วันพฤหัสบดีที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

06 ตัวอย่าง ท่านที่ ๑ ทำสมาธิ โดยใช้มือไกด์

ดังตฤณ : ลองเลยครับ คุณอยู่ในห้องวิปัสสนานุบาลอยู่แล้ว ก็คงจะเข้าใจได้ง่ายๆ นะ ลองทำเลย แล้วเดี๋ยวผมจะโค้ชให้สดๆ ทำไปเลยครับ

 

(ผู้ร่วมไลฟ์ ภาวนาโดยใช้ฝ่ามือไกด์ลมท่าที่ 1)

 

ดูนะ ในนาทีแรก พอเราสามารถลากมือช้าๆ แล้วก็รู้สึกถึงลมหายใจได้ชัด .. คุณช่วยเป็นหุ่นต่อไปเลยนะ ทำต่อไปเลยนะครับ เดี๋ยวผมจะบรรยายให้ทุกคนได้ทราบตาม ว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง

 

เห็นไหม ในนาทีแรก จะสำคัญมาก คือพอเราสามารถที่จะลากมือช้า แล้วก็รู้ลมชัดได้นี่ เกิดวิตักกะตั้งแต่นาทีแรกเลยนะ แล้วความเป็นจิต ก็จะมีความใส มีความเบา มีความรู้สึกว่าไม่ต้องไปคิดฟุ้งซ่านก็ได้ ไม่ต้องไปหยิบจับ หรือว่ากระโดดไปหาอะไรอย่างอื่นก็ได้ เพราะมีความรู้สึกพอใจที่จะอยู่กับการลากมือช้า แล้วก็การรู้ลมชัด

 

เราสามารถเห็นได้ด้วยตาเปล่านะว่า ถ้าหากใจไม่ไปไหน รู้สึกถึงลมหายใจได้ช้าๆ ชัดๆ แล้วก็ร่างกายผ่อนคลาย ใจจะสว่างเรื่อยๆ คุณลองดูง่ายๆ เลย ดูแบบอย่าไปเพ่งจุดใดจุดหนึ่ง ดูทั้งภาพนี่

 

จากเดิม จุดเริ่มต้นคุณจะรู้สึกว่ามีความเบา มีความสว่างแค่ไหนก็ตาม แต่ถึงตอนนี้ผ่านไปนาทีเศษๆ หรือ สองนาทีก็ไม่รู้ ลองใช้ความรู้สึก .. มันจะสว่าง จะเบา จะมีความพร้อมรู้มากขึ้นเรื่อยๆ นี่คือลักษณะของคุณภาพจิต ที่จุดชนวนสมาธิได้ถูกต้อง คือมีความรู้ลมหายใจแบบที่เรียกว่า วิตักกะ

 

ปกติ คนเราจะทำความรู้สึกถึงลมหายใจ ด้วยอาการที่เร่ง อยากจะสงบอยากจะเลิกฟุ้งซ่าน อยากจะรู้ลมหายใจให้ได้ชัดๆ แล้วก็เกร็งเนื้อเกร็งตัวเหมือนกับเกร็งกำลังภายใน เพื่อที่จะให้ได้รู้ลมชัดๆ

 

แต่พอเราใช้มือช่วยไกด์ ลากมือช้า แล้วก็รู้ลมชัด สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่ความพยายาม ไม่ใช่การดึงดันจะเอาให้ได้ ไม่ใช่การพยายามไปรีด รีดจิตให้เรียบ ไม่ใช่การที่เราพยายามเอาพัดลมตัวใหญ่ๆ ไปปัดเป่าไล่ความฟุ้งซ่านออกจากหัว

 

แต่เป็นการที่ เราทำความรู้สึกถึงลมหายใจ โดยอาศัยมือที่เคลื่อนช้าๆ มาเป็นตัวกำกับ ยิ่งทำ ก็จะยิ่งมีความรู้สึกถึงลมหายใจนะ

 

เอาล่ะ มาคุยกันหน่อย เนื่องจากว่าเป็นตุ๊กตาตัวแรก (ผู้ทดลองไลฟ์คนแรก) นะ มาอยู่ในไลฟ์ ใจจะนึกถึงสิ่งแวดล้อมที่เรากำลังไลฟ์อยู่ด้วย ใจจะไม่ได้อยู่กับลมหายใจเต็มๆ แบบที่คุณทำอยู่คนเดียว

 

แต่อย่างไรก็ตาม จะรู้สึกถึงลมหายใจช้า แล้วก็ชัดได้ตั้งแต่นาทีแรก ทีนี้พอทำๆ ไป อาจไม่เหมือนกับเรานั่งทำอยู่คนเดียวที่บ้านตามลำพังนะ เพราะว่าเราอยู่ท่ามกลางสิ่งแวดล้อม

 

แต่อย่างน้อยที่สุด นาทีแรกแสดงให้เห็นว่า หากเรามีวิตักกะที่ถูกต้อง หากเราลากมือช้า แล้วก็รู้ลมชัด สิ่งที่เกิดขึ้น .. อย่างตอนนี้ ลองช่วยบรรยายความรู้สึก ณ ขณะนี้หน่อย

 

ผู้ร่วมไลฟ์ : ใจก็สบายครับ ไม่ค่อยคิดเรื่องอื่น ตอนที่ทำก็พยายาม รู้สึกว่าลมเข้าออกช้าๆ แต่ก็ดีขึ้นครับ

 

ดังตฤณ : ดีขึ้นเรื่อยๆ ใช่ไหม พอยิ่งนานไป ก็จะยิ่งเกิดความรู้สึกถึงความชัดของร่างกาย ที่เป็นที่ตั้งของลมหายใจนะ ได้ทำท่าที่สองบ้างหรือเปล่า

 

ผู้ร่วมไลฟ์ : เพิ่งเริ่มทำครั้ง สองครั้งครับ

 

ดังตฤณ : ท่าแรกเหมือนจะทำเป็นประจำนะ อยากให้ลองทำท่าที่สอง ให้ดูนิดหนึ่ง เดี๋ยวผมจะช่วยด้วยโค้ชไว้ให้เลย ว่าทำถูกหรือไม่ถูกอย่างไรนะ

 

เอาแบบที่สบายๆ คือไม่ต้องกังวลว่าผิดหรือถูก เอาที่คุณทำได้เลย

 

(ผู้ร่วมไลฟ์ ทำสมาธิโดยใช้ฝ่ามือไกด์ท่าที่ 2)

 

สำหรับท่าสอง ส่วนที่สำคัญคือการกางแขนออกจนสุด

 

ถ้าเรากางแขนได้สุด คือถ้าหากว่าเราลากขึ้นมานึกถึงท้อง แล้วรู้สึกว่าท้องป่องขึ้นแค่นิดเดียวนี่ ใช้ได้แล้วนะ

 

พอลากมาจนถึงระดับอก แล้วคลายออก แล้วเหมือนกับกวาดเอาลมหายใจและความรู้สึกว่างๆ กางออกจนสุด ทำความเข้าใจว่าการกางออกจนสุดนี่ มีความสำคัญตรงที่ปรุงแต่ง ให้กับสภาพกายสภาพใจของเรารู้สึกถึงความสดชื่น

 

คุณนึกออกไหม เวลาที่เราไปยืนยอดเขาแล้วรู้สึกสดชื่นจัง ก็จะกางแขนออกสุดโดยธรรมชาติ แล้วก็มีความรู้สึกสบาย มีความรู้สึกดีจัง .. ตรงดีจังนี่ จะกางออกสุด แล้วพอเราเอาขึ้น ก็จะรู้สึกว่าลมหายใจลงไปถึงปอดเต็มที่

 

ตรงนี้แหละที่จะบันดาลให้เกิดปีติ และสุข ซึ่งเป็นองค์ฌานข้อที่สามกับข้อที่สี่ ต่อเนื่องกับวิตักกะ และ วิจาระ

 

คุณลองทำดู เพราะจิตแบบนี้นะจะเกิดปิติได้ง่าย จะมีความเบา แล้วมีความพร้อมรับการปรุงแต่งของกายและจิต ในแบบที่จะทำให้เกิดปีติสุขได้ไม่ยากนะครับ ลองไปฝึกดูแล้วก็ช่วยส่งมาในห้องของคุณ (หมายเหตุ: โพสต์ส่งการบ้าน ในห้องวิปัสสนานุบาล) นะ

___________________

รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน อานาปานสติโดยใช้มือไกด์

ช่วง ไลฟ์สด สอนการทำอานาปานสติโดยใช้มือไกด์ ท่านที่ 1

วันที่ 30 ตุลาคม 2564

ถอดคำ : เอ้

รับชมคลิป: https://www.youtube.com/watch?v=qK7svappjIU

 

 

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น