วันพฤหัสบดีที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

01 อานาปานสติโดยใช้มือไกด์ : เกริ่นนำ

ดังตฤณ : สวัสดีครับทุกท่าน ก็เป็นรายการปฏิบัติธรรมที่บ้านนะ แต่คืนนี้เรามาทดลองนะครับ

 

สืบเนื่องมาจากตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้ว ได้ตั้งห้องวิปัสสนานุบาลขึ้นมา คืนนี้ก็เลยจะมาทดลอง ถือเป็นการทดลองรวมกัน ก็ยังไม่รู้เหมือนกันว่าจะออกหัวออกก้อยอย่างไร

 

นั่นก็คือว่าเราจะมาไลฟ์ด้วยกันที่ตรงนี้ จะให้เห็นหน้าตากันเหมือนกับที่อยู่ในห้องวิปัสสนานุบาล เพียงแต่ว่าในรายการนี้เราจะมาคุยกันสดๆ นะครับ มาดูว่าแต่ละคนได้ปฏิบัติ นั่งสมาธิกันอย่างไร

 

หรือถ้าใครคุ้นกับเวทีไลฟ์ตรงนี้แล้ว อาจจะเดินจงกรมให้ดูด้วยก็ได้

 

คือหลังจากที่ได้อยู่ในห้องวิปัสสนานุบาลมา ผมพบว่าสิ่งที่นักเจริญสติขาดไปเวลาทำสมาธิ อันดับแรกสุดก็คือ จุดมุ่งหมายที่ถูกต้องของการทำสมาธิแบบอานาปานสติ

 

คือพวกเราจะเหมือนหันรีหันขวาง แล้วก็รอปักใจเลือกเชื่ออะไรกันก็ไม่รู้ พอทำสมาธิไป แค่รู้สึกถึงลมหายใจบ้าง หรือว่าคำบริกรรมบ้าง หรือมาเถียงกันว่าแบบไหนถูกแบบไหนผิด โดยที่ก็ไม่รู้หลักการที่แท้จริง ว่าพระพุทธเจ้าท่านตรัสเกี่ยวกับอานาปานสติไว้อย่างไร

 

แล้วพอพยายามไปศึกษา ก็ดูเหมือนยากเกินเอื้อม เพราะว่าอ่านแล้วไม่รู้เรื่อง

 

จริงๆ แล้ว คำสอนหรือว่าขั้นตอน ที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้เกี่ยวกับอานาปานาสตินี่ เป็นขั้นเป็นตอนมากเลยนะ ถ้าใครทำตามเป็นขั้นๆ เป๊ะๆ แล้วก็จำขึ้นใจได้ว่าท่านสอนอะไรไป ก็จะไม่ยาก

 

อย่างขึ้นต้นมา ท่านให้รู้ว่ากำลังหายใจออก หรือว่าหายใจเข้าอยู่

 

แค่หายใจออกหรือหายใจเข้าอยู่นี่ นั่นเป็นจุดเริ่มต้นที่เราจะได้ชื่อว่า ทำอานาปานสติแล้ว

 

แต่ทีนี้ ยังมีอะไรอีกมากมายที่มาก่อนหน้านั้น อย่างเช่นว่าก่อนทำอานาปานสติ ก่อนเจริญสติปัฎฐาน 4 นี่ พระพุทธเจ้าท่านให้ถือศีลให้สะอาดก่อน มีสูตรที่พระองค์สอนพระนวกะ หรือว่าพระที่กำลังจะไปปฏิบัตินี่ชัดเจนนะครับ ไม่ใช่อยู่ๆ มาก็ทำได้เลย

 

บางที เราอาจจะข้ามขั้นนี้ไปโดยที่ไม่รู้ตัว และพอจิตเรายังไม่สะอาดพอ มาเจริญอานาปานสติ อาจจะเห็นลมหายใจ แต่ว่าใจจะรกรุงรัง บางที .. เอาตรงๆ คือ .. จะมีอะไรเป็นมลทิน เกินกว่าที่จะรู้ลมหายใจได้ตามจริง แล้วก็เป็นสมาธิได้

 

อันนี้คือตัวอย่างว่าเรา .. พอไม่เข้าใจอานาปานสติ บางทีเราปฏิบัติไม่ถูกตั้งแต่เริ่มต้นเลย ก่อนที่จะมานั่งสมาธิเสียอีก

 

และสิ่งที่สำคัญยิ่งกว่าอะไรอื่นก็คือ ในใจเรามีเป้าหมายอยู่จริงๆ ไหมว่าเจริญอานาปานสติไป หรือว่าทำสมาธิไป เพื่อให้ได้อะไรขึ้นมา

 

เป้าหมายที่ถูก ก็คือว่าเรานั่งสมาธิ เพื่อให้จิตมีกำลัง มีความตื่นรู้เพียงพอที่จะเห็นกายใจนี้แบบแยกรูปแยกนามได้

 

อันนี้ จะไม่มีการพูดถึงกันในแวดวงปฏิบัติ ในพวกเรานะ ก็เลยเหมือนกับนั่งสมาธิไป ใจไม่ได้มีสิ่งที่เล็งไปอย่างชัดเจน คือเล็งแค่ว่าฉันจะสงบ

 

บางทีก็บริกรรม บางทีก็ดูลมหายใจ บางทีก็ใช้อุบายที่ตัวเองคิดว่าน่าจะจับต้องได้สำหรับตัวเองนะ แล้วก็รู้สึกว่า โอเค!อันนี้เวิร์คแล้ว

 

นั่นคือการทำสมาธิแบบโลกๆ เป็นการทำสมาธิในแบบที่จะให้จิตใสใจเย็น หรือว่ามีความสงบระงับจากความฟุ้งซ่าน หรือถ้าหากว่าเอากันตามหลักของคนที่พยายามจะพัฒนาจิตใจ นั่งสมาธิไปเพื่อให้เกิดการเคลียร์สมอง เกิดการหลั่งสารดีๆ อะไรขึ้นมา

 

ทีนี้ ถ้าหากว่าเราเริ่มต้นมาว่า มีความเข้าใจที่ถูกต้อง ตั้งเป้าไว้ถูก ว่าเราจะมีสมาธิไป เพื่อที่จะให้จิตมีความตื่น มีความเต็ม มีสติเพียงพอจะมารู้กายใจโดยความเป็นของไม่เที่ยงได้ นี่.. อันนี้ทุกอย่างจะต่างไปนะ เพราะว่า ถัดจากตรงนั้นก็คือดูอย่างไร ให้เหมือนที่พระพุทธเจ้าท่านประสงค์จะให้ดู

 

คือไม่ใช่แค่จิตตื่น จิตสว่างขึ้นมา แล้วทุกอย่างเป็นอัตโนมัติ ไม่ใช่นะ

 

เพราะว่าเราดั้นด้น วนเวียนกันมาในสังสารวัฏเป็นอนันตชาติ แล้วไม่สามารถหาทางออกเจอ นี่.. ยากที่ตรงนี้

 

ต่อให้มีสมาธิ ต่อให้เป็นฤาษีที่ได้ฌานสมาบัติ ได้อรูปฌาน ก็ไม่รู้จะเอาสมาธิมาใช้ดูกายใจนี้ ให้เหมือนกับไขประตูทางออกจากการวนเวียน เวียนว่ายตายเกิดได้อย่างไร

 

ตามหลักที่พระพุทธเจ้าท่านแจกแจงไว้ในอานาปานสติสูตร

ถ้าทำมาตามลำดับยกตัวอย่างเช่น

รู้ว่าหายใจเข้าอยู่ หายใจออกอยู่

รู้ว่าหายใจยาวรู้ว่าหายใจสั้นไม่เที่ยง

จนกระทั่งจิตออกมาเป็นผู้รู้ผู้ดู

 

ตรงนั้น ถ้าหากว่าเกิดความสงบทางกาย กายสังขารระงับ

ที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่ากายระงับไม่กวัดแกว่ง จะเกิดปีติ

 

และถ้าหากว่าทำตามอานาปานสติสูตร คือว่า

หายใจเข้า รู้ว่ามีความสุข หายใจออกรู้ว่ามีความสุข

หายใจเข้า รู้ว่ามีปีติ หายใจออกรู้ว่ามีปีติ

 

ถ้ารู้โดยความเป็นขั้นเป็นตอนตามอานาปานสติแบบนี้ จิตจะเริ่มแยก แยกออกว่า กายนี่ชั้นหนึ่ง ลมหายใจชั้นหนึ่ง แล้วความรู้สึกเป็นสุข หรือว่ามีปีติ มีปราโมทย์ มีความสบายอะไรขึ้นมานี่ ก็แยกเป็นอีกชั้นหนึ่ง

 

ตรงนี้ พระพุทธเจ้าไม่ได้ตรัสไว้ในอานาปานสติสูตรว่า จะเกิดการแยก แยกรูป แยกนาม แต่ถ้าปฏิบัติตามมาเป็นขั้นเป็นตอน ไม่ลืม มีจุดประสงค์ มีเป้าหมายว่าจิตของเราจะมีสติเต็มขึ้นมา แล้วก็รู้กายใจตามขั้นตามตอนอานาปานาสติ ก็จะเกิดการแยกรูปแยกนามขึ้นมาได้ โดยไม่ต้องใช้ความพยายาม หรือบางทีอาจจะไม่ต้องฟังใครมาก่อนเลยก็ได้ว่า ปฏิบัติอานาปานสติถูกทางแล้ว ควรจะเกิดการแยกรูปแยกนาม

 

นี่ก็เป็นเหมือนกับว่า ถ้าคุณเข้าใจจริงๆ เข้าใจมาด้วยกันว่า เราปฏิบัติอานาปานสติ เพื่อจุดประสงค์นี้ เพื่อให้รู้ว่าพระพุทธเจ้าท่านอยากให้เห็นอะไร ท่านมีพระประสงค์จะให้เราได้รู้กายใจ ด้วยความเป็นอย่างไร

 

พอเข้าใจถูกอย่างนี้รวมกันแล้ว อันดับต่อไปก็คือเข้าใจว่า ทำไมผมถึงอยากให้ใช้มือไกด์

 

ไม่ใช่อยู่ๆ จะมีลัทธิใหม่ หรือว่าแนวทางพิเศษอะไร ที่เหมือนกับจะแปลกแยกแตกต่างจากอานาปานสติสูตรที่พระพุทธเจ้าท่านประทานไว้นะ

 

แต่เป็นไปเพื่อให้คนส่วนใหญ่ ซึ่งผมพบความจริง อยู่ตรงนี้มา 30 กว่าปีนี่พบความจริงว่าคนส่วนใหญ่เกินกว่า 95% .. ใช้ตัวเลขแบบมั่วๆ นะ เกินกว่า 95% นี่ไม่สามารถตามลมได้ถูก

 

ทีนี้ก็ พูดจริงๆ ก็คือ เพิ่งมาคิดได้ว่าทำไมไม่ใช้มือไกด์ เพราะการใช้มือไกด์นี่ก็คือ การที่อาศัยรูปธรรมที่จับต้องได้ เป็นรูปเป็นร่างชัด บอกให้สติของเราทราบว่าลมหายใจไปถึงไหนแล้ว

 

อานาปานสติหรือสติปัฏฐาน 4 นี่เป็นหลักการ

ส่วนมือไกด์ เป็นเครื่องทุ่นแรง

 

แล้วสำหรับคนที่อยู่ในห้องวิปัสสนานุบาล ก็น่าจะเห็นข้อดีตรงนี้ของการใช้มือไกด์ทั่วกันแล้วนะครับ

 

การใช้มือไกด์นี่ ไม่ใช่ว่าฝั่งคุณจะเกิดวิตักกะได้ง่ายอย่างเดียวนะ ฝั่งผมเองจะได้ช่วยโค้ชได้ง่ายด้วย ไม่ต้องออกแรงมาก เพราะสามารถเห็นได้ด้วยตาเปล่าเลยนะครับว่าเกิดอะไรขึ้น และพวกคุณกันเอง เวลาที่ดูของคนอื่นแล้วมาเทียบกับคลิปของตัวเอง ซึ่งคนส่วนใหญ่ ร้อยทั้งร้อย จะไม่เคยอัดคลิป ไม่เคยบันทึก ท่าทางของตัวเองในขณะทำสมาธิไว้ดู ก็จะไม่เข้าใจ ว่าเกิดอะไรขึ้นกับตัวเองบ้าง

 

แต่ทีนี้พอมาบันทึกคลิปไว้ดูเปรียบเทียบ ทั้งกับของตัวเองและคนอื่น โดยอาศัยฟอร์แมตเดียวกัน รูปแบบเดียวกัน ที่มาใช้มือไกด์นี่

 

จะเริ่มเข้าใจ จะเริ่มเห็นว่า ที่เราทำๆ กันอยู่นี่

 

นับตั้งแต่นาทีแรกๆ ก็มีความสำคัญมาก คือถ้าหากว่าเราทำไม่ถูกนี่ โอกาสที่นาทีต่อๆไปจะถูก ก็น้อยลงเรื่อยๆ โอกาสที่จะผิดสูง แต่โอกาสที่จะถูกนี่ต่ำนะ

 

คือยิ่งคุณเห็นว่าใครทำดีไม่ดีอย่างไร มากรายขึ้นเท่าไหร่ ก็ยิ่งเหมือนกับเข้าตัวมากขึ้นเท่านั้นนะ ยิ่งเกิดความชัดเจนว่าที่ทำๆ อยู่นี่ เราทำไปเพื่อให้เกิดความรู้สึกถึงลมหายใจได้ชัดหรือว่าเราทำสมาธิ เพื่อจะพาตัวเองไปสู่ภาวะหลับ ภาวะพักสบาย

 

ถ้าพาไปสู่ภาวะพักสบาย ในที่สุดก็จะม่อยหลับไป หรือรู้สึกว่าเราไม่สามารถตั้งสติ อยู่กับลมหายใจได้ตามความตั้งใจ

 

แต่ถ้าหากว่า การทำสมาธิของคุณ พาไปสู่การรู้ลมได้ตั้งแต่นาทีแรก

นาทีต่อๆ มาจะมีความรู้ชัดมากขึ้นเรื่อยๆ

แล้วก็รู้สึกถึงจิตที่ใหญ่ขึ้น มีความสว่างมากขึ้น มากพอที่จะเห็นทั้งตัว

พอเห็นทั้งตัวแล้ว ก็ไม่ยากที่จะแยกออกจากกัน

 

กายท่านั่ง ก็อยู่ส่วนหนึ่ง ลมหายใจ ก็ส่วนหนึ่ง

ความสุข ความเบาสบายที่เกิดขึ้นทางกายทางใจ ก็อีกส่วนหนึ่ง

แล้วความคิดพอจรเข้ามา คุณจะสามารถเห็นได้

ตัวนี้แหละ แยกเป็นชั้นๆ แบบนี้ จะเป็นสิ่งที่เราเคยได้ยินกันมาว่า

ครูบาอาจารย์ พูดคำว่า รู้ทั่วพร้อม

 

หลายคนสงสัยไปตลอดชีวิต ว่ารู้ทั่วพร้อมหมายถึงอย่างไรกันแน่ เป็นประสบการณ์รู้เห็นอย่างไรกันแน่

 

แล้วทำไม มีความจำเป็นอะไรที่ในแวดวงการปฏิบัติ บอกว่าต้องรู้กายใจโดยความเป็นรูปนาม แยกรูปแยกนามให้ได้ อันนี้ก็จะหมดข้อสงสัยภายในไม่กี่วัน บางคนนี่อาจจะภายในวันเดียวก็ได้

 

ถ้าหากว่าทำแล้วมีทุนหนุนอยู่จริงๆนะ ให้สามารถเห็นท่านั่ง เห็นลมหายใจ เห็นความสุข แล้วก็เห็นความคิดแยกออกจากกันเป็นชั้นๆ เหมือนน้ำกับน้ำมันได้ ก็จะไม่สงสัยนะ

 

แล้วอันนี้ ตรงนี้คือเหตุผลว่า ทำไมผมถึงบอกว่า .. ตามสเปคผม .. ถ้าจะทำสมาธิได้ แล้วก็เอาสมาธิมาใช้ในงานวิปัสสนาได้ ต้องทำถูกตั้งแต่นาทีแรกๆ

 

เรื่องจิตใสใจเคลียร์ หรือว่าสงบหรืออะไรนี่ ผมมองเป็นเรื่องๆ ลงไป เอาไว้ท้ายๆ ได้

 

แต่เรื่องแรกที่จะต้องเอาให้ได้ก็คือ จิตต้องเกิดวิตักกะ ถ้าชื่อเต็มคือวิตักกะเจตสิก หรือที่เรามาเรียกกันสั้นๆ ง่ายๆ ว่า วิตก แต่ผมไม่อยากใช้คำว่าวิตก เพราะว่าคำว่าวิตกนี่ ทำให้หลายๆ ท่านไปเข้าใจว่าเป็นอันเดียวกับวิตกกังวล ซึ่งไม่ใช่นะครับ

 

วิตักกะ หรืออีกชื่อเต็มว่า วิตักกะเจตสิก หมายถึงการที่จิตของเรา มีความสามารถหน่วง นึกถึงอะไรสักอย่างหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าทำอานาปานสติเพื่อที่จะเจริญสติแบบพระพุทธเจ้า หมายถึงการที่เรานึกถึงลมหายใจเข้าออกได้

 

ดูเหมือนง่าย แต่จริงๆ แล้วนี่ ถ้าคุณลองพยายามให้เกิดอาการนึกถึงลมหายใจอย่างต่อเนื่อง ก็จะพบว่าโฟกัสเป๋ไปภายในไม่กี่วินาที

 

เป๋ไป เพราะว่าความฟุ้งซ่านจะห่อหุ้มจิตอยู่

จิตถูกห่อหุ้มอยู่ด้วยอะไรที่แปรปรวนง่าย

คิดเรื่องโน้นเรื่องนี้ตามใจอยาก

 

แต่ถ้าเราได้เทคนิคอุบายอย่างเช่น การใช้มือไกด์มาช่วย ให้รู้สึกถึงลมหายใจได้ จะมีประโยชน์ตรงที่ ตั้งแต่นาทีแรกเลยจะเกิดวิตักกะอย่างถูกต้อง

 

เราสามารถรู้ลม คือลากมือช้าๆ และรู้ลมชัดนะครับ

ลากช้าแล้วรู้ชัด เกิดความสบายเนื้อสบายตัว

เกิดความรู้สึกว่า อยู่อย่างนี้ได้

อยู่อย่างนี้ไม่ต้องไปไหน ไม่ต้องไปคิดเรื่องอื่น

 

นาทีแรก ถ้าวิตักกะเกิดได้

นาทีต่อๆ มา แนวโน้มคือเป็นไปได้ที่จะเกิด วิจาระ

 

ตัววิจาระ นี่ก็คือตัวที่เราไม่ไปไหน จิตไม่ไปไหนจริงๆ

มีความนิ่ง มีความแนบไปเป็นอารมณ์เดียวกับลมหายใจ

 

ซึ่งพอมีวิตักกะ มีวิจาระเกิดเต็ม ก็จะมีปีติ มีสุขตามมาเป็นธรรมดา

จะเหมือนเปิดก๊อกให้ปีติ แล้วก็สุขหลั่งไหลออกมา

ถูกต้องตามองค์ฌาน ที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่าควรให้เกิด

 

ในงานเจริญสติปัฎฐาน ควรให้เกิดวิตักกะ วิจาระ ปีติ และสุข โดยอาศัยลมหายใจเป็นที่ตั้ง

 

ทีนี้ อย่างพออยู่ในห้องวิปัสสนานุบาล หลายๆ ท่านก็จะเห็น จะพบว่าวิตักกะ มีได้หลายแบบ

 

บางคนมีวิตักกะจริง รู้สึกถึงลมหายใจได้ต่อเนื่อง แต่เป็นวิตักกะ แบบแข็งแข็ง คุณจะรู้สึกได้ เห็นได้ด้วยตาเปล่า เพราะเราจับลมหายใจมาโยงกันกับฝ่ามือแล้ว

 

บางคนนี่ พรวดพราดเกินไป ดันลมเข้า ลากลมออกในแบบที่ ลมหายใจไม่เป็นธรรมชาติ มีอาการกระชากมีอาการห้วน คุณจะรู้สึกได้เลยว่า ตัวของผู้ปฏิบัตินี่ จะแข็งๆ เกร็งๆ มีอาการรีบร้อน นี่ วิตักกะแบบแข็งๆ ก็มี

 

แล้วถ้าหากว่าเราฝึกใหม่ หลายๆ คนนะดูจากเพื่อนๆ แล้วค้นพบว่าบางคนลากมือช้า ดูสีหน้าสีตามีความสุขดีมีความผ่อนคลายดี ก็เอามาทำบ้าง แล้วก็เกิดผลนะ คือพอลากช้า รู้ชัดเกิดความสบายเนื้อสบายตัว ก็ค้นพบว่า วิตักกะ มีความนุ่มนวล มีความนิ่มนวล ใจสบาย ร่างกายพร้อมที่จะอยู่ในภาวะของสมาธิต่อไปเรื่อยๆ นานๆ

 

อันนี้ก็เป็นประโยชน์ว่า เวลาเราดูของเราแล้ว แล้วไปเทียบกับคนอื่น จะเห็นทั้งที่ดีกว่าเรา หรือว่าทำแล้วแย่กว่าเรา แล้วในที่สุดก็ต้องเข้าตัว ทั้งจุดที่ดีกว่า ทั้งจุดที่แย่กว่า

 

ตรงนี้ก็คือประโยชน์ของห้องวิปัสสนานุบาลนะครับ

 

ทีนี้ วันนี้ก็จะมาสอนไลฟ์เลย แล้วให้คุณดูตัวอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับท่านที่ยังไม่เคยเข้าห้องวิปัสสนานุบาลมาก่อน หรือยังไม่เคยมา อาศัยมือไกด์ ช่วยเจริญอานาปานสตินะครับ อย่างน้อยที่สุด ถ้าคุณได้เห็นคนอื่นเพื่อเทียบเคียงให้เข้าใจนะครับ เเล้วก็สามารถเอาไปประยุกต์ใช้เองได้แล้วนี่ คุณจะสามารถใช้สอนคนอื่นต่อได้ แบบง่ายๆ เลย

 

คือไม่จำเป็นต้องให้ผมมาช่วยไกด์ยังได้เลยนะ เพราะถ้าเข้าใจแล้วนี่ คุณจะเห็นเลยว่า เวลาไปบอกให้ใครยกมือ ทั้งๆ ที่บอกซ้ำๆ ว่าให้ลากช้าๆ ให้นึกในใจว่ามือหงาย เหมือนกับดันล้มเข้านี่นะ พูดซ้ำซ้ำไปไม่รู้กี่ 10 ครั้งนี่ แต่หลายๆ คนก็ยังยกขึ้นไปเฉยๆ

 

แล้วคุณจะรู้สึกได้ว่าถ้ายกเฉยๆ โดยที่ไม่มีความสัมพันธ์ระหว่างฝ่ามือกับลมนี่ กิริยา หรือว่าลักษณะของจิตที่เกิดขึ้น จะเป็นอย่างไร คุณจะจับได้ จะเทียบเคียงได้กับประสบการณ์ตรงของตัวเอง

 

แล้วก็การเห็นของคนที่ทำอย่างถูกต้องมา เรื่องการใช้มือไกด์ จะดีตรงที่มีขั้นตอนที่แน่นอน แล้วคุณสามารถจำได้ จดจำได้จากภาพที่เห็นตรงๆ นะ

 

ก่อนที่จะเริ่มเข้าสู่ช่วงไลฟ์กันจริงๆ ดูกันแบบต่อหน้าต่อตา ก็ขอบอกนะครับ ออกตัว ผมไม่ทราบว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง หรือว่ามีปัญหาอะไรรออยู่อย่างไรนะ ขอให้ถือว่าเป็นการทดลอง คิดว่าช่วยกันทำเล่นๆแบบ 2-3 คน

 

คิดว่าพวกคุณเป็นหนึ่งในทีมงานก็แล้วกัน แล้วก็มาลองเล่นกันดูว่าจะเกิดอะไรขึ้น

 

ถ้าหากว่าเรามาไลฟ์ด้วยกันแบบนี้ ถ้ามีสะดุดติดขัดอะไรโดยเฉพาะอย่างยิ่งสัญญาณจากทางฝั่งของคุณ ถ้าหากว่าสะดุดไม่ดี หรือว่าช้าเกินไป อะไรแบบนี้ ผมอาจจะจำเป็นต้องอาจตัดออกนะครับ เพื่อไม่ให้เป็น noise หรือภาพล้มอะไรแบบนี้ อาจจะรบกวนสายตา หรือรบกวนหูคนอื่นนะครับถ้าเกิดปัญหาอะไรก็ช่วยๆช่วยแก้กันไปนะ คิดว่าเรามาเล่นสนุกอะไรกันเฉยๆ

 

ก่อนอื่นนะครับเราก็มาทำกันตามธรรมเนียม เดี๋ยวเรามาสวดมนต์ด้วยกันนะครับ

 

แล้วผมจะให้หลายๆ ท่านที่ยังไม่เคย รู้จักกับการใช้มือไกด์ช่วยอานาปานสติมาก่อน ได้เห็นคร่าวๆ ว่าจะต้องทำกันอย่างไ รก่อนที่จะไลฟ์จริงนะครับ

 

ตอนนี้เรานั่งสวดมนต์กัน เพื่อที่จะระลึกถึงพระคุณของพระพุทธเจ้าว่า ที่เรามาเจริญสติกันได้แบบนี้ ไม่ใช่ด้วยความบังเอิญ

 

แต่ด้วยความเสียสละของพระพุทธเจ้า ที่ท่านใช้เวลานานเหลือเกินนะ นานกว่าที่เราจะจินตนาการได้นะครับ ว่าพระองค์ใช้เวลานานขนาดไหน

เป็นอนันตชาตินะเพื่อที่จะบำเพ็ญโพธิญาณให้เกิด ถึงฝั่งอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณเป็นพระพุทธเจ้า

 

เป็นพระพุทธเจ้านี่ทุกๆพระองค์ จะนำสติปัฎฐาน 4 มาเผยแพร่นะครับ มาเผยแผ่พระสัทธรรม

 

สติปัฎฐาน 4 ก็ขึ้นต้นด้วยอานาปานสติ แต่พอสิ้นพระองค์ สิ้นพระพุทธเจ้าแต่ละพระองค์ไป การหลังจากนั้นก็มีการพูดถึงอานาปานสติและสติปัฏฐานสี่กันตามใจชอบนะไม่ได้มีการพูดกันแบบคำตอบคำหรือที่เรียกว่ามุขปาฐะเหมือนในสมัยพุทธกาล

 

เราลองมาทดลองกันดูสักตั้งหนึ่งว่า ถ้ามาศึกษาพุทธพจน์นะครับ ในแบบที่เอาคำต่อคำ บรรทัดต่อบรรทัดจริงๆแล้ว จะได้ผลอย่างไร

 

จะให้คนร่วมสมัยกับพวกเรา ได้หันกลับไปรู้จักกับพระพุทธเจ้าองค์จริง ได้ไหมนะครับ แล้วถ้าหากว่าใจเราตั้งอยู่อย่างนี้

___________________

รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน อานาปานสติโดยใช้มือไกด์

ช่วง เกริ่นนำ

วันที่ 30 ตุลาคม 2564

ถอดคำ : เอ้

รับชมคลิป: https://www.youtube.com/watch?v=hzA-Csq1LIo

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น