วันจันทร์ที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2565

วิปัสสนานุบาล EP 163 (เกริ่นนำ) | จันทร์ 20 มิย. 65

EP163 | จันทร์ 20 มิถุนายน 2565

 

พี่ตุลย์ : น่าจะเคยได้ยิน แล้วก็เข้าใจกันว่า

การเดินทางบนท้องถนน บางทีถ้ารีบร้อน อาจจะยิ่งถึงช้า

เพราะการรีบร้อนบางครั้งทำให้เกิดความเสียหายได้

 

อย่างที่เห็นบนท้องถนนชัดเจน

บางคนรีบ จนกระทั่งไปชนโน่นนิดนี่หน่อย

หรือกระทั่งชนใหญ่ๆ เป็นอุบัติเหตุ ทำให้เกิดความล่าช้า

ต้องรอประกัน หรือว่าต้องตกลงกับคู่กรณี

 

หรือถึงไม่มีคู่กรณีเลย ไปชนอะไรเข้า

อย่างน้อยที่สุด ก็ต้องหงุดหงิดอารมณ์เสียลงมาดู

ว่าเกิดอะไรกับรถของเราบ้าง หรือไปต่อได้ไหม

มีอะไรที่ต้องทำเดี๋ยวนั้นเพิ่มเติมหรือเปล่า

ทั้งที่ไม่ควรจะไปเสียเวลากับตรงนั้น

 

ความเสียหายที่เกิดขึ้นบนท้องถนน

สามารถเอามาเปรียบเทียบได้กับความรีบร้อนในการเจริญสติ

เพราะบางทีที่เราอุตส่าห์ขับรถเป็นแล้ว

อยู่บนทางที่ ใช่ทิศที่จะไปถึงจุดหมายปลายทางแล้ว

แต่รีบเกินไปนิดหนึ่ง เลยกลายเป็นความเสียหาย

 

เช่น เกิดความรู้สึกว่า ร่างกายทรุดโทรม

หรือจิตใจบอบช้ำจากการทำอะไรแล้วไม่ได้อย่างใจ

หรือว่า ทำไปแล้วไม่ได้ดีตามสเปก เกิดความท้อถอย

 

ความท้อถอย จัดเป็นความบุบสลาย หรือบอบช้ำทางใจชนิดหนึ่ง

หรือถ้าไม่เอาอะไรเลย แค่มีความรู้สึกว่า ทำแล้วไม่ได้ดิบได้ดี

บางทีเหมือนกับศรัทธาเสื่อมถอยได้

ศรัทธาในธรรม หรือศรัทธาในตัวเอง บางทีเสื่อมถอยได้ เอาใจยากนะ

 

ถ้าหากว่าขยันๆ ไปแล้วเกิดความรู้สึกคล้ายๆ ว่า

เกิดอารมณ์แบบหนึ่งขึ้นมาว่า ปกติ ฉันอยู่ทางโลก ฉันเก่งนะ

แล้วก็ทำอะไรประสบความสำเร็จเสมอ

หรือ กระทั่งว่าไปได้เร็วกว่าคนอื่น แซงหน้าคนอื่นมาทุกที

แต่พอมาอยู่ในสนามนี้ เจริญสติ แล้วสติไม่เจริญ

หรือกระทั่งว่า กลายเป็นฟุ้งซ่านหนักขึ้น เพราะเหตุที่รีบร้อนเกินไป

 

ความเสียหายที่เกิดขึ้น บางทีประมาณค่าไม่ได้

และอาจไม่ใช่แค่เสียเวลาเหมือนกับบนท้องถนน

ที่อาจไม่กี่ชั่วโมงก็ไปต่อได้

 

แต่ความเสียหายที่เกิดทางใจ บางครั้ง ว่ากันเป็นชาติๆ นะ

 

ทีนี้ ถามว่า ถ้าไม่ให้รีบร้อน

จะให้ล่าช้าหรือ? ทอดหุ่ยหรือ? ก็ไม่ใช่อีก

 

เหมือนกับคนที่มีเวลาจำกัด

ที่จะต้องไปถึงสิบโมง ที่จะต้องไปถึงสิบโมงครึ่ง

แล้วมัวแต่ทอดหุ่ย แล้วก็ไปไม่ทันเวลา

แบบนั้นก็ถือว่าชวดงาน หรือไม่ได้เข้าร่วมงาน

ไม่ได้ขึ้นขบวนรถไฟ ตกรถไฟ ตกขบวน

 

ทำนองเดียวกัน อายุมนุษย์ไม่ได้มีไปเรื่อยๆ

ถ้าหากว่าบอก .. เดี๋ยวขอเป็นอิสระทางการเงินก่อน

เดี๋ยวจะค่อยทำ จัดให้เต็มที่

หรือว่า พอทำๆ ไป มีความรู้สึกว่า อย่างอื่นสำคัญกว่า

เช่น จะต้อง .. ไม่เกี่ยวกับเรื่องงานเรื่องการนะ

หมายถึงเรื่อง แชท ดูหนังฟังเพลง

หรือว่า อะไรที่เป็นความบันเทิงทั้งหลาย

 

พอเข้ามา เราเห็นว่าสำคัญกว่า คือให้ priority มากกว่า

แล้วก็นึกว่าแค่ครั้งสองครั้งไม่เป็นไร

แต่ที่ไหนได้ อำนาจความเคยชิน

บางทีในเรื่องเกี่ยวกับความบันเทิงนี่ มันพร้อมจะแซงอยู่แล้ว

พร้อมจะแทรกคิวอยู่แล้ว

 

ฉะนั้นนึกว่า แค่ครั้งสองครั้ง

แต่เอาเข้าจริงๆ แล้ว 90% เราให้เวลากับความบันเทิง

ทั้งๆ ที่เดิมทีตั้งใจแน่วแน่ ว่าจะเอาให้ได้

เสร็จแล้วก็มีการทอดหุ่ย

มีการที่เราให้ค่าให้ความสำคัญกับอย่างอื่นไปก่อน

รู้ตัวอีกที หมดเวลาในชีวิตเอาง่ายๆ

 

แล้วเรื่องชีวิตมนุษย์นี้ ท่านก็บอกว่า ชีวิตเป็นของน้อย

คือถ้าเข้าใจว่า จะมีเวลาไปเรื่อยๆ นึกว่า.. เอาแค่ความรู้สึกนะ

อารมณ์แบบว่า หนึ่งวัน ไม่เป็นไร

หนึ่งวัน บอกไม่ทำเลย ไม่เป็นไร

แต่ที่ไหนได้ หนึ่งวันที่ไม่ทำเลย แม้แต่ห้านาที สิบนาทีนี่

กลายเป็นความรู้สึกว่า หนึ่งวันไม่เป็นไร ซ้ำๆ

 

คือวันต่อไป ก็มีความรู้สึกว่า หนึ่งวันไม่เป็นไร

วันต่อไป ก็หนึ่งวันไม่เป็นไร

รู้ตัวอีกที ผ่านไปแล้วสิบปี แทบจะไม่ได้ทำอะไรตามความตั้งใจเดิม

แล้วก็เหมือนไม่เพิ่มเติมอะไรขึ้นมาใหม่ บนเส้นทางการเจริญสติ

 

แบบนี้เรียกช้าเกินไป เหมือนกับไปไม่ทันงาน เพราะมัวแต่ทอดหุ่ย

 

ทีนี้ ที่พอดีคืออย่างไร?

 

เรารู้ว่าวิธีขับรถ เป็นอย่างไร

เรารู้ว่าทิศทางต้องไปทางไหน มีซอยลัด มีทางที่จะไปด่วนๆ

 

รีบได้.. รีบ แต่ไม่ใช่รีบแบบรีบร้อน

 

รีบ แบบให้มีความรู้สึกว่า พอดีๆ ..

รีบ พอดีๆ แบบที่ไม่ต้องติดอยู่กับคำว่า ทอดหุ่ย หรือ เนิ่นช้า

รีบ ในแบบที่ พอให้ไปได้ทันงาน

 

ไปก่อนเวลาสักนิดก็ดี เพราะถ้าไปถึงแบบพอดีๆ

เราไม่รู้ว่า จะมีอะไรเกิดขึ้นมาแทรกแซงเสียก่อนหน้านั้น

ถ้าหากว่าเราเจอกับ ..

 

อย่างบางคน บอกว่า เดี๋ยววางแผนไว้

อีกห้าปี จะเป็นอิสระทางการเงิน แล้วปฏิบัติอย่างเดียว ไม่ทำอะไรอย่างอื่น

ก่อนถึงห้าปีนั้น มีอะไรเกิดขึ้นกับชีวิตบ้างก็ไม่รู้

เพราะชีวิตเป็นของไม่แน่นอน อาจไม่ได้ทำอย่างที่คิด

 

นี่ก็เรียกว่า การจะเอาให้พอดี อยู่ในความรู้สึกว่า

ใจไม่พุ่งไปข้างหน้าแรงเกินไป

จนกระทั่งเรียกว่า บอบช้ำเพราะความผิดหวัง

ผิดหวังเพราะตั้งความคาดหวังไว้สูงเกินตัว

ให้มีความคาดหวังอยู่กับเฉพาะปัจจุบันนี้

มีความรู้สึกว่า ปัจจุบันนี้ รู้อะไรได้ ก็รู้ ไม่ต้องไปเกี่ยงเวลา

 

นี่เรียกว่า ก็ไม่ล่าช้าด้วย ไม่ประมาท

และไม่มีอาการที่จะเกินๆ หรือขาดๆ

 

ตัวนี้แหละ สำคัญที่สุด ..

ใจ ถ้าหากไม่พุ่งล้ำไปข้างหน้า

แล้วก็ไม่ล่าช้า เหมือนถอยไปข้างหลัง

เหมือนถอยหลังเข้าคลองไปทุกที แต่อยู่กับเนื้อกับตัว

 

แล้วมีความรู้สึกว่า ใจของเราสบาย กายของเราเป็นปกติ

สามารถที่จะรู้ รู้สึกถึงความเบากาย รู้สึกถึงความเบาใจ

เห็นว่ากายนี้เป็นของว่าง เห็นว่าใจนี้เป็นของว่างอยู่เรื่อยๆ

โดยที่ไม่มีความรู้สึกฝืน ไม่มีความรู้สึกบังคับ

แล้วก็ไม่มีความรู้สึกทอดหุ่ย เหม่อลอย

นี่แหละ ตรงนี้แหละ เรียกว่าพอดี

_______________

วิปัสสนานุบาล EP163 – เกริ่นนำ : ยิ่งรีบยิ่งช้า มัวรอก็ไม่ถึง อย่างไรจึงจะพอดี

ถอดคำ : เอ้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น