คุณดังตฤณ บรรยายธรรมหัวข้อเรื่อง “ลมหายใจแห่งความสุข” ณ ไร่เชิญตะวัน จ.เชียงราย
๑๑ เมษายน
๒๕๕๖
กราบนมัสการพระคุณเจ้าที่ได้มาบำเพ็ญบุญกิริยา
ได้มาเป็นพระพี่เลี้ยงกับสามเณร ๒๕๐ รูปนะ น้องๆ สามเณรก็ถือว่าได้มีโอกาสดี
ได้มีโอกาสที่จะได้พัฒนาจิตวิญญาณของตัวเองตั้งแต่อายุยังน้อย
การเป็นสามเณรแตกต่างจากการเป็นเด็กธรรมดาอย่างไร? ไม่ใช่แค่ใส่ยูนิฟอร์มชุดเหลือง
แล้วก็ได้เป็นสามเณรกัน แต่ต้องใส่ชุดเหลืองแบบที่เรากำลังใส่อยู่นี้
ด้วยความตั้งใจว่าจะพัฒนาจิต
พัฒนาใจของตัวเองให้ดำเนินไปตามแนวทางที่พระพุทธเจ้าท่านได้ประทานไว้
ครั้งที่พระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่ สมัยนั้นตอนแรกๆ นี่จริงๆ
ไม่มีสามเณรนะ มีแต่พระภิกษุ ทีนี้ท่าน พระพุทธเจ้าท่านมีโอรสอยู่นะครับ ก็คือ
พระราหุล สมัยนั้นอายุท่านได้ ๗ ขวบพอดี
ท่านมีความดำริคิดว่าจะมอบสมบัติที่ล้ำค่าที่สุดของท่านให้กับพระโอรสของท่านคือพระราหุล
อันได้แก่ธรรมะที่ท่านได้ตรัสรู้แล้ว ท่านก็เลยนำพระราหุลมาบรรพชาเป็นสามเณร
เพราะยังเป็นภิกษุไม่ได้ ภิกษุนี่ต้องอายุ ๒๐ ขึ้นไป
แต่ถ้าหากว่าอายุต่ำกว่านั้นก็ให้โอกาสโดยการบวชบรรพชา เป็นสามเณร พระราหุล บรรพชาได้แค่ไม่นาน
ก็สามารถบรรลุพระอรหัตผลได้ ทั้งที่ยังเป็นเณรอยู่นั่นเอง ยังไม่ได้เป็นภิกษุ
อายุยังไม่ครบ ๒๐ เลย ท่านก็สามารถที่จะถึงที่สุดแห่งธรรมได้ นั่นแปละว่า
อายุจะน้อยหรือมากไม่ได้เป็นอุปสรรคขัดขวาง
ถ้าหากว่าเราจะได้ดำเนินตามรอยบาทพระศาสดานะครับ
ที่ผมมาพูดวันนี้ มาพูดเรื่องของ “ลมหายใจแห่งความสุข”
หมายความว่าอย่างไร หมายความว่า ปกตินี่นะ คนเราหายใจทิ้งไปเปล่าๆ
โดยไม่สังเกตว่าตัวเองนี่หายใจอย่างเป็นทุกข์อยู่ เชื่อไหมว่าเราหายใจอยู่นี่เราหายใจอยู่ด้วยความทุกข์มากกว่าหายใจอยู่ด้วยความสุข
ถ้าไม่เชื่อลองสังเกตดูก็ได้ อาการที่เรามีความรีบร้อน อาการที่เรามีความอยากได้
อาการที่เรามีความกระวนกระวาย จะสอบได้ หรือสอบไม่ได้ จะสอบได้ดีกว่าคนอื่นไหม
จะได้ที่ ๑ ไหม หรือว่าต่อไปเราจะทำอะไรกิน เราจะทำอะไรเมื่อโตขึ้น ความฟุ้งซ่านเกี่ยวกับเรื่องของชีวิตตัวเอง
มันเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา แล้วมุมมองภายในมันเป็นอย่างไร ถ้าหากว่าสังเกต
สังเกตดูตอนนี้ก็ได้ หลายคนรู้สึกว่าร้อน หลายคนรู้สึกว่าอึดอัดกระสับกระส่าย
มองดูมันเหมือนกับว่าร่างกายมันกระสับกระส่าย แต่แท้ที่จริงแล้ว ถ้าเห็นออกมาจากมุมมองภายใน
ตั้งต้นออกมาจากความรู้สึกข้างในนี่นะ มันจะเหมือนกับ โลกมันยุ่งๆอยู่
โลกมันมีความพลิก มีความผันผวนอยู่ โลกภายในมันคล้ายๆ กับป่ารก หรือ
เปรียบเหมือนกับพายุที่ซัดไป ซัดมาอยู่ตลอดเวลา
แล้วถ้าเราหายใจอยู่ท่ามกลางความกระสับกระส่ายแบบนี้
มันก็เหมือนกับลมหายใจนี่ เป็นส่วนหนึ่งของลมพายุ ที่มันซัดไปซัดมา หาความสงบสุขไม่ได้
ส่วนลมหายใจแห่งความสุข มันจะทำให้โลกภายในแตกต่างไปเลยนะ ถึงแม้ว่าอากาศจะร้อน
ถึงแม้ว่าความรู้สึกข้างในมันจะขับดันให้รู้สึกว่าไม่น่านั่งนิ่งๆ แต่เมื่อเราสามารถหายใจอย่างมีความสุขได้
รู้จักลมหายใจแห่งความสุข โลกภายในมันจะเปลี่ยนไปเลย
มันจะเหมือนกับเราอยู่ในที่โล่งว่าง สงบ แล้วก็สว่าง ในท่ามกลางความสงบ สว่าง
ที่มันโล่งๆ ว่างๆ นี่นะ จากโลกภายในแบบที่มันเปลี่ยนแปลงไปนั้น มันจะมีแต่ลมหายใจ
ไหลเข้าไหลออก ผ่านเข้าผ่านออกอยู่เส้นเดียว มันเป็นความรู้สึกที่แแตกต่างไปราวกับอยู่คนละโลก
คนที่มีลมหายใจแห่งความสุข มันจะมีความรู้สึกว่า
ความสุขมันตั้งต้นออกมาจากข้างใน ส่วนคนที่มีลมหายใจแห่งความทุกข์
มันจะรู้สึกว่าความสุขเป็นสิ่งที่ต้องไขว่คว้าเอาจากข้างนอก เหมือนคนหลงอยู่ในป่า
มันไม่สามารถมองเห็นว่าป่ามันเป็นสุขได้ ก็ร่ำร้องอยากจะออกจากป่า
ดิ้นรนที่จะไขว่คว้าอะไรนอกป่ามาเข้าตัว เพราะนึกว่า นั่นมันจะทำให้ความยุ่งยาก
แล้วก็พายุที่มันซัดไปซัดมาอยู่ภายในมันสงบลงได้ แต่แท้ที่จริงแล้ว
ยิ่งเราไขว่คว้าขึ้นไปมากเท่าไหร่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งน้องๆ สามเณร ถ้าหากว่าโตขึ้น
น้องจะยิ่งรู้ว่าโลกมีความน่ากระสับกระส่ายรออยู่
ยิ่งกว่าที่เรานั่งกันแล้วก็ไม่สามารถสงบได้นานๆ อยู่ในที่นี้ โลกมีเครื่องรบกวน
หรือมีคลื่นรบกวนมากกว่านั้น เพียงแค่เราจะต้องไปแข่งกับใคร ไม่รู้กี่ร้อย
ไม่รู้กี่พันในการเข้างาน ในการเอ็นทรานซ์ มันก็รบกวนให้เราไม่เป็นสุข ไม่ว่าจะนอน
ไม่ว่าจะกิน ไม่ว่าจะเดิน ไม่ว่าจะนั่ง จนกว่าจะรู้สึกว่าตัวเองสามารถที่จะผ่านเอ็นทรานซ์
หรือผ่านงาน เข้าไปทำงานได้ ผ่านเอ็นทรานซ์นี่ หลายคนมีความรู้สึกดีใจราวกับว่า
ชีวิตมันจบที่นั่นแล้ว มันมีความสุขที่นั่นแล้ว แต่หารู้ไม้ว่า
มันเป็นจุดเริ่มต้นของความทุกข์ขนานใหญ่เลย เพราะว่าช่วงของการเรียนมหาวิทยาลัย
มันหนักยิ่งกว่า ช่วงการเรียนมัธยม กับประถมมากนัก
หลายคนได้ปริญญาเสร็จก็รู้สึกว่า ชีวิตจบแล้ว มีความสุขแล้ว
ไม่ต้องไปเหนื่อยยากกับการเรียน การสอบอีกแล้ว โดยหารู้ไม่ว่า นั่นน่ะ
มันเป็นจุดเริ่มต้นของความทุกข์ที่แท้จริงในชีวิต คือต้องดิ้นรน พอหลังจบนี่
ไม่มีใครเลี้ยงนะ เราต้องเลี้ยงตัวของเราเอง
และวิธีหาเลี้ยงตัวเองในโลกนี้เชื่อเถอะ
มันไม่มีวิธีไหนที่จะทำให้เราเกิดความรู้สึกว่าง่ายจัง ดีจัง สงบจัง มันเต็มไปด้วยเครื่องรบกวนให้เกิดความกระวนกระวาย
เครื่องรบกวนให้เกิดความรู้สึกเป็นทุกข์กระสับกระส่าย
เหมือนกับที่เรานั่งกันอยู่อย่างนี้ ไม่สามารถนั่งนิ่งๆ ได้นานๆ
จากเครื่องรบกวนภายนอก แล้วก็จากเครื่องรบกวนภายในของเราเอง
คือความกระสับกระส่ายภายใน
วันนี้เรามาพูดถึงสิ่งที่จะทำให้ชีวิตมันตั้งต้นมีความสุขมาจากข้างใน
ไม่ใช่ต้องรอความสุขจากภายนอก ไม่ต้องรอความสมหวังจากภายนอกเสียก่อน
ถ้าหากว่าเรามีความสุขกับลมหายใจของตัวเองได้ มีลมหายใจแห่งความสุขได้
ความรู้สึกเป็นอันดับแรกเลย มันจะเหมือนออกมาจากป่า เหมือนกับว่าเราหลงทางกลางป่ารกอยู่
แล้วในที่สุดเราเจอทางออกเป็นทุ่งโล่งกว้าง
เจอฟ้าสว่างและในความในความโล่งกว้างนั้น มีอะไรง่ายๆ ให้ใจยึดอยู่หนึ่งเดียว
ด้วยความรู้สึกที่มันสบาย ด้วยความรู้สึกที่มันเบา
ด้วยความรู้สึกที่เหมือนกับไม่ต้องมีอะไรเพิ่มเติมมาก็ได้ ขอแค่ความรู้สึกพอใจ กับภาพโล่งๆ
ภาพกว้างๆ ภาพที่มันสว่าง ภาพที่มีอะไรอยู่อย่างเดียวให้ใจรู้สึกเป็นสุข
เอาล่ะ ถ้าฟังไปอย่างเดียวนี่
มันนึกไม่ออกหรอกว่าหน้าตาความสุขแบบนั้นมันเป็นอย่างไร เพราะฉะนั้นผมก็จะมา
วันนี้นี่นอกจากจะมาพูดถึง นอกจากจะมาพรรณนาว่า ความสุขจากลมหายใจ แบบที่พระพุทธเจ้าสอนมันเป็นอย่างไรแล้วนี่
จะได้มานำน้องๆ สามเณรให้ทำตาม พูดไปด้วยแล้วน้องฟังตามไปด้วยนี่ แล้วก็ทำไปเลย
ทำไปด้วยเลย แล้วเห็นผลเดี๋ยวนี้เลย อย่างตอนนี้กำลังดีเลยนะ
หลายคนรู้สึกตอนแรกนี่ มันมีความกระสับกระส่ายอยู่
ที่จะต้องนั่งกันอยู่แบบนี้อีกกี่วันก็ไม่ทราบ แต่ถ้าหากว่าน้องสามเณรนั่งเป็น
รู้ถึงลมหายใจที่มันทำให้เรามีความสุขได้ออกมาจากจุดตั้งต้นของชีวิต
จะนั่งแบบนี้กี่วันหรืออีกกี่เดือน หรืออีกกี่ปี เราก็จะไม่เกี่ยง
เพราะว่าลมหายใจนี่มันเป็นตัวกำหนดคุณค่าของชีวิตเราเลยทีเดียว มันเป็นความสดชื่น
ถ้าใครหายใจไม่เป็นก็สดชื่นไม่เป็น ต่อให้สมหวังอะไร ภายนอกในชีวิตเท่าไหร่
มันก็รู้สึกว่าความสดชื่นมันอยู่ไกลออกไป ความสดชื่นที่แท้จริงมันอยู่ไกลออกไป
ความแห้งแล้งมันมีมากกว่า เหมือนกับคนที่เดินทางไปท่ามกลางทะเลทราย
เจอความแห้งแล้งมากกว่าเจอโอเอซิส เจอบ่อน้ำกลางทะเลทรายนะ แต่ถ้าหายใจเป็น มันจะเหมือนกับเราแหวกว่ายอยู่ในท้องทะเล
ทะเลที่ดื่มได้ด้วย ไม่ใช่ทะเลที่เค็ม ทะเลอันเป็นทิพย์ ทะเลแห่งความสุข ทะเลที่มีแต่ความสว่าง
ทะเลที่มีแต่ความรู้สึกว่าเพียงพอ เพียงแค่อ้าปาก
เราก็จะสามารถที่จะดื่มกินได้ทันที เอาล่ะ ถ้าไม่เชื่อเรามาเริ่มกันเลย
จากที่น้องๆ กำลังนั่งกันอยู่ในท่าขัดสมาธิ เรามาตั้งต้นดูกัน
ลองนั่งหลังตรงสบายๆ แล้วก็หลับตา
ที่หลับตาก็เพื่อที่จะให้ความรู้สึกถึงลมหายใจนี่มันกระจ่างชัดขึ้น ลองทำตามดูนะ
ทำตามไป คือฟังไปด้วย ฟังโยมไปด้วย แล้วก็ปฏิบัติตามไปเพื่อที่จะได้เห็นผลว่ามันเป็นไปได้จริง
ใช้เวลาไม่กี่นาที เปลี่ยนจากป่ารกให้กลายเป็นทุ่งโล่งกว้าง แล้วก็มีความสุข
เลิกกระสับกระส่ายเสียได้ พอเราหลับตาลง เราเห็นอะไร น้องสามเณรก็คงจะพบตรงกันนะ
พบใจที่มันไม่เป็นสุข พบใจที่มันยังไม่หยุด พบใจที่มันมีความรู้สึกว่ามีแรงดันให้ฟุ้งซ่าน
มีแรงดันให้เกิดความกระสับกระส่าย
ถ้าแค่ยอมรับตามจริงว่าเรากำลังมีความกระสับกระส่ายอยู่ภายใน
ความกระสับกระส่ายนั้นมันจะแปลกไปนะ มันจะแตกต่างไป
มันจะเหมือนกับเราเห็นความจริงที่กำลังปรากฎ มันเหมือนคลื่นรบกวนอยู่ภายใน
คลื่นรบกวนที่คล้ายๆ กับไม่ยอมให้เราหยุดนิ่ง ถ้าหยุดนิ่งเมื่อไหร่มันจะมากระหน่ำ
มันจะมาโจมตี มันจะมาทำให้สะเทือน แล้วก็ไม่สามารถจะนิ่งได้ต่อ
คลื่นรบกวนแบบนี้นี่แหละที่ทำให้คนเราเป็นทุกข์กันทั้งชีวิต และคลื่นรบกวนแบบนี้นี่ ที่ทำให้เราไม่มีแก่ใจที่จะสังเกตลมหายใจอันเป็นสุข
แต่ในวาระที่ผมพูดถึงคลื่นรบกวนอันนี้ น้องหลับตาลงแล้วเห็นคลื่นรบกวนอันนี้
คลื่นรบกวนมันจะแปลกไป มันจะแตกต่างไป มันเหมือนกับว่า เออ มันมีอยู่จริงนะ
มันมีแรงผลักดันให้เรากระสับกระส่ายได้จริง
แต่มันก็มีความต่างระดับให้เราเห็นได้จริงๆ เช่นกัน
พอเราเห็นมันว่ามันเป็นคลื่นรบกวน
คลื่นรบกวนนี่ก็จะมีทั้งความเข้มข้นให้ดูเป็นบางขณะ แล้วก็ บางขณะมันจะค่อยๆ อ่อน
ค่อยๆ เบาบางลง ค่อยๆ ลดความเข้มข้นลง โดยที่เราไม่ต้องทำอะไร
เอาล่ะ ทีนี้ลองสังเกตให้มันชัดเจนกว่านั้น
คลื่นรบกวนตรงนี้บางทีมันมองยากนะ เพราะว่ามันเป็นนามธรรม
มันเหมือนกับไม่มีอะไรให้จับต้องได้ รู้แต่ว่ามันมีแรงดัน
รู้แต่ว่ามันมีความปั่นป่วน รู้แต่ว่ามันมีกระแสการรบกวน แต่ไม่รู้ว่า
จะดูหน้าดูตาของมันอย่างไร แต่สิ่งที่สามารถจับต้องได้คือร่างกายของเรานี่
นับตั้งแต่หัวจรดเท้า ไม่ว่าเราจะส่องดูตรงไหน ตรงนั้นปรากฎอยู่นิ่งๆ
คงเส้นคงวา เป็นรูปพรรณสัณฐานที่เราจะสามารถจับต้องได้ ไม่เปลี่ยนแปลง
เราก็ดูตรงนั้นก่อน นับเริ่มจากฝ่าเท้าเลยก็แล้วกัน
น้องสามเณรนั่งขัดสมาธิกันอยู่อย่างนี้ ฝ่าเท้าก็หงายขึ้นมา แต่ลองสังเกต
ฝ่าเท้าที่หงายขึ้นมันน่าจะอยู่ในอาการสบายๆ แต่ถ้าหากว่าจิตใจของเรากระสับกระส่ายอยู่ด้วยคลื่นรบกวนอยู่ตลอดเวลานี่
มันไม่ปล่อยนะ มันไม่วางสบาย มันไม่คลายออก มันจะมีอาการเหมือนคอยที่จะงุ้มเข้ามา
หรือว่ามีกล้ามเนื้อส่วนใดส่วนหนึ่งของฝ่าเท้ามันคอยจะเกร็ง มันคอยจะบีบเข้ามา (สุนัขเดินผ่านมาหยุดหน้าที่นั่งคุณดังตฤณ)
... แม้แต่หมาก็สนใจธรรมะได้นะ
เอาละลองสังเกตดู หลับตาต่อนะ ลองสังเกตดูว่าฝ่าเท้าของเรา
ถ้าหากว่ามันยังเกร็ง มันยังงอ มันยังไม่สบายอยู่
ใจของเรามันก็จะกระสับกระส่ายได้ไม่เลิก มันสัมพันธ์กันนะ
มีคลื่นรบกวนจิตใจให้กระสับกระส่าย ฝ่าเท้าเรานี่จะไม่เคยสบาย จะไม่เคยผ่อนคลายเลย
แต่พอผมมาพูดให้ฟัง ให้สังเกต ว่าฝ่าเท้าของเรานี่มันไม่ได้ผ่อนคลาย มันไม่ได้สบาย
เราก็จะเห็นได้ต่อไปว่า เออ จะมามัวเกร็งอยู่ทำไม ผ่อนคลายก็ได้ แล้วก็ผ่อนคลายแค่ฝ่าเท้าที่ผ่อนคลายออกได้อย่างสบายนี่นะ
มันจะรู้สึกโล่ง มันจะรู้สึกว่างขึ้นมา อาการโล่ง อาการว่างที่ฝ่าเท้านี่
มันมีผลให้ใจของเรารู้สึกว่างขึ้นมา พื้นจิตพื้นใจของเรามันเกร็ง
แต่ถ้าฝ่าเท้าผ่อนคลายออก พื้นจิตพื้นใจของเราก็สบายขึ้นเช่นกัน
พื้นจิตพื้นใจของเรานี่มันสะท้อนออกมาด้วยอาการทางฝ่าเท้านี่แหละ
ฝ่าเท้าเกร็ง มันก็แปลนะว่าพื้นจิตพื้นใจของเรามันเกร็ง แต่ถ้าเหมือนมีความว่าง
เหมือนมีความโล่งขึ้นมาจากเดิมที่มันเป็นป่ารกอยู่ จากเดิมที่มีแต่ความกระวนกระวาย
อยากจะกระสับกระส่าย มันกลายเป็นรู้สึกสบายๆ โล่ง ว่าง ขึ้นมา
จากนั้น สำรวจฝ่ามือของเรา มันมีอาการกำอยู่ หรือว่า มีอาการคลายอยู่
จะวางบนหน้าตักก็ได้ หรือว่าจะหงายออก ยังไงก็แล้วแต่นี่ ขอให้สังเกตดูก็แล้วกัน
บางคนฝ่ามือหงายก็จริง แต่กล้ามเนื้อฝ่ามือนี่มันเหมือนกับยังกำอยู่
มันเหมือนคนยังไม่ปล่อยนะ ตราบใดที่ฝ่ามือของเรายังมีอาการกำอยู่
อาการทางใจจะไม่มีทางปล่อย ไม่มีทางวางได้ อาการของมือนี่
มันเป็นอาการเดียวกับอาการของใจนะ ถ้าหากว่ามันคลาย ถ้าหากว่ามันสบาย
ใจมันก็ผ่อนคลาย แล้วก็สบายตามไปด้วย ถ้าทั้งฝ่าเท้า และ ฝ่ามือผ่อนคลายสบาย
เราจะรู้สึกว่า มันมีความว่างเพิ่มขึ้นมา มีความว่างเหมือนออกจากป่ารก
เหมือนออกจากอะไรที่มันยุ่งยาก เหมือนออกจากพายุที่มันหมุนอยู่ตลอดเวลา หมุนติ้วๆๆ
อยู่ตลอดเวลา กระสับกระส่ายอยู่ตลอดเวลา ให้กลายเป็นความรู้สึกว่าว่าง โล่ง สบาย
หลังจากที่เราสำรวจทั้งฝ่าเท้า
และก็ฝ่ามือมาจนกระทั่งสัมผัสถึงความว่าง รู้สึกถึงความว่างได้
เราลองมาสำรวจจุดสุดท้ายคือ บริเวณใบหน้า กล้ามเนื้อบริเวณใบหน้า นับตั้งแต่หน้าผาก
ขมับ ลงมาจนถึงแก้ม ถ้าหากว่ามีส่วนใดส่วนหนึ่ง ที่มันขมวด ที่มันเขม็งตึง
ถ้าเรารู้สึกถึงมันได้ เราคลายออก นี่ตรงนี้นะ ถึงจุดนี้ มันจะสบายทั้งหมด
เราจะรู้สึกตัวว่า อยู่ในอาการนั่ง อยู่ในอาการที่ขัดสมาธิ ทำสมาธิแบบสบายได้ เพียงแค่สังเกตสามจุดนะ
เหตุผลมันง่ายๆ นะ เพราะว่า สามจุดนี่ เป็น สามจุดหลักของร่างกายของเราที่
โยงใยเชื่อมโยงกับกล้ามเนื้อส่วนอื่นๆ ทั่วร่าง ถ้า สามจุดนี้สบายได้
กล้ามเนื้อทั่วร่างก็คลายหมด ปกตินี่ เราไม่เห็นนะ แต่เราจะมาเห็นเอาตอนนี้แหละว่า
สามจุดนี้ ผ่อนคลาย กล้ามเนื้อก็สบายทั้งตัว แต่ถ้าสามจุดนี้ จุดใดจุดหนึ่ง หรือพร้อมๆ
กันทั้งสามจุด มันมีอาการขมวด มันมีอาการเกร็ง มันมีอาการกำ มันมีอาการตึง กล้ามเนื้อส่วนอื่นๆ
ของร่างกายก็จะพลอยไม่สบายไปด้วย มีอาการเครียด มีอาการ ตึง ไปด้วย
และมีอาการอยากกระสับกระส่าย อยากขยุกขยิก แต่พอสามจุดนี่ ถูกสังเกต
แล้วผ่อนคลายได้ มันเหมือนร่างกายจะสงบไปเองโดยที่ไม่ต้องทำอะไรเลย
ไม่ต้องนั่งสมาธิ ไม่ต้องเพียรพยายาม บังคับจิตบังคับใจให้มันสงบ
ไม่ต้องไปขับไล่ความฟุ้งซ่าน ไม่ต้องไปเรียกร้องหรือว่าอธิษฐานจิตอะไรที่ไหน
นี่คือเหตุผลที่ง่ายที่สุดนะ ที่เราสามารถจับต้องได้ ร่างกายที่ไม่ถูกรับรู้
มันจะเกร็ง มันจะคอยขยุกขยิก แต่ถ้าหากว่า เราไล่สำรวจไป มันต้องตามลำดับเลยนะ
ฝ่าเท้าก่อน มาฝ่ามือ แล้วมาทั่วทั้งใบหน้า ถ้าเราเห็นมันผ่อนคลายได้
ร่างกายมันจะพร้อมเป็นสมาธิขึ้นมาโดยไม่ต้องพยายามอะไรเลย
ทีนี้พอได้ฐานที่ตั้งของความสงบขึ้นมาแบบนี้แล้ว แล้วยังไงต่อ
ถ้าเราปล่อยมันไปเรื่อยๆ นะ เดี๋ยวมันจะกลับขึ้นมาเกร็ง ขึ้นมาอีก
เดี๋ยวลองสังเกตดูสิ ฝ่าเท้ามันไม่สบายอยู่นานหรอก ใบหน้ามันไม่สบายอยู่นานหรอก
เพราะอะไร เพราะว่าคลื่นรบกวนมันคอยย้อนกลับมาอยู่ตลอดเวลา ความฟุ้งซ่าน
แรงขับดันที่มาจากภายในนี่ มันเหมือนกับระลอกคลื่น ที่ไปแล้วไม่ไปลับนะ
เดี๋ยวมันย้อนกลับมาอีก พอระลอกคลื่นความฟุ้งซ่านจากภายในมันกลับมา เราจะสังเกตได้
เห็นปฏิกิริยาที่สะท้อนออกมาทางร่างกายได้ทันทีเลยว่า
เดี๋ยวเท้ามันก็กลับมาเกร็งใหม่ เดี๋ยวมือมันก็กลับมาเกร็งใหม่
เดี๋ยวหน้าผากมันก็กลับมาขมวด มันกลับมาเขม็งตึงได้
พอเราสังเกตเห็นอย่างนี้ เราจะรู้สึกถึงความไม่เที่ยงของร่างกาย
ร่างกายนี่ไม่ใช่แสดงความไม่เที่ยงโดยการแปรรูปไปนะ
จากใบหน้าคนกลายเป็นรูปสามเหลี่ยม สี่เหลี่ยม มันไม่ใช่แบบนั้น แต่มันแสดงความไม่เที่ยงผ่านอาการเกร็งบ้าง
อาการคลายบ้างของกล้ามเนื้อนี่แหละ แล้วสิ่งที่เราจะสังเกตได้ต่อจากนั้น
ก็คือลมหายใจที่ชัดเจนขึ้น น้องๆ สามเณรคงเคยที่จะได้รับคำแนะนำให้ดูลมหายใจมา
แต่รู้สึกว่ามันเห็นได้ยาก หรือเห็นไม่ได้ เหมือนมีคลื่นความฟุ้งซ่านคอยมาเบียดเบียน
คอยมาบดบังอยู่ตลอดเวลา พยายามเท่าไหร่ ดูแล้วก็ยังไม่เห็น
หรือว่าเห็นแล้วก็รู้สึกว่ามันมีความกระสับกระส่ายมากกว่า
เหมือนกับเราลอยคออยู่กลางทะเลแล้วก็มีคลื่นซัดไปซัดมา มองอะไรไม่เห็นสักที
แต่ตอนนี้ หลังจากเราทำให้อุปสรรคมันหายไปอาการเกร็งทางการมันผ่อนคลายสบายขึ้น นี่ตรงนี้พอมาสังเกตลมหายใจอีกทีมันจะเหมือนกับว่าลมหายใจปรากฎชัดขึ้นราวกับเป็นปาฏิหาริย์เลยนะ
เหมือนกับม่านหมอก เหมือนกับคลื่นรบกวนถูกกำจัดไปได้ สิ่งที่เหลืออยู่ก็คือปรากฎการณ์ทางธรรมชาติที่มันปรากฎอยู่ตลอดเวลา
แล้วเราไม่ค่อยจะได้มีโอกาสเห็นมันชัดๆ
นี่ถ้ามันมีความกระสับกระส่ายขึ้นอีกก็ลองสำรวจดูนะ ดูจากฝ่าเท้า
ดูจากฝ่ามือ แล้วก็ดูขึ้นมาถึงใบหน้า ถ้าหากว่ามันมีความผ่อนคลาย
มันก็จะเหมือนกับมีอาการรู้สึกตัว รู้สึกถึงอิริยาบท
นั่งขัดสมาธิแบบเดิมขึ้นมาได้ใหม่ แล้วเราก็สังเกตดูว่าร่างกายนี่มันมีธรรมชาติอยู่นะ
คือ เดี๋ยวมันก็ต้องการลมหายใจ ลากเข้ามา แล้วเดี๋ยวมันก็ต้องการลมหายใจปล่อยออกไป
แล้วก็มีช่วงพัก ที่อยากจะให้ลมหายใจมันสงบ คือทั้งไม่เข้า แล้วก็ไม่ออก ลองสังเกตดูนะ
ถ้าหากว่า เราไปพยายามเร่งลมหายใจไปพยายามบังคับ ไปพยายามทำให้มันชัดเจน
เราจะรู้สึกอึดอัด เราจะรู้สึกว่ามันแน่นไปหมด พยายามลากลมหายใจให้ยาวๆๆๆ ท่าเดียว
มันจะเครียด มันจะตึง มันจะเป็นทุกข์ แต่ถ้าหากว่าเราไม่ไปเร่งมัน
เราไม่ไปอยากได้ลมหายใจ ไม่อยากได้ความสงบ
แต่อยากให้ใจของเรามีอาการสังเกตได้ว่าเมื่อไหร่ที่ร่างกายต้องการจะลากลมเข้า
เมื่อไหร่ที่ร่างกายต้องการจะระบายลมออก แค่นั้นนะ ใจจะไม่กระวนกระวาย
ใจจะไม่มีความทุกข์เลย ใจจะไม่มีความอึดอัดเลย มีแต่ความรู้ ความเห็น ที่เบา
ที่สบาย เหมือนกับร่างกายที่มันผ่อนคลายนั่นแหละ
ร่างกายผ่อนคลายความเครียดความเกร็งได้เราก็จะมีความสุข
จิตใจถ้าผ่อน ถ้าคลายจากความอยากได้มันยิ่งสุขเข้าไปใหญ่
เราไม่แม้แต่จะอยากที่จะเห็นลมหายใจนะ
แต่เราแค่สังเกตว่าเมื่อไหร่ที่ร่างกายต้องการดึงลมหายใจเข้า
เมื่อไหร่ที่ต้องการระบายลมหายใจออก เพราะธรรมชาติของร่างกายนี่พอลมมันหมดไปนี่
มันก็ต้องการที่จะดึงพลังชีวิตเข้ามาใหม่ พลังชีวิตอยู่กับลมหายใจนั่นแหละ
แล้วพอดึงเข้ามาจนสุด ก็เกิดความอึดอัด ร่างกายก็ต้องการถ่ายเทออก
มันเป็นแค่อาการพัดไหว มันเป็นแค่ธรรมชาติ ที่ไหลเข้าแล้วก็ไหลออก พอไหลออกไปจนหมด
มันก็ต้องการที่จะหยุดพักบ้าง ไม่ว่าจะดึงลมเข้า ไม่ว่าจะระบายลมออก
ไม่ว่าจะหยุดลมหายใจชั่วขณะ น้องสามเณรจะรู้สึกถึงความสุขที่เกิดขึ้นได้
ตอนเราลากลมเข้านี่นะ มันจะมีความสดชื่น ส่วนตอนระบายลมออกมันจะมีความรู้สึกผ่อนคลายความอึดอัด
แล้วตอนที่มันหยุด หยุดพักจากลมหายใจแล้วเราสามารถที่จะนั่งอยู่นิ่งๆ เบาๆ เบาๆ
ตัว เบาๆ ใจได้นี่นะ มันจะมีความรู้สึกว่า เออ ใจมันอยู่ของมันได้ด้วยความเบา
ด้วยความไม่ต้องฟุ้งซ่าน ไม่ต้องอยากอะไร แค่รู้อยู่เฉยๆ แค่รู้อยู่เบาๆ
แค่รู้อย่างสบายๆ รู้อย่างมีความรู้สึกนะว่า เรากำลังนั่งอยู่ นั่งขัดสมาธิอยู่
เห็นไหม ถ้าใครทำตามมาโดยตลอดนะ โลกภายในมันเหมือนเปลี่ยนไปนะ
มันต่างไปจากเดิมที่คล้ายเราอยู่กับป่ารกหรือว่าอยู่ท่ามกลางพายุมันเหมือนได้ออกมาสู่ทุ่งโล่ง
ที่มันมีความกว้าง ที่มันมีความสว่าง ที่มันมีความสงบเย็น
ที่มันไม่ต้องการเติมเต็มอะไรจากภายนอก มันมีความสงบอยู่แล้วที่ภายใน
นี่แค่นี้มันยังไม่ใช่สิ่งที่พระพุทธเจ้าสอนไว้ทั้งหมด เวลาท่านให้ดูลมหายใจ
ท่านไม่ใช่แค่ให้ดูนะว่ามันเข้าหรือมันออก
ท่านให้สังเกตด้วยว่าบางครั้งมันก็ต้องการ ร่างกายของเรานี่ก็ต้องการลมหายใจยาว
บางครั้งร่างกายของเราก็ต้องการลมหายใจสั้น มันขึ้นอยู่กับว่า ในขณะหนึ่งๆ นี่
ลมหายใจมันเต็มหรือยัง ถ้ามันเต็มปอดแล้วก็อยากจะได้ลมหายใจน้อยลง มันจะลากเข้าสั้นลง
แต่ถ้าหากว่ายังไม่เต็ม มันยังมีความรู้สึกสดชื่นไม่อิ่ม
ร่างกายก็จะบอกตัวเองว่าควรจะลากเข้ายาวๆ
ถ้าน้องสามเณรสามารถสังเกตความจริงตรงนี้ได้ จิตมันจะจูน (tune) ตรงกับธรรมชาติ
ภาวะทางกาย เหมือนกับเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ไม่ฝืนธรรมชาติ ในขณะเดียวกันก็รู้สึกว่ามีความกลมกลืน
เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับธรรมชาติทางกายมากขึ้นทุกที
ผลของการที่จิตมีความกลมกลืนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับกายมากขึ้นทุกทีคืออะไร
มันคือความรู้สึกว่า จิต เป็นผู้รู้ เป็นผู้ดูอยู่ คือพอเห็นร่างกายอย่างเดียวนี่
มันก็เริ่มเห็นตัวเองขึ้นมา เห็นว่าร่างกายนี่ไม่สามารถที่จะดูตัวเองได้นะ
แต่มันมีความสว่าง มันมีความสงบ ที่อยู่ภายใน อยู่เบื้องหลังของการเห็นนั่น
น้องสามเณรจะเกิดความรู้สึกขึ้นมาเป็นวาระแรกของชีวิตเลยก็ว่าได้ ว่าจริงๆ แล้วร่างกายไม่ใช่ตัวเรา
ร่างกายไม่ใช่อันหนึ่งอันเดียวกันกับจิต จริงๆ แล้วร่างกายถูกจิตรู้
ถูกจิตดูอยู่ต่างหาก ถ้าใครมาถึงตรงนี้ได้ มาถึงความรู้สึก
มาถึงประสบการณ์ที่จิต ทำตัวเป็นเสมือนหนึ่งกับผู้ดู ผู้รู้ ร่างกายอยู่เฉยๆ
โดยไม่มีความอยากเร่ง ไม่มีความอยากให้ร่างกายมันเป็นไปอย่างไรๆ
น้องสามเณรจะเกิดความรู้สึกขึ้นมาว่า นี่ ตรงนี้แหละที่พระพุทธเจ้าพยายามชี้ให้ดู
ชี้ให้เห็นว่าร่างกายเป็นเพียงสิ่งถูกรู้ จิตเป็นผู้รู้ เป็นผู้ดู และตรงนี้นะ
พอเราเห็นลมหายใจผ่านเข้าผ่านออกในร่างกายนี้ เราจะรู้แจ้งเลยว่า ที่เรียกว่า “ลมหายใจแห่งความสุข”
มันเป็นยังไง มันเป็นลมหายใจที่ผ่านเข้าผ่านออกท่ามกลางความว่าง
ว่างจากความยุ่งเหยิง ว่างจากความฟุ้งซ่าน ว่างจากความกระสับกระส่าย
เมื่อเห็นถึงความว่าง เมื่อเห็นถึงความไม่กระสับกระส่าย เห็นแค่ว่า
เออ จิตมันรู้สภาพทางกายอยู่ ว่านี่กำลังนั่ง เดี๋ยวก็เกร็ง เดี๋ยวมันก็คลาย เดี๋ยวก็มีลมหายใจเข้า
เดี๋ยวมันก็มีลมหายใจออกอยู่ มันจะเกิดสติแบบที่มีปัญญาประกอบ
มันจะรู้สึกว่าลมหายใจนี่ไม่เที่ยง มันจะรู้สึกว่าภาวะทางกายนี่ไม่เที่ยง
และแม้แต่ภาวะของจิตเอง บางครั้งมันก็สงบโล่งๆ สบายๆ มีความสว่าง มีความเย็น
บางครั้งมันก็มีความกระสับกระส่าย เต็มไปด้วยความร้อนรนกระวนกระวาย
การเห็นความจริงมันไม่ใช่สิ่งที่น่ารังเกียจ
แม้กระทั่งตอนที่เรารู้สึกฟุ้งซ่านกระวนกระวายนะ
สิ่งที่ได้รับคำแนะนำกันมาตลอดชีวิตก็คือพยายามอย่าฟุ้งซ่าน
ซึ่งเป็นคำแนะนำที่ไม่ถูกนะ การพยายามบังคับตัวเองให้ไม่ฟุ้งซ่านทั้งๆที่มีแรงผลักดันให้ฟุ้งซ่านอยู่
คือการต่อสู้กับสิ่งที่ไม่สามารถเอาชนะได้ แต่ถ้าหากว่า
เรารู้จักที่จะหายใจอย่างมีความสุข เรารู้จักความไม่อยากที่จะให้มันสงบ
แค่อยากที่จะเฝ้าสังเกตว่าเมื่อไหร่ลมหายใจเข้า เมื่อไหร่ลมหายใจออก เมื่อไหร่ที่ลมหายใจควรจะยาว
เมื่อไหร่ที่ลมหายใจควรจะสั้น
การรู้จักภาวะสังเกตตรงนั้นแหละที่จะทำให้ความฟุ้งซ่านมันระงับหรือล่องหนหายตัวไป
เว้นวรรคไปนานเลย โดยที่เราไม่ต้องเรียกร้องนะ
ตรงนี้ก็จะทำให้เราพบกับความจริงว่า ถ้าสร้างเหตุถูก
ถึงแม้ไม่เรียกร้องผล มันก็ได้ผลอยู่ดี แต่ถ้าหากว่าสร้างเหตุผิด
แม้ว่าจะเรียกร้องผลเท่าไหร่ๆ อย่างไร ผลก็ไม่ปรากฎ ผลก็ไม่บังเกิด
เหมือนกับเราเรียกร้องว่าจะทำอย่างไร ถึงจะไม่ฟุ้งซ่าน
แต่ไปอยากไม่ฟุ้งซ่านอยู่อย่างนั้น ต้นเหตุของความฟุ้งซ่านมันก็เกิดไม่เลิก
เพราะว่าความอยากนั่นน่ะ ต้นเหตุความฟุ้งซ่านที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า
ต้นเหตุของทุกข์คือตัณหา คือความทะยานอยาก อยากจะเอาโน่น อยากจะเอานี่ ตัวนั้นแหละ
ที่เป็นต้นกำเนิด ที่เป็นแม่ของความทุกข์ ต่อเมื่อเราเห็นว่าความอยากหน้าตามันเป็นยังไง
มันมีอาการแล่นทะยาน มันเป็นต้นเหตุของความทุกข์แล้วเราเลิกอยากเสียได้
สังเกตเห็นแต่ความจริง ตอนนี้จิตสงบหรือไม่สงบ ยอมรับไป
ฟุ้งซ่านหรือไม่ฟุ้งซ่านยอมรับไป แล้วก็สังเกตว่าลมหายใจกำลังเข้าหรือกำลังออก
กำลังยาว หรือกำลังสั้นเอาแค่นั้น ความสงบมันเกิดขึ้นได้เอง
ความเบาสบายมันตามมาเองเป็นเงา โดยที่ไม่ต้องเรียกร้องเลยแม้แต่นิดเดียว
ลมหายใจที่มีความสุข
ไม่ใช่ลมหายใจที่เราจะต้องนั่งหลับตาแล้วก็เห็นมันอย่างเดียว แต่ลมหายใจของความสุขนี่เกิดขึ้นได้ทุกครั้งที่เราสังเกต คีย์เวิร์ด (keyword) มันอยู่ตรงนี้
ถ้าหากว่าเราสังเกตเราจะมีสติ ถ้าหากว่าเรารับรู้ พยายามที่จะรับรู้ แล้วก็ไม่ปล่อยสติให้มันหลงไป
ความสุขความเย็นมันจะเกิดขึ้นเป็นเงาตามตัว ติดตามเราไป
การที่เราไม่มีความสุขในชีวิต บางครั้งเราต้องโตสักนิดหนึ่งเราถึงจะเห็นนะว่า เป็นเพราะเราเรียกหาความสุขผิดที่
เราไปเอาความสุขจากภายนอก เราไปเอาความสมหวัง หรือตั้งความหวังไว้กับโลกภายนอก
แต่โลกไม่เคยตามใจเรา โลกภายนอกนี่ส่วนใหญ่นะ เขาจะขัดใจเรา
ไม่ว่าน้องสามเณรจะโตขึ้นไปสักแค่ไหน เราก็จะเห็นความจริงประจำโลกอยู่อย่างนั้นว่า
ถ้าตั้งความหวังกับโลกภายนอกไว้เมื่อไหร่ เมื่อนั้นโลกจะพยายามบอกเราว่า
เขาไม่พยายามที่จะตามใจเรา เราต่างหากที่จะต้องพยายาม ที่จะเห็นความจริงของโลก
แล้วถ้าหากว่าเราไม่สามารถที่จะเห็นความจริงภายในตัวของเราเองได้
เราก็จะไม่สามารถปรับจิต ปรับใจให้ไปเห็นโลกภายนอกตามจริงได้เช่นกัน
พระพุทธเจ้าท่านตรัสนะ คำสอนของท่าน ให้เห็นตามจริง ไม่ว่าจะเป็นโลกภายในหรือว่าโลกภายนอก
ถ้าหากว่าเราสามารถที่จะเห็นโลกความจริงภายในซึ่งมันง่าย
อย่างเช่น หายใจเข้า หายใจออก มันน่ายอมรับนะ มันไม่น่าปฏิเสธ ความสามารถในการยอมรับความจริงมันจะค่อยๆ
แข็งแรงขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งเราสามารถที่จะยอมรับความจริงที่ไม่น่ายอมรับ ของโลกภายนอกได้ด้วย
แต่ถ้าหากเราไม่มีความเข้มแข็งมากพอที่จะยอมรับความจริงภายใน
แม้กระทั่งความจริงภายในของเรา เรายังไม่สามารถยอมรับได้
ยิ่งเราใช้ชีวิตไปมากขึ้นเท่าไหร่
เราก็จะยิ่งเห็นว่าความจริงที่ปรากฎอยู่ประจำโลกไม่สามารถเป็นที่ยอมรับ
ไม่น่ายอมรับมากขึ้นเท่านั้น ถ้าหากว่าเราเห็นความจริงภายใน อันได้แก่ลมหายใจอันปรากฎขึ้นมา
เดี๋ยวเข้าเดี๋ยวออก เดี๋ยวยาวเดี๋ยวสั้น มีความสดชื่นบ้าง มีความรู้สึกหยาบๆ
แห้งๆ แล้งๆ บ้าง แล้วเรายอมรับได้ทุกระลอกลมหายใจ ในที่สุดสติที่มันเกิดขึ้น
สติที่เกิดจากการฝึกยอมรับความจริงภายในมันจะทำให้เราสามารถยอมรับความจริงภายนอกได้ด้วย
อย่างบางทีนี่ เดี๋ยวพอเราไม่ได้เป็นสามเณรกันแล้ว
เราออกไปเผชิญโลกภายนอก แล้วก็จะต้องมาเป็นทุกช์กับการเรียน เป็นทุกข์กับการสอบ
เป็นทุกข์กับผลที่ได้อย่างใจบ้าง ไม่ได้อย่างใจบ้าง ป็นทุกข์กับเพื่อนๆ
ที่เอาแน่เอานอนไม่ได้ เดี๋ยวบางวันก็ทำตัวเป็นเพื่อน
เดี๋ยวบางวันก็ทำตัวเป็นศัตรู หรือจะออกไปมีแฟน บางวันก็เหมือนกับเป็นของเรา
บางวันก็เหมือนกับเป็นตัวของเขาเอง บางวันก็เหมือนกับเป็นของคนอื่น
สิ่งเหล่านี้เป็นความจริงประจำโลกที่ไม่ค่อยน่ายอมรับ
และเราก็ไม่ค่อยฝึกที่จะยอมรับกันตามจริงจนกว่าเราจะเริ่มมาฝึกที่จะยอมรับความจริงจากภายในของเราเอง
เมื่อเราฝึกยอมรับความจริงจากภายในของเราเองได้
สิ่งที่มันเกิดขึ้นในโลกภายนอก มันก็ไม่ต่างกันไปเท่าไหร่หรอก
มันเกิดขึ้นแล้วเดี๋ยวมันก็หายไป ไม่ต่างจากลมหายใจที่เข้ามาแล้วก็ออกไป
ไม่ต่างจากลมหายใจที่เดี๋ยวมันก็ต้องยาว เดี๋ยวมันก็ต้องสั้น
สติของเราที่ทำตัวเป็นผู้รู้ ผู้ดูอยู่ ผู้เห็นอยู่ ตัวนี้แหละ
ยิ่งเข้มแข็งขึ้นเท่าไหร่ ยิ่งแข็งแรงขึ้นเท่าไหร่มันก็ยิ่งสามารถ
มีความสามารถที่จะต้อนรับความจริงกับโลกภายนอกได้มากขึ้นเท่านั้น
นี่แหละลมหายใจของความสุข นี่แหละลมหายใจที่มันจะทำให้เกิดสติเห็นความจริง
นี่แหละลมหายใจที่จะทำให้ชีวิตเราที่เหลือมันเกิดปัญญา มันเต็มไปด้วยความเข้าใจ
มันเต็มไปด้วยความเห็นจริง ไม่ใช่เห็นตามใจอยาก
ถ้าน้องสามเณรสังเกตได้นะว่าลมหายใจที่มันเข้า ที่มันออกอยู่นี้นี่
บางครั้งเราก็ไม่อยากให้มันเป็นไปอย่างนั้นนะ ยกตัวอย่างเวลา มีลมหายใจเข้า
มีลมหายใจออก ทั้งๆ ที่กำลังมีความร้อน มีความรู้สึกกระสับกระส่าย อยากขยุกขยิกนี่
ลมหายใจแบบนั้นไม่น่ายอมรับ ไม่น่าที่จะเป็นของเราเลย
แต่ถ้าหากว่าเรามีความรู้สึกตัวขึ้นมาว่า เออ นี่ เรากำลังกระสับกระส่าย แล้วลมหายใจมันเป็นลมหายใจแห่งความทุกข์
เราลากเอาความสุขเข้ามาตามลมหายใจระลอกต่อไป ลมหายใจนั้นจะทำให้ชีวิตมันรื่นรมย์ขึ้น
ลมหายใจนั้นจะทำให้ชีวิตมันมีความสุขมากขึ้น ลมหายใจนั้น
มันจะทำให้เราอยู่กับความจริง โดยไม่ไปขัดแย้ง โดยไม่ไปโต้เถียงกับความจริงมากขึ้น
เอาล่ะ ก็คือถ้าฟังอย่างเดียวบางทีมันอาจจะ
ประสบการณ์ที่เราเห็นลมหายใจ หรือว่านี่ที่ฝึกมาหลายๆ วันนี่นะ
บางทีมันอาจจะมีคำถาม มันอาจมีข้อสงสัย นี่เหลือเวลาเท่าไหร่ เอาอย่างนี้ก็แล้วกัน
ลมหายใจแห่งความสุขนี่ เป็นสิ่งที่ไม่สามารถจะพูดเอาฝ่ายเดียวนะ ถ้าหากว่า น้องเณร
มีข้อสงสัยหรือว่ามีข้อข้องใจเกี่ยวกับเรื่องของการเจริญสติ การปฏิบัติ
จะเกี่ยวกับเรื่องของการนั่งสมาธิ หรือการเดินจงกรมก็แล้วแต่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อกี้นี่ที่ผมพูดไป
เกี่ยวกับเรื่องของการรู้สึกถึงลมหายใจที่มีความสุขนี่นะ
อยากจะถามอะไรก็ถามมาก็แล้วกัน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น