วันพุธที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2564

วิปัสสนานุบาล EP 34 (ยังไม่ครบ) : 22 ธันวาคม 2564

จิ๋ว

 

พี่ตุลย์ : พอสุขอยู่ รู้ว่าสุข ก็หายใจออก

เห็นว่า ความสุขก็อย่างหนึ่ง ลมหายใจ ก็อย่างหนึ่ง

 

สุขอยู่รู้ว่าหายใจเข้า ว่างอยู่ เบาอยู่ รู้ว่าหายใจออก

 

ตรงนี้ขอให้จิ๋วสังเกตดูด้วย เพราะว่าบางทีบางช่วง

น้ำหนักความโฟกัส ก็มาอยู่กับความรู้สึกเฉยๆ

แต่บางครั้ง เราก็จะรู้ได้ว่า ตอนว่าง มีความสุข มีความเบา มีความว่าง

และในขณะที่เบาว่าง มีลมหายใจออกอยู่ ประกอบกันไปด้วย

ความปรุงแต่งจิต จะต่างไปเรื่อยๆ

 

และวิธีดูการปรุงแต่งจิตที่ง่ายที่สุด ดีที่สุด

ก็คือตอนที่ ตั้งต้นจากความรู้สึกว่าว่าง รู้สึกว่าเบา แล้วหายใจออก

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในท่าสอง .. ในความเบา ในความว่าง

เรารู้ว่า หายใจเข้าประกอบไปพร้อมกัน

 

ตรงนี้ จุดนี้สำคัญนะ

จิ๋วลองสังเกตดู ถึงความต่างในแต่ระรอบ

วิตักกะ จะชัดขึ้น

 

จิ๋วดูแค่ความต่างของวิตักกะก็ได้

ถ้ารอบไหน วิตักกะ มีความแจ่มชัด และมีความรู้สึกนิ่มนวล

มีความรู้สึกว่า ว่างอยู่เบื้องหลัง นั่นคือลมหายใจ

แตกต่างจากความรู้สึกที่อยู่เบื้องหลัง ที่เป็นความสุข ที่เป็นอะไรว่างๆ

 

แต่ถ้าบางรอบ เหมือนกับมีน้ำหนัก

เอียงข้างไปทางความรู้สึกว่า เรียบเฉย อุเบกขา มีความสุขแบบเรียบๆ

ตรงนี้เราแค่สังเกตว่า วิตักกะ จะไม่มีความคมชัดเท่าบางรอบ

 

ถ้าวิตักกะมีความคมชัด แยกออกมาข้างหน้าจะจะเลยว่า

ลมหายใจ ยาวอยู่เบื้องหน้าความว่าง แบบนี้จะมีความรู้สึกตื่น

 

ดูตรงลมหายใจที่ขาออกนะ

ที่ปรากฏพร้อมกันไป กับความรู้สึกว่าง ที่เบื้องหลัง

 

จิตจะใหญ่ขึ้น เห็นรายละเอียดมากขึ้น

ด้วยจิตที่เห็นรายละเอียดชัดเจน จะรู้ว่า

ที่ตั้งอยู่เป็นท่านั่ง คอตั้งหลังตรง เป็นส่วนของธาตุดิน

ลมหายใจนี้ เป็นส่วนของ ธาตุลม

 

เห็นไหม จะมีความรู้สึกสดชื่นขึ้น จะรู้สึกว่าตื่นเต็มมากขึ้น

ตอนที่ตื่นขึ้น จิตจะขยายออก

และรับรู้อย่างนิ่งๆ ว่างๆ นั่นแหละ แต่มีความตื่นขึ้น

 

มีความสุข หายใจออก และถ้าใจใส ใจเบา ใจตื่นจริง

รู้สึกถึงความว่างรอบด้านได้ ตัวนี้ที่ความสว่างจะเปิดออกไป

ตอนที่รู้สึกถึงความว่างรอบด้านได้ คือตอนที่ใจใสด้วย และตื่นด้วย

 

ความวางเฉยมีหลายแบบจริงๆ นะ ขอให้สังเกตทุกท่าน

บางแบบจะรู้สึกเฉยจริงๆ คือว่า แค่นี้พอแล้ว

แต่ความวางเฉยอีกแบบหนึ่ง

จะมีความรู้สึกเป็นสุข สดชื่น ประกอบอยู่ด้วย

ความวางเฉยอีกแบบหนึ่ง จะมีความรู้สึกเฉื่อยๆ

เป็นความวางเฉยแบบเนือยๆ

หรือความวางเฉย บางแบบ มีความตื่นพร้อม

จิตมีความขยายออก รับรู้ และดูได้ง่ายๆ เลย

สามารถรู้สึกว่า จิตมีความใส เสมอกันกับอากาศรอบด้านได้

 

ถ้ารู้สึกถึงความว่างรอบด้าน จิตต้องมีความใส เสมอกับอากาศ

คือว่า ไม่มีความฟุ้งด้วย และไม่มีความเฉยๆ

แต่จะมีความตื่น รู้สึกสดใส ที่ออกไปรอบด้าน

 

ตัวนี้คือลักษณะของจิตที่แผ่ออกไป

 

ตัวที่รู้สึกถึงลมชัดด้วย มีความตื่นเต็มด้วย

และรู้ว่าสุขอยู่ หายใจเข้า รู้ว่าสุขอยู่ หายใจออก

ถ้ามีความคงเส้นคงวาในแบบที่ รู้สึกใส

เหมือนจะสามารถรู้สึกถึงความไม่มีมโนภาพ ไม่มีตัวใครอยู่ในนี้

 

ก็จะย้อนกลับมาตรงที่ กายอยู่ส่วนกาย

เป็นธาตุดิน มีหัว มีตัวมีแขนมีขา

และมีธาตุลมไหลเข้าไหลออกอยู่ ท่ามกลางอากาศว่างรอบด้าน

โดยมีจิตเป็นตัวรู้ตัวดูอยู่ ซึ่งจิตนี้แหละ ถูกปรุงแต่งไปเรื่อยๆ

บางทีสว่าง .. สว่างมากบ้าง สว่างน้อยบ้าง

มีความเบามากบ้าง มีความเบาน้อยบ้าง

แต่ละรอบจะต่างไปเรื่อยๆ

 

ลองแชร์ซิ เมื่อกี้เห็นอะไร รู้อะไรบ้าง

 

จิ๋ว : ก็ฝึกดูรายละเอียดตามที่พี่ตุลย์บอกตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้ว

แต่ยังไม่ชัดค่ะ

 

พี่ตุลย์ : ต้องอาศัยเดินจงกรมด้วยนะ

แล้วอย่างวันนี้ ที่พี่บอก ความเฉยนี่ มีหลายแบบ

ของเราเอาความเฉยมาเป็นตัวตั้ง

ความเฉยมีหลายแบบ แบบเนือยๆ เอื่อยๆ

กับแบบที่มีความรู้สึกว่า ตื่นขึ้นมา สดใส สดชื่น

 

สังเกตแค่ตรงนี้ให้ออก รายละเอียดตรงนี้สำคัญ

ถ้าแต่ละรอบ .. อย่างบางคนไปจดจ่ออยู่กับลมหายใจมากไป

ก็จะมี น้ำหนักของความตื่นมากไป ความมีอะไรคมๆ เกิดมามากไป

 

แต่ของจิ๋ว ยิ่งวันยิ่งไปเทน้ำหนัก ให้ความรู้สึกเฉย

ความรู้สึกเหมือนกับ สงบ ไม่มีอะไร ตรงนั้นเป็นส่วนของความสุข

ส่วนของสุขเวทนา ที่พอสะสมมากไปแล้ว

มีความเคยชินกับตรงนั้นแล้ว จะลืมลมหายใจ

 

ลมหายใจจะเหมือนปรากฏอยู่อย่างนั้นๆ

 

ทีนี้ ตรงนี้ที่พอเรารู้ว่า น้ำหนักเทไปข้างเฉยมากไป

เมื่อกี้อย่างที่กระตุ้นว่า ให้มารู้ว่า

สุขอยู่ แล้วหายใจออก สุขอยู่ หายใจเข้า

ให้มีน้ำหนักของโฟกัส มาอยู่กับลมหายใจมากขึ้น

 

แล้วจะเกิดความรู้สึกขึ้นมา

อย่างเมื่อกี้อาจไม่ชัดเจนมาก แต่รู้สึกขึ้นมาแผ่วๆ ว่า

ลมหายใจ เป็นส่วนหนึ่ง และความรู้สึกที่อยู่เบื้องหลังเป็นอีกส่วน

แยกออกจากกันเป็นต่างหาก

 

ตรงที่ตั้งข้อสังเกตไว้นิดเดียวว่า

ยิ่งชัดเจนว่า มันแยกจากกันมากเท่าไหร่

ยิ่งชัดเจนว่าสติเรายิ่งตื่นขึ้นเท่านั้น

 

จิ๋ว : จะไปทำต่อค่ะ แล้วก็ยังเดินจงกรมอยู่ แต่ต้องทำไปเรื่อย

 

พี่ตุลย์ : ตอนจงกรม พี่ว่าของจิ๋วกลับกันกับนั่งสมาธิ

จิ๋วไปโฟกัสกับเท้ามากไป เหมือนกับเท้ากระทบของเรา

เรารู้ไป แล้วรู้ไปงั้นๆ

 

ทีนี้ ถ้าจะให้ดี เพิ่มสปีดให้เร็วขึ้นนิดหนึ่ง แล้วรู้สึกขึ้นมา

ถามตัวเองแต่ละรอบ ว่าใจขุ่นหรือว่าใส ใจเบาหรือหนัก

ให้สังเกตไปด้วย เพราะช่วงนี้พี่ว่า จิ๋วจะโฟกัสที่เท้ากระทบอย่างเดียว

และไม่ขึ้นมาดู ไม่เกิดความทั่วพร้อมนะ

 

จิ๋ว : เกือบหนึ่งสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่จากครั้งล่าสุดที่ได้คุยกับพี่ตุลย์

อารมณ์มันสวิง มีลง แล้วก็ขึ้น

ซึ่งพอได้มาคุยวันนี้ อารมณ์พวกนั้นก็ไม่เที่ยงไปหมดแล้วค่ะ

 

ก่อนหน้านี้ ยอมรับตามตรงว่า

มีช่วงสองสามวัน ที่ depress เหมือนกับคนที่ไม่ได้ภาวนาเลย

แต่ตอนนี้ กลับมาเป็นปกติแล้วค่ะ

 

สาเหตุเกิดจากที่จิ๋วรู้สึกผิดอยู่ในใจ

ว่าจิ๋วยังหลงเหลือเรื่องเทียบเขาเทียบเรา

อยากเหนือกว่าอะไรแบบนี้ แต่ตอนนี้ก็เบาบางลงเยอะแล้ว

 

จำได้ว่า เมื่อสักสิบปีก่อนที่พี่ตุลย์ทำหนังสือ คำตอบในเฟสบุ๊ค

จิ๋วก็เคยถามคำถามแบบนี้กับพี่ตุลย์มาแล้ว

เหมือนกับเป็นเรื่องที่จิ๋วรู้สึกว่า ทำไมมันไม่หมดไปจากใจเสียที

แล้วพอมีช่วงที่ลงไป depress มากๆ

ก็จะรู้สึกว่า นี่เราเอาอานาปานสติไปใช้ระหว่างวัน บ้างหรือเปล่า

เหมือนคนไม่ภาวนาเลย

 

พี่ตุลย์ : เรื่องเทียบเขาเทียบเรา ก่อนอื่นทำความเข้าใจกันทุกท่านนะ

แม้แต่พระอนาคามี ยังละไม่ได้เลย เทียบเขาเทียบเรา ยังมีตัวตน

 

อย่างที่ พระพุทธเจ้าตรัส

ถ้ายังมีตัวตน ก็มีการเทียบเขาเทียบเราทั้งนั้นแหละ

และถ้ายังมีตัวตนอยู่ นั่นก็คือ ผู้ที่ยังต้องศึกษาต่อ

ยังต้องมีการรู้การเห็นว่า สักแต่เป็นขันธ์ห้า สักแต่เป็นธาตุหก

อย่างที่เราทำๆ กันอยู่นี่แหละ

 

นี่สักแต่ลมหายใจเข้า นี่ลมหายใจออก มีจิตเสมอกับลมหายใจ

เพื่อที่จะได้รู้ว่า จิตก็ส่วนหนึ่ง ลมหายใจ ก็ส่วนหนึ่ง

ดูแบบที่เรากำลังดู

เพียงแต่ระดับของพวกท่าน จะทะลุฟ้าไปแล้ว

แต่แนวทาง ทิศทางในการดู ก็ดูเหมือนกันแบบนี้

 

การเทียบเขาเทียบเรา การมีอัตตามานะ

การมีความรู้สึกในตัวในตนนี่.. จำไว้

ไม่ใช่สิ่งที่เราจะไปตั้งใจบอกว่า จงหายไปจากใจ

แล้วมันจะหายไปได้

 

หรือไปได้แบบฝึกหัด หรือไปได้วิธีที่ทำแล้วรู้สึกว่า

เออ ผ่านไปครั้งหนึ่ง .. จะไม่ใช่ผ่านตลอดไป

ตายไป เกิดใหม่ ก็มาท่วมหัวท่วมหูอีก ซ้ำแล้วซ้ำเล่า

 

สังสารวัฏน่าเบื่อก็ตรงนี้แหละ พอตายไปแล้ว ต้องตั้งต้นใหม่

มามีการรบรากันกับเรื่องนอกตัว

แล้วก็กิเลสภายในของตัวเอง ไม่รู้จบ

 

ก็ให้คิดเสียว่า เราตายไปแล้วเกิดใหม่ ก็แบบนี้แหละ

วันหนึ่ง ดูเหมือนเอาชนะได้แล้ว

อีกวันต่อมาเหมือน เรายังไม่ได้ทำอะไรเลย ไม่ได้สู้อะไรเลย

 

แต่จริงๆ ไม่มีหรอกที่แบบว่า สูญเปล่า

คำว่าสูญเปล่าไม่มี

มีแต่ว่าเราสะสมไป จนกระทั่งมันเข้าถึงจิต

ที่มีความเป็นผู้รู้ผู้ดูว่ าสักว่าเป็นขันธ์ห้า สักว่าเป็นธาตุหกหรือยัง

 

ถ้าหากเข้าถึงจิตที่สักว่าเป็นผู้รู้ผู้ดูนี่นะ

จะไม่ค่อยแคร์ว่า อารมณ์จะเหวี่ยงขึ้นหรือเหวี่ยงลง

จะไม่ค่อยแคร์ว่า วันหนึ่งทำไมดีได้ วันหนึ่งทำไมร้ายจัง

จะไม่แคร์แบบนั้น

 

จะมีความรู้สึกว่า ทั้งดีทั้งร้าย ทั้งที่เหวี่ยงขึ้นเหวี่ยงลง

เป็นลักษณะของความปรุงแต่งทางใจที่เอาแน่นอนไม่ได้

ขึ้นกับเหตุปัจจัย

 

ต้องมาให้ถึงตรงนี้..

 

คือเราได้ยินได้ฟังทฤษฎีตามปริยัติมา มากมายไม่รู้กี่ร้อยกี่พันครั้ง

แต่โอกาสที่จะเข้าให้ถึงด้วยประสบการณ์ตรง อันนี้แต่ละคนมีไม่เท่ากัน

 

เรามีโอกาสนี้อยู่แล้ว อย่างการทำสมาธิ

เป็นไปเพื่อตั้งหลัก ไม่ใช่เป็นไปเพื่อกำจัดกิเลส

 

ที่จะกำจัดกิเลส อย่างที่เมื่อกี้พี่ไกด์ไปว่า

ตอนนี้จิตตื่นขึ้นกว่าเดิม เห็นไหมสังเกตไหม

ลักษณะของจิตที่ตื่น ที่เต็ม ที่ไม่เฉื่อยน่ะ

จะมีความพร้อมที่จะรู้สภาพกายสภาพใจนี้ตามจริง

เห็นว่าเป็นรูปนาม

 

นี่คือยังเห็นแค่แผ่วๆ ยังไม่เห็นกระจ่างชัด

พอเห็นกระจ่างชัดและต่อเนื่องแล้ว แม้อยู่ระหว่างวัน ก็ยังเห็นอยู่

 

และการเห็นทั้งในขณะทำสมาธิ เดินจงกรม

และในระหว่างวัน ใกล้เคียงกันไล่เลี่ยกัน

ในที่สุด จะมีการค้นพบว่า จิตที่มีความปรุงแต่งไปเรื่อยๆ

โอกาสที่วันหนึ่งจะเป็นกุศล แล้วอีกวันเป็นอกุศล จะเกิดได้เสมอ

ต่อเนื่องไปทั้งชีวิต ตราบเท่าที่เรายังไม่ถึงอรหัตผล

 

ตรงนี้ แค่ทำความเข้าใจไว้อย่างนี้ จะเกิดความรู้สึกว่า

ได้แค่ไหนเอาแค่นั้นในวันนั้น

ไม่ใช่ไปดิ้นรน ทุรนทุรายว่า ทำไมฉันยังมีอาการแบบนี้อยู่อีก

ตรงนี้นี่ อาการที่แบบ .. ทำไมฉันยังมีอาการอย่างนี้อยู่อีก

จะเกิดขึ้นชั่วชีวิตนะ

ตราบเท่าที่เรายังไม่เข้าถึงพระอรหัตผลนะ

 

จิ๋ว : จิ๋วมีปัญหาเรื่องการนอนมาหลายปี

ตอนนี้ก็ใช้มือยกขึ้นลงตามที่พี่ตุลย์สอน

ถ้าทำอย่างนี้ไปเรื่อยๆ จะดีขึ้นใช่ไหมคะ

จะชอบฝันเลอะเทอะค่ะ ไม่ชอบเวลาตื่นขึ้นมาค่ะ

 

พี่ตุลย์ : ของจิ๋วเป็นแบบนี้นะ อย่างเวลานอน เอาง่ายๆ เลย

สำหรับจิ๋ว พอนอนลงไปปุ๊บ จะเริ่มเข้าสู่ภาวะคลุมเครือ

แม้กระทั่งว่าจิ๋วยกมือในระหว่างนอน จิ๋วก็จะรู้สึกคลุมเครืออยู่

จะครึ่งๆ กลางๆ ไม่ได้มีสติเต็ม

 

ฉะนั้น ทางที่ดี พี่แนะนำว่า ก่อนนอน เดินจงกรมดีกว่า

เดินจงกรมก่อนให้เกิดเท้ากระทบ อย่างน้อยสักสิบนาที

แล้วพอมานอน จิ๋วสังเกตดูว่า เท้ากระทบยังอยู่ในใจของเราไหม

ยังมีเหมือนกับ ตึ๊กๆๆ อยู่ในใจไหม

ถ้ายังมีอยู่ นั่นแสดงว่า

มีวิตักกะจากการเดินจงกรมเข้ามาอยู่ในใจเรา

 

ทีนี้ ถ้ามีอย่างนั้นแล้ว ค่อยมาใช้มือ จะ work ขึ้น

จะรู้สึกว่า เรามีหลัก มีต้นทุน มีที่ตั้งของสติ

แล้วพอตอนยกมือต้องไม่ลืม

ส่วนใหญ่เลย พวกที่นอนลงไปพร้อมความรู้สึกคลุมเครือ

จะลืมหมด จะลืมออกมาจากกำลังของจิต แบบที่ไปไม่ถึง

 

วิธีที่เราจะต้องไม่ลืมก็คือ

ตอนยกฝ่ามือขึ้น รู้สึกถึงมือที่ดันลมเข้า

พอหยุดลม กลั้นไว้แป๊บหนึ่ง

เหมือนเอาอะไรไปกั้นลมไว้ ไม่ให้รั่วไหลออกมา

 

จากนั้น พอถึงเวลาคายลมออก

ก็ดึงมือราวกับว่า มือนี้เป็นตัวลากลมออก

 

ถ้าหากว่าเราทำได้ไปสักสิบครั้ง จะรู้สึกใสขึ้นมาเอง

และความรู้สึกใสนั้น จะทำให้เราสัมผัสอากาศว่างรอบตัวได้

 

แต่ตรงนี้ที่พี่ดู พอจิ๋วแค่ยกมือ แล้วด้วยความรู้สึกคลุมเครือ

จะเหมือนกับเราจับ ความสัมพันธ์ระหว่างมือกับลมไม่ได้ชัด ตั้งแต่ครั้งแรกๆ

 

และพอยิ่งยก จะเหมือนมีแต่ท่ายกเฉยๆ

ไม่ได้รู้ความสัมพันธ์ระหว่างมือกับลม

โอกาสที่มันจะใส เลยต่ำมาก

 

เพราะฉะนั้น ถ้าจะคิดเคลียร์หัว ด้วยท่ามือไกด์

ก่อนอื่นต้องแม่นนิดหนึ่งว่า

เดินจงกรมก่อน เอาให้ใจมีหลัก มีที่ตั้งก่อน

อันดับสอง อย่าลืม .. ว่าฝ่ามือเป็นผู้ดันลมเข้า

ฝ่ามือเป็นผู้ลากลมออก

ทำไปเรื่อยๆ อย่างนี้ สักสิบครั้ง จะรู้สึกถึงใจที่ใสขึ้น

 

ตอนที่ใจใสนั่นแหละ ถึงจะสัมผัสอากาศว่างรอบด้านได้

 

ตรงนี้ถึงจะหลับไปแบบเคลียร์ๆ

 

ที่ผ่านมา ที่เราทำไม่ได้ เพราะว่าอาจเรื่องขั้นตอน ว่า

ทำอย่างไร เราจะมีใจที่มีความพร้อมที่จะไปรู้

 

จิ๋ว : เวลาที่ทำงาน พี่ตุลย์บอกว่า

เวลาที่ใจเปิด จะทำให้เราเข้าใจงาน ใช่ไหมคะ

แล้วเวลาที่จิ๋วฟังงาน จิ๋วสังเกตว่า

จิ๋วจะเข้าใจในระดับหนึ่ง แต่ไม่ใช่ถ่องแท้ไปเลย

เป็นเพราะใจยังไม่เปิดพอ หรือติดที่ระดับเพดานไอคิวเราคะ

 

พี่ตุลย์ : ที่ดู คือว่า อันดับแรกเลย .. อันนี้พูดเผื่อทุกท่านด้วยนะ

บางที ถ้าตัวเรากับเพื่อนร่วมงาน หรือหัวหน้างานเรา จิตต่างกันมาก

บางที จูนกันไม่ติด

 

เรารู้เลยว่า ถ้าจิตเราเล็กกว่าเขา จิตเขาใหญ่กว่า

เป้าหมายจะไม่เท่ากัน จะเห็นชัดเลยนะ

 

ถ้าจิตที่ใหญ่กว่า เป้าหมายชัดเจน รายละเอียดครบ ความรู้เขาครบ

จิตเขาตื่นขึ้นด้วยข้อมูลในหัว และเป้าประสงค์ในใจว่าจะเอาอะไร

มีความจะเจน มีความชัดแจ่มแจ๋ว

 

ในขณะที่เรา ถ้าจิตเล็กว่า passion เราน้อยกว่า

ความรู้สึกจะเหมือนว่าตามเป้าเขาไม่ทัน

ทั้งๆ ที่ฟังแล้วว่า เป้าหมายอย่างนี้นะ

แต่ใจเราไม่เท่าเขา เล็งไปที่เป้าไม่ตรงกับเขา ไม่แรงเท่าเขา อันนี้ข้อหนึ่ง

 

และความรู้ที่สะสมมา คนมี passion นี่

แม้แต่ไปนอนเล่นชายหาด ก็ยังอุตส่าห์กดดูข้อมูลว่า

มีอะไรใหม่ไหม มีความก้าวหน้าไหม

 

แต่ของเรา อย่าว่าไปนอนชายหาดเลย

แค่นั่งที่โต๊ะทำงาน บางทียังอยากเอาอะไรมาแชท อย่างนี้นะ

 

มันต่างกัน วิธีเก็บข้อมูล และช่องเก็บข้อมูลในสมอง

ในความเคยชิน ในความชำนาญอะไรต่างๆ จะต่างกันเยอะ

 

ฉะนั้น ถ้าเราเข้าใจถึงภาพรวมตรงนี้ เห็นว่า

จิตใหญ่กว่า จิตเล็กกว่า

เวลามาเจอหน้ากัน ประจัญหน้ากัน จะจูนกันไม่ติด

เป้าหมายเราจะเล็กกว่าเขา

รายละเอียดข้อมูลในหัวเราจะน้อยกว่าเขา

 

ฉะนั้นพอจิตใหญ่ยิ่งมา กระทบมา แล้วจิตเล็กๆ ไปรับแรงกระทบ

จะมีความรู้สึกว่า ไม่เข้าใจ

จะมีความรู้สึกขึ้นมาเป็นห้วงๆ ว่า มีความคลุมเครือ

หรือโฟกัสจะหลุดๆ

 

เพราะโฟกัสนี่ พอเหมือนเราพยายามปรับโฟกัสให้เท่าเขา

แล้วมันเท่าไม่ได้ ก็จะรู้สึกเหมือนกับลืมๆ เลือนๆ พร่าๆ ไป

 

ตรงนี้ พอเราเริ่มอ่านเกมออก เราก็จะมีวิธีปรับตัวคือ

อย่าฟังเฉยๆ เวลาฟัง โน้ต.. หัดโน้ตไปด้วย

หัดโน้ตว่า ที่เราจับจุดได้ว่า เขาพูดกับเราอย่างนี้

พูดถึงเรื่องอะไร แล้วข้อมูลที่เราไม่มีอยู่ในหัว

ตอนที่เริ่มฟังแล้ว blank ฟังแล้วเหมือนพร่าไป

รีบเตือนตัวเองให้จด ว่าที่พร่าเลือนไป

เพราะเราฟังอะไรเขาแล้ว รู้สึกว่า เราตามเขาไม่ทัน

มีชุดข้อมูลอะไรที่เราต้องไปเก็บมาเพิ่ม เก็บเล็กผสมน้อยอะไรแบบนี้

 

ใช้วิธีจดๆ ไปอย่างนี้ ในที่สุด

จะเป็นเหมือนกับคล้ายๆ มือไกด์ ช่วยให้รู้ลมหายใจ

 

นี่ก็คือเหมือนกับมีการ short note guide

ว่าเรายังรู้อะไรไม่เท่าเขา หรือรู้อะไรที่ตามเขาไม่ทัน

ก็จะได้เหมือนกับมา re-check ได้

 

ไม่อย่างนั้นฟังเฉยๆ จะลืมหมด แล้วก็มา frustrate ทีหลัง

ว่า ฟังแล้วเหมือนเก็บข้อมูลไม่ครบ

มาได้ 50% บ้าง 70% บ้าง แล้วก็ต้องไปถามเขาใหม่

 

ตรงนี้ก็จะไปตอกย้ำว่า ภาพรวมเราจูนกับเขาไม่ติดนะ

______________

วิปัสสนานุบาล EP 34

วันที่ 22 ธันวาคม 2564

ถอดคำ : เอ้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น