วันเสาร์ที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

Q04 วิตักกะ คืออะไร

ดังตฤณ : สมาธิในแบบพุทธ ที่พระพุทธเจ้าบอกว่าเป็นสัมมาสมาธิ ท่านพูดถึงฌาน แล้วฌานมีองค์ประกอบของจิต การปรุงแต่งของจิตก็คือ วิตก วิจาร (หรือวิตักกะ วิจาระ) แล้วก็ปีติ สุข เอกัคคตา มีห้าองค์ สำหรับปฐมฌาน

 

คำว่า วิตักกะ หรือที่เรียกกันว่า วิตก หมายถึงอาการที่ใจเล็งอยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง อย่างเช่นลมหายใจ

 

ถ้าหากว่าเล็งอยู่ว่า จะรู้ลมหายใจเข้า ลมหายใจออกอย่างนี้ เรียกว่า วิตักกะแล้ว แต่วิตักกะ ก็มีหลายคุณภาพ วิตักกะแบบแข็งๆ ก็คือรู้สึกลมหายใจแบบกระชากๆ รู้ได้ไม่กี่ทีก็ล้ม วิตักกะก็หายไป

 

แต่ถ้าหากว่าเป็นวิตักกะแบบดีๆ วิตักกะแบบที่มีคุณภาพ รู้สึกถึงลมหายใจช้า ชัด แล้วก็ต่อเนื่อง ก็จะเป็นวิตักกะที่นิ่มนวล

 

วิตักกะที่นิ่มนวล ที่มีคุณภาพ จะนำไปสู่วิจาระ

 

วิจาระ คือ จิตไม่ไปไหน แนบติดอยู่กับลมหายใจอย่างเดียว ราวกับเป็นหนึ่งอยู่กับลมหายใจ

 

วิตักกะ วิจาระ คืออย่างนี้ เสร็จแล้ว พอหายใจช้า ชัด สบายเนื้อสบายตัว ก็เกิดความรู้สึกชุ่มชื่น เกิดความรู้สึกเหมือนกับจิตไม่ดิ้นรนไปไหน ไม่ออกไปไหน ตรงนั้น เรียกว่ามีปีติอันเกิดแต่วิเวก

 

คำว่าวิเวกก็คือจิต จะไม่ดิ้นรน จิตพอ ไม่อยากเอาอะไรอย่างอื่น อยากรู้อยู่แค่นี้ อยากดูอยู่แค่นี้ แล้วก็มีความสุขที่เนียน มีความสุขที่สบาย แผ่กว้าง ไม่ใช่สุขแบบปลอมๆ สุขแป๊บๆ แล้วหาย แต่เป็นสุขที่เนียน นาน ตั้งอยู่

 

พอจิตมีกำลังสะสมไปมากเข้า ถึงจุดหนึ่งที่มีความใหญ่มากพอ ก็จะระเบิดออก เป็นจิตที่เป็นฌาน เป็นจิตที่แผ่ออกไปกว้างขวาง ไม่มีประมาณ ไม่มีอะไรห่อหุ้ม แล้วก็ตั้งอยู่อย่างนั้น อยู่ในอารมณ์เดียวอย่างนั้น รู้ลมหายใจ รู้สภาพทางกาย ก็รู้อยู่อย่างนั้น ตั้งมั่น ไม่เคลื่อนไปไหนเลย แม้กระทั่งเสียงก็ไม่ได้ยิน

 

พระพุทธเจ้าตรัสว่า ท่านเดินจงกรมอยู่ ทรงอยู่ในฌานในการเดินจงกรมนี่นะ แม้ฟ้าผ่าเปรี้ยงลงมา ท่านก็ไม่ได้ยิน อย่างนี้ เรียกว่าความรู้แบบคร่าวๆ เกี่ยวกับฌานนะครับ

 

วิตักกะ ก็คือเราพยายามมาตะเกียกตะกายกัน ก็เพื่อที่จะเอาองค์ประกอบแรกของฌานให้ได้นั่นเอง ที่มาทำมือไกด์ ที่มาพยายามหายใจช้าชัด อะไรต่างๆ นี่

___________________

รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน อานาปานสติโดยใช้มือไกด์

ช่วง ถาม-ตอบ

วันที่ 30 ตุลาคม 2564

ถอดคำ : เอ้

รับชมคลิป: https://www.youtube.com/watch?v=-PvX3soldoA

 

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น