วันอาทิตย์ที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2557

ลมหายใจแห่งความสุข (ถาม-ตอบ)


คุณดังตฤณ บรรยายธรรมหัวข้อเรื่อง “ลมหายใจแห่งความสุข” ณ ไร่เชิญตะวัน จ.เชียงราย : ช่วง ถาม - ตอบ

๑๑ เมษายน ๒๕๕๖
สามเณร: ช่วยยกตัวอย่างการยอมรับความจริงภายในอีกทีให้หน่อยครับ

ดังตฤณ: เราควรจะพูดถึงการไม่สามารถจะยอมรับความจริงภายนอกก่อนนะ ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเราหวังจะสอบได้ที่หนึ่ง แล้วมันไม่ได้ที่หนึ่ง คนอื่นได้ที่หนึ่งไป ความจริงนั้นมันจะรบกวนจิตใจเราไม่เลิก มันจะย้ำคิด แล้วก็ เหมือนถามตัวเองว่า ทำไมๆๆ เราพยายามแล้วมันถึงไม่ประสบความสำเร็จ ความจริงแบบนั้น ถามว่า ยากหรือง่าย ที่จะยอมรับ มันยาก ถูกมั้ย เพราะว่าใจของเรา มันตั้งความหวัง มันตั้งเป้าไว้เต็มที่เลยว่า จะเอาที่หนึ่งให้ได้ แต่มันไม่ได้ขึ้นมานี่ มันยากที่จะยอมรับเพราะว่าใจของเรามันตั้งเป้าไว้ก่อนว่าจะเอาให้ได้ มันจะเหมือนกันเลยนะ สภาพจิตสภาพใจแบบนี้ ที่มันมีความทุกข์แบบนี้นี่ เวลาโตขึ้นไปเราอยากได้งานแบบหนึ่งแล้วมันไม่ได้ หรือว่า อยากได้ตำแหน่งแบบหนึ่งแล้วมันพลาดไป คนอื่นได้แทน มันทุกข์ยิ่งกว่าตอนที่เรากำลังเรียน แล้วอยากได้ที่หนึ่ง แต่ไม่ได้เสียอีก แล้วความจริงที่มันปฏิเสธ ที่มันขัดแย้งกับความอยากของเราภายในแบบนี้ มันเกิดขึ้นได้ทั้งชีวิต

แต่ทีนี้ ถ้าหากว่า เรามาเปลี่ยนเป้าหมายใหม่ สิ่งที่เราอยากได้ สิ่งที่เราประสงค์จะได้นะ ไม่ใช่สิ่งที่เราอยาก ขอโทษนะ สิ่งที่เราต้องการ คือการที่จะยอมรับความจริง ว่า ลมหายใจมันกำลังเข้า หรือมันกำลังออกอยู่ อันนี้มันจะทำได้ง่าย เพราะอะไร เพราะได้รู้ว่า ลมหายใจเข้า หรือลมหายใจออกนี่ มันไม่เท่ มันไม่ต้องไปแข่งกับใคร มันไม่ต้องไปปักใจยึดไว้ว่า หายใจเข้า หรือหายใจออกแล้ว มันจะได้ประโยชน์อะไร คือลมหายใจนี่เป็นสิ่งที่ ปรากฎอยู่แล้วตลอดชีวิต ลมหายใจเป็นสิ่งที่ทุกคนก็มี ไม่ต้องแข่งขันกัน มันเลยเป็นสิ่งที่ยอมรับได้ง่าย แต่สิ่งที่ยอมรับได้ง่าย ที่มันปรากฎอยู่ตลอด ๒๔ ชม. นี่แหละ ถ้าหากว่าเราสังเกต เราคอยตามรู้ตามดูมันอยู่ ไม่เลิก ผลจะเป็นยังไง ผลคือ จิตใจที่มันมีความเข้มแข็งขึ้น มันมีสติดีขึ้นไง มันสามารถยอมรับตามจริงได้ตลอดเวลาว่า กำลังเกิดอะไรขึ้น ตัวความสามารถที่จะยอมรับความจริงที่กำลังปรากฎอยู่ตลอดเวลานั่นน่ะ ตัวนั้นแหละที่มันเอาไปใช้ ยอมรับความจริงที่ไม่น่ายอมรับประจำโลกได้ ไม่ว่าจะโตขึ้นไปแค่ไหน ไม่ว่าจะแก่ตัวลงไปปานใด ความสามารถทางจิตของเราจะเหมือนเดิม พูดง่ายๆ นะ ลมหายใจ เป็นสิ่งที่ไม่ต้องแข่งขันกัน ลมหายใจเป็นสิ่งทีไม่ได้ให้คุณให้โทษกับเราทันที เพราะฉะนั้นถ้ายอมรับมันแค่ยอมรับว่า เข้าหรือออกนี่ มันง่าย แล้วมันก็ปรากฎอยู่ตลอดเวลาให้เราฝึก ตลอด ๒๔ ชม. แต่เราไม่ฝึก เพราะว่าเราหลงอยู่ในป่า ป่าของความอยาก ป่าของความทะยาน ป่าที่มันเต็มไปด้วยความรก ด้วยกิเลส เราไม่ค่อยรู้จักทุ่งกว้าง ทุ่งโล่งของความไร้กิเลสกัน พอมันไม่มีตัวอย่าง มันก็เลยไม่เกิดแรงบันดาลใจว่า จะรู้ลมหายใจไปทำอะไร

แต่คนที่ฝึกสังเกตลมหายใจ ฝึกที่จะรู้ตามที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ คือให้เห็นว่ากำลังเข้า หรือกำลังออก กำลังยาว หรือกำลังสั้น รู้ไปเรื่อยๆ แค่นี้ มันจะเกิดความรู้อีกแบบหนึ่งขึ้นมา ความรู้ที่ประกอบอยู่ด้วยสติ และ ปัญญา เห็นว่าลมหายใจมันไม่เที่ยงจริงๆ และถ้าลมหายใจมันไม่เที่ยง อะไรภายนอกตัวล่ะที่จะเที่ยง มันจะรู้สึกขึ้นมาจริงๆ ว่า เราเห็นความไม่เที่ยงภายในอยู่ตลอดเวลานี่ มันก็สามารถยอมรับความจริงอันไม่เที่ยงภายนอกได้ด้วย เข้าใจนะ

เดี๋ยวถ้ายังข้องใจ ถามต่อว่า เมื่อกี้ผมตอบคำถามของเณรถูกไหม คือ เรื่องการยอมรับความจริงภายใน ทำไมถึงต้องยอมรับความจริงภายใน และการยอมรับความจริงภายในมันหมายถึงอะไร พูดง่ายๆ ก็คือ เราเห็นว่าเกิดอะไรขึ้นนั่นเอง แล้วมันง่ายที่จะยอมรับไง อาการยอมรับ คืออาการที่มันตรงกับธรรมชาติที่เกิดขึ้น แต่เวลาที่เราอยากอะไร แล้วมันไม่สมอยาก เราไปรู้ความจริงภายนอกนี่มันยาก มันจะมีอาการต่อต้านจากข้างในว่า ไม่อยากยอมรับ เคยเห็นไหม นักกีฬาที่เช่น ที่ชกมวยกัน ชกแพ้ไปแล้ว แต่ว่าไม่อยากยอมรับ อยากจะเป็นคนชนะ หรือว่า ที่เล่นกีฬากันในโรงเรียนของเรา ข้างหนึ่งชนะ ได้ชัยชนะไปแล้ว แต่อีกข้างหนึ่งไม่อยากยอมรับว่า ข้างนั้นเขาชนะ  มันมีความคาบเกี่ยว มันมีความล้ำเหลื่อมกันอยู่นิดๆ หน่อยๆ ไอ้ความรู้สึกไม่อยากจะแพ้นั่นน่ะ มันเป็นความรู้สึกที่ยาก ที่จะอยากยอมรับ ถูกไหม มันแตกต่างจากลมหายใจที่ทุกคนมีเข้ามีออกอยู่ตลอดเวลา มันยอมรับง่ายกว่า เพราะฉะนั้นเวลาที่เราจะเริ่มฝึกยอมรับตามจริง จึงควรที่จะฝึกเข้ามายอมรับความจริงภายใน ไม่ใช่ฝึกยอมรับความจริงภายนอกซึ่งมันยาก และไม่อยากจะฝืนใจยอมรับ คนชนะมีอยู่ได้แค่คนเดียว มีอยู่ได้แค่ข้างเดียว แต่ลมหายใจ มีกันอยู่ได้ทุกคน ก็คิดกันเอาเองว่า ทำไมมันถึงยอมรับได้ง่ายกว่า

สามเณร: จะลดความฟุ้งซ่านของตัวเองได้อย่างไรครับ

ดังตฤณ: พอเราตั้งต้นที่จะพยายามเอาชนะความฟุ้งซ่านนะ มันจะเกิดความฟุ้งซ่านแบบใหม่ขึ้นมาทันที ทันทีที่เราอยากนะ น้องเณรลองนึกดู ทบทวนดู ทุกครั้งที่เราเกิดความรู้สึกว่า อยากจะสงบจัง อยากจะเอาชนะความฟุ้งซ่านจัง มันจะเกิดความฟุ้งซ่านว่า ทำยังไงดี ขึ้นมาแทน แทนที่ความฟุ้งซ่านเก่านะ สมมติเรากำลังฟุ้งซ่านเรื่องเพื่อน สมมติว่าเรากำลังฟุ้งซ่านเรื่องกำลังไม่อยากอ่านหนังสือ สมมติว่าเรากำลังฟุ้งซ่านเรื่องทำไมพ่อแม่ไม่เข้าใจเรา ไม่ว่าเรากำลังจะฟุ้งซ่านเรื่องอะไรอยู่ก็ตาม ความฟุ้งซ่านนั้นรบกวนจิตใจเรามากพออยู่แล้ว แต่พอเราไปตั้งความอยากที่จะเลิกฟุ้งซ่าน อยากให้ความฟุ้งซ่านมันระงับลงไป แล้วทำไม่ได้ สิ่งที่จะเกิดขึ้นเป็นธรรมดา แทนที่ความฟุ้งซ่านเก่า ก็คือ ความฟุ้งซ่านว่าทำยังไงดี จึงจะหายฟุ้งซ่านได้

เห็นไหม ตัวความอยากมันไม่ได้หายไปไหน ความฟุ้งซ่านมันก็ยังอยู่ที่เดิมอยู่นั่นเอง เพียงแต่มันเปลี่ยนเรื่อง เปลี่ยนจากเรื่องคนอื่นไม่เข้าใจเรา เปลี่ยนจากเรื่องขี้เกียจอ่านหนังสือ เปลี่ยนจากเรื่องว่า ทำไมคนนั้นคนนี้เขาเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ เปลี่ยนจากเรื่องข้างนอกมาเป็นเรื่องข้างใน แต่ตัวความฟุ้งซ่านนี่เหมือนเดิม เข้าใจไหม คือเหตุแห่งความฟุ้งซ่านอาจต่างไป แต่ตัวความฟุ้งซ่านยังเท่าเดิม

สามเณร: คือบางครั้งตอนที่จะนั่งสมาธิแล้วพอฟุ้งซ่านมันเกิด และอยากให้มันลดความฟุ้งซ่าน แต่กลับว่าความฟุ้งซ่านมันมากกว่าเดิม

ดังตฤณ: นั่นแหละที่ผมพูด เห็นไหมเพราะความอยากจะหาย อยากจะให้ความฟุ้งซ่านมันหายไป ตัวความอยากนะ ก่อความกระวนกระวายแบบใหม่ขึ้นมา มันไม่ได้ทำให้ความฟุ้งซ่านแบบเก่าหายไป วิธีที่เราจะทำให้ความฟุ้งซ่านมันหายไปอย่างถูกต้อง ก็คือ เวลาเรานั่งสมาธิอยู่ รู้สึกว่าความฟุ้งซ่านมันตีขึ้นมา รู้สึกว่าความฟุ้งซ่านมันเหมือนคลื่นรบกวนที่มันแน่นขึ้นมา มันมีความวนไปวนมาอยู่ในหัว มันมีความวนไปวนมาอยู่ในอก แทนที่เราจะไปอยากหายฟุ้งซ่าน ลองยอมรับมันว่ามันฟุ้งซ่านอยู่ ยอมรับเพื่ออะไร เพื่อจะได้เห็นว่าคลื่นความฟุ้งซ่านหน้าตามันเป็นยังไง มันแรง หรือว่ามันเบา มันเข้มข้น หรือว่ามันเบาบาง คือยอมรับตามที่มันกำลังปรากฎอยู่จริงๆ นั่นแหละ อย่าไปดูว่ามันกำลังฟุ้งซ่านเรื่องอะไร แต่ดูว่ามันกำลังมีคลื่นอะไรปั่นป่วนอยู่ในหัวเรา มันมีอะไรเข้มๆ มันมีความรู้สึกเหมือนกระวนกระวายอยู่ แล้วเราแค่ยอมรับมัน ไม่ได้ไปอยากให้มันหายไปนะ แค่ยอมรับว่ามีลักษณะความฟุ้งซ่านระดับนี้เกิดขึ้นมา ที่ลมหายใจนี้ มันแรงแค่นี้ อีกลมหายใจหนึ่งต่อมา เราสังเกตดูอีกครั้งหนึ่ง จะพบด้วยความประหลาดใจนะว่า ความฟุ้งซ่านระดับเดิมมันเบาลง แต่ถ้ามันไม่เบาลง มันกลับแรงขึ้นอีก เราก็ยอมรับอีก ยอมรับว่ามันเปลี่ยนแปลงไปในทางที่แย่ลง ไอ้อาการยอมรับที่มันเกิดขึ้น ยอมรับว่ามันแรงขึ้น ยอมรับว่ามันเบาลง ตัวนี้แหละที่เรียกว่า “สติ” คำว่า “สติคือการยอมรับสภาพที่กำลังปรากฎอยู่ตามจริง ไม่ใช่ไปพยายามฝืนต่อต้านมัน

เมื่อไหร่ที่เราไปพยายามฝืนต่อต้านความจริง เมื่อนั้นมันจะเกิดความกระวนกระวายที่ความจริงไม่อาจเกิดตามใจเราได้ แต่เมื่อไหร่ที่เรากำลังสังเกตความจริง ยอมรับความจริง เมื่อนั้น ใจมันจะเกิดความรู้สึกว่า เออ เราเห็นนะ เราสามารถที่จะอยู่กับมันได้นะ อยู่กับความเปลี่ยนแปลง มันไม่ได้ฟุ้งซ่านอยู่ตลอดเวลาหรอก ชั่วขณะที่เราไม่ไปอยากให้มันสงบนี่ มันค่อยๆ สงบลงเองอยู่แล้ว มันค่อยๆ เปลี่ยนแปลงไปอยู่แล้ว เข้าใจพอยต์ (point) นะ

จุดแตกต่างมันมีอยู่แค่นี้เอง เปลี่ยนจากความอยากให้ฟุ้งซ่านนี่มันหายไป เป็นเห็นว่าความฟุ้งซ่านมันกำลังมีอยู่ และมีอยู่ในระดับใด มากหรือว่าน้อย อาศัยลมหายใจขณะนี้เป็นตัวตัดสิน ลมหายใจนี้มันแรงมาก เรายอมรับตามจริงไปว่าฟุ้งซ่านแรง ลมหายใจต่อมามันฟุ้งซ่านเบาบางลง เราก็เห็นว่ามันเบาบางลง ตัวความเห็น ตัวความสามารถที่จะเห็น ตัวความสามารถที่จะรู้ความจริงนั่นแหละ ที่จะทำให้ความฟุ้งซ่านมันค่อยๆ แสดงความไม่เที่ยง มันจะหายไปหรือไม่หายไป เราไม่สนใจ เราสนใจแต่ว่า เราจะเห็นความจริงเกี่ยวกับ ระดับความเข้ม ความอ่อนของความฟุ้งซ่านเท่านั้น ตัวความสามารถในการเห็นมันจะพัฒนาเป็นสติ ตัวสติที่เกิดขึ้นจะทำให้ความฟุ้งซ่านมันเบาบางหรือเว้นวรรคห่างออกไปเอง โดยที่เราไม่ต้องไปพยายามระงับหรือกดข่มมัน เข้าใจนะ

บางทีมันมีความพยายามกันทั้งชีวิตนะ ที่จะทำความฟุ้งซ่านให้หายไป ผมเคยไปเจอผู้บริหารระดับสูงเลยในองค์กรที่ใหญ่ระดับประเทศ ทุกองค์กร จะมีความอยากที่ตรงกันกับที่น้องเณรถามนี่แหละว่า ทำอย่างไรความฟุ้งซ่านมันจะหายไปจากหัว ทำอย่างไรใจถึงจะสงบ ถึงแม้ว่าจะประสบความสำเร็จในชีวิต คือสามารถสร้าง ช่วยกันสร้างองค์กรระดับที่เป็นเบอร์หนึ่งของประเทศได้ สามารถที่จะทำให้เม็ดเงินที่หมุนเวียนในองค์กร มีวันหนึ่งเป็น ไม่รู้กี่ร้อย กี่พันล้าน เอาชนะคนอื่นได้หมดแล้ว แต่ไม่สามารถเอาชนะความฟุ้งซ่านของตัวเองได้ เพราะว่าสั่งสมเหตุของความฟุ้งซ่านมาเยอะ

จริงๆ แล้วเราพูดกันทั้งหมดนี่นะ เป็นแค่เรื่องของการเจริญสติ หรือว่าการทำให้สติมันเกิดขึ้นโดยอาศัยลมหายใจเป็นตัวตั้ง ต้นเหตุของความฟุ้งซ่านที่แท้จริงมันไม่ได้ถูกกำจัดไปด้วยการภาวนาอย่างเดียวนะ มันเกิดจากการใช้ชีวิตอย่างถูกต้องด้วย ถ้าหากว่าเราใช้ชีวิตผิดพลาด เหมือนกับคนอื่นๆ ในโลก ถึงแม้ว่าจะประสบความสำเร็จไปแค่ไหน ประสบการณ์ทางใจเราจะเหมือนเดิม เราจะไม่โตขึ้นจากเดิม เราจะเหมือนเด็กน้อยที่เรียกร้อง อยากได้โน่น อยากได้นี่ไม่มีที่สิ้นสุด แล้วก็หาความสงบไมได้ ไม่ว่าจะโตไปแค่ไหนก็ตาม

แต่ถ้าหากว่าเรามีโอกาสอันดี ได้รู้จักธรรมะของพระพุทธเจ้าตั้งแต่อายุยังน้อย แล้วก็ใช้ชีวิตออกมาจากมุมมองภายในที่ถูกต้องได้ โตขึ้นต่อให้เราประสบความล้มเหลวทางธุรกิจ หรือว่าเป็น จะแพ้กี่ครั้ง จะล้มกี่หน มุมมองภายในที่ตั้งไว้ถูกต้องแล้ว ก็จะช่วยให้เราไม่ล้มจริง ไม่แพ้จริง แต่จะมีความรู้สึกเป็นสุขอยู่ตลอดเวลาในฐานะผู้แพ้ที่พร้อมจะกลับมาชนะใหม่ มีความสุขอยู่ตลอดเวลาในฐานะผู้ล้ม ที่พร้อมจะลุกขึ้นยืน ไม่ใช่ผู้ล้มที่พร้อมจะฟุบไปเลย

กับแค่มุมมองที่่ว่าทำอย่างไรจะหายฟุ้งซ่านได้ ถ้าเรามองตรงนี้ผิดนะ ถ้าเรายังมีความอยากจะหายฟุ้งซ่านอยู่ไม่เลิก ชีวิตที่เหลือของเราก็จะเหมือนกัน มันจะมองผิด มันจะมองแบบที่ คือ อยากในสิ่งที่มันไม่มีทางเป็นไปได้ อยากได้ในสิ่งที่มันไม่มีทางได้ อยากให้อะไรเกิดทั้งที่มันไม่สามารถจะเกิด อยากให้อะไรกลับมาทั้งที่มันไม่สามารถจะกลับมา เคยเห็นคนที่ร้องไห้เศร้าโศกกับการจากไปของญาติใช่ไหม เคยเห็นคนที่เศร้าโศกกับการที่ได้พ่ายแพ้ หรือว่าหมดตัว หรือว่าสูญเสียอะไรบางอย่างไปที่ตัวเองรัก ใช่ไหม พวกเขาอยากได้อะไรดีๆ กลับคืนมา แค่ตั้งมุมมองไว้แบบนั้นมันก็ผิดแล้ว แต่ก็เต็มใจผิดกันอยู่นั่นแหละ เต็มใจหวงเหตุของทุกข์กันอยู่นั่นแหละ

การที่เราเป็นสามเณร การที่เรามาบวช การที่เรามาได้บรรพชา ในแนวทางของพระพุทธเจ้านะ ควรจะเป็นโอกาสอันดีที่เราได้เห็นชีวิตออกมาจากจุดเริ่มต้นเลยว่า มองวิธีคิดได้ถูก ชีวิตที่เหลือมันจะถูกหมด มองต้นเหตุของความสุขได้ออก อ่านเกมชีวิตได้ขาด มันก็จะมีความสุขไปทั้งชีวิต จุดเริ่มต้นแค่ ๙ วันนี่ มันอาจมีความหมายไปอีก ๙๐ ปี ถ้าหากว่าเราจะมีชีวิตไปถึงขนาดนั้น แต่ถ้าหากว่า ๙ วันนี้เราไม่สามารถที่จะตั้งมุมมองอันเป็นเหตุเป็นผลของความสุขได้ ชีวิตที่เหลือมันก็ยาก เพราะอะไร เพราะว่า พอน้องเณรโตขึ้นไปนะ จะมีแต่คนสอนว่า ทำยังไงถึงจะสอบให้ติด ทำยังไงถึงจะเอาชนะคนอื่นให้ได้ ทำยังไงถึงจะได้ตำแหน่งโน้น ทำยังไงถึงจะได้เงินเดือนเท่านี้ ทำยังไงถึงจะประสบความสำเร็จ มีสิบล้าน ร้อยล้าน ก่อนอายุสามสิบ ก่อนอายุสี่สิบ แต่ไม่ค่อยมีคนสอนว่าทำยังไงมองอย่างไร มันถึงจะมีความสุขออกมาจากข้างในได้

นี่คือโลกความจริงนะ นี่คือโลกนอกวัด ออกจากวัดนี้ไปจะไม่มีใครพูดถึง ว่าทำยังไง มองออกมาจากมุมมองภายในอย่างไร ถึงจะมีความสุขได้ แล้วเราก็จะหลง ใช้ชีวิตไปแบบคนที่มันหลงทางกลางป่ารก ป่ารกที่มันปรากฎอยู่ทางใจ ปรากฎอยู่ในใจให้รู้สึกได้อยู่ตลอดเวลานี่แหละ จะไม่ค่อยมีใครที่จะชวนเราออกทุ่งโล่ง ทุ่งกว้าง เพราะฉะนั้น ก็เป็นโอกาสอันดีนะ เก้าวันน้องๆ จะได้ตื่นรู้ ไม่ใช่แค่คำเท่ๆ แต่มันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้จริง ว่านี่คือสถานที่ที่มาจากพระพุทธเจ้า ที่มาจากคนที่รู้ดีที่สุด รู้ดีว่าจะออกจากป่ารกได้อย่างไร แล้วก็มีพระอาจารย์ มหาวุฒิชัยวชิรเมธี ที่ท่านได้ยังคงรักษาแนวทางคำสอนที่พระพุทธเจ้าประทานไว้ ก็ถือเป็นโอกาสอันดีแล้วนะ เอาล่ะใครมีคำถามอะไรอีกไหม

สามเณร: ที่เมื่อกี้พูดว่าชีวิตที่ถูกต้อง หมายความว่าอย่างไรครับ

ดังตฤณ: ตามหลักของพุทธศาสนา ชีวิตมีอยู่แค่สองแบบ ชีวิตที่ทุกข์ กับชีวิตที่ไม่ทุกข์ คือเกณฑ์การแบ่งว่าอะไรถูกอะไรผิดนี่ มันต้องตั้งเป้าไว้ก่อนว่าเราต้องการอะไรจากชีวิต ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเราตั้งเป้าแบบคนอื่น ว่าสิ่งที่เราจะต้องเอาเป็นอันดับแรกของชีวิตคือ เงิน นั่นหมายความว่า ความถูกต้องของชีวิต คืออะไรก็ได้ที่ทำให้เราได้เงิน แล้วตอนนี้มันคือความถูกต้องของโลกส่วนใหญ่อยู่นะ อะไรก็แล้วแต่ที่ทำเงินให้เราได้ เราเห็นจากผู้ใหญ่ เราเห็นจากคนรอบข้าง เราเห็นแม้กระทั่งบางที ครูบาอาจารย์สอนในโรงเรียน มีนะ สอนให้เป็นโจรก็มี สอนให้โกง สอนให้เอาเปรียบคนอื่น โดยที่บางทีท่านก็อาจไม่ได้ตั้งใจ แต่วิชามันบังคับให้สอนแบบนั้น หรือบางทีท่านมีความพอใจส่วนตัวที่จะพูดแบบนั้น ครูทางโลก บางทีอาจสอนผิดได้ ผิดทางธรรมแต่ถูกทางโลก ท่านอาจสอนให้เราได้เงิน ตามที่คนอื่นเห็นว่ามันถูกต้อง แต่ถ้าหากว่าเรามองตามแบบของพุทธศาสนา แบบที่พระพุทธเจ้ามอง ชีวิตมีอยู่แค่สองแบบ ชีวิตที่เป็นทุกข์ กับชีวิตที่ไม่เป็นทุกข์ ถ้าหากว่าเราเอาความทุกข์เป็นเกณฑ์ มันชี้ถูก ชี้ผิดได้นะ ใช้ชีวิตยังไงแล้วเป็นทุกข์ นั่นน่ะ ผิด ใช้ชีวิตยังไงแล้วเป็นสุข อันนั้นถูก แต่สุข ต้องสุขจริงๆนะ คนเรามักจะมองสิ่งที่มันเห็นได้ด้วยตาเปล่าภายนอกว่า รถคันยาวๆ กับบ้านหลังโตๆ หรือว่าเงินในธนาคารหลายๆ ร้อยล้าน มันคือความสุข ซึ่งมันก็เป็นสุขจริงๆ ดูแล้วมันก็ เขาก็ได้อะไรในสิ่งที่เราอยากได้ แต่ถ้าเรามีโอกาสที่จะรู้จักกับเศรษฐี รู้จักกับคนที่มีเงินมากๆ เราจะรู้นะว่าร้อยละ ๙๙.๙๙ ของคนรวย มีความทุกข์ ทุกข์ขนาดที่ว่าไม่อยากจะมีชีวิตอยู่

ผมเคย มีอยู่ช่วงหนึ่ง ที่ระหว่างฝึกงานหลังจบมาใหม่ๆ ได้ไปติดต่อ ได้ไปดีล (deal) กับพวกที่เขารวยกันเป็นพันๆ ล้าน เป็นหมื่นๆ ล้าน พวกโรงงานทอผ้าอะไรแบบนั้นนะ ผมได้รู้จักกับพี่น้องแท้ๆ เลยที่ทำงานอยู่ในอาคารเดียวกัน แต่ว่า ไม่อยากให้อีกฝ่ายหนึ่งรู้ว่าตัวเองจะออกจากออฟฟิศเมื่อไหร่ จะเข้าทำงานออฟฟิศเวลาใด เหตุผลเพราะว่ากลัวอีกฝ่ายยิงทิ้ง จ้างคนมายิง มีกันเป็นพันๆ หมื่นๆ ล้านนะ เซ็นต์ที เซ็นต์แต่ละแกร๊กนี่เงินเป็นสิบๆ ล้านทั้งนั้น มีเงินนะ มีเงินอย่างถูกต้องตามที่ชาวโลกเขาอยากให้มีกัน แต่มันไม่มีความสุขนะ มันไม่มีความรู้สึกแม้กระทั่งว่า ชีวิตวันพรุ่งนี้มันจะปลอดภัย เพราะพี่ เพราะน้องของตัวเองแท้ๆ นะ ออกจากบ้านแต่ละวันนี่ใช้รถไม่ซ้ำกัน เพรากลัวว่า อีกฝ่ายหนึ่งจะจำได้ ดักยิงถูก บางทีนี่ต้องเปลี่ยนเส้นทางนะ ไม่กล้าเดินทางด้วยเส้นทางเดิมซ้ำๆ

นี่คือความจริงที่ปรากฎหลังจากที่เราเรียนจบแล้ว หรือว่าหลังจากที่เราออกจากวัดนี้ไป ออกจากเขตวัดนี้ไป ถ้าหากว่าเราเอาเงินเป็นสิ่งที่จะเอามาใช้ตัดสินว่าชีวิตใครประสบความสำเร็จแล้วหรือยัง เราจะรู้สึกว่า เรายังทำอะไรไป ไม่ถึงที่สุด ถ้าหากว่าเงินมันยังไม่ได้ตามเป้า แต่ถ้าหากว่าเราต้องการความสุขทางใจ มีพอกินพอใช้ แล้วอยู่อย่างสบายใจได้ ทำงานไม่นาน เรียนไปไม่ต้องสูงส่งอะไรมากมาย มันก็เหมือนกับจะถึงเป้าได้ง่ายๆ แต่มันขึ้นอยู่กับแรงผลักดันที่จะทำให้เราตั้งเป้าจริงๆ เพราะว่าแรงผลักดันของแต่ละคนแตกต่างกัน การที่เราจะมองว่าคนคนหนึ่งสามารถที่จะพึงพอใจกับการมีอยู่เท่าที่ตัวเองมีนะ มันเป็นมุมมองที่เราคุยกันแบบธรรมะ แต่เวลาที่เราคุยกันแบบโลกๆ คุยกับคนในโลกที่อยู่นอกวัดที่ไม่ได้สนใจธรรมะ มันไม่ง่ายอย่างนั้น แล้วถ้าหากโลกแวดล้อมเขาคุยกันแต่เรื่องเอาเงินเป็นความถูกต้อง ในที่สุดเราจะถูกสะกดจิตนะ ทำให้หลงคิดตามเขาว่าเออมันจริง มันจริงของเขา อันนี้แหละคือความถูกต้องในชีวิต ความผิดพลาดของชีวิตมันขึ้นอยู่กับว่า เราเอาอะไรตั้งเป็นเป้าไว้ให้ชีวิต

ถ้าหากว่า เรามองเห็นตามที่พระพุทธเจ้าเห็นนะ มันมีอยู่แค่สองอย่าง ชีวิตนี่ ทุกข์ หรือไม่ทุกข์ ถ้าหากว่าใช้ชีวิตแล้วเป็นทุกข์ นั่นยังผิดอยุู่ แต่ถ้าหากว่าใช้ชีวิตแล้วสุข สุขจริงๆ สุขทุกวัน สุขอย่างไม่มีความเดือดร้อนในภายหลัง อันนั้นแหละ ที่เป็นวิถีชีวิตที่ถูกต้อง ซึ่งมันจะไม่เกิดขึ้นถ้าหากว่า เราไม่ตั้งมุมมองภายในไว้ให้มันตรงกับพระพุทธเจ้านะ ถ้าหากว่าเรายังตั้งมุมมองภายในไว้ว่า จะเอาแต่สิ่งภายนอกมาบำรุง บำเรอ ให้มันเกิดความพอ นี่ตรงนี้นี่มันก็ไปไม่ถึงธรรมะที่พระพุทธเจ้าสอนหรอก แต่ถ้าเมื่อไหร่ เราฟังธรรมะแล้วเกิดความรู้สึกว่า แค่นี้ก็สุขแล้ว แล้วเราเห็นอาการทางใจ ว่าทำยังไงมันถึงพอ ทำยังไงมันถึงไม่ดิ้นรน ไม่กระสับกระส่าย มากไปกว่าที่เป็นอยู่ อันนี้แหละ คือการเข้าถึงเป้าหมายของชีวิตแบบพระพุทธเจ้านะ

สามเณร: ถ้าพระพุทธเจ้าเป็นคนประทานความทุกข์ และความสุขให้แก่มนุษย์ใช่ไหมครับ แล้วทำไม...

ดังตฤณ: เดี๋ยวๆ ขอตรงนี้ก่อน เดี๋ยวจะลืม พระพุทธเจ้าเป็นเพียงผู้ชี้ความจริง ความทุกข์และความสุขนี่มันมีอยู่โดยธรรมชาติแล้ว เวลาที่ลมเย็นๆ พัดมาอย่างนี้มีความสุข มันเป็นสิ่งที่พระพุทธเจ้าท่านก็ตรัสแสดงนะว่า ถ้าหากว่าลมพัดมาโดนร่างกาย เราก็จะเกิดความสบายทางกายขึ้นมา ไอ้ตรงนั้นมันก็มีความสุข มันมีอยู่ในธรรมชาติอยู่แล้ว และพระพุทธเจ้าทรงมาชี้ให้เห็น ทีนี้พระพุทธเจ้าไม่ได้ชี้แค่ว่า ลมพัดมาแล้วมันมีความสุข ท่านชี้ให้เห็นว่า ลมพัดมาแป๊บนึง ความสุขมันก็ตั้งอยู่ได้แป๊บเดียว แล้วมันก็หายไป อย่าไปยึด อย่าไปหวังว่า ลมมันจะพัดมาเย็นๆ ตลอดไป

เคยไหมเวลาที่เรานั่งอยู่ในสถานที่สบายๆ ที่ลมโกรกนะ มีความปลอดโปร่ง มีความสบาย เราอยากจะได้นั่งอยู่ในสถานที่อย่างนั้นตลอดไป ถ้าหากว่า เราเคยเกิดประสบการณ์ เกิดความอยากในทำนองนั้นขึ้นมา นี่แหละ ความผิดพลาดของมนุษย์ทุกคนคือ มันอยากในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ มันเกิดขึ้นไม่ได้ มันอยู่กับเราตลอดไปไม่ได้ พระพุทธเจ้ามาแสดงธรรมะ มาชี้ความจริงให้เห็น ซึ่ง คือบางทีในความจริงนี่นะ มันเหมือนกับถูกเส้นผมบังภูเขาอยู่ มันเหมือนกับภูเขาที่ถูกเส้นผมบังอยู่นิดเดียว ถ้าหากว่าเรามองเห็นความจริงตามที่พระพุทธเจ้าชี้ได้อย่างน้อยนะ ถึงแม้ว่า เราจะไม่ได้รับความสุขจากลมเย็นๆ ที่พัดมาโดนร่างกายอยู่ตลอดเวลา แต่เราจะมีความสงบสุขทางใจ อันเกิดจากความไม่อยาก ไม่อยากไปผิดความจริง ถ้าอยากผิดจากความจริง มันเป็นทุกข์แน่นอน อันนี้คือสิ่งที่พระพุทธเจ้าชี้ ... เอ้า ถามต่อเถิดครับ คนเดิมตะกี้ยังถามไม่จบ ... อ้าว สรุปแล้วคือ เลยตอบคำถามเสร็จแล้วใช่ไหม

สามเณร: พระพุทธเจ้าก่อนที่จะตรัสรู้ ท่านรู้ได้ไงว่าวิธีที่ทำให้เราไม่ทุกข์มีอยู่ แล้วรู้ได้ไงว่า เราควรนั่งสมาธิ เพื่อให้รู้ว่าวิธีนั้นมี

ดังตฤณ: โอเค ตรงนี้เป็นคำถามที่ ไม่ใช่เฉพาะเณรนะที่สงสัย แม้แต่คนฉลาดที่สุดในทางศาสนา บางทีก็ให้คำตอบไม่ได้ เพราะว่าเวลาที่เรียนกันในหลักสูตรนี่ เราจะเรียนกันแค่ว่า พระพุทธเจ้าท่านทำทุกรกิริยา ทรมานตนเอง เพื่อที่จะหาสัจธรรม เพื่อที่แสวงหาสัจธรรมอยู่หกปี แล้วก็หาไม่สำเร็จ ในที่สุดท่านก็ได้ยินเทวดามาดีดพิณ แล้วก็เกิดความ เกิดอาการตาสว่างนึกได้ว่าควรเดินทางสายกลาง เพื่อที่จะได้วิธีดับทุกข์ที่แท้จริง เสร็จแล้วหลังจากนั้น คนก็จะไม่รู้เรื่องแล้วว่า เอ วิธีการของท่านนี่ เป็นมาเป็นไปได้อย่างไร

จริงๆ แล้ว พระพุทธเจ้าท่าน เป็นผู้มีปัญญา เป็นผู้มีความสามารถทางจิต ตั้งแต่เด็กๆ เลยนี่นะ ตั้งแต่อายุรุ่นๆ พวกเรานี่ ท่านแค่ เจ็ดขวบนี่นะ เป็นเด็กเจ็ดขวบ สามารถที่จะเข้าสมาธิได้ถึงปฐมฌาน ซึ่งเป็นสิ่งยากจะเข้าถึง แล้วท่านเข้าของท่านเองนะ ไม่มีใครสอน กำลังจิตของท่านมีอยู่สูงมาก ผู้ใหญ่ทำกัน ๒๐-๓๐ ปี หรือบางคนทำกันทั้งชีวิต เข้าถึงปฐมฌานไม่ได้ แต่ท่านเข้าถึงได้ตั้งแต่ความพยายามแค่ครั้งแรก ท่านนั่งอยู่ใต้ต้นไม้นี่ หลับตาแล้วก็ดูลมหายใจเข้าออก ดูว่ามันเข้าว่ามันออกไปอย่างนี้นี่ แป๊บเดียวจิตเป็นฌาน มีความสว่างจ้า มีความเป็นเอกคัตตา คือมีความเป็นหนึ่งเดียวยิ่งใหญ่ เหมือนกับพระอาทิตย์เกิดขึ้นภายใน อันนี้คือความสามารถทางจิตของท่าน ท่านทำได้ตั้งแต่เด็กๆ

ทีนี้ พอท่านโตขึ้นมา โจทย์ของชีวิตของท่าน มันใหญ่กว่านั้น มันใหญ่กว่าการนั่งสมาธิ มันใหญ่กว่าการรู้การเห็นแบบธรรมดาๆของคนทั่วไป ท่านอยากรู้ว่า ทำอย่างไร ความทุกข์ทางใจมันถึงจะไม่เกิดขึ้น ทำอย่างไรการเวียนว่ายตายเกิดถึงจะไม่ปรากฎ นี่เป็นโจทย์ข้อใหญ่ ที่ยากที่สุดในโลก ต่อให้เป็นนักวิทยาศาสตร์ที่มีเทคโนโลยีก้าวหน้าที่สุดในโลกปัจจุบันก็ไม่สามารถให้คำตอบได้นะ พระพุทธเจ้าท่านอยากรู้คำตอบของโจทย์ข้อนี้ ตั้งแต่ท่านอายุ ๒๙ คำถามง่ายๆ มีอยู่นิดเดียว ทำยังไง ทุกข์ทางใจจึงจะไม่เกิดขึ้นอีกเลย ถ้าน้องเณรไปพยายามหาคำตอบ ไม่ว่าด้วยวิธีใด ไม่ว่าวิธีการของศาสนาไหน น้องเณรจะเข้าใจนะว่ามันยากขนาดไหน ทำไมมันถึงได้ชื่อว่าเป็นโจทย์ที่ยากที่สุดในโลก

ทีนี้มาพูดถึงวิธีการของพระพุทธเจ้าในการค้นพบ ในคืนที่ท่านตรัสรู้ ตัดขั้นตอนไปเรื่องที่ท่านบำเพ็ญทุกรกิริยา ตัดขั้นตอนไป ตอนที่ท่านฟังเสียงพิณของเทวดา แล้วนึกขึ้นได้ว่าควรจะดำเนินทางสายกลาง มาถึง เอาเนื้อๆ เลย มาที่ตอนท่านเริ่มปฏิบัติตนใหม่ เพื่อที่จะค้นหาสัจธรรม วิธีที่จะดับทุกข์ภายใน วิธีที่จะทำให้ความทุกข์ทางใจไม่เกิดขึ้นอีกเลย ท่านนึกขึ้นได้ว่า เมื่อตอนท่าน ๗ ขวบนี่ ท่านใช้วิธีนั่งสมาธิ ดูลมหายใจ ดูว่ามันเข้า ดูว่ามันออก ดูว่ามันยาว ดูว่ามันสั้น แบบที่ผมเพิ่งแนะแนวทางไปเมื่อตอนต้นนั่นแหละ ท่านดูเพื่อให้เกิดความเห็นว่า ลักษณะที่มันเป็นความทุกข์ที่ปรากฎในชีวิตจริงๆ หน้าตาเป็นยังไง ท่านเห็นออกมาจากพระญาณ ความหยั่งรู้ในระดับจิตของท่านนะ ว่าถ้าหากจิตยังไม่มีความตั้งมั่น ถ้าหากจิตยังไม่มีความสุข ถ้าหากจิตยังไม่มีสติที่คมชัดมากพอ ไม่มีทางเห็นความจริงได้

แล้วท่านก็พิจารณาว่า สมาธิแบบที่ท่านทำตอนเด็กๆ นี่ คือดูลมหายใจไปมันทำให้เกิดความชัดเจน มันทำให้สติมีความคมกล้าขึ้นมาได้ ท่านก็เลยทำ ทำไปเรื่อยๆ ทำจนกระทั่งถึงสมาธิระดับปฐมฌาน ระดับทุติยฌาน ไล่ขึ้นไปเรื่อยๆ จนกระทั่งถึงฌานขั้นสูงสุด แล้วย้อนกลับลงมา ณ เวลานั้นจิตท่านมีสติเต็มที่ มีความตื่นรู้เต็มที่ พร้อมที่จะเห็นความจริงทั้งหมดในชีวิต ความจริงทั้งหมดในชีวิตไม่ใช่เรื่องข้างนอกนะ แต่เป็นเรื่องข้างใน ท่านสืบหาเอาจากข้างใน ว่า ร่างกายนี้ของท่านนี่ สภาพจิตใจแบบนั้นของท่าน มาปรากฎอยู่ในโลกนี้ได้อย่างไร ท่านมองย้อนไปแบบสืบสาวจากสมาธิ เศษของฌานนี่มันทำให้ความชัดเจนภายในมันเข้มข้นมาก ท่านระลึกย้อนกลับไปว่า ก่อนที่ท่านจะทำสมาธิ ท่านเกิดความระลึกขึ้นได้ว่า ท่านควรจะดำเนินตามทางสายกลาง ก่อนที่จะมาดำเนินตามสายกลาง ระลึกได้แบบนั้น ท่านทำทุกรกิริยามาตั้ง ๖ ปี ก่อนที่ทำทุกรกิริยา เพื่อแสวงหาสัจธรรม ท่านใช้ชีวิตแบบโลกๆ มา เป็นเจ้าชาย เจ้าชายสิทธัตถะ มา ๒๙ ปี แล้วท่านก็ระลึกย้อนกลับไปได้ด้วยว่า ก่อนที่ท่านจะเกิดมาเป็นมนุษย์ ท่านเป็นเทวดาชั้นดุสิต ก่อนที่ท่านจะมาเป็นเทวดาชั้นดุสิต ท่านเคยเป็นพระเวสสันดรก่อน พระเวสสันดร ที่บริจาคทุกสิ่งในชีวิต แม้กระทั่งอวัยวะและลูกเมียของตัวเอง

ท่านก็ย้อนระลึกไปเรื่อยๆจนกระทั่งได้เป็น อสงไขยกัปป์ แล้วก็พบว่า ที่มาที่ไป ก่อนที่จะปรากฎเป็นร่างกายแบบนี้ ก่อนที่จะปรากฎเป็นจิตวิญญาณแบบนี้ มันมีที่มาที่ไป มันไม่ใช่อยู่ๆ ลอยขึ้นมา นี่เรียกว่าเป็นการทำลายอวิชชา ประการแรกได้ คือรู้ที่มาที่ไปของตัวเอง ว่าที่ร่างกายแบบนี้ ที่มีลักษณะจิตวิญญาณแบบนี้ ไม่ใช่เหตุบังเอิญ แต่มันมาจากกรรม มันไหลมาจากอดีตชาติ ชาตินี้ไหลมาจากอดีตชาติ นี่เรียกว่าเป็นการทำลายอวิชชาประการแรก ต่อมา ในยามต่อมา หลังจากท่านรู้เรื่องของตัวเองแล้ว ท่านก็ไปรู้เรื่องของคนอื่นด้วย จากพระญาณที่ตั้งมั่นอยู่ด้วยสมาธิระดับสูง ท่านเล็งเห็นว่าสัตว์โลกก็เหมือนกับท่านนั่นแหละ เวียนว่ายตายเกิดอยู่ด้วยความไม่รู้ ทำอะไรไป ไม่รู้อิโหน่อิเหน่หรอกว่าจะเกิดผลยังไง เกิดมาก็ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ มันลืมหมด ว่าเคยทำอะไรไว้บ้าง แต่ท่านเห็นเหมือนกับคนที่นั่งอยู่ตรงสี่แยก นั่งอยู่บนหอคอย กลางสี่แยก เห็นว่าใครมาทางซ้าย ใครมาทางขวา และกำลังจะเลี้ยวไปทางไหน อันนั้นมันก็เหมือนกับที่ท่านเห็นว่า ใครทำกรรมอย่างไร จะได้ไปนรก ใครทำกรรมอย่างไรจะได้ไปสวรรค์ ใครทำกรรมอย่างไร จะได้ย้อนกลับมาเกิดในโลกมนุษย์นี้อีก นี่เรียกว่า เป็นการทำลายอวิชชาขั้นที่ ๒

คือท่านสามารถเห็นได้ว่า สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม ไม่ใช่สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามความบังเอิญ หรือว่าตามความอยาก พอท่านเห็นแจ้งแล้วว่า ที่มาที่ไป ที่มาเป็นคน เป็นมนุษย์ เป็นสัตว์ เป็นเทวดา เป็นเปรต อสุรกายอะไรอยู่นี่ มันเป็นไปตามกรรม ท่านถึงมาได้ข้อสรุปสุดท้าย ในยามสุดท้ายว่า ที่มันยังหลงเวียนว่ายตายเกิดที่มันไม่สามารถออกจากสังสารวัฏได้นี่ ก็เพราะแต่ละขาติ มันไปหลงติดเหยื่อ คือร่างกายแบบนี้ แล้วก็จิตใจแบบนี้นี่ มันต้องมีร่างกายอะไรขึ้นมาแบบหนึ่ง อัตภาพอะไรขึ้นมาแบบหนึ่ง มาล่อให้หลง ให้ยึด ว่านั่นน่ะเป็นตัวของเรา เวลาที่เรากำลังคิด เวลาที่เรากำลังพูด เวลาที่เรากำลังติดต่ออยู่กับใคร มันมีความทึกทัก มันมีอาการยึดเป็นอุปาทาน มีความเข้าใจผิดเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา ว่านี่คือเราติดต่ออยู่กับใครคนหนึ่ง นี่เรากำลังเป็นใครคนหนึ่ง มีฐานะอะไรแบบหนึ่ง พอท่านเห็นความจริงตรงนี้ ท่านก็เกิดความกระจ่างแจ้งว่า ถ้าเลิกหลงซะได้ ถ้าเลิกยึดแบบผิดๆ เสียได้ ว่ากายใจนี่เป็นตัวเป็นตน มันก็จะพ้นไป เป็นอิสระจากการเวียนว่ายตายเกิดได้ นี่ไงตรงนี้แหละ การตรัสรู้ธรรม ตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ ถึงได้บังเกิดขึ้น เป็นพระพุทธเจ้าขึ้นมานะ

เอาล่ะรู้สึกว่า ท่านอาจารย์บอกว่า จะหมดเวลาแล้วนะ ก็ ขอให้การที่เราได้มาตื่นรู้ใน ๙ วันนี้เป็นการตื่นรู้จริงๆ นะได้เป็นโอกาสทองของชีวิต คือบางทีเราไม่รู้หรอกว่าโอกาสทองของชีวิตผ่านมาเมื่อไหร่ จนกว่ามันจะมีประสบการณ์ มีการเรียนรู้อะไรมากขึ้น แล้วมองย้อนกลับมาถึงได้เห็น ว่า เออ จุดริ่มต้นความสว่างในชีวิตมันอยู่ช่วงไหน ผมจำได้ว่า ช่วงที่รู้จักพุทธศาสนาเป็นช่วงแรกๆ มันมีความสุขมาก

เอ้า เมื่อกี้ เพื่อนเราถามว่า ทำอย่างไรถึงจะเลิกยึดติดเสียได้ว่าตัวเราเป็นของเรา ตอนที่ผมได้ยินเป็นครั้งแรกๆ นะว่า ตัวเราไม่ใช่ของเรานี่ ได้ยินมาจากคุณครูคนหนึ่งในชั้นมัธยม ท่านมาพูดหน้าชั้นบอกว่า เออนี่ ตัวกูไม่ใช่ของกูนะ ท่านก็ทำท่าสลดให้ดู แต่ผมก็นึกไม่ออกว่ามันจะไม่ใช่ของเราได้อย่างไร พอขยับแขนไปมันก็รู้สึกว่า นี่มันใช่ชัดๆ หรือว่าเราจะคิดอะไรมันก็รู้สึกว่าเป็นความคิดของเราชัดๆ มันไม่มีอะไรที่ผิดแปลก หรือว่าแปลกปลอมไปจากความเป็นเราเลย มันของเราชัดๆ มันใช่เราแท้ๆ ตอนนั้นก็เกิดความรู้สึกว่า อยากรู้มากๆ ว่าเขาทำกันยังไง ถึงจะเลิกยึดได้ ว่านี่มันไม่ใช่เรา นี่มันไม่ใช่ตัวของเรา แต่การแสวงหามันไม่ง่ายนะ เพราะว่าคำสอนมีอยู่หลากหลาย แล้วก็ คำสอนของพระพุทธเจ้ามีมานาน ๒,๕๐๐ กว่าปีแล้ว มันก็เลยเลือนๆ ไป

สิ่งที่พระพุทธเจ้าสอนจริงๆ ท่านไม่ได้สอนให้คิดเอานะ ว่า นี่ไม่ใช่ตัวกู นี่ไม่ใช่ของของกู เพราะยิ่งคิดแบบนั้นมันจะยิ่งต่อต้านความรู้สึก มันจะยิ่งฝืนความรู้สึกที่แท้จริงของเรา ความรู้สึกที่แท้จริงของเรามันกำลังยึดอยู่ ว่านี่ตัวของเราชัดๆ เสร็จแล้วเราไปพยายามฝืนบังคับ ขออย่าให้มันไม่ใช่เรา ขอให้เราเห็นมันไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ตัวตน มันเป็นการต่อสู้กับศัตรูตัวใหญ่ที่มีกำลังมากกว่าเรา เปรียบเหมือนกับนักมวยปล้ำที่ตัวใหญ่มากๆ แต่เราเป็นเด็ก เราเป็นเณรตัวแค่นี้ จะไปสู้อะไรกับมันได้

วิธีที่จะถอดถอนอุปาทานความหลงผิด ความเข้าใจผิด มีอยู่ทางเดียวที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ก็คือ สติปัฏฐาน ๔ ท่านตรัสไว้เลยนะ นี่เป็นทางเดียว นี่คือหนทางเดียวที่จะดับทุกข์ ที่จะบรรลุมรรคผลที่ถูกต้องได้ นี่เป็นทางเดียวที่จะถอดถอนอุปาทานออกจากจิตได้ สติปัฏฐาน ๔ ไม่ใช่คำแนะนำว่า จงไปคิดแบบนี้ จงไปทำอะไรอย่างหนึ่งแล้วจบ มันไม่ง่ายแบบนั้น สติปัฏฐาน ๔ บอกเราว่า เราต้องค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไป อย่างที่ผมไกด์ (guide) มาในวันนี้ทั้งหมดนั่นแหละ ทำอย่างไร เราจะรู้ได้ว่าลมหายใจกำลังเข้า ลมหายใจกำลังออก ทำอย่างไรเรากำลังจะรู้ได้ว่า ลมหายใจกำลังยาว หรือลมหายใจกำลังสั้นอยู่ ก็คือเราต้องคลายจากอาการเกร็ง คลายจากอาการกระสับกระส่ายให้ได้ก่อน เปิดทางให้ใจมันโล่ง เปิดทางให้ใจมันสามารถที่จะเห็นตามจริงได้เสียก่อน แล้วจากนั้นแค่ยอมรับอะไรที่มันง่ายที่สุดในชีวิต เช่น กำลังหายใจเข้า หรือหายใจออกอยู่ กำลังหายใจยาว หรือกำลังหายใจสั้นอยู่ ไอ้การยอมรับตามจริงแบบนั้นไปมากๆ เข้านี่ มันจะทำให้เกิดปัญญาเห็นว่าลมหายใจนี่มันไม่เที่ยง มันเป็นแค่ธาตุลม มีลักษณะพัดเข้า มีลักษณะพัดออก อยู่เรื่อยๆ

ตรงนั้นนะ มโนภาพในตัวตน หรือความยึดติดว่ามันเป็นของเราชัดๆ มันจะหายไป มันจะเกิดลักษณะของจิตของใจที่เป็นปัญญาขึ้นมา มันจะเกิดความว่างจากอาการยึดติด มันจะเกิดความว่างจากอุปาทานขึ้นมาชั่วขณะ เปิดโอกาสให้เราเห็นต่อไปว่า มีอะไรที่แสดงความไม่เที่ยงอยู่อีกบ้าง เราจะเห็นเลยว่า ร่างกายทั่วทั้งตัวนี่ เดี๋ยวมันก็กล้ามเนื้อส่วนนั้นก็เกร็ง เดี๋ยวส่วนนี้ก็ขมวด เดี๋ยวส่วนนี้ก็ตึงนะ มันจะเห็นอยู่เรื่อยๆ มันจะเห็นปรากฎสลับกันระหว่างผ่อนคลายสบาย กับความรู้สึกว่า เดี๋ยวมันก็กำ เดี๋ยวมันก็เกร็ง ตรงนั้นนี่ ความรู้สึกว่า ร่างกายเป็นของเรามันจะหายไป มันจะเหลือว่า ร่างกายนี่เป็นธรรมชาติอะไรก้อนหนึ่งที่แสดงความไม่เที่ยง แสดงความแปรปรวนอยู่ตลอดเวลา หลังจากนั้น ไม่ว่าเราจะเกิดความอึดอัด หรือจะเกิดความสบายใจอย่างไร เราก็จะเห็นเป็นแค่ภาวะทางใจ เราจะรู้สึกว่า ไอ้นี่ มันเป็นความรู้สึกเป็นทุกข์ มันไม่ต้องยึดน่ะ มันไม่ต้องพยายามให้มันเป็นสุขอยู่ตลอดเวลา ไอ้ความทุกข์ก้อนหนึ่ง เดี๋ยวมันก็ค่อยๆ เสื่อม เดี๋ยวมันก็ค่อยๆ คลายไปเอง ถ้าหากว่าเราไม่ไปยึด เราไม่ไปต่อต้าน เราไม่ไปอยากทันทีให้มันเกิดความสุข ความทุกข์มันจะค่อยๆ เสื่อมลงไปเอง ไอ้ตรงนั้นนี่ ความรู้สึกหมายมั่นปั้นมือว่าเราจะต้องเป็นสุขให้ได้ มันจะหายไป หายไปพร้อมๆ ความยึดมั่นว่าความสุขเป็นตัวเรา หายไปพร้อมๆ กับความรู้สึกว่าตัวทุกข์แท้ๆ นี่เป็นตัวของเรา เป็นชีวิตของเรา

บางคนนี่มีความทุกข์ในชีวิตมาก จนกระทั่งเกิดความเชื่อขึ้นมาว่าไม่มีทางหายทุกข์ แต่พอมาพิจารณาว่า ความทุกข์นี่มันมาๆ ไปๆ ลมหายใจที่สบายนี่มันก็ขจัดความทุกข์ออกไปได้แล้ว แค่นี้ความยึดว่าเราจะต้องทุกข์ตลอดไป มันก็หายไป หรือแม้กระทั่งความรู้สึกว่า เราจะได้เป็นสุขอยู่ตลอดเวลา เราอยากเป็นสุขอยู่ตลอดเวลา มันก็หายไป ความอยากนั้นมันไม่เกิดขึ้น เมื่อไหร่ความอยากเป็นสุข ความอยากให้ความเป็นทุกข์หายไปจากจิต เมื่อนั้นความรู้สึกเป็นสุข เป็นทุกข์ มันจะปรากฎโดยไม่มีตัวตน จิตของเรานี่จะรู้สึกเป็นสุข เป็นทุกข์ อย่างที่มันกำลังเป็นอยู่นั่นแหละ แต่ไม่รู้สึกว่า ความสุข ความทุกข์นั้นเป็นตัวของเรา นี่คือวิธีถอดถอนของพระพุทธเจ้า ท่านไม่ได้ให้คิดเอาว่าจะทำอย่างไร แต่ท่านให้แนวทางชัดเจนเป๊ะๆ เลย ว่าอย่างเป็นขั้นเป็นตอนจะทำยังไง ท่านไม่ได้สอนให้รู้สึกดี แต่ท่านสอนให้รู้วิธีว่า ทำอย่างไร ด้วย

เอานะ ก็คิดว่าคงเป็นคำตอบ พูดง่ายๆ ถ้าจำได้ไม่หมดก็คือ วิธีถอดถอนออกจากอุปาทาน ว่ากายใจเป็นตัวเป็นตนของเราก็คือ สติปัฏฐาน ๔ นั่นเอง จำง่ายๆ แค่นี้ก่อน แล้วค่อยไปศึกษาเอาว่า สติปัฏฐาน ๔ มันเป็นยังไงนะ

ลมหายใจแห่งความสุข (บรรยายธรรม)


คุณดังตฤณ บรรยายธรรมหัวข้อเรื่อง “ลมหายใจแห่งความสุข” ณ ไร่เชิญตะวัน จ.เชียงราย


๑๑ เมษายน ๒๕๕๖
กราบนมัสการพระคุณเจ้าที่ได้มาบำเพ็ญบุญกิริยา ได้มาเป็นพระพี่เลี้ยงกับสามเณร ๒๕๐ รูปนะ น้องๆ สามเณรก็ถือว่าได้มีโอกาสดี ได้มีโอกาสที่จะได้พัฒนาจิตวิญญาณของตัวเองตั้งแต่อายุยังน้อย การเป็นสามเณรแตกต่างจากการเป็นเด็กธรรมดาอย่างไร? ไม่ใช่แค่ใส่ยูนิฟอร์มชุดเหลือง แล้วก็ได้เป็นสามเณรกัน แต่ต้องใส่ชุดเหลืองแบบที่เรากำลังใส่อยู่นี้ ด้วยความตั้งใจว่าจะพัฒนาจิต พัฒนาใจของตัวเองให้ดำเนินไปตามแนวทางที่พระพุทธเจ้าท่านได้ประทานไว้

ครั้งที่พระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่ สมัยนั้นตอนแรกๆ นี่จริงๆ ไม่มีสามเณรนะ มีแต่พระภิกษุ ทีนี้ท่าน พระพุทธเจ้าท่านมีโอรสอยู่นะครับ ก็คือ พระราหุล สมัยนั้นอายุท่านได้ ๗ ขวบพอดี ท่านมีความดำริคิดว่าจะมอบสมบัติที่ล้ำค่าที่สุดของท่านให้กับพระโอรสของท่านคือพระราหุล อันได้แก่ธรรมะที่ท่านได้ตรัสรู้แล้ว ท่านก็เลยนำพระราหุลมาบรรพชาเป็นสามเณร เพราะยังเป็นภิกษุไม่ได้ ภิกษุนี่ต้องอายุ ๒๐ ขึ้นไป แต่ถ้าหากว่าอายุต่ำกว่านั้นก็ให้โอกาสโดยการบวชบรรพชา เป็นสามเณร พระราหุล บรรพชาได้แค่ไม่นาน ก็สามารถบรรลุพระอรหัตผลได้ ทั้งที่ยังเป็นเณรอยู่นั่นเอง ยังไม่ได้เป็นภิกษุ อายุยังไม่ครบ ๒๐ เลย ท่านก็สามารถที่จะถึงที่สุดแห่งธรรมได้ นั่นแปละว่า อายุจะน้อยหรือมากไม่ได้เป็นอุปสรรคขัดขวาง ถ้าหากว่าเราจะได้ดำเนินตามรอยบาทพระศาสดานะครับ

ที่ผมมาพูดวันนี้ มาพูดเรื่องของ “ลมหายใจแห่งความสุข” หมายความว่าอย่างไร หมายความว่า ปกตินี่นะ คนเราหายใจทิ้งไปเปล่าๆ โดยไม่สังเกตว่าตัวเองนี่หายใจอย่างเป็นทุกข์อยู่ เชื่อไหมว่าเราหายใจอยู่นี่เราหายใจอยู่ด้วยความทุกข์มากกว่าหายใจอยู่ด้วยความสุข ถ้าไม่เชื่อลองสังเกตดูก็ได้ อาการที่เรามีความรีบร้อน อาการที่เรามีความอยากได้ อาการที่เรามีความกระวนกระวาย จะสอบได้ หรือสอบไม่ได้ จะสอบได้ดีกว่าคนอื่นไหม จะได้ที่ ๑ ไหม หรือว่าต่อไปเราจะทำอะไรกิน เราจะทำอะไรเมื่อโตขึ้น ความฟุ้งซ่านเกี่ยวกับเรื่องของชีวิตตัวเอง มันเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา แล้วมุมมองภายในมันเป็นอย่างไร ถ้าหากว่าสังเกต สังเกตดูตอนนี้ก็ได้ หลายคนรู้สึกว่าร้อน หลายคนรู้สึกว่าอึดอัดกระสับกระส่าย มองดูมันเหมือนกับว่าร่างกายมันกระสับกระส่าย แต่แท้ที่จริงแล้ว ถ้าเห็นออกมาจากมุมมองภายใน ตั้งต้นออกมาจากความรู้สึกข้างในนี่นะ มันจะเหมือนกับ โลกมันยุ่งๆอยู่ โลกมันมีความพลิก มีความผันผวนอยู่ โลกภายในมันคล้ายๆ กับป่ารก หรือ เปรียบเหมือนกับพายุที่ซัดไป ซัดมาอยู่ตลอดเวลา

แล้วถ้าเราหายใจอยู่ท่ามกลางความกระสับกระส่ายแบบนี้ มันก็เหมือนกับลมหายใจนี่ เป็นส่วนหนึ่งของลมพายุ ที่มันซัดไปซัดมา หาความสงบสุขไม่ได้ ส่วนลมหายใจแห่งความสุข มันจะทำให้โลกภายในแตกต่างไปเลยนะ ถึงแม้ว่าอากาศจะร้อน ถึงแม้ว่าความรู้สึกข้างในมันจะขับดันให้รู้สึกว่าไม่น่านั่งนิ่งๆ แต่เมื่อเราสามารถหายใจอย่างมีความสุขได้ รู้จักลมหายใจแห่งความสุข โลกภายในมันจะเปลี่ยนไปเลย มันจะเหมือนกับเราอยู่ในที่โล่งว่าง สงบ แล้วก็สว่าง ในท่ามกลางความสงบ สว่าง ที่มันโล่งๆ ว่างๆ นี่นะ จากโลกภายในแบบที่มันเปลี่ยนแปลงไปนั้น มันจะมีแต่ลมหายใจ ไหลเข้าไหลออก ผ่านเข้าผ่านออกอยู่เส้นเดียว มันเป็นความรู้สึกที่แแตกต่างไปราวกับอยู่คนละโลก

คนที่มีลมหายใจแห่งความสุข มันจะมีความรู้สึกว่า ความสุขมันตั้งต้นออกมาจากข้างใน ส่วนคนที่มีลมหายใจแห่งความทุกข์ มันจะรู้สึกว่าความสุขเป็นสิ่งที่ต้องไขว่คว้าเอาจากข้างนอก เหมือนคนหลงอยู่ในป่า มันไม่สามารถมองเห็นว่าป่ามันเป็นสุขได้ ก็ร่ำร้องอยากจะออกจากป่า ดิ้นรนที่จะไขว่คว้าอะไรนอกป่ามาเข้าตัว เพราะนึกว่า นั่นมันจะทำให้ความยุ่งยาก แล้วก็พายุที่มันซัดไปซัดมาอยู่ภายในมันสงบลงได้ แต่แท้ที่จริงแล้ว ยิ่งเราไขว่คว้าขึ้นไปมากเท่าไหร่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งน้องๆ สามเณร ถ้าหากว่าโตขึ้น น้องจะยิ่งรู้ว่าโลกมีความน่ากระสับกระส่ายรออยู่ ยิ่งกว่าที่เรานั่งกันแล้วก็ไม่สามารถสงบได้นานๆ อยู่ในที่นี้ โลกมีเครื่องรบกวน หรือมีคลื่นรบกวนมากกว่านั้น เพียงแค่เราจะต้องไปแข่งกับใคร ไม่รู้กี่ร้อย ไม่รู้กี่พันในการเข้างาน ในการเอ็นทรานซ์ มันก็รบกวนให้เราไม่เป็นสุข ไม่ว่าจะนอน ไม่ว่าจะกิน ไม่ว่าจะเดิน ไม่ว่าจะนั่ง จนกว่าจะรู้สึกว่าตัวเองสามารถที่จะผ่านเอ็นทรานซ์ หรือผ่านงาน เข้าไปทำงานได้ ผ่านเอ็นทรานซ์นี่ หลายคนมีความรู้สึกดีใจราวกับว่า ชีวิตมันจบที่นั่นแล้ว มันมีความสุขที่นั่นแล้ว แต่หารู้ไม้ว่า มันเป็นจุดเริ่มต้นของความทุกข์ขนานใหญ่เลย เพราะว่าช่วงของการเรียนมหาวิทยาลัย มันหนักยิ่งกว่า ช่วงการเรียนมัธยม กับประถมมากนัก

หลายคนได้ปริญญาเสร็จก็รู้สึกว่า ชีวิตจบแล้ว มีความสุขแล้ว ไม่ต้องไปเหนื่อยยากกับการเรียน การสอบอีกแล้ว โดยหารู้ไม่ว่า นั่นน่ะ มันเป็นจุดเริ่มต้นของความทุกข์ที่แท้จริงในชีวิต คือต้องดิ้นรน พอหลังจบนี่ ไม่มีใครเลี้ยงนะ เราต้องเลี้ยงตัวของเราเอง และวิธีหาเลี้ยงตัวเองในโลกนี้เชื่อเถอะ มันไม่มีวิธีไหนที่จะทำให้เราเกิดความรู้สึกว่าง่ายจัง ดีจัง สงบจัง มันเต็มไปด้วยเครื่องรบกวนให้เกิดความกระวนกระวาย เครื่องรบกวนให้เกิดความรู้สึกเป็นทุกข์กระสับกระส่าย เหมือนกับที่เรานั่งกันอยู่อย่างนี้ ไม่สามารถนั่งนิ่งๆ ได้นานๆ จากเครื่องรบกวนภายนอก แล้วก็จากเครื่องรบกวนภายในของเราเอง คือความกระสับกระส่ายภายใน

วันนี้เรามาพูดถึงสิ่งที่จะทำให้ชีวิตมันตั้งต้นมีความสุขมาจากข้างใน ไม่ใช่ต้องรอความสุขจากภายนอก ไม่ต้องรอความสมหวังจากภายนอกเสียก่อน ถ้าหากว่าเรามีความสุขกับลมหายใจของตัวเองได้ มีลมหายใจแห่งความสุขได้ ความรู้สึกเป็นอันดับแรกเลย มันจะเหมือนออกมาจากป่า เหมือนกับว่าเราหลงทางกลางป่ารกอยู่ แล้วในที่สุดเราเจอทางออกเป็นทุ่งโล่งกว้าง เจอฟ้าสว่างและในความในความโล่งกว้างนั้น มีอะไรง่ายๆ ให้ใจยึดอยู่หนึ่งเดียว ด้วยความรู้สึกที่มันสบาย ด้วยความรู้สึกที่มันเบา ด้วยความรู้สึกที่เหมือนกับไม่ต้องมีอะไรเพิ่มเติมมาก็ได้ ขอแค่ความรู้สึกพอใจ กับภาพโล่งๆ ภาพกว้างๆ ภาพที่มันสว่าง ภาพที่มีอะไรอยู่อย่างเดียวให้ใจรู้สึกเป็นสุข

เอาล่ะ ถ้าฟังไปอย่างเดียวนี่ มันนึกไม่ออกหรอกว่าหน้าตาความสุขแบบนั้นมันเป็นอย่างไร เพราะฉะนั้นผมก็จะมา วันนี้นี่นอกจากจะมาพูดถึง นอกจากจะมาพรรณนาว่า ความสุขจากลมหายใจ แบบที่พระพุทธเจ้าสอนมันเป็นอย่างไรแล้วนี่ จะได้มานำน้องๆ สามเณรให้ทำตาม พูดไปด้วยแล้วน้องฟังตามไปด้วยนี่ แล้วก็ทำไปเลย ทำไปด้วยเลย แล้วเห็นผลเดี๋ยวนี้เลย อย่างตอนนี้กำลังดีเลยนะ หลายคนรู้สึกตอนแรกนี่ มันมีความกระสับกระส่ายอยู่ ที่จะต้องนั่งกันอยู่แบบนี้อีกกี่วันก็ไม่ทราบ แต่ถ้าหากว่าน้องสามเณรนั่งเป็น รู้ถึงลมหายใจที่มันทำให้เรามีความสุขได้ออกมาจากจุดตั้งต้นของชีวิต จะนั่งแบบนี้กี่วันหรืออีกกี่เดือน หรืออีกกี่ปี เราก็จะไม่เกี่ยง เพราะว่าลมหายใจนี่มันเป็นตัวกำหนดคุณค่าของชีวิตเราเลยทีเดียว มันเป็นความสดชื่น ถ้าใครหายใจไม่เป็นก็สดชื่นไม่เป็น ต่อให้สมหวังอะไร ภายนอกในชีวิตเท่าไหร่ มันก็รู้สึกว่าความสดชื่นมันอยู่ไกลออกไป ความสดชื่นที่แท้จริงมันอยู่ไกลออกไป ความแห้งแล้งมันมีมากกว่า เหมือนกับคนที่เดินทางไปท่ามกลางทะเลทราย เจอความแห้งแล้งมากกว่าเจอโอเอซิส เจอบ่อน้ำกลางทะเลทรายนะ แต่ถ้าหายใจเป็น มันจะเหมือนกับเราแหวกว่ายอยู่ในท้องทะเล ทะเลที่ดื่มได้ด้วย ไม่ใช่ทะเลที่เค็ม ทะเลอันเป็นทิพย์ ทะเลแห่งความสุข ทะเลที่มีแต่ความสว่าง ทะเลที่มีแต่ความรู้สึกว่าเพียงพอ เพียงแค่อ้าปาก เราก็จะสามารถที่จะดื่มกินได้ทันที เอาล่ะ ถ้าไม่เชื่อเรามาเริ่มกันเลย

จากที่น้องๆ กำลังนั่งกันอยู่ในท่าขัดสมาธิ เรามาตั้งต้นดูกัน ลองนั่งหลังตรงสบายๆ แล้วก็หลับตา ที่หลับตาก็เพื่อที่จะให้ความรู้สึกถึงลมหายใจนี่มันกระจ่างชัดขึ้น ลองทำตามดูนะ ทำตามไป คือฟังไปด้วย ฟังโยมไปด้วย แล้วก็ปฏิบัติตามไปเพื่อที่จะได้เห็นผลว่ามันเป็นไปได้จริง ใช้เวลาไม่กี่นาที เปลี่ยนจากป่ารกให้กลายเป็นทุ่งโล่งกว้าง แล้วก็มีความสุข เลิกกระสับกระส่ายเสียได้ พอเราหลับตาลง เราเห็นอะไร น้องสามเณรก็คงจะพบตรงกันนะ พบใจที่มันไม่เป็นสุข พบใจที่มันยังไม่หยุด พบใจที่มันมีความรู้สึกว่ามีแรงดันให้ฟุ้งซ่าน มีแรงดันให้เกิดความกระสับกระส่าย ถ้าแค่ยอมรับตามจริงว่าเรากำลังมีความกระสับกระส่ายอยู่ภายใน ความกระสับกระส่ายนั้นมันจะแปลกไปนะ มันจะแตกต่างไป มันจะเหมือนกับเราเห็นความจริงที่กำลังปรากฎ มันเหมือนคลื่นรบกวนอยู่ภายใน คลื่นรบกวนที่คล้ายๆ กับไม่ยอมให้เราหยุดนิ่ง ถ้าหยุดนิ่งเมื่อไหร่มันจะมากระหน่ำ มันจะมาโจมตี มันจะมาทำให้สะเทือน แล้วก็ไม่สามารถจะนิ่งได้ต่อ

คลื่นรบกวนแบบนี้นี่แหละที่ทำให้คนเราเป็นทุกข์กันทั้งชีวิต และคลื่นรบกวนแบบนี้นี่ ที่ทำให้เราไม่มีแก่ใจที่จะสังเกตลมหายใจอันเป็นสุข แต่ในวาระที่ผมพูดถึงคลื่นรบกวนอันนี้ น้องหลับตาลงแล้วเห็นคลื่นรบกวนอันนี้ คลื่นรบกวนมันจะแปลกไป มันจะแตกต่างไป มันเหมือนกับว่า เออ มันมีอยู่จริงนะ มันมีแรงผลักดันให้เรากระสับกระส่ายได้จริง แต่มันก็มีความต่างระดับให้เราเห็นได้จริงๆ เช่นกัน พอเราเห็นมันว่ามันเป็นคลื่นรบกวน คลื่นรบกวนนี่ก็จะมีทั้งความเข้มข้นให้ดูเป็นบางขณะ แล้วก็ บางขณะมันจะค่อยๆ อ่อน ค่อยๆ เบาบางลง ค่อยๆ ลดความเข้มข้นลง โดยที่เราไม่ต้องทำอะไร

เอาล่ะ ทีนี้ลองสังเกตให้มันชัดเจนกว่านั้น คลื่นรบกวนตรงนี้บางทีมันมองยากนะ เพราะว่ามันเป็นนามธรรม มันเหมือนกับไม่มีอะไรให้จับต้องได้ รู้แต่ว่ามันมีแรงดัน รู้แต่ว่ามันมีความปั่นป่วน รู้แต่ว่ามันมีกระแสการรบกวน แต่ไม่รู้ว่า จะดูหน้าดูตาของมันอย่างไร แต่สิ่งที่สามารถจับต้องได้คือร่างกายของเรานี่ นับตั้งแต่หัวจรดเท้า ไม่ว่าเราจะส่องดูตรงไหน ตรงนั้นปรากฎอยู่นิ่งๆ คงเส้นคงวา เป็นรูปพรรณสัณฐานที่เราจะสามารถจับต้องได้ ไม่เปลี่ยนแปลง เราก็ดูตรงนั้นก่อน นับเริ่มจากฝ่าเท้าเลยก็แล้วกัน น้องสามเณรนั่งขัดสมาธิกันอยู่อย่างนี้ ฝ่าเท้าก็หงายขึ้นมา แต่ลองสังเกต ฝ่าเท้าที่หงายขึ้นมันน่าจะอยู่ในอาการสบายๆ แต่ถ้าหากว่าจิตใจของเรากระสับกระส่ายอยู่ด้วยคลื่นรบกวนอยู่ตลอดเวลานี่ มันไม่ปล่อยนะ มันไม่วางสบาย มันไม่คลายออก มันจะมีอาการเหมือนคอยที่จะงุ้มเข้ามา หรือว่ามีกล้ามเนื้อส่วนใดส่วนหนึ่งของฝ่าเท้ามันคอยจะเกร็ง มันคอยจะบีบเข้ามา (สุนัขเดินผ่านมาหยุดหน้าที่นั่งคุณดังตฤณ) ... แม้แต่หมาก็สนใจธรรมะได้นะ

เอาละลองสังเกตดู หลับตาต่อนะ ลองสังเกตดูว่าฝ่าเท้าของเรา ถ้าหากว่ามันยังเกร็ง มันยังงอ มันยังไม่สบายอยู่ ใจของเรามันก็จะกระสับกระส่ายได้ไม่เลิก มันสัมพันธ์กันนะ มีคลื่นรบกวนจิตใจให้กระสับกระส่าย ฝ่าเท้าเรานี่จะไม่เคยสบาย จะไม่เคยผ่อนคลายเลย แต่พอผมมาพูดให้ฟัง ให้สังเกต ว่าฝ่าเท้าของเรานี่มันไม่ได้ผ่อนคลาย มันไม่ได้สบาย เราก็จะเห็นได้ต่อไปว่า เออ จะมามัวเกร็งอยู่ทำไม ผ่อนคลายก็ได้ แล้วก็ผ่อนคลายแค่ฝ่าเท้าที่ผ่อนคลายออกได้อย่างสบายนี่นะ มันจะรู้สึกโล่ง มันจะรู้สึกว่างขึ้นมา อาการโล่ง อาการว่างที่ฝ่าเท้านี่ มันมีผลให้ใจของเรารู้สึกว่างขึ้นมา พื้นจิตพื้นใจของเรามันเกร็ง แต่ถ้าฝ่าเท้าผ่อนคลายออก พื้นจิตพื้นใจของเราก็สบายขึ้นเช่นกัน

พื้นจิตพื้นใจของเรานี่มันสะท้อนออกมาด้วยอาการทางฝ่าเท้านี่แหละ ฝ่าเท้าเกร็ง มันก็แปลนะว่าพื้นจิตพื้นใจของเรามันเกร็ง แต่ถ้าเหมือนมีความว่าง เหมือนมีความโล่งขึ้นมาจากเดิมที่มันเป็นป่ารกอยู่ จากเดิมที่มีแต่ความกระวนกระวาย อยากจะกระสับกระส่าย มันกลายเป็นรู้สึกสบายๆ โล่ง ว่าง ขึ้นมา

จากนั้น สำรวจฝ่ามือของเรา มันมีอาการกำอยู่ หรือว่า มีอาการคลายอยู่ จะวางบนหน้าตักก็ได้ หรือว่าจะหงายออก ยังไงก็แล้วแต่นี่ ขอให้สังเกตดูก็แล้วกัน บางคนฝ่ามือหงายก็จริง แต่กล้ามเนื้อฝ่ามือนี่มันเหมือนกับยังกำอยู่ มันเหมือนคนยังไม่ปล่อยนะ ตราบใดที่ฝ่ามือของเรายังมีอาการกำอยู่ อาการทางใจจะไม่มีทางปล่อย ไม่มีทางวางได้ อาการของมือนี่ มันเป็นอาการเดียวกับอาการของใจนะ ถ้าหากว่ามันคลาย ถ้าหากว่ามันสบาย ใจมันก็ผ่อนคลาย แล้วก็สบายตามไปด้วย ถ้าทั้งฝ่าเท้า และ ฝ่ามือผ่อนคลายสบาย เราจะรู้สึกว่า มันมีความว่างเพิ่มขึ้นมา มีความว่างเหมือนออกจากป่ารก เหมือนออกจากอะไรที่มันยุ่งยาก เหมือนออกจากพายุที่มันหมุนอยู่ตลอดเวลา หมุนติ้วๆๆ อยู่ตลอดเวลา กระสับกระส่ายอยู่ตลอดเวลา ให้กลายเป็นความรู้สึกว่าว่าง โล่ง สบาย

หลังจากที่เราสำรวจทั้งฝ่าเท้า และก็ฝ่ามือมาจนกระทั่งสัมผัสถึงความว่าง รู้สึกถึงความว่างได้ เราลองมาสำรวจจุดสุดท้ายคือ บริเวณใบหน้า กล้ามเนื้อบริเวณใบหน้า นับตั้งแต่หน้าผาก ขมับ ลงมาจนถึงแก้ม ถ้าหากว่ามีส่วนใดส่วนหนึ่ง ที่มันขมวด ที่มันเขม็งตึง ถ้าเรารู้สึกถึงมันได้ เราคลายออก นี่ตรงนี้นะ ถึงจุดนี้ มันจะสบายทั้งหมด เราจะรู้สึกตัวว่า อยู่ในอาการนั่ง อยู่ในอาการที่ขัดสมาธิ ทำสมาธิแบบสบายได้ เพียงแค่สังเกตสามจุดนะ

เหตุผลมันง่ายๆ นะ เพราะว่า สามจุดนี่ เป็น สามจุดหลักของร่างกายของเราที่ โยงใยเชื่อมโยงกับกล้ามเนื้อส่วนอื่นๆ ทั่วร่าง ถ้า สามจุดนี้สบายได้ กล้ามเนื้อทั่วร่างก็คลายหมด ปกตินี่ เราไม่เห็นนะ แต่เราจะมาเห็นเอาตอนนี้แหละว่า สามจุดนี้ ผ่อนคลาย กล้ามเนื้อก็สบายทั้งตัว แต่ถ้าสามจุดนี้ จุดใดจุดหนึ่ง หรือพร้อมๆ กันทั้งสามจุด มันมีอาการขมวด มันมีอาการเกร็ง มันมีอาการกำ มันมีอาการตึง  กล้ามเนื้อส่วนอื่นๆ ของร่างกายก็จะพลอยไม่สบายไปด้วย มีอาการเครียด มีอาการ ตึง ไปด้วย และมีอาการอยากกระสับกระส่าย อยากขยุกขยิก แต่พอสามจุดนี่ ถูกสังเกต แล้วผ่อนคลายได้ มันเหมือนร่างกายจะสงบไปเองโดยที่ไม่ต้องทำอะไรเลย ไม่ต้องนั่งสมาธิ ไม่ต้องเพียรพยายาม บังคับจิตบังคับใจให้มันสงบ ไม่ต้องไปขับไล่ความฟุ้งซ่าน ไม่ต้องไปเรียกร้องหรือว่าอธิษฐานจิตอะไรที่ไหน นี่คือเหตุผลที่ง่ายที่สุดนะ ที่เราสามารถจับต้องได้ ร่างกายที่ไม่ถูกรับรู้ มันจะเกร็ง มันจะคอยขยุกขยิก แต่ถ้าหากว่า เราไล่สำรวจไป มันต้องตามลำดับเลยนะ ฝ่าเท้าก่อน มาฝ่ามือ แล้วมาทั่วทั้งใบหน้า ถ้าเราเห็นมันผ่อนคลายได้ ร่างกายมันจะพร้อมเป็นสมาธิขึ้นมาโดยไม่ต้องพยายามอะไรเลย

ทีนี้พอได้ฐานที่ตั้งของความสงบขึ้นมาแบบนี้แล้ว แล้วยังไงต่อ ถ้าเราปล่อยมันไปเรื่อยๆ นะ เดี๋ยวมันจะกลับขึ้นมาเกร็ง ขึ้นมาอีก เดี๋ยวลองสังเกตดูสิ ฝ่าเท้ามันไม่สบายอยู่นานหรอก ใบหน้ามันไม่สบายอยู่นานหรอก เพราะอะไร เพราะว่าคลื่นรบกวนมันคอยย้อนกลับมาอยู่ตลอดเวลา ความฟุ้งซ่าน แรงขับดันที่มาจากภายในนี่ มันเหมือนกับระลอกคลื่น ที่ไปแล้วไม่ไปลับนะ เดี๋ยวมันย้อนกลับมาอีก พอระลอกคลื่นความฟุ้งซ่านจากภายในมันกลับมา เราจะสังเกตได้ เห็นปฏิกิริยาที่สะท้อนออกมาทางร่างกายได้ทันทีเลยว่า เดี๋ยวเท้ามันก็กลับมาเกร็งใหม่ เดี๋ยวมือมันก็กลับมาเกร็งใหม่ เดี๋ยวหน้าผากมันก็กลับมาขมวด มันกลับมาเขม็งตึงได้

พอเราสังเกตเห็นอย่างนี้ เราจะรู้สึกถึงความไม่เที่ยงของร่างกาย ร่างกายนี่ไม่ใช่แสดงความไม่เที่ยงโดยการแปรรูปไปนะ จากใบหน้าคนกลายเป็นรูปสามเหลี่ยม สี่เหลี่ยม มันไม่ใช่แบบนั้น แต่มันแสดงความไม่เที่ยงผ่านอาการเกร็งบ้าง อาการคลายบ้างของกล้ามเนื้อนี่แหละ แล้วสิ่งที่เราจะสังเกตได้ต่อจากนั้น ก็คือลมหายใจที่ชัดเจนขึ้น น้องๆ สามเณรคงเคยที่จะได้รับคำแนะนำให้ดูลมหายใจมา แต่รู้สึกว่ามันเห็นได้ยาก หรือเห็นไม่ได้ เหมือนมีคลื่นความฟุ้งซ่านคอยมาเบียดเบียน คอยมาบดบังอยู่ตลอดเวลา พยายามเท่าไหร่ ดูแล้วก็ยังไม่เห็น หรือว่าเห็นแล้วก็รู้สึกว่ามันมีความกระสับกระส่ายมากกว่า เหมือนกับเราลอยคออยู่กลางทะเลแล้วก็มีคลื่นซัดไปซัดมา มองอะไรไม่เห็นสักที แต่ตอนนี้ หลังจากเราทำให้อุปสรรคมันหายไปอาการเกร็งทางการมันผ่อนคลายสบายขึ้น นี่ตรงนี้พอมาสังเกตลมหายใจอีกทีมันจะเหมือนกับว่าลมหายใจปรากฎชัดขึ้นราวกับเป็นปาฏิหาริย์เลยนะ เหมือนกับม่านหมอก เหมือนกับคลื่นรบกวนถูกกำจัดไปได้ สิ่งที่เหลืออยู่ก็คือปรากฎการณ์ทางธรรมชาติที่มันปรากฎอยู่ตลอดเวลา แล้วเราไม่ค่อยจะได้มีโอกาสเห็นมันชัดๆ

นี่ถ้ามันมีความกระสับกระส่ายขึ้นอีกก็ลองสำรวจดูนะ ดูจากฝ่าเท้า ดูจากฝ่ามือ แล้วก็ดูขึ้นมาถึงใบหน้า ถ้าหากว่ามันมีความผ่อนคลาย มันก็จะเหมือนกับมีอาการรู้สึกตัว รู้สึกถึงอิริยาบท นั่งขัดสมาธิแบบเดิมขึ้นมาได้ใหม่ แล้วเราก็สังเกตดูว่าร่างกายนี่มันมีธรรมชาติอยู่นะ คือ เดี๋ยวมันก็ต้องการลมหายใจ ลากเข้ามา แล้วเดี๋ยวมันก็ต้องการลมหายใจปล่อยออกไป แล้วก็มีช่วงพัก ที่อยากจะให้ลมหายใจมันสงบ คือทั้งไม่เข้า แล้วก็ไม่ออก ลองสังเกตดูนะ

ถ้าหากว่า เราไปพยายามเร่งลมหายใจไปพยายามบังคับ ไปพยายามทำให้มันชัดเจน เราจะรู้สึกอึดอัด เราจะรู้สึกว่ามันแน่นไปหมด พยายามลากลมหายใจให้ยาวๆๆๆ ท่าเดียว มันจะเครียด มันจะตึง มันจะเป็นทุกข์ แต่ถ้าหากว่าเราไม่ไปเร่งมัน เราไม่ไปอยากได้ลมหายใจ ไม่อยากได้ความสงบ แต่อยากให้ใจของเรามีอาการสังเกตได้ว่าเมื่อไหร่ที่ร่างกายต้องการจะลากลมเข้า เมื่อไหร่ที่ร่างกายต้องการจะระบายลมออก แค่นั้นนะ ใจจะไม่กระวนกระวาย ใจจะไม่มีความทุกข์เลย ใจจะไม่มีความอึดอัดเลย มีแต่ความรู้ ความเห็น ที่เบา ที่สบาย เหมือนกับร่างกายที่มันผ่อนคลายนั่นแหละ

ร่างกายผ่อนคลายความเครียดความเกร็งได้เราก็จะมีความสุข จิตใจถ้าผ่อน ถ้าคลายจากความอยากได้มันยิ่งสุขเข้าไปใหญ่ เราไม่แม้แต่จะอยากที่จะเห็นลมหายใจนะ แต่เราแค่สังเกตว่าเมื่อไหร่ที่ร่างกายต้องการดึงลมหายใจเข้า เมื่อไหร่ที่ต้องการระบายลมหายใจออก เพราะธรรมชาติของร่างกายนี่พอลมมันหมดไปนี่ มันก็ต้องการที่จะดึงพลังชีวิตเข้ามาใหม่ พลังชีวิตอยู่กับลมหายใจนั่นแหละ แล้วพอดึงเข้ามาจนสุด ก็เกิดความอึดอัด ร่างกายก็ต้องการถ่ายเทออก มันเป็นแค่อาการพัดไหว มันเป็นแค่ธรรมชาติ ที่ไหลเข้าแล้วก็ไหลออก พอไหลออกไปจนหมด มันก็ต้องการที่จะหยุดพักบ้าง ไม่ว่าจะดึงลมเข้า ไม่ว่าจะระบายลมออก ไม่ว่าจะหยุดลมหายใจชั่วขณะ น้องสามเณรจะรู้สึกถึงความสุขที่เกิดขึ้นได้ ตอนเราลากลมเข้านี่นะ มันจะมีความสดชื่น ส่วนตอนระบายลมออกมันจะมีความรู้สึกผ่อนคลายความอึดอัด แล้วตอนที่มันหยุด หยุดพักจากลมหายใจแล้วเราสามารถที่จะนั่งอยู่นิ่งๆ เบาๆ เบาๆ ตัว เบาๆ ใจได้นี่นะ มันจะมีความรู้สึกว่า เออ ใจมันอยู่ของมันได้ด้วยความเบา ด้วยความไม่ต้องฟุ้งซ่าน ไม่ต้องอยากอะไร แค่รู้อยู่เฉยๆ แค่รู้อยู่เบาๆ แค่รู้อย่างสบายๆ รู้อย่างมีความรู้สึกนะว่า เรากำลังนั่งอยู่ นั่งขัดสมาธิอยู่

เห็นไหม ถ้าใครทำตามมาโดยตลอดนะ โลกภายในมันเหมือนเปลี่ยนไปนะ มันต่างไปจากเดิมที่คล้ายเราอยู่กับป่ารกหรือว่าอยู่ท่ามกลางพายุมันเหมือนได้ออกมาสู่ทุ่งโล่ง ที่มันมีความกว้าง ที่มันมีความสว่าง ที่มันมีความสงบเย็น ที่มันไม่ต้องการเติมเต็มอะไรจากภายนอก มันมีความสงบอยู่แล้วที่ภายใน นี่แค่นี้มันยังไม่ใช่สิ่งที่พระพุทธเจ้าสอนไว้ทั้งหมด เวลาท่านให้ดูลมหายใจ ท่านไม่ใช่แค่ให้ดูนะว่ามันเข้าหรือมันออก ท่านให้สังเกตด้วยว่าบางครั้งมันก็ต้องการ ร่างกายของเรานี่ก็ต้องการลมหายใจยาว บางครั้งร่างกายของเราก็ต้องการลมหายใจสั้น มันขึ้นอยู่กับว่า ในขณะหนึ่งๆ นี่ ลมหายใจมันเต็มหรือยัง ถ้ามันเต็มปอดแล้วก็อยากจะได้ลมหายใจน้อยลง มันจะลากเข้าสั้นลง แต่ถ้าหากว่ายังไม่เต็ม มันยังมีความรู้สึกสดชื่นไม่อิ่ม ร่างกายก็จะบอกตัวเองว่าควรจะลากเข้ายาวๆ ถ้าน้องสามเณรสามารถสังเกตความจริงตรงนี้ได้ จิตมันจะจูน (tune) ตรงกับธรรมชาติ ภาวะทางกาย เหมือนกับเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ไม่ฝืนธรรมชาติ ในขณะเดียวกันก็รู้สึกว่ามีความกลมกลืน เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับธรรมชาติทางกายมากขึ้นทุกที

ผลของการที่จิตมีความกลมกลืนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับกายมากขึ้นทุกทีคืออะไร มันคือความรู้สึกว่า จิต เป็นผู้รู้ เป็นผู้ดูอยู่ คือพอเห็นร่างกายอย่างเดียวนี่ มันก็เริ่มเห็นตัวเองขึ้นมา เห็นว่าร่างกายนี่ไม่สามารถที่จะดูตัวเองได้นะ แต่มันมีความสว่าง มันมีความสงบ ที่อยู่ภายใน อยู่เบื้องหลังของการเห็นนั่น น้องสามเณรจะเกิดความรู้สึกขึ้นมาเป็นวาระแรกของชีวิตเลยก็ว่าได้ ว่าจริงๆ แล้วร่างกายไม่ใช่ตัวเรา ร่างกายไม่ใช่อันหนึ่งอันเดียวกันกับจิต จริงๆ แล้วร่างกายถูกจิตรู้ ถูกจิตดูอยู่ต่างหาก ถ้าใครมาถึงตรงนี้ได้ มาถึงความรู้สึก มาถึงประสบการณ์ที่จิต ทำตัวเป็นเสมือนหนึ่งกับผู้ดู ผู้รู้ ร่างกายอยู่เฉยๆ โดยไม่มีความอยากเร่ง ไม่มีความอยากให้ร่างกายมันเป็นไปอย่างไรๆ น้องสามเณรจะเกิดความรู้สึกขึ้นมาว่า นี่ ตรงนี้แหละที่พระพุทธเจ้าพยายามชี้ให้ดู ชี้ให้เห็นว่าร่างกายเป็นเพียงสิ่งถูกรู้ จิตเป็นผู้รู้ เป็นผู้ดู และตรงนี้นะ พอเราเห็นลมหายใจผ่านเข้าผ่านออกในร่างกายนี้ เราจะรู้แจ้งเลยว่า ที่เรียกว่า “ลมหายใจแห่งความสุข” มันเป็นยังไง มันเป็นลมหายใจที่ผ่านเข้าผ่านออกท่ามกลางความว่าง ว่างจากความยุ่งเหยิง ว่างจากความฟุ้งซ่าน ว่างจากความกระสับกระส่าย

เมื่อเห็นถึงความว่าง เมื่อเห็นถึงความไม่กระสับกระส่าย เห็นแค่ว่า เออ จิตมันรู้สภาพทางกายอยู่ ว่านี่กำลังนั่ง เดี๋ยวก็เกร็ง เดี๋ยวมันก็คลาย เดี๋ยวก็มีลมหายใจเข้า เดี๋ยวมันก็มีลมหายใจออกอยู่ มันจะเกิดสติแบบที่มีปัญญาประกอบ มันจะรู้สึกว่าลมหายใจนี่ไม่เที่ยง มันจะรู้สึกว่าภาวะทางกายนี่ไม่เที่ยง และแม้แต่ภาวะของจิตเอง บางครั้งมันก็สงบโล่งๆ สบายๆ มีความสว่าง มีความเย็น บางครั้งมันก็มีความกระสับกระส่าย เต็มไปด้วยความร้อนรนกระวนกระวาย การเห็นความจริงมันไม่ใช่สิ่งที่น่ารังเกียจ แม้กระทั่งตอนที่เรารู้สึกฟุ้งซ่านกระวนกระวายนะ สิ่งที่ได้รับคำแนะนำกันมาตลอดชีวิตก็คือพยายามอย่าฟุ้งซ่าน ซึ่งเป็นคำแนะนำที่ไม่ถูกนะ การพยายามบังคับตัวเองให้ไม่ฟุ้งซ่านทั้งๆที่มีแรงผลักดันให้ฟุ้งซ่านอยู่ คือการต่อสู้กับสิ่งที่ไม่สามารถเอาชนะได้ แต่ถ้าหากว่า เรารู้จักที่จะหายใจอย่างมีความสุข เรารู้จักความไม่อยากที่จะให้มันสงบ แค่อยากที่จะเฝ้าสังเกตว่าเมื่อไหร่ลมหายใจเข้า เมื่อไหร่ลมหายใจออก เมื่อไหร่ที่ลมหายใจควรจะยาว เมื่อไหร่ที่ลมหายใจควรจะสั้น การรู้จักภาวะสังเกตตรงนั้นแหละที่จะทำให้ความฟุ้งซ่านมันระงับหรือล่องหนหายตัวไป เว้นวรรคไปนานเลย โดยที่เราไม่ต้องเรียกร้องนะ

ตรงนี้ก็จะทำให้เราพบกับความจริงว่า ถ้าสร้างเหตุถูก ถึงแม้ไม่เรียกร้องผล มันก็ได้ผลอยู่ดี แต่ถ้าหากว่าสร้างเหตุผิด แม้ว่าจะเรียกร้องผลเท่าไหร่ๆ อย่างไร ผลก็ไม่ปรากฎ ผลก็ไม่บังเกิด เหมือนกับเราเรียกร้องว่าจะทำอย่างไร ถึงจะไม่ฟุ้งซ่าน แต่ไปอยากไม่ฟุ้งซ่านอยู่อย่างนั้น ต้นเหตุของความฟุ้งซ่านมันก็เกิดไม่เลิก เพราะว่าความอยากนั่นน่ะ ต้นเหตุความฟุ้งซ่านที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า ต้นเหตุของทุกข์คือตัณหา คือความทะยานอยาก อยากจะเอาโน่น อยากจะเอานี่ ตัวนั้นแหละ ที่เป็นต้นกำเนิด ที่เป็นแม่ของความทุกข์ ต่อเมื่อเราเห็นว่าความอยากหน้าตามันเป็นยังไง มันมีอาการแล่นทะยาน มันเป็นต้นเหตุของความทุกข์แล้วเราเลิกอยากเสียได้ สังเกตเห็นแต่ความจริง ตอนนี้จิตสงบหรือไม่สงบ ยอมรับไป ฟุ้งซ่านหรือไม่ฟุ้งซ่านยอมรับไป แล้วก็สังเกตว่าลมหายใจกำลังเข้าหรือกำลังออก กำลังยาว หรือกำลังสั้นเอาแค่นั้น ความสงบมันเกิดขึ้นได้เอง ความเบาสบายมันตามมาเองเป็นเงา โดยที่ไม่ต้องเรียกร้องเลยแม้แต่นิดเดียว

ลมหายใจที่มีความสุข ไม่ใช่ลมหายใจที่เราจะต้องนั่งหลับตาแล้วก็เห็นมันอย่างเดียว แต่ลมหายใจของความสุขนี่เกิดขึ้นได้ทุกครั้งที่เราสังเกต คีย์เวิร์ด (keyword) มันอยู่ตรงนี้ ถ้าหากว่าเราสังเกตเราจะมีสติ ถ้าหากว่าเรารับรู้ พยายามที่จะรับรู้ แล้วก็ไม่ปล่อยสติให้มันหลงไป ความสุขความเย็นมันจะเกิดขึ้นเป็นเงาตามตัว ติดตามเราไป การที่เราไม่มีความสุขในชีวิต บางครั้งเราต้องโตสักนิดหนึ่งเราถึงจะเห็นนะว่า เป็นเพราะเราเรียกหาความสุขผิดที่ เราไปเอาความสุขจากภายนอก เราไปเอาความสมหวัง หรือตั้งความหวังไว้กับโลกภายนอก แต่โลกไม่เคยตามใจเรา โลกภายนอกนี่ส่วนใหญ่นะ เขาจะขัดใจเรา ไม่ว่าน้องสามเณรจะโตขึ้นไปสักแค่ไหน เราก็จะเห็นความจริงประจำโลกอยู่อย่างนั้นว่า ถ้าตั้งความหวังกับโลกภายนอกไว้เมื่อไหร่ เมื่อนั้นโลกจะพยายามบอกเราว่า เขาไม่พยายามที่จะตามใจเรา เราต่างหากที่จะต้องพยายาม ที่จะเห็นความจริงของโลก แล้วถ้าหากว่าเราไม่สามารถที่จะเห็นความจริงภายในตัวของเราเองได้ เราก็จะไม่สามารถปรับจิต ปรับใจให้ไปเห็นโลกภายนอกตามจริงได้เช่นกัน

พระพุทธเจ้าท่านตรัสนะ คำสอนของท่าน ให้เห็นตามจริง ไม่ว่าจะเป็นโลกภายในหรือว่าโลกภายนอก ถ้าหากว่าเราสามารถที่จะเห็นโลกความจริงภายในซึ่งมันง่าย อย่างเช่น หายใจเข้า หายใจออก มันน่ายอมรับนะ มันไม่น่าปฏิเสธ ความสามารถในการยอมรับความจริงมันจะค่อยๆ แข็งแรงขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งเราสามารถที่จะยอมรับความจริงที่ไม่น่ายอมรับ ของโลกภายนอกได้ด้วย แต่ถ้าหากเราไม่มีความเข้มแข็งมากพอที่จะยอมรับความจริงภายใน แม้กระทั่งความจริงภายในของเรา เรายังไม่สามารถยอมรับได้ ยิ่งเราใช้ชีวิตไปมากขึ้นเท่าไหร่ เราก็จะยิ่งเห็นว่าความจริงที่ปรากฎอยู่ประจำโลกไม่สามารถเป็นที่ยอมรับ ไม่น่ายอมรับมากขึ้นเท่านั้น ถ้าหากว่าเราเห็นความจริงภายใน อันได้แก่ลมหายใจอันปรากฎขึ้นมา เดี๋ยวเข้าเดี๋ยวออก เดี๋ยวยาวเดี๋ยวสั้น มีความสดชื่นบ้าง มีความรู้สึกหยาบๆ แห้งๆ แล้งๆ บ้าง แล้วเรายอมรับได้ทุกระลอกลมหายใจ ในที่สุดสติที่มันเกิดขึ้น สติที่เกิดจากการฝึกยอมรับความจริงภายในมันจะทำให้เราสามารถยอมรับความจริงภายนอกได้ด้วย

อย่างบางทีนี่ เดี๋ยวพอเราไม่ได้เป็นสามเณรกันแล้ว เราออกไปเผชิญโลกภายนอก แล้วก็จะต้องมาเป็นทุกช์กับการเรียน เป็นทุกข์กับการสอบ เป็นทุกข์กับผลที่ได้อย่างใจบ้าง ไม่ได้อย่างใจบ้าง ป็นทุกข์กับเพื่อนๆ ที่เอาแน่เอานอนไม่ได้ เดี๋ยวบางวันก็ทำตัวเป็นเพื่อน เดี๋ยวบางวันก็ทำตัวเป็นศัตรู หรือจะออกไปมีแฟน บางวันก็เหมือนกับเป็นของเรา บางวันก็เหมือนกับเป็นตัวของเขาเอง บางวันก็เหมือนกับเป็นของคนอื่น สิ่งเหล่านี้เป็นความจริงประจำโลกที่ไม่ค่อยน่ายอมรับ และเราก็ไม่ค่อยฝึกที่จะยอมรับกันตามจริงจนกว่าเราจะเริ่มมาฝึกที่จะยอมรับความจริงจากภายในของเราเอง

เมื่อเราฝึกยอมรับความจริงจากภายในของเราเองได้ สิ่งที่มันเกิดขึ้นในโลกภายนอก มันก็ไม่ต่างกันไปเท่าไหร่หรอก มันเกิดขึ้นแล้วเดี๋ยวมันก็หายไป ไม่ต่างจากลมหายใจที่เข้ามาแล้วก็ออกไป ไม่ต่างจากลมหายใจที่เดี๋ยวมันก็ต้องยาว เดี๋ยวมันก็ต้องสั้น สติของเราที่ทำตัวเป็นผู้รู้ ผู้ดูอยู่ ผู้เห็นอยู่ ตัวนี้แหละ ยิ่งเข้มแข็งขึ้นเท่าไหร่ ยิ่งแข็งแรงขึ้นเท่าไหร่มันก็ยิ่งสามารถ มีความสามารถที่จะต้อนรับความจริงกับโลกภายนอกได้มากขึ้นเท่านั้น นี่แหละลมหายใจของความสุข นี่แหละลมหายใจที่มันจะทำให้เกิดสติเห็นความจริง นี่แหละลมหายใจที่จะทำให้ชีวิตเราที่เหลือมันเกิดปัญญา มันเต็มไปด้วยความเข้าใจ มันเต็มไปด้วยความเห็นจริง ไม่ใช่เห็นตามใจอยาก

ถ้าน้องสามเณรสังเกตได้นะว่าลมหายใจที่มันเข้า ที่มันออกอยู่นี้นี่ บางครั้งเราก็ไม่อยากให้มันเป็นไปอย่างนั้นนะ ยกตัวอย่างเวลา มีลมหายใจเข้า มีลมหายใจออก ทั้งๆ ที่กำลังมีความร้อน มีความรู้สึกกระสับกระส่าย อยากขยุกขยิกนี่ ลมหายใจแบบนั้นไม่น่ายอมรับ ไม่น่าที่จะเป็นของเราเลย แต่ถ้าหากว่าเรามีความรู้สึกตัวขึ้นมาว่า เออ นี่ เรากำลังกระสับกระส่าย แล้วลมหายใจมันเป็นลมหายใจแห่งความทุกข์ เราลากเอาความสุขเข้ามาตามลมหายใจระลอกต่อไป ลมหายใจนั้นจะทำให้ชีวิตมันรื่นรมย์ขึ้น ลมหายใจนั้นจะทำให้ชีวิตมันมีความสุขมากขึ้น ลมหายใจนั้น มันจะทำให้เราอยู่กับความจริง โดยไม่ไปขัดแย้ง โดยไม่ไปโต้เถียงกับความจริงมากขึ้น

เอาล่ะ ก็คือถ้าฟังอย่างเดียวบางทีมันอาจจะ ประสบการณ์ที่เราเห็นลมหายใจ หรือว่านี่ที่ฝึกมาหลายๆ วันนี่นะ บางทีมันอาจจะมีคำถาม มันอาจมีข้อสงสัย นี่เหลือเวลาเท่าไหร่ เอาอย่างนี้ก็แล้วกัน ลมหายใจแห่งความสุขนี่ เป็นสิ่งที่ไม่สามารถจะพูดเอาฝ่ายเดียวนะ ถ้าหากว่า น้องเณร มีข้อสงสัยหรือว่ามีข้อข้องใจเกี่ยวกับเรื่องของการเจริญสติ การปฏิบัติ จะเกี่ยวกับเรื่องของการนั่งสมาธิ หรือการเดินจงกรมก็แล้วแต่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อกี้นี่ที่ผมพูดไป เกี่ยวกับเรื่องของการรู้สึกถึงลมหายใจที่มีความสุขนี่นะ อยากจะถามอะไรก็ถามมาก็แล้วกัน

วันจันทร์ที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2557

สัมภาษณ์คุณดังตฤณกรณีข่าวลูกฆ่าพ่อแม่

รายการวิทยุ  ร่วมด้วยช่วยกัน
ดำเนินรายการโดย ดีเจเอ้ ธีรนุช ยอดนุ่น


ฟังคลิปเสียงคุณดังตฤณบนยูทูบ (ความยาวคลิป 19 นาที)

หรืออ่านไฟล์ถอดเสียงได้ที่นี่...

ผู้ดำเนินรายการ: คุณผู้ฟังคะ กลับมาในช่วงของการสนทนา ประเด็นของการสนทนาวันนี้ ก็สอดคล้องกันกับข่าวความคืบหน้ากรณี ฆาตกรรมตระกูลหอมชง ที่บอกว่าลูกชายคนเล็กน่าจะเข้าไปมีส่วนรู้เห็นด้วยนะคะ

เราจะพูดคุยกันกับคุณศรันย์ ไมตรีเวช หรือที่เรารู้จักท่านในนาม "ดังตฤณ" นะคะ ก็มีผลงานเขียนในเรื่องของงานที่เป็นเชิงพุทธศาสนานะคะ เยอะแยะมากมายเลยทีเดียวค่ะ ประเด็นนี้ล่ะค่ะ

ลูกมีกรรมอะไรถึงฆ่าพ่อแม่ได้?

...แล้วก็ถามต่อไปด้วยว่า

แล้วถ้าทำแบบนี้ มาตุฆาต ปิตุฆาต สิ่งที่เขาจะได้รับ หรือกรรมที่จะติดตัวเขาไป มันจะหนักหนาสาหัสขนาดไหนอย่างไร?

ตอนนี้ สายพร้อมแล้ว สวัสดีค่ะ

คุณดังตฤณ : สวัสดีครับ คุณธีรนุช

ผู้ดำเนินรายการ: ค่ะ อย่างที่ถามล่ะค่ะ คือถ้าคนทางพุทธ เราก็จะรู้สึกว่า หรือเราก็เชื่อว่า สิ่งนี้ที่มันเกิดขึ้นมันจะต้องมีเหตุปัจจัยมา อาจภพชาติหนึ่ง ภพชาติใดในอดีตอะไรอย่างนี้ ทีนี้กับเรื่องที่มันเกิดขึ้นอย่างนี้ค่ะ คุณดังตฤณ มันเคยเกิดอะไรขึ้นคะ? หรือมันมีเหตุปัจจัยจากอะไรคะ?

คุณดังตฤณ : เอาอย่างนี้ก็แล้วกันนะ เพื่อที่จะให้ฟังง่าย เราเริ่มต้นกันจากจุดที่ฟังง่ายก่อน เพราะพอพูดเรื่องว่า เอ... ในอดีตเคยไปทำอะไรกันมา มันบางทีฟังยากและนึกไม่ออกนะว่า มันเกิดขึ้นได้อย่างไร

ตอนนี้สิ่งที่มันเกิดขึ้นจริงๆ ก็คือเรื่องน่าตกใจ คือเราจะเกิดความรู้สึกว่า พอมีข่าวอะไรแบบนี้ออกมาถี่ๆ หรือว่าใกล้เคียงกัน มันเป็นเรื่องน่าตกใจ น่าตกใจว่าสังคมเราเป็นอะไรไปกันแล้วนะ หรือว่ามันมีสภาพจิตที่ป่วยหนักกันหรือเปล่า น่าเป็นห่วง น่ากังวล ในกรณีที่จะเกิดขึ้นได้อีกต่อไปไหม ในทำนองนี้นะ ทั้งนี้ก็เพราะว่า ลูกทำกับพ่อแม่ได้ลงคอนี่ มันผิดวิสัย ดูเหมือนผิดวิสัย

แต่ทีนี้ถ้าเรามองย้อนกลับไปถึงข่าวที่มันเกิดขึ้นจริง เคยมีเรื่องจริงเกิดขึ้นหนักหนาสาหัสกว่านี้นี่ มันมีอยู่นะ เช่นว่า ลูกฆ่าพ่อ ฆ่าแม่เอาสมบัตินี่ ยังเบากว่าแม่ฆ่าลูก แม่ฆ่าลูกนี่ก็มีนะ อย่างเมื่อปีก่อนก็มีแม่จิตหลอน ฆ่าลูกทำต้มแซ่บอะไร ที่นึกว่าเป็นหมู นี่ หรือไม่ก็มีที่ แอตแลนตา (Atlanta) ที่ต่างประเทศก็มี ไม่ใช่เฉพาะในไทย บอกว่า ฆ่าลูกเพราะว่าขี้เกียจเลี้ยง นะ อย่างนี้ก็มีนะ เรื่องน่าตกใจนี่มันไม่ใช่เพิ่งมามี และก็ไม่ใช่ว่าสังคมป่วยหนักถึงขั้นต้องไปเหมือนกับเป็นห่วงหรือว่าวิตกเกินกว่าเหตุนะ

ผมอยากพูดว่าจริงๆ แล้ว ถ้าใครไม่เคยมีประสบการณ์ในวัยเด็กที่อบอุ่นอยู่กับพ่อแม่ หรือว่า กระทั่งว่ามีประสบการณ์เลวร้ายมากๆ เมื่ออยู่กับพ่อแม่ในวัยเด็กนะ รู้ข่าวพวกนี้แล้วจะไม่ค่อยตกใจเท่าไหร่ แต่คนที่ตกใจนี่คือคนที่จะค่อนข้างมีประสบการณ์ที่ดีในวัยเด็กกับพ่อแม่นะ

.. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. ..

ทีนี้คือ เรามาพูดกันในแง่ที่ว่ามันเกิดขึ้นได้อย่างไร?
อย่างกรณีนี้นี่ ถ้าวิเคราะห์กันตามข่าว ตามเนื้อหาข่าวอย่างเดียวนะ ยังไม่รู้ตื้นลึกหนาบางอะไรจริงๆ ก็ต้องบอกว่า อิทธิพลของเงินมันมีอยู่เหนือมโนธรรม แล้วก็ เรื่องที่ว่าอยากครอบครองสมบัติ ครอบครองมรดกแต่เพียงผู้เดียวนี่มันไม่ใช่เพิ่งมามีสมัยนี้ แล้วใครๆ ก็เป็นกันได้นะ

แม้แต่พระพุุทธเจ้าก็เคยเล่าให้ฟังนะว่า สมัยท่านยังท่องเที่ยวเวียนว่ายตายเกิดอยู่ด้วยความไม่รู้นี่ ท่านก็เคยฆ่าน้องชายตัวเองด้วยวิธีผลักตกเหว แล้วก็ทุ่มหินซ้ำลงไปอีกเพื่อหวังจะครอบครองสมบัติแต่เพียงผู้เดียว แล้วกรรมนั้นก็ตามมาให้ผลแม้ในชาติสุดท้าย ก็คือพระองค์ท่านก็ถูกพระเทวทัตทุ่มหินใส่ ขณะที่เดินผ่านหน้าผา อันนี้ก็อยากจะบอกว่า เรื่องที่จะฆ่าคนในครอบครัวเดียวกัน หรือว่าที่เป็นสายเลือดเดียวกันไม่ใช่เพิ่งว่าจะเกิดขึ้น มันเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีกไม่รู้นานเท่าไหร่แล้ว

อย่างบางคนนี่ขอให้ดูเถอะ เอาง่ายๆเลยนะ คนปกติธรรมดา บางคนมีพ่อแม่รวยๆ แล้วตัวเองทำงานทำการก็ไม่ได้เท่ากับพ่อแม่ แล้วบอกว่า บางทีมันก็อดไม่ได้ ช่วยไม่ได้นะที่จะเกิดความรู้สึกขึ้นมาว่า เออ นี่ถ้าพ่อแม่ตาย เราก็จะได้สมบัติ เกิดความรู้สึกอย่างนี้ขึ้นมา นี่ในคนปกติธรรมดานะที่ไม่คิดฆ่าพ่อฆ่าแม่นะ ยังอาจเกิดความรู้สึกทำนองนี้ขึ้นมาได้

.. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. ..

ทีนี้พอเราหายตกใจ แล้วก็เห็นเป็นเรื่องธรรมดา ไม่ใช่เรื่องน่าตระหนกว่าโลกกำลังจะเข้าสู่ยุคมิคสัญญี หรืออะไรต่างๆ เราก็จะได้มาสืบสาว หาเหตุหาผลกันเป็นกรณีไป นะ อย่างเช่นตามข่าวนี้ บอกว่า เขาสารภาพออกมาแล้ว บอกว่า พ่อแม่รักพี่ชายมากกว่า ซึ่งถ้าดูจากพฤติกรรมแบบนี้ของลูกชายคนเล็ก ก็ไม่น่าแปลกใจว่าทำไมพ่อแม่ถึงรักน้อยกว่า มันพอจะเดาได้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับชีวิตเขาบ้าง คือแนวโน้มนิสัยน่าจะเป็นประเภทที่ว่า เอาแต่ใจตัว เห็นแก่ตัว หรือว่า เหมือนกับทำอะไรไม่ได้ดีเท่าพี่ชาย

ข่าวนี่ก็คือว่า คุณพ่อเป็นทหาร และพี่ชายก็เป็นทหารด้วย แต่ตัวเองคือก็ไม่รู้อะไร ตอนนี้ก็ยังไม่ทราบว่าทำมาหากินอะไรยังไง แต่ว่าคือผมไม่ทราบนะว่าเขาทำมาหากินอะไร แต่ทราบอย่างหนึ่งว่า ถ้าหากนะ ... ถ้าหาก อันนี้เท่าที่เห็นมานะ คือไม่ได้บอกว่าเป็นกรณีนี้หรือเปล่านะ คุณพ่อเป็นทหารแล้วลูกชายคนหนึ่งเป็นทหาร (เป็นตำรวจค่ะ : ดีเจเอ้) เป็นตำรวจใช่มั้ย โอเค ก็จะมีความรู้สึกว่าอย่างน้อยภูมิใจในลูกชายที่เป็นตำรวจได้ล่ะ ว่า เขาสามารถเข้มแข็ง หรือเป็นชายขาติทหารแบบตนเอง ถ้าหากว่าลูกชายอีกคนหนึ่งซึ่งเท่าที่รู้ ไม่ใช่เป็นตำรวจ หรือทหารใช่ไหมครับ แล้วก็อาจจะทำอะไรที่ไม่เป็นโล้เป็นพายเท่าไหร่ มันก็แน่นอนว่า คงได้รับความเอาใจใส่ หรือว่าพูดอะไรดีๆ น้อยกว่าผู้เป็นพี่ชาย อันนี้เป็นเหตุกดดันมา อันนี้เราพยายามพูดกันในลักษณะที่เข้าข้างเขาก่อนนะ ถ้าเขาสัมภาษณ์มาแบบนี้เราก็เดาว่ามันต้องมีเหตุกดดันอะไรมา ทำให้เกิดความเจ็บช้ำน้ำใจ ทำให้เกิดความรู้สึกน้อยใจ

ความรู้สึกน้อยใจอย่างเดียวนี่นะ มันทำให้เกิดอะไรขึ้นก็ได้ ทำให้เกิดเรื่องนึกไม่ถึงได้มากมายในโลก !

.. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. ..

เอาล่ะ เมื่อมองนะว่าเขามีความกดดันอยู่ก่อน เราก็มามองเป็นสังคมโดยรวมเลยก็แล้วกันว่า ท่าทีของพ่อแม่มีส่วนอยู่ด้วยไหม? อย่างถ้าวิเคราะห์ตามสถานการณ์ ตามเนื้อผ้าที่เกิดขึ้นนะ ผมว่าพ่อแม่เลี้ยงมาดีพอสมควรนะ เพราะว่าโตมาอยู่รอดปลอดภัย แล้วก็มาคิดทำเรื่องอะไรแบบนี้ได้นี่ แล้วพี่ชายเขาก็ประสบความสำเร็จในชีวิต ต้องถือว่าพ่อแม่เลี้ยงมาดีพอสมควร แต่อาจจะขาดอะไรไปบางอย่างสำหรับลูกคนเล็ก คือขาดการทำให้รู้สึกว่า...

ชีวิตจะมีค่าก็คือ "การให้"  ไม่ใช่การเอาแต่ "รอรับ"

คือ โลกทุกวันนี้นี่ มันมีคนรอรับกันเยอะ เพราะว่าสิ่งกระตุ้นสิ่งเร้า หรือวัตถุนิยมนี่ มันโถมเข้ามาเหลือเกิน มันทำให้จิตใจคนอ่อนแอลง แล้วก็อยากจะได้ท่าเดียว เราจะไม่สามารถหยุดวัตถุนิยมได้นะ แต่เราสามารถเพิ่มธรรมะเข้าไปในยุควัตถุนิยมนี่ได้

.. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. ..

คือถ้าจะพูดถึงพ่อแม่นี่ ผมอยากจะบอกว่า

พ่อแม่อยากให้ลูกเป็นอย่างไร ก็เป็นอย่างนั้นให้ลูกเห็น
เริ่มต้นก่อน อันดับหนึ่งเลย คือตั้งเป้าไว้ ฝึกลูกให้ "รู้จักให้" ให้เป็น

คือกรณีนี้นี่ ถ้า ... ชื่อเต้ยใช่ไหม คนที่เป็นลูก อย่างคุณเต้ยนี่ ถ้าได้ถูกฝึกให้รู้จักให้ไว้ก่อนเขาจะไม่มีนิสัยเอาแต่ได้ขนาดนี้ นะ ขนาดที่ว่าอยากจะเอาสมบัติไว้คนเดียว นี่เขาสารภาพเองว่า ทั้งอสังหาริมทรัพย์ ทั้งทรัพย์สมบัติอะไรของพ่อแม่มันมีอยู่เยอะ แล้วมันเกิดความโลภขึ้นมา อยากจะได้ไว้คนเดียวทั้งหมด

ถ้าหากว่าตั้งแต่เด็กๆ เขาถูกพาไปให้อาหารปลาบ้าง อาหารสัตว์บ้าง หรือจะไปตามสถานสงเคราะห์พวกคนพิการหรือเด็กอนาถาอะไรต่างๆ นี่นะ แล้วก็ปลูกฝังความรู้สึกว่าอยากจะให้อภัย อยากจะให้โน่น ให้นี่กับคนอื่นนี่ มันจะโตขึ้นมาด้วยอีกความรู้สึกหนึ่งว่าไม่ใช่รอรับอย่างเดียว แต่จะมี "แรงดัน" อยากจะให้ขึ้นมาด้วยนะ แล้วความอยากจะให้นี่มันสามารถที่จะลบความรู้สึกว่าอยากได้อะไรต้องได้ หรืออยากจะเอาอะไรจากใคร ไม่สนใจ วิธีการใดๆ ทั้งสิ้น ความรู้สึกเหล่านี้มันจะถูกลบ จะถูกกลบกลืนไปด้วยความรู้สึกอยากให้

.. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. ..

เอาล่ะ ตรงนี้นี่ พอพูดมาถึงตรงนี้นะ ผมอยากบอกว่า ที่เป็นแรงผลักดันจริงๆ ที่เราสามารถเห็นได้ก็คือว่า กรรมของเขานี่มันก็คือว่า ไม่รู้จักให้ มีแต่จะเอา นี่คือพื้นฐานของกรรม วิธีคิด วิธีที่จะลงมือทำ มันมาจากความเอาแต่ได้นะ

ถ้าเราเลี้ยงเขาในแบบที่รู้จักให้บ้าง ลักษณะเส้นทางกรรมของเขาจะเปลี่ยนแปลงไป ถึงแม้ว่าเขาจะมีนิสัยเดิมดิบๆ มาในทำนองนี้นะ แต่ถ้าถูกเติมน้ำ เติมสารอะไรดีๆ ลงไปในจิตใจ ที่มันจะเจือจางความรู้สึกเอาแต่ได้แบบดิบๆ นี่นะ อย่างน้อยที่สุดเขาจะไม่ทำถึงขนาดนี้ ความรู้สึกผิดชอบชั่วดี หรือมโนธรรมจริงๆแล้ว เราพูดกันมากมายเลยว่ามันควรจะอย่างนั้น มันควรจะต้องอย่างนี้

โดยพื้นฐานแล้ว "การรู้จักให้" นี่แหละครับ
คือพื้นฐานของมโนธรรมที่สำคัญที่สุด !

คนที่ "ไม่รู้จักให้" และ "เอาแต่ได้" นี่นะครับ
ในที่สุดมันจะทำอะไรในแบบที่เราคาดไม่ถึง !

แล้วก็ พอเกิดอะไรขึ้นแบบนี้ที เราก็จะมาตั้งข้อสงสัยกันทีว่า สังคมเราป่วยไปถึงขนาดนี้แล้วหรือ แล้วก็จะไปวิเคราะห์กันด้วยการโทษโน่น โทษนี่ ว่าเป็นเพราะแรงยุอย่างโน้น แรงยุอย่างนี้ แต่จริงๆ แล้วมันเป็นกรณีๆ ไป

อย่างที่เราคุยกันมาตั้งแต่ต้น ว่า กรณีของคุณเต้ย ก็จะมีเรื่องของความน้อยใจ นะ เป็นแรงกดดันพื้นฐาน แล้วก็มีเรื่องของควาามโลภ โลภในสิ่งที่ไม่ควรจะโลภ แล้วก็ต่อให้สมมติว่าติดคุก แล้วออกจากคุกมาก็ไม่มีสิทธิได้รับมรดกนะ เพราะในทางกฏหมายนี่คือ ถ้าฆ่าพ่อ ฆ่าแม่นี่ ถูกตัดออกจากกองมรดกโดยอัตโนมัติอยู่แล้ว คือทำในสิ่งที่โง่เขลา แล้วก็ไม่เกิดผลสำเร็จอะไรขึ้นมาเลย ไม่ได้อะไรในที่สุด

.. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. ..

นอกจากการได้ฆ่าพ่อฆ่าแม่ ซึ่งถือว่าเป็นปิตุฆาต แล้วก็มาตุฆาต ในศาสนาพุทธถือว่าเป็นอนันตริยกรรม คือเป็นกรรมที่แก้ไม่ได้นะ ยังไงก็ต้องได้รับผลจากการที่ฆ่าพ่อฆ่าแม่ก่อน ไม่ว่าจะทำบุญขนาดไหน

อย่างสมัยที่พระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์ ก็มีพระเจ้าอชาตศัตรูที่ฆ่าพระเจ้าพิมพิสารที่เป็นพระราชบิดา ของตนเอง ต่อมาพอตัวเองมีลูก ก็รู้สึกรักลูกมาตั้งแต่แวบแรกที่เห็น ก็นึกออกว่าพ่อของตัวเองรักตัวเองมากขนาดไหน จนกระทั่ง วิ่งไปที่คุกที่ขังพ่ออยู่ ปรากฎว่าพ่อตายแล้ว เสด็จสวรรคตเรียบร้อย พระเจ้าอชาตศัตรูก็เสียอกเสียใจแล้วก็เริ่มหันมาฟังธรรมะของพระพุทธเจ้าบ้าง

ทีนี้พอมาฟังธรรมของพระพุทธเจ้า เกิดเลื่อมใสศรัทธาแล้วก็ได้อุปัฏฐากพระพุทธเจ้า แล้วก็อุปถัมภ์พระพุทธศาสนาอย่างชนิดที่ไม่มีกษัตริย์ในสมัยนั้นทำได้เท่าเลยจนชั่วชีวิตของท่าน แต่ปรากฎว่าพอตายไป เอ่อ ได้รับผลก่อนก็คือจากการทำปิตุฆาต ทั้งๆที่เป็นอุปถัมภก คือเป็นผู้อุปถัมภ์พุทธศาสนาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่ง ก็ยังช่วยไม่ได้  อย่างบางคนบอกว่า โอ้โหพอไปทำสังฆทานที่หนึ่งรู้สึกชื่นใจมาก รู้สึกปลาบปลื้มมาก มันคือต้องได้ขึ้นสวรรค์แน่นอน แม้แต่พระเจ้าอชาตศัตรูทำยิ่งกว่านั้นหลายร้อยหลายพันหลายหมื่นเท่านี่ ยังไม่สามารถเอาชนะปิตุฆาตแค่กรรมเดียวแค่ครั้งเดียวได้เลย ท่านทำทั้งชีวิตนะ การอุปถัมภ์ศาสนา

.. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. ..

ทีนี้คือ เอาล่ะตรงที่มันเกิดขึ้นเนี่ย เราควรจะมองคุณเต้ยเค้าอย่างไร?
ผมว่าเค้าอายุแค่ ๒๒ แล้วทำสิ่งที่มันแก้ไม่ได้ไปแล้วเนี่ย เราไม่ต้องไปสาปแช่งเค้าหรอก คือสิ่งที่มันจะเกิดขึ้นกับเค้าเนี่ยมันแก้ไม่ได้อยู่แล้ว ไม่ว่าต่อให้พระพุทธเจ้าช่วย ก็ช่วยไม่ได้นะ แล้วสิ่งที่เค้าจะได้รับเนี่ย ผมว่าเอาขณะที่ยังมีชีวิตอยู่เนี่ย เค้าจะต้องนั่งทบทวน นั่งคิดเกี่ยวกับเรื่องที่เกิดขึ้นวันนี้ไปจนกระทั่งชีวิตหาไม่อยู่แล้ว มันมีความทุกข์อย่างที่เรียกว่า มีชีวิตก็เป็นทุกข์ แล้วก็ ตายไปก็จะต้องไปเป็นทุกข์

เพราะฉะนั้นอย่าไปก่นด่า หรือสาปแช่ง หรือว่าคิดอะไรไม่ดีต่อเค้าให้มันมากเลย เพราะมันไม่มีใครที่จะเป็นทุกข์ได้เท่าเค้าอีกแล้วล่ะ ทั้งในปัจจุบันและในอนาคต

นี่ก็เหมือนกับถ้าคิดเปรียบเทียบว่าเค้าเป็นพระเจ้าอชาตศัตรูเนี่ย เค้าก็น่าจะมีโอกาสที่จะได้ฟังธรรมะบ้าง เพราะว่าพระเจ้าอชาตศัตรูเนี่ย ถึงแม้ว่าจะทำกรรมหนักขนาดไหน พระพุทธเจ้าก็บอกว่าเดี๋ยวในที่สุดก็จะได้ขึ้นมา แล้วก็ได้มาบรรลุธรรมในชาติสุดท้ายของท่านในอีกนานต่อไป เพราะฉะนั้น ถึงพลาดไปแล้ว มันแก้ตัวได้

.. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. ..

แล้วถ้าเราอยากให้สังคมเป็นอย่างไร เราใส่เหตุปัจจัยเข้าไปอย่างนั้นกับลูกหลานของตัวเอง เพราะว่าสังคมทุกวันนี้นะ บางทีเด็กรุ่นใหม่เค้าคุยกันเนี่ย เราจะรู้ได้เลยว่าเค้าไม่ศรัทธาอะไรแล้ว คือจะให้มาบอกว่าไปฟังพระองค์นั้นองค์นี้เทศน์เนี่ย บางทีเค้าหัวเราะ เค้าเห็นเป็นเรื่องตลกนะ แต่ถ้าพ่อแม่ทำในสิ่งที่อยากจะให้เค้าเป็นให้เค้าเห็นตั้งแต่เด็กๆเนี่ย เค้าจะรู้สึกว่าเรื่องนั้นไม่ใช่เรื่องตลก

อย่างถ้าพ่อแม่คุยกันเรื่อง "การห้ามใจ"
อย่าไปเอาเค้าเลย อย่าไปผิดศีลข้อนั้นข้อนี้เลย
นี่ มันจะ "ฝังอยู่ในใจ" เค้า
ฝังแล้วแบบเอาออกไม่ได้ด้วยนะ
คือมันจะติดแน่นอยู่ในก้นบึ้งจิตสำนึกเค้า !

ทำให้เค้ารู้สึกว่า เออ ชีวิตนี้ของเค้าเนี่ยไม่อยากจะทำผิดศีลข้อนั้นข้อนี้ที่คุณพ่อคุณแม่เคยห้ามใจให้ดู หรืออย่างถ้าพาเค้าไปให้โน่นให้นี่ หรือไปสงเคราะห์คนบ่อยๆ เนี่ย เวลาโตขึ้น เค้าจะอยากให้ขึ้นมาเอง

.. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. ..

คือช่วงที่เป็นด็ก มันจะเป็นช่วงของการเรียกว่า "ปั้นรูปชีวิต" คือเดิมทีเค้ายังไม่มีรูปชีวิต แต่เราเป็นคนปั้นให้ อยากให้เค้าเป็นอย่างไร รูปร่างหน้าตาดีแค่ไหนเนี่ยคือเราปั้นได้เท่าที่ธรรมชาติจะให้ออกมา

แต่ว่า "จิตวิญญาณ" เนี่ย เราปั้นให้เป็นอย่างไรก็ได้ ขาวแค่ไหนก็ได้ สะอาดแค่ไหนก็ได้ !

อย่าไปหวังพึ่งว่าจะต้องเป็นหน้าที่ของหน่วยงานนั้นหน่วยงานนี้หรือว่า เอ่อ เป็นหน้าที่เทศนาธรรมของพระสงฆ์องค์เจ้าอะไร คือตอนนี้ไม่ทันแล้ว ถ้าเราจะไปคิดพึ่งพาหรือว่ายกหน้าที่ยกภาระให้กับใคร มันเละ จนกระทั่งเรียกว่าไม่ต้องไปบอกเค้า ว่าให้ไปฟังโน่นฟังนี่

เด็กรุ่นใหม่นี่ คือเค้าจะดูอย่างเดียวว่าพ่อแม่ "ทำอะไรให้เห็น" !

.. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. ..

ผู้ดำเนินรายการ: ก็เป็นคำแนะนำที่คุณพ่อคุณแม่อย่าให้คำว่า "ไม่ทันแล้ว" เข้ามากล้ำกรายนะคะ พยายามทำทุกอย่างในช่วงเวลาที่มีอยู่ก็แล้วกันนะคะ ...เราไม่ควรจะซ้ำเติมกับสิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว แล้วก็ควรจะเรียนรู้จากสิ่งที่มันเกิดขึ้น แล้วก็พยายามเอาสิ่งที่เกิดขึ้นเนี่ยมาทำให้ครอบครัวของเรามีภูมิคุ้มกันที่เข้มแข็ง

คุณดังตฤณ : เอ่อ ต้องเห็นว่าการเลี้ยงลูกเนี่ยเป็นเรื่อง "คอขาดบาดตาย"  คือถ้าเลี้ยงไม่ดีเนี่ย เค้าเอาเราตายได้อย่างนี้แหละ

ผู้ดำเนินรายการ:  ขอบคุณมากๆเลยนะคะที่ให้ข้อคิดในเรื่องนี้ค่ะ ขอบคุณมากค่ะคุณดังตฤณ

คุณดังตฤณ : ครับ สวัสดีครับคุณธีรนุช สวัสดีครับทุกท่าน