ดังตฤณ : สำหรับท่านที่ยังไม่เคยรู้จักมือไกด์ ซึ่งเดี๋ยวเราก็จะเอาไปไลฟ์สดกัน ตอนนี้ทำความเข้าใจอย่างนี้ก่อนคือ
เริ่มต้นขึ้นมา
เราสำรวจฝ่าเท้าว่าวางราบกับพื้นดีไหม
ถ้าวางราบสนิท ผ่อนคลาย
จะรู้สึกเบาขึ้นมาที่พื้นจิตพื้นใจ
แล้วสำรวจไล่ขึ้นมาที่ฝ่ามือ
ถ้ามือเบาด้วย วางราบกับหน้าตักแบบสบายๆ
ก็จะรู้สึกเบาขึ้นมาครึ่งตัว
จากนั้น
เราก็อาจเห็นว่าที่กำลังนั่งอยู่นี้เป็นท่านั่ง เป็นอิริยาบถนั่ง
ท่านั่งคอตั้งหลังตรงนี่ สำคัญ
พระพุทธเจ้าตรัสไว้นะว่า คอตั้งหลังตรง
เป็นจุดเริ่มต้นของอานาปานสติ
นั่นหมายความว่าท่านให้รู้อิริยาบถ ก่อนที่จะรู้สึกถึงลมหายใจ
ถ้าหากว่าสามารถรู้ถึงอิริยาบถปัจจุบันได้
ที่กำลังนั่งคอตั้งหลังตรงอยู่
คุณจะมีทางเดินหายใจที่สะดวก
จากนั้น เรามาใช้เครื่องทุ่นแรง
เพราะว่าถ้าแค่รู้สึกถึงลมหายใจไปเรื่อยๆ
ลมหายใจของคนส่วนใหญ่
จะแผ่วเกินกว่าที่จะน่าสนใจ
แผ่วเกินกว่าที่ใจจะมีโฟกัสอยู่กับตรงนั้นได้
จนกระทั่งเกิดวิตักกะขึ้นมาเต็ม
คำว่าวิตักกะ ไม่ใช่แค่รู้ลมหายใจแค่ครั้งเดียว
แต่เอาใจไปผูกอยู่กับลมหายใจ นึกถึงลมหายใจได้เรื่อยๆ
โดยที่ไม่ฝืน
วิธีง่ายๆ ก็คือเรา .. ท่านั่งคอตั้งหลังตรงนี่
พอจะหายใจครั้งต่อไป
เรายกมือขึ้นมาด้วยอาการหงายมือ
แล้วลากขึ้นมาช้าๆ
ด้วยการนึกว่าฝ่ามือที่หงายนั้น ดันลมเข้า
แล้วก็พอไปถึงที่สุด ก็คว่ำมือลง เพื่อลากลมออก
ถ้าใจของคุณนึกได้ว่า
หงายมือขึ้น แล้วก็ดันลมเข้า หน้าตาเป็นอย่างไร
เกิดความรู้สึกอย่างไร
คุณจะรู้สึกว่าฝ่ามือกับลม มีความผูกพัน
มีสัมพันธภาพอันดีต่อกัน
เป็นไปด้วยกัน มีความพร้อมกัน sync กัน
ตอนที่ดันลมเข้า แล้วลากมือช้าๆ ยกมือขึ้นช้าๆ
ลมก็จะช้าตาม
แล้วถ้าลากช้า รู้ชัด
จะเกิดความสบายเนื้อสบายตัว จะไม่เกิดความเกร็ง
หลายๆ คนเวลายกขึ้น ระวังอย่ายกไหล่
เพราะถ้ายกไหล่ จะมีอาการเกร็ง
แล้วก็สะสมความเกร็งขึ้นมาโดยไม่รู้ตัวนะครับ
เรานั่งสบายๆ ไหล่ไม่ยก
แล้วก็รู้สึกถึงความสัมพันธ์ระหว่างฝ่ามือกับลมหายใจไปเรื่อยๆ
ได้ ภายในห้านาที วิตักกะจะเกิดเต็ม
พอวิตักกะเกิดเต็ม อย่างมีความอ่อน มีความควร
มีความนุ่มนวล
วิจาระ จะตามมาเอง โดยที่เราไม่ต้องไปพยายามคุม
ไม่ต้องไปพยายามตั้งอกตั้งใจว่า จงอย่าคลาดสติ จงรู้ลมหายใจไม่เคลื่อน
ไม่ต้องไปตั้งใจแบบนั้น
เราแค่รู้สึกถึงลมหายใจเข้า ลมหายใจออก ด้วยการใช้มือไกด์ ช้าๆ รู้ชัดๆ
วิจาระจะเกิดขึ้นเอง
___________________
รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน
อานาปานสติโดยใช้มือไกด์
ช่วง อธิบายการทำสมาธิโดยใช้มือไกด์
วันที่ 30 ตุลาคม 2564
ถอดคำ : เอ้
รับชมคลิป: https://www.youtube.com/watch?v=ljR2ZFdqpfg
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น