วันจันทร์ที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2565

วิปัสสนานุบาล EP 56 : 24 มกราคม 2565

ออย

 

พอรู้สึกถึงความโปร่งเบา ก็กำหนดเข้าไป โล่งเบา หายใจออก

ความโล่ง ความเบา ที่ปรากฏอยู่ในสมาธิ

ไม่ใช่ของที่ได้มาด้วยความบังเอิญ ต้องทำเอา

และถ้าเราเข้าใจถึงเหตุปัจจัย ในระดับของการทำสมาธิ

ความโล่งเบาก็เกิดได้ตลอดเวลา เท่าที่เราจะสร้างเหตุปัจจัยได้

 

สำหรับคนในโลก กว่าจะโล่งเบาได้ นานทีปีหนถึงจะโล่งเบาได้สักครั้ง

คนทั่วไปอาจโล่ง เบาหัว เบาตัว เบาใจจริงๆ

รวมทั้งชีวิตอาจไม่เกินหนึ่งเดือน บางคนไม่เกินหนึ่งสัปดาห์

 

แต่สำหรับคนทำสมาธิเป็น สามารถเกิดได้ทุกวัน ตราบเท่าที่ยังมีชีวิตอยู่

แต่จะกี่นาที กี่ชั่วโมงขึ้นกับเหตุปัจจัย แต่ละคน

 

ชีวิตต่างกันมากเพราะอย่างนี้ว่า

แต่ละคนรู้ทางที่จะทำจิตตัวเองให้เป็นอย่างไร

 

จิตนี้ ถ้าเราพิจารณาว่า คือแก่นที่แท้ของชีวิต

เปลือกชีวิตเป็นอย่างไรไม่รู้

แต่แก่นชีวิต ถ้าใครทำสมาธิ เจริญสติเป็น จะมีความสุขได้ตลอดเวลา

ขณะที่เปลือกชีวิต อาจลุ่มๆ ดอนๆ เหมือนคนอื่น

ได้อย่างใจบ้างไม่ได้อย่างใจบ้าง ประสบสิ่งกระทบที่ดีบ้าง ร้ายบ้าง

แต่แก่นชีวิตเรา สามารถที่จะหันหาอะไรดีๆ สว่างๆได้ตลอดเวลา

ตราบที่เราเข้าใจว่าจะตั้งมุมมองอย่างไร

 

เมื่อภาวะของสมาธิปรากฏป็นอย่างไร อะไรที่กำลังโดดเด่น

เป็นความโล่งก็ดี จะโล่งบ้าง ฟุ้งบ้างก็ดี

หรือกระทั่งฟุ้งอย่างเดียวไม่โล่งเลยก็ดี

 

ถ้ามองว่าเหล่านั้นคือจิตประเภทหนึ่งๆ

อ่านออกบอกถูกว่า จิตมีความเป็นอย่างไรอยู่

และเปลี่ยนไปอย่างไร ในลมหายใจหนึ่งๆ

จะพาไปสู่การได้รู้ได้เห็น เหนือไปกว่าการทำสมาธิก็คือ ได้เจริญสติ

มีสติที่เจริญขึ้นในแบบพุทธ เห็นว่าภาวะภายในก็ดี ภายนอกก็ดี

ล้วนแล้วแต่กำลังแสดงความไม่เที่ยง ไม่เหมือนเดิม

ตัวที่เห็นบ่อยว่าไม่เที่ยงไม่เหมือนเดิม

ตัวที่ตระหนักรู้ว่าเป็นธรรมชาติรู้ ธรรมชาติดู ภาวะอื่นๆ คือจิต ไม่ใช่เรา

 

ถ้าบอกว่าเป็นเรา แสดงว่ามีตัวอะไรตัวหนึ่ง เคยตั้งมาชั่วกัปกัลป์

กำลังดำรงอยู่ขณะนี้ และจะค้ำฟ้าต่อไปในอนาคต

 

แต่ถ้ามองว่าเป็นจิต มีเกิด มีดับ ไม่คยมีจิตแบบนี้มาก่อน

จิตที่กำลังนิ่งๆ ได้แบบนี้ ไม่เคยมีอยู่มาก่อน

เมื่อชั่วโมงที่แล้วก็ยังไม่เกิดขึ้น เพิ่งมาเกิดวินาทีนี้

และอีกไม่นาน ชั่วลมหายใจเดียวก็ดับไป

ถ้ามองเป็นจิต ไม่มองเป็นเรา จะเห็นแบบนี้

มีความเกิดดับตลอดเวลา ไม่มีตัวใครในนี้เลย

 

ถ้าใครถามว่า นั่งสมาธิ แล้วเห็นตัวเองต่างอย่างไรกับเห็นจิต

เห็นจิตต่างอย่างไร กับการมีตัวเรานั่งสมาธิ

ต้องตอบตัวเองหรือตอบคำถามคนอื่นให้ได้ว่า

สมาธิแบบพุทธ เป็นไปเพื่อให้เห็นว่าไม่มีใครนั่งสมาธิ

 

ถ้ามีตัวเรา หรือมีตัวใครนั่งสมาธิ แสดงว่า

มีตัวนี้อยู่ก่อน กำลังมีตัวนี้อยู่ กับทั้งจะมีตัวนี้ต่อไป

 

แต่ถ้าหากเรามองเห็นเป็นจิตที่กำลังพิจารณาดู ที่กำลังรู้อะไรๆ อยู่ขณะนี้

มุมมองจะแตกต่างไปสิ้นเชิง คือจิตนี้ เมื่อชั่วโมงก่อนไม่มี

อย่าว่าแต่ชั่วโมงก่อน นาทีที่แล้วก็ไม่มี

อย่าว่าแต่นาทีที่แล้ว แค่สองสามวินาทีก่อน ก็ไม่มีแล้ว

 

ถ้าจะเอากันแบบละเอียดยิบ

มันเกิดและดับตามอารมณ์ที่มันรู้

รู้อะไรก็ถือว่า เกิดอยู่กับอารมณ์นั้น

อารมณ์ไหนดับไป ก็ดับตามอารมณ์นั้นไป

 

ความสืบเนื่องของจิต เราเริ่มดูจากภาวะที่ปรากฏเด่นๆ ก่อน

อย่าไปดูภาวะที่ละเอียดยิบ ดูภาวะที่กำลังปรากฏขณะนี้

ถามตัวเองเริ่มจากง่ายๆ ขณะนี้สุขอยู่ หรือทุกข์อยู่

ถ้าสุขอยู่ รู้ว่าสุขหายใจเข้า รู้ว่าสุขหายใจออก

และเห็นว่าความสุขที่ถูกรู้ รู้โดยอะไร รู้โดยจิต


ถ้าเราเห็นได้ว่า จิตเป็นผู้รู้ผู้ดู ว่ากำลังมีลมหายใจอันเป็นสุขอยู่

จะเริ่มรู้เข้ามาว่า หน้าตาจิตเป็นแบบนี้ ใสๆ ไม่มีใคร

ที่เป็น หัว ตัว แขน ขานั่นคือธาตุดิน

ลักษณะที่พัดเข้าพัดออกในธาตุดินนี้ คือธาตุลม

ความสุขที่เกิดกับเนื้อตัว กับจิตที่สุขสบาย นั่นเรียกว่า สุขเวทนา

 

แยกกันเป็นชั้นๆ

ตัวที่รู้ที่ดูในชั้นสุดท้าย ไม่มีใคร ไม่มีเงา ไม่มีเรา ไม่มีอะไรทั้งสิ้น

มีแต่ความใส ความโปร่ง ตัวนั้นแหละจิต ตัวนั้นแหละทำหน้าที่รู้

 

เมื่อรู้ที่จิต หายใจเข้า รู้มาที่กลางจิต หายใจออก

กลางจิตจริงๆ จะว่าง สว่างอยู่

เมื่อเรารู้ที่จิต หายใจเข้า จะเริ่มเห็นแบบไม่มีความเข้าข้างตัวเอง

รู้ว่าจิตนี้ตั้งอยู่ในสภาพนี้ ตามเหตุปัจจัย

 

เมื่อกี้ไม่มีจิตแบบนี้ ไม่มีจิตที่รู้ตัวเอง

 

จิต ณ ขณะนี้ มีรัศมีความกว้างประมาณนี้ เราเห็นอยู่

รู้อยู่ว่า ความใสที่ปราศจากเงา ความใสที่ปราศจากหน้าตา ความใสที่ปราศจากขอบเขต

ถ้าเรากำหนดอยู่ที่ความรับรู้อันปราศจากสิ่งห่อหุ้ม จะรู้ความไม่มีขอบเขตของจิต

 

เห็นไหม จิตต่างไปเรื่อยๆ กำหนดอย่างไรด้วยอารมณ์ไหน ก็แปรไปตามนั้น

 

ความเป็นภาวะหนึ่งๆ ของจิต ถ้าหากเรามารู้ประกอบพร้อมไปว่า

กำลังหายใจออก หรือกำลังหายใจเข้า

เราจะรู้สึกถึงกระแสของจิตที่ผนึกแน่นขึ้นๆ มีความแน่นหนามากขึ้น

ตั้งมั่นมากขึ้น ตั้งมั่นออกมาจากความว่าง วาง

วางแม้กระทั่งภาวะตัวเอง เพราะเห็นแล้ว รู้แล้วว่าเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ตามเหตุปัจจัย

ภาวะของจิตหนึ่งๆ ไม่อาจรักษาไว้ได้

ไม่อาจทรงความเป็นเช่นนั้นได้ตลอดไป เมื่อเหตุเสื่อม ผลก็เสื่อม

 

มีความรับรู้อยู่นะว่าจิตต่างไปเรื่อยๆ ทีละนิดทีละหน่อย

ตัวนี้แหละ สติจะเริ่มเบ่งบาน โปร่งขึ้น

ที่โปร่งขึ้นไม่ใช่ตัวเรา แต่เป็นสภาวะจิตที่ถูกปรุงแต่งตามเหตุปัจจัยให้โปร่งขึ้น

จิตที่ไม่มีอะไรห่อหุ้ม ไม่มีความฟุ้งซ่าน ไม่มีภาวะหยาบๆ มาปิดกั้น

จะเป็นจิตที่มีความสว่างใสขึ้นเรื่อยๆ นี่เป็นธรรมชาติของมัน ไมใช่ของตัวเรา

 

ถ้าตัวเรามีอยู่ ต้องสั่งได้ เก็บเอาไว้ได้ สำหรับภาวะที่น่าพอใจ

แต่นี่สั่งไม่ได้ เก็บไม่ได้ เป็นไปตามเหตุปัจจัย

 

ตรงนี้ กว่าจะรู้ต้องใช้เวลา

ความจริงปรากฏอยู่เห็นๆ โจ่งแจ้ง จะจะแบบนี้

แต่กว่าจะยอมรับได้ว่า จิตไม่ใช่เรา มันยากเย็นแสนเข็ญ

เพราะถูกพอกไว้ด้วยโมหะมานานชั่วกัปกัลป์

รู้สึกอยู่ว่า อย่างไรจิตต้องเป็นเราแน่ๆ

 

พอกระเทาะเปลือกออกได้ และรู้สึกว่าจิตไม่ใช่เรา

จะเหมือนออกไปอีกมิติหนึ่ง มิติที่ไม่มีหน้าตาตัวใครห่อหุ้มอยู่

มีแต่อะไรใสๆ โปร่งๆ เป็นมิติที่ไม่มีใครเป็นผู้มีความทุกข์

มีแต่ตัวความทุกข์ดำเนินไป ตราบเท่าที่ยังมีอุปาทาน

ยังมีตัวหลงยึดมั่นสำคัญผิดอยู่

ตัวนั้นจะดำเนินต่อไปเรื่อยๆ เป็นปฏิกริยาลูกโซ่ไม่รู้จบ

 

ออย : ส่งการบ้านครั้งล่าสุด จิตถูกกระทบจังๆ ทั้งของเก่า ทั้งโมหะ

เห็นจิตพลุ่งพล่าน มาส่งการบ้านพี่ตุลย์ให้สติ ก็นำไปพิจารณา

ก็เหมือนตะกอนที่นอนอยู่ถูกกระทุ้ง ล้างให้ออกมา

รู้สึกว่าได้ปลดปล่อยภาระทางใจไปได้เยอะ

และที่พี่ตุลย์บอกว่า มีตัวอะไรที่ครอบบนหัวเราอยู่ เห็นชัดมากว่าคืออะไร

เพิ่งเห็นด้วยตัวเองว่าเกราะที่มีอยู่มานานเป็นสิบปี คืออะไร

 

พี่ตุลย์ : อย่างเมื่อกี้ที่ใสๆ โล่งๆ แล้วเหมือนกับไม่มีอะไรห่อหุ้ม

แต่ไม่ได้เกิดตลอด จะเกิดชั่วเวลา เป็นห้วงๆ

เราจะเห็นได้ว่าจิตที่เปิดโล่ง ไม่มีใคร ไม่มีอะไรห่อหุ้ม

เป็นอิสระอยู่ แบบนั้นน่าปรารถนากว่าค.มีตัวตนนะ

 

ออย : ใช่ค่ะ คือออยมีโลกสองใบ คือโลกในสมาธิ ที่สุขมาก

กับโลกแห่งความจริงที่ไม่มีความสุขเลย

แต่พอพี่ตุลย์เตือน ก็ได้สติ เหมือนสิ่งที่แยกโลกสองใบ แตกออกไปเลย

ก็มาพิจารณาว่า เราปล่อยให้ตัวเองคิดอย่างนั้นได้อย่างไรเป็นสิบๆ ปี

แล้วก็นึกถึงคำที่ว่า วันคืนล่วงไปเราทำอะไรอยู่

เห็นความทุ่มเทพี่ตุลย์ ก็รู้ว่าเวลาที่มีค่าที่เราได้พบในห้องนี้ ไม่รู้จะเหลืออีกยาวนานเท่าใด

เลยเป็นแรงบันดาลใจว่า ต่อไปเราจะยอมรับ เผชิญโลกแห่งความเป็นจริง

ว่ามันไม่เที่ยง และไม่ใช่ตัวเราเลย และปวารณาว่า

ต่อไปนี้จะไม่ให้มีโลกสองใบแล้ว เกิดภาวะใดก็จะรู้ว่าไม่เที่ยง ไม่ใช่ตัวเรา

แต่กว่าจะได้เห็นตรงนี้ ก็ไม่ง่ายเลยสำหรับออย

 

พี่ตุลย์ : ไม่ใช่แค่สำหรับออยนะ

แต่ไม่ง่ายสำหรับทุกคน แม้แต่ตัวพี่เอง ก็ไม่ง่าย

อะไรที่เหมือนเส้นผมบังภูเขาสำหรับพระอรหันต์

เป็นเหมือนภูเขาเหล่ากาทั้งลูก ที่มาบังเขาอีกลูกไว้

 

ที่เราจะมาถึงตรงไหนได้ก็ตาม ไม่ใช่ด้วยความบังเอิญ

และสิ่งที่ .. พอไม่ใช่แค่คิดได้ แต่สามารถรู้แจ้งได้ด้วยจิตตัวเองว่า

ภาวะ .. อย่างเมื่อกี้เราเห็นว่า พอจิตปราศจากสิ่งห่อหุ้ม มีความใส โล่ง ตื่น

จิตแบบนั้นถ้าหากตั้งมั่นอยู่ก็รู้ได้ว่า เป็นสิ่งน่าพอใจที่สุด

แต่ถ้ายังไม่สามารถตั้งมั่นได้ต่อเนื่อง เราก็ค่อยๆ สร้างเหตุขึ้นไป

เหมือนทุกคนในห้องนี้ ค่อยๆ เจริญไปด้วยกัน

บนเส้นทางที่ต่างฝ่าย เป็นแรงบันดาลใจให้แก่กัน

ถ้าพี่ไม่ได้เห็นพวกเรา ก็คงไม่มีกำลังใจขนาดนี้เหมือนกัน ก็เกื้อกูลไปด้วยกัน

 

ออย : ตอนนี้ไม่ได้ serious เหมือนก่อน

มีคืนหนึ่ง อยู่ดีๆ ก็เหมือนมีสิ่งทำให้เห็นว่า

ทำแบบนี้ แยกแบบนี้ วางจิตแบบนี้ ก็ทำตาม เลยรู้ว่า เป็นแบบนี้เอง

มีสองแบบ แบบที่หนึ่งคือ ถ้าเรามีกำลังจิตที่มั่นคง จิตจะไว

มีสิ่งกระทบ จะจับได้เลยว่า เราพอใจหรือไม่พอใจ

เรามีสิทธิ์เลือก เราก็เลือกเลยว่า จะเอาเข้ามาถึงความคิดไหม

ซึ่งแน่นอนว่าคงไม่มีใครเลือกจะเอา

กับกรณีที่สอง คือ ใช้ชีวิตประจำวัน ซึ่งเราจับมันไม่ทัน

พอมันขึ้นไปบนความคิดปุ๊บ ก็แค่ยอมรับชั่วคราวว่า

ความไม่อยากได้ ไม่อยากมี ไม่อยากเป็นที่มากระทบเรา

หรือรวมกันเรียกว่าทุกข์ อยู่แค่ชั่วคราว แล้วก็กลับมาที่ลมหายใจ

ไม่กี่ลม ก็จะลืม นี่ก็เป็นทางที่ออยทำค่ะ

----------------------------------

จอย

 

พี่ตุลย์ : จะมาถึงจุดที่ถามตัวเองว่า

ตอนนี้เรารู้อะไรได้บ้าง สิ่งที่ปรากฏชัดอยู่ เด่นอยู่

สิ่งที่กำลังปรากฏโดยที่เราไม่ต้องเค้นหา

ไม่ต้องพยายามสร้างอะไรขึ้นมา สิ่งเหล่านั้นแหละที่ถูกรู้ได้

 

ถ้าสุขอยู่ แล้วรู้ว่ามีความสุข หายใจออก

มีความสุขแล้วรู้ ว่าหายใจออก อยู่

สิ่งที่รู้ ทั้งความสุขที่มาพร้อมลมหายใจหนึ่งๆ มีความปรากฏเป็นอย่างไรอยู่

เราจะรู้ในเวลาต่อมาสั้นๆว่า มันแตกต่างไปเรื่อยๆ

 

อย่างเช่น ภาวะของลมหายใจ ที่กำลังปรากฏเป็นลมหายใจออก

มีความผ่อนคลาย มีความสุขแบบผ่อนคลาย

สุขแบบผ่อนคลายนี้ ไม่ได้เกิดโดยบังเอิญ

แต่เกิดจากการปรุงแต่งของลมหายใจ

ส่วนความสุขอันเกิดจากการหายใจเข้า จะเกิดจากความสดชื่นไปสู่ความว่าง

ความแตกต่างระหว่างความสดชื่นและความผ่อนคลาย

ก็คือการแสดงภาวะที่แตกต่างไป

ภาวะความรู้สึกเป็นอย่างไร จิตก็เป็นแบบนั้น

 

ถ้าสุขที่เกิดจากความผ่อนคลาย

ลักษณะจิตก็เบิกบานออก เปิดออก เปิดกว้าง

แต่ถ้าหาก ลักษณะความสุข เป็นไปแบบสดชื่น

ก็จะมีความอิ่ม เต็ม มีความสดใส

 

เห็นไหมจิตถูกปรุงแต่งไปเรื่อยๆ ตามเหตุปัจจัย

พอเราถามตัวเองว่า เรารู้อะไรได้บ้าง

และเห็นว่าภาวะที่กำลังปรากฏอยู่ เป็นไปตามเหตุปัจจัย

สมาธิแบบพุทธ จะต่างจากสมาธิแบบธรรมดาเป็นคนละเรื่อง

 

สมาธิธรรมดาๆ อย่างมาก ทำให้เห็นมากสุดคือ

ความรู้สึกนิ่ง สบาย ผ่อนคลาย

แต่สมาธิแบบพุทธทำให้เห็นว่า

ภาวะที่กำลังปรากฏอยู่ เป็นไปตามเหตุปัจจัย ไม่ใช่บังเอิญ

ทุกอย่างมีเหตุเสมอ

 

และการเห็นซ้ำๆ แล้วๆ เล่าๆ เป็นร้อยพันครั้งว่า

อะไรๆ เป็นไปตามเหตุปัจจัย ตัวที่เห็นคือ ปัญญา

และตัวปัญญา จะทำให้เกิดความรู้สึกขึ้นมาอีกอย่างหนึ่งกับชีวิตตัวเองว่า  

อะไรๆ ที่ปรากฏอยู่นี้ ไม่เหมือนเดิม แตกต่างไปเรื่อยๆ

มีเหตุแบบใหม่ก็เกิดผลแบบใหม่ มีเหตุแบบเก่าก็เกิดผลแบบเก่า

 

ที่สุขอยู่ ไม่ใช่เพราะความสุขเป็นสมบัติอะไรอย่างใดอย่างหนึ่ง

แต่เพราะ เราสร้างเหตุปัจจัย ขึ้นมาแบบหนึ่ง

ถึงเกิดผลที่กำลังปรากฏอยู่เดี๋ยวนี้ จิตขณะนี้แหละ เรียกว่าผล

 

ช่วงนี้พิจารณาถึงเหตุปัจจัย ให้มากๆ ไม่อย่างนั้นจะลืม

ระหว่างวัน บางอารมณ์อุดอู้ไปนิด

ถ้าเกิดความรู้สึกอุดอู้ระหว่างวัน ให้มองเหตุปัจจัย ว่าจิตมีอาการหุบแคบเข้ามา

ถ้าเราไม่รู้เข้ามาที่จิต ไม่รู้เรื่องเหตุปัจจัย ที่ทำให้จิตหุบแคบ

เราจะปล่อย แล้วเกิดความรู้สึกในตัวตนแบบเดิมๆ

 

แต่ถ้ามองทันว่าลักษณะอุดอู้ เกิดจากการที่จิตหุบแคบ และจมกับอารมณ์ทุกข์อ่อนๆ

และเรารู้ว่า นั่นเป็นเพราะจิตมีธรรมชาติพร้อมไหลลงต่ำ

พร้อมเกิดภาวะอกุศล เกิดภาวะปิด แคบ กระจุกตัว

หรือจมจ่อมกับภาวะเซ็งๆ เนือยๆ หรือมีลักษณะอึดอัดอยู่

อาจเพราะมีสิ่งกระทบภายนอกมากระตุ้น

 

แต่ประเด็นคือ ถ้าเรามองเห็นว่าจิตมีลักษณะปิดแคบอยู่ ตามเหตุปัจจัย อะไรสักอย่าง

จะเป็นสิ่งกระทบจริงๆ หรือ ความคิดเราก็ตาม  

ก็จะ.. อ้อ เหตุปัจจัย เป็นเหตุให้เกิดจิตแบบนี้ ไม่ใช่จิตแบบนี้ตั้งอยู่ก่อน

เสร็จแล้วก็มองแค่ จิตคับแคบ หายใจออก จิตคับแคบ หายใจเข้า

ด้วยอาการรู้แบบที่ฝึกมาในอานาปานสติ ไปเรื่อยๆ

จะกระตุ้นให้เกิดสัญญาเก่าๆ ในการเจริญอานาปานสติขึ้นมาว่า

เวลารู้ลมหายใจ ตามหลักที่ถูกต้องคือ จิตต้องเปิดแผ่ ไม่ใช่กระจุกเข้ามา

แล้วก็จะเห็นว่าอาการอุดอู้ของจิต จะค่อยๆ เปิด เบิกบานออก

และจะเห็นความไม่เที่ยงของสภาวะจิตตามเหตุปัจจัย

 

การเห็นบ่อยๆ ว่าจิตเราเป็นอย่างไร เกิดขึ้นจากเหตุปัจจัย ล้วนๆ

จะทำให้ไม่ลืมในระหว่างวัน

 

ที่ผ่านมา ลืมดูว่าจิตเราเป็นไปตามเหตุปัจจัย

แล้วพอมีอาการกระจุกตัว ก็คิดว่ามาส่งการบ้านเสียหน่อยเผื่อจะดีขึ้น

ตรงนี้ก็เป็นเหตุปัจจัยหนึ่ง แต่ไม่ใช่เหตุปัจจัยที่จะติดตัวเราไป 24 ชั่วโมง

 

เหตุปัจจัย ที่จะติดตัวเราไป 24 ชั่วโมง

คือการมีสติระลึกได้ว่า จิตเราขณะนี้ มีเหตุปัจจัย อะไรปรุงแต่งอยู่

ถ้าคิดได้บ่อยๆ ชีวิตระหว่างวันจะเปลี่ยนไป

เหมือนที่เปลี่ยนไปแล้ว ตอนที่มานั่งสมาธิ หรือเดินจงกรมนั่นแหละ

 

เวลาที่เปลี่ยน ไม่ได้เปลี่ยนเพราะเราได้ทำอะไรอย่างใดอย่างหนึ่ง

แต่เปลี่ยนเพราะ เราเข้าใจว่าที่เราทำทุกอย่าง

เป็นเหตุปัจจัยทั้งหมด ให้เกิดจิตขึ้นมา ณ ขณะนั้น

 

ตัวนี้ พอแม่นกับตรงนี้จะ upgrade ขึ้นไปอีกระดับ

ที่ผ่านมา เราอาจ upgrade เรื่องสมาธิ เรื่องสภาวจิต มีความผ่องใสมากขึ้น

โทสะน้อยลงมาก แต่กลับมามีอุดอู้นิดหน่อย แต่ก็ไม่ได้แย่มาก

อาศัยปัญญา อาศัยสติ พิจารณาว่า ด้วยเหตุปัจจัยอะไร จิตแบบนี้ถึงเกิดขึ้น

แค่นี้ บอกตัวเองซ้ำๆ ว่า มีเหตุปัจจัยอะไรทำให้เกิดจิตแบบนี้ขึ้นมา ณ ขณะหนึ่งๆ

และคำถามนี้ จะเป็นคำถาม upgrade การเจริญสติของจอยเลย

 

จอย : เหตุปัจจัย ในที่นี้ หมายถึงสิ่งแวดล้อม หรือตัวหนูเองคะ

 

พี่ตุลย์ : ทุกอย่าง สิ่งแวดล้อมเท่าที่กำลังปรากฏทุกวันนี้ บางทีมีเรื่องไม่น่าพอใจ

แต่ก่อนเราจะเป็นประเภทอารมณ์ร้าย โต้ตอบสิ่งไม่น่าพอใจแบบทันที

แรงมาแรงไป หรือเบามาแรงไป มีลักษณะโต้ตอบเผ็ดร้อน

 

แต่ตอนนี้ พอมีอะไรไม่น่าพอใจ เราจะเก็บไว้ในใจ ว่าจะเอาอย่างไรดี

แต่ก็จะมีอารมณ์ขุ่นๆ ปรากฏขึ้น

เราไม่ได้ตั้งใจเลี้ยงไว้ แต่มันก็ไม่หายไปไหน เพราะเราลืม

เราดูลมหายใจแค่ครั้งสองครั้ง

แล้วไม่ได้พิจารณาว่า ด้วยเหตุปัจจัยแบบหนึ่ง

เกิดจิตแบบนี้ขึ้นมาแล้วเราเก็บไว้

เหตุปัจจัย มาจากอารมณ์กระทบภายนอกด้วย ส่วนหนึ่ง

และมีอาการที่ใจเราเก็บไว้แบบอุดอู้ อึดอัด

 

แต่ที่สำคัญสุดก็คือว่า เราไม่มีสติเห็นเหตุปัจจัย นั่นแหละ

ถ้ามีสติเห็นเหตุปัจจัยจริง เวลามีกระทบ เราอึดอัด

เรารู้ว่ากระทบนั้นทำให้อึดอัด

แล้วด้วยสติ ก็จะเห็นว่า เหตุปัจจัยนั้นดับไปแล้ว

เราเอาตัวออกมาแล้ว ตรงนี้ก็ควรจะดับด้วย แต่นี่ไม่ใช่

 

พอเหตุปัจจัยนั้นดับไปแล้ว เรามาตรึกนึกอีก นี่ก็คือการเลี้ยงไว้

แล้วบางที มีจังหวะที่เรารู้สึกเบื่อๆ อารมณ์เบื่อ เกิดจากอะไร

 

ถ้าไม่เห็น จะรู้สึกว่า อะไรๆ น่าเบื่อ

แต่จริงๆ เราเลี้ยงเหตุแห่งความเบื่อไว้เอง

เหตุแห่งความเบื่อคืออะไร ลองสังเกตทุกครั้งที่เราเบื่อ ลมหายใจสั้นหรือยาว

พอสังเกตเข้ามาเห็นลมหายใจจะเห็นว่า มันสั้น หรือไม่เป็นที่สบาย ทั้งนั้นเลย

แต่ถ้าลมหายใจ ยาว หรือสดชื่นมากพอ อารมณ์เบื่อจะตั้งอยู่ไม่ได้ จะคลี่คลายหายไป

 

เวลาเจริญอานาปานสติเป็น แล้วติดไปในชีวิตประจำวันด้วย

จะเห็นเลยว่า ทุกอารมณ์เกี่ยวข้องกับ วิธีหายใจเสมอ ไม่ว่าหายใจสั้นหรือยาว

ถ้าหายใจสั้น จะมีอารมณ์ที่โน้มเอียงไปทางลบ หรืออย่างมากสุดคืออยู่กลางๆ

แต่ถ้าหายใจยาว อย่างมีจังหวะจะโคน ถูกต้อง มีความสดชื่น จะโน้มเอียงไปทางบวก หรือบวกมาก

ยิ่งจิตมีลมหายใจยาวมากเท่าไหร่ ยิ่งมีความตื่น มีความสดชื่น สดใสเป็นผลลัพธ์มากเท่านั้น

 

ตรงนี้ ถ้าสังเกตใหม่ แล้วมองว่า

ลมหายใจ ไม่ใช่แค่สิ่งที่ทำให้เราเกิดสมาธิ แต่ทำให้เกิดสติ

เกิดความเห็นขึ้นมาว่า ด้วยเหตุปัจจัยของลมหายใจ

ทำให้อารมณ์เรากระจุกตัวก็ได้ หรือเปิดเบิกบานก็ได้

 

ดูด้วยความเข้าใจแบบนี้ ในอาทิตย์เดียว

ระหว่างวันจะพบว่าตัวเองเข้าใจมากขึ้นมหาศาล

ที่ผ่านมา บางทีระหว่างวันเราหายใจ แบบแกนๆ ไม่ได้หายใจ ด้วยความเข้าใจ

แต่ถ้าหายใจ ด้วยความเข้าใจว่า

ลมหายใจ ก็เป็นเหตุปัจจัย ปรุงแต่งให้เกิดอารมณ์ เกิดจิตแบบหนึ่งๆ

ตรงนี้ที่จะ upgrade ขึ้นมาจริง

 

อย่างถ้าให้นั่งเฉยๆ ในห้อง ใช้ท่าที่สองกำกับสติ ไม่มีปัญหาสำหรับจอย

แต่จริงๆ ตรงนี้เป็นแค่จุดเริ่มต้น เป็นแค่ต้นทุนที่จะเอาไปใช้จริงในระหว่างวัน

 

จอย : ช่วงนี้มีเรื่องที่ทำให้วิตกกังวล อึดอัดใจ กังวลไปในอนาคตว่าจะแก้อย่างไร ก็ฟัง ยูทูปบอกว่า ถ้าใจไม่ดี ความคิดที่จะแก้ปัญหาก็จะไม่ดี

แต่หนูยังออกจากความเครียด วิตกไม่ได้ จะต้องทำอย่างไร

 

พี่ตุลย์ : อย่างที่พูดไปทั้งหมด

ถ้าเราเห็นอาการทางใจ จะอึดอัดหรือกังวลอนาคตอะไรก็ตาม

จะมีอาการอึดอัดอยู่ อาการเซ็งๆ หาทางออกไม่ได้

หรือเซ็งที่ตัวเองมีสภาพจิตแบบนั้น

ไม่ว่าจะมีลักษณะอาการอะไรก็แล้วแต่ เรารวมเป็นคำเดียวคือ มีความทุกข์

 

มีความทุกข์ หายใจออก มีความทุกข์หายใจเข้า อย่างที่ฝึกมาแล้ว

มันจะคลายออก แล้วพอคลายออก ก็กลายเป็นจิตที่สามารถคิดอะไรดีๆ ได้ใหม่

 

จริงๆ จอยอาจตั้งคำถามไม่ตรง อาจ .. แบบว่า

ด้วยการตั้งจิตไว้อย่างไร หรือด้วยการตั้งเข็มไว้อย่างไร

เราถึงจะออกจากทางตันได้ .. ตัวนี้ ที่เป็นโจทย์แท้จริงของจอย

 

พูดง่ายๆ เรากำลังหาจิตแบบหนึ่ง ที่จะไปรับมือกับสถานการณ์ที่เข้ามา

และจิตแบบนั้นเราอยากให้เกิดโดยที่ใช้เวลาไม่นานมาก และถูกต้องตรงทาง

 

แต่แบบนั้น พี่จะบอกเราว่า มันไม่มี

ต่อให้จิตดีแค่ไหน ก็ต้องค่อยๆ จัดการกับปัญหาแบบค่อยเป็นค่อยไป

และ กล้าลองผิดลองถูก กล้าที่จะเลือกสิ่งที่เรารู้สึกว่าใช่ แม้มันอาจผิด

 

กล้าลองผิดลองถูกมาจากตรงนี้ เอาความรู้สึกเราว่าอันไหนใช่ที่สุด

ใจเราพร้อมที่จะเสี่ยง จะลอง

 

ชีวิตคนไม่มีหรอก ที่จะปรากฏว่า ถูก 90% ให้เลือกเลย

แต่มักจะมาแบบ 50:50 หรือ 40:60

แต่ถ้าเราหัดให้ตัวเราอยู่ในภาวะจิตที่มีสติมากสุด โปร่ง เบา เปิดมากที่สุด ไม่กระจุก โอกาสที่จะมองเห็น 70 หรือ 80 จะสูงขึ้น

 

แต่ถ้าจิตอุดอู้ จะเห็นแค่ 50:50 จะไล่เฉดน้ำหนักไม่ถูก

ที่ผ่านมาจิตเราเป็นแบบนั้น อุดอู้ หุบเข้ามา

จิตที่หุบ และไม่กล้าลองผิดลองถูก จะมองเห็นเป็น 50:50

ซึ่งจะหลอกหลอน ปั่นหัวเราให้วนลูปอยู่กับการที่

เรารู้สึกเลือกไม่ถูก ตัดสินใจไม่ได้ กลัว

หรือบางทีไม่ได้กลัว แต่ไม่กล้าพอที่จะได้รับผลของการเลือก

 

ชีวิตมักเหมือนมีปืนจ่อหลังให้เลือก ทำให้ใจกระสับกระส่าย ดิ้นรน รู้สึกเลือกไม่ถูก

แต่ถ้าอาศัยทุน ใช้อานาปานสติมาช่วย ณ จุดเกิดเหตุ

ว่ามีความทุกข์หายใจออก มีความทุกข์ หายใจเข้า ยอมรับตามจริงนะ

แค่สิบลมหายใจ ความทุกข์แสดงความไม่เที่ยงมาให้เห็น หายไปจากใจ

และใจที่เปิดกว้าง ใจที่ไม่หุบเข้า

นี่แหละที่จะจะเริ่มเห็นอะไรด้วย ตาที่นิ่งๆ ใจที่เย็นๆ

 

จากเดิมที่ใจอุดอู้ ตาไม่ทำงาน ไม่ยอมมอง

เราแขวนตัวเองลอยในอากาศให้แกว่งไปมา

แล้วไม่ตัดสินใจว่าจะเอาอย่างไร เพราะจิตหุบข้างใน

ไม่ออกมาเผชิญหน้ากับสิ่งที่ต้องเลือก

ให้ลองดู อย่าคิดถึงทางลัดอื่น คิดถึงอานาปานสติที่ฝึกมา

มีความสุขหายใจเข้า มีความสุขหายใจออก จะง่าย

แต่พอเอามาประยุกต์ใช้ มีความทุกข์หายใจออก มีความทุกข์หายใจเข้า

เราลองแล้วหรือยัง ถ้ายังไม่ได้ลอง ลองดู

 

--------------------

พัชร

 

พี่ตุลย์ : พอเจริญอานาปานสติถึงจุดหนึ่ง จะพบความจริงว่า

จิตมีแค่สองแบบใหญ่ๆ คือจิตที่เปิดโล่ง หรือจิตที่มีเปลือกอะไรหนาๆ ห่อหุ้มอยู่

 

ถ้าจิตเปิดโล่ง เหมือนที่เรารู้สึกท้องฟ้าทั้งท้องฟ้าได้

ก็เหมือนไม่มีอุปสรรคอะไรเลย

แต่ถ้าหากอาการของจิต มีลักษณะ ของเปลือกอะไรหนาๆ ห่อหุ้มอยู่

จะเต็มไปด้วยอุปสรรค ข้ออ้าง จะเต็มไปด้วยความอยากทำนู่นนี่

 

ของคุณพัชร ถ้ามาถึงจุดหนึ่ง ที่เราสามารถเปรียบเทียบได้เรื่อยๆ ว่า

บางทีหัวก็โล่งว่าง อย่างตอนแหงนมอง ให้เหมือนเห็นท้องฟ้าทั้งฟ้าได้ทุกครั้ง

ความโล่งจะมาง่ายๆ และเมื่อมีความโล่ง จะเหมือนชีวิตไม่มีอุปสรรคอะไรเลย

การเจริญสติ ทำสมาธิ หรือชีวิตระหว่างวัน

ถ้าจิตเป็นแบบนี้คือ ไม่มีอุปสรรค มีแต่ทางโล่งว่าง

 

จิตเป็นใหญ่ จิตเป็นประธาน

ถ้าจิตโล่ง เปิดกว้าง ทั้งชีวิตก็เหมือนเปิดกว้างได้หมด

 

แต่ถ้าจิตมีอะไรห่อหุ้มแม้แต่น้อย

อย่างของคุณพัชร แต่เดิมมีแต่อะไรห่อหุ้มเป็นเปลือกแข็ง

แม้แต่ตอนนี้บางทีก็กลับมีอะไรหนาๆ ขึ้นมา

ตรงนี้มีส่วนดี ถ้ามันหนาขึ้นมาและบางลงหรือหายไป เป็นจังหวะสลับไป

จะเห็นความไม่เหมือนเดิม

 

จิตถ้าโล่งว่าง เหมือนไม่มีข้ออ้าง จะเหมือนชีวิตไม่มีอุปสรรค

แต่เมื่อไหร่ที่มีเปลือกมีความฟุ้งมาห่อหุ้มอยู่

ความรู้สึกจะเป็นไปอีกแบบหนึ่ง

จะเหมือนกลับไปคิดเยอะ เหมือนเต็มไปด้วยข้อติดขัด

 

การได้เห็นความจริงนี้จะมีคุณค่ามหาศาล ทำให้เข้าใจแบบพุทธ

เห็นเหตุปัจจัยของจิตเป็นอย่างนี้อยู่

ถ้ามีอะไรห่อหุ้ม ก็จะคิดเยอะ เต็มไปด้วยอุปสรรค

แต่พอไม่มีอะไรห่อหุ้ม จิตโล่งเท่าท้องฟ้า ทุกอย่างหายไปเลย ที่เคยเป็นอุปสรรค ข้อติดขัด กลายเป็นทางโล่ง ว่าง สว่าง

 

ใจเป็นใหญ่ ใจเป็นประธาน อะไรๆ ไหลมาจากใจ

ถ้าเรามองเห็น ว่าใจกำลังถูกอะไรห่อหุ้ม

หรือกำลังมีความปลอดโปร่งไร้สิ่งห่อหุ้ม

นั้นคือการเห็นเหตุปัจจัย ตามจริง

และสิ่งที่จะปรากฏเป็นของจริงในเวลาต่อมา ก็คือ

จิตเป็นไปตามเหตุปัจจัย ไม่ใช่ของใคร

ไม่มีใครอยู่ในนี้ และไม่ใช่ตัวเรา

 

ไปเป็นขั้นๆ ก่อน บางทีเห็นจิตโล่งว่าง

บางทีมีอะไรห่อหุ้ม เห็นซ้ำๆ เห็นไปบนความเข้าใจแบบพุทธนี้ เพียงพอเลย

จะเป็นวันๆ นะ บางวันโล่งตลอด บางวันโล่งบ้าง เหมือนมีอะไรกลับมาเคลือบบ้าง

อย่างวันนี้มีทั้งสองอย่าง เวลาโล่งก็โล่ง เวลามีอะไรมาเคลือบก็ยอมรับไป รู้ไป

 

พัชร : ใช้มือไกด์แล้วเมื่อย เลยหยุดเป็นระยะ แต่จะเห็นตัวชัด

เห็นคอตั้งหลังตรง และการกระเพื่อมของท้อง จังหวะตอนหยุดใช้มือ

ต้องปรับอะไรไหมคะ

 

พี่ตุลย์ : เวลาเห็นตัวชัด แสดงว่าจิตมีคุณภาพอยู่

ไม่ว่าจะใช้มือไกด์หรือหยุดนิ่ง ให้ถือว่าเป็นจังหวะที่จิตมีคุณภาพ

และถ้ารู้ว่าจิตมีคุณภาพ เห็นอะไรได้ชัด

ถามตัวเองว่า เรากำลังเห็นอะไรบ้าง

อย่งเมื่อกี้บอกว่า หัวใจเห็นตุ้บๆ ชัด เราก็ดูตุ้บๆ ไปเลย ไม่ต้องสนใจอย่างอื่น

แต่อย่าจ้องเข้าไปที่ตุ้บๆ อย่างเดียว

ให้รับรู้ถึงท่านั่งคอตั้งหลังตรงควบคู่ไปด้วย

เพื่อให้เป็น reference ว่าเรากำลังอยู่ในอิริยาบถปัจจุบัน

ไม่ใช่จุ่มจิตเข้าไปในบริเวณคับแคบ

 

การที่เรามีสติ มีจิตเปิดกว้าง เห็นถึงอิริยาบถปัจจุบันได้

พิสูจน์ได้ว่า เรากำลังอยู่กับปัจจุบันจริงๆ

 

แต่ถ้าเราจี้ไปจุดคับแคบเช่น จุดตุ้บๆ บางทีจะมีนิมิตอะไรแปลกๆ ขึ้นมา

หรือว่ามีความรู้สึกอะไรที่ไม่เหมือนปกติธรรมดา

แบบนั้นจิตจะหลุดจากโฟกัสของสติที่เป็นปัจจุบัน

อาจเกิดความสงสัยว่าเอ๊ะ เราเห็นจริงหรือเปล่า

หรือเราเห็นใช่ไหม มีข้อสงสัยต่างๆ

แต่ถ้ารู้สึกถึงอิริยาบถปัจจุบันเป็นหลักตั้ง ข้อสงสัยจะไม่มี

เพราะจะมี reality check ว่าสิ่งที่ปรากฏอยู่จริงเป็นหลักตั้งอยู่

เราสามารถรู้สึกถึงท่านั่งคอตั้งหลังตรง ที่ดามด้วยกระดูก

มีเลือดเนื้อฉาบอยู่ มีลมหายใจเข้าออก ตัวนี้จะไม่มีข้อสงสัย

 

ฉะนั้น จะใช้มือไกด์ หรือหยุดนิ่งก็ตาม ขอให้ดูแค่ว่า

เรากำลังตั้งต้นรู้จากอิริยาบถที่เป็นปัจจุบันจริงๆ นั้นหรือเปล่า

ถ้าตั้งต้นจากอิริยาบถปัจจุบัน จะรู้ลมหายใจ รู้หัวใจ

รู้ตับไตไส้พุงหรืออะไร ก็จะรู้จริงหมด

 

พัชร : ระหว่างวัน มีคำแนะนำอะไรไหมคะ

 

พี่ตุลย์ : อยู่ในช่วงที่บางทีเหมือนจิตเปิด บางทีจิตถูกห่อหุ้มด้วยความคิดเก่าๆ

เวลาคิดเยอะ จะเห็นตัวเองเต็มไปด้วยข้อวิตกกังวล

อาการฟุ้งของจิตไปในเรื่องไม่เป็นเรื่อง

แต่ไม่ใช้ว่าเราจะไปตัดออกเฉยๆ

แต่อาศัยการสังเกตว่าเมื่อไหร่ที่จิตโล่งๆ ว่างๆ

จะเต็มใจเข้ามารู้สึกในกายใจ

แต่ถ้ามีเปลือกความคิดแข็งๆ มาห่อหุ้ม

จะยินยอมพร้อมใจออกไปหาเรื่องข้างนอก

 

บางทีไม่มีเรื่องมาให้คิด เราก็ผลิตความคิดขึ้นมาเอง

ไปจดจ่อกับเรื่องที่รู้อยู่ว่าเสียเวลา

ความคิดจะบีบจิต ให้หลงคิดไปว่าไม่รู้จะทำอย่างไร ต้องปล่อยให้เป็นแบบนี้

ทั้งๆ ที่เราสามารถรู้ได้ เหมือนเมื่อกี้ที่เราคุยกันว่า

จิตในขณะที่โล่ง เรารู้ลมหายใจ รู้ท้องฟ้า

แล้วตอนจิตโล่ง ดูเหมือนชีวิต หรือเส้นทางการเจริญสติ ไม่มีอุปสรรค

แต่พอมีความคิดเข้ามาห่อหุ้ม อุปสรรคมาทันที

แล้วคุณพัชรจะรู้สึกระหว่างวันว่า ทำอะไรไม่ได้หรอก .. นี่คือถูกหลอกแล้ว

 

จำไว้ว่า เมื่อความฟุ้งซ่าน มาห่อหุ้มจิต นั่นคือมันหลอก

ให้เรากลับไปทางเก่า ที่เราผ่านมาแล้วด้วยความยากลำบาก

โดนหลอกให้คิดเรื่องไม่เป็นเรื่อง

 

โดยบุญเก่าเรา เจอปัญหา แต่น้อย ไม่จำเป็นต้องคิดเยอะ

ไม่ต้องเอาตัวไปวุ่นวายมากมายขนาดนั้น บุญเก่าเราดี

แต่มโนกรรม ต้องทำบุญเพิ่มขึ้นหน่อย

เวลาคิดเรื่องไม่เป็นสาระ แล้วเรารู้อยู่ ณ ขณะนั้น ว่าไม่เป็นสาระ

แต่ก็ยังอุตส่าห์โดนเปลือกความคิดหลอก

ที่ถูกหลอกแล้วเรายอมให้หลอก ก็คือโดนดึงกลับทางเก่า

 

ลองหลับตา แล้วยกมือขึ้นสูง สุดเลย แหงนหน้ามองสุด

ทำความรู้สึกถึงฟ้าโล่งทั้งฟ้าข้างบน หายใจออก ให้รู้สึกถึงลมหายใจ

ตอนนี้ ดูซิ ลืมตา จำไว้เลยว่า แค่สร้างเหตุปัจจัย แบบนี้

แล้วรู้สึกเหมือนไม่มีเปลือกมาหุ้ม ก็จบแล้ว .. ใช่หรือเปล่า

ที่ถูกหลอกว่าแก้อะไรไม่ได้ เห็นไหม แค่ไม่กี่วินาที ..จบแล้ว

ถ้าทำความเข้าใจกับตัวเอง ตกลงกับตัวเองว่า อะไรๆ เป็นไปตามเหตุปัจจัย

เหตุปัจจัยโล่ง ก็ทำให้โล่ง เหตุปัจจัย ให้ว้าวุ่น ก็รู้สึกว้าวุ่น

เหตุปัจจัย ให้คิดเรื่องไม่เป็นเรื่อง

ก็อาศัยอำนาจ ความเคยชินคิดเรื่องไม่เป็นเรื่องกลับไป ทั้งที่พ้นมาแล้ว

 

พัชร : ถ้าฟุ้งซ่านก็แค่กลับมาอยู่กับลมหายใจใช่ไหมคะ

 

พี่ตุลย์ : ชีวิตเอื้อให้ใช้ท่าสองได้บ่อยๆ ในระหว่างวัน

โดยที่เลือกได้ว่า เราจะปลีกตัวจากผู้คนหรือเปล่า

ก็ปลีกตัว แหงนหน้ามองฟ้าให้หัวโล่ง

เหตุปัจจัยที่เรามีในมือ เหมือนอาวุธขนาดใหญ่

ที่จะจัดการขจัดอุปสรรคเดิมๆ ทิ้ง ง่ายมาก

เราจะทำหรือไม่ทำ เลือกหรือไม่เลือก ตรงนี้แหละที่ต้องตกลงกับตัวเอง

-----------------------

บัว

 

พี่ตุลย์ : เมื่อไหร่รู้สึกถึงจิต ก็ตั้งสติอยู่กับจิต ที่ผ่องที่เปิดกว้างออกไป

รู้ว่าจิตที่ผ่อง เปิดกว้าง ไม่เพ่งเล็ง

แล้วกำลังมีอาการรับรู้ถึงจังหวะเท้ากระทบอยู่

จะรู้สึกว่า ข้างบนว่าง ข้างล่างชัด

และรู้สึกขึ้นมาว่า ที่เดินๆ อยู่ กระทบๆ เหมือนมีรูปมีร่าง แค่ครึ่งเดียว

คล้ายสัญญาความเป็นมนุษย์หายไปชั่วคราว

เหลือคล้ายๆ ไม้ ที่ถูกตัดมารวมกันสองซีก สลับซ้ายขวา แปะๆ ไป

 

สภาพที่เป็นวิตักกะ วิจาระ

สามารถทบทวนได้จากประสบการณ์ตรง ณ ขณะหนึ่งๆ

มีวิตักกะ คือ รู้สึกถึงจังหวะเท้ากระทบที่อยู่ในใจต๊อกๆ

และไม่มีใครอยู่ในต๊อกๆ นั้น

ส่วนวิจาระ คือความรู้สึกใจนิ่งว่าง สว่าง ผ่องๆ

ออกมาจากศูนย์กลางความว่าง

ไม่รู้สึกว่ามีตัวใครในจิต ไม่มีตัวใครในความผ่องนั้น

และในความผ่อง เป็นดวงเดียวของจิตที่ตั้งมั่นเป็นสมาธินั้น

มีแต่ความรู้สึกถึงเท้ากระทบ ที่กระทบๆๆ อยุ่

 

พอมี วิตักกะ วิจาระเกิดขึ้นระหว่างเดินจงกรม แล้วต้องรู้อะไรต่อ

ตอบตัวเองได้เลยว่า รู้ความไม่เที่ยงของภาวะที่กำลังปรากฏอยู่

ภาวะที่แสดงความไม่เที่ยงได้ง่ายและชัดสุด คือภาวะของจิต

 

ถ้าภาวะจิตมีอาการผ่องๆ เป็นตัวตั้ง ใจผ่องๆ จากใจกลางความว่าง

จะเห็นง่ายๆ เลยว่า ผ่องอยู่ กว้างหรือแคบ

 

ถ้ากว้าง จะรู้สึกเหมือนใจเป็นดวงสว่าง กว้างขวาง

แต่ถ้าแคบๆ จะรู้สึกเกินกายออกไปนิดหนึ่ง หรือแม้แต่หุบมาในกาย

 

เวลาที่เห็นขนาดของจิตแสดงความไม่เหมือนเดิม แสดงความแตกต่าง ไม่เที่ยง

จะเกิดความรู้สึกมาในรอบใดรอบหนึ่ง

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เวลาที่กำลังมีความขยายออกกว้างๆ ว่า

จิตเป็นแค่สภาวะ จิตไม่ใช่ตัวใคร ไม่ใช่ตัวเรา

ถ้าจิตเป็นตัวเรา จะต้องคงที่ คงสภาวะแบบหนึ่งไว้

แต่นี่เดี๋ยวกว้าง เดี๋ยวแคบ เอาแน่นอนไม่ได้

ตัวที่เอาแน่นอนไม่ได้ จะเกิดปัญญา เกิดสติ ชนิดที่เป็นปัญญาแบบพุทธ

 

คำว่าสติมีความแตกต่างแบบนี้

สติแบบที่เห็นอะไรอย่างหนึ่งเฉยๆ

กับสติ ที่ได้ข้อสรุปว่า อะไรที่ไม่เที่ยง ตกลงไม่ใช่ตัวเรา

 

ตอนสติแบบพุทธเกิด จะมีสองระยะคร่าวๆ

ระยะที่หนึ่ง คือรู้สึกขึ้นมาวูบเดียวว่า นี่ไม่ใช่ตัวเรา

สิ่งที่หายไป หรือสิ่งที่ปรากฏแสดงว่าไม่เที่ยง

 

กับระยะที่สองคือมีสติตั้งมั่นอยู่ มีฐานจิตที่ไม่คลอนแคลน ไม่โยกเยก

เห็นเป็นปกติอยู่นานว่า ตัวที่กำลังปรากฏกับจิตเดี๋ยวนี้เลย

ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน เป็นภาวะเฉยๆ ปรากฏขึ้นมาเฉยๆ หายไปเฉยๆ

 

ตัวที่เฉยๆ คือ อุเบกขาของจิตนี่แหละ

ถ้าจิตตั้งมั่นจริงจะประกอบพร้อมด้วย อุเบกขา ด้วยความรู้สึกเฉยๆ

เวลาเห็นอะไรปรากฏ จะเห็นสิ่งนั้นปรากฏขึ้นมาเฉยๆ

เวลาภาวะนั้นหายไป จะรู้สึกว่าภาวะนั้นหายไปเฉยๆ

ไม่มีภาวะไหนปรากฏเป็นพิเศษ และหายไปเป็นพิเศษ

ไม่มีว่าเกิดมาอย่างยิ่งใหญ่ หายไปอย่างยิ่งใหญ่

หรือเกิดมาแบบกระจอก และหายไปแบบกระจอก

 

รู้สึกจิตผ่องๆ ออกมาเรื่อยๆ ใช่ไหม

 

บัว : รู้สึกดีขึ้นเรื่อยๆ วันนี้มีแต่ดีแต่ละรอบ ดีมากดีน้อย

 

พี่ตุลย์ : อยากให้สังเกตลักษณะจิตที่ผ่องๆ จะหล่อเลี้ยงด้วยปีติหรืออะไรก็แล้วแต่

ตรงนั้นเป็นเปลือก เป็นเหตุปัจจัยชั้นแรกๆ

เราไม่ต้องสนใจแล้ว ว่าปีติหรือสุข

แต่ให้ไปสนใจจิตผ่องๆ จะระหว่างเดิน หรือระหว่างวันว่าผ่องมาก ผ่องน้อย

 

ถ้าผ่องมาก จะเหมือนไม่มีศูนย์กลาง ภายในจะว่าง

แต่พอแคบลงไป จะรู้สึกเหมือนว่า .. อย่างวันนี้ยังไม่ได้แคบให้ดู

แต่บอกไว้ ถ้าในระหว่างวัน ถ้ากระจุกเป็นก้อน

ก็จะเห็นความแตกต่างของขนาดความไม่เที่ยงของจิต

ตอนนี้ดูเข้าไปที่ความไม่เที่ยงของจิตได้โดยตรงเลยว่า ขนาดใหญ่หรือเล็ก

อึดอัด หรือสบาย

 

บัว : ตอนยังไม่ถึงคิวก็เดินจงกรมเป็นฐาน

แล้วรู้สึกนั่งสมาธิเกิดวิตักกะ วิจาระเร็ว

แต่ตอนเดินยังไม่เกิดวิจาระ เลยลองฝึกเยอะๆ

พอเดินเสร็จกลับมานั่ง พอยกมือ รู้สึกชัดถึงมือ เหมือนไม่ใช่ตัวเรา

เหมือนลอยได้ รู้สึกชัดกว่าเดิน

อาจเพราะเวลาเดิน ยากกว่า พอเดินแล้วกลับมานั่งเลยดูเหมือนง่าย

วันนี้ดี แต่สังเกตจิตวันก่อน ปัญหาคือเมื่อมีอะไรมากระทบใจ

ถ้าใครทำไม่ดีด้วย จะจำ เช่นมีปัญหากับคนใกล้ตัว

พอนั่งสมาธิ ก็ไม่รอด รู้สึกใจแทนที่จะอยู่กับอานาปานสติ กลับไปอยู่ที่ใจที่ถูกบีบ

 

พี่ตุลย์ : อย่างที่บอกไปว่าเอาตัวผ่องๆ กว้างๆ เป็นตัวตั้ง

แล้วพอหดแคบก็เห็นความไม่เที่ยง

ถ้าเดินได้ดีแบบวันนี้ อยากให้ฝึกเดินหลับตาสลับๆ ไป

ดูว่าสามารถรู้สึกถึงวัตถุรอบข้างได้ไหม

ดูกายนี้เป็นวัตถุหมายเลขหนึ่ง พื้นเป็นวัตถุหมายเลขสอง

และดูว่าวัตถุรอบด้านจะปรากฏไหม

 

ถ้าทำได้ดีแบบนี้ แล้วหลับตาเดิน เกิดความรู้สึกว่า วัตถุนี้เสมอกับวัตถุรอบข้างได้

พี่เชื่อว่าจะช่วยให้จิตเราเสถียรมากขึ้น เพราะที่เดินมาถึงตรงนี้แล้วจิตผ่อง

น่าจะเอาไปใช้ประโยชน์ทำให้ตั้งมั่นขึ้นได้ และที่ง่ายที่สุดคือ หลับตาเดิน

 

บัว : มีพระอาจารย์บอกให้เดินจงกรมแบบถอยหลัง

 

พี่ตุลย์ : พระพุทธเจ้า ท่านสอนไว้ในสัมปชัญญบรรพ

ให้ลองเดินทั้งข้างหน้าและถอย มีสติรู้ในการถอย

ตรงนั้นก็คล้ายการเดินหลับตา จะเริ่มรู้สึกถึงทิศทาง

สมองจะมีส่วนหนึ่งที่รับรู้ตำแหน่งที่ตั้งปัจจุบันภาวะทางกาย

และทิศซ้าย ขวา หน้า หลัง สมองส่วนนี้จะทำงานเต็มที่ต้องไป activate

 

ถ้าลองฝึกให้สมาธิจิตใส เดินจงกรมจนผ่องขึ้น เราจะรู้ได้เลยว่า

ถ้าก้าวถอยหลัง จะเหมือนมีตาจากข้างใน มองเห็นทิศเบื้องหลังได้

ก็แบบเดียวกันกับที่เราจะฝึกเดินหลับตา แต่ประเด็นคือต้องแม่น

เราหลับตาเพื่อเห็นว่า วัตถุนี้กำลังเคลื่อนไป

กายนี้เป็นวัตถุหมายเลขหนึ่ง พื้นเป็นวัตถุหมายเลขสอง

ถ้าเรารู้สึกถึงวัตถุรอบตัวได้ ก็จะเริ่มเกิดความรู้สึกอีกแบบว่า

วัตถุนี้เป็นธาตุดิน และวัตถุรอบด้านที่คงรูปคงร่างอยู่รอบ

ก็เป็นธาตุดินเช่นกัน มีความเสมอกัน

พอเห็นได้แบบนี้เรื่อยๆ จิตจะเสถียรขึ้น

 

จิตเสถียรขึ้น มีปัญญาคือ

เมื่อจิตถูกกระทบ แล้วแคบลงหรือกระจุกตัว

จะเห็นชัดว่าจิตคนละดวงกัน

และถ้าเห็นบ่อยๆ ว่า จิต หรือวิญญาณธาตุที่อาศัยธาตุดินนี้อยู่

เปลี่ยนไปเรื่อยๆ ตามเหตุกระทบ

แล้วเราไปฝึกให้จิตนี้มีความตั้งมั่น

สามารถรู้ตัวเองได้ สามารถเห็นความไม่เที่ยง

เปลี่ยนไปมาตามการกระทบได้ จะได้ข้อสรุปว่า ไม่ใช่เราจริงๆ

เป็นแค่ภาวะธรรมชาติอย่างหนึ่ง และความคิดที่ห่อหุ้มอยู่

ที่เข้ามาแล้วหายไป ความคิดเหล่านั้นก็ไม่ใช่เราเช่นกัน

 

ฝึกสลับหลับตาลืมตา แล้วมาเล่านะ

------------------------

มาลินี คุณแม่คุณแก้ว

 

พี่ตุลย์ : ท่าที่สอง พอยกมือขึ้นสุดแหงนหน้า

ทำความรู้สึกถึงท้องฟ้าทั้งฟ้า นับสามจังหวะ เอามือลง

ตอนหายใจออก ให้รู้สึกว่าฝ่ามือทั้งสองประคองลมออกมา

 

รู้สึกถึงทั้งฟ้า นับ หนึ่ง สอง สาม หายใจออก

จะเริ่มรู้สึกมีลมหายใจอยู่หน้าความว่าง

ว่างทั้งท้องฟ้า นับหนึ่ง สอง สาม หายใจออก

รู้สึกลมที่ลงมาพร้อมฝ่ามือ

 

ในความรู้ ความว่าง หายใจออก

รู้สึกถึงความว่าง ทั้งฟ้า หนึ่ง สอง สาม รู้ความว่าง หายใจออก

รู้สึกถึงลมหายใจออก แล้วมีความว่างเบื้องหลัง

 

ตอนวางมือบนหน้าตัก นับอีกสามจังหวะ แล้วค่อยยกมือ

 

หายใจแล้วเหนื่อยหรือเปล่าครับ

 

คุณแม่ : ไม่เหนื่อยค่ะ

 

พี่ตุลย์ : ตอนที่รู้สึกถึงท้องฟ้าแล้วหายใจออก จะมีครั้งหนึ่งที่รู้สึกชัดจริงๆ ว่าว่าง และรู้สึกถึงลมหายใจ ได้ชัด จำได้ไหมครับ (ได้ค่ะ) ตัวนี้ที่เราต้องการ

 

เราไปทำให้จิตตัดความคิดออก เว้นวรรคจากความคิด แล้วก็รับรู้ความว่าง

ที่บอกว่า รับรู้ความว่างทั้งท้องฟ้า

ก็คือทำให้จิตรู้สึกถึงความว่าง นั่นเอง .. ว่างอย่างใหญ่

 

ถ้าจิตว่างอย่างใหญ่ และรู้ลมหายใจประกอบไปด้วย

ลมหายใจจะปรากฏชัด

และที่ลมหายใจ ปรากฏชัดทั้งขาเข้าขาออกไปได้ต่อเนื่อง

ในที่สุด จะเกิดสมาธิแบบหนึ่งที่รู้ว่า กำลังหายใจเข้า หรือ หายใจออก อยู่ โดยที่จิตมีความว่างจากความคิด และมีอาการเหมือนปล่อย เหมือนวาง ไม่มีความฟุ้งซ่าน

 

(ทำท่าที่สองอีกครั้ง)

วางมือบนตัก นับหนึ่งสองสาม ยกมือขึ้น หายใจเข้า

พอชูมือสุด นึกถึงความว่างทั้งฟ้า หายใจออก

ที่เราต้องการกัน คือ ลมหายใจ ปรากฏชัดอยู่หน้าความว่าง

นับสามจังหวะ หายใจเข้า

ยกมือสุด นึกถึงท้องฟ้า นับสามจังหวะ หายใจออก

 

เห็นไหม ต่อเนื่องกันสองรอบแล้ว

 

อย่าตั้งใจมากไป ไม่อย่างนั้นจะรู้สึกหนัก

ถ้าทำถูกต้องจะรู้สึกใจเบา หัวไม่มีอะไรหนัก ไม่มีความคิดแทรก

มีแต่ความโล่ง

เรารู้สึกถึงฝ่ามือที่ลดลงมาพร้อมลมหายใจออก sync กัน

ฝ่ามือกับลมหายใจ ออกมาพร้อมกัน

ถ้าฝ่ามือกับลมหายใจ ไม่ sync กัน

จะรู้สึกว่ามีแต่ท่าทาง ขาดความนิ่มนวลไป

ฝ่ามือจะเหมือนถูกลดระดับลงมาเฉยๆ

 

ความว่าง และ ลมหายใจ ที่ถูกรู้พร้อมกัน

จะทำให้เกิดสมาธิแบบหนึ่ง เห็นว่า

ความสุขก็ส่วนหนึ่ง ลมหายใจก็อีกส่วน

เป็นคนละอัน คนละภาวะกัน

 

ถ้าฝ่ามือกับลมหายใจ ลงมาด้วย speed พร้อมกัน จะมีความนิ่มนวลเกิดขึ้นแต่ถ้า speed ไม่พอดี ความนิ่มนวลจะหายไป

กลายเป็นความรู้สึกแห้งๆ

 

พอจับทางถูก แล้วรู้ได้ด้วยตัวเอง จะเห็นว่า

ทั้งความว่างและลมหายใจที่ถูกรู้พร้อมกันไป

จะค่อยมีความเสถียรมากขึ้นเรื่อยๆ

 

อยากให้เอาเบสิคตรงนี้ให้ได้ก่อน

ทำไปแบบที่รู้สึกว่าคงเส้นคงวา รู้ได้สม่ำเสมอ

อยากให้กลับมาฟังไลฟ์นี้ซ้ำๆ สักสองสามรอบให้เข้าใจจริงๆ

เห็นตัวเองตอนที่ทำถูกแล้ว

ให้ทำแบบนั้นซ้ำๆ ไป ยังไม่ต้องพิจารณาอะไรทั้งสิ้น

 

คุณแม่ : เคยได้รับการผ่าตัดกระดูกสันหลัง ก่อนผ่าไม่กลัว

ขณะเข้าห้องผ่าตัดกำลังจะได้ยาสลบ ก็สวดอิติปิโสฯ ไม่ได้กลัวตาย

แต่ผ่าตัดใช้เวลานานมาก ฟื้นมาก็เป็นปอดบวม เข้า ICU และ CCU

ช่วงที่เริ่มรู้สึกตัว เกิดความกลัว ทุกข์มาก

หายป่วยพอคิดว่าถ้าเข้าโรงพยาบาลอีกครั้งแล้วเป็นแบบนี้ ไม่อยากเข้าแล้ว

แต่พอได้มาดูแก้วฝึก และดูไลฟ์ ก็คิดว่านี่คือทางที่จะแก้ปัญหาในตรงนี้ได้

อยากขอคำแนะนำเพื่อฝึกตัวเองต่อไปค่ะ

 

พี่ตุลย์ : ที่เกิดขึ้น เอาตามมุมมองของผม

ถือว่ามีคุณค่ากับคุณแม่ในเส้นทางการเจริญสติ ในเส้นทางความเป็นพุทธ

 

คนที่ผมเจอมา ไม่ว่าใครทั้งสิ้น พอเผชิญหน้าหรือผ่านด่านภาวะใกล้ตาย จะเกิดความรู้สึกเกี่ยวกับชีวิตอีกอย่าง อย่างไม่เคยรู้จักมาก่อน

 

เราฟังเรื่องมรณานุสติมากี่ครั้งก็ตาม จะไม่เท่าภาวะเฉียดตาย

หรือเห็นความตายว่าหน้าตาเป็นแบบนี้เองหรอก เทียบกันไม่ได้

 

ฉะนั้น ที่เราไปได้ประสบการณ์ทำนองนี้มา

แล้วกลับมาสามารถตั้งสติ reset มุมมองชีวิตใหม่ได้

ผมถือว่าเป็นคุณค่าที่ยิ่งใหญ่ เป็นวัตถุดิบของชีวิตที่มีคุณค่าสูงมาก

 

ถ้าคุณแม่จะเริ่มต้นพิจารณาจากมุมมองของคนที่

รู้แล้วว่าชีวิตต้องมีอันเป็นไป ต้องไปถึงจุดจบ

คุณแม่ก็เริ่มจากลมหายใจ ได้นี่แหละ

เวลารู้สึกถึงลมหายใจเข้า ลมหายใจออก ถามตัวเองง่ายๆ

ณ เวลาที่ต้องตายดับไป ลมหายใจ นี้จะยังเกิดขึ้นไหม

 

ความรู้สึกที่ตอบออกมาทันที จากมุมมองของคนเฉียดตาย

จะบอกว่า ลมหายใจเป็นเครื่องยืนยันของคนที่ยังมีชีวิต

ลมหายใจนี้ ถ้าดับไป ก็จะไม่เหลืออะไรเป็นชีวิตที่เรารู้จักมา

 

พอมาอยู่กับลมหายใจแห่งความเป็นความตาย

แล้วรู้ว่าที่กำลังหายใจเข้า หายใจออก คือหายใจ ด้วยความมีชีวิต

ถ้าอยู่ในท่านอน แค่ระลึกนิดเดียว ครั้งเดียวก่อนนอนว่า

หายใจอยู่ คือยังมีชีวิต

พอหายใจออก การไม่มีชีวิตก็คือแบบนี้แหละ ไม่มีลมหายใจ

 

ท่านอนที่ปรากฏ ท่านอนที่นิ่งๆ แล้วไม่มีลมหายใจ

จะเป็นชั่วขณะ สองสามวินาทีที่เรารู้สึกว่าความตาย คงใกล้เคียงกับอย่างนี้

 

มีแต่ธาตุดิน หัว ตัว แขน ขา ทอดนอนวางอยู่ เหมือนขอนไม้

แค่ทำความรู้สึกได้ว่า ชีวิตเหลือแค่ขอนไม้วางนิ่งๆ บนเตียง

แค่คืนละห้าวินาที สิบวินาที

แค่นี้ก็ประกันได้ว่า หลังความตาย ไม่ตกต่ำแน่นอน

มีแค่สองทางเลือกคือ ไม่สวรรค์ก็นิพพาน

 

เพราะการสะสม มรณสติ

หรือเห็นกายสักแต่เป็นธาตุดินหรือขอนไม้ ไม่ต่างกับศพ

จะเป็นห้าวินาที ที่สะสมทุกคืน จนรู้สึกว่ากายนี้ไม่ใช่ของเรา

สักแต่เป็นธาตุดิน ไม่มีใครเป็นเจ้าของ

กายนี้สักว่า เป็นของที่ถูกทิ้งไว้ในโลกนี้

ตัวนี้จะเป็นประสบการณ์จริง เป็นมรณสัญญาของจริง

 

ไม่ใช่แช่งให้ตัวเองตายเร็ว แต่เป็นการสะสมความรู้ตามจริง

ที่พระพุทธองค์สอนว่า ในที่สุดแล้วไม่มีใครเอาร่างนี้ไปได้

ในที่สุดแล้วร่างนี้ต้องถูกเผาอยู่ในโลกนี้

 

การที่เรารู้สึกว่า นี่สักแต่เป็นธาตุดิน

สักแต่เป็นขอนไม้ที่วางไว้เฉยๆ ในโลก

จะทำให้จิตปล่อย วางในอีกระดับ

ไม่ใช่วางแบบเราทิ้งสมบัติข้าวของให้คนอื่น หรือวางของทิ้งไว้บนพื้น

 

แต่วางในระดับที่ เราจะไม่เอาร่างแบบนี้อีก

เรามีจิตที่ ไม่มีอาลัยใยดีในความเป็นชีวิตแบบนี้อีก

ตัวที่จิตเป็นอิสระเบา คือจิตที่ทิ้งได้ ละความรู้สึกเป็นเจ้าของธาตุดินนี้ได้

ตัวนี่แหละเป็นเหตุปัจจัย ทำให้เราข้ามจากฝั่งความเป็นปุถุชน

ไปเป็นบุคคลอีกแบบ ที่ไม่ต้องเกิดตายอีก

 

อริยบุคคล ไม่ใช่ผู้ประเสริฐสูงส่ง หรือเหนือมนุษย์อย่างเดียว

แต่เป็นผู้ที่ ไม่เอาแล้วว่าธาตุดินนี้เป็นตัวเรา ไม่เอาแล้วกายนี้

ไม่ใช่การแกล้งคิด แต่ออกมาจากส่วนลึกของจิตที่เป็นสมาธิเต็มดวงจริงๆ

 

เหมือนที่คุณแม่รู้สึกเมื่อกี้ว่าใจว่าง

ใจที่ว่าง ถ้าประกอบด้วยสติและปัญญาแบบพุทธ

จะว่างแบบไม่เอา ไม่เอากายที่กำลังนั่งอยู่ว่าเป็นตัวเรา

ไม่เอาลมหายใจ ที่เข้าออกว่าเป็นของเรา

 

ตอนที่รู้สึกขึ้นมาว่าอะไรๆ ในกายใจ ที่ปรากฏอยู่ตอนนี้

ไม่ต่างจากตอนเข้า ICU

ไม่ต่างจากตอนที่เราเห็นขอนไม้วางไว้กับพื้น แบบถูกทิ้งไว้เปล่าๆ

moment ที่ใจเป็นอิสระนั้นแหละ คือเป้าหมายของพุทธศาสนา

 

---------------------------

กวาง

 

พี่ตุลย์ : พอรู้มาที่จิตว่าจิตมีความผ่องใส ตั้งอยู่ เสถียร

ก็รู้ที่จิต หายใจเข้า รู้ที่จิต หายใจออก

จิตโดยความเป็นอย่างนี้ ..

อย่างตอนนี้พอแสดงความไม่เที่ยง ก็แค่รู้ว่า

จิตที่คงเส้นคงวา ก็ยังมีจุดสะดุด รู้ตามจริง ยอมรับตามจริง

เพื่อให้เห็นว่าภาวะของใจ แสดงความไม่เหมือนเดิมได้ทุกเมื่อ

 

ช่วงนี้ย้ำตรงนี้เลย

รู้เข้ามาที่จิต หายใจเข้า รู้เข้ามาที่จิต หายใจออก

ถ้าเสถียรอยู่ก็รู้ย้ำ รู้ไปจริงๆ ชัดๆ

ว่าลักษณะจิตที่ผ่องใสหน้าตาเป็นอย่างไร คงอยู่ได้นานแค่ไหน

ถ้าความคิดจะเข้ามาก็รู้ตามนั้น ไม่ปฏิเสธ

ไม่ให้แต้ม ให้คะแนนลบอะไรทั้งสิ้น

 

เวลารู้สึกความเป็นจิต รู้ภาวะที่จิตผ่องใส รู้ภาวะที่จิตเปลี่ยนไป

จะเป็นจุดสำคัญที่ทำให้กวางเข้าใจว่า

จิตมีภาวะเป็นไปตามเหตุปัจจัย

 

ช่วงนี้ เห็นจิตชัดก็เห็นไปเลย

และถ้าจิตเปลี่ยนไปอย่างไรก็เห็นไปตามนั้น ย้ำแค่ตรงนี้เลยนะ

เมื่อจิตปรากฏชัดก็ดูจิตไป จิตผ่องใสรู้ว่าจิตผ่องใส

หายใจออก หายใจเข้า แล้วดูความเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ

จะเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญนะ

 

------------------

 

น้าเพ็ญ

 

พี่ตุลย์ : กลับมาผ่องใส เป็นอุเบกขา ได้เกือบเท่าเดิม

อาจยังต้องตั้งใจอยู่นิดหนึ่ง

แต่เวลาจิตเป็นอุเบกขาจริงจะไม่มีอาการต้องพยายามประคอง

 

ตรงที่เรารู้อย่างเป็นอุเบกขา รู้อย่างมีปัญญาประกอบอยู่

พอเห็นจิตผ่องใส รู้ว่าเป็นจิตชั่วคราว

รู้ว่าจิตผ่องใสมีเหตุปัจจัย ประกอบอยู่

ถ้าไม่ทำสมาธิ ก็เสียความผ่องใสไป

ถ้าไม่ได้มีความเป็นอุเบกขา ก็ไม่ผ่องใสขนาดนี้

 

ดูโดยความเป็นเหตุปัจจัย ดูโดยความเป็นสิ่งที่ปรากฏโดยความเป็นอย่างนี้คือผลลัพธ์ของการมีเหตุปัจจัย ปรุงแต่ง ปรุงประกอบ

 

ถ้าหากว่าเราขาดความเป็นอุเบกขาไป

อย่างช่วงที่แล้วมีอาการยึดมั่นถือมั่น

แล้วสามารถเห็นได้ว่าตอนไม่ยึดจะมีความเปิดสว่าง

แต่ตอนยึดจะมืดๆ แคบๆ เข้ามา

 

การที่ได้เห็นทั้งตอนยึด ตอนปล่อย

กับตอนที่ปล่อยนาน เป็นอุเบกขา

หรือปล่อยแบบที่ยังต้องมีความจงใจปล่อย

ตัวนี้ ถ้าจงใจปล่อย เรียกว่าไม่อุเบกขาบริสุทธิ์100%

แต่ถ้าจิตมีสมาธิ มีความวางเฉยของมันเอง ประกอบด้วยปัญญา

อย่างนั้นเรียกมีอุเบกขาบริสุทธิ์

 

แค่ดู ไม่เอาคะแนนบวกนะ

เอาแค่ตอนนั้น จิตมีความเป็นอุเบกขาจริงหรือเปล่า

ถ้าอุเบกขาจริง จิตจะมีความเรียบเนียน ในหัวจะโล่งไปหมด

ไม่มีความคิดปรุงแต่งเลย

แต่ถ้ามีความจงใจประกอบด้วย

จะรู้สึกเหมือนมีน้ำหนักความคิดอยู่บางๆ ในหัว

และอุเบกขา จะสลับไปสลับมา ระหว่างใส กับขุ่นเล็กๆ

 

ตอนอุเบกขาแท้ จะใสกริ๊บเลยนะ

แต่อุเบกขาแบบจงใจจะมีอะไรขุ่นอยู่เล็กๆ

 

ถ้าเห็นรายละเอียดแบบนี้ได้ เห็นการปรุงแต่งขั้นประณีตของจิตแบบนี้ได้

จะเข้าใจแบบพุทธขึ้นมาว่า

สภาพจิตแบบหนึ่งๆจะดีแค่ไหนก็ตาม ก็เป็นไปตามเหตุปัจจัยนั่นแหละ

สภาพดีๆ นั้นไม่ได้เป็นสมบัติของเราหรือของใคร

ถ้าเหตุปัจจัย หายไป ก็มีผลลัพธ์ใหม่เกิดแทน

 

รู้สึกถึงความกว้างของฟ้าทั้งฟ้า มีความสุข รู้ว่าสุข หายใจออก

อย่างนี้ที่เรารู้ว่า ความสุขก็อย่างหนึ่ง ลมหายใจก็อย่างหนึ่ง

อันนี้คืออุเบกขาจริง

คือไม่ได้ตั้งใจเล็งเข้ามาในจิตแล้วสั่งให้อุเบกขา

แต่รู้ภาวะที่ปรากฏตามจริง

 

เช่นขณะนี้รู้สึกถึงความว่างทั้งฟ้า แล้วมีความสุข

รู้ว่ามีความสุข หายใจออก

เห็นไหม มีความรู้อะไรอย่างหนึ่งที่แยกออกจากกัน

นามส่วนนาม รูปส่วนรูป และไม่มีตัวใครอยู่ในนี้

ที่ไม่ได้ตั้งใจให้เป็นอุเบกขา

พอมีความนิ่งรู้เป็นอุเบกขา และเสถียรอยู่

ก็รู้ว่าจิตมีความเสถียรขึ้นมาชั่วขณะหนึ่ง

 

ที่จะเสถียรแบบยั่งยืน ต้องมีอาการรวมลงเป็นหนึ่ง

ซึ่งอาการรวมลงเป็นหนึ่ง พี่รู้จักมาเป็นระยะอยู่แล้ว

เวลามีเหตุปัจจัย ให้รวมลงเหมือนแม่เหล็กผนึกตัว

ผนึกแรงแม่เหล็กรวมศูนย์ได้อยู่กับศูนย์ของความว่าง

ความรู้สึกว่าไม่มีอะไร ไม่มีใคร

 

ตัวนี้พอรวมไปบ่อยๆ มีความเสถียรในลักษณะที่จิตรวมดวงได้บ่อย

จะมีปัญญาอีกระดับหนึ่ง ไม่ใช่ปัญญาระดับคิด

แต่เป็นระดับรู้จากจิตว่า อะไรๆ ที่กำลังแสดงอยู่

กำลังแสดงความไม่เที่ยง ไม่ใช่แสดงความเป็นตัวเรา

 

น้าเพ็ญ : ช่วงก่อนที่ อาจารย์จะเรียก ยกมือไปช่วงหนึ่ง ความรู้สึกจะโล่ง

แต่พอถึงจุดนี้จะแน่น ก็เลยหัดมองอีกอย่างที่อาจารย์สอนว่ามันยึดแล้ว

ก็ดูไป อย่างนี้ถูกไหมคะ  

 

พี่ตุลย์ : ระดับการยึดมั่นถือมั่นมีหลายระดับมาก แ

ละพี่เพ็ญก็เห็นมาทุกระดับแล้วนะครับ นี่เป็นยึดแบบหยาบๆ

แต่พี่ก็สามารถ mark ไว้แบบนั้นก่อนก็ได้

 

ทีนี้ประเด็นคือ .. ผมขอถามอย่างนี้ก่อน ช่วงสองสามวันที่ผ่านมา

มีความรู้สึกเหมือนว่า ใจเป็นดวงใหญ่ สว่างโพลงขึ้นมาบ้างหรือเปล่า

เป็นสมาธิอย่างใหญ่ ความรู้สึกสว่าง มีบ้างไหมครับ

 

น้าเพ็ญ : กลับไปทำตั้งต้นแบบเดิม เพราะคิดว่า เวลาจะหาว่ายึดอะไรก็ยาก เลยกลับไปตั้งต้นแบบเดิม แล้วก็ดูไลฟ์ไป ทำตามไป มองฟ้า มีความสุข หายใจออก ทำมาเรื่อยๆ ตั้งแต่หลังจากที่อาจารย์แนะนำครั้งที่แล้ว

 

พี่ตุลย์ : เป็นสมาธิอย่างใหญ่ขึ้นมาบ้าง พี่รู้สึกใช่ไหม

 

น้าเพ็ญ : ก็สว่างขึ้น รู้จักว่ามีความสุขเป็นอย่างไร

 

พี่ตุลย์ : จะเสถียร คงเส้นคงวาอยู่พักหนึ่งใช่ไหม นั่นแหละจิตรวม

ลักษณะที่รวมแบบนั้น แล้วรู้สึกถึงความว่างภายใน ว่างออกมา (ค่ะ)

แล้วก็อยู่นิ่งคงเส้นคงวาแบบนั้นใช่ไหม (ใช่ค่ะโดยเฉพาะก่อนจะนอน)

 

นี่แหละกำลังจะพูดอยู่ว่า แม้ช่วงเวลาก่อนจะนอน

หรือแม้กระทั่งนอนหลับลงไป แล้วรู้สึกเหมือนหลับในสมาธิ

ตรงนี้เป็นสัญญาณบอกว่า พี่เพ็ญทำมาจนถึงจุดที่

อย่างไรๆ เป็นสมาธิแน่แล้ว

 

ทีนี้สมาธิแบบนี้ ขอให้สังเกตว่าตั้งอยู่ได้นาน หรือได้แป๊บหนึ่ง

ถ้าตั้งได้นาน บอกตัวเองว่า จิตเราเริ่มเสถียร

แต่ถ้าตั้งอยู่แป๊บหนึ่ง ก็เป็นสมาธิแบบสั้นๆ แบบไม่เสถียร

 

ถ้าบอกตัวเองอย่างนี้ จะเกิดการเปรียบเทียบ

ระหว่างจิตที่วางเฉยจริงๆ เฉยๆ เป็นระยะเวลายาวนานระดับหนึ่ง

กับตอนที่เป็นอุเบกขาแป๊บหนึ่ง แล้วต้องกลับมาตั้งใจดูฟ้า

จะเป็นข้อเปรียบเทียบว่า อุเบกขา ที่เป็นอุเบกขาจริงๆ

จะต้องมีสมาธิเป็นฐานรองรับ

 

ถ้ามีสมาธิเป็นฐานรองรับ จะพบว่าตัวเองไม่ต้องตั้งใจ

 

ถ้าเราทำความเข้าใจในภาวะแบบนี้ตรงกัน

ในขั้นต่อไป ก็แค่มองให้เห็นเฉยๆ

 

อย่างตอนที่เรา หายใจเข้า หายใจออก แล้วมีความสุข

มีความสุขที่ประกอบพร้อมด้วยลมหายใจออก ลมหายใจเข้า ไปนานแค่ไหน

 

ที่เราย้ำๆ มีความสุขหายใจเข้า มีความสุขหายใจออก

ดูย้ำๆ ไปอย่างนั้นจนเห็นว่าจิตรวม

ไม่ต้องไปทำอย่างอื่น ช่วงนี้อยากให้ทำตรงนี้ย้ำๆ ไปว่า

มีความสุขหายใจเข้า มีความสุขหายใจออก จนความสุขอยู่กับที่

คงเส้นคงวา และจิตรวม

 

พอจิตรวม จะเห็นถึงอุเบกขา

ที่มาจากความว่างอย่างรู้ ว่านี่เป็นจิต

ว่างอย่างรู้ว่าจิต หายใจเข้า

รู้ว่าจิตหายใจเข้า จะเป็นอุเบกขา

ประกอบด้วยความรู้ว่าจิตหน้าตาเป็นอย่างไร

และเห็นว่าจิตนั้นตั้งไม่นาน

เดี๋ยวก็ต้องหายไป ต้องเปลี่ยนต้องเคลื่อนไป

 

คำว่าไม่นาน อาจเป็นชั่วโมงก็ได้นะ หรือแค่ห้านาที สิบนาที

ทางพุทธมองว่า ตั้งไม่นาน เดี๋ยวก็ต้องเปลี่ยน

 

ตรงนั้นพี่จะยกระดับปัญญาขึ้นไป เป็นการเห็นว่าจิตนั้นตั้งอยู่แบบนี้

ด้วยความวางเฉย เป็นอุเบกขาจริงๆ

และพอจิตเคลื่อนจากความเป็นอย่างนั้น

เปลี่ยนจากมีสมาธิเป็นไม่มีสมาธิ หรือสมาธิถอยลง

ก็จะมีปัญญาเห็นว่าสิ่งที่เรามองมา สิบนาที หรือชั่วโมง เปลี่ยนไปแล้ว

เปลี่ยนจากภาวะสมาธิจิต เป็นจิตธรรมดา จิตคิดนึกธรรมดา

 

ช่วงนี้อยากให้ทำแบบนี้ เพราะจิตพี่เวลาเบา

หรือมีอุเบกขา มีปัญญาประกอบด้วย

แต่ปัญญาที่จะเบ่งบานขึ้นจริง ต้องอาศัยการเห็นความไม่เที่ยงบ่อยๆ

 

ตอนนี้เป็นปัญญา ในระดับที่มีอนัตตสัญญาประกอบอยู่ด้วย

เพียงแต่ยังไม่ได้เบ่งบานชัดเจน

ยังไม่ได้ถึงขนาดนี้จะรู้สึกเข้ามาที่จิต และเห็นจิตไม่ใช่ตัวตน

 

แต่ถ้าดูอย่างที่ผมว่า ดูให้เข้าใจว่า รู้ว่าสุขหายใจออก รู้ว่าสุขหายใจเข้า

ย้ำๆ ไปเรื่อยจนจิตตั้งอยู่เป็นสมาธิ

แล้วเห็นว่าความสุขที่เกิดขึ้นเอ่อล้น ถูกรู้ด้วยจิต

จิตจะเห็นตัวเองแยกออกมาจากความสุข

จะอยู่ในฐานะผู้สังเกตการณ์ ในฐานะ ผู้รู้ผู้ดู

แล้วพี่อยู่กับจิตผู้รู้นั้นแหละ

ในขั้นต่อไป ดูว่า จิตหน้าตาเป็นอย่างนี้

ใสๆ เปิดกว้างเหมือนไม่มีอะไร

มีแต่ความตั้งมั่นอยู่

ความตั้งมั่นแบบนั้น ที่รวมดวงแบบนั้น ที่เราต้องการ

เราก็รู้ต่อไป รู้ที่จิตหายใจออก รู้ที่จิตหายใจเข้า

แล้วเห็นว่ามันรู้ตัวเองอย่างมีอุเบกขา

รู้ว่าตัวเองมีรัศมีแบบหนึ่ง แผ่ออกเป็นวงกว้าง เสถียร

 

รู้อย่างนั้น จนเกิดความตั้งมั่น เห็นว่า พอสมาธิจะเสื่อมลง

ตอนสมาธิจิตจะเคลื่อน จะเคลื่อนออกจากความตั้งมั่นที่ขยายออก กลายเป็นความนึกคิดธรรมดา เราก็รู้ว่า

จิตที่เป็นสมาธิ แสดงความไม่เที่ยงให้เห็นแล้ว

ต้องเห็นแบบนี้ย้ำๆ ซ้ำๆ

 

ตรงอื่น เวลาดูข้อธรรมอื่นๆ จะไม่ชัดเท่าที่พี่เห็นจิต

เพราะตอนนี้พี่เห็นจิตที่ว่างใสชัดกว่าอย่างอื่น

ก็ดูความไม่เที่ยงของจิตเป็นกรรมฐานไป ในช่วงอาทิตย์สองอาทิตย์นี้

 

น้าเพ็ญ : พอนึกออกว่าตั้งใจกับไม่ตั้งใจเป็นอย่างไร

 

พี่ตุลย์ : คือถ้าเอาตามที่พระพุทธเจ้าตรัสก็คือว่า

ถ้ามีสมาธิ ไม่ต้องตั้งใจดูหรอก จะเห็นตามจริงเองอยู่แล้ว

จิตที่มีอุเบกขา คือจิตที่สามารถเห็นตามจริง รู้ตามจริง

ตอนนี้ เวลาพี่ปฏิบัติก็รู้อยู่ที่จิต คล้ายมีอนัตตสัญญาประกอบอยู่

แต่ยังไม่เบ่งบานเต็มที่เพราะ พี่ดูเข้ามาเหมือนเข้าใจแล้ว

แต่ชั้นความเข้าใจยังอยู่ในระดับความคิด

แต่ชั้นจิตที่จะเห็นตัวเองแสดงความไม่เที่ยง แสดงความเสื่อม

อาจต้องอีกนิดหนึ่ง

 

ถ้าเราทำความเข้าใจไว้ตรงกันว่า เมื่อเห็นจิตมีความตั้งมั่น

ให้ดูจิตตัวนั้นแหละ เวลาที่ถอย เสื่อมจากสมาธิ มีความต่างไปอย่างไร

ในที่สุดจะเกิดการยอมรับที่จิตว่าจิตไม่ใช่ตัวเรา

จิตไม่ใช่พี่เพ็ญ พี่เพ็ญไม่มีในจิต

 

-----------------------

ตั้ว

 

พี่ตุลย์ : ตอนนี้จิตเปิดกว้าง มีความรู้สึกใสๆ เบาๆ ดี

แต่มันใสเบาต่างไปจากเดิมเยอะ เลยไม่แน่ใจว่าจริงๆ เป็นอย่างไร

ลองบอกตามจริงให้ฟังหน่อย

ระหว่างวันเหมือนเห็นใสรอบเป็นปกติเลยไหม

 

ตั้ว : ใช่ค่ะ เอาเป็นว่าตั้งแต่ส่งการบ้านครั้งก่อน ตั้วจะเดิน ก็ลองยกมือเทียบ ก็เป็นแบบนั้น พี่ตุลย์บอกให้เดินจนกว่าจะได้จิตที่ส่งการบ้านวันนั้น เลยยกมือเทียบ ก็เหมือนกันเลย

 

พี่ตุลย์ : แปลว่าช่วงที่ผ่านมา มีอารมณ์สวิงไหม หรืออุเบกขาอย่างนี้ไปเรื่อยๆ

 

ตั้ว : เปลี่ยนเป็นคนละคนเลยค่ะ

 

พี่ตุลย์ : บอกจริงๆ พี่ไม่แน่ใจว่าเห็นถูกไหม

เพราะพี่เห็นเหมือนไม่สวิงเลย

 

ตั้ว : จริงค่ะ อย่างเรื่องปกติ น่าจะโกรธ แต่ก็ไม่ได้โกรธ ไม่เหมือนเดิม ยังไม่ทันเห็นว่าความโกรธหายไป แต่รู้ว่าไม่เหมือนเดิม

 

พี่ตุลย์ : ไม่ได้เก็บไว้ ไม่ได้มีความปรุงแต่งแบบเดิมใช่ไหม

 

ตั้ว : ใช่ค่ะ ถ้าจะปรุงแต่งก็จะปรุงแบบอีกชนิดเลย ไมใช่คนเดิม อย่างบางเรื่องต้องหงุดหงิด แต่กลับรู้สึกว่าตลกดี

 

พี่ตุลย์ : ถ้ารู้สึกถึงจิตที่เปิด 360 องศา ให้มองว่า

จิตที่เปิดกว้าง เปิดรอบ เป็นจิตที่เป็นสมาธิชนิดหนึ่ง

ไม่มีความคิดฟุ้งซ่านห่อหุ้ม เป็นจิตที่ดี

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระหว่างวัน จะหลับตาหรือลืมตา

เรารู้สึกเปิดว่ารอบ แบบนี้คือดี

ถ้าคงอยู่อย่างนี้ได้เรื่อยๆ จะดีขึ้นกว่านี้เรื่อยๆ

และถ้าเป็นไปอย่างนี้ โดยความคืบหน้า อารมณ์สวิงจะไม่มาอีก

อะไรที่เหวี่ยงไปทางตรงข้าม ถ้าจะมาบ้างเราจะรู้ทัน

 

และตอนที่เปิดกว้าง 360 องศา สังเกตดู

เวลารู้กายจะเหมือนหุ่น ไม่เหมือนบุคคล ไม่ใช่ตัวตั้ว

จะมีลักษณะ มีหัว ตัว แขน ขา แล้วก็ไม่มีความเป็นเราในนี้

 

จะลมหายใจ จะธาตุดินที่ปรากฏอยู่กับจิต 360 องศา นั้น

เวลาปรากฏขึ้นมา จะลืมตา หลับตา นั่งสมาธิ หรือเดินจงกรมก็ตาม

ขอให้อาศัยลมหายใจเป็นเครื่องกำกับสติว่า

เรากำลังรู้ธาตุดิน หายใจออก รู้ธาตุดิน หายใจเข้า

 

ถ้าจิตแบบเปิดกว้างรอบ ยังคงอยู่ด้วย จะดีมาก

แต่ถ้ายังคงรู้ในอาการเล็งๆ คับแคบ ก็รู้ว่าจิตไม่เป็นสมาธิ

ยังมีความคิด ยังมีปรุงแต่งที่คับแคบอยู่

รู้แค่แคบหรือกว้าง

ถ้ากว้างจะเปิดรอบ แคบจะมีอาการจี้ๆ เหมือนตั้งใจดู

 

รู้ไปแบบนี้สักพัก จะรู้สึกว่า จิตเลือกอาการตัวเองแบบเปิดกว้างเต็มรอบ

จะปกติมากขึ้นๆ จนถึงจุดหนึ่ง แม้มีอาการคิด แม้มีอาการที่จิตแคบเข้ามา

ก็จะรู้สึกเหมือนเป็นส่วนเกิน เป็นภาวะแปลกปลอม

 

ตอนนี้ยังครึ่งๆ อยู่ ระหว่างจิตเปิดกว้าง กับจิตที่แคบ

แต่ถึงจุดหนึ่งที่จิตเปิดกว้างกินพื้นที่ในชีวิตเราได้มากกว่าจิตแคบ

จะรู้สึกว่าสมาธิพัฒนาได้อีกขั้น

 

น่าจะเปลี่ยนของจริงแล้วนะ เพราะดูหลายรอบ ก็ดูไม่น่าผิด

แต่ไม่แน่ใจว่าเปิดได้ขนาดนี้จริงหรือเปล่า

ถ้าต่างมาได้ขนาดนี้ บอกตัวเองเลยว่า คือทิศทางแบบพุทธแล้ว

เพราะ หนึ่งคือเปิดกว้าง รอบ ไม่มีอะไรห่อหุ้ม

นี่คือลักษณะตั้งต้นของสมาธิ

เมื่อย้อนกลับมาดูกายนี้ อยู่ในอิริยาบถอย่างไร จะรู้สึกเหมือนหุ่นกระบอก

และจะหลับตาหรือลืมตาก็ตาม เรา สัมผัสได้ว่า

กายคือวัตถุหมายเลขหนึ่ง พื้น หรือที่นั่งเป็นวัตถุหมายเลขสอง

วัตถุโดยรอบเหมือนเป็นธาตุดินเสมอกัน ไม่มีความเป็นอื่น แตกต่างกัน

จะเห็นว่าความเป็นธาตุดิน ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ตัวใคร

แม้แต่ความคิดที่เคยเป็นศูนย์กลางจักรวาล

ก็จะกลายเป็นของเล็กๆ อาศัยในหัวแป๊บหนึ่ง

 

วัตถุโดยรอบมีอยู่มากมาย

และวัตถุที่เป็นกายหมายเลขหนึ่ง ก็ตั้งเรียงอยู่ในวัตถุที่มีอยู่มากมาย

อะไรๆ ที่เกิดในกายในใจจะเป็นของเล็กไปหมด จะไม่ใหญ่เหมือนก่อน

พอเห็นไปเรื่อยๆ ในที่สุด จิตจะคาย หมด คืนหมด

ไม่เอา ว่าวัตถุชิ้นไหนเป็นตัวเรา หรือเกี่ยวเนื่องด้วยเรา

จะเป็นวัตถุเสมอกันหมด

 

ตั้ว : เวลาคิดเรื่องวัตถุ ต้องใช้สมองคิดหรืออย่างไร แต่ตอนนี้ไม่ได้ใช้สมองคิด

 

พี่ตุลย์ : ดีแล้ว จริงๆ คือคิดนิดเดียว ที่เหลือจิตประมวลเอา

 

ตั้ว : ไม่แน่ใจคำว่าเสมอกัน มีความหมายว่าอย่างไร

 

พี่ตุลย์ : ลองหลับตา ทำท่าสอง

ที่เรารู้สึกเหมือนสามารถเห็นทะลุเปลือกตาออกมา

จิตใสๆ จิตแผ่กว้างไป สัมผัสผนังห้องด้านซ้าย ขวา หน้า หลัง

 

ขอให้รู้สึกว่าตัวที่เคลื่อนอยู่นี้ เป็นวัตถุหมายเลขหนึ่ง

ส่วนพื้นอันเป็นที่นั่ งเป็นวัตถุหมายเลขสอง

เห็นไหมว่า พอรู้สึก วัตถุหมายเลขหนึ่ง กับวัตถุหมายเลขสอง

เป็นความคงรูปเสมอกัน

 

วัตถุหมายเลขหนึ่ง มีหัว ตัว แขน ขา

วัตถุหมายเลขสองเป็นพื้นราบๆ วางนิ่งๆ อยู่

ตอนนี้ที่เรากำลังรู้สึกว่า วัตถุหมายเลขหนึ่ง กับหมายเลขสอง

ตรงนี้แหละที่มันเสมอกัน เห็นไหมไม่มีความต่างกันในความรับรู้ของเรา

 

ในจิตที่เปิดรอบแบบนี้ เสร็จแล้ว ที่เราจะรู้สึกใสๆ มองทะลุออกไป

รู้สึกถึงผนังห้องโดยรอบ ก็เสมอกันเหมือนกัน

แล้วถามว่าวัตถุที่หมายเลขหนึ่ง สอง ถูกกั้นด้วยอะไร

ก็ด้วยอากาศว่าง ช่องว่าง ก็มีความเป็นอย่างนั้นของมัน มีธรรมชาติของมัน

วัตถุต่างๆ ก็มีความเป็นอย่างนั้นของมัน

ที่รู้สึกในขณะนี้แหละที่เรียกเสมอกัน

ไม่มีการให้น้ำหนัก ว่านี่เป็นเรา รอบข้างเป็นอันอื่น เป็นของเรา

มีแต่ความเป็นวัตถุ

 

สัญญาเดิมที่เคยมีกายนี้เป็นตัวของเรามันหายไป

แล้วทรัพย์สินรอบข้างที่เคยเป็นของเราก็หายไป

กลายเป็นวัตถุเสมอกันกับหมายเลขหนึ่ง

นี่แหละ ความรู้อย่างนี้ที่เรียกว่า ธาตุดินทั้งหลายเสมอกัน

 

แล้วถามว่า ที่รู้ว่า ธาตุดินทั้งหลายเสมอกัน คือจิต

เวลาไปอ่านในพระไตรปิฎก จะมีอยู่พุทธพจน์หนึ่งที่ท่านตรัสว่า

ทำจิตให้มีความเสมอกันกับธาตุดิน

 

ธาตุดินจะรองรับขยะมูลฝอย ทนร้อนทนหนาวได้ ก็เหมือนกัน

เวลาเรามองเข้ามาที่วัตถุหมายเลขหนึ่งที่เสมอกันอยู่

จิตมีความเสมอกับธาตุดินคือ แม้ธาตุดินจะถูกกระทบกระทั่ง

จะโดนร้อนโดนหนาวอะไรก็แล้วแต่

จะมีความรู้สึกไม่ต่างกันกับพื้นดินที่รองรับขยะ

มีความรู้สึกไม่ต่างกัน มีราคาไม่ต่างกัน

 

ถ้ามีสัญญาใหม่ขึ้นมา มีประโยชน์อย่างไร

จิตจะตั้งต้นด้วยความรู้สึกว่า ไม่มีของๆ เรา ไม่มีตัวเรา

เสร็จแล้วจะหาคำยืนยันด้วยการหาสติต่อว่า

อะไรๆ ที่มากระทบ แล้วเกิดการปรุงแต่งของจิต

มีความหนักเบา ขึ้นมาในหัว จะสักว่าเป็นแค่ปฏิกิริยาทางใจชั่วคราว

เห็น ณ ขณะนั้นเลยว่า ปฏิกิริยาดังกล่าว ไม่ได้มีอยู่ก่อน

 เพิ่งมามีตอนที่ถูกกระทบ พอถูกกระทบแล้วหายไป

ก็จะไม่ตั้งอยู่ในอนาคต

 

ตัวที่เห็นจิตตัวเองสักแต่เป็นวิญญาณธาตุ อาศัยอยู่ในธาตุดินนี้

นี่แหละที่จะมีความงอกงามของธรรมะ ในขั้นที่ละเอียด

เป็นอุเบกขา ของจริง จะเข้าถึงอุเบกขาสัมโพชฌงค์จะปรากฏ

 

ตั้ว : ที่อธิบายจิตรวมของน้าเพ็ญ คือ นั่งนิ่งๆ รู้ลมหายใจ แล้วว่างใช่ไหมคะ

 

พี่ตุลย์ : สมาธิ ของตั้ว เป็นแบบจิตเปิดกว้าง แล้วตอนที่รู้สึกเหมือนไม่มีกาย ไปอยู่อีกมิติหนึ่ง ตรงนั้น เป็นสมาธิแบบของตั้ว

 

ไม่ต้องสนใจจิตรวมหรือไม่รวม

สนแค่ตรงที่จิตแผ่กว้าง เปิดออก แบบไม่มีประมาณ

รู้เข้ามาที่จิต ตามอานาปานสติเลย

รู้ที่จิตหายใจออก รู้ที่จิตหายใจเข้า แล้วจะเกิดอะไรก็ให้เกิด

เวลารวมจะรวมอย่างใหญ่

จะเห็นได้ว่า ระหว่างวัน หรือ จะเดินจงกรม นั่งสมาธิ

จะเห็นว่ากายเป็นวัตถุหมายเลขหนึ่ง เอาแค่นี้พอแล้ว

จะรวมใหญ่ หรือไม่รวมใหญ่ไม่สำคัญ สำคัญแค่ว่าเราเห็นได้ถึงตรงนี้

 

----------------------

 

แก้ว

 

พี่ตุลย์ : ตอนที่มีศูนย์กลางความรับรู้ รู้สึกถึงความเป็นดวงของจิต

มองจากจุดนั้นเป็นจุดตั้งต้นก็ได้ว่า จิตเป็นธาตุรู้ ธาตุวิญญาณ หรือ วิญญาณธาตุ

 

สิ่งที่มันรู้ คือท่านั่งคอตั้งหลังตรง มีหัว ตัว แขน ขา เรียกว่าธาตุดิน

และในธาตุดิน มีลมหายใจ ปรากฏอยู่ นั่นคือธาตุลม

พอรู้แค่นี้ จะแยกจากกัน และรู้สึกว่า

ธาตุดินอยู่ส่วนธาตุดิน ธาตุลมอยู่ส่วนธาตุลม

วิญญาณธาตุอยู่ส่วนวิญญาณธาตุ

ไม่ข้องเกี่ยวกัน แยกเป็นชั้นต่างหากจากกัน

 

พอเห็นได้อย่างคงเส้นคงวา จะเกิดความชัดเจนขึ้น กระจ่างขึ้น

มีความคิดแทรกนิดเดียวก็จะเห็นว่า

วิญญาณธาตุนี้ถูกปรับเปลี่ยน ถูกแปลง ถูกปรุงไปชั่วคราว

 

ยิ่งสามารถคงอยู่ในความเห็นได้นานเท่าไหร่

ความเป็นธาตุจะยิ่งได้ชัด

และที่จะคงความเห็นได้นาน คือมีจิตที่ตั้งมั่น เสถียร

 

ดูด้วยว่า การเสถียร มีสองแบบ

เสถียร และอุเบกขา

กับ เสถียร แล้วมีตัวของจิต มีตัวของคนดู มีตัวของเราเป็นผู้ดูแฝงอยู่

 

ถ้าจิตเป็นอุเบกขา จะสังเกตง่ายๆ จะแยกเป็นชั้นๆ

พอพูดนิดหนึ่ง เกิดการปรุงแต่งว่ามีการแยกชั้น

ธาตุดินอยู่ส่วนธาตุดิน ธาตุลมเข้าออกอยู่ส่วนธาตุลม

และจิตที่เป็นผู้รู้ผู้ดูอยุ่ เป็นแค่ส่วนประกอบหนึ่งของธาตุเหล่านั้น

แบบนี้ถึงจะไม่มีตัว ไม่อย่างนั้นจะมีตัวร่ำไป

ถ้าโฟกัสเข้ามาอยู่กับจิต อย่างไรๆ ก็มีจิตตัวเราเป็นผู้ดูเสมอ

 

ต่อเมื่อเราสามารถรู้สึกถึงธาตุดิน ว่าเป็น foreground

และลมหายใจ เป็นธาตุลม เข้าออกในธาตุดินนี้เป็นอีกส่วน อีก layer

และจิตผู้รู้ผู้ดูที่เป็นดวงๆ ออกมาจากตรงกลาง ที่แผ่กว้างออก

เป็นแค่อีกจิตหนึ่ง เป็นอีกแค่ภาวะ อีกธาตุหนึ่ง

ถึงจะไม่มีตัวใคร เป็นจุดเริ่มของอุเบกขา ในเชิงว่า

ไม่มีความสำคัญมั่นหมาย ว่ามีตัวใครเป็นคนดูอยู่

 

ไม่อย่างนั้น พอเราเข้าใจแบบนี้ จำไว้เลยนะ

ถ้าโฟกัสเทเข้ามาที่จิตนิ่งๆ กว้างๆ อยู่ จะมีตัวเราขึ้นมาทันที

จะมีตัวแก้ว แฝงอยู่ในจิต

แม้จิตจะปรากฏเป็นของใหญ่ แม้จิตจะปรากฏเป็นของนิ่งอย่างไรก็แล้วแต่

ก็เป็นจิตของแก้ว มีตัวแก้วในจิตวันยังค่ำ

 

ต่อเมื่อเราไม่ลืม เห็น .. มีสติเห็นว่า

ธาตุดินอยู่ส่วนธาตุดิน

ธาตุลมอยู่ส่วนธาตุลม ธาตุวิญญาณ

ธาตุจิต ธาตุรู้เป็นผู้ดู ไม่มีใครดู

มีแต่จิต สภาวะกำลังเห็นสภาวะ

สภาวะของจิต กำลังเห็นสภาวะของธาตุดิน

กำลังเห็นสภาวะของธาตุลม

เปรียบเทียบ ความเป็นอุเบกขาของจิต ที่กำลังเกิดขึ้นจะเกิด

แบบเราไม่ต้องตั้งใจให้เป็นอุเบกขา

แต่จะมีสมาธิ มีความเห็นประกอบพร้อมอยู่ในตัวเองว่า

จิตของตัวเอง เป็นส่วนประกอบหนึ่งในจักรวาลของธาตุทั้งหก

ไม่ใช่ทั้งหมด ไม่ใช่ศูนย์กลาง จักรวาลของความเป็นธาตุหก

แต่เป็นส่วนประกอบหนึ่ง ที่อิงอาศัยธาตุอื่นๆ ให้เกิดขึ้น

ไม่ใช่ว่าลอยอยู่ด้วยตัวเองได้

 

วันนี้กำลังดี มีความเสถียร

เข้าใจแล้วนะว่าต่างกันอย่างไร ระหว่างจิตที่มีตัวเรา กับจิตที่เป็นอุเบกขา

ถ้าจำได้แล้วทำอย่างนี้ สำรวจจิตไปเรื่อยๆ ว่า

จิตเรามีอุเบกขาอยู่หรือเปล่า มีธรรมะที่เป็นของสูงอยู่หรือเปล่า

จะได้นิมิตหมายที่ชัดเจน

ถ้าอยู่ที่จิตโดยมากนั่นมีเราแน่นอน

ถ้าแยกจากกันเป็นชั้น มีรูปมีนาม มีความรู้สึกว่าง จากตัวตน

ตัวนี้แหละที่เห็นแยกรูปแยกนามของจริง

 

แก้ว : ขอบพระคุณพี่ตุลย์ที่ชี้แนะทางให้หนูและคุณแม่

เพราะพยายามดึงคุณแม่เข้าทางธรรม ตั้งแต่เริ่มปฏิบัติ

วันนี้คือที่สุดในชีวิตของลูกคนหนึ่งที่จะทำให้คุณแม่ได้

 

พี่ตุลย์ : ยินดีด้วยนะ และไม่ใช่เรื่องบังเอิญ จิตคุณแม่เป็นจิตใหญ่นะ ใหญ่แบบเดียวกับเรา

ทีนี้ถ้าคลิกทางนี้ได้ก็ไปได้เร็วไม่ต่างจากเรา ค่อยๆ ไกด์ไป

ตอนนี้บ่มกำลังความสุขให้มีจิตใหญ่แบบเสถียรก่อน

พอเสถียรแล้วก็ทำแบบเดียวกับเราคือดูกายใจโดยความเป็นธาตุ

และจะก้าวหน้าไปเรื่อยๆ ทั้งแม่ทั้งลูกนะ

 

------------

(ส่งท้าย) ขออนุโมทนา และเป็นกำลังใจในทางธรรม ในทางที่สว่าง ที่เจริญอย่างนี้ไปด้วยกันดีแล้ว

 

เราอยู่ในห้อง แค่รู้สึกดี ส่งเสริมกัน ไม่ใช่ดีกับคนอื่นอย่างเดียว

แต่จะดีที่เข้ามาที่ใจเราที่รู้สึกยินดีกับคนอื่นทันที

คุณจะรู้สึกได้ถึงกำลัง รู้สึกได้ของฟรีมา

รู้สึกว่าเราได้เครื่องพยุงให้อยู่ในทิศทางที่จะเจริญไปเรื่อยๆ

 

ก็ดีใจด้วยและขออนุโมทนากับทุกท่าน

ที่จะได้เป็นผู้แสดง สาธิตกายใจที่จะมีความพัฒนาคืบหน้าทางธรรมก็ตาม

หรือว่า จะอยู่ในฝ่ายของผู้ที่แสดงความยินดีกับท่านอื่นๆ ที่มาสาธิตก็ตาม

_________________

 

วิปัสสนานุบาล EP 56

วันที่ 24 มกราคม 2565

ถอดคำ : เอ้

รับชมคลิป : https://www.youtube.com/watch?v=xytoNIJXWow

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น