่อยู่ๆทำให้ใจเสีย ถึงแม้ว่าจะเป็นเรื่องจริงก็เถอะ มันควรคุยกันเรื่องของใหม่มากกว่า ไปคุยทำไมเรื่องของเก่า ยังไงๆมันก็ต้องเกิด คุยเรื่องของใหม่ที่มันอาจจะทำอะไรให้ดีขึ้น หรือว่าอาจจะชนะกรรมเก่าได้กันดีกว่า บางคู่นะ มีตัวอย่างเห็นๆเลย คือที่ผมรู้จักมาหลายคู่ หลายคู่จริงๆนะ ดวงนี่ไม่เข้ากันเลย จิตเนี่ย คนละสีกันเลยนะ คนหนึ่งสีตุ่นๆดำๆ อีกคนหนึ่งสีขาวออกหม่นๆ แต่พอเข้ามาอยู่ในเส้นทางของธรรมะร่วมกัน มันขาวด้วยกันทั้งคู่ กรรมใหม่เนี่ย มันจูนจิต จูนเส้นทางให้เข้ากันสนิท อยู่บนเส้นทางของความสว่างรุ่งเรือง มันไม่ต้องแยกจากกันตามดวง มันไม่ต้องตายจากกันตามที่วิบากเก่าเขากำหนดมา คือหลักการโหราศาสตร์จะบอกไว้ยังไงก็ไม่รู้แหละ จะมีความวิบัติฉิบหายยังไงก็ไม่รู้แหละ รู้แต่ว่าของใหม่เนี่ยนะ มันทำให้ทั้งสองฝ่ายมีความสุขทางใจ ฝ่าฟันอุปสรรคร่วมกันได้ ยินดีเต็มใจที่จะเป็นทุกข์ด้วยกัน ไม่ใช่สมัครใจแค่จะเป็นสุขร่วมกันเท่านั้น พอคนเรานะ มันมีความเต็มใจที่จะอยู่บนเส้นทางที่สุกสว่างร่วมกัน ไม่ว่าจะทุกข์หรือจะสุขแค่ไหน มันจูนจิตเข้าหากัน แล้วก็สร้างเส้นทางแบบใหม่ขึ้นมาได้ ยกเว้นแต่ว่า เออไอ้ของเก่ามันเกินจะเยียวยาจริงๆ สมมติว่าไปฆ่าคนมาทั้งชาตินะ ยังไงๆมันก็ต้องมีอันเป็นไป ในแบบที่จะไม่สามารถจะไปช่วยอะไรได้ ก็อาจจะมีแบบนั้น แต่ส่วนใหญ่เนี่ย คนที่มาเกิดเป็นมนุษย์นะ ไม่ได้มีบาปอะไรมาแบบนั้นกันสักกี่คนหรอก ส่วนใหญ่เนี่ยจะมาทำกรรมใหม่ มาทำบุญใหม่ มาทำความสว่างอย่างใหม่ แล้วเอาชนะความมืดแบบเก่าได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่อยู่ร่วมกันบนเส้นทางของการทำทาน การรักษาศีล แล้วก็มีการเจริญสติบ้างเนี่ยนะ เท่าที่เห็นมาสว่างจ้าทุกคู่เลย เอาแบบที่ว่าไม่ได้ทำหวังอะไรอย่างอื่นทั้งสิ้นนะ ไม่ได้หวังหน้า หวังตา ไม่ได้หวังว่าจะให้คนอื่นเขามานิยมชมชื่น ว่าตัวเองมีความสูงส่งสักแค่ไหน หรือว่าไม่ได้แกล้งทำบุญเอาหน้าอะไร แต่ทำบุญเพื่อที่จะให้ใจเนี่ยมีความสุข ทำบุญด้วยความหวังจะอนุเคราะห์ผู้อื่น รักษาศีลด้วยความตั้งใจว่าจะไม่เบียดเบียนผู้อื่น แล้วก็มีน้ำใจต่อกันและกัน มีศรัทธาอยู่บนเส้นทางเดียวกันเนี่ยนะ ไปสู่สวรรค์ ไปสู่นิพพานเนี่ย อันเนี่ย ไอ้ความจริงจากใจที่มันมีความสว่างเนี่ย ตัวนี้จะทำให้ชีวิตคู่มีความสว่างจริง แล้วก็เอาชนะไอ้ของเก่าๆได้นะ ก็อยากฝากไว้ตรงนี้ว่า ของเก่าจะเป็นอย่างไร เราแก้ไม่ได้แล้ว เพราะว่ามันผ่านมาแล้ว แต่ของใหม่เนี่ย เรายังมีลมหายใจ เรายังมีชีวิตอยู่ ก็เพื่อที่จะทำมันใหม่นี่แหละ ไม่ใช่เพื่อที่จะไปรอฟังใครเขาทำนาย ไม่ใช่เพื่อที่จะไปรู้ว่าอดีตเราเคยทำอะไรไม่ดี แล้วต้องมารับผลกรรมอะไรอย่างไร


เอาล่ะ คิดว่าคืนนี้คงพอสมควรแก่เวลาครับ หมดเวลาของ Spreaker.com ที่กำหนดไว้ครึ่งชั่วโมงพอดี เอาล่ะครับ พบกันใหม่วันศุกร์ คืนนี้ราตรีสวัสดิ์ ขอให้เจริญในธรรมด้วยกันทุกท่านนะครับ


« กลับสู่สารบัญเรียงตามครั้งที่ออกอากาศ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น