วันเสาร์ที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2565

วิปัสสนานุบาล EP 42 : วันสิ้นปี 2564

พี่ตุลย์ : สวัสดีทุกท่านนะครับ

 

วันนี้เป็นวันสิ้นปี และเป็นอีกวันที่เราจะได้ระลึก เพราะเป็นเทศกาล

เป็นเรื่องเกี่ยวกับเวลาโดยเฉพาะว่า กำลังจะขึ้นต้นอะไรใหม่ๆ

และตรงนี้ หลายๆ คน ถ้าเป็นชาวพุทธ

ก็ได้ทบทวนกันว่า วันคืนล่วงผ่านไป พวกเราทำอะไรกันอยู่

 

ถ้าปีที่ผ่านมา มีความรู้สึกที่วันสุดท้ายว่า ปีที่ผ่านมาคุ้มแล้ว

ชีวิตของคนๆ นั้น ก็จะเกิดความรู้สึกเต็มขึ้นมา อิ่มขึ้นมา

รู้สึกดีว่า เวลาไม่สูญเปล่า

 

แต่ถ้าหากใครรู้สึกว่า ปีที่ผ่านมาโหวงเหวง

ไม่มั่นใจว่าใช้เวลาคุ้มหรือเปล่า

ให้สันนิษฐานไว้ก่อนเลยว่า น่าจะไม่คุ้มนะ

 

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าเรามีใจมาทางพุทธ มาอยู่บนเส้นทางแบบพุทธ

ถ้าเราระลึกว่าวันคืนล่วงผ่านไป เรากำลังทำอะไรอยู่

แล้วเกิดความฉุกใจคิดขึ้นมาว่า เวลาหนึ่งปีที่ผ่านมาเต็มๆ

เราได้ใช้ชีวิตแบบพุทธ ในระดับของทาน ของศีล

หรือในระดับของภาวนาไปมากน้อยแค่ไหน

 

ถ้าหากรู้สึกว่า มีความก้าวหน้า

มีอะไรบางอย่างที่เปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน

ปีที่ผ่านมา ก็เป็นอีกปีที่คุ้มที่สุดในชีวิตได้

 

อย่างถ้าหากว่า ใครมาถึงจุดที่

ทำทาน จนมีความสุข
รักษาศีล จนรู้สึกสะอาด

และภาวนา จนรู้สึกเริ่มปล่อยวาง จิตใสใจเบา

จะเป็นทุกวันในช่วงปีที่ผ่านมา ที่มีความสุขมากกว่าปกติ

เอาพูดว่ามากกว่าคนรอบตัวก็ได้

ที่เขายังไม่รู้จักความสุข ความอิ่มหนำกับ ทาน ศีล และภาวนา

 

ถ้าคนที่มีความสุขอยู่แล้วทุกวัน

ถึงวันสิ้นปี แล้วบอกว่าเป็นวันขึ้นปีใหม่ ขอให้มีความสุข

ขอให้มีความเจริญรุ่งเรืองในชีวิต ก็อาจไม่ค่อยรับรู้เท่าไหร่

เพราะความสุขที่มีอยู่แล้วทำให้รู้สึกว่า

อะไรที่สดใหม่ ไม่ได้เป็นไปตามวัน

แต่เป็นไปตามการสะสมกองบุญกองกุศล ที่เวลาในชีวิตผ่านไป

 

ที่เขาอวยพรกันขอให้มีความสุข

เราจะไม่รับรู้ เพราะมีความสุขอยู่แล้ว

เพราะรู้ว่าคนอวยพร อาจยังลุ่มๆ ดอนๆ และสร้างเหตุปัจจัย

ในแบบที่ จะไม่ได้มีความสุขเต็มที่

ไม่ได้มีความสุขอิ่มหนำ แบบที่ชาวพุทธได้รู้จักกันจริงๆ

 

การที่ขึ้นปีใหม่ ไปถึงวันพรุ่งนี้

แล้วเราเอาความสุขในคืนนี้ ข้ามไปในอีกวันหนึ่งในปีหน้า

เป็นเรื่องที่เราจะรู้สึกด้วยตัวเองว่า นี่เป็นสิ่งที่เราสร้างมา

ไม่ใช่รับคำอวยพรมาจากใคร

และไม่ได้แกล้งหลอกตัวเองว่า อย่างนี้คือความสุข แต่มีความสุขจริงๆ

 

แค่หายใจเป็น มีวิตักกะ

แค่หายใจด้วยจิตเป็นหนึ่งได้ มีวิจาระ

 

แบบนี้ เราไม่ต้องฟังคำอวยพร ไม่ต้องพยายามหลอกตัวเองที่ไหน

แต่รู้ได้ด้วยตัวเองว่า ณ ขณะนั้นเลย ที่มีวิตักกะ วิจาระนั่นแหละ

คือช่วงเวลาที่ชีวิตมีความสุขนะ

 

แล้วปีหน้า หวังว่าหลายๆ คนจะได้อัพเกรด

จากวิตักกะ วิจาระ ปีติ สุข

ไปเป็นการรู้จักกับการที่ใจของเรา

สามารถแยกออกไปรู้ แยกออกไปดู

ว่ากายใจสักแต่เป็นรูปนาม ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่เราเขา

ซึ่งตรงนั้น ที่ความสุขอันยิ่งใหญ่แบบพุทธ

ความสุขที่แท้จริง ที่พระพุทธเจ้า ท่านปรารถนาจะมอบให้พวกเรา

ก็จะมาถึงชีวิตในชาตินี้แหละ ไม่ต้องรอกระโดดไปชาติอื่น

 

(พี่ตุลย์ นำสวดอิติปิโสฯ ข้ามปี และนั่งสมาธิร่วมกัน)

 

เนื่องจากเราไม่ได้อยู่ห้องเดียวกัน อาจไม่ได้ยินเสียงกัน

แต่ขอให้ดูตรงนี้ ที่เราอาศัยบทสวดอิติปิโสฯ

ที่จะทำให้ใจเรา นิ่มนวลลงพร้อมๆ กัน

 

ใจของเรามีความสว่างมีความกระจ่าง

เหมือนได้เข้าเฝ้า พระพุทธเจ้า พร้อมๆ กัน

 

ในวาะดิถีปีใหม่ ถ้าเราอวยพร ขอให้กันและกันมีความสุข

ถ้าใจเรา ต่างฝ่ายต่างไม่มีความสุขจริง

ก็เหมือนกับ ต่างฝ่ายต่างมีคำพูดดีๆ ที่ทำให้รู้สึกดีขึ้นมาชั่ววูบชั่ววาบ

 

แต่ถ้าใจเราสวดอิติปิโสฯ ด้วยกันข้ามคืน

ต่างคนต่างสวด แม้ว่าไม่ได้ยินเสียงกัน

แต่รับรู้ถึงใจที่มีความสงบ สว่าง และระลึกถึงพระพุทธเจ้าพร้อมๆ กัน

 

สิ่งที่จะเกิดเป็นธรรมดาก็คือ

เกิดความรู้สึกว่า ใจเราสงบกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์

 

ถ้าใจใครแนบ มีวิตักกะ วิจาระกับพระพุทธเจ้าผ่านบทสวด

ใจเราที่นิ่ง และแนบกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

จะรู้สึกราวกับ จิตเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์เอง

เหมือนอัญเชิญพระพุทธคุณ มาประดิษฐานในจิต

 

ซึ่งแม้ไม่อวยพรออกไป แต่ก็จะรู้สึกถึง

ความใส ความสว่าง ความกระจ่างที่แผ่ออกเกินตัว

ความศักดิ์สิทธิ์ที่เกิดในจิต จะรู้ได้ด้วยความเป็นสมาธิ

จากความมีวิตักกะ วิจาระ ว่าไม่ใช่ของหลอก

 

ถ้าของหลอกจะรู้สึกแวบเดียว เหมือนอุปาทาน

เหมือนความฝัน แล้วเลอะเลือนไป

แต่ถ้ารู้สึกเป็นจริงจัง ใจจะมีความตั้งมั่น ตั้งอยู่

มีความรู้สึกเป็นอย่างนี้ว่า ใจมีความชุ่มฉ่ำ ใจมีความสบาย

ใจมีความรู้สึกนิ่มนวล ใจรู้สึกว่ามีกำลัง

พร้อมที่จะทำอะไรต่อ ในแบบที่มีอะไรดีๆ

ในแบบที่มีความเป็นพุทธ ในแบบที่เราจะรู้สึกถึงความสว่างโร่

ซึ่งไม่ได้เกิดจากการขอจากใคร

แต่เกิดจากใจของเรามาโฟกัสอยู่กับสิ่งศักดิ์สิทธิ์

นานพอ ที่จะรู้สึกถึงความศักดิ์สิทธิ์ของใจ

 

ในขั้นต่อไป เราจะเอาความศักดิ์สิทธิ์ทางใจ ที่สุขอยู่อย่างนี้

มาต่อยอดด้วยการนั่งสมาธิด้วยกัน

 

เราจะเริ่มเห็นถึงใจที่สงบได้ โดยไม่ต้องฝืน ไม่ต้องลำบาก

จะมานั่งสมาธิด้วยกัน แล้วแต่ใครถนัด

เป็นการเน้นที่จิตที่มีความสงบ สว่าง กระจ่าง อันเป็นปัญญาแบบพุทธ

 

ต่างคนต่างนั่งกันตามถนัดได้เลย จะกินเวลาประมาณสิบนาที

ขอให้พวกเราอยู่กับความสุข ความเจริญที่เราสร้างขึ้นเองอย่างนี้แหละ

(นั่งสมาธิด้วยกัน)

 

การที่เราได้มาทำสมาธิพร้อมกันวันนี้

หลายคนอาจสงสัยว่า ดีผิดปกติ

มีความสว่าง มีความรุ่งเรืองในจิต ต่างจากวันธรรมดา ที่ทำเองคนเดียว

 

ก็ไม่ต้องสงสัย เพราะเวลาที่มีคนที่สามารถ รวมจิตรวมใจเป็นสมาธิได้

มาอยู่พร้อมกัน จะเกิดรัศมีสมาธิเสริมกัน

กระแสของจิต เป็นสิ่งที่สื่อถึงกันได้ ส่งถึงกันได้

ถ้าเกิดบ่อยๆ เกิดประจำ เกิดขึ้นจนคุ้นชิน ก็จะไม่สงสัย

 

แล้วมีประโยชน์อย่างไร?

ขอไกด์ไปโดยรวมเลยนะ

(ตอนนี้ในซูมมีทั้งหมด 98 คน)

ที่ดูคร่าวๆ ส่วนใหญ่จะมีลักษณะของปีติ

ลักษณะของความว่าง และมีความนิ่ง

นี่กล่าวถึงโดยรวมนะ

 

ถ้าหากเรารู้สึกถึงความนิ่งในตัวเอง

รู้สึกถึงความสว่าง ที่เกิดจากภาวะของกายใจนี้ของฝั่งเรา

ดูง่ายๆ เลยนะ เวลาที่ขยายออกนอกตัว

จะขยายได้สองแบบ

หนึ่ง คือรู้สึกว่าใจเราใหญ่ขึ้น

สอง คือมีความรับรู้ว่ามีคนร่วมทำสมาธิกับเราอีกเป็นร้อยคน

(รวม Zoom / Facebook / Youtube)

 

จะสอนให้สังเกต..

 

ถ้ามันขยายออกจากตัวเรา

จิตเราจะใหญ่ขึ้นออกมาจากสมาธิ

ที่เกิดจาก วิตักกะ วิจาระ ในการรู้ลมหายใจตัวเอง

 

แต่ถ้าเรานึกนิดเดียว ณ ขณะที่มีวิตักกะ วิจาระ อยู่กับตัวเราเอง

ที่ตรงนี้ ในท่านั่ง พร้อมกับมีกระแสสมาธิ

มีรัศมีจิตของผู้มีสมาธิอยู่ตรงหน้า อีกเป็นร้อยๆ คน

ความรู้สึกจะไม่เหมือนกัน

 

จะเหมือนเราสัมผัส และสามารถร่วมเป็นส่วนหนึ่งส่วนเดียวกัน

กับพลังที่ใหญ่กว่าเราคนเดียว

 

เพียงแค่เรารู้สึกถึงความตั้งมั่น รู้สึกถึงความสงบ รู้สึกถึงความสว่าง

รู้สึกถึงลมหายใจ ที่กำลังปรากฏผ่านเข้าออกในกายนี้

พร้อมกันกับรัศมีความเป็นสมาธิ รัศมีความสุขที่มาจากภายนอก

จะเหมือนสายน้ำสายหนึ่ง ไหลรวมเข้ากับมหาสมุทรหรือทะเล

 

เดิมเป็นสายน้ำสายเดียว

พอไหลมารวมกับทะเลกว้าง หรือมหาสมุทรภายนอก จะใหญ่ขึ้น

 

มีประโยชน์อย่างไร?

ในเชิงแบบโลกๆ ถ้าเราจะตั้งจิตอธิษฐาน

ขอให้ปีนี้เป็นปีทอง เป็นปีธรรมของกายใจนี้

จงเป็นปีที่สว่างรุ่งเรืองของขันธ์ห้านี้

ร่วมกับขันธ์ห้าอื่นๆ ที่กำลังปรากฏเป็นร้อยๆ

ที่กำลังปรากฏรัศมีความสว่าง ความสุขอยู่ด้วยกัน กระแสเดียวกัน

 

จะมีพลังเสริมกัน ให้เกิดความรู้สึกเชื่อมั่น

จะมีความรับรู้ว่า เราไม่ได้เดินทางนี้อยู่คนเดียว

แล้วจะมีการหลอมรวม เหมือนสายน้ำไปรวมกับทะเล

ไม่มีการแยกน้ำว่าหย่อมน้อยหรือใหญ่ แต่จะรู้สึกเป็นอันหนึ่งเดียวกัน

 

ประโยชน์ในทางโลกคือ

เรารู้สึกว่าตัวเองมีกำลังหนุนเพิ่มมหาศาล

ในทางธรรม ชัดเจนเลยก็คือ

เรารู้ถึงแสงสว่าง แสงรู้ แสงธรรม

ที่จะพาไปสู่ความไม่มีตัวตน ไม่แบ่งเขาแบ่งเรา

 

ตอนที่สมาธิเราชัดเจนว่า

ลมหายใจนี้ ก่อให้เกิดวิตักกะ

ลมหายใจนี้ ก่อให้เกิดวิจาระ

ลมหายใจนี้ พาไปสู่การรับรู้ท่านั่งคอตั้งหลังตรง

ความรู้สึกว่าว่าง ความรู้สึกว่า กายนี้ก็ส่วนหนึ่ง

จิตผู้รู้ก็ส่วนหนึ่ง เห็นแยกเป็นกองๆ เห็นแยกเป็นขันธ์

 

ความรู้สึกแบบเดียวกันก็เกิดที่ภายนอก

ที่รวมศูนย์อยู่ในเพจดังตฤณ หรือห้องวิปัสสนานุบาลนี้ ก็เหมือนกัน

 

จะไม่มีใคร ที่เป็นเจ้าของ

เป็นผู้ครอบครองความสุขกองใหญ่แบบนี้

จะรู้สึกว่า ทะเลแชร์น้ำอยู่ด้วยกัน เป็นน้ำกลุ่มเดียวกัน

เป็นน้ำที่มีความเป็นห้วงแห่งความสุข ห้วงแห่งความสว่าง ความลึก

ห้วงแห่งความใหญ่อันเดียวกัน เสมอกัน

ตัวนี้ที่เป็นประโยชน์ทางธรรม

 

ประโยชน์ทางโลก คือรู้สึกสุขมากขึ้น

ประโยชน์ทางธรรม คือไม่แบ่งเขาแบ่งเรา

มีแต่ความรับรู้เป็นหนึ่งเดียวกัน

ว่าไม่ใช่ธรรมะของใครคนใดคนหนึ่ง

 

พลังการรับรู้ พลังสติที่เกิดขึ้น

จะขยายจิตเราให้ใหญ่ แบบไม่มีตัวตน

หรืออย่างน้อยที่สุดคือ ใหญ่แบบที่ตัวตนเล็กลง จนกระทั่งไม่เหลือ

จิตที่ใหญ่กับอัตตาที่เล็ก หรืออัตตาไม่เหลือ กลายเป็นอนัตตาล้วนๆ

จะเป็นเครื่องหมาย เป็นนิมิตบอกว่า

ปีใหม่ปีนี้ เป็นปีธรรม ของขันธ์ห้านี้อย่างแท้จริง

 

ขันธ์ห้า โดยเดิมไม่สามารถรู้ตัวเองได้ว่า เป็นขันธ์ห้า

เพราะลักษณะการประชุมกันของขันธ์ห้า

ต้องตกแต่ง ปรุงจิตให้เกิดความรู้สึกว่า

ความสุขที่กำลังปรากฏอยู่ เป็นของน่าชอบใจ

 

เมื่อความสุขสามารถครอบงำใจได้

ใจก็หลงยึดไปว่า ความสุขนี้เป็นของน่าเอา เป็นของๆ เรา

เป็นสิ่งที่ควรตั้งตลอดไป

 

แต่ถ้าใจ ถูกปรุงแต่งด้วยสติขึ้นมาก่อน

เห็นว่าความสุขเกิดจากเหตุปัจจัย

เราหายใจยาวได้ต่อเนื่อง จึงเป็นสุข

เรามีความปล่อยที่ใจได้ ใจถึงเบา ถึงใส

ปรุงแต่งให้จิตมีความสุขยั่งยืนขึ้น

 

ความสุขนี้ ถ้าเห็นชัดว่า

มาจากเหตุปัจจัยปรุงประกอบ ยกตั้งด้วยเหตุปัจจัย

ก็รู้สึกแบบฉุกใจคิด หรือดวงจิตเป็นปัญญาสว่างเต็ม

ขึ้นกับใครจะมีกำลังถึงไหน

ถ้าจิตมีปัญญาสว่างเต็ม กระจ่างชัดว่า

สุขนี้เป็นของที่มีเหตุปัจจัย

ไม่ได้อยู่ด้วยตัวเองตามลำพัง

 

ตัวแสงสว่าง แสงรู้ จะเข้าใจว่า

ความสุข เป็นของแตกดับได้ตามเหตุปัจจัย

เพราะเกิดจากเหตุปัจจัย ที่เอาแน่นอนไม่ได้

เดี๋ยวมาประชุมกัน เดี๋ยวไม่ประชุมกัน

บางวันจึงสุข บางวันจึงทุกข์บ้าง

 

แล้วพอประกอบร่างเป็นสุขได้พักหนึ่ง

เดี๋ยวก็ต้องหายไป เพราะเหตุปัจจัย ถูกบีบคั้น

เช่นร่างกายไม่สามารถหายใจยาว ได้ตลอด

หรือภาวะทางใจ ไม่สามารถรวมศูนย์อยู่กับที่ได้นิ่งๆ เสมอไป

 

เห็นแบบนี้ ความสุขจะปรากฏเป็นของไม่เที่ยงขึ้นมา

จะมีความเข้าใจ มีปัญญาที่ออกมาจากจิต

ว่าของสิ่งนี้ไม่เที่ยงแน่ๆ เกิดจากเหตุปัจจัย ประกอบอยู่

 

พอเรารู้เราดูว่าความสุขนี้ กำลังปรากฏเพราะเหตุปัจจัย

ณ เวลานี้ ณ จุดนี้ พอมีสติ

รู้ว่า กำลังมีความสุข หายใจออก

รู้ว่า กำลังมีความสุข หายใจเข้า

 

ในลมหายใจเข้าออกนี้เอง

จะรู้สึกว่า ไม่มีตัวใครอยู่ในนี้ขึ้นมา

มีแต่ภาวะ ปรากฏรู้ภาวะ

มีแต่จิต ปรากฏรู้ว่ากำลังสุขอยู่

ในสุขนี้ กำลังหายใจออก ในสุขนี้ กำลังหายใจเข้า

ไม่มีคนที่เป็นเจ้าของความสุข และไม่มีคนที่กำลังหายใจ

 

เวลาเราสามารถรับรู้ว่า

กายนี้ใจนี้ เป็นขันธ์ห้า ธาตุหก แยกจากกันเป็นชั้นๆ

พอมารวมกัน เหมือนมหาสมุทร ที่เกิดจากการรวมสายน้ำเป็นร้อยๆ สาย

เป็นมหาสมุทร ที่มีความสว่างในตัวเอง

เกิดจากความสว่าง นับร้อยดวงมาประสานกัน

 

จะเกิดภาวะผู้รู้ ผู้ไม่มีใครเป็นเจ้าของ

มีแต่ภาวะอะไรอย่างหนึ่ง ที่กำลังปรากฏชัดต่อจิต

และภาวะนั้น ไม่มีความเข้าข้างตัวเอง

ไม่มีอาการเอียงข้างเข้าตัวเอง

 

เหมือนมหาสมุทร ไม่เข้าข้างกลุ่มน้ำ ที่พื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง

ไม่เข้าข้างคลื่น ลม หรืออากาศว่างที่อยู่เหนือคลื่น ในจุดใดจุดหนึ่ง

มีแต่ความเป็นองค์รวม มีแต่การเป็นองค์ประกอบ รวมเป็นหนึ่งเดียวกัน

 

ลักษณะของความเป็นหนึ่งเดียวกันนี้

ก็คือธรรมชาติ คือภาวะ คือความไม่ใช่ตัวใคร

และความเป็นหนึ่งเดียวกัน ณ ที่เรารู้อยู่วินาทีนี้

คือความเป็นจิตผู้รู้

 

จิตผู้รู้ ดูดีๆ นะ ไม่มีตัวใคร

มีแต่ภาวะรู้ ออกมาจากธาตุรู้

ซึ่งเป็นธาตุเดียวในจักรวาล ที่สามารถไปรู้สิ่งอื่น

 

ตอนนี้ มาถึงจุดที่ ถ้าหากว่า ขันธ์ห้า เป็นร้อยๆ กองมารวมกันแบบนี้

ด้วยความเป็นจิตผู้รู้ผู้ดูเสมอกัน เหมือนไม่มีความรู้สึกรู้สา

เหมือนมีใครอีกคน ที่แยกออกไปจากความเป็นพวกเรา

 

จิตผู้รู้ ที่ผสานกันอยู่ จะมีความใหญ่ ตั้งมั่นขึ้นมา

เรียกว่า เป็นการเอาขันธ์ห้า มารวมปัญญากัน มารวมสติกัน

กลายเป็นผู้รู้ ที่ใหญ่กว่าความเป็นตัวเรา

ใหญ่กว่าผู้รู้ที่ทำคนเดียว แยกเดี่ยวต่างหาก

 

จิตผู้รู้ เวลามีความรวม มีความตั้งมั่นขึ้นมา

อย่างที่พวกเราเห็นพร้อมๆ กันไปนี่แหละ เหมือนมันจะบอกตัวเองว่า

มีแต่สภาวะ ที่เรียกกันว่าสภาวะธรรม

มองเห็นเข้ามาที่ชั้นในสุด มองเห็นเข้ามาที่ตัวตั้งสรรพสิ่งทั้งปวง

ก็อยู่ตรงนี้ .. ตรงที่

จิต รู้ตัวเองว่าเป็นจิต

วิญญาณธาตุ รู้ตัวว่าเป็นวิญญาณธาตุ

เงาใสๆ ที่อยู่เบื้องหลังธาตุทั้งปวง ขันธ์ทั้งปวงมีลักษณะอย่างนี้

ไม่มีรูปทรง ไม่มีสีสัน ไมมีอะไรเลย

มีแต่ความโปร่งใส ใสอย่างรู้ ว่างอย่างรู้

 

เมื่อเราเข้าไปถึงความใสอย่างรู้ ว่างอย่างรู้

ภาวะอะไรที่ปรากฏอยู่ตรงนี้ เช่นระลึกว่าอยู่ใน ท่านั่งคอตั้งหลังตรง

ท่านั่งคอตั้งหลังตรง ก็สักแต่เป็นธาตุดิน

มีลมหายใจ พัดเข้าออกอยู่ในธาตุดินนี้ ก็สักแต่เป็นธาตุลม

 

ถ้าใจใส ใจสว่าง แผ่ออกไปในอากาศได้

ก็จะรู้สึกถึงพื้นที่ว่างรอบตัว ที่เราอาศัยนั่งอยู่

สำหรับบางคน จะรู้สึกถึงขอบเขตในห้องว่าง

บางคนทะลุไปไกลสุดขอบฟ้า เหมือนมีความกว้างใหญ่เท่าจักรวาลขึ้นมา

 

จิตผู้รู้ผู้ดูชั้นต่างๆ ที่กำลังปรากฏอยู่ ไม่มีความยินดียินร้าย

มีแต่ความตั้งมั่นรับรู้ว่า ทั้งหลายทั้งปวง แค่ของประกอบประชุมกัน

ไม่ได้มีก้อนตัว ก้อนใคร ก้อนอัตตาใด ชื่ออะไรนามสกุลอะไร

 

ถามเข้าไปที่ธาตุดิน ณ ขณะนี้ มีหัวมีตัวมีแขนมีขา ชื่ออะไร

บางคนเห็นทะลุเข้าไป ถึงความเป็นกระดูกซี่โครง

ส่วนของกระโหลก ส่วนของแขนขา

 

ถ้าใครเห็นธาตุดินนี้โดยความเป็นโครงกระดูกได้

จะยิ่งชัด .. ชัดออกมาจากจิตที่มีความตั้งมั่นเลยว่า

โครงกระดูกนี้ไม่มีชื่อจริง ไม่มีชื่อเล่น ไม่มีนามสกุลใดๆ ทั้งสิ้น

มีแต่ความเป็นซี่ๆ ทิ้งลงพื้นเมื่อไหร่คนก็จำไม่ได้เมื่อนั้น

ว่าเคยประกอบประชุม เป็นร่างหน้าตาของใคร

 

แล้วพอรู้สึกเข้ามาที่ความเป็นธาตุลม

มีอาการพัดเข้าพัดออกอยู่

อาการพัดเข้าพัดออก ไม่ต่างจากลมพัดใบไม้ใบหญ้า

ก็ไม่มีชื่อนามสกุลเหมือนกัน

ไม่มีความเป็นใคร ตระกูลไหน หน้าตาอย่างไรอยู่

 

จิตผู้รู้ผู้ดู อยู่อย่างเป็นกลาง จะเห็นทะลุปรุโปร่งว่า

ความไม่มีใคร ไม่มีชื่อ กำลังปรากฏแสดงอยู่ตรงนี้ชัดๆ

แม้อากาศว่าง ที่เป็นส่วนประกอบหนึ่งที่ขาดไม่ได้

ต้องเป็นที่ตั้งของธาตุดิน และธาตุลม

ยิ่งไม่มีชื่อใครนามสกุลใครแปะอยู่เข้าไปใหญ่

 

ถ้าหากเข้ามารู้ชั้นสุดท้าย ตัวที่กำลังรู้กำลังดูอยู่นี้

ที่มีลักษณะส่องสว่าง มีลักษณะใส ไม่มีหน้าตาใคร ไม่มีรูปทรงสีสัน

ถามว่า จิตผู้รู้ผู้ดูอยู่อย่างนี้ ชื่ออะไร มาจากตระกูลไหน

ก็จะบอกตัวเองได้ ณ ขณะนี้เลยว่า ไม่มีใครจริงๆ ด้วย ไม่มีชื่ออะไรจริงๆ

มีแต่ภาวะชั่วคราวที่ ปรากฏเป็น ผู้รู้ผู้ดู

บางคนอาจพบว่า เป็นเรื่องน่าตกใจว่า

ภาวะผู้รู้ผู้ดู จริงๆ มีอายุสั้นอยู่แค่เดี๋ยวเดียว

 

เมื่อกี้จิตผู้รู้ อยู่ในฐานะผู้รู้เสียง เรียกว่า เป็นจิตรู้เสียง

แต่พอเสียงเงียบลง ก็กลายเป็นจิตผู้รู้ความเงียบ

ความต่างไปของอาการรับรู้ ก็คือการที่จิตดับไปแล้ว

ดับจากความรู้เสียง ไปสู่ความไม่รู้เสียง

ดับจากความไม่รู้เสียง กลับมาเป็น จิตที่มีความรู้เสียง

 

เหมือนกันกับทั้งชีวิต ที่เกิดดับๆ ตามอาการที่มีความตั้งใจเล็งไป

จิตไปรู้รูป เรียกว่าจักขุวิญญาณ

จิตไปรู้เสียง ก็เรียกว่าเป็นโสตวิญญาณ

หรืออย่างตอนนี้ ถ้าความคิดเกิดขึ้น ก็เรียกว่า มโนวิญญาณ

มโนวิญญาณไปรู้ความคิด

 

ตกลง จิตผู้รู้ผู้ดู เกิดดับๆ ตลอดเวลา ตามเหตุปัจจัยมากระทบ

ให้เกิดการรับรู้สิ่งใดสิ่งหนึ่งขึ้นมา ตามอายตนะทั้งหก

 

เมื่อจิตมีความตั้งรู้ตั้งดูอย่างนี้ อย่างที่หลายๆ คนพอมีอาการตั้งรู้อย่างนี้

จิตไม่เคลื่อนไปไหน รู้แค่สิ่งที่กำลังปรากฏให้รับรู้

อย่างเช่น รับรู้เสียง หรือความเป็นธาตุดิน

ท่านั่งคอตั้งหลังตรง ประกอบพร้อมไปด้วย

รับรู้ถึงธาตุลมที่พัดเข้าพัดออกในธาตุดิน ประกอบพร้อมไปด้วย

 

จะเห็นหมดเลยว่า สิ่งเหล่านั้นปรากฏโดยความเป็นสภาวะ

ไม่มีความรู้สึกว่ามีตัวใคร หรือมีตัวตนอยู่ในสิ่งเหล่านั้นเลย

 

(กล่าวปิดท้ายรายการ)

 

คืนนี้ เป็นคืนที่รู้สึกดี ดีมากๆ

ไม่ใช่เพราะเป็นวันที่ ๑ มกราคม วันขึ้นปีใหม่ของชาวโลก

แต่เพราะได้รู้สึกว่า นั่งสมาธิร่วมกันกับทุกคน

สัมผัสถึงความเจริญ สัมผัสถึงความสว่าง

สัมผัสถึงความรุ่งเรืองที่ออกมาจากฐานชีวิตแต่ละคน ที่ถูกยกระดับขึ้นมา

 

ก็เป็นจุดที่ไม่ต้องอวยพรกัน ไม่ต้องมาปั้นแต่งคำพูดกัน

แต่เอาแค่สิ่งที่เกิดขึ้น เอาตัวที่เป็นความจริงที่อ้างอิงได้

ว่าแต่ละคนรู้สึกดีกับชีวิตตัวเองมากขึ้น

รู้สึกดีว่า ตัวเองมีสิทธิ์ที่จะไปถึงความเป็นพุทธที่แท้

เอาแค่นี้ ยิ่งกว่าล้านคำอวยพรของคนทั้งโลก มากองรวมกันแล้วนะครับ

 

เอาเป็นว่า เรามาทำให้ความสุขแบบนี้ยั่งยืน

หรือพัฒนายิ่งๆ ขึ้นไป ในปีที่กำลังจะมาถึง

 

ตลอดทั้งปีนี้ ผมเชื่อว่าจะมีการเปลี่ยนแปลง

ในทางที่เราจะได้ประโยชน์ร่วมกัน

แล้วก็สร้างประโยชน์ ให้กับพุทธศาสนาในไทยโดยรวม ร่วมกัน

 

คำว่าประโยชน์สุข จะชัดเจนกระจ่างขึ้นเรื่อยๆ

เวลาที่ใจเราเบิกบาน มีขนาดของความเบิกบาน

มีขนาดของความสุขมากขึ้นๆ

จนถึงจุดหนึ่ง ที่ความสุขนี้ไปเจอวิธีที่จะพ้นทุกข์

 

ความสุขที่แท้จริง เวลาที่ขยายขนาดถึงที่สุด

จะไปชนเขตของการพ้นทุกข์

 

ต้นเหตุของความพ้นทุกข์

การไม่มีทุกข์อีกเลย

นั่นแหละคือต้นเหตุของสุขที่แท้จริงตลอดกาล

 

ปีใหม่นี้ ดีใจร่วมกันนะครับว่า

พวกเรามาถึงจุดนี้ได้ ไม่ใช่บังเอิญแน่นอน ฝีมือล้วนๆ นะ

 

------------------

(Streamyard)

เอก

 

พี่ตุลย์ : เวลาลากลมออก .. เวลายกมือลง แยกมือออกจากกันนิดหนึ่ง

เพื่อให้รู้สึกว่า ฝ่ามือทั้งสองประคองลมออกมา ไม่อย่างนั้น

หลายท่านเลย เวลายกแบบที่มือประสานกัน จะเหมือนกดลมลงมา

(หมายเหตุ : หมายถึงตอนยกขึ้นสุด หากปลายนิ้วทั้งสองมือชิด หรือประสานกัน ตอนลากลมออก คว่ำฝ่ามือ ให้แยกมือออกจากกันนิดหนึ่ง)

 

ความต่างนิดเดียวนะ แต่ผลในใจจะแตกต่างมหาศาลเลย

ให้ทำความรู้สึกว่าฝ่ามือทั้งสองประคองลมออกมา ลากลมออกมา

พอตัวเบาใจเบา ให้กำหนดรู้ว่า ณ ขณะนั้นคือความรู้สึกเป็นสุข

พอมีความสุขหายใจออก จะรู้สึกว่า

ความสุขอยู่ข้างหลัง ลมหายใจอยู่ข้างหน้า

 

รู้ว่าสุข หายใจออก รู้ว่าสุข หายใจเข้า

 

ตรงนี้สำคัญมาก คีย์ของอานาปานสติ ที่จะแยกรูปแยกนาม

หลายๆ ท่านคงจะได้เห็นนะครับว่า เริ่มต้นจากตรงนี้แหละ

 

ถ้าเรารู้ว่า มีความสุขหายใจออก รู้ว่ามีความสุข หายใจเข้า

จะรู้สึกว่า ความสุขกับลมหายใจ เป็นคนละอันกัน เป็นคนละส่วนกัน

 

ตอนวางมือกับตัก ขอให้นับ หนึ่ง สอง สาม

แล้วนึกถึงมือที่วางบนตัก เสมอกับมือที่มีอยู่ในใจ ตอนลดมือลง

 

อันนี้บอกทุกคนเลยนะ เป็นส่วนสำคัญนะครับ

คือพอเราวางมือลงมาบนหน้าตัก แล้วนับ หนึ่ง สอง สาม

ใจจะไม่เร่งเอาลมหายใจเข้าใหม่

 

จะเห็นว่า พอใจไม่เร่งเอาลมใหม่ จะรู้สึกว่าจิตเต็มดวงขึ้น

นั่นเพราะมีสติต่อเนื่องเต็มรอบขึ้น

 

จะเห็นว่า พอฝ่ามือลดลงมา ฝ่ามืออยู่ในใจเรา ใจเรายังนิ่งอยู่

แต่พอวางมือบนหน้าตักปุ๊บ ของคนส่วนใหญ่จะมีอาการฟุ้งซ่าน

มีอาการรอลมหายใจ ครั้งต่อไป

 

ที่ถูกแล้ว ใจยังต้องอยู่ที่ฝ่ามือที่วางบนหน้าตักอยู่นะครับ

 

ถ้าใจยังอยู่บนฝ่ามือที่หน้าตัก แล้วไม่มีอาการรอลมหายใจครั้งต่อไป

ก็จะเกิดความรู้สึกเต็มรอบขึ้นมา คือมีความสมูท มีความต่อเนื่องของสติ

ทั้งลากลมเข้า ทั้งรู้สึกถึงความว่าง แหงนหน้าสุด

ทั้งลากลมออก ทั้งวางมือ

 

สี่จังหวะนี้ ถ้ามีความสม่ำเสมอได้ สติจะมีความคงเส้นคงวาขึ้นมา

 

รู้สึกใช่ไหม เวลาที่เราวางมือลงมา จิตเต็มขึ้น

รู้สึกมีความต่อเนื่องขึ้น

ตอนวางมือลงมาแล้วนับ หนึ่ง สอง สาม

ใจจะไม่รอลมหายใจ เข้าครั้งต่อไป ใจมีความสงบลง

ให้คุณเอกย้อนกลับมาดูอีกที

ถ้าหากว่าเข้าใจ หลักการตรงนี้แล้ว จะไม่ยากนะ

ที่ทำมานี่ เข้าที่เข้าทางแล้ว

------------------

โจ

 

โจ : ในระหว่างวันเหมือนมีความเปลี่ยนแปลงเยอะอยู่

ก่อนหน้านี้ จะเหมือนกับมีอะไรมากระทบใจง่าย

แล้วก็หลงไปกับสิ่งนั้นได้ง่าย ไม่ค่อยมีสติ

แต่หลังจากที่ได้ไกด์จากพี่ตุลย์ และลองเดินจงกรมด้วย

ก็จะรู้สึกในระหว่างวันแทรกเข้ามา

เหมือนรู้ว่าตอนนี้กำลังทำอะไรอยู่มากขึ้น

กำลังเดินอยู่ ทำอะไรอยู่ ก็จะแว้บเข้ามา

บางทีก็อยู่ได้ยาว บางทีก็หลุดไปบ้าง

 

พี่ตุลย์ : อยากให้สังเกตนะ

เมื่อก่อน เราจะไม่พอใจทั้งตัวเอง และไม่พอใจทั้งสิ่งที่มากระทบ

เมื่อก่อนที่ sensitive จะ sensitive จากความไม่พอใจอะไรได้ง่ายๆ

แต่ตอนนี้ จะมีความรู้สึกขึ้นมาว่า เรานิ่งขึ้น

และความรู้สึกในตัวตนที่นิ่งขึ้น รู้เนื้อรู้ตัวมากขึ้น

ก็จะมีความรู้สึกในอัตตา แตกต่างไปจากแต่ก่อน

 

แต่ก่อนเป็นอัตตาแบบมั่วๆ ไม่มีตัวตนที่ชัดเจน เหมือนพลิกกลับไปกลับมา

โดยที่เราไม่รู้ว่าวันไหนจะเป็นอัตตาแบบไหน อัตตาแบบเล็กหรือแบบใหญ่

แต่พอเราเริ่มทำสมาธิเป็น จะมีอัตตาอีกแบบ ที่คงตัวมากกว่าเดิม

เป็นอัตตาแบบที่เรารู้สึกว่า เราพัฒนาตัวเองขึ้นมา มีความสว่างขึ้น

 

อย่างไรก็ตาม ตรงนี้ยังไม่ได้มีสิ่งที่ชี้ชัดว่า

ในทางการภาวนา ในการเจริญสติ มีขึ้นลงแค่ไหน แต่อัตตาแตกต่างไป

และความไม่พอใจที่เกิดขึ้น จะตรงความจริงมากขึ้น

หมายความว่า เวลามีเสียง มีภาพมากระทบ แล้วเกิดความไม่พอใจ

จะเป็นความไม่พอใจที่รู้ว่า ตัวเรากำลังไม่พอใจกับสิ่งที่มากระทบ

แต่ไม่ใช่อยู่ๆ จะไม่พอใจตัวเองขึ้นมาเฉยๆ

อยู่ว่างๆ รู้สึกเซ็งชีวิต หรือไม่พอใจตัวเองแบบแต่ก่อน

 

เมื่อก่อน เอาแน่นอนไม่ได้ว่าอัตตาแบบไหนจะโผล่ขึ้นมา

แล้วเราจะเกิดความพอใจ หรือไม่พอใจ

บางทีคิดเองเออเอง ก็เกิดความพอใจขึ้นมาได้ ในช่วงที่กำลังหลอกตัวเอง

 

แต่ตอนนี้อาการฝันหวาน หรือหลอกตัวเองน้อยลงมาก

พูดง่ายๆ ใจมี connection กับโลกภายนอก กับความจริงมากขึ้น

จิตมีความเต็มมากขึ้น เปิดพร้อมที่จะรับความจริงมากขึ้น

 

อย่างเวลามีภาพเสียงอะไรมากระทบเราให้ไม่พอใจ

เราจะเป็นคนธรรมดาคนหนึ่ง ที่ไม่พอใจกับสิ่งนั้น

 

ทีนี้ ความรู้เนื้อรู้ตัวว่า ฉันไม่พอใจในสิ่งกระทบ เกิดขึ้นบ้าง

แต่ยังเป็นคนธรรมดา

 

ถามว่า ดีขึ้นไหม อัพเกรดขึ้นไหม?

 

อัพเกรดขึ้นมา เพราะจากเดิม

มีอัตตา ที่เสี่ยงผิดเสี่ยงถูก ที่คาดเดาไม่ได้

เราเองไม่สามารถพยากรณ์ได้ว่า

วันนี้ ตื่นขึ้นมาแล้วเราจะรู้สึกอย่างไร

หรือมีอัตตาแบบไหน แบบเล็กหรือใหญ่

จะฝันหวานหรือรู้สึกไม่ดีกับตัวเอง

แต่ตอนนี้ เริ่มมีความคงที่มากขึ้น

 

เพียงแต่การอัพเกรดนี้ จะอัพเกรดขึ้นมา

ให้เราเป็นเพียงคนธรรมดาคนหนึ่ง

ที่มีสติ ปกติเหมือนคนอื่นเขา

เราจะเข้าใจโลก เข้าใจตัวเองมากขึ้น ไม่ใช่หลอกตัวเอง

 

แต่อย่างตอนที่มาเจริญสติ นั่งสมาธิ เดินจงกรมก็ตาม

อันนี้ต้องสร้างต้นแบบจิตแบบพุทธ

ต้นแบบของจิต ที่มีอานาปานสติเป็นเครื่องยืน

คือทำแบบนี้ ถูกทางแน่แล้ว เพราะอัพเกรดขึ้นมา

 

นี่พูดเฉพาะในระหว่างวัน เราเท่ากับคนธรรมดาทั่วไป

ซึ่งถ้าเป็นเมื่อก่อน นี่คือสิ่งที่เราปรารถนาแล้ว เราอยากเข้าใจโลก

อยากให้โลกมองเราแบบที่เราจะรู้สึกว่า เป็นคนธรรมดา

ไม่ใช่บางวันเป็นคนพิเศษ

ไม่ใช่บางวันเป็นคนที่ราวกับลืมตาอ้าปากไม่ขึ้น

 

นี่คือพูดในระหว่างวันเราดีขึ้นมา แต่ดีขึ้นมาในระดับเท่ากับคนทั่วไป

 

แต่เราสามารถดีได้มากกว่านี้

เพราะนี่ทำมาแค่ไม่กี่เดือน

ขึ้นมาถึงระดับที่เราพอใจได้

 

แต่ก่อน เราต้องการแค่นี้แหละ

แต่ตอนนี้ จะเห็นว่า ตัวเองดีได้มากกว่านั้นแล้ว

 

พอเรามาถึงจุดที่เรารู้ว่า ตอนนี้ เราพอใจแล้ว

เส้นทางที่ยกเราขึ้นมาได้อย่างรวดเร็ว

จะกลายเป็นความรู้ใหม่ว่า ที่จริงไปได้ไกลกว่านั้นเยอะ

 

เส้นทางที่พระพุทธเจ้าปูทางไว้นี้ ไปได้ถึงที่สุด

แล้วถามว่า ที่จะต้องทำต่อ ทำอย่างไร

 

ก็นั่งสมาธิ เดินจงกรมนี่แหละ สร้างต้นแบบจิต

แล้วก็ เอาไปเจริญสติจริงๆ ในชีวิตระหว่างวัน

คือไม่ใช่แค่มานั่งสมาธิ

 

ตอนนั่งสมาธิ เดินจงกรมจะง่าย เพราะไม่มีเสียงที่ไม่พอใจ

หรือไม่มีเรื่องอะไรที่ต้องคิด ต้องสับสน

 

แต่ตอนนั่งสมาธิ ต้องดูนิดหนึ่ง คือจิตนิ่งแล้ว นิ่งได้

แต่ความนิ่ง เราสังเกตดูว่า โฟกัสเราไปอยู่กับความนิ่งมากไปไหม

เพราะเวลานิ่งจะไปพยายามดูธาตุดิน

แต่กำลัง .. ลมหายใจ ยังไม่ชัดพอเป็นเครื่องกำกับสติ

 

ไม่ได้ห้ามนิ่งนะ สนับสนุนด้วย ทุกคนนะครับ

ไม่ต้องใช้มือไกด์ตลอดไป มีจังหวะนิ่งบ้างก็ดี

แต่ให้สังเกตว่า ขณะนั้น ลมหายใจเป็นอัตโนมัติหรือยัง

 

ลมหายใจ ความยาว เป็นจังหวะจะโคน

เทียบเคียงกับท่าหนึ่งเป็นอย่างน้อย

ถ้าลมหายใจมีความชัด จะมีประกันให้อุ่นใจว่า

จะเกิดภาวะในใจอย่างไรก็ตาม

จะนิ่ง จะรู้ หรือปรุงแต่งฟุ้งซ่านอย่างไรก็ตาม

อย่างน้อย จะมีเครื่องกำกับสติ

 

อย่างที่ฝึกกัน มีความสุขหายใจออก มีความสุขหายใจเข้า

หรือถ้าฟุ้งซ่าน ก็ฟุ้งซ่านหายใจออก ฟุ้งซ่านหายใจเข้า

ตัวนี้ถ้าเป็นหลักตั้งได้ พอเกิดความฟุ้งซ่านมา ก็ตอนนี้กำลังฟุ้งซ่าน

รู้ว่า ฟุ้งซ่านหายใจออก รู้ว่าฟุ้งซ่าน หายใจเข้า

จะได้แน่ใจว่า สมาธิเราไม่ได้นิ่งเฉย ไม่ได้ฟรีซ

 

พี่เข้าใจว่าตอนนี้เรารู้สึกนิ่งได้ และรู้สึกดีด้วย

เพราะเมื่อก่อน ไม่สามารถทรงตัวได้แบบนี้

แต่อานาปานสติจริงๆ ต้องการมากกว่าความนิ่ง

ต้องการหลักประกันว่า แต่ละครั้งที่หายใจเข้าออก

เรารู้ไหมว่าข้างในกำลังเป็นอย่างไร

 

เริ่มต้นจากความสุขนี่แหละ

มีความสุข หายใจออก มีความสุขหายใจเข้า

ถ้าได้เป็นตัวตั้ง แล้วเราเห็นอย่างนั้นไปเรื่อยๆ จะติดไประหว่างวันด้วย

 

อย่างตอนนี้ โทสะจะเบาลงกว่าโทสะแบบมั่วๆ แบบสมัยก่อน

แต่ยังเป็นโทสะ ที่มากับอัตตาของคนปกติ

คือตอนนี้เรายกระดับมาเป็นคนธรรมดาได้แล้ว

 

ทีนี้ คนธรรมดา เวลารับกระทบก็ไม่พอใจ ก็หงุดหงิด

จะฟึดฟัดอย่างน้อยก็ข้างใน

ถึงแม้บางทีจะอั้นไว้ ไม่ตอบโต้ แต่จะมีโทสะที่ดูยากอยู่

 

ถ้ามีลมหายใจเป็นเครื่องกำกับ

โกรธหายใจออก โกรธหายใจเข้า

รู้ไปพร้อมกัน โทสะจะสลายตัวไปให้เห็น

แบบมีสติรู้ว่า โทสะนั้น หายไปจากจิต

 

โทสะเกิดในจิต รู้ว่ากระทบมา ถึงได้เกิดโทสะ

หายใจออก หายใจเข้า และเห็นพร้อมกันไปด้วย

จะรู้เลยว่า แค่หายใจออก หายใจเข้า โทสะจะหายไปให้เห็น

และมีสติเห็นว่า โทสะเกิดเมื่อไหร่หายไปเมื่อไหร่ด้วย

นี่คือคุณค่าที่สุดของอานาปานสติ

 

เมื่อเรานั่งสมาธิ สร้างต้นแบบของจิตไว้ได้แล้ว

เวลาอยู่ในชีวิตประจำวัน จะเห็นแบบนี้ไปได้ด้วย

------------------

หลิน

 

พี่ตุลย์ : พอจิตเบิกบาน ขยายออกไป ให้รู้ที่จิตแบบนั้น

ที่กำลังปรากฏอยู่เดี๋ยวนี้ ที่มีความรวมศูนย์

ตั้งศูนย์อยู่ตรงกลาง ขยายออกไป สว่าง เบา รู้ที่จิตแบบนั้นพร้อมกันไป

 

รู้ที่จิต หายใจเข้า

รู้ที่จิต หายใจออก

รู้ที่จิต หายใจเข้า

 

ตัวที่เกิดความรู้ว่า จิตเป็นแบบนี้

มีความใส มีความเป็นวงกว้าง

มีฐานที่ตั้งรวมศูนย์อยู่ตรงกลาง มีความสว่าง

 

พอเรารู้ชัดว่า จิตเป็นอย่างนี้ แล้วหายใจเข้า

จิตเป็นอย่างนี้ แล้วหายใจออก ตัวความคิดสงบระงับลงไป

แล้วรู้ว่า มีสติเห็นว่าจิตก็ส่วนหนึ่ง เห็นว่าลมหายใจก็ส่วนหนึ่ง

ตรงนี้คือลักษณะของการที่ รูปนามแยกออกจากกันให้ดู

 

เรารู้สึกถึงลักษณะของความเป็นจิตอย่างนี้อยู่ หายใจเข้า

ลักษณะของจิตเป็นอย่างนี้อยู่ หายใจออก

จะมีความคงเส้นคงวา มีความคงที่

ความคงเส้นคงวา หรือความคงที่นี่แหละ

ที่เราเรียกกันว่า เป็นการพอกกำลัง สร้างฐานให้ตั้งมั่นขึ้นมา

 

ความรู้สึกตั้งมั่นหน้าตาเป็นอย่างไร?

 

เวลาเรามองคนอื่นที่เข้าสมาธิ เราจะเห็นได้ว่า

มีความรู้สึกอย่างหนึ่ง ที่ตั้งอยู่ตรงกลาง ไม่เคลื่อน

ตรงที่ไม่เคลื่อน คือตรงที่จิตได้ฐานที่ตั้งของมัน มีจุดรวมศูนย์

 

จิตที่ตั้งมั่นนี้ เวลาที่ความคิดแผ้วผ่านในหัว

จะรู้สึกว่า เหมือนกับมีฐานที่ยืน ที่ทำให้จิตไม่หวั่นไหวง่าย

 

เปรียบเหมือน ถ้าจะเทียบเคียง จะคล้ายคนที่ยืนขาเดียวอยู่

หากว่า ฐานที่ตั้งโยกเยก จะล้มง่ายเลย

 

เปรียบเหมือนจิตคนธรรมดาทั่วไป

ยืนขาเดียวด้วย และอยู่กับฐานที่โยกเยกด้วย แป๊บเดียวก็ล้ม

คิดถึงเด็กที่เล่นแทมโบลีนก็ได้ ยืนบนผ้าใบ ที่เพื่อนขย่มไปมา

ตัวก็ลอยไปมา หรือล้มได้โดยไม่ต้องผลัก

 

แต่ถ้าหากเราได้ฐานที่ยืนบนพื้นซีเมนต์ ที่ราบเรียบ แล้วยืนสองขาด้วย

แบบนั้น จะมีความรู้สึกว่าได้บาลานซ์ ได้ความมั่นคงของพื้น

ใครมาผลักเบาๆ ก็ไม่ล้มง่าย

เหมือนความคิดมาแผ่วๆ ก็ยืนหยัดอยู่ได้ตั้งอยู่ที่เดิมได้

 

แต่ถ้าความฟุ้งซ่านแรงๆ พัดมาเหมือนพายุ

ถ้าฐานความตั้งมั่นยังไม่มั่นคง อาจถูกซัดล้มได้

 

ประเด็นคือถ้าไม่วอกแวก

แล้วรู้ที่จิตหายใจเข้า รู้ที่จิตหายใจออก

รู้อย่างนี้ซ้ำๆ พอกพูนความแข็งแรงไป

จะเปรียบกับได้พื้นปูน ที่แข็งแรงมากๆ และขาเราแข็งแรง

แถมด้วยการผูกอะไรไว้ เอาเครื่องห่อหุ้มเท้าที่มีฐานยึดกับพื้นปูน

มาล็อคไว้ ไม่ให้เราเคลื่อนได้ง่าย ต่อให้พายุแรงๆ มา เราก็หยัดยืนกับที่ได้

 

นี่คือ ให้รู้ว่าจิตตั้งมั่นหน้าตาเป็นอย่างไร

 

เพราะหลายคนสับสน กังวลอยากได้ความตั้งมั่น

ความตั้งมั่นมาจากไหน

 

เอาตามอานาปานสติสูตร ไล่มาตามลำดับง่ายๆ เลย

คือ หายใจเข้า หายใจออกให้รู้

พอเกิดความรู้สึกดี รู้สึกเบา เป็นสุข

เราก็รู้ว่าสุขหายใจออก รู้ว่าสุขหายใจเข้า

รู้แบบนั้นมากๆ เข้าจะรู้สึกว่า ความสุขแผ่ขยายออกไป

แล้วความสุขมีลักษณะตั้งมั่น

ไม่เคลื่อน ไม่กลายเป็นทุกข์ ไม่ห่อเหี่ยวได้ง่าย

สุขตรงนั้น ที่จะพาไปให้เห็นว่า จิตสงบจากความคิด

 

พอจิตสงบจากความคิด พระพุทธเจ้า ก็ให้รู้ต่อเข้ามาที่จิต

จิตมีความร่าเริง คือจิตมีความตื่น เบิกบานอยู่

จิตตื่น เบิกบานอยู่ รู้ว่าหายใจออก หายใจเข้า

 

ในที่สุดจะเกิดความนิ่งๆ เกิดการรวมศูนย์อยู่ตรงกลางๆ ไม่เคลื่อน

ที่รู้สึกหนักแน่นมากขึ้นๆ ในที่นี้ ไม่ใช่ทึบนะ

แต่เป็นความหนักแน่นอยู่กับ ความรู้สึกว่า ว่าง เบา ใจไม่เอาอะไร

นอกจากตั้งอยู่กับฐานที่สงบนิ่งนั่นแหละ

 

ที่คนแสวงหากันทั้งชีวิตแล้วไม่เจอ ก็คือความนิ่งแบบนี้

ซึ่งเป็นส่วนต้นของสติปัฏฐาน

ถ้ามาถูกทิศถูกทาง ใช้เวลาไม่นานเลย

แค่ไม่กี่เดือน ยกระดับขึ้นมาจากเดิมที่ฟุ้ง แล้วก็เศร้าง่าย

แต่ตอนนี้ เศร้ายาก สุขง่าย เพราะจิตมีฐานที่ตั้ง

ถ้าเอาจิตแบบนี้ไปให้คนทั้งโลก ก็จะพอใจแล้ว

 

แต่จริงๆ ศาสนาพุทธไม่ได้ให้แค่นี้นะ

ไม่ได้ให้แค่ ความสุขในการทำทาน

ไม่ได้ให้แค่ ความสะอาดในการรักษาศีล

แต่ยังให้ความปล่อย ความวาง ให้อิสระแก่จิตในขั้นของการภาวนาด้วย

 

พอเจริญอานาปานสติถูกทิศทาง ไม่กี่เดือนก็ตั้งฐานได้

มีจุดรวมศูนย์ให้จิตได้ จิตตั้งมั่นแล้ว

ความคิดผ่านเข้ามา มากน้อยแค่ไหน อาจรบกวนได้ แต่จะไม่ล้ม

 

แล้วทำให้มั่นใจว่าเวลารู้อะไร จะรู้จริงๆ

รู้ออกมาจากตรงกลาง ไม่ใช่ความปรุงแต่งในหัว

รู้ออกมาจากฐานที่ตั้งของจิตที่นิ่ง ไม่เอียงข้าง ไม่เข้าข้างตัวเอง

รู้ที่จิตหายใจออกอยู่ รู้ที่จิตหายใจเข้า

 

ถ้ามาถึงความนิ่ง แบบที่ไม่มีความคิดรบกวน

สิ่งที่ดูได้ง่ายๆ ต่อยอดไป ระหว่างที่

ยังไม่มีอารมณ์ภายใน มาเป็นเครื่องแสดงความไม่เที่ยง

ก็เห็นว่า ลมหายใจที่พัดเข้าออกนี้ มีความเป็นธาตุลม

ลักษณะของธาตุลม มีอาการพัดไหว แปรปรวน ไม่ทรงรูปร่าง

ต่างจากหัวตัวแขนขาที่มีความคงรูป

 

อะไรที่คงรูปได้ เรียกว่าธาตุดิน

เราไม่ต้องเห็นละเอียด เอาแค่รู้สึกถึงหัวตัวแขนขา

ก็เรียกว่าเห็นธาตุดินแล้ว

 

ในอาการเห็นธาตุดิน ถ้าจิตใสใจเบา แค่กำหนดรู้ว่า

หายใจออกในธาตุดิน แล้วตอนที่หายใจเข้า

รู้ว่าธาตุดินมีอาการ ซี่โครงเพยิบออกมา แล้วก็หุบเข้าไป

การรู้ควบคู่กันไปกับลมหายใจ

หายใจเข้า เพยิบออก หายใจออก เพยิบเข้า

ก็ยังอยู่ในส่วนการรู้ธาตุดิน

 

ธาตุดินพระองค์แจกแจงไว้

เริ่มจากโครงกระดูก ยกตั้งด้วยกระดูกสันหลัง แล้วหายใจด้วยซี่โครง

เห็นแบบนี่ว่าธาตุดินแสดงอาการเพยิบพยาบ

รู้พร้อมลมหายใจไปด้วย

ลมหายใจเข้า โครงกระดูกเป็นแบบนี้

ลมหายใจออก โครงกระดูกเป็นแบบนี้ เรียกว่าเห็นธาตุดิน

ในการรับรู้ของจิตที่ตั้งมั่น จะไม่เคลื่อนจากการเห็น

 

พอมีจิตที่ตั้งมั่น

เรากำหนดรู้อะไร การรับรู้นั้นจะคงเส้นคงวา

พอเห็นอยู่อย่างนี้ ด้วยใจที่ใสๆ ว่างๆ

 

จะเห็นพร้อมกันไปด้วยว่า

ธาตุดินธาตุลมนี้ ตั้งกินพื้นที่อากาศว่างในห้อง

ห้องมีบริเวณเป็นอย่างนี้ มีหุ่นกระบอกตัวหนึ่ง กำลังทำท่าทางอย่างนี้อยู่

หุ่นกระบอกที่เป็นธาตุดิน สูบลมเข้า พ่นลมออก

กินพื้นที่ว่างในห้องประมาณนี้

 

แค่เห็น ไม่ต้องทำอะไรอย่างอื่น

จิตจะรู้ตัวเองว่า ตัวมันเองไม่ใช่ธาตุดิน

ไม่ใช่ธาตุลม ไม่ใช่อากาศธาตุ

แต่จะเห็นธาตุต่างๆ เหล่านั้นที่แยกจากกันเป็นชั้นๆ ว่าไม่ใช่ตัวมัน

 

ตัวมัน คือตัวที่กำลังรู้อยู่ ตัวที่กำลังตั้งมั่น

รู้อยู่ เห็นอยู่ ว่ามีธาตุ ดิน ลม อากาศ

ตัวที่สว่างอยู่เบื้องหลัง ทั้งหมดคือจิต

พอเห็นไปซ้ำๆ จิตจะมีพัฒนาการเอง

 

บางคนเห็นแล้วดีใจ แต่บอกว่า ไม่มีอะไรเกิดขึ้นต่อ.. นั่นคือเพิ่งเห็น

ถ้าเห็นซ้ำๆ เห็นไปเรื่อยๆ จนติดตาติดใจเป็นปกติอยู่ได้

จะรู้สึกว่า ขณะอยู่ในสมาธิ รู้สึกอย่างนี้

ออกจากสมาธิแล้ว ไปอยู่ระหว่างวัน ก็ยังรู้สึกอย่างนี้ เป็นปกติอยู่

 

ตัวนี้แหละที่เราต้องการ

เราสร้างต้นแบบขึ้นมาในอานาปานสติ

 

พระพุทธเจ้าตรัสในขั้นสุดท้ายของอานาปานสติว่า

อะไรที่กำลังปรากฏ โดยความเป็นของไม่เที่ยง ก็รู้

รู้ความไม่เที่ยง พร้อมหายใจออก รู้ความไม่เที่ยง พร้อมหายใจเข้า

 

การใช้ลมหายใจ เป็นเครื่องกำกับสติไปเรื่อยๆ

ในที่สุดจะเห็นกายใจ โดยความเป็นข้อธรรมได้ไม่จำกัด

เช่น พิจารณาธาตุหก

เริ่มจากการรู้ว่า ลมหายใจผ่านเข้าผ่านออกอยู่ในธาตุดิน

และธาตุลมก็มีลักษณะพัดไหว ไม่คงรูปคงร่าง

อากาศธาตุคืออานาบริเวณรอบตัว ล้อมรอบธาตุดิน ธาตุลมอยู่

 

ถ้ารู้ได้นิ่งๆ จิตก็จะเหมือนถูก activate

ทำให้รับรู้ตัวเองขึ้นมาว่า จิตหน้าตาเป็นแบบนี้

คือไม่มีหน้าตา มีแต่ลักษณะเป็นดวง

มีรัศมี กว้างแคบแค่ไหน สว่างแค่ไหน

มีสติรับรู้ ที่มีความคงเส้นคงวาแค่ไหนตัวนี้ ที่จะรู้ตัวเอง

 

และถ้ารู้ตัวเองว่าเป็นจิตแบบพุทธ ก็จะรู้ด้วยว่า

ลักษณะของจิตแบบพุทธ คือจิตที่ไม่เอา

 

เช่น รู้สึกถึงความเป็นกายนี้ ก็ไม่เอากายนี้ ดูเฉยๆ

รู้สึกถึงลมหายใจ ก็ไม่เอาลมหายใจ ดูเฉยๆ ว่ามันผ่านเข้าผ่านออก

หรือแม้รู้สึกถึงความชุ่มชื่น ใส เบา จิตก็ไม่เอา

เพราะรู้สึกว่าเป็นของนอกจิต เป็นของที่จิตเอาไว้ดู ไว้ระลึกเฉยๆ

ว่าสิ่งเหล่านั้นกำลังแสดงความไม่เที่ยง ไม่ใช่ตัวตนไม่น่าเอา

 

ตอนแรกที่จิตยังไม่ตั้งมั่น ยังไม่แสดงความไม่เที่ยงหรอก

แต่พอเห็นอะไรๆ คุมกันเป็นเหตุปัจจัย

เช่น ลมหายใจยาว จึงมีความสุขอย่างนี้

ก็จะรู้ว่า ถ้าไม่มีลมหายใจยาว จะไม่สุขแบบนี้สิ

 

นี่คือเห็น ณ ขณะที่รู้เลยว่า

ความสุข เป็นสิ่งที่ประกอบขึ้นมาด้วยเหตุปัจจัย

รู้เลยว่าไม่เที่ยง ไม่ใช่ตัวเองแน่ ต้องอิงอาศัยปัจจัยบางอย่าง

ซึ่งการที่จิตไปรู้ ณ จุดเกิดเหตุ ว่าสิ่งนี้ต้องการอาศัย เหตุปัจจัย

จิตจะไม่ยึดเลยนะ จะไม่รู้สึกว่าเป็นตัวมันทันที

 

หลิน : เมื่อก่อนยังเป็นตัวตนเราอยู่ แต่ตอนนี้เห็นตัวเองเหมือนเป็นหุ่นไม้

แล้วก็รู้สึกว่าไม่เอาจริงๆ ทั้งลมหายใจ ทั้งร่างกาย

ความรู้สึกที่ว่าจิตนิ่ง สงบ ไปต่อยอดในระหว่างวัน

ความนิ่ง สงบไปอยู่ในระหว่างวันได้ อย่างบางครั้งเดินไปไหน

เสียงเท้ากระทบจะอยู่ในใจ ถ้าเรารับรู้ว่า กระทบๆ ในใจเมื่อไหร่ ใจจะเบา

แต่ถ้าไม่ได้สังเกต หลุดไป จะรู้เลยว่า จะหนัก

จะไม่เหมือนกับที่ว่าเรามีสมาธิในการเดิน

 

ในระหว่างวัน เหมือนกับเวลามีปัญหา คิดเครียด แต่ใจกลับสงบ

รู้สึกเหมือนเป็นสามชั้นเลย หนึ่งคือใจสงบ สองคือเราเครียด รู้สึกไม่ดี

แต่ในความรู้สึกนั้น เรารู้ว่าเราหายใจเข้า หรือ ออก

และความรู้สึกที่ไม่ดี จะไปจางที่ลมหายใจที่เท่าไหร่

หายไปที่ลมหายใจที่เท่าไหร่

เหมือนเอาสมาธิไปต่อยอดในระหว่างวันได้

 

พี่ตุลย์ : จุดนี้กำลังจะพูดเลยนะ พอดีหลินพูดขึ้นมาก่อน

ระหว่างวัน เรายังมีโทสะขึ้นมาอ่อนๆ ได้ โทสะผุดขึ้นมา แต่จางๆ

 

เมื่อก่อน character โทสะหลิน ถ้าไม่พลุ่งพล่าน ทำให้เตลิด

ก็จะเป็นทำให้เสียใจ ทำให้เกิดความรู้สึกน้อยใจ

เป็นโทสะออกแนวน้อยใจ หรือเตลิด

 

แต่ช่วงที่ผ่านมามีเรื่องที่เราพูดหรือฟัง มีเหตุให้กระทบ

ถ้าเป็นแต่ก่อน คงจะน้อยใจ หรือเกิดอัตตาแบบไปรบรา

หรือทำให้รู้สึกแย่

 

แต่ตอนนี้ พอรู้ว่ามีไฟเกิดขึ้น

มีไฟร้อน รู้ว่า หายใจออก

มีไฟร้อน รู้ว่า หายใจเข้า

ไฟร้อนนี้แสดงความไม่เที่ยงให้เราเห็นได้

 

ทีนี้จะมีสิ่งที่ตกค้างคาใจอยู่ มีอัตตาตัวตน

มีความรู้สึกแบบที่ยังคาใจอยู่บ้าง

เราก็สามารถดูต่อด้วยการเห็นว่าสิ่งที่คาใจนั้น

 

คาใจอยู่ หายใจออก คาใจอยู่ หายใจเข้า

จนเห็นความไม่เที่ยงของมันจริงๆ

เห็นเรื่อยๆ ในระหว่างวันจะกลายเป็นพี้นที่ปฏิบัติของจริง

 

อย่างตอนนี้ เรียกว่า เป็นพื้นที่ปฏิบัติ เพื่อสร้างต้นแบบจิต

จะเป็นนั่งสมาธิ หรือเดินจงกรมก็ตาม แต่ในระหว่างวันคือของจริง

ซึ่งมีชาวพุทธเพียงไม่กี่คนที่ไปถึงตรงนั้นได้

 

อย่างพอบอกว่ามีโทสะ

แล้วเราสามารถรู้สึกถึงลมหายใจออก ลมหายใจเข้าไปพร้อมกัน

นั่นเป็นลาง เป็นนิมิต เป็นเครื่องหมายบอกว่า

การปฏิบัติของเราเข้าพื้นที่จริงแล้ว

 

ชาวพุทธส่วนใหญ่ นั่งสมาธิ เดินจงกรมมากี่ปีก็ตาม

ยังไม่ได้เข้าพื้นที่จริงเลย

ยังอยู่ในสนามฝึก เหมือนสนามซ้อมยิงปืน

พอยิงเข้าเป้าก็ดีใจ แต่พอไปยิงในสนามรบ ยิงไม่ถูกเลย

 

เหมือนกัน .. การที่เรานั่งสมาธิ เดินจงกรม

เหมือนอยู่ในสนามฝึก มีเป้านิ่งให้เราเล็ง แล้วกดเอา

พอยิงเข้าเป้าก็ดีใจ ว่าเราทำได้ แต่พอออกไปใช้ในสถานการณ์จริง

ตรงนี้แหละ เป็นเครื่องวัดว่าเรายิงแม่นอยู่ไหม

 

อย่างของหลิน บอกว่า พอมีโทสะขึ้นมา แล้วรู้สึกถึงลมหายใจได้

อันนี้เข้าเป้าแล้ว .. เข้าเป้าในชีวิตจริง ก็หมายถึง

เราไม่คลาดจากวิหารธรรมเครื่องอยู่ คือ อานาปานสติ นะ

 

พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า

ใครก็ตาม ที่เจริญอานาปานสติให้ชำนาญ ให้ช่ำชอง

ให้มีความเป็นปกติแล้ว ให้มากแล้ว

ในระหว่างวัน มารจะเข้าแทรกยาก หรือไม่ได้ช่องที่จะเข้าแทรก

 

เราก็จะเห็นได้ว่า ถึงจะเกิดโทสะขึ้นตามปกติ

ถ้าจะบอกว่าไม่มีโทสะเลย อันนี้ เข้าใจผิดนะ เป็นไปไม่ได้

แต่ถ้ามีโทสะ แล้วเราสามารถยิงปืนแม่นอยู่

เราจับได้ว่า ขณะที่เกิดโทสะ หายใจออก

ขณะที่เกิดโทสะ หายใจเข้าไปพร้อมกัน

จะได้ผลมากขึ้นๆ และจะสังเกตได้ว่า

เมื่อเห็นโทสะได้มากขึ้นๆ ใจจะเบิกบาน มีความเปิดออก

นี่เป็นธรรมชาติของจิต

 

ถ้าเราได้ประสบการณ์ว่า จิตเบิกบานในสมาธิ อย่าเพิ่งดีใจ

แต่ถ้าอยู่ในระหว่างวัน สามารถเห็นโทสะ แสดงความไม่เที่ยงได้

รู้ว่า มีลมหายใจเข้า ลมหายใจออก ณ ขณะที่มีโทสะอยู่

เสร็จแล้วเห็นโทสะดับไป เหลือแต่จิตที่ปราศจากโทสะ

 

เข้าข่ายจิตตานุปัสสนา ที่พระพุทธเจ้าให้ดู ว่า

โทสะมีในจิต รู้ว่ามีอยู่ในจิต

โทสะไม่มีอยู่ในจิต คือหายไปจากจิตแล้ว รู้ว่า จิตไม่มีโทสะ

ตรงนี้ สำหรับคนที่ทำได้ จะเกิดประสบการณ์ตรง รับรู้ว่า

ตอนที่จิตไม่มีโทสะ คือจิตเบิกบานออกไป ไม่ใช่หายไปเฉยๆ แห้งๆ

จะรู้สึกว่าใจเราว่างโล่งขึ้น มีอาการแผ่ขยายออกไปมากขึ้น

นั่นคือสมาธิชนิดหนึ่ง แบบอ่อนๆ อันเกิดจากการเห็นความไม่เที่ยงของโทสะ

 

ฉะนั้น โทสะมาเป็นเรื่องดี เป็นเรื่องที่น่าต้อนรับให้มา ไม่ใช่ปฏิเสธ

ท่าทีในการต้อนรับ ก็ทำเหมือนตอนอยู่ในห้องแล็บ

(หมายถึง การฝึกนั่งสมาธิ เดินจงกรม) นั่นแหละ

ของหลิน อยู่ระหว่างวัน ยังมีจังหวะที่เราสงสัยว่า

เมื่อมีภาวะบางอย่าง แล้วต้องทำอย่างไรต่อ บางทีมีจุดนี้

 

หลิน : ใช่ค่ะ บางทีสงสัยว่าทำถูกไหม เพราะใจนิ่งเหมือนตอนอยู่ในสมาธิ แต่กลายเป็น layer ไปเลย เหมือนแยกจากกัน

จากความเคยชินของเรา ปกติจะรวมกันไปหมด

ทั้งความไม่สบายใจ ความเครียดเป็นก้อน

แต่ตอนนี้จะเหมือนแยก เลยรำคาญตัวเองว่าทำไมแยก

ทำไมไม่คิดให้เบ็ดเสร็จไปเลย

 

พี่ตุลย์ : การที่เราเจริญสติ เห็นกายใจโดยความเป็นรูปนาม

สิ่งหนึ่งที่จะเป็นเรื่องปกติในจุดเริ่มต้นก็คือ

เราจะเห็นอะไรๆ ในขอบเขตกายใจนี้แยกจากกันเป็นชั้นๆ

เป็นสิ่งที่จะปรากฏในช่วงที่เราเริ่มมีสมาธิอยู่ระหว่างวัน

 

ทีนี้ เพื่อที่จะสังเกตว่า ..

เราอยู่ในทิศทางที่ถูกต้อง ที่ใช่ในการเจริญก้าวหน้า

จนกระทั่งสามารถแทงขาดว่า กายใจนี้ไม่ใช่ตัวตน

ทิศทางที่ว่านี้ คือเรารู้สึกเป็นเหมือนอีกคนดูอยู่

มีอีกตัว เหมือนเป็นอีกคนที่ทำไม่รู้ไม่ชี้

ตัวที่ไม่รู้สึกรู้สาอะไรเลยนี้ ไม่มีตัวตน ไม่มีรูปร่างหน้าตา

ไม่มีกระทั่งภาวะว่าอยู่ตรงไหน ตำแหน่งไหน

รู้แต่อยู่เบื้องหลังคอยดูคอยรู้อยู่

 

อย่างหลินบอกว่า เหมือนมีภาวะเศร้า ปนกับภาวะอื่นหลายๆ อย่าง

ไม่เป็นก้อนเดียวกัน แล้วงง ว่าทำไมเห็นหลายอย่าง

 

ไม่ต้องงง ให้จับจุดให้ได้ว่า

ณ ขณะที่เห็นออกมาหลายๆ อย่างพร้อมกัน

เราเห็นออกมาจากความรู้สึกที่ว่า ไม่ใช่เราเป็นผู้เห็น

นั่นก็คือ จิต ..

 

เราพูดคำว่าจิตมานาน แต่ไม่รู้ว่าหน้าตาเป็นอย่างไร

จนกระทั่งมีภาวะอีกภาวะหนึ่ง

เหมือนเป็นภาวะที่เฉยเมย เฝ้ารู้เฝ้าดูจากเบื้องหลัง

โดยไม่รู้สึกอะไรเลย ไม่ยินดียินร้าย

 

ภาวะจิตแบบนี้แหละ ที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า

เวลาแยกรูปแยกนาม จะเหมือนคนอีกคน

เหมือนคนยืน ดูคนนอน เหมือนคนนั่ง ดูคนเดิน

เป็นคนละตัวกันกับตัวเดิม

 

การที่เราไปถึงขั้นที่มีการแยกรูปจากกันได้

เราจะเห็นอะไร อย่าไปสนใจรายละเอียด

ให้สนแค่มีตัวดูอยู่ตัวหนึ่ง ที่ไม่รู้สึกรู้สาอะไร

แล้วเห็นอะไรๆ แสดงให้ดู เอาแค่นี้

 

แล้วพอจิตที่ตั้งมั่นนี้ เห็นแม้กระทั่งความสงสัยเป็นอีก layer หนึ่ง

ความเศร้าอยู่ชั้นหนึ่ง ความสงสัยอยู่ชั้นหนึ่ง

ความนึกคิดปรุงแต่งดีร้าย อยู่อีกชั้น

ที่เห็นหลายๆ ชั้น ไม่ต้องสนใจว่าเห็นอะไรบ้าง

สนใจแค่ตัวที่รู้อย่างเฉยเมย รู้เหมือนอีกบุคคลที่เป็นผู้ดู

หลินรู้สึกไหมว่า มีอีกตัวดูอย่างเฉยเมย เอาจากประสบการณ์จริงๆ เลย

 

หลิน : มีค่ะ บางทียังรู้สึกว่า เราเย็นชาหรือเปล่า

ดูแล้วเฉยๆ ไม่ได้รู้สึกอะไรไป เกิดอะไรก็ดูไป

 

พี่ตุลย์ : สิ่งที่เป็นผู้รู้ผู้ดูเฉยเมย เรียกว่าอุเบกขา

มีสององค์ประกอบหลักๆ

หนึ่ง คือมีความตั้งมั่น เหมือนมีอีกตัวอยู่ตรงนั้น

สอง คือมีอุเบกขา

 

ตัวความตั้งมั่น มีสมาธิ

อุเบกขา มีปัญญา

ปัญญานี้ ไม่ใช่ความคิด ไม่ใช่ไอคิวสูงเท่าไหร่

แต่เป็นปัญญาแบบพุทธ รู้ว่าสิ่งที่ดู ไม่เกี่ยวกับเรา

ไม่เกี่ยวกับตัวมัน ไม่เกี่ยวกับจิต

จิตนั้น เริ่มประกอบด้วยปัญญาแบบพุทธ

 

แต่ของหลินยังไปไม่ถึงที่สุด เพราะยังสงสัยเคลือบอยู่

ตัวอุเบกขายังไม่เสถียร ยังไม่บริสุทธิ์

 

ฉะนั้นสิ่งที่เราจะได้จากคืนนี้ คือการทำความเข้าใจว่า

ถ้าอุเบกขาไปถึงจุดที่บริสุทธิ์ได้ ต้องขจัดความสงสัย

หรือวิจิกิจฉา ซึ่งเป็นนิวรณ์ ตัวถ่วงความเจริญสติข้อหนึ่ง

 

วิธีสลัดคือ เห็นความสงสัยเป็นอีกชั้นหนึ่ง

การเห็นว่าเป็นคนละตัวกัน แล้วเข้าใจว่า

นั่นเป็นความรู้สึกของจิตที่มีปัญญา

จิตที่มีปัญญา พูดง่ายๆ คือให้อยู่กับรู้เป็นหลัก

 

จะเกิดอะไรขึ้นกับสิ่งที่ถูกรู้

จะเป็นความสงสัย เศร้าหรืออะไร ที่ก่อตัวเป็นมายาหลอกจิต

เราไม่สน ไม่สนว่าจะเห็นพิสดารซับซ้อนแค่ไหน

สนแค่ว่า จะอยู่กับรู้

 

ตรงนี้ ความตั้งมั่นกับอุเบกขา จะบริสุทธิ์ขึ้นมา

พอบริสุทธิ์ขึ้น จิตจะใหญ่ ใส และสว่างกว่านี้

และที่สำคัญ คือมีอาการไม่เอาชัดเจนกว่านี้

เป็นอิสระชัดเจนกว่านี้

 

คาแรคเตอร์สำคัญของจิตแบบพุทธคือ ไม่เอาจริงๆ

เหมือนต่างคนต่างอยู่ มีระยะห่างกับสิ่งที่รู้

ความตั้งมั่น กับอุเบกขา จะอยู่เหมือนเฉยเมย ไร้หัวใจกับสิ่งที่มันเห็น

 

---------------

นุช

 

พี่ตุลย์ : ตอนลดมือ ขอให้ลดช่องแยกลงมา

เพราะถ้ามือห่าง จะรู้สึกมือสองข้างต่างคนต่างอยู่

และไม่สัมพันธ์กับลมหายใจเท่าไหร่

แต่ถ้าลดช่องให้แคบลง ลมจะรู้สึกว่าอยู่กลางฝ่ามือทั้งสอง

 

จะรู้สึกลมหายใจที่เด่นชัด นิ่มนวลปลอดโปร่งได้แล้ว

เราจะเลื่อนระดับไปดู ในความว่าง มีความสุขอยู่

 

รู้ว่าสุข หายใจออก

เกิดพร้อมกันนะ ระหว่างความสุขกับลมหายใจ

การที่เริ่มรู้สึกลมหายใจพร้อมไปกับความสุข

สิ่งที่เกิดเป็นธรรมดา คือมีสติ รู้สึกถึงความเป็นรูปนามพร้อมกัน

 

ความเป็นนาม คือรู้ว่ามีความสุขอยู่ พร้อมกันหายใจออก

จะรู้สึกว่า ความสุข อยู่ส่วนความสุข

ลมหายใจ อยู่ส่วนลมหายใจ แต่อิงอาศัยประกอบกันอยู่

 

ความสุขจะถูกปรุงแต่งให้นิ่มนวลตามไปด้วย

ลักษณะการปรุงแต่งจิตนี่แหละ มีความสุขเป็นตัวตั้ง

ความสุขอยู่ส่วนความสุข ลมหายใจออกยู่ส่วนลมหายใจ

ความว่างอยู่ส่วนความว่าง

 

รู้สึกชัดกว่าเดิมไหม ที่ตั้งของความสุขอยู่ส่วนหนึ่ง

ที่ตั้งลมหายใจ ก็อีกส่วน

 

ถ้ากลับมาดูคลิปตัวเอง ซ้ำๆ ให้เข้าใจแม่นย้ำ

ทั้งในแง่การแยกมือนิดเดียว

และความรู้สึกภายใน พอทำซ้ำไปมากๆ

จะเห็นจิตกับความสุขแยกออกจากกัน

 

อานาปานสติ เดินจงกรม เป็นโมเดลที่เราสร้างสติขึ้นมา

แต่ที่จะไปใช้จริงในระหว่างวัน

อย่างของคุณนุช พื้นฐานจิต ก้ำกึ่งกัน ระหว่างใจเย็นกับใจร้อน

บางทีมีอาการ .. ไม่รู้ตัวนะ ทั้งที่เป็นเรื่องเดียวกัน

บางทีเราใจเย็นได้ แต่บางวันก็ใจร้อน เร่งรีบ

เราก็อาจงงตัวเอง ว่าอารมณ์เราเป็นอย่างไร

 

เวลาพูดกับคนอื่นเก็บอาการได้ แต่ข้างในเราจะรู้ว่าไม่ใช่

เป็นเพราะการสะสม

 

เดิม เราเป็นคนตามใจตามอารมณ์ตัวเอง

ถ้าอยากได้ต้องได้ ไม่สนใจอะไรทั้งนั้น

แต่พอเป็นผู้ใหญ่ขึ้น มีความรับผิดชอบมากขึ้น

ก็ควบคุมตัวเองมากขึ้น เลยยื้อกัน

---------------

แพท

 

พี่ตุลย์ : (ท่าที่หนึ่ง) เวลายกมือ ให้ยกเสมอหน้า

เหมือนพนมมือไหว้ ครึ่งซีก เพราะจะทำให้หายใจได้ลึกขึ้น

 

รอบนี้ขอให้ยกเลยหน้าผากเลยนะ พอสุด คว่ำลง

ให้นึกว่าลากลมออก หงายมือ คิดว่า เราใช้มือหงายลากลมเข้า

แค่เราปรับระดับนิดเดียว ต่างไปเยอะเลย

 

พอเริ่มรู้สึกถึงความสัมพันธ์ ระหว่างฝ่ามือ กับลมหายใจได้แล้ว

ฝ่ามือหงาย ขอให้หงายจริงนิ้วติดกัน ไม่เกร็ง

จะเห็นว่าลมหายใจชัดขึ้นเยอะ

 

ในอานาปานสติ

สิ่งที่เราต้องการคือ ให้จิตรับรู้ถึงการปรากฏของลมหายใจ

 

ไม่ว่าวิธีไหนอุบายใด ถ้าลมหายใจปรากฏต่อจิต

จิตรับรู้ว่าลมหายใจไปถึงไหนแล้ว คือใช่ทั้งนั้น

 

และถ้าหากว่าฝ่ามือที่หงายขึ้น ดันลมเข้า ค่ว่ำมือลากลมออก

สปีดจะพอดี ลมหายใจจะเต็มอิ่มเต็มปอดพอดี

 

แต่ถ้าใครรู้สึกว่าลมหายใจไม่เต็มอิ่ม

ก็ให้ปรับฝ่ามือตามลมหายใจนะ

ไม่ใช่ให้ลมหายใจตามมือ

 

ถ้าหายใจช้า ไม่ติดขัด

แป๊บเดียวจะเกิดความรู้สึกว่า ลมหายใจ ปรากฏกับจิตเรา

การที่มีลมหายใจปรากฏกับจิต

โดยมีมือไกด์เป็นตัวกำกับสปีด สติจะไม่คลาดเคลื่อนง่าย

 

คนที่ฝึกอานาปานสติ มักล้มเหลวที่จุดที่ลมหายใจอ่อนไป ไม่ชัด

รู้สึกลมหายใจเข้านิดหนึ่ง ลมหายใจออกนิดหนึ่ง

ตรงนี้มือไกด์จะมีส่วนช่วย

 

(ทำท่าที่สอง) รู้สึกเบา

ความเบาอยู่เบื้องหลัง ลมหายใจออกยู่เบื้องหน้า

ตรงนี้จะเริ่มแยกออก นามก็อย่างหนึ่งรูปก็อย่างหนึ่ง

นามรูปปริเฉทญาณก็เพราะอย่างนี้

จุดที่จะแยกรูปแยกนาม ที่พระพุทธเจ้าตรัสในอานาปานสติ ก็คือ

รู้สึกถึงปีติ รู้สึกถึงสุขแล้วหายใจออก

รู้สึกถึงปีติ รู้สึกถึงสุขแล้วหายใจเข้า

 

------------

บิ๊ก

 

พี่ตุลย์ : ฝ่ามือหงายดันลมเข้า ฝ่ามือคว่ำลากลมออก

อย่าเผลอ บางคนมีแต่ฝ่ามืออย่างเดียว

แต่ต้องมีความสัมพันธ์ฝ่ามือกับลมหายใจ

ถ้าชัดแล้ว สิ่งที่จะยืนยันว่า วิตักกะเกิดชัดคือ

เรามีสติรู้ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก ได้อย่างชัด นิ่มนวล

ใจนิ่มนวล ผ่อนคลาย

 

ถ้าเกร็ง เครียด แบบนั้นวิตักกะยังไม่เกิด

แต่ถ้ารู้ถึงลมหายใจ สปีดช้า สติชัด

แบบนี้ยืนยันได้ว่า วิตักกะเกิดแล้ว

 

ความสุข รู้ว่าหายใจออก สำคัญมากตรงนี้

พอรู้สึกถึงความสุข แล้วหายใจออกไปพร้อมกัน

จะรู้สึกความสุขอยู่ข้างหลัง ลมหายใจออกยู่ข้างหน้า

 

ขึ้นไปแหงนสุด นับหนึ่งสอง .. ค้างไว้ .. เอาลงมา หายใจออก

จะรู้สึกความว่างอยู่เบื้องหลัง ลมหายใจออกยู่ข้างหน้า

ลดหน้าลงมาตามลมหายใจด้วย แต่ในระดับที่รู้สึกว่าไม่ได้ก้ม

 

จิตใช้ได้แล้วนะ

 

ท่าที่สองออกแบบมา เพื่อให้เกิดวิจาระและปีติสุขได้ง่าย

ซึ่งจะเกิดตอนที่แหงนสุด

 

จิตคุณบิ๊กดีเลย พอเอามาเสริมกับท่าสอง จะไปง่ายมาก

เกิดวิจาระ ปีติสุขตามมาไม่ยาก รู้สึกเบาโปร่ง ผ่องใส

ซึ่งลักษณะแบบนี้ทำไม่นาน ปีติจะเกิด

 

แล้วสิ่งที่จะเป็นประโยชน์ในขึ้นต่อไปคือ

รู้ว่ามีปีติ หายใจออก

ปีติอยู่อย่างหนึ่ง ลมหายใจ อย่างหนึ่ง

รู้ว่ามีปีติหายใจเข้า จะชัดว่าปีติสุข

มีทั้งอ่อนๆ และระดับที่ฉีดแรงขึ้นๆ

 

จนถึงจุดหนึ่งที่เราจะรับรู้ได้ด้วยตัวเองว่า

ยิ่งมีปีติสุข มาปรุงแต่งมากเท่าไหร่

จิตยิ่งตั้งมั่น สงบ วิเวกมากขึ้นเท่านั้น

เพราะปีติสุข จะทำให้ใจไม่อยากคิด ไม่อยากดิ้นรน

จิตที่ไม่ดิ้นรน คือจิตที่วิเวก

 

รสชาติของความวิเวก เริ่มจากที่ใจใสเบา ฃ

ไม่กลับกลอก ไม่ขยับไปข้างนอก

ตัวนี้ที่เรารับรู้ว่า ปีติเริ่มจากความใสเบาไม่ดิ้นรนนี่แหละ

 

------------

(Zoom)

 

ออย – มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันดี กับภาวะที่รับรู้เสมอกันว่า

นี่ลมหายใจ นี่ธาตุดิน นี่อากาศธาตุ และสุดท้ายคือนี่เป็นวิญญาณธาตุ

 

การที่จิตแผ่ออก เสมอกันกับสิ่งที่ถูกรับรู้

ถือเป็นนิมิตหมายที่ดีสำหรับปีใหม่

ปีที่เป็นปีธรรมปีทอง สำหรับพวกเราหลายๆ คน

เท่าที่เห็น มีพัฒนาการขึ้นมาเรื่อยๆ

 

พอจิตแผ่ออกด้วยความรู้สึกว่า เสมอกันกับธรรมทั้งปวง

ไม่ว่าจะเป็นธรรมหยาบๆ เช่นธาตุดิน

หรือธรรมละเอียดเช่น จิตรู้จิต มีความเสมอกันกับจิต

ไม่รู้สึกว่าจิตนี้เป็นตัวใคร มีความเป็นอิสระ เปิดโล่ง เหมือนไม่มีอะไรห่อหุ้ม

 

จิตที่เปิด เบิกบาน ไม่มีอะไรห่อหุ้ม

จะกลายเป็นจิตแบบพุทธที่ตั้งมั่นขึ้นเรื่อยๆ

อย่างตอนนี้ อยู่ระหว่างวัน จะเบิกบาน

รู้สึกเหมือนใจข้างในเปิดโล่งเอง เป็นผลจากจิตต้นแบบ

 

แล้วถ้ารู้ว่าระหว่างวัน มีลักษณะจิตแบบไหนอยู่ หายใจออก

 ระหว่างวันมีลักษณะจิตแบบไหนอยู่ หายใจเข้า

ก็จะเกิดความตั้งมั่นระหว่างวันตามไปด้วย

จุ๊บ - หลายๆ คน จะรู้สึกถึงกระแสที่เป็นสมาธิของตัวเอง

และกระแสสมาธิที่มาจากภายนอก

อันนี้ดี ถ้าหากจะเสริม แล้วรู้สึกไม่แบ่งเขาไม่แบ่งเรา

เป็นสมาธิแบบพุทธร่วมกัน

เป็นจิตที่เป็นของใหญ่ ของกลางแบบพุทธเสมอกัน

จะช่วยผลักดัน จะไม่ใช่ของที่ผ่านมาผ่านไป

แต่จะเป็นสิ่งที่เราสามารถระลึกนึกถึงได้

 

เวลาที่เรารู้สึกถึงลมหายใจ แล้วรู้สึกถึง

ความแผ่ออกไป มีความสดใส หายใจเข้า

รู้สึกถึงความแผ่ออกไป มีความสดใส หายใจออก

ตัวนี้ จะทำให้รู้สึกว่า มีกำลังทั้งทางใจ และทางกายเพิ่มพูนเรื่อยๆ

จะไม่รู้สึกว่า ต่อให้ภาวะทางกายจะดีหรือไม่ดีอย่างไรก็ตาม

แต่ภายใน สติจะเข้มแข็งขึ้นเรื่อยๆ

 

จา – รู้ว่าสุขหายใจเข้า ถึงจุดหนึ่ง

พอความคิดหายไป ดูที่จิตเลย

 

รู้อยู่ที่จิตหายใจออก รู้ว่าจิตเป็นอย่างนี้

มีความเปิด ผ่อนคลาย โล่ง เบิกบานออกมาจากข้างใน

รู้ที่จิตโดยความเป็นอย่างนี้ หายใจออก

 

เมื่อกี้ตอนที่เรารวมจิตใจ รวมขันธ์กัน มีผลชัดเจนนะ

สภาพจิตต่างไปจากตอนที่มาส่งคนเดียว

 

นี่ก็เหมือนแผ่เมตตากลายๆ

แต่แทนที่จะแผ่เมตตา แผ่ความสุข

เรามาแผ่ปัญญาถึงกัน

แต่ละคนคือขันธ์ห้า เอาขันธ์ห้ามารวมกัน

ของคุณจาก่อนหน้านี้จะรู้สึกขึ้นมา

ว่าภาวะข้างในไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน

 

มณี พอรู้สึกถึงความสุข ที่มาจากจิตที่โปร่ง ที่บาง ที่เบา

เรารู้อยู่ ณ ขณะนี้ว่า จิตเป็นอย่างนี้หายใจเข้า

รู้ความมีจิตแบบนี้ หายใจออก

รู้สึกถึงความอิ่ม เบิกบาน อย่างที่เป็นอยู่ หายใจเข้า

ภาวะภายในที่ว่างๆ เหมือนแยกชั้นกัน เรารู้เราดูแบบนี้

จะเห็นความเป็นภาวะชัดขึ้นๆ

สักแต่เป็นภาวะ เป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่บุคคล

พอมาเจริญสติข้ามปี เห็นน้ำเห็นเนื้อดีนะ ว่ามีอะไรเติมเข้ามา

 

แต่ละคนความก้าวหน้า

ไม่ได้มาด้วยความบังเอิญ ไม่ได้มาจากคำอวยพร

 

ขิง - ภาวะที่เปิด สว่าง ว่าง

รู้ว่าภาวะเป็นอย่างนี้อยู่ หายใจเข้า

รู้ว่าภาวะเป็นอย่างนี้ หายใจออก

 

บางคนอาจรู้สึกถึงแรงอนุโมทนา จากสิ่งที่สว่างกว่าเรา

ก็ขอให้แผ่ความสุขความสว่าง แผ่ออกไป

ตั้งในใจว่า ขอให้ความสุขสว่างนี้ เหมือนห้วงน้ำใหญ่

จะมีเทวดาหรือใครก็ตาม ที่รับรู้ได้

ขอให้ได้ดื่มกินห้วงน้ำใหญ่นี้ไปด้วยกัน

ไมมีแบ่งว่า นี้ห้วงน้ำของฉัน นี้ห้วงน้ำของเธอ

เป็นห้วงน้ำเดียวกัน มีความเสมอกัน

 

บางทีจะมีนิมิตหมายบางอย่างที่เรารู้สึกได้ว่า มีผู้อนุโมทนาอยู่

หรือก่อนที่จะรู้สึก เราอาจจะตั้งจิตไว้เลยว่า

เราจะปฏิบัติธรรมไปนานแค่ไหน ได้ดีเพียงใด

ขอให้ความสุขความเจริญ ความเป็นกองกุศลที่สะสมแล้วนี้

เหมือนห้วงน้ำใหญ่ ที่ใครก็ตาม สามารถดื่มกินได้ร่วมพร้อมไปกับเรา

เพียงตั้งจิตไว้อย่างนี้ แล้วภาวนาไป

ก็จะมีความสว่าง รุ่งเรืองกับสิ่งรอบตัวที่เรามองไม่เห็นด้วย

แล้วเราจะไม่มีความกลัว มีแต่ความรู้สึกเป็นญาติมิตร

มีแต่ความรู้สึกปลอดภัย

 

วา - ที่เราทำกันคืนนี้

บอกชัดเลยว่า มีผู้อนุโมทนาแน่นอน

แค่กำหนดจิตไปพร้อมกันว่า ขอให้ความสว่างในคืนนี้

ได้เป็นห้วงน้ำใหญ่ ถึงแก่ใครๆ ก็ตามที่อนุโมทนาได้อยู่ รับรู้ได้อยู่

สามารถมาร่วมอยู่ในห้วงน้ำเดียวกัน

 

มีความสุขอย่างนี้ หายใจออก

มีความสุขอยู่อย่างนี้ หายใจเข้า

จังหวะที่รู้ว่า ลมหายใจออกย่างหนึ่ง ความสุขอย่างหนึ่ง

นั่นแหละ เครื่องประกอบพร้อม

จะทำให้เห็นว่า ความสุข กับลมหายใจ

เป็นธรรมชาติคนละชนิดกัน

ยิ่งรู้มากขึ้นเท่าไหร่ รู้ชัดมากขึ้นเท่าไหร่

จะรู้สึกความว่างจากเป็นตัวตนชัดขึ้นเท่านั้น

 

จิ๋วเกิดมากี่ครั้ง ไม่มีความคุ้มค่าเท่าครั้งนี้

ถ้าครั้งนี้ คืนนี้ เรามีส่วนร่วม มีส่วนรู้ว่า

กายใจนี้ประกอบด้วยธาตุดิน ประกอบขึ้นด้วยลมหายใจ

อาศัยอากาศว่างในการตั้งอยู่

โดยมีจิตผู้รู้ผู้ดู เป็นตัวรับรู้ภาวะของธาตุทั้งปวง

 

จะมีความปรุงแต่งทางใจ มีความสะเทือน

มีลักษณะอะไรปรากฏก็ตาม

ถ้าแค่รู้แค่ดูอย่างนี้ บอกตัวเองได้เลยว่า

นี่แหละที่เรียกว่า ชาติกำเนิดที่คุ้ม ที่ดีที่สุด

ที่ผ่านมาในสังสารวัฏนับอนันตชาติ

 

เจมี่ – พอเราสามารถรับรู้ถึงความใหญ่ความกว้าง

ที่เกิดจากการร่วมพิจารณาขันธ์ด้วยกัน

ที่จะเห็นชัดคือ มีความใสสว่าง มีอะไรอย่างหนึ่งที่แผ่กว้างออกไป

 

พอเรารู้ว่า ความใสสว่างที่ต่างไปหน้าตาเป็นอย่างไร

เห็นลมหายใจออก ลมหายใจเข้า ประกอบพร้อมกันไปด้วย

ก็จะรู้ว่าจิตแบบนี้ เป็นสิ่งที่เกิดจากเหตุปัจจัยที่ต่าง ผลก็ออกมาต่าง

 

พอรู้สึกถึงความแตกต่างได้ เราก็จะเกิดความเห็นว่า

จิตเป็นไปตามเหตุปัจจัย แตกต่างไปตามเหตุปัจจัย

ยิ่งเห็น เหตุปัจจัยของจิตแบบต่างๆ มากเท่าไหร่

ความรู้สึกว่า นี่ไม่ใช่เราจะยิ่งปรากฏกระจ่างมากเท่านั้น

 

หน่อง – ตั้งเป็นธรรมชาติดีกว่าวันก่อน

เกิดจากเหตุปัจจัยที่สมดุล ไม่เอียงข้าง ไม่หนักเกิน ไม่เบาเกิน

 

พอเรารู้สึกถึงความทรงตัวอยู่ได้

โดยไม่ต้องไปทำอะไรให้ผิดปกติ

ไม่ต้องออกแรงมากเกินกว่าที่ควร

สิ่งที่เกิดเป็นธรรมดา คือความรู้สึกสบาย โล่ง

เหมือนไม่มีอะไรที่เป็นของทึบข้างใน

พอรู้สึกโล่ง หายใจเข้า พอรู้สึกถึงความโล่ง รู้ว่า หายใจออก

รู้ไปพร้อมกัน จะแยกรูปนามได้ชัดขึ้น

 

แพร – ความโล่ง ความใส ถ้ารวมเป็นสมาธิจริง

จะ รู้สึกถึงความโล่งใสที่ไม่มีประมาณ

และความไม่มีประมาณนี้แหละ ทำให้รู้ธาตุหก ได้ชัดขึ้นๆ

ตัวความสว่าง ที่ปรากฏอยู่ก็ตาม ตัวความใส ที่ซ้อนกันอยู่ก็ตาม

ล้วนเป็นเหตุปัจจัย ให้เห็นว่า

ธาตุดินก็อยู่ส่วนธาตุดิน ตรงนี้ มีตัวหัวแขนขา

มีลมพัดเข้าพัดออกเป็นธาตุลม

 

ตอนอยู่ตัว จะรู้สึกใจใสเสมอกับอากาศจริง

และความคงตัวอยู่ได้ จะทำให้เห็นชัดว่า

กายใจนี้ รูปนามนี้ ส่วนประกอบตั้งต้น จากธาตุดิน

มีธาตุลมผ่านเข้าผ่านออก หล่อเลี้ยงชีวิตอยู่

มีอากาศว่างรอบด้าน ที่จะคงความรับรู้

มีวิตักกะ วิจาระที่แจ่มชัด สามารถหน่วงไว้ในใจได้ว่า

อากาศว่าง ว่างอยู่อย่างนี้

จิตผู้รู้ผู้ดู จะปรากฏแยกชัดเจนเลยว่า

เป็นภาวะอะไรแบบหนึ่งในจักรวาล สว่างอยู่

มีความนิ่ง เป็นต่างหากจากกันสิ้นเชิง

 

เห็นชัดขึ้นเท่าไหร่ จิตยิ่งเข้าถึงความเป็นพุทธ

คือไม่เชื่อว่าอะไรๆ ในกายใจเป็นตัวตน มากเท่านั้น

 

บิว - ในความรับรู้โล่งว่างหายใจออก

ที่โล่งว่างอาจมีบางสิ่งแทรกในหัว ก็รู้ตามจริง

ว่าด้วยภาวะแบบนี้มีความว่าง หายใจออก

สิ่งใดหายไปก็รับรู้สิ่งนั้นว่าหายไป

สิ่งใดที่ก่อตัวมาใหม่ ณ จังหวะที่เราลดมือลง

ก็รู้ว่าสิ่งนั้นกำลังปรากฏ พร้อมทั้งหายใจออก

 

บางวันโล่งมาก บางวันโล่งแบบมีอะไรแทรกในหัว

บางวันเหมือนเป็นปกติ มีความยุ่งในหัวตามเดิม

 

จะเกิดภาวะอะไรก็แล้วแต่ ถ้าเราฝึกให้ชิน ให้ชำนาญ

ว่ามีภาวะอย่างนี้หายใจออก มีภาวะอย่างนี้หายใจเข้า

ก็จะเกิดสติ เห็นความเป็นรูปนาม แยกต่างหากจากกันชัดขึ้นๆ

 

อ๊าท - ความรู้สึกเป็นอย่างนี้ หายใจออกไปพร้อมกัน

มีตัวอะไรตั้งอยู่ รับรู้ว่า ภายในเป็นอย่างหนึ่ง

ลมหายใจภายนอกเป็นอีกอย่าง

นี่คือที่เราต้องการเป็นบาทฐาน

ถ้ามีตัวนี้เป็นบาทฐาน วิปัสสนาก่อตัวไม่ยาก

 

ตอนนี้อยู่ระหว่างวันก็เห็นอารมณ์คุกรุ่นชัดขึ้นเรื่อยๆ

จะมีตัวความสงบเบาเป็นเครื่องเทียบ

พอมีความไม่สงบ มีความรู้สึก เป็นอาการปรุงแต่งจิต

ก็จะเห็นได้ เห็นเป็นปกติระหว่างวัน

ยิ่งจิตต้นแบบใส สว่าง เบา รู้ แยกจากกันได้มากเท่าไหร่

จิตระหว่างวันจะค่อยๆ คล้อยตาม

ค่อยๆ ปรากฏสติ ที่จะมารับรู้ว่า

การปรุงแต่งเป็นอย่างหนึ่งปรากฏขึ้นมา

แล้วเดี๋ยวก็แสดงความไม่เที่ยงให้ดู

 

ป๋อม - อยู่ระหว่างวันจิตเบาลง สติดีขึ้น

อาการเหม่อยังอยู่ แต่เบาลง

พอสมาธิแบบเป็นอานาปานสติเจริญมากขึ้นเรื่อยๆ

สังเกตได้ระหว่างวันนน.สติจะเพิ่มขึ้นๆ อย่างจับต้องได้

อย่างตอนนี้ ว่าง รู้ว่าหายใจออก

 

ว่างอย่างรู้ว่าหายใจออกนี่ ตัวนี้สำคัญ ที่

จะมาผนึก รว.จิตเดิมที่ชอบออกไปข้างนอก ให้อยู่กับสติภายใน

เห็นความสุข เห็นความว่างที่ปรากฏกับจิต

พร้อมหายใจออก พร้อมทั้งหายใจเข้า

ช่วงนี้ ระหว่างวันนน.สติดีขึ้น

 

นุช – ช่วงนี้มีความว่างมาเป็นห้วงๆ ดูให้เป็นความปรุงแต่งจิต

ความว่างบางทีวาบขึ้นมา แล้วก็แผ่วลงไป ดูไปอย่างนั้น

 

ความวูบๆ วาบๆ ถ้าเห็นพร้อมประกอบไปว่า

ภาวะแบบนี้เอาแน่นอนไม่ได้ ยังไม่คงเส้นคงวา ดูไป หายใจออก

หรือตั้งนิ่งคงเส้นคงวา ก็ดูไปอีกเหมือนกันว่า

นิ่ง คงเส้นคงวา แล้ว หายใจเข้า

 

การรู้ดูภาวะทั้งหลาย โดยมีแกนอ้างอิงว่า

กำลังหายใจออก หรือ หายใจเข้า

ตรงนี้ ที่สติจะมารู้ความไม่เที่ยงภายในของจิต ชัดขึ้นๆ

บางทีเสถียร บางทีก็วูบๆ วาบๆ ว่างเล็กบ้าง ว่างใหญ่บ้าง

 

ภาวะใดๆ ที่ปรากฏชัด

ต่อหน้าต่อตาลมหายใจปัจจุบัน

เป็นประโยชน์ทั้งสิ้น

 

ทำให้รู้กายใจเป็นรูปนามกระจ่างขึ้นเรื่อยๆ ทั้งสิ้น

-------------------------

วิปัสสนานุบาล EP 42

วันที่ 31 ธันวาคม 2564

ถอดคำ : เอ้

รับชมคลิป : https://www.youtube.com/watch?v=FWM3AgApxqw

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น