วันพุธที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

Q06 สมาธิระหว่างวันคือ การรู้ลมหายใจเข้าออกหรือเปล่า

ดังตฤณ : การรู้ลมหายใจเข้าออก เป็นเหมือนกับ concept กว้างๆ

แต่ที่จะตัดสินว่าเรารู้แบบที่จะเป็นสมาธิได้ไหม คือว่า

ถามตัวเอง มีวิตักกะได้ต่อเนื่องไหม มีวิจาระได้ต่อเนื่องไหม

 

เห็นไหม พอเรามาทำความเข้าใจว่า

วิตักกะแปลว่าอะไร วิจาระแปลว่าอะไร

รู้จักศัพท์แค่สองคำนี้

จะมีทิศมีทางในการทำสมาธิที่ใช่ ขึ้นมาได้แบบง่ายๆ เลยนะ

 

เวลาเรามาคุยกันในไลฟ์ หรือว่าในห้องวิปัสสนานุบาล

ก็จะเห็นว่าการที่จิตจะเป็นสมาธิขึ้นมา มีความตั้งมั่นขึ้นมา

ต้องมีองค์ประกอบสำคัญคือ

วิตักกะ รู้อย่างต่อเนื่อง รู้อย่างชัดๆ

จิตมีอาการเล็ง มีอาการโฟกัสถึงลมหายใจอันเป็นที่สบาย

ไม่ใช่ลมหายใจน่าอึดอัด

ไม่ใช่ลมหายใจอันเป็นที่ลำบาก หรือมีความกระด้าง

 

แล้วก็มีวิจาระ คือจิตเป็นดวงเดียว

รู้สึกถึงลมหายใจหนึ่งเดียว ไม่รู้สึกถึงอะไรอย่างอื่น

ซึ่งคำว่าวิจาระคำเดียวนี้ คนจะไม่เข้าใจ ถ้าไม่ไปถึงตรงนั้น

แต่ถ้าไปถึงตรงนั้น จะอ๋อทันที จะเข้าใจทันที

อย่างที่ทำมาด้วยกัน จะเห็นได้นะครับ

 

ทีนี้ระหว่างวัน จะเป็นสมาธิจากการหายใจขึ้นมาได้อย่างไร?

 

ก็คือเรารู้ว่าการหายใจของเราเป็นที่สบายอยู่ ณ ขณะหนึ่ง

ถ้ารู้ได้มากกว่าสามครั้งขึ้นไป อันนั้นเริ่มเกิดวิตักกะแล้ว

แล้วตัวอย่างของการรู้ที่ถูกต้อง เราฝึกไว้แล้ว ตอนที่ใช้มือไกด์ว่า

สปีดประมาณนี้ ถ้าเร็วกว่านี้ จะเป็นวิตักกะแบบแข็งๆ แล้ว

แต่ถ้าช้า และชัดประมาณนี้ คือวิตักกะเริ่มมีความนิ่มนวล

 

เสร็จแล้วตอนที่เริ่มมีวิจาระ ก็คือตอนที่เราเคลื่อนไหวไปไหน

จะมีความรู้สึกว่าจิตไม่แส่ส่าย ไม่ไปคิดเรื่องอื่น

มีแต่ความรู้สึกเรียบๆ ง่ายๆ หนึ่งเดียว รู้อยู่อย่างเดียว

 

รู้อะไรก็ไม่รู้ล่ะ จะเป็นลมหายใจ หรือเป็นอิริยาบถเคลื่อนไหวก็ตาม

ไม่ได้เจาะจงว่าจะต้องเป็นอย่างใดอย่างหนึ่ง

 

แต่ถ้าหากว่าเวลาที่จิตรู้อะไรก็ตาม

เกี่ยวกับภาวะทางกาย เกี่ยวกับภาวะทางใจ แล้วไม่ไปทางอื่นเลย

นั่นแหละ เรียกว่าจิตกำลังมีวิจาระอยู่

แม้ในขณะที่ลืมตาตื่นอยู่ระหว่างวันก็ตาม

 

ตรงนี้ที่เป็นจุดตัดสิน

ไม่ใช่แค่ว่ารู้ลมหายใจเข้าออกแล้วเป็นสมาธิ อย่างนั้นยังไม่นับ

เพราะรู้ลมหายใจเข้าออก บางทีเพียงแค่ครั้งเดียว แล้วลืมๆ ไป

จิตแส่ส่ายไปทางอื่น ไม่ได้มีวิตักกะจริง

ไม่ได้มีความสนใจอยู่กับลมหายใจจริง

แล้วก็ไม่มีวิจาระ คือไม่มีความเป็นหนึ่งเดียวกับตัวลมหายใจ

หรือว่าตัวภาวะทางกายทางใจ

 

อันนี้คือความหมายของสมาธินะครับ ที่ต้องเข้าใจดีๆ

เราสามารถวัดได้ทั้งในขณะที่นั่งสมาธิ ขณะที่เดินจงกรม

แล้วก็ขณะที่อยู่ในชีวิตประจำวันนะ

 

ต่อให้เวลาทำงาน เราจะสังเกตจิตของตัวเองแตกต่างไปจากเดิม

จากเดิมที่มีความรู้สึกว่า เรามีสมาธิในการทำงานดี

จริงๆ แล้วอาจคิดอะไรวุ่นวายก็ได้

แต่เมื่อได้ตัวอย่างจากการทำสมาธิ ด้วยเห็นแล้วว่า

วิตักกะ หน้าตาเป็นอย่างไร วิจาระดีๆ หน้าตาเป็นอย่างไร

 

เวลาทำงาน เราจะตัดสินตัวเองใหม่เลยนะ ว่า

ในขณะนี้เราขี่ช้างจับตั๊กแตนอยู่หรือเปล่า

 

ถ้าขี่ช้างจับตั๊กแตนอยู่ด้วยการที่เพ่งมากเกินไป คิดมากเกินไป หนักเกินไป

ก็จะรู้สึกหนักๆ แน่นๆ จะรู้สึกว่าเกร็งเนื้อเกร็งตัว

รู้สึกว่าความคิดสูบพลังงาน สมองสูบพลังงานไปจากร่างกายฮวบฮาบๆ

 

พอทำงานเสร็จก็เพลีย .. นี่ไม่ได้เป็นสมาธิดีๆ

 

แต่ถ้าหากว่าเราทำงาน

แม้เป็นการทำงานหนัก เป็นการทำงานที่ยุ่งยาก มีขั้นตอนซับซ้อน

แต่จิตของเราเดินไปเรื่อยๆ เดินไปเป็นเส้นตรง สู่เป้าหมาย

มีลำดับ หนึ่ง สอง สาม ชัดเจน คิดพอดี ไม่ได้คิดหนักเกินไป

มีวิตักกะ อย่างชัดเจนคือ เราได้ความหมายจากสมาธิ

แล้ววิตักกะที่แท้จริง ที่ถูก คือวิตักกะ อันเป็นที่สบาย

สบายกาย สบายใจ ไม่เกร็ง

 

แล้วก็มีวิจาระ คือใจไม่วอกแวกไปไหน อยู่กับงานนั้นจริงๆ

จะขีดเขียน จะพิมพ์ หรือจะพิจารณาด้วยความคิด

เป็นความคิดแบบที่ไม่ก่อให้เกิดการสูบพลังเกิน

ไม่มีอาการแบบขี่ช้างจับตั๊กแตน

แต่เป็นเหมือนกับการจับนกพอดี ไม่ให้นกบินหนี แล้วก็ไม่ให้นกตาย

ในขณะเดียวกัน เรารู้สึกว่ามีความอ่อนโยน

อยู่ในฝ่ามือที่จับนกนั้น ไม่เป็นอันตรายกับนก

 

ตัวนี้ เห็นไหม เราสามารถเรียนรู้ได้

เมื่อเกิดวิตักกะ เมื่อเกิดวิจาระดีๆ ในสมาธิ

เราสามารถเอาไปประยุกต์กับการทำงานได้นะครับ

___________________

รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน ช่วง ถามตอบ

วันที่ 13 พฤศจิกายน 2564

ถอดคำ : เอ้

รับชมคลิป : https://www.youtube.com/watch?v=HfcXiSRyWFM

 

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น