สวัสดีครับทุกท่าน วันนี้วันพุธที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๕๕๕ นี่คือรายการดังตฤณวิสัชนา ผมดังตฤณมาตอบคำถามให้คุณเป็นเวลาครึ่งชั่วโมง ทุกคืนวันจันทร์ พุธ และศุกร์ เวลาสามทุ่มตรง เพื่อจะทักทายไถ่ถามเข้ามาในรายการนะครับ ให้เข้าไปที่ http://www.facebook.com/HowfarBooks
๑) การที่เราสวดมนต์ภาวนาทุกวัน แล้วตั้งจิตอธิษฐานขอให้บุญกุศลที่เราได้ทำตั้งแต่อดีตชาติและปัจจุบันชาติส่งผลให้สิ่งที่เรากำลังทำ กำลังต่อสู้อยู่ ให้ประสบความสำเร็จถึงเป้าหมายที่ดี อยากทราบว่าการทำแบบนี้จะมีส่วนช่วยให้เราประสบความสำเร็จได้ตามเป้าหมายเร็วขึ้นหรือไม่? หรือมันขึ้นอยู่กับเหตุและปัจจัยอื่นๆของเราด้วย?
การสวดมนต์ภาวนาเนี่ยนะ ต้องมองอย่างนี้ก่อน มันเป็นบุญใหม่ไม่ใช่ของเก่า เป็นพลังใหม่ไม่ใช่พลังเก่า เราทำขึ้นด้วยเลือดเนื้อและลมหายใจในชีวิตนี้ ด้วยจิตในชีวิตนี้ ชาตินี้นะ เป็นของใหม่ไม่ใช่ของเก่า ถ้าหากว่ามองเป็นพลังขับเคลื่อน ขอให้มองนะว่า เวลาเราจะเดินทางไปไหนที่จะถึงเป้าหมายได้ มันต้องมีพลังขับเคลื่อน และพลังขับเคลื่อนที่สำคัญนะ จะบังคับให้เลี้ยวซ้ายเลี้ยวขวา ตกคูหรือเปล่า ลงข้างทางหรือเปล่า หรือว่าตรงไปสู่เป้าหมายตามที่กำหนด มันขึ้นอยู่กับคนถือพวงมาลัย ต่อให้เครื่องแรงขนาดไหน ถ้าหากว่าคนถือพวงมาลัยเนี่ย ถือไม่ตรง มันก็พลาด พลาดเป้าได้
เครื่อง หรือว่ารถ หรือว่าล้อ หรือว่าความเป็นพาหนะ ที่จะพาไปถึงเป้าหมายได้เนี่ย ผมขอเปรียบเทียบว่าเป็นของเก่า เป็นกำลังเก่าที่ส่งมา ให้ได้มีเครื่องแรงขนาดไหน ได้มีตัวถังรถดีขนาดไหน ได้มีพื้นเบาะนุ่มนวลชวนให้นั่งขนาดไหน เราขับไปเนี่ย รู้สึกว่ามันทั้งนุ่ม ทั้งเงียบ ทั้งแรง หรือว่ามันมีความแข็งกระด้าง มันมีเสียงเครื่องดัง ไม่น่านั่งเอาเลย อันนี้ก็เป็นเรื่องของกรรมเก่า เป็นเรื่องของพลังขับดันที่มาจากของเดิม แต่ของใหม่เนี่ยก็คือพวงมาลัยนะครับ คนถือพวงมาลัยเนี่ยแหละ จะพาไปตรงหรือพาไปเบี้ยว
นี่ขอเปรียบเทียบแบบนี้ ถ้าหากว่าเราสวดมนต์ภาวนา แล้วมีความตั้งใจจะเอาบุญเอากุศลที่ได้นั้น มาส่งเสริมให้สิ่งที่เราตั้งใจ ไปให้ถึงเป้าหมายได้ เกิดความสำเร็จราบรื่น มันก็มีส่วนช่วยเหมือนกัน แต่ว่าตัวความสามารถใน คือเหมือนกะเรา เอาบุญที่ทำใหม่เนี่ย มาปรุงสติให้ดีขึ้น มาทำให้จิตใจมีคุณภาพมากขึ้น แต่บอกตรงๆว่า ไม่ได้มีกำลังมากพอที่จะพาให้ไปถึงความสำเร็จได้โดยราบรื่นแต่อย่างใดนะ ถ้าหากว่ากรรมเก่าของเราวางแผนไว้ให้มีอุปสรรคติดขัด มันก็จะมีอุปสรรคติดขัดนั่นแหละ แต่ใจของเรามันจะเป็นใจที่พร้อมสู้ เพราะมันมีกำลังหนุนที่มีความชุ่มชื่นจากการสวดมนต์ภาวนาไง ‘สวดมนต์ภาวนาเนี่ยเป็นบุญเป็นกุศลทำให้จิตชุ่มชื่น ทำให้จิตมีคุณภาพ มันก็พร้อมสู้มันก็มีใจสู้มากขึ้น แต่ไม่ได้หมายความว่าอุปสรรคมันจะหายไป ถ้าหากว่ากรรมเก่าเขาวางแผนไว้’ อันนี้คือประเด็นที่สำคัญนะ ตัวความสามารถในการไปถึงจุดหมายได้เนี่ย มันมีอะไรเยอะแยะเลย ทั้งความรู้ ความเข้าใจในการไปให้ถึง แล้วก็ทั้งกำลังใจ ทั้งแรงสนับสนุนจากรอบข้าง แล้วก็ทั้งตัวอุปสรรคที่มันไม่ใหญ่โตเกินไป
บางคนเนี่ยถ้าทำบุญเก่ามาดีนะ อุปสรรคมันจะเตี้ยมากเหมือนกับก้าวข้ามผ่านไปได้ง่ายๆ แต่ถ้าหากว่าอุปสรรคของเรา กรรมเก่าของเราเนี่ยนะ วางแผนไว้ให้อุปสรรคมันมีความสูงมาก แล้วใจเราสู้ เราก็ข้ามผ่านไปได้เหมือนกัน ไอ้ตอนข้ามผ่านอุปสรรคใหญ่ๆไปได้สำเร็จเนี่ยนะ ก็เท่ากับสร้างบารมีใหม่ ขอให้คิดอย่างนี้ก็แล้วกันว่า ยังไงใจเราก็จะสู้ ‘ตัวความตั้งใจนี้สำคัญกว่าการสวดมนต์ สำคัญกว่าการภาวนาอธิษฐาน’ขอให้มันมีความราบรื่น เพราะว่าจะราบรื่น ไม่ราบรื่นเนี่ยนะ ขอให้มองเลยนะ ว่ามันเป็นอนัตตา คำว่า ‘อนัตตา’ ไม่ได้หมายความว่าไม่มี แต่มันหมายความว่าเราไม่อาจไปบังคับได้ เราไม่อาจสั่งได้ดังใจปรารถนา แต่มันจะเป็นไปตามเหตุปัจจัยที่เหมาะสม ซึ่งในที่นี้ก็คือ กรรมเก่าเขาวางแผนมาอย่างไรนะครับ ถ้าเป็นภาษาชาวโลกที่เขาไม่เชื่อเรื่องกรรมเก่า เขาก็จะบอกว่าเป็นความบังเอิญ แต่บังเอิญยังไงล่ะมันถึงได้นะ มีคนโชคดีโชคร้าย ที่ออกแนวแบบแตกต่างกันเหมือนฟ้ากะเหวนะครับ บางคนก็โชคร้ายอยู่นั่นแหละ บางคนก็โชคดีอยู่นั่นแหละ นี่แหละคือความไม่สามารถจะหาข้อสรุปได้ของชาวโลกนะว่ามันมาจากอะไรกันแน่ แต่ว่าของชาวพุทธนี่จะได้ข้อสรุปที่ชัดเจนว่ามาจาก ‘การวางแผนของกรรมเก่า’ นะครับ
๒) นั่งทำงานใกล้กับเพื่อนร่วมงานที่เขาค่อนข้างฟุ้งซ่าน ชอบพูดอะไรที่บั่นทอนจิตใจ (หนูรู้สึกว่าเขาไม่พอใจหนูเรื่องแบ่งงานกันทำด้วยค่ะ) แล้วบางครั้งตอนหนูไม่มีสติ จิตก็จะไปคลุกกับคำพูดและการกระทำของเขา แล้วเกิดอกุศล เกิดโทสะ ช่วงนี้เกิดบ่อยเลยค่ะ วันนี้เห็นร่างกายที่กระสับกระส่าย แล้วก็จิตที่กระวนกระวายเมื่ออยู่ใกล้เขา บางครั้งก็ซึมๆ ขอคำแนะนำว่าควรจะทำอย่างไรดี? เมื่อต้องเจอหรือว่ามีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานชนิดนี้ เพราะไม่อยากพูดกับเขาเลย กลัวตัวเองฟุ้งซ่านและจิตมีกุศลเศร้าหมอง
การกลัวว่าจะมีจิตอันเป็นอกุศลเศร้าหมองนะ มันทำให้เรามีจิตอันเป็นอกุศลไปเรียบร้อยแล้ว แค่ตัวความกลัวอย่างเดียว ตัวความไม่อยากเจอ ตัวความไม่อยากมีอย่างเดียวเนี่ย ตัวนี้เนี่ยเป็นอกุศลเรียบร้อยแล้ว ขอให้มองอย่างนี้นะ กังวลไปล่วงหน้า หรือว่าตัวห่างออกมาจากเขา แล้วยังมีความรู้สึกว่าทำยังไงดีถึงจะได้ไม่ต้องเจออีก ตัวนี้ก็เป็นอกุศลไปเรียบร้อยแล้ว เป็นวิภวตัณหาชนิดที่ไม่อาจจะได้ดั่งใจ ‘วิภวตัณหา’ หมายความว่า ทะยานอยากในทางที่มันจะผลักออกนะ ทำลายทิ้ง ไม่อยากมี ไม่อยากเอา ถ้าหากว่าไม่อยากมี ไม่อยากเอาในสิ่งที่จะต้องมี ในสิ่งที่จะต้องเอา ก็เท่ากับเราสร้างความกระวนกระวาย สร้างความทุกข์ทางใจไม่เลิก นึกออกมั้ย คือมันเป็นไปไม่ได้ที่จะทำลายทิ้ง มันเป็นไปไม่ได้ที่จะเอาออกไปจากชีวิต แต่เราอยากอยู่ทุกวันให้มันพ้นไปจากชีวิตนี่ ก็เท่ากับเราสร้างต้นเหตุของความทุกข์ สร้างต้นเหตุของความไม่ได้อย่างใจทุกวัน จิตใจไม่มีทางเป็นสุขไปได้เลย ตราบเท่าที่เรายังมีความอยากชนิดนี้อยู่
ต่อเมื่อเราอยู่กับปัจจุบันได้จริงๆ คำว่า ‘อยู่กับปัจจุบัน’ ในที่นี้ เรามามองกันอย่างชัดเจนแจ่มแจ้งเลยนะ อยู่ปัจจุบันของคนส่วนใหญ่เนี่ย แม้แต่คนที่เจริญสติมานานแล้วเนี่ย มักจะเป็นแค่คำพูดสวยๆ มักจะเป็นแค่ข้อความเอาไว้เตือนใจว่าจงอยู่กับปัจจุบัน อย่าอยู่ในอดีต อย่าอยู่กับอนาคต แต่เอาเข้าจริงเนี่ย อาการของใจมันอยู่ในอดีต อยู่ในอนาคตอยู่ตลอดเวลา ทั้งนี้เพราะอะไร เพราะเรายังเข้าใจไม่ถูกต้องว่าอยู่กับปัจจุบันหมายความว่าอย่างไร ‘อยู่กับปัจจุบัน หมายความว่า ถ้าเราต้องไปเผชิญหน้ากับเขา วันละแปดชั่วโมงหรือวันละสี่ชั่วโมงก็แล้วแต่ ไอ้ตอนที่จิตใจกระสับกระส่าย ร่างกายไม่มีความสงบ มีแต่ความกวัดแกว่งเมื่ออยู่ใกล้เขานั่นแหละปัจจุบันแหละ ตอนที่เราสามารถยอมรับความจริงได้ว่า อยู่ใกล้เขาแล้วมันมีความกระสับกระส่าย ตัวนั้นแหละปัจจุบัน พอห่างออกจากเขามาแล้วร่างกายสงบลงไม่กวัดแกว่ง จิตใจระงับไม่กระสับกระส่ายเหมือนเดิมนั่นแหละปัจจุบัน แต่ถ้าห่างออกเขา ออกจากเขามา แล้วยังคิดไม่เลิกว่าทำยังไงดีถึงจะไม่ต้องเจอกันอีก ทำยังไงดีเราถึงจะไม่กระสับกระส่ายเมื่ออยู่ใกล้เขาอีก ตัวนั้นแหละเป็นอดีตไปแล้ว ตัวนั้นแหละเป็นอาการปรุงแต่งของใจ ที่ทำให้เกิดโทสะ ทำให้เกิดความขัดเคือง ทำให้เกิดความหงุดหงิด’
จำไว้นะว่า ‘เราจะเรียนรู้ธรรมะแค่ไหน รู้ศัพท์แสงธรรมะเพียงใด แต่ถ้าดูโทสะไม่เป็น ดูความขัดเคืองไม่เป็น ว่านั่นเกิดขึ้นจากอดีตสัญญานะ ตัวเราไม่มีทางมีความเจริญก้าวหน้าได้เลย’ คนที่มีความรู้โทสะของตัวเองในขณะที่เกิด รู้ความขัดเคือง รู้อาการปรุงแต่งที่เกิดจากอดีตสัญญา คนนั้นแหละนะ ได้เห็นอาการปรุงแต่ง อันเป็น อันเกิดขึ้นในปัจจุบันนั้นแล้ว และถ้าหากว่าเราสามารถเห็นความขัดเคืองนั้นโดยความเป็นของไม่เที่ยงนะครับ คือ พอเกิดความนึกคิดขึ้นมา เกิดความพะวงขึ้นมา เรารู้ทันนะว่าเกิดความขัดเคืองขึ้นมาแล้วในใจ แล้วความขัดเคืองนั้นนะ ลดระดับลงให้เราเห็น เราเกิดความรู้สึกว่า เออ พอมีอาการรู้เท่าทันปุ๊บ มันไม่ปรุงแต่งต่อ มันไม่มีความขัดเคือง มันไม่มีอาการทะยานไปในทางอยากไม่มี อยากให้หายไป เราเห็นอย่างนั้น รู้อย่างนั้นเรียกว่าเห็นปัจจุบันของอารมณ์แล้ว เห็นปัจจุบันของสภาวธรรมที่ปรากฏต่อใจแล้ว แต่ถ้าหากว่ายังคิดต่อไม่เลิกนั่นเรียกว่าไม่เห็นและก็จมอยู่กะอดีต ไม่อยู่กับปัจจุบันแล้ว ส่งจิตออกนอกแล้ว นี่ตัวนี้แหละตัวยอมรับตามจริง ว่าเกิดอะไรขึ้นกับภาวะของจิตของใจเรา ตัวนี้สำคัญยิ่งกว่า
การพยายามค้นหาวิธีที่จะออกห่างจากคนที่เราไม่พอใจ จำไว้หลักๆนะ สรุปก็คือว่า อยากในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้นะ ไม่ว่าจะอยากเอาหรืออยากห่าง ไม่ว่าจะอยากได้หรืออยากทิ้ง นั่นคือต้นเหตุของความทุกข์ทางใจ แล้วถ้ายังอยากอยู่ทุกวัน ก็ทุกข์ได้ทุกวัน ‘ตัวความอยากเป็นต้นเหตุของความทุกข์’ ไม่เคยเลยที่ความอยากจะทำให้มีความสุขทางใจไปได้ ท่องไว้นะครับ
๓) อยากถามว่าเวลาเราสวดมนต์แล้วรู้สึกขนลุกมากๆ เกิดจากอะไรคะ?
การที่เราอยู่ในสมาธิก็ดีหรือว่าสวดมนต์นะ โดยสภาพของจิตใจกับร่างกายเนี่ยจะแตกต่างจากเวลาปกติ บางครั้งมันมีความสุข บางครั้งมันมีความปรุงแต่งไปในแบบที่จะทำให้เกิดปีติ ปีติมีหลายแบบนะ ปีติแบบเย็นซ่าน เป็นสุข เงียบๆ และก็นิ่งๆแบบนี้ก็มี เป็นปีติที่ดี แต่มีปีติแบบอื่นอีก ปีติแล้วเกิดความขนลุก ปีติแล้วเกิดอาการน้ำตาไหล ตัวโยก โคลง หรือว่ามีการผิดปกติใดๆขึ้นมาในร่างกายแล้วก็ภาวะของจิตใจ อันนี้ก็เป็นปีติชนิดต่างๆที่ท่านจำแนกไว้นะครับ การจะมีปีติแบบขนลุกมากๆ ก็มีได้หลายสาเหตุ และส่วนใหญ่ก็จะมองกันว่าเป็นเหมือนกับมีใครมาขอส่วนบุญ เรารู้สึกสัมผัส คือมันมีสัมผัสทางจิต มีเซนส์ที่ออกมาจากภายใน ว่า เออ มีภาวะไม่ปกติอยู่รอบๆตัว อะไรแบบนั้นนะครับ ถ้าหากจะให้ดีที่สุดนะ เราตระหนักว่าเราไม่สามารถรู้ได้ด้วยตัวเองว่า มีอะไรมากระทบให้เราเกิดความรู้สึกขนลุกขนชัน หรือว่าเกิดความรู้สึกสยองอะไรแบบนี้นะ ทางที่ดีที่สุดก็คือให้แผ่เมตตาซะ แผ่เมตตาขณะนั้นเลย ตอนที่ขนลุกแล้วก็ไม่กล้าสวดต่อ ก็ขอให้แผ่เมตตา
แต่ต้องแผ่ให้เป็นด้วยนะ คนส่วนใหญ่จะแค่ท่อง สัพเพ สัตตา อะเวรา โหนตุ… หรือไม่ก็ขอให้ไปที่ชอบที่ชอบเถอะนะ เป็นการแผ่เมตตาด้วยความกลัว อยากให้เขาไปให้ห่างๆ อยากให้เขาไปพ้นๆ อยากให้เขาไม่มารบกวนเรา อาการแบบนี้เขาเรียกว่าแผ่เมตตาด้วยความทุกข์ มันไม่มีทางหายกลัวไปได้หรอก แต่ถ้าหากว่าเราเกิดความกลัว เกิดความขนลุกขนชันขึ้นมานะ ก็กลับไปตั้งต้นใหม่ กลับไปกราบองค์พระปฏิมานะครับ กราบด้วยความรู้สึกนอบน้อมเคารพ อาการนอบน้อมเคารพมากๆเนี่ย จะทำให้จิตของเรามีความนิ่มนวล จะทำให้ใจของเรามีความนิ่ง มีความเป็นกุศล มีความสว่างขึ้นมาชั่วขณะนึง นั่นเรียกว่าสร้างเหตุแห่งความสุขขึ้นมาแล้ว แล้วเราก็เดินหน้าต่อนะ ด้วยการสวดมนต์โดยที่มีใจเคารพในพระรัตนตรัย ไม่ใช่สวดมนต์แบบนกแก้วนกขุนทอง แต่สวดด้วยใจที่มีความสว่าง ใจที่มีความอิ่ม ใจที่มีความเต็มเป็นกุศล มีความตั้งใจที่ดี มีความตั้งใจที่จะเปล่งเสียง เจริญคำสรรเสริญ เจริญสติ เจริญความรักในพระรัตนตรัย จนกระทั่งเกิดความรู้สึกว่าเป็นสุขจริงๆ
เมื่อเกิดความสุขจริงๆ ขึ้นมาแล้วเนี่ย เราค่อยคิดว่า เออ ขอให้ความสุขเนี่ยได้แก่สิ่งที่เราจะมองเห็นหรือมองไม่เห็นก็ตาม สิ่งที่อยู่รอบตัวที่ทำให้เราเกิดอาการขนลุกนั่นแหละ ถ้าหากว่าความสุขของคุณมีกำลังมากพอ มันจะเกิดความเย็นซ่านขึ้นมาเป็นปีติอีกแบบหนึ่ง เป็นอาการที่เรารู้สึกว่าสบาย สบายเนื้อสบายตัว สบายใจ แล้วก็มีความรู้สึกเหมือนกับอากาศรอบๆตัวเนี่ย เปลี่ยนจากความวิเวกแบบสยองน่ากลัว ให้กลายเป็นความวิเวกในอีกแบบหนึ่ง วิเวกในแบบที่มันเย็นซ่าน มันมีความสุข มันมีความลึกซึ้ง มันมีความกว้างเปิดออกไปนะครับ
แต่ถ้าหากว่ามีอาการขนลุกมากๆ ในลักษณะอื่นที่มันไม่ได้สยองอะไรเนี่ย เราไม่ได้เกิดความกลัว เราไม่ได้เกิดความหวาดเกรง หวาดวิตกอะไรต่างๆ ก็ขอให้สวดต่อไปและมองว่าอาการขนลุกนั้นเป็นภาวะปรุงแต่งทางกายที่เกิดขึ้นชั่วคราว ถ้าหากว่าเราสวดต่อแล้วเห็นว่าอาการขนลุกนั้นมันเพิ่มได้ มันลดได้ มันคงที่ได้ ชั่วขณะ คำว่าชั่วขณะอาจจะครึ่งนาทีก็ได้ อาจจะห้าวินาทีก็ได้ อาจจะหลายนาทีก็ได้ ถ้าอยากจะเอามาใช้ในการเจริญสติ ให้สวดต่อไปเรื่อยๆเลย จนกว่าเราจะเห็นความเปลี่ยนแปลงของอาการขนลุกนั้นอย่างชัดเจน เดี๋ยวมันมีมากได้ เดี๋ยวมันมีน้อยได้ เดี๋ยวมันคงที่ได้ เดี๋ยวมันหายไปเลยได้ อย่างนั้นเนี่ยเท่ากับเราเอาการสวดมนต์มาใช้ในการเจริญสติ ทำบ่อยเข้ามันจะเห็นขึ้นมาว่าอาการขนลุกเป็นอนัตตาจริงๆ มันไม่ได้อยู่ในตัวตนเรา มันไม่ได้เป็นตัวเรา มันเป็นแค่ภาวะปรุงแต่งขึ้นมาชั่วครู่ นี่จะเป็นหนึ่งในข้อสรุปทางใจ ความฉลาดทางใจว่า ‘อะไรๆเกิดขึ้นโดยเหตุปัจจัย ย่อมดับลงเป็นธรรมดาเมื่อเหตุปัจจัยหมดลง’ ขอให้มองอย่างนี้นะว่า ทุกโอกาส ทุกสภาวะธรรมเนี่ย มันคือโอกาสในการเจริญสตินั่นเอง
๔) คนที่อดีตชาติเคยทำดีจนส่งผลให้ชาตินี้มีวาสนาดี แต่ชาตินี้ไม่ได้ทำดีต่อ คือไม่ได้ต่อยอดทั้งเรื่องของทาน เรื่องของศีล เรื่องของสมาธิ หรือแค่เรื่องง่ายๆ เช่น ความกตัญญู คำถามคือ คนๆนั้นได้ทำกรรมอะไรมาคะ ถึงได้มองไม่เห็นความสำคัญของการทำดี? ทั้งๆที่ชาติที่แล้วทำดีมาแน่ๆ (อันนี้เรียกว่าความคิดที่บิดเบี้ยวหรือเปล่า?) แล้วเราจะทำอย่างไรไม่ให้เป็นเหมือนคนๆนั้นในชาติต่อๆไป ที่ได้เกิดเป็นมนุษย์คะ? รู้สึกกลัวจังเลยค่ะ ช่วงที่เรารู้จักใครสักคนมันอาจจะเป็นเวลาสั้นๆ ในช่วงที่เขาหลงผิดได้ หรือไม่เขาอาจจะหลงผิดยาวได้จริงๆ
มันมีได้หลายแบบ ขอให้ระลึกไว้นะครับ พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้นะครับว่า การที่เราจะท่องเที่ยวไปในสังสารวัฏเรื่อยๆ แล้วจะหวังว่าได้แต่ขึ้นสวรรค์ ได้แต่มาเกิดเป็นมนุษย์เนี่ยไม่ใช่วิสัยนะครับ ยังไงๆเนี่ย ไม่พ้นนรกแน่นอน นี่คือธรรมชาติของสังสารวัฏ เมื่อเกิดชาติใดชาติหนึ่งที่เรามีกัลยาณมิตร พบครูที่ดี แล้วก็มีแก่ใจ มีแรงบันดาลใจที่จะประกอบกุศล ประกอบบุญ ก็มักจะเป็นชาติที่มีแต่ความสว่าง มีแต่ความเป็นกุศล มีแต่ลักษณะอะไรที่จะเกื้อกูลให้จิตใจของเราเนี่ยสูงส่ง เห็นดีเห็นงามตามความเป็นดอกบัว ไม่ไปเอ่อหลงเห็นดีเห็นชอบตามกงจักร เสร็จแล้วจบจากชาตินั้นเนี่ย ธรรมชาติเขาก็จะลองใจด้วยการว่า เออ เนี่ยดีจริงหรือเปล่า ด้วยการลบหมดเลยความจำ ให้ลืมหมดเลย แต่ตกรางวัลให้อย่างงาม ตกรางวัลให้ตอนที่ลืมแล้วเนี่ยว่าเคยทำอะไรมา ให้มาเกิดในท้องพ่อท้องแม่ที่ดี ให้มีรูปร่างหน้าตาดี ให้มีผิวพรรณงดงาม น่ามอง น่าจับต้อง ธรรมชาติของจิตที่ลืม ไม่รู้ ว่าได้มายังไงเนี่ย กองเงินกองทองเนี่ย ผิวพรรณที่ดี ผิวพรรณที่งามนี้นะ มีแต่อาการเห็น มีแต่การจำได้ว่าตัวเองหล่อ ตัวเองสวย ตัวเองร่ำรวย ตัวเองมีดี สัญชาตญาณทางใจเนี่ยก็จะเกิดความรู้สึกหลงขึ้นมา หลงในรูปตน หลงในทรัพย์ของตน หลงในวัยของตน และก็เกิดความประมาทในวัยของตน ประมาทในฐานะของตน ประมาทในรูปร่างหน้าตาของตน เกิดความเย่อหยิ่งบ้าง เกิดความคิดดูถูกคนอื่นบ้าง เกิดความรู้สึกว่าไม่ต้องทำอะไรก็ดีอยู่แล้วบ้าง เข้าใจมั้ย ธรรมชาตินะเขาให้ลืมนะ ไม่รู้ว่าอุตส่าห์ทำดีมาตั้งเท่าไหร่ อยู่ๆ เกิดมามีดีเลย มันก็เลี่ยงไม่ได้ที่จะเกิดความรู้สึกขึ้นมาว่า ไม่ต้องทำอะไรมันก็ดีอยู่แล้วมีความสุขอยู่แล้ว ไม่เห็นต้องไปเชื่อใคร ไม่เห็นต้องไปทำบุญที่ไหน มีดีอยู่แล้ว
นี่แหละธรรมชาติ ความใจร้ายใจดำของธรรมชาติอยู่ที่ตรงนี้นะ เขาปิดบังนะ เขาไม่พยายามเปิดเผย และไม่พยายามให้ใครเชื่อด้วยว่าวิบากกรรมมีจริง ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ตรงข้ามเลย เขาปิดบังเต็มที่ เขาซ่อน เขาอำพรางนะ คนทำชั่วบางทีดูได้ดีซะอีก เวลาการให้ผลของกรรมเนี่ย เวลาเข้าคิวเนี่ย เขาเข้าคิวแบบที่สลับกันซับซ้อนมาก และพระพุทธเจ้าท่านเคยตรัสกับพระอานนท์ว่า อย่าดูเบาว่าเรารู้เหตุปัจจัยของปฏิจจสมุปบาทแล้ว นะ เหตุผลของการเกิด เหตุผลของการได้ดี เหตุผลของการได้ชั่ว แล้วไปบอกว่ามันเป็นของง่าย ไม่ใช่นะ มันมีความซับซ้อน มันมีความเข้าใจยาก มันไม่สามารถเห็นได้ในปุถุชนทั่วไปที่ไม่ได้สดับตรับฟังธรรมะของพระพุทธเจ้า ไม่มีความสามารถจะเจริญสติเห็นเข้ามาในกายในใจนี้ จนกระทั่งรู้ว่ากายใจของมนุษย์บันดาลขึ้นด้วยบุญ ขึ้นด้วยกุศล ชะตาชีวิตดีๆบันดาลขึ้นนะ ด้วยพฤติกรรมทางกาย ทางวาจา ทางใจอันงาม ถ้าหากไม่รู้ความจริงข้อนี้เนี่ย สัตว์ก็ประมาทอยู่ หลงอยู่ แล้วก็ทำชั่วกัน
ไม่ว่าจะยากดีมีจนเนี่ย มีธรรมชาติอยากทำชั่วก่อนที่จะอยากทำดี เพราะอะไร เพราะกิเลสมันยุให้มีราคะ ราคะก็ผิดหรือถูกก็ไม่รู้อ่ะนะ ลูกเขาเมียใครไม่รู้ หรือโทสะนะ โกรธอยากฆ่าใคร เขาไม่รู้ผิดหรือถูกน่ะ ฆ่าก่อน หรือทำร้ายก่อน หรือว่ามีโมะหะหลงตัวหลงตน นึกว่าตัวเองดี นึกว่าตัวเองเลิศ นึกว่าตัวเองวิเศษนะ ก็ไม่รู้ล่ะ ผิดหรือถูก รู้แต่ว่ามันรู้สึกของมันอย่างนี้ ก็ยึดอย่างนี้ เนี่ยตัวนี้แหละที่ทำให้คนเราเนี่ยไม่ว่าจะเคยทำบุญมาแค่ไหน ยังไงๆ ก็พลัดหลงได้นะ ทางที่ดีที่สุด พระพุทธเจ้าท่านถึงตรัสว่าออกจากสังสารวัฏซะ ถ้ากลัวว่าจะพลาดนะมีทางเดียวเลย ต้องจบทุกข์ สิ้นทุกข์สิ้นชาติให้ได้ ไม่งั้นไม่มีทาง ไม่มีทางเลย ไม่ว่าเราจะเป็นสัมมาทิฏฐิแข็งแรงขนาดไหนนะ อย่าว่าแต่เกิดชาติใหม่เลย เกิดชาตินี้ เอายัง ไม่ทันตายจากชาตินี้ก็หลงเป็นมิจฉาทิฏฐิได้ เห็นมาเยอะแล้วนะ
เอาละครับ คืนนี้คงต้องล่ำลาแต่เพียงเท่านี้ก่อน ราตรีสวัสดิ์นะครับ แล้วก็ขอให้เจริญในธรรมด้วยกันทุกท่าน
« กลับสู่สารบัญเรียงตามครั้งที่ออกอากาศ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น