วันศุกร์ที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

วิปัสสนานุบาล EP3 10 พย.: คุณดังตฤณโค้ชการเดินจงกรม

(ผู้ร่วมไลฟ์ เจริญสติด้วยการเดินจงกรม)

ดังตฤณ : เวลากลับตัว กลับทีละครึ่งรอบนะ


กลับครึ่งหนึ่งก่อน


แล้วค่อยอีกครึ่งหนึ่ง อย่างนี้ เท้าถึงจะอยู่ในใจเรา


ไม่อย่างนั้นถ้ากลับครึ่งเดียว แล้วอีกทีหนึ่งเราเดินเลย

ก็จะมีจังหวะที่ ในหัวเราขาดเท้ากระทบไป แล้วจะเคว้ง

ซึ่งในระยะยาวหลายๆ รอบเข้า

จะเป็นส่วนที่ทำให้เกิดความไม่ต่อเนื่องของกระทบ

 

การเดินจงกรม จุดมุ่งหมายของเราคือ ทำให้เกิดวิตักกะด้วยเท้ากระทบ

ถ้าหากว่า วิตักกะ มีความสะดุด มีความไม่พอดี มีความไม่ราบรื่น

ก็เหมือนกับ นึกถึงตอนที่เราไม่สามารถรู้สึกถึงลมหายใจ ได้อย่างต่อเนื่อง

 

พอเราเดินถูก อย่างรอบล่าสุดนี้ จะมีความรู้สึกเหมือนกับว่า

ร่างกายแค่เคลื่อนไหวให้ดู.. รอบล่าสุด ที่เราเดินเข้ามานี่รู้สึกว่ากายมีรูปเดิน  

มีลักษณะเป็นในการก้าวเท้าไปฉับๆ  

พูดง่ายๆว่าจิตเริ่มมีวิตักกะ เห็นกาย สักแต่เป็นหุ่น

 

ให้ลองบรรยายให้เพื่อนๆฟังแป๊บหนึ่ง เมื่อกี้รู้สึกอย่างไร เอารอบสุดท้ายเลย

 

ผู้ร่วมไลฟ์ : คือไม่ได้รู้สึกถึงขนาดรอบสุดท้ายค่ะ แต่เอาที่หนูรู้สึกรวมๆ นะคะ

 

คือเหมือนพอเดินแล้ว จะรู้สึกเท้ากระทบ แล้วก็รู้ลมไปด้วย

อันนี้ที่รู้สึก แต่แยกไม่ออกระหว่างรอบก่อน กับรอบสุดท้ายที่พี่ตุลย์บอกค่ะ

 

ดังตฤณ : คืออย่างนี้ รอบสุดท้ายนี่

ความคิดแบบที่รู้สึกว่าเป็นตัวเรา จะเริ่มเบาบางลง

เริ่มกลายเป็นเหมือนกับกายชัดขึ้น และเบา

คือมีความเบาตั้งต้นออกมาจากข้างใน

แล้วกาย เริ่มถูกรู้ คือเริ่มมีวิตักกะจริงๆในรอบสุดท้าย

 

เหมือนกับปกติ เวลาเราเดิน จะเดินไปด้วยความฟุ้งซ่านใช่ไหม

แล้วก็เดินไปด้วยความรู้สึกว่ามีตัวตน มีตัวเราเป็นผู้เดิน

 

แต่อย่างรอบสุดท้ายนี่ เริ่มเหมือนกับว่า

ความฟุ้งซ่านหรือว่าลักษณะของความรู้สึกในตัวตน เริ่มเปลี่ยนไป

ใจเริ่มว่าง ว่างจากความรู้สึกในตัวตน แล้วก็มีแต่กายเดิน

คล้ายๆ เรารู้สึกว่า หุ่นเดินให้ดู

 

เดี๋ยวเอาความรู้สึกที่เรารู้สึกตามจริงเลยนะ นึกออกไหมว่าพี่พูดถึงภาวะอย่างไร

 

ผู้ร่วมไลฟ์ : รู้สึกว่า ช่วงหลังๆ ความคิดจะบางลง

แล้วก็ตอนที่จังหวะการกลับตัวทีละครึ่งรอบ มีผลจริงๆ

เพราะว่าเราจะกลับแบบครึ่ง แล้วพออีกนิดหนึ่งจะก้าวเลย

 

แต่พอเวลากลับทีละครึ่งๆ จริงๆ

จะรู้สึกว่า เท้าอยู่ในใจแบบชัดเจน จะไม่สะดุดค่ะ

 

แต่เมื่อก่อนพอไม่มีข้อเปรียบเทียบ จะไม่รู้ว่าต่างกันค่ะ

แต่อย่างรอบหลังๆ อาจเป็นรอบสุดท้ายอย่างที่พี่ตุลย์บอก

จะเหมือนกับเริ่มว่างๆ เรื่องความคิดในหัวค่ะ

 

ดังตฤณ : เพราะฉะนั้น บอกกับทุกคน การเดินจงกรมนะ

สิ่งที่เป็นพอยต์ของการเดินจงกรม ที่อยากให้จับจุดให้ถูกนะครับ

ก็คือว่า เดินกลับไปกลับมาหลายๆ รอบ

จนกระทั่งถึงสักรอบหนึ่ง ที่รู้สึกถึงเท้ากระทบชัดเจน 

แล้วก็รู้สึกว่า ข้างบน .. ความคิด ความรู้สึกเริ่มเปลี่ยนไป เริ่มปฏิรูปไป

เริ่มมีความรู้สึก .. อย่างที่บอก ความคิดเบาบางลง

 

พอความคิดเบาบางลงเกิดอะไรขึ้น

จะเกิดความรู้สึกว่า ที่ (เท้า) กระทบ แปะๆๆ ไปนี่

ส่งถึงความรู้สึกทั้งตัวเลยที่กำลังเดิน

เดินตามจังหวะปกติ สปีดปกตินี่แหละ แต่ว่าความรู้สึกต่างไป

เหมือนกับหุ่นเดินให้ดู ไม่ใช่ตัวเราเป็นผู้เดิน

 

ตอนที่เรียกเรา (ผู้ร่วมไลฟ์) มา (พูดคุย) เพราะว่าเริ่มที่จะเป็นสมาธิ

เริ่มที่ว่าเรา .. เท้ากระทบไป แล้วเข้าที่เข้าทางขึ้นมา

 

แต่ถ้าหากว่าในอาการเข้าที่เข้าทางนี้ มีวิตักกะ

เท้ากระทบแปะๆๆ ไปแล้วใจเบาบางลงนี่

ความรู้สึกนึกคิด หรือว่าความฟุ้งซ่านเบาบางลง

ใจเริ่มไม่รู้สึกว่า มีตัวตนเป็นผู้เดิน

พอยต์ก็คือว่า เดินต่ออีกเรื่อยๆ เป็นสิบ ยี่สิบนาที

เป็นครึ่งชั่วโมง หนึ่งชั่วโมง ภาวะของจิตจะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ

 

ความว่าง จะว่างมากขึ้น จะเว้นวรรคความรู้สึกในตัวตนมากขึ้น

ความฟุ้งซ่านจะเบาบางลงแบบนี้อีก

หรือบางทีก็กลับมาฟุ้งซ่านได้หนักเท่าเก่า หรืออาจหนักกว่าเก่าอีก

เพราะว่าบางทีเราอาจอยากหยุดเดิน แล้วก็อยากไปทำอย่างอื่น

ก็มีความทุรนทุรายขึ้นมาในจิต

 

แต่เหมือนนักวิ่งมาราธอน ถ้าเราวิ่งมาราธอนเป็น

เลยจุดหนึ่งไป ทุกอย่างจะเหมือนกลับเป็นอัตโนมัติ

ร่างกายเคลื่อนไหวไปอัตโนมัติ ความรู้สึกทางใจจะไม่มีความฝืน

จะไม่มีการต่อสู้กับตัวเองว่า จะหยุดหรือจะไปต่อ

จะเดินของมันไปเองเรื่อยๆ

ด้วยความรู้สึกพอใจอยู่ข้างใน ที่จิตเป็นสมาธิกับการเดิน

 

ฉะนั้น ตรงนี้ สำหรับทุกคนที่คิดจะเดินจงกรม

คุณกำลังทำสติ ตั้งสติแบบเคลื่อนไหว

 

ตอนนั่งสมาธิหลับตา คือมีสติแบบหยุดนิ่ง ตั้งนิ่งอยู่กับที่

ซึ่งจะง่าย จะมีลมหายใจเท่านั้น ให้ดู ไม่ได้มีอะไรอย่างอื่นให้ข้องแวะ

 

แต่การเดินจงกรม เป็นการที่เราต้องเปิดตา

แล้วการจับจุดที่จะให้เกิดวิตักกะ จะยากกว่า

 

ทีนี้ ถ้าเราจับจุดได้ว่า

เริ่มต้นขึ้นมารอบแรกๆ ไม่เอาอะไรอย่างอื่น

ไม่พิจารณา ไม่อะไรทั้งสิ้น เอาแค่รู้ว่าเท้ากระทบแปะๆๆ อยู่

ถ้าเอาให้ได้แค่นั้น ในที่สุด จะเกิดวิตักกะ

คือจิตของเราจะไปรู้สึกอยู่กับเท้ากระทบ ไม่ดิ้นรนที่จะไปรับรู้สิ่งอื่น

ทำนองเดียวกันกับที่เราใช้มือไกด์ แล้วรู้สึกถึงลมหายใจได้อย่างเดียว

 

ทีนี้ วิจาระเกิดตอนไหน

วิจาระเกิดตอนที่ .. ขอให้คิดถึงการใช้มือไกด์

ตอนแรก เรารู้สึกถึงลมหายใจชัด

ตอนที่เหมือนกับฝ่ามือกับลมหายใจ มีความเชื่อมโยง

มีความสัมพันธ์กัน ราวกับมีแม่เหล็กดึงดูดกันและกัน

ตอนนั้น ที่วิตักกะ เกิด

 

ใจอาจยังวอกแวกได้ ใจอาจยังฟุ้งซ่านคิดเรื่องโน้นเรื่องนี้

แต่พอเกิดวิจาระ จะเหมือนจิตมีอยู่ดวงเดียว เรียบๆ ง่ายๆ เลย

มีความรู้สึกเรียบง่าย ไม่มีอะไรซับซ้อน

มีแต่จิตดวงเดียว ตั้งอยู่ แล้วก็รับรู้ลมหายใจ ไม่วอกแวกไปไหน

ตัวนี้ เรียกว่า วิจาระ

 

ส่วนการเดินจงกรม วิจาระเกิดขึ้นเมื่อไหร่?

เกิดขึ้นตอนที่เราเดิน แปะๆๆ ไป

 

อย่างเมื่อกี้ที่คุณบอกว่า ทำความรู้สึกว่า

ความคิดในหัวเริ่มเบาบางลง รอบท้ายๆ

แล้วก็รู้สึกถึงเท้ากระทบอย่างเดียว อันนั้นเรียกว่า วิตักกะ

 

ตอนที่เราจะรู้สึกถึง วิจาระ คือ ตอนที่จิตเริ่มปฏิรูปเป็นสมาธิจริงๆ

เหลืออยู่ดวงเดียว ใจเด่นอยู่ดวงเดียว

ข้างบนจะรู้สึกว่าง ส่วนข้างล่าง จะรู้สึกแปะๆๆ ชัด

 

เมื่อข้างบนว่าง ข้างล่างชัด แล้วเกิดความพอใจ

เกิดความรู้สึกว่า .. เออ เดินอย่างนี้ไปเรื่อยๆ

เหมือนกับหุ่น เดินให้ดูเป็นอัตโนมัติ

แล้วใจไม่ไปไหน อยู่ตรงนั้นของมันเอง มีความรู้สึกถึงใจดวงเดียว

ที่รู้สึกถึงเท้ากระทบ แล้วก็ท่าเดินที่ก้าวไป ไม่ไปไหน

 

ตรงนั้น จะเริ่มเพลินกับการเดิน แล้วใจจะไม่วอกแวกไปไหน

จะไม่อยากออกไปไหน

 

ทีนี้ เมื่อกี้เรียกเข้ามา ก็คือจะชี้ให้ดูว่า วิตักกะ เริ่มเกิดแล้ว

ส่วน วิจาระ อาจต้องกินเวลาไปมากกว่านี้ แต่ละคนไม่เหมือนกัน

ขึ้นอยู่กับว่า จิตของเราจะจับจุดถูก

แล้วก็อยู่กับตรงนั้น โฟกัสกับตรงนั้น ได้นานแค่ไหน

 

อย่างของคุณเมื่อกี้ พอเริ่มรู้สึกว่า ความนึกคิดในหัวเบาบางลง

ใจอาจยังวอกแวกได้ อาจยังไปทางอื่นได้ อาจไปสนใจอะไรอย่างอื่นได้

นั่นคือ ความแส่ส่ายของจิต ซึ่งเป็นธรรมชาติเดิม

 

แต่เมื่อไหร่ที่เราเดิน แล้วรู้เท้า แปะๆ ไป

แล้วเกิดความรู้สึกรู้ขึ้นมาทั้งตัว ขึ้นมาเอง

อย่างเมื่อกี้ จะรู้เท้ากระทบชัด แล้วก็ความคิดเริ่มเบาบาง

แต่ยังไม่ถึงขนาดที่เรารู้ทั้งตัวขึ้นมาเอง

ยังแยกไม่ออกว่า จิตอยู่ส่วนจิต แล้วก็เท้ากระทบอยู่ส่วนเท้ากระทบ

 

แต่เมื่อไหร่ที่เราเดินไป เดินๆๆ ไป แปะๆๆ ไป แล้วเหมือนกับว่า

ใจทั้งดวง เป็นผู้ดูภาวะทางกายเคลื่อนไป เหมือนกับแยกมาเป็นผู้ดู

แล้วใจเต็มๆ ทั้งดวง ไม่วอกแวกไปไหนเลย

อยู่กับอาการเดินแปะๆ ไป เห็นทั้งตัวเอง นั่นแหละ เริ่มเกิดวิจาระ

 

ตอนที่วิจาระเกิด แล้วมีความรู้สึกเพลิน

รู้สึกว่า ใจตั้งอยู่กับตรงนั้น แล้วเดินไปเรื่อยๆ ได้ ในที่สุดแล้วจะเกิดปีติ

 

ปีติ คือเกิดขึ้นเมื่อไหร่?

เกิดขึ้นตอนที่ภาวะทางกาย ไม่มีความกระสับกระส่าย

ไม่มีลักษณะของอาการ ที่จะวอกแวกไปทางอื่น

จะมีความสงบระงับ อย่างที่พระพุทธเจ้าตรัสเรียกว่า

เป็นความสงบระงับทางกาย กายไม่กวัดแกว่ง

ตัวนี้ ปีติจะเริ่มเกิด

 

ปีติเกิดแล้ว มีอะไรเกิดขึ้น?

คือภาวะทางกาย จะเหมือนกับหลายๆ คนบอกว่า

จะเบา เหมือนไม่มีน้ำหนัก เบาเหมือนกับเดินอยู่บนอากาศ เดินอยู่บนเมฆ

 

ที่พูดให้ฟังนี่ ไม่ใช่ให้ตั้งใจให้เกิดภาวะนั้นขึ้น

เพราะจะไม่เกิด ถ้าหากว่าเรามุ่งจะเอาภาวะกายเบานะ

แต่จะเกิดเอง ถ้าหากว่าตัววิตักกะ กับ วิจาระ ดำเนินต่อเนื่องไป

แบบที่ไม่มีอะไรมาสะดุด

 

อย่างที่พี่ให้กลับตัวก็เพราะอย่างนี้นะ

คือจะไม่มีช่วงที่เคว้ง งง ในขณะกลับตัว

แล้วก็การเดิน แปะๆๆ ไป ที่คนทั่วไปนึกว่าเดินแบบนี้เพื่ออะไร

กลับไปกลับมา น่าเบื่อจะตาย แต่จิตน่ะ จะไม่เบื่อ

 

จิตของผู้เดินเป็น จะรู้ว่าเหลือจิตเด่นดวงอยู่หนึ่งเดียว

แล้วก็มีปีติเอ่อขึ้นมา ทำให้กายอยู่ในสภาพที่

ไม่มีความเหน็ดเหนื่อยเลย ไม่มีความเมื่อยล้าเลย

เดินเป็นชั่วโมงๆ เหมือนกับเดินบนเมฆที่มีความสุข มีปีติ

แล้วก็ไม่ใช่เป็นมนุษย์เดิน

เหมือนกับจิต เฝ้าดูอาการเดินของอะไรอย่างหนึ่ง ที่ไม่มีตัวตน

 

อันนี้พูดครอบคลุม เพื่อที่จะเหมือนกับเป็น introduction

ให้กับหลายๆ คนที่รู้สึกว่า ตัวเองยังเดินจงกรมไม่เป็น

ไม่รู้จะเริ่มต้นตั้งหลักอย่างไร

 

เดี๋ยวคุณเดินเป็นตุ๊กตา แล้วพี่จะบรรยายให้ทุกคนฟัง

ว่าที่เราเดินจงกรม เดินกันไปอย่างไร

 

(ผู้ร่วมไลฟ์ เจริญสติด้วยการเดินจงกรม)

 

เริ่มต้นขึ้นมา ท่าที่ดีที่สุดที่ผมพบ .. ผมเดินมาหลายวิธี หลายท่า ..

 

เดินเอามือไพล่หลัง แล้วเชิดหน้า คอตั้งหลังตรง จะดีที่สุด

แล้วเท่าที่เห็นมา ถ้าใครจะเอาท่าอื่นอะไรอย่างไร ไม่ว่ากันนะ

คือลักษณะนี้ ผมพบว่าทำให้เรารู้สึกถึงกายได้ถนัดที่สุด

 

ถ้าก้มหน้า หรือเอามือกุมข้างหน้า

ส่วนใหญ่.. ไม่ใช่ทุกคนนะ ที่ผมเห็นมา

ก็คือว่าใจจะมองพื้น แล้วก็จ้องแต่พื้น

 

คือตา พอจ้องพื้น แล้วไม่รับรู้อะไรเลยเกี่ยวกับร่างกาย

ในที่สุดก็เหมือนกับเดินคิดมาก เดินด้วยอาการครุ่นคิด

คิดๆ ไปแบบที่ไม่ได้อะไรเข้ามาในกายใจเลย มีแต่ความคิดครอบงำ

 

ทีนี้ พอเราเริ่มเดินเอามือไพล่หลัง แล้วก็เชิดหน้า คอตั้งหลังตรง

จะเป็นเหตุให้เกิดความรู้สึกถึงเท้ากระทบ

ได้มากกว่าที่เราจะเดินก้มหน้า หรือกุมมือ อยู่ข้างหน้า

 

นี่เป็นการสังเกต ที่เอาเป็นว่า สังเกตมา นับจริงๆ สามสิบปีที่ผ่านมา

น่าจะหลายพันคน เยอะจนกระทั่งมีสถิติอยู่ในใจ

 

ปกติเราเดินไปตามรูปแบบที่สอนๆ กัน จะไม่ค่อยมีการเก็บสถิตินะ

ว่าเดินแล้วได้อะไร เกิดผลอย่างไรขึ้นมา

แต่ผม .. เนื่องจากดูมาหลายแบบมากๆ

ดูทั้งจากตัวเอง แล้วก็จากของคนอื่น ได้ข้อสรุปอย่างหนึ่งว่า

ถ้าเราเดินเอามือไพล่หลัง เชิดหน้า คอตั้งหลังตรง

แล้วรู้เท้ากระทบอย่างเดียวก่อน เพื่อให้เป็นสมถะ

มีกำลังสมถะเสียหน่อย ให้จิตเกิดวิตักกะ

 

หรือให้ดีเลย ถ้าเดินไปถูกต้อง มี วิตักกะ อย่างถูกต้อง

เกิด วิจาระ ขึ้นมา จิตเด่นดวงเป็นหนึ่งเดียวขึ้นมา

เป็นสมาธิในการเดินจงกรมขึ้นมา ก็จะเห็นอะไรมากมาย

 

ซึ่งหลายๆ คน ถึงแม้จะไม่ได้เดินท่านี้ แต่ถ้าเดินนานพอ

บางทีก็ฟลุ้คๆ เกิดสมาธิขึ้นมาได้เหมือนกัน

เพียงแต่ว่าจะไม่เกิดขึ้นแบบแน่นอน ต้องอาศัยความฟลุ้ค

 

แต่ถ้าเดินแบบนี้ เอาที่เรารู้เท้ากระทบอย่างเดียว

จนจิตเกิด วิตักกะ มาปรุงแต่ง ให้รู้สึกถึงเท้ากระทบอย่างเดียวก่อน

เอาให้ได้อย่างนี้ก่อน ความแน่นอนจะสูงขึ้น

 

ยิ่งเดินมาก เราจะยิ่งจับจุดถูก

ขึ้นต้นมา เอาเท้ากระทบอย่างเดียว ที่เราเดินสปีดปกติอย่างนี้

 

อย่างตอนนี้.. จิตของคุณเริ่มมีวิตักกะ คือรู้สึกถึงเท้ากระทบ

แล้วเกิดอะไรขึ้น?

 

จิตพอเริ่มเป็นสมาธิ ความฟุ้งซ่านก็จะเบาบางลง

เหมือนตอนเรานั่งสมาธิ ใช้มือไกด์ แล้วรู้สึกว่า

พอเห็นลมหายใจได้นิ่มนวล ลากยาวต่อเนื่อง รู้ชัด

ความฟุ้งซ่านก็จะเบาบางลง โดยที่ไม่ต้องเรียกร้อง

ไม่ต้องไปพยายามกดจิตให้สงบ ไม่จำเป็นต้องไปรีดจิตให้เรียบ

มันเรียบของมันเอง มันสงบของมันเอง ถ้ามีวิตักกะเกิดขึ้นอย่างถูกต้อง

 

อันนี้พอวิตักกะเกิด มีเท้ากระทบอยู่ในใจ เด่นชัด

แล้วมีความต่อเนื่องมากพอ ตอนนี้ใจเริ่มเบา

 

พอใจเบา จะเกิดอะไรขึ้น?

ไม่เกิดการปรุงแต่งแบบเดิมๆ

 

ปกติเราฟุ้งซ่าน เราคิดมาก เราคิดโน่นคิดนี่เพื่อตัวตน

นี่ตัวนี้แหละ ที่จุดชนวนความฟุ้งซ่านขึ้นมา

จุดชนวนความรู้สึกเป็นอารมณ์หลากหลาย อยากโน่นอยากนี่ขึ้นมา

 

ต่อเมื่อจิตมีวิตักกะ คือรู้เท้ากระทบ ปรุงแต่งนานพอ

จะเกิดสมาธิ พอเกิดสมาธิ ความฟุ้งซ่านเบาบางลง

ทีนี้ต่อจากตรงนั้นนี่แหละ พอจิตเริ่มเป็นสมาธิ แล้วเราเห็นอะไร

 

สิ่งที่จะเห็นเป็นธรรมดา ต่อให้ไม่มีสัมมาทิฏฐิเป็นมุมมองตั้งต้น

ต่อให้เรายังไม่เข้าใจพุทธศาสนาเลย

แต่ถ้ารู้เท้ากระทบอย่างนี้ จนกระทั่งจิตเกิดสมาธิ

จะรู้สึกเหมือนกับว่า หุ่นอะไรอย่างหนึ่ง กำลังเดินให้ดู

ไม่ได้มีเราเป็นผู้เดิน ไม่ได้มีบุคคลในท่าเดินนี้

มีแต่ท่าเดิน แต่ไม่มีตัวเราเดิน

 

พอยต์ของการที่เราเดินจงกรมได้ เริ่มจับจุดได้ถูกทิศถูกทาง

เป็นไปเพื่อที่จะให้รู้สึกว่า ความรู้สึกในกายนี้ ปรากฏเป็นของกลวงว่าง

 

ความกลวงว่างมาจากอะไร

มาจากจิตที่ไม่ฟุ้งซ่าน มาจากจิตที่รู้สึกว่างๆ

มาจากจิตที่รู้สึกว่าไม่กระสับกระส่าย อยากโน่น อยากนี่

 

อันนี้ จะไปถึงจุดนี้ พอถึงจุดนี้ว่า

ใจว่างๆ มีแต่หุ่นเดินให้ดู แล้วอย่างไรต่อ?

 

ตรงนี้ ก็ขึ้นอยู่กับการทำความเข้าใจให้ถูก

การจับจุดสังเกตให้ถูกว่าจิตของเรา ที่ว่างๆ ไม่ว่างจริง

พอเดินๆ ไป เกิดความรู้สึกขึ้นมาว่า เดี๋ยวก็กลับมากระสับกระส่ายใหม่

เดี๋ยวกลับมารู้สึกเหมือนฟุ้งๆ ยุ่งๆ ใหม่

บางทีฟุ้งมาก บางทีฟุ้งน้อย

ตรงนี้จะเริ่มเป็นการเดินจงกรม แล้วรู้จิตแล้ว

 

บางรอบ เรารู้สึกราวกับว่า ตัวนี่เบา กายเบา เพราะเกิดปีติ

แทบจับไม่ได้เลยว่าเท้ากระทบเมื่อไหร่

จะจับได้แต่ความรู้สึกว่าใจนี่ว่างๆ เหมือนไม่มีอะไร

 

เสร็จแล้วบางรอบ ใจเหมือนกับจะมาปรุงแต่งใหม่

มีความคิดแบบละเอียดๆ คิดโน่นคิดนี่

หรือบางทีผุดภาพความทรงจำอะไรขึ้นมาในหัว มันผุดของมันเอง

เราไปทำอะไรไม่ได้เลย กับภาวะทางใจที่

บางรอบ ก็ฟุ้งมาก บางทีก็ฟุ้งน้อย หรือเหมือนไม่ฟุ้งเลย ว่าง เงียบ นิ่ง

 

การสังเกต การเฝ้าสังเกตเป็นรอบๆ ว่าจิตของเราแตกต่างไปเรื่อยๆ นั่นเอง

จะเริ่มทำให้เกิดความฉลาดแบบพุทธ เกิดความฉลาดทางพุทธขึ้นมา

 

ตอนแรกที่ผมพูด เห็นไหม.. คือมีสมถะ ตั้งต้นขึ้นมาก่อน

รู้เท้ากระทบอย่างเดียว ไม่เอาอะไรอย่างอื่นทั้งสิ้น

พอรู้เท้ากระทบแล้ว จะรู้ทั้งตัวขึ้นมาเอง

จิต พอมีวิตักกะ จะเริ่มเป็นสมาธิ ความฟุ้งซ่านเริ่มเบาบางลง

 

แล้วถ้าหากว่ารอบไหน จังหวะใด เกิดวิจาระ คือจิตเด่นดวงขึ้นมา

รู้สึกว่ามีความเรียบง่ายอยู่ดวงเดียวปรากฏอยู่

แล้วรู้ชัดถึงเท้ากระทบ แปะๆๆ ไป

แล้วตัวทั้งตัวปรากฏเป็นร่างเดิน ไม่มีคนเดิน.. จิตจะเริ่มว่าง เริ่มเบา

 

สมถะ มาถึงตรงนี้

 

แต่วิปัสสนา คือการที่เรามีสติ

เห็นว่าแต่ละรอบ จะว่างไม่เท่ากัน

บางรอบนี่ว่างมาก ว่าง แล้วกว้างด้วย

แต่บางรอบ จะเย็นๆ เฉื่อยๆ

บางรอบ มีความคิดปะปนเข้ามา

บางรอบกลับมาฟุ้งซ่าน เท่าตัวตนแบบเดิมๆ เลย

 

เห็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ นี่แหละ ที่จะเริ่มมีสติ แล้วมีปัญญา

รู้สึกว่าจิตไม่เที่ยง รู้สึกว่าจิตเป็นอะไรอย่างหนึ่ง

ที่ เดี๋ยวว่าง เดี๋ยวฟุ้ง เดี๋ยวกว้าง เดี๋ยวแคบ

 

เห็นอย่างนี้ ในที่สุดแล้ว จะกลายเป็นความรู้สึกแบบพุทธขึ้นมาว่า

นี่ไม่มีคนเดิน มีแต่ร่างที่ก้าวไป

แล้วก็มีแต่จิต ซึ่งเป็นภาวะรู้ เป็นธรรมชาติรู้

แยกเป็นต่างหาก จากภาวะทางกาย

 

รู้อะไร รู้ว่าแต่ละรอบ ภาวะทางใจ การปรุงแต่งทางใจ ไม่เหมือนเดิม

ต่อให้เกิดปีติล้นหลาม แล้วก็มีความว่าง มีความเบา

มีความใสไปได้ครึ่งชั่วโมงต่อเนื่องเลย

ในที่สุดพอพ้นครึ่งชั่วโมง ความว่าง ความเบา ความใสนั้น

ก็แปรเปลี่ยน กลายเป็นขุ่น กลายเป็นมัว

 

พูดง่ายๆ สมาธิเสื่อมลง วิตักกะ กับวิจาระ นี่เสื่อมสภาพลง

กลายเป็นจิตฟุ้งๆ ยุ่งๆ ได้ ไม่แตกต่างจากคนอื่น ไม่ได้มีอะไรพิเศษ

 

เราไม่เคยทำให้ตัวเองสูงส่งขึ้นได้

มีแต่จิต ที่พัฒนาขึ้น เป็นกุศล เป็นมหากุศล แล้วก็กลับเสื่อมลง

 

ตัวนี้นะ พอได้ข้อสรุปอันเป็นปัญญาแบบพุทธว่า

เราเดินไป ไม่มีใครได้อะไร มีแต่ปัญญาแบบพุทธเกิดขึ้น

อุปาทาน ที่มีการร่วมมือกันระหว่างกาย ระหว่างใจ จะสะดุดชะงักลง

ที่หมุนวนไปเป็นวัฏฏะ ว่า มีเรา มีเรา มีเรา จะสะดุด หยุดชะงักลง

กลายเป็นเห็นว่า กายอยู่ส่วนกาย เท้ากระทบอยู่ส่วนเท้ากระทบ

แล้วก็ใจที่รู้อยู่ ก็อยู่ส่วนใจที่รู้อยู่ เป็นต่างหากจากกัน

ต่างคนต่างอยู่ แค่มามีส่วนสัมพันธ์กัน

 

ถ้าหากว่ารู้ไม่ทัน ก็ปรุงแต่งใจให้เกิดความรู้สึกว่า นี่ตัวเรา

นี่.. อย่างตอนนี้ที่เดินๆ ไป จะมีแต่ร่างเบาๆ ที่ปรากฏอยู่ว่า

เป็นก้าวเดิน แปะๆๆ ไป ตามจังหวะของมัน

แต่ใจ เริ่มยึดมั่นถือมั่นน้อยลงว่า เป็นบุคคลที่เดิน

.

เอ้า ลองมาเล่าให้ฟังหน่อย ตามที่พูดไป

พี่ไม่ได้พูดแบบ sync กันทั้งหมดนะ แต่อยากให้ลองเล่าให้ฟังว่า

จากประสบการณ์อย่างเมื่อกี้ ฟังไปด้วย เดินไปด้วย

เกิดความรู้สึกอย่างไรขึ้นมาบ้าง

 

อย่างตอนนี้จะเหมือนกับ มีสองฝั่งนะ

ฝั่งหนึ่งมีความเบา เหมือนไม่มีตัวตน แต่อีกฝั่งก็เป็นตัวเราตัวเดิม

 

ทีนี้ถ้าเราเอาประสบการณ์มาประมวลทั้งหมดเลย เมื่อกี้

เท่าที่จำได้ เท่าที่นึกได้ มีความรู้สึกอย่างไรบ้าง

 

ผู้ร่วมไลฟ์ : ช่วงหลังๆ ตอนที่พี่ตุลย์บอกว่า ตัวจะเบาๆ ใจเบาๆ ว่างๆ

ช่วงหลังๆ ถึงจะรู้สึกว่าตัวเบาขึ้น แล้วก็รู้กาย รู้เท้ากระทบ แปะๆ

แล้วก็เหมือนมีจิตดูอยู่ อย่างที่พี่ตุลย์บอกเลยค่ะ แต่จะเป็นช่วงหลังๆ

 

แล้วที่รู้สึกเบา แล้วเหมือนกับเดินๆ ไป รู้เท้า

แล้วก็เหมือนกับมีตัวเดินอยู่ เหมือนกับเรามองอยู่ว่า

มีตัวเดินอยู่ แล้วก็มีเท้ากระทบค่ะ ที่ช่วงหลังๆ ที่รู้สึก

แล้วเรื่องความคิดจะบาง มีบ้างแต่บาง แล้วใจจะเบาขึ้นค่ะ

 

ดังตฤณ : กำลังจะพูดว่า มีอยู่บางจังหวะที่เรารู้สึกเหมือนกับ

เดินไป ไม่ได้รู้สึกถึงเท้ากระทบชัด แต่ว่ายังมีก้าวเดินอยู่

เรารู้สึกถึงการเดิน แต่ว่าเหมือนกับลอยไป เหมือนกับกายนี้เบา

เบากว่าปกติ .. เบากว่าที่เราจะรู้สึกว่า ตรงนี้เป็นวัตถุที่มีน้ำหนัก

มีมวลที่ถูกแรงดึงดูดโลกกระทำ เหมือนเบาไป

 

ตรงนี้ ก็คือเกิดขึ้นจากการที่ กล้ามเนื้อผ่อนคลายทั่วตัว

แล้วก็จิตเริ่มตั้งเป็นสมาธิขึ้นมา มีวิตักกะ

แล้วก็เกือบๆ จะมีวิจาระ ที่เกิดขึ้นมานะ

 

ตัววิจาระนี่จำไว้ เวลาที่เกิดขึ้น เอาง่ายๆ เลย คือ

เราจะรู้สึกเหมือนกับว่า จิตเหลืออยู่หนึ่งเดียว เหลืออยู่ซีกเดียว

 

ปกติ คนนะ เวลาฟุ้งซ่าน

จะมีความรู้สึกเหมือนจิตแตกเป็นเสี่ยงๆ แยกเป็นหลายซีก

แต่พอเริ่มมี วิตักกะ จิตจะเหลืออยู่ซีกเดียว

หนึ่งเดียว ง่ายๆ เรียบง่าย ไม่มีอะไรอย่างอื่นเจือปน

ตรงนั้น ถ้าเรารู้สึกไปนานพอ ก็คือเกิดสมาธินั่นเอง

 

พอเกิดสมาธิแล้วเป็นอย่างไร .. กายจะเบา เหมือนกับไม่มีอะไรเลย

เหมือนไม่มีน้ำหนัก ไม่มีมวล ที่ก้าวไป

มีสักแต่ว่าเป็นกิริยาก้าวไป ไม่มีผู้ก้าวไป ไม่มีผู้ที่กำลังเดินอยู่นะ

 

ตัวบุคคลจะละลายหายไป เหลือจิตที่มีอยู่เสี่ยงเดียว

มีอยู่ซีกเดียว มีอยู่ดวงเดียว ปรากฏเด่นอยู่

 

ทีนี้ พอเราเริ่มเป็นสมาธิถึงจุดนั้น เราจะพบว่า

พอสังเกตต่อไป จะเดินไป ครึ่งชั่วโมงก็ตาม หนึ่งชั่วโมงก็ตาม

หรือต่อให้น้อยแค่สิบห้านาที แต่เราจะเห็นชัดว่า

จิตที่เด่นดวงอยู่อย่างนั้น เดินไปเรียบๆ ง่ายๆ อยู่อย่างนั้น

 มีความไม่เหมือนเดิม แปรเปลี่ยนไปเรื่อยๆ

จะมีความรู้สึกว่า บุคคลเดินนี่หายไป มีแต่จิตเดิน มีแต่จิตที่มีอาการเดินไป

 

คือร่างกาย ถ้าถูกสั่งให้เลิกเดิน จะไม่มีสิทธิขัดขืนเลย

เพราะจิตยังมีอาการเดินอยู่ กายถึงยังเคลื่อนที่ไปได้

ตรงนี้จะเริ่มเข้าใจธรรมชาติภายในมากขึ้นแล้วว่า

จิตเป็นนาย กายเป็นบ่าว

 

ตราบเท่าที่จิตยังมีอาการเดิน

ตราบนั้น กายก็ยังก้าวไป

 

แต่ถ้าจิตสั่งให้ บอก .. หยุด

อย่างเมื่อกี้ที่เรียกมา บอกว่ามาคุยกันหน่อย

ภาวะที่กายเดินเป็นอัตโนมัติ ก็หายไป

กลายมาเป็นตัวตนของคุณ มีความรู้สึกแบบคุณ

กลับมานั่งคุยกันใหม่

 

ซึ่งตรงนี้ คนเดินจงกรมไปเป็นชั่วโมงๆ ทุกวันได้

จะเห็นภาวะที่ปฏิรูปไป ที่เปลี่ยนไป ที่แปรไป เห็นได้แบบนี้เลย

 

ตอนที่เดินจงกรมอยู่ในทางจงกรม แล้วแน่วอยู่ในสมาธิ

จะเหมือนกับจิตมีอาการเดิน เดินไป

เดินไปเดินกลับ เดินไปเดินกลับ ไม่มีบุคคลเป็นผู้เดิน

 

แต่เมื่อไหร่ที่จิตมีความปรุงแต่งให้หยุดเดิน หรือว่าให้ไปทำอย่างอื่น

ก็จะเริ่มมีบุคคลขึ้นมา จะเริ่มมีมโนภาพตัวตนขึ้นมา

 

อย่างตอนที่ พี่บอกว่า เอ้า มานั่งคุยกัน .. ก็จะมีมโนภาพที่แปรไป

เหมือนกับมีใครคนหนึ่ง กลับเข้ามาสวมในร่าง

 

เดิม ตอนเดินจงกรมอยู่บางรอบ จะเหมือนกับว่า ข้างในกลวงๆ

แล้วไม่มีตัวอะไรเป็นผู้เดินอยู่ ไม่มีบุคคลเป็นผู้เดิน

แต่พอผมบอกว่า เอ้า มานั่งคุยกันตรงนี้ .. ตัวคุณจะคล้ายๆ กับว่า

วิญญาณของคุณกลับเข้ามาสวมร่างเดิม

 

ตรงนี้ อยากให้คุณเล่าให้ฟังตบท้ายนิดหนึ่ง

 

ผู้ร่วมไลฟ์ : อย่างที่พี่ตุลย์บอกค่ะ

พอเราเดินไปเรื่อยๆ จะไม่รู้สึกถึงน้ำหนักตัว

ยังรู้สึกนะคะ แต่เบาขึ้น .. เพราะปกติที่เดินเองมาก่อนจะไม่ได้มาถึงจุดนี้

แต่วันนี้ที่เดินให้เพื่อนๆ ดู จะรู้สึกเหมือนเบาๆ

ไม่รู้สึกเป็นวัตถุแล้วค่ะ ช่วงหลังๆ นะคะ

 

แล้วก็ช่วงแรกๆ

ตอนแรก กำลังจะบอกว่า พอเอามือไพล่หลังแล้วจะเมื่อยค่ะ ช่วงแรก

แต่พอไปถึงจุดที่กายเบาๆ จะลืมความรู้สึกว่าเมื่อยไปเลยค่ะ

จะไม่รู้สึกแล้ว เหมือนกับว่าจิตเดินอยู่อย่างที่พี่ตุลย์พูดค่ะ

 

ดังตฤณ : มีคำถามอะไรไหม

 

ผู้ร่วมไลฟ์ : แล้วอย่างเรื่องลมหายใจ ไม่ต้องไปพะวงใช่ไหมคะ

จะรู้ขึ้นมาเองใช่ไหมคะ ถ้าเรารู้ทั้งตัว จะรู้ลมขึ้นมาด้วยของมันเองใช่ไหมคะ

 

ดังตฤณ : สำหรับการเดินจงกรมนะ จับจุดให้ถูก

จะไม่เหมือนการนั่งสมาธิ แต่เป็นการเคลื่อนไหว

 

การหลับตาทำสมาธิ เป็นการตัดความรับรู้

มาเหลือลมหายใจกับมือไกด์อย่างเดียว ไม่ต้องไปชิงพื้นที่กับสายตา

 

แล้วถ้าเราอยู่ในที่สงบของเราได้ ก็ไม่ต้องไปเอาหู แกว่งไปหาเสียง

หรือว่าเปิดให้เสียงมากระทบ

 

นี่คือ ข้อได้เปรียบที่ดีของการนั่งสมาธิ

ซึ่งถ้ามองว่าตรงที่เราปิดอายตนะต่างๆ มารู้ลมหายใจ

มารู้มือไกด์ได้อย่างเดียว เป็นเหตุใกล้เหนี่ยวนำให้เกิดสมาธิได้ง่าย

แต่ขณะเดียวกัน ก็จะทำให้หลงเพลินได้ง่ายเช่นกัน

 

หลงอยู่ในอาการที่ สงบดี ไม่มีอะไรต้องมาต่อสู้

ไม่มีอะไรต้องมาตีรันฟันแทงกัน กับความฟุ้งซ่าน

หรือว่าสิ่งภายนอกที่จะมากระทบแยกพื้นที่ นี่คือข้อดีของการนั่งนิ่ง

 

ข้อเสียของการนั่งนิ่งก็คือว่า พอเราลุกเดินปุ๊บ .. สติหายเลย

กลายเป็นบุคคล กลายเป็นตัวตน

กลายเป็นความฟุ้งซ่าน ที่ถาโถมเข้ามาไม่มีที่สิ้นสุด

 

แต่ถ้าเราเดินจงกรมเป็น จะเป็นการต่อยอด

จากสติในท่านิ่ง กลายเป็นสติในความเคลื่อนไหว

ซึ่งถ้าเราเดินได้ถูกต้อง ทุกอย่างจะมาเอง

 

ตรงที่ก่อนที่ทุกอย่างจะมาเอง ตรงนั้น

เราต้องทำความเข้าใจก่อนว่า จิตของเราต้องมีวิตักกะ ที่ดี

แล้วจิตจะมีวิตักกะที่ดีได้ ก็คือเราสนใจอะไรอย่างเดียว

อย่าไปให้มีการชิงกันเอง ขัดแข้งขัดขากันเอง

 

คือถ้าเรารู้เท้ากระทบไปด้วย แล้วรู้ลมหายใจไปด้วย

ไม่รู้วิตักกะ ไม่รู้จะเอาตรงไหนมาเป็นที่ตั้ง

 

แต่ถ้าเรารู้เท้ากระทบไปอย่างเดียว

แล้วเกิดความรับรู้ ที่เท้ากระทบอย่างเดียว

อย่างนั้น จะชัวร์ได้ว่า วิตักกะ เกิดขึ้นแน่ๆ โดยมีมาตรวัดชัดเจน

 

ถ้าเท้ากระทบอยู่ในใจ นั่นคือมีวิตักกะ

แต่ถ้าเท้ากระทบหายไปจากใจ นั่นคือฟุ้งซ่าน

วอกแวกไปทางอื่น เสียโฟกัสไปทางอื่น

 

ทีนี้ วิตักกะ มีทั้ง วิตักกะแบบอ่อนๆ กับ วิตักกะ ที่แข็งแรงแล้ว

 

วิตักกะที่อ่อนแอ ก็คือเรารู้เท้ากระทบแปะๆๆ ไป

เสร็จแล้วมีอะไรมากระทบ เราวอกแวกไปทันที อันนี้คือวิตักกะที่อ่อนแอ

 

แต่วิตักกะที่เข้มแข็ง วิตักกะที่แข็งแรงแล้ว

จะรู้สึกถึงเท้ากระทบ ด้วยความมีทิศทางไปในทางที่

จะปรุงแต่งจิตให้เกิดความเป็นหนึ่ง มีความนิ่ง เป็นหนึ่งขึ้นมา

จากที่จิตสามารถแตกแยกได้เป็นหลายซีก จะเหลือซีกเดียว เหลือดวงเดียว

 

ตอนที่จิตลงเป็นดวงเดียว นั่นแหละ วิจาระเริ่มเกิดขึ้น

 

วิจาระเกิดขึ้นแล้วอย่างไร

รายละเอียดที่ร่างกายเท่าที่มี ปรากฏหมดเลย ว่า

แม้กระทั่งอาการเหลียว แม้กระทั่งอาการที่เรากลับตัว ที่หมุนตัว

สมองในส่วนที่รับรู้ทิศทาง รับรู้ที่ตั้งของกาย จะทำงานแบบเต็มที่

จะรู้หมดเลยว่า ร่างกายไปถึงไหน หมุนไปอย่างไร เดินตรงไปอย่างไร

 

จะรู้ชัด ละเอียดว่า นี่กายส่วนของกาย

ส่วนของรูปธรรมนี่ ปรากฏอยู่ในท่าเดินแบบนี้

แล้วในท่าเดินแบบนี้ มีลมหายใจ ปรากฏเข้า ปรากฏออกอย่างไร

จะรู้ครบหมดเลย รู้เอง

นี่เป็นสิ่งที่จะได้จากวิตักกะ และวิจาระ ที่

มีความเข้มแข็ง มีความแข็งแรงแล้ว

 

สรุปก็คือ ขึ้นต้นมาขอให้ได้วิตักกะดีๆ เถอะ

มีเท้ากระทบอยู่ในใจดีๆ เถอะ

ในที่สุด พอจิตรวมลง มีวิจาระ เกิดขึ้น

ใจไม่ไปไหน มีแต่ความรู้สึกถึงเท้ากระทบ

แล้วก็จิตที่ฟุ้งซ่านบ้าง สงบบ้าง รายละเอียดทั้งหมดจะมาเอง

 

ผู้ร่วมไลฟ์ : อย่างนั่งสมาธิ กับเดินจงกรม ก็คือให้ทำอย่างนี้ต่อไปได้เรื่อยๆ เหมือนที่ทำมาปกติใช่ไหมคะ

 

ดังตฤณ : อย่างวันนี้ เท่าที่เราเข้าใจตามที่พี่พูดนี่ เท่าที่เราทำได้

เมื่อไปทำซ้ำ แล้วเกิดผลแบบนี้

 

วิตักกะ เกิดขึ้น เร็วขึ้นๆ โดยไม่เร่ง

โดยไม่ไปคาดหวัง โดยไม่ไปพยายามปรุงแต่งให้มีอะไรขึ้นมาดังใจนี่

รู้เท่าที่จะรู้ได้ไปเรื่อยๆ นี่ ในที่สุดจะเกิดความก้าวหน้าตามที่บอก

 

วันนี้ที่เริ่มต้นขึ้นมา คุณเดินจงกรมก็ดีเลย

เพราะถือโอกาส เรามาเจาะรายละเอียดกัน เกี่ยวกับเรื่องการเดินจงกรมนะ

เพราะว่าที่ผ่านมา เราเอาแต่ท่ามือไกด์นะครับ

 

แต่จริงๆ แล้ว อย่างเวลาที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสในสามัญญผลสูตร

คือพูดง่ายๆ ว่า การปฏิบัติเป็นสามัญ

การปฏิบัติเป็นปกติของผู้ปฏิบัติ ในพุทธศาสนา ทำอย่างไรกัน

 

ถ้าหากเรามีเวลา ถ้าหากว่าเรามีสถานที่ ก็คือนั่งและเดินโดยมาก

 

นั่ง ก็คือนั่งสมาธิ เดิน ก็คือเดินจงกรมกลับไปกลับมา

พระองค์ตรัสอย่างนี้ ในการปฏิบัติเป็นปกติ

ในการปฏิบัติเป็นสามัญของแบบพุทธ

 

จะหมายความว่า นั่งอย่างเดียว อาจไม่เพียงพอ มาได้แค่ครึ่งเดียว

แต่ถ้าทั้งนั่ง ทั้งเดิน สลับไปสลับมา อย่างนี้

ในที่สุด จิตจะลงแน่ๆ ถ้าถูกทิศถูกทาง

 

จิตจะลงอย่างไร? ลงมารวมเป็นสมาธิ

รับรู้ว่า กายนี้ใจนี้ ไม่มีอะไรเลย ที่เที่ยง

ไม่มีอะไรเลยที่เราควรถือเอาว่าเป็นสมบัติของเรา

 

จะรู้สึกออกมาจากข้างในอย่างลึกซึ้งมาก

ออกมาจากจิตที่เต็มๆ ดวง

การเป็นสมาธิ .. จิต นี่ การเป็นสมาธิ ประโยชน์ของมันคือ

เวลาที่เรารู้ จะรู้สึก รู้ออกมาจากจิตเต็มๆ ดวงว่า

กายนี้ใจนี้ ไม่มีอะไรเลย ไม่เคยมีใครอยู่ในนี้เลย

 

เวลาที่รู้ จะรู้ออกมาชัดๆ เวลาที่เรามีจิตเป็นปกติ คิดๆ

เวลาพูด เวลาคุยกันอยู่ จะมีตัวเรา มีโมหะครอบ

มีความรู้สึกในเรา เหมือนปกติ

 

ต่อเมื่อเรามีความชิน มีความชำนาญ

มีความเป็นวสี ที่จะเข้าออกสมาธิได้รวดเร็ว

คือไม่ใช่ด้วยความคาดหวัง แต่ด้วยความชำนาญ

ด้วยความที่ปฏิบัติซ้ำๆ จนชิน จนแข็งแรง

 

ตรงนี้ พอเราเปลี่ยนโหมดปุ๊บ จิตจะกลายไปเป็นอีกแบบหนึ่งเลย

จากมีตัวตนแน่ๆ กลายเป็นรู้สึกว่า ไม่มีตัวเราอยู่แน่ๆ

 

ตัวนี้ที่เป็นเครื่องวัดว่าเรากำลังอยู่ในทิศทางที่ใช่

แล้วก็กำลังปฏิบัติได้ผลเจริญขึ้นเรื่อยๆ อนุโมทนานะ

_________________

วิปัสสนานุบาล EP3 : คุณดังตฤณโค้ชการเดินจงกรม

วันที่ ๑๐ พ.ย. ๒๕๖๔

ถอดคำ/เรียบเรียง : เอ้

รับชมคลิป: https://www.youtube.com/watch?v=42Pyq6O7CQU

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น