วันจันทร์ที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2565

วิปัสสนานุบาล EP154 (เกริ่นนำ) | อังคาร 7 มิถุนายน 2565

วิปัสสนานุบาล EP154 | อังคาร 7 มิถุนายน 2565


พี่ตุลย์ : สมัยพุทธกาล เวลาที่เขาสอนกัน

เราก็ไม่รู้ว่ามีรายละเอียดอย่างไรบ้าง

แต่สิ่งที่ปรากฏในพระไตรปิฎก

บางทีท่านไม่สามารถที่จะลงรายละเอียด อย่างเช่น

ดูนะ ตรงนี้เกร็งตรงนี้สว่างแล้ว ให้เอามารู้อย่างนั้นอย่างนี้

บันทึกให้หมดไม่ได้

 

พอเราอยู่รวมกันแบบนี้ เห็นเลยว่า

ถ้าบันทึกรายละเอียดเฉพาะรายลงพระไตรปิฎกทั้งหมด

ก็คงจะฟั่นเฝือ ดูแล้วไม่เข้าใจ

จับหลักไม่ถูกว่าต้องทำอย่างไรกันแน่

 

เพราะเอาปัญหา รายละเอียดหรืออุปสรรคมาแล้วนี่

ต้องชี้เฉพาะคน แล้วต้องชี้เดี๋ยวนั้นถึงจะ work

 

ถ้าพูดไว้ก่อนล่วงหน้า

บางทีก็ยากที่จะมองภาพรวมให้ออก ว่าตกลงจะให้ทำอย่างไรกันแน่

 

ฉะนั้น สิ่งที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้ แล้วพระเถระ

ซึ่งเป็นพระอรหันต์ห้าร้อยรูป ที่ทำสังคายนาครั้งแรก ท่านคัดเลือกไว้

ก็จะออกแนวที่ว่า เจริญอานาปานสติ ให้ถึงฌาน เสียก่อนแล้วค่อยมาดู

จะเป็นภาวะของอิริยาบถ ภาวะ การเคลื่อนไหวแยกย่อย

จะเป็นเห็นธาตุขันธ์ เห็นอารมณ์เวทนา เห็นภาวะจิตอะไรต่างๆ จะง่าย

 

เวลาที่เราอ่านพระสูตรเกี่ยวกับการปฏิบัติ

จึงมักเจอคำว่า ทำให้ถึง ฌาน

 

สมาธินี่ ท่านตั้งต้นที่ปฐมฌานเป็นต้นไป

ภาวะเกร็ง ภาวะรายละเอียดหยุมหยิมอะไรต่างๆ จะได้ไม่ต้องพูดถึง

 

ตรงนี้เราจะกล่าวว่าเป็น gap เป็นช่องว่างของช่วงเวลาก็ได้

คือถ้าหากใครเจริญอานาปานสติ จนถึงฌานได้ ทุกอย่างจะง่ายหมด

ที่ตามหลังมา แทบไม่ต้องติดขัดอุปสรรคอะไรที่ตื้นๆ

 

แต่ปัญหาอยู่ตรงนี้ .. ถ้าทำไม่ได้ ทำให้ถึงฌานไม่ได้

หรืออย่างน้อยอุปจารสมาธิก็ยังดี

ถ้าทำไม่ได้ก็ไปต่อไม่ถูก

 

ทีนี้ อย่างที่เราทำๆ กัน ก็เป็นการพยายามตบจิตให้เข้าถึงสมาธิด้วย

แล้วระหว่างทาง ก็พยายามที่จะดูเข้ามาในกายนี้

เล็งเข้ามาในการปรุงแต่งของกายใจนี้ ควบคู่ไปด้วย

 

อย่างถ้าหลายๆ คนเริ่มมีความสว่างที่เต็มขึ้นมา

อาจยังไม่ถึงฌาน

 

ความสว่างที่เต็มขึ้นมา ผมพูดถึงว่า ..

อย่างตอนที่เราเปิดฟ้า ซึ่งก็คือการเจริญ อาโลกกสิณชนิดหนึ่ง

ส่วนใหญ่จะได้กันในระดับ อาโลกสัญญา

คือมีความรู้สึกสว่างของท้องฟ้า มาเป็นตัวปรุงแต่ง ให้จิตเกิดความสว่าง

 

ที่จะไปให้ถึงอาโลกกสิณ มีความคงค้างไว้จริงๆ ความสว่างแจ้ง

ไม่ว่าจะเงยหน้า หรือลดใบหน้าลงมา

ไม่ว่าจะกำหนดรู้อะไร จะสว่างแจ้งตลอดเวลา

โดยมีฐาน คือความรู้สึกใต้ฝ่าเท้า เป็นแผ่นดินราบที่กว้างใหญ่

อันนั้นคือฐานของจิตนั่นเอง ที่ทำให้เกิดความรู้สึกตั้งมั่นได้นาน

 

ถ้าใครไปได้ถึงจุดที่สว่างค้าง มีความสว่างแจ้งคงค้างอยู่ได้

แล้วเอามารู้อะไร ก็จะง่าย

นี่ก็เป็นจุดหนึ่ง หลายคนในห้องนี้ทำได้แล้ว

 

ทีนี้ พอสว่างเต็ม บางทีอาจมีแบบที่ว่า

แล้วจะเอามาเริ่มรู้ความเป็นรายละเอียดภายใน

ความเป็นโครงกระดูกตอนไหน อย่างไร

 

บางทีถ้าเต็มบริบูรณ์ แล้วคงค้างจริงๆ จะไม่มีปัญหา

จะรู้เองว่า เอาจิตเต็มๆ ดวง ที่มีความสว่างแจ้งแล้วนั้นมารู้

 

แต่ส่วนใหญ่ที่ยังครึ่งๆ กลางๆ แล้วพยายามดูเข้ามา จะมีปัญหา

เพราะตอนจิตสว่างเต็ม จะเบ่งบานออกมาจากกลางอก

 

แต่พอเราคิดที่จะดูทีละส่วน หรือว่าเห็นทีละจุด

จะมีส่วนของความคิด พยายามยื่น พยายามโฟกัสลงมา

ซึ่งตรงนั้น ความสว่างเต็ม ก็หายไป

หรือกลายเป็นแหว่งวิ่น หรือ รู้สึกราวกับว่า

เอาจิตแค่ส่วนเดียว ส่วนบนสุด ไปจี้ที่จุดใดจุดหนึ่ง

ความสว่างก็ลดลง

 

ก็เป็นปัญหาเฉพาะตัวอีกด้านหนึ่ง

 

คำแนะนำก็คือ อยู่กับจิตที่สว่างแจ้งเต็มดวง ให้ได้มั่นๆ

แล้วเอาจิตที่สว่างแจ้งเต็มดวงนั้น มารู้ทั้งหมด หัดรู้ทั้งหมด

แต่ว่า แน่นอนก็เริ่มจาก .. ควรเอาให้แน่ใจว่า

เราค่อยๆเป็น ค่อยๆ ไปมาตั้งแต่แรก

 

ตอนที่ยังเหมือนกับไม่ถึงความเต็มดวงจริง ก็อาจรู้เป็นจุดๆ ควบคู่ไป อย่างเช่นที่ผมมักบอกในไลฟ์ เวลาที่เราลากมือผ่าน

ตอนที่เริ่มสว่าง เริ่มจิตใส แล้วเราก็ทำความรับรู้ถึงฝ่ามือที่ยื่นขึ้นไป

แล้วลากผ่านหัว จะเห็นเหมือนกับอะไรเป็นซี่ๆ ปรากฏขึ้นมารำไร

ผ่านกะโหลกที่มีสัณฐานอย่างไรอยู่ มีโพรงกะโหลก ภายใน

 

แต่อย่างนั้นจะเป็นการค่อยๆ เห็นทีละจุด ซึ่งฝึกไว้ก่อน ก็มีข้อดี

คือทำให้เวลาที่จิตเต็มแล้ว จะมีความเคยชินที่จะรู้เข้ามาข้างใน

แทนที่จะส่งออกไปข้างนอก

 

อย่างนักทำสมาธิ ไม่ว่าแนวไหน

ถ้าเกิดความสว่างเต็มแล้ว มักจะมีอาการพุ่งออกไปข้างหน้า

ไปรู้เห็นอะไรที่สนองกับกิเลสมนุษย์ธรรมดาคนหนึ่ง

 

แต่ของเราค่อยๆ มองเข้ามาทีละจุดก่อน

สว่างบ้าง ไม่สว่างบ้าง ใสบ้าง ไม่ใสบ้าง ไม่เป็นไร

แต่สร้างความเคยชินไว้

 

แล้วตอนที่ยังไม่สว่างเต็ม บางทีได้หน้าลืมหลัง หรือตายน้ำตื้น

เช่น บางคนทำได้ดีแล้ว จิตใสใจเบา กายมีความปลอดโปร่ง

แต่พอชูมือขึ้นสุด ตอนลงมาคายลมหายใจออกหมด

พอลงมาสุด หน้าท้องยังตึงอยู่

 

หน้าท้องตึงนี่ ดูเหมือนเป็นเรื่องเล็กๆ

เหมือนเป็นอุปสรรคที่ไม่ใช่อุปสรรค แต่ที่แท้แล้วเรื่องใหญ่

เพราะนานไป ถ้าหน้าท้องตึง จิตจะไม่มีทางเปิดเต็ม

จิตจะมีความรู้สึกหนึบ หรือมีอาการเกาะเกี่ยว

อยู่กับรากของความเครียด ความเกร็ง

 

ซึ่งหลังๆ ถึงได้พยายามเตือนหลายๆ คน

พอหายใจออกหมด สังเกต อย่าตายน้ำตื้น

 

เวลาที่คายออกหมด หน้าท้องต้องผ่อนพัก

เนื้อตัวทั้งหมดต้องไม่มีส่วนใดเกร็งเลย

ถึงจะจับจังหวะถูกที่จะหายใจเข้าครั้งต่อไปแบบสบาย

แล้วบันดาลให้เกิดปีติ ให้เกิดความรู้สึกว่า

ทั้งกายทั้งจิตมีความสุข ความสบายควบคู่กันไป

ไม่ใช่ว่าเอาสบายแต่จิต หรือสบายแต่กายอย่างใดอย่างหนึ่ง

 

ถ้าควบคู่กันได้ ไปถึงปีติสุข ในแบบที่เป็นองค์ฌานได้ไม่ยาก

 

แต่ถ้าหากหน้าท้องยังเกร็งเนื้อตัวยัง

บางทีบีบๆ อยู่ มีอาการเกร็งๆ อยู่ อย่างนี้

ก็ยากที่จะไปได้ถึงสมาธิแบบรวมดวงนะครับ

_______________

วิปัสสนานุบาลไลฟ์ EP154

วันที่ 7 มิถุนายน 2565

ถอดคำ : เอ้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น