วันพฤหัสบดีที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ดังตฤณวิสัชนา On Air ครั้งที่ ๘๔ / วันที่ ๑ ส.ค. ๕๕

« กลับสู่สารบัญเรียงตามครั้งที่ออกอากาศ

สวัสดีครับทุกท่าน วันนี้วันพุธที่ ๑ สิงหาคม ๒๕๕๕ นี่คือรายการดังตฤณวิสัชนา ผมดังตฤณมาตอบคำถามให้คุณเป็นเวลาครึ่งชั่วโมงทุกคืน วันพุธกับวันศุกร์ก็จะเป็นสามทุ่ม แล้วก็ส่วนจะวันจันทร์หรือวันอาทิตย์ก็กำลังฟังเสียงฟีดแบ๊กอยู่นะครับ ว่าจะให้เอาอย่างไร คือดูจากบันทึกที่ทาง http://www.speaker.com แจ้งมาเนี่ยก็ดูคล้ายๆกับว่า หลายคนจะสะดวกฟังในวันจันทร์ช่วงเวลาสามทุ่ม แต่วันจันทร์ที่จะถึงนี้ ก็คงจะได้ข้อสรุปอีกทีหนึ่งนะครับ ก็คงจะบอกทุกท่านให้ทราบ แล้วเพื่อที่จะไถ่ถามเข้ามาในรายการก็อย่างเคยเข้าไปที่ http://www.facebook.com/HowfarBooks



๑) ฝึกทำสมาธิจนกระทั่งใจและกายของเราสงบ รู้สึกตัวเองตัวลอยๆ เบาๆ เหมือนนั่งไม่ติดพื้น และเห็นการเข้าและออกของลมหายใจชัดเจนมาก คือเมื่อลมเข้าไป มันไม่ใช่หาย แต่มันดับไปเลย ลมที่ออกมาก็เป็นลมใหม่ แล้วก็ดับไปอีก

รู้ได้อย่างนี้แจ๋วมาก การปรุงแต่งของลมหายใจมันเหมือนๆเดิมนั่นแหละ มันก็มีเข้ากับมีออก แต่ความละเอียด หรือว่าความสั้นยาวหรือว่าความประณีต รวมทั้งความสามารถของใจเรา ที่จะรับรู้ถึงสภาพความเป็นลมหายใจ มันแตกต่างไปได้เรื่อยๆ ขึ้นอยู่กับมุมมองการตั้งทิฐิไว้นะครับ

การเซตอัพทิฐิไว้ ถ้าหากว่ามันถูก มันตรง เราจะดูแบบยอมรับตามจริง เห็นตามจริงว่ามันเข้าแล้วก็ออกเป็นธรรมดา เดี๋ยวยาวแล้วก็สั้นเป็นธรรมดา อันนี้ในที่สุดมันก็จะเกิดมุมมองขึ้นมา เมื่อเกิดสมาธิเนี่ยนะ มันเกิดความตั้งมั่นขึ้นมาเนี่ย ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่ลึกลับ ไม่ใช่เรื่องความสามารถพิเศษ แต่อย่างไรเลย มันเป็นเรื่องของการที่เราฝึกไป เราก็เห็นเอง เราก็รู้เอง อย่างที่เจ้าของคำถามเล่าให้ฟัง อันนี้ ขอเสริมนิดนึงว่า เจ้าของคำถามก็จะเป็นคนที่มีพื้นฐานเกี่ยวกับเรื่องของโยคะอยู่ด้วย อันนี้เล่าให้ฟังนะ

คำถามที่ต่อเนื่องมานะ

“บอกว่ารู้ได้แบบนี้แทบทุกครั้ง คือว่าเห็นมันดับไปเลย ลมที่ออกมาก็เป็นลมใหม่ แล้วก็ดับไปอีก คือลมเป็นคนละอันกันจากที่เข้าไป”

จริงๆมันลมชุดเดียวกันกับที่เข้าไปแหละ เพียงแต่ว่ามันถูกเปลี่ยนแปลงแล้ว ก็สังเกตได้ง่ายๆเลยนะ ลมพอมันเข้าไปในร่างกาย ออกมา ขาออกจะมีไออุ่นของร่างกายปะปนออกมาด้วย

เดี๋ยวฟังคำถามต่อให้จบนะครับ

“รู้ได้แบบนี้ทุกครั้งที่เราหายใจเข้าออก รู้ตามจริงได้ว่า ลมมันไม่แน่นอน มันเปลี่ยนทุกครั้งที่เราหายใจเข้าออก รู้สึกได้ว่าแต่ละครั้งสั้นบ้าง ยาวบ้าง เบา ดัง โล่ง อึดอัด แต่ในที่สุดมันก็ดับไป จนรู้สึกถึงว่าแม้แต่ลมหายใจยังไม่เที่ยงเลย อยากเรียนถามว่า อาการแบบนี้เกิดจากอะไร และขอคำแนะนำเพิ่มด้วย?

ถ้าเห็นลมหายใจ โดยความเป็นของไม่เที่ยงได้นะ โดยธรรมดาจิตจะกันตัวเองออกมาเป็นอีกส่วนหนึ่ง มันจะรู้สึกของมันเองว่า เนี่ยมันไม่ใช่ลมหายใจแล้วแหละ แต่เดิมนี่นะเวลาเราหายใจ เราจะมีก้อนความรู้สึกอยู่ก้อนหนึ่ง ที่มันรวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวนะว่า ระหว่างใจของเรากับลมหายใจ มันจะรวมเป็นอันเดียวกันว่า นี่คือตัวเรา

เนี่ยลองดูเดี๋ยวนี้ก็ได้ พอหายใจเข้าเนี่ย หายใจออกเนี่ยนะ มันจะเกิดความรู้สึกขึ้นมาเลยว่า เราหายใจอยู่ มันจะไม่แยกกันว่า นี่ลมหายใจส่วนหนึ่ง จิตผู้รู้ผู้ดูลมหายใจเป็นอีกส่วนหนึ่ง มันจะเป็นก้อนเดียวกัน เป็นความรู้สึกก้อนเดียวกันว่าเนี่ย เราหายใจ เราหายใจเข้า เราหายใจออก เราหายใจได้อย่างดี หรือว่าหายใจได้แบบไม่ค่อยสะดวกนัก

บางคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกที่ต้องเดินทาง แบบที่จะได้รับควันพิษจากเมืองหลวงทุกวันนี่นะ มันจะมีความอึดอัดหรือเกิดภูมิแพ้ หรือเกิดโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจ ก็จะมีตัวความรู้สึกว่าแย่ หรือความรู้สึกว่าดี เป็นตัวตัดสินว่าสภาพของเรา ความเป็นเรา มันดีหรือไม่ดีอยู่ในขณะที่หายใจ แต่ถ้าหากว่าสังเกตลมหายใจโดยความเป็นของไม่เที่ยง กระทั่งจิตเกิดความตั้งมั่น เกิดความเบาสบายได้ระดับหนี่ง แล้วรู้สึกว่าเดี๋ยวมันก็ออก เดี๋ยวมันก็เข้าอยู่อย่างนี้แหละ ไม่เปลี่ยนแปลง คือมันเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ แต่สิ่งที่ไม่เปลี่ยนแปลงก็คือ มันจะต้องเข้า แล้วก็จะต้องออก ตรงนี้เนี่ย มันเกิดขึ้นมาตลอดชีวิต แต่เราไม่ได้สังเกต พอไม่ได้สังเกตก็นึกว่าเป็นลมหายใจเดิมๆ เป็นลมหายใจของเรา ตัวเราอันเดิม

กระทั่งเกิดการฝึก เกิดมุมมองที่มันถูกต้อง ตามพระพุทธเจ้าได้ตรัสชี้ให้มองนะ ก็จะรู้ว่าลมหายใจมันคนละชุดกันชัดๆเลย แม้กระทั่งเข้าไปเนี่ยนะ ออกมา ขาออกเนี่ย มันถูกกระบวนการทางร่างกายทำให้มีไออุ่น ทำให้มีความแตกต่างไปจากตอนขาเข้าบ้างแล้วนะ แล้วก็เวลาที่มันขาดลมไปแล้ว ดึงลมเข้ามาใหม่มันเป็นคนละชุดกัน พอเห็นอย่างนั้นก็ถึงจะเกิดความรู้สึกว่า จิตผู้ดูอยู่ จิตผู้เห็นอยู่ กับตัวลมหายใจมันคนละอันกัน มันก็เกิดความรู้สึกแบบนี้ขึ้นมา หลังจากที่เห็นลมหายใจเป็นของไม่เที่ยงได้แล้ว ก่อนหน้านี้ไม่เคยเห็นเลย

เอาละทีนี้พอเจ้าของคำถามสังเกตเห็นว่า เราจะมีความรับรู้ที่แตกต่างไป จิตอยู่ส่วนจิต ลมหายใจอยู่ส่วนลมหายใจ ลมหายใจเป็นผู้แสดงความไม่เที่ยง ส่วนใจของเราเนี่ยเป็นผู้ดูลมหายใจอยู่ อย่างเช่นที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในอานาปานสติสูตร ท่านบอกว่า ให้กำหนดไว้ว่า เราจะเป็นผู้รู้กองลมทั้งปวง เราในที่นี้คืออะไร? ก็คือจิตที่กำลังรู้ กำลังดูอยู่นั่นเอง เมื่อเรากำหนดไว้อย่างนี้นะ ตามที่มันเกิดขึ้นจริงๆ เป็นภาวะที่ปรากฏอยู่ให้เรารู้สึกได้นะ มีเราเป็นผู้ดูอยู่ คือจิตเนี่ยมันเป็นผู้ที่เห็นอยู่ว่าลมหายใจไม่เที่ยง

แล้วอย่างไร? ก็ดูต่อว่าตัวจิตเองบางครั้งมันก็เกิดความรู้สึกอึดอัด บางครั้งมันก็เกิดความรู้สึกเบาสบาย ตัวความเบาสบายหรือความอึดอัดนั่นแหละเป็นอาการสุข เป็นอาการทุกข์ของใจ ที่มันกำลังเกิดขึ้นทุกลมหายใจเนี่ยนะ มันจะต่างไปเรื่อยๆเช่นกัน คือเราเห็นแล้วว่า ลมหายใจอันเป็นรูปธรรมเนี่ย มันแสดงความเป็นอนิจจัง ชัวร์ๆแล้ว ไม่สงสัยแล้ว และทีนี้สิ่งที่จะดูได้ต่อไปก็คือ ความเป็นอาการของใจเองนั่นแหละ

บางทีเจ้าของคำถามจะเกิดความรู้สึกว่า ที่เราเห็น เราเห็นชัดๆ แต่บางทีมันก็เห็นแบบเบลอๆ ตอนเบลอๆเนี่ย มันจะมีความรู้สึกไม่ค่อยสบาย แต่ตอนเห็นชัดเนี่ย มันจะมีความรู้สึกพอใจ มีความรู้สึกเป็นสุขขึ้นมา หรือกระทั่งนะ ถ้าหากว่าช่วงที่ลมหายใจ ลากเข้าได้ยาวแบบเป็นธรรมชาติ เราจะมีความรู้สึกสดชื่น เราจะมีความรู้สึกว่า เออ แบบนี้เนี่ยมันมีความสุข ตัวนี้เรียกว่าความสุขปรากฏชัด อาการของใจมันเป็นไปในทางดี ชัดเจน เราก็รู้ไปว่า อาการของใจมันเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ตามการปรุงแต่งของลมหายใจ

เมื่อเห็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ในที่สุดมันก็เกิดความรู้สึกขึ้นมาอีกว่า แม้แต่จิตที่นึกว่าเป็นเรา เราเป็นผู้ดูอยู่เนี่ย กลายเป็นแค่จิต ธรรมชาติของจิตดวงนึงที่มีภาวะรู้ ธรรมชาติชนิดเดียวในจักรวาลที่รู้สิ่งอื่นได้ก็คือจิต มันก็ต่างไปเรื่อยๆ ไม่มีจิตดวงใดดวงหนึ่งเลย ที่เราจะอ้างอิงได้ว่านี่คือจิตของเรา จิตดวงที่มันรู้สึกแย่ๆ มันก็ผ่านไป เมื่อเกิดความปลอดโปร่งขึ้นมา และจิตที่มันปลอดโปร่ง ที่มันสบาย ที่มันมีความสุข มันก็หายไปในทันทีที่ลมหายใจมันสั้นลง มีความหยาบลง หรือไม่ก็มีความคิดฟุ้งซ่านแทรกแซงขึ้นมา

นี่เราเห็นแบบนี้ ในที่สุดจิตผู้รู้ผู้ดูลมหายใจ มันกลายเป็นจิตผู้รู้ผู้ดูอาการสุข อาการทุกข์ แล้วมันก็จะเห็นละเอียดเข้าไปอีกว่า พอรู้สึกไอ้ก้อนความเป็นตัวเราผู้รู้ผู้ดูลมหายใจเนี่ย มันเปลี่ยนเป็นแค่ภาวะทางใจ ภาวะผู้รู้ ไม่มีตัวตนผู้ดูลมหายใจอยู่ มีแต่จิต มีแต่ภาวะของจิตที่มันกำลังรู้ ที่มันกำลังดูลมหายใจอยู่ ปีติมันก็เกิด ปีติอันเกิดจากการที่จิตเป็นอิสระจากความรู้สึกว่ามีตัวเรา ตรงนี้นะ มันก็เป็นความสุขอีกชั้นหนึ่ง แล้วก็สามารถมองเข้าไปได้ว่าอาการทางใจ อาการของจิตเนี่ย มันแตกต่างไปอีกระดับหนึ่ง มันไม่ถูกครอบงำอยู่ด้วยพันธนาการ มันไม่มีกรงขังปิดกั้นให้ตัวเองต้องอยู่ในความมืด ความมืดของอุปาทาน ความมืดของความรู้สึกมีตัวตน มันเป็นอิสระออกไปรับแสงสว่าง เราจะรู้สึกขึ้นมาอย่างนั้นนะ ก็เห็นไปว่าจิตมันหลุดพ้นชั่วคราว

หลังจากนั้นเนี่ย ตีความอะไรๆที่เกิดขึ้นเป็นปรากฏการณ์นะ ในขณะนั่งสมาธิ ให้เป็นอาการทางใจไปให้หมดเลย เป็นเพียงภาวะ เป็นเพียงสภาพหนึ่งของจิต ที่เกิดขึ้นเป็นขณะๆ แล้วแต่ว่าจะปรุงแต่งไปอย่างไร แม้กระทั่งอาการที่ไม่ยึดมั่นถือมั่นว่ามีตัวเราอยู่ ก็เป็นแค่อาการปรุงแต่งหนึ่งของจิต มันไม่ใช่มีตัวจิตอย่างนั้นตั้งอยู่อย่างถาวร นี่เรียกว่าเป็นการกำจัดความเห็นผิด ด้วยการฝึกอานาปานสติ

อานาปานสติเนี่ย พระพุทธเจ้าสรรเสริญไว้มากเลยนะว่า มันเป็นจุดเริ่มต้นก็ได้ คือแค่มีสติรู้ว่าลมหายใจเข้า มีสติรู้ว่าลมหายใจออก มือใหม่ที่ไหนใครๆก็ทำได้ จากนั้นเนี่ยก็ยังเป็นตัวที่ปิดกั้นไม่ให้เกิดช่องที่มารจะเข้าแทรก มารในที่นี้ก็คือขันธมารนะ ความขี้เกียจ ความเหม่อ มีใจไปฝักใฝ่กับกิเลสอะไรต่างๆ ถ้าเรามีอาการมนสิการ คือมีความใส่ใจในลมหายใจอยู่ แล้วก็ปรากฏการณ์อันเกิดจากลมหายใจอยู่ มารจะไม่ได้ช่องเข้าแทรก เรียกว่าเรามีลมหายใจเป็นราวเกาะของสติ

แล้วจากนั้นขั้นสูงสุดเลย พระพุทธเจ้ายืนยันไว้หลายแห่งบอกว่าอานาปานสติเนี่ยนะ ทำได้สูงสุดเลยถึงขั้นเป็นพระอรหันต์ คือถ้าหากว่ากิเลสจะดับไป อุปาทานจะดับไป มันสามารถดับลงไปให้เห็นต่อหน้าต่อตา ขณะที่เจริญอานาปานสตินั้นเลย พระพุทธเจ้าท่านตรัสนะบอกว่า ไม่ว่าจะเป็นขั้นไหนๆของสติปัฏฐาน ๔ ถ้าหากว่าตั้งต้นขึ้นมาด้วยอานาปานสติแล้วเนี่ย ทำได้หมด อย่างเช่นท่านตรัสว่า เราจะกำหนดหมายว่า กายเป็นปฏิกูลก็ดี ขอให้ใส่ใจอานาปานสตินี้แหละให้ดี ถ้าหากว่าเราจะกำหนดร่างกายโดยความเป็นของแตกพัง สูญเปล่า หรือที่เรียกว่านวสีวถิกา อันนี้พระพุทธเจ้าก็ตรัสอีกว่า ก็ขอให้ใส่ใจอานาปานสติให้ดี นี่ท่านพูดเลยไปถึงว่า เวทนาก็ดี จิตตานุปัสสนาก็ดี ธัมมานุปัสสนาก็ดี ท่านพูดไว้ละเอียดชัดเลยนะ บอกว่าแต่ละขั้นๆ ขอให้ใส่ใจอานาปานสตินี้ไว้ให้ดี

ก็เจ้าของคำถามทำมาอนุโมทนานะ จริงๆแล้ว มันไม่ใช่เรื่องยากเกินวิสัยเลย แต่ไม่ค่อยมีคนสนับสนุนการอานาปานสติ หรือถ้าสนับสนุนก็สนับสนุนให้ท่องพุทโธกำกับไป หรือว่า นับ ๑ ๒ ๓ ไปเรื่อยๆ ไม่ได้ให้สังเกตกันว่า ลมหายใจเนี่ย มันแตกต่างไปเรื่อยๆ แต่ละลมหายใจให้ความรู้สึกว่า เป็นสุข เป็นทุกข์แตกต่างกันไปเรื่อยๆ ไม่ค่อยสนับสนุนให้เกิดมุมมองนี้กัน มันก็เลยไม่ใช่อานาปานสติ มันกลายไปเป็นเพ่งจ้องลมหายใจ ให้เกิดความอึดอัด ไปบังคับลมหายใจให้มันดี ไปบังคับความคิดให้มันสงบนะ ในที่สุดมันก็ไม่ใช่วิปัสสนา มันกลายเป็นการบังคับลมเฉยๆ ไม่ได้ผลอะไรขึ้นมาเลย

อันนี้ก็ เจ้าของคำถามเป็นตัวอย่างที่ดีนะ ถ้าหากว่าเจริญสติมาอย่างถูกทาง ทำอานาปานสติมาตามทางจริงๆเนี่ย มันก็ได้ผลอย่างนี้แหละ แล้วก็ คือการที่เราจะทำมาถูกทางนี่นะ เอาแค่ตรงที่ว่า เห็นว่ามันเข้า เห็นว่ามันออก เห็นว่ามันยาว เห็นว่ามันสั้น จนกระทั่งเกิดสมาธิจิต เกิดความตั้งมั่นในการรับรู้ ว่าลมหายใจไม่เที่ยงขึ้นมา เอาแค่นี้เนี่ย บางทีมันต้องใช้เวลานะ คือฟังมันง่ายๆ สั้นๆ หลายๆคนก็เข้าใจว่าน่าจะง่ายๆ ไม่เห็นมีอะไร หรือพอลงมือทำไปรู้สึกว่ามันยากเหลือเกิน ดูไปมันอึดอัดทุกที ไม่เห็นมีความสุข ไม่เห็นมีอะไรที่มันคืบหน้าขึ้นมา ก็เลยเลิกล้มตั้งแต่ต้นทาง หรือไม่ก็ฝึกๆไปแล้วก็เลิกล้มกลางครัน ไปจับทางโน้นที กระโดดไปทางนั้นที

หลายคนเลยสมัยนี้นะ เน้นกันมากเลยว่าจะหากรรมฐานอะไรที่ถูกกับจริตของเราดี สมัยพระพุทธเจ้าท่านไม่มีนะ มาแยกจริตว่าควรจะทำกรรมฐานอันไหนก่อน อันไหนหลัง พระพุทธเจ้ามีแต่จะบอกนะ อานาปานสติใส่ใจไว้ให้ดีเถิด ทำไปเถิด แม้กระทั่งว่าคนจะทำอรูปฌานนะ มาถามพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้ายังตรัสเลยบอกว่า ก็ให้มนสิการ คือให้ใส่ใจอานาปานสตินี้ไว้ให้ดี ถ้าอยากจะทำอรูปฌาน คือหมายความว่าตั้งต้นขึ้นมาเนี่ย ตั้งสติขึ้นมาก่อนที่จะน้อมไปมนสิการ สิ่งที่เป็นนามธรรมนะ ให้ตั้งสติขึ้นมาด้วยของจริง ก่อนที่ปรากฏภายในกายนี้ คือลมหายใจ คืออานาปานสตินี้นะ

อันนี้ก็พูดยาวเยอะไป เพราะว่านะก็รู้สึกยินดีที่ได้เห็นคนทำจริง แล้วมันเกิดผลขึ้นมา อาการที่มันเกิดขึ้น เจ้าของคำถามอย่าไปสนใจว่ามันเป็นสมาธิขั้นไหน แต่ขอให้สนใจว่า เรากำลังมีความสามารถรับรู้ลมหายใจตามจริงได้ และการสามารถที่จะรับรู้ลมหายใจตามจริงได้นี้ มันจะติดเป็นของติดตัว มันจะเอาไปใช้ได้ตลอดเวลา ไม่ว่าจะมานั่งหลับตาทำสมาธิ หรือว่าเราจะลืมตาอยู่ในโลก ในชีวิตประจำวันนะ เพราะว่าความสามารถที่จะอยู่กับลมหายใจ จนกระทั่งเกิดความคุ้นเคย เกิดความชิน เกิดความชำนาญขึ้นมาเนี่ยนะ มันจะไม่มีการแบ่งว่าเรากำลังหลับตาอยู่ หรือว่าเรากำลังลืมตาอยู่ มีแต่ว่านะเรากำลังหายใจอยู่ ทั้งหลับตาแล้วก็ลืมตา ตลอด ๒๔ ชั่วโมงมันจะเห็นอยู่ รู้อยู่ กลับเข้ามาทราบความจริงนี้ได้ทุกเมื่อเลยนะครับ



๒) คนที่มีนิสัยใจร้อน ทำให้คนอยู่ใกล้ต้องลนลานตามไปด้วย จะมีธรรมะข้อใด หรือคำแนะนำให้ใจเย็นลงได้บ้าง?

ที่จะไปอยู่กับคนที่มีความใจร้อนเนี่ย ถ้านิสัยใจร้อนเนี่ย พูดง่ายๆเลย เอาแบบตรงไปตรงมา ตรงประเด็นนะ ถ้าหากว่าเรามีความใจร้อน หรือพร้อมที่จะใจร้อนใกล้เคียงกันกับเค้าเนี่ย โอกาสที่จะทำใจจะเป็นไปได้ยากมาก เพราะมันจะกลมกลืนไป มันจะถูกกลืนไปกับความร้อนนั้นนะครับ

แต่ถ้าหากว่าเราไปฝึก เราปลีกวิเวกซักนิดนึง ห่างออกมาซักหน่อยนึง แล้วก็แต่ละวันเนี่ย คือไม่ใช่ห่างออกมาตลอดเวลา แต่ละวันเนี่ยมีช่วงห่างออกมา เพื่อที่จะมาสวดมนต์ มาเจริญเมตตาของเรา สั่งสมความเย็นบ้าง ไม่ใช่รับแต่ไอร้อนจากเค้ามาอย่างเดียว มาสร้างความเย็นด้วยตัวเองบ้าง

อย่างนี้นะ ถ้ามันเกิดความต่อเนื่อง เกิดความมีแก่ใจที่จะอยู่กับความเย็นมากๆเข้า กระทั่งเราเย็นมากกว่าเค้าเนี่ย ในที่สุดเราก็จะมีความรู้สึกเหมือนเรามีเกราะป้องกันตัว เป็นเกราะแห่งความเย็น แต่ถ้าหากว่ายังไม่มีเกราะแห่งความเย็นนี้เนี่ย จะให้ทำใจ จะให้คิดด้วยอุบาย จะให้ใช้โวหาร สำนวน อะไรมาปลอบใจตัวเองเนี่ยมันยาก เนื่องจากว่าคลื่นใจ คลื่นของจิตเนี่ย มันชนะกันด้วยคนที่มีกำลังแรงมากกว่า

อย่างถ้าหากว่า เค้ามีความร้อนแรงมากกว่าความเย็นของเรา ในที่สุดเราจะมีความกระวนกระวาย หรือว่ามีความร้อนตามเค้าไป อย่างไม่สามารถที่จะบังคับใจตัวเองให้มีความนิ่ง ให้มีความสงบ ให้มีความเย็น ราวกับว่าไม่ถูกกระทบกระเทือนจากเค้า อันนั้นมันเป็นไปไม่ค่อยได้ แต่ที่เป็นไปได้ก็คือ เราสร้างความเย็นขึ้นมาจนกว่าเราจะชนะเค้านะ

อย่างที่ผมก็แนะนำมาหลายอุบาย ไม่ว่าจะเป็นการเก็บเงียบ เก็บตัวเงียบไปสวดมนต์ สวดนี่ก็สวดเอาความสุขแต่อย่างเดียวจริงๆ ไม่หวังอะไรอย่างอื่น แล้วก็สวดอิติปิโส เพื่อให้แก้วเสียงของเรากลายเป็นพุทธบูชา แทนดอกไม้ แทนดอกแก้ว จนกระทั่งเกิดความรู้สึกว่า เสียงปรุงแต่งให้จิตของเรามีความเย็น หรือไม่ก็นะทำสมาธิ เจริญสติระหว่างวัน จนกระทั่งเกิดความรู้สึกว่า ความเย็นมันเกิดขึ้นจากการที่สติเนี่ย มันรับรู้อะไรได้อย่างรวดเร็วโดยความเป็นสภาวธรรม ไม่ใช่โดยความเป็นตัวเป็นตน

ถ้าหากว่าจิตของเราเข้าถึงความรู้สึกว่า สภาวะอะไรๆทั้งหลาย ที่มันเกิดขึ้นในตัวตนนี้ มันสักแต่เป็นของชั่วคราว มันก็จะมีแก่ใจที่จะรับรู้ผัสสะภายนอก เสียงที่เข้ามา หรือว่าสีหน้าสีตาของเค้าที่เข้ามา กระทบตา กระทบหูเราเนี่ย มันสักแต่ก่อให้เกิดปฏิกิริยาทางใจชั่ววูบ จะเป็นหนัก จะเป็นเบา จะเป็นร้อนแรงตาม หรือว่าจะเป็นกระสับกระส่าย กระวนกระวาย อย่างไรก็แล้วแต่ มันจะพลอยเห็นไปได้หมดเลย ว่าทั้งหลายทั้งปวงเนี่ย มันกระทบเข้ามา แล้วเกิดปฏิกิริยาสวนกลับไปชั่วคราว ไม่มีอะไรที่มันเป็นจริงเป็นจังสักอย่างเดียว แต่ถ้าไม่ฝึกมอง ไม่ฝึกดู มันก็จะยึดเป็นจริงเป็นจังไปหมดเช่นกัน



๓) เวลาที่มีสิ่งกระทบแล้วมันทึบ แล้วจะคิดอะไรไม่ออก อันนี้ คือตัวโมหะใช่ไหม การที่เราใจซึมๆ เหนื่อยๆ หรือติดเคลิ้มๆ เผลอเพลินบ่อยๆ อันนี้เป็นโมหะหรือเปล่า?

ใช่ครับ โมหะมาได้หลายหน้าหลายตา ถ้าหากจิตของเรามีอะไรห่อหุ้มอยู่ทำให้มองไม่เห็นตามจริง ทำให้รู้สึกเบลอๆ มัวๆ ไม่ชัด หรือมืดทึบ เหล่านี้ พระพุทธเจ้าตรัสว่าเป็นโมหะทั้งสิ้น

ในอภิธรรมที่กล่าวว่าโมหะคืออะไรเนี่ย จาระไนไว้ละเอียดชัดเลยบอกว่า เป็นภาวะที่ทำให้ไม่รู้จริง เป็นภาวะที่ทำให้มีความเลื่อนลอย ฟุ้งซ่าน หรือเกิดความไม่เป็นมงคล ไม่เป็นกุศล อะไรทั้งหลายแหล่เนี่ย จัดเป็นโมหะหมดเลย พูดง่ายๆนะ ถ้าหากว่าจิตไม่สามารถรู้ตามจริงได้ นั่นละ โมหะทั้งนั้นแหละ

แล้วถ้าหากว่า อะไรเป็นต้นเหตุให้เกิดโมหะเราสามารถเห็นได้ นั่นเรียกว่ามีสติแล้วนะครับ ถ้าหากว่ามีสติขึ้นมา ตัวโมหะมันหายไปยังไง มันหายไปเริ่มจากตัวนี้แหละ ตัวที่เรารู้สึกว่ามีความมืด รู้สึกว่ามีความทึบ รู้สึกว่ามีความเคลิ้ม รู้สึกว่ามีความเผลอเพลิน ตัวนี้แหละที่มันจะทำให้เริ่มจุดชนวนสติขึ้นมา ตัวโมหะมันจะเหมือนกับม่านที่ถูกแหวกออกไป จากที่มีสภาพทึบทึม จากที่มีสภาพหนักๆ มันจะกลายเป็นเบาบาง หรือกระทั่งปลอดโปร่งขึ้นมา

ลักษณะของความปลอดโปร่งเนี่ย ถ้าหากว่าเราไปติดใจ ถ้าหากว่าเราไปยินดี อันนั้นก็เป็นรูปแบบของโมหะแบบละเอียดนะครับ ถ้าหากว่าเราเห็นเข้าไปอีกว่า เออนี่มันมีความรู้สึกดีๆ มันมีความรู้สึกติดใจกับความโปร่งเบา นั่นก็จะเป็นปัญญาอีกชั้นหนึ่ง เนี่ยเราก็ดูเข้าไปเรื่อยๆนะ นี่แหละวิธีสังเกตที่น้องถามมา



๔) ช่วงใกล้เข้าพรรษานี้ หลายท่านตั้งใจปวารณาตนเอง รวมทั้งเคยได้โอกาสฟังธรรมเรื่องพระจักขุบาลมา จะแยกการกระทำได้อย่างไร ระหว่างสัจจบารมีกับการยึดมั่นในการกระทำ ซึ่งอาจไม่ตั้งในปัจจุบัน?

สัจจบารมีนะ ก็คือว่าเราตั้งใจจะทำแล้วยึดมั่นนั่นแหละ เป็นความยึดมั่นเหมือนกัน แต่เป็นการยึดมั่นเพื่อที่จะให้เรามีใจที่ตรง มีใจที่ซื่อ มีใจที่มีกำลังแน่วเข้าไปในกิจที่ตัวเองจะทำ ถ้าหากว่าไม่มีความยึดมั่นในสิ่งที่ดีๆ ไม่มีความแน่วแน่ที่จะประกอบกรรมอันเป็นกุศล มันไม่มีทางหรอกที่จิตมันจะมีกำลังขึ้นมาได้ ต่อเมื่อเราตั้งใจอะไรไว้ แล้วสามารถแน่วแน่ที่จะทำให้ลุล่วงได้ ตรงนั้นแหละที่กำลังมันถึงจะเกิดขึ้น

ส่วนการยึดมั่นถือมั่น หมายความว่า เราไปสำคัญมั่นหมายว่ามันเป็นตัวเป็นตน สำคัญมั่นหมายว่ามันเที่ยง ที่นี้ถ้าหากว่า เรามีสัมมาทิฏฐินำหน้าอยู่ก่อน เราเห็นว่า การที่จะตั้งสัจจบารมีอะไรเนี่ย มันก็เป็นแค่บันได มันก็เป็นแค่การที่เราถามทางสู่ความปล่อยวาง ความเข้าใจที่มันวางไว้แล้วนะ ลงหลักปักฐานไว้อย่างดีแล้ว จนกลายเป็นสัมมาทิฏฐิแล้ว จะทำให้อะไรๆ มันไม่น่าเป็นห่วง จะทำให้อะไรๆ มันถูกทิศถูกทางที่จะเข้าถึงมรรคผลนิพพานได้ทั้งสิ้น

สรุปง่ายๆก็คือว่า เข้าพรรษา สมมติว่าเราตั้งใจว่าช่วงพรรษานี้ เราจะตื่นขึ้นมาช่วงเช้าแล้วนั่งสมาธิทุกเช้า นี่เรียกว่าเป็นการยึดมั่นที่จะปฏิบัติตนอยู่ในกรอบ อยู่ในเส้นทาง อยู่ในทิศที่มันมุ่งไปในทางดี มุ่งไปในทางที่จะยกระดับของจิตวิญญาณขึ้นแน่ๆ

หลังจากนั้นพอเราทำได้เรื่อยๆนะ กระทั่งจิตเกิดสมาธิ จิตเกิดความตั้งมั่น แล้วเอาความตั้งมั่นนั้นมาพิจารณาว่า อาการยึดมั่นถือมั่นทั้งหลายว่า นี่สำคัญมั่นหมายว่าลมหายใจเป็นเรา หรือว่าความสุข ความทุกข์อันเกิดจากการฝึกสมาธิคือเรา หรือว่าความสงบ ความฟุ้งซ่านคือเรา เหล่านั้นล้วนแล้วแต่เป็นความเข้าใจผิด เหล่านั้นล้วนแล้วแต่เป็นอุปาทาน ซึ่งเราจะรู้สึกว่ามันเป็นอุปาทานได้จริงๆ ก็ต่อเมื่อจิตมีความรู้ชัด รู้แจ้ง ตั้งมั่นมากพอ แล้วตั้งมั่นมาจากไหน ตั้งมั่นมาจากการที่เรายึดมั่นในสัจจวาจานะ ตั้งใจจะตื่นเช้าแล้วตื่นเช้าได้เป็นประจำ

สรุปแล้วนะ ยึดไว้ก่อน เพื่อที่จะปล่อยในภายหลัง


เอาละครับ คืนนี้คงต้องล่ำลากันที่ตรงนี้ ราตรีสวัสดิ์แล้วก็ขอให้เจริญในธรรมด้วยกันทุกท่านนะครับ


« กลับสู่สารบัญเรียงตามครั้งที่ออกอากาศ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น