วันพุธที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

Q13 เมื่อครบองค์ปฐมฌาน แล้วจะไป ๒ ๓ อย่างไร

ดังตฤณ : ถ้าครบองค์ปฐมฌานจริง

มีวิตักกะที่นิ่มนวล คือรู้ลมหายใจช้า ชัดได้

 

ปฐมฌานแบบของพุทธ ไม่ใช่ปฐมฌานแบบที่ไปทำอะไรอย่างอื่นนะ แต่เป็นปฐมฌานที่พระพุทธเจ้ามุ่งหมายจำเพาะถึงลมหายใจแบบอานาปานสตินะ

 

คือรู้สึกถึงลมหายใจช้า ชัด แล้วก็จิตเป็นหนึ่งเดียวกับลมหายใจ ไม่ไปไหน แนบแน่นอยู่กับลมหายใจ รู้ลมหายใจอย่างเดียว เป็นวิจาระ

 

แล้วมีปีติ มีความเยือกเย็น มีปีติอันเกิดแต่วิเวก ใจไม่ดิ้นรนกระสับกระส่าย มีความสุขแบบเยือกเย็น แล้วที่สำคัญคือ มีจิตที่เป็นหนึ่ง รู้อย่างเดียว รู้ลมหายใจอย่างเดียว รู้เครื่องประกอบด้วยว่ากายโป่งออกมา แฟบลงไป รู้ชัดว่ากายนี้ แยกเป็นต่างหากจากลมหายใจ รู้ชัดว่าแยกเป็นต่างหากจากปีติ รู้ชัดว่ามีความสบายกาย สบายใจ เป็นส่วนๆ ออกจากกัน

 

แล้วจิตมีความใหญ่ มีความใหญ่มหึมา ขยายกว้างออกไปแบบไม่มีขอบเขต ไม่มีอะไรห่อหุ้ม ส่องสว่าง เหมือนกับเวลาหยุด

 

แม้กระทั่งเสียง ต่อให้มีเสียงฟ้าผ่ามาก็ไม่ได้ยิน เพราะจิตอยู่ในวิถีที่แนบเป็นอารมณ์เดียว เป็นหนึ่ง ไม่เคลื่อนไปสู่การรับรู้อย่างอื่นเลย แล้วก็ไม่มีความคิด

 

ถ้าได้ปฐมฌานจากอานาปานสตินี้แล้วจริงๆ เวลาที่จะเคลื่อนเข้าไปสู่ ทุติยฌาน จะมีสภาพของปีติเด่นขึ้นมาเป็นพิเศษ

 

คืออันนี้เราไปทำอะไรไม่ได้นะ ไปเร่งไม่ได้ แต่ว่าปีติจะเด่นขึ้นมาเป็นพิเศษ เหมือนกับที่พระพุทธเจ้าเปรียบเทียบ คล้ายๆ กับเป็นน้ำที่อยู่ในขอบเขตหนึ่ง ไม่มีการไหลเข้า ไม่มีการไหลออก แล้วก็มีอาการผุดโพลงขึ้นมาเหมือนน้ำพุที่ผุด เกิดความรู้สึกปีติใหญ่หลวง แต่เป็นปีติที่มีสติประกอบอยู่ มีสติที่จะไม่ทำให้อาการนั้นเกินความเยือกเย็น ไม่มีอาการขนลุกขนชัน หัวพองเป็นกระบุงอะไรแบบนั้น

 

มีแต่ความรู้สึกปีติซ่านไปด้วยความรู้สึกวิเวก แล้วตัวปีติที่มีกำลังมากขึ้น จนกระทั่งเกิน อยู่ของมันโดยตัวของมันเองได้ ที่พระพุทธเจ้าเปรียบเทียบเหมือนกับน้ำขังไว้โดยไม่มีการไหลเข้าไหลออก ตรงนั้น ตัววิตักกะ กับวิจาระ จะหายไป

 

คือพูดง่ายๆ ว่า ความรู้สึกเกี่ยวกับลมหายใจจะเบาบางมาก แทบไม่เหลือเลย หรือไม่เหลือเลยนะ

 

แต่สติยังไม่ไปไหน ยังมีความตื่นอยู่เต็มตัว พอเรามีปีติมากพอถึงจุดนั้น จะรู้สึกว่าสามารถละอาการตรึกนึกถึงลมหายใจได้ เหมือนกับสามารถเลี้ยงตัวได้ อยู่บนที่สูง แล้วกว้างขวาง ไม่มีประมาณ

 

ตรงนั้น จะเกิดเป็นทุติยฌานขึ้นมานะครับ

 

แล้วพอถึงจุดหนึ่งที่จิตมีความแนบไปกับความสุขในแบบที่กว้างขวาง กว้างมากๆ ปีติก็หายไป อันนั้นแหละที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า อริยบุคคลสรรเสริญ คือเข้าถึงตติยฌาน

 

พอมีความสุขแบบมีสติ เป็นความสุขอย่างใหญ่ มีสติแล้วก็ไม่หลงไปว่า ปีติเป็นของดี หรือว่าสภาพทางกาย ทางใจที่ปรากฏอยู่นี้ เป็นของน่าเอา ก็จะอยู่กับความสุขที่ .. คือบางทีแล้วแต่การปรุงแต่งของจิตนะ ถ้าหากว่าเรามีความรู้สึกเป็นสุขมาก สุขแบบวิเวก แบบไม่มีที่สิ้นสุด ก็อยู่ได้นาน แต่ถ้าหากว่าความสุขของเราที่มีสตินั้น เหมือนกับยังโน้มเอียงมาทางติดปีติ ก็อาจกลับมาสู่ภาวะอะไรหยาบๆ สู่ภาวะที่หยาบลง เคลื่อนจากตติยฌาน มาอยู่กับปีติในทุติยฌาน

 

ภาวะพวกนี้จะค่อยๆ เลื่อนขั้นขึ้นไปเอง แต่โดยสรุปง่ายๆ ก็คือว่าถ้าถึงปฐมฌานจริง แล้วมีปีติ มีสุข มีเอกัคคตาของจิต พร้อมจริงๆ ตัวปีติ จะเด่นขึ้นมาก่อน ถ้ามีกำลังสะสมกำลังมากขึ้นไปเรื่อยๆ ตัวปีติจะเด่นขึ้นมา จนเกิน จนรู้สึกว่าสามารถเลี้ยงตัวเองอยู่ได้ แล้วก็วิตักกะ กับวิจาระหายไปนะ

___________________

รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน ช่วง ถามตอบ

วันที่ 13 พฤศจิกายน 2564

ถอดคำ : เอ้

รับชมคลิป : https://www.youtube.com/watch?v=bK9Wtjd29rc

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น