วันพฤหัสบดีที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2564

วิปัสสนานุบาล EP 28 : 15 ธันวาคม 2564

คุณหลิน

 

พี่ตุลย์ : ระหว่างวัน พอจิตใสใจเบา มีความรู้สึกเหมือนกับ

ว่างขึ้นมาเอง รู้อะไรๆ แล้ว สักแต่รู้ไป

สังเกตจากตรงนี้ พอว่างแบบนี้ แล้วรู้สึกถึงลมหายใจ

แล้วเหมือนกับใจรู้ลมหายใจ แต่ไม่เอาลมหายใจมาเป็นตัว

 

.. รู้ แต่ไม่ยึด ..

 

นี่ เรียกว่าอาการตัวอย่าง จิตที่เป็นตัวอย่างมาจากอานาปานสติ

เอาไปเทียบเคียงได้ง่ายในระหว่างวัน

 

ในระหว่างวัน พอมีความใสเบาขึ้นมาเอง

ถ้าตอนไม่ได้ทำงาน ไม่ได้คุยกับคน

อาจเลี้ยงไว้ด้วยการรู้สึกถึงลมหายใจ ธรรมดาๆ

ถึงแม้จะไม่ได้ยาวมาก ถึงแม้จะไม่ได้ลึกมาก

แต่ก็จะมีความคุ้นที่จะรู้สึกว่าลมหายใจ

กำลังผ่านเข้า ผ่านออกอยู่

 

เสร็จแล้วเปรียบเทียบดู อย่างของคุณหลิน

ระหว่างวัน จะรู้สึก.. บางทีก็เบา แต่บางทีเหมือนหนักๆ ขึ้นมา

อันนี้เป็นเรื่องธรรมดา ที่พอเราอยู่ระหว่างวัน

ไม่มีทางเบาได้ตลอดเหมือนตอนทำสมาธิ

 

พอรู้สึกเหมือนมีตัวตน มีอะไรหนักๆ

แตกต่างจากตอน จิตใสใจเบา

แตกต่างจากตอน ว่างอย่างรู้ ว่างอย่างจะทิ้ง

 

ช่วงหนักขึ้นมานั้น หากเราเห็นทุกครั้งว่า

มีอะไรเกินๆ มีน้ำหนักส่วนเกินทางจิตขึ้นมา

อาจอาศัย ลมหายใจ ช่วยสังเกตก็ได้

 

เหมือนอย่างที่ พระพุทธเจ้าตรัสในโพชฌงค์เจ็ดว่า

มีปีติ มีความเบา มีสมาธิ มีอุเบกขา ในแบบที่มีแต่รู้มีแต่ทิ้ง

 

ให้ประกอบพร้อมกัน หรือพระองค์ใช้คำว่า สหรคต*

(แปลว่า : ไปด้วยกัน, กำกับกัน, ร่วมกัน, ประกอบกัน)

พร้อมกันไปกับ อานาปานสติ

 

ก็คือ รู้ในระหว่างวัน อันนี้ พูดในระหว่างวันนะ

รู้เหมือนกับตอนนี้ที่รู้ว่า ใจมันเบา ว่าง ไม่เอาอะไร

รู้ไปพร้อมกับการ หายใจออก การ หายใจเข้า

หายใจออกอย่างนี้แล้วรู้ว่า ใจว่าง ใจเบา ใจไม่เอาอะไร

 

ในระหว่างวัน เราไม่สะดวกที่จะอาศัยท่าในการรู้ลมหายใจ

แต่อาศัยลมหายใจ ธรรมดาๆ ได้

ที่เห็นว่า กำลังเบาแบบนี้ กำลังใสแบบนี้

แล้วเมื่อเกิดความรู้สึก หนักๆ ขึ้นมา

จะหนักเอง ไม่ต้องมีอะไรมากระทบใจนะ

มาในรูปการปรุงแต่งจิต ธรรมดาๆ นี่แหละ

ที่จะรู้สึกว่า มีน้ำหนักส่วนเกินขึ้นมา

เราก็รู้พร้อมประกอบไปกับ ลมหายใจ ได้

 

ถ้าหากว่า สร้างความเคยชินไว้

อย่างตอนนี้ที่เราทำจิตต้นแบบไว้ด้วย อานาปานสติ

เห็นลมหายใจออก ลมหายใจเข้า พร้อมกันกับจิตใสใจเบา

 

ในระหว่างวัน เวลาหายใจแล้วรู้สึกถึง ความมีจิตใสใจเบาเองแบบนี้

ก็จะต่อยอด เห็นไปเรื่อยๆ รู้สึกว่า

บางลมหายใจ ก็มีอะไรหนักๆ เป็นส่วนเกิน

เป็นไปไม่ได้ที่จะเบาตลอด 24 ชั่วโมง

ตราบเท่าที่เรายังไม่สามารถเข้าถึงอรหัตผลได้

จิตจะเข้ามารวมกันกับความปรุงแต่ง

 

ความสุข ความฟุ้งซ่าน หรืออาการอะไรที่

เป็นไปในข้างตัวตน เป็นไปในข้างเอาเข้าตัว

อย่างไรก็ต้องเกิด ความปรุงแต่งแบบนั้น

 

ไม่เหมือนจิตพระอรหันต์ .. จิตพระอรหันต์ คือแยกเป็นต่างหาก

คือจะเกิดความสุขจาก ลมหายใจ หรือ ความจำได้หมายรู้

ความคิดอะไรปรุงแต่งขึ้นมา จิตจะรู้สึกว่าแยกต่างหาก

ไม่ผสมกัน ไม่ปนกันอีกเลยไปจนตาย

 

แต่เราๆ ท่านๆ อาศัยอานาปานสติ

เลียนแบบจิตของ พระอรหันต์ได้แป๊บหนึ่ง

 

คีย์เวิร์ดใน อานาปานสติ ที่ยังปรากฏในพระไตรปิฎก

แต่เสมือนสาปสูญไปเป็นพันปี

 

คือ รู้สุขแล้วหายใจออก รู้สุขแล้วหายใจเข้า

คีย์เวิร์ดอยู่ตรงนี้ .. รู้ไปพร้อมลมหายใจ แล้วจะแยกออกไปเอง

แยกออกไปเป็น ผู้รู้ผู้ดู

ดูว่า สุข อยู่ส่วนสุข ลมหายใจ อยู่ส่วนลมหายใจ

และจิต ผู้รู้ ผู้ดู ก็จะรู้ตัวเองว่า กำลังเป็น ผู้ดู อยู่

 

ตัวเองของจิต ไม่ได้มีตัวดั้งเดิมอะไร ไม่ได้มีตัวตนของใครอยู่

แต่ตัวเดิมของจิตเป็น ธาตุรู้

 

ในจักรวาลของธาตุหก จิตเป็น ผู้รู้ ผู้ดู ผู้สังเกตการณ์

แต่จิตถูกปรุงแต่งได้ มีความหนักบ้าง เบาบ้าง

อย่างตอนนี้จิตใสใจเบา มีความสุขอยู่ ในอานาปานสติ

เป็นสุขที่เกิดง่ายๆ เรามีจิตเสมอกันกับ ลมหายใจ เท่านั้น

จิตก็ทำตัวเป็น ผู้รู้ ผู้ดู ลมหายใจแล้ว

 

พอจิตทำตัวเป็น ผู้รู้ ผู้ดู ลมหายใจ

แล้วรู้ตัวเองว่า บางลมหายใจ ใส เบามาก

บางลมหายใจ ไม่ได้ใสเบาขนาดนั้น มีอะไรตุ่นๆ ขึ้นมา

คล้ายๆ มี น้ำหนักไม่เท่ากันในแต่ละรอบ

 

ถ้าสังเกตอย่างนี้เป็นตัวอย่าง ในขณะที่เจริญ อานาปานสติ

แบบนั่งสมาธิหลับตาอยู่.. จะได้จิตต้นแบบ

อยู่ระหว่างวันก็อย่างนี้ พอเรารู้สึก ลมหายใจ เข้าออกได้

รู้สึกจิตใสใจเบา ระหว่างวันที่เกิดเอง

เราเลี้ยง ความรู้สึกนั้นไว้ ด้วยการรู้ ลมหายใจแบบนี้แหละ

ก็จะเห็นว่า แต่ละ ลมหายใจ เดี๋ยวก็เบา เดี๋ยวก็เบามาก

เดี๋ยวเบาน้อย บางทีก็หนักๆ ขึ้นมา

 

ด้วยความเคยชินที่จะเห็นแบบนี้ ก็จะไปถึงจุดหนึ่ง

ที่ รู้สึกว่า จิตไม่ใช่เราจริงๆ

ตอนนี้ยังไม่ยอมเชื่อว่าจิตไม่ใช่เรา

แค่รู้สึกว่า จิตใสใจเบาแล้วชีวิตดีขึ้น

 

แต่ถ้าเรารู้ซ้ำๆ เป็นร้อย เป็นพัน หมื่นครั้ง

ชั่วข้ามวัน ข้ามสัปดาห์ ข้ามเดือน .. จะเกิดอาการเชื่อ

 

ตอนที่จิตเริ่มเกิดอาการเชื่อว่า จิตไม่ใช่ตัวตน

จะรู้สึกเหมือนกับว่า ขันธ์ห้า รู้ตัวว่าเป็นขันธ์ห้า

 

เมื่อขันธ์ห้ารู้ตัวว่าเป็น ขันธ์ห้า

ตัวอะไรที่รู้ .. ก็ตัววิญญาณขันธ์ ตัวจิตนั่นแหละ

ที่เห็นว่าตัวเองไม่ใช่ใครดูอะไร

แต่เป็นสภาวะธรรม ดูสภาวะธรรม

สภาวะรู้ ดูสภาวะที่ไม่รู้

 

อย่างตอนนี้เวลาที่เรารู้สึกถึงความเบา ใส สว่าง ที่ก่อตัวเต็มรอบ

จะไม่มีรูปร่างหน้าตา ไม่มีมโนภาพของใคร ไม่มีหญิง ไม่มีชาย

มีแต่การเคลื่อนไหว สักว่าเคลื่อนไหว

มีแต่ลมหายใจ สักว่าเข้า สักว่าออก

 

แล้วพอจิตรู้อยู่ที่จิต ว่าเป็น ผู้รู้ ผู้ดู .. สักว่าเป็นผู้รู้ สักว่าเป็นผู้ดู

พอมีจิตเสมอลมหายใจได้ แล้วมีจิตเสมอจิต มีจิตเสมอตัวเอง

ไม่มีการปรุงแต่ง นึกคิดเกินไปกว่าตัวเอง

จิตจะอยู่ในสภาพรู้ เห็นตัวเองสักแต่เป็น

ธาตุหนึ่ง ในธาตุทั้งหลายที่ถูกรู้อยู่เบื้องหน้า

 

พอไปถึงตรงนั้น ระหว่างวันจะรู้สึกว่า

หลับตาเจริญสติ เดินจงกรม ด้วยเส้นทางที่กลับไปกลับมาแน่นอน

หรือว่าจะอยู่ระหว่างวัน ที่ไม่มีอาสนะ ไม่มีทางเดินจงกรม

จิตก็จะเห็นอะไรๆ ใกล้เคียงกันมาก หรือเหมือนกันเปี๊ยบ

 

หลับตาลืมตา จิตจะเหมือนใส

เห็นภาวะทางกายเป็นอย่างนี้ ภาวะทางใจเป็นอย่างนี้

ทุกอย่างภายในภายนอกเสมอกัน มีความใส

มีความปรากฏให้จิตที่ใสๆ รู้ได้ว่า

อะไรๆ สักว่าเป็นธาตุ ไม่ใช่เป็นบุคคล

 

พอจิตมีอาการตั้ง .. ตั้งรู้ตั้งดู สักว่าเป็นธาตุ สักว่าเป็นสภาวะ

จะเหมือนกับจิต มีความรู้ตัวมากขึ้นเรื่อยๆ ว่า

ความปรากฏทั้งหลาย สักแต่ปรากฏ เพื่อเป็นเครื่องอาศัยระลึก

ว่าไม่มีใคร .. ไม่ใช่บุคคล

 

ถ้าต้นแบบของจิตขณะทำสมาธิ มีความนิ่ง ใส เบาได้ต่อเนื่อง

จะมีความเคลื่อนอะไรเล็กๆ น้อยๆ ก็กลับเข้าสู่ภาวะรวมศูนย์

ที่มีความนิ่ง ใส เบาได้ .. ตัวนี้จะอยู่

แบบหลับตา หรือลืมตาจะใกล้เคียงกัน

 

ขอแค่ตอนลืมตาในชีวิตประจำวัน

ไม่ลืมที่จะระลึกโดยความเป็นอย่างนี้

 

คีย์เวิร์ด ง่ายๆ เลย อะไรเกิดขึ้น

ระหว่างที่หายใจเข้า ระหว่างที่หายใจออก รู้ไปด้วย

แล้วเห็นเป็นความไม่เที่ยงให้หมด อยู่แต่ตรงนี้เลย

จิตจะแยกออกไปดู เป็น ผู้รู้ ผู้ดู ตลอดเวลา

และจะมีฐานที่มั่นคงในการรู้การดู

 

อยากให้ลองแชร์ ประสบการณ์ที่ผ่านมาตั้งแต่ครั้งล่าสุด ถึงตอนนี้

รวมถึงการเจริญ อานาปานสติครั้งนี้ด้วย

 

คุณหลิน : ระหว่างวันจะไม่รู้ตัว คือใช้ชีวิตเหมือนคนธรรมดา

แต่เดี๋ยวนี้ก็ไม่ใช่ไม่รู้ตัว แต่เห็นแว้บๆ เหมือนที่ อาจารย์พูด

อย่างเมื่อเช้าใส่บาตร พระเปิดฝาบาตร เราก็รู้สึกว่า

นี่ไม่ใช่มือหรอก แต่เป็นธาตุ แต่ระหว่างที่เกิดนั้น ใจเรานิ่ง

 

แต่ว่าถ้าในชีวิตประจำวันคือ ก็เหมือนหินหนักในใจก็มี

ใจเบาก็มี ไม่ใช่มีสภาวะใดอยู่ถาวร จะเกิดขึ้นดับไปเรื่อยๆ

 

พี่ตุลย์ : นี่แหละ อย่างเมื่อเช้าตอนที่เรารู้สึกว่า

มือที่ใส่บาตรไม่ใช่มือคน เป็นแค่ธาตุ เป็นภาวะอะไรอย่างหนึ่ง

 

ส่วนใหญ่เลย ทุกคนที่เจอภาวะแบบนี้ จะรู้สึกว่า เรากำลังเห็น

เสร็จแล้ว ให้มันมีอายุการเห็น

โดยไม่ไปพยายามทำให้อายุมันยืน หรืออะไรขึ้นมา

พอมันเสื่อมจากการเห็น ก็ไม่รู้จะเอากลับมาอย่างไร

 

แต่ถ้าเห็น ณ ขณะนั้นเลยว่า ฝ่ามือที่ใส่บาตร

ไม่ใช่สักแต่เป็นธาตุ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่ภาวะของมนุษย์

สักแต่ว่าเป็นธาตุ เหมือนเรายื่นไม้คืบ ไปเอาของใส่บาตร

 

ตอนที่รู้สึกเหมือนเป็นมือคีบ หรือมือของหุ่นยนต์

หรือเหมือนไม้อะไรสักท่อน

ถ้าเราปล่อยเฉยๆ แป๊บหนึ่งจะหายไป กลายเป็นเราอีก

 

แต่ถ้า ณ ขณะทื่ยื่นมือ รู้สึกเป็นเหมือนธาตุดิน

มีค่าไม่ต่างจากกิ่งไม้ใบหญ้า

หรือกิ่งไม้ที่เราเอามาคีบ ตอนถวายข้าวพระ

ณ ขณะนั้น เพียงเรารู้สึกไปด้วยว่า

กำลังหายใจเข้า หรือหายใจออก พร้อมกันไป

 

เราจะค่อยๆ เกิดความรู้สึกขยายลามมาว่า

ที่ หายใจเข้าหายใจออก เป็นการ หายใจเข้าหายใจออก

อยู่ในร่างเดียวกัน กับมือที่เป็นธาตุนั้นแหละ

 

มือที่เป็นธาตุ นำความรู้สึกเป็นธาตุดินขึ้นมา

แล้วเรา หายใจเข้า หายใจออก

จะรู้สึกว่าแขนเชื่อมต่อกับตัว

และตัวที่กำลังหายใจ จะปรากฏกับใจของเรา

เหมือนกับเป็นธาตุ แบบเดียวกันเป๊ะ กับมือที่เป็น ธาตุดิน

 

เสร็จแล้วด้วยการที่เรารู้สึกถึง

ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก ต่อไปเรื่อยๆ

ก็จะมีตัวประคอง พยุงสติ ให้รู้อยู่กับภาวะทางกาย

ที่ปรากฏเป็นธาตุดินนั้น ต่อไปเรื่อยๆ

 

พูดง่ายๆ ว่าเราเอากำลังสติ อันเกิดจาก อานาปานสติ ไปช่วยค้ำ

ไปช่วยพยุงให้การเห็น ธาตุดิน ยืนยาวขึ้น

 

ยิ่งเราฝึกรู้ ลมหายใจ เข้าออกทุกวันจนชิน จนชำนาญมากขึ้นเท่าไหร่ ความสามารถที่จะเลี้ยงสติ รู้ความเป็นธาตุเอาไว้ ยิ่งยั่งยืนมากขึ้นเท่านั้น

 

อย่างเมื่อเช้าอยากให้เจาะจง ตอนที่รู้สึกถึงความเป็น ธาตุดิน ของมือ

จากนั้นจำได้ไหม ว่าใจเราไปจับอะไร แล้วกลับมาเป็นตัวตนได้อย่างไร

 

คุณหลิน : พอเห็นเป็นธาตุ ไม่ใช่อะไรสักอย่าง

ก็ใส่บาตรต่อ โดยที่ใส่เสร็จ ไม่ได้มองมือ ตัวตรงนี้ก็หายไป

คือ เป็นประจำที่ว่า ใส่บาตรแล้ว จะไม่รู้สึกว่าเป็นอะไรแล้ว

ตัวตนก็จะกลับมาหมดแล้ว

 

พี่ตุลย์ : ตรงนี้แหละที่ต้องการ

 

นี่คือคำให้การของผู้ที่ มีประสบการณ์ตรง

อยู่ๆ เห็นภาวะทางกายเป็นธาตุดินขึ้นมา โดยไม่รู้เหนือรู้ใต้

ไม่ได้คิดไว้ก่อนว่า ณ จังหวะนั้น จะภาวนา

 

ทีนี้ คนส่วนใหญ่จะเป็นแบบนี้ เห็นไหม

คือพอเราไม่ได้รู้ล่วงหน้า หรือไม่ได้ตั้งใจไว้ล่วงหน้า

พอเกิดขึ้นแบบฟลุคๆ ไม่รู้เหนือรู้ใต้

มันก็จะหายไปแบบไม่รู้เหนือรู้ใต้เช่นกัน

 

ทีนี้ ถ้าหากว่าเราตั้งไว้ในใจก่อน ตั้งไว้ล่วงหน้าว่า

ถ้าเกิดภาวะที่จิตมีความใส มีความเบา มีความเป็น สมาธิ

เห็นภาวะทางกาย โดยความเป็นธาตุดิน ธาตุลม หรือเป็นอะไรอย่างอื่น

ที่ไม่ทำให้สำคัญว่าเป็น บุคคล

เรา จะทำความรู้สึกถึง ลมหายใจ เหมือนกับที่ฝึกอานาปานสติอย่างนี้

อย่างที่ผมบอก ณ เวลาที่รู้สึกถึงมือที่กำลังพลิก

คือไม่ใช่ไปขัดขวางการเห็น แต่ทำความรับรู้ว่า

จิตเรา กำลังตั้งอยู่ในอาการเห็น มีสมาธิอยู่ในการเห็นว่า

มือนี้ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน เป็นธรรมดา

 

พอมีความระลึกอย่างนั้นได้ .. แค่ระลึกต่อ

ไม่ใช่ไปเหมือนกับ แทนที่

แต่ให้รู้ไปพร้อมกันว่า ณ ขณะแห่งการเห็นธรรมดา นั้น

มีลมหายใจออกอยู่ หรือ ลมหายใจเข้าอยู่

คือต้องมีอย่างใดอย่างหนึ่ง.. ไม่ออกก็เข้า ไม่เข้าก็หยุด

มีแค่สามอย่างที่เกิดได้พร้อมกัน

 

ทั้งหมดที่พูดมา จะบอกว่า ถ้าเราตั้งใจไว้ล่วงหน้าว่า

เมื่อใดก็ตาม อยู่ระหว่างวัน เราจะเกิดความรู้สึก จิตใสใจเบา

เห็นภาวะทางกายทางใจ โดยความเป็น ธาตุอะไรสักอย่าง

ไม่ใช่ตัวบุคคลก็ตาม

 

ณ ขณะนั้น เราจะระลึกว่า มีความรู้เช่นนั้น ณ ขณะที่ลมหายใจ

กำลังออก กำลังเข้า หรือกำลังหยุด

คือจะไม่มาแทนที่นะ แต่จะเป็นไปพร้อมกัน

เพราะเราได้เจริญ อานาปานสติ ไว้ดีแล้ว

 

อย่างตอนที่เมื่อกี้คุณหลินนั่งไป เริ่มต้นขึ้นด้วยความใส ความเบาของใจ

แล้วพอเรารู้ ลมหายใจ ประกอบพร้อมไปด้วย ก็รู้ไปด้วยกันได้

อยากให้แชร์หน่อยตรงนี้

 

คุณหลิน : พอใจสงบ ไปทำมือไกด์ ก็เหมือนอาจารย์ว่า

พอใจใสเบา ลมหายใจ จะรู้เอง อัตโนมัติ ไม่ต้องไปจ้องไปเพ่ง

ทำให้เบา แล้วก็โปร่งในหัว แล้วสมาธิจะนิ่งเร็วกว่าปกติ

อย่างที่อาจารย์ บอกว่า ถ้าเราเริ่มต้นจากจิตเบาใส

step จะก้าวไปเอง จะอยู่กับลมหายใจ ได้เร็วขึ้น

 

พี่ตุลย์ : คือขึ้นอยู่กับว่าแต่ละคนด้วยนะ

อย่างคุณหลิน ทำมาได้เป็นปกติ แล้วมีความเคยชินแล้ว

 

ทีนี้ คนที่ฟัง อยากให้เข้าใจอย่างนี้

ถึงแม้บางท่านจะขึ้นต้นด้วยจิตใสใจเบา

แต่สองสามลมหายใจ ก็อาจขุ่น ทึบ หรือ ฟุ้งซ่าน หนักๆ ขึ้นมา

คนทั่วไปจะเป็นแบบนี้ คือ จิตใสใจเบาตอนเริ่มต้นได้

เพราะเพิ่งล้างหน้าล้างตา ยังเช้าอยู่ ไม่ได้ทำงาน

แล้วก็กินข้าวอิ่มแล้วอาบน้ำแล้ว อาจรู้สึกว่าสดใสขึ้นมาได้

 

แต่คนทั่วไป จะกลับทึบขุ่นง่ายๆ ในสองสามลมหายใจ

 

ถ้าเราดูของเขาไว้ก่อน ถ้าหากทำจนชำนาญ หากทำจนเป็นปกติวิสัย

ทำจน ไม่มีเหตุอะไรมาขัดแทรก ให้จิตหนักทึบ หรือร้อนรุ่มไปกว่านี้

ในระหว่างวัน ไม่ถือสาคนง่าย ไม่เอาเรื่องเอาราวใครง่าย

ไม่เอาตัวไปหมกอยู่กับความวุ่นวายของโลก

ไม่ว่าด้านความบันเทิง การทะเลาะเบาะแว้ง

 

ก็จะมีลักษณะของใจ คุณภาพของใจแบบหนึ่ง

ที่พร้อมใส พร้อมเบา บวกกับความเคยชิน

ความชำนาญที่จะทำไปเรื่อยๆ ทุกวัน

ก็จะมีสติที่แข็งแรง ตั้งอยู่ได้นาน

 

พูดเสริมนะ เพราะเมื่อกี้ที่ฟังจากคุณหลิน อาจเข้าใจว่า

ถ้าตั้งต้นด้วยจิตใสใจเบา เดี๋ยวก็ไปของมันเองเรื่อยๆ

คือต้องขึ้นกับคนด้วยนะ ขึ้นกับกำลังของแต่ละคน

และขึ้นกับว่า ใครจะเอาใจไปหมกกับความวุ่นวายของโลก

หรือแสวงวิเวกแบบนี้

 

คุณหลิน : ก็มีส่วนที่ อาจารย์พูดว่า เราไม่ได้ไปเอาเรื่องเอาราวกับใคร

ไม่ได้ไปโกรธเกลียดอาฆาตใคร พอมีอารมณ์กระทบ ก็ปล่อยไปเลย

พอเรามาทำสมาธิ พวกนี้จะไม่ติดเข้ามาเป็นอารมณ์ค้าง ก็จะไปเร็วขึ้น

 

แต่ถ้าระหว่างวัน ความกระทบมีเยอะ ความโกรธ ความอาฆาตไม่พอใจ

จะมาคล้ายๆ เป็นตะกอน กว่าจะสลัดไปได้ต้องใช้เวลา

 

ในความรู้สึกตัวเองนะคะ

 

พี่ตุลย์ : นั่นแหละ ที่วันนี้คุณหลินมา

ก็เหมือนกับได้มาสาธิตให้ดูด้วยว่า จิตใสใจเบาเป็นอย่างไร

และมาเอาการบ้านไปด้วย คือ เวลาที่อยู่ระหว่างวัน

บางทีมันจะใส จะเบา เราก็รู้ กำลังหายใจเข้า หรือ หายใจออก

จะหนักขึ้นมาก็รู้ กำลังหายใจเข้า หรือหายใจออก

เหมือนที่เรากำลังปฏิบัติแบบหลับตานี่แหละ

 

แล้วที่สำคัญ เป็นจุดสำคัญมากๆ เลย เราจะตั้งใจไว้ล่วงหน้า

เมื่อไหร่ก็ตามที่เกิด ความรู้สึกว่า กายนี้ใจนี้

ปรากฏโดยความเป็น ธาตุหก ขันธ์ห้า หรืออะไรก็ตามที่ไม่ใช่บุคคล

เราจะรู้ว่า ณ ขณะนั้น

มี ลมหายใจเข้า หรือ ลมหายใจออก หรือ หยุดอยู่

 

ถ้าเราตั้งใจไว้ล่วงหน้าแบบนี้ ในที่สุดเราจะมีสิ่งที่เรียกว่า วิหารธรรม

คืออะไรๆ ในชีวิตที่ปรากฏขึ้นมา จะปรากฏโดยความเป็นตัวตนก็ตาม

โดยความเป็นอนัตตาก็ตาม จะมี อานาปานสติเป็นเครื่องหล่อเลี้ยง

 

ตรงนี้ ให้ไว้เป็นการบ้านกับคุณหลินนะ

แล้วตรงนี้เป็นสิ่งที่ พระพุทธเจ้า ท่านตรัสไว้

 

สำหรับท่านที่สงสัยว่า หลักการตรงนี้ใช้ได้จริงเหรอ

ไหนว่าต้องรู้อย่างเดียว

 

พระพุทธเจ้า ตรัสไว้ว่า ในเรื่องของ โพชฌงค์ 7 ท่านให้ สหรคต

คือทำงานพร้อมกัน สองอย่างนะ

คือมีทั้งองค์ใน โพชฌงค์ ด้วย แล้วก็มี อานาปานสติ ประกอบด้วย

 

ถามว่า อานาปานสติ หลักเป็นอย่างไร

คีย์ที่สำคัญสุดที่ปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎก คือ

เกิดอะไรขึ้น มีความสุขให้รู้ว่า หายใจออก

มีความสุขให้รู้ว่า หายใจเข้า

รู้ว่าอยู่ในจังหวะหายใจออก หรือ หายใจเข้า แต่ละครั้ง

 

หรือแม้แต่มีสภาวะธรรมอะไร แสดงความไม่เที่ยง ไม่มี แตกต่างอยู่

ท่านก็ให้รู้พร้อมประกอบไป กับการหายใจเข้าหายใจออกนั้นเอง

ซึ่งท่านอาจไม่ได้ตรัสว่า ทำแบบนี้เดี๋ยวจะมีการแยกรูปแยกนาม

 

แต่ทุกคนที่ลองทำดู ในห้องเรานี่แหละ

ได้มีพยานให้ พระพุทธเจ้า กันเยอะแล้วนะว่า

ถ้ารู้ ลมหายใจ ประกอบพร้อมไปด้วย

จะมีอาการที่สติ เหมือนแยกออกไปเป็น ผู้รู้ ผู้ดู

มีระยะห่างระหว่าง ผู้รู้ กับสิ่งที่ถูกรู้ ต้องเกิดเป็น ธรรมดา

 

แต่สิ่ง สำคัญ สุดที่เป็นคีย์จริงๆ ของอานาปานสติ

กลับไม่ค่อยมีใครพูดถึงในปัจจุบัน

 

คุณหลิน : อยากจะบอกทุกคนว่า การที่เราเดินมาทางนี้

ให้ตั้งต้น ด้วยความรู้สึกว่า

เราไม่ได้มาเอาอะไร แต่ว่า เราทิ้งอะไรดีกว่า

อย่าคิดว่าเราต้องได้อย่างนั้นอย่างนี้

เพราะจะเหมือนกับเราไปตั้งความหวัง

 

เหมือนอาจารย์ว่า คือคนเราถือ แบบ ..

ทุกสิ่งทุกอย่าง เป็นความเคยชินมาตลอดชีวิต

อยู่ๆ จะให้ทิ้งทั้งหมดจากการนั่งปฏิบัติธรรม ครั้งสองครั้ง

คงเป็นไปไม่ได้

 

แต่คงต้องค่อยๆ วางของทีละชิ้นๆ

จนวันที่คุณสามารถวางได้หมด

คุณจะรู้ว่า คุณไม่ได้อะไรจากทางนี้ คุณไม่ได้มาเอา

 

-----------------

 

คุณแขก

 

พี่ตุลย์ : ของคุณแขก พอทำไปแล้ว จะรู้สึกได้ว่า

ใจของเราถ้าเปรียบเป็นหิน ก็เหมือนมีความเรียบลื่นขึ้น

จากที่ขรุขระ จะเรียบขึ้นเรื่อยๆ

รู้สึกปลอดโปร่ง เบา

 

ทีนี้ในความเรียบลื่น

จะกลายเป็นเหมือนกับตัวเปรียบเทียบได้ชัด

 

เวลาที่กลับขรุขระ ฟุ้งซ่านขึ้นมา มีเรื่องยุ่งเหยิง ยุ่งยาก ลำบากใจ

ซึ่งมักจะมาบ่อยๆ ในระหว่างวัน

เครื่องรบกวนจิตใจทั้งหลาย ทำให้เราหนักใจได้เท่าเก่าไหม

หรือมีความขรุขระ

รู้สึกเปลี่ยนจากนุ่มนวล เป็นหยาบกระด้างได้แค่ไหน

 

จากเดิม ที่มีอะไรวุ่นในหัวตลอดเวลา

ตอนนี้มีจังหวะเว้นวรรค

ไม่ได้วุ่นตลอดเวลาเท่าก่อน

ซึ่งตรงนี้จะสามารถใช้เปรียบเทียบได้

 

เมื่อใจว่าง นุ่มนวล มีความใส

อะไรที่เป็นตรงขั้วข้าม เช่น ทึบ มืด หรือขรุขระไม่ราบรื่น

ก็จะสามารถถูกเปรียบเทียบได้ ในระหว่างวัน

ว่า แตกต่างจากจิตตอนที่อยู่ใน สมาธิแค่ไหน

และสามารถเอากลับมาได้ไหม

ความรู้สึกว่างๆ โล่งๆ ที่กำลังนั่งอยู่นี้

 

ถ้าเอากลับมาได้ เพียงด้วยการระลึกถึง ลมหายใจ

ณ ขณะที่จิตมีความยุ่งเหยิง หายใจทีเดียวรู้สึกสงบลง

เหมือนมีความเคยชินที่จะเข้าทางนี้

เราก็จะรู้สึกว่า เข้าใจแล้ว

ในระหว่างวัน ขอแค่เรามี อานาปานสติ เป็นวิหารธรรม

เมื่อไหร่ก็ตามที่มีเรื่องยุ่งเหยิง

 

ของคุณแขกจะออกแนวว่า .. เมื่อไหร่ที่มีเรื่องรบกวนใจให้ว้าวุ่น

จะเหมือนด้ายพันกันเป็นขดๆ ติดกัน มี ความว้าวุ่นที่แกะยาก

 

ความรู้สึกแบบนั้น เมื่อไหร่ที่เกิดขึ้นในระหว่างวัน

ทดลองดูว่า หายใจเข้า หายใจออก แบบที่เราทำมา

ใน ระหว่าง เจริญอานาปานสติ ด้วยท่าที่สองแบบนี้ จะโล่งขึ้นไหม

 

ถ้าโล่งขึ้นแม้แต่นิดเดียว ถ้าเหมือนอาการพันๆ ในหัวคลายปมได้ กลายเป็นความใส ความสบาย

ก็บอกตัวเองว่า ณ ลมหายใจ นั้น

จิตเปลี่ยนจากอาการพันกัน เป็นอาการที่แก้ปม ถอดปมออกได้

มีความเบา ใส โล่งได้

 

เห็นเปรียบเทียบไปว่า ลมหายใจ ต่อๆ มา

มีอะไรมาพันๆ อีกไหม ว้าวุ่นอีกไหม

 

เรื่องที่มากวนใจเราได้ จะเป็นเครื่องทดสอบจิตที่ดีมาก

 

อยากให้ฟังทุกท่านนะครับ

 

เรื่องใดก็ตามในระหว่างวัน ที่สามารถมารบกวนจิตใจเราได้

ไม่เว้นแม้แต่เรื่องเดียวนะ

เราอาศัยเรื่องรบกวนนั้นเป็นตัวทดสอบจิต

ที่เราฝึก อานาปานสติมา เอาไปทดสอบดูว่าใช้ได้หรือยัง

 

ใช้ได้ ไม่ได้แปลว่า อานาปานสติ

จะทำให้เกิดความนิ่ง สงบ สงัด ปราศจาก ความฟุ้งซ่านทั้งวัน

 

อานาปานสติ ที่ได้ผล ที่เรามาทำต้นแบบจิตกันตรงนี้

จะสะท้อนออกมาด้วยการที่ ระหว่างวัน เกิดเรื่องรบกวนจิตใจ

แล้วเราหายใจเข้า หายใจออก ดูว่าขณะนี้ในหัวมีความยุ่งเหยิงแค่ไหน

 

แล้วพอ หายใจเข้า หายใจออก

เมื่อรู้พร้อมกันไปด้วย ประกอบไปด้วย

ความยุ่งเหยิง เบาวูบไปเลยไหม

หรือค่อยๆ เบาทีละน้อย จนกระทั่งกลายเป็นความโล่ง

 

และความโล่งอยู่ได้กี่ลมหายใจ

ก่อนที่พายุ ความฟุ้งซ่าน จะก่อตัวกลับมาใหม่

 

การที่เราค่อยๆ รู้ ค่อยๆ เห็นไป ฝึกไป ระหว่างวันแบบนี้

ในที่สุด คุณจะรู้สึกว่า มันขยายเวลา

ยืดอายุ การปฏิบัติเจริญอานาปานสติด้วยท่าสอง

ให้ยืนยาวไปในระหว่างวัน ให้ยืดออกไปอยู่ในชีวิตประจำวัน ได้ด้วย

 

แต่ก่อน จะรู้สึกว่า ในระหว่างวัน วุ่นกว่านี้เยอะใช่ไหม

ตอนนี้ ระหว่างวัน โล่งขึ้นใช่ไหม (ใช่ค่ะ)

เรื่องรบกวนยังทำให้เราว้าวุ่นได้ แต่น้อยลง

 

ตรงนี้อยากให้สังเกตด้วยนะ

เวลาที่เราอยู่ระหว่างวัน เรื่องรบกวนจริงๆ

ยังทำให้เรา ว้าวุ่นได้ .. แต่น้อยลง

 

และถ้าคุณแขก เอาตัวนี้ไปเป็นเครื่องตั้งสติในระหว่างวัน

ตอนนี้ที่เห็น คือพอใจว้าวุ่นขึ้นมาระหว่างวัน

เราก็พยายามรู้ลมหายใจ อยู่แล้ว

แต่ที่รู้ .. ไปรู้แบบยื้อ ไม่ได้รู้ประกอบไปด้วยพร้อมกันจริงๆ

 

รู้แบบยื้อคือ เวลาที่วุ่นๆ ขึ้นมา แล้วเรารู้สึกถึง ลมหายใจ

จะครึ่งๆ กลางๆ ไม่ได้มี ลมหายใจ เป็น background

ใจเรายังอยู่ในอาการไม่รู้ว่า%focus ไปอยู่สัดส่วนเท่าไหร่ดี

ยังพยายามไปยึดลมหายใจ แทน ฟังแบบนี้เข้าใจไหม

 

อย่างเมื่อกี้ ตอนที่ผมพูดถึง ลมหายใจ ที่ปรากฏ

แล้วมีความวุ่นๆ แบบนั้น คือมีลมหายใจ เป็น background

แล้วเรารู้ความคิดที่ฟุ้งซ่าน ประกอบพร้อมไปด้วย

 

เรายังปล่อยให้ ความฟุ้งซ่าน ทำงานไป

ไม่ได้เปลี่ยนโฟกัส ยึดจับ ลมหายใจ ทีเดียว

 

เมื่อกี้เป็นตัวอย่างที่ดี ลองนึกดูนะ

ตอนที่รู้อยู่ในระหว่างวัน พอเกิดเรื่องอะไรที่ทำให้เรารู้สึกมึนๆ สับสน

เรื่องในหัวพันกัน คุณแขกจะนึกถึง ลมหายใจ แบบว่า

ทุ่มโฟกัสไปอยู่กับลมหายใจ เลย

 

เสร็จแล้ว ความฟุ้งซ่านในหัว จะแปรตัวเป็นอะไรแข็งๆ ที่หนืดๆ

เป็นยางเหนียวติดหัวอยู่ ไม่หายไปไหน

ทบทวนไป มันจะเกิดแบบนี้

 

อยากจะชี้แจงทุกท่านนะครับ

ผมไม่ได้ให้เปลี่ยนโฟกัสจาก ความฟุ้งซ่าน มาที่ลมหายใจ

เพราะอาการยื้อแบบนั้น ณ ขณะที่ใจเรากำลังวุ่นวาย

จะกลายเป็นการสู้กัน ระหว่างความฟุ้งซ่าน กับ ลมหายใจ

 

แต่ถ้าเราฝึกไว้ก่อนล่วงหน้า เรารู้สึกถึงลมหายใจด้วย

แล้วก็มี ความฟุ้งซ่าน ปรากฏอยู่ในหัว พร้อมกันไปด้วย

ตอนนี้เรารู้ง่าย เพราะความฟุ้งซ่านไม่ได้อยู่ระดับแรง

แต่อยู่ระดับที่อ่อน รู้สบายๆ

ลมหายใจ ก็รู้ ความฟุ้งซ่าน ก็รู้ ว่ามันแยกส่วนเป็นคนละอัน

เป็นคนละ ธรรมชาติกัน เป็นคนละสภาวะกัน

 

แต่ใน ระหว่างวัน พอฟุ้งขึ้นมา มันไม่ง่าย

เวลาเราพยายามจะเอาลมหายใจ ยกขึ้นมา

จะกลายเป็นการเอาลมหายใจ มาแทนที่เต็มๆ

ซึ่งแบบนั้น จะทำให้โฟกัสเราไปต่อไม่ถูก

เพราะเราไม่รู้แล้วว่า จะคิดอย่างไรต่อ

แล้วที่ลมหายใจ ปรากฏขึ้นมาก็เหมือนฝืนๆ

เหมือนสู้ๆ กัน มีอะไรดึงๆ กันไม่ได้รู้แบบปลอดโปร่ง

 

แต่ถ้าเราทำความเข้าใจไว้ล่วงหน้า

คุณแขกลองทำท่าสอง เดี๋ยวจะชี้ให้ดู

 

จังหวะที่ใจว่างโล่ง แล้วรู้สึกถึง ลมหายใจออกมา

เห็นไหม จะเห็นง่ายว่า ความโล่งนี้เกิดขึ้นพร้อมกับ ลมหายใจออก

เพราะ ลมหายใจออกปรากฏชัด

 

และความว่างโล่งนี้เป็นที่สบาย

ไม่ได้ทำให้ใจวุ่นวายอะไร ทำให้ใจเรานี่โล่ง

อย่างตอนนี้ มีความคิดแทรกมาเอง เกิดมาเอง เราไม่ได้ตั้งใจนะ

ที่แทรกๆ ปรุงแต่งขึ้นมา แล้วเห็นไหม

กลับสงบ กลับว่าง แล้วมารู้ลมหายใจใหม่

 

เห็นไหม เราสามารถรู้สึกถึงลมหายใจ

และรู้สึกว่า ความคิดไปเปลี่ยนระดับ

เมื่อกี้อยู่ๆ ฟุ้งมาเอง เสร็จแล้วพอไปถึงความว่าง

ถึงจุดที่ ลมหายใจ ปรากฏใหม่ในใจ

จะเหมือนแยกกันอยู่ ลมหายใจอย่างหนึ่ง ความคิดอย่างหนึ่ง

 

นี่ แบบนี้เรารู้ได้ขณะนี้เลยว่า ความคิดเกิดเมื่อไหร่ เบาลงเมื่อไหร่

จะกำหนดได้ง่าย และลมหายใจ ก็ปรากฏในใจเรา

 

ในระหว่างวัน จะต่างไปจากตรงนี้ เวลาที่ความฟุ้งปรากฏ

จะมี ลักษณะพันกันในหัว โดยเฉพาะของคุณแขก

เวลาคุณแขกมีเรื่องรบกวนจิตใจ จะมีการพันๆ ในหัว แบบยุ่งเหยิง

 

สมมติ ให้ความแขกลองนึกถึงเรื่องที่รบกวนใจได้

และเคยถึงขั้นต้องอาศัยการระลึกถึง ลมหายใจ เข้ามากำกับ

 

พอเรานึกถึงเรื่องนั้นขึ้นมา มันไม่ถึงกับ ไปพันกันยุ่งทีเดียว

ถ้าพูดตรงๆ ก็คือ ยังไม่ได้มีผัสสะกระทบจริง

เป็นแค่จินตนาการนึกถึง ที่อาศัยอดีตสัญญามา

เป็นเครื่องปรุงแต่งจิต ไม่ได้มีผัสสะจริงปรากฏเดี๋ยวนี้

 

แต่อย่างไรก็ตาม จะกลายเป็นตัวอย่างได้ เป็นต้นแบบว่า

เมื่อใดมีความปรุงแต่ง นึกคิดถึงเรื่องไม่ดีในหัวขึ้นมา

แล้วเรารู้สึกถึงลมหายใจ ประกอบไปด้วยความคิดนึก

หรืออาการฟุ้งซ่าน จะกลายเป็นสภาวะที่ปรากฏอยู่ในหัว

มีตำแหน่งตายตัว ในหัวเราอยู่จุดสูงสุด

ส่วนลมหายใจอยู่กลางตัว คนละตำแหน่งกัน

 

เมื่อเราเห็นอย่างนั้นได้ เห็นแบบธรรมดาๆ สบายๆ

ไม่ใช่เห็นแบบที่เราพยายามยกลมหายใจ มาเป็นโฟกัสหลัก

แต่เห็นไปพร้อมกันด้วยใจที่ใส สบายๆ

ตัวนี้จะทำให้เกิดความรู้ เกิดปัญญาแบบพุทธขึ้นมาว่า

ความฟุ้งซ่าน ความว้าวุ่นใจจะหนักหรือเบาก็ตาม

จะเกิดขึ้นเป็นต่างหากจาก ลมหายใจ

 

และเมื่อสติเราเห็นได้ว่า

ลมหายใจ ก็อย่างหนึ่ง ความฟุ้งซ่านก็อย่างหนึ่ง

ความฟุ้งซ่าน จะปรากฏแสดง

โดยความเป็นภาวะไม่เที่ยง ขึ้นมาได้ง่ายๆ

 

เพราะจะเห็นเลย อย่างเราฝึกท่าสอง

ตอนยกสุดจะว่าง จะหาย

หรือถึงไม่ว่างทีเดียว ก็จะเบาลงเยอะ

ขนาดที่เราจับได้ไล่ทันว่า ณ ขณะนี้

ความคิด แสดงความไม่เที่ยงแล้ว

 

ความคิดที่คิดว่า ขยุกขยุยในหัว พันตูในหัวแน่นหนา จริงๆ เบาลงได้

 

ความเชื่อที่ว่า ความคิดเป็นเรา เราเป็นความคิด

จะหายไปชั่วขณะ

และเมื่อความรู้สึกชัดว่า ลมหายใจอยู่ในใจเราเต็มที่

จะเหมือน ความคิดฟุ้งซ่าน ถูกแทนที่ไปสิ้นเชิง

 

จังหวะที่สำคัญก็คือ เมื่อใดก็ตามที่มันก่อตัวขึ้นมาใหม่

ก็แค่รู้ แล้วไม่เผลอปล่อยให้มันเลยตามเลย

 

คนส่วนใหญ่เมื่ออยู่ในระหว่างวัน

เวลาฟุ้งซ่านมักเผลอปล่อยใจเลยตามเลย

ในเมื่อไหนๆ จะฟุ้งแล้วก็ขอสนุกไปกับความฟุ้งด้วย

จะมีความหวงต้นเหตุทุกข์ โดยไม่รู้ตัว

 

ตอนที่เราเริ่มปล่อยใจบอกไหนๆ ก็ไหนๆ จะคิดก็ให้คิดไป

ตัวนี้คือหวงต้นเหตุทุกข์ไว้ ต้นเหตุความทุกข์อยู่ตรงนี้

ตรงความฟุ้งซ่านที่ก่อตัวมา แล้วเราปล่อยไปไปตามมัน

 

แต่ถ้าเรามีเครื่องทุ่นแรง มีอุปกรณ์ที่พระพุทธเจ้า ประทานไว้

เป็นวิหารธรรม เป็นเครื่องอยู่

วิหารแปลว่าที่อยู่ที่อาศัย ที่อาศัยของอะไร ของสติ ของจิต

ที่จะได้มารู้ภาวะ ว่าภาวะแบบนี้นำไปสู่ทุกข์

ภาวะแบบไหน? ภาวะที่ ฟุ้งซ่าน แล้วปล่อยใจเลยตามเลย

 

ทีนี้ พอเรามีอุปกรณ์เครื่องมือดีๆ ไม่ปล่อยแบบเลยตามเลย

มีความรู้สึกว่า ความฟุ้งซ่านมา แล้วก็รู้ลมประกอบไปด้วย

ความฟุ้งซ่าน จะเบาลงทันที แล้วจะรู้สึกว่า เรารับมือได้นี่

 

จากเดิมที่นึกว่าต้องปล่อยเลยตามเลย หรือเราไม่มีสิทธิ์รับมือ

จะเปลี่ยนใจ เกิดความเชื่อ มั่นใจ ศรัทธาในตัวเองทีละน้อยว่า

ทุกครั้งที่ฟุ้งซ่าน เรารู้ลมหายใจประกอบไปด้วย

 

อย่างตอนนี้ ของคุณแขก จะเหมือนกับใจ

เข้าสู่ภาวะความเคยชินอย่างหนึ่ง ที่ทำซ้ำไปซ้ำมา

รู้สึก ถึงความว่าง และ ลมหายใจออก ที่ชัด

 

พอมากๆ รอบเข้า ความพร้อมจะปรุงแต่ง

พร้อมจะผลิตความคิด จะลดกำลังผลิตลง

 

จิตจากเดิมที่มีกำลังผลิตมากมหาศาล

กลายเป็นลดกำลังผลิตลง นาทีต่อนาที

 

ยิ่งเราไปถึงความว่าง แล้วรู้ ลมหายใจ ได้บ่อยครั้งมากขึ้นเท่าไหร่

อาการที่จิตผลิตความคิด จะยิ่งลดระดับลงทุกที

 

เข้าใจชัดไหมครับ (เข้าใจค่ะ)

 

แล้วพอระหว่างวันได้ผลอย่างไร ค่อยกลับมาคุยกันแล้วกันนะ

 

คุณแขก : ได้คำตอบแล้วค่ะ เพราะในระหว่างวัน อึดอัด

แล้วก็พยายามนึกถึง ลมหายใจ แล้วก็อึดอัดไปกันใหญ่

 

พี่ตุลย์ : หลายๆ คนเข้าใจแหละว่า

พยายามจะเอาสิ่งที่เราทำได้ตอนนี้ ไปประยุกต์ใช้ในระหว่างวัน

 

เพราะฉะนั้น ตอนนี้ผมจะพยายามดูทุกคนเลยนะ

ในช่วง จันทร์ ถึง พฤหัส ว่าในระหว่างวัน

เราเอาของที่ทำได้แล้วไปใช้ได้หรือเปล่า

หรือว่าเราทำดีได้แล้วเสียของ อันนี้ก็จะมาดูกันเป็นคนๆ

 

แล้วอย่างของคุณแขก ยกเป็นตัวตั้งเลย

เพราะเมื่อกี้อย่างที่พูด เห็นแล้วล่ะว่าพยายามเอาไปใช้

แต่อย่างคำคุณแขกที่พูดมา ก็คือ พยายามทำอยู่

แต่รู้สึกว่า ยิ่งทำยิ่งอึดอัด

 

ตรงที่อึดอัด ก็เพราะเราโฟกัสไม่ถูก

 

เรื่องของ อานาปานสติ ไม่มีรูปแบบที่เหมือนกับสำเร็จรูป

แล้วจะทำให้ทุกคนทำได้ทำเป็น ในเวลารวดเร็ว

ต้องใช้ศิลปะ บางคนใช้ชั่วชีวิต หรือหลายสิบปีกว่าจะเจอ ว่า

อ๋อ ที่พระพุทธเจ้า ตรัสให้รู้สภาวะทั้งหลาย

ท่านไล่จากหยาบมาละเอียดเลยนะ

ไม่ใช่ท่านให้กระโดดไปทำของยาก แล้วเกินเอื้อม

 

แต่ทั้งๆ ที่พระองค์ตรัสเป็นขั้นเป็นตอน จากหยาบไปละเอียด

แต่ถ้าไม่มีการทดลองทำ หรือมองข้าม

เห็น อานาปานสติ ยากไป ไม่เป็นที่เข้าใจ

ก็เป็นแบบนี้มาเป็นพันๆ ปี ไม่มีใครพูดถึง

 

และคีย์เวิร์ด อยู่แค่ตรงนี้

เราฝึกที่จะรู้ มีความสุขหายใจออก

มีความสุขหายใจเข้า

 

ท่านบอกอย่างนี้ก่อน

มีปีติหายใจออกให้รู้

มีปีติหายใจเข้าตรงนั้นก็รู้ รู้ไปพร้อมกัน

ถามว่าก่อนจะเกิดปีติ ก่อนเกิดสุข มาได้อย่างไร มีที่มาที่ไปอย่างไร

ก็แค่เริ่มจากรู้ว่า กำลังหายใจเข้า หายใจออกอยู่

และในอาการหายใจเข้าหายใจออก ยาวหรือสั้น

 

เราเอามือไกด์มาช่วยก็เพื่อให้ยาวขึ้น

แต่ถ้าหากมันจะสั้นลง มือไกด์จะพาให้เราทราบ

อาจสปีดเร็วขึ้น หรือว่ามีอาการยกที่ ..

เอา บอกเลย อนุญาตว่า ไม่ต้องยกสุดก็ได้นะ ยกสั้นๆ

เพราะบางทีลมหายใจอยากจะเข้าสั้น เราก็ให้มันเข้าสั้น

แต่ว่ามือไกด์ เป็นไปเพื่อมีสติรู้ว่า

ณ ขณะนั้นเรากำลังจะหายใจสั้น

ไม่ใช่บังคับลากให้ยาวอยู่ตลอด

 

และพอธรรมชาติของกาย ธรรมชาติของจิต

เมื่อตั้งอยู่ในทิศทางการรู้ว่า กำลังหายใจเข้า หรือ หายใจออก

กำลังหายใจยาว หรือหายใจสั้น

 

ในที่สุดจะแยกออกไปเป็นผู้รู้ผู้ดู ตั้งมั่นอยู่ว่า

กำลังมีลมหายใจทั้งเข้าออก ยาวและสั้น ปรากฏอยู่เรื่อยๆ

อย่างน้อยที่สุด ถ้าหากว่า จะถึงเวลาที่พักลมหายใจ อาจหยุดยาว

เราก็รู้ .. รู้ทั้งหมด รู้ทุกอย่าง

 

การรู้ทุกอย่าง เสมอกัน

การมีจิตเสมอกันกับลมหายใจอยู่ตลอด

คือการทำให้จิต แยกตัวออกไปเป็น ผู้รู้ ผู้ดู

ผู้มีสติเห็นว่า ลมหายใจก็อย่างหนึ่ง จิตก็อย่างหนึ่ง

จิตที่ตั้งมั่นเท่านั้น จิตที่มีความรู้ชัดเท่านั้น

ถึงจะเห็นตัวเอง แยกเป็นต่างหากจากลมหายใจได้จริง

 

ทีนี้พอเกิดการเห็นแบบนั้น กายก็เกิดความสงบระงับ

เกิดปัสสัทธิ กายไม่กวัดแกว่ง

อย่างที่พระพุทธเจ้าเรียกว่า

มีกายสังขารระงับลง ให้รู้ว่าหายใจออก

มีกายสังขารระงับลง ให้รู้ว่าหายใจเข้า

 

รู้พร้อมไปว่า กายนี้ไม่กระสับกระส่าย

ไม่มีความอยากลุกไปโน่นไปนี่ ไม่เกร็ง

ไม่ฝืนอึดอัดที่ตรงใดตรงหนึ่ง นี่คือกายสังขารระงับลง

ความปรุงแต่งทางกายที่ จะกระเพื่อมขึ้นในทางกิเลสจะไม่มี

 

ตรงนั้นเป็นจุดเริ่มต้น ที่ปีติจะเกิด

 

ถ้าหากดูในอานาปานสติ แล้วมาเทียบกับประสบการณ์ในชีวิต

ก็จะเห็นว่า เป็นแบบที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้จริงๆ

แล้วเราสามารถรู้พร้อมไปกับลมหายใจเข้าออกได้

 

พอมีความเคยชิน มีความตั้งมั่นแบบนี้

แล้วค่อยเอาไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน ก็จะรู้สึกว่า ทำได้จริงๆ

 

อย่างของคุณแขก ที่ผ่านมา พอความคิดยุ่งๆ

แล้วเรามาพยายามเอาลมหายใจมาเป็นเครื่องหยุด

แบบนี้ก็ไปกันใหญ่ เพราะลมหายใจก็ไม่ได้ เรื่องฟุ้งซ่านก็ไม่หาย

 

แต่ถ้าเรามีความชำนาญ แล้วเข้าใจจริงๆ

เกี่ยวกับเรื่องน้ำหนักโฟกัส

พออยู่ระหว่างวัน มีเรื่องรบกวนจิตใจแล้วเข้าโหมดยุ่งเหยิง พันกัน

ณ จังหวะนั้น อาจหลับตาสักวินาทีหนึ่ง สองวินาที

นึกถึงลมหายใจเข้าออก ดูว่า ณ ขณะที่กำลังหายใจเข้าออกอยู่นี้

มีความรู้สึกได้ถึงความอึ้งหนักของจิต

หรือความรู้สึกพอจะเบาขึ้นมาได้บ้าง

 

ให้ยอมรับตามจริง ในขณะที่มันมีอะไรยุ่งเหยิงในหัว

หลับตาลง แล้วหายใจ สิ่งแรกที่จะสำรวจเลย

อย่าไปพยายามที่จะตั้งใจว่า ลมหายใจจงมาระงับความคิด

อย่าตั้งไว้แบบนั้นเด็ดขาด

 

ให้ตั้งไว้ว่า ถ้าหลับตาลงแล้วหายใจทีหนึ่ง

จะรู้สึกหนักๆ อึ้งๆ แค่ไหน

ถ้าหนักๆ อึ้งๆ ยอมรับไปว่า ณ ขณะนั้นหนักๆ อึ้งๆ อยู่

 

แต่ถ้า รู้สึกว่า พอไปได้นะ เบาๆ ได้ มีอะไรที่โล่งๆ อยู่ในอกได้

ก็ยอมรับตามจริงเช่นกัน ว่าโล่งๆ อยู่

 

จะรู้ว่า มันหนักอยู่หรือเบาอยู่ก็ตาม

ตรงนั้นคุณจุดชนวนรู้สึกถึงลมหายใจได้ติดแล้ว บอกตัวเองเลย

 

พอเข้ามารู้สึก หายใจแล้วยังอึดอัด หนักอยู่ นี่ใช้ได้

จากนั้นลืมตามาปกติ แล้วดูแบบค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไป

ว่า พอหายใจครั้งต่อมา ตามจังหวะจะโคนที่ถูกต้อง

ที่ร่างกายอยากเรียกลมเข้า ไม่ได้ฝืนลมหายใจ

พอเข้าครั้งต่อมา ถามตัวเองง่ายๆ ว่า อึดอัดน้อยลงไหม

ถ้าน้อยลง แปลว่าเราเห็นความไม่เที่ยง ของทุกเวทนาแล้ว

 

จากนั้นอาจเหมือนกับค่อยๆ ดูว่าที่หนัก เบาแต่ละรอบ

เดี๋ยวกลับหนักอีกได้หรือเปล่า เดี๋ยวลงไปเบาได้อีกไหม

 

สังเกตไปเรื่อยๆ จนถึงจุดหนึ่ง จะเกิดภาวะรู้อิริยาบถ ขึ้นมา

แล้วอิริยาบถนั้น จำไว้เลยนะ ตรงนี้สำคัญนะ

เราชี้กันมามากมายมหาศาล ในระหว่างทำอานาปานสติ แบบหลับตา

 

แต่ต้องเอาไปฝึกดูเอา

ถึงจะเห็นว่าเหมือนๆ กันนั่นแหละ ในชีวิตประจำวัน นั่นคือ

เมื่อเราเกิดความรู้สึกว่า กำลังหายใจเข้า หรือออกอยู่ในกายนี้

ที่อึ้งหนัก หรือเบาก็ตาม

 

จังหวะที่เริ่มโล่ง ที่เริ่มเบา เห็นความไม่เที่ยงของทุกขเวทนาขึ้นมา

ภาวะทางกายจะเบาลง แล้วเอื้อให้เห็นว่า ณ ขณะนั้น

มีความคิดอิรุงตุงนังอยู่ในตำแหน่งนี้ (ชี้ศีรษะ) จุดสูงสุดคือในหัว

ส่วนลมหายใจ ปรากฏอยู่ในตัว ความโล่ง

ความเบาที่พอจะปรากฏบ้าง อยู่ตำแหน่งนี้ (ชี้บริเวณหน้าอก)

แต่ที่อิรุงตุงนัง พันตู อยู่ตรงนี้ (ศีรษะ)

เห็นอย่างนี้ได้ ก็จะรู้สึกได้เช่นกันว่า

ลมหายใจกับความคิด คนละอันกัน เป็นธรรมชาติคนละแบบกัน

 

แล้ว ..ตรงนี้ สำคัญที่สุด เมื่อเราเห็นว่า

ลมหายใจ ก็ปรากฏ ความคิด ก็ปรากฏ ความคิดจะหายก่อน

ลมหายใจ จะยังคงปรากฏ แต่ความคิด จะหายก่อน

แสดงความไม่เที่ยงก่อน เหลือแต่ความรู้สึก โล่งๆ ในหัวก่อน

 

ตัวนี้จะต่อติดกับ อานาปานสติที่เราเจริญในขณะที่อยู่ในห้องปฏิบัติ

 

คุณแขกลองเทียบกับตัวเอง ตอนที่มีอะไรยุ่งๆ ในหัว

ช่วงที่ยังทำไม่เป็น หรือไม่รู้จะประยุกต์อย่างไร

พออิรุงตุงนังปุ๊บ .. พยายามหายใจเฮือกขึ้นมา

เสร็จแล้วเท่ากับ เหมือนเอาหินไปทับหิน

หินก้อนใหญ่เกิดในหัว แล้วเอาหินอีกก้อนที่เกิดในอก ไปซ้อนกัน

ทำให้หนักขึ้น ไม่ใช่ทำให้เบาลง

 

ลองทำดูนะ แล้วมาดูกันใหม่ว่าจะ work ไหม

 

-------------------

คุณนา (Noo Na Thai)

 

พี่ตุลย์ : ไปถึงจุดหนึ่งที่ ในชีวิตประจำวัน จะยังเหมือนกับ

มีน้ำหนักไม่เท่ากัน ระหว่างใจจริงเรา กับความคิดที่โต้ตอบชีวิตประจำวัน

เหมือนมาถึงจุดที่ ถ้าทำสมาธิ จะใจใสใจเบา

รู้สึกถึงลมหายใจได้ แล้วก็ไม่มีความปรุงแต่งนึกคิด ในทางอยากเกินตัว

 

แต่ในชีวิตประจำวัน พอเอาจิตแบบนี้ไปอยู่กับโลกภายนอกแป๊บหนึ่ง

นาจะพบว่าตัวเองบางทีสับสน

เพราะเหมือนกับใจเรา จำได้ว่า อาการใจเบาเป็นอย่างไร

แต่ความคิดเรายังยึดโน่นยึดนี่ วนลูป อยู่กับความปรุงแต่งนึกคิดแบบโลกๆ

 

จะรู้สึกว่า พออยู่กับผู้คน หรือไปอยู่ในสถานที่ หรือเจอข้าวของอะไร

ใจจะเหมือนมีการปรุงแต่งแบบเดิมๆ ยึดโน่นยึดนี่

 

เหมือนกับมีความขัดแย้งอยู่ลึกๆ ระหว่าง จะทิ้งหรือจะเอา

 

ตัวนี้ ให้ลองเปรียบเทียบดู ลองทำท่าสองใหม่ จะชี้ให้ดู

 

อย่างตอนที่เรารู้สึก .. อันนี้เร่งไป เห็นไหมเมื่อกี้ก่อนลง มีอาการเร่ง

 

เอาใหม่ พอเข้าถึงความรู้สึกว่าง ให้ว่างจริงๆ

ว่างจากความอยาก ความอะไรทั้งหมด

รู้ลมหายใจออก ตามที่ปรากฏอยู่จริงๆ

ใจอย่างนี้ จะเป็นใจแบบเดียวกัน อยู่ในทิศทางเดียวกัน

กับที่จะทิ้งจะวาง ที่จะทำตัว เป็นจิตที่แยกออกไปเป็นต่างหาก

 

แต่จิตแบบนี้ พออยู่ในระหว่างวัน จะพบว่า อยู่ได้แป๊บเดียว

พอเจอคน หรืออยู่ในที่ที่เคยคุ้น จิตแบบนี้จะหายไปอย่างเร็ว

เหมือนทำนองเดียวกันกับเมื่อกี้ ที่ให้ทำใหม่

 

ทำรอบแรกจะมีอาการเร่งๆ ขึ้นมา เรียกว่า อาการที่จิตเร่งๆ

เกินจังหวะที่แท้จริงของ ลมหายใจ เป็นอาการใจร้อน

เป็นอาการใจโลก ใจแบบโลกๆ พร้อมจะเป็นตัวเราแบบเดิม

 

ทีนี้ เวลาที่เราทำได้แบบนี้บ่อยๆ

ใจเสมอกับ ลมหายใจ แล้วอยู่กับโลกๆ

ใจเปลี่ยนไปอย่างไร ตรงนี้

นาจะยังสังเกตการเชื่อมต่อไม่ออกนะ

จะเห็นว่า ข้ามๆ กัน ล้ำๆ กัน ไม่พอดีกัน

 

พอเราลืมตาดูโลกปุ๊บ ไปอยู่ในสถานที่เคยคุ้น

อยู่กับ บุคคลที่สามารถรบกวนใจเราได้

ของเราจะไม่ได้พิจารณาอะไรทั้งสิ้น

 

จะรู้สึกว่าเราก็ตัวเดิมนั่นแหละ จะกระโจนตามเขาไป

 

แล้วบางทีพอว่างๆ ใจใสๆ ขึ้นมาได้บ้างก็.. เออ กลับมาปลง

อาการปลงนี่ ปลงไม่จริง

ปลงแบบพร้อมที่จะกลับไปแบก ไปยึด ไปอุ้ม

 

แล้วถ้าเป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ บางทีเราจะรู้สึกขัดแย้งว่า

ตกลงเราเข้าใจธรรมะ รู้จักธรรมะ หรือปฏิบัติธรรม

ได้ธรรมะมาถึงแค่ไหนกันแน่

บางทีดูเหมือนใจว่าง ใจเบา

 

ก็พูดตรงๆ เลยนะ อย่างพอทำท่าหนึ่งท่าสอง

เป็นทางลัดให้เข้าถึง อานาปานสติ

อย่างท่าสองเป็นการเลียนแบบคนได้อุปจารสมาธิ ในอานาปานสติมา

 

เหมือนขาเรายังด้วนอยู่ แต่ได้ขาเทียมมา

แล้วก็รู้ว่า คนที่เดินได้ปกติ เดินยังไง รู้รสแล้ว

แต่ยังไม่มีขาของเราจริงๆ

 

ทีนี้เรื่องของเรื่อง ที่พูดก็เพื่อชี้ว่า

เวลาอยู่ระหว่างวัน หัดสังเกตบ้างว่า

เรากำลังหายใจเข้า หายใจออกอยู่

ด้วยจิตที่หนัก หรือ จิตที่เบา

ด้วยจิตที่ยึด หรือ จิตที่ปล่อย

 

วันหนึ่ง แค่ครั้งสองครั้งก็ยังดี

ไม่อย่างนั้น พอเหมือนกับ.. อย่างตอนนี้เราได้จริง

ได้ความแห้ง ความใสสะอาดของจิตจริง

แต่พออยู่ในโลกปุ๊บ จะกลับรู้สึกว่าที่ใส เบาอยู่อย่างนี้

คือแกล้งๆ ปลอมๆ .. ของจริงจะยังยึด

 

ถ้าเข้าใจภาพรวมอย่างนี้ได้ จะไม่สับสน ไม่ขัดแย้ง

จะเห็นเหตุปัจจัยด้วยความเข้าใจว่า

เราเจริญอานาปานสติ ไปเพื่อเอาจิตต้นแบบ

 

แต่ตอนที่อยู่ในชีวิตประจำวันจริงๆ

จิตต้นแบบ แบบนั้น จะเอาไปใช้การได้แค่ไหน ขึ้นกับว่า

เรามาฝึกความเคยชิน ที่จะระลึกถึงลมหายใจ ในระหว่างวัน มากหรือน้อย

 

ถ้าฝึกน้อย หรือไม่ฝึกเลย ก็จะรู้สึกเหมือนที่ผ่านมา

อยู่ในโลกความจริง ทำไมใจเราเหมือนเดิม

แต่มีอะไรที่ แปลกๆ ขึ้นมา ความว่างแบบแปลกๆ

ความพร้อมจะทิ้งแบบแปลกๆ บางทีก็ดูปลอมๆ

เหมือนกับจะทิ้ง แต่ทิ้งไม่จริง

 

พอเรากลับมาเจริญ อานาปานสติ เอ๊ะ ก็ทิ้งได้จริงนี่

ก็เหมือนกับสักแต่รู้ แต่ดู จิตมีความเสมอกับลมหายใจได้จริง

 

ตรงนี้ พอไปเรื่อยๆ วันต่อวัน จะสงสัยตัวเองมากขึ้นมากขึ้น

ว่า ตกลงเราจริงได้ถึงไหน

 

ทีนีถ้ามันจริงต่อไปในระหว่างวันด้วย

ฝึกอานาปานสติ ในระหว่างวันด้วย

ความจริงตรงนี้ จะจริงยิ่งขึ้นเรื่อยๆ จะจริงแบบที่เรารู้สึกได้เลยว่า

ในเวลาที่ เรานั่ง สมาธิ หรืออยู่ระหว่างวัน เป็นอันเดียวกัน

 

เมื่อไหร่ก็ตามรู้ ลมหายใจเข้า รู้ลมหายใจออก

พร้อมสภาวะปรุงแต่งที่เกิดในใจ

ก็คือจะมีสติแยกได้ว่า ความปรุงแต่งทางใจก็แบบหนึ่ง

ภาวะทางกายที่เป็น อิริยาบถแบบปัจจุบัน

ภาวะของลมหายใจ ที่ซ้อนกันอยู่ก็อีกแบบ

แล้วใจที่ไปรู้ไปดู ภาวะปรุงแต่งทั้งปวงก็อีกอันหนึ่ง

 

จะเหมือนกันทั้งขณะที่เราทำสมาธิ และเราใช้ชีวิตประจำวัน

 

พอเหมือนกันทั้งขณะปฏิบัติ และขณะใช้ชีวิตประจำวัน

จะไม่มีความสงสัย เคลือบแคลงมาถามตัวเองว่า

ตกลงอันไหนปลอม อันไหนจริง

 

คุณนา : เห็นด้วยกับที่พี่ตุลย์พูดทั้งหมดเลยค่ะ

มีบางครั้งที่จิตไม่ได้คิดอะไร เห็นลมหายใจตัวเอง

แต่บางทีก็สงสัย แต่ไม่รู้ว่าสงสัย

แต่ที่พี่ตุลย์สรุปนี่ ใช่เลยค่ะ

แอบขำตัวเองว่า ใช่ทุกอย่างที่พี่ตุลย์พูดเลยค่ะ

 

แต่ที่พี่ตุลย์บอกว่า การที่มาทำสมาธิ

ขยับท่าสอง กับท่าที่หนึ่ง ช่วยได้จริงค่ะ

เปรียบเทียบกับตอนที่นั่งสมาธิ หลับตาหายใจเข้าออก

ทำให้เผลอโดยไม่รู้ตัว

เคยสังเกตเหมือนกันว่า เวลาขยับมือท่าหนี่ง และสอง

จะช่วยให้เห็นความคิดชัดขึ้น เห็น ลมหายใจ ชัดมากขึ้น ช่วยได้มากค่ะ

 

คำถามคือ มีอะไรที่ต้องหลีกเลี่ยง เพื่อจะไม่ให้เกิดความสับสน

ที่พี่ตุลย์บอกว่า เหมือนกับว่า เกิดความสงสัยว่า

อันไหนจริง อันไหนไม่จริง มีอะไรที่จะช่วยให้หนูพัฒนาเรื่องนี้

มีกิจอะไรที่ควรทำ อะไรไม่ควรทำ

 

พี่ตุลย์ : ทั้งหมดที่พี่พูดมานั่นแหละ

 

สิ่งที่เป็นคำถามในใจตอนนี้ คืออยากให้พี่บอกอุบาย

หรือวิธีอะไรมาแบบหนึ่งเป๊ะๆ สั่งมาเลยว่าจะให้ทำอะไร

จะให้ไปโดดน้ำ หรือโดดเหว จะไปโดด ไม่ใช่แบบนั้นนะ

 

บางที คำตอบในการปฏิบัติ ไม่ใช่อุบายอะไรอย่างหนึ่ง

ไปทำแบบนี้ จะได้ผลตลอดเลย ไม่เปลี่ยนอีก ไม่มีแบบนั้น

แต่มีว่า ค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไป

 

อย่างที่พี่บอก เมื่อกี้พูดไปแล้วว่า

ระหว่างวัน ต้องหัดระลึกถึงลมหายใจบ้าง

 

ที่ผ่านมา พออยู่ระหว่างวัน นาจะนึกถึงลมหายใจ แบบนึกไปอย่างนั้นเอง ไม่จริงจังเหมือนตอนที่เราทำจริงจังในรูปแบบ

 

ทีนี้ แบบค่อยเป็นค่อยไปคือ

อยู่ระหว่างวัน เรานึกขึ้นมาเรื่อยๆ ว่า

หายใจเข้า หายใจออก

ด้วยการระลึกรู้ว่า เกิดภาวะการปรุงแต่งทางใจอย่างไรในขณะนี้

 

ถ้าหากว่า หายใจเข้า หายใจออก แล้วอึดอัด

มีความฟุ้งซ่านอยู่ เพราะไม่ได้ใช้ท่ามือประกอบ

ก็ยอมรับตามจริง ว่า ณ ขณะของการหายใจครั้งนั้น

มีความฟุ้งซ่าน เหมือนมีความคลุมเครืออยู่

 

พอเห็นภาวะคลุมเครือ ภาวะที่เหมือนฟุ้งๆ

ณ เวลาที่หายใจระหว่างวัน บ่อยครั้งเข้า

ก็จะเกิด ความรู้สึก ขึ้นมาว่า เราสามารถอาศัย ลมหายใจ

ประกอบพร้อมไปกับ ภาวะที่เป็นโลกๆ นั่นแหละ

 

นี่คือตัวตั้งอันดับแรกเลย เราสามารถทำให้ความรู้สึกแบบโลกๆ

มาคาบเกี่ยวอยู่กับภาวะทางธรรมได้

 

ถ้ามีความคุ้นกับตรงนั้นขึ้นมาปุ๊บ จะรู้สึกว่า

ระหว่างเราคุยกับใครต่อใคร

ระหว่างที่เราเข้าไปสถานที่หนึ่ง แล้วเกิดอัตตาแบบหนึ่ง

ก็สามารถดูได้เช่นกัน ค่อยเป็นค่อยไป

 

และจุดที่พีคเลยคือ เวลาที่เกิดความสงสัยขึ้นมา

อันไหนจริงอันไหนปลอม เราทำมาถึงไหนกันแน่

ความสงสัยนั้นเป็น วิจิกิจฉา ชนิดหนึ่ง

 

เมื่อเรารู้สึกถึงลมหายใจ ประกอบพร้อมไปด้วย

ก็จะกลายเป็นสภาวะปรุงแต่งทางใจชนิดหนึ่ง

ที่ถูกเห็นไปพร้อมลมหายใจ นั่นแหละ

 

เสร็จแล้วธรรมชาติ ของความสงสัยว่า เอ๊ะ ยังไงกันแน่ ที่ปรากฏในใจ

เมื่อถูกแทนที่ด้วยสติอันเกิดจากการรู้ ลมหายใจ

วิจิกิจฉานั้น จะหายไปเองโดยเราไม่ต้องไล่

จะเหมือนเรากำลังนั่งสมาธิ อยู่เหมือนแบบนี้ อย่างน้อยครึ่งนาที

 

ตรงนี้เป็นการเอาธรรมะของจริง ที่เราปฏิบัติได้ไปอยู่ในโลกเรียบร้อย

 

เห็นไหมไม่มีขั้นตอนลัด ไม่มีอุบายอะไรที่เราทำแล้วจะ work ทันที

กำจัดอุปสรรคติดขัด ในชีวิตประจำวันออกไปทันที ไม่มี

 

มีแต่ค่อยเป็นค่อยไป

 

-------------------

คุณตั้ว

 

พี่ตุลย์ : ตอนที่รู้สึกเหมือนเหลือแต่จิต

และจิตนั้น รู้สึกถึงภาวะอะไรบางอย่าง

ที่สักแต่เป็นภาวะ พัดเข้าพัดออก เรียกว่า ลมหายใจ

หรือว่าสักแต่เป็นภาวะอะไรบางอย่าง ที่ตั้งปรากฏอยู่

เป็นหัว ตัว แขน ขา นี่เรียก ธาตุดิน

 

ในธาตุดิน กับ ธาตุลม ที่ ประกอบอยู่ในใจ เหมือนไม่มีใครอยู่ในนี้

ยิ่งรู้ไปนานเท่าไหร่ ใจจะยิ่งใส เบา เบากริบเลย

แบบไม่มีอะไรเลย

 

ในความเบาเหมือนไม่มีอะไรเลย ให้บอกตัวเองว่า

นั่นคือสภาพจิตที่มีความใส ที่มีความเบา

แล้วจิตที่มีความใส เบา หรือ วิญญาณธาตุนั้น

เสมอกันกับ อากาศธาตุ

อากาศธาตุ โดยธรรมชาติก็คือ ไม่มีฝุ่น ไม่มีพายุ

มีแต่ความใส มีแต่ช่องว่าง ปรากฏแบบไม่มีประมาณ

 

ถ้าใจเราใส เบา แล้วปรากฏแบบไม่มีประมาณ เทียบเท่ากับอากาศว่าง

นั่นคือเราสามารถรู้ว่า ธาตุดิน กับธาตุลมที่กำลังปรากฏอยู่ ณ บัดนี้

มันปรากฏกินพื้นที่ช่องว่าง

 

อย่างตอนนี้ ถ้าเราจะรู้สึกถึงความไม่มีขอบเขตของช่องว่าง

นั่นคือใจขยายออกไป แบบไม่มีขอบเขตเช่นกัน

 

จิตที่ว่างๆ มีลักษณะเด่นดวงอยู่ เป็นอิสระอยู่

ถ้ารู้ตัวเองว่า เป็นภาวะหนึ่งที่ประกอบอยู่

ในธาตุดิน น้ำ ไฟลม และอากาศ

ก็จะเห็นตัวเองขึ้นมาว่า ชัดแล้ว เป็นวิญญาณธาตุ

วิญญาณธาตุหน้าตาเป็นแบบนี้เอง

คือมีสภาพรู้ สภาพรู้สภาวะอื่น ธาตุอื่นๆ

ที่กำลังปรากฏแสดงอยู่ตามที่มันเป็น

 

ยิ่งธาตุรู้ รู้ตัวเองมากขึ้นเท่าไร

เราจะยิ่งเห็นเหมือนมันแยกไปเป็นดวงใสๆ อีกดวงหนึ่ง

ดวงใสๆ สว่างๆ ที่อยู่ background ที่อยู่หลังสุด

ที่อยู่เป็นพื้นสุด เป็น center ที่สุด

 

แล้วพอรู้อย่างนั้นไปเรื่อยๆ ในความนิ่งเบา ใสสว่าง

จะรู้ว่า อาการรู้แบบไม่ยึด จะเริ่มต้นมาจากความรู้สึกว่า

ธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม และอากาศ ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน

เป็นของที่มาประชุม ประกอบกัน ชั่วคราว ให้จิตรู้

 

จิตที่มีลักษณะนิ่งๆ ใสๆ ที่เป็นดวงใหญ่ๆ จะรู้อยู่เฉยๆ

ตัวนี้เรียกว่า อนัตตสัญญา คือรู้สึกขึ้นมาว่า

กายใจ ไม่ใช่ตัวบุคคลอย่างที่เคยคิดมาตลอด

 

ตัวอนัตตสัญญานี้ จะดำรงอยู่ ตั้งอยู่ มีอายุยืนเท่ากับ

ภาวะของจิตที่ตั้งมั่นดู ตั้งมั่นรู้ได้โดยความเป็นอย่างนี้

 

คือยิ่งจิตมีความนิ่ง และรู้ความเป็นธาตุของกายใจได้นานเท่าไหร่

อนัตตสัญญาจะอยู่นานเท่านั้น

 

ไม่ใช่ว่า อนัตตสัญญาจะเกิดด้วยการคิดเอา

ว่ากายนี้ใจนี้เป็นรูปเป็นนาม ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน ไม่ใช่บุคคลเราเขา

 

แบบนั้นเป็น concept เป็นความเห็นพระอรหันต์

 

แต่ที่จะเกิดขึ้นเป็นอนัตตสัญญาก่อตัวขึ้น ประกอบจิต ปรุงแต่งจิตได้จริง

ต้องอย่างนี้ คือเห็นว่ากายใจ เป็นแค่ ดิน น้ำ ไฟ ลม อากาศ

 

ส่วนจิตส่วนใจ ตัวจิตตัวผู้รู้จริงๆ เป็นวิญญาณธาตุที่อาศัยประกอบอยู่

 

พอเห็นแยกได้ มีความเป็นส่วนๆ ได้

จะรู้สึกว่าไม่เห็นมีอะไรน่าเอา ไม่เห็นมีบุคคลอยู่ในนี้

จิตยิ่งนิ่งเท่าไหร่ จะยิ่งแยกไปเท่านั้น

 

คือจะไม่นิ่งแบบฟรีซ แบบแช่แข็ง ไม่รู้อะไรเลย

แต่นิ่งอย่างรู้ว่ากำลังเห็นธาตุหก คือรวมทั้งตัวมันเองเป็นหนึ่งในธาตุหก

 

อนัตตสัญญาที่ปรากฏแสดง ไม่ใช่นิพพาน ไม่ใช่ตัวความดับทุกข์

แต่อนัตตสัญญา จะนำไปสู่ความรู้ว่าง อย่างวางเฉย

 

ความรู้ที่ว่าง อย่างวางเฉยนี่ จะเป็นตัวที่ทำให้เห็นว่าธาตุทั้งหก

ดิน น้ำ ไฟ ลม อากาศ และ วิญญาณ เป็นของสูญเปล่าไม่น่าเอา

 

ในความว่าง ความวางเฉยอย่างแท้จริง

จะเหมือนกับมีพลังบางอย่าง พลังแห่งความไม่เอา

พลังแห่งความถอน พลังแห่งความเลิกยึด

 

เราจะรู้สึกเลย เหมือนธาตุทั้งหก เกาะกุมครอบงำใจอยู่

แล้วจิตจะมีความยินดีขึ้นมาอีกอย่าง ยินดีในความพ้น

พ้นจากอาการเกาะกุม

 

พอมันรู้เห็นอยู่เรื่อยๆ ว่า ตัวความวาง ความว่างอย่างรู้ ตัวนี้

ที่เป็นทางออก เป็นทางที่จะเลิกยึด จิตก็จะอยู่อย่างนั้น

ไม่ใช่อยู่แบบแช่แข็งไปเฉยๆ นิ่งไปวันๆ

แต่มีความรู้ ความตื่นประกอบพร้อมไปด้วยว่า

ธาตุทั้งหกแสดงอยู่อย่างนี้ กายนั่งคอตั้งหลังตรง

มีลมหายใจเข้าออกอยู่อย่างนี้

 

แสดงให้เห็นว่า .. คือมาเป็นเครื่องให้ระลึกว่า

จิตยึดหรือไม่ยึด เอาหรือไม่เอา

 

ถ้าไม่เอาไปเรื่อยๆ จนอุเบกขาบริสุทธิ์จริงๆ

ในความไม่เอานั้น ไม่ใช่แค่นิ่งเฉยๆ แต่จะมีอาการบางอย่าง

ไม่ใช่จิตเป็นผู้กระทำ ถูกปรุงแต่ง แต่มีอาการธรรมชาติบางอย่าง

ที่จะสลัดออกจากอาการครอบงำตรงนี้

 

ไม่ใช่ความตั้งใจนะ ถ้าตั้งใจนี่ผิดเลย

กลายเป็นความคิดว่า มีเราเป็นผู้ตั้งใจขึ้นมา

 

แต่อาการแบบนั้น เป็นธรรมชาติบริสุทธิ์อีกแบบหนึ่ง

คล้ายๆ กับว่า เป็นเครื่องสลัด มีอาการจะสลัดออก

มีอาการจะคาย จะคืน ขอคืนแล้ว ไม่เอาแล้วที่มาหลอก

เป็นเหยื่อล่อให้ยึดว่า เป็นตัวเป็นตน

 

อาการคาย อาการคืน จะมีสภาพแบบหนึ่ง ที่ปฏิรูปตัวเองไปเรื่อยๆ

จะมีสภาพที่เรารู้สึกว่าไม่ใช่สภาพ

ไม่ใช่รูปทรง ไม่ใช่ชื่อใคร นามสกุลใคร

 

รู้แต่ว่ามีอาการสลัดออก และถ้ารู้อย่างนี้เห็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ

อาการพยายามสลัดออกจะคืนนั้น จะชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ในใจเราเช่นกัน

 

คุณตั้ว : พอพี่ตุลย์พูดถึงคำว่าตั้งใจ

ก็รู้ว่าสิ่งที่เราทำอยู่ เหมือนเรามีความตั้งใจอยู่ในนั้น

เวลาที่พี่ตุลย์ไกด์อะไร ก็จะสังเกตเห็นว่า มีอยู่

ตรงกับที่พี่ตุลย์พูดทุกอย่าง แต่ประเด็นที่พี่ตุลย์พูด

ทำให้รับรู้จริงๆ และไม่รู้ว่าเรียกคายออกมาไหม

 แต่ก็ผ่อนอันนั้นออกไป ผ่อนอันนี้ออกไป

 

พี่ตุลย์ : ที่เรามาถึงตรงนี้ได้ แล้วจะมีอยู่จุดหนึ่ง

ที่ตั้วรู้สึกถึงความเป็นอย่างนั้นเองของภาวะทางกาย ภาวะของลมหายใจ

จะมีต้นทุนอยู่ตรงที่ว่า ตั้วไม่อยากเอามันอยู่แล้ว

จากความเป็นชีวิตตั้ว ไม่ได้อยากเอาอยู่แล้ว

 

แล้วพอมาถีงจุดที่เรารู้ว่าจะตั้งจิตอย่างไร ให้รู้ว่าเราไม่เอามันจริงๆ

ก็จะมีความพอใจ มีฉันทะ

 

ตัวฉันทะ ตั้วจะรู้สึกได้ว่า ให้รู้สึกถึงความเป็นกาย ความเป็นลมหายใจ

ความเป็นอากาศว่างภายนอกได้นานแค่ไหนก็ได้

ขอแค่เรารู้สึกว่ามันไม่ใช่เรา

 

ตัวนี้เป็นต้นทุนที่เราต้องมองเป็นข้อได้เปรียบว่า

ต้นทุนชีวิตของเรา มีอยู่แล้ว

 

ของคนอื่น หลายๆ คนชีวิตน่าพอใจ

พอมาถึงตรงนี้แล้วจะย้อนกลับไปยึดใหม่

จะย้อนไปรู้สึกว่า จะทิ้งทำไม ของดีๆ ทั้งนั้น

 

ทีนี้ถ้าเรามีต้นทุนตรงนี้ ก็มองเป็นภาพรวมด้วยความขอบคุณว่า

ชีวิตไม่ว่าจะอดีตหรือปัจจุบัน ดีแล้วที่พาเรามาถึงจุดนี้

จะได้ไม่เหลือความขัดแย้งในใจเรา

 

จากนั้น พอเราเกิดความเห็นขึ้นมา ไม่ว่าจะอยู่ระหว่างวัน

พี่เชื่อว่า ระหว่างวันบางทีเกิดเอง

รู้สึกเหมือนภาวะทางกายปรากฏอยู่ และใจไม่เอาเป็นเรา

หรือพอเกิดความคิดความฟุ้งซ่านอะไรมา แล้วรู้สึกว่า

เป็นสิ่งปรุงแต่งที่จะทำให้จิตแย่ จะมาเป็นความเสียหายของจิต

และมามีแก่ใจที่จะเห็นว่า ความฟุ้งซ่านเหล่านั้นควรสลัดทิ้ง

 

ตอนที่เราคิดว่าควรสลัดทิ้ง มีสองแบบ

คือเราตั้งใจสลัด กับอาการที่มันถูกสลัดหายไปเอง

 

ถ้าตั้งใจ ยังมีตัวตนของเรา แต่ถ้ามันถูกสลัดหายไปเอง

ด้วยการที่เราอาศัยลมหายใจ ณ ขณะนั้น

หรืออิริยาบถ ที่ประกอบพร้อมอยู่กับลมหายใจ ณ ขณะนั้น

พอเรารู้และความฟุ้งซ่านถูกสลัดหลุดไปได้เอง

แบบนี้จะเหมือนไม่มีตัวตนผู้สลัด

 

สรุปง่ายๆ ตอนที่มีตัวตน จงใจจะสลัดความฟุ้งซ่าน อย่างนั้นยังมีตัวเรา

แต่ถ้าหากเรารู้สึกถึง ลมหายใจ แล้วความฟุ้งซ่านหายไป ตัวนี้ดีกว่า

 

ดีแล้วนะ แบบนี้ เป็นความก้าวหน้าแบบพรวดพราด

มาถึงตรงนี้ อย่าให้เสีย อย่าให้ถอย น้ำขึ้นให้รีบตัก

เดินหน้าแบบกระโดดไปเลยนะ อนุโมทนาจ้ะ

-------------------

น้องจิ๋ว

 

พี่ตุลย์ : พอใจเริ่มดรอป เราก็ดู ว่าในอาการคอตั้งหลังตรง

ในอาการที่ลมหายใจ ผ่านเข้าผ่านออก มีภาวะของใจ

 ที่บางทีก็ตั้งอยู่กับการรู้ได้ บางทีก็ดรอปลงจากอาการรับรู้

 

เมื่อเห็นความไม่เที่ยงของจิตได้

ทั้งในระหว่างที่เราเจริญอานาปานสติ และในขณะที่อยู่ระหว่างวัน

ในที่สุดจะเกิดความรู้สึกขึ้นมาว่า ดูไปเรื่อยๆ อย่างนี้

จะมีจิตที่ไม่เที่ยงอยู่เรื่อยๆ

 

จิตที่ไม่เที่ยง คือจิตที่บางทีสว่างรู้ บางทีมีความเบา

บางทีทั้งสว่าง ทั้งเบา ทั้งรู้ประกอบกัน

 

แต่บางทีก็เหมือนกับมีอาการฟุ้งๆ ขึ้นมา

มีอาการรู้ไม่ทัน หรือมีอาการขุ่นๆ ไปบ้าง

 

พอเราเห็นสภาพทางใจที่แปรไปเป็นต่างๆ อยู่เรื่อยๆ

เกิดความตระหนัก อ๋อ ขึ้นมาเองว่า จิตไม่ใช่เรา

 

ตรงที่รู้สึกว่าจิตไม่ใช่เรา จะเห็นอะไรสักอย่างว่า

คุณสมบัติ คุณภาพของจิตต่างไป ณ ขณะนั้น

 

ตอนที่เกิดปัญญาแบบพุทธ ส่วนใหญ่จะเห็นซ้ำๆ ไป

จนกระทั่งถึงจุดที่เปลี่ยนไปจริงๆ ต่างไปจริงๆ

และอะไรที่ดับหายไปแล้ว ตัวนั้นไม่ใช่ตัวตน

จะรู้สึกชัดมากๆ กระจ่างๆ มากๆ ในจิตที่ไม่มีความยึดมั่นถือมั่นว่า

สิ่งที่ล่วงลับดับไปแล้ว ควรเห็นไหมว่าเป็นตัวของเรา

มันจะเห็นเลยว่า ไม่ใช่ตัวเราแน่ๆ

 

ถ้าล่วงลับดับหายได้ จะอ้างว่าเป็นของๆ เราได้อย่างไร

 

น้องจิ๋ว : ระหว่างวัน ที่เมื่อวานพี่ตุลย์แนะนำให้ไปดูว่า

ความสดใสจะหายไปตอนไหน มันหายไปเรียบร้อยค่ะ

 

พอดีเมื่อวาน ไลฟ์เสร็จก็มีประชุม แล้วมีความรู้สึกแย่มาแทนที่

แต่ก็ยอมรับ เพราะเป็นความรู้สึกดั้งเดิมของจิ๋วที่ติดตัวมานาน

ยังไงก็ต้องกลับมา แต่ก็จะกลับมาเรื่อยๆ ระหว่างวัน

แต่ก็ตอนนี้จะต่างตรงที่ว่า จิตไม่ได้ไปจมกับมัน

แล้วก็เหมือนไม่ใช่ระดับความคิด แต่ออกมาจากจิตว่า เสียเวลา

เอาเวลาไปทำอะไรที่จับต้องได้ดีกว่า

แต่ก็จะมีแวบๆ มาระหว่างวัน แต่ไม่ได้จมไปทั้งตัวค่ะ

 

พี่ตุลย์ : ตอนนี้ดูให้มากๆ ว่า จิตระหว่างปฏิบัติ เจริญอานาปานสติ อยู่

บางทีก็ขาขึ้น บางรอบก็ขาลง จะมีรายละเอียด

เช่น ความสว่าง ความสามารถรับรู้ขอบเขตการรับรู้อะไรแบบี้

 

เห็นไปว่าภาวะอะไรกำลังปรากฏเด่น และภาวะนั้นเสื่อมให้ดูต่อหน้าต่อตา

เห็นบ่อยๆ แล้วมันจะตามไปในระหว่างวันด้วย

 

เพราะอย่างที่จิ๋วบอก

เมื่อไหร่เราเห็นได้ด้วยระดับของจิต ไม่ใช่ระดับของความนึกคิด

จะเป็นชนวนให้เกิดการเห็นแบบนั้นต่อเนื่องไปเรื่อยๆ

และทั้งชีวิตที่เหลือ จะเห็นในระดับของจิต มากขึ้นๆ วันต่อวัน

 

น้องจิ๋ว : เมื่อกี้ที่พี่ตุลย์ทักว่าดรอป ไม่เห็นว่ามันดรอปค่ะ

 

พี่ตุลย์ : ตรงที่ดรอป ไม่ใช่ดรอปแบบเปลี่ยนแปลงชัดเจน

บางที มาในรูปของความรู้สึก พร่าเลือนเล็กๆ น้อยๆ

 

ซึ่งถ้าพร่าเลือนเล็กๆ น้อยๆ จะเห็นได้ว่า ความรู้สึกในตัวเรากลับมา

แทนที่เราจะรู้สึกถึง ลมหายใจ อย่างเดียว

หรือรู้สึกถึงภาวะของธาตุดิน

จะกลายเป็นตัวเรา ที่ทำให้ใจขุ่นขึ้นนิดหนึ่ง

แต่ไม่จำเป็นต้องเห็นละเอียดไปทุกขณะก็ได้

 

แต่ว่า อย่างน้อยมีทิศทางว่า ถ้าเรารับรู้อะไรต่างไป

ก็คือคุณภาพหรือรายละเอียด ที่ต่างไปแล้ว

 

จะชี้แค่ว่าการทำสมาธิ มีโอกาสที่จะเห็นรายละเอียดต่างๆ เยอะ

และยิ่งเรามีความคุ้นที่จะเห็น รายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ

ในระหว่างทำสมาธิมากเท่าไร

ในระหว่างวัน ก็มีโอกาสเห็นอะไรใหญ่ๆ หยาบๆ

ที่ชัดเจนมากขึ้นกว่าเดิมไปเรื่อยๆ

------------------

คุณเอ (Navarat)

 

พี่ตุลย์ : ตั้งอยู่ได้นานกว่าที่มาส่งคราวที่แล้วเยอะนะ

เวลาที่เรารู้สึกถึงลมหายใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งขาออก

ที่อยู่ข้างหน้าความว่าง จะรู้ได้ต่อเนื่องมากขึ้นเรื่อยๆ

 

จำไว้ว่า เมื่อมีความรู้ลมหายใจ ขาออก ได้ต่อเนื่องมากขึ้นๆ

ใจจะตั้งมั่นมากขึ้นๆ เช่นกัน

 

สังเกต.. มันจะมีจุดศูนย์กลางของการรับรู้ ที่มีความคงเส้นคงวามากขึ้น

 

ลมหายใจ จะปรากฏต่อเนื่องในจิตนานขึ้น

 

ในการรับรู้ที่ต่อเนื่อง เหมือนใจเราเป็นผู้รู้ ผู้ดู อยู่เบื้องหลัง

เป็น background และลมหายใจ ปรากฏอยู่เบื้องหน้านั้นความว่างนั้น

ยิ่งนานเท่าไหร่ เราก็ยิ่งรู้สึกว่าจิตรู้อะไรได้มากกว่านั้น

 

รู้อะไรได้มากกว่า ลมหายใจ

รู้อะไรได้มากกว่า ว่าใจของเราเป็นผู้รู้ ผู้ดู

จะรู้สึกว่า ลมหายใจ ผ่านเข้าผ่านออกอยู่ในร่างกาย

ภาวะทางกาย ที่ปรากฏเป็นกายนั่งคอตั้งหลังตรง

มีตำแหน่งที่ตั้งอยู่แน่นอนอย่างหนึ่งอยู่จุดหนึ่ง ที่กายกำลังตั้งอยู่

เราจะเห็นขึ้นมาเหมือนกับ ภาวะทางกาย คอตั้งหลังตรง

คล้ายเสาอะไรสักเสา ที่ปักอยู่กลางทุ่งนาว่างๆ โล่งๆ

โดยมีลมหายใจ ปรากฏผ่านเข้าผ่านออก

จะล้ำไปข้างหน้านิดหนึ่งจากตำแหน่งเดิมของกาย

 

ตำแหน่งเดิมของกายอยู่จุดหนึ่ง แต่ลมหายใจ อยู่อีกจุดหนึ่ง

ทั้งกายและลมหายใจนี้ ตั้งอยู่ในอากาศว่างรอบด้าน

ถ้าจิตจะรับรู้ถึงอากาศจริงๆ จิตต้องใส

แบบที่ไม่มีความฟุ้งซ่าน ไม่มีฝุ่นผงปะปนอยู่ด้วย

 

ของคนส่วนใหญ่จะรู้จังหวะนี้ ตอนที่รู้สึกถึงลมหายใจออก

ท่ามกลางความว่าง ก็จะรู้ไปด้วยว่า จิตที่แผ่ออกไป

แผ่ออกไปได้เท่าอากาศรอบด้าน

 

เมื่อใจมีความใสเสมอกับอากาศที่แผ่ออกไป

ลักษณะที่แผ่ออกไปคือการรับรู้ว่า

พื้นที่ว่าง ในห้องที่เราอยู่นี้ มีพื้นที่ มีขอบเขตประมาณไหน

ด้านซ้าย ด้านขวา

 

เห็นไหม แล้วพอรับรู้ เหมือนกับ ธาตุดินตั้งโด่เด่เหมือนเสา

มีลมหายใจ ผ่านเข้าผ่านออกอยู่ ท่ามกลางอากาศว่างรอบด้าน

 

จิตจะปรากฏว่า มีภาวะแยกออกมาเป็นต่างหากอย่างนี้เอง

 

แยกออกมาเป็นต่างหากจากธาตุดิน ธาตุลม และ อากาศธาตุ

เป็นแค่ผู้รู้ ผู้ดู อยู่เบื้องหลัง และผู้รู้ ผู้ดูเบื้องหลัง

ยิ่งมีความนิ่ง รับรู้ได้นานเท่าไหร่

ยิ่งรู้สึกว่าที่รู้ๆ อยู่ กายนั่ง กับลมหายใจ ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน

 

สมาธิดีขื้น ความรู้สึกว่าใจนิ่งๆ แล้วก็เห็นภาวะทางกายทางใจได้

เป็นจุดเริ่มต้นที่เราจะเห็นว่า กายใจเป็นธาตุหกนะ

 

คุณเอ : ตอนที่นั่ง รู้สึกว่าตัวเองรับรู้ได้ถึงลมหายใจต่อเนื่อง

ในขณะที่ยกมือขึ้นตรง

 

แต่เคยได้ฟังท่านอื่น และที่พี่ตุลย์แนะนำ

ต้องยอมรับว่า ยังไม่สามารถแยกขันธ์ธาตุได้ว่า

นี่คือลมหายใจ นี่คือตัวเราอะไรแบบนี้

เหมือนกับว่า คิดได้ แต่ยังไม่ถึงจุดที่ว่า

รับรู้ได้จากใจและแยกได้เป็นชั้นๆ ค่ะ

 

พี่ตุลย์ : อย่างเมื่อกี้ มีลมหายใจต่อเนื่อง

อย่างที่บอกแต่แรก ของเราดีกว่าคราวก่อน

คราวก่อนติดๆ ดับๆ แต่คราวนี้จะรู้ว่า ลมหายใจ มีความต่อเนื่อง

 

พอต่อเนื่องไป และถ้าเรารับรู้ได้ถึงความเคลื่อนไหวทางกาย

ที่ขึ้นไปพร้อมลมหายใจ  ลงมาพร้อมลมหายใจ รู้

สึกได้ถึงตัวที่ตรงนิ่ง มีความสงบไม่กระสับกระส่ายอยู่

 

นี่เป็นตัวตั้งที่จะอาศัย..

 

คือในนิยามของเราอาจรู้สึกว่า ยังไม่ได้แยกว่า เป็นธาตุดิน หรือธาตุลม

 

แต่ถ้าเราสังเกตว่า ตอนใจนิ่ง รู้สึกถึงลมหายใจต่อเนื่อง

จะมีกายนั่งปรากฏรางๆ ในใจ ปรากฏเป็นต่างหาก จากลมหายใจ

เอาแค่นี้ เป็นธาตุดินแล้ว

 

ไม่ใช่ธาตุดินที่ต้องมีรายละเอียด หรือรู้สึกในใจว่า นี่ธาตุดิน

ไม่ต้องชัดขนาดนั้น

 

เอาแค่รู้สึกเหมือนว่า ภาวะทางกายปรากฏอยู่

แล้วเรารู้สึกว่าไม่ใช่ภาวะทางกายเรา

แต่เป็นภาวะที่ตั้งนิ่ง และรู้สึกถึงลมหายใจเข้าออกอยู่

นี่คือเป็นธาตุดินได้แล้ว

 

แต่ประเด็นคือเมื่อเรามีทิศทางที่จะรู้สึก

ถึงความเป็นธาตุดินอย่างที่ว่า ไประยะหนึ่ง

ธาตุดินนี้จะปรากฏชัดขึ้นเรื่อยๆ

แต่ก่อนที่จะชัดขึ้นเรื่อยๆ ต้องมีทิศทางว่า

เราจะรู้อย่างนี้ กายอยู่ส่วนกาย ลมหายใจ อยู่ส่วนลมหายใจ

 

เมื่อรู้สึกถึงตรงนี้ได้ ในที่สุดใจที่ใสๆ

ใจที่มีความตื่น รับรู้ มีสติ จะใหญ่ขึ้น

แล้วก็เห็นชัดขึ้นว่า ภาวะทางกายที่นั่งอยู่

ทรงอยู่ในสภาพหนึ่ง มีหัว ตัว แขนขา มีรูปพรรณชัดเจน

ไม่กลายเป็นอื่น

 

แตกต่างจากลมหายใจ ที่ผ่านเข้าผ่านออก

แล้วมีอาการแปรปรวนไปอยู่ตลอดเวลา

แล้วก็จะมีความแตกต่างอย่างชัดเจนกับความรู้สึกใสๆ ว่างๆ ที่รู้ที่ดูอยู่

 

ตัวนี้ คือทิศทางที่เราจะเห็นกายใจโดยความเป็นธาตุหก

ซึ่งอย่างของเอ พอใจนิ่งอยู่อย่างนี้ แล้วเราสังเกตระหว่างวัน

ถ้าหากว่า .. เคยรู้สึกไหม บางทีเรารู้สึกนิ่งอยู่อย่างนี้

แล้วอยู่ระหว่างวัน พอใจเริ่มจะแปรปรวน

เราจะเสียดายความนิ่งที่มีอยู่ เคยรู้สึกแบบนี้ไหม

 

คุณเอ : เคยค่ะ อย่างบางวัน เริ่มต้นนั่งสมาธิในช่วงเช้า

ก็จะรู้สึกโปร่งใส แล้วพยายามคงความรู้สึกดีกับตัวเอง

พอเวลาผ่านไปอาจมีเรื่องมากระทบ แล้วภาวะตรงนั้น

เปลี่ยนไปในทิศทางที่ฟุ้ง ก็จะรู้สึกว่าเมื่อเช้ายังเหมือนดีๆ อยู่เลย

ตอนนี้ที่ทำมาเมื่อเช้า fail ไปแล้ว ประมาณนี้ค่ะ

 

พี่ตุลย์ : ที่นี้ในความรู้สึกเสียดาย ลองทบทวนดูนะ

ก่อนที่มันจะฟุ้ง ก่อนที่จะไปเจอเรื่องกระทบให้เกิดความเสียหายกับจิต

มันมีอาการยื้อๆ แบบหวงๆ ไว้ ว่า

เราไม่อยากให้จิตแบบนี้เสียหาย เราไม่อยากเสียจิตแบบนี้ไป

พอนึกถึงภาวะแบบนั้นออกไหม

 

ทีนี้ เวลาเกิดภาวะแบบนั้นอีก แทนที่จะยื้อไว้หรือหวงไว้

เรามองไปเลยว่า เป็นภาวะหนึ่งที่กำลังปรากฏว่าไม่เที่ยงแล้ว

ไม่เหมือนเดิมแล้ว เพราะมีเหตุปัจจัยมากระทบ

มีอะไรมากระทบปัง แล้วเหมือนแก้วแตก

 

ของคุณเอ จะอยู่ในอาการว่า เรายังรู้สึกอยู่ว่า

ภาวะทางใจยังดีๆ ตอนที่มันมากระทบนะ ตอนที่มีอะไรเกิดขึ้น

เสร็จแล้วเราก็รู้สึกว่า มันเริ่มจะเสีย เริ่มจะไปแล้ว

จังหวะที่เราคล้อยตามความรู้สึกที่ถูกกระทบ

 

ตรงนี้ ต่อไป พี่อยากให้มองอย่างนี้ว่า

เพราะมีกระทบ เหมือนใจเราเป็นแก้ว แก้วจึงแตก ..ไม่ต้องหวงแก้ว

 

ใจ เป็นธรรมชาติ ที่ไม่สามารถเปรียบเทียบกับอะไรในจักรวาลได้เลย

แต่เปรียบกับแก้ว เพื่อให้เห็นว่า ถ้าจะแตกก็แตกไป

แต่ใจ ไม่เหมือนแก้วตรงที่ว่า มันกลับคืนสภาพได้ดีกว่าแก้ว

 

แก้วแตกแล้วแตกเลย ประสานกลับไม่ได้

แต่ถ้าเป็นใจ พอแตกแล้วเดี๋ยวก็กลับมาเอง

ไม่ต้องไปหวง ไม่ต้องไปเสียดาย

 

ที่ชี้ตรงนี้เพราะตอนนี้ เหมือนเดิมเราจะค่อนข้าง sensitive

และรู้สึกว่า ใจเราที่ได้ยาก ตั้งมั่นเป็นอะไรสว่างๆ ได้ยาก

แต่พอทำได้ ก็เกิดความรู้สึกว่าแบบนี้ดี

เราทำได้แบบไม่เคยทำได้มาก่อน ทำนองนี้ ก็เลยหวง

 

ทีนี้ ในแง่ของการพยายามรักษาจิตดีๆ เป็นหลักการที่ควรเป็นเช่นนั้น

แต่ไม่ต้องหวงในลักษณะว่า เดี๋ยวจะเสียจิตดีๆ ไปกับสิ่งที่มากระทบ

 

บอกตัวเองว่า จะแตกๆ ไป เดี๋ยวทำใหม่ ให้ดีดังเดิม หรือดีกว่าเดิมอีก

 

ขอแค่ว่า เวลามีอะไรมากระทบ เราทำไว้ในใจว่า

จะแตกๆ ไป จะได้เกิดปัญญาแบบพุทธเห็นว่าจิตไม่เที่ยง

 

สิ่งที่เราต้องการ คือ .. ok ธงของเราหรือหลายท่าน

ที่ไม่เคยทำสมาธิได้มาก่อน อาจบอกว่า

แค่นิ่ง ใสสว่าง ดีแล้ว พอใจแล้ว

 

แต่ในทางพุทธ คือ มาได้แค่ครึ่งทาง

เมื่อใจใส ใจสว่าง ใจดี เราต้องพร้อมปล่อยไป

ถ้าจะมีเหตุปัจจัยมาทำให้เสียหาย เพื่อจะได้เห็นว่า

หวงไว้แค่ไหนก็รักษาไว้ได้แค่นั้นแหละ

ตอนที่มีอะไรมากระทบ มันแตกหักพัง ก็ต่างไป

 

ตรงที่เราไม่หวงไว้ จะเหมือนเปิดประตู

ให้ปัญญาแบบพุทธได้ออกมา

 

จากการหวงไว้ จะมาสู่ความเข้าใจว่า เสียดาย

เดี๋ยวเราต้องกลับมาทำสมาธิใหม่

 

แต่พอตั้งทางไว้อย่างนี้ สิ่งที่เกิดคืออะไร

ต่อไปขอให้สังเกต .. ทุกท่านเลยนะ

 

เวลาที่เราไม่หวงจิต เราเห็นว่ามีอะไรมากระทบ

แล้วจิตกระเพื่อมสั่นไหว หรือแม้กระทั่งหลุดเกิดโทสะขึ้นมา

 

อย่างของเราจะรู้ว่าเป็นคนที่โทสะออกมาง่าย

ขี้หงุดหงิดรู้สึกไม่ดี โกรธง่าย พูดง่ายๆ

พอรู้สึกเป็นฟืนเป็นไฟ จิตเสียหายไปแล้ว ณ ขณะนั้น

ถ้าหากเป็นตัวเดิม แล้วอยากไปเล่นกับฟืนไฟ อยากอาละวาดพูดไม่ดี

แต่ถ้ามีสติ อยู่ในทิศทางที่จะเห็นว่า จิตไม่เที่ยง

 

เราจะรู้สึก ขึ้นมาในขณะนั้นว่า

จิตที่เสียหายไปแล้ว จิตที่ลุกเป็นฟืนไฟ จิตที่ไม่พอใจ ขัดเคือง

หน้าตาเป็นอย่างไร

 

แต่เดิมเราจะไม่เห็น เราจะเล่นกับมันทันที

แต่เดิม พอจุดไฟติดมีความร้อน เราก็ไปเล่นกับความร้อนทันที

 

แต่เมื่อมีสติเห็นอยู่ ในทิศทางที่ว่าจิตไม่เที่ยง

ก็จะรู้สึกเหมือนจิตกลายเป็นอะไรอีกอย่าง

จากเดิมที่เย็นๆ ใสๆ นิ่งๆ สว่างๆ กลายเป็นไม่สว่างแล้ว

กลายเป็นมืด ที่เย็นกลายเป็นร้อนแล้ว

 

ณ ขณะที่สติแบบพุทธเกิดทัน เราจะรู้สึกว่า

จิตแบบนี้เป็นจิตที่เผาตัวเอง เป็นจิตที่เขาเรียกว่า อกุศลจิต

 

พอมีสติเกิดทัน ณ ขณะนี้

ที่เราจะเห็นว่า จิตมีลักษณะเป็นอกุศลจิตอยู่

จะเกิดความสงบแบบหนึ่ง

 

ไม่ใช่เพราะเราไปพยายามดึงให้สงบ หรือยื้อให้สงบ

แต่สงบจากการได้รู้ว่า นี่เขาเรียก อกุศลจิต

 

คือ ณ ขณะที่สติเท่าทัน ว่ามีความร้อนอย่างไร

มีความปุ้งปั้งขึ้นมาอย่างไร แล้วเห็นว่า อกุศลจิต

 

ตัวสติที่รู้ว่า นั่นคืออกุศลจิตนั่นแหละ

จะทำให้เกิดความสงบลงเอง

 

ตรงนี้ .. ฟังเฉยๆ จะเข้าใจนะ ทุกท่านนะครับ

แต่พอเกิดจริงจะรู้สึกว่า ยังมีความคันอก ยังยุกยิก

ยังอยากจะพุ่งออกไปด้วยความร้อน เหมือนอยากเปิดให้ไฟแลบออกไป

 

แล้วบางทีก็หาไม่เจอว่า สติแบบพุทธอยู่ตรงไหน

 

ขอให้สังเกตตรงนี้ ตอนที่ใจเรา .. ลองทำท่าสองให้ดูอีกที เดี๋ยวจะชี้ให้ดู

 

อย่างตอนนี้ดูนะ ตอนที่ใจเราเสมอกันกับลมหายใจ

เห็นไหม เหมือนลมหายใจ ไม่ได้ทำให้จิตมีความเป็นอะไรขึ้นมา

 

แต่ลมหายใจ ปรากฏอยู่กับจิต

ราวกับเป็นเครื่องฝึกให้ใจ ได้เสมอกับลมหายใจได้เป็น

 

เหมือนกัน เวลาที่เกิดโทสะ หรือเกิดความร้อน ความฟ้าแลบฟ้าผ่า

ถ้าเรามีจิตเสมอกันกับความร้อน โดยไม่มีความหวงจิตดีๆ

มีแต่ความเห็นจิตที่ไม่ดีปรากฏตามจริง เหมือนอย่างนี้

ตอนที่เรารู้สึกถึงลมหายใจ อย่างชัดเจน

 

ด้วยความรับรู้ที่บริสุทธิ์ ตัวนี้แหละที่ในชีวิตประจำวันเรา

เกิดโทสะ เกิดอกุศลจิตขึ้นมา แล้วรับรู้ได้แบบนี้

จิตจะคล้ายๆ แบบนี้ มีอาการเสมอกัน

ไม่ตัดสินว่านี่เป็นคะแนนลบ ฉันไม่ชอบฉันไม่เอา ฉันดูไม่ดี

 

มีแต่ว่า ภาวะอะไรเกิดขึ้น รู้อยู่อย่างนี้เลย

เหมือนที่รู้ลมหายใจ เท่ากันเป๊ะ

แม้เป็นภาวะที่ไม่ดี ไม่น่าพอใจ เป็น negative

ทำให้ชีวิตเราแย่ลง จิตเราแย่ลง

 

นี่คือสิ่งที่พี่บอก

 

พอเรารู้ลมหายใจได้อย่างนี้ แล้วไปรู้โทสะได้เหมือนกับอย่างนี้

ในที่สุด เราจะรู้สึกว่า อะไรๆ เหมือนลมหายใจได้หมด

 

ทำให้จิตเสมอกับลมหายใจได้

ก็เสมอกับอะไรๆ ที่เกิดในชีวิตได้หมด แม้กระทั่งโทสะ

 

คุณเอ : แนวทางที่พี่ตุลย์แนะนำคือ

ให้ฝึกมีสติให้เท่าทันกับอะไรก็ตามที่มากระทบใจ

แล้วตามรู้ไปเรื่อยๆ ใช่ไหมคะ

 

พี่ตุลย์ : ใช่ อย่างช่วงวันสองวันที่ผ่านมา เรามีอาการหวงจิตดีๆ

แล้วพอมันจะแตกหักเสียหาย เราเสียดาย

และความเสียดายครอบงำจิตเรา

 

ต่อไป ปล่อยให้แตกเลย

เพื่อให้สภาพอกุศลธรรมเกิดขึ้นตามจริง

จะเกิดเป็นความร้อน ความพลุ่งพล่าน หรือเป็นอะไรก็แล้วแต่

แล้วเรารู้ไปตามจริง

 

จะมีค่าเท่ากับ เราได้รู้ลมหายใจ มีจิตเสมอลมหายใจนั่นเอง

เป็นผู้รู้ ผู้ดูว่า มันเกิดได้ตามเหตุปัจจัย

มันก็หายไปเองได้เมื่อเหตุปัจจัยหมด ไม่ต้องยื้ออะไรไว้เลย

 

อธิบายยาวเพราะหลายท่านก็ประสบปัญหาแบบเดียวกัน

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เราทำสมาธิได้

รู้สึกว่าจิตดีๆ มีในตัวเราได้ เราจะหวงไว้เหมือนแก้ว

 

ปล่อยให้แตกเลย ..

ของมีค่าที่เหมือนแก้ว เพชรนิลจินดา

แตกแล้วประสานอีกไม่ได้ ต้องหลอมใหม่ เราถึงหวงไว้

 

แต่จิต ไม่ใช่แบบนั้น เราไม่ต้องหวง

แตกหักเสียหาย ปล่อยเลย แล้วมาทำสมาธิใหม่ได้

แต่ ณ ขณะนั้น ขอให้ได้ปัญญาแล้วกันว่า

จิตไม่ใช่ดวงเดิม พังไปแล้วด้วยเหตุปัจจัยกระทบ แล้วเรามีสติรู้

 

พอมีสติรู้ตามจริง แทบจะบัดนั้นเลย เมื่อเกิดความเคยชินพอ

จะเห็นว่า สตินั้นเอง จะเอาจิตกลับมาได้

 

แต่ถ้าด้วยความอยาก ความหวง มีภวตัณหาว่า

จิตแบบนี้ดี ฉันจะเอาจิตแบบนี้ไว้ ไม่เอาแบบอื่น

อย่างนี้ เสียเลย เสียแล้วเสียจริงๆ

 

คุณเอ : ขอบพระคุณมากๆ สำหรับคีย์เวิร์ดที่บอก ให้เราตามรู้ทุกอย่างเหมือนกับที่เรารู้ลมหายใจ ไม่เคยนึกแบบนี้มาก่อนเลยค่ะ

 

พี่ตุลย์ : ที่ฝึกอานาปานสติมา

พระพุทธเจ้า ต้องการให้เป็นจิตต้นแบบ

คือเห็นได้เลยว่า ท่านยกสติปัฏฐาน กรรมฐานอะไรขึ้นมา

ท่านเอาอานาปานสติมาเป็นตัวตั้ง

เพราะเป็นจิตต้นแบบจริงๆ

 

---------------------

น้องแพร

 

พี่ตุลย์ : ของแพรนี่นะ ปฏิบัติได้ดี

แต่ใจเรา มีอะไรซ้อนๆ ค่อนข้างซับซ้อนนะ

 

ทีนี้อย่างเมื่อวาน ลองไปฝึกนอนดูหรือยัง

อยากจะให้เล่าหน่อยเป็นอย่างไรบ้าง

 

น้องแพร : ดีค่ะ คือทำตามที่บอกเลย

เวลานอนลงไป ก็กำหนด หายใจเข้า hold ไว้

หายใจออก hold ไว้ ประมาณห้านาที

พอเสร็จห้านาที ก็เห็นร่างกาย เห็นธาตุดินเสมอกับอากาศ

คือธาตุดินทับอยู่กับอากาศ

และความรู้สึก เห็นโครงกระดูกนอนอยู่

ความรู้สึกข้างในคือเหมือนก็แค่กระดูก พับไปพับมา แล้วก็เริ่มสบายขึ้น

 

พอสบายก็วางมือลง ลมหายใจ ก็เบาแล้ว

พอรู้สึกใกล้ๆ จะหลับ ก็หลับไปเลย

 

พี่ตุลย์ : ตื่นขึ้นมารู้สึกอย่างไร

 

น้องแพร : รู้สึกว่ามีสติกว่าทุกวัน แบบปึ้งขึ้นมาเลย

เหมือนกับ เพิ่งตื่นจากภวังค์ จากที่ทำท่าขยับมือก่อนนอน

ทั้งที่ตอนนี้ก็หกโมงเช้าแล้ว

 

ก็ขำตัวเองว่า สติเกิด ร่างกายกำลังจะลุกแล้วนะ

ก็มาเห็นลมหายใจต่อว่าเข้าหรือออก พอจะลุกก็เห็นกระดูกลุก

หัวโล่งกว่าทุกวัน

 

พี่ตุลย์ : สิ่งที่พี่เห็นคือ ชีวิตประจำวันของคน

มีอิริยาบถ ยืน เดิน นั่ง นอน

 

อิริยาบถนอนของแพร เท่าที่รู้สึกได้ก็คือว่า

ยังเป็นอิริยาบถที่พาความไม่สงบมาให้เราอยู่

แล้วก็มีความซับซ้อน ที่แม้แต่ตัวเราก็ยังมองไม่เห็น

ว่ามีปมผูกกันอย่างไร

 

ที่ผ่านมาเหมือนการนอนของเรา นอนแบบไม่หลับสนิท

ตื่นขึ้นมาก็ไม่มีความโล่งเบา ไม่พร้อมจะเจริญสติต่อ

 

ทีนี้อย่างที่เมื่อวาน ให้ลองใช้มือไกด์ในท่านอน

ถามอย่างนี้ก่อน ขึ้นต้นมา

ตอนที่เริ่มรู้สึกถึงลมหายใจ ที่ถูกมือผลักเข้า ดึงออก

จังหวะไหนใช้เวลานานไหม ที่รู้สึกว่า

อากาศว่างอยู่รอบเตียงรอบห้อง

และเตียงทำให้เรารู้สึกว่า มีธาตุดินที่ถูกยกขึ้นมา

ตำแหน่งที่สูงกว่าพื้น มีอากาศว่าง

 

ตรงที่รู้สึกถึงอากาศว่าง เกิดลมหายใจไหนจำได้ไหม

ลมหายใจแรกๆ หรือนาน

 

น้องแพร : จำไม่ได้เป๊ะ ไม่ใช่แรก แต่ไม่นานมากค่ะ

ประมาณห้านาทีไปแล้ว ก็รู้สึกว่า ร่างกายนี้เรานอนบนฟูกจริง

แต่ไม่ได้รู้สึกมันเป็นฟูกแล้ว แต่เป็นความว่างเสมออากาศ

 

พี่ตุลย์ : เหมือนลอยขึ้นมาใช่ไหมจากพื้น

 

น้องแพร : คือใจเบาไปแล้วค่ะ เมื่อวาน แพรบอกพี่ตุลย์จริงๆ ว่า

เป็นครั้งแรกที่แพรนอนหลับได้สนิทที่สุด

ทุกครั้ง แพรมีปัญหาการนอนมากๆ ทานยานอนหลับมาเป็นปี

เพราะเป็นไทรอยด์ การนอนก็จะไม่ค่อยสะดวก

 

แต่หลังๆ ก็เริ่มไม่ทานยานอนหลับ เพราะนั่งสมาธิทุกคืนอยู่แล้ว

แต่เมื่อคืนเป็นครั้งแรกที่ไม่ทานยานอนหลับ

 

พี่ตุลย์ : ยานอนหลับเป็นส่วนหนึ่ง ที่ทำให้เราหลับไม่สนิทจริง

ไปกดประสาทเฉยๆ มีผลกับแค่ระบบประสาท

แต่การทำงานของจิตเรา .. ก่อนอื่น ต้องมองเป็นภาพรวมว่า

การทำงานของจิตซับซ้อน และยิ่งมาทำสมาธิ แบบค่อยๆ ตื่นรู้

จิตค่อยๆ มีสมาธิขึ้นมา ยิ่งเพิ่มความซับซ้อนไปอีก

 

ตรงหนึ่งที่มองว่าจะแก้ได้แบบเร็วๆ ก็คือ

ทำให้อิริยาบถนอนของเรา มีความกลมกลืนกับสมาธิมากขึ้น

 

ไม่อย่างนั้นการปรุงแต่งตอนหลับของเรา

จิตซับซ้อนมากๆ ตื่นมาจะจำอะไรไม่ได้ว่าฝันอะไรบ้าง

หรือถ้าจำได้ก็เฉพาะที่เด่นจริงๆ แทงใจจริงแรงจริง

 

ทีนี้ถ้าหากว่า เราสงบลงไป พร้อมกับตื่นมาแล้ว

พร้อมปฏิบัติ พร้อมเจริญสติต่อได้ทันที

เราจะรู้สึกว่าไม่มีอะไรตกค้าง ไม่มีอะไรที่ไปพัวพันกับสิ่งที่ยุ่งเหยิง

พูดง่ายๆ ว่า เราพร้อมจะมีทุกเช้าเป็นตัวเริ่มต้นใหม่ เป็นตัว restart

 

เอาแค่ตรงนี้ก็จะช่วยให้เรา fresh ทุกเช้า

 

อย่างระหว่างวัน เราจะยังมีความขัดแย้งอยู่ในสภาวะธรรม

ตอนปฏิบัติกับตอนอยู่ระหว่างวัน นี่

 

ขอให้สังเกตความอึดอัด หรือโทสะที่ก่อตัวขึ้นมา

เวลาอยู่ในใจ แล้วเราเห็น น่ะดี

แต่ถ้าเห็นแล้วรู้สึก คือ.. จะมีได้สองแบบนะ

เห็นว่าเกิดขึ้นแล้วมันแผ่วๆ หายไปง่ายๆ

กับอีกอันคือ เกิดความกดดันอยู่ข้างใน

บางทีไม่ได้ร้อนแรงออกมาปึงปัง แต่จะมีความอึดอัดอยู่ภายใน

 

ซึ่งถ้าหากเรามีวิธีจะเห็นว่า ความอึดอัดนั้นเกิดเมื่อไหร่

แล้วคลายตัวลงอย่างเป็นธรรมชาติได้อย่างไร โดยไม่ฝืน

หรือเราไม่ไปเสริมแรงมัน

 

เวลาโทสะที่ทำให้อึดอัด มีสองอย่าง

คือเราไปกดไว้ หรือไปเสริมแรงมัน

ถ้าอยู่ตรงกลาง คือเราสามารถรู้ได้อย่างมีสติ

ว่ามันเกิดที่ลมหายใจไหน แล้วหายไปเองที่ลมหายใจไหน

ตัวนี้จะมีความสอดคล้องมากขึ้น และปรับการปฏิบัติทั้งหมดของเรา

ให้กลมกลืนเสมอกันได้ โดยไม่ซับซ้อน

 

ทุกเช้าถ้าตื่นด้วยความเงียบสงบ และพร้อมเจริญสติ

ตรงนั้นเราจะรู้สึก fresh จริง และรู้กายใจได้ตรงตามจริง

 

ไม่อย่างนั้น จะเหมือนมีอะไรตกค้าง คิดมาก

แล้วเหมือนเราต้องมาออกแรง

เราจะรู้สึกเหนื่อยกับการกู้คืนให้กลับเข้าที่

 

แต่ถ้าตื่นแล้ว fresh หัวโล่งทุกครั้ง

จะไม่ต้องออกแรง จะสบายขึ้น

 

คือเห็นดีอยู่แล้วก็จะให้ดีแบบราบเรียบ สม่ำเสมอทุกอิริยาบถ

เพราะที่ผ่านมา ยืน เดิน นั่ง ใช้ได้ แต่นอนมีเครื่องรบกวน

 

ถ้าปรับเรื่อง อิริยาบถนอนให้ smooth เสมอกับยืนเดินนั่งได้

ก็จะดีขึ้นอีก จิตจะเต็มจริง มีคำถามอะไรไหม

 

น้องแพร : ไม่มีค่ะ พี่ตุลย์แก้ได้ถูกหมด amazing มากค่ะ

แพรมีปัญหาการนอนมานาน ก็นั่งสมาธิมาเป็นสิบปี

ก็คิดว่า เป็นเพราะไทรอยด์หรือเปล่า

 

การนอนแพรมีปัญหามาก

แต่เมื่อคืนต้องกราบขอบคุณพี่ตุลย์ จริงๆ

เพราะตื่นมาหัวโล่ง ก็ตั้งใจว่าวันนี้ต้องบอกพี่ตุลย์

 

ยังบอกคนที่บ้านว่า

วันนี้เป็นครั้งแรกที่ไม่ได้กินยานอนหลับ แต่หลับไป

โดยที่เขาบอกว่า แพรไม่เข้าห้องน้ำเลย

เพราะปกติจะเข้าห้องน้ำเป็นสิบรอบ และฟุ้งซ่านว่าทำไมไม่หลับๆ

 

แต่เมื่อคืนหลับไปเลย แล้วจิต fresh มาก

 

พี่ตุลย์ : ในหัวเรา การทำงานของสมองเราซับซ้อนมาก

พูดง่ายๆ แค่นี้แหละ มีอะไรถมๆ กันเยอะ

แต่ถ้าเราทำให้เสมอกันได้ อิริยาบถ ยืน เดิน นั่ง นอน

ก็จะเรียบง่ายขึ้นเรื่อยๆ จะเหมือนคลายปมไปทีละเปลาะ

และโล่งจริงในที่สุด

 

-----------------------

คุณพิม (Nusasanee) (ครั้งแรก)

 

พี่ตุลย์ : ของคุณพิมนะ

พอมือผูกกับลมหายใจได้ มีความสม่ำเสมอดี

 

เดิมฐานจิตคุณพิม เป็นประเภทที่หมกมุ่นครุ่นคิด

คิดเยอะคิดมาก

พอคิดอยู่กับอะไรแล้วไม่ค่อยปล่อยง่ายๆ

 

ทีนี้พอทำสมาธิได้ ตอนนี้รู้สึกหัวโล่ง สบาย

แล้วก็สามารถรู้สึกถึงลมหายใจออก ที่อยู่ข้างหน้าความว่างได้

จะเปรียบเทียบได้ชัดเลย จากฐานเดิมที่หมกมุ่นครุ่นคิด

และความคิดหนาแน่นด้วย

 

แต่ตอนนี้ เปลี่ยนไปว่า

ความคิดเจือจาง เบาบางลง เหมือนว่าง เว้นวรรคไป

 

ตรงนี้เป็นจุดเปรียบเทียบที่ดีคือ

เมื่อไหร่ก็ตามในระหว่างวัน ที่เราคิดเยอะขึ้นมา

เมื่อมีก้อนความคิดหนาแน่นก่อตัวขึ้นมา

เมื่อนั้นให้ถือเป็นโอกาสดี ที่เราจะใช้เปรียบเทียบ

 

ถ้าอยู่ว่างๆ จากคน อาจลงนั่งทำท่าสองเลย

หรือถ้าอยู่กับคน อาจหายใจแบบสบายๆ

เหมือนนึกจินตนาการเอาว่า เราใช้ท่าสองอยู่ ทั้งที่ไม่ได้ยกมือ

 

ลองหายใจอย่างที่เกิดความรู้สึกอย่างนี้ดู

เพื่อให้เกิดการเปรียบเทียบว่า

ตอนที่ก้อนความคิดมาแบบหนาๆ แน่นๆ

จะแตกต่างไปอย่างไรเมื่อเกิดความเบา

 

เมื่อใจเรานิ่มนวล เมื่อใจไม่ไปกระจุกแน่น

จะเห็นเลยถึงความแตกต่างว่า ฐานเดิมเราเป็นอย่างหนึ่ง

แต่ความใส ความเบาเป็นอีกอย่าง

 

เห็นไปที่ความต่างของจิตในระหว่างวัน จะมีประโยชน์มาก

เพราะของเดิมเราเป็นอย่างหนึ่ง แล้วเรามาทำให้เป็นไปได้อีกอย่าง

 

จำไว้ทุกท่านเลยนะครับ

 

ใจเราเดิมเป็นอย่างไรก็ตาม

ถ้าหากเราทำให้แตกต่างไปสุดขั้ว เป็นตรงกันข้ามได้

จะเป็นข้อเปรียบเทียบ ที่ทำให้เราได้ข้อสรุปว่า

จิตเปลี่ยนแปลงไปตามเหตุปัจจัย

 

อย่างพอถ้าคุณพิมอยู่ระหว่างวัน แล้วเกิดคิดเยอะ

แล้วมานึกถึงลมหายใจ แล้วเบาลงได้

จะเห็นเป็นสองจิต อยู่ในระยะเวลาใกล้เคียงกัน

 

จิตที่หนักเป็นจิตหนึ่ง

จิตที่เบา ว่าง ใส เป็นอีกแบบ

 

พอเห็นบ่อยๆ จะไม่ใช่เห็นแค่ครั้งสองครั้งนะ ต้องเห็นบ่อยๆ

จะกลายเป็นความรู้สึกว่า จิต ไม่ใช่เราจริงจัง

 

เมื่อกี้พูดใจความสำคัญทั้งหมดไปแล้วนะ

ในระหว่างวัน คุณพิมเทียบเคียง

จิตที่คิดเยอะ กับจิตที่เวลาเรารู้สึกถึงลมหายใจ แล้วว่างเบา ใสได้

เอาแค่ตรงนั้น

 

-------------------

คุณอุบล

 

พี่ตุลย์ : จิตใสกว่าเดิมนะ มีความผ่องแผ้วกว่าเดิม

แล้วเวลาที่เราทำถูกทำดีแล้ว

ยิ่งทำต่อเนื่องเท่าไร ยิ่งก้าวหน้าเท่านั้น

 

นี่จะเห็นได้เลยว่า พอใจคุณอุบล ไปถึงความรู้สึกว่า

ว่างๆ ใสๆ สว่างๆ ลมหายใจจะปรากฏชัด

 

และถ้าลมหายใจปรากฏชัด สิ่งที่เราจะรับรูได้ก็คือ

ลมหายใจ อยู่เบื้องหน้าเป็น foreground

และการรับรู้ว่างๆ สบายๆ อยู่เบื้องหลัง

 

พอเราเห็นไปได้นานเข้า บ่อยเข้า จะรู้สึกเหมือนกับ

มีความตั้งมั่นแบบหนึ่ง ที่แยกรู้แยกดูได้เอง

โดยที่ไม่ต้องมานั่งสมาธิแบบนี้

 

จะเหมือนกับในชีวิตประจำวันของเรา

อยู่ๆ รู้ลมหายใจขึ้นมา แล้วรู้ว่าเป็นสาย

สายเข้าสายออก โดยมีใจเป็นผู้รู้ ผู้ดูอยู่

 

และลมหายใจ ก็จะพาไปรู้จักกับภาวะทางกาย

ซึ่งคือ อิริยาบถ ณ ขณะนั้นๆ

 

ยิ่งเห็นบ่อย เห็นต่อเนื่องมากเท่าไหร่

เราก็จะรู้สึกว่าที่แยกกันเป็นชั้นๆ ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ใคร

มีแต่ภาวะที่ประกอบกันขึ้นมาเป็นชั้นๆ

 

เห็นซ้ำไป เห็นย้ำๆ เข้าไป สิ่งที่เราต้องการ

คือจิตที่ตั้งมั่นในการรู้การเห็นนั่นแหละ

 

ระหว่างวัน เห็นขึ้นมาเองใช่ไหม รู้สึกเบาๆ ขึ้นมาในระหว่างวัน

แล้วบางที กายปรากฏขึ้นเอง ใสๆ

แล้วขี้เกียจคิด ขี้เกียจไปวุ่นกับใคร

 

รู้แค่ว่า กายที่ปรากฏชัด ลมหายใจ ที่ปรากฏชัด

และจิตที่ว่างๆ เป็นความน่าพอใจแบบใหม่ที่เกิดในชีวิตเรา

 

ทีนี้ อย่างเวลาที่ เราต้องพูดคิดทำในระหว่างวัน ..

นี่ใช้ได้นะ พอหลังจากทำงานเสร็จ หรือพูดกับใคร

ก็กลับมารู้อยู่ที่ฐานที่มั่น

ถึงแม้จะไม่ได้ใส ไม่ได้เห็นอะไรชัดเจน แต่ก็ยังกลับมา .. ใช้ได้เลย

 

พอคุยกับคนเสร็จ เราจะเหมือนกับ

ใจตัดจากเรื่องที่ไปพัวพันกับโลกภายนอก แล้วกลับเข้ามา รู้

สึกอย่างนี้ไหม พอคุยเสร็จใจไม่เหมือนกัน

 

เมื่อก่อน คุยเสร็จจะมีเรื่องนั้นในหัวต่อ

แต่ตอนนี้เหมือนวางง่าย จะหายไปเอง แล้วกลับมาอยู่กับตัว

 

ใช้ได้เลยนะ ตรงกับที่ พระพุทธเจ้า ตรัสไว้ใน สัมปชัญญบรรพ

เมื่อพูดก็รู้ว่าพูด หยุดพูดก็รู้ว่าหยุดพูด

ถ้ามีสติอยู่กับอาการพูดสักว่าพูดไป พูดให้จบ พูดให้เนื้องานได้เป้า

แล้วเสร็จแล้วพอหยุด ใจเราก็กลับมาอยู่กับกายใจ อันนี้ดี

 

แต่จะยังเห็นไม่ค่อยชัดนะ พอหยุด

จะเหมือนกับเข้ามาอยู่ในกายใจ แล้วรู้สึกยังขุ่นๆ คลุมเครืออยู่

 

แต่ถ้าดูไปเรื่อยๆ จะใสขึ้น ราวกับว่า

ก่อนพูดรู้สึกว่างๆ ใสๆ อย่างไร

หลังพูดจบก็จะว่างๆ ใสๆ อยู่อย่างนั้น

 

นี่ไม่ได้ให้พยายามทำนะ ไม่ได้ให้พยายามทำให้เกิด

แต่บอกว่าถ้าด้วยการปฏิบัติในชีวิตประจำวัน อยู่อย่างนี้ไปเรื่อยๆ

เดี๋ยวจะก้าวหน้ามากขึ้น ใจจะอยากอยู่กับเนื้อตัวตลอด

 

หลายคนสงสัยนะ ว่าจะปฏิบัติในชีวิตประจำวันได้อย่างไร

 

เอาง่ายๆ ก่อน เรื่องพูด..

ถ้าก่อนพูดเรารู้ว่าใจใสๆ อยู่ ใจอยู่กับเนื้อตัวได้ตอนพูด

ทุกคนจะมีความรู้สึกว่า หลุดออกจากโฟกัสเนื้อตัว

จิตต้องไปขุ่นอยู่กับคำพูดแน่นอน

 

ขุ่น ไม่ได้แปลว่ามีโทสะ แต่หมายถึงมีการปรุงแต่ง

ที่ทำให้ใจไม่ใสเหมือนตอนที่เราภาวนาอยู่

 

ทีนี้ถ้าเรามีสติ ตอนพูดเสร็จ แล้วไม่คิดต่อ

เหมือนใจเราฝักใฝ่ที่จะเข้ามารู้ลมหายใจ ที่ตั้งของกาย

จะเหมือนพูดจบไปแล้ว กายหมดหน้าที่แล้ว หมดหน้าที่ขยับปาก

แล้วความคิดในหัว จะเหมือนกันถูกตัดท่อนไป

ไม่มีน้ำเลี้ยงส่งต่อมาให้ปั่นความคิด ให้มอเตอร์ความคิดปั่นต่อ

ก็กลับมารู้อยู่เฉยๆ

 

ตัวนี้ จุดเริ่มต้น เป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญที่สุด

ถ้าเราปรารถนาจะปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน เอาให้ได้อย่างนี้

 

ในระหว่างวัน พอเราจะพูด เรารู้สึกอย่างไร

หลังพูดเสร็จรู้สึกอย่างไร กลับมาอยู่กับเนื้อตัวได้ไหม

ลองแชร์ให้เพื่อนๆฟังหน่อย

 

คุณอุบล : อย่างเมื่อกี้ก่อนเข้า มีเคส ก็เห็นว่า

ตอนที่คุยก็รู้สึกเราไปอยู่กับบทสนทนา รู้สึกขุ่นมัวเล็กน้อย

แต่พอหลังจากที่หยุดคุยไปแล้ว สักพักความหนักตรงนั้นไม่มี ..

อาจมีขมุกขมัวนิดหน่อย แต่หลังจากนั้นก็หายไป ซึ่งไม่เหมือนกับอดีต

 

เมื่อก่อนจะกลับมาคิดว่า เราทำแบบนี้ถูกไหม แบบนี้

คือไม่แน่ใจว่าเป็นไปเอง หรือเป็นเพราะเราทำหรืออย่างไร

 

พี่ตุลย์ : นี่เป็นของเคสแต่ละคนนะ อย่างคุณอุบล เมื่อกี้ที่ดู

พอถึงความว่าง จะว่างได้จริง

ถึงแม้จะมีความคิดอะไรอยู่ จิตก็ไม่ไปยึดความคิด

พอลมหายใจปรากฏ ก็ปรากฏชัดอยู่ในความว่าง

 

ทีนี้ จะมีปัจจัยรองรับอยู่ตรงที่ว่า ของคุณ

จะเหมือนเบื่อๆ ความวุ่นวายมานานแล้ว

และเหมือนใจแสวงหาความสงบอยู่แล้ว

พอมาเจอความสงบตรงนี้ ด้วยความที่ว่า

อยากจะตัดความวุ่นวายทิ้งอยู่เป็นทุน

ก็เลยมาอยู่กับข้างในจริงๆ ตัดความวุ่นวายภายนอก

ไม่อยากข้องเกี่ยวด้วย แต่มาอยู่กับความวิเวกภายใน

อันนี้เป็นต้นทุนอยู่

 

ทีนี้ตัวที่รู้สึกว่า คุยเสร็จแล้วไม่เก็บมาเป็นอารมณ์

เกิดจากการที่ใจเรามีที่พึ่งภายใน อย่างที่ผมบอก

เวลาที่เรารู้สึกถึงลมหายใจ เรารู้สึกออกมาจากเบื้องหลัง

background คือความว่าง ว่างจากความยึดเหนี่ยวต่างๆ

แล้วเรารู้สึกว่าแบบนี้น่าพอใจ เกิดฉันทะ

เกิดความรู้สึกว่า โลกภายนอกจะวุ่นวายน่าขุ่นมัวอย่างไร

ปล่อยให้ขุ่นมัวไปข้างนอก ไม่เข้ามาขุ่นข้างใน

ความรู้สึกทางใจจะเป็นแบบนี้

 

มีเหตุเสมอ ไม่ใช่อยู่ๆ ก็ตัดได้นะ แต่ใจเรามีที่พึ่งภายในด้วย

ซึ่งที่พึ่งภายในนี้ก็คือ อานาปานสติ ที่

พระพุทธเจ้า ตรัสไว้เป็นวิหารธรรมในระหว่างวัน

 

คุณอุบล : หลังจากตื่นนอน เหมือนกับเราคิดหนักๆ มา

ทั้งที่เรารู้สึกว่าหลับสนิท

 

พี่ตุลย์ : อาการแบบนี้ ภาวะทางกายอาจหลับ อาจพัก

แต่ทางใจ ..บางที .. ฟังดีๆ นะ วิถีความเคยชิน

หรือวิถีการปรุงแต่งทางความฝันของเรา มีความยุ่งเหยิงอยู่

แล้วตอนนี้ยังไม่หยุดยุ่งเหยิงทั้งๆ ที่เราทำสมาธิเป็นแล้ว ได้สมาธิแล้ว

 

จะมีความขัดแย้งกันระหว่างตอนหลับกับตื่น

 

ตอนตื่น โหมดความคิดจะถูกปรับปรุง ถูกพัฒนามีคุณภาพดีขึ้น .มีความใสเบามากขึ้น

จนกระทั่งว่า ภาวะทางกาย ไม่มีอาการเครียด

ไม่มีการหลั่งสารอะไรแย่ๆ เสียๆ ออกมา

 

ฉะนั้นถามว่า ตอนหลับ ภาวะทางกายโอเคไหม มันโอเค

แต่การทำงานของสมองแบบเดิมๆ ฝันแบบยุ่งๆ

ฝันแบบตีกันมั่วๆ เป็นเรื่องซับซ้อนในหัว ยังมีอยู่

 

พอตื่นเลยอาจรู้สึกเหมือนกับ ทำไมทึบๆ

 

แต่เราลองมาสนใจอย่างนี้ดู เวลาที่จะตื่นนอนขึ้นมา

แทนที่จะลุกทันที หรือลุกพร้อมความรู้สึกหนักๆ ในหัว

 

ลองตื่นด้วยการกำหนด ลมหายใจในหัว

 

ตื่นเช้าขึ้นมา ไม่ว่าจะรู้สึกหนักหรือเบา

เราสร้างความเคยชิน อย่างนี้ไว้

ก่อนลืมตา เราจะหายใจเข้า หายใจออก

 

ตอนหายใจเข้าให้ท้องป่อง

อยู่ในอิริยาบถนอนจะง่ายอยู่แล้ว ท้องจะป่องออกมาสบายๆ

 

ตอนระบายลมหายใจออก ท้องจะยุบลงมา

ทำความรู้สึกอยู่ตรงนั้นแหละว่า

ท้องป่อง ทอ้งยุบ ท้องป่อง ท้องยุบ สักห้าครั้งก่อนลืมตา

 

คราวนี้จะไปถึงจุดหนึ่ง

ที่มาบวกกันกับที่คุณอุบล ทำได้ระหว่างวันนี่แหละ

 

อย่างเมื่อกี่hที่ว่าง และรับรู้ถึงลมหายใจอยู่ตรงหน้าได้ชัด

 

ถ้าหากว่าความชัดแบบนี้ เกิดขึ้นตอนช่วงเช้าก่อนลืมตาด้วย

คุณอุบลจะรู้สึกว่า สมอง ถูก reset ใหม่

 

จากเดิมที่ มีอะไรตกค้างเป็นขยะอารมณ์ที่เกิดขึ้นระหว่างฝัน

จะถูกเคลียร์ออกไป

 

ถ้าทำบ่อยจนกลายเป็นความเคยชิน ในระดับที่เราไม่ต้องตั้งใจ

ก่อนลืมตา ร่างกายทำให้เองราวกับทำสมาธิอีกแบบ

มีความสว่างความใส ตัดตอนความฝันด้วยสมาธิตอนตื่น

จะรู้สึกว่า ทุกเช้าเราตื่นขึ้นด้วยหัวที่โล่ง

 

แต่ก่อนไปถึงตรงนั้นต้องฝึกนิดหนึ่ง

 

ก่อนลืมตา ตั้งใจไว้ทุกเข้า ถ้ายังไม่รู้สึกถึงลมหายใจ

.. สักห้าครั้ง ท้องป่องท้องแฟบ.. เราจะยังไม่ลืมตา

ตั้งทิศทางไว้อย่างนี้ และในไม่นาน

จะมีภาวะทางอารมณ์ในหัวตอนตื่นเช้าที่ต่างไป

รับประกัน เพราะทำมาได้ขนาดนี้แล้ว ไปเคลียร์อะไรได้อีกหลายอย่าง

 

คุณอุบล : ที่พี่ตุลย์บอกว่า ฝันยุ่งเหยิง

แต่ทำไมตัวเองไม่รู้สึกว่าฝันเลย เหมือนหลับสนิท

 

พี่ตุลย์ : ภาวะทางกายมันพักไง ภาวะทางกายดี

แล้วความฝัน มีคนเคยวิจัยนะ

เอาคนที่รู้สึกตัวเองไม่ได้ฝัน มาทำการตรวจสอบดู

จะมีสิ่งที่เรียกว่า rapid eye movement (REM)

คือจังหวะที่ตากรอกเร็ว จะสะท้อนว่าสมองเข้าโหมดฝัน

 

ทุกคนมี REM หมด แต่มักเกิดในช่วงที่บางทีสั้นไป

หรือภาพเรื่องราว เลอะเลือนเกิน เหมือนฟุ้งซ่านอะไรสักเรื่อง

แต่จำไม่ได้ว่าฟุ้งเรื่องอะไร ทำนองเดียวกัน

 

คนที่ตื่นมาแล้วหัวหนักมักเกิดจากความฝันที่ยังไม่ลงตัว

พูดง่ายๆ นักวิจัยมองว่า การฝันคือการ reset สมอง

 

ถ้าความฝัน reset ได้ดี ทำให้สมองโล่ง เข้าที่ใหม่

เหมือน reboot คอมฯ กลับมาเข้าที่เข้าทาง

หน่วยความจำถูกล้างหมด อะไรแบบนี้

ก็จะตื่นมาพร้อมกับความรู้สึก Fresh

 

แต่ถ้าหนักๆ ทึบๆ ในหัว เขาสันนิษฐานว่า

ต้องมีความฝันอะไรบางอย่างที่เป็นปัญหา

 

อย่างของคุณอุบลไม่น่านะ  ท่านอนก็ไม่ได้มีอะไรที่เป็นปัญหา

แต่ลองไปตรวจด้วยก็ดี อาจตั้งกล้องดูตัวเองก็ได้

ว่านอนผิดท่าหรือพลิกผิดทางที่เกิดสภาพกดทับ หรือคอไม่สบาย

 

แต่ที่พี่รู้สึกก็คือสมองยังไม่ reset ตัวดี

 

แล้วถ้าหากเราทำให้สมาธิเกิดขึ้น ณ ช่วงเวลาตื่นนอนได้

จะรู้สึกดีขึ้น และจะรู้สึกว่า พอ reset ตอนตื่นได้

ก็จะเหมือนกับล้าง กระบวนการอะไรที่เคยชินมาได้ด้วย

 

พูดง่ายๆ ถ้าตื่นดี ต่อไปจะมีผลให้หลับดีตามมาได้ด้วย

 

ในความเห็นพี่ จะผิดจะถูกต้องไปลอง ทดลอง

คือกระบวนการตอนหลับ ตอนที่สมองจะ reset ตัวเองยังไม่ดี

ยังมีความฝันบางอย่างที่เป็นปัญหา

แต่เราล้างได้เคลียร์ได้ตอนตื่นมานี่แหละ

-------------------

 

คุณเก่ง (Sam Sandy)

 

พี่ตุลย์ : ทำได้ดีเหมือนเดิมนะ ..

 

บางทีถ้าระหว่างวัน ปล่อยให้ใจเผลอๆ เหม่อๆ ยุ่งๆ

เราก็อาจพักทำสมาธิเพื่อกู้จิตให้กลับมามีสติ

ตั้งอยู่กับลมหายใจ ได้แบบนี้ดีๆ นะ

 

ระหว่างวัน ที่ว่ายังมีเหมือนกับ มีจุดที่ ทำให้เราปล่อยใจแบบเหม่อๆ

แล้วก็เหมือนกับ บางทีพอมีเรื่องที่เราไม่สมใจ ไม่สมหวัง

ยังมายุ่งๆ อยู่ในหัวเราได้ ตัวนี้ที่

ถ้าเราสามารถที่จะเอาสติ เข้าไปอยู่ในจิตแบบนั้นได้

ก็จะทำให้ชีวิตประจำวันเรา กลมกลืนกับการทำสมาธิมากขึ้น

 

อย่างเวลาที่เราเหมือนกับจะรออะไรสักอย่าง

รอคน หรือรอของแบบนี้ จังหวะที่รอ จะรอแบบเหมือนคนทั่วไป

ที่อาจหงุดหงิด ไม่พอใจ แล้วก็ปล่อยใจเต็มที่

 

ทีนี้ถ้าระหว่างรอ ลองหายใจเข้าออก

พี่ว่าตอนที่คุณ Sam รอ จะเป็นจังหวะที่ไม่ค่อยมีใครเห็น

 

หรือขณะยืนก็ได้ อาจใช้ท่าหนี่ง

เพื่อให้เกิดวิตักกะขึ้นมานิดหนึ่ง

มีลมหายใจ อะไรขึ้นมาบ้าง

แล้วจังหวะที่จิตจะเหม่อ หรือหงุดหงิดกับการรอ

จะได้ต่างไปให้เห็น

 

ตัวนี้ที่พี่ว่าน่าจะเอาไปลองในชีวิตประจำวันนะ

 

คุณ Sam : ตอนนี้พยายามเดินจงกรมให้เท้ากระทบ

เพราะทำงานเดินบ่อย

 

พี่ตุลย์ : ดี ให้เท้ากระทบอยู่ในใจ

เพราะจริงๆ พี่ดูอย่างครั้งหลังๆ

เราทำได้สม่ำเสมอในแง่การรู้ลมหายใจทำได้เนียนดี

แต่ระหว่างวันยังเหมือนคนธรรมดาอยู่ ปล่อยกายปล่อยใจ

แล้วเวลาวุ่นวายใจ ยังหงุดหงิดอยู่ข้างใน

 

อย่างเวลาจะต้องรอ หรือใครไม่ได้อย่างใจ

ใจจะเหม่อไปข้างนอก ไปอยู่กับเรื่องราว

แล้วก็ความไม่ได้อย่างใจนั้น

 

อย่างบางทีพี่รู้สึกนะว่า คุณอยากจะเก็บปากเก็บคำ ไม่อยากด่า

แต่มันยังแอบด่าอยู่เยอะ ในใจเราคิดอะไรแบบว่าครึ่งๆ กลางๆ

จะด่าก็ไม่ด่าสุด แต่จะไม่ด่าเลยก็อดไม่ได้ ในใจยังมีอยู่เยอะ

 

ทีนี้ อยากให้การภาวนา ไปอยู่ในชีวิตประจำวันด้วยคือ

เวลาเรามีอารมณ์แบบนั้น หรือจะเหม่อไป ลอยไป

กลับมาอยู่กับ ลมหายใจบ้าง นิดหนึ่งก็ยังดี

สร้างความเคยชิน สร้างทิศทางใหม่ในระหว่างวันขึ้นมา

 

หรือเดินจงกรม รู้จังหวะเท้ากระทบ เ

ราเข้าใจตัวเองถูกแล้ว ถ้าในชีวิตของเราต้องเดินเยอะ

แล้วเราไปฝึกเดินจงกรมให้ได้ ก็เท่ากับ

เรามีพื้นที่ในการฝึกปฏิบัติเพิ่ม โดยไม่ต้องไปหาเวลาที่ไหน

ไม่ต้องไปปลีกวิเวกที่ไหน

 

แล้วก็อย่างบางที อย่างตอนนี้

เวลาที่อยู่ระหว่างวัน แล้วคำหยาบคายเกิดในใจ เรามีความขัดแย้ง

คือเราจะเริ่มรู้สึกเหมือนกับว่า เป็นอะไรที่ สกปรก เปื้อนจิตนะ

ความรู้สึกขัดแย้งตรงนี้เป็นสิ่งที่ถูกแล้ว

เป็นสิ่งที่เราเกิดสัญชาติญาณรู้มาว่าเป็นของสกปรก

เป็นของเปื้อน ทำให้การภาวนาเนิ่นช้า มีมลทิน

 

ที่เราเข้าใจจากความรู้สึกในใจน่ะถูกแล้ว

ให้ confirm กับตัวเองไปเลยว่า

คำหยาบคายที่เคยไม่บันยะบันยัง ถ้าหายไปได้นี่ ดี

แต่ถ้ายังไม่หายไป ก็ไม่ต้องทรมานใจ

คือตรงนี้ต้องมีศิลปะนิดหนึ่ง

 

ที่พี่พูดคอนเฟิร์มว่าเป็นมลทินต่อจิต เปื้อนจิต

แต่ไม่ต้องทรมานใจเวลาที่มันเกิดขึ้นด้วยอำนาจความเคยชิน

 

เพราะความทรมานใจ เป็นอาหารหล่อเลี้ยงให้คำหยาบคายชนิดหนึ่ง

ความทรมานใจเป็นโทสะ และ โทสะเป็นเกลอกันกับคำหยาบ

 

ไม่ต้องทรมานใจ แค่รู้ว่ามันยังอยู่ในหัวเรา มีแรงขับดัน ให้เราอยากพูด

 

แต่ไม่ต้องไปทรมานใจ คือถ้าเกิดก็เกิด ก็ยอมรับว่าเกิด

แล้วรู้ว่านั่นคือ อกุศลธรรม ก็ให้เกิดและดับไป

โดยที่ใจไม่ไปข้องแวะ ไม่ไปรู้สึกว่า แย่จังที่มันเกิด

 

คุณ Sam : เป็นคนไม่ใช้คำหยาบ แต่ออกแนวคำเชือดเฉือน ทิ่มแทง

ก็พยายามจะเลิกทำอยู่ เพราะเหมือนจิตเคยชินว่า

ถ้าพูดแบบนี้จะจบแน่ แต่ไม่ได้หยาบคาย แต่เป็นคำที่ ...

 

พี่ตุลย์ : ทำให้คนเจ็บใจ เสียดแทง

 

คุณ Sam : ในสมองยังคิดตลอดค่ะ

 

พี่ตุลย์ : เข้าใจ ถึงบอกว่า ถ้าคุณ Sam

ทำความเข้าใจถึง อานาปานสติ หรือเท้ากระทบระหว่างวัน ถูกต้องแล้ว

และมองตัวเองว่าจะดีขึ้นนั่นถูกต้องแล้ว

 

คุณ Sam : เป็นคนที่เห็นอะไรไม่ยุติธรรม จะอยู่เฉยไม่ได้

 

พี่ตุลย์ : เหตุปัจจัยอะไรก็แล้วแต่เอามาเป็นเครื่องฝึกให้หมดนะ

 

ขออภัยสำหรับท่านที่ค้างสต็อคอยู่นะ อย่างไรก็ต้องได้คุยแหละ

 

วันนี้พยายามเจาะรายละเอียดของแต่ละคน

หวังว่าจะได้ครอบคลุมถึงหลายๆ ท่านที่ฟังอยู่

ต่อไปเรามาปฏิบัติธรรมกันจริงๆ

ไม่ใช่แค่แกล้งมานั่งสมาธิ หรือเดินจงกรม

แต่ให้ธรรมะอยู่ในชีวิตของเราจริง

ซึ่งแน่นอนครับต้องดูในชีวิตประจำวัน

__________________

 

วิปัสสนานุบาล EP 28

วันที่ 15 ธันวาคม 2564

ถอดคำ : เอ้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น