ถาม : ปมที่ฝมอยู่ในจิต เช่น ปมวัยเด็ก มันสลายไปได้ไหม
บางทีเราเศร้า เพราะลึกๆเรามีปมฝังอยู่แบบไม่รู้ตัว?
วันที่ ๓๐ เม.ย. ๒๕๖๐
ดังตฤณ:
มันมีกันทั้งนั้นทุกคนนะ
เรื่องปมฝังอยู่ในจิตเนี่ย มันไม่หายไปหรอก คือ ประสบการณ์ในแต่ละชาติ ในแต่ละชีวิตที่เป็นมนุษย์
เกิดมาเป็นสิ่งมีชีวิตแบบนี้เนี่ย มันไม่ได้มีแต่จิตวิญญาณอย่างเดียว ยังมีสมองที่มีหน้าที่หลักในการทำให้เรารู้สึกนึกคิดอะไรไปยังไงนะฮะ
อย่างทุกวันนี้นักวิทยาศาสตร์เริ่มระแคะระคายว่า
อะไรๆทั้งหมดที่มันเกิดขึ้นเป็นประสบการณ์ชีวิตของเรา
มันเป็นการทำงานของสมองหมดเลย อันนี้ถ้าพูดไปแล้วยาว แต่สรุปสั้นๆง่ายๆว่า
ส่วนหนึ่งของความทรงจำเนี่ย สมองมีบทบาทมีหน้าที่ที่จะดึงขึ้นมาแค่ไหน แต่ความจำเนี่ย
จริงๆทุกวันนี้จริงๆนักวิทยาศาสตร์เห็นนะว่า เวลาที่คนเราจำอะไรใหม่ๆ มันจะมีโปรตีนชนิดหนึ่งสร้างขึ้นมาในสมอง
มีการแตกกิ่งก้านสาขาของเส้นประสาทขึ้นมา แล้วก็เข้าใจว่า นั่นน่ะ เรียกว่าความจำ
แต่จริงๆมันเหมือนกับแค่เรามีแฟลชไดรฟ์เพิ่มขึ้นมา หรือว่ามีฮาร์ดดิสก์เพิ่มขึ้นมา
ตัวข้อมูลจริงๆที่เค้าเข้าใจว่าเป็นตัวโปรตีน หรือเป็นเรียงรหัสอะไรกันในทางประสาทวิทยาศาสตร์เนี่ย
จริงๆ นั่นไม่ใช่ความจำนะ
คือจิตเนี่ย แม้แต่จิตเองก็ไม่ใช่ที่บันทึกกรรม
ส่วนใหญ่แม้แต่ชาวพุทธที่เรียนกันทุกวันนี้จะเชื่อว่า ความจำเนี่ยบันทึกอยู่ในจิต แต่จริงๆเนี่ยไม่ใช่นะ
คือที่อธิบายว่าความจำบันทึกอยู่ในจิต แล้วจิตดวงหนึ่งดับไป ก็สืบความจำไปให้จิตอีกดวงหนึ่งน่ะ
ในพระไตรปิฎกดั้งเดิมพระพุทธเจ้าไม่ได้ตรัสไว้อย่างนั้น พระพุทธเจ้าตรัสว่าอดีตสัญญาเนี่ย
คือพูดง่ายๆว่าความจำมันเป็นสิ่งที่เกิดดับตามธรรมชาติอยู่
ทีนี้มันจะฝากไว้ที่ไหนเนี่ย มันก็ฝากไว้กับสัจธรรม สิ่งที่มันเคยเกิดขึ้นแล้วเนี่ย
มันก็อยู่ตรงนั้นแหละ
ถ้าหากว่าสัญญาของเราเกิดขึ้น ยกตัวอย่างนะ
เมื่อชั่วโมงที่แล้วเนี่ย สิ่งที่เคยเกิดขึ้น มันแปรรูปเป็นอดีตสัญญาในปัจจุบันไปแล้ว
ถ้าเราทำให้อดีตสัญญานั้นเกิดขึ้น ณ ขณะนี้ ก็เท่ากับเรากลับไปอยู่เมื่อชั่วโมงที่แล้วชั่วขณะหนึ่ง
แล้วรายละเอียดเกี่ยวกับชั่วโมงที่แล้วที่มันเชื่อมโยงก็จะปรากฏตามมา อย่างถ้าเราอยู่อีกห้องหนึ่ง
เราก็จะนึกออกว่า เมื่อชั่วโมงที่แล้วอีกห้องหนึ่งเนี่ย มีอะไรอยู่ในนั้นบ้าง อันนี้คือสิ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้จริงๆ
ทีนี้อย่างปมในอดีตที่มันเคยเกิดขึ้น
มันฝังอยู่ตรงไหน?
มันมีการทำงานของสมองร่วมอยู่ด้วย
แล้วก็มีเรื่องของการกระตุ้นให้เกิดการนึกคิดถึงสิ่งที่เลวร้าย
หรือว่าสิ่งที่มันดีงาม ที่เคยเกิดขึ้นในช่วงเด็ก จากอารมณ์กระทบอย่างใดอย่างหนึ่ง
เช่น เห็นภาพแล้วมันกระตุ้นเตือนให้นึกถึง หรือ แม้กระทั่งภาวะที่มันกระทบใจเราเอง
ภาวะนึกๆคิดๆเนี่ยนะ ทางพุทธเรียกว่าเป็น “ธรรมารมณ์” เป็นสิ่งที่ปรากฏขึ้นมาเอง มันผุดขึ้นมาโดยเราไม่ได้ตั้งใจเป็นผู้ไปเค้นนึก
แต่มันปรากฏขึ้นมาเองเฉยๆ จากการกระตุ้นของสมอง ซึ่งมันมีเหตุผลซับซ้อน และเราเข้าใจยาก
เราเข้าใจได้แค่ว่า เออ เมื่อใดที่ธรรมารมณ์ปรากฏขึ้น เมื่อนั้นธรรมารมณ์นั้นที่กระทบใจ
จะก่อให้เกิดสัญญา จำได้หมายรู้ว่าเคยเกิดอะไรขึ้น
แล้วพอตัวความเจ็บปวดในอดีตมันย้อนกลับมา
อาการทางกายมันก็จะมีปฏิกิริยาตอบสนอง อย่างเช่น เป็นความเกร็ง
เป็นความรู้สึกจุกอก บางคนเนี่ยเกร็งไปทั้งตัว บางคนเกิดความรู้สึกอยากร้องไห้
นี่เรียกว่าเป็นการลั่นไกจากสมองนะครับ คือ ถึงเวลา ถึงจุดจุดหนึ่งขึ้นมาเนี่ย อยู่ๆมันนึกขึ้นมาเอง
มันคิดขึ้นมาเอง แล้วก็วนเวียนอยู่กับความเศร้า วนเวียนอยู่กับอารมณ์ทุกข์แบบนั้นไม่เลิก
ราวกับว่าอดีตที่ผ่านมาแล้วในวัยเด็กไม่เคยหายไป มันฝังแน่นอยู่ในตัวตนนี้ นาทีนี้
ตลอดเวลา
ตัวนี้แหละ ถ้าเราจะเจริญสติ เราเริ่มจากการทำความเข้าใจว่า
ความทรงจำที่แท้จริงนะ มันไม่เที่ยง มันเป็นอนัตตา
ทีนี้พอพูดว่าความทรงจำไม่เที่ยง เอ้า
แล้วทำไมมันยังอยู่นะ ปมฝังใจในวัยเด็กมันไม่ได้หายไปไหน นี่เราไม่ได้พูดถึงไม่เที่ยงแค่นั้นนะ
ไม่ใช่พูดถึงว่าทำไมมันไม่หายไปจากหัวเราจริงๆสักที เราเอาตรงที่สังเกตว่า เมื่อมันเกิดขึ้นในลมหายใจนี้
จะเป็นความทรงจำที่เรารู้สึกว่ามันเลวร้ายขนาดไหนก็ตาม หรือว่าเป็นความทรงจำที่ไม่ได้แย่มาก
แต่เราอยากลืม พอมันเกิดขึ้นมาที่ลมหายใจนี้ เราก็แค่สบายๆ ยอมรับว่ามันเกิดขึ้น
แต่ต้องรู้นะ มีสติรู้ว่านี่เป็นความทรงจำ ตัวความทรงจำนั่นแหละ ขอให้ทราบว่า
มันเป็น..ขอเรียกเป็นศัพท์นะ เพื่อที่เดี๋ยวจะได้พูดกันง่ายๆ ความทรงจำนั้นเป็น “ธรรมารมณ์” ชนิดหนึ่ง
เป็นธรรมะชนิดหนึ่งที่เข้ามากระทบใจ พอกระทบใจมันก็จำได้ว่าเคยเกิดขึ้นอะไรขึ้นกับตัวเรา
คนทั้งโลกจะหยุดกันที่ตรงนี้
หยุดกันที่ข้อสรุปว่า ความทรงจำนั้นคือตัวเรา เราเคยเกิดเรื่องนั้นขึ้น
แล้วเรื่องนั้นยังไม่หายไปจากหัวเรา นี่คือสิ่งที่ทุกคนยึด!
ที่นี้ในความเป็นจริง ความทรงจำหรือสัญญานั้น
ที่ลมหายใจนี้มันเกิดขึ้น ลมหายใจต่อมามันอาจจะคลายตัวไป มันอาจจะไม่เข้มข้นแบบลมหายใจก่อน
มันอาจจะไปมีความคิดเกี่ยวกับเรื่องอื่นเข้ามาแทนที่ นี้แหละ ตัวนี้ที่ทางพุทธถือว่าเป็นความไม่เที่ยงของสัญญา
นี่แหละคือความไม่เที่ยงของธรรมารมณ์ ภาวะกระทบใจเมื่อกระทบแล้ว ถ้าหากว่าเราไม่ไปครุ่นคิดต่อ
แต่สังเกตเฉยๆว่ามันยังอยู่ในใจเราไหม เราจะพบว่าที่ลมหายใจหนึ่ง กับอีกลมหายใจหนึ่ง
มันต่างกันได้ ตัวนี้แหละที่เรียกว่าความไม่เที่ยง ที่เรียกว่าอนิจจัง
พอเราสังเกตไปอีก เอ้อเนี่ย
ไปคิดเรื่องอื่นแล้วนะที่ลมหายใจนี้ อีกแป๊บหนึ่งมันย้อนกลับมาคิดใหม่
ทั้งๆที่เราไม่ได้เรียกมันมา เราไม่ได้มีความยินดีที่จะเอามันกลับมาอยู่ในหัวเลย
แต่มันก็กลับมา นี่ก็เป็นความไม่เที่ยงอีกเหมือนกัน พอเราทำความเข้าใจไว้อย่างถูกต้องตามหลักการของการเจริญสติแบบนี้
เราจะเห็นความไม่เที่ยงของความจำนั้นๆเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา
ผลคือเวลาที่เราเห็นไปหลายๆครั้งเข้า ..เนี่ย
เกิดขึ้นครั้งนี้มันไม่เที่ยงจริงๆด้วย เดี๋ยวก็มีเรื่องอื่นแทรกแทนเข้ามา แล้วเดี๋ยวเรื่องอื่นหายไป เรื่องนั้นกลับมาอีก
วกกลับไปวกกลับมา นี่เรากำลังเห็นความไม่เที่ยงอยู่
นี่ครั้งนี้ประสบความสำเร็จในการเห็นความไม่เที่ยงแล้วนะ รุ่งขึ้น วันต่อมา
ตื่นขึ้นมา เอาแล้ว มันนึกถึงขึ้นมาอีกโดยที่ไม่รู้เหนือรู้ใต้
มันมาจากไหนก็ไม่รู้ เราก็ได้คีย์เวิร์ดละ “ธรรมารมณ์กลับมาแล้ว” กลับมากระทบใจแล้ว สัญญาเกิดขึ้นแล้ว สัญญาเก่า ความจำเก่าๆปรากฏขึ้นมา เราก็ดูโดยความเป็นของไม่เที่ยงอีก
ลมหายใจนี้สัญญาเกิด ลมหายใจหน้าสัญญาค่อยๆคลายตัวลง อีกลมหายใจหนึ่ง สัญญาดับไป
เห็นแบบนี้ เอ้าวันที่สองผ่านไป
วันที่สามต่อมา กำลังกินข้าวอยู่ดีๆ
ความทรงจำชุดเดิมกลับมาอีก เราก็ทำแบบเดิม ซ้ำๆ ซ้ำไปซ้ำมา จนกระทั่งอาจจะวันที่เจ็ด
หรืออาจจะกระทั่งหนึ่งปีผ่านไป จิตมันเกิดความฉลาดขึ้น จริงๆจิตไม่ได้ฉลาดหรอก
สติมันเกิดปัญญาประกอบจิต
พอมีสัญญากลับมาปุ๊บ มีธรรมารมณ์กระทบใจปั๊บ
มันเกิดความตื่นรู้ขึ้นมาทันทีว่า เดี๋ยวมันก็หายไป แล้วมันก็หายไปให้ดูจริงๆด้วย
เพราะเราดูมาตลอดปี หรือตลอดเจ็ดวัน แล้วก็พบว่ามันไม่เที่ยงทุกที ตรงนี้แหละที่จิตมันจะได้ข้อสรุปว่า
ที่เป็นธรรมารมณ์กระทบใจเนี่ย มันเป็นอนัตตา มันไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ตัวใครเลย
ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่เราเขา มีแต่ภาวะอะไรอย่างหนึ่งที่มันเกิดขึ้นกระทบใจแล้วเดี๋ยวมันก็ต้องผ่านไป
ตัวนี้แหละที่ปัญญาเกิดแล้ว
แล้วตัวนี้แหละที่เป็นเครื่องบอกเลยว่า อดีตที่ผ่านมาจะแย่แค่ไหน หรือว่าดีเพียงใด
มันสามารถเอามาใช้เป็นอุปกรณ์การเจริญสติได้หมด ชาวพุทธเรานะ
พลิกวิกฤติให้เป็นโอกาส เปลี่ยนความทรงจำแย่ๆให้กลายเป็นสติปัญาดีๆขึ้นมาได้ภายในชีวิตนี้แหละ!
แล้วพอจิตนะ เห็นว่าสักแต่เป็นสัญญา
สักแต่เป็นธรรมารมณ์กระทบใจ เห็นว่าสักแต่เป็นสัญญาเกิดดับๆ อดีตสัญญาเป็นปัจจัยให้เกิดสัญญาปัจจุบัน
มันจะรู้สึกว่าไม่มีตัวเราอยู่ในตัวสัญญา ไม่มีตัวตนอยู่ในธรรมารมณ์ อะไรก็แล้วแต่ที่มันเกิดขึ้นกระทบใจ
สักแต่เป็นของที่เอาให้ใจใช้เป็นอุปกรณ์เจริญสติ มีอยู่ให้รู้ไปอย่างนั้นเอง
ไม่ใช่มีอยู่ให้ยึดจะเอาเป็นเอาตายกับมัน
ที่จุดเริ่มต้นแค่ทำความเข้าใจ
หรือตั้งมุมมองไว้ถูกเนี่ย จากอะไรที่มันเบสิกมากๆมันกลายเป็นขั้นแอดวานซ์ภายในเวลาไม่นาน
แต่ถ้าเราไม่ทำความเข้าใจ เราไม่ได้ยินได้ฟังธรรมะจากพระพุทธเจ้าเลย
เราก็จะได้ข้อสรุปเดิมๆไปจนตายว่า ความจำเนี้ย ประสบการณ์นี้เป็นตัวเรา แล้วตอนตายมันจะงงนะ
เอ๊ะ ตลอดเวลาที่มันเป็นตัวเราๆๆเนี่ย พอตอนใกล้จะตายมันมองไม่เห็นอะไรเลยที่มันจะคว้าไว้ได้
ที่มันจะยึดไว้ได้ ร่างกายก็กำลังจะแตกสลายไป ความจำอะไรที่มันเคยเจ็บปวดแค่ไหนก็ตาม
หรือที่เคยดีงามแค่ไหนก็ตาม มันก็เหมือนเลือนๆ มันมีอะไรสลับๆมาแบบห้ามไม่ได้อยู่ตลอดเวลา
แล้วอะไรที่มันสลับๆมาบอกว่าเป็นตัวเราๆๆๆนั่นน่ะ เราจะเกิดความงงตัวองนะว่า เฮ้ย
ถ้ามันเป็นตัวเราจริง ทำไมเอาไปใช้ไม่ได้ล่ะ ความทรงจำวัยเด็กบางชุดนะ
มันลืมไปสนิทเลย ลืมไปไม่เคยคิดถึงมันเลยตลอดชีวิต แต่วันตายเนี่ยมันกลับมาซะอย่างนั้นเอง
กลับมาแบบไม่รู้เหนือรู้ใต้ เอ๊ะ ตัวเราเนี่ยตัวไหนกันแน่นะ ตัวที่มันเป็นเด็ก
ตัวที่มันโตขึ้นมา ตัวที่มันเป็นหนุ่มสาว หรือตัวที่มันแก่
หรือตัวที่มันกำลังจะตายอยู่นี้ จิตมันจะงงๆ บอกตัวเองไม่ถูก
แต่คนที่เจริญสติมาก่อนไปถึงจุดนั้นเนี่ย
สะสมสติมาไว้ดีแล้วมันจะไม่งง มันจะได้พระธรรมอันเป็นสุดยอดของสัจจะเป็นที่พึ่ง
มันจะมีสติเกิดขึ้น ระลึกได้ว่าเหตุการณ์อะไรผ่านมาเข้าหูเข้าตา หรือว่าภาวะทางกายมันกำลังพยศยังไงก็ตาม
สติมันจะมีแต่บอกตัวเองว่าไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่เราเขา ที่สำคัญมั่นหมาย
นึกว่าเป็นชื่อนั้นชื่อนี้ เป็นลูกของคนนั้นคนนี้ เป็นแฟนกับใคร
เป็นญาติโกโหติกากับชาวบ้านเค้าเนี่ย มันเรื่องเหลวไหลทั้งเพ
วันสุดท้ายเนี่ยตัดสินเลยนะว่าถูกหลอกมาทั้งชีวิต
แล้วคนเจริญสติเนี่ยก็จะไม่โดนหลอกในวันสุดท้าย มันจะเห็นไงว่าร่างกายเนี่ย
เดี๋ยวก็ต้องเสื่อมไป ความทรงจำมีอยู่กี่ชุด กี่ร้อยกี่พันกี่หมื่นชุด
กี่แสนกี่ล้านชุด ที่สะสมมาทั้งชีวิตเนี่ย เดี๋ยวมันก็หายไป แล้วถ้าเคยสะสมสมาธิจนกระทั่งมีกำลัง
มีความสามารถที่จะเห็นไปล่วงหน้า มันเห็นเป็นนิมิตเลยนะว่า เออ กรรมที่ทำมาทั้งหมดเนี่ย
เดี๋ยวจะไปปรากฏรูปปรากฏร่างเป็นแบบไหนต่อ เป็นแบบสว่างหรือเป็นแบบมืด
เป็นแบบที่น่าเกลียดน่ากลัว หรือว่าเป็นแบบที่สวยงามสง่า
มันจะเห็นล่วงหน้าเลยก่อนที่จะถึงจุดนั้น
แล้วถ้าถึงขั้นที่ข้ามพ้นจากความยึดติดว่ากายนี้ใจนี้เป็นตัวเป็นตนไปได้
ตรงนั้นมันก็จะไม่เห็นภาพแล้วว่าจะไปเกิดอะไรต่อ พอจิตสุดท้ายใกล้ๆจะดับ
ใกล้จะถึงจิตสุดท้าย ใกล้ๆจะดับหายไปเนี่ย มันจะรู้สึกถึงความว่าง
แบบที่พระพุทธเจ้าตรัสว่าเหมือนมหาสมุทรแห่งความว่าง
แล้วก็ความว่างฝ่ายนี้ก็กำลังจะไปรวมกับความว่างฝ่ายโน้น
แบบที่ความว่างฝ่ายโน้นเนี่ย ไม่มีการพร่อง ไม่มีการเพิ่ม มันเป็นอยู่เท่าเดิม
ตัวนี้แหละที่เป็นสุดยอดของแก่นพุทธศาสนา
ถ้าหากเราเริ่มทำความเข้าใจได้จากจุดง่ายๆ จากปมฝังใจ
หรือว่าเรื่องไม่ดี ประสบการณ์ไม่ดีในชีวิตประจำวัน แล้วค่อยๆพิจารณาค่อยๆเห็นว่า อันนั้นก็ไม่เที่ยง
อันนี้ก็ไม่ใช่เรา อันนั้นก็ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่เราเขา
ในที่สุดแล้วพุทธศาสนาเนี่ยจะเป็นคำตอบของชีวิต
เป็นคำตอบสุดท้ายเลยนะว่าเราไม่ต้องไปหาที่ไหนอีกแล้ว สุดยอดของคำตอบในชีวิตเนี่ย
ทั้งในขณะกำลังหายใจอยู่และกำลังจะหมดลมหายใจไปเนี่ย อยู่ตรงนี้แหละ
อยู่ตรงที่ทำยังไงเราจะเจริญสติเป็น ทำยังไงเราจะรู้จักพระพุทธศาสนาให้จริง ทำยังไงเราถึงจะไปถึงจุดที่พระพุทธเจ้าท่านบอกว่าคุ้มที่สุดที่เกิดมาเป็นมนุษย์
นั่นคือตัดความหลงผิดได้ ตัดอุปาทานในตัวตนได้
เท่ากับทำให้จิตไม่ต้องกระสับกระส่าย ไม่ต้องกระวนกระวายเป็นทุกข์อีกเลย แบบชนิดที่ไม่กลับกำเริบอีก
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น