วันพฤหัสบดีที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

02 อานาปานสติโดยใช้มือไกด์ : สวดอิติปิโสฯร่วมกัน

ดังตฤณ : เราลองมาทดลองกันดูสักตั้งหนึ่งว่า ถ้ามาศึกษาพุทธพจน์ในแบบที่เอาคำต่อคำ บรรทัดต่อบรรทัดจริงๆ แล้วจะได้ผลอย่างไร จะให้คนร่วมสมัยกับพวกเรานี้ ได้หันกลับไปรู้จักกับพระพุทธเจ้าองค์จริงได้ไหมนะครับ

 

ถ้าหากว่าใจของเราตั้งอยู่อย่างนี้ แล้วมาสวดมนต์ ระลึกถึงคุณพิเศษของพระพุทธเจ้าไปด้วยกัน อารมณ์หรือว่าจิตที่ถูกปรุงแต่งขึ้นมาในขณะสวดมนต์ จะมีปีติ มีศรัทธา อันประกอบด้วยปัญญาแบบพุทธ

 

แล้วก็คุณจะรู้สึกว่าสวดมนต์เสร็จแต่ละครั้ง ใจมีความอ่อน มีความควร มีความว่าง มีความเบาในแบบหนึ่ง ที่ก่อให้เกิดกำลัง แล้วก็รู้สึกได้ว่าเราสามารถทำสมาธิตามที่พระพุทธเจ้าสอนได้

 

ที่พูดมา ก็เพื่อให้เห็นความสำคัญนะครับว่า ทำไมทุกครั้งเราต้องมาสวดมนต์กันตามธรรมเนียมนะ

 

(ตั้ง นะโม 3 จบ และสวดบทอิติปิโสฯ ร่วมกัน)

 

พอเราสวดมนต์เสร็จ สิ่งที่ควรสำรวจ หรือว่าสังเกตจากตัวเราเอง ก็คือความมีจิตที่เปิด มีจิตที่มีความพร้อมจะรู้ตามจริง มีความเบาพอที่จะสลัดความคิดหนักๆ ออกจากจิตหรือเปล่า

 

ถ้าหากว่า จิตของเรามีความอ่อนความควร ราวกับว่าได้อัญเชิญพุทธคุณ ธรรมคุณ และสังฆคุณ มาประดิษฐานอยู่ในจิตของเรา จิตของเรากลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์เสียเอง

 

ตรงนั้นแปลว่า เราสวดมนต์มาถูกทาง สวดมนต์มาอย่างมีสมาธิ สวดมนต์มาแบบถวายแก้วเสียงเป็นพุทธบูชา ไม่ใช่สวดมนต์เพื่อขอพร ไม่ใช่สวดมนต์เพื่อหวังผลอะไรอย่างอื่นใด นอกเหนือจากความเบาใจ ความเป็นบุญ ที่พร้อมจะต่อบุญสูงขึ้นยิ่งๆ ขึ้นนะ

 

ความเป็นบุญทางพุทธศาสนานี่ เอาง่ายๆ ก็คือ มีจิตที่พร้อมจะสละออก

ยิ่งจิตมีความพร้อมจะสละออก มีความคาย

มีความพร้อมจะคืนมากขึ้นเท่าไหร่ ยิ่งมีบุญมากขึ้นเท่านั้น

 

เริ่มต้นจากที่ อย่างที่เรารู้ๆ ว่าบุญขั้นต่ำก็คือการให้ทาน

การให้ทานแบบให้เปล่า

การให้ทานแบบไม่หวังผลอะไรตอบแทนเป็นกำไรแบบโลกๆ

การให้ทานในแบบที่สละความพยาบาทได้ นี่เป็นการคาย เป็นการคืน

เป็นการเอาออกทั้งนั้นเลย

 

หรือแม้แต่การถือศีล พระพุทธเจ้าก็จัดว่าเป็นยอดของทาน เป็นมหาทาน

เป็นการที่เราสละความเห็นแก่ตัว

เพื่อรักษาความปลอดภัยให้กับสัตว์ไม่เลือกหน้า ไม่มีประมาณ

นี้แหละเรียกว่าเป็นการให้ เป็นมหาทาน

 

หรือว่าแม้กระทั่งเราจะให้ธรรมะเป็นทาน

เวลาเห็นใครที่ไม่เข้าใจเกี่ยวกับธรรมะ ไม่เข้าใจหนทางความสว่าง

เราไปให้ธรรมะเขา นี่ก็เรียกว่าเป็นการให้ธรรมทาน

อันชื่อว่าเป็นทานที่ชนะทานทั้งปวงนะ เป็นทานที่อยู่เหนือทานทั้งปวง

 

เป็นไปด้วยการสละออก

ไม่ว่าจะในระดับของทาน หรือในระดับของศีล

ก็เป็นการฝึกมาเบื้องต้นอยู่แล้ว

 

แล้วถ้าหากว่าเราเข้าใจหลักการภาวนาจริงๆ

ไม่ใช่ภาวนาเพื่อมุ่งจะเอาหน้าตา เอาชื่อเสียง

หรือแม้กระทั่งเอามรรคเอาผล

 

แต่เป็นการภาวนา เพื่อที่จะเอาความรู้สึกในตัวตนออกไป

เอาความรู้สึกว่านี่เป็นเราทิ้งไป

ตรงนั้นแหละที่เป็นการคาย เป็นการคืนอย่างแท้จริง

 

ที่ทำมาแบบพุทธทั้งหมดนี่ ถ้าหากว่า

อะไรๆ ถูกสลัดทิ้งออกไปจากใจได้มากขึ้นเท่าไหร่

เหลือแต่ใจที่เบา เหลือแต่ใจที่เป็นอิสระได้

นั่นแหละจุดเริ่มต้นของสมาธิแบบพุทธ

จุดเริ่มต้นของปัญญาแบบพุทธ

จุดเริ่มต้นของสัมมาทิฏฐิ หรือความเข้าใจที่ถูกต้องแบบพุทธ

 

ถ้าใจตอนนี้ของคุณ มีความเบา มีความวาง มีความว่าง

มีความพร้อมสละออก นั่นแหละ คือเริ่มมีความพร้อมรู้แบบพุทธ

 

ความพร้อมรู้แบบพุทธ

ถ้าหากว่าตั้งอยู่ได้ด้วยการหล่อเลี้ยงของวิตักกะ

รู้ลมหายใจได้เรื่อยๆ

คุณจะพบว่าลมหายใจนี้นำไปสู่ การเห็น แบบแยกรูปแยกนาม

___________________

รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน อานาปานสติโดยใช้มือไกด์

ช่วง สวดมนต์ร่วมกัน

วันที่ 30 ตุลาคม 2564

ถอดคำ : เอ้

รับชมคลิป: https://www.youtube.com/watch?v=XrY4uQA8_ls

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น