วิธีนั่งสมาธิแบบพระพุทธเจ้า
รับฟังวิธีการทำสมาธิแบบพระพุทธเจ้า ► http://bit.ly/1MfXHSV
การนั่งสมาธิแบบนี้นะ ถ้าไม่มีใจคิดไปเรื่องนั้นเรื่องนี้
ไม่ไปเปรียบเทียบว่าเคยทำมาอย่างไร
รับประกันว่าได้ผลร้อยเปอร์เซ็นต์
เริ่มต้นอย่าไปจับที่ลมหายใจอย่าไปจับที่อะไรทั้งสิ้น
หลับตาลงไป ให้เกิดความรู้สึกว่า
ตัวกำลังนั่งอยู่ นั่งอยู่สบายๆ
ใจไม่ต้องเพ่งไปที่จุดใดจุดหนึ่ง มันจะได้ไม่ไปโฟกัสแคบๆ
เสร็จแล้วเริ่มต้นขึ้นมา
ก็รู้สึกที่ขาของตัวเองว่า
ขาของเรามันงออยู่ มันงุ้มอยู่
หรือว่ามันเกร็งอยู่ไหม
ที่ฝ่าเท้านี่ หากมันผ่อนคลายออกไปได้นะ
จะรู้สึกสบายขึ้นมาทันทีเลย
มันรองรับความเป็นจริงอย่างยิ่งเลย
เราไม่ต้องไปจินตนาการหรืออะไร
แค่ถามตัวเองเฉยๆว่า
ฝ่าเท้าเรานี่มันเกร็งอยู่ หรือว่ามันแบสบายอยู่
ถ้าแบสบายอยู่
ใจมันจะรู้สึกทันทีเลยว่ามันสบายตามไปด้วย
จากนั้นมือให้วางอยู่บนหน้าตักนะ
ถ้ามันมีความรู้สึกว่ามือยังกำ
หรือว่ามีกล้ามเนื้อส่วนใดส่วนหนึ่งของมือยังเกร็งอยู่
ก็ให้ผ่อนคลายซะ เหมือนกับฝ่าเท้า
พอฝ่าเท้ากับฝ่ามือมันมีอาการผ่อนคลายเหมือนกัน
ตรงนี้จะรู้สึกรู้สึกสบายขึ้นมาครึ่งตัวแล้ว
ในอาการสบายครึ่งตัวนี้ เราก็สำรวจต่อมา
จุดสุดท้าย ใบหน้าของเราทั่วทั้งใบหน้า
มันยังมีส่วนใดส่วนหนึ่งขมวดอยู่ไหม
มันยังมีส่วนใดส่วนหนึ่งที่มันตึงๆขมับอยู่ ไหม
ถ้ามันมีอาการตึงอยู่ มีอาการขมวดอยู่
เราแค่รับรู้ รับรู้ตามจริง
แล้วมันจะค่อยๆ ผ่อนคลาย ค่อยคลาย ออกไปเอง
ในอาการที่ร่างกายผ่อนคลาย
ทั้งฝ่าเท้า ฝ่ามือ แล้วก็ทั่วทั้งใบหน้า
ตรงนี้กล้ามเนื้อทั้งหมดที่โยง
ทั้งฝ่าเท้า ฝ่ามือ แล้วก็ใบหน้า มันจะคลายออกไปด้วย
แล้วก็รู้สึกสบายทั้งตัวขึ้นมา
.. .. .. .. .. .. .. .. .. ..
ในความรู้สึกสบายทั้งตัวขึ้นมานี้ เราดูต่อมา
จิตใจเปิดมันสบาย มันไม่ได้เพ่ง ไม่ได้เคร่ง
มันไม่ได้บริกรรมอะไรเลย มันไม่ได้เป็นอะไรทั้งสิ้น
มันก็ เหมือนมีสมาธิอ่อนๆ ขึ้นมาแล้ว
ในอาการที่มันชุ่มชื่น เหมือนมีสมาธิอ่อนๆนี้
เราก็ดูต่อไป ดูด้วยอาการสำรวจแบบไม่ตั้งใจ
ดูด้วยอาการสำรวจเหมือนถามตัวเองว่า
ตอนนี้ร่างกาย มันต้องการลมเข้า
มันต้องการลมออก หรือต้องการหยุดลม
ถ้าต้องการลมเข้ามันจะรู้สึกขาด
มันจะรู้สึกร่างกายมันขาดลม
มันถึงขั้นว่าร่างกายมันอยากจะลากลมเข้ามา
พอลากลมเข้ามันเกิดความรู้สึกอึดอัด
มันถึงเวลาที่จะต้องระบายออกไป
แล้วถ้าระบาย ออกไปหมดแล้ว
ลมหมดแล้วเราสังเกตดู
ร่างกายมันไม่ได้ต้องการลมเข้าทันทีนะ
มันจะหยุดอยู่พักนึง นิ่งอยู่ พักนึง
เราปล่อยให้มันอยู่นิ่งๆ สบายๆ
ไม่ต้องมีลมเข้าไม่ต้องมีลมออก
.. .. .. .. .. .. .. .. .. ..
ในอาการเห็นว่า
ร่างกายมันต้องการลมเข้า
มันต้องการลมออก
เดี๋ยวมันก็ต้องการหยุดลม
ตรงนี้แหละจิตมันจะเริ่มเปลี่ยน
มันจะเริ่มเป็นผู้สังเกตเฉยๆ
ไม่ใช่เอาแต่อยาก
อยากจะได้ลมเข้า อยากจะได้ลมออก
เพราะไอ้อาการอยากตรงนี้
มันก็จะไปเร่ง เร่ง เร่ง
ทำ ให้เกิดอาการอยากหายใจผิดๆ
แล้วก็ตั้งจิตไว้ผิดๆ
.. .. .. .. .. .. .. .. .. ..
ทีนี้ถ้าหากว่าเราเอาแต่ดูอย่างเดียว
เราก็จะเห็น ถ้าความ ฟุ้งซ่านกลับมา
หลายคนมีความฟุ้งซ่านกลับมา
เราก็ไปดูใหม่ ดูว่าฝ่าเท้านี่มันงองุ้มไหม
ถ้าฟุ้งซ่านปกติมันจะมี อาการงองุ้ม
มันจะมีอาการเกร็งๆ เคร่งๆ ขึ้นมาที่ฝ่าเท้า
เราผ่อนคลายไป
ไอ้อาการเกร็งๆ เคร่งๆ ฟุ้งซ่านก็จะหายไปด้วย
เราก็ดูต่อมา ฝ่ามือสบายอยู่ไหม
ทั่วทั้งใบหน้าสบายอยู่ไหม
มันก็กลับมาสู่สภาพจิตใจที่มันสบายได้
เมื่อมีความชุ่มชื่น สามารถที่จะกลับมาเริ่มต้นดูใหม่
ว่า เออ ตอนนี้ร่างกายมันต้องการลมเข้าหรือว่าลมออก
หรือว่าต้องการที่จะหยุดลม
เห็นตามจริงนะไม่ใช่เห็นตามอยาก
พอเห็นตามจริงไปเรื่อยๆ
ใจมันก็จะไม่หยุดนิ่ง ไม่เกิดความทื่อๆ
ไม่เกิดความรู้สึกว่า
ไอ้ความสุขที่เกิดขึ้นนี้มันถูกหล่อเลี้ยงไว้
.. .. .. .. .. .. .. .. .. ..
บางคนตั้งใจมากเกินไปนะ
พอรู้ว่าความตั้งใจมันเกินไปแล้ว
มันล้ำหน้าไป ก็ไปนั่งดูใหม่ว่า
มือยังผ่อนอยู่ไหม
เท้ายังผ่อนอยู่ไหม
ใบหน้ายังผ่อนอยู่ไหม
แล้วค่อยๆ มาถามตัวเองว่า
ร่างกายมันต้องการลมแบบไหน
ลมเข้า หรือว่าลมออก หรือว่าหยุดลม
มันมีอยู่แค่นี้เอง
จากนั้นที่เหลือ จิตเค้าก็จะเห็นว่า
ลมหายใจมันผ่านเข้า ผ่านออก ผ่านเข้า ผ่านออก
มันไม่ใช่บุคคล
มันไม่ได้เห็นอะไรที่เราตั้งความหวังไว้
ว่าไอ้นี่เราจะไปยึดครองไว้
มันเข้ามาแป๊ปนึง แล้วมันก็ออกไป
เดี๋ยวมันยาวบ้าง มันสั้นบ้าง
ขึ้นอยู่กับความต้องการของร่างกาย
ไม่ได้ขึ้นอยู่กับความอยากของเรา
ลองกลับไปฝึกๆ ดู
.. .. .. .. .. .. .. .. .. ..
บางคนลืมตาขึ้นมาช่วยบอกหน่อยว่า
งวดหน้าออกเลขอะไร มันหลับไปแล้ว
นั่งสมาธินะ เราก็นั่งดูไป ดูมันง่ายมากเลย
แต่ถ้าเรายังไม่เข้าใจพ้อยท์ (point)
มันไปนั่งด้วยความอยาก
อยากได้นั่น อยากได้นี่
อยากให้มันสงบ
อยากให้มันมีความก้าวหน้าทางสมาธิ
ความอยากนั่นแหละ จะทำให้ถอยหลัง
แต่ถ้าเรานั่งไป
นั่งโดยไม่มีอาการอยากจริงๆ
มันก็จะนิ่งขึ้น นิ่งขึ้น
เหมือนใจมีความ ชุ่มชื่น มีความใสมีความสว่างอยู่อย่างนั้น
แล้วถึงจุดหนึ่งที่เป็นภาวะตั้งมั่น
เป็นภาวะที่ความสว่าง ความใส ความชุ่มชื่น
มันคงเส้นคงวา เนียน
ตรงนั้นจะเริ่มอุปจาระสมาธิ
พอจิตมันมีกำลังมากจริง
มันก็จะเป็นอุปจาระสมาธิอย่างแข็งกล้า
มีความชุ่มชื่นอย่างใหญ่
จิตเหมือนมันแผ่กว้างออกไปไม่มีขอบเขต
พอจิตมันระงับ
จิตมัน จะเหมือนมีอาการผนึกตัว จิตมันจะตั้งมั่น
เป็นความขาวอย่างใหญ่
ปิติที่มันฉีดออกมา จิตมันเหมือนเป็นดวงอาทิตย์น่ะ
แผ่กว้างออกไป เหมือนไม่มีประมาณ
แต่ส่วนใหญ่ไปแค่การล็อกตัวเองไว้
แช่ตัวเองไว้ เหมือนกับ มัมมี่ แข็งๆ ทื่อๆ
แล้วก็จะไม่รู้สึก เหมือนกับจะไม่รู้สึก
แต่คิดว่าได้ฌานล่ะ
หลายคนเข้าใจผิด แช่อยู่ เฉยๆ
จิตมันยังแคบอยู่เลย จะเป็นฌานได้อย่างไร….
________________
ดังตฤณ
บรรยาย ณ ศาลาปันมี มูลนิธิบ้านอารีย์
: วันที่ ๑๔ กันยายน ๒๕๕๒