วันอังคารที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2564

วิปัสสนานุบาล EP 23 – 8 ธันวาคม 2564

(หมายเหตุผู้ถอดเสียง: เป็นการถอดเสียงระหว่าง Live สด ฉะนั้น อาจไม่ถูกต้องครบถ้วนเต็มร้อยนะคะ 

แต่จะมาปรับแก้ให้ถูกต้อง ภายหลังค่า)


คุณเจมี่

 

พี่ตุลย์ : พอจับจุดถูกว่า จะตั้งจิตอย่างไร วางอย่างไรให้มีการไม่ปรุงแต่ง มีแต่การรับรู้สิ่งที่เกิดขึ้นตามจริง สิ่งที่ตามหลังมาคือ การมีสมาธิในอีกแบบคือ สมาธิในแบบที่ไม่มีตัวเราเป็นผู้บงการการปฏิบัติ แต่ให้การปฏิบัติเป็นช่วงเวลาของจิตที่จะรู้ตัวเองว่า อยู่ในฐานะของผู้ดู

 

เหมือนกับ กลับไปนับหนึ่งไป กลับไปที่ base ที่ ground เลยว่าจิตดั้งเดิม ไม่ได้ปรุงแต่งเอาเขาเอาเรา ไม่ได้ปรุงแต่งเพื่อที่จะมีแต่อะไรดีๆ เข้าตัว ไม่ได้สำคัญด้วยซ้ำว่า โดยตัวของจิตเป็นตัวใคร กลับไปที่ศูนย์จริงๆ ก่อนหน้าจะนับหนึ่งจริงๆ จิตที่ไม่รู้ด้วยซ้ำว่า ชื่ออะไร ไม่จำด้วยซ้ำว่า ตัวเองสูงหรือต่ำ ดำหรือขาว

 

จิตที่อยู่ตรงตำแหน่งศูนย์ ตำแหน่งที่ยังไม่มีการนับหนึ่งว่าฉันเป็นใคร คือจิตที่พร้อมมีปัญญาแบบพุทธ

 

ปัญญาแบบพุทธ ไม่ใช่ว่า รู้แบบนิ่งๆ เฉยๆ ชืดๆ นะ ตอนที่รู้เฉยๆ ชืดๆ ไม่ทราบว่าตัวเองเป็นใคร ไม่เอานิยามว่าดีหรือร้าย ไม่สนว่าตัวเองสูงหรือต่ำ ตอนโดนฉีดยาสลบ หรือบล็อคหลังก็เกิดความรู้สึกแบบนั้นได้

 

แต่จิตที่มีปัญญาแบบพุทธ คืออยู่ตรง zero นะ ก่อนนับหนึ่งว่าเราเป็นใคร จิตแบบนั้นต้องประกอบพร้อมด้วยความสว่าง มีความกว้าง พร้อมรู้ และที่สำคัญคือต้องมีสัมมาทิฏฐิกำกับ

 

คำว่าสัมมาทิฏฐิ คนทั้งหลายเข้าใจว่า ก็หมายถึงรู้ผิดรู้ชอบ รู้อะไรดีชั่ว อันนั้นเป็น โลกียสัมมาทิฏฐิ

 

ส่วน โลกุตตรสัมมาทิฏฐิ คือรู้กายใจไม่ใช่ตัวตน อันนี้คือตามทฤษฎี รู้แค่นี้กัน

 

แต่ถ้าหากว่าจิตเรามาถึงฐาน ถูกเซ็ตให้อยู่ซีโร่แล้ว มีแต่จิตพร้อมรู้ มีแต่จิตสว่างอยู่ ตรงนี้ถ้าตั้งต้นนับสัมมาทิฏฐิกัน คือนับที่สติในพระไตรปิฎกจะแจกแจงขยายความว่า สติกับปัญญาคืออันเดียวกัน

 

ที่ใดมีสติ ที่นั่นมีปัญญา ที่ใดมีปัญญา ที่นั่นมีสติ

 

ตัวสตินี่แหละ ที่สามารถระลึกรู้ได้ว่าสิ่งที่กำลังปรากฏจะเป็นท่านั่งอันเป็นปัจจุบันก็ดี หรือเป็นภาวะต่างๆ ทางใจก็ดี ที่กำลังเกิด ที่กำลังปรากฏ จะนิ่งก็ดี จะใสก็ดี จะสว่างก็ดี เหล่านี้ ล้วนแล้วแต่เป็นการปรุงแต่งชั่วคราว

 

ตัวสติตัวนี้ ที่เราใช้วัดกันจริงๆ ว่ามาถูกทางแบบพุทธ จิตไม่ได้มีแต่ความนิ่งอยู่ตรง zero นะ

 

ตอนที่นิ่ง ไม่รู้อะไรเลย อยู่ตรง zero นี่ เกิดขึ้นได้ ตอนนอนหลับไปด้วยความเพลีย ตื่นขึ้นมางงๆ ว่านี่เราเป็นใครอยู่นี่ไหน นั่นก็ zero เหมือนกัน

 

แต่ zero แบบพุทธ คือไม่สำคัญมั่นหมายว่าฉันคือใคร ฉันอยู่ที่ไหน จะเห็นแต่ว่า ฉันอยู่ในจักรวาลของธาตุหก ปรากฏตามจริงอยู่นี่ว่า กายอยู่ส่วนกายในท่านั่ง ลมหายใจอยู่ส่วนลมหายใจ เข้าออกในกายนี้อยู่ เข้าออกในธาตุดินนี้อยู่ ณ จังหวะที่เราหายใจ พอจิตใสเสมออากาศได้ เรารู้ว่า ความว่างที่ล้อมรอบธาตุดินธาตุลมอยู่นี้ เป็นความว่างที่ไม่มีชื่อใคร แต่เป็นส่วนประกอบ

 

ถ้าเผลอเมื่อไหร่ จะมาประกอบร่างรวมร่างกับธาตุอื่นๆ หลอกว่า มีตัวฉัน อยู่ในจักรวาลนี้ เป็นศูนย์กลางของจักรวาล

 

แต่พอเราสามารถรู้สึกถึงธาตุดิน ธาตุลม แล้วก็อากาศว่างรอบด้านได้ จิตจะเห็นตัวเองเป็นแค่ส่วนประกอบหนึ่งอยู่ในธาตุหก

 

ในจักรวาลของธาตุหกนี่ จิตมาเป็นแค่ส่วนประกอบ อิงอาศัยธาตุอื่นๆ โดยตัวของมันเองไม่สามารถลอยอยู่เฉยๆ ตามลำพัง

 

บางคน ไปตีความว่าพระนิพพาน คือจิตที่ลอยอยู่ แล้วก็มีความว่าง มีความสว่างสุกใสอยู่ แล้วไม่เคลื่อนไปจากตรงนั้น ความเข้าใจแบบนั้นคือ อรูปพรหม

 

อรูปพรหม จะมีแต่จิต ไม่มีร่าง ลอยอยู่กลางกาแลคซี่ ไม่มีที่ตั้ง ไม่มีแผ่นดิน หรือว่าท้องฟ้า มีแต่จิตที่ลอยอยู่กลางจักรวาล

 

แต่ถ้าเราเข้าใจถูกต้อง ก็จะเห็นว่า จิตนี้ เป็นธาตุรู้ เป็นวิญญาณธาตุ อิงอาศัยธาตุอื่น เป็นที่ตั้ง

 

ถ้าหากว่าจบจากชาตินี้ มีจิตที่เป็นอรูปฌาน ก็ไม่ต้องอิงอาศัยธาตุทั้งห้า แม้แต่อากาศว่างๆ ก็ไม่ต้องการนะ จิตแบบอรูปพรหม จะมีความละเอียด แล้วก็ไม่มีที่ตั้งแบบที่จะอยู่ตรงไหนในจักรวาล ว่างๆ ตรงไหนในจักรวาล

 

ทีนี้ พอเราทำความเข้าใจอย่างถูกต้องแบบพุทธ มีสัมมาทิฏฐิประกอบอยู่ด้วยกับการเห็นว่า จิตนี้ เป็นวิญญาณธาตุ อาศัยประกอบอยู่กับธาตุอื่นๆ

 

กายที่ขยับอยู่นี้ หายใจอยู่นี้ เป็นธาตุดินกับธาตุลม

อากาศว่าง ที่เป็นที่อิงอาศัย ในแบบสามมิติ รู้ว่าเราสามารถพล็อตกราฟได้ว่า กายนี้ ตั้งอยู่ ตรงจุดไหนของแกน x y z

 

จิต ณ ขณะนั้นจะรู้ว่า ที่เป็นธาตุดิน ที่เป็นธาตุลม ตั้งอยู่ในอากาศว่างนี้ ไม่ได้มีตัวฉัน มีแต่ความเป็นธาตุ แล้ววิญญาณธาตุ ที่อยู่แบ็คกราวด์นี้ ถ้าหากว่ารู้ตัวของมันเองว่า ความเป็นธาตุรู้นี้ ถูกปรุงแต่งไปต่างๆ นานา ได้ เดี๋ยวก็มีความนิ่ง ตอนอยู่ในสมาธิ เดี๋ยวก็มีความโยกโยน มีความโคลงเคลง ตอนโดนความฟุ้งซ่านเข้ามากระทบกระแทก ทำให้กระเพื่อม ทำให้โยกโยนไปมา

 

การที่จิตมีความรู้ตัวเองว่าตัวของมันเอง สามารถรู้อยู่ได้เฉยๆ รู้ธาตุอื่นได้เฉยๆ และขณะเดียวกัน ก็สามารถที่จะถูกปรุงแต่ง ให้มีความเคลื่อนไหว มีความกระเพื่อม

 

การรู้แบบนี้เป็นสัมมาทิฏฐิ ในชั้นที่จะต่อยอดเป็นปัญญาแบบพุทธ ไปจนสุดทาง

 

คือพอจิตรู้ตัวเองว่า ตัวเองเป็นแค่ธรรมชาติชนิดหนึ่ง ไม่ได้มีตัวใครอยู่ในนี้ ไม่ได้มีความคิดที่ฝังตัวว่าฉันเป็นใคร ชื่ออะไร อยู่แต่ไหนแต่ไร

 

อยู่ๆ จะเหมือนความฝัน ที่ผุดขึ้นมาแล้วรู้สึกว่า นี่มีเราเป็นใครอยู่ อาศัยกายนี้ ลมหายใจนี้ แล้วก็ความรู้สึกนึกคิดแบบนี้ ประกอบร่างกันขึ้นมา ให้กลายเป็นความรู้สึกในตัวในตน

 

ทีนี้พอจิตถูกทำให้ .. ถูก set zero กลับไปที่ zero จะได้โอกาสมองใหม่ มองซ้ำ จากเดิมที่ต้องหลงเชื่อท่าเดียวว่า มีตัวฉัน อยู่ในความรู้สึกนึกคิดในกายนี้ใจนี้

 

จะได้โอกาสมองครั้งที่สอง ได้โอกาสมองซ้ำ ออกมาจากมุมมองอีกมุมหนึ่ง รู้สึกว่ากายนี้ ขยับเคลื่อนไหวอยู่นี่นะ เป็นธาตุดินมีลมหายใจเข้าออกหล่อเลี้ยงให้ธาตุดินเป็นไปได้ สามารถอยู่ได้ แล้วก็ตั้งอยู่ในอากาศรอบด้านที่มีผนังห้องทั้งสี่เป็นกำหนด เป็นขอบเขต เป็นประมาณ

 

พอเรารู้สึกถึงธาตุลมไปด้วย แล้วก็รู้สึกถึงอากาศว่างรอบด้านไปด้วยพร้อมกัน อันนั้นคือลักษณะที่จิตขยายออกไป จิตมีความใสเสมอกัน แล้วก็สามารถที่จะรู้อากาศว่างได้

 

พอเห็นกายใจโดยความเป็นธาตุหก อย่างนี้ ตอนนี้นี่นะ ใจจะเบา .. เบาเหมือนกับไม่เคยมีน้ำหนัก ไม่เคยมีตัวตน ไม่เคยมีตัวใครอยู่ในนี้เลย

 

จิตรู้อะไร ก็มีความเสมอกับสิ่งนั้น รู้ธาตุดิน ก็มีความเสมอกับธาตุดิน รู้ธาตุลมก็เสมอกับธาตุลม รู้ธาตุอากาศก็เสมอกับธาตุอากาศ

 

การมีจิตเสมอกับธาตุต่างๆ โดยไม่มีความปรุงแต่งนึกคิด ไม่มีน้ำหนัก ความเป็นตัวตนขึ้นมาแม้แต่นิดเดียว คือความส่องสว่างแบบพุทธ

 

พอเราเห็นว่า จิตที่มีความเบา มีความใส เสมอกับธาตุทั้งปวงนี้กำลังให้ความรู้สึกว่า ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนอยู่ ตรงนี้ยังไม่ใช่นิพพาน ตรงนี้ยังไม่ใช่การเข้าถึงอะไรเลยนะ

 

ตรงนี้เป็นแค่อนัตตสัญญา .. คำว่าอนัตตสัญญา สัญญาคือความจำได้หมายรู้ สำคัญมั่นหมายไป

 

ส่วนอนัตตา คือความไม่มีตัวตน .. อนัตตา เป็นการมาประชุม ประกอบกันของธรรมชาติ สภาวะต่างๆ ไม่มีตัวใครอยู่จริง .. ตัวนี้ อนัตตา

 

อนัตตสัญญาก็คือ ความรู้สึกว่า นี่ไม่ใช่เราจริงๆ ด้วย สักแต่ว่าเป็นธาตุทั้งหกมาประชุมกัน

 

พอเราได้ อนัตตสัญญาแล้ว ได้ความรู้สึกว่า ไม่มีตัวใครอยู่ในนี้แล้ว นี่เรียกว่าเห็นอนัตตสัญญา

 

แล้วถ้าทำไว้ในใจว่า นี่สักแต่เป็นแค่ อนัตตสัญญา เป็นสัญญาชนิดหนึ่ง เราดูสัญญาไปทำไม เราดูขันธ์ห้า .. สัญญานี่เป็นส่วนหนึ่งของขันธ์ห้านี่ ดูไปทำไม

 

พระพุทธเจ้าบอกดูไปเพื่อให้เกิดอนิจจสัญญา เพื่อให้เกิดความรู้สึกว่า ไม่เที่ยง พูดง่ายที่สุดก็คือว่า เราดูขันธ์ต่างๆ กำลังแสดงความไม่เที่ยง จนกระทั่งเกิดความรู้สึกว่า ไม่เที่ยงจริงๆ ด้วย

 

อย่างความรู้สึกว่า นี่เป็นธาตุหก ไม่มีตัวใคร ไม่มีตัวตน .. นี่เรียกว่า สัญญา เป็นอนัตตสัญญา

 

อย่างตอนนี้ จิต เจมีเคลื่อนนิดหนึ่ง เคลื่อนแค่นิดเดียวนะ แต่พอเคลื่อนนิดเดียว ความรู้สึกว่าเป็นตัวเป็นตน จะเกิดขึ้นทันที คือไม่ใช่ว่าเราต้องเผลออะไรขนาดหนัก เอาแค่จิตเคลื่อนจากการเห็นว่ากายนี้ใจนี้เป็นธาตุหก มามีความรู้สึกนึกคิด แค่นิดเดียว ความรู้สึกในตัวตนเอาไปกินแล้ว

 

นั่นน่ะ อัตตสัญญากลับมาแทนที่ ถามว่า อัตตสัญญาหน้าตาเป็นอย่างไร เอาความรู้สึกของทุกท่านในขณะนี้นี่แหละ ที่มีความรู้สึกว่า มีตัวเรากำลังนั่งคิดอยู่ มีตัวเรากำลังนั่งดูคนอื่นอยู่ นี่ ตัวนี้ ความรู้สึกนั้นแหละ ที่เรียกว่า อัตตสัญญา

 

มีความสำคัญมั่นหมายว่ามีตัวเราอยู่ แล้วไม่เชื่อเป็นอื่นไปได้เลยว่า จะไม่มีตัวเราไปได้อย่างไร ตราบใดที่ยังไม่สามารถมีจิตนิ่งแบบพุทธ มีจิตรู้ มีจิตตื่นแบบพุทธ มารู้มาดูกายใจโดยความเป็นขันธ์ห้า หรือธาตุหก ไม่มีทางเลย จะปักใจเชื่ออยู่อย่างนั้นชั่วกัปชั่วกัลป์

 

ต่อเมื่อมีพระพุทธเจ้ามาอุบัติ แล้วประทานแนวทาง ทำให้จิตมีความตั้งมั่น มีความสว่างรู้ มีความตื่นแบบพุทธ นั่นแหละถึงเป็นโอกาส นั่นแหละถึงเป็นช่องแคบ ช่องเดียวที่จะออกจากความหลงผิดได้

 

การก้าวล่วงออกจากความหลงผิดได้ เรามองย้อนหลังกลับไป อย่างทุกท่านที่ทำสมาธิได้ เห็นกายใจโดยความเป็นธาตุหกได้ มองย้อนกลับไปจะเข้าใจอะไรหลายอย่างนะ แล้วก็เห็นใจใครต่อใครว่า ทำไมถึงหลงผิดกัน ทำไมถึงทำบาปทำกรรมกัน ทำชั่วกัน

 

เพราะมันไม่รู้ นึกว่ามีตัวมีตนอยู่อย่างนี้จริงๆ แล้วก็พอมีตัวมีตนขึ้นมาอย่างแจ่มแจ้ง แจ่มชัด ก็มีความอยากเพื่อตัวเพื่อตนตามมา

 

ตรงนี้จะไปเข้าใจเรื่อง ตัณหา อุปาทาน มีความอยากอันเกิดจากความรู้สึกว่า มีความน่าพอใจในอะไรบางอย่างอยู่ จิตก็ไล่ล่า ไปคว้ามา ความอยากไล่ล่าไปคว้ามานั่นแหละ ตัวนี้ ที่เรียกว่า ภวตัณหา

 

ทีนี้พอใจของเราถูกเซ็ตให้อยู่ตรง zero แล้วย้อนกลับมาดู มีโอกาสซ้ำสองที่จะได้ดู ว่าอะไรๆ เป็นแค่การประกอบร่างกัน หลอกหลวงเรา

 

จิตจะเหมือนขยับออกมา คือถึงแม้จะยังไม่ได้บรรลุมรรคผล แต่จะขยับขึ้นมา ในแบบที่ก้ำกึ่งอยู่กับความรู้สึกว่า ยังพร้อมกลับไปหลงโลกอยู่ กับอีกอันคือ มีความรู้สึกว่า เราน่าจะถอยห่าง หรือว่าค่อยๆ เอาตัวออกจากหล่ม แรงดึงดูดของสังสารวัฏนี้ จะค่อยๆ เกิดความรู้สึกขึ้นมา คือไม่ใช่มาทีเดียวพรวดพราด แต่ค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไป

 

แล้วการค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไปก็คือ ค่อยๆ ดู ค่อยๆ เห็นไปทีละเรื่อง

 

ตั้งต้นขึ้นมาเอาให้ได้ก่อนคือ มีความรู้อยู่กับอิริยาบถปัจจุบัน แล้วพออิริยาบถปัจจุบันปรากฏต่อสติที่กำลังเป็นอยู่แล้ว ก็ค่อยพิจารณาต่อ อิริยาบถนี้ มีข้อมูล มีรายละเอียดอะไรให้เราดูบ้าง

 

ปรากฏอยู่ชัดๆ ไม่ว่าใครจะว่าอย่างไร แต่เราจะเห็นอยู่ชัดๆ อย่างนี้เลยว่า กายนี้ คงรูปคงร่างได้ มีหัวมีตัว มีแขนมีขา เราไม่เคยสร้าง ไม่เคยออกแบบเลยนะ นี่คือธาตุดิน

 

แล้วในธาตุดินนี้ มีลมหายใจผ่านเข้าผ่านออกอยู่ มีอากาศว่างล้อมรอบอยู่ มีจิตเป็นผู้ดูผู้รู้อยู่ เห็นอยู่แค่นี้ จะเหมือนกับเห็นซ้ำไปซ้ำมา แต่ในความซ้ำไปซ้ำมานี้ มีความคืบหน้า ที่แตกต่างไปเรื่อยๆ เพราะว่าอย่างที่บอกว่า การค่อยๆ ดู ค่อยๆ เห็นไป คืออย่างนี้แหละ เห็นซ้ำไปซ้ำมานี่แหละ

 

แต่ซ้ำไปซ้ำมาในแบบที่ รายละเอียด จะขยายต่อความรับรู้ของเรา ความรับรู้ของเรา จะเหมือนกับ .. เออ เชื่อมากขึ้นๆ จนกระทั่งถึงจุดหนึ่ง ไม่ใช่ความเชื่อแล้ว แต่เป็นความเห็นเป็นปกติว่า กายนี้ใจนี้ปรากฏเป็นธาตุหกกับเราอยู่เรื่อยๆ

 

ในระหว่างวัน อย่างตอนนี้ หลายคนจะตามไปถึงระหว่างวันได้แล้ว ตามไปเอง ไม่ใช่ว่าต้องไปกำหนดอะไร ที่พระพุทธเจ้าให้เจริญอานาปานสติเป็นหลักก็เพราะอย่างนี้ เพราะลมหายใจอยู่ติดตัวเราตลอด 24 ชั่วโมง

 

แล้วถ้าดูลมหายใจเป็น อาศัยลมหายใจเป็นเครื่องอยู่ของสติได้ ทุกครั้งที่เรานึกถึงลมหายใจออกในระหว่างวัน ก็คือทุกครั้งที่จิตจะถูกกระตุ้นให้กลับมาดูกายใจโดยความเป็นธาตุอย่างนี้เสมอ

 

ของอะไรที่ชินแล้ว ของอะไรที่จุดติดแล้ว พอถูกลั่นไกด้วยอะไรบางอย่าง อย่างเช่น ความรู้ลมหายใจ มีอะไรไป trigger มัน จิตจะทำงานของมันเอง รู้ของมันเอง ว่าในลมหายใจนี้ไม่มีใคร

 

ถ้าอยากได้หลักฐาน จิตก็จะขยายออกไปรู้ .. ธาตุดินโดยความเป็นอย่างนี้ มีหัว มีตัว มีแขนมีขาอย่างนี้เลย เหมือนกับที่เรากำลังรู้สึกขณะนั่งสมาธินี่

 

เสร็จแล้ว พอรายละเอียดอื่นๆ ตามมา ธาตุดินนี้ มีการหายใจเข้า มีการหายใจออก แม้ลืมตาอยู่ในระหว่างวันก็จะรู้สึกว่า กายนี้ว่างๆ เป็นโพรง มีความโปร่ง ราวกับว่ากายนี้ปฏิรูปตัวเองเป็นแก้วใสๆ ไม่มีใครอยู่ในนี้ จิตที่มีความใส นิ่ง ตั้งมั่นแล้ว ก็จะเห็นแบบนี้ไปเรื่อยๆ ด้วยความพอใจ คือมีฉันทะ

 

ขึ้นต้นอิทธิบาท 4 ที่แท้จริง พระพุทธเจ้ามุ่งหมายเอาเชื่อมโยงเรื่องการปฏิบัติธรรม เรื่องการภาวนาอย่างเดียวเลย คือตั้งต้นด้วยความพอใจ ยินดีที่จะเห็นภาวะทางกาย เป็นแก้วใสที่ไม่มีใครอยู่ในนี้

 

และพอเห็นแบบนี้ไปเรื่อยๆ ความว่าง เบา ใส กระจ่าง ก็จะปรากฏชัดขึ้นๆ เวลามีอะไรมากระทบ ก็จะเห็นว่า ที่ใสๆ เดี๋ยวกลับขุ่นไปได้ เดี๋ยวรู้สึกเป็นตัวตนใหม่ได้ เหมือนเล่นเกมอะไรสักเกม ที่เป็นเกมยาก มีตัว หัว หู แขน ขา ที่ไม่รู้มาได้อย่างไร

 

เสร็จแล้ว จับพลัดจับผลู มีวาสนาพบพุทธศาสนา ก็แก้เกมโดยการที่เซ็ตจิตกลับไปซีโร่ ให้จิตรู้สึกว่าไม่ใช่ใคร ไม่มีใครอยู่ในนี้ มีอาวุธที่จะเล่นเกม หาทางออกจากเกมได้

 

พอมีฉันทะ พอใจ จุดติดขึ้นมาเมื่อไหร่ อิทธิบาท 4 จะเริ่มเดิน เพราะคนเมื่อมีฉันทะ จะมีวิริยะตามมา จะอยากทำไปเรื่อยๆ ไม่หยุด ไม่ว่าอยู่ในท่านั่ง ยืน เดิน นอน

 

การที่เห็นไปเรื่อยๆ ในระหว่างวัน จะทำลายเส้นแบ่ง ระหว่างที่นั่งสมาธิ ทางเดินจงกรม กับในชีวิตจริง กลายเป็นทุกที่คือที่ปฏิบัติหมด

 

ตอนจิตตั้งมั่น ใสแล้ว จะเห็นชัดว่าเมื่อไหร่ที่ใจขุ่น เพราะใจเปิดรับการกระทบกระทั่งปรุงแต่งอะไรขึ้นมา มีตัวมีตนขึ้นมา

 

พอไปถึงจุดที่เราเห็นว่า ใจขุ่นเพราะอะไร กลับใสใหม่เพราะอะไร จะมีจิตตะ ความฝักใฝ่ รู้สึกอยากเฝ้าดู สังเกตแม้รายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ .. จิตใสอยู่เป็นแบบนี้ จิตขุ่นเป็นแบบไหน เศษละอองความคิดที่ทำให้จิตขุ่นไปแล้วเห็นได้ ตรงนั้นจะเริ่มมีความฝักใฝ่

 

พอฉันทะ วิริยะ จิตตะ เกิดขึ้นเต็ม ใจไปเอาอย่างเดียวคือเรื่องข้างใน ส่วนเรื่องข้างนอกแค่เปลือกของชีวิต เหมือนเราแยกตัวออกจากผู้เล่น เป็นผู้สังเกตเฉยๆ เปลี่ยนจากผู้เล่นเป็นผู้ดู เห็นตัวอะไรทำงานไปตามหน้าที่ ตามระยะเวลาที่เขากำหนดไว้ในโลก แต่ตัวเราจริงๆ เป็นผู้ดูแล้ว ไม่ได้เป็นผู้เล่น

 

พอฝักใฝ่ถึงขั้นนั้น จะมี วิมังสาตามมา คือการประเมินผล

 

จิต พอมีความรู้อยู่เรื่อยๆ พอมีความฝักใฝ่ พอมีจิตฝักใฝ่ รู้ว่ากายนี้เหมือนอะไรที่ใสๆ ขุ่นได้ ใสได้ ก็ไม่อยากคลาดสายตา อยากเห็นไปเรื่อยๆ ก็จะได้ตัวหนึ่งขึ้นมาว่า เห็นไปทำไม?

 

เห็นไปเพื่อรู้ว่า ไม่ใช่ตัวตน เห็นไปเพื่อจะได้เข้าใจ แม้อาการของตัวเอง อาการของจิต ว่าสักแต่เป็นผู้รู้ผู้ดูไป

 

เหมือนในพาหิยะสูตร พระพุทธเจ้าตรัสว่า

รูปกระทบตา เกิดความรู้ว่า รู้รูป

เสียงกระทบหู สักแต่รู้ว่า กระทบเสียง

ความคิดกระทบใจ ก็สักแต่รู้ว่าความคิดกระทบใจ แต่ไม่มีเรา

 

ได้ยินสักแต่ได้ยิน คิดสักแต่ว่าคิด อย่ายึดมั่นว่ามีตัวมีตน

 

ตรงที่ท่านบอก สักแต่ว่า .. อย่ายึดมั่น .. นั่นคืออาการของใจ เป็นผู้รู้ ผู้ดู สังเกตการณ์ ไม่เข้าไปเล่น นั่งดูอยู่ในที่นั่งคนดู ว่างเปล่าจากผู้เล่น มีแต่ในสนาม ที่มีผู้เล่น ผู้แสดงอยู่

 

แสดงว่า กายไม่เที่ยง ลมหายใจไม่เที่ยง อยู่ในอากาศช่องว่าง มีเราเป็นผู้ดู ซึ่งโดยแก่นแท้ก็เปลี่ยนไปมา เหมือนนั่งอยู่บนอัฒจรรย์ แล้วมีกระจกส่องว่า หน้าตาเราเปลี่ยนไปเรื่อยๆ บางทีก็เหมือนยักษ์ เหมือนพรหม เหมือนเด็กน้อย เหมือนผู้ใหญ่ที่มีความคิดอ่าน .. แม้จิตที่เป็นผู้รู้ผู้ดู ก็ต่างไปเรื่อยๆ

 

พอจิตมาถึงตรงนี้นะเจมี ดูว่าอาการของใจที่เหมือนไม่มีใคร มีอะไรใสๆ สว่างๆ อยู่ ดูอยู่ รู้อยู่ .. พอตั้งใจดูขึ้นมา มีความตั้งใจแม้แต่แวบเดียว หน้าตาก็จะต่างไปแล้ว จากตอนที่รู้เองโดยไม่มีความตั้งใจ จะต่างกันมาก

 

พอจงใจ จะกลายเป็นตัวเรา มีผู้ดูขึ้นมาทันที ถ้าให้จิตเป็นอัตโนมัติ เป็นสมาธิ ลองไปดูในโพชฌงค์ 7 จะขึ้นต้นด้วย สติ ธัมมวิจยะ ขึ้นด้วยสติ ความเป็นธรรม พอเพียร สงบ กายใจระงับ จะปีติ เกิดความชุ่มฉ่ำขึ้นมา ถ้าไม่ชุ่มฉ่ำ จะทำไม่ได้นานขนาดนี้

 

จะชุ่มฉ่ำมาก ชุ่มฉ่ำน้อยก็ตาม .. เอาแค่ชุ่มฉ่ำน้อยก็ได้แล้ว และในความเอิบอิ่มนั้น เรามีสมาธิ สมาธิเป็นอย่างไร? ก็คือ จิตสว่างอยู่ ไม่มีความเคลื่อนไหว ไม่โยกเยกได้ง่าย จิตที่สว่างโยกเยกยาก ถ้ามีอุเบกขา

 

คนทั่วไปมักคิดว่า อุเบกขาคือแกล้งทำเป็นเฉยๆ ไม่รู้ไม่ชี้

 

แต่อุเบกขา อย่างถ้าประกอบด้วยความเข้าใจเช่น เห็นบุคคลอันเป็นที่รักหลงผิด เราคิดช่วยแล้ว มีเมตตา กรุณาที่จะไปพยายามเปลี่ยนใจให้เข้าใจถูก แต่อย่างไรเขาก็ไม่สามารถเปลี่ยนความหลงผิดได้ เราก็ท่องไว้ ว่า สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม นี่คือแบบโลกๆ

 

แต่ถ้าเป็นอุเบกขาทางธรรม โดยเฉพาะอุเบกขาสัมโพชฌงค์ กว่าจะเข้าใจตรงนี้ต้องผ่านการเห็นก่อนว่า จิตตอนที่รู้เฉยๆ เป็นแบบหนึ่ง มีความส่องสว่าง มีความรู้ ความตื่น แล้วตอนที่จิตมีการโยกเยก หรือปรุงแต่งจะดูตัวเอง มีอาการจงใจแม้นิดเดียวขึ้นมา เราเห็นได้ว่านี่ไม่ใช่อุเบกขาแล้ว มีส่วนเกินของสมาธิจิตเกิดขึ้นแล้ว

 

ถ้าเห็นซ้ำๆ แล้วๆ เล่าๆ ได้ว่ามีอาการจงใจขึ้นมา แล้วหน้าตาเป็นแบบนี้ พอมีสติรู้ทันเห็นความจงใจออกจากจิต เป็นจิตธรรมดาๆ จิตจะเป็นสมาธิอีกแบบหนึ่ง ไม่ใช่สักแต่นิ่ง ไม่แม้กระทั่งจะเป็นสมาธิแบบตื่นรู้

 

แค่ตื่นรู้ไม่พอนะ แต่มีความต่อเนื่องในการตื่นรู้นั้น จนมีอุเบกขาในแบบหนึ่ง ในระดับที่จิตไม่เคลื่อนออกจากอาการสักแต่รู้ สักแต่ดู

 

อย่างที่พระพุทธเจ้าตรัสกับท่านพาหิยะ จิตสักแต่รู้สักแต่ดูจริงๆ และมีความเข้าใจประกอบด้วยว่า สิ่งที่รู้ที่ดู คือภาวะที่แสดงความไม่เที่ยง ไม่ใช่ตัวตน

 

ถ้ายังอ่านเกมไม่ขาดว่า จิตเราตั้งอยู่ในอาการสักแต่รู้สักแต่ดูหรือยัง ก็จะวนลูปอยู่กับการนิ่ง แบบไม่มีทิศทาง

 

ตอนแรก เจมี ใจวางเฉยรู้อยู่ พอพี่พูดถึงอาการทางจิตนั้น เรามีความจงใจไปดูนิดเดียว แทนที่จะส่องสว่างเฉยๆ มันย้อนกลับมาดู ตรงนั้นถ้าเราจับจุดถูก จะใช้ได้ตลอดชีวิตเลยว่า นี่คือการปรุงแต่งของจิตในเชิงที่เป็นจิตสังขาร อยากรู้อยากดูว่าตัวเองเป็นอย่างไร อาการอะไรก็แล้วแต่ที่เกินมาจากจิตที่สว่าง ที่รู้

 

ให้มองง่ายๆ ว่า รู้เอง หรือจงใจให้รู้ ดูอยู่ๆๆ ไป ตรงนี้แหละ ที่จิตจะเข้าไปสู่อาการสักแต่รู้สักแต่เห็น ไม่ยึดมั่นเป็นตัวตน เพราะเรามาถึงจุดที่เป็นอาการปรุงแต่งขั้นมูลฐานที่สุดว่า เพราะมีความจงใจ เพราะมีเจตนา จึงมีตัวตน จึงมีตัวเรา (เพราะคิด จึงมีตัวฉัน)

 

แต่จริงๆ ไม่ใช่แค่ความคิด แต่ยังมีอุปาทานด้วย ของพุทธจะเห็นอุปาทานทุกระดับ แม้กระทั่งความยึดติดแบบไม่ต้องจงใจ ยึดติดในสิ่งรอบตัว ในญาติพี่น้อง คนรัก ความฝัน เหล่านี้เป็นที่ตั้งของอุปาทานได้หมด มีความรู้สึกเป็นตัวตนได้หมด

 

ถ้าจิตเรามาถึงจุดที่รู้แล้วว่า อาการรู้เฉยๆ หน้าตาเป็นแบบนี้แล้วเทียบกับตอนที่เกิดอาการจงใจ ปรุงแต่ง แล้วจิตเปลี่ยนจากรู้ กลายเป็นคิด แม้คิดเล็กๆ  ถ้าเห็นได้ นี่คือจุดสำคัญที่สุด เหมือนมีเปลือกไข่ห่อหุ้มจิตตลอดเวลา

 

พอไปถึงจุดที่จิตสว่างรู้ จะเห็นเหมือนมีอะไรเคลือบจิตอยู่ ทีนี้พอได้ช่อง จับจุดสังเกตได้ถูกว่า ตอนที่สว่างรู้อยู่เฉยๆ พอมีความจงใจผุดขึ้นมา แม้จะแค่อยากรู้ว่า หน้าตาสว่างเป็นอย่างไร นี่คือคิดที่จะรู้แล้ว

 

พอเรารู้ได้ว่า นี่คืออาการตั้งต้นของตัวตน ว่ามีเราเป็นผู้คิด ผู้จงใจ ตรงนี้คือที่ตั้งของตัวตน

 

พอรู้ว่า รู้คืออย่างหนึ่ง จงใจคืออย่างหนึ่ง จนเกิดสมาธิขึ้นมาแบบหนึ่งว่า อาการจงใจเกิดขึ้น ก็เป็นแค่การปรุงแต่ชั่วคราว ผ่านมาผ่านไป ใจยังเป็นผู้ดู ใจจะเกิดปัญญา

 

อยู่ๆ ใจจะเกิดปัญญาลอยๆ ไม่ได้ ต้องมีอะไรบางอย่างมาแสดงให้ดู ว่าตัวตนก่อตัวได้อย่างไร ทำงานอย่างไร เมื่อเห็นกลไกการทำงานของจิต กลไกก่อตัวของตัวตน นี่จะเป็นอุเบกขาสัมโพชฌงค์ สักแต่รู้สักแต่ดูของจริง

 

อุเบกขาสัมโพชฌงค์ คือ สักแต่รู้ สักแต่ดู แบบที่พระพุทธเจ้าตรัสกับท่านพาหิยะ มีหลายระดับ ไม่ใช่บอกว่า เกิดแล้ว แปลว่าใกล้แล้ว

 

ถ้าเกิดตอนที่สมาธิตั้งอยู่แป๊บเดียว อันนี้เป็นอุเบกขาอ่อนๆ ยังรวมจิตถึงฌานไม่ได้

 

แต่เมื่ออุเบกขาสัมโพชฌงค์ได้ช่องเกิดแล้ว แม้แป๊บเดียว ก็ใช้ได้ในแง่เป็นตัวจุดชนวนติดแล้ว ว่ามีตัวนี้ขึ้นมาได้ในชีวิตของเรา

 

แต่ตัวที่จะพัฒนาต่อไป คือการที่เรามีสติ สังเกตว่าอาการที่ใจตั้งเฉยอยู่ วางเฉยอยู่ แป๊บหนึ่งจะมีความจงใจเข้ามาอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือฟุ้งซ่าน คิดในเรื่องที่ไม่ตั้งใจคิด ลอยมากระทบจิต ทำให้จิตเห็นว่า สิ่งที่มากระทบหรือปรุงแต่ง เป็นแค่ภาวะชั่วคราว

 

อย่างที่เมื่อกี้อธิบายไป เห็นบ่อยๆ เรื่อยๆ ว่า ตอนที่เป็นซีโร่ อยู่แบบหนึ่ง ตอนจิตถูกกระทำเป็นแบบหนึ่ง เรายอมรับความจริงไปตามนั้น

 

นี่แหละที่เราจะเทรนจิตให้เข้าโหมดรู้โหมดดู ยิ่งรู้ได้นาน ยั่งยืนเท่าไหร่ สะท้อนว่า สมถะแข็งแรงขึ้นเท่านัน้ พอสมถะแข็งแรงขึ้น จะรู้สึกมาเองข้างในว่า อาการสักแต่รู้แต่ดู เป็นความรู้สึกว่างจากตัวตน

 

เรายัง connect กับโลกทุกประการ แต่ใจว่าง จากความรู้สึกในตัวตนชัดขึ้นๆ และความว่างที่เป็นกลางจริงๆ จะเป็นความว่างชนิดที่เราเกิดสัญชาติญาณทางจิต รู้เองว่า นี่คือการที่จิตถอยออกมาจากการยึด ถอยจากฐานของจิตเลยที่เคยยึดมั่นถือมั่น มีตัวมีตนมาตลอด จะถอยออกมา

 

ถึงจุดหนึ่ง จะมีความใคร่จะพ้นไป ท่านจัดเป็นวิปัสสนาญาณชนิดหนึ่ง แต่จริงๆ ก็คือความรู้สึกของจิตที่ถอยออกมาแล้ว ว่า ถ้าไปขลุกอยู่กับตรงนี้ จะเสี่ยง จะวุ่นวาย จะยุ่งเหยิงนะ แต่รวมแล้วคืออยากจะถอย อยากจะห่าง อยากจะถอนตัว นี่คือความใคร่พ้นไป

 

พอมีความรู้สึกใคร่พ้นไป ครูบาอาจารย์ท่านเคยเทียบไว้ว่า เหมือนคนจะกระโดดข้ามเหว คือฝั่งเหวหนึ่ง จะมีช่องว่าง เราจะรู้ของเราเองว่า มีกำลังพอที่จะกระโดดข้ามเหวไหม

 

ถ้าเรารู้สึกว่า มีกำลังความว่าง กำลังอุเบกขามากพอ จะรู้สึกว่า ข้ามได้ แต่ถ้ายังรู้สึกอยากได้อะไรบางอย่างอยู่ ยังมีความหลง ติด ใยดีอะไรอยู่ ก็จะรู้สึกจากสัญชาติญาณทางจิตว่า กำลังไม่พอที่จะโดดข้าม

 

ที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้เป็นกรอบ ก็วางวินัยไว้ แต่ละข้อ เป็นการกำจัดอุปสรรค ความมีเยื่อใยกับฝั่งนี้ ที่ยึดติดอยู่ นับแต่การสละเรือน ซึ่งยากที่คนจะสละได้

 

ทีนี้ประเด็นของฆราวาส ยังไม่ต้องสละเรือน .. ถ้ามุ่งโสดาฯ ก็แค่มาถึงความเข้าใจว่า ต้องทิ้งนะ การปฏิบัติไม่ได้มรรคผลไปให้ใคร ไม่ได้ชื่อเสียง ไม่ได้การยอมรับจากใคร

 

ถ้าได้ยินว่า ใครบรรลุ โสดาฯ สกทาคาฯ แล้วอยากได้บ้าง แล้วลงมือปฏิบัติ โดยไม่คิดอยากแม้แต่นิพพาน หรือมรรคผล ถึงจะเข้าข่ายเอาตัณหาดับตัณหา อย่างที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้

 

พอเรามาถึงจุดที่มีสมาธิแล้ว เห็นการปรุงแต่งจิตแล้ว ภาวะอะไรเล็กๆ น้อยๆ ถ้าเห็นได้ทัน จะมีความว่างที่สะสมเป็นกำลังมากขึ้นๆ จนถึงจุดหนึ่ง รู้ได้ด้วยสัญชาติญาณ ว่าถึงแม้ไม่สละเรือน แต่เราสละความยึดติด เพื่อล้างความเห็นผิดว่ากายนี้ใจนี้เป็นตัวตน

 

พอตัดความเห็นผิดได้ขาด อย่างพวกเรา มีความนิ่ง มีสมาธิแล้ว เห็นกายใจโดยความเป็นธาตุ 6 แล้ว จะหายสงสัย ตอนธาตุทั้งหกเหมือนกำแพงพังราบ แสดงธาตุที่ 7 คือความจริงสูงสุด .. นิพพานธาตุ

 

จะเห็นว่าไม่ใช่ธาตุดิน ไม่ใช่ลมพัดหายใจ ไม่ใช่ธาตุไฟแบบบมีไออุ่น ไม่ใช่ธาตุน้ำแบบที่รู้สึกถึงความชุ่มฉ่ำในปาก พอเห็นนิพพานธาตุ คือธาตุที่เจ็ด นอกเหนือไปจากธาตุทั้งหก จะไม่สงสัย จะรู้ได้ด้วยตัวเองว่า ด้วยหนทางแบบนี้ที่พระพุทธเจ้าประทานแนวทางไว้ คือการพาไปเห็นสิ่งนั้น คือมรรคา พาไปเห็นธรรมชาติสูงสุด

 

นิพพานธาตุ ไม่มีการปรุงแต่งเป็นธาตุแบบนี้ เป็นธรรมชาติสายดับการปรุงแต่ง ไม่มีความทุกข์อาศัยอยู่ได้ ไม่มีที่ตั้งความทุกข์ ไม่มีการเกิด ไม่มีการตาย ไม่ได้อุบัติจากเหตุปัจจัยอะไร มีของมันอยู่อย่างนั้น

 

เปรียบเทียบแบบง่ายที่สุด เหมือนเรามีพรม

สังสารวัฏ เหมือนพรมด้านหน้าที่มีลวดลาย

นิพพาน คือพลิกกลับด้านที่ไม่มีลาย

คือมันอยู่ด้วยกัน ธาตุทั้งเจ็ดไม่ได้ไปไหนจากกัน

แต่ธาตุที่เจ็ดจะไม่ได้ยุ่งกับธาตุอื่น

 

ท่านเปรียบพระอรหันต์เปรียบเหมือนสายน้ำเล็กๆ ที่ไหลไปรวมในมหาสมุทร ซึ่งไม่เคยพร่อง และไม่เคยเพิ่ม จากสายน้ำที่ไหลไปรวมกัน มีปริมาณที่อยู่อย่างไรก็อย่างนั้น

 

นิพพานเทียบกับอะไรไม่ได้เลยกับที่เราเคยเห็นมาทั้งหมด แต่อาจเทียบได้ใกล้เคียงที่สุดก็คือมหาสมุทรที่สายน้ำไหลไปรวมนะ

 

ถ้าเข้าใจว่า เราทำๆ ไปเพื่อทิ้งธาตุทั้งหก เพื่อพบธาตุที่เจ็ด ซึ่งมีอยู่จริง ซึ่งพระพุทธเจ้าแต่ละพระองค์ พบธาตุนั้น และบอกทางที่ไปพบแบบเป็นขั้นตอน

----------------------------------------------

คุณบอย

 

พี่ตุลย์ : พอมาถึงจุดที่แข็งแรง ได้ตัวอย่างว่าจิตสักแต่รู้เป็นอย่างไร ก็จะต่อไปเองเรื่อยๆ มีความไหวทันว่า เมื่อไหร่ที่จิตเคลื่อน มีการปรุงแต่งจิต ก็จะเห็น

 

จิต จะรู้สึกอยู่กับตัวเองว่ามีความเกลี้ยงเกลา เหมือนปอกเปลือกที่เป็นของหนาๆ ห่อหุ้มหยาบๆ ออกไป กลายเป็นความรู้สึกแบบที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า จิตไม่มีอะไรห่อหุ้ม

 

ลักษณะที่จิตไม่มีอะไรห่อหุ้ม ก็คือความฟุ้งซ่านเกาะไม่ติดนั่นเอง อารมณ์ยึดทั้งหลายหายไป กลายเป็นจิตที่อิสระ มีความเด่นดวงอยู่

 

พอจิตเด่นดวง มีความรู้ .. ก่อนมาถึงตรงนี้ เราจะรู้สึกมีขั้นตอนยุ่งยากเหลือเกิน มีกับดักเยอะแยะ ไปเหยียบกับระเบิดก็บึ้ม จิตพัง ต้องใช้เวลากู้คืน ยุ่งยากเหลือเกิน

 

แต่พอถึงจุดที่กำจัดอุปสรรคได้หมด จับจุดได้ว่า จิตสักแต่รู้แต่ดูเป็นอย่างไร จะรู้สึกว่าเรียบง่าย เราไม่ต้องไปทำอะไร ตั้งอยู่กับการรู้การดู และยิ่งถ้าอยู่กับวิหารธรรมที่พระพุทธเจ้าให้ได้ ก็เหมือนเสือติดปีก

 

อาศัยลมหายใจเป็นเครื่องระลึกว่า ลมกำลังผ่านเข้าออก ยาว สั้น มีสภาวะอะไรให้เห็นบ้าง จิตตั้งอยู่ในอาการรู้ อาการดูไปเฉยๆ ก็จะมีทั้ง สมถะ และวิปัสสนาไปด้วยกัน

 

ตอนนี้ จิตของบอยมีความใส เสมออากาศรอบด้าน ซึ่งมาพร้อมกับการรู้ลมหายใจไปเอง

พอเห็นกายนี้ตั้งอยู่เป็นธาตุดิน เหมือนเสาตั้งกลางทุ่งนา ไม่มีค่าอะไร

ลมหายใจเป็นสาย เหมือนลมพัดใบไม้ ไม่มีค่าอะไร

เราก็ดูไปโดยมีความเห็นว่า ยิ่งรู้อากาศว่างรอบด้านได้มากเท่าไหร่

ก็สะท้อนว่าใจเราขยายไปเท่านั้น

 

อุบายที่ผมให้กำหนดอากาศว่าง คือการให้จิตแผ่ออก ซึ่งพระพุทธเจ้าให้ความสำคัญกับตรงนี้ จิตที่แผ่ออกไม่มีอะไรห่อหุ้ม คือจิตที่พร้อมลงเป็นฌาน ว่างจากตัวตน ยิ่งว่างจากตัวตน จะยิ่งสะสมกำลังอุเบกขาได้แก่กล้าเท่านั้น

 

คุณบอย : นั่งทำตั้งแต่พี่ตุลย์ไกด์ เจมี เหมือนเริ่มอยู่ตัว รู้อยู่เฉยๆ ไม่ต้องทำอะไร

 

พี่ตุลย์ : เหมือนจิตเกลี้ยง ไม่มีอะไรห่อหุ้ม นี่คือมีวิตักกะ วิจาระไม่ไปไหน และมีปีติ คือความเบิกบาน นั่งได้เรื่อยๆ และสุข คือพอใจ

 

คุณบอย : เวลาลากมือลงมา บางทีก็เห็นลมพร้อมมือที่มาพร้อมมือ แต่บางทีไปนึกถึงลมระหว่างมือ แบบไหนถึงจะถูกครับ

 

พี่ตุลย์ : ใช้ได้หมด ตอนที่เรารู้ลม เป็นตัวตั้งที่เราจะอาศัยสิ่งที่ปรากฏแสดงอยู่ตลอดเวลาแน่ๆ ในการผ่านเข้าผ่านออก และเป็นอารมณ์ที่เป็นคุณ พอเรารู้ถึงลมหายใจแล้ว จิตจะตั้งอยู่ เห็นความสัมพันธ์ระหว่างลมกับจิต

 

ที่เราจะเห็นอะไรแถมมา หรือปฏิรูปไปอย่างไร เราสนใจแต่ว่า เราเห็นความไม่เที่ยงของลมหายใจได้ไหม นี่เป็นหลักประกันว่า เราอยู่ในอานาปานสติ

 

พิสุจน์โดยย่นย่อว่า เราหายใจสั้น ยาว เข้า ออก แล้วมีอะไรปรากฏเช่น หายใจแล้วเบิกบาน

 

ตรงที่รู้ลมหายใจไปด้วย เห็นภาวะไปด้วย รู้สึกตัวไปด้วย อันนี้ประกันว่า ถูกทางแน่นอน ไม่ต้องสงสัยว่า ทำไปเห็นแตกต่างไป เพราะนั่นเป็นเรื่องธรรมดา

 

คุณบอย : ระหว่างวันต้องสังเกตอะไรเพิ่มไหม

 

พี่ตุลย์ : ของบอยตอนนี้ เวลาทำงานบางทีก็รู้ว่า ตัวที่นั่งทำงาน สว่าง ว่างๆ ขึ้นมา ดีตรงที่เราไม่ไปจ้องดูว่า จะทำอย่างไรให้เป็นวิปัสสนาระหว่างการทำงาน มีแต่อาการรับรู้เป็นขณะๆ นี่คือจุดที่ดี ก็รู้ไป

 

เวลาคุยกับใคร จะมีครึ่งๆ มีความถือสา กลับมาอยู่กับเนื้อตัว เห็นว่าการถือสา การไปวอแวกับคำพูดคนอื่น ตัดออกไปเยอะ เพราะบอยไม่พูดตรงๆ แต่มักแอบเอามากลุ้มใจ

 

แต่ตอนนี้ พอเห็นว่าใจของเรามีอาการหมกมุ่น ถือสา จะมีฐานของความเป็นกายที่อยู่ในอิริยาบถนั้นมารองรับ ปรากฏเองโดยไม่ได้ตั้งใจ และจะรู้สึกว่า ให้ความสำคัญเข้ามาที่อาการทางใจมากขึ้น

 

คือไม่ได้ตัดทีเดียว แต่รู้เข้ามาที่ฐาน และเห็นว่าอาการถือสา เป็นแค่ส่วนประกอบหนึ่ง ยังไม่ถึงขั้นเห็นเป็นส่วนเกินและตัดทิ้งได้ง่ายๆ แต่เริ่มเข้าที่เข้าทางแล้ว อีกหน่อย ความถือสา จึ๊กขึ้นมา ฐานที่แข็งแรงจะเห็นว่า มันเป็นของแปลกปลอม ไม่น่าให้ค่า ตอนนี้มันยังให้ค่าอยู่

 

เราทำสมาธิเอาจิตที่เป็นแบบอย่าง เป็นต้นแบบด้วย และในระหว่างวัน หัดคิดหัดพิจารณาด้วย

 

คนที่พยายามปฏิบัติในขณะทำงาน หรือคนเมือง จะเจอปัญหาว่า จิตเจอปัญหาที่มาเกาะ เหนียวแน่นเกินกว่าจะละได้ อันนี้เป็นข้อเสียเปรียบของเราเมื่อเทียบกับสงฆ์

 

แต่ข้อดีคือ เราจะเห็นตัวอย่างได้ชัด จิตที่ปล่อย จิตที่วาง จิตที่เห็นการปรุงแต่ง พอลงสนามรบจริงจะเห็นตูมตามตลอดเวลา เป็นไปไม่ได้เลยที่อยู่ในชีวิตฆราวาสแล้ว ไม่เกิดสมรภูมิขึ้นมา

 

พอเราเห็นความหยาบของคนอื่น เห็นใจที่ประณีตขึ้นของตัวเอง ตอนแรกจะรู้สึกว่า เราสูงกว่าเขา แต่พอเห็นว่า พอมีอะไรมากระทบ เราก็กลับไปหยาบได้เท่าเขา ก็เห็นความเป็นเหตุเป็นปัจจัยได้ง่ายว่า จิตไม่มีหรอกที่ตั้งในที่สูง มีแต่ตั้งอยู่ในที่ถูกปรุงแต่งได้ตามสภาพแวดล้อม

 

ใครมากดขี่เรา เราแค้น ใครมาเอาเปรียบก็อยากเอาคืน ตัวนี้เราจะมองเห็นได้ชัดว่า การถูกปรุงแต่งด้วยเรื่องเร่งเร้าภายนอก มีความหมายแค่ไหนเวลาที่ใจเราไม่สามารถมีจุดยืนอยู่กับธรรมะได้ตลอดเวลา

 

จะว่าดีก็ดี ไม่ดีก็ไม่ดี ขึ้นกับว่าเราปฏิบัติมาได้ถึงจุดไหน ถ้าเข้มแข็งแล้ว ก็จะรู้สึกว่าดี ได้ปฏิบัติอยู่ทั้งวัน

 

แต่ถ้าจิตอ่อน เวลาลงสนาม อาจอยากยอมแพ้ อยากไปบวช ก็ขึ้นกับเส้นทางของใครของมันไปเจอสมรภูมิแบบไหน เป็นความซับซ้อนของแต่ละคน

 

แต่ถ้าเป็นฆราวาสที่ปฏิบัติธรรมและอยากเอาดีให้ได้ ก็ตั้งมุมมองไว้ มีจุดยืนไว้ว่า รู้ได้แค่ไหน เอาแค่นั้น อย่าไปอยากได้เกินนั้น นี่แหละ ที่เป็น key จริงๆ ของฆราวาส

 

--------------------------------

คุณนา

 

พี่ตุลย์ : คำว่า อนัตตา ง่ายๆ เลยคือไม่มีก้อนตัวก้อนตน แต่เป็นการปรุงประกอบระหว่างสภาวะต่างๆ โดยที่เราไม่อาจเท่าทันมัน

 

คือมีการประชุมขึ้นมาก่อน มีความรู้สึกในเราขึ้นมา แล้วเราก็เชื่อว่ามีตัวเราแน่ๆ ชัวร์ๆ

 

ต่อเมื่อเห็นว่าเป็นการปรุงประกอบว่า เป็นธาตุดิน ยกตั้งด้วยโครงกระดูก มีลมหายใจหล่อเลี้ยง อาการของชีวิตถ้าไม่มีลมหายใจเข้ามาหล่อเลี้ยงแค่นาทีสองนาทีก็ดับดิ้นเลย

 

แล้วธาตุดิน หรือธาตุลมนี้ ไม่มีช่องว่างอยู่เลย ธาตุดิน หรือธาตุลมก็ไม่อาจดำเนินไปได้

 

เราก็จะเข้าใจว่าที่เข้าใจว่ามีก้อนตัวก้อนตนเป็นความเข้าใจผิด แต่จักรวาลมีพื้นที่ว่างให้ แล้วมีกายนี้ตั้งอยู่ได้ ส่วนวิญญาณธาตุไปรู้ไปดูอยู่เฉยๆ เป็นธาตุเดียวที่สามารถไปรู้ธาตุอื่นได้

 

ตัวสติ รู้ธาตุหกนี่แหละ เป็นจุดเริ่มต้นของการเข้าใจที่ถูกต้อง ของการทวนกระแสออกจากวังวนทุกข์ที่ไม่มีใครไปสร้าง ไม่มีใครไปออกแบบ

 

คุณนา : ตอนที่มีสติรู้ตัว ตอนที่เอามือขึ้นมาเห็นลมหายใจ มีตัวรู้ เห็นร่างกายขยับ แต่มีช่วงที่วูบ หลง ขาดสติไป จะเผลอว่านี่เป็นตัวเราที่กำลังทำอะไรอยู่ค่ะ

 

พี่ตุลย์ : ตอนที่พูดว่า จิตเสมอกับลมหายใจ นั่นคือมีวิจาระบริสุทธิ์แล้วนะ เมื่อก่อนมีจุดสะดุดตลอดเวลา แต่ตอนนี้จุดสะดุดน้อยมาก

 

คุณนา : จริงค่ะ เมื่อก่อนไม่มีกำลัง แต่อาจเพราะฝึกมาก และไม่อยากให้พี่ตุลย์เหนื่อยเปล่า เลยพยายามทำ แต่วันนี้ จะจำไว้ว่า เห็นแค่ไหนเอาแค่นั้น ไม่โลภมาก และจะพยายามปฏิบัติต่อ จะขอแนวทางเอาไปทำต่อค่ะ

 

พี่ตุลย์ : ยังอยู่ในยุคโบราณนะ ขอแบบนี้ ที่เราทำดีอยู่แล้ว ถ้าต่อเนื่องไปเป็นความเข้าใจ ตัวสมถะจะยกระดับเป็นวิปัสสนาชัดขึ้นไปเอง

 

สิ่งที่ต้องทำคือความต่อเนื่อง ความต่อเนื่องคือความก้าวหน้า

 

เมื่อกี้ ประทับใจนะ ไม่เสียแรงเปล่าของพี่แล้ว มีวิตักกะ วิจาระต่อเนื่อง และวิจาระบริสุทธิ์ เห็นอะไรก็เสมอกับสิ่งที่เห็นนั้น ไม่มีการปรุงแต่ง กำลังสมถะและวิปัสสนาจะก่อตัวขึ้นเรื่อยๆ

 

------------------------

น้องแพร

 

พี่ตุลย์ : ทำได้ถูกเป๊ะเลย มีเท้ากระทบเป็นวิตักกะ พอเดินไปรู้สึกใจว่างจากฟุ้งซ่าน เหมือนกายเป็นหุ่นเดิน ไม่มีใครเดิน มีแต่ภาวะที่มีแต่หัว แขน ขา ก้าวเดินไป ไม่มีใครอยู่ในนี้

 

การเดินจงกรม ส่วนใหญ่ที่เดินไปแล้วไม่รู้จะเดินทำไมเพราะไม่มีจุดหมายที่ชัดว่า เดินไปเพื่ออะไร

 

บางคนพอปลีกวิเวก เดินไป 8 ชม. 10 ชม. ถึงรู้สึกว่าเหมือนมีตัวอะไรเดินอยู่ แล้วก็ต่อยอดไม่เป็น และต้องเดินหลายชั่วโมงกว่าจะรู้สึกเป็นหุ่น

 

แต่ถ้าเราตกลงกับตัวเองว่า จะเดินเพื่อให้รู้ว่า กายนี้สักแต่เป็นท่าเดิน ไม่มีใครเดิน ใจนี้สักแต่เป็นอาการปรุงแต่งชั่วคราว แต่ละรอบ บางรอบใจใส บางรอบใจขุ่น เห็นให้เป็นเบสิคแบบนี้ก่อน

 

แล้วรู้ว่าเมื่อไหร่ที่ใจว่าง รู้สึกว่างเปล่า ก็เห็นว่านั่นเป็นอาการปรุงแต่งหนึ่งของจิต ไม่ใช่ว่าใจแอดวานซ์ไปแค่ไหนแล้ว เห็นแต่สักเป็นอาการปรุงแต่งจิตแต่ละรอบ

 

ก็จะมีจุดหมายชัดว่าเดินเพื่อเห็นกายใจเป็นรูปนาม เหมือนตอนนั่งสมาธินั่นแหละ

 

และถ้าขึ้นต้นมา มีหลักประกันชัดเจนว่า อย่างอื่นเราไม่รู้ไม่สน รู้เท้ากระทบให้ได้ก่อน เหมือนตอนนั่งสมาธิ รู้ลมหายใจให้เกิดวิตักกะ พอมีวิตักกะ มีคุณภาพดี ปรุงแต่งจิตให้ใส มีความรู้ เดี๋ยวเกิดวิจาระขึ้นเอง

 

ตอนเดินจงกรมก็มีจิตเด่นดวงเหมือนนั่งสมาธิได้

 

พอเรามีขั้นตอนชัดเจนว่าจะทำอย่างนี้ จะดูอย่างนี้ เราจะรู้สึกถึงผลพลอยได้จากการนั่งสมาธิตามมาในขณะเดินจงกรมชัดเจน คือมีความรู้สึกพร้อมรู้กระทบได้เองโดยไม่ตอ้งตั้งใจ บังคับ หรือฝืนอะไรทั้งสิ้น

 

แค่เดินอย่างถูกท่า มีจังหวะกระทบในใจว่าช้าหรือเร็ว ในใจจะมีกระทบแปะๆ ไปไม่สนใจอย่างอื่น ไม่คิดอะไรทั้งสิ้น

 

พอมีกระทบๆ ในใจเป็นจังหวะกระทบแน่นอน ก็มีวิตักกะแน่แล้ว

 

ส่วนจะมีวิจาระขึ้นมาอยู่ในรอบไหน ก็ขึ้นกับว่าใจของเรามีทุน มีฐาน มีกำลังความนิ่งพร้อมอยู่แค่ไหน

 

ถ้านั่งสมาธิมาได้ดี รู้ลมได้ชัด ตัวนี้จะทำให้เกิดวิจาระในรอบสองรอบเท่านั้น

 

แต่ถ้าหากฐานไม่ดี กำลังไม่ดี อย่างนี้เดินไปเป็นสิบรอบกว่าจะรู้สึกถึงใจว่างๆ ขึ้นมาสักพัก แล้วก็ตกกลับ

 

เห็นไหม เวลามีใครมาถามภิกษุในพุทธศาสนาว่าสอนให้ปฏิบัติอย่างไร ทำอย่างไรโดยมาก พระพุทธเจ้าก็ให้ตอบไปว่า ธรรมวินัยของเรานี้ ภิกษุ ภิกษุณีในธรรมวินัยของเราโดยมาก นั่งและเดินอยู่ทั้งวัน

 

นึกถึงคนทำงานหนักๆ ในโลก 18 ชั่วโมง ภิกษุในธรรมวินัยของพระพุทธเจ้าก็ทำงานหนักเช่นกัน บางท่านก็เดินสลับนั่งทั้งวันทั้งคืน จนร่างกายไม่ไหวแล้ว ถึงยอมนอน

 

ทีนี้เรามาทำกันก็แล้วแต่อัธยาศัยของใคร ถ้าเราปฏิบัติไปเยอะๆ ทั้งนั่ง ทั้งเดินสลับกันก็จะได้แบบนี้ คือเดินไม่กี่รอบก็จะเกิดวิจาระ รู้สึกมีหุ่นเดินให้ดู ไม่มีใครเดิน

 

แต่คนทั่วไปดู จะรู้สึกว่า เดินได้สม่ำเสมอดี รู้สึกแค่ว่าเป็นการเดินที่ไม่วอกแวก ไม่กระสับกระส่าย คนทั่วไปจะรู้ได้แค่นี้

 

แต่สำหรับพวกเรา อาศัยประสบการณ์เฉพาะตนของแต่ละคน ซึ่งรู้แล้วว่า รู้ลมหายใจเป็นอย่างไร รู้อากาศธาตุเป็นอย่างไร สติหลุดเป็นอย่างไร ก็จะรู้ได้ว่า ใจเขามีสติอยู่กับเท้ากระทบ ไม่ใช่เป็นก้าวๆ แต่โดยรวม ว่า จังหวะกระทบ ช้าเร็ว มีสปีดอยู่แค่ไหน

 

ถ้าข้างบนว่าง ข้างล่างชัด ข้างบนว่างจากฟุ้งซ่าน ล่างรู้เท้ากระทบชัด ก็จะรู้สึกสมาธิจากการเดินจงกรมขึ้นมา

.

.

อายตนบรรพ ไม่ง่ายนะ ต้องฝึกในชีวิตประจำวันอย่างเดียว ไม่สามารถฝึกในสมาธิหรือจงกรม

 

ดูง่ายๆ ในชีวิตประจำวันที่แพรเดินจงกรมได้ จะรู้สึกตั้งมั่นในชีวิตประจำวันได้ คือจะเห็นมาเองว่า กายอยู่ในท่าไหน

 

ทีนี้ มาต่อยอดว่า เวลาใครเดินมาคุยด้วย จะชอบหรือไม่ชอบ ก็รู้ปฏิกิริยาทางใจ นั่นแหละเรียกว่า สังโยชน์

 

เห็น ได้ยิน หรือคิดอะไร แล้วมีอาการชอบหรือไม่ชอบ ยึดไม่ยึด เป็นตัวตั้ง

เสร็จแล้วพอเราต้องคุยด้วย ไม่ใช่ต้องไปบังคับควบคุมให้สังวรระวังในแต่ละคำ แบบนั้นสติจะเจ๊งเลยนะ

 

แต่ถ้าหากเรามีการตั้งในใจว่า เริ่มต้นตั้งแต่เห็นเลยว่า มีความพอใจหรือไม่พอใจ ก่อนที่คนจะเริ่มคุยกับเรา

 

เสร็จแล้วเราดูว่า แต่ละขณะที่เราจะพูด มีอาการชอบหรือไม่ชอบ ฝืนหรือไม่ฝืน มีอาการสนิทกลมกลืน หรือขัดแย้งลึกๆ เราก็มีสมาธิพูดไปให้จบประโยค มีสมาธิกับการพูดให้เต็มที่ แต่พอสิ้นสุด ดูอาการปรุงแต่งทางใจว่า ดีหรือไม่ดี

 

แบบนี้เรียกเป็นการต่อยอดการนั่งสมาธิหรือจงกรมอย่างแท้จริง เห็นว่า ณ ขณะที่คิดดี คิดตอนไหน คิดไม่ดีปรุงแต่งตอนไหน

 

ถ้าเข้าใจแบบนี้ จูนตรงกัน ถ้าฟังแล้วเข้าใจ ลองไปอ่านดูในสติปัฏฐานอยู่ ที่พระพุทธเจ้าตรัสใน สัมปชัญญบรรพ พูดให้รู้ว่าพูด หยุดพูดให้รู้ว่าหยุดพูด

 

เวลาพระอรหันต์ลอยบุญลอยบาป ..  บาปท่านก็ไม่เอาอยู่แล้ว แต่บุญท่านก็ไม่เอาด้วย

 

อนุโมทนากับแพรนะ วันนี้ถือเป็นการเดินจงกรมที่หลายท่านน่าจะเข้าใจว่า หน้าตาการเดินจงกรม คือไม่ใช่เดินเบื่อ เดินอุดอู้ แต่เดินเพลิน สบาย พร้อมรู้ และต่อยอดจากการนั่งสมาธิรู้ลมหายใจ รู้กายรู้ใจขณะเปิดตาอยู่

 

-----------------------

คุณ Sam

 

พี่ตุลย์ : จังหวะที่วางมือลง ตอนนี้มือมีอยู่ในใจ จะเห็นว่าแตกต่างจากรอบก่อนๆ ซึ่งไม่มี บางทีจะหลุด จะมีความคิดเคลื่อนเข้ามา ถ้าเราสังเกตตรงนี้ได้ ตอนวางมือ

 

99 คนจากร้อย จะมีช่องโหว่ตรงนี้ พอวางมือจะมีสองอาการ คือลืมมือ หรือมีมือนึกถึงในใจได้ต่อเนื่อง หลักๆ มีแค่นี้

 

ทีนี้ ถึงแม้จะมีช่องให้ความฟุ้งลอดเข้ามาสู่ใน แต่ถ้ามีสติรู้ว่าใจกำลังวอกแวกอยู่ แล้วเห็นว่านั่นเป็นความปรุงแต่งชนิดหนึ่ง นั่นก็เป็นประโยชน์ต่อสติแล้ว

 

ของคุณ sam อะไรๆ มาดีหมด แต่ตอนวางมือ วางด้วยอาการที่รออย่างเดียวว่า เดี๋ยวจะหายใจเข้าครั้งต่อไป

 

ทีนี้เรามาดูกันใหม่ ถ้าทำได้ราบรื่น จิตจะต่างไปเลย จะมีความครบรอบเต็มดวงมากขึ้น เราจะรู้สึกได้กับตัวเองว่า ความต่างก่อให้เกิดสติในแบบที่พร้อมรู้พร้อมดูมากขึ้น มีความโปร่งเบา ต่อเนื่อง

 

ความต่อเนื่องเกิดจากการที่เราทำ มีสติครบทุกระยะ

ทั้งหายใจเข้า .. ชูมือ .. ลดฝ่ามือลง .. มีลมหายใจในฝ่ามือที่ลดระดับ .. และเมื่อฝ่ามือถึงหน้าตักก็ไม่ลืม

 

จะทำให้ภาวะในใจถูกปรุงแต่งไปว่า จิตเต็มดวงหน้าตาเป็นแบบนี้ ไม่มีช่องโหว่

 

มีความฟุ้งซ่านได้นะ แต่ฟุ้งในแบบที่เราจะเป็นผู้รู้ผู้ดูว่า ความฟุ้งจรมากระทบ แต่ใจเราไม่เป๋ มีความนิ่ง รู้ พร้อมดูอยู่ว่า ความฟุ้งเข้ามาตอนไหน หายไปตอนไหน

 

คุณ sam: เห็นความชัดตามที่พี่ตุลย์ชี้ให้ดู

 

พี่ตุลย์ : พอจิตเริ่มเต็มดวงให้สังเกตด้วยว่า พอความฟุ้งซ่านเข้ามาจะจับได้ไล่ทันมากขึ้น

 

พอจิตเริ่มเต็มดวง ใจเราจะพร้อมรู้มากขึ้น นี่คือประเด็นว่าทำไมผมต้องมาจี้ ว่าเพื่อที่จะได้ตัวอย่างของจิตที่เต็มดวง มีสติเต็มขึ้นมา มีความรู้ความพร้อมเห็นว่า จิตอยู่ส่วนจิต ความฟุ้งอยู่ส่วนความฟุ้ง จะรู้สึกขึ้นมาเอง ไม่ต้องจงใจดู จะเห็นเหมือนแมลงเม่าเข้ากองไฟ ผ่านมาผ่านไป

 

คุณ Sam: ทำอย่างไรจะ match ความรู้ตัวเองที่พอมีอยู่กับการปฏิบัติ

 

พี่ตุลย์ : จิตของแต่ละคนเหมาะที่จะเห็นอะไรไม่เท่ากัน ไม่ใช่ว่าใครอ่อนใครแก่เสมอไป บางทีอยู่ในภาวะที่ผมมองว่า ควรชาร์จพลังให้เต็มก่อนถึงจะเห็นได้แบบที่มีความกระจ่างแจ้ง ไม่อย่างนั้นจะวนไปอยู่ที่ความครึ่งๆ กลางๆ

 

ถ้าคุณ sam เกิดความเต็มตรงนี้ได้ อย่างที่บอกมาว่า รู้สึกว่าจิตเต็มดวงขึ้น จะมีความหมายมาก เพราะถ้าจิตเต็มดวงอย่างต่อเนื่องมากขึ้นเรื่อยๆ ในที่สุด เราจะแยกออกว่า จิตที่ตั้งมั่นเป็นสมาธิเป็นแบบนี้

 

และมองออกด้วยว่าจิตที่ตั้งมั่นนั้น ใส กระจ่าง หรือขุ่นทึบ แล้วก็จะเข้าใจว่า แม้จิตจะตั้งมั่น แต่ขุ่น ก็คือยังไม่พร้อมเห็นธาตุหก

 

จิตที่พร้อมเห็นธาตุหก คือตั้งมั่น นิ่งๆ เป็นไปเองอัตโนมัติ และใสในแบบที่จิตเสมอกับอากาศ ถ้าจิตยังใสไม่เสมอกับอากาศ ไม่แนะนำให้พิจารณากายใจโดยความเป็นธาตุหก เพราะจะไม่เข้าใจ หรือมีข้อสงสัย

 

แต่เอาแค่วันนี้ พอเรารู้สึกว่า จิตเต็มดวงหน้าตาเป็นแบบนี้แล้วทำต่อเนื่องมากขึ้น เดี๋ยวคุณ Sam อาจเข้าใจเองว่า อ๋อ พอเต็มดวง นิ่ง และใส การแผ่ออกจะเป็นแบบนี้ จากนั้นก็ย้อนมาดุว่า กายนี้หายใจอยู่ จะรู้สึกมาเองว่า กายนี้เป็นธาตุดิน หายใจเอาลมเข้าออกอยู่ในที่ว่าง ถึงจะรู้ว่า ตรงนี้เหมาะที่จะดูธาตุหก

 

คุณ Sam : เคยนั่งสมาธิ เห็นแต่แสงสว่าง ถึงจุดว่าไม่มีลมหายใจ แล้วกลัวเพราะไม่รู้จะทำอะไรต่อ

 

พี่ตุลย์ : เป็นสิ่งที่ผมบอกทุกคนมาตลอด ภาวะที่น่ากลัว หรือที่นานๆ เกิดที ไม่เป็นประโยชน์นักสำหรับการเจริญสติเพื่อการพ้นทุกข์

 

การเจริญสติเพื่อการพ้นทุกข์จะเอาภาวะที่เกิดจริง เกิดบ่อย มาใช้

 

และถ้าใช้มือไกด์ ฝ่ามือที่เคลื่อนจะประกันว่า เราไม่หยุดหายใจแน่นอน ส่วนแสงอะไรที่น่ามหัศจรรย์ เราจะมีความเข้าใจเป็นทุนว่า นั่นเป็นแค่สภาวะชั่วคราว แล้วเดี๋ยวเราจะก้าวข้ามไปได้

 

ของคุณขอให้สังเกตตัวเองว่า เดิมมีอะไรยุ่งๆ ในหัวตลอด ตอนนี้ก็มีนะ แต่ไม่เหมือนเดิม จะเคลียร์มาเป็นช่วงๆ ในระหว่างวัน

 

เมื่อก่อนจะห่วงงาน ห่วงคนเรื่องนั้นเรื่องนี้ ตอนนี้ก็มีอยู่ แต่เบาบางลงจนทุกข์น้อยกว่าเมื่อก่อน นี่คือสิ่งที่เป็นหลักฐานว่าเรามาถูกทาง

 

--------------------------

น้องหลิว

 

พี่ตุลย์ : วันนี้ไม่มีอะไรติ ไม่มีอะไรที่จะทักเป็นพิเศษ มีคำถามไหม เราเริ่มคงเส้นคงวาแล้วนะ จิตเริ่มสว่าง และใสด้วย จากเดิมที่จะสลับระหว่างนิ่งกับฟุ้ง แล้วขุ่นกับใสค่อนข้างเยอะ ตอนนี้เข้าเขตใสมากกว่าขุ่น สว่างมากกว่ามืด สังเกตได้ระหว่างวันอาจคิดๆ เรื่อยๆ แต่จะเหมือนอะไรที่โปรยมาแล้วหายไป ไม่ใช่คิดๆ ตลอดแล้วต่อเนื่องไม่รู้จบ

 

อีกอย่างคือพอเราอยู่ในระหว่างวัน จะเหมือนหลิวมองอะไรที่ต่างไป ออกมาจากความรู้สึกทางใจมากกว่าการคิด

 

ถ้าคิดอะไรหยุมหยิมจะคิดนู่นคิดนี่กับคนนั้นคนนี้ไม่เลิก แต่พอใจเราเริ่มโปร่ง เริ่มใส จะมองแบบหยุด คือหยุดได้ หยุดคิดหยุดปรุงแต่งเกี่ยวกับสิ่งนั้นได้ จะกลับมาอยู่ที่ใจมากกว่าข้างนอก

 

ส่วนเวลาเดินจงกรม ยังคิดไปด้วย ไม่รู้จังหวะกระทบชัดเจน จังหวะกระทบไม่ได้อยู่ในใจนานพอที่เกิดวิตักกะ แต่ถ้าเดินไปในทิศทางนี้เรื่อยๆ รู้สึกจังหวะเท้ากระทบในใจมากขึ้น

 

ตอนนี้ยังคิดอยู่ จะหนักๆ ในหัว เท้าจะเลือนๆ ไม่ปรากฏในใจอย่างต่อเนื่อง แต่ทิศทางถูกแล้ว คือรู้เท้ากระทบ แต่ไม่ใช่ว่ารู้ทีละก้าว แต่รู้สปีดว่า ช้าหรือเร็ว

 

ถ้ารู้ได้ตลอดรอดฝั่งจากจุดเริ่มต้นไปปลายทาง แบบนี้คือตลอดรอดฝั่ง แต่ของหลิวความคิดจะผุดขึ้นมากลางทาง ความคิดจะเอาไปกิน

 

ตอนจังหวะกลับตัวใช้ได้ เรารู้สึกถึงเท้ากระทบ แต่จังหวะกลับตัวส่วนใหญ่สติเรายังไปตามสายตา ไม่ได้อยู่กับเท้ากระทบจริงๆ แต่อยู่ในทิศทาง เพราะเราเข้าใจแล้วว่า ต้องอยู่กับเท้ากระทบ แต่ของเราชอบออกไปตามสายตา ก็เหมือนกับคนส่วนใหญ่ และเวลากลับตัวจะมองไปข้างบน แล้วมีอาการตามสายตาไป

 

ลองสังเกตว่า ทำอย่างไรจะอยู่ในทิศทางที่ใจมีเท้ากระทบ อย่างต่อเนื่อง

 

-------------------------

คุณยายเพ็ญ

 

พี่ตุลย์ : เป็นจังหวะที่พี่รู้ว่าจิตมีความเสมอกับลมหายใจ พอจิตมีความเสมอกับลมหายใจได้ แปลว่าเป็นผู้รู้ลมจริงๆ ไม่มีความปรุงแต่งเกินไปกว่าที่ลมหายใจปรากฏให้รู้

 

เมื่อกี้ ตอนที่ผมบอกว่า จิตมีความเสมอกับลมหายใจ รู้สึกถึงลมหายใจบริสุทธิ์ จิตเต็มดวงไม่แส่ส่าย รู้สึกใช่ไหมครับว่า ไม่มีอะไรอย่างอื่นนอกจากลมหายใจอยู่ในใจ นี่คือพัฒนาการนะครับ เดี๋ยวจะเห็นชัดขึ้นจนเห็นว่า พอหายใจออกหายใจเข้า จะรู้สึกถึงอากาศว่างรอบตัว เท่ากับลมหายใจ ตรงนี้จะรู้สึกถึงธาตุหก ดีขึ้นเยอะนะครับ อนุโมทนา

 

-------------------------

คุณวรรณ

 

พี่ตุลย์ : ครบถ้วนดีครับ ทั้งเรื่องจังหวะ เรื่องการรู้สึกถึงลม มืออยู่ในใจ มีความพร้อมให้สติรู้กายโดยความเป็นฐานที่ตั้งของลมหายใจ และตัวที่เรารู้สึกได้ว่า กายนี้ มีความไม่กระสับกระส่าย มีความเกื้อหนุนให้สมาธิมีครบทุกอย่างนะ

 

ที่ผมดูอยู่ ก็สมูทดีนะ จังหวะที่ผมใช้ในท่าที่สอง ออกแบบให้หยุดแป๊บหนึ่ง ออกแบบให้ลากลมเข้า หยุดนิดหนึ่ง แล้วจะวาดเป็นวงกลมหรือยกขึ้นตรงๆ ก็ตาม จะให้หน้าอกดึงลมเข้าก๊อกที่สอง ให้ลมเต็มปอด เป็นภาวะเลียนแบบอุปจารสมาธิ

 

คือพอเรามีลมหายใจที่เต็ม สดชื่น ปรุงแต่งให้ภาวะทางกายมีความอิ่ม จะมีสติรู้ลมหายใจอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ไม่เบื่อหน่าย ไม่แห้งแล้ง

 

ที่บอกว่าสะดุด คือไม่แน่ใจใช่ไหมครับว่า จะพักตรงไหน

 

คุณวรรณ : คือรู้สึกว่าเหนื่อยค่ะ แต่เมื่อกี้ไม่เป็น

 

พี่ตุลย์ : เมื่อไหร่ที่เหนื่อย ให้กลับไปท่าที่หนึ่ง หรือหยุดพักท่าแต่รู้ลมต่อไป ไม่มีผลเสียหรอก

 

ที่เหนื่อย อาจเพราะยังไม่เกิดปีติ และเร่งลมหายใจมากไปช่วงนั้นโดยไม่รู้ตัว และเกิดความเหนื่อยขึ้นมาได้

 

หลายๆ ท่าน เวลารู้สึกว่า ตอนนี้ กำลังจะหายใจสั้น แต่ไปไม่สุดกับสปีดของมือต้องทำอย่างไร?

 

คำตอบคือ เราใช้มือช่วยไกด์ เพื่อให้เกิดสติรู้เป็นหลักว่า ขณะนี้ควรหายใจสั้น หรือยาว บางทีร่างกายต้องการหายใจสั้น แต่เราฝืนให้ยาวสม่ำเสมอ แค่นี้ก็เหนื่อยได้

 

แต่ถ้าเราเข้าใจจริงๆ ว่า ครั้งนี้ลากยาวได้สบาย แต่ครั้งนี้ขอสั้นพอ ก็ปรับสปีดให้เร็วขึ้น วิตักกะอาจแข็ง แต่ไม่เป็นไร ไม่จำเป็นต้องหายใจยาวให้ได้ตลอด ก็จะไปลดโอกาสที่จะเหนื่อยได้

 

ถ้าเหนื่อย ก็พัก จะได้มีเวลาย้อนกลับมาดูความผิดพลาดนะครับ

 

----------------------------

คุณบัว

 

พี่ตุลย์ : พอทำแบบลืมตา อยากให้มองหน้าตรงๆ แม้จะเงยหน้า อยากให้รักษาระดับสายตาให้ตรง จิตจะเคลื่อนน้อยกว่านี้ .. เห็นไหม จิตจะมีความคงเส้นคงวามากขึ้น รับรู้ถึงลมหายใจที่ปรากฏอยู่ในใจมากขึ้น

 

สำหรับท่านที่ฝึกแบบลืมตา เรื่องสายตาสำคัญนะครับ การกำหนดสายตาเป็นตัวที่บอกตำแหน่งของจิต บอกภาวะของจิตได้เลยว่าจะคงที่ คงเส้นคงวาอยู่หรือเปล่า

 

ถ้าตากลอก หรือเหลือบขึ้นลง จิตจะเคลื่อนได้ง่ายๆ เลย คือเวลาเราเงยหน้า อาจเงยขึ้นไปก็ได้ แต่ให้สายตาตรง อยู่ในสภาพทอดตามองตรง

 

เวลายกขึ้น กำหนดมองตรงหน้าว่างๆ เหมือนมองขอบฟ้า ถ้าจะลืมตาให้ระยะสายตาทอดตรง และเคลื่อนไปตามจังหวะใบหน้า

 

คิดแบบนี้ก็ได้ว่า เรามองขอบฟ้า แล้วขอบฟ้าเวลาแหงนหน้า ขอบฟ้าก็ตามเราไปด้วย

 

อย่างเมื่อกี้ พอเราไม่ทอดตากรอกไปมา ใจจะนิ่ง รู้ลมหายใจทั้งลืมตาได้มากขึ้น อาจจินตนาการว่ามองขอบฟ้า แต่ขอบฟ้าเคลื่อนตามเราไป ทำให้สายตาล็อคเป้า อยู่กับขอบฟ้าเดิม

 

คุณบัว : ที่ลืมตาเพราะง่วงมาก และปวดตามข้อ เลยลืมตา คิดว่าถ้าหลับตาจะเห็นเวทนาชัดไป

 

พี่ตุลย์ : ทุกท่านเลยนะครับ ผมสนับสนุนให้ทำทั้งแบบหลับตา และลืมตา เพราะลืมตา จะไปกระตุ้นชีวิตประจำวันให้นึกถึงลมหายใจ สร้างความเคยชินขึ้นมาอีกแบบหนึ่ง

 

ตอนแรกๆ ใจอาจแส่ส่าย หลุดโฟกัส แต่ถ้าเริ่มล็อคสายตา ใจจะสม่ำเสมอขึ้นมา ถ้าจินตนาการเห็นขอบฟ้าที่เคลื่อนตามสายตา ใจจะล็อคเป้าได้ เห็นลมหายใจที่ปรากฏต่อใจ ภาพที่เห็นด้วยใจจะชัดขึ้น

 

คุณบัว : เราไม่ได้ไปโฟกัสมัน แต่เห็นเป็นภาพเบลอๆ ใช่มั้ยคะ

 

พี่ตุลย์ : เวลามองขอบฟ้า เราก็ไม่ได้มองจุดแคบๆ แต่เรามองแบบกว้างๆ เบลอในที่นี้คือเห็นเส้นขอบฟ้า เอาระยะสายตาเป็นเครื่องล็อคจิต

 

เมื่อกี้ ตอนบอกให้ล็อคเป้าแล้วล็อคได้ จะเห็นเลยว่าตอนหายใจออกเหมือนมีลมหายใจปรากฏขึ้น มีโฟกัสที่ชัดเจนทั้งที่ลืมตาอยู่ ณ จุดนั้น ความคิดจะแทรกมาได้ยาก รู้แค่นี้พอ ไม่ต้องไปเอาคะแนนว่า ถ้าเราทำได้นิ่ง ได้ดีจริง ความคิดต้องไม่แทรกเข้ามาเยอะ เอาแค่รู้เป็นเหตุเป็นผล ว่าถ้าล็อคเป้าได้ ความคิดจะไม่แทรกเข้ามา

 

แต่ถ้าเมื่อไรไม่ชัดเจน เช่นวางมือแล้วไม่รู้สึกถึงความนุ่มนวลของมือที่วางบนตัก แบบนี้ความคิดก็แทรกได้

 

คุณบัว: เราฝึกเพื่อไม่ได้ห้ามไม่ให้คิด แต่เพื่อให้จับความคิดทัน จับได้เร็ว วางได้เร็ว ถูกไหมคะ

 

พี่ตุลย์ : เบื้องต้นเอาแค่รู้ลมหายใจ และเมื่อมีความคิดเข้ามา ก็รู้ความคิดไปพร้อมลมหายใจ เอาแค่นี้ก่อน เพราะที่ถาม เป็นการข้ามขั้นไปนิดหนึ่ง

 

ที่สอนๆ กันคือ ให้ดึงความคิดไปที่ลม อย่าให้ความคิดเข้ามา ซึ่งถ้าเป็นแบบนั้นจะอึดอัด เพราะไม่มีใครรู้ว่าความคิดจะมาตอนไหน จะไปห้ามได้อย่างไร

 

แต่ถ้าตอนที่รู้ว่า มีลมหายใจเข้าออก มีวิตักกะ วิจาระ ซึ่งถ้าบริสุทธิ์มากขึ้นเท่าไร ยิ่งมีสติตื่น พร้อมที่จะรับรู้อะไรที่ต่างไปจากลมหายใจ

 

เพราะเมื่อเวลารู้อะไรอย่างเดียว และมีอะไรที่ไม่ปรากฏเป็นอย่างเดียวแล้ว ก็จะเห็นง่าย เหมือนกับห้องว่าง ถ้าเราเคลียร์ห้องให้ว่างจริง เวลามีฝุ่นผงซัดเข้ามาจากหน้าต่างข้างหนึ่ง ก็จะเห็นชัดว่าซัดออกไปจากหน้าต่างอีกข้างตอนไหน

 

ถ้าจิตเสมอกับลมหายใจ รู้ลมหายใจอย่างเดียว เวลาความคิดจรเข้ามา จะเห็นชัดพร้อมลมหายใจว่า ทำให้ลมหายใจมัวลง ไม่ชัดเท่าเดิม

 

ถ้ารู้ลมพร้อมความคิดไปด้วยจนชำนาญ จะจับจุดได้ว่า พอรู้ลมด้วย จับจุดความคิดด้วย จะอยู่แป๊บหนึ่งแล้วหายไป พอความคิดเกิด เรารู้ ความคิดดับไป เราก็รู้ ลมหายใจไหน ตัวนี้แหละ ที่จะเป็นการที่เรามีสติเท่าทันความคิดจริงว่า เกิดเมื่อไหร่ หายไปเมื่อไหร่

 

ไม่อย่างนั้น ทำแบบคิดเองว่าให้รู้ลมหายใจ อย่าให้ความคิดเข้าแทรก 99% คนส่วนใหญ่ทำไม่ได้จริง หรือทำแล้วอึดอัด ไม่เหมือนการเห็นลมชัดก่อน แล้วจิตตั้งมั่น นิ่งแล้ว ค่อยดูว่าความคิดแทรกเข้ามาเมื่อไหร่ตามจริง แล้วเห็นไปพร้อมกัน

 

อย่าไปคิดถึงอุบายว่า จะจัดการความปวดยังไง แต่ให้ดูตามจริงว่า อาการทางกาย มากระตุ้นใจ ให้อึดอัด อยากหาย ว้าวุ่นเพียงใด

 

พอเห็นว่าใจว้าวุ่นกับเวทนามากหรือน้อยแต่ละครั้ง จิตจะเข้าใจว่า ด้วยเวทนาที่หนัก จะทำให้ว้าวุ่นหนัก เวทนาที่น้อย จะว้าวุ่นน้อย

 

เมื่อมีสติ รู้เวทนาอยู่ ทุกขเวทนาจะแสดงความไม่เที่ยง ใจจะไปดิ้นรนกับมันน้อยลง

 

จะรู้ว่า ทุกขเวทนาทั้งปวง สักว่ามาปรุงแต่งจิตให้มีอาการอย่างหนึ่ง จิตจะมีสติเหนือเวทนา เห็นว่า เวทนาก็แค่นั้นแหละ ก่อให้เกิดปฏิกิริยาทางใจ เห็นความไม่เที่ยง

 

คุณบัว : ทุกขเวทนามันเหมือนมาบดบังใจไปเลย

 

พี่ตุลย์ : ถ้าเราหายใจได้ดี แล้วมีใจเสมอกับลมหายใจ จะไปมีสุขเวทนาในลมหายใจเป็นหลักตั้ง แล้วพอมีทุกขเวทนาส่วนอื่น เช่นปวดข้อขึ้นมา ก็จะแบ่งกันครึ่งๆ คือสุขเวทนายังอยู่ แต่ทุกขเวทนามาเบียดเบียน

 

เราก็จะเห็นว่า สุขเวทนา หรือ ทุกขเวทนา อันไหนใหญ่กว่ากัน ถ้าทุกขเวทนาใหญ่กว่า สุขเวทนา ก็จะเบาบางลงไป ไม่ต้องไปตั้งเป้าฟิกซ์ไว้ว่าจะเห็นอย่างไร แต่ดูว่าเห็นอะไร

วันนี้ ขออนุโมทนากับทุกท่านนะครับ เท่าที่เห็นทุกคนมีความก้าวหน้ากันทั้งหมด

_______________________

วิปัสสนานุบาล EP.23

วันที่ 8 ธันวาคม 2564

ถอดคำ : เอ้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น