วันอาทิตย์ที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2560

ต้องอยู่ในครอบครัวที่คนมีอัตตาสูง รู้สึกหดหู่เวลาโดนกระแทกอารมณ์ใส่ ควรทำอย่างไรคะ?

คำถาม : ต้องอยู่ในครอบครัวที่คนมีอัตตาสูง แสดงความไม่พอใจเวลาเราคิดไม่ตรงกับเขาเสมอ อยากจะปล่อยวาง แต่ทำใจไม่ได้เสียที รู้สึกหดหู่ เวลาโดนกระแทกอารมณ์ใส่ ควรทำอย่างไรคะ?

ช่วงถาม-ตอบ
รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน ประตูผ่านโลก
21 ตุลาคม 2560
รับฟังทางยูทูบ : https://youtu.be/55wXILRjVaE

ดังตฤณ:  
ช่วงหลังๆ มีคำถามแบบนี้มาเยอะนะ
คือ จริงๆแล้วเนี่ย ถ้าเราเจอคนที่ทำงานประมาณนี้ มันยังไม่แย่เท่าเจอคนที่บ้านทำใส่ เพราะว่า ที่ทำงาน บางทีมันอยู่ในใจเราว่าเป็นสนามรบ ที่มีการแข่งขันกันทางธุรกิจ มีการแข่งขันกันเองระหว่างเพื่อนร่วมงาน มีการบีบคั้นจากหัวหน้า มีการพยศจากลูกน้อง คือ พูดง่ายๆว่า ใจเราไม่คาดหวังมากอยู่แล้วว่าที่ทำงานจะเป็นสถานที่ที่อบอุ่น เข้าไปแล้วเกิดรู้สึกแสนดี อยากเข้าไปทั้งเจ็ดวัน ไม่หยุดเลย มันไม่ใช่อย่างนั้น เราไม่คาดหวัง

แต่คำว่า "บ้าน"  เนี่ย มันทำให้เราเกิดความคาดหวัง เพราะว่าตั้งแต่เล็กจนโต บ้านเป็นสถานที่เอาไว้พักนอน เวลาหนาวก็เอาผ้าห่มมาห่มให้เกิดความรู้สึกอบอุ่น เวลาเนื้อตัวสกปรก ก็เป็นที่ไว้ชำระร่างกาย และมีที่ส่วนตัว มีมุมโปรดของเรา หรือพูดง่ายๆว่าเป็นโลกของเรา ซึ่งถ้าหากว่าโตแล้วมีความสามารถที่จะเลี้ยงตัว แล้วซื้อบ้าน ซื้ออะไรเป็นของตัวเอง ก็จะรู้สึกว่า นี่แหละ คือความเป็นเรา  คือความเป็นเราไม่ได้อยู่เพียงแค่รูปร่างหน้าตา จะรวมถึงสภาพแวดล้อมที่ห่อหุ้มตัวเราอยู่ด้วย และเป็นของๆเรา เป็นที่ๆเราได้อยู่กับตัวเองเต็มที่

แต่ถ้าหากว่ายังต้องอยู่ร่วมกันกับคนอื่น ยังต้องอยู่กับพ่อแม่พี่น้อง ต้องอยู่ในฐานะผู้อาศัย หรือ ในฐานะผู้ให้ "เขา" อยู่ก็ตาม บางที มันเกิดความรู้สึกว่า "เขตความเป็นเรา" เขตความอบอุ่นใจ เขตความรู้สึกแสนดี เนี่ย มันมีอยู่ในที่แคบๆจำกัด คือแค่ "ห้องนอน" ของเราเท่านั้น พอออกนอกเขต บางที่ต้องยื้อแย่ง เช่น น้องดูทีวีอยู่ เราก็เล่นเกมไม่ได้ หรือว่าพี่ใช้คอมพ์ เราไม่มีสิทธิ์ใช้ ต้องรอคิว หรืออย่างกรณีที่เป็นคำถามนี้ คือ มันทำให้เกิดความรู้สึกว่า บ้านเป็นที่ๆเราจะเกิดความรู้สึกว่าเหมือน "ตกนรกหมกไหม้" ได้
อันนี้ขอใช้คำนี้ เพราะมันเป็นความรู้สึกของหลายๆคนที่เจอกับผู้หลักผู้ใหญ่ที่พูดไม่ดี พูดกระแทก แบบพยายามทำให้รู้เลยว่าตั้งใจให้ เจ็บช้ำน้ำใจ หรือด่าว่าให้เกิดความรู้สึกไม่ดีเกี่ยวกับชีวิตตัวเอง แบบนี้ มันเหมือน "ตกนรกอยู่ที่บ้าน"

บางทีนะ เรามีสนามรบ อยู่ที่ที่ทำงาน เราหวังว่าจะกลับมาอยู่ในที่ๆมันสงบ มาพักรบ แต่ไม่ใช่ หนีเสือ ปะจระเข้ มันยิ่งกว่านั้น คือกลับมาตกนรกเลย ไม่ใช่ไปแค่เข้าสนามรบ เพราะฉะนั้น ตรงที่บอกว่า ขอคำแนะนำ จะทำใจยังไง? หรือจะให้พูดยังไง? คือ ลองมาหมดทุกวิธีแล้ว มันไม่มีอะไรดีขึ้นเลยนะ อันนี้ขอบอกตรงๆเลยนะว่า วิธีที่ทำให้ "นรกทางใจ" มันหายไปเลยนั้น มันไม่ใช่เรื่องง่ายๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สิ่งที่มันอยู่ที่บ้านเนี่ยนะ มันไม่ใช่สนามรบ มันเป็นเหมือนกับ ..เค้าจะเรียกว่าอะไร? .."ที่ลงโทษ" หรือไม่ก็ "ที่ตบรางวัล" นี่พูดให้เข้าใจแบบชัดเจนเลยนะ

บางทีเนี่ย คำว่า "บ้าน" มันมีอยู่สองอย่าง ไม่สวรรค์ ก็นรก ขึ้นอยู่กับว่าเราเคยได้สร้างบ้านแบบไหนมา? ทำให้คนในครอบครัวมีความรู้สึกแบบไหน? นะ อันนี้ทำความเข้าใจเป็นพื้นฐานก่อน เพื่อที่จะให้เกิดความรู้สึกว่า โอเค มันมีเหตุผลอะไรบางอย่างอยู่เบื้องหลัง คือไม่ใช่ว่าอยู่ๆเรามาตกอยู่ในภาวะแบบนี้ บางคนทำไม พ่อแม่เค้าดี๊ดี  ดีตั้งแต่ลูกยังเด็ก จนลูกแก่เฒ่า ไม่เคยว่าให้เจ็บช้ำน้ำใจ มีแต่อธิบายให้เป็นเหตุเป็นผล  ถ้าตำหนิ ก็ตำหนิแบบที่ทำให้รู้คิดมีปัญญามากขึ้น ทำให้คิดเป็น ไม่ใช่ดุด่าให้เจ็บแสบ นะ

อันนี้ก็เราเคยทำมาอย่างไรนะ เราก็ต้องมาอยู่กับผลแบบนั้น อันนี้ ถ้ามองด้วยความเชื่อแบบนี้  ด้วยความศรัทธา ในวิบากแห่งกรรม ในผลแห่งกรรม เราจะมีความรู้สึกว่า สภาพที่เป็นอยู่เนี่ย มันคือ วิธีใช้กรรมแบบหนึ่ง พอมีความรู้สึกอย่างนี้ ก็ให้สังเกตไปเรื่อยๆว่าการใช้กรรมของเราเนี่ย มันมีข้อแตกต่างได้นะ

ถ้าหากว่า เราทุกข์ร้อน เรารู้สึกเจ็บช้ำน้ำใจ เรารู้สึกดิ้นเร่าๆ พยายามที่จะเอาชนะกรรมเก่า ไม่ใช่เจ้ากรรมนายเวรนะ  พ่อแม่ไม่ใช่เจ้ากรรมนายเวร แต่เป็นวิธีใช้กรรมเก่าของเรา

วิธีที่เราโต้ตอบเนี่ย เป็นวิธีที่ดุเดือด ดึงดัน จะเอาชนะ หรือว่าเป็นวิธีที่จะค่อยๆอ่อนโอนผ่อนตาม ทำให้ผู้ใหญ่เนี่ย มีความรู้สึกเหมือนกับว่าเราไม่ได้หงอ แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ได้แข็ง คือมันอยู่ตรงกลางๆ นะ

คือเราต้องมีคำพูดที่สั้น ชัดเจน แสดงถึงความเข้มแข็งของจิตใจนะ เวลาที่จะโต้ตอบท่าน แต่ต้องไม่เจือด้วยความโกรธ ถ้าเวลาที่ท่านหลุดคำพูดขึ้นมาว่า ปีกกล้าขาแข็งแล้วเหรอ เราต้องหยุด แต่ต้องหยุดอย่างสง่างาม ไม่ใช่ หยุดด้วยอาการที่หยุดแบบอัดอั้นตันใจ ราวกับลูกหนูที่ถูกบีบ จนตัวแทบไม่เหลือ ต้องหยุดในลักษณะที่ทำให้ท่านสัมผัสได้ถึงความสงบของใจ ซึ่งอันนี้ต้องฝึก

การปฏิบัติธรรมที่บ้านเนี่ย มันมีตรงนี้ด้วย คือถ้าเราทำไว้ในใจว่า เราจะฝึก นี่ก็คือ การปฏิบัติธรรมทันที

คือตั้งแต่นาทีที่เราตั้งใจว่า เราจะฝึกที่จะหยุดโต้ตอบ ฝึกที่จะมีความสงบเป็นการตอบโต้ผู้ใหญ่ ให้ท่านรู้สึกถึงความสงบ นาทีนั่นแหละ สิ่งที่เราตัดสินใจนั่นแหละ ที่เราลงมือทำนั่นแหละ คือ การปฏิบัติธรรมที่บ้าน

ผลของการปฏิบัติธรรมที่บ้านกับผู้ใหญ่ที่ชอบขึ้นเสียง ที่ชอบพูดจาให้เจ็บใจ เราจะค่อยๆเห็นวันต่อวัน ไม่ใช่แค่วันสองวันนะ..วันต่อวัน เป็นเดือนๆเป็นปีๆ เราจะรู้สึกเหมือนว่าท่านได้รับความสงบจากเราไป เหมือนท่านหยุดเป็น เหมือนที่เราหยุดเป็นมาแรมเดือนแรมปี

นี่แหละ คือ วิธีโต้ตอบกับผลกรรมเก่าของเรา เป็นวิธีโต้ตอบอย่างแท้จริงเลย โต้ตอบในแบบจะทำให้อะไรๆมันดีขึ้น นี่เรียกว่าเป็นบุญใหม่ เป็นกรรมใหม่ เป็นของใหม่

แต่ถ้าหากว่า เราโต้ตอบในแบบว่าจะทำให้อะไรๆมันแย่ลง หรือว่าร้ายอยู่อย่างนั้น คาราคาซัง นั่นคือว่า เราไม่ได้ใช้กรรมเก่าเลยนะ แทบจะไม่ได้ทำให้ของเก่ามันหมดสิ้นไป เพราะว่าการโต้ตอบกับพ่อแม่ หรือผู้ใหญ่ที่มีพระคุณ ยังไงเราก็เสียเปรียบนะ ยังไงเราก็ต้องกลับไปรับผลอีก ยังไงเราก็ต้องกลับไปอยู่วงจรนี้อีก มันไม่ช่วยให้ดีขึ้น ทั้งในปัจจุบัน และในอนาคต

แต่เมื่อไร เราตั้งใจจะปฏิบัติธรรมที่บ้าน เราจะดีขึ้นทันที เห็นนาทีนี้เลย แล้วจะดีขึ้น ในกาลต่อๆไปที่จะตามมาข้างหน้าด้วยนะครับ

คือ ผมเน้นที่ใจนะ ใจเนี่ยเป็นสิ่งที่มันส่งผ่านถึงกันได้ เป็นกระแสที่ส่งผ่านถึงกันได้ ถ้าเรามีความสงบ ในขณะที่คนอื่นมีความวุ่นวาย เค้าจะวุ่นวายน้อยลงตามเรา ถ้าเรามีความเยือกเย็น ในขณะที่คนอื่นเค้าร้อนแรง เค้าเสียดแทงเหลือเกิน ความเย็นของเรา จะทำให้เค้ารู้สึกว่านึกคร้านที่จะมาทิ่มแทงต่อนะ  อันนี้ จะเป็นสิ่งที่เห็นผล หลังจากบารมีของเราที่บำเพ็ญในการปฏิบัติธรรมที่บ้านได้มากพอ..นานพอนะครับ

















วันจันทร์ที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2560

การแผ่เมตตา (โดยอาศัยจิตสามัญ และ โดยอาศัยสมาธิจิต)

ก่อนอื่นต้องเข้าใจว่าการแผ่เมตตานั้น มีจุดประสงค์เพื่อละพยาบาท เช่นที่พระพุทธองค์ตรัสสอนพระราหุลในราหุโลวาทสูตรมีความว่า…

ดูกรราหุล เธอจงเจริญเมตตาภาวนาเถิด เพราะเมื่อเธอเจริญเมตตาภาวนาอยู่ จักละพยาบาทได้

และเมื่อเข้าใจแล้วว่าเราต้องการละพยาบาท ก็ต้องทำความเข้าใจให้ละเอียดต่อไปอีกชั้นหนึ่ง ว่า "ความโกรธ" กับ "ความพยาบาท" นั้นเหมือนหรือต่างกันอย่างไร สำหรับความโกรธนั้นคือตัวโกธะ ซึ่งอาจหมายถึงความขุ่นเคืองที่เกิดจากผัสสะกระทบใดๆ อาการทางจิตโดยทั่วไปจะเหมือนไฟไหม้ฟาง คือวูบหนึ่ง หรือระยะหนึ่งแล้วดับหายไป ส่วนความพยาบาทนั้นจะหมายเอาความแค้นใจ ความเจ็บใจ ความคิดร้าย ซึ่งเป็นตรงข้ามกับเมตตาโดยตรง พฤติของจิตจะเป็นไปในทางผูกใจคิดแก้แค้นเอาคืน หรือแม้ไม่ถึงขั้นลงมือเอาคืน ก็มีอาการขัดเคือง ขุ่นข้องค้างเติ่งอยู่อย่างนั้น

เมื่อเข้าใจตรงนี้ ก็จะเห็นว่าตัวความโกรธอาจพัฒนาเป็นความพยาบาท หรืออาจจะหายไปเสียเฉยๆก็ได้ ขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัยหลายต่อหลายประการ ดังนั้นเราเอาจแผ่เมตตาเพื่อระงับความโกรธ ตัดไฟแต่ต้นลมเพื่อมิให้ลุกลามเป็นพยาบาทก็ได้ หรืออาจแผ่เมตตาเพื่อทำความพยาบาทที่ครอบงำจิตอยู่แล้วให้สูญไปก็ดี ทั้งนี้ต้องเข้าใจว่าการแผ่เมตตามิใช่การทำเชื้อแห่งความโกรธให้ดับลงสนิท เพราะนั่นเป็นงานวิปัสสนา เราแผ่เมตตาเป็นงานสมถะ เพื่อทำจิตให้มีคุณภาพพอจะต่อยอดเป็นวิปัสสนาในภายหลัง

และเมื่อทำความเข้าใจเป็นอย่างดีแล้วว่าจุดประสงค์ของการแผ่เมตตาเป็นไป เพื่อละพยาบาท อันเป็นของครอบงำจิตระยะยาว ก็ต้องเห็นซึ้งยิ่งขึ้นไป ว่าการแผ่เมตตาเป็นเรื่องของการ "เปลี่ยนนิสัย" คือต้อง "ละพยาบาท" ให้ขาดจากจิต แม้โกรธขึ้นก็เหมือนจุดไฟดวงน้อย เรามีน้ำกลุ่มใหญ่ไว้สาดให้ดับพร้อมอยู่แล้ว

เมื่อแผ่เมตตาเป็น จะเกิดกระแสจิตอีกแบบหนึ่งที่ทำให้รู้ว่ากรรมฐานข้อนี้ต่างกับข้ออื่น คือถึงจุดหนึ่งแล้วเหมือนจิตฉายรัศมีเมตตาออกมาเองโดยไม่ต้องกำหนด เนื่องจากเมตตาเป็นธรรมชาติของจิตที่เปล่งประกายได้โดยปราศจากเจตจำนงบังคับ ตรงนั้นจะเห็นอานิสงส์ของการแผ่เมตตาตามที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ในเมตตาสูตร

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อเมตตาเจโตวิมุติ อันบุคคลเสพแล้ว เจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ทำให้เป็นดุจยาน ทำให้เป็นที่ตั้ง ให้ตั้งมั่นโดยลำดับ สั่งสมดีแล้ว ปรารภด้วยดีแล้ว พึงหวังอานิสงส์ ๑๑ ประการคือ ย่อมหลับเป็นสุข, ย่อมตื่นเป็นสุข, ย่อมไม่ฝันลามก, ย่อมเป็นที่รักแห่งมนุษย์ทั้งหลาย, ย่อมเป็นที่รักแห่งอมนุษย์ทั้งหลาย, เทวดาทั้งหลายย่อมรักษา, ไฟ ยาพิษ หรือศาตราย่อมไม่กล้ำกรายได้, จิตย่อมตั้งมั่นโดยรวดเร็ว, สีหน้าย่อมผ่องใส, เป็นผู้ไม่หลงใหลทำกาละ, เมื่อไม่แทงตลอดคุณอันยิ่ง ย่อมเป็นผู้เข้าถึงพรหมโลก

สำหรับงานภาวนาในสติปัฏฐาน 4 คงหวังผลเด่นประการหนึ่งจากบรรดาอานิสงส์ทั้ง 11 ข้อข้างต้นนี้ นั่นคือ "จิตย่อมตั้งมั่นโดยรวดเร็ว" ซึ่งสำหรับอานิสงส์ดังกล่าวย่อมรู้ได้โดยไม่จำเป็นต้องพิสูจน์เสียก่อน ใช้เหตุผลตามจริงที่ว่าเมื่อจิตสงบ อ่อนโยน มีความสุข ปราศจากการคุมแค้นอาฆาตใคร ไม่คิดจองเวรใคร ก็ย่อมปราศจากคลื่นความฟุ้งในหัว และพร้อมพอใจะเข้าสู่ความตั้งมั่นในอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งที่ต้องการได้ง่ายๆ แน่นอน

การเจริญเมตตาภาวนานั้นแบ่งออกได้เป็นสองลักษณะใหญ่ๆตามวิธีดำเนินจิต แบบแรกคือใช้จิตที่ยังคิดนึกส่งความปรารถนาดี ปรารถนาให้บุคคล สัตว์ หรือสิ่งของอันเป็นเป้าหมายมีความสุข แบบที่สองคือกำหนดจิตอันตั้งมั่นแล้ว แผ่กระแสเมตตาออกตามรัศมีจิต เริ่มต้นอาจจะเพียงในระยะสั้นเพียงสองสามเมตร ต่อมาเมื่อล็อกไว้ได้นาน ก็อาศัยกำลังอันคงตัวนั้น ยืดขยายระยะ หรือตั้งขอบเขตออกไปไกลๆ กระทั่งถึงความไม่มีประมาณ ทิศเดียวบ้าง หลายทิศพร้อมกันบ้าง ตลอดจนครอบโลกโดยปราศจากทิศคั่นแบ่งบ้าง เป็นผลพิสดารในภายในอันรู้ได้ด้วยตนเองเมื่อสามารถทำสำเร็จ

เมื่อทราบว่าการเจริญเมตตาภาวนาแบ่งออกเป็นสองวิถีทางอย่างนี้ ก็พึงทราบว่าการเจริญเมตตาไม่ได้ขึ้นอยู่กับจริตนิสัย ไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าใครมีปัจจัยใดๆหนุนหลังหรือถ่วงรั้งเอาไว้ แต่เป็นเรื่องที่ทุกคนสมควรฝึก สมควรทำให้เกิดขึ้นในตน เพื่อขจัดวัชพืชออกไปจากพื้นที่เพาะพันธุ์มรรคผลในจิตเรา

การฝึกเจริญเมตตาโดยอาศัยจิตสามัญ

ก่อนอื่นต้องสำรวจด้วยความตระหนักแบบไม่เข้าข้างตนเอง ว่าเป็นคนมักโกรธ เป็นฟืนเป็นไฟง่าย กับผูกโกรธไว้เผาเราเผาเขาได้นานหรือเปล่า หากรู้ตามจริงว่าเป็นบุคคลเคราะห์ร้าย คือจัดอยู่ในพวกโกรธง่ายหายช้า ก็ให้ทราบว่าอย่างนั้นเป็นคนเมตตาอ่อน มีทุนน้อย จะเอามาใช้เจริญเมตตาเป็นภาวนาทันทีทันใดคงยาก

หลายคนได้รับคำแนะนำให้ภาวนา สัพเพ สัตตา อเวรา โหนตุ ขอสัตว์โลกทั้งหลายอย่าได้มีเวรต่อกันและกันเลย ภาวนาอยู่เกือบสิบปี ยังหน้าตาเหี้ยมเกรียมอยู่เหมือนเดิม ทั้งนี้เพราะตั้งความเข้าใจไว้ผิดพลาด ว่าแค่ท่องบ่นไปก็คือการเจริญเมตตาภาวนาแล้ว หรือหนักกว่านั้นคือนับเป็นการแผ่เมตตาแล้ว ขอให้เข้าใจว่าการเจริญเมตตานั้น เป็นอาการของจิตที่ส่งความปรารถนาดี ปรารถนาให้ผู้อื่นเป็นสุขด้วยใจจริง การท่องบ่นสาธยายมนต์นั้น ไม่ต่างกับนกแก้วนกขุนทองที่พูดได้คำสองคำ แต่หามีความเข้าใจหรือรับรู้ในภาษาที่ตนพูดไม่

ในมหาสีหนาทสูตรท่านตรัสกะชีเปลือยชื่อกัสสปะว่าเมตตาจิตนั้นคือจิตอันไม่มี เวร ไม่มีความเบียดเบียน ซึ่งหมายถึงการคิด การพูด และการทำอันไม่มีเวรกับใคร ไม่ได้เบียดเบียนใครให้เดือดร้อน ดังนั้นการ "สร้างทุน" คือเมตตาจิตนั้น ก็ต้องอาศัยการหมั่นสำรวจอย่างเข้มงวด ว่าชีวิตเราล่วงไปวันต่อวัน ขณะต่อขณะอยู่อย่างนี้ ด้วยอาการผูกเวร ด้วยอาการเบียดเบียนใครหรือไม่

หากสำรวจตามจริง พบในขณะแห่งการคิด การพูด หรือการทำ ว่าเราเอาแล้ว ก่อเวรแล้ว เบียดเบียนใครเข้าแล้ว ก็ต้องรีบเปลี่ยนท่าทีให้เป็นตรงข้าม คือไม่แม้คิดก่อเวร ไม่แม้คิดเบียดเบียนใครๆด้วยประการใดๆเลย พูดง่ายๆคือถ้าถามตัวเองว่าตอนนี้คิดไม่ดีกับใครหรือเปล่า รู้ตัวแล้วก็เปลี่ยนให้เป็นตรงข้ามเสีย ด้วยความระลึกว่าการคิดไม่ดีย่อมเป็นปฏิปักษ์ต่อเมตตาจิต ระลึกไว้เพียงเท่านี้ก็จะเป็นบาทฐานอันมั่นคงไว้รองรับเมตตาจิตอันจะมาถึง เองข้างหน้าแล้ว

แรกๆเมื่อทำให้เมตตาจิตเกิดขึ้นในเรานั้น จะเป็นเรื่องของการฝืนใจ อาจไม่เห็นผลเป็นความสุขความเย็นทันใด บางทีถึงกับต้องสู้กับความรู้สึกได้เปรียบเสียเปรียบ อันนี้ถ้าเห็นว่ายากหรือเหลือบ่ากว่าแรงนัก ก็อาจเอาแค่ถือศีล 5 ให้ครบ ให้จิตใจสะอาด นั่นก็เรียกว่าสร้างเมตตาจิตอยู่กลายๆแล้ว เพราะเมื่อตีกรอบไว้ กำหนดเจตนาไว้ว่าจะไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่ผิดลูกเขาเมียใคร ไม่มุสา และไม่ร่ำสุรา ก็คือระงับเหตุแห่งเวรและการเบียดเบียนทั้งปวงนั่นเอง สำรวจใจที่สะอาดด้วยรั้วคือศีล พอเห็นผลตามจริงก็จะเกิดโสมนัสขึ้นมา

หลังจากเจริญเมตตาจิตด้วยการคิด การพูด การทำเป็นร้อยครั้งพันหน กระทั่งรู้สึกถึงกระแสฝ่ายดี กระแสเย็นใจชุ่มชื่นอันเกิดจากการระงับเวรทั้งปวงแล้ว ชนิดที่สามารถระบายยิ้มอ่อนๆออกมาได้เองโดยไม่ต้องฝืน พอกระแสนั้นเอ่อขึ้นมาเมื่อใดขณะไหนก็ตาม อยู่ในบ้านหรือนอกบ้านก็ตาม ให้ฝึกล็อกอยู่กับความรู้สึกภายในชนิดนั้นไว้ คือรู้ว่าเป็นสุขเย็น และความสุขไม่เคลื่อน ไม่เลื่อนไหลแปรปรวนเป็นอื่นง่าย กระทั่งชัดเต็มอยู่ในอกในใจ มีความตั้งมั่นไม่ต่างกับขณะแห่งการจ่อจิตไว้ที่ลมหายใจหรืออารมณ์ภาวนา อื่นๆ ถึงขั้นนี้เรียกว่ามีทุนไว้ต่อทุนในระดับต่อไปแล้ว

ยิ่งถ้าหากมีพื้นนิสัยอ่อนโยน มีลักษณะแห่งเมตตาอยู่ในตัว คือนอกจากไม่ก่อเวรแล้ว ยังเป็นผู้ชอบสร้างสุขผูกไมตรีกับคนอื่น และนอกจากไม่เบียดเบียนแล้ว ยังเป็นผู้ชอบเอื้อเฟื้อเจือจานให้คนอื่นมีชีวิตที่สะดวกสบายขึ้น ก็อาจใช้ทุนประจำตัวได้เลยทันที คือสังเกตว่าขณะที่ไม่ฟุ้งคิด จิตใจสงบสุขอยู่กับตนเอง บอกตนเองว่านี่เพราะเราไม่มีเวร ก็ไม่มีใครเบียดเบียนตอบ ให้ล็อกเอาความรู้สึกนั้นไว้ในใจ เป็นองค์ภาวนาเดี๋ยวนั้น

หากใครนึกเถียงอยู่ในใจว่าเมตตาแล้ว แต่ยังถูกเบียดเบียนอยู่ดี ก็ให้ตัดเรื่องได้เปรียบเสียเปรียบทิ้ง ยิ่งต้นเหตุยั่วยุให้เหมือนคลั่ง ก็ยิ่งเป็นแบบฝึกชั้นสูง เราจะเอาเป้าหมายเดียวคือเมตตาจิต ฉะนั้นต้องละจากการจองเวร ให้อภัยเป็นทานเสีย ผ่านขั้นยากได้เท่าไหร่ยิ่งเป็นอภัยทานชั้นเลิศขึ้นเท่านั้น เมื่อสำรวจแล้วว่าเราให้ทานเป็นการอภัยออกมาจากแก่นแท้ภายในแล้วมีความสุข ความสงบเย็นทันตาเห็น ก็ดูตามจริงว่านี่ก็คือลักษณะของเมตตาจิต ล็อกไว้อย่างนั้นเป็นองค์ภาวนาได้เช่นกัน

สรุปคือใช้ชีวิตประจำวันนั่นแหละ ในการเจริญเมตตาภาวนาเบื้องต้น ตราบใดเรายังต้องคิด ต้องเจรจา ต้องมีกิจกรรมตอบโต้กับชาวโลก ตราบนั้นคือโอกาสในการเจริญเมตตาภาวนาของเราทั้งหมด ลองระลึกในทุกขณะว่าเมตตาเป็นด้านหัวของเหรียญ พยาบาทเป็นด้านก้อยของเหรียญ เราพลิกด้านหนึ่งขึ้นมา อีกด้านหนึ่งก็หายไปทันที ตัวที่พลิกจากคิดไม่ดีเป็นคิดดีกับผู้อื่นนั่นแหละตัวเมตตาอันเป็นที่รู้สึก ได้ชัด ระลึกไว้ง่ายๆอย่างนี้จะสำรวจความคิด คำพูด และการกระทำของตนเองถนัดขึ้น

การเจริญเมตตาโดยอาศัยสมาธิจิต

ในเตวิชชสูตร พระพุทธองค์ตรัสกะวาเสฏฐะตอนหนึ่งมีความว่านิวรณ์เป็นทุกข์ เป็นโทษ และอุบายลัดทางอย่างง่ายที่สุดคือให้ "รู้" เข้ามาตรงๆถึงภาวะของนิวรณ์ อย่างเช่นเมื่อตระหนักว่าพยาบาทกำลังครอบงำจิต ก็ให้พิจารณาเปรียบเทียบว่า…

ดูกรวาเสฏฐะ เปรียบเหมือนผู้ป่วยหนัก บริโภคอาหารไม่ได้และไม่มีกำลังกาย สมัยต่อมาเขาพึงหายจากความป่วยไข้นั้น บริโภคอาหารได้ และมีกำลังวังชากลับคืนมา เขาจะพึงมีความคิดเห็นอย่างนี้ว่า เมื่อก่อนเราเป็นผู้ป่วย ถึงความลำบาก เจ็บหนัก บริโภคอาหารไม่ได้ และไม่มีกำลังกาย บัดนี้ เราหายจากอาพาธนั้นแล้ว บริโภคอาหารได้และมีกำลังกายเป็นปกติ ดังนี้ เขาจะพึงได้ความปราโมทย์ ถึงความโสมนัส โดยความไม่มีโรคนั้นเป็นเหตุ ฉันใด.

เพียงคิดเทียบเสียได้ด้วยใจอันซื่อ ว่าความพยาบาทนั้นเหมือนโรค เหมือนความป่วย จิตก็เห็นโทษแห่งพยาบาทอย่างแจ่มชัด ถ้าเลิกพยาบาทได้ก็จะปลอดโปร่งโล่งสบาย กินอิ่มนอนหลับเหมือนหายป่วย พอเห็นข้อดีชัดเจนเข้า จิตก็ละพยาบาทอย่างไม่เสียดายเหมือนถ่มเสลดทิ้งจากปากคอ เมื่อทิ้งได้ ก็บังเกิดโสมนัสอันพร้อมน้อมมาใช้แผ่เมตตาขั้นสูงต่อไป

อีกนัยหนึ่ง เมื่อภาวนาจนจิตตั้งมั่น ผ่องใส อ่อนควรเพียงพอแล้ว ก็อาจพิจารณาว่าจิตมีลักษณะเช่นนั้นอยู่ได้ก็ด้วยเพราะปราศจากความพยาบาท หากมีความพยาบาทครอบงำจิตอยู่ ก็คงถึงซึ่งลักษณะตั้งมั่น ผ่องใส อ่อนควรเช่นนี้ไม่ได้ นี่ก็จะเป็นชนวนให้เกิดความโสมนัสในผลอันเป็นปัจจุบันเช่นกัน พระพุทธองค์ตรัสว่าเมื่อสำรวจได้เช่นนั้น พึงแผ่เมตตาออกดังนี้

เมื่อเธอพิจารณาเห็นนิวรณ์ ๕ เหล่านี้ ที่ละได้แล้วในตน ย่อมเกิดปราโมทย์ เมื่อปราโมทย์แล้ว ย่อมเกิดปิติ เมื่อมีปิติในใจ กายย่อมสงบ เธอมีกายสงบแล้วย่อมได้เสวยสุข เมื่อมีสุข จิตย่อมตั้งมั่น เธอมีใจประกอบด้วยเมตตา แผ่ไปตลอดทิศหนึ่งอยู่ ทิศที่สอง ที่สาม ที่สี่ ก็เหมือนกัน ตามนัยนี้ ทั้งเบื้องบน เบื้องล่าง เบื้องเฉียง แผ่ไปตลอดโลก ทั่วสัตว์ ทุกเหล่าในทุกสถาน ด้วยใจประกอบด้วยเมตตาอันไพบูลย์ ถึงความเป็นใหญ่ หาประมาณมิได้ ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่

กล่าวโดยวิเคราะห์เพื่อดำเนินจิตเข้าสู่การแผ่เมตตาอย่างเป็นขั้นเป็นตอนได้ ดังนี้

1) สำรวจว่าจิตยังมีพยาบาทอันเป็นนิวรณ์ชนิดหนึ่งหรือไม่ หากรู้แก่ใจว่ายังมีพยาบาท ให้ละเสียด้วยความคิดเปรียบเทียบพยาบาทเหมือนโรค คิดว่าถ้าจิตเป็นอิสระจากพยาบาท ก็เหมือนหายจากโรค คิดให้น้อย แต่รู้ตามจริงให้มาก

2) หากผ่านข้อก่อนได้สำเร็จ ก็จะมีกระแสสุขแบบที่เป็นเมตตาเกิดขึ้นทันที ดังกล่าวแล้วว่าของแบบนี้มีแต่ด้านหัวกับด้านก้อย คว่ำพยาบาทลงได้ก็เท่ากับหงายเอาเมตตาขึ้นแทน ให้ประคองรู้จิตอัน "ประกอบด้วยเมตตา" นั้นไว้สักครู่หนึ่ง แล้วจึงเริ่มแผ่เมตตาออก เริ่มจากทิศหนึ่งคือเบื้องหน้า ทิศสองคือเบื้องขวา ทิศสามคือเบื้องซ้าย ทิศสี่คือเบื้องหลัง แล้วจึงแผ่ไปยังเบื้องบน เบื้องล่าง ด้านทะแยง จากนั้นเมื่อชำนาญแล้ว จึงกำหนดจิตแผ่ครอบไปทุกทิศพร้อมกัน คือแผ่ไปตลอดโลก เป็นการแผ่สุขให้อย่างไม่เลือกหน้า ไม่เลือกภพเลือกภูมิว่าเป็นมนุษย์ สัตว์ เทวดา หรืออื่นๆ ลิ้มรสความวิเวกอันเกิดจากความไร้เวรภัย ตั้งมั่นในระดับที่เรียกว่า "อัปปมัญ ญาสมาบัติ"

บางคนอาจสงสัยว่าอุบายวิธีแผ่เมตตาของพระพุทธเจ้าคงต้องรอให้โกรธหรือคิด พยาบาทมาดร้ายใครเสียก่อนกระมัง จึงจะถือเอามาใช้เป็นบทเริ่มต้นได้ ความจริงแล้วก็เหมือนคนเริ่มทำสมาธิด้วยวิธีสำรวจศีลของตนเองทีละข้อ วันไหนทราบชัดว่าศีลของตนสะอาดบริสุทธิ์ไม่บกพร่อง ก็ย่อมเกิดปราโมทย์ เกิดปีติ สงบสุขอยู่กับความผ่องแผ้วอันเป็นคุณลักษณ์ขณะนั้นแห่งจิตตน ทำนองเดียวกันนั้น เมื่อสำรวจแล้วว่าจิตเราปราศจากความดำริก่อเวร ปราศจากการคิดเบียดเบียนใคร เมื่อนั้นกระแสเมตตาย่อมรินรสอยู่ในภายในให้สำเหนียกได้ กำหนดเป็นตัวตั้งเพื่อใช้แผ่ออกตามทิศต่างๆได้

ว่าสำหรับการกำหนดจิตเพื่อแผ่ออกนั้น อาศัยปัจจัยหลักเพียง 3 ประการเป็นฐานเริ่ม ได้แก่

1. จิตอันประกอบด้วยเมตตา ดังกล่าวถึงวิธีก่อแล้วข้างต้น

2. ทิศทาง ขอให้กำหนดเป็นเบื้องหน้าก่อน เพราะเป็นไปตามธรรมชาติการมองออกด้วยสายตามาทั้งชีวิต จึงง่ายกว่าทิศอื่นทั้งหมด

3. ระยะ เริ่มต้นควรมีระยะที่แน่นอน เพื่อให้จิตรู้ว่าควรกำหนดไว้แค่ไหน แรกทีเดียวควรเป็นสัก 2-5 เมตร คือระยะระหว่างสายตากับผนังห้องนอนทั่วไปก็ดี

ด้วยองค์ประกอบทั้ง 3 ประการข้างต้นนี้ พอจะลำดับขั้นตอนได้ง่ายๆ คือให้นั่งตัวตรงสบายๆ สำรวจแน่ใจแล้วว่าจิตประกอบด้วยเมตตาชัดอยู่ในกระแสรู้สึกตรงกลางๆ ทอดตาตรงไปยังเป้าหมายใกล้ตาเบื้องหน้า อาจเป็นเสา อาจเป็นจุดใดจุดหนึ่งบนผนัง ขอให้ตาจับได้โดยไม่ก่อความคิดอันเป็นนิวรณ์ใดๆขึ้นก็แล้วกัน

มองเป้าหมายนิ่งๆสัก 2-3 วินาทีแล้วปิดเปลือกตาลง โดยที่ยังรักษาอาการทอดตาจับนิ่งๆแบบไม่เพ่งจนเกินไป ขณะเดียวกันโฟกัสก็ไม่เลื่อนไหลไปมาให้นัยน์ตาหลุกหลิก แล้วกำหนดความรู้สึกมาที่กระแสเมตตากลางอกอันไม่คับแคบเป็นจุดเล็ก แต่คลุมๆอยู่ในความรู้สึกตัวทั่วถึง จากนั้นแนบกระแสเมตตาเป็นอันเดียวกับอาการทอดสายตาตรง จะเห็นคล้ายตัดความผูกโยงกับประสาทตามาที่กลางอก เสมือนเปิดแผ่นอกโล่งและฉายรัศมีสุขออกไปตรงๆ

ขอให้รักษาทิศทางและระยะไว้ดีๆ เพียงตั้งมั่นไม่นานจะสำเหนียกถึงอาการที่จิตล็อกอยู่กับกระแสสุขอย่าง ชัดเจน หาไม่แล้ว จิตที่ขาดทิศทางและระยะย่อมกระจายออก หรือวนๆอยู่ในตัว ทำให้ขาดความตั้งมั่นอย่างรวดเร็ว

ขอให้สังเกตการแผ่ที่ผิดพลาดให้ทันตั้งแต่เบื้องแรก คือถ้ารู้สึกดันๆออกไป ตึงขมับ หรือเกร็งส่วนใดส่วนหนึ่ง นั่นอาจเป็นเพราะเราเพ่งมากเกิน ที่ถูกต้องมีเพียงกระแสสุขที่สาดตรงออกไปโดยปราศจากความเครียด และมีสติรู้ตั้งมั่นอยู่ที่กลางๆ

เมื่อจิตเริ่มทรงอยู่ในกระแสสุข ประกอบพร้อมด้วยทิศเบื้องหน้าและระยะใกล้จนชำนาญแล้ว จะเหมือนจิตแสวงความโล่งเป็นระยะไกลขึ้นเอง เพียงกำหนดรู้ตามว่ารัศมีสุขเริ่มขยายออกไป สติก็จะดำเนินตามพัฒนาการของการแผ่เมตตา ที่มีแต่ทิศเบื้องหน้าเป็นกำหนด แต่ขอบเขตจำกัดไม่มี คล้ายมองขอบฟ้าลิบโลก หรือไปไกลถึงอนันต์ เพียงประคองไว้ได้สักนาทีเดียว จิตจะดึงดูดเข้าสู่ความมั่นคงระดับอุปจารสมาธิ มีปีติเย็นวิเวกแปลกกว่าสุขแม้ในสมาธิทั่วไป

ขอให้ฝึกจนกระแสมั่นคงในทิศเบื้องหน้าแล้ว จิตรู้กระแสเมตตาอันเป็นนามธรรมว่าต่างหากจากกายแล้ว ไม่ผูกกับสายตาแล้ว จึงค่อยย้ายมาฝึกแผ่ไปทางทิศเบื้องขวา คล้ายนึกในใจถึงวัตถุที่อยู่ด้านขวาโดยไม่ต้องเหลือบแลสายตาตามอาการนึก และมีระยะทางที่แน่นอนใกล้ตัวก่อน เมื่อสามารถตามกระแสเมตตาได้จนเหมือนไกลถึงขอบฟ้าด้านขวา จึงเป็นอันใช้ได้ หากทำทางทิศเบื้องหน้าชำนาญแล้วจะเห็นการกำหนดทิศด้านข้างง่ายดายและรวดเร็ว มาก

เมื่อได้ด้านขวาชำนาญก็ฝึกกำหนด้านซ้าย เมื่อฝึกด้านซ้ายชำนาญก็ให้ลองกำหนดแผ่ซ้ายขวาพร้อมกัน จะมีกระแสแผ่ออกเบื้องหน้าโดยอัตโนมัติ

เมื่อสามารถแผ่สามทิศได้พร้อมกันแล้ว จะเหมือนมีกระแสสุขเป็นตัวเป็นตนเด่นชัดขึ้นให้รู้สึกได้ และจิตจะรักความไม่มีเวร ไม่มีการเบียดเบียน คือไม่อยากเป็นศัตรูกับใคร ไม่อยากทะเลาะเบาะแว้งกับใคร และเหตุการณ์ในชีวิตก็เหมือนจะเริ่มเข้าข้างกระแสเมตตาภายในเรา

สำหรับการแผ่ทางทิศเบื้องหลังนั้นจะยากกว่าสามทิศแรก เหตุเพราะมนุษย์เรามีอายตนะส่งจิตออกกระทบวัตถุเป็นสายตา ซึ่งเล็งไปเบื้องหน้า และเป็นแก้วหู ซึ่งเล็งหนักไปทางซ้ายขวา

การที่จะกำหนดแผ่เมตตาทางทิศเบื้องหลัง จำเป็นต้องอาศัยความรู้สึกในแผ่นหลัง ประกอบกับจิตนึกทวนทิศของอายตนะหยาบ ขอให้ลองนึกถึงแผ่นหลังก่อน แล้วนึกถึงวัตถุสักชิ้น อาจเป็นผนังระยะใกล้ซึ่งอยู่ด้านหลัง นึกเฉยๆโดยไม่ต้องกำหนดกระแสเมตตาก่อนก็ได้ เมื่อแน่ใจแล้วว่านึกเป็น จึงค่อยกำหนดกระแสเมตตาประกอบการนึกย้อนหลังดังกล่าว หากเป็นไปตามลำดับก็จะพบว่าไม่ยากเย็นนัก

หากกำหนดแผ่เมตตาได้ถึงขอบฟ้าเบื้องหลังสำเร็จ จะเหมือนเปิดจิตโล่งออกไปได้ทุกทิศทุกทางไม่จำกัด ทิศเบื้องบน เบื้องล่าง และเบื้องเฉียงทั้งหมด ก็ไม่เหลือวิสัยอีกเลย จะเหมือนมีกระแสเมตตาหลั่งรินออกมาตลอดเวลาโดยไม่ต้องกำหนด พฤติกรรมทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นคิด พูด หรือทำ ก็ถูกล้อมไว้ด้วยทะเลเมตตาจากจิตนั่นเอง อานิสงส์ทั้ง 11 ประการตามพระพุทธองค์ตรัสแสดงจะปรากฏชัดให้ทราบได้อย่างปราศจากกังขา

ถึงตรงนั้น ของแถมที่ตามมาอันรู้ได้เองอาจเป็นการรู้ว่าเมตตาอันเป็นรัศมีจิตของเรามี กำลังใหญ่ โทสะและพยาบาทของคนรอบข้างมีกำลังน้อย ถูกกลบกลืนด้วยสนามพลังเมตตาของเราโดยง่าย ก็จะเป็นการช่วยผู้อื่นให้พ้นนรกในอกได้อ้อมๆ และอาจเป็นสื่อโน้มนำเขามาเข้ากระแสที่ถูกต้องต่อไป หากใครมีไฟร้อนอยู่ในเรือน ก็อาจดับร้อนด้วยจิตตนนี้เอง

ปกติจิตคนเราชอบคิดกักตัวเองไว้ในหัวเหมือนมีกรงขังเล็กๆในโพรงกะโหลก เมื่อเริ่มแผ่เมตตาจึงอาจรู้สึกว่ายาก แต่เมื่อแผ่เป็น ก็จะเห็นความเคยชินเก่าๆเริ่มแปรไป คือจิตเหมือนเป็นอิสระออกมาจากกรงขังเป็นมีสติรู้ตัวทั่วพร้อม นับเป็นการเกื้อกูลต่อการปฏิบัติสติปัฏฐานได้อีกทางหนึ่ง

นักภาวนาที่ประสบปัญหานอนไม่หลับเพราะตาแข็งจากสมาธิอาจชื่นชมอานิสงส์ของ การแผ่เมตตาเป็นพิเศษ เมื่อนอนหงายปิดตา กำหนดสุขในอก แผ่ออกไปยังทิศเบื้องบน อาจจับแค่ระยะเพดานห้องนอนก่อน หรือจะเป็นด้านข้างก็ได้ แล้วแต่ถนัด ถ้าจิตล็อกนิ่งแล้วหลับลงในอาการนั้น จะมีแต่ความสุขสบาย และเหมือนเข้าสมาธิอยู่แบบกึ่งเคลิ้มกึ่งรู้ตัว ถึงจะตื่นเร็วเกินเหตุก็เป็นการนอนหลับเต็มตา ไม่เหนื่อยล้าภายหลัง


อย่างไรก็ตาม ความสุข ความสว่างแจ้งในเมตตาเป็นรสอันยากจะเปรียบ ตรงนี้ก็ต้องย้อนกลับไปดูวิธีพิจารณาสุขเวทนาในหมวดเวทนานุปัสสนาดีๆ เพื่อความไม่ยึดติดจนเกินไป ขอให้ระลึกว่าเราแผ่เมตตาเพื่อผลคือละพยาบาทเป็นหลัก มิใช่เพื่อวัตถุประสงค์อื่นนอกเหนือไปจากนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งวัตถุประสงค์อันจะพาออกนอกทางสติปัฏฐานเพื่อพ้นทุกข์ พ้นความยึดติดแม้สุขอันเลิศรสใดๆ

วันพุธที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

ทำอย่างไรถึงมีวินัยในการปฏิบัติธรรมได้ทุกวัน (ดังตฤณ)

 รับฟังทางยูทูบ :  https://youtu.be/6ILhZlyRu_k

ดังตฤณวิสัชนา Live#17
ทำอย่างไรถึงมีวินัยในการปฏิบัติธรรมได้ทุกวัน?
๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๕๙

ดังตฤณ: 
เรื่องของวินัยในการปฏิบัติธรรมเนี่ย บางทีตั้งใจแล้วว่าจะทำให้ได้ทุกวัน แต่มักจะไปเจอกำแพงความท้อ จะหาไฟอะไรที่จะทำให้ตัวเองมีความกระตือรือร้น มีความรู้สึกว่าสามารถเอาชนะความท้อ แล้วก็มีความสม่ำเสมอได้ทุกวัน ตัวคำถามคือเป็นแบบนี้

ผมเองช่วงที่เริ่มเจริญสติ ก็มีโอกาสได้เจริญสติทั้งในแบบเป็นฆราวาส แล้วก็ในแบบที่เป็นพระ โดยครองผ้าเหลืองอยู่พักนึงสมัยยังเป็นหนุ่มน้อย ก็เลยเข้าใจถึงความแตกต่างว่า การที่เรามีชีวิตแบบหนึ่งๆเนี่ยนะ มันไม่เหมือนกัน 

อย่างพระพุทธเจ้าเวลาท่านสอนเจริญสติ จริงๆเราจะเห็นนะ ทุกพระสูตรที่เกี่ยวกับการสอนเจริญสติปัฏฐานเนี่ย ท่านจะขึ้นต้นด้วยคำว่า "ดูกรภิกษุ" ไม่ค่อยมีนะ หายากมากที่จะบอกว่าดูกรนางวิสาขา ดูกรอนาถฑิกบัณฑิต คือแม้แต่คนที่เป็นอริยเจ้าที่เป็นฆราวาสนะ ก็หายากแล้วที่จะมีสูตรไหนบอกว่าพระพุทธเจ้าสอนการปฏิบัติกับฆราวาส นี่ก็เพราะว่า
การมีชีวิตแบบฆราวาส ไม่ใช่วิสัยของผู้เจริญสติที่สมบูรณ์นะครับ คือมันขาดแหว่งๆวิ่นๆไป 

พระพุทธเจ้าตรัสว่าฆราวาสเป็นทางมาแห่งธุลี คือเป็นทางมาที่จิตจะแปดเปื้อนได้ง่าย แปดเปื้อนกิเลส แปดเปื้อนมลทิน แทบจะไม่มีงานไหนในโลกที่ไม่แปดเปื้อนมลทิน มันต้องมีนิดมีหน่อย แล้วก็ความคิดของเราเนี่ยสำคัญนะ ตัวสมองเนี่ยคือกลไกที่ผลักดันที่ขับเคลื่อนชีวิตที่แท้จริง สมองเราถ้าหากมันหมุนไปเรื่องงาน มันหมุนไปเรื่องแก้ปัญหา หมุนไปเรื่องคนเนี่ย โอกาสที่จะวกกลับเข้ามาสงบลงได้ เข้ามาที่ภายใน แล้วก็อยู่กับจิตกับใจที่มันมีความสว่าง ที่มันมีความพร้อมที่จะเจริญสติเนี่ยยาก 
เพราะฉะนั้นพอเราทำงานมาแล้ว 
หัวปั่นไปเรื่องงานแล้วทั้งวันเนี่ยนะ 
อยู่ๆจะให้มาเบรกคลื่นความคิด
ในแบบที่ทำงาน หรือในแบบที่วุ่นวายกับคน 
แล้วก็มาสงบจิตสงบใจ 
มาอยู่กับจิตใจที่มันไม่ออกไปข้างนอก 
เฝ้าดูอยู่ข้างในเนี่ย บางทีมันยาก

เพราะฉะนั้นคือพระพุทธเจ้าท่านเลยตัดปัญหาในยุคพุทธกาลเนี่ยนะ เวลาท่านสอนแต่การเจริญสติเนี่ย ท่านสอนแต่คนที่ตัดสินใจใช้ชีวิตในแบบที่จะเอาจริง เอามรรคเอาผลจริงๆนะ ทำตัวอีกแบบนึง ใช้ชีวิตอีกแบบนึง

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็มีหลักฐานว่า พระพุทธเจ้าท่านสอน หรือว่าท่านให้ธรรมะกับฆราวาสมากมาย จนกระทั่งสามารถบรรลุมรรคผลได้ถึงอนาคามีในขณะเป็นฆราวาส ไม่ใช่เป็นแค่โสดา ไม่ใช่แค่สกาทานะ นอกจากนั้น ฆราวาสบางท่านในสมัยพุทธกาลก็มีความฉลาดในเรื่องอริยสัจ ๔ คือพูดง่ายๆว่าสามารถจะสอนธรรมะชั้นสูง ธรรมะในเรื่องของการปฏิบัติได้ด้วย งั้นเราก็เลยเหมือนกับพูดได้เต็มปากเต็มคำว่า พุทธศาสนาไม่ได้กีดกันไม่ให้ฆราวาสเนี่ยปฏิบัติธรรม 

ตรงข้ามลองคิดดูนะพระเนี่ยมาจากไหนหละ เกิดมาเนี่ยเป็นพระกันตั้งแต่เกิดหรือเปล่า ตั้งแต่ปีแรกๆเนี่ยเกิดมาได้แค่ ๕ ปี ๖ ปีเนี่ยบวชเป็นพระเลย มันไม่ใช่นะ คือจะเป็นพระเนี่ยต้องมาจากฆราวาสก่อน เป็นฆราวาสที่เข้าใจธรรมะ เริ่มจากเข้าใจธรรมะขั้นต้นๆนะ แล้วก็มีแก่ใจ มีแรงบันดาลใจที่จะศึกษาธรรมะขั้นสูงขึ้นเรื่อยๆ อย่างที่พระพุทธเจ้าท่านสอนธรรมะให้กับฆราวาสจนฆราวาสอยากออกบวชเนี่ย ก็เป็นฆราวาสที่ท่านเห็นแล้วว่ามีธุลีในดวงตาน้อย สามารถที่จะทำให้เชื่อว่า เออ ที่ทำๆอยู่เนี่ยมันเป็นไปเพื่ออย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่เป็นไปเพื่อนรก ก็เป็นไปเพื่อสวรรค์นะหลังจากตายไปแล้วเนี่ย ทีนี่ถ้าจะหยุดเสี่ยง เสี่ยงนรกเสี่ยงสวรรค์ ก็ต้องหยุดเกิดนะ แล้วก็ใช้ความเป็นมนุษย์ทำปัญญาให้แจ้ง ทำมรรคผลนิพพานให้แจ้งนะ ถึงจะยุติการเสี่ยงเกิดเสี่ยงตายแบบไม่รู้อิโหน่อิเหน่ได้  

ทีนี้สำหรับคนที่อยู่ในระหว่างกึ่งๆกลางๆ ไม่ใช่พอฟังเทศน์ฟังธรรมปุ๊บอยากบวชกันทุกคน มันไม่จริงนะ มันเป็นไปไม่ได้ มันต้องค่อยๆเป็นค่อยๆไป แล้วค่อยๆเป็นค่อยๆไปตรงนี้แหละ ก็คือการที่ทำความเข้าใจธรรมะไปเรื่อยๆทุกวัน แล้วก็เจริญสติไปเรื่อยๆทีละนิดทีละหน่อย จนกระทั่งชีวิตเปลี่ยนออกมาจากข้างใน เกิดความรู้สึกออกมาจากข้างในว่า เอาล่ะ ชีวิตที่เหลือเนี่ย ฉันเน้นเรื่องเจริญสติละนะ

การเจริญสติ ถ้าคุณไปกะเกณฑ์ว่า
จะต้องเป็นเวลานั้นเวลานี้ 
ช่วงเวลาสั้นๆ ๑๐ นาที ๒๐ นาที 
ครึ่งชั่วโมงหรือหนึ่งชั่วโมงต่อวัน 
ถ้าไม่ได้ปฏิบัติช่วงนั้น
ถือว่าวันนั้นล้มเหลวในการปฏิบัติ หรือไม่ได้ปฏิบัติเลย 
ถ้าไปตั้งเสปคไว้อย่างนี้ปุ๊บ 
จะเข้าข่ายฆราวาสที่รู้สึกว่า
ตัวเองไม่สามารถเจริญสติได้ต่อเนื่อง 
ไม่สามารถที่จะเอาดีทางธรรม 

เลื่อนขั้นตัวเองเนี่ยไปสู่ชีวิตอีกแบบหนึ่งที่พร้อมจะเอามรรคเอาผลแก่ท่าน ถ้าเราเปลี่ยนมุมมองใหม่ ตั้งเสปคใหม่ว่า
การเจริญสติที่แท้จริง
มันไม่ใช่ช่วงเวลา ๑๐ นาที ๒๐ นาที  
ที่เรานั่งสมาธิหรือเดินจงกรม 
แต่เป็นทุกขณะที่เราสามารถระลึกขึ้นมาได้ว่า
เออ นี่เวลานี้เหมาะแก่การมีสติ 
รู้เห็นธรรมะที่ผุดขึ้นมาภายใน 
รู้เห็นธรรมะที่กำลังปรากฏแสดงอยู่ภายนอก 
มีสติรู้ว่า 
ขณะนี้..จิตใจของเราเจริญขึ้น
ในทางที่เห็นความจริง มีปัญญา มีความสว่าง 
หรือว่าขณะนี้..จิตใจของเรากำลังมืดบอด 
ไม่พร้อมที่จะรับรู้อะไรตามจริง 

ยกตัวอย่างเช่น เวลาที่เราเจอคู่ปรับ หรือว่าคู่รักคู่แค้น ที่แค่เจอหน้าก็รู้สึกเจ็บๆคันๆ คนส่วนใหญ่บอกว่าอันนี้ไม่ใช่เวลาในการเจริญสติ ไม่เหมาะแก่การเจริญสติ เพราะว่าขอแค้นก่อน ขอระบายความอัดอั้นก่อน ขอที่จะทำร้ายจิตใจคนสักนาทีหนึ่งสองนาที มันอดไม่ได้ มันไม่รู้จะช่วยตัวเองยังไง เนี่ย ข้ออ้างแบบนี้ทำให้คุณพลาดโอกาสที่จะเจริญสติจริงๆไปอย่างน่าเสียดาย 

เพราะว่าตัวความแค้น ความคับอกคับใจ ความอยากระบาย ความอัดอั้นอยากจะทิ่มแทงคนอื่น ใช้วาจาทิ่มตำคนอื่น อาการแบบนั้นมันเป็นอาการแปลกปลอมที่ดูง่ายที่สุดเลย อยู่ๆมันแหลมขึ้นมาชัดเจนเนี่ย อยู่ๆสภาพปกติของเราที่มันสบายๆอยู่ดีๆ รู้สึกไม่ต้องวุ่นวาย ไม่ต้องว้าวุ่นอะไรอยู่ดีๆเนี่ย พอเจอหน้าคู่ปรับเท่านั้นแหละ อาการของขึ้นกำเริบขึ้นมา มันมีของแปลกปลอมให้ดูอยู่ชัดๆ มันมีการปรุงแต่งอะไรบางอย่างที่ชัดเจนว่า เราไม่ได้เป็นคนสั่งให้มันเกิดขึ้น 

แต่พอเราไม่มีมุมมองว่าจะไปดูมันโดยความเป็นธรรมะ เราก็จะแล่นตามมัน  โลดแล่นไปกับมัน ถูกมันชักจูงไปหัวทิ่มหัวตำ ไปสู่ความตกต่ำทางจิต เราจะคิดคำด่า เราจะมีอาการหมกมุ่นขึ้นมาว่าจะทำยังไงดีให้มันเจ็บใจ จะทำหน้าทำตาปั้นปึ่งยังไงใส่ให้เขาเกิดความรู้สึกว่าชั้นไม่ชอบหน้าแก หรือทำให้เกิดความรู้สึกไม่ดี คือพอเรารู้สึกไม่ดีใช่ไหม คู่รักคู่แค้นเนี่ยก็ต้องไม่รู้สึกดีไปด้วย ถ้ามันมีความสุข ถ้ามันไม่เป็นทุกข์เหมือนกับเราเนี่ย  ดูเหมือนกับเราจะเสียเปรียบ ดูเหมือนกับเราจะแพ้นะ อะไรแบบนั้น คือเนี่ยธรรมชาติของกิเลสมันครอบงำใจให้เราพุ่งไปทางนี้

แต่ถ้าหากว่าเราตั้งเสปคว่านี่คือสนามปฏิบัติ นี่คือสนามเจริญสติ ไม่ใช้ตั้งเสปคเล่นๆนะ แต่เอาจริง เอาจริงแบบที่ว่า ยังไม่รู้หรอกว่าแอดวานซ์ไปแล้ว ก้าวหน้าไปกว่านี้แล้วมันจะมีความสุขยังไง ชีวิตจะแตกต่างไปขนาดไหน 

แต่เอาจริงตรงที่จุดเริ่มต้นว่า
เราจะปฏิบัติให้ต่อเนื่องทุกวัน 
โดยการใช้สิ่งที่ปรากฏในชีวิตประจำวัน
เอามาฝึกให้หมด เราไม่พลาดโอกาส! 

พอเจอหน้าคนที่เรารู้สึกหมั่นไส้
รู้สึกอยากให้เขาเกิดความเจ็บปวด เจ็บช้ำน้ำใจ
เหมือนกับที่เรามีความทุกข์เมื่อตอนเห็นหน้าเขา
ให้มันไม่แพ้กัน 
ตอนนั้นเราจะรู้สึกถึงอาการหน้ามืด 
ถ้ามีสตินะ มันจะมีอาการขึ้นมาแบบว่า 
ลืมหมดอ่ะ ข้อธรรมะอะไร เคยตั้งใจไว้ดีขนาดไหน 
เคยอภัยเป็นพ่อพระแม่พระ 
เคยปล่อยปลาเคยปล่อยนก 
เคยไปทำสังฆทาน 
โอยมีความสุขชื่นบานราวกับเป็นเทวดา ลืมหมด! 
มีเหลือแต่หน้ามืดๆของปีศาจแห่งความโกรธ 
เหลือแต่ม่านหมอกมืดๆของโลกเปรต โลกนรก 

ไม่ได้พูดเล่นนะ ตอนที่คุณเจอหน้าคู่แค้น หรือว่าคนที่ทำให้คุณเจ็บใจหนักจริงๆเนี่ย มันจะมีความมืดแบบหนึ่งปรากฏขึ้นมา หน้าตาเราที่มันดีๆจะหายไป จะเหลือแต่ประตูไปสู่ภพเปรต ประตูไปสู่ภพของนรก ตอนนี้คุณรู้สึกว่าไม่อยากให้ใครได้ดี ตอนนี้คุณไม่อยากให้ใครมีความสุข ตอนที่คุณไม่อยากให้คู่รักคู่แค้นได้หลุดมือไป จะต้องเอามาบีบบี้ขยี้ขยำให้มันเละคามือ ตรงนั้นแหละประตูนรก ตรงนั้นแหละประตูของเปรต เวลาที่อยู่ในโลกของเปรต เวลาที่อยู่ในโลกของนรกเนี่ย จิตใจมันประมาณอย่างงั้นแหละ มันแบบเดียวกัน คือไม่อยากให้ใครมีความสุข ไม่อยากยิ้ม คือยิ้มออกมาแบบที่มันสว่างนะคือ ออกมาจากใจที่สว่าง ไม่ใช่ยิ้มออกมาจากใจที่อยากเชือดเฉือนนะ มันต่างจากโลกของสวรรค์ ที่มันยิ้มออกมาจากข้างในมันมีความสุขเหลือเกิน แล้วก็อยากแจกจ่ายความสุขนี้ไม่เลือกหน้านะ

ถ้าเราจริงจังกับการเจริญสติด้วยการเตือนตัวเองอย่างนี้ เวลาที่หน้ามืดขึ้นมาตอนเจอบุคคลอันไม่เป็นที่รัก แล้วเรามีสติบอกว่าเออเนี่ย ภพของเปรต ภพของเดียรัจฉาน ภพของนรกเนี่ย เวลาเขาไปเขาไปกันอย่างนี้ ใช้ม่านหมอกมืดๆแบบนี้แหละเป็นประตู คุณดูสิ ประตูไปสู่ความเป็นเปรต ประตูไปสู่ความเป็นนรก มันบันดาลความคิดแบบไหนขึ้นมาได้บ้าง มันมีแต่คำพูดเชือดเฉือน อยากให้อีกฝ่ายรู้สึกแสบๆคันๆ มันมีแต่ความรู้สึกว่าอยากเห็นเขาร้องไห้ อยากเห็นเขาล้มเหลวในชีวิต อยากเห็นเขาพัง งานที่ดีๆของเขาเนี่ยมันพัง หน้าตาอะไรที่มันดูดีๆเนี่ยนะอยากให้กลับกลายเป็นอื่น เนี่ยลักษณะบิดความจริงที่ดีๆให้กลายเป็นภาพที่แย่ๆเนี่ย มันเหมาะแก่นรกหรือสวรรค์ล่ะ 

พอมองเห็นว่าใจของตัวเองเนี่ย
มันเป็นประตูนรก มันเป็นประตูสวรรค์ 
จะมีกำลังใจ จะมีแรงฉุด
ให้นึกอยากจะเอาจริงเอาจัง 
ความนึกอยากเอาจริงเอาจัง 
ไฟในการปฏิบัติจริงออกมาจากข้างในตัวนี้แหละ
ที่จะทำให้เกิดความต่อเนื่อง 

ที่ไม่ต่อเนื่องเพราะอะไร? ปฏิบัติไปแล้วก็ เออ มันก็มีความสุขดี แต่ไม่เห็นสลักสำคัญอะไรเลย แล้วจะมองไม่เห็นความคืบหน้า มันวัดความคืบหน้าไม่ได้ แต่ถ้าเราเริ่มมองจากตรงนี้นะว่า เออ เวลาเจอคู่แค้นเนี่ย มันมีประตูนรกโผล่ขึ้นมา บอกตัวเองอย่างนี้นะ มันเริ่มเห็นละ เออเนี่ย ประตูเปรต ประตูนรกมันโผล่ขึ้นมา ภาพหน้ามันโผล่ขึ้นมา เหมือนหน้ากากครอบหน้าให้หน้ามันมืดไป คราวนี้มันเริ่มคึกคัก มันเริ่มสามารถวัดความคืบหน้าได้ ถ้าเราเจริญสติต่อเนี่ย อาการหน้ากากปีศาจที่มันมาครอบหน้า มันจะวางลงไหม

เอาแบบเจอของจริงนะ อย่าเอาแค่แบบบนทางจงกรมที่เรานึกหน้าคู่อริขึ้นมาแล้วรู้สึกอภัยได้ รู้สึกว่าเออเนี่ยตอนนี้ฉันเนี่ยเป็นพ่อพระแล้ว เป็นแม่พระแล้ว ฉันไม่คิดอะไรแล้ว แบบนั้นอย่าไปนับนะ มันไม่ใช่ของจริงไง เอาตอนที่ไปเจอ ไปลงสนามจริงน่ะ ตอนที่คู่รักคู่แค้นมาปรากฏอยู่ต่อหน้าต่อตาเนี่ย ภาพใบหน้าของเขามันกระทบใจแล้ว กระตุ้นความคิดแบบไหนขึ้นมา ถ้าเรามีสติ

คราวนี้มาถึงขั้นว่าเราจะมีสติที่ถูกได้ยังไง? คนส่วนใหญ่แค่ท่องไว้เป็นนกแก้วนกขุนทอง บอกว่ามีสติ มีสติ มีสติ แบบนี้มันน่าเบื่อจะตาย มีสติรู้อะไรล่ะ

มีสติเนี่ย ต้องบอกตัวเองถูกนะว่า 
มีสติแล้วนั้นน่ะเห็นอะไร?

เห็น 'ความจริง
ที่ผุดขึ้นมา ปรากฏขึ้นมาเป็นปฏิกิริยาทางใจว่า 
ฉันเห็นหน้าเขาแล้ว ฉันเกิดความรู้สึกไม่ชอบ 
เกิดความรู้สึกว่ามีอะไรมืดๆครอบหน้าครอบตาขึ้นมา 
ภาวะแบบนั้นอยู่นานแค่ไหน 

ถ้าไม่สังเกตแบบนี้นะ คุณจะสังเกตแค่ว่า 
เออ มันมีความโกรธขึ้นมา 
เสร็จแล้วไม่รู้จะดูต่อยังไง 

ถ้าเราทำตามที่พระพุทธเจ้าสอนว่า 
ตอนที่จะเกิดสติเนี่ย รู้ว่ากำลังหายใจอยู่ 
เนี่ยมันเกิดสติจริงๆ เพราะเรารู้ขึ้นมานะว่า 
ตอนนี้หายใจเข้าหรือหายใจออก

มันไม่มีทางที่จะโต้แย้งเป็นอื่น หายใจเข้าแล้วบอกว่า เอ๊ย นี่ไม่ได้หายใจ หายใจออกนี่ไม่ได้หายใจ อันนี้ไม่ได้ สติเนี่ยมันต้องรายงานตามจริงว่า หายใจเข้ารู้ว่าหายใจเข้า หายใจออกรู้ว่าหายใจออก
 
ในขณะที่หายใจเข้าหายใจออกอย่างมีสติรู้นั้นน่ะ 
คือเราไม่ได้จะไปเพ่งดูลมหายใจ 
แต่เราจะอาศัยลมหายใจเป็นเครื่องสังเกต 

ดูดีๆนี่หวังว่าคงจะไม่ไปเจอรีพีท (repeat) คำพูดผมอีกนะว่า ดูลมหายใจ ดูลมหายใจ ไม่ใช่นะ 

ให้สังเกตว่า ในขณะที่เราเจอหน้าคนที่เป็นคู่รักคู่แค้นเนี่ย แล้วเกิดความรู้สึกมืดๆขึ้นมา เกิดความรู้สึกไม่ดี เกิดความรู้สึกที่เป็นอกุศลขึ้นมา อยากด่า อยากแอบคิดสาปแช่ง หรือว่าอยากจะเห็นเขาพินาศ
ความคิดอะไรไม่ดีทั้งหลาย 
ความชั่วร้ายอะไรที่มันผุดขึ้นมาในหัว
อย่าไปปฏิเสธ 
แต่ให้สังเกตว่า 
ณ ขณะนั้น ณ ลมหายใจที่เป็นปัจจุบัน
ที่เรารู้ว่ากำลังหายใจเข้าหรือหายใจออกอยู่ 
เป็นลมหายใจเข้า เป็นลมหายใจออกแห่งอกุศลระดับไหน?


ถ้าระดับที่อยากทำร้ายทำลาย อยากสาปแช่ง ก็ขอให้อาศัยลมหายใจนั้นเป็นตัวห้ามไม่ให้ทำตามที่มันคิดอยู่ในหัว พูดง่ายๆเป็น 'ลมหายใจแห่งขันติ'  มีขันติที่จะสกัดกั้นตัวเอง ไม่ให้ทำเรื่องเดือดร้อนแก่คนอื่นและจะเป็นความเดือดร้อนให้ตัวเองในภายหลัง 

แต่ถ้าหากว่า ณ ลมหายใจนั้น มันมีเพียงความคิดไม่ดี แอบคิดด่า แอบคิดเหน็บแนม แอบคิดเยาะเย้ย แอบคิดถากถาง แอบคิดหมั่นไส้ แล้วเกิดอาการวนๆ เกิดอาการคันๆอยู่ในอก

ให้ยอมรับไปตามจริงว่า
มันคันๆ หรือมันมีอาการที่ปั่นป่วน
อยู่ในหัว ในลมหายใจนั้น 
แล้วดูว่าลมหายใจต่อมา
มันยังเท่าเดิมอยู่หรือเปล่า 
มันยังปั่นป่วนเท่าเดิมอยู่ในหัวไหม 
หรือมันรู้สึกคันๆ คันน้อยลง หรือว่าคันมากขึ้น 

จะคันมากขึ้นหรือว่าน้อยลงก็ตาม
ถือว่าได้เห็นความไม่เท่าเดิมแล้ว
ในสองลมหายใจที่เปรียบเทียบกัน 
นี้ก็ดูไปเรื่อยๆ ในแต่ละลมหายใจนะ
มันเกิดอะไรขึ้น?
ความเปลี่ยนแปลงไปในทางขึ้นหรือในทางลง

จุดที่จะให้สังเกตต่อมาไม่ใช่แค่ ณ คราวนั้นคราวเดียว 
แต่ให้ดูว่าเจอหน้ากันอีกทีหนึ่ง 
คู่ปรับคนเดิมนะ อริหน้าเก่า 
แล้วมันมีระดับความปั่นป่วน 
มีระดับความรู้สึกแน่นอกแน่นใจ 
หรือมีระดับของความหน้ามืดแบบเดิมอีกไหม 
หรือว่ามันดีขึ้น 

คือการที่เราจะเห็นความต่างไปของโทสะ 
หรือว่าระดับความแรงของอกุศลจิตในแต่ละครั้งเนี่ย 
มันจะเป็นตัวควบคุมอยู่ในตัวเอง 
ควบคุมให้เรามีวินัย
โดยไม่ต้องเกร็งโดยไม่ต้องฝืน 
มีวินัยที่จะเปรียบเทียบ เพราะมันชอบใจ 
ไม่ใช่มีวินัยเพราะว่าเราบังคับตัวเอง 
เราฝืนตัวเองว่า
เราจะต้องทำให้ได้ทุกวันในรูปแบบอย่างนั้นอย่างนี้

ฆราวาสเนี่ยมีข้ออ้างเก่งกว่าพระอยู่แล้วนะ วันนี้ทำงานเหนื่อยไม่พร้อมจะเดิน วันนี้รู้สึกว่าท้อใจ อยากจะหาที่พึ่งแบบโลกๆบ้าง มาทำให้ชุ่มชื่นหน่อย มันก็ไม่พร้อมจะเข้าเดินจงกรมแล้ว ไม่พร้อมจะเข้าที่นั่งสมาธิแล้ว แล้วพอเราแพ้ไปสักแค่ครั้งสองครั้ง วินัยมันพังทลายหมดเลย และสุดท้ายก็อย่างที่คุณพูดมาในคำถามว่า เนี่ยมันไม่สามารถมีวินัยกับใครเขาได้ ทำไปในที่สุดก็ท้อ 

ความท้อมันเกิดขึ้นจากอย่างนี้นะ 
มันไม่ชอบใจไง

ไปเดินจงกรมมันเหนื่อย นั่งสมาธิเนี่ยมันรู้สึกฝืน แล้วก็คนเราเนี่ยจะรู้สึกสงสารตัวเองที่สุดเลยตอนรู้สึกเหนื่อย ตอนรู้สึกฝืน มันก็เลยไม่ทำจริง แล้วพอไม่ทำจริงไปเรื่อยๆ มันคิดภาพตัวเอง โอ๊ยชาตินี้เอาดีกับเขาไม่ได้แน่เลย มันก็ท้อ ท้อ ท้อ ท้อ 
ความท้อเนี่ยแหละ
ที่จะเป็นกำแพงห้ามเราไม่ให้ก้าวไปข้างหน้า!

แต่ถ้าคุณทำอย่างนี้อย่างที่ผมว่าเนี่ย เอาคู่รักคู่แค้นมาเป็นแบบฝึกหัด บอกว่าเกิดมาเนี่ย เราเกิดมาแล้ว ทำไมคนๆนี้มันจะต้องเกิดมาด้วย มันจะต้องตามเรามาจากภพไหนปางไหนนะ 

เอาคนแบบนี้แหละเป็นเครื่องฝึก 
แล้วมันจะมีวินัยขึ้นมาเอง
แล้วก็ไม่ท้อด้วย
เนื่องจากคุณจะเห็นว่า
ตัวเองมีความสุขมากขึ้นเรื่อยๆ 
กับการอยู่ร่วมโลกกับคนบางคน!

มันเห็นแล้วมันได้กำลังใจไง มันเห็นจิตของตัวเองว่าเบาลง มีความเป็นกุศลมากขึ้น สว่างมากขึ้น คนเรานะพอมันได้ดีจากอะไร มันไม่รังเกียจสิ่งนั้นหรอก แล้วมันจะขยันขึ้นเรื่อยๆ ขยันไปเข้าหาสิ่งนั้นมากขึ้นเรื่อยๆ บ่อยขึ้นเรื่อยๆ ทำแล้วมันได้ดีมีสุข ใครจะไม่เอา

แต่ถ้าเข้าทางเดินจงกรม นั่งสมาธิ กลับจากที่ทำงานปุ๊บเนี่ย ขนาดเดี๋ยวนี้ขนาดพระยังมีข้ออ้างแบบนี้เลย ไปทำ ไปทำกิจของสงฆ์มาเหนื่อย ต้องวุ่นกับกิจของสงฆ์ทั้งวัน ไม่มีเวลาเดินจงกรมนะ รู้สึกว่าเป็นเรื่องน่าเห็นใจมาก 

อันนี้ก็ยุคสมัยด้วยนะ ยุคสมัยที่เราเร่งร้อนรีบรัด ฟังดีๆนะ คือเป็นฆราวาส เป็นชาวบ้าน 
อย่าไปเอาวินัย อย่าไปคาดคั้นตัวเอง
กับการเดินจงกรมหรือว่านั่งสมาธิ 
แต่ให้คาดคั้นตัวเองกับการฝึกอยู่ตลอดเวลาทั้งวัน
เอาจิตของตัวเองเป็นสนามฝึก 
แล้วคุณจะรู้สึกว่ามันมีความก้าวหน้าที่วัดผลได้ 
แล้วความคืบหน้านี้
จะทำให้คุณมีวินัยมากขึ้นเรื่อยๆ 

มีวินัยที่จะมีสติดู ไม่ใช่ปล่อยสติปล่อยจิตปล่อยใจให้ไหลตามกิเลสไปในแต่ละวัน แล้วในที่สุด ถึงวันตายเราก็จะพบว่า ชาตินี้เอาดีอะไรจากการเจริญสติไม่ได้เลย ค่อยไปต่อชาติหน้าก็แล้วกันนะ คือไม่สมัครใจทำเอาเองตอนที่มันอยู่ในสนามจริงอ่ะนะ ก็เลยเหมือนกับเสียเวลาในชีวิตไปเปล่าๆอีกชาติหนึ่งให้กับข้ออ้างที่จะไม่ทำ 

นี้ถ้าเรารู้หลักการแม่นยำจริงๆนะ เราทำได้ตลอดเวลาทุกวันอยู่แล้ว แล้ววินัยมันเกิดขึ้นเองจากความชอบใจจากความเห็นดีเห็นงามนะครับว่า ทำแล้วชีวิตเราเบาลงนะ มีความสุขมากขึ้น ทุกอย่างดีขึ้น



** IG **