วันอาทิตย์ที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2557

ลมหายใจแห่งความสุข (ถาม-ตอบ)


คุณดังตฤณ บรรยายธรรมหัวข้อเรื่อง “ลมหายใจแห่งความสุข” ณ ไร่เชิญตะวัน จ.เชียงราย : ช่วง ถาม - ตอบ

๑๑ เมษายน ๒๕๕๖
สามเณร: ช่วยยกตัวอย่างการยอมรับความจริงภายในอีกทีให้หน่อยครับ

ดังตฤณ: เราควรจะพูดถึงการไม่สามารถจะยอมรับความจริงภายนอกก่อนนะ ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเราหวังจะสอบได้ที่หนึ่ง แล้วมันไม่ได้ที่หนึ่ง คนอื่นได้ที่หนึ่งไป ความจริงนั้นมันจะรบกวนจิตใจเราไม่เลิก มันจะย้ำคิด แล้วก็ เหมือนถามตัวเองว่า ทำไมๆๆ เราพยายามแล้วมันถึงไม่ประสบความสำเร็จ ความจริงแบบนั้น ถามว่า ยากหรือง่าย ที่จะยอมรับ มันยาก ถูกมั้ย เพราะว่าใจของเรา มันตั้งความหวัง มันตั้งเป้าไว้เต็มที่เลยว่า จะเอาที่หนึ่งให้ได้ แต่มันไม่ได้ขึ้นมานี่ มันยากที่จะยอมรับเพราะว่าใจของเรามันตั้งเป้าไว้ก่อนว่าจะเอาให้ได้ มันจะเหมือนกันเลยนะ สภาพจิตสภาพใจแบบนี้ ที่มันมีความทุกข์แบบนี้นี่ เวลาโตขึ้นไปเราอยากได้งานแบบหนึ่งแล้วมันไม่ได้ หรือว่า อยากได้ตำแหน่งแบบหนึ่งแล้วมันพลาดไป คนอื่นได้แทน มันทุกข์ยิ่งกว่าตอนที่เรากำลังเรียน แล้วอยากได้ที่หนึ่ง แต่ไม่ได้เสียอีก แล้วความจริงที่มันปฏิเสธ ที่มันขัดแย้งกับความอยากของเราภายในแบบนี้ มันเกิดขึ้นได้ทั้งชีวิต

แต่ทีนี้ ถ้าหากว่า เรามาเปลี่ยนเป้าหมายใหม่ สิ่งที่เราอยากได้ สิ่งที่เราประสงค์จะได้นะ ไม่ใช่สิ่งที่เราอยาก ขอโทษนะ สิ่งที่เราต้องการ คือการที่จะยอมรับความจริง ว่า ลมหายใจมันกำลังเข้า หรือมันกำลังออกอยู่ อันนี้มันจะทำได้ง่าย เพราะอะไร เพราะได้รู้ว่า ลมหายใจเข้า หรือลมหายใจออกนี่ มันไม่เท่ มันไม่ต้องไปแข่งกับใคร มันไม่ต้องไปปักใจยึดไว้ว่า หายใจเข้า หรือหายใจออกแล้ว มันจะได้ประโยชน์อะไร คือลมหายใจนี่เป็นสิ่งที่ ปรากฎอยู่แล้วตลอดชีวิต ลมหายใจเป็นสิ่งที่ทุกคนก็มี ไม่ต้องแข่งขันกัน มันเลยเป็นสิ่งที่ยอมรับได้ง่าย แต่สิ่งที่ยอมรับได้ง่าย ที่มันปรากฎอยู่ตลอด ๒๔ ชม. นี่แหละ ถ้าหากว่าเราสังเกต เราคอยตามรู้ตามดูมันอยู่ ไม่เลิก ผลจะเป็นยังไง ผลคือ จิตใจที่มันมีความเข้มแข็งขึ้น มันมีสติดีขึ้นไง มันสามารถยอมรับตามจริงได้ตลอดเวลาว่า กำลังเกิดอะไรขึ้น ตัวความสามารถที่จะยอมรับความจริงที่กำลังปรากฎอยู่ตลอดเวลานั่นน่ะ ตัวนั้นแหละที่มันเอาไปใช้ ยอมรับความจริงที่ไม่น่ายอมรับประจำโลกได้ ไม่ว่าจะโตขึ้นไปแค่ไหน ไม่ว่าจะแก่ตัวลงไปปานใด ความสามารถทางจิตของเราจะเหมือนเดิม พูดง่ายๆ นะ ลมหายใจ เป็นสิ่งที่ไม่ต้องแข่งขันกัน ลมหายใจเป็นสิ่งทีไม่ได้ให้คุณให้โทษกับเราทันที เพราะฉะนั้นถ้ายอมรับมันแค่ยอมรับว่า เข้าหรือออกนี่ มันง่าย แล้วมันก็ปรากฎอยู่ตลอดเวลาให้เราฝึก ตลอด ๒๔ ชม. แต่เราไม่ฝึก เพราะว่าเราหลงอยู่ในป่า ป่าของความอยาก ป่าของความทะยาน ป่าที่มันเต็มไปด้วยความรก ด้วยกิเลส เราไม่ค่อยรู้จักทุ่งกว้าง ทุ่งโล่งของความไร้กิเลสกัน พอมันไม่มีตัวอย่าง มันก็เลยไม่เกิดแรงบันดาลใจว่า จะรู้ลมหายใจไปทำอะไร

แต่คนที่ฝึกสังเกตลมหายใจ ฝึกที่จะรู้ตามที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ คือให้เห็นว่ากำลังเข้า หรือกำลังออก กำลังยาว หรือกำลังสั้น รู้ไปเรื่อยๆ แค่นี้ มันจะเกิดความรู้อีกแบบหนึ่งขึ้นมา ความรู้ที่ประกอบอยู่ด้วยสติ และ ปัญญา เห็นว่าลมหายใจมันไม่เที่ยงจริงๆ และถ้าลมหายใจมันไม่เที่ยง อะไรภายนอกตัวล่ะที่จะเที่ยง มันจะรู้สึกขึ้นมาจริงๆ ว่า เราเห็นความไม่เที่ยงภายในอยู่ตลอดเวลานี่ มันก็สามารถยอมรับความจริงอันไม่เที่ยงภายนอกได้ด้วย เข้าใจนะ

เดี๋ยวถ้ายังข้องใจ ถามต่อว่า เมื่อกี้ผมตอบคำถามของเณรถูกไหม คือ เรื่องการยอมรับความจริงภายใน ทำไมถึงต้องยอมรับความจริงภายใน และการยอมรับความจริงภายในมันหมายถึงอะไร พูดง่ายๆ ก็คือ เราเห็นว่าเกิดอะไรขึ้นนั่นเอง แล้วมันง่ายที่จะยอมรับไง อาการยอมรับ คืออาการที่มันตรงกับธรรมชาติที่เกิดขึ้น แต่เวลาที่เราอยากอะไร แล้วมันไม่สมอยาก เราไปรู้ความจริงภายนอกนี่มันยาก มันจะมีอาการต่อต้านจากข้างในว่า ไม่อยากยอมรับ เคยเห็นไหม นักกีฬาที่เช่น ที่ชกมวยกัน ชกแพ้ไปแล้ว แต่ว่าไม่อยากยอมรับ อยากจะเป็นคนชนะ หรือว่า ที่เล่นกีฬากันในโรงเรียนของเรา ข้างหนึ่งชนะ ได้ชัยชนะไปแล้ว แต่อีกข้างหนึ่งไม่อยากยอมรับว่า ข้างนั้นเขาชนะ  มันมีความคาบเกี่ยว มันมีความล้ำเหลื่อมกันอยู่นิดๆ หน่อยๆ ไอ้ความรู้สึกไม่อยากจะแพ้นั่นน่ะ มันเป็นความรู้สึกที่ยาก ที่จะอยากยอมรับ ถูกไหม มันแตกต่างจากลมหายใจที่ทุกคนมีเข้ามีออกอยู่ตลอดเวลา มันยอมรับง่ายกว่า เพราะฉะนั้นเวลาที่เราจะเริ่มฝึกยอมรับตามจริง จึงควรที่จะฝึกเข้ามายอมรับความจริงภายใน ไม่ใช่ฝึกยอมรับความจริงภายนอกซึ่งมันยาก และไม่อยากจะฝืนใจยอมรับ คนชนะมีอยู่ได้แค่คนเดียว มีอยู่ได้แค่ข้างเดียว แต่ลมหายใจ มีกันอยู่ได้ทุกคน ก็คิดกันเอาเองว่า ทำไมมันถึงยอมรับได้ง่ายกว่า

สามเณร: จะลดความฟุ้งซ่านของตัวเองได้อย่างไรครับ

ดังตฤณ: พอเราตั้งต้นที่จะพยายามเอาชนะความฟุ้งซ่านนะ มันจะเกิดความฟุ้งซ่านแบบใหม่ขึ้นมาทันที ทันทีที่เราอยากนะ น้องเณรลองนึกดู ทบทวนดู ทุกครั้งที่เราเกิดความรู้สึกว่า อยากจะสงบจัง อยากจะเอาชนะความฟุ้งซ่านจัง มันจะเกิดความฟุ้งซ่านว่า ทำยังไงดี ขึ้นมาแทน แทนที่ความฟุ้งซ่านเก่านะ สมมติเรากำลังฟุ้งซ่านเรื่องเพื่อน สมมติว่าเรากำลังฟุ้งซ่านเรื่องกำลังไม่อยากอ่านหนังสือ สมมติว่าเรากำลังฟุ้งซ่านเรื่องทำไมพ่อแม่ไม่เข้าใจเรา ไม่ว่าเรากำลังจะฟุ้งซ่านเรื่องอะไรอยู่ก็ตาม ความฟุ้งซ่านนั้นรบกวนจิตใจเรามากพออยู่แล้ว แต่พอเราไปตั้งความอยากที่จะเลิกฟุ้งซ่าน อยากให้ความฟุ้งซ่านมันระงับลงไป แล้วทำไม่ได้ สิ่งที่จะเกิดขึ้นเป็นธรรมดา แทนที่ความฟุ้งซ่านเก่า ก็คือ ความฟุ้งซ่านว่าทำยังไงดี จึงจะหายฟุ้งซ่านได้

เห็นไหม ตัวความอยากมันไม่ได้หายไปไหน ความฟุ้งซ่านมันก็ยังอยู่ที่เดิมอยู่นั่นเอง เพียงแต่มันเปลี่ยนเรื่อง เปลี่ยนจากเรื่องคนอื่นไม่เข้าใจเรา เปลี่ยนจากเรื่องขี้เกียจอ่านหนังสือ เปลี่ยนจากเรื่องว่า ทำไมคนนั้นคนนี้เขาเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ เปลี่ยนจากเรื่องข้างนอกมาเป็นเรื่องข้างใน แต่ตัวความฟุ้งซ่านนี่เหมือนเดิม เข้าใจไหม คือเหตุแห่งความฟุ้งซ่านอาจต่างไป แต่ตัวความฟุ้งซ่านยังเท่าเดิม

สามเณร: คือบางครั้งตอนที่จะนั่งสมาธิแล้วพอฟุ้งซ่านมันเกิด และอยากให้มันลดความฟุ้งซ่าน แต่กลับว่าความฟุ้งซ่านมันมากกว่าเดิม

ดังตฤณ: นั่นแหละที่ผมพูด เห็นไหมเพราะความอยากจะหาย อยากจะให้ความฟุ้งซ่านมันหายไป ตัวความอยากนะ ก่อความกระวนกระวายแบบใหม่ขึ้นมา มันไม่ได้ทำให้ความฟุ้งซ่านแบบเก่าหายไป วิธีที่เราจะทำให้ความฟุ้งซ่านมันหายไปอย่างถูกต้อง ก็คือ เวลาเรานั่งสมาธิอยู่ รู้สึกว่าความฟุ้งซ่านมันตีขึ้นมา รู้สึกว่าความฟุ้งซ่านมันเหมือนคลื่นรบกวนที่มันแน่นขึ้นมา มันมีความวนไปวนมาอยู่ในหัว มันมีความวนไปวนมาอยู่ในอก แทนที่เราจะไปอยากหายฟุ้งซ่าน ลองยอมรับมันว่ามันฟุ้งซ่านอยู่ ยอมรับเพื่ออะไร เพื่อจะได้เห็นว่าคลื่นความฟุ้งซ่านหน้าตามันเป็นยังไง มันแรง หรือว่ามันเบา มันเข้มข้น หรือว่ามันเบาบาง คือยอมรับตามที่มันกำลังปรากฎอยู่จริงๆ นั่นแหละ อย่าไปดูว่ามันกำลังฟุ้งซ่านเรื่องอะไร แต่ดูว่ามันกำลังมีคลื่นอะไรปั่นป่วนอยู่ในหัวเรา มันมีอะไรเข้มๆ มันมีความรู้สึกเหมือนกระวนกระวายอยู่ แล้วเราแค่ยอมรับมัน ไม่ได้ไปอยากให้มันหายไปนะ แค่ยอมรับว่ามีลักษณะความฟุ้งซ่านระดับนี้เกิดขึ้นมา ที่ลมหายใจนี้ มันแรงแค่นี้ อีกลมหายใจหนึ่งต่อมา เราสังเกตดูอีกครั้งหนึ่ง จะพบด้วยความประหลาดใจนะว่า ความฟุ้งซ่านระดับเดิมมันเบาลง แต่ถ้ามันไม่เบาลง มันกลับแรงขึ้นอีก เราก็ยอมรับอีก ยอมรับว่ามันเปลี่ยนแปลงไปในทางที่แย่ลง ไอ้อาการยอมรับที่มันเกิดขึ้น ยอมรับว่ามันแรงขึ้น ยอมรับว่ามันเบาลง ตัวนี้แหละที่เรียกว่า “สติ” คำว่า “สติคือการยอมรับสภาพที่กำลังปรากฎอยู่ตามจริง ไม่ใช่ไปพยายามฝืนต่อต้านมัน

เมื่อไหร่ที่เราไปพยายามฝืนต่อต้านความจริง เมื่อนั้นมันจะเกิดความกระวนกระวายที่ความจริงไม่อาจเกิดตามใจเราได้ แต่เมื่อไหร่ที่เรากำลังสังเกตความจริง ยอมรับความจริง เมื่อนั้น ใจมันจะเกิดความรู้สึกว่า เออ เราเห็นนะ เราสามารถที่จะอยู่กับมันได้นะ อยู่กับความเปลี่ยนแปลง มันไม่ได้ฟุ้งซ่านอยู่ตลอดเวลาหรอก ชั่วขณะที่เราไม่ไปอยากให้มันสงบนี่ มันค่อยๆ สงบลงเองอยู่แล้ว มันค่อยๆ เปลี่ยนแปลงไปอยู่แล้ว เข้าใจพอยต์ (point) นะ

จุดแตกต่างมันมีอยู่แค่นี้เอง เปลี่ยนจากความอยากให้ฟุ้งซ่านนี่มันหายไป เป็นเห็นว่าความฟุ้งซ่านมันกำลังมีอยู่ และมีอยู่ในระดับใด มากหรือว่าน้อย อาศัยลมหายใจขณะนี้เป็นตัวตัดสิน ลมหายใจนี้มันแรงมาก เรายอมรับตามจริงไปว่าฟุ้งซ่านแรง ลมหายใจต่อมามันฟุ้งซ่านเบาบางลง เราก็เห็นว่ามันเบาบางลง ตัวความเห็น ตัวความสามารถที่จะเห็น ตัวความสามารถที่จะรู้ความจริงนั่นแหละ ที่จะทำให้ความฟุ้งซ่านมันค่อยๆ แสดงความไม่เที่ยง มันจะหายไปหรือไม่หายไป เราไม่สนใจ เราสนใจแต่ว่า เราจะเห็นความจริงเกี่ยวกับ ระดับความเข้ม ความอ่อนของความฟุ้งซ่านเท่านั้น ตัวความสามารถในการเห็นมันจะพัฒนาเป็นสติ ตัวสติที่เกิดขึ้นจะทำให้ความฟุ้งซ่านมันเบาบางหรือเว้นวรรคห่างออกไปเอง โดยที่เราไม่ต้องไปพยายามระงับหรือกดข่มมัน เข้าใจนะ

บางทีมันมีความพยายามกันทั้งชีวิตนะ ที่จะทำความฟุ้งซ่านให้หายไป ผมเคยไปเจอผู้บริหารระดับสูงเลยในองค์กรที่ใหญ่ระดับประเทศ ทุกองค์กร จะมีความอยากที่ตรงกันกับที่น้องเณรถามนี่แหละว่า ทำอย่างไรความฟุ้งซ่านมันจะหายไปจากหัว ทำอย่างไรใจถึงจะสงบ ถึงแม้ว่าจะประสบความสำเร็จในชีวิต คือสามารถสร้าง ช่วยกันสร้างองค์กรระดับที่เป็นเบอร์หนึ่งของประเทศได้ สามารถที่จะทำให้เม็ดเงินที่หมุนเวียนในองค์กร มีวันหนึ่งเป็น ไม่รู้กี่ร้อย กี่พันล้าน เอาชนะคนอื่นได้หมดแล้ว แต่ไม่สามารถเอาชนะความฟุ้งซ่านของตัวเองได้ เพราะว่าสั่งสมเหตุของความฟุ้งซ่านมาเยอะ

จริงๆ แล้วเราพูดกันทั้งหมดนี่นะ เป็นแค่เรื่องของการเจริญสติ หรือว่าการทำให้สติมันเกิดขึ้นโดยอาศัยลมหายใจเป็นตัวตั้ง ต้นเหตุของความฟุ้งซ่านที่แท้จริงมันไม่ได้ถูกกำจัดไปด้วยการภาวนาอย่างเดียวนะ มันเกิดจากการใช้ชีวิตอย่างถูกต้องด้วย ถ้าหากว่าเราใช้ชีวิตผิดพลาด เหมือนกับคนอื่นๆ ในโลก ถึงแม้ว่าจะประสบความสำเร็จไปแค่ไหน ประสบการณ์ทางใจเราจะเหมือนเดิม เราจะไม่โตขึ้นจากเดิม เราจะเหมือนเด็กน้อยที่เรียกร้อง อยากได้โน่น อยากได้นี่ไม่มีที่สิ้นสุด แล้วก็หาความสงบไมได้ ไม่ว่าจะโตไปแค่ไหนก็ตาม

แต่ถ้าหากว่าเรามีโอกาสอันดี ได้รู้จักธรรมะของพระพุทธเจ้าตั้งแต่อายุยังน้อย แล้วก็ใช้ชีวิตออกมาจากมุมมองภายในที่ถูกต้องได้ โตขึ้นต่อให้เราประสบความล้มเหลวทางธุรกิจ หรือว่าเป็น จะแพ้กี่ครั้ง จะล้มกี่หน มุมมองภายในที่ตั้งไว้ถูกต้องแล้ว ก็จะช่วยให้เราไม่ล้มจริง ไม่แพ้จริง แต่จะมีความรู้สึกเป็นสุขอยู่ตลอดเวลาในฐานะผู้แพ้ที่พร้อมจะกลับมาชนะใหม่ มีความสุขอยู่ตลอดเวลาในฐานะผู้ล้ม ที่พร้อมจะลุกขึ้นยืน ไม่ใช่ผู้ล้มที่พร้อมจะฟุบไปเลย

กับแค่มุมมองที่่ว่าทำอย่างไรจะหายฟุ้งซ่านได้ ถ้าเรามองตรงนี้ผิดนะ ถ้าเรายังมีความอยากจะหายฟุ้งซ่านอยู่ไม่เลิก ชีวิตที่เหลือของเราก็จะเหมือนกัน มันจะมองผิด มันจะมองแบบที่ คือ อยากในสิ่งที่มันไม่มีทางเป็นไปได้ อยากได้ในสิ่งที่มันไม่มีทางได้ อยากให้อะไรเกิดทั้งที่มันไม่สามารถจะเกิด อยากให้อะไรกลับมาทั้งที่มันไม่สามารถจะกลับมา เคยเห็นคนที่ร้องไห้เศร้าโศกกับการจากไปของญาติใช่ไหม เคยเห็นคนที่เศร้าโศกกับการที่ได้พ่ายแพ้ หรือว่าหมดตัว หรือว่าสูญเสียอะไรบางอย่างไปที่ตัวเองรัก ใช่ไหม พวกเขาอยากได้อะไรดีๆ กลับคืนมา แค่ตั้งมุมมองไว้แบบนั้นมันก็ผิดแล้ว แต่ก็เต็มใจผิดกันอยู่นั่นแหละ เต็มใจหวงเหตุของทุกข์กันอยู่นั่นแหละ

การที่เราเป็นสามเณร การที่เรามาบวช การที่เรามาได้บรรพชา ในแนวทางของพระพุทธเจ้านะ ควรจะเป็นโอกาสอันดีที่เราได้เห็นชีวิตออกมาจากจุดเริ่มต้นเลยว่า มองวิธีคิดได้ถูก ชีวิตที่เหลือมันจะถูกหมด มองต้นเหตุของความสุขได้ออก อ่านเกมชีวิตได้ขาด มันก็จะมีความสุขไปทั้งชีวิต จุดเริ่มต้นแค่ ๙ วันนี่ มันอาจมีความหมายไปอีก ๙๐ ปี ถ้าหากว่าเราจะมีชีวิตไปถึงขนาดนั้น แต่ถ้าหากว่า ๙ วันนี้เราไม่สามารถที่จะตั้งมุมมองอันเป็นเหตุเป็นผลของความสุขได้ ชีวิตที่เหลือมันก็ยาก เพราะอะไร เพราะว่า พอน้องเณรโตขึ้นไปนะ จะมีแต่คนสอนว่า ทำยังไงถึงจะสอบให้ติด ทำยังไงถึงจะเอาชนะคนอื่นให้ได้ ทำยังไงถึงจะได้ตำแหน่งโน้น ทำยังไงถึงจะได้เงินเดือนเท่านี้ ทำยังไงถึงจะประสบความสำเร็จ มีสิบล้าน ร้อยล้าน ก่อนอายุสามสิบ ก่อนอายุสี่สิบ แต่ไม่ค่อยมีคนสอนว่าทำยังไงมองอย่างไร มันถึงจะมีความสุขออกมาจากข้างในได้

นี่คือโลกความจริงนะ นี่คือโลกนอกวัด ออกจากวัดนี้ไปจะไม่มีใครพูดถึง ว่าทำยังไง มองออกมาจากมุมมองภายในอย่างไร ถึงจะมีความสุขได้ แล้วเราก็จะหลง ใช้ชีวิตไปแบบคนที่มันหลงทางกลางป่ารก ป่ารกที่มันปรากฎอยู่ทางใจ ปรากฎอยู่ในใจให้รู้สึกได้อยู่ตลอดเวลานี่แหละ จะไม่ค่อยมีใครที่จะชวนเราออกทุ่งโล่ง ทุ่งกว้าง เพราะฉะนั้น ก็เป็นโอกาสอันดีนะ เก้าวันน้องๆ จะได้ตื่นรู้ ไม่ใช่แค่คำเท่ๆ แต่มันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้จริง ว่านี่คือสถานที่ที่มาจากพระพุทธเจ้า ที่มาจากคนที่รู้ดีที่สุด รู้ดีว่าจะออกจากป่ารกได้อย่างไร แล้วก็มีพระอาจารย์ มหาวุฒิชัยวชิรเมธี ที่ท่านได้ยังคงรักษาแนวทางคำสอนที่พระพุทธเจ้าประทานไว้ ก็ถือเป็นโอกาสอันดีแล้วนะ เอาล่ะใครมีคำถามอะไรอีกไหม

สามเณร: ที่เมื่อกี้พูดว่าชีวิตที่ถูกต้อง หมายความว่าอย่างไรครับ

ดังตฤณ: ตามหลักของพุทธศาสนา ชีวิตมีอยู่แค่สองแบบ ชีวิตที่ทุกข์ กับชีวิตที่ไม่ทุกข์ คือเกณฑ์การแบ่งว่าอะไรถูกอะไรผิดนี่ มันต้องตั้งเป้าไว้ก่อนว่าเราต้องการอะไรจากชีวิต ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเราตั้งเป้าแบบคนอื่น ว่าสิ่งที่เราจะต้องเอาเป็นอันดับแรกของชีวิตคือ เงิน นั่นหมายความว่า ความถูกต้องของชีวิต คืออะไรก็ได้ที่ทำให้เราได้เงิน แล้วตอนนี้มันคือความถูกต้องของโลกส่วนใหญ่อยู่นะ อะไรก็แล้วแต่ที่ทำเงินให้เราได้ เราเห็นจากผู้ใหญ่ เราเห็นจากคนรอบข้าง เราเห็นแม้กระทั่งบางที ครูบาอาจารย์สอนในโรงเรียน มีนะ สอนให้เป็นโจรก็มี สอนให้โกง สอนให้เอาเปรียบคนอื่น โดยที่บางทีท่านก็อาจไม่ได้ตั้งใจ แต่วิชามันบังคับให้สอนแบบนั้น หรือบางทีท่านมีความพอใจส่วนตัวที่จะพูดแบบนั้น ครูทางโลก บางทีอาจสอนผิดได้ ผิดทางธรรมแต่ถูกทางโลก ท่านอาจสอนให้เราได้เงิน ตามที่คนอื่นเห็นว่ามันถูกต้อง แต่ถ้าหากว่าเรามองตามแบบของพุทธศาสนา แบบที่พระพุทธเจ้ามอง ชีวิตมีอยู่แค่สองแบบ ชีวิตที่เป็นทุกข์ กับชีวิตที่ไม่เป็นทุกข์ ถ้าหากว่าเราเอาความทุกข์เป็นเกณฑ์ มันชี้ถูก ชี้ผิดได้นะ ใช้ชีวิตยังไงแล้วเป็นทุกข์ นั่นน่ะ ผิด ใช้ชีวิตยังไงแล้วเป็นสุข อันนั้นถูก แต่สุข ต้องสุขจริงๆนะ คนเรามักจะมองสิ่งที่มันเห็นได้ด้วยตาเปล่าภายนอกว่า รถคันยาวๆ กับบ้านหลังโตๆ หรือว่าเงินในธนาคารหลายๆ ร้อยล้าน มันคือความสุข ซึ่งมันก็เป็นสุขจริงๆ ดูแล้วมันก็ เขาก็ได้อะไรในสิ่งที่เราอยากได้ แต่ถ้าเรามีโอกาสที่จะรู้จักกับเศรษฐี รู้จักกับคนที่มีเงินมากๆ เราจะรู้นะว่าร้อยละ ๙๙.๙๙ ของคนรวย มีความทุกข์ ทุกข์ขนาดที่ว่าไม่อยากจะมีชีวิตอยู่

ผมเคย มีอยู่ช่วงหนึ่ง ที่ระหว่างฝึกงานหลังจบมาใหม่ๆ ได้ไปติดต่อ ได้ไปดีล (deal) กับพวกที่เขารวยกันเป็นพันๆ ล้าน เป็นหมื่นๆ ล้าน พวกโรงงานทอผ้าอะไรแบบนั้นนะ ผมได้รู้จักกับพี่น้องแท้ๆ เลยที่ทำงานอยู่ในอาคารเดียวกัน แต่ว่า ไม่อยากให้อีกฝ่ายหนึ่งรู้ว่าตัวเองจะออกจากออฟฟิศเมื่อไหร่ จะเข้าทำงานออฟฟิศเวลาใด เหตุผลเพราะว่ากลัวอีกฝ่ายยิงทิ้ง จ้างคนมายิง มีกันเป็นพันๆ หมื่นๆ ล้านนะ เซ็นต์ที เซ็นต์แต่ละแกร๊กนี่เงินเป็นสิบๆ ล้านทั้งนั้น มีเงินนะ มีเงินอย่างถูกต้องตามที่ชาวโลกเขาอยากให้มีกัน แต่มันไม่มีความสุขนะ มันไม่มีความรู้สึกแม้กระทั่งว่า ชีวิตวันพรุ่งนี้มันจะปลอดภัย เพราะพี่ เพราะน้องของตัวเองแท้ๆ นะ ออกจากบ้านแต่ละวันนี่ใช้รถไม่ซ้ำกัน เพรากลัวว่า อีกฝ่ายหนึ่งจะจำได้ ดักยิงถูก บางทีนี่ต้องเปลี่ยนเส้นทางนะ ไม่กล้าเดินทางด้วยเส้นทางเดิมซ้ำๆ

นี่คือความจริงที่ปรากฎหลังจากที่เราเรียนจบแล้ว หรือว่าหลังจากที่เราออกจากวัดนี้ไป ออกจากเขตวัดนี้ไป ถ้าหากว่าเราเอาเงินเป็นสิ่งที่จะเอามาใช้ตัดสินว่าชีวิตใครประสบความสำเร็จแล้วหรือยัง เราจะรู้สึกว่า เรายังทำอะไรไป ไม่ถึงที่สุด ถ้าหากว่าเงินมันยังไม่ได้ตามเป้า แต่ถ้าหากว่าเราต้องการความสุขทางใจ มีพอกินพอใช้ แล้วอยู่อย่างสบายใจได้ ทำงานไม่นาน เรียนไปไม่ต้องสูงส่งอะไรมากมาย มันก็เหมือนกับจะถึงเป้าได้ง่ายๆ แต่มันขึ้นอยู่กับแรงผลักดันที่จะทำให้เราตั้งเป้าจริงๆ เพราะว่าแรงผลักดันของแต่ละคนแตกต่างกัน การที่เราจะมองว่าคนคนหนึ่งสามารถที่จะพึงพอใจกับการมีอยู่เท่าที่ตัวเองมีนะ มันเป็นมุมมองที่เราคุยกันแบบธรรมะ แต่เวลาที่เราคุยกันแบบโลกๆ คุยกับคนในโลกที่อยู่นอกวัดที่ไม่ได้สนใจธรรมะ มันไม่ง่ายอย่างนั้น แล้วถ้าหากโลกแวดล้อมเขาคุยกันแต่เรื่องเอาเงินเป็นความถูกต้อง ในที่สุดเราจะถูกสะกดจิตนะ ทำให้หลงคิดตามเขาว่าเออมันจริง มันจริงของเขา อันนี้แหละคือความถูกต้องในชีวิต ความผิดพลาดของชีวิตมันขึ้นอยู่กับว่า เราเอาอะไรตั้งเป็นเป้าไว้ให้ชีวิต

ถ้าหากว่า เรามองเห็นตามที่พระพุทธเจ้าเห็นนะ มันมีอยู่แค่สองอย่าง ชีวิตนี่ ทุกข์ หรือไม่ทุกข์ ถ้าหากว่าใช้ชีวิตแล้วเป็นทุกข์ นั่นยังผิดอยุู่ แต่ถ้าหากว่าใช้ชีวิตแล้วสุข สุขจริงๆ สุขทุกวัน สุขอย่างไม่มีความเดือดร้อนในภายหลัง อันนั้นแหละ ที่เป็นวิถีชีวิตที่ถูกต้อง ซึ่งมันจะไม่เกิดขึ้นถ้าหากว่า เราไม่ตั้งมุมมองภายในไว้ให้มันตรงกับพระพุทธเจ้านะ ถ้าหากว่าเรายังตั้งมุมมองภายในไว้ว่า จะเอาแต่สิ่งภายนอกมาบำรุง บำเรอ ให้มันเกิดความพอ นี่ตรงนี้นี่มันก็ไปไม่ถึงธรรมะที่พระพุทธเจ้าสอนหรอก แต่ถ้าเมื่อไหร่ เราฟังธรรมะแล้วเกิดความรู้สึกว่า แค่นี้ก็สุขแล้ว แล้วเราเห็นอาการทางใจ ว่าทำยังไงมันถึงพอ ทำยังไงมันถึงไม่ดิ้นรน ไม่กระสับกระส่าย มากไปกว่าที่เป็นอยู่ อันนี้แหละ คือการเข้าถึงเป้าหมายของชีวิตแบบพระพุทธเจ้านะ

สามเณร: ถ้าพระพุทธเจ้าเป็นคนประทานความทุกข์ และความสุขให้แก่มนุษย์ใช่ไหมครับ แล้วทำไม...

ดังตฤณ: เดี๋ยวๆ ขอตรงนี้ก่อน เดี๋ยวจะลืม พระพุทธเจ้าเป็นเพียงผู้ชี้ความจริง ความทุกข์และความสุขนี่มันมีอยู่โดยธรรมชาติแล้ว เวลาที่ลมเย็นๆ พัดมาอย่างนี้มีความสุข มันเป็นสิ่งที่พระพุทธเจ้าท่านก็ตรัสแสดงนะว่า ถ้าหากว่าลมพัดมาโดนร่างกาย เราก็จะเกิดความสบายทางกายขึ้นมา ไอ้ตรงนั้นมันก็มีความสุข มันมีอยู่ในธรรมชาติอยู่แล้ว และพระพุทธเจ้าทรงมาชี้ให้เห็น ทีนี้พระพุทธเจ้าไม่ได้ชี้แค่ว่า ลมพัดมาแล้วมันมีความสุข ท่านชี้ให้เห็นว่า ลมพัดมาแป๊บนึง ความสุขมันก็ตั้งอยู่ได้แป๊บเดียว แล้วมันก็หายไป อย่าไปยึด อย่าไปหวังว่า ลมมันจะพัดมาเย็นๆ ตลอดไป

เคยไหมเวลาที่เรานั่งอยู่ในสถานที่สบายๆ ที่ลมโกรกนะ มีความปลอดโปร่ง มีความสบาย เราอยากจะได้นั่งอยู่ในสถานที่อย่างนั้นตลอดไป ถ้าหากว่า เราเคยเกิดประสบการณ์ เกิดความอยากในทำนองนั้นขึ้นมา นี่แหละ ความผิดพลาดของมนุษย์ทุกคนคือ มันอยากในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ มันเกิดขึ้นไม่ได้ มันอยู่กับเราตลอดไปไม่ได้ พระพุทธเจ้ามาแสดงธรรมะ มาชี้ความจริงให้เห็น ซึ่ง คือบางทีในความจริงนี่นะ มันเหมือนกับถูกเส้นผมบังภูเขาอยู่ มันเหมือนกับภูเขาที่ถูกเส้นผมบังอยู่นิดเดียว ถ้าหากว่าเรามองเห็นความจริงตามที่พระพุทธเจ้าชี้ได้อย่างน้อยนะ ถึงแม้ว่า เราจะไม่ได้รับความสุขจากลมเย็นๆ ที่พัดมาโดนร่างกายอยู่ตลอดเวลา แต่เราจะมีความสงบสุขทางใจ อันเกิดจากความไม่อยาก ไม่อยากไปผิดความจริง ถ้าอยากผิดจากความจริง มันเป็นทุกข์แน่นอน อันนี้คือสิ่งที่พระพุทธเจ้าชี้ ... เอ้า ถามต่อเถิดครับ คนเดิมตะกี้ยังถามไม่จบ ... อ้าว สรุปแล้วคือ เลยตอบคำถามเสร็จแล้วใช่ไหม

สามเณร: พระพุทธเจ้าก่อนที่จะตรัสรู้ ท่านรู้ได้ไงว่าวิธีที่ทำให้เราไม่ทุกข์มีอยู่ แล้วรู้ได้ไงว่า เราควรนั่งสมาธิ เพื่อให้รู้ว่าวิธีนั้นมี

ดังตฤณ: โอเค ตรงนี้เป็นคำถามที่ ไม่ใช่เฉพาะเณรนะที่สงสัย แม้แต่คนฉลาดที่สุดในทางศาสนา บางทีก็ให้คำตอบไม่ได้ เพราะว่าเวลาที่เรียนกันในหลักสูตรนี่ เราจะเรียนกันแค่ว่า พระพุทธเจ้าท่านทำทุกรกิริยา ทรมานตนเอง เพื่อที่จะหาสัจธรรม เพื่อที่แสวงหาสัจธรรมอยู่หกปี แล้วก็หาไม่สำเร็จ ในที่สุดท่านก็ได้ยินเทวดามาดีดพิณ แล้วก็เกิดความ เกิดอาการตาสว่างนึกได้ว่าควรเดินทางสายกลาง เพื่อที่จะได้วิธีดับทุกข์ที่แท้จริง เสร็จแล้วหลังจากนั้น คนก็จะไม่รู้เรื่องแล้วว่า เอ วิธีการของท่านนี่ เป็นมาเป็นไปได้อย่างไร

จริงๆ แล้ว พระพุทธเจ้าท่าน เป็นผู้มีปัญญา เป็นผู้มีความสามารถทางจิต ตั้งแต่เด็กๆ เลยนี่นะ ตั้งแต่อายุรุ่นๆ พวกเรานี่ ท่านแค่ เจ็ดขวบนี่นะ เป็นเด็กเจ็ดขวบ สามารถที่จะเข้าสมาธิได้ถึงปฐมฌาน ซึ่งเป็นสิ่งยากจะเข้าถึง แล้วท่านเข้าของท่านเองนะ ไม่มีใครสอน กำลังจิตของท่านมีอยู่สูงมาก ผู้ใหญ่ทำกัน ๒๐-๓๐ ปี หรือบางคนทำกันทั้งชีวิต เข้าถึงปฐมฌานไม่ได้ แต่ท่านเข้าถึงได้ตั้งแต่ความพยายามแค่ครั้งแรก ท่านนั่งอยู่ใต้ต้นไม้นี่ หลับตาแล้วก็ดูลมหายใจเข้าออก ดูว่ามันเข้าว่ามันออกไปอย่างนี้นี่ แป๊บเดียวจิตเป็นฌาน มีความสว่างจ้า มีความเป็นเอกคัตตา คือมีความเป็นหนึ่งเดียวยิ่งใหญ่ เหมือนกับพระอาทิตย์เกิดขึ้นภายใน อันนี้คือความสามารถทางจิตของท่าน ท่านทำได้ตั้งแต่เด็กๆ

ทีนี้ พอท่านโตขึ้นมา โจทย์ของชีวิตของท่าน มันใหญ่กว่านั้น มันใหญ่กว่าการนั่งสมาธิ มันใหญ่กว่าการรู้การเห็นแบบธรรมดาๆของคนทั่วไป ท่านอยากรู้ว่า ทำอย่างไร ความทุกข์ทางใจมันถึงจะไม่เกิดขึ้น ทำอย่างไรการเวียนว่ายตายเกิดถึงจะไม่ปรากฎ นี่เป็นโจทย์ข้อใหญ่ ที่ยากที่สุดในโลก ต่อให้เป็นนักวิทยาศาสตร์ที่มีเทคโนโลยีก้าวหน้าที่สุดในโลกปัจจุบันก็ไม่สามารถให้คำตอบได้นะ พระพุทธเจ้าท่านอยากรู้คำตอบของโจทย์ข้อนี้ ตั้งแต่ท่านอายุ ๒๙ คำถามง่ายๆ มีอยู่นิดเดียว ทำยังไง ทุกข์ทางใจจึงจะไม่เกิดขึ้นอีกเลย ถ้าน้องเณรไปพยายามหาคำตอบ ไม่ว่าด้วยวิธีใด ไม่ว่าวิธีการของศาสนาไหน น้องเณรจะเข้าใจนะว่ามันยากขนาดไหน ทำไมมันถึงได้ชื่อว่าเป็นโจทย์ที่ยากที่สุดในโลก

ทีนี้มาพูดถึงวิธีการของพระพุทธเจ้าในการค้นพบ ในคืนที่ท่านตรัสรู้ ตัดขั้นตอนไปเรื่องที่ท่านบำเพ็ญทุกรกิริยา ตัดขั้นตอนไป ตอนที่ท่านฟังเสียงพิณของเทวดา แล้วนึกขึ้นได้ว่าควรจะดำเนินทางสายกลาง มาถึง เอาเนื้อๆ เลย มาที่ตอนท่านเริ่มปฏิบัติตนใหม่ เพื่อที่จะค้นหาสัจธรรม วิธีที่จะดับทุกข์ภายใน วิธีที่จะทำให้ความทุกข์ทางใจไม่เกิดขึ้นอีกเลย ท่านนึกขึ้นได้ว่า เมื่อตอนท่าน ๗ ขวบนี่ ท่านใช้วิธีนั่งสมาธิ ดูลมหายใจ ดูว่ามันเข้า ดูว่ามันออก ดูว่ามันยาว ดูว่ามันสั้น แบบที่ผมเพิ่งแนะแนวทางไปเมื่อตอนต้นนั่นแหละ ท่านดูเพื่อให้เกิดความเห็นว่า ลักษณะที่มันเป็นความทุกข์ที่ปรากฎในชีวิตจริงๆ หน้าตาเป็นยังไง ท่านเห็นออกมาจากพระญาณ ความหยั่งรู้ในระดับจิตของท่านนะ ว่าถ้าหากจิตยังไม่มีความตั้งมั่น ถ้าหากจิตยังไม่มีความสุข ถ้าหากจิตยังไม่มีสติที่คมชัดมากพอ ไม่มีทางเห็นความจริงได้

แล้วท่านก็พิจารณาว่า สมาธิแบบที่ท่านทำตอนเด็กๆ นี่ คือดูลมหายใจไปมันทำให้เกิดความชัดเจน มันทำให้สติมีความคมกล้าขึ้นมาได้ ท่านก็เลยทำ ทำไปเรื่อยๆ ทำจนกระทั่งถึงสมาธิระดับปฐมฌาน ระดับทุติยฌาน ไล่ขึ้นไปเรื่อยๆ จนกระทั่งถึงฌานขั้นสูงสุด แล้วย้อนกลับลงมา ณ เวลานั้นจิตท่านมีสติเต็มที่ มีความตื่นรู้เต็มที่ พร้อมที่จะเห็นความจริงทั้งหมดในชีวิต ความจริงทั้งหมดในชีวิตไม่ใช่เรื่องข้างนอกนะ แต่เป็นเรื่องข้างใน ท่านสืบหาเอาจากข้างใน ว่า ร่างกายนี้ของท่านนี่ สภาพจิตใจแบบนั้นของท่าน มาปรากฎอยู่ในโลกนี้ได้อย่างไร ท่านมองย้อนไปแบบสืบสาวจากสมาธิ เศษของฌานนี่มันทำให้ความชัดเจนภายในมันเข้มข้นมาก ท่านระลึกย้อนกลับไปว่า ก่อนที่ท่านจะทำสมาธิ ท่านเกิดความระลึกขึ้นได้ว่า ท่านควรจะดำเนินตามทางสายกลาง ก่อนที่จะมาดำเนินตามสายกลาง ระลึกได้แบบนั้น ท่านทำทุกรกิริยามาตั้ง ๖ ปี ก่อนที่ทำทุกรกิริยา เพื่อแสวงหาสัจธรรม ท่านใช้ชีวิตแบบโลกๆ มา เป็นเจ้าชาย เจ้าชายสิทธัตถะ มา ๒๙ ปี แล้วท่านก็ระลึกย้อนกลับไปได้ด้วยว่า ก่อนที่ท่านจะเกิดมาเป็นมนุษย์ ท่านเป็นเทวดาชั้นดุสิต ก่อนที่ท่านจะมาเป็นเทวดาชั้นดุสิต ท่านเคยเป็นพระเวสสันดรก่อน พระเวสสันดร ที่บริจาคทุกสิ่งในชีวิต แม้กระทั่งอวัยวะและลูกเมียของตัวเอง

ท่านก็ย้อนระลึกไปเรื่อยๆจนกระทั่งได้เป็น อสงไขยกัปป์ แล้วก็พบว่า ที่มาที่ไป ก่อนที่จะปรากฎเป็นร่างกายแบบนี้ ก่อนที่จะปรากฎเป็นจิตวิญญาณแบบนี้ มันมีที่มาที่ไป มันไม่ใช่อยู่ๆ ลอยขึ้นมา นี่เรียกว่าเป็นการทำลายอวิชชา ประการแรกได้ คือรู้ที่มาที่ไปของตัวเอง ว่าที่ร่างกายแบบนี้ ที่มีลักษณะจิตวิญญาณแบบนี้ ไม่ใช่เหตุบังเอิญ แต่มันมาจากกรรม มันไหลมาจากอดีตชาติ ชาตินี้ไหลมาจากอดีตชาติ นี่เรียกว่าเป็นการทำลายอวิชชาประการแรก ต่อมา ในยามต่อมา หลังจากท่านรู้เรื่องของตัวเองแล้ว ท่านก็ไปรู้เรื่องของคนอื่นด้วย จากพระญาณที่ตั้งมั่นอยู่ด้วยสมาธิระดับสูง ท่านเล็งเห็นว่าสัตว์โลกก็เหมือนกับท่านนั่นแหละ เวียนว่ายตายเกิดอยู่ด้วยความไม่รู้ ทำอะไรไป ไม่รู้อิโหน่อิเหน่หรอกว่าจะเกิดผลยังไง เกิดมาก็ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ มันลืมหมด ว่าเคยทำอะไรไว้บ้าง แต่ท่านเห็นเหมือนกับคนที่นั่งอยู่ตรงสี่แยก นั่งอยู่บนหอคอย กลางสี่แยก เห็นว่าใครมาทางซ้าย ใครมาทางขวา และกำลังจะเลี้ยวไปทางไหน อันนั้นมันก็เหมือนกับที่ท่านเห็นว่า ใครทำกรรมอย่างไร จะได้ไปนรก ใครทำกรรมอย่างไรจะได้ไปสวรรค์ ใครทำกรรมอย่างไร จะได้ย้อนกลับมาเกิดในโลกมนุษย์นี้อีก นี่เรียกว่า เป็นการทำลายอวิชชาขั้นที่ ๒

คือท่านสามารถเห็นได้ว่า สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม ไม่ใช่สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามความบังเอิญ หรือว่าตามความอยาก พอท่านเห็นแจ้งแล้วว่า ที่มาที่ไป ที่มาเป็นคน เป็นมนุษย์ เป็นสัตว์ เป็นเทวดา เป็นเปรต อสุรกายอะไรอยู่นี่ มันเป็นไปตามกรรม ท่านถึงมาได้ข้อสรุปสุดท้าย ในยามสุดท้ายว่า ที่มันยังหลงเวียนว่ายตายเกิดที่มันไม่สามารถออกจากสังสารวัฏได้นี่ ก็เพราะแต่ละขาติ มันไปหลงติดเหยื่อ คือร่างกายแบบนี้ แล้วก็จิตใจแบบนี้นี่ มันต้องมีร่างกายอะไรขึ้นมาแบบหนึ่ง อัตภาพอะไรขึ้นมาแบบหนึ่ง มาล่อให้หลง ให้ยึด ว่านั่นน่ะเป็นตัวของเรา เวลาที่เรากำลังคิด เวลาที่เรากำลังพูด เวลาที่เรากำลังติดต่ออยู่กับใคร มันมีความทึกทัก มันมีอาการยึดเป็นอุปาทาน มีความเข้าใจผิดเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา ว่านี่คือเราติดต่ออยู่กับใครคนหนึ่ง นี่เรากำลังเป็นใครคนหนึ่ง มีฐานะอะไรแบบหนึ่ง พอท่านเห็นความจริงตรงนี้ ท่านก็เกิดความกระจ่างแจ้งว่า ถ้าเลิกหลงซะได้ ถ้าเลิกยึดแบบผิดๆ เสียได้ ว่ากายใจนี่เป็นตัวเป็นตน มันก็จะพ้นไป เป็นอิสระจากการเวียนว่ายตายเกิดได้ นี่ไงตรงนี้แหละ การตรัสรู้ธรรม ตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ ถึงได้บังเกิดขึ้น เป็นพระพุทธเจ้าขึ้นมานะ

เอาล่ะรู้สึกว่า ท่านอาจารย์บอกว่า จะหมดเวลาแล้วนะ ก็ ขอให้การที่เราได้มาตื่นรู้ใน ๙ วันนี้เป็นการตื่นรู้จริงๆ นะได้เป็นโอกาสทองของชีวิต คือบางทีเราไม่รู้หรอกว่าโอกาสทองของชีวิตผ่านมาเมื่อไหร่ จนกว่ามันจะมีประสบการณ์ มีการเรียนรู้อะไรมากขึ้น แล้วมองย้อนกลับมาถึงได้เห็น ว่า เออ จุดริ่มต้นความสว่างในชีวิตมันอยู่ช่วงไหน ผมจำได้ว่า ช่วงที่รู้จักพุทธศาสนาเป็นช่วงแรกๆ มันมีความสุขมาก

เอ้า เมื่อกี้ เพื่อนเราถามว่า ทำอย่างไรถึงจะเลิกยึดติดเสียได้ว่าตัวเราเป็นของเรา ตอนที่ผมได้ยินเป็นครั้งแรกๆ นะว่า ตัวเราไม่ใช่ของเรานี่ ได้ยินมาจากคุณครูคนหนึ่งในชั้นมัธยม ท่านมาพูดหน้าชั้นบอกว่า เออนี่ ตัวกูไม่ใช่ของกูนะ ท่านก็ทำท่าสลดให้ดู แต่ผมก็นึกไม่ออกว่ามันจะไม่ใช่ของเราได้อย่างไร พอขยับแขนไปมันก็รู้สึกว่า นี่มันใช่ชัดๆ หรือว่าเราจะคิดอะไรมันก็รู้สึกว่าเป็นความคิดของเราชัดๆ มันไม่มีอะไรที่ผิดแปลก หรือว่าแปลกปลอมไปจากความเป็นเราเลย มันของเราชัดๆ มันใช่เราแท้ๆ ตอนนั้นก็เกิดความรู้สึกว่า อยากรู้มากๆ ว่าเขาทำกันยังไง ถึงจะเลิกยึดได้ ว่านี่มันไม่ใช่เรา นี่มันไม่ใช่ตัวของเรา แต่การแสวงหามันไม่ง่ายนะ เพราะว่าคำสอนมีอยู่หลากหลาย แล้วก็ คำสอนของพระพุทธเจ้ามีมานาน ๒,๕๐๐ กว่าปีแล้ว มันก็เลยเลือนๆ ไป

สิ่งที่พระพุทธเจ้าสอนจริงๆ ท่านไม่ได้สอนให้คิดเอานะ ว่า นี่ไม่ใช่ตัวกู นี่ไม่ใช่ของของกู เพราะยิ่งคิดแบบนั้นมันจะยิ่งต่อต้านความรู้สึก มันจะยิ่งฝืนความรู้สึกที่แท้จริงของเรา ความรู้สึกที่แท้จริงของเรามันกำลังยึดอยู่ ว่านี่ตัวของเราชัดๆ เสร็จแล้วเราไปพยายามฝืนบังคับ ขออย่าให้มันไม่ใช่เรา ขอให้เราเห็นมันไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ตัวตน มันเป็นการต่อสู้กับศัตรูตัวใหญ่ที่มีกำลังมากกว่าเรา เปรียบเหมือนกับนักมวยปล้ำที่ตัวใหญ่มากๆ แต่เราเป็นเด็ก เราเป็นเณรตัวแค่นี้ จะไปสู้อะไรกับมันได้

วิธีที่จะถอดถอนอุปาทานความหลงผิด ความเข้าใจผิด มีอยู่ทางเดียวที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ก็คือ สติปัฏฐาน ๔ ท่านตรัสไว้เลยนะ นี่เป็นทางเดียว นี่คือหนทางเดียวที่จะดับทุกข์ ที่จะบรรลุมรรคผลที่ถูกต้องได้ นี่เป็นทางเดียวที่จะถอดถอนอุปาทานออกจากจิตได้ สติปัฏฐาน ๔ ไม่ใช่คำแนะนำว่า จงไปคิดแบบนี้ จงไปทำอะไรอย่างหนึ่งแล้วจบ มันไม่ง่ายแบบนั้น สติปัฏฐาน ๔ บอกเราว่า เราต้องค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไป อย่างที่ผมไกด์ (guide) มาในวันนี้ทั้งหมดนั่นแหละ ทำอย่างไร เราจะรู้ได้ว่าลมหายใจกำลังเข้า ลมหายใจกำลังออก ทำอย่างไรเรากำลังจะรู้ได้ว่า ลมหายใจกำลังยาว หรือลมหายใจกำลังสั้นอยู่ ก็คือเราต้องคลายจากอาการเกร็ง คลายจากอาการกระสับกระส่ายให้ได้ก่อน เปิดทางให้ใจมันโล่ง เปิดทางให้ใจมันสามารถที่จะเห็นตามจริงได้เสียก่อน แล้วจากนั้นแค่ยอมรับอะไรที่มันง่ายที่สุดในชีวิต เช่น กำลังหายใจเข้า หรือหายใจออกอยู่ กำลังหายใจยาว หรือกำลังหายใจสั้นอยู่ ไอ้การยอมรับตามจริงแบบนั้นไปมากๆ เข้านี่ มันจะทำให้เกิดปัญญาเห็นว่าลมหายใจนี่มันไม่เที่ยง มันเป็นแค่ธาตุลม มีลักษณะพัดเข้า มีลักษณะพัดออก อยู่เรื่อยๆ

ตรงนั้นนะ มโนภาพในตัวตน หรือความยึดติดว่ามันเป็นของเราชัดๆ มันจะหายไป มันจะเกิดลักษณะของจิตของใจที่เป็นปัญญาขึ้นมา มันจะเกิดความว่างจากอาการยึดติด มันจะเกิดความว่างจากอุปาทานขึ้นมาชั่วขณะ เปิดโอกาสให้เราเห็นต่อไปว่า มีอะไรที่แสดงความไม่เที่ยงอยู่อีกบ้าง เราจะเห็นเลยว่า ร่างกายทั่วทั้งตัวนี่ เดี๋ยวมันก็กล้ามเนื้อส่วนนั้นก็เกร็ง เดี๋ยวส่วนนี้ก็ขมวด เดี๋ยวส่วนนี้ก็ตึงนะ มันจะเห็นอยู่เรื่อยๆ มันจะเห็นปรากฎสลับกันระหว่างผ่อนคลายสบาย กับความรู้สึกว่า เดี๋ยวมันก็กำ เดี๋ยวมันก็เกร็ง ตรงนั้นนี่ ความรู้สึกว่า ร่างกายเป็นของเรามันจะหายไป มันจะเหลือว่า ร่างกายนี่เป็นธรรมชาติอะไรก้อนหนึ่งที่แสดงความไม่เที่ยง แสดงความแปรปรวนอยู่ตลอดเวลา หลังจากนั้น ไม่ว่าเราจะเกิดความอึดอัด หรือจะเกิดความสบายใจอย่างไร เราก็จะเห็นเป็นแค่ภาวะทางใจ เราจะรู้สึกว่า ไอ้นี่ มันเป็นความรู้สึกเป็นทุกข์ มันไม่ต้องยึดน่ะ มันไม่ต้องพยายามให้มันเป็นสุขอยู่ตลอดเวลา ไอ้ความทุกข์ก้อนหนึ่ง เดี๋ยวมันก็ค่อยๆ เสื่อม เดี๋ยวมันก็ค่อยๆ คลายไปเอง ถ้าหากว่าเราไม่ไปยึด เราไม่ไปต่อต้าน เราไม่ไปอยากทันทีให้มันเกิดความสุข ความทุกข์มันจะค่อยๆ เสื่อมลงไปเอง ไอ้ตรงนั้นนี่ ความรู้สึกหมายมั่นปั้นมือว่าเราจะต้องเป็นสุขให้ได้ มันจะหายไป หายไปพร้อมๆ ความยึดมั่นว่าความสุขเป็นตัวเรา หายไปพร้อมๆ กับความรู้สึกว่าตัวทุกข์แท้ๆ นี่เป็นตัวของเรา เป็นชีวิตของเรา

บางคนนี่มีความทุกข์ในชีวิตมาก จนกระทั่งเกิดความเชื่อขึ้นมาว่าไม่มีทางหายทุกข์ แต่พอมาพิจารณาว่า ความทุกข์นี่มันมาๆ ไปๆ ลมหายใจที่สบายนี่มันก็ขจัดความทุกข์ออกไปได้แล้ว แค่นี้ความยึดว่าเราจะต้องทุกข์ตลอดไป มันก็หายไป หรือแม้กระทั่งความรู้สึกว่า เราจะได้เป็นสุขอยู่ตลอดเวลา เราอยากเป็นสุขอยู่ตลอดเวลา มันก็หายไป ความอยากนั้นมันไม่เกิดขึ้น เมื่อไหร่ความอยากเป็นสุข ความอยากให้ความเป็นทุกข์หายไปจากจิต เมื่อนั้นความรู้สึกเป็นสุข เป็นทุกข์ มันจะปรากฎโดยไม่มีตัวตน จิตของเรานี่จะรู้สึกเป็นสุข เป็นทุกข์ อย่างที่มันกำลังเป็นอยู่นั่นแหละ แต่ไม่รู้สึกว่า ความสุข ความทุกข์นั้นเป็นตัวของเรา นี่คือวิธีถอดถอนของพระพุทธเจ้า ท่านไม่ได้ให้คิดเอาว่าจะทำอย่างไร แต่ท่านให้แนวทางชัดเจนเป๊ะๆ เลย ว่าอย่างเป็นขั้นเป็นตอนจะทำยังไง ท่านไม่ได้สอนให้รู้สึกดี แต่ท่านสอนให้รู้วิธีว่า ทำอย่างไร ด้วย

เอานะ ก็คิดว่าคงเป็นคำตอบ พูดง่ายๆ ถ้าจำได้ไม่หมดก็คือ วิธีถอดถอนออกจากอุปาทาน ว่ากายใจเป็นตัวเป็นตนของเราก็คือ สติปัฏฐาน ๔ นั่นเอง จำง่ายๆ แค่นี้ก่อน แล้วค่อยไปศึกษาเอาว่า สติปัฏฐาน ๔ มันเป็นยังไงนะ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น