วันจันทร์ที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2565

วิปัสสนานุบาล EP 163 (เกริ่นนำ) | จันทร์ 20 มิย. 65

EP163 | จันทร์ 20 มิถุนายน 2565

 

พี่ตุลย์ : น่าจะเคยได้ยิน แล้วก็เข้าใจกันว่า

การเดินทางบนท้องถนน บางทีถ้ารีบร้อน อาจจะยิ่งถึงช้า

เพราะการรีบร้อนบางครั้งทำให้เกิดความเสียหายได้

 

อย่างที่เห็นบนท้องถนนชัดเจน

บางคนรีบ จนกระทั่งไปชนโน่นนิดนี่หน่อย

หรือกระทั่งชนใหญ่ๆ เป็นอุบัติเหตุ ทำให้เกิดความล่าช้า

ต้องรอประกัน หรือว่าต้องตกลงกับคู่กรณี

 

หรือถึงไม่มีคู่กรณีเลย ไปชนอะไรเข้า

อย่างน้อยที่สุด ก็ต้องหงุดหงิดอารมณ์เสียลงมาดู

ว่าเกิดอะไรกับรถของเราบ้าง หรือไปต่อได้ไหม

มีอะไรที่ต้องทำเดี๋ยวนั้นเพิ่มเติมหรือเปล่า

ทั้งที่ไม่ควรจะไปเสียเวลากับตรงนั้น

 

ความเสียหายที่เกิดขึ้นบนท้องถนน

สามารถเอามาเปรียบเทียบได้กับความรีบร้อนในการเจริญสติ

เพราะบางทีที่เราอุตส่าห์ขับรถเป็นแล้ว

อยู่บนทางที่ ใช่ทิศที่จะไปถึงจุดหมายปลายทางแล้ว

แต่รีบเกินไปนิดหนึ่ง เลยกลายเป็นความเสียหาย

 

เช่น เกิดความรู้สึกว่า ร่างกายทรุดโทรม

หรือจิตใจบอบช้ำจากการทำอะไรแล้วไม่ได้อย่างใจ

หรือว่า ทำไปแล้วไม่ได้ดีตามสเปก เกิดความท้อถอย

 

ความท้อถอย จัดเป็นความบุบสลาย หรือบอบช้ำทางใจชนิดหนึ่ง

หรือถ้าไม่เอาอะไรเลย แค่มีความรู้สึกว่า ทำแล้วไม่ได้ดิบได้ดี

บางทีเหมือนกับศรัทธาเสื่อมถอยได้

ศรัทธาในธรรม หรือศรัทธาในตัวเอง บางทีเสื่อมถอยได้ เอาใจยากนะ

 

ถ้าหากว่าขยันๆ ไปแล้วเกิดความรู้สึกคล้ายๆ ว่า

เกิดอารมณ์แบบหนึ่งขึ้นมาว่า ปกติ ฉันอยู่ทางโลก ฉันเก่งนะ

แล้วก็ทำอะไรประสบความสำเร็จเสมอ

หรือ กระทั่งว่าไปได้เร็วกว่าคนอื่น แซงหน้าคนอื่นมาทุกที

แต่พอมาอยู่ในสนามนี้ เจริญสติ แล้วสติไม่เจริญ

หรือกระทั่งว่า กลายเป็นฟุ้งซ่านหนักขึ้น เพราะเหตุที่รีบร้อนเกินไป

 

ความเสียหายที่เกิดขึ้น บางทีประมาณค่าไม่ได้

และอาจไม่ใช่แค่เสียเวลาเหมือนกับบนท้องถนน

ที่อาจไม่กี่ชั่วโมงก็ไปต่อได้

 

แต่ความเสียหายที่เกิดทางใจ บางครั้ง ว่ากันเป็นชาติๆ นะ

 

ทีนี้ ถามว่า ถ้าไม่ให้รีบร้อน

จะให้ล่าช้าหรือ? ทอดหุ่ยหรือ? ก็ไม่ใช่อีก

 

เหมือนกับคนที่มีเวลาจำกัด

ที่จะต้องไปถึงสิบโมง ที่จะต้องไปถึงสิบโมงครึ่ง

แล้วมัวแต่ทอดหุ่ย แล้วก็ไปไม่ทันเวลา

แบบนั้นก็ถือว่าชวดงาน หรือไม่ได้เข้าร่วมงาน

ไม่ได้ขึ้นขบวนรถไฟ ตกรถไฟ ตกขบวน

 

ทำนองเดียวกัน อายุมนุษย์ไม่ได้มีไปเรื่อยๆ

ถ้าหากว่าบอก .. เดี๋ยวขอเป็นอิสระทางการเงินก่อน

เดี๋ยวจะค่อยทำ จัดให้เต็มที่

หรือว่า พอทำๆ ไป มีความรู้สึกว่า อย่างอื่นสำคัญกว่า

เช่น จะต้อง .. ไม่เกี่ยวกับเรื่องงานเรื่องการนะ

หมายถึงเรื่อง แชท ดูหนังฟังเพลง

หรือว่า อะไรที่เป็นความบันเทิงทั้งหลาย

 

พอเข้ามา เราเห็นว่าสำคัญกว่า คือให้ priority มากกว่า

แล้วก็นึกว่าแค่ครั้งสองครั้งไม่เป็นไร

แต่ที่ไหนได้ อำนาจความเคยชิน

บางทีในเรื่องเกี่ยวกับความบันเทิงนี่ มันพร้อมจะแซงอยู่แล้ว

พร้อมจะแทรกคิวอยู่แล้ว

 

ฉะนั้นนึกว่า แค่ครั้งสองครั้ง

แต่เอาเข้าจริงๆ แล้ว 90% เราให้เวลากับความบันเทิง

ทั้งๆ ที่เดิมทีตั้งใจแน่วแน่ ว่าจะเอาให้ได้

เสร็จแล้วก็มีการทอดหุ่ย

มีการที่เราให้ค่าให้ความสำคัญกับอย่างอื่นไปก่อน

รู้ตัวอีกที หมดเวลาในชีวิตเอาง่ายๆ

 

แล้วเรื่องชีวิตมนุษย์นี้ ท่านก็บอกว่า ชีวิตเป็นของน้อย

คือถ้าเข้าใจว่า จะมีเวลาไปเรื่อยๆ นึกว่า.. เอาแค่ความรู้สึกนะ

อารมณ์แบบว่า หนึ่งวัน ไม่เป็นไร

หนึ่งวัน บอกไม่ทำเลย ไม่เป็นไร

แต่ที่ไหนได้ หนึ่งวันที่ไม่ทำเลย แม้แต่ห้านาที สิบนาทีนี่

กลายเป็นความรู้สึกว่า หนึ่งวันไม่เป็นไร ซ้ำๆ

 

คือวันต่อไป ก็มีความรู้สึกว่า หนึ่งวันไม่เป็นไร

วันต่อไป ก็หนึ่งวันไม่เป็นไร

รู้ตัวอีกที ผ่านไปแล้วสิบปี แทบจะไม่ได้ทำอะไรตามความตั้งใจเดิม

แล้วก็เหมือนไม่เพิ่มเติมอะไรขึ้นมาใหม่ บนเส้นทางการเจริญสติ

 

แบบนี้เรียกช้าเกินไป เหมือนกับไปไม่ทันงาน เพราะมัวแต่ทอดหุ่ย

 

ทีนี้ ที่พอดีคืออย่างไร?

 

เรารู้ว่าวิธีขับรถ เป็นอย่างไร

เรารู้ว่าทิศทางต้องไปทางไหน มีซอยลัด มีทางที่จะไปด่วนๆ

 

รีบได้.. รีบ แต่ไม่ใช่รีบแบบรีบร้อน

 

รีบ แบบให้มีความรู้สึกว่า พอดีๆ ..

รีบ พอดีๆ แบบที่ไม่ต้องติดอยู่กับคำว่า ทอดหุ่ย หรือ เนิ่นช้า

รีบ ในแบบที่ พอให้ไปได้ทันงาน

 

ไปก่อนเวลาสักนิดก็ดี เพราะถ้าไปถึงแบบพอดีๆ

เราไม่รู้ว่า จะมีอะไรเกิดขึ้นมาแทรกแซงเสียก่อนหน้านั้น

ถ้าหากว่าเราเจอกับ ..

 

อย่างบางคน บอกว่า เดี๋ยววางแผนไว้

อีกห้าปี จะเป็นอิสระทางการเงิน แล้วปฏิบัติอย่างเดียว ไม่ทำอะไรอย่างอื่น

ก่อนถึงห้าปีนั้น มีอะไรเกิดขึ้นกับชีวิตบ้างก็ไม่รู้

เพราะชีวิตเป็นของไม่แน่นอน อาจไม่ได้ทำอย่างที่คิด

 

นี่ก็เรียกว่า การจะเอาให้พอดี อยู่ในความรู้สึกว่า

ใจไม่พุ่งไปข้างหน้าแรงเกินไป

จนกระทั่งเรียกว่า บอบช้ำเพราะความผิดหวัง

ผิดหวังเพราะตั้งความคาดหวังไว้สูงเกินตัว

ให้มีความคาดหวังอยู่กับเฉพาะปัจจุบันนี้

มีความรู้สึกว่า ปัจจุบันนี้ รู้อะไรได้ ก็รู้ ไม่ต้องไปเกี่ยงเวลา

 

นี่เรียกว่า ก็ไม่ล่าช้าด้วย ไม่ประมาท

และไม่มีอาการที่จะเกินๆ หรือขาดๆ

 

ตัวนี้แหละ สำคัญที่สุด ..

ใจ ถ้าหากไม่พุ่งล้ำไปข้างหน้า

แล้วก็ไม่ล่าช้า เหมือนถอยไปข้างหลัง

เหมือนถอยหลังเข้าคลองไปทุกที แต่อยู่กับเนื้อกับตัว

 

แล้วมีความรู้สึกว่า ใจของเราสบาย กายของเราเป็นปกติ

สามารถที่จะรู้ รู้สึกถึงความเบากาย รู้สึกถึงความเบาใจ

เห็นว่ากายนี้เป็นของว่าง เห็นว่าใจนี้เป็นของว่างอยู่เรื่อยๆ

โดยที่ไม่มีความรู้สึกฝืน ไม่มีความรู้สึกบังคับ

แล้วก็ไม่มีความรู้สึกทอดหุ่ย เหม่อลอย

นี่แหละ ตรงนี้แหละ เรียกว่าพอดี

_______________

วิปัสสนานุบาล EP163 – เกริ่นนำ : ยิ่งรีบยิ่งช้า มัวรอก็ไม่ถึง อย่างไรจึงจะพอดี

ถอดคำ : เอ้

วันจันทร์ที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2565

วิปัสสนานุบาล EP154 (เกริ่นนำ) | อังคาร 7 มิถุนายน 2565

วิปัสสนานุบาล EP154 | อังคาร 7 มิถุนายน 2565


พี่ตุลย์ : สมัยพุทธกาล เวลาที่เขาสอนกัน

เราก็ไม่รู้ว่ามีรายละเอียดอย่างไรบ้าง

แต่สิ่งที่ปรากฏในพระไตรปิฎก

บางทีท่านไม่สามารถที่จะลงรายละเอียด อย่างเช่น

ดูนะ ตรงนี้เกร็งตรงนี้สว่างแล้ว ให้เอามารู้อย่างนั้นอย่างนี้

บันทึกให้หมดไม่ได้

 

พอเราอยู่รวมกันแบบนี้ เห็นเลยว่า

ถ้าบันทึกรายละเอียดเฉพาะรายลงพระไตรปิฎกทั้งหมด

ก็คงจะฟั่นเฝือ ดูแล้วไม่เข้าใจ

จับหลักไม่ถูกว่าต้องทำอย่างไรกันแน่

 

เพราะเอาปัญหา รายละเอียดหรืออุปสรรคมาแล้วนี่

ต้องชี้เฉพาะคน แล้วต้องชี้เดี๋ยวนั้นถึงจะ work

 

ถ้าพูดไว้ก่อนล่วงหน้า

บางทีก็ยากที่จะมองภาพรวมให้ออก ว่าตกลงจะให้ทำอย่างไรกันแน่

 

ฉะนั้น สิ่งที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้ แล้วพระเถระ

ซึ่งเป็นพระอรหันต์ห้าร้อยรูป ที่ทำสังคายนาครั้งแรก ท่านคัดเลือกไว้

ก็จะออกแนวที่ว่า เจริญอานาปานสติ ให้ถึงฌาน เสียก่อนแล้วค่อยมาดู

จะเป็นภาวะของอิริยาบถ ภาวะ การเคลื่อนไหวแยกย่อย

จะเป็นเห็นธาตุขันธ์ เห็นอารมณ์เวทนา เห็นภาวะจิตอะไรต่างๆ จะง่าย

 

เวลาที่เราอ่านพระสูตรเกี่ยวกับการปฏิบัติ

จึงมักเจอคำว่า ทำให้ถึง ฌาน

 

สมาธินี่ ท่านตั้งต้นที่ปฐมฌานเป็นต้นไป

ภาวะเกร็ง ภาวะรายละเอียดหยุมหยิมอะไรต่างๆ จะได้ไม่ต้องพูดถึง

 

ตรงนี้เราจะกล่าวว่าเป็น gap เป็นช่องว่างของช่วงเวลาก็ได้

คือถ้าหากใครเจริญอานาปานสติ จนถึงฌานได้ ทุกอย่างจะง่ายหมด

ที่ตามหลังมา แทบไม่ต้องติดขัดอุปสรรคอะไรที่ตื้นๆ

 

แต่ปัญหาอยู่ตรงนี้ .. ถ้าทำไม่ได้ ทำให้ถึงฌานไม่ได้

หรืออย่างน้อยอุปจารสมาธิก็ยังดี

ถ้าทำไม่ได้ก็ไปต่อไม่ถูก

 

ทีนี้ อย่างที่เราทำๆ กัน ก็เป็นการพยายามตบจิตให้เข้าถึงสมาธิด้วย

แล้วระหว่างทาง ก็พยายามที่จะดูเข้ามาในกายนี้

เล็งเข้ามาในการปรุงแต่งของกายใจนี้ ควบคู่ไปด้วย

 

อย่างถ้าหลายๆ คนเริ่มมีความสว่างที่เต็มขึ้นมา

อาจยังไม่ถึงฌาน

 

ความสว่างที่เต็มขึ้นมา ผมพูดถึงว่า ..

อย่างตอนที่เราเปิดฟ้า ซึ่งก็คือการเจริญ อาโลกกสิณชนิดหนึ่ง

ส่วนใหญ่จะได้กันในระดับ อาโลกสัญญา

คือมีความรู้สึกสว่างของท้องฟ้า มาเป็นตัวปรุงแต่ง ให้จิตเกิดความสว่าง

 

ที่จะไปให้ถึงอาโลกกสิณ มีความคงค้างไว้จริงๆ ความสว่างแจ้ง

ไม่ว่าจะเงยหน้า หรือลดใบหน้าลงมา

ไม่ว่าจะกำหนดรู้อะไร จะสว่างแจ้งตลอดเวลา

โดยมีฐาน คือความรู้สึกใต้ฝ่าเท้า เป็นแผ่นดินราบที่กว้างใหญ่

อันนั้นคือฐานของจิตนั่นเอง ที่ทำให้เกิดความรู้สึกตั้งมั่นได้นาน

 

ถ้าใครไปได้ถึงจุดที่สว่างค้าง มีความสว่างแจ้งคงค้างอยู่ได้

แล้วเอามารู้อะไร ก็จะง่าย

นี่ก็เป็นจุดหนึ่ง หลายคนในห้องนี้ทำได้แล้ว

 

ทีนี้ พอสว่างเต็ม บางทีอาจมีแบบที่ว่า

แล้วจะเอามาเริ่มรู้ความเป็นรายละเอียดภายใน

ความเป็นโครงกระดูกตอนไหน อย่างไร

 

บางทีถ้าเต็มบริบูรณ์ แล้วคงค้างจริงๆ จะไม่มีปัญหา

จะรู้เองว่า เอาจิตเต็มๆ ดวง ที่มีความสว่างแจ้งแล้วนั้นมารู้

 

แต่ส่วนใหญ่ที่ยังครึ่งๆ กลางๆ แล้วพยายามดูเข้ามา จะมีปัญหา

เพราะตอนจิตสว่างเต็ม จะเบ่งบานออกมาจากกลางอก

 

แต่พอเราคิดที่จะดูทีละส่วน หรือว่าเห็นทีละจุด

จะมีส่วนของความคิด พยายามยื่น พยายามโฟกัสลงมา

ซึ่งตรงนั้น ความสว่างเต็ม ก็หายไป

หรือกลายเป็นแหว่งวิ่น หรือ รู้สึกราวกับว่า

เอาจิตแค่ส่วนเดียว ส่วนบนสุด ไปจี้ที่จุดใดจุดหนึ่ง

ความสว่างก็ลดลง

 

ก็เป็นปัญหาเฉพาะตัวอีกด้านหนึ่ง

 

คำแนะนำก็คือ อยู่กับจิตที่สว่างแจ้งเต็มดวง ให้ได้มั่นๆ

แล้วเอาจิตที่สว่างแจ้งเต็มดวงนั้น มารู้ทั้งหมด หัดรู้ทั้งหมด

แต่ว่า แน่นอนก็เริ่มจาก .. ควรเอาให้แน่ใจว่า

เราค่อยๆเป็น ค่อยๆ ไปมาตั้งแต่แรก

 

ตอนที่ยังเหมือนกับไม่ถึงความเต็มดวงจริง ก็อาจรู้เป็นจุดๆ ควบคู่ไป อย่างเช่นที่ผมมักบอกในไลฟ์ เวลาที่เราลากมือผ่าน

ตอนที่เริ่มสว่าง เริ่มจิตใส แล้วเราก็ทำความรับรู้ถึงฝ่ามือที่ยื่นขึ้นไป

แล้วลากผ่านหัว จะเห็นเหมือนกับอะไรเป็นซี่ๆ ปรากฏขึ้นมารำไร

ผ่านกะโหลกที่มีสัณฐานอย่างไรอยู่ มีโพรงกะโหลก ภายใน

 

แต่อย่างนั้นจะเป็นการค่อยๆ เห็นทีละจุด ซึ่งฝึกไว้ก่อน ก็มีข้อดี

คือทำให้เวลาที่จิตเต็มแล้ว จะมีความเคยชินที่จะรู้เข้ามาข้างใน

แทนที่จะส่งออกไปข้างนอก

 

อย่างนักทำสมาธิ ไม่ว่าแนวไหน

ถ้าเกิดความสว่างเต็มแล้ว มักจะมีอาการพุ่งออกไปข้างหน้า

ไปรู้เห็นอะไรที่สนองกับกิเลสมนุษย์ธรรมดาคนหนึ่ง

 

แต่ของเราค่อยๆ มองเข้ามาทีละจุดก่อน

สว่างบ้าง ไม่สว่างบ้าง ใสบ้าง ไม่ใสบ้าง ไม่เป็นไร

แต่สร้างความเคยชินไว้

 

แล้วตอนที่ยังไม่สว่างเต็ม บางทีได้หน้าลืมหลัง หรือตายน้ำตื้น

เช่น บางคนทำได้ดีแล้ว จิตใสใจเบา กายมีความปลอดโปร่ง

แต่พอชูมือขึ้นสุด ตอนลงมาคายลมหายใจออกหมด

พอลงมาสุด หน้าท้องยังตึงอยู่

 

หน้าท้องตึงนี่ ดูเหมือนเป็นเรื่องเล็กๆ

เหมือนเป็นอุปสรรคที่ไม่ใช่อุปสรรค แต่ที่แท้แล้วเรื่องใหญ่

เพราะนานไป ถ้าหน้าท้องตึง จิตจะไม่มีทางเปิดเต็ม

จิตจะมีความรู้สึกหนึบ หรือมีอาการเกาะเกี่ยว

อยู่กับรากของความเครียด ความเกร็ง

 

ซึ่งหลังๆ ถึงได้พยายามเตือนหลายๆ คน

พอหายใจออกหมด สังเกต อย่าตายน้ำตื้น

 

เวลาที่คายออกหมด หน้าท้องต้องผ่อนพัก

เนื้อตัวทั้งหมดต้องไม่มีส่วนใดเกร็งเลย

ถึงจะจับจังหวะถูกที่จะหายใจเข้าครั้งต่อไปแบบสบาย

แล้วบันดาลให้เกิดปีติ ให้เกิดความรู้สึกว่า

ทั้งกายทั้งจิตมีความสุข ความสบายควบคู่กันไป

ไม่ใช่ว่าเอาสบายแต่จิต หรือสบายแต่กายอย่างใดอย่างหนึ่ง

 

ถ้าควบคู่กันได้ ไปถึงปีติสุข ในแบบที่เป็นองค์ฌานได้ไม่ยาก

 

แต่ถ้าหากหน้าท้องยังเกร็งเนื้อตัวยัง

บางทีบีบๆ อยู่ มีอาการเกร็งๆ อยู่ อย่างนี้

ก็ยากที่จะไปได้ถึงสมาธิแบบรวมดวงนะครับ

_______________

วิปัสสนานุบาลไลฟ์ EP154

วันที่ 7 มิถุนายน 2565

ถอดคำ : เอ้