วันพุธที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

04 วิปัสสนานุบาล วันที่ 13 พย. : รวมฟีดแบค

- ผมได้เห็นว่า "การบ่มสมถะ" ทั้งหมดมันอยู่ในท่าที่สาม ที่ผ่านมาผมไม่ได้ใช้ประโยชน์จากท่าสามเลย แค่ใช้เป็นสัญญาณบอกตัวเองว่า "เริ่มพิจารณาได้แล้วนะ" แต่ตอนนี้ตัวจิต alpha มันเกิดและถูกสั่งสมในอุ้งมือ  ตรงจุดนี้ไม่มีมโนภาพตัวตนด้วยครับ

ดังตฤณ : ดี ฟังแล้วรู้สึกได้นะว่าคุณได้เห็นอย่างนั้นจริงๆ อนุโมทนานะ ทำต่อไป คือเราจะรู้ได้ จะไม่มีอาการที่เราทำผิดจังหวะนะ

 

ถ้าหากว่าเราทำถูกจังหวะ เวลาที่ใจว่าง ใจแยกออกไปเป็นต่างหาก แล้วเรานิ่งรู้อยู่กับมัน นิ่งรู้อยู่กับตรงนั้นได้นานๆ เป็นการบ่มสมถะ พอจิตเคลื่อนออกมาจากความนิ่ง ความว่างตรงนั้น แล้วสามารถรู้สึกได้ว่า กาย เหมือนกับหุ่น เหมือนกับอะไรที่ไม่มีมโนภาพในตัวของเราประกอบอยู่ แล้วรู้สึกถึงความเบา ความใส ความสบายของจิตว่าก็เป็นภาวะต่างหากจากกาย ลมหายใจจะละเอียดแค่ไหน ก็เป็นส่วนของลมหายใจ จะละเอียด จะดี จะเลิศ จะประณีตอย่างไร ก็แค่เป็นธรรมชาติชนิดหนึ่งที่ถูกปรุงแต่งขึ้นมาด้วยภาวะทางใจ

 

ใจประณีตแค่ไหน ก็ยกระดับให้ลมหายใจมีความประณีตตามไปด้วย หรือในทางกลับกัน ถ้าลมหายใจมีความประณีตหล่อเลี้ยงได้นานแค่ไหน จิตก็มีความประณีตได้ยั่งยืนแค่นั้น

 

เราเห็นไปแค่นี้ว่า มันสักแต่เป็นภาวะอะไรอย่างหนึ่งที่ดูไม่ได้มีความน่าติดใจ ไม่ได้มีใครอยู่ในนั้น ไม่ได้มีเจ้าของ ความเป็นเจ้าเข้าเจ้าของภาวะที่ประณีตเหล่านั้น

 

ในที่สุด ใจจะตัดได้จริงๆ ว่า สิ่งเหล่านั้นเป็นของๆ เรา นี่เป็นตัวเรา นี่เป็นตัวใคร ชื่ออะไร จะหายไปจากใจจริงๆ

 

ก็ถือว่าดูจากที่เล่ามา รู้สึกนะว่าเห็นได้ตามนั้นจริงๆ นะครับ

 

- ทำมือไกด์ตามแต่ละท่าน ได้ฝึกไปด้วยสบายตัวมากค่ะ สมองผ่อนคลาย สบายตัว

ดังตฤณ :

 

- คำอธิบายแนวทางการเห็นความง่วงได้ดีเลยคะ ได้รู้ทุกทางของสภาพกายและใจ เพื่อพัฒนาสมาธิขอบคุณมาก ๆ ได้วิธีทางรับกับร่างกายที่ไม่เที่ยงได้คะ

ดังตฤณ : อนุโมทนานะครับที่เข้าใจนะ เพราะถ้าเข้าใจจุดนี้ได้ จะก้าวหน้าขึ้นมหาศาลเลยนะ สำหรับหลายๆ ท่านที่มีปัญหาเกี่ยวกับเรื่องของความง่วงเหงาหาวนอนระหว่างทำสมาธินะครับ

 

- วันที่รู้สึกไม่สบายใจ รู้สึกว่าเห็นลมหายใจได้บ่อยกว่าวันที่รู้สึกปกติธรรมดาครับ

ดังตฤณ : เวลาที่เราไม่สบายใจ หรือมีความทุกข์ ส่วนใหญ่ ใจจะวิ่งหาที่เกาะ วิ่งหาที่พึ่งมากกว่าตอนที่รู้สึกว่าตัวเองดีอยู่แล้ว มีความสุขอยู่แล้ว นี่เป็นเรื่องธรรมดา เป็นเรื่องธรรมชาติ

 

ฉะนั้น ครูบาอาจารย์หลายๆ ท่านจะชี้ให้เห็นประโยชน์ของความทุกข์ ของความที่เราไม่ปกติ มีภาวะทางใจที่ผิดปกติไป ก็เป็นช่องให้ธรรมะเข้าแทรกมาประดิษฐานอยู่ในใจของเราได้มากกว่าวันที่รู้สึกสบาย แล้วก็หลงโลกแน่นอนครับ

 

- วันนี้อจ.ได้สอนมุมมองในการตั้งธงสำคัญ (เพราะปกติถ้าง่วง หรือร่างกายไม่พร้อมจะงดการปฏิบัติ) เช่นพึงให้ได้เห็นประโยชน์ของ ภาวะความง่วง ซึมเซา คือได้ทำให้เห็นความไม่เที่ยงเป็นภาวะหนึ่งของจิต กราบขอบพระคุณ อนุโมทนา สาธุค่ะ

#เราจะเจริญไปด้วยกัน

ดังตฤณ : (หัวเราะ) อนุโมทนาครับ ก็อย่างนั้นเลยนะ คืออยู่ด้วยกันอย่างนี้ อยู่ด้วยกันโดยธรรม อยู่ด้วยกันโดยเส้นทาง ทิศทางของการเจริญสติ แล้วทุกท่านที่ได้เจริญสติ สติเจริญขึ้น ไม่มีข้อสงสัยนะ ทุกอย่างในชีวิตจะดีขึ้นออกมาจากข้างในนะครับ

 

- ปัญหาคนยุคปัจจุบันคือหายใจลึกไม่เป็น บางคนหายใจลึกได้ แต่สติขาดความต่อเนื่อง เมื่อไม่มีวิตก ก็ไปต่ออย่างอื่นยากครับ

ผมเคยลองแล้วครับ หายใจลึกเป็นแต่สุดท้ายจิตไม่ต่อเนื่อง ไม่ถึง 10 นาทีหลับ

ดังตฤณ : ก็ขึ้นอยู่กับหลายๆ อย่างนะ หลายเหตุปัจจัย เพราะบางท่านหายใจลึกไปแล้วจิตรู้สึกถึงลมหายใจ รู้สึกถึงความสบายอย่างเดียว ก็หลับ เพราะว่าเป็นอาการที่จิตรู้สึกว่าไม่ต้องทำอะไรอย่างอื่น

 

แต่ถ้าหากว่าเรายังทรงสติ มีศูนย์กลาง มีตัวตั้งหลักเป็นอิริยาบถปัจจุบันนะครับ นั่งคอตั้งหลังตรง แล้วรู้ว่าขึ้นต้นด้วยอาการอย่างนี้ อิริยาบถคอตั้งหลังตรง

 

พอรู้ลมหายใจเข้าออก จะเห็นไปอีกแบบหนึ่ง มุมมองภายในจะต่างไปอย่างสิ้นเชิง จากเดิมที่รู้ลมหายใจอย่างเดียว รู้สึกถึงความสบาย จนกระทั่งเพลินแล้วหลับไป จะกลายเป็นรู้สึกว่ามีตัวตั้งของสติ ที่เป็นรูปธรรม มีรูปพรรณสัณฐานชัดเจน แล้วก็กำลังมีลมหายใจผ่านเข้าผ่านออก

 

แล้วในอาการผ่านเข้าผ่านออกนั้น มีความสบายกาย สบายใจ เป็นเครื่องประกอบอยู่ เพราะฉะนั้น ตรงนั้นแม้มีความคิดเข้ามาเป็นเจตนาเล็กๆ ว่า สบายดี เดี๋ยวจะหลับแล้ว แค่นี้ เห็นอย่างนี้ ก็จะแยกออกว่าเจตนานั้น ไม่เป็นไปเพื่อเกื้อกูลให้เกิดความเจริญก้าวหน้า

 

แล้วก็จะมีสติรู้ทันว่า นั่นเป็นส่วนเกินที่มาหลอกให้ออกจากสมาธิลงไปสู่ความหลับ เห็นเป็นกิเลสชนิดหนึ่ง เห็นเป็นนิวรณธรรมชนิดหนึ่ง ว่ามันจะมาลวงให้เข้าสู่ความหลับ

 

ก็จะกลับมีสติตื่นขึ้น แล้วก็จะมีความรู้สึกว่าบางทีสำหรับบางคน พอจิตใกล้ๆจะคว่ำลง แล้วมีสติมาทำให้ตื่นขึ้น จะรู้สึกเหมือนหงาย จากอาการคว่ำลงน้ำ กลายเป็นหงายขึ้น เห็นท้องฟ้า ตรงนี้ก็จะเป็นข้อแตกต่าง ระหว่างมุมมองของการอยู่ในสมาธิแบบมีสติ หรือว่าจะมีสติแบบพัก

 

จะมีสติแบบตื่น หรือมีสติแบบพัก ถ้าสติแบบพัก จะไม่ค่อยเอาอะไรเท่าไหร่ พอถึงจุดหนึ่ง บอกว่าสบายแล้วก็หลับเลย แต่สติที่พร้อมตื่น พอถึงจุดหนึ่งที่มีตัวมาหลอก มาล่อว่า หลับเถอะ ก็จะบอกว่า เอ้านี่ .. กิเลส นี่คือนิวรณธรรมชนิดหนึ่ง

 

แล้วสติชนิดนั้นก็จะปลุกให้จิตตื่นขึ้นมา อาจเป็นความต่างแบบที่เป็นจุดตัดเลยนะว่าจะหลงต่อ หรือว่าจะตื่นขึ้น

 

- วันนี้ขยับสองรอบ ปีติเกิดทันที ตอนนี้ปีติยังอยู่เลยค่ะ กราบขอบพระคุณ อาจารย์ตุลย์ ทีมแอดมิน และขออนุโมทนาบุญกับทุกท่านค่ะ จะน้อมนำไปปฏิบัติพัฒนาต่อไป กราบสาธุค่ะ

ดังตฤณ : นี่ก็เป็นอีกคนหนึ่งที่กำลังสมถะดีอยู่แล้วนะ คือพอหายใจแค่ครั้ง สองครั้ง จิตตั้งขึ้นมาเลย วิตักกะ ตั้งชัด ถึงแม้ว่าบางที .. อยากให้คุณสังเกต บางทีวิตักกะของเราเป็นวิตักกะแบบแข็ง คือตั้งขึ้นมาดื้อๆ ด้วยความเคยชิน ด้วยความชำนาญ แต่ถ้าหากว่าเราลากลมหายใจช้า ลากช้า แล้วมีความรู้ชัด วิตักกะของเราจะขึ้นต้นแบบนิ่มนวล

 

แล้วเวลาที่จิตตั้งเป็นสมาธิ จะเปิดมากขึ้น เมื่อกี้อย่างพอขึ้นต้นมา พอวิตักกะของคุณแข็งๆ ต่อไปคงเข้าใจนะ ระหว่างวิตักกะแบบแข็ง กับวิตักกะแบบนิ่มนวล

 

ถ้าวิตักกะแบบแข็ง จิตจะแคบๆ เกร็งๆ ไม่ถึงกับเกร็ง แต่จะตั้งแบบพร้อมที่จะทรงอยู่เป็นหุ่นกระบอก เป็นเหมือนกับทรงกระบอก

 

แต่ถ้าหากว่า วิตักกะมาแบบนิ่มนวล ปรุงแต่งจิตให้มีความนิ่งแบบสว่าง แบบขยายกว้าง จะมีความรู้สึกว่าไม่มีขอบเขต จะไม่เป็นทรงกระบอก ลองสังเกตดูนะ ตั้งแต่นาทีแรก

 

นาทีต่อๆ มาบางทีมีพัฒนาการไป แตกต่างกัน พิสดารตามเหตุปัจจัยในแต่ละวัน แต่ถ้าหากว่าเราสามารถรู้สึกถึง ลากช้า แล้วลมชัด ความช้าแบบพอดี แล้วปรุงแต่งให้วิตักกะนิ่มนวลตั้งแต่นาทีแรกเลย ตั้งแต่สิบวินาทีแรกเลยได้ จะเป็นสมาธิพร้อมใช้ในวิปัสสนา

 

แต่ถ้าแข็งเป็นทรงกระบอก เป็นอะไรที่ตันๆ แบบนั้นจะแค่ทรงนิ่งอยู่เฉยๆ ไปสังเกตด้วยนะ

 

- สัปดาห์ที่แล้ว หลังจากปฏิบัติกับอาจารย์ตอนคืนวันเสาร์ วันรุ่งขึ้นไปเดิน ก็รู้ลมขึ้นมาได้เอง และเห็นหมอกความคิดหายไปเอง ต่างจากเมื่อก่อนที่มีความฟุ้ง เป็น background ตลอดเวลา พอหลังจากวันนั้นก็มีแต่ความอยากให้มันเกิดอีก แต่ก็ไม่เกิดซ้ำบ่อยเท่าวันแรก ก็ยังพยายามทำไปทุกวัน มักจะรู้สึกเท้ากระทบพื้นได้ง่ายกว่าการนั่งสมาธิ และทุกครั้งที่ปฏิบัติก็ยังมีความอยากให้เกิดการรู้ได้เหมือนวันแรกอยู่เสมอ ก็รู้ไป

ดังตฤณ : นี่แหละ ที่ผมบอกไปเสมอเลยนะ ว่าจิตของคุณ ถ้าหากว่าจะไปพยายาม ไม่อยู่กับปัจจุบัน ไปเอาอดีต หรืออนาคตมา ก็จะมีการกระโดด และลืมสังเกตว่าจริงๆ แล้วแค่เราหงายมือ แล้วก็ทำความรู้สึกว่ามือที่หงายอย่างนุ่มนวล มีส่วนดันลมเข้า แค่นี้เราอยู่กับปัจจุบันได้แล้ว เพราะจิตดีขึ้นได้เดี๋ยวนั้นแล้ว

 

แต่การที่เราขึ้นต้นมาด้วยการที่ติดใจ หรือว่า เอ๊ะ วันก่อนทำได้ดีมาก แล้วไปพยายามนึกถึงวันก่อน .. นี่มันเป็นอดีต แล้วเราจะเอาอดีตมาเป็นอนาคตของเรา ก็คือไม่อยู่กับปัจจุบัน ก็จะพลาดไป

 

แต่ถ้าเมื่อไหร่เราระลึกได้แม่นๆ ว่า .. เมื่อไหร่ก็ตาม วินาทีไหนก็ตาม ที่มือของเราอ่อน แล้วก็มีอาการหงายขึ้น ด้วยอาการหงายขึ้นนี้ เราเห็นว่ามีส่วนช่วยดันลมหายใจเข้า

 

แค่นี้ .. เป็นปัจจุบันแล้ว แล้วความสุขนั้นจะมีมากพอที่จะทำให้เราเลิกไปถวิลหาอดีต แล้วก็พุ่งไปหาอนาคตนะครับ จำหลักแม่นๆ .. ปัจจุบันนะ เอาแค่ปัจจุบัน

 ___________________

รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน ช่วง รวมฟีดแบค

วันที่ 13 พฤศจิกายน 2564

ถอดคำ : เอ้

รับชมคลิปhttps://www.youtube.com/watch?v=0bz51QKYsLo

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น