วันศุกร์ที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ดังตฤณวิสัชนา On Air ครั้งที่ ๓๕ / วันที่ ๙ เม.ย. ๕๕

« กลับสู่สารบัญเรียงตามครั้งที่ออกอากาศ

สวัสดีครับทุกท่าน วันนี้วันจันทร์ที่ ๙ เมษายน ๒๕๕๕ นี่คือรายการดังตฤณวิสัชนา ผมดังตฤณมาตอบคำถามให้คุณเป็นเวลาครึ่งชั่วโมงเศษ ทุกคืนวันจันทร์ พุธ และศุกร์ เวลาสามทุ่มตรง เพื่อที่จะทักทายไถ่ถามเข้ามาในรายการนะครับ ให้เข้าไปที่ http://www.facebook.com/HowfarBooks



๑) ควรใช้ชีวิตคู่อย่างไรถึงจะไม่ยึดติดในตัวคนรัก แต่ก็ไม่ละเลย?

สำหรับคำว่ารักแบบไม่ยึดติดอาจจะเป็นคำพูดเท่ๆ เก๋ๆ มากกว่าที่จะเอามาใช้อธิบายภาวะทางใจในโลกความเป็นจริงได้ คือความรักแบบชายหนุ่มหญิงสาวก็เป็นอาการที่จิตยึดติดกับสิ่งที่เราชอบใจหรือบุคคลที่เราพิศวาสเสน่หาอยู่แล้ว ทีนี้ระดับความรักของแต่ละคนมันก็ไม่เท่ากัน บางคนบอกว่าฉันรักแบบไม่ได้ยึดมั่นถือมั่นอะไรมากมาย อันนั้นอาจจะเป็นเพราะว่าเราไม่ได้พิศวาสไม่ได้เสน่หาคนรักของเรามากนักก็ได้ แต่ถ้าหากคนรักของเรามีแต่ความน่าพิศวาสน่าใคร่น่ารักน่าชื่นชมน่าคิดถึง ไม่มีข้อบกพร่องหรือว่าข้อติใดๆ อาการของใจที่พุ่งเข้าไปยึดแบบโลกๆ ด้วยอำนาจของกิเลสมันก็จะทำให้จิตมีอาการร้อยรัดเต็มที่ เต็มเม็ดเต็มหน่วยเลย เป็นไปไม่ได้ที่ถ้าหากว่าเราอนุญาตให้ใจตัวเองผูกยึดอยู่กับใครด้วยความพิศวาสเชิงชู้สาวแล้ว จะรักแบบไม่ยึดติด

คำว่ารักแบบไม่ยึดติดน่าจะเป็นแค่ปรัชญา หรือคำที่เอาไว้พูดกันเล่นๆ มากกว่า ถ้าพูดถึงอาการทางใจ นี่เราพูดถึงเรื่องที่มันเกิดขึ้นจริงๆ ในโลกความเป็นจริง ไม่พูดเอาหรู ไม่พูดเอาเท่ ทีนี้คำถามว่าหน้าที่ของคนรักควรจะมีให้กันอย่างไรถึงจะเรียกว่าไม่ละเลย? พระพุทธเจ้าก็ตรัสไว้นะครับ ท่านจะพูดถึงสามีภรรยาเลย ไม่พูดถึงแฟน สมัยก่อนไม่ค่อยคบกันเป็นแฟน ถ้าคบกันก็จองตัวกันเลย หมั้นหมายกันและแต่งงานกัน พระพุทธเจ้าท่านเลยไม่ได้มีธรรมะสำหรับฆราวาสที่เป็นแค่แฟนกันเฉยๆ แต่ท่านจะพูดถึงสามีภรรยากันเลย ก็ต้องดูแลเอาใจใส่ซึ่งกันและกัน สามีในสมัยก่อนก็มีหน้าที่หาเงินเลี้ยงดูภรรยา แล้วก็ซื้อของให้ภรรยาตามที่ควรแก่ฐานะ ไม่ละเลยการเอาใจใส่ภรรยา ส่วนภรรยาก็ต้องดูแลปรนนิบัติสามีให้มีความสุขความสบาย มันแล้วแต่สังคมด้วย พระพุทธเจ้าท่านก็ตรัสถึงสังคมแบบสมัยพุทธกาล

ทีนี้ถ้าสมัยนี้ก็คือถ้าชายหญิงมีสิทธิ์เท่าเทียมกันตามกฎหมาย แล้วก็มีภาวะของความเสมอภาคระหว่างชายหญิง เป็นยุคที่ชายหญิงไม่มีเส้นแบ่งกัน ก็ควรที่จะรับผิดชอบซึ่งกันและกัน ไม่ใช่ฝ่ายชายจะต้องซื้อของให้ฝ่ายหญิงเสมอไป ฝ่ายหญิงสมัยนี้ก็ซื้อของให้ฝ่ายชายได้ และถ้าเราพูดกันถึงสามัญสำนึก พูดถึงสิ่งที่มันควรจะรู้สึก ฝ่ายชายก็ควรที่จะเป็นที่พึ่ง ปกป้องดูแล เอาใจใส่กับความเป็นอยู่โดยทั่วไปของภรรยาในฐานะของหัวหน้าครอบครัว ส่วนภรรยาเองก็จะต้องมีความเอาใจใส่ดูแลชีวิตรายละเอียดที่ขาดไปของฝ่ายชาย ผู้ชายจะขาดเรื่องของความละเอียดรอบคอบหรือความพิถีพิถันในชีวิตประจำวัน ฝ่ายหญิงก็ควรที่จะเข้ามาชดเชย เข้ามาเสริมเติมให้ชีวิตของฝ่ายชายเต็ม ส่วนฝ่ายชายก็ควรที่จะมีความหนักแน่น เพราะบางทีเราก็ต้องยอมรับว่าฝ่ายหญิงจะมีความน้อยใจง่าย คิดมาก ฝ่ายชายก็ควรที่จะมาเสริมส่วนที่ฝ่ายหญิงขาดตรงนั้นไป

อย่างบางทีเรามักจะเถียงกันว่าฝ่ายชายกับฝ่ายหญิงเมื่อเท่าเทียมกันแล้ว จะให้ชีวิตคู่มันเป็นยังไง เราเอาความเป็นจริงเถอะ เราเอาสิ่งที่มันเกิดขึ้นจริงๆ กัน ถ้าฝ่ายชายเป็นคนคิดมาก เป็นคนขี้น้อยใจเหมือนผู้หญิงนะ มันอยู่กันแล้วมีแต่ความทุกข์ลองคิดดู แต่ถ้าหากฝ่ายชายมีความหนักแน่น มีความใจเย็น มีความสามารถที่จะทำให้ผู้หญิงเกิดความรู้สึกมั่นคง มีความอบอุ่นปลอดภัยได้ ชีวิตคู่ก็จะอยู่ในสมดุลเพราะว่าต่างฝ่ายต่างเสริมในส่วนที่ขาดให้แก่กันและกัน หรือคิดในอีกทางหนึ่ง ถ้าฝ่ายหญิงไม่พิถีพิถันไม่ละเอียด มองไม่เห็นจุดเล็กจุดน้อยในชีวิตประจำวันที่ฝ่ายชายไม่ค่อยจะมี ต่างฝ่ายต่างหละหลวมในการดำเนินชีวิตพร้อมๆ กันมันก็ไม่ไหว มันเหมือนเอาเด็กมาอยู่ด้วยกัน หรือว่าเอาคนที่ไม่มีความพร้อมจะสร้างบ้านสร้างเรือนมาอยู่อาศัยในใต้ชายคาเดียวกันนะครับ

ในฐานะของคนรักถ้าหากว่าเราคบกันเป็นแฟน ยังไม่ได้เป็นสามีภรรยา คำว่าละเลยคนรักก็คือละเลยหน้าที่ของตนเองที่ควรจะเป็นไป ถ้าหากว่าฝ่ายชายไม่พยายามหาจุดหมายของชีวิตให้ได้ ไม่พยายามที่จะสร้างเนื้อสร้างตัวให้มีความมั่นคง อันนั้นก็เรียกว่าละเลยในฐานะของคนรักตั้งแต่เริ่มต้นแล้ว ยังไม่ทันต้องไปใช้ชีวิตร่วมกัน มันดูได้เลยถ้าฝ่ายชายยังไม่มีความมั่นคงในชีวิต โอกาสที่จะไปรับผิดชอบหรือว่าไปเอาใจใส่ผู้หญิงมันแทบจะเป็นศูนย์เลย ส่วนฝ่ายหญิงถ้าหากว่าไม่เอาใจใส่การบ้านการเรือน ไม่มีความละเอียดรอบคอบ ไม่มีความพิถีพิถัน ไม่มีความสะอาด ไม่มีความดูแลเอาใจใส่สิ่งรอบตัว บางทีอาจจะไม่มีคนทำหน้าที่ตรงนั้น

อีกคำถามหนึ่งก็คือเราจะทราบได้อย่างไรว่าไม่ได้เข้าไปยึดติดในตัวคนรัก ถ้าในแง่ของพุทธศาสนาเราจะพูดกันในแง่ของการเจริญมรณสติ คือมันเป็นไปไม่ได้ที่เราจะไม่ยึดติดในแบบที่ว่าอยู่ๆ ฉันไม่แคร์หรอกว่าเธอจะเป็นจะตายยังไง หรือว่าเธอจะทิ้งฉันไปเมื่อไร ไม่ว่าจากเป็นหรือจากตาย อยู่ๆ เราไปคิดเอามันไม่ได้ แต่ว่าพุทธศาสนายื่นข้อเสนอมาว่ามีวิธีหนึ่งที่เราจะไม่ยึดติดกันและกันมากเกินไปได้นั่นก็คือเจริญมรณสติ แค่ว่าคุยกันเล่นๆ คุยกันง่ายๆ บ่อยๆ นะว่าถ้าใช้ชีวิตกันไปเรื่อยๆ แล้ววันหนึ่งถ้าหากว่ามีอันต้องล้มหายตายจากกันไป อาจจะพูดเรื่องพินัยกรรม พูดเรื่องว่าถ้าป่วยจะให้ทำยังไง ไปฝังที่ไหนอะไรแบบนี้นะคือคุยกันเล่นๆ แต่พอคุยกันเล่นๆบ่อยๆ มันกลายเป็นความรู้สึกจริงๆขึ้นมาว่าวันหนึ่งเราสามารถที่จะตายจากกันได้ ขอให้มันติดอยู่ในใจเถอะว่าเราไม่ใช่จะอยู่ด้วยกันอย่างนี้ตลอดไป แค่นี้ก็เรียกว่าไม่เข้าไปยึดมากเกินไปแล้วตามแนวทางของพุทธศาสนา

มันเป็นไปไม่ได้หรอกที่เราจะอยู่กับใครสักคนหนึ่งด้วยความพิศวาส ด้วยความเสน่หา แล้วจะไม่รู้สึกอะไรเลยเมื่อเขาจะต้องล้มหายตายจาก มันเป็นไปไม่ได้เลย แต่มันเป็นไปได้ที่เราจะอาศัยกันและกันเป็นเครื่องฝึก เป็นการพูดถึง ถ้าสมมติว่าทั้งฝ่ายสามีภรรยาฝ่ายชายฝ่ายหญิงสนใจพุทธศาสนาด้วยกันทั้งคู่มันก็ง่ายหน่อย มันมีศรัทธาตรงกัน พอมีศรัทธาตรงกันแล้ว พูดกันมันสามารถที่จะทำความเข้าใจได้ นี่ไม่ใช่เรื่องอัปมงคล นี่ไม่ใช่เรื่องของการที่จะมาสาปแช่งกัน แต่เป็นเรื่องที่พุทธศาสนาสนับสนุนให้หมั่นระลึกทำให้เกิดการระลึกถึง นั่นก็คือมรณสติ ถ้าหากว่าคนที่เรารักที่สุดปฏิบัติต่อกันอย่างดีทุกอย่าง มีความพิศวาสมีความเสน่หาอะไรทุกอย่าง เรามาคุยเรื่องความตายกันได้บ่อยๆ ตรงนี้ก็กลายเป็นเครื่องฝึกไป เป็นเครื่องฝึกให้ไม่ยึดติดสิ่งใดๆ ในโลก บุคคลใดๆ ในโลกนะครับ



๒) คนเราปฏิบัติธรรมไปเพื่ออะไร? บางครั้งสับสนว่าทำไปเพื่ออยากกลบทุกข์หรือเปล่า ควรตั้งเป้าหมายอย่างไรให้ถูกต้อง?

คนที่เป็นพุทธ จะถือได้ว่าเป็นพุทธจริงๆ ก็ต่อเมื่อเรามีเป้าหมาย ชีวิตของเราทั้งชีวิตมีเป้าหมายเดียวกันกับจุดหมายสูงสุดของพุทธศาสนา ถ้าหากว่าเรายังไม่มีเป้าหมายสูงสุดในชีวิตตรงกันกับเป้าหมายสูงสุดของพุทธศาสนาเราก็ยังไม่ใช่พุทธเต็มใบ แต่เป้าหมายสูงสุดไม่ใช่หมายความว่าเราจะต้องออกเดินทางเต็มตัวเต็มสปีดเลย เพราะเรายังไม่ใช่พระ เพราะว่าต้องมองอย่างนี้ก่อนว่าพระพุทธเจ้าท่านออกบวชแล้วตั้งศาสนาพุทธขึ้นมาหลังจากที่ท่านตรัสรู้ธรรมแล้ว ก็เนื่องจากท่านเห็นว่าชีวิตเป็นทุกข์ การเกิดแก่เจ็บตายเป็นทุกข์ แล้วท่านไม่ได้มองแค่ว่าเกิดแก่เจ็บตายครั้งเดียวหนเดียว ท่านมองว่าเกิดแก่เจ็บตายวนไปเวียนมาไม่มีที่สิ้นสุด อย่างนี้ที่เรียกว่าเป็นทุกข์ เพราะว่ามันไม่มีแก่นสาร มันไม่มีสาระ แต่คนธรรมดาทั่วไปมองเห็นไม่ได้แบบท่าน เพราะฉะนั้นก็ต้องฟังท่านไว้ก่อนว่าทำไมการเกิดแก่เจ็บตายถึงเป็นทุกข์

พอเราเกิดความเข้าใจ มันมีแรงบันดาลใจขึ้นมาแล้วก็จะได้ตั้งเป้าให้ตรงกับพระพุทธเจ้า นั่นก็คือยุติการเกิดแก่เจ็บตาย เพราะว่าเมื่อการเกิดแก่เจ็บตายเป็นทุกข์ การไม่เกิดไม่แก่ไม่เจ็บไม่ตายย่อมเป็นสุข ตรงนี้เรามาเจริญสติถ้าเราลืมไปแล้วว่าจุดหมายของเราหรือความเข้าใจของเรามาตรงกันตรงนี้ เราก็ระลึกเสียว่าตรงนี้นะที่เรามาเจริญสติ ที่เรามาปฏิบัติธรรม เพราะเราเคยเห็นภัยในการเกิดแก่เจ็บตาย ภัยในการที่เราเกิดมาอย่างไม่รู้แล้วทำกรรมแบบไม่รู้ มันไม่สามารถที่จะประกันความปลอดภัยอะไรให้ตัวเองได้เลย คือตายไปก็จะตายไปแบบไม่รู้ถ้าหากว่าเราไม่มีอภิญญา เราไม่สามารถที่จะละอุปาทานว่ากายใจนี้เป็นตัวตนของเราเสียได้

พอระลึกแบบนี้ พอคิดแบบนี้ เราก็จะได้มองเห็นว่าสิ่งที่เรากำลังทำอยู่ หรือว่าจุดยืน ณ ขณะปัจจุบันที่เราเดินทางมามันมาถึงตรงไหน? โอเค มันมาถึงจุดที่เริ่มสับสน เริ่มงุนงงว่าจะทำอะไรไปเพื่ออะไร? มันก็เหมือนกับตอนที่เราใช้ชีวิตไปเรื่อยๆ ไม่รู้จักพุทธศาสนา ไม่รู้จักศาสนาอะไรเลย แล้วในที่สุดชีวิตก็จะกระตุ้นให้เราเกิดคำถามขึ้นมา ตั้งโจทย์ให้กับตัวเองขึ้นมาให้อยากหาคำตอบว่าแล้วเราจะใช้ชีวิตไปเรื่อยๆเพื่ออะไร? รอวันตายอย่างเดียวหรือ? ถ้าหากว่าเราตอบคำถามให้ตัวเองได้อย่างชัดเจนทุกครั้งว่าที่เรากำลังใช้ชีวิตอยู่นี่ ดำเนินไปตามหลักการของพุทธศาสนาในขั้นที่จะมุ่งไปตามทางสวรรค์และนิพพาน คือถ้าไม่ถึงนิพพานก็สวรรค์ไว้ก่อน ไม่ใช่ไปนรก พอเห็นอย่างนี้ พอได้คำตอบให้ตัวเองชัดเจนอย่างนี้ว่าเราอยู่ในเส้นทางที่ไปดี ขึ้นสูงไม่ใช่ลงต่ำ ก็จะได้สบายใจขึ้นมาขั้นหนึ่งว่าเราจะเจริญสติหรือไม่เจริญสติยังไงก็แล้วแต่ เราจะมีน้ำใจไว้ก่อน ให้ทาน เราจะรักษาศีลให้ใจสะอาดไว้ก่อน แล้วถ้าหากว่ามีบารมีแก่กล้ามากขึ้นที่จะอยากหาความชุ่มชื่นมากขึ้นไปกว่าการให้ทานกับการรักษาศีล เราค่อยมาเจริญสติ

พอมาตามลำดับขั้น ตอบตัวเองได้อย่างชัดเจนแบบนี้แล้ว ก็จะได้ไม่ต้องมาขัดแย้งกับตัวเองว่า ทำไมเรามัวขี้เกียจอยู่ ทำไมเราไม่เจริญสติ นี่เราเป็นฆราวาสไม่ใช่พระนะ เราเป็นคนที่ต้องทำมาหากิน ไม่ได้มีข้อตกลงกับใครว่าจะต้องทำมรรคผลนิพพานให้แจ้ง แต่พระนี่ต้องพยายามทำมรรคผลนิพพานให้แจ้งเพราะว่าตกลงกับพระพุทธเจ้าไว้ ตกลงกับพระอุปัชฌาย์ไว้ตั้งแต่วันบวชว่า เราจะเข้ามานี้เพื่อทำมรรคผลนิพพานให้แจ้ง ไม่ใช่เข้ามาเพื่อแสวงลาภสักการะ ไม่ใช่เข้ามาเพราะว่าไม่มีปัญญาหากิน ไม่ใช่เข้ามาเพียงเพื่อจะได้ชื่อว่าเป็นนักบวชนุ่งเหลืองห่มเหลืองอย่างเดียว แต่เข้ามาเพื่อทำมรรคผลนิพพานให้แจ้ง นี่คือหน้าที่ของคนที่เขาบวชกัน

แต่เราเป็นฆราวาส หน้าที่ของเราก็คือจะต้องรับผิดชอบหน้าที่การงาน จะต้องทำปากทำท้องให้มันมีกินมีอยู่มีใช้ นี่คือภารกิจหลัก ส่วนเรื่องการเจริญสติเป็นของแถม ถ้าหากว่าเรามีความสามารถมีแรงบันดาลใจที่จะเจริญสติได้อันนั้นเป็นเรื่องดี อันนั้นเป็นเรื่องประเสริฐ นั่นเป็นขั้นบันไดที่จะต่อยอดขึ้นไปสู่ความเป็นบรรพชิต ผู้หญิงก็เป็นภิกษุณีหรือเป็นชีไป ส่วนผู้ชายถ้าเจริญสติก็หมายความว่าเราเข้าสู่เส้นทางของความเป็นพระ แต่ไม่ใช่ว่ามีกติกาไว้ว่าจะต้องรักษาวินัยแบบพระ คือหมายความว่าเราทำตามนิยามที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า ภิกษุ หมายถึงผู้ที่มีปัญญามองเห็นกายใจโดยความเป็นของไม่เที่ยง ไม่ใช่ตัวตน ไม่ควรยึดมั่นถือมั่น

การที่เราตอบคำถามตัวเองได้อย่างชัดเจนว่าเป็นฆราวาสเจริญสติไปทำไม มันมีความสำคัญ คือถ้าหากว่าเมื่อไรเรามีความทุกข์มีความขัดแย้ง อาการทุกข์อาการขัดแย้งนั่นแหละสมควรที่จะหลุดออกไปจากใจของเราด้วยการเจริญสติ เห็นว่าแม้แต่ความขัดแย้งแม้แต่ความทุกข์ที่มันเกิดขึ้น ความคิดที่มันมารบกวนจิตใจก็เป็นแค่ภาวะชั่วคราว เป็นสภาวะทางธรรมที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป ถ้าเคยชินที่จะดูบ่อยๆ ความคิดรบกวนแบบนี้ก็เข้ามาไม่ได้ แล้วความฟุ้งซ่านในแบบอื่นๆ แบบโลกๆ ที่รบกวนจิตใจอยู่เรื่อยๆ มันก็ไม่สามารถเข้ามาได้เช่นกัน เราก็จะได้เห็นประโยชน์ว่าการเจริญสติไม่ใช่เพื่อที่จะทำมรรคผลนิพพานให้แจ้งในฐานะของฆราวาส แต่ฆราวาสเจริญสติไปเพื่อสะสมบารมีธรรมให้เกิดความปล่อยวางขั้นต้น ความทุกข์ความฟุ้งซ่านแบบโลกๆ มาเบียดเบียนเราไม่ได้ แล้วขั้นต่อไปเมื่อเจริญเบ่งบานขึ้นเต็มที่แล้วค่อยคิดในเรื่องของการเอามรรคเอาผลในขั้นต่อไป



๓) รายการดังตฤณวิสัชนายกเลิกการให้ผู้ฟังใช้สไกป์โทรเข้ามาคุยแล้วหรือ?

คือช่วงนี้ขอความแน่ใจนิดหนึ่งก่อนว่ามันจะไม่ช้าแบบที่ผ่านมา แล้วรู้สึกว่าหลายคนก็ออนไลน์ สไกป์แล้วอาจจะไม่ถนัดเหมือนกับเขียนทางเฟสบุ๊คนะ คือกำลังคิดอยู่เรื่อยๆว่า จะทำรูปแบบรายการให้พัฒนาขึ้นไปยังไง อาจจะมีรายการวิทยุจริงๆ ขึ้นมาเลยก็ได้ แต่ว่าอันนั้นคงต้องเป็นโครงการระยะยาวนิดหนึ่ง มันไม่ใช่จะทำกันแบบพรวดพราดนะครับ คงต้องค่อยเป็นค่อยไป คือการพูดคุยกับพวกคุณในลักษณะถามตอบเพื่อที่จะยังความสว่างแก่จิตแก่ใจของทั้งคุณและผมก็เป็นเรื่องดี เป็นเรื่องที่ผมชอบอยู่แล้ว อยากจะทำอยู่แล้ว แต่ว่ารูปแบบเพื่อที่จะให้มีความติดขัดน้อยที่สุด หรือว่ามีอาการสะดุดติดขัดน้อยที่สุดจะต้องทำยังไง อันนั้นแหละต้องว่ากันเฉพาะหน้าตรงนี้ไปก่อนนะครับ สำหรับเฟสบุ๊คตอนนี้ก็รู้สึกว่ามันเป็นวิถีทาง เป็นช่องทางที่สะดวกที่สุดเท่าที่กำลังใช้ได้อยู่ ไม่ต้องกลัวว่าจะไม่ซิงค์กัน อย่างสไกป์นี่บางทีผมรอตั้งนานกว่าคนจะต่อสายเข้ามา เพราะว่าเสียงมันดีเลย์แล้วบางทีดีเลย์กันเป็นนาทีมันเอาแน่เอานอนไม่ได้ ดีเลย์อย่างน้อย ๑๐ วินาที บางทีเหมือนกับมีความล่าช้าจากทางสเปร็คเกอร์อะไรแบบนี้ ก็ว่ากันเป็นนาทีๆ ๕ นาทีก็เคย ก็เลยเอาแบบที่จะประกันว่าเราจะคุยกันได้แน่ๆ ก่อน เพราะทางเฟสบุ๊คถ้าหากว่าดีเลย์ไปก็ยังไปฟังย้อนหลังกันได้ แต่ทางสไกป์นี่ถ้าดีเลย์แล้วดีเลย์เลยหลายนาที บางทีผมไม่ได้เตรียมว่าจะพูดอะไรไว้ก็นึกไม่ออกเหมือนกันว่าจะพูดอะไรคั่นรายการขัดตาทัพนะ



๔) เป็นคนไม่กินเนื้อวัว แต่ซื้อกระเป๋าหนังวัวมาใช้ เป็นบาปหรือไม่?

ก็เหมือนกับกรณีโจทย์เรื่องควรกินมังสวิรัติ ไม่กินมังสวิรัติ ถ้าหากว่าเราไม่รู้ไม่เห็นว่าสัตว์ตายมาจากไหน ใครเป็นคนสั่งฆ่า เราไม่ใช้กำลังใจที่จะไปฆ่ามัน ก็ไม่เป็นไรหรอกเพราะว่าในการก่อกรรมในทางพุทธซึ่งหมายถึงการชี้เข้าไปทางภาวะธรรมชาติที่จะได้ทำบุญทำบาป เราต้องเล็งเริ่มต้นนับหนึ่งกันที่การรับรู้ ถ้าหากว่าการรับรู้ของเราคือ สัตว์มันเป็นศพอยู่แล้ว กระเป๋าคือศพสัตว์อยู่แล้ว หรือที่มันเป็นเนื้อในจานนี่เป็นศพอยู่แล้ว เราไม่รู้ว่ามันมาจากโรงฆ่าสัตว์ไหน ใครเป็นคนสั่งฆ่า ตรงนี้กำลังใจในการกินเนื้อ หรือไปใช้กระเป๋าหนังที่ทำมาจากสัตว์ ก็คือไปซื้อของ กำลังใจที่เราใช้จากการรับรู้ตั้งต้นที่ไปเห็นศพของสัตว์มาวางกองอยู่แล้ว มันไม่ใช่เป็นกำลังใจในการฆ่า ไม่ได้พยายามฆ่า ไม่ได้พยายามทำให้สัตว์ตาย สัตว์ตายอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นมันก็ไม่บาปหรอก แต่ถ้าเพื่อความสบายใจแล้วก็เพื่อความรู้สึกที่ยินดีในการไม่เบียดเบียนสัตว์โลก อันนี้ก็เป็นเรื่องดีถ้าหากว่าเราตั้งใจจะไม่ใช้ของที่ทำจากหนังสัตว์ หรือสำหรับคนที่ อันนี้ก็เป็นข้อถกเถียงกัน คนกินมังสวิรัติคนกินเจได้บุญไหม? ได้นะ ได้จากการที่เราตั้งจิตไว้ว่าไม่ขอเป็นส่วนหนึ่งในการทำให้สัตว์ตาย ไม่ขอเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดการเบียดเบียนเอาชีวิตกัน แค่นี้มันได้บุญแล้ว แค่นี้มันเกิดความรู้สึกที่ขนาดศพมันเรายังไม่เอามากินเลย แล้วชีวิตของสัตว์เราจะไปเอามันมาได้อย่างไร

ถ้าหากว่าคุณไม่ใช้ของที่ทำมาจากหนังสัตว์ ไม่กินเนื้อ ต้องไม่กินเนื้อทุกอย่างเลยนะ เพราะว่าเนื้อวัวกับเนื้อหมูเนื้อเป็ดเนื้อไก่ ก็คือเอาชีวิตกันเหมือนกัน ผมไม่เข้าใจว่าถ้าจะยกเว้นเฉพาะเนื้อวัวบอกว่าเป็นสัตว์ใหญ่ แล้วสัตว์อื่นมันไม่มีน้ำตาหรือ? มันไม่รักชีวิตหรือ? มันก็รักเหมือนกันนะ ถ้าหากว่าเราตั้งใจไม่กินเนื้อ สมควรที่จะไม่กินเนื้อทุกชนิดเลย อันนี้บอกถ้าในแง่ของการได้บุญจริงๆ ไม่ใช่ไปคิดว่าเราจะไม่เบียดเบียนเฉพาะสัตว์ใหญ่อย่างวัว ต้องไม่เบียดเบียนสัตว์ใดๆเลย ถ้าจะให้เกิดกุศลจิตที่มันเป็นลักษณะของเมตตา ลักษณะของการตั้งตนไว้ในรูปแบบของชีวิตที่ไม่เป็นเหตุของการเบียดเบียนสัตว์อื่นจริงๆ เราต้องคิดอย่างนี้เลยว่าแม้กระทั่งยุงตัวเดียวเราก็ไม่ตบ อย่าว่าแต่จะไปกินเนื้อสัตว์ใหญ่นะครับ

สรุปคำตอบก่อนว่า ถ้าไปเอากระเป๋าหนังมาแถมอันนี้ไม่รู้ด้วย คือการตั้งต้นการรับรู้ของเราไม่รู้ด้วยซ้ำว่านี่คือหนังวัว ก็ไม่บาปหรอก ไม่ต้องไปกังวลไม่ต้องไปไม่สบายใจอะไรกับมันนะครับ



๕) อยากช่วยพ่อที่ป่วยหนักให้หายเร็วๆ ควรทำอย่างไรดี?

ถ้าในแง่ของความเป็นลูกก็ดูแลท่านตามอาการ คือส่งหมอแล้วก็พยายามศึกษาว่ามีวิธีแบบไหน แพทย์ทางเลือกหรือว่าแพทย์แผนปัจจุบันใดๆ ที่จะทำให้อาการของท่านมีความบรรเทาเบาบางลงมากที่สุด อย่างถ้าแพทย์แผนปัจจุบันบางทีนี่ถ้าเจ็บปวดมากๆ ท่านก็สมควรจะได้รับมอร์ฟีนหรือถ้าเรามีความรู้เกี่ยวกับเรื่องของแพทย์ทางเลือกมาแบบไหนที่จะประกันได้ว่าท่านจะไม่เจ็บปวดมากแล้วก็ไม่มีผลข้างเคียงด้วย เราก็ทำทุกอย่าง

แล้วในทางนามธรรมในทางที่มองไม่เห็น ก็อาศัยการสวดมนต์แล้วก็แผ่เมตตาให้ท่านได้ เพราะว่าจิตที่มีพลังของเมตตา จิตที่มีความนุ่มนวล จิตที่มีกุศลดีแล้ว มีผลกระทบได้จริงๆ มีอิทธิพลจริงๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่เป็นญาติสายโลหิตกัน สามารถที่จะสื่อจิตถึงกันได้ง่าย มันจูนจิตติดกันมาตั้งแต่อ้อนแต่ออกอยู่แล้ว ความเป็นพ่อเป็นลูกกันสามารถทำให้จิตของเราสื่อถึงท่านได้ง่าย แล้วถ้าจิตของเราเป็นกุศล จิตของท่านก็จะพลอยเป็นกุศลตามได้เพียงแค่เรานึกถึงอย่างมีใจจดใจจ่อนึกถึง

อาการที่เรามีความใจจดใจจ่อนึกถึงด้วยความอยากจะให้ท่านหายเจ็บหายป่วย มีอยู่ ๒ อาการหลักๆ นะ ถ้าเราอยากให้ท่านหายป่วยด้วยอาการร่ำร้องตีอกชกหัว มีความทุกข์มีความอึดอัด อย่างนี้มันเท่ากับทุ่มเอาความทุกข์ความอึดอัดไปใส่ท่านเติมเข้าไปอีก ท่านอาจจะฝันร้าย ท่านอาจจะเห็นเรามาร้องตะแง้วๆ อาจจะเห็นภาพในฝันเป็นเราตอนเด็กๆ ตอนเล็กๆ แล้วร้องไห้จ้า มาเกาะแข้งเกาะขา มาพยายามเรียกร้องอะไรในสิ่งที่ท่านให้ไม่ได้ แต่ถ้าหากว่าเรามีความสุขก่อนที่จะคิดถึงท่าน ที่จะพุ่งจิตไปหาท่าน แบบนั้นท่านอาจจะเห็นเรายิ้มแย้ม รัศมีรอบตัวเราสว่าง สภาพแวดล้อมเรากับท่านเต็มไปด้วยสิ่งสวยงาม ท่านก็จะรู้สึกดีในภาวะที่จิตมีความกระสับกระส่ายอยู่อาจจะฟื้นคืนขึ้นมา เหมือนคนฝันดีน่ะ นึกถึงต่อให้กำลังมีความทุกข์อยู่ถ้าฝันดีขึ้นมา มันเกิดกำลังใจมันเกิดความอบอุ่นใจ มันเกิดความรู้สึกยังมีความหวังยังมีแสงสว่างอยู่ฉันใดฉันนั้น

ถ้าหากว่าเรามีความสุขด้วยการทำบุญทำกุศล ไม่ปล่อยให้ชีวิตประจำวันมารบกวนมาเบียดเบียนจิตใจเราได้มากนัก หมั่นสวดมนต์สวดให้เต็มปากเต็มคำ สวดอิติปิโสนี่ดีที่สุดเลยนะ สวดอิติปิโส ภะคะวา อะระหังสัมมาสัมพุทโธ… ให้เอาแก้วเสียงถวายเป็นพุทธบูชา ธรรมบูชา สังฆบูชา แล้วเกิดจิตใจที่มันเยือกเย็น เกิดจิตใจที่มันสว่างขึ้นมา เอาความสุขความเยือกเย็นตรงนั้นไปนึกถึงท่าน อยากให้ท่านได้ด้วย อยากให้ท่านมีความสุขร่วมกับเรา ถ้าทำบ่อยๆ คิดบ่อยๆ มันเป็นไปได้จริงๆ ที่คลื่นจิตของเราจะเข้าไปครอบงำทุกขเวทนาอันแก่กล้าของท่าน บรรเทาเบาบาง ทำให้ลักษณะจิตลักษณะใจของท่านมีความผ่อนคลาย แล้วร่างกายก็จะผลิตสารดีๆ ออกมาช่วยยาหมออีกแรงหนึ่งนะครับ



๖) อยากเริ่มฝึกสติตามสติปัฏฐาน ๔ ควรทำอย่างไร?

คำว่ามหาสติปัฏฐาน ๔ ไม่ใช่คำที่ถูกนะต้องบอกว่าฝึกสติตามมหาสติปัฏฐานสูตร หรือไม่ก็บอกว่าสติปัฏฐาน ๔ เฉยๆ

สติปัฏฐาน ๔ คือกายใจที่เป็นเครื่องตั้งของสติ ๔ ประการ ‘กาย เวทนา จิต ธรรม’ ที่มีคำว่ามหาขึ้นมาเพราะว่ามาจากคำว่า มหาสติปัฏฐานสูตร คือเป็นพระสูตรอย่างใหญ่ที่รวมเอาเรื่องของสติปัฏฐาน ๔ ทั้งหมดครบสูตรมารวมไว้ในที่เดียว ที่ถูกเราต้องบอกว่าอยากเริ่มฝึกสติตาม สติปัฏฐาน ๔ แต่ยังยึดติดกับร่างกายอยู่คือยังต้องแต่งหน้า ไม่ควรฝึกแบบกายานุปัสสนาใช่ไหม? แล้วควรฝึกแบบไหนดี?

การฝึกแบบกายคตาสติ หรือว่ากายานุปัสสนา เริ่มต้นตั้งแต่ลมหายใจแล้วก็รู้อิริยาบถ ไม่ใช่เริ่มต้นด้วยการไปพิจารณาว่ากายเป็นซากศพ หรือว่ากายเป็นสิ่งที่แออัดไปด้วยสิ่งโสโครกเน่าเหม็น ขึ้นต้นมาถ้าใครไปฝึกแบบนั้น จะมีแต่อาการหลอกตัวเอง มันไม่เห็นความจริง แต่ถ้าหากว่าเราเริ่มฝึกมาตามลำดับเห็นว่าเดี๋ยวก็หายใจเข้าเดี๋ยวก็หายใจออก เดี๋ยวก็ลมหายใจยาวเดี๋ยวก็ลมหายใจสั้น จนกระทั่งจิตมันออกมาเป็นผู้ดูอยู่เฉยๆ ดูกองลมทั้งปวงว่ามันไม่เกี่ยวข้องกับจิต ลมหายใจส่วนลมหายใจ จิตก็ตั้งมั่นในฐานะผู้รู้ผู้ดูของมันอยู่อย่างนั้น ตรงนั้นจะเกิดความสามารถที่จะเห็นว่าอิริยาบถขยับไปถึงไหนสติก็ตามไปถึงนั่นทุกกระดิก นี่เรียกว่าเป็นการฝึกมาตามลำดับ พอสามารถเห็นกายได้ทุกกระดิกไม่ว่าจะอยู่นิ่งหรือว่าขยับไหว ตรงนั้นจิตจะมีความใหญ่กว่ากายแล้วมันค่อยมีความสามารถที่จะดูจริงๆ ดูออกมาจากสภาพที่กำลังปรากฏอยู่ในปัจจุบัน

อย่างนั่งอยู่ในขณะนี้ ถ้าหากว่าเราสามารถที่จะเห็นมันเป็นกายนั่ง เห็นกายเป็นของเล็ก จิตใหญ่กว่ากายได้ ก็จะรู้สึกเลยว่า ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อหนังที่ห่อหุ้มอยู่รอบอิริยาบถนี้มันเต็มไปด้วยเหงื่อไคล เต็มไปด้วยของสกปรกที่พยายามดันออกมาภายนอก ตรงนั้นเป็นความเห็นที่เรียกว่าเป็นอสุภกรรมฐานจริงๆ ไม่ใช่เป็นอสุภกรรมฐานแบบหลอกตัวเอง ที่นี้ถามว่าเราควรเริ่มจากตรงไหนถึงจะดี? จะเอาแบบไหนที่ถนัดก็ได้ ถ้าหากว่าชอบใจ รู้สึกว่าเป็นของง่ายที่จะดูจิตดูใจ มันฟุ้งซ่านอยู่รู้ว่าฟุ้งซ่าน มันกำลังมีความทุกข์อยู่รู้ว่ามีความทุกข์ ยอมรับไปตามจริงมันก็ใช้ได้อย่างน้อยที่สุดเจริญสติก็เพื่อที่จะเอาความทุกข์ที่มันกำลังครอบงำหรือความฟุ้งซ่านที่มันกำลังมาเบียดเบียนสติปัญญาให้ออกไปก่อน เอาออกไปให้ได้ก่อน นั่นเรียกว่าเป็นการเจริญสติแบบฆราวาสที่ดีแล้ว

แต่ถ้าหากว่าเราอยากที่จะเจริญสติในแบบมาตรฐานที่ทำให้เกิดสมาธิ ที่ทำให้เกิดปัญญากันแบบติดเนื้อติดตัวจริงๆ ก็ต้องหลีกเลี่ยงไม่ได้เลย ก็คือว่าทำตามที่พระพุทธเจ้าท่านคะยั้นคะยอเถอะ ดูลมหายใจนะ ดูให้เป็น ดูเป็นไม่ใช่เรื่องยุ่งยากอะไร ไม่ต้องไปนั่งสมาธิหลับตาอะไรที่ไหน ถ้าหากว่าลมหายใจเข้ารู้ว่าลมหายใจเข้า ถ้าหากลมหายใจออกรู้ว่าลมหายใจออก แค่นี้แหละเรียกว่าเป็นวิปัสสนานุบาลแล้ว เป็นขั้นอนุบาลของการฝึกเจริญสติแล้วนะ

การที่เราจะรู้ลมหายใจเข้าออก รู้ยังไงเรียกว่าถูกต้อง? ก็ไม่ต้องไปเพ่งที่ตรงใดตรงหนึ่ง ไม่ต้องไปดูว่ามันกระทบโพรงจมูกหรือจงอยจมูกอะไรที่ไหน พระพุทธเจ้าไม่เคยสอนแบบนั้นเลย ท่านให้ระลึกเฉยๆ ก็พอ มันสามารถรู้ได้ด้วยตัวเองอยู่แล้วว่า การที่เราจะรู้สึกถึงลมหายใจเข้ามันรู้สึกยังไง มันมีทุกอาการเลย นั่งอยู่อย่างนี้ก็มีอาการขยับไหวของกระบังลม มีการลากลมหายใจเข้ามา มีอาการระบายลมหายใจออกไป ลักษณะทั้งหมดที่เราสามารถรู้สึกได้อย่างเป็นธรรมดาอย่างเรียบง่ายอย่างไม่ต้องไปเพ่งหรือว่าคิดอะไรซับซ้อน นั่นแหละเรียกว่าการรู้ลมหายใจจริงๆ แล้วนะ ถ้าหากว่ามันยาวมันสั้นเราก็แค่เปรียบเทียบเอาว่าลมหายใจก่อนกับลมหายใจนี้มันแตกต่างกันยังไง มันยาวมันสั้นกว่ากัน เอาแค่นี้เรียกว่าปฏิบัติตามที่พระพุทธเจ้าสอนแล้ว

ถ้าหากว่าเราดูไปเล่นๆ เรื่อยๆ จะพบว่าลมหายใจมันทำให้จิตอยู่กับที่ไม่วอกแวก ไม่ส่งออกไปแบบซัดส่าย ไม่ส่งออกไปแบบที่เรียกว่าหมุนไปตามโลกไม่รู้จบ เป็นการหยุดตามกระแสโลกแล้วเข้าสู่กระแสธรรม ก็คือกระแสความจริงที่เราจะต้องยอมรับให้ได้ ถ้าใครบอกว่าตัวเองเจริญสติแล้วไม่สามารถยอมรับความจริงได้ ไม่สามารถยอมรับได้ว่าเราถูกหรือเราผิด ตรงนี้เรียกว่าล้มเหลวในการเจริญสติแล้ว คนส่วนใหญ่ไปพูดถึงอะไรที่มันแอดวานซ์กัน เห็นโน่นเห็นนี่ เห็นว่าร่างกายเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ได้ญาณขั้นนั้นขั้นนี้ แต่แค่ยอมรับความจริงไม่ได้นี่จบเลยนะ คุณยังไม่ได้มีสติจริงๆ เลย ถ้าเราจะวัดว่าเรามีสติจริงไหม เอาง่ายๆ เลยอะไรเกิดขึ้นในชีวิตประจำวันเราสามารถยอมรับได้ไหม อย่างผิดรู้ว่าเราผิดไหม กล้ายอมรับไหมว่าเราผิด หรือเรากำลังฟุ้งซ่านอยู่ ยอมรับได้ไหมว่านี่กำลังฟุ้งซ่านอยู่ ถ้าหากว่ามีแต่ความกระวนกระวายอยากจะให้มันหายฟุ้งซ่านอยากจะให้มันอย่างนั้น อยากจะให้มันอย่างนี้ ของยังไม่ควรจะได้มา เราอยากจะได้มา เอาวันนี้เลยไม่รออาทิตย์หน้าไม่รอเดือนหน้า อย่างนี้เรียกว่าเป็นอาการที่จิตไม่สามารถยอมรับความจริงได้ทั้งสิ้น

ถ้าหากจิตไม่สามารถยอมรับความจริงได้แม้กระทั่งเรื่องง่ายๆ แบบพื้นๆ แบบโลกๆ แบบเบสิคๆนี่นะ การที่เราจะมาถามหาอุบายปฏิบัติธรรมที่จะทำให้เกิดความเจริญรุ่งเรืองขึ้นบนเส้นทางของมรรคผลนิพพาน มันสวนทางกันมันขัดกันอย่างยิ่งเลย ขอให้จำไว้เป็นคีย์เวิร์ดเลยนะ ถ้าเราเจริญสติจริง ถ้าเรามาตามเส้นทางของสติปัฏฐาน ๔ จริง ใจเราต้องมีความสามารถในการยอมรับตามจริง ใจเราต้องมีความคิดที่จะถอนออกมาจากโลกของการเบียดเบียน ศีล ๕ นี่เป็นตัวบอกเลย เราสามารถยอมรับความจริงได้ไหม เราสามารถที่จะออกจากโลกของการเบียดเบียนได้ไหม เราได้รับการยั่วยุให้ทำร้ายกันหรือว่าฆ่าฟันกัน เราสามารถที่จะถอนใจออกมาให้อภัยได้ไหม หรือว่าเรามีอะไรมายั่วใจให้เล็งโลภไป ให้อยากได้ของที่มันไม่ใช่สิทธิ์ของเรามาครอบครอง เราสามารถห้ามใจตัวเองได้ไหม คนอื่นมีเจ้าของแล้วเราสามารถถอนใจออกมาได้ไหม ถ้าเราไปเกิดตกหลุมรักหรือว่าพิศวาสเข้า หรืออย่างเรื่องของการโกหก ตัวนี้เป็นตัววัดเลยนะว่าใจเรามีความสามารถที่จะยอมรับตามจริงได้หรือเปล่า ผมเห็นคนที่อ้างว่าตัวเองเจริญสติ อ้างว่าตัวเองเจริญในธรรม ปฏิบัติธรรมมาได้ขั้นแอดวานซ์ขั้นโน้นขั้นนี้ ในที่สุดก็มาตกม้าตายเอาข้อนี้แหละ คือโกหกเป็นประจำ โกหกเป็นนิสัย ปากว่าตาขยิบอะไรแบบนี้ เห็นบ่อยมากมีเยอะจริงๆ

ความสามารถจะยอมรับตามจริงดูกันข้อนี้เป็นหลักเลย ถ้าหากว่าเราเป็นผู้ที่ไม่พูดโกหก รู้อยู่แก่ใจว่าเราไม่พูดบิดเบือน ไม่พยายามที่จะทำให้มันพลิ้วจากข้อเท็จจริงไป ทำให้สิ่งที่เป็นโลกของความจริงได้ทรงอยู่กับความเป็นจริงต่อไปไม่บิดเบือน จิตของเราจะตรงมากขึ้นเรื่อยๆ คือมันเป็นการดัดจิตนะ แต่ละวันโลกพยายามจะยื่นแบบฝึกหัดมาให้ หรือว่าเอาเรื่องยั่วยุให้จิตบิดเบี้ยวมาให้ โกหกนิดโกหกหน่อย บางทีเหมือนกับแค่จะรักษาหน้าเราถึงกับพูดไปโยนโทษให้คนอื่น หรือบอกว่าเราไม่ได้ทำ มันเป็นสิ่งที่ทำให้ความจริงถูกบิดเบือน แล้วผลที่เห็นชาตินี้เดี๋ยวนี้เลย เราทำบ่อยๆ จิตเราก็จะบิดเบี้ยว ถ้าจิตบิดเบี้ยวลืมไปได้เลยเรื่องของการเจริญสติขั้นแอดวานซ์ มันไม่มีทางเลยเพราะว่าการเจริญสติเอาแค่ขั้นประถมแค่ขั้นอนุบาลก็ต้องสามารถยอมรับความจริงให้ได้

ขอให้สังเกตถ้ารู้จักใครที่โกหกเก่งๆ แม้กระทั่งจะมาดูลมหายใจของตัวเองก็ดูไม่ออกนะ คือจิตมันบิดเบี้ยวไปแล้ว มันไม่สามารถยอมรับความจริงตรงหน้าได้ มันจะเลื่อนลอยไป หรือถูกครอบงำอยู่ด้วยความคิดความฝันว่าอยากให้เป็นอย่างนั้น อยากให้เป็นอย่างนี้ ไม่สามารถจูนได้ตรงกับความเป็นจริง ตรงนี้ขอให้มองอย่างนี้ก็แล้วกันว่า ก่อนคิดถึงเรื่องของอุบายธรรม เราทบทวนตามลำดับที่พระพุทธเจ้าวางไว้เลย หนึ่ง ต้องมีน้ำใจนั่นก็คือให้ทาน สอง คือมีความสะอาดของใจนั่นก็คือรักษาศีล สาม เราต้องมาฝึกกับอะไรที่มันอ่านออกบอกถูกได้ง่ายที่สุด ภาวะที่มันเกิดขึ้นตลอดเวลา ๒๔ ชั่วโมง นั่นก็คือลมหายใจเข้าออก ลมหายใจนี่มันมีเข้ามีออกอยู่ตลอดเวลา ๒๔ ชั่วโมง แต่เราไม่เคยไปรู้สึกถึงมัน ถ้าของที่ปรากฏอยู่ตลอด ๒๔ ชั่วโมงเรายังรับรู้ไม่ได้ แล้วเราจะไปรับรู้อะไรที่มันลึกซึ้งไปกว่านั้น หรือแอดวานซ์ไปกว่านั้นได้ อันนี้ก็ตั้งเป็นโจทย์ไว้สำหรับช่วงแรกฝึกนะครับ

สรุปก็คือถ้าจะเจริญสติ เอาเรื่องของการยอมรับตามจริงให้ได้ เอาแบบเบสิคก่อนแบบโลกๆ แล้วค่อยไปคิดถึงเรื่องแอดวานซ์ขึ้นไปตามลำดับขั้น


วันนี้ก็หมดเวลาครับ เดี๋ยวเปิดเพลงให้ฟังครึ่งนาที ราตรีสวัสดิ์ครับ ขอให้เจริญในธรรมด้วยกันทุกท่านนะครับ


« กลับสู่สารบัญเรียงตามครั้งที่ออกอากาศ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น