วันเสาร์ที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2558

วิธีเจริญสติ ถอนอาการยึดที่ไม่เป็นสาระ (การเจริญสติในชีวิตประจำวัน)

ถาม :  รู้สึกจิตแป้ก จากปีที่แล้วที่จิตเคยดิ้นรนอยากภาวนา ปีนี้ จิตมันเหมือนยอมจำนนค่ะ ว่ามันเป็นแบบนี้ ทำให้ขี้เกียจ อยากเลิกภาวนาไปเลย ...

(ที่มา : ดังตฤณวิสัชนา บริษัทเชฟรอน, ๑๔ ตุลาคม ๒๕๕๓)
รับฟังทางยูทูป
: https://youtu.be/qaDI1OkuR0E


ดังตฤณ: 
ไม่ๆ มันอย่างนี้มากกว่า
คือ น้องมีเรื่องคิดเยอะนะ มันหลายเรื่อง
แล้วเราจะเอาจริงเอาจังกับทุกเรื่องเลย
ทีนี้ถ้าเราพิจารณาว่า โอเค
โดยหลักการ เรารู้ทฤษฎีหมดละ เรื่องทางจิต เรื่องทางอะไร
แต่เรื่องของเราเองมันเป็นเรื่องเฉพาะตัว 


ถ้าเราตั้งไว้เป็น จุดสังเกตเฉพาะตัว ของเราว่า
ทุกเรื่องที่เราคิด มันจริงจังเท่าๆกันหมดเลย
ทั้งๆที่ความสำคัญมันไม่เท่ากัน

แค่นี้ มันจะได้หลักในการภาวนาแล้ว
มันจะได้หลักในการเจริญสติ!


.. .. .. .. .. .. .. .. .. ..


คือ เราจะเห็นเข้ามาว่า
อาการ
ยึด’  ของเรานี่ มันยึดมั่วไปหมดเลย
แล้วอาการยึดนี่มันมีความเหนียวแน่นเท่ากัน
มีความยึดอย่างไม่ควรยึดเท่ากัน

ทีนี้ พอเราเริ่มเห็นอย่างนี้
เราจะไม่คิดมากไปในเรื่องที่มันอยู่ข้างนอก
ว่าเป็นเรื่องโลก
เรื่องธรรมะ
เรื่องของเรา
เรื่องของคนอื่น
เรื่องที่เรากำลังผูกใจกับใคร หรือว่า
เรากำลังไม่พอใจอะไรอยู่
..มันจะไม่มีรายละเอียดที่อยู่รอบนอก
แต่มันจะมีแค่ตัวเดียวที่เหมือนเดิม
คือ  อาการยึดอย่างไม่เป็นสาระ


เรื่องไม่เป็นเรื่องเราก็ยึด
ตัวความยึดที่มันปรากฏกับใจเราเนี่ย
มันจะทำให้เราเป็นแบบนี้

.. .. .. .. .. .. .. .. .. ..

..เห็นไหม ที่มันคลายลงไป มันง่ายนิดเดียว

ขอให้เรามองเห็นเถอะว่า
พ้อยต์ (point) ที่เป็นตัวทำให้เราย่ำอยู่กับที่เนี่ย
มันอยู่ที่ตรงไหน
มันอยู่ตรงที่เราให้ความสำคัญกับทุกอย่าง
เท่ากันหมดทั้งๆที่มันไม่เท่า

แล้วพอเราได้คิดอย่างนี้ปุ๊บ
มันก็ย้อนกลับเข้ามาดู
อ้อ
! หน้าตาอาการยึดนี่มันเหมือนกันหมดเลย
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องไหน
ก็แสดงว่า อะไร ....

เวลาเกิดเรื่องกระตุ้นหรือว่าเรื่องกระทบ
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไร
เราสามารถมาดูใจได้อาการเดียว คือ อาการยึด
แค่นี่มันก็จะคลายออกมา


.. .. .. .. .. .. .. .. .. ..

..เห็นไหม มันคลายแล้วมันจะกลับมาใหม่ได้
ลักษณะที่อาการยึด กลับมาใหม่ได้ เพราะ..
. เราปล่อยให้เกิดความเคยชินในการยึดมั่วไปหมด
. ยึดแบบเรื่องไม่เป็นเรื่องก็ยึด

พอท่องคีย์เวิร์ด (keyword) ตรงนี้ได้
จับจุดสังเกตตรงนี้ได้ มันไม่ต้องคิดมาก

.. .. .. .. .. .. .. .. .. ..

ของเราบางทีอ่ะนะ
เราเอาทฤษฎีเข้ามาประยุกต์ เข้ากับชีวิตตนเอง

คิดกับตัวเอง สอนกับตนเอง
แต่จริงๆแล้ว ที่คิดนี่มันสูญเปล่า

ที่พี่พูดอย่างนี้เพราะอะไร
เพราะคิดแล้วลืมได้ ความคิดนี่มันยาวเกินไป


แต่การสังเกตจุดใดจุดหนึ่ง (อาการยึด )
ที่มันจะเห็นได้ชัดทุกครั้งอย่างนี้
มันเป็นแก่นสาร เพราะเราเอามาใช้ได้เสมอ
ไม่ว่าสถานการณ์ไหนๆ
แต่ความคิดนี่ มันไม่แน่
ว่าเราจะคิดได้หรือเปล่าในสถานการณ์หนึ่งๆ


ยกตัวอย่าง อย่างเช่น
เราสอนตัวเองเป็นเรื่องของจิตวิทยา หรือเรื่องของธรรมะ

ในสถานการณ์ที่ทำให้เรารู้สึกแย่
เราจะคิดว่า เออ มันจะคลี่คลายออกไปได้อย่างไร

จะคิดเป็นขั้นเป็นตอนว่า
เออ จะต้องทำอย่างงี้ อย่างงี้นะ

อันนี้สมมุติว่าเราเกิดความรู้สึกแย่ขึ้นมา
พอคิดได้แล้วมันสามารถคลายความรู้สึกแย่ลงไปได้จริงๆ

เราก็ดีใจ
แต่พอมันรู้สึกแย่กลับมาอีกแล้วคิดแบบเดิม
เราจะไม่สามารถแอพพลาย (apply) ได้แล้ว

นี่แสดงให้เห็นเป็นหลักฐานว่า
ความคิดมันช่วยไม่ได้เสมอไป


แต่อย่างเมื่อกี้นี้ ถ้าเราดูว่า
มันมีหน้าตาการยึดแบบเดียวกันตลอด

ไม่ว่าจะเรื่องไหนๆ เคสไหนๆ
มันก็จะใช้ได้เสมอ
ไม่ว่าจะเกิดเรื่องทางโลกหรือเรื่องทางธรรม

เราจะพอใจหรือไม่พอใจอะไรก็แล้วแต่

.. .. .. .. .. .. .. .. .. ..

ถาม (ต่อ) :  ตอนนี้ที่สังเกตตนเอง  ก็คือว่าตัวความยึดมันจะเป็นแบบบีบจนถึงสุดๆ แล้วเราก็จะ..โอเค ไม่เอาแล้ว แล้วพออยากกลับมาภาวนาอีกทีหนึ่งก็จะรู้สึกแบบสว่างโล่งขึ้นมาทีหนึ่ง จากนั้น น้องก็จะหยุด คือ หยุดเหมือนกับรู้สึกว่าเบื่อ มันไม่มีแรง

ดังตฤณ: 
นี่แหละ ตรงที่เบื่อนี่แหละ
มันก็เป็นรูปแบบของอาการยึดโดยไม่รู้ตัว
ไปยึดอาการยึด


น้องลองกลับไปสังเกตดูดีๆ

พอเบื่อ มันจะยึดด้วยความไม่พอใจ
ไม่พอใจตนเอง ไม่พอใจอาการเบื่อ

ตรงนั้นมันเหนียวแน่นเหมือนกัน 

มีอาการเข้าไปคว้ามา
แล้วก็ไปอุ้มไว้ไปกอดไว้

ไม่ต่างกับที่เราไม่พอใจคน
แล้วรู้สึกว่าเบื่อหน้าหมอนี่จริง

ไม่ต่างกันเลย
พ้อยต์คือถ้าเราเห็นหน้าตาอาการยึดของเราได้ตัวเดียว
มันแอ๊พพลายได้หมดแม้กระทั่งอาการเบื่อ
แม้กระทั่งอาการไม่พอใจตนเองที่ไม่ไปถึงไหนซักที


.. .. .. .. .. .. .. .. .. ..

ถาม (ต่อ) : มันเห็นความไม่กล้าปล่อยของตนเอง..

ดังตฤณ: 
จำคีย์เวิร์ดเอาไว้นะ
ไม่กล้าคือ ยึดความไม่กล้า
เห็นอาการยึดไหม


ไม่ว่าจะเกิดภาวะอะไรขึ้นมา
มันเป็นความยึดตัวเดียวกันหมด
และน้ำหนักเท่ากันหมด
ยึดความเบื่อ
ยึดความไม่กล้า
ยึดความรู้สึกว่าตนเองไม่เอาไหน
ยึดความรู้สึกว่าตนเองไม่ไปถึงไหน

ไม่ว่าเราจะคิดอะไรขึ้นมา
จิตปรุงแต่งเป็นภาวะไหนๆขึ้นมา
มันยึดเท่ากันหมดเลย

ตรงนี้แหละที่เป็นแก่นสารที่พี่พูดถึง
และให้เราไปสังเกตว่า

ถ้าเราเห็นอาการยึด
มัน
ก็จะคลายเองนะ..ทุกเรื่อง


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น