วันเสาร์ที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ดังตฤณวิสัชนา On Air ครั้งที่ ๑๐๔ / วันที่ ๑๗ ก.ย. ๕๕

« กลับสู่สารบัญเรียงตามครั้งที่ออกอากาศ

สวัสดีครับทุกท่าน วันนี้วันจันทร์ที่ ๑๗ กันยายน ๒๕๕๕ นี่คือรายการดังตฤณวิสัชนา ผมดังตฤณมาตอบคำถามให้คุณเป็นเวลาครึ่งชั่วโมงทุกคืนวันจันทร์ พุธ และศุกร์ เวลาสามทุ่มตรงนะครับ เพื่อที่จะทักทายและไถ่ถามเข้ามาในรายการ ก็เข้าไปที่สเตตัสปัจจุบัน ที่ตั้งขึ้น Spreaker.com ในเวลาสามทุ่มนะ ที่ http://www.facebook.com/dungtrin



๑) รบกวนสอบถามว่าการที่แม่หวังดีกับเรา และพยายามช่วยเหลือเรา แต่เราพิจารณาแล้วว่า ความช่วยเหลือของท่านนั้นไม่เหมาะกับความเป็นจริงในชีวิตเรา อย่างนี้เมื่อไม่ทำตามที่ท่านช่วยเหลือ ให้คำแนะนำจะเป็นบาปกรรมแค่ไหน? เราควรจะทำอย่างไรดี? ตอนนี้ที่รู้สึกแน่ๆคือรู้สึกผิด เกิดความรู้สึกผิดขึ้นในใจ

เกิดความรู้สึกผิดนั่นก็ดีแล้ว มันแสดงว่าเรามีความเกรงอก เกรงใจคุณแม่ แล้วก็มีความปรารถนานะ ว่าจะทำให้ท่านมีความสบายใจ ไม่ผิดหวัง ถ้าหากว่าเราไม่คำนึงถึงความรู้สึก ไม่คิดถึงหัวอกของท่านเลย ก็จะไม่ความรู้สึกทำนองนี้เกิดขึ้นมานะครับ

ทีนี้ถามว่าทำกับพ่อแม่อย่างไรถึงเป็นบาป อันนี้ตั้งโจทย์อย่างนี้ก่อนดีกว่า ถ้าตั้งโจทย์อย่างนี้ได้ แล้วเราสามารถมาเปรียบเทียบกับกรณีของเรา ก็จะได้มองเห็นว่ากรรมของเราอยู่ตรงไหน ใกล้เคียงกับคำว่าบาปหรือเปล่านะครับ การที่เราจะทำไม่ดีกับพ่อแม่ชนิดที่เป็นบาปได้เนี่ย ก่อนอื่นเลยต้องมีความตั้งใจ ให้ท่านเกิดความเจ็บช้ำน้ำใจยกตัวอย่างเช่น ที่ทุกคนในโลกนี้เนี่ย เกิดมาแล้วหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะทำให้พ่อแม่เจ็บช้ำน้ำใจเนี่ย ก็ตอนเด็กนะ ตอนเป็นเด็กยังไม่รู้ประสีประสานะครับ หรือที่เค้าเรียกว่าเด็กไม่รู้ประสานั่นแหละ ก็จะมีหลายครั้งที่ดื้อเอาแต่ใจ แล้วก็จะเอาอะไรเอาให้ได้ แล้วก็ไม่พอใจที่พ่อแม่ไม่ยอมตามใจนะ ก็จะออกอาการหัวฟัดหัวเหวี่ยง พูดไม่ดีใส่ กระแทกเสียงใส่ หรือว่าบางทีจงใจใช้คำ ที่รู้ว่าพ่อแม่จะต้องเจ็บช้ำน้ำใจอะไรแบบนี้นะ มีกันมาทุกคน มีกันมาทุกชาติ ทุกภาษานะครับ

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในช่วงเวลาที่เรากำลังก้าวขึ้นเปลี่ยนจากความเป็นเด็กไปเป็นผู้ใหญ่เนี่ย กึ่งๆกลางๆเนี่ย ช่วงวัยรุ่นเนี่ยนะ มักจะมีเรื่องระหองระแหงไม่พอใจ แล้วก็เกิดการมีปากเสียงอะไรกับพ่อแม่เนี่ย มันแทบจะร้อยทั้งร้อยแหละ น้อยมากคงนับหัวได้เลยก็แล้วกัน ที่ไม่ทำให้พ่อแม่เสียใจ ก็ต้องมีกันทั้งนั้นแหละ ไอ้ตรงนั้นแหละที่เรียกว่าเป็นบาปเป็นกรรม ความจงใจเนี่ยนะ

แต่ถ้าหากว่าเราพิจารนาตัวเองว่า ชีวิตโดยหลัก โดยภาพรวม เมื่อมองโดยรวมๆแล้วเนี่ย เราเห็นว่าเรามีความรักใคร่พ่อแม่ แล้วก็มีอย่างน้อยที่สุดนะ บางคนไม่ต้องรักก็ได้ ก็ต้องยอมรับตามจริงว่า ไม่ใช่พ่อแม่ทุกคู่ที่ทำให้ลูกรัก หรือว่าลูกเกิดความรู้สึกนับถือนะ อย่างน้อยที่สุดต้องมีความเข้าใจว่า เกิดเป็นมนุษย์เนี่ยยาก เกิดเป็นมนุษย์เนี่ยเกิดมาด้วยบุญ แล้วมามีโอกาสทำบุญอย่างใหญ่ เพราะฉะนั้นผู้ที่มีบุญคุณสูงสุดในชีวิต ก็คือผู้ให้ชีวิตเรามานั่นเอง ถ้าหากว่ามีความเข้าใจในภาพรวมของชีวิตได้อย่างนี้แล้ว แล้วก็เกิดความตั้งใจว่า จะตอบแทนบุญคุณของพ่อแม่ให้ดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ อันนี้เรียกว่าเป็นภาพรวม ที่เป็นภาพของความสว่าง ที่เรานึกออกแล้วก็จะสบายใจได้ ว่าที่เราทำกับพ่อแม่นั้น เหมาะแล้ว ควรแล้วนะครับ คือมีความตั้งใจจะตอบแทนบุญคุณท่าน

และทีนี้การตอบแทนบุญคุณท่านเนี่ย พระพุทธเจ้าท่านก็ตรัสบอกไว้นะ ว่านอกจากจะเลี้ยงดูท่าน นอกจากจะตั้งใจทำให้ท่านมีความสุข มีความสบายใจแล้ว ก็ควรให้ท่านรู้จักธรรมมะนะ สามารถที่จะเป็นผู้มีศรัทธาในธรรมมะในพระพุทธเจ้า สามารถที่จะเป็นผู้ที่มีความตั้งมั่นในทาน มีความตั้งมั่นในศีล ถ้าหากว่าทำได้อย่างนี้แล้วเนี่ย จะสบายใจได้เลยว่ารายละเอียดอื่นๆที่เหลือเนี่ยนะ จะพลาดไปทำให้ท่านเสียใจบ้าง หรือไม่สมใจท่านบ้าง ก็ไม่เป็นไรหรอก เพราะว่าไม่มีมนุษย์หน้าไห ที่สามารถทำให้คนอื่นที่ไม่ใช่ตัวเราเอง สนองตอบความต้องการของคนอื่นได้ตลอดเวลา เป็นไปไม่ได้ ขอแค่ว่าเราไม่ได้จงใจให้ท่านเจ็บช้ำน้ำใจก็แล้วกัน

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในกรณีที่ท่านหวังดีแต่ความหวังดีของท่านเนี่ย เกิดผลร้ายกับเรา เกิดผลเสียกับเราเนี่ย เราสามารถที่จะมองเห็นอะไรได้ชัดเจนกว่า เนื่องจากเป็นตัวของเราเอง ก็ไม่ต้องไปตามก็ได้ ไม่ต้องตามใจท่านก็ได้ บางทีนะถ้าลองคิดในอีกแง่มุมหนึ่ง ถ้าหากว่าท่านทำอะไรให้เกิดความเสียหายกับชีวิตของเรา โดยที่ท่านไม่ได้ตั้งใจแล้วเนี่ยเรารู้ทั้งรู้ก็ยอม ยินยอม ก็เท่ากับทำให้ท่านก่อกรรมสำเร็จ ก่อความเดือดร้อนให้เรา โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ได้สำเร็จ ซึ่งถ้าเราเกิดความเดือดร้อนในภายหลังจริงๆเนี่ย ทั้งตัวเราแล้วก็ตัวท่านก็ย่อมเสียใจ คือเราคิดอย่างนี้ คิดแบบคนมองการณ์ไกล ไม่เอาแค่ว่าจะตามใจให้ท่านได้สมปรารถนาทุกประการ

อันนี้ผมพูดโดยไม่ทราบรายละเอียดของเรื่องนะ มันก็อาจจะต้องดูเป็นเรื่องๆไปว่า ท่านหวังดี ท่านช่วยเหลืออะไรกับเรา ทีนี้ความช่วยเหลือของท่านเนี่ย ถ้าหากว่ามันเป็นผลเสีย เราพิจารณาแล้วว่าไม่เกิดผลดีกับใครแน่ๆ และท่านเองก็จะต้องมาเสียใจในภายหลังว่า ทำให้เราเดือดร้อนนะ เดือดเนื้อร้อนใจ อันนั้นเราก็สามารถที่จะอธิบาย หรือไม่ก็ ถึงแม้ว่าช่วงที่ท่านกำลังอยากนู่นอยากนี้ มันกำลังไม่อยากฟังคำอธิบายใดๆ ถึงแม้ว่าท่านจะเสียใจไปบ้าง อันนั้นก็มาอธิบายภายหลัง หลังจากท่านไม่อยู่ในอารมณ์ที่จะดึงดันแล้วนะ

เอาล่ะคิดว่าคงน่าจะเป็นคำตอบ คือ สรุปคือก็ไม่ได้เป็นบาป เป็นกรรมนะเพราะเราไม่ได้ตั้งใจ คือถ้าพ่อแม่อยากของท่านเอง แล้วเราไม่สามารถสนองตอบเนี่ย ด้วยเหตุคือความจำเป็นจริงๆ ไม่ใช่ว่าด้วยความจงใจอยากทำให้ท่านผิดหวัง หรือทำให้ท่านเสียใจ มันไม่ได้เป็นบาปเป็นกรรมนะ



๒) รบกวนถามเรื่องการนั่งสมาธิ มีคนบอกว่าทำสมาธิมาไม่ถูกทาง แล้วกำลังโดนการภาวนาครอบอยู่ ทำให้ตอนนี้เหมือนซอมบี้ จึงทำให้เกิดภาวะร้อนที่มือ เนื่องจากเป็นการพยายามจะทำให้ชัด ซึ่งมันผิดวิธีโดยเขานำให้ตามรู้ภาวะ เช่น ร้อนที่เกิดขึ้นให้ได้มากที่สุด ไม่อย่างนี้ต่อไปจะแย่มาก ตอนนี้เลยสับสนและกังวลมากเลย ว่าตอนนี้เดินมาผิดทางจริงๆหรือเปล่า?

ก็ลองทำตามที่เขาแนะนำดูนะครับ ลองตามภาวะที่ว่าร้อนนั่นล่ะ เพราะพี่เอง พี่ก็แนะนำไปแบบนั้นนะ คือให้ดูว่าไอ้ความร้อนเนี่ย มันอยู่ได้นานแค่ไหน ถ้าหากว่าดูแล้วมันมีลดระดับลง หรือไม่แม้กระทั่งทวีระดับขึ้นไปนะครับ เราก็สามารถที่จะไปถึงความเข้าใจ ไปถึงการยอมรับตามจริงว่า ไอ้ความร้อนเนี่ย มันเกิดขึ้นด้วยเหตุปัจจัย และก็จะต้องเสื่อมลงเป็นธรรมดา ด้วยใจที่มันสามารถรู้ได้ว่า เกิดขึ้นแล้วต้องเสื่อมไปเป็นธรรมดาแล้วเนี่ยนะ ใจมันจะไม่ยึด ใจมันจะไม่ห่วง ไม่กังวลไปเอง เพราะว่าลักษณะของใจที่เห็นความไม่เที่ยงเนี่ย คือใจที่ประกอบด้วยปัญญานะครับ

การที่เรามีความกังวล ก็เป็นอาการที่ใจยืด การที่เราเห็นความไม่เที่ยงคือ อาการที่ใจวาง อันนี้สามารถที่จะใช้เป็นหลักในการสำรวจได้เลย กังวลเมื่อไหร่ยึดเมื่อนั้น แต่ถ้าหากว่าเห็นความไม่เที่ยงได้ นั่นแปลว่า แปลอย่างเดียวได้เลยว่า จิตปล่อยวางได้นะ ถ้าหากว่าจิตไม่ปล่อยวางเนี่ย มันไม่สามารถที่จะเห็นความไม่เที่ยงได้เลย เพราะว่าจะมีไอ้ลักษณะความกังวลเนี่ยเกาะเกี่ยว ไปมีความยึดมั่นเหนียวแน่น แล้วก็ผูกใจไว้กับภาวะที่เรากำลังห่วง เรากำลังกังวลนั่นเอง คือมันไม่ใช่ว่าแค่ยึดมั่น ถือมั่น แล้วจะเกิดความร้อนขึ้นมา มันไม่ใช่ทุกคนนะ มันเป็นเรื่องเฉพาะตัวนะ ซึ่งเคยพูดไว้หมดแล้วล่ะ แต่จะไม่แจกแจงอีกครั้งนึง เพราะว่ามันอาจจะยืดยาว



๓) การทานเนื้อสัตว์ในพุทธประวัติได้กล่าวถึงเรื่องนี้ไว้บ้างไหม? เช่นบาปกรรม โทษของการทานเนื้อ

พระพุทธเจ้าท่านไม่ได้ห้ามภิกษุ ไม่ให้ฉันเนื้อนะครับ แต่ว่าห้ามฉันเนื้อบางประเภทเช่น เนื้อเสือ เนื้อมนุษย์ เนื้อจระเข้ อะไรแบบนี้ อันนี้ท่านห้ามเพราะว่าเนื้อเหล่านั้นเป็นพิษกับมนุษย์ มีโทษกับร่างกาย แต่ถ้าหากว่าเป็นเนื้อที่ชาวบ้านเขาปรุงขึ้นมาถวาย ท่านก็ให้อำนวยความสะดวกกับชาวบ้าน คือคิดง่ายๆว่า ภิกษุเป็นผู้ขอ เป็นผู้ภิกขาจารอาหารมาเพื่อที่จะยังชีพ มาสืบทอดพระศาสนาด้วยการปฏิบัติ ถ้าหากว่าไม่มีอาหารจากชาวบ้านเนี่ย ภิกษุไม่สามารถที่จะไปหาอาหารมาจากไหนเอง เป็นข้อห้ามเนื่องจากว่า ผู้อยู่พรหมจรรย์เนี่ย ไม่ควรที่จะประพฤติปฏิบัติตนแข่งกับชาวบ้านหรือชาวโลก ด้วยการหุงหาอาหารเอง หรือว่าไปหากับข้าวกับปลาอะไรมา ด้วยวิธีเลี้ยงชีพแบบโลกๆนะครับ นี่ก็เลยเป็นที่มาว่าทำไมผู้บวชนะ ผู้ถือบวช ผู้อยู่ในเพศบรรพชิตเนื่ย จึงเป็นผู้ภิกขาจาร ไม่ใช่เฉพาะในพุทธศาสนา แต่ยังเป็นในนักบวชทุกศาสนาด้วย

ทีนี้ถ้าหากว่าผู้ไปขอเขา แล้วไปเรื่องมาก คอยบอก คอยกล่าวว่า ‘เฮ้ย อันนี้อาตมาไม่เอา อันนี้อาตมาถือสานะ บอกว่าเป็นเนื้อ เป็นสัตว์ที่เป็นศพแล้วเนี่ย อาตมาไม่บริโภค’ มันจะรบกวนจิตใจชาวบ้านเขา เพราะว่าชาวบ้านเค้ากินกันอย่างนี้ แล้วก็อยากจะถวายกันอย่างนี้ การที่ไปปฏิเสธเขา ก็ทำให้เขาเสียศรัทธา หรือชาวบ้านเขาจะไม่เข้าใจหรอกนะ ว่าการฆ่าสัตว์ตัดชีวิตอะไรต่างๆเนี่ยนะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ศพของสัตว์ที่นำมาจากโรงฆ่าสัตว์แล้วเนี่ย ถวายไปจะเป็นบาปได้อย่างไร

แล้วพระพุทธเจ้าท่านก็ตรัสไว้อีกด้วยนะครับว่า ถ้าหากว่าภิกษุไปฉันเนื้อสัตว์ โดยที่ไม่รู้ ไม่เห็นนะ ว่าเขาฆ่ากันที่ไหน อย่างไร หรือประสงค์ที่จะนำมาถวายแก่พระคุณเจ้าโดยเฉพาะ อะไรต่างๆเนี่ย ถ้าหากว่ามีความสบายใจแล้วก็ฉันไปได้ ไม่มีปัญหาอะไร ไม่ผิดกติกาอะไร นี่ก็แสดงให้เห็นว่า ขนาดพระภิกษุที่จะต้องระมัดระวังนะ สังวรระวังเกี่ยวกับเรื่องการเบียดเบียนชีวิตอย่างยิ่งยวด แค่ตบยุงนี่ผิดปาจิตตีย์แล้ว อย่างนี้ก็สามารถใช้เป็นตัวอย่าง ที่จะทำให้มองเห็นภาพได้ว่าการกินเนื้อเนี่ย มันไม่ได้ไปผิดศีลผิดธรรมอะไรนะ

อันนี้ก็ขยายความก็คือว่า การที่เราจะมีบาป มีโทษ เกี่ยวกับเรื่องของการเบียดเบียนชีวิตได้ อันดับแรกที่สำคัญที่สุดเลยก็คือว่า ใจเรารู้อยู่ มองไปก็เห็นอยู่ ว่าสัตว์นี้ยังมีชีวิต แล้วเรามีกำลังใจ มีความปรารถนา มีความต้องการ ที่จะให้ชีวิตนั้นดับลง ไปตัดชีวิตเค้า มีความพยายามที่จะทำให้ชีวิตนั้นขาดสิ้นลง คือลงมือพยายามจริง ไม่ใช่แค่คิดตั้งใจอย่างเดียว แล้วสามารถทำได้สำเร็จ สัตว์นั้นมีชีวิตและตายลงด้วยมือเรา อย่างนี้เรียกว่า ‘ปาณาติบาต’ เนี่ยมันต้องประกอบด้วยองค์สำคัญอันดับแรก อันดับหนึ่งเลยคือ การรับรู้ของเรา ถ้ารู้อยู่ รู้อยู่แก่ใจ ว่านั่นเป็นสิ่งมีชีวิต ยังมีชีวิตอยู่ แล้วมีความพยายามที่จะทำให้ชีวิตนั้นขาดสิ้นลง อันนั้นแหละบาปแน่นอน อันนั้นแหละคือปาณาติบาต

ไอ้อย่างเวลาที่เราไปซื้อของ หรือว่าไปนั่งตามร้านอาหารเนี่ย แล้วสั่งเขามาเนี่ย ลองนึกดูนะ ลองนึกดูถึงอาการทางใจของเราเนี่ย ขึ้นต้นมา มันรับรู้ก่อนว่า สัตว์นั้นไม่มีชีวิตแล้ว ไปฆ่าจากโรงฆ่าสัตว์ไหนก็ไม่ทราบ แล้วก็ที่เอามาเนี่ย มาอยู่ในร้านนั้นน่ะ ก็ไม่ใช่เพื่อที่มาเอามารอเรา กำลังใจที่จะทำให้สัตว์ตายเนี่ยไม่มีเลย การรับรู้ เคยรับรู้ว่า สัตว์นั้นมีชีวิตมาตั้งแต่เมื่อไหร่ หน้าตาเป็นอย่างไรก็ไม่ทราบ เนี่ยตัวนี้ กำลังใจที่จะไปฆ่า ไปทำลาย ไปเบียดเบียนชีวิตเนี่ย มันไม่มี เพราะฉะนั้นก็ถึงได้ว่า เราเป็นผู้บริโภคศพสัตว์ สัตว์ที่ตายแล้วเนี่ยมันไม่เป็นไร มันไม่ได้มีบาปมีกรรมมีโทษอะไร

แต่ถ้าคิดขึ้นมาแล้วมีความรู้สึกว่า เอ๊ะ มันไม่ได้สิ ถึงแม้ว่าเราไม่ได้ตั้งใจฆ่ามัน แต่เราไปกินมันเนี่ย ก็เท่ากับไปเพิ่มความต้องการในการบริโภคเนื้อสัตว์ แล้วทำให้เกิดวงจรการฆ่าฟันสัตว์ขึ้นมา แล้วเราถอนตัวออกมาอย่างนี้ก็ถือว่าเป็นบุญ คือกินเนี่ยไม่เป็นบาป แต่ถ้าคิดถอนตัวออกมาเนี่ย จัดว่าเป็นบุญชนิดหนึ่งเหมือนกันนะครับ คือมีความตั้งใจที่จะเอาตัวออกมาจากวงจรการเบียดเบียนนะ พวกกินมังสวิรัติ หรือพวกกินเจอะไรต่างๆเนี่ย ที่จะได้บุญก็ได้บุญตรงนี้แหละ ด้วยความตั้งใจว่า เราจะไม่เป็นหนึ่งในผู้ไปเพิ่มความต้องการเนื้อสัตว์นะ แต่ไม่ใช่ว่าบุญนั้น จะประกันได้ว่าเราเป็นคนดีนะ เพราะว่าหลายคนที่ถือว่าตนเองเป็นมังสวิรัติ เป็นนักกินเจ แล้วไปดูถูก ไปข่ม ไปพูดจาข่มคนอื่น ที่เค้ากินเนื้อสัตว์กันอยู่ ไปว่าเขาเป็นมารเป็นซาตาน เป็นยักษ์ เป็นอสูรอะไรแบบนั้น แล้วก็ถือตัวถือตนว่า เพียงด้วยการไม่กินเนื้อสัตว์เนี่ย เป็นคนดีเลิศแล้วนะครับ จริงๆการเป็นคนดี ยังต้องมีอะไรมากกว่านั้นอีกเยอะนะ การทำบุญยังมีทั้งการช่วยเหลือเจือจานผู้คน มีทั้งการรักษาศีลให้สะอาด ข้ออื่นๆนะ มันยังมีอีกเยอะ ทั้งเรื่องการไปฉกชิง ฉกฉวย หรือว่าคดโกงใครเค้า หรือว่าไปโกหกใครเค้า หรือว่าไปกินเหล้าเมายาอะไรต่างๆเนี่ย มันยังมีอีกเยอะ มันยังมีประเด็นอีกหลายอย่าง ที่บ่งบอกว่าเราเป็นดีแค่ไหน การเป็นคนดีดูได้ง่ายๆเลยว่า มีความเห็นแก่ตัวหรือเปล่า มีความสำคัญตัวเองผิด หลงตัวแค่ไหนด้วยนะ ถ้าหากว่าเรามองอย่างนี้มองไปกว้างสุดแล้ว แล้วก็พบว่าตัวเราเองนะ มีความประสงค์ที่จะอยู่อย่างผู้ไม่เบียดเบียน แล้วก็ไม่กินเนื้อสัตว์อันนั้นดี แต่ไม่ได้หมายความว่าเราเป็นคนดีแล้ว อันนี้คือข้อสรุปนะครับ


มีเสียงถามมานะครับว่าไม่สบายหรือเปล่า? ก็ไม่ได้ไม่สบายนะครับ วันนี้อาจจะเหนื่อยนิดนึง ก็เป็นวันวันไปนะ


๔) การเปลี่ยนศาสนาจะทำให้พ้นวิบากกรรมจริงหรือ? มีคนข้างบ้านเปลี่ยนศาสนาเพราะอยากพ้นวิบาก ถามด้วยความสงสัยอยากรู้จริงๆ

การเปลี่ยนศาสนา มันก็เหมือนกับการเปลี่ยนเสื้อนะ เปลี่ยนเสื้อ เปลี่ยนผ้าถามว่าเสื้อผ้านั้น จะทำให้เราหายร้อน หายหนาวได้หรือเปล่า แตกต่างจากชุดเดิมได้หรือเปล่า มันขึ้นอยู่กับว่าเราใส่อย่างไรนะ แล้วมีการรักษาตัวแบบไหนด้วย เพราะว่าแค่เปลี่ยนเสื้อผ้าเนี่ย เสื้อผ้าส่วนใหญ่เนื้อผ้ามันก็บางเท่าๆกัน หนาเท่าๆกันนั่นแหละ ไม่ได้แตกต่างกันเท่าไหร่ แต่ว่าวิธีการที่เราใช้ชีวิตต่างหาก วิธีการที่เรารู้หลักในการหลบร้อน หลบหนาวต่างหาก ที่สำคัญกว่าการใส่เสื้อผ้า

อันนี้พูดเปรียบเทียบ แล้วก็เหมือนกับการนับถือศาสนาต่างๆเนี่ย ถ้าเราจะเป็นผู้ที่มีความสุขความเจริญได้ ก็ต้องมีความเข้าใจในการใช้ชีวิต ในการที่เราจะนับถือศาสนาให้มีความสุข มีความสบายใจแล้วไม่เบียดเบียนใคร ถ้าหากเปลี่ยนศาสนา แล้วยังประพฤติตนเหมือนเดิม มีความตระหนี่ถี่เหนียว ช่วยคนอื่นไม่เป็น แล้วก็มีใจตั้งไว้ว่า อยากทำอะไรก็ทำ ไม่สนใจว่าผิดศีล ผิดธรรมหรือเปล่า อันนี้เปลี่ยนศาสนาไปไม่มีประโยชน์เลย ได้แต่หลอกตัวเองว่าเป็นคนของศาสนาไหน บอกใครๆว่าเรานับถือพระ นับถือเจ้า หรือว่านับถือพระเจ้านะ แต่ที่แท้แล้วข้างในเนี่ย ไม่ได้มีความศรัทธาที่แท้จริง ไม่ได้มีปัญญา อันเกิดจากการกระทำให้สอดคล้องกับศาสนานั้นๆ หลักของศาสนาเป็นอย่างไรรู้ แต่ว่าไม่ทำ นี่ก็เรียกว่าเป็นการเปลี่ยนศาสนาด้วยปาก ไม่ใช่เปลี่ยนศาสนาด้วยใจ ไม่ใช่เปลี่ยนศาสนาด้วยกรรม อันเป็นต้นเหตุของความเดือดร้อน หรือความเจริญรุ่งเรืองทั้งปวงในชีวิต

การที่จะพ้นวิบากหนึ่งๆได้เนี่ยนะ ก็โดยหลักที่พุทธศาสนาเราประกาศแจ้งไว้ก็คือ มีอยู่ ๒ ประการก็คือ หลักๆเลยก็คือว่า กรรมเนี่ยมันถึงคราวอโหสิคือหมายความว่าหมดแรงให้ผลนะครับ หมดกำลังที่จะส่งผล คือมันให้ผลมาจนหมดแล้ว มันก็ไม่มีอำนาจ ไม่มีความสามารถ จะมาทำให้เราเดือดร้อนได้อีกต่อไป การที่จะอโหสิต่อไป ก็คือเป็นพระอรหันต์เข้านิพพานไปแล้ว อย่างนั้นกรรมก็ไม่รู้จะตามไปเล่นงานใคร

มันยังมีอีกก็คือว่า เราทำบุญ ทำบุญจนกระทั่งบุญเนี่ย มันเกิดผลเป็นปัจจุบันซึ่งไม่ใช่ง่ายๆนะ ลักษณะบุญที่จะเกิดผลเป็นปัจจุบันเนี่ย ที่เห็นได้ชัดที่สุดก็คือ มามีศรัทธา มาศึกษาพระธรรมคำสอน จนกระทั่งมีความเข้าใจ มีมุมมองอีกแบบหนึ่ง ที่จะสามารถถอนออกจากการยึดมั่นถือมั่นมากๆ ให้กลายเป็นยืดมั่นน้อยๆ หรือไม่ยึดมั่นอะไรเลย ถ้าหากว่าทำได้ถึงตรงนั้นเนี่ย จะได้รับผลอันเป็นปัจจุบันทันที เป็นทิฏฐธรรมเวทนียกรรมอย่างหนึ่ง กรรมอันเหนือบุญ เหนือบาปเนี่ย มันจะทำให้เราเหนือสุข เหนือทุกข์ได้ด้วย คือใจไม่เกาะเกี่ยว เกิดอะไรขึ้นก็เป็นเรื่องของสิ่งที่มันเกิดขึ้น ตาไปเห็นก็สักเป็นเรื่องของตา ไม่ใช่เรื่องของเรา หูไปได้ยินก็สักเป็นเรื่องของหู ไม่ใช่เรื่องของเรา นี่อย่างนี้ หูได้ยินไม่ใช่เราได้ยิน ตาเห็นไม่ใช่เราเป็นผู้เห็น

ถ้าถึงซึ่งความเข้าใจ หรือมุมมองแบบนั้นแล้วเนี่ย มันพ้นวิบากได้ด้วยใจ คือยังไม่สามารถเอาตัวออกจากวงจรของการให้ผลทางกายนะ ทางกายยังรับ ยังรู้ ยังโดนกระทบอยู่ แต่ว่าใจเนี่ยมันไม่ยินดียินร้าย คือมีสุข มีทุกข์ตามที่ถูกกระทบ แต่ว่าไม่ยึดมั่น ถือมั่น มันจะผ่านไปอย่างรวดเร็ว ผัสสะต่างๆมันกระทบเราได้ไม่กี่วินาที ใครมีวิธีที่จะเอาใจถอนออกมาจากสิ่งกระทบเท่านั้นแหละ ซึ่งทางพุทธศาสนาเนี่ยให้หลักการไว้ก็คือ ‘การเจริญสติปัฏฐาน’ การเจริญสติปัฏฐานให้ผลชัดที่สุดก็คือว่า ผลกรรมยังเล่นงานอยู่ แต่ใจไม่เป็นทุกข์แล้วไม่พลอยเป็นทุกข์ไปด้วย หรือถ้ายังต้องเป็นทุกข์อยู่ก็ทุกข์น้อยลงมาก คือทุกข์เฉพาะตอนที่โดนกระทบ แต่พอกระทบมันผ่านไป ก็ไม่คิดมาก และไม่เก็บมาคิดต่อ อย่างนี้เรียกว่าเป็นผู้ที่ลดแรงกระทบกระทั่ง เป็นผู้ที่สามารถจะเอาตัวออกมาจากกองทุกข์ กองไฟที่เคยสร้างเหตุไว้

ถ้าหากว่านอกเหนือไปจากนี้ ไม่มีไอ้ความรู้สึกเหมือนกับว่าเราเป็นผู้ดู เราเป็นผู้รู้นะ มันยังไงๆเราก็จะยังต้องเป็นผู้คลุกวงในอยู่วันยังค่ำ ไม่ว่าจะเป็นผู้นับถือศาสนาไหน ประกาศตนว่าเป็นคนของใครนะ อันนี้ก็คือความเข้าใจโดยรวม ภาพความเข้าใจโดยรวมเนี่ยสำคัญที่สุดเลย ถ้าหากว่าเรามองไม่ออกนะว่า การมานับถือศาสนาพุทธเพื่อให้ได้อะไรทางใจ การไปนับถือศาสนาอื่นเพื่อให้ได้อะไรทางใจ เนี่ยมันก็จะเป็นการได้แต่ดีบอก ดีแต่พูดนะ ว่าเป็นคนของศาสนาอะไร เป็นคนของใคร แต่ใจจริงๆเนี่ยอาจจะยังไม่ใช่ ไม่ใช่อะไรเลยยังเป็นคนธรรมดาที่ไม่รู้อยู่นั่นแหละ

เอาล่ะครับ ก็ถึงเวลา วันนี้หมดเวลาของทาง Spreaker.com ที่ให้เวลาไว้ครึ่งชั่วโมงนะครับ ก็ต้องขอล่ำลากัน ราตรีสวัสดิ์นะครับขอให้เจริญในธรรมด้วยกันทุกท่านครับ


« กลับสู่สารบัญเรียงตามครั้งที่ออกอากาศ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น