วันจันทร์ที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2565

วิปัสสนานุบาล EP 35 : 23 ธันวาคม 2564

EP 34 : 23 ธันวาคม 2564

 

พี่ตุลย์ : สวัสดีครับทุกท่าน พบกันช่วงค่ำบ้าง

ถือเป็นคืนแรกของการปรับเวลา ตั้งแต่วัน พฤหัส ศุกร์ เสาร์ จะเป็นช่วงค่ำ

 

วันจันทร์ ถึง พุธ จะเป็นช่วงเช้า เป็นการเอาจิตเจ๋งๆ มาไลฟ์กัน

ส่วนวันพฤหัส ถึง วันเสาร์ เอาจิตเจ๊งๆ มาดูกันนะครับ

ว่า จะปฏิบัติได้หรือไม่ได้อย่างไร จะคว่ำหรือจะหงายแค่ไหน

 

เพราะอย่างที่เราทำกันมาตลอด

ไม่ว่าจะบอกว่าเป็นรายการปฏิบัติธรรมที่บ้านก็ตาม

หรือจะเป็นห้องวิปัสสนานุบาลก็ตาม

เอามาแบบ ว่ากันอย่างฆราวาสชาวบ้านทั่วไป

ชาวบ้าน ที่หาอยู่หากิน และไม่ได้มีเวลา

ที่จะมาปฏิบัติเต็มที่ร้อยเปอร์เซ็นต์

 

เราก็เรียนรู้ร่วมกันจากตรงนี้นี่แหละว่า ถ้าหากเราใฝ่ใจจริงๆ จะเกิดอะไรขึ้น

คือจะไม่มีการเกี่ยง .. มันเกี่ยงไม่ได้ว่า วันไหนจิตจะดิบดีจากการทำงาน

ทำงานแล้ว วันนี้มีกำลังวังชา รู้สึกว่าจบ ปิดจ๊อบได้งดงาม

เกิดความรู้สึก ใจใหญ่ พร้อมที่จะภาวนา

ทางโลกได้ดี มาเอาดีทางภาวนาอีก แบบนั้นไม่ใช่นะ

 

โดยทั่วไป คนที่อยู่ในโลก เราก็จะได้เห็น

อย่างพวกเรา ผมยกนิ้วให้ .. หลายๆ คน ใฝ่ใจภาวนาจริงๆ

เกินกว่าพระชีส่วนใหญ่ในปัจจุบันเสียอีก

 

คือจะไปว่า พระชี ก็ไม่ได้ เพราะไม่มีความรู้

บวชเข้าไปก็เหมือนชาวบ้าน นุ่งเหลืองห่มเหลือง

นึกว่าเป็นพระแล้ว เป็นบรรพชิตแล้ว

 

พระพุทธเจ้าเคยตรัส บอกว่า

ที่มานุ่งเหลืองห่มเหลือง แล้วเป็นพระ .. นี่เหลวไหลนะ

 

ภิกษุ เป็นของสูง ว่ากันด้วยใจ บวชกันที่ใจ

 

ทีนี้ อย่างพวกเราก็จัดว่าเป็นพวกที่ขวนขวาย

โดยไม่ต้องไปตกลงกติกาว่า ฉันจะนุ่งเหลืองห่มเหลือง

แล้วก็ไม่ต้องอาศัยข้าวชาวบ้านกิน ให้เป็นบาปเป็นกรรมด้วย

 

เวลาที่เรามาอยู่แบบนี้ มาด้วยใจจริงๆ มาด้วยความอยากจะมา

ไม่ใช่มาเพราะเป็นหน้าที่ ไม่ใช่มาเพราะเราจะได้อะไรจากตรงนี้

มากไปกว่าความปรุงแต่งทางใจอีกแบบหนึ่ง อีกชนิดหนึ่ง

 

เดี๋ยวเรามาดูกันคืนนี้ ว่าจิตเจ๊งๆ ที่ทำงานตรากตรำมาทั้งวัน

สะสมขยะทางอารมณ์มา 12 ชั่วโมง 15 ชั่วโมง

พอเอามาภาวนา ทำสมาธิเดินจงกรม หรือเสวนาธรรมกันในห้องนี้

จะมีอะไรให้ดูกันบ้าง

-----------------------

 

ฮิม

 

พี่ตุลย์ : รู้ว่าปีติ หายใจเข้า รู้ว่าปีติ หายใจออก

จะมีใจกลาง ที่เป็น center ที่เป็นความสว่าง ความว่าง

และลมหายใจเป็นเปลือกนอก จากสุด

แล้วก็มีตัวปีติ คั่นกลางอยู่ระหว่าง ลมหายใจ กับจิต

 

ฉะนั้น พอมีปีติที่เอิบอาบ มีความผุดพลุ่ง ผุดโพลง

พร้อมกับมีสติ รู้ว่ารอบนั้นกำลังหายใจออก หรือ หายใจเข้า

พอกายใจแยกเป็นชั้นๆ จิตเป็นที่สุด เป็น center

แล้วเห็นว่าลมหายใจเป็นของหยาบ

ปีติคั่นกลาง อยู่ระหว่างลมหายใจกับจิต

 

สำหรับท่านที่มีปีติปรากฏชัดนะ ให้สังเกต โดยเฉพาะช่วงต้นๆ

ปีติ จะมามากมาน้อย ไม่เท่ากัน

จะไปถึงจุดหนึ่ง ที่ปีติมีความฉีดแรงสุด แล้วก็คงค้างอยู่อย่างนั้น

แต่ก่อนจะถึงความคงค้าง จะมีระดับของปีติ

ที่ตอนแรกคล้ายๆ กับ น้ำพุที่ส่งขึ้นมาแบบโปรแกรมเบาก่อน

ดีดขึ้นมาเป็นฝอย เป็นละอองเฉยๆ

แล้วค่อยเร่งความแรงขึ้นมา จนกระทั่งแรงถึงที่สุด

ก็คือรู้สึกว่าเย็นซ่านไปรอบด้าน 360 องศา

 

ถ้าเย็นซ่านไป 360 องศา

นี่คือที่สุดของปีติแล้ว ไม่มีอย่างอื่นยิ่งไปกว่านั้น

จะเหมือนเราได้ดื่มกินน้ำพุ น้ำที่เป็นน้ำมหัศจรรย์ ที่ผุดพลุ่งขึ้นมา

เหมือนกับผุดไปรอบทิศรอบทาง

ทั้งแนวตั้ง แนวขวาง ข้างหน้า ข้างหลัง และเบื้องล่างด้วย

 

ถ้ามีปีติอย่างมีสติ รู้ว่ากำลังหายใจเข้า หรือ หายใจออก อยู่

ก็จะได้รู้ว่า ทำไมพระพุทธเจ้าท่านถึงได้ให้รู้อย่างนั้น

 

รู้ว่ามีปีติ หายใจออก รู้ว่ามีปีติ หายใจเข้า

เพราะรู้อย่างนั้นจะเห็นที่ตั้งของขันธ์ห้า

มีกายนั่งคอตั้งหลังตรงเป็นธาตุดิน

มีลมหายใจ พัดเข้าพัดออกเป็นธาตุลม

 

พอใจใสเสมออากาศว่างได้ ก็จะรู้ว่ากายนี้ ลมหายใจนี้

ตั้งอยู่ท่ามกลางช่องว่าง อากาศว่างรอบตัว

ตัวปีติ จะเป็นเหมือนกับตัวหล่อเลี้ยงอยู่

 

ทั้งหมดนี้เห็นพร้อมกัน

แต่ว่าเวลาพูดเป็นภาษามนุษย์ ต้องพูดทีละขั้น

แต่จริงๆ แล้ว พอถึงจุดที่

ปีติผุดพลุ่ง แล้วรู้ว่าหายใจออก

ปีติผุดพลุ่ง แล้วรู้ว่าหายใจเข้า

ก็จะมีความเป็นสมาธิขึ้นมาอีกแบบ

 

รู้ ไม่ใช่รู้แบบตะกรุมตะกรามกินปีติ

แต่เป็นการรู้ว่า ปีติ เกิดขึ้นท่ามกลางธาตุอื่นๆ ขันธ์อื่นๆ

 

ตั้นต้นจากความเป็นกาย ไล่ไป

ลมหายใจ ตั้งอยู่ท่ามกลางอากาศว่าง และรับรู้อยู่ด้วยจิต

 

ยิ่งมีจิตที่เบิกบาน กว้างขึ้นเท่าไหร่

ก็ยิ่งเห็นรายละเอียดต่างๆ เหล่านั้นชัด

 

จิตที่ถูกปรุงแต่งด้วยปีตินานๆ

มีความสว่างเจิดจ้าออกมาอย่างไร

ความสว่างแบบนั้นก็จะไปทาบ

เหมือนกับไปอาบธาตุดิน ธาตุลม

เห็นว่าธาตุดิน เวลาเราเคลื่อนมือไปก็จะมีความสว่าง

 

ลมหายใจ พัดเข้าพัดออก

ก็จะเหมือนกับน้ำตกสีขาวที่มีความสว่าง

เหมือนมีนีออนไปติดในตัวเอง แต่จะสวยกว่านีออนเยอะ

จะไม่ใช่ออกมาเป็นแสงดิบๆ ด้านๆ ไม่ใช่เป็นแสงหยาบๆ

แต่เป็นแสงที่สว่างเรือง มีความงดงาม

 

ทีนี้ พอจิตมีความสว่าง มีความว่าง เป็นผู้รู้ผู้ดูอยู่

ก็จะมาถึงทางสองแพร่ง .. จะมีความติดใจ

หรือว่าเห็นว่ามันแยกออกเป็นชั้นๆ ต่างหากจากกัน

มีความเป็นขันธ์ห้า หรือธาตุทั้งหก

 

ถ้าหากจิตมีความเข้าใจ ประกอบอยู่ด้วยสัมมาทิฏฐิ

ก็จะเป็นนาทีทองที่จะได้เห็นว่า

กายนี้ใจนี้ ไม่มีความเป็นตัวเรา

มีแต่ความเป็นภาวะทางธรรมชาติ ที่มาผสมโรงกัน

มาประชุมรวมกัน หาทางหลอก

ให้จิตหลงสำคัญ ยึดมั่นว่ามีตัวมีตน

 

พอรู้ด้วยความเป็นสมาธิ ด้วยความสว่าง ด้วยความตื่น

เห็นอยู่ว่า ที่เกิดพร้อมๆ กันจะเป็นรูปขันธ์ก็ตาม เวทนาขันธ์ก็ตาม

มีความหมายรู้ จำได้ นึกว่าเป็นตัวเป็นตนก็ตาม

หรือความสว่างที่เป็นสังขารขันธ์

มีตัวรู้ที่เป็น วิญญาณ ขณะอยู่ชั้นในสุดเป็น background

เวลาแยกออกมา เห็นเป็นขันธ์ๆ เป็นกองๆ

เป็นธาตุที่แบ่งกันแบบต่างคนต่างอยู่ เป็นคนละ layer กัน

จะไม่เกิดความรู้สึกว่า นี่ตัวฉัน

 

แต่จะเห็นแจ้งว่า นี่ไม่มีตัวใคร

ความเห็นแจ้งว่าไม่มีตัวใครนี่แหละ

จะทำให้เกิดความสงบไปอีกแบบ

เกิดความประณีตอีกแบบ ความสว่างอีกแบบ

ความสว่างนี้จะผุดโพลงขึ้นมา

แตกต่างจากความสว่างทางใจ ที่เราเห็นเป็นแสงจ้าๆ

 

แสงจ้าๆ นี่จริงๆ ยังเป็นแสงดิบๆ เป็นแสงที่หยาบๆ อยู่

แต่แสงปัญญา แสงรู้ที่ผุดขึ้นมาจากตรงกลาง จากภายในจริงๆ

จะเป็นแสงอีกแบบ คือ เราจะรู้สึก ..เทียบกันก็เหมือนหลุมขาว

เวลาที่จะเข้าถึงสัมมาสมาธินี่นะ

สัมมาสมาธิ แตกต่างจากสมาธิธรรมดาทั่วไป

ตรงที่จะขึ้นต้นมาด้วย สัมมาทิฏฐิ

 

อย่างนึกดูทุกคนนะว่า เวลาเรารู้สึกคลิกกับธรรมะ

หรือว่าเหมือนกับ รู้สึกตาสว่างเวลาได้ยินได้ฟังธรรมะ

ที่เกี่ยวกับ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

 

จะรู้สึกว่า ความตาสว่างนี้มีความเบา โล่ง

เปิดแผ่อะไรออกมาจากกลางอกด้วย

ไม่ใช่ตาสว่างที่ดวงตา อย่างที่คนพูดกันอย่างเดียว

แต่จะรู้สึกเหมือน ตรงกลางเป็นโพรงว่างขนาดใหญ่

หรือบางคนอาจรู้สึกเหมือน เป็นห้วงจักรวาลทั้งจักรวาล

เป็นห้วงฟ้าที่โผล่มาจากกลางตัว

 

ตัวนี้ สมมติเรียกไปก่อนว่า หลุมขาว

ซึ่งจะเป็นตรงข้ามสิ้นเชิงกับ หลุมดำ

ถ้าหลุมดำ คือโมหะ แล้วก็ดึงดูดให้หลงไปติด ไปทุกข์

แต่หลุมขาว ส่งตัวตนออกมา คายตัวตนออกมา

พระอรหันต์ท่านเปรียบเทียบว่า เหมือนคนธรรมดา

สามารถถ่มเสลดออกจากปากได้ แบบไม่เสียดาย

 

แสงรู้หรือหลุมขาว ที่เป็นสัมมาสมาธิ ก็คล้ายๆ แบบนั้น

พอเห็นกาย มีความรู้สึกว่า ของกระจอก ของไม่มีค่า

ไม่มีราคาอะไรเลย ไม่ต่างกับเสลด ที่พร้อมที่จะถ่มออกมา

ถ่มออกมาจากกลางความรู้สึก ว่าง สว่าง และมีปัญญานั่นแหละ

 

ตัวที่มีปัญญาประกอบแบบพุทธ ดูง่ายๆ

จะมีลักษณะเปิดแผ่ ไม่เอา ไม่ยึดอะไรเป็นตัวตน เป็นของมันทั้งสิ้น

อาการจะส่งออกอย่างเดียว ไม่ดูดเข้า

 

แล้วพอมาถึงตรงที่เรารู้สึกว่า เป็นสัมมาสมาธิจริงๆ

คำว่า สัมมาสมาธิ คือคำๆ เดียวกันกับ ปัญญาบริสุทธิ์

 

ตัวสติ ตัวสมาธิแบบพุทธนี่

พอถึงจุดที่มีความสว่างออกมาจากตรงกลางแล้ว จะไม่เอาอะไรเลย

เพราะปัญญาขั้นสูงสุดแบบพุทธ

คือปัญญาที่เห็นว่า ขันธ์ทั้งห้า

หรือทั้งจักรวาลของธาตุหก เป็นของหลอก

 

พอจิตที่เป็นสัมมาสมาธิ

เห็นขันธ์ห้า หรือธาตุหก โดยความเป็นของหลอก

ก็จะมีความโน้มน้อม ที่จะทิ้งของหลอกนี้ไป

และโน้มน้อมที่จะไปหาของจริง

ที่ไม่มีการเกิด ไม่มีการแก่ ไม่มีการตาย

 

ใจที่ว่าง ที่สว่าง จะไม่ยึดแม้แต่ตัวมันเอง

ว่าเป็นสภาวะของใคร หรือสมบัติของอะไร

ก็เห็นว่า นี่ก็สังขารขันธ์ชนิดหนึ่ง

 

พอเห็นว่า นี่ก็สักว่าเป็นสังขารขันธ์ชนิดหนึ่ง

ตรงนั้นจะไม่มีจิตผู้คิดแล้วว่านี่อะไร นี่ใคร

จะมีแต่จิตผู้รู้ว่า นี่ไม่มีใคร ไม่มีอะไรอยู่ตรงนี้จริง

แม้ตัวความสว่าง แม้ตัวความเป็นพุทธิปัญญา

ผุดโพลงออกมาจากตรงกลาง ก็เป็นแค่ความปรุงแต่งชั่วคราว

 

การรู้การเห็นที่มีความเสถียร

จิตที่มีความเสถียร จิตที่รวมศูนย์ได้ ตั้งมั่นได้

เป็นดวงจิตที่เราจะรู้ว่า นี่แหละ ที่เรียกกันว่า ทาง

 

เวลาเราพูดถึงเส้นทาง เวลาเราพูดถึงทางเดิน

เรามักนึกถึงที่ว่าง ที่เรียบ ที่เป็นเส้นตรง ให้เท้าก้าวเดินไปข้างหน้า

แต่ว่าทาง ในแบบที่จะออกจากสังสารวัฏ

ไม่มีความเป็นเส้นตรงแบบนั้น

 

มีแต่ความเป็นดวงสว่าง เป็นดวงสว่างที่เห็นความจริง

ว่าจิตแบบนี้ ลมหายใจแบบนี้ ปีติแบบนี้ ความว่างแบบนี้ ความรู้แบบนี้

เป็นธรรมชาติธรรมดา ที่มีอยู่ในจักรวาล

เป็นของกลาง เป็นของดิบ ที่เอามารวมตัวกันด้วยเงื่อนไข

คือ เห็นว่าเริ่มต้นจากความไม่รู้ว่าอะไรๆ ทั้งปวง ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน

เสร็จแล้วก็เกิดการสะสม

 

อย่างพอมาถึงจุดนี้ นี่เรียกว่าเป็นการสะสมบุญ

ถึงเกิดกองภูเขาความสว่างขึ้นมา

และเพราะบุญนี่แหละ จะตกแต่ง ทำให้เกิดสิ่งที่เป็นจิตสำนึก

หรือเป็นวิญญาณธาตุ แบบที่เป็นมนุษย์

 

ถ้าไม่มีบุญเป็นมนุษย์ไม่ได้นะ มีจิตสำนึกของมนุษย์ไม่ได้

 

ทีนี้จิตสำนึกแบบมนุษย์ ถ้าฝึกดีแล้ว

ถ้าอบรมด้วยธรรมะของพระพุทธเจ้าดีแล้ว

จะ upgrade จะยกระดับขึ้นไปอีก

มีความรู้ มีความตื่นอยู่ พ้นจากสำนึกคิดอ่านแบบมนุษย์

จะมีรู้อีกแบบ มีสำนึกอีกแบบ ที่พ้นไปจากสำนึกแบบธรรมดา

 

สำนึกนั้น กลมกลืนไปกับความว่างอีกแบบ

ว่างจากการยึดตัวตน ว่างจากความสำคัญมั่นหมาย

ว่า มีสิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นตัวของตน

 

สมาธิแบบนี้ ไม่มีเจ้าอื่นทำกันนะ

ไม่ว่าสมาธิ สำนักไหน ลัทธิใด

จะเป็นสำนึกหรือจิตชั้นสูง ที่มีตัวตนแฝงด้วยเสมอ

 

แต่ด้วยการพิจารณามาตามลำดับขั้น

ตามที่ พระพุทธเจ้า ประทานแนวทางไว้ ในอานาปานสติสูตร

จะมาถึงจิตสำนึกได้อีกแบบ ที่พ้นไปจากความยึดมั่นสำคัญผิด

ว่ามีตัวเรา มีความเป็นมนุษย์

 

ฮิม : วันนี้ ตอนแรกคิดจะทำไม่ได้ เพราะงานหนัก

แต่พอมานั่งต่อหน้าพี่ตุลย์ รู้สึกมีพลัง ปีติมาเยอะตั้งแต่ท่าที่หนึ่ง

ท่าที่สองก็เพิ่มมาอีกนิดหนึ่ง เหมือนจะค่อยๆ เอาปีติ

จากเป็นดวงๆ เริ่มซึมไปในกาย ตั้งแต่หัวจรดขา

จนกลายเป็นทั้งร่างกลายเป็นตัวปีติ สีขาว

 

ถึงจุดนั้นก็วาดมือต่อไป จนจิตพออิ่ม

ก็เริ่มไม่สนกับอาการวูบวาบของปีติ มือที่เป็นแสงก็ขยับน้อยลงเอง

สุดท้ายก็วางลง อยู่กับลมหายใจที่เป็นของหยาบไปเรื่อยๆ

 

เป็นครั้งแรกที่พอละปีติสุขไปแล้ว จิตตั้งมั่นเห็นชัดที่สุด

ปกติ อาการที่ละปีติไปจะลอยๆ แล้วยังอ่อนแอ

แต่วันนี้ ผมรู้สึกว่าจิตผู้รู้ที่ละปีติสุขไปแล้ว

เกิดการรวม ตั้งมั่น และเสถียรอยู่อย่างนั้นจริงๆ ไม่มีการเปลี่ยนแปลง

รู้อยู่ตรงกลางว่า มีธาตุมีขันธ์ ที่ไม่ต้องสนใจเรียกมันก็ได้

ก็รู้ไปอยู่แบบนั้น จนออกครับ

 

พี่ตุลย์ : ยิ่งเสถียรมากเท่าไหร่

จะยิ่งเห็นแยกเป็นชั้นๆ ไม่เกี่ยวกัน ไม่เกี่ยวข้อง

รู้สึกว่า มีอะไรที่เป็นโครงสร้างของภาวะที่ประกอบประชุมกัน

ไม่ได้มีก้อนตัวก้อนตน เป็นเพียงลักษณะโครงสร้าง

แม้อย่างตอนนี้ ก็จะรู้สึกความคิดอยู่ห่างๆ เหมือนอยู่รอบนอกของจิต

 

แล้วพอตั้งจิตในความรู้สึกว่า เราอยู่กับความรู้อย่างนั้น

อะไรที่ปรากฏรอบนอก เหมือนเป็นโครงสร้าง

เหมือนสิ่งที่ไม่ตัน เป็นความกลวง

มีช่องว่าง ระหว่างจิตผู้รู้ กับโครงสร้างทั้งหมด

โดยที่ไม่รู้สึกว่า โครงสร้างนี้มีความทึบตัน เป็นตัว เป็นก้อน

 

ดูอย่างนี้ไปเรื่อยๆ จนจิตอิ่มจริงๆ กับความรู้

ว่าไม่มีตัวใครอยู่ที่นี่ ไม่มีตัวตนอยู่ที่ไหน

 

ฮิม : พี่ตุลย์ให้ผมบ่มสมถะ สังเกตว่าจะมีจังหวะของมัน

เช้าๆ ก็ทำได้ จิตผู้รู้อาจไม่เข้มข้น

แต่พอถึงจุดที่ละปีติสุขไปแล้ว ไม่ว่าทำอย่างไร

ถ้าไม่พยายามทำจริงๆ มันจะไม่เกิดปีติสุข

จะไม่ไล่ระดับ .. วิตักกะ วิจาระ ปีติ สุข และจิตผู้รู้

 

ฉะนั้น พอต้องบ่มให้จิตผู้รู้ให้แข็งแกร่งขึ้น

บางครั้งต้องบังคับ กดให้อยู่กับ วิตักกะ วิจาระ ปีติ สุข

แบบนี้สมควรไหม และ วงรอบความถี่ห่างที่บังคับ ควรเป็นอย่างไรครับ

 

พี่ตุลย์ : จริงๆ พระพุทธเจ้าเวลาท่านสอนสมาธิ

มีพระสูตรที่ท่านให้เป็นอุบายในการสังเกตว่า

สมาธิของแต่ละคน ไม่เหมือนกันในแต่ละครั้ง

 

ให้สังเกตว่า แต่ละคนเข้าทางอย่างไร

จึงได้มาถึงจุดที่จิตรวมลงเป็นสมาธิ

 

ในพระสูตร ท่านไม่ได้บอกขั้น หนึ่ง สอง สาม ต้องทำอย่างไร

แต่ท่านมุ่งโฟกัสจุดที่เข้าถึงสมาธิ ถ้าทำได้แบบไหนเอาแบบนั้น

ไม่มีผิดไม่มีถูกเรื่องลำดับขั้น

 

ให้มีความสังเกตว่า วางจิตไว้อย่างไร ทำท่าทางแบบไหน

ถึงได้เข้าจุด เกิดสมาธิขึ้นมา .. ฉะนั้นไม่มีผิดถูก

ต่อให้ตัวเราเองสัปดาห์นี้ ใช้เส้นทาง 1 2 3 แบบนี้ แล้วเข้าจุดได้

สัปดาห์ต่อมา ใช้วิธีอีกแบบ อีกทิศทาง

ก็เข้าจุดเหมือนกัน แต่เร็วกว่า ก็ให้เอาแบบนั้น

 

สัปดาห์ต่อๆ มา ไม่ต้องเข้าทางแบบไหนเลย

จิตมีความเป็นวสีอยู่ คล่องแคล่ว ชำนาญ ก็ให้เอาแบบนั้น

แต่ในเมืองแบบนั้นเป็นไปได้ยาก หรือเป็นไปไม่ได้เลย

ที่จะมีวสีในมนุษย์หาเช้ากินค่ำ

จิตยุ่งเหยิง อยู่กับการพูดคุย หรือคิดเรื่องงานทั้งวัน

ฉะนั้นจะมีวสีแบบคนที่ทำตลอดเวลา เป็นไปได้ยาก

 

ฉะนั้น เราเอาหลักการที่พระพุทธเจ้าท่านประทานแบบกว้างๆ

คือสังเกตตัวเองว่า ทำแบบไหนแล้วเข้าจุดได้ รวมลงได้

เอาแบบนั้น อย่าไปมองว่า มีผลเสียอะไรไหม

 

แต่ก็เข้าใจได้ เราเคยหลงทางเข้าสมาธิไปผิดๆ .. ก็พูดยาก

พอบางคนไปจำทางเข้าสมาธิแบบผิดๆ

จะกลายเป็นมิจฉาสมาธิ ซึ่งถ้ารู้ไม่เท่าทันก็อีกยาว

 

แต่ถ้าเราแน่ใจว่า ทางเข้าสมาธิเรา ยังอยู่ในขอบเขตกายใจ

ยังสามารถเอามาปรับเทียบเคียงได้

กับที่พระพุทธเจ้าตรัสเป็นขั้นในอานาปานสติสูตร ถือว่าโอเคหมด

 

------------------------

ไอซ์

 

พี่ตุลย์ : ที่เราทำกันอยู่นี้ เป็นเวลาหลังเลิกงาน

จิต สมควรจะเจ๊ง ไม่ใช่เจ๋ง

แต่ถ้าจิตเราตั้งอยู่ได้ แสดงว่าจิตเราเจ๋งจริง

เป็นฆราวาส แบบไม่เสียชาติเปล่า

ใช้ชีวิตแบบฆราวาส หาเช้ากินค่ำด้วย

และไม่พลาดโอกาสที่จะได้ดิบได้ดี จากพระพุทธศาสนา ที่นานๆ มาที

 

ชั่วกัปชั่วกัลป์ จะมีพระพุทธศาสนาได้มากที่สุด ไม่เกินสิบ

บางกัปบางกัลป์ ไม่มีเลย

และแต่ละกัปแต่ละกัลป์ เราเกิดเป็นล้านชาติ ..

ล้านนี่ล้านจริงๆ นะ ไปดูเม็ดทรายบนทรายหาด แบบนั้นจริงๆ

 

พระพุทธเจ้าตรัสว่า แต่ละกัปแต่ละกัลป์

ถ้าเอากองกระดูกแต่ละชาติไปวางไว้ เท่ากับขุนเขาสุเมรุ

คิดเสียว่า ภูเขาลูกหนึ่งเต็มไปด้วยกองกระดูก

 

ถ้าหากว่า เม็ดทรายเม็ดหนึ่งในชายหาด คือชาตินี้

เป็นชาติเล็กๆ อีกชาติหนึ่ง

แต่เป็นชาติที่มีความสำคัญมากพอ ที่เราจะเอาตัวรอดได้

เป็นฆราวาส อาจยังไม่ต้องหวังถึงอรหันต์ล่ะ

แต่เข้าถึงธรรมะที่พระพุทธเจ้าตรัสว่าเป็นความปลอดภัย ในสังสารวัฏได้

 

เราสามารถมีความรู้ ความเข้าใจออกมาจากประสบการณ์ตรงว่า

หายใจเข้าอยู่นี้ เป็นแค่ธาตุลม

หายใจออกอยู่นี้ เป็นแค่ธาตุลม

ไม่มีใครอยู่ในธาตุลม

ถ้าขึ้นต้นมีประสบการณ์อยู่ได้แค่นี้ คุ้มชาติเกิดแล้วนะ

 

ไม่ต้องยังบรรลุอะไรทั้งสิ้น ไม่ต้องเป็นอริยเจ้าอะไร

เอาแค่จิตที่ปราศจากความรู้สึกว่ามีตัวตนอยู่ในลมหายใจ

ที่ผ่านเข้าผ่านออกในกายนี้ นี่ คุ้มชาติแล้ว

 

(ต่อท่าที่สอง)

 

รู้ว่ามีความสุข หายใจออก

เราจะตั้งต้นที่ความรับรู้ว่า ความสุขนี้

คือความผ่อนคลาย สบายกายสบายใจ

ที่มีลักษณะเปิด รู้ว่ามีความสุข หายใจเข้า

ที่แยกออกได้ว่า ลมหายใจ เป็นของชั้นนอก

ความสุขเป็นของชั้นใน ส่วนตัวรู้ตัวเห็นอยู่ เป็นของชั้นในสุด

 

รู้ว่ามีความสุข หายใจออก

ความสุขนี้จะเป็นสุขแบบมีสติ

เห็นว่าความสุขก็ชั้นหนึ่ง ลมหายใจก็ชั้นหนึ่ง

 

พอมีความสว่างขึ้นมาแบบหนึ่ง ที่ออกมาจากข้างในที่ว่าง

ตอนนี้ พอว่าง ก็รู้ไป ตอนนี้ความว่างเด่นอยู่ ก็รู้ความว่าง

 

ความว่างเด่นอยู่ รู้ความว่าง หายใจเข้าอย่างนี้

ที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในอานาปานสติ สิ่งใดที่กำลังปรากฏเด่นอยู่

เรารู้สิ่งนั้นแล้ว หายใจออก

เรารู้สิ่งนั้นแล้ว หายใจเข้า

 

การที่มีการรู้การดูอยู่อย่างนี้ สิ่งที่เกิด คือจิตที่เป็นสมาธิ

ในแบบที่มีความตื่น มีความรู้ มีความเห็นว่า..

อย่างว่างอยู่ รู้ว่าว่าง แล้วหายใจออกหมด

และความว่างยังทรงตัวอยู่ได้

 

มีความว่างอยู่ รู้ว่าหายใจเข้า โดยที่ความว่างนี้ไม่เปลี่ยน

ตอนที่รู้ว่าในความว่างนี้ มีลมหายใจออก ลมหายใจเข้าอยู่

ให้สังเกตนะ ตอนนี้มีความคิดโผล่ขึ้นมา

แทนที่เราจะไปตั้งท่าอะไรกับมัน

รู้ไปตรงๆ ว่า ความว่างนี้ที่มากับลมหายใจครั้งนี้

มีอะไรโผล่มาในหัว เป็นอะไรที่ เราสามารถรู้ประกอบพร้อมไปด้วยกัน

ทั้งชั้นของลมหายใจ ชั้นของความสุข

ชั้นที่เป็นอะไรหยอยๆ ในหัว

 

การที่เราฝึกรู้ฝึกดูแบบพุทธนี้

เราไม่ปฏิเสธภาวะอะไรแม้อย่างเดียว

ตรงกันข้าม เรารวมมารู้ให้หมด

ภาวะที่กำลังปรากฏอยู่จริงๆ ที่กำลังเด่นอยู่จริงๆ

ที่กำลังสามารถรู้พร้อมประกอบไปกับลมหายใจได้นั่นแหละ

ภาวะเหล่านั้น เรายินดีต้อนรับหมด

 

แต่ไม่ใช่ยินดีต้อนรับแบบ ต้อนรับขับสู้ ตรึกนึกตาม

แต่เป็นการเปิดรับแบบ เอามาดู

มาเห็นแขกแปลกหน้า เป็นของอื่นที่เข้ามาชั่วคราว

 

ถ้าไม่มีลมหายใจ ไม่มีความสุขแบบนี้เป็นตัวตั้ง

จะดูยาก หรือดูไม่ได้เลยนะ สำหรับคนทั่วไป

 

เวลาคนทั่วไปพยายามดูความคิดตัวเอง จะกลายเป็นคิดซ้อนคิด

แต่ถ้าเราเจริญอานาปานสติมาถูกทิศถูกทาง มาถึงความว่างความเบา

และในความว่างนี้ รู้ลมหายใจประกอบพร้อมไปด้วย

ส่งที่เกิดขึ้นจะเป็นต้นทุน

เห็นว่าความคิดที่จรในหัว เป็นแค่ของแปลกปลอม

เป็นสภาวะ layer หนึ่งที่ประกอบไปพร้อมกับลมหายใจ

พร้อมกับความสุข พร้อมกับความเป็นธาตุดิน

ที่อยู่ในท่านั่งคอตั้งหลังตรงแบบนี้

 

แล้วพอเห็นความคิดไป จะเห็นว่าความคิดแยกไปเป็นอีกชั้น

ไม่ได้เป็นชั้นเดียวกับจิตแบบที่เคยเข้าใจผิด

จะเห็นตำแหน่งที่ตั้งว่า มันอยู่ชั้นรอบนอกจิต

จะเห็นเหมือนโครงข่ายอะไรแบบหนึ่ง ที่คอยจะเหวี่ยงแห มาครอบจิต

 

ทีนี้ถ้าเรามีสมาธิ มีช่องว่าง มีความรู้สึกว่าไม่ยึดความคิด

จะรู้สึกมีระยะทางระหว่างจิตผู้รู้ กับความคิด

ที่เป็นร่างแหที่จะมาร้อยรัดครอบคลุมเรา

จะเหมือนมีระยะห่างอย่างชัดเจน

ความคิด หยอยๆ จะไม่มาครอบจิต

 

อย่างตอนที่เราแหงนหน้าเอาความว่าง

แล้วรู้สึกถึง ลมหายใจออก

จะเป็นจังหวะที่เพิ่มความว่าง

ให้สติได้ใช้เป็นต้นทุนในการเห็นว่า

กายอยู่ส่วนกาย

ลมหายใจออกอยู่ส่วนลมหายใจ

และความสุขอยู่ส่วนความสุข

และความคิด เป็นเพียงร่างแหที่อยู่อีกชั้น

อยู่ส่วนความคิด เป็นคนละชั้นกันหมดเลย

 

ไอซ์ : ตอนนี้ยังไม่ค่อยเข้าใจว่า แต่ละสถานะที่เกิดขึ้น

เรียก ปีติใช่ไหม สุขใช่ไหม ไม่รู้ว่าตอนนี้เราอยู่ตรงไหนของทาง

 

พี่ตุลย์ : นี่คือความสำคัญ

ถ้าเราไม่เข้าใจว่า เรามาถึงตรงไหนแล้ว นี่เป็นคำถามที่ดีนะ

อยากให้ทุกคนใส่ใจจุดนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง

หลายๆ ท่านที่ทำมาจนกระทั่งมีประสบการณ์ สมาธิหน้าตาเป็นอย่างไร

 

สมาธิ ก็คือจิตนิ่งๆ จิตที่มีความสว่าง

จิตที่เกิดความรู้สึก มีปีติชุ่มฉ่ำ

 

ตรงนี้ใครมาถึง ก็รู้สึกว่าไม่ใช่เหลือวิสัยที่ใครๆ ก็มาถึงกัน

แต่มาถึงตรงนี้แล้ว อยู่ส่วนใดของเป้าหมายปลายทาง?

ตรงที่เราจะมั่นใจได้ว่า เรากำลังรู้แบบพุทธ มีสมาธิแบบพุทธ

ที่สำคัญมีเป้าหมายแบบพุทธ

 

คนมีสมาธิหลายๆ คนอย่างที่ผมเคยได้ยินมา บางคนสมาธิดีมาก

แต่พูดเฉยเลยว่า ไม่รู้จะมีสมาธิไปทำไม เพราะเห็นว่างๆ อยู่

แต่เขาไม่สมัครใจที่จะนับถือพุทธศาสนา บอกว่าไม่พร้อม

 

ถ้าหากว่าเรามาทบทวน อานาปานสติสูตรกัน

จากคำถามคุณไอซ์ว่า เราอยู่ตรงไหน

 

ขึ้นต้นมา พระพุทธเจ้าตรัสให้เข้าที่วิเวก

ที่วิเวกนี้ อาจเป็นเรือนว่างก็ได้ เข้าห้องส่วนตัวก็ถือเป็นที่วิเวกแล้ว

 

ตั้งกายตรง ดำรงสติมั่นเฉพาะหน้า

ของคุณไอซ์ที่ผ่านมาก็ใช้ได้

ขอแค่นั่งคอตั้งหลังตรง ดำรงสติเฉพาะหน้า

ก็คือ รู้อยู่ในภาวะปัจจุบันที่กำลังปรากฏในกายในใจนี้

 

ทีนี้เราต้องเข้าใจว่า อานาปานสติสูตร จริงๆ แล้วก็คือ

การเห็นกายเห็นใจ โดยการเป็น กาย เวทนา จิต ธรรม

ให้เจริญสติปัฏฐานอยู่ในตัวเองครบเลย

 

หมวดกาย มีอะไรบ้าง

มีสติหายใจออก มีสติ หายใจเข้า

ขึ้นต้น เรามีเบสิคตรงนี้แน่ๆ

หายใจยาวรู้ หายใจสั้นรู้

 

พอมาถึงจุดที่เราสามารถรู้สึกถึง ลมหายใจ ได้เป็นปกติ

ไม่ว่าจะยาว จะสั้น จะเข้า จะออก

จิตจะมาถึงความเป็นผู้รู้ผู้ดู

เราจะรู้สึกขึ้นมาว่า ที่กำลังเห็นลมหายใจออกอยู่นี่

ไม่ใช่ตัวลมหายใจเห็นตัวเอง แต่มีจิตผู้รู้ผู้ดูอยู่

 

เราจักเป็นผู้กำหนดรู้กองลมทั้งปวงหายใจออก

จุดนี้ พระพุทธเจ้าให้รู้มาที่จิต

เหมือนที่ผมย้ำกับทุกท่านมาตลอด

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตอนเราขึ้นท่าที่สอง

พอเรารู้สึกว่าง แล้วรู้ถึงลมหายใจออก

คุณจะรู้สึกถึงความว่างอยู่เบื้องหลัง และ ลมหายใจ อยู่เบื้องหน้า

 

ถามว่า ที่ว่างคืออะไรที่ว่าง

ก็คือตัวของจิต ที่ความรู้สึกว่าว่างนั่นเอง ไม่ใช่กายว่าง

กายก็ทึบของมันอยู่อย่างนี้แหละ

แออัดยัดทะนานด้วยตับไตไส้พุงอย่างนี้แหละ

 

แต่ที่รู้สึกว่าว่าง คือความผ่อนคลายสบายใจ

ความเปิดของจิต และจิตเป็นผู้รู้สึกถึงความว่าง

 

เราจะเป็นผู้กำหนดรู้กองลมทั้งปวง หายใจออก

ตัวนี้ ที่ทุกคนเวลาผ่านท่าสอง

ตอนที่แหงนหน้าไปสุด แล้วรู้สึกถึงความว่าง

หายใจออก แล้วรู้สึกความว่างอยู่เบื้องหลัง ลมหายใจ อยู่เบื้องหน้า

อันนี้มาถึงตรงนี้แล้ว

 

ไปถึงจุดหนึ่ง เราจะรู้สึกว่า

ร่างกายผ่อนคลายทั่วตัว ตั้งแต่หัวจรดเท้า ไม่มีส่วนใดส่วนหนึ่งเกร็ง

กายไม่กระสับกระส่าย กายไม่อยากลุกไปโน่นไปนี่ หรืออยากขยับ

แต่จะเป็นไปในแบบที่ส่งเสริมให้เกิดสมาธิ

 

อย่างท่าที่สองนี้ เทียบแล้วก็เหมือนกับ หน้าท้อง

หรือท้องที่ป่องออกมา ตอนหายใจเข้า

แล้วก็แฟบยุบลงไปเมื่อหายใจออก

 

ต้องมีความเคลื่อนไหวทางกาย

ไม่ใช่ระงับกายสังขาร

คือหยุดการปรุงแต่ง หรือเคลื่อนไหวทางกายสิ้นเชิง

 

กายสังขารในที่นี้ คือการปรุงแต่งของกายแบบสุ่ม แบบส่งเดช

แต่พอเรารู้สึกถึงความระงับกายสังขาร

จะมีในสูตรอื่นที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้คือ

กายมีความสงบระงับ ไม่กวัดแกว่ง ไม่กระสับกระส่าย

ไม่ดิ้นรน ไม่อยากไปโน่นไปนี่

 

พอทำได้อย่างนี้ เห็นกายในกายแล้ว

และมีความเป็นสมถะแล้ว

 

ความเป็นสมถะ .. พระพุทธเจ้า ไม่ได้ตรัสถึงความเป็นสมถะไว้

แต่ตรัสว่า เห็นกายในกายอยู่

คือกายส่วนหนึ่ง ในกายอีกหลายๆ ส่วน

มีความเพียร ไม่ใช่ง่วงเหงาหาวนอน

มีความรู้สึกตัว มีสติ แล้วก็ไม่ได้โลภอยากเอาโน่นเอานี่

หรือไม่ได้ทุกข์คร่ำครวญ

 

การหายใจออก หายใจเข้า ด้วยความรู้อย่างนี้

เรียกว่าการเห็นกายในกาย

พูดง่ายๆ ว่า บรรลุถึงความเป็นหมวดกายในอานาปานสติ

 

ทีนี้ พอเรารู้ไปอย่างนี้

อย่างเมื่อกี้ที่คุณไอซ์ มีความรู้สึกจำได้ใช่ไหมว่า มีความเบา

รู้สึกว่าว่าง มีความรู้สึกสบาย

 

ความรู้สึกว่าว่าง สบาย เหมือนกับตัวเราหายไป

มีแต่ความเบาเป็นตัวตั้ง มีแต่ความว่าง สบายเป็นตัวตั้ง

 

และตรงนั้นพอเรารู้ว่า ในความเบาความว่าง

ถ้าถึงระดับที่เป็นปีติ พระพุทธเจ้าท่านก็ให้รู้ว่า

มีความเบา มีความว่าง มีปีติ

พูดง่ายๆ รู้สึกดี ให้หายใจออก พร้อมกันไปด้วย

แล้วก็หายใจเข้า พร้อมกันไปด้วย

ณ ขณะที่เรากำหนดรู้ก่อนว่า มีปีติ มีสุขอยู่ในเรา

 

พอเห็นอย่างนั้นรู้อย่างนั้นว่า เมื่อกี้ ..

ใช้คำว่าสุขเหมาเลยนะ ทั้งปีติและสุข

เพราะในระดับที่เราทำๆ กันในช่วงเริ่มต้น

อาจไม่ได้รู้สึกมีปีติชัด

ไม่ได้มีน้ำพุของความรู้สึกปรีดา ที่ล้นหลามอะไร

 

เราเอาแค่ความรู้สึกว่าเบา สบายนั่นแหละเป็นตัวตั้งของความสุข

 

พอสุข พอเบา แล้วรู้ว่าหายใจออก

สุข แล้วเบา รู้ว่าหายใจเข้า

อย่างที่คุณไอซ์รู้สึกว่า ลมหายใจ อยู่ข้างหน้า

ความสุขเบาอยู่เบื้องหลัง

 

จะปรากฏพร้อมกันไป ทั้งธรรมชาติฝ่ายรูป คือ ลมหายใจ

และธรรมชาติฝ่ายนามคือ ความเป็นสุข

จะเป็นดวงอะไรดวงหนึ่ง ใหญ่บ้างเล็กบ้าง

 

เมื่อกี้จะมีความเบา โดยเฉพาะตอนที่แหงนหน้าสุด แล้วหายใจออก

จะมีความเบา ว่าง ขึ้นมาระดับหนึ่ง

ที่เกิดความรู้สึกว่า บางรอบก็เป็นความเบาที่ใหญ่

บางรอบก็เป็นความเบาที่เล็ก

 

พอเรามีความรู้ประกอบพร้อมไปกับลมหายใจออก ลมหายใจเข้า

ก็จะเกิดความรู้สึกว่า ความเบา แสดงความไม่เที่ยง

ไม่เท่าเดิม ให้เราเห็นในแต่ละรอบได้

 

แต่ถ้าเราไปจดจ่อ หรือไปอิ่มเอมอยู่กับความสุขอย่างเดียว

แบบนี้เวลาแสดงความไม่เที่ยงเราจะไม่รู้ จะไม่มีหลักเปรียบเทียบนะ

 

ตัวนี้ที่เรียกว่า เรารู้สึกถึงตัวกองที่สอง หมวดที่สองคือเวทนา

 

เมื่อกี้เรารู้หมวดกาย ทีนี้เรารู้หมวดเวทนา

 

ในหมวดของเวทนา จริงๆ แล้วไม่ได้มีแค่รู้ว่า

สุขแล้วหายใจออก สุขแล้วหายใจเข้าอย่างเดียว

 

พระพุทธเจ้าท่านให้ดูด้วย ตอนที่ปีติสุขมีขึ้นมา

อย่างเช่น ตอนคุณไอซ์รู้สึกว่างเบา

ตอนที่มีความว่าง มีความเบาแล้วหายใจออก หายใจเข้า

จะสามารถรู้ได้

 

คำว่า จิตสังขาร เอาง่าย ๆ ก็คือ

ความปรุงแต่งทางจิตที่เป็นส่วนเกิน

อย่างเช่น ความฟุ้งซ่าน ก็จัดเป็นจิตสังขารเหมือนกัน

 

ตอนที่ผมให้ทุกท่านได้รู้ว่า

ณ ขณะมีความคิดปรากฏแทรกอยู่ด้วย แล้วหายใจออก

มีความคิด แล้วหายใจเข้า ให้รู้อย่างนั้นไปด้วย

เทียบเท่าอะไร.. เทียบเท่าตอนที่เรากำหนดรู้ปีติ รู้สุข

 

ตอนนี้เรามีเบสิคมาแล้ว มีปีติและสุข

แล้วหายใจเข้า หายใจออกมาแล้ว

พอมาถึงตรงนี้ เรามีฐานที่ตั้งสติที่พร้อมพอที่จะเห็นว่า

ความคิดเป็นส่วนประกอบอีกส่วนหนึ่ง แยกเป็นอีกชั้น

 

จำได้ใช่ไหมที่ผมบอกว่า มีความคิดหยอยๆ ขึ้นมาอยู่ในหัว

มีส่วนเกินขึ้นมา จากเดิมที่เรารู้สึกนิ่งๆ ว่างๆ เบาๆ

กลายเป็นมีความคิดหยอยๆ ขึ้นมาในหัว

ซึ่งตรงนั้นเราจับไม่ได้ ไล่ไม่ทัน

 

แต่ถ้าหากเราจับได้ไล่ทันว่า มันปรากฏในหัวเรา

แล้วก็รู้ว่า กำลังหายใจออก รู้กำลังหายใจเข้า

ตรงนั้น ความคิดจะเป็นอะไรอย่างหนึ่ง ที่จะหายไปเลยก็ได้

หรือว่าเราจะดู ถ้ามันมามาก ก็ดูไปพร้อมกันว่า

ความคิดตรงนั้นเกิดขึ้น แล้วหายใจออก

ความคิดนั้นเกิดขึ้นแล้วหายใจเข้า

ก็จะแยกเป็นชั้นๆ เหมือนที่เราสามารถแยกได้ว่า

ความสุขก็อย่างหนึ่ง ลมหายใจ ก็อย่างหนึ่ง

 

ทีนี้พอมาถึงตรงที่ความคิดหายไป ก็จะมาถึงจิต

 

สภาพความเป็นจิต จำไว้เลยนะ.. จะปรากฏตัวจริงๆ ต่อเมื่อ

เราแยกชั้นได้ว่า ความคิดอยู่คนละส่วนกับจิต

 

พอเราแยกได้ว่า ความคิดอยู่ส่วนหนึ่ง จิตอยู่ส่วนหนึ่ง

ตรงนั้น พระพุทธเจ้าให้กำหนดรู้อย่างนี้

 

เป็นผู้กำหนดรู้จิต หายใจออก

เป็นผู้กำหนดรู้จิต หายใจเข้า

จะมีความรู้สึกเหมือนกับว่า จิตเป็นผู้รู้ผู้ดู อยู่เบื้องหลัง

 

ที่ผมชอบใช้คำว่า

จิตเหมือนเป็น background อยู่ข้างหลังสุด

เป็นผู้รู้ผู้ดู อยู่

 

ถ้าเราดูอยู่ที่จิตอย่างเดียว แป๊บหนึ่งจะหายไป

แต่ถ้าเอาแบบที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้เป็นแนวทาง

คือพอมาถึงจุดที่ จิตสามารถรู้จิตเอง รู้ตัวเองได้

รู้จิตหายใจออก รู้จิตหายใจเข้า

จะรู้สึกขึ้นมาว่า มีความสามารถตั้งรู้อยู่อย่างนั้นว่า

จิตอยู่ส่วนจิต ลมหายใจ อยู่ส่วนลมหายใจ ได้นานขึ้นๆ

 

ตรงส่วนที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า

ทำจิตให้ร่าเริง หายใจออก ทำจิตให้ร่าเริง หายใจเข้า

ก็คือตอนที่จิตเบ่งบาน

จะมีบางช่วง เหมือนกับจิตเราเบ่งบานออกมา

 

ลักษณะของความเบ่งบาน

คือตอนที่เรารู้สึกว่าง รู้สึกว่าจิตแผ่ขยายออกเกินกาย

 

อาจยังไม่ชัด แต่เอาแค่ความรู้สึกว่า ว่าง เบา

ถ้ามีปีติประกอบอยู่ด้วย จิตจะมีความร่าเริง

จิตร่าเริงคือ จิตมีความตื่นนั่นแหละ

ร่าเริง ไม่ใช่หัวเราะสนุก

แต่คือจิตที่ตื่น เหมือนกับแผ่ออกไป แล้วก็มีความสดใส

 

ณ จุดนั้น พอเรารู้ว่าจิตมีความร่าเริง หายใจออก

จิตมีความร่าเริง หายใจเข้าไปได้นานพอ

จะตั้งมั่นขึ้นมา

อย่างที่ผมชี้ให้หลายคนดูว่า จะรู้สึกเสถียรขึ้นมาจากตรงกลาง

อย่างที่เคยให้ฝึกท่าสาม เพื่อให้เปรียบเทียบตรงนี้แหละ

 

เหมือนตอนที่ให้ดูท่าที่สาม เราเกิดความรู้สึกข้างในว่า

เริ่มนิ่งๆ เริ่มมีความเสถียร คล้ายมีพื้นราบ ที่เป็นที่วางของจิต

มือขวาเปรียบเหมือนจิต วางอยู่บนพื้นราบ มีความสงบราบคาบฉันใด

ใจของเราก็มีความเสถียร มีความตั้งมั่น เหมือนกับมีพื้นวางฉันนั้น

 

พระพุทธเจ้าตรัสว่า

เราจักเปลื้องจิตหายใจออก เราจักเปลื้องจิตหายใจเข้า

 

ยังมีน้อยคนที่มาถึงตรงนี้ได้

คำว่าเปลื้องจิตคือ เราเห็นว่ามีอะไรห่อหุ้มร้อยรัดจิตบ้าง

ตัวอย่างง่ายสุดคือ ความฟุ้งซ่าน

 

ความฟุ้งซ่านถ้าหากเราเปลื้องออกจากจิตได้

จะรู้สึกจิตโล้นๆ เกลี้ยงๆ ไม่มีอะไรห่อหุ้มอยู่

 

ในสูตรอื่น พระพุทธเจ้าตรัสว่า จิตไม่มีอะไรห่อหุ้มอยู่

นี่คือลักษณะของจิต ที่เปลื้องออกจากการร้อยรัด

ไม่ว่าจะเป็นความฟุ้งซ่าน หรือความรู้สึกอารมณ์โลกๆ ทั้งปวง

สามารถเปลื้องออกได้

 

จริงๆ ความหมายของการเปลื้องจิตมีมากไปกว่านั้น

ถ้าเราอยู่ในสภาวะจิตไม่มีอะไรห่อหุ้ม หายใจออก

จิตไม่มีอะไรห่อหุ้ม หายใจเข้า

อยู่ไปเรื่อยๆ จิตจะรู้ทางขึ้นมาเอง

 

เวลามารู้กาย จิต เวทนา จะเห็นว่า

เดิม จิตมีความยึดมั่น มียางเหนียว เกาะติดอยู่กับภาวะทางกายนี้

รู้สึกอยู่วันยังค่ำว่า กายนี้เป็นของเรา

รู้สึกอยู่วันยังค่ำว่า สุขนี้เป็นสุขเรา

รู้สึกอยู่ว่า ความคิดเวลาจรเข้ามา ต้องดูเป็นครั้งๆ

ถ้าสติไม่ทันก็จะไปยึดว่า ความคิดคือเรา เราคือความคิด

 

ทีนี้ พอมาถึงจุดที่จิต

สามารถเปลื้องจิตหายใจออก เปลื้องจิตหายใจเข้า

จะเกิดความสามารถรับรู้ตัวเองว่า

จิตที่มีความเปิดโล่ง ไม่ต้องยึดอะไรก็ได้

 

ตัวนี้เรียก เห็นจิตในจิต

เห็นจิตแบบหนึ่ง ในจิตอีกหลายๆ แบบ

 

เสร็จแล้วที่สำคัญที่สุดคือ หมวดธรรม ที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้

พอเราเห็นมาถึงจุดที่จิตว่างๆ โล่งๆ โล้นๆ ไม่มีอะไรเกาะเกี่ยวได้

ถึงจุดนั้น พระพุทธเจ้าให้ดู

ความไม่เที่ยง หายใจออก ความไม่เที่ยง หายใจเข้า

 

ถามว่า พิจารณาความไม่เที่ยง .. อะไรที่ไม่เที่ยง

ดูได้หมดเลยครับ

ไม่ว่าจะเป็น ลมหายใจที่กำลังปรากฏเข้า-ออก

ไม่ว่าจะเป็น ท่าทางของกาย

อย่างตอนหายใจเข้าท้องต้องป่อง หายใจออกท้องก็ยุบลงมา

เหล่านี้ก็เป็นการแสดงความไม่เที่ยงทั้งนั้น

 

ลมหายใจที่ผ่านเข้าผ่านออก เดี๋ยวยาวเดี๋ยวสั้น

เวลาที่ถูกจิตที่เปลื้องออกจากการเกาะกุมเกาะเกี่ยวแล้ว

เวลาที่ย้อนกลับมาเห็น จะรู้สึกว่า ไม่ใช่อะไรซักอย่าง

 

ที่นึกว่า กายเป็นเรานี่ ไม่ใช่

ที่นึกว่า ลมหายใจเป็นเราหายใจ ก็ไม่มีใครหายใจ

มีแต่กาย หายใจตามธรรมชาติ

ความสุขที่ยึดว่าเป็นของเรา ก็ไม่ใช่

เป็นแค่ภาวะความผ่อนคลายสบายใจ

สบายกายสบายใจชั่วคราว

 

หรือความคิด แท้ที่จริง คือไฟฟ้าในสมอง

ที่ปรากฏแวบหนึ่งแล้วหายไป

ไม่มีอะไรสักอย่างที่เป็นตัวเรา ตนของเรา

 

จิตที่มีความเปิดโล่ง

ที่เปลื้องตัวเอง ออกจากการร้อยรัดยึดเกี่ยวได้

ตัวนี้ ที่จะเห็นความไม่เที่ยงทั้งปวง

 

เสร็จแล้ว พระพุทธเจ้ายังให้ประกอบพร้อมไปกับลมหายใจอีก

มีความสรหคตกันกับลมหายใจ

คือ ไม่ว่าจะเห็นความไม่เที่ยงใดๆ หายใจออก

เห็นความไม่เที่ยงของภาวะใดๆ หายใจเข้า

 

รู้ไปอย่างนี้ จนกระทั่งเกิดการรวมดวงของจิต

จะมีความรู้ความตื่นอีกแบบ

รู้ว่าอะไรทั้งปวงในกายใจ ไม่ใช่อะไรที่แท้จริง

เป็นไปเพื่อการคลายกำหนัด เพื่อความดับกิเลส

นี่แหละที่ความเป็นอานาปานสติ

มีทั้งสมถะ และวิปัสสนารวมอยู่ด้วยนะครับ

 

ถ้าจะเอาเป้าหมายชัดไปกว่านั้นอีก

ในสูตรอื่น พระพุทธเจ้าท่านตรัสให้

อาศัยอานาปานสติ เป็นเครื่องบรรลุธรรม

พระพุทธเจ้าตรัสว่า

เมื่อเจริญอานาปานสติแล้วอย่างนี้ ทำให้มากแล้วอย่างนี้

จะได้ชื่อว่า บำเพ็ญสติปัฏฐานสี่ให้บริบูรณ์ได้

 

คือมีแนวโน้ม มีสิทธิ์ ที่เราจะเห็น กาย เวทนา จิต ธรรม

โดยความเป็นของต่างคนต่างอยู่ไม่ใช่ตัวตนได้

แล้วที่จะทำให้ได้บรรลุมรรคผล ก็คือเจริญโพชฌงค์ 7

องค์ประกอบ อันเป็นเครื่องจะทำให้ตรัสรู้

ให้มีความพร้อมกันไปกับอานาปานสติ

 

โพชฌงค์ 7 .. ถ้าไม่อยากเอาศัพท์แสง

ง่ายๆ คือ มีความว่างอย่างรู้ แล้วก็พร้อมทิ้ง

จะอยู่ในอิริยาบถใดก็ตาม

สามารถพิจารณาเห็นกายในกาย และสติเป็นอัตโนมัติ

 

โพชฌงค์ 7 จริงๆ แล้ว มีคำหนึ่งที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้คือ

อานาปานสตินี่แหละ ที่เป็นเครื่องทำให้บรรลุธรรมได้

 

ท่านตรัสว่า เธอย่อมเจริญ

สติสัมโพชฌงค์

ธรรมวิจยสัมโพชฌงค์

วิริยสัมโพชฌงค์

สติสัมโพชฌงค์

ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์

สมาธิสัมโพชฌงค์

อุเบกขาสัมโพชฌงค์

อันสหรคตกับอานาปานสติ

 

สรหคต คือเป็นไปพร้อมกัน พูดง่ายๆ คือ

 

เรารู้ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก อยู่นี่ .. บรรลุธรรมได้นะ

 

ถ้าหากว่าองค์ประกอบพร้อม

ทั้งสติ ทั้งธรรมวิจย ทั้งวิริย อะไรต่างๆ ที่เกิดขึ้น

ในขณะที่เรากำลังพิจารณากายใจ

เรารู้ลมหายใจ เข้าออกไปด้วย

จะเกิดตัวโพชฌงค์ปรากฏพร้อมได้เลย

 

ว่างอย่างรู้ ว่างอย่างพร้อมทิ้ง หายใจออก

ว่างอย่างรู้ ว่างอย่างพร้อมทิ้ง หายใจเข้า

 

ที่ท่านตรัสตรงนี้ บอกว่า สหรคตกับ อานาปานสติ

อาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ

คำสำคัญที่สุดที่คนเวลาอ่าน มักจะอ่านผ่านตาไปเฉยๆ

น้อมไปในการสละ

 

คำว่าน้อมไปในการสละ

เราสามารถดูได้จากอาการทางใจ

ที่มีความรู้สึกอยากปล่อย อยากวาง

ไม่ใช่แค่ว่างเฉยๆ แต่จะมีอาการที่ใจพร้อมปล่อย

เหมือนที่พระอรหันต์ ท่านเคยกล่าวเทียบไว้ว่า

เหมือนเสลดที่ท่านไม่อยากเก็บไว้ในปาก พร้อมที่จะถ่มทิ้ง

 

ทีนี้ ที่ให้ดูมาทั้งหมด ถือเป็นโอกาสที่จะแจกแจงว่า

ที่เราทำๆ กันมา ทำไปเพื่ออะไร มีจุดประสงค์อะไร

 

ถ้าหากว่า เรามีความเป็นสมาธิ

แล้วอาจเกิดความสงสัยขึ้นมาว่า ตอนนี้เราอยู่ตรงไหน

อย่างคุณไอซ์ สามารถจะบอกตัวเองได้ว่า

เราผ่านการรู้ลมหายใจมา

เราผ่านความรู้สึกว่าเป็นสุขมา

มีสุขแล้วหายใจออก มีสุขแล้วหายใจเข้า

รู้ว่าสุขแล้วหายใจออก รู้ว่าสุขแล้วหายใจเข้า

 

ตรงนี้เราผ่านมาแล้ว

ส่วนจิตตั้งมั่น เราต้องรอต่อไป

 

คำว่าตั้งมั่น และพร้อมที่จะปลื้องจิตออกมาจากความยึดทั้งหลาย

เป็นลักษณะของสมาธิอีกระดับ ที่เดี๋ยวต้องได้แน่

ถ้าหากเราเจริญอานาปานสติไปอย่างนี้

แล้วพอถึงจุดที่มีความว่าง โล่ง เหมือนจิตโล้นๆ

ไม่มีอะไรห่อหุ้ม จิตเปิดกว้างโล่ง

พอย้อนกลับมาเห็นกายใจ

ไม่ว่าจะเห็นโดยความเป็นธาตุดิน หรือโดยความเป็นรูปขันธ์

ก็จะรู้สึกว่า .. ไม่ใช่เราที่นั่งอยู่

 

ลมหายใจ ก็ไม่ใช่เรา

เวทนา ก็ไม่ใช่เรา

จิต ก็ไม่ใช่เรา

จิตผู้รู้ ก็ไม่ใช่เรา

ความคิดที่ห่อหุ้มจิตอยู่ ก็ไม่ใช่เรา

 

นี่แหละที่เราจะเริ่มเข้าถึงอย่างที่พระพุทธเจ้าท่านตรัส

คือมีสติสัมโพชฌงค์

แล้วก็มีธรรมวิจยสัมโพชฌงค์

 

สติ ต้องเป็นสติอัตโนมัติ เห็นเข้ามาในกายใจ

ตัวการพิจารณาธรรม ต้องเกิดแบบไม่ใช่ความคิด

แต่ใช้จิตเห็น ณ ขณะที่กำลังหายใจเข้า หายใจออก อยู่นั่นแหละ

 

ไอซ์ : เพิ่งลาออกจากงาน เป็นคนไม่ค่อยเข้าสังคม

ไม่โกรธใครมีแต่ความเฉย อยากรู้ว่าตอนนี้อยู่ในทางหรือยัง

 

พี่ตุลย์ : ไม่ต้องอาย ทุกคนในที่นี้

ล้วนอยากรู้ว่าจะมีสิทธิ์ได้มรรคผลไหม

 

บอกตรงๆ เลยนะ ถ้าหากว่าทุกคนในที่นี้

เจริญอานาปานสติแบบพระพุทธเจ้า อย่างที่ให้ดูเมื่อกี้

เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่า ที่ผมโค้ชให้ทุกคน

หรือประสบการณ์ที่ทุกคนได้มา ไม่ได้มั่วนะ ไม่ได้มีใครคิดเอา

แต่เป็นแนวทางที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสยืนยันไว้ว่า

ถ้าได้อย่างนี้ มีสิทธิ์แน่นอน

นี่ไม่ใช่การพูดออกมาจาก sense หรือจากการพยากรณ์

ว่าเดี๋ยวคนนั้น คนนี้ จะได้มรรคผลเมื่อไหร่

 

แต่บอกว่าเมื่อมีเหตุปัจจัยแบบนี้ อยู่ในเส้นทางแบบนี้

แน่นอนว่า เราเป็นหนึ่งในผู้มีสิทธิ์

 

ไม่ใช่เฉพาะคุณไอซ์ แต่ทุกท่าน ที่มีประสบการณ์ที่เราทำๆ ร่วมกันมา

อยู่ในทางของ อานาปานสติ แน่แล้ว

เมื่อกี้ที่ไล่มาตามลำดับ

แล้วบอกว่าที่เกิดขึ้นเป็นประสบการณ์คุณไอซ์

 

แต่เราต้องค่อยเป็นค่อยไป

ไปถึงจุดที่จิตมีความตั้งมั่น

เหมือนเปลื้องตัวเอง

ออกจากความร้อยรัดทั้งปวงได้ แม้กระทั่งความคิด

 

เมื่อกี้ ตอนที่คุณไอซ์มีความคิดหยอยๆ ในหัว

ยังแนบกับจิต ยังไม่ออกมาเป็นต่างหาก

แต่พอทำไปๆ พอย้อนกลับมาดู

จะพบว่า จริงด้วย อย่างที่พระพุทธเจ้าตรัส

 

พอจิตตั้งมั่น เปิดโล่ง ไม่มีอะไรห่อหุ้ม

พอความคิดจรกลับมา จะเหมือนมีระยะห่าง

 

เมื่อกี้ที่พยายามพูดว่ามีระยะห่าง ..

เข้าใจแหละว่ายังไม่เกิดขึ้น แต่พูดเพื่อเป็นทิศทาง

ชี้นำให้สังเกตว่า ถ้ามีระยะห่าง มีความว่าง

จะเกิดความรู้สึกว่า จิตอยู่ส่วนจิต ความคิดอยู่ส่วนความคิด

เป็นคนละชั้นกัน

 

ทุกคนนะ ไม่อยากให้ตั้งธงไว้เป็นคำพูดว่า

เราจะทำแบบนี้ไปเพื่อบรรลุมรรคผล

 

อย่าเอาคำว่ามรรคผลที่เป็นคำศัพท์มาอยู่ในใจ

แต่ให้เอาอาการทางใจที่ประสบแล้ว มีแล้ว เกิดแล้วนี่แหละ

มาเป็นตัวตั้งว่า ณ บัดนี้ เราทิ้งอะไรได้แล้วบ้าง

 

อย่างเมื่อกี้ อย่างน้อยทิ้งความรู้สึกฟุ้งซ่านวกวน

มามีวิตักกะ วิจาระ อันเกิดจากลมเข้าลมออก

มีความสุข รู้หายใจออก มีความสุข รู้หายใจเข้าได้

 

ตรงนี้ เราทำได้แล้ว เอาตรงนี้ก่อน

แล้วถ้าจะตั้งโจทย์ ตั้งไปว่า เราอยู่ในขั้นตอนแบบนี้

 

ทุกท่านนะ พูดละเอียดเลย

เพราะหวังว่า ท่านที่สงสัยแบบเดียวกัน

หรือถามตัวเองว่ามีสิทธิ์ได้มรรคผลไหม จะได้ประโยชน์

ไขข้อข้องใจของหลายๆ ท่านว่า ที่ทำทุกวันนี้ มาถึงไหนแล้ว

อยู่ในทิศทางที่จะไปหาเป้าหมายแบบไหน

 

พระพุทธเจ้าตรัสไว้ชัดเจน

ถ้าหากว่า เราอยู่ในขั้นตอนที่สามารถเห็นได้

แบบที่พระองค์ตรัสในอานาปานสติสูตร

จะแปลว่า ยิ่งวันยิ่งคืบหน้า

และเราจะสามารถเห็นได้ด้วยตัวเองว่า

จะยิ่งพัฒนาขึ้นไป ตามที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในแนวทางนี้จริง

 

คืออานาปานสติสูตร ดูเหมือนยาว ดูเหมือนยาก

แต่ถ้าทำความเข้าใจมาทีละบรรทัด

จะเห็นว่าไม่ได้ยากอะไร

ถ้ามาเทียบกับประสบการณ์ตรงที่เราทำๆ กัน

 

ของไอซ์ดูไป เรารู้ลมหายใจได้แน่แล้ว

รู้สุขเวทนาได้แล้ว รู้ความว่างเบา

แต่ในขั้นของจิต เดี๋ยวจะค่อยๆ ก้าวไป

 

และเท่าที่เห็น คือ อยู่ระหว่างวันใช้ได้นะ ใจไม่ค่อยวอกแวก

จิตเรามีข้อดี ที่เป็นต้นทุนที่ได้เปรียบคนอื่น

คือจิตเราเป็นจิตตรง

เวลาตั้งใจอะไร จะเหมือนเอาจริงไปข้างหน้า

 

บนเส้นทางนี้ ช่วงนี้เรามีสายป่านอยู่หรืออะไรก็แล้วแต่

ขอให้ใช้ให้คุ้ม เหมือนเป็นน้ำขึ้นในทางธรรม

 

ที่คิดว่าไม่อยากวุ่นวายทางโลกๆ น่ะถูกแล้ว

มาเอาจริงทางนี้ให้สุดๆ ไปเลย

 

ที่พูดไปยาวมากๆ นี่ไม่ใช่ให้เวลากับคนๆ เดียวนะ

แต่เป็นการเคลียร์ทีเดียวไปเลยกับทุกท่านว่า

สิ่งที่เรากำลังทำอยู่ เราทำไปเพื่ออะไร

 

ที่เป็นประสบการณ์แต่ละท่าน เทียบเคียงแล้ว ไปถึงไหน

และจุดหมายปลายทางถึงที่สุดไปที่ใด

 

ตรงนี้ ถ้าหากเรามีความเข้าใจ ให้เคลียร์ให้ชัด

การทำสมาธิ เจริญอานาปานสติของพวกเรา

จะเป็นไปด้วยความประกอบพร้อม

ด้วยความเข้าใจ ด้วยปัญญา ด้วยสัมมาทิฏฐินะ

-----------------------

นา

 

พี่ตุลย์ : เห็นไหม มีความโคลงเคลงของจิตนิดหนึ่ง

แต่อย่างตอนนี้ มีความสุข หายใจออก มีความสุขหายใจเข้า

 

มาถึงตรงนี้ไม่ยาก แต่จะเขยิบไปจากตรงนี้

อยู่ระหว่างวันใช้ได้ เริ่มเอาสติไปอยู่ในระหว่างวันได้

พอรู้จักที่จะสังเกตลมหายใจบ้าง

แม้ว่าจะไม่ได้ยืดยาวเหมือนตอนนั่งสมาธิ

แต่ก็มีมาเรื่อยๆ

 

เสร็จแล้วจะรู้สึกว่า จิตระหว่างวันที่ผ่องแผ้ว ปลอดโปร่งมากขึ้น

ไม่ยึดมั่นถือมั่นแบบเดิม จะมาเสริมกัน

 

ในห้องวิปัสสนานุบาล

เราไม่ได้พูดกันถึงเรื่องทำสมาธิอย่างเดียว

แต่พูดถึงเรื่องเดินจงกรมด้วย

และพูดถึงการมีสติในระหว่างวัน

ให้กลมกลืนกับการทำสมาธิ เจริญอานาปานสติแบบนี้

 

ถ้าอยู่ระหว่างวัน แล้วรู้สึกถึงลมหายใจขึ้นมาบ้าง

รู้สึกว่า ความฟุ้งซ่านเข้ามาครอบจิตไม่ได้ถนัดเหมือนก่อน

สติแบบนี้ ที่จะพาเราไปสู่สมาธิอีกแบบ

จิตจะมีคุณภาพมากขึ้น

มีความแห้งสะอาด สบายในการทำสมาธิมากขึ้น

 

อาจยังโซเซอยู่บ้างเพราะจิตยังไม่ตั้งมั่น

แต่ถ้ามองว่า เราถึงตรงไหนในอานาปานสติสูตร

เรามาถึงจุดที่รู้แล้วว่า

มีความสุข หายใจเข้า

มีความสุข หายใจออก

แล้วจะรู้ว่าพอวางมือ บางทีก็โยกเยกบ้างอะไรบ้าง

 

พอชูมือแหงนหน้าสุด อยากให้ค้างอยู่สักสองวินาที

จะเหมือนชาร์จพลังความว่าง

รู้สึกว่าใบหน้าที่แหงนขึ้นไป เจอความว่างของท้องฟ้า

พอเราอยู่ตรงนั้นนานขึ้นแป๊บหนึ่ง จะมีสติ

เห็นความสุข รู้ว่าสุข หายใจออก

ลมหายใจจะชัดขึ้น

 

ตรงนี้จะเป็นเหตุ เป็นส่วนให้เกิดความตั้งมั่นทางจิตมากขึ้นเรื่อยๆ

 

นา : ได้เรียนรู้จากที่ฟังพี่ตุลย์สอนท่านอื่น และที่บอกระหว่างทำสมาธิค่ะ ดีใจที่ได้วิธีการขยับมือเคลื่อนไหว

เพราะเมื่อก่อนนั่งสมาธิ จะทื่อๆ

พอได้มือมาช่วยจะมีสติแจ่มชัดมากขึ้น

 

พี่ตุลย์ : ดีใจ ที่ทำสมาธิเป็นเสียที

ตอนนี้อยู่ระหว่างวัน ก็เอาสติไปอยู่กับระหว่างวันแล้วด้วย

ดี ใช้ได้ .. ไม่ได้หลงไปกับอะไรภายนอกให้ปรุงแต่งจิตอย่างเดียว

แต่เริ่มรู้สึกถึงลมหายใจบ้าง มีความปลอดโปร่งจิตในระหว่างวันบ้าง

จะมาเสริมให้การทำสมาธิดีขึ้นได้

 

นา : พี่ตุลย์บอกว่า จิตยังไม่ตั้งมั่น ต้องฝึกอะไร

 

พี่ตุลย์ : ที่เพิ่งบอกไปเมื่อกี้ ให้ค้างนานขึ้นสักสองวินาที

ให้เกิดความรู้สึกว่าว่าง จะเป็นจุดสำคัญ

เพราะเมื่อมีความว่าง เบา แล้วหายใจออก

จะรู้สึกว่า ลมหายใจ ชัดขึ้นๆ

 

การที่ลมหายใจชัดขึ้นๆ เบื้องหน้าความว่าง

มีผลสำคัญกับการปรุงแต่งจิตให้อยู่ตรงนั้น ไม่ไปไหน

 

ของนา พอเคลื่อนแบบไวๆ บางทีกลายเป็นออโต้ไพล็อต

เคลื่อนไปแบบนั้นเอง รู้สึกถึงลมหายใจไปแบบนั้นเอง

 

ถ้าหากว่ามีอาการสังเกตทุกครั้ง ว่ามีความว่าง

และในความว่างนี้ มีลมหายใจออกปรากฏชัดเบื้องหน้า

จิตจะถูกปรุงแต่งให้ลมหายใจชัดขึ้นๆ

 

และเมื่อวิตักกะ วิจาระชัดขึ้นเมื่อไหร่

นั่นแหละ ที่จิตจะเริ่มสะสมความตั้งมั่น

ไม่คลอนแคลน มีความเสถียร

-------------------

 

ส้ม

 

พี่ตุลย์ : เวลายกมือ (ท่าที่หนึ่ง) ยกให้สูงขึ้น

ยกเสมอหน้าเหมือนพนมมือท่วมหัว

สังเกตว่าจะหายใจได้สุดขึ้น

พอถึงจุดสูงสุด เงยหน้านิดหนึ่ง จะรู้สึกถึงลมหายใจได้ชัดขึ้น

คว่ำมือลง ลากลมหายใจออก

หงายมือขึ้น ดันลมหายใจเข้า

 

ตอนยกขึ้น หงายมือนะ ไม่ใช่ยกหลังมือขึ้นมา

คือจะเกี่ยวกับจินตภาพ ขอให้ทำความเข้าใจนะ

 

เวลาใช้มือไกด์ ความหมายคือ

จะให้ฝ่ามือกับลมหายใจ มีความผูกกัน

เพื่อให้ฝ่ามือที่จับต้องได้เป็นรูปธรรม ได้มากำกับสติ

ให้เกิดความรับรู้ลมหายใจได้อย่างกระจ่างชัด ทั้งขาเข้าและขาออก

 

ทีนี้ มีจินตภาพประกอบด้วย ถ้าฝ่ามือหงาย

จะรู้สึกว่า เป็นตัวดันลมเข้า รู้สึกเหมือนเราวักน้ำเข้า

แล้วจะมีความประกอบพร้อม รู้สึกว่า

จิตเรามีความนิ่มนวลตามอาการลากช้า และมีสติรู้ชัด

 

ตอนนี้ จิตส้มยังโยกเยกอยู่บ้าง

แต่ถ้าดูว่า มีความรู้สึกถึงลมหายใจที่ถูกดันเข้า

และมีความรู้สึกถึงลมหายใจ ที่ถูกลากออกด้วยฝ่ามือ

เห็นไหม จะนิ่งขึ้น มีความตั้งนิ่งมากขึ้น

 

ทีนี้ พอเราได้ความสัมพันธ์

ระหว่างฝ่ามือกับลมหายใจออกอย่างนี้

ขอให้รู้ให้เข้าใจ จดจำว่า

อย่างนี้ จิตมีวิตักกะ คือมีความผูกพันกับลมหายใจ

มีโฟกัสอยู่กับลมหายใจ

มีเจตนาที่เล็งมาว่าจะรู้ลมหายใจ มีลมหายใจออกยู่ในจิต

 

พอเราได้วิตักกะ

เพื่อที่จะให้มีองค์สมาธิข้อต่อๆ ไป ปรากฏประกอบตามมา

เราก็มาใช้ท่าที่สอง โดยเอาต้นทุนมาจากท่าที่หนึ่ง

 

ตัวที่เราเกิดความรู้สึกอย่างนี้ ว่า

ฝ่ามือกับลมหายใจ มีความสัมพันธ์อย่างนี้จะได้แค่ วิตักกะ

ได้แค่ความรู้สึกว่า เรารู้ลมหายใจชัด

แต่ที่จะมีอุบาย ทำให้เกิดวิจาระ ปีติ และสุข

ต้องใช้ทุนจากท่าที่หนึ่ง ไปต่อท่าที่สอง

 

(ทำท่าที่สอง)

เวลาหงายมือ ให้มือหงายเป็นตัวดันลมเข้า

ตอนแหงนหน้า แหงนสุด จะรู้สึกถึงความว่าง

พอลดฝ่ามือลง ก้มหน้า (นิดหนึ่ง)

จะรู้สึกว่า ลมหายใจออก จะปรากฏชัดขึ้น

 

ตอนนี้ลมหายใจกับฝ่ามือไม่ sync กันก็ไม่เป็นไร

แต่ให้สังเกตว่า ฝ่ามือที่หงาย ดันลมเข้า

พอยกไปถึงจุดสูงสุด แหงนหน้า รู้สึกว่าว่าง

พอหายใจออก จะรู้สึกว่า ลมหายใจปรากฏอยู่ข้างหน้าความว่าง

 

ลดสปีดลงนิดเดียว ไม่ต้องช้าแบบเชื่องช้า

แต่ช้าในแบบที่เราจะรู้สึก

ถึงลมหายใจออกที่จะผ่อนคลายสบายมากขึ้น

 

ใบหน้าขอให้ลดมาซิงค์กันกับฝ่ามือและลมหายใจนะ

จะรู้สึกถึงลมหายใจที่ปรากฏชัดกว่านี้

 

ไปถึงจุดสูงสุด แหงนหน้า แล้วค่อยๆ ลดฝ่ามือลงมา

ใบหน้าลดลงมาพร้อมฝ่ามือ (แต่อย่าก้มหน้าต่ำไปตอนหายใจออก)

 

สำหรับมือใหม่ทุกท่านดูไว้เลยนะ

ถ้ามีความไม่เข้าใจ ให้ลองทำดู

ขอให้รู้สึกถึงความสมูท ความเป็นไปเอง

ที่มีสปีดช้า สบาย นิ่มนวล

ความปรุงแต่งในหัวจะเบาบางลง

จะมีลมหายใจที่มีความช้าและมีสติรู้ชัด

ปรุงแต่งจิตให้เกิดความรู้สึกนิ่มนวลขึ้น

 

อย่างตอนนี้รู้สึกว่าง ผ่อนคลาย รู้ลมหายใจออก

อย่าให้ใบหน้าตกลงมามาก

จิตจะเปิดขึ้น สบายมากขึ้น

 

อีกจุดหนึ่งคือ .. ดันมือขึ้นสุด ลมหายใจสุด แหงนหน้าสุด

รู้สึกถึงลมหายใจออกที่อยู่เบื้องหน้าความว่าง ค่อยๆ ลดมือลงมา

 

ฝ่ามือตอนนี้อยู่ในใจชัด พอเราวางมือลงบนหน้าตัก

เห็นไหม รอบเมื่อกี้มีอาการ มือไม่อยู่ในใจ แต่รอบนี้มี

 

พอเรามีความรับรู้ว่า ฝ่ามือที่ลดลงมา

มีความเท่าเดิม ตอนวางราบกับหน้าตัก

อย่างตอนนี้ จะรู้สึกว่า จิตเต็มดวงขึ้น จิตเต็มขึ้นมา

จากเดิมที่เหมือนมีความพร่อง ตอนนี้มีความเต็มรอบมากขึ้น

รู้ฝ่ามือเท่าเดิม รู้ใจที่สบาย รู้กายที่ตั้งตรง

 

เห็นไหม ต่างเลยนะ

จากเดิมขึ้นต้นมา มีความคิดเต็มหัว

แต่ตอนนี้จะรู้สึกถึงลมหายใจ

ที่ปรากฏอยู่ในจิตที่นิ่มนวล ผ่อนคลาย มีความรู้สึกว่าว่าง

 

เริ่มมี สุขเวทนาเกิดขึ้น

รู้ว่ามีความสุขหายใจเข้า รู้ว่ามีความสุขหายใจออก

เห็นไหมมีความประกอบพร้อมกัน

ทั้งลมหายใจ และความสุขที่ตั้งอยู่เบื้องหลัง

 

พอเรารู้ว่าว่างอย่างมีความสุข

ตรงนี้แหละที่จะเกิดความรู้สึกขึ้นมา

สุข อยู่ส่วนสุข ลมหายใจ อยู่ส่วนลมหายใจ

 

การที่เรามีจิตที่แยกออกว่า สุขอยู่ส่วนสุข ลมอยู่ส่วนลม

จะเข้าโหมดเวทนาแล้ว

 

ตัวเวทนาคือ การที่เรามีสติ สามารถเห็นว่า

เวทนา กำลังมีความสุขหายใจออก มีความสุขหายใจเข้า

 

พอเริ่มทำถูก ท่าที่หนึ่ง ท่าที่สอง

จริงๆ เป็นอุบายที่จะมาให้เจริญอานาปานสติ แบบที่ไม่ลำบาก

และสามารถ break down เป็นขั้นๆ ได้ว่าเรากำลังอยู่ตรงไหน

 

ส้ม : ดูวิดีโอแล้วทำเอง แล้ว suffer

แต่พอพี่ตุลย์สอนเป็น step เมื่อกี้ รู้สึกดีตอนที่ทำค่ะ

 

พี่ตุลย์ : เข้าใจ เราถึงต้องมาโค้ชกัน ดูเป็นคนๆ ไป

พอส้ม get แล้ว พอย้อนมาดูของตัวเองจะ get มากขึ้นเรื่อยๆ

และยิ่งทำไป จะเกิดกำลังของสมาธิมากขึ้นๆ

 

ของเราต้นทุนก็มีอยู่โอเคเลยนะ

แต่ถ้าทำไม่ถูกจุด หรือทำผิดทิศผิดทาง

เราจะรู้สึกเป๋ ท้อ เหมือนความคิดเต็มหัว แล้วเอาชนะไม่ได้

 

จริงๆ อันนี้คือหลักฐานว่า ไม่ใช่อย่างนั้น

แต่ขึ้นกับว่าเรามาถูกทิศทางหรือเปล่า

 

ถ้ามาถูก ในที่สุดแล้ว

เราจะเป็นหนึ่งในคนที่มีโอกาสเหมือนกัน

เพราะในหัวของเรา เต็มไปด้วยความคิดหลากหลาย

แล้วเราคิดแบบคนที่ศึกษาตรงนั้นที ตรงนี้ที แล้วเอามาผสมกัน

จนกลายเป็นความรู้สึกไม่แน่ใจในตัวเอง ว่าจะไปถึงไหนได้

แล้วก็จะรู้สึกว่า สะสมบารมีไป

เอาไว้ชาติหน้า เจอพระพุทธเจ้าค่อยว่ากันใหม่

 

อย่าเสียเวลา ชาตินี้เรามีสิทธิ์ทำได้

อย่างเมื่อกี้เราเห็นเวทนาได้

เห็นสุขเวทนาหายใจออก เห็นสุขเวทนาหายใจเข้า

เป็นหลักฐานว่ามาครึ่งทาง ถึงหมวดเวทนาได้แล้ว

 

ถ้าเจริญต่อไปกว่านี้ จนมีจิตตั้งมั่น ..

ย้อนไปดูที่พี่ตอบไอซ์ เอาพระสูตรมาให้ดูละเอียดเลย

เพื่อให้แน่ใจว่าสิ่งที่เราทำอยู่

พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้เป็นแนวทาง

และท่านประทานคำพยากรณ์ไว้

แบบที่เอาไปใช้ได้ชั่วลูกหลานเลยว่า

 

ใครก็ตาม เจริญสติปัฏฐานสี่ คือมีอานาปานสตินำ

อย่างช้าที่สุด เจ็ดปีต้องได้เป็นพระอนาคามี

นี่บารมี อินทรีอ่อนสุดๆ อย่างต่ำอนาคามี

หรืออย่างกลางเจ็ดเดือน

หรือย่างเร็ว เจ็ดวันก็ได้อีกเหมือนกัน

 

ไม่ใช่ได้แค่โสดาบันนะ

มีสิทธิ์ได้ถึงอรหัตผลหืรืออนาคามี

ขอแค่ถูกทิศถูกทางไม่ต้องหวังชาติหน้านะ

-----------------------------

เป้

 

พี่ตุลย์ : จากเดิมที่จิตคอยจะลอยๆ ออกไปข้างนอก

ตอนนี้เข้ามาอยู่ข้างในมากขึ้น

 

พอเรารู้สึกถึงลมหายใจที่มีในจิตได้

สิ่งที่จะเกิดเป็นธรรมดาคือใจที่มีความสุข

รู้ว่ามีความสุขหายใจออก อย่างนี้เกิดวิจาระ

จิตมีความเป็นหนึ่ง เห็นลมหายใจออกอยู่อย่างเดียว

รู้ว่ามีความสุขหายใจเข้า ทำไปเรื่อยๆ

จะไปถึงจุดที่ จิตมีความตั้งมั่นมากขึ้นๆ

 

ตอนนี้ อย่างพอบางทีมี วิตักกะ วิจาระเกิดเต็มก็จริง

แต่เป้จะรู้สึกเหมือนบางทีใจไหวๆ ข้างใน นี่เป็นจิตเดิมของเรา

 

แต่ที่ยังรู้สึกไหวๆ ข้างในเบื้องหลังลมหายใจ มีประโยชน์นะ

ถ้าเรารู้สึกได้ว่า มีความสุขหายใจออก

เห็นชัดว่า ความสุขอยู่ส่วนความสุข ลมหายใจออกอยู่ส่วนลมหายใจ

จะรู้สึกว่าที่ไหวๆ อยู่เล็กๆ นี่ อยู่เบื้องหลังความสุขเข้าไปอีก

อยู่ในชั้นถัดจากนั้นไป หลังจากนั้นไป

 

ตอนนี้เรารู้ว่ามีความสุขหายใจออก

รอบนี้นิ่งขึ้นมานิดหนึ่ง เปรียบเทียบแต่ละรอบ

ถ้าไหวๆ อยู่ข้างหลังจะเหมือนมีอะไรโยกๆ ไกวๆ

 

แต่พอเรารู้สึกถึงความว่าง หายใจออก ตรงไหวๆ จะกลับนิ่งขึ้น

พอเราเห็นเปรียบเทียบ

จุดที่ไหวๆ กับ จุดที่นิ่ง สงบ แตกต่างอย่างไร

ตัวนี้เท่ากับลมหายใจรอบหนึ่งๆ

เราสามารถเห็นความไม่เท่าเดิมของสภาพจิต

 

ที่ไหวๆ ไม่ต้องสงสัยเลย คือสภาพจิตนั่นเองที่ไหวๆ

 

ตอนที่จิตมีลมหายใจออกอยู่หนึ่งเดียว แล้วเกิดความตั้งมั่น

ความตั้งมั่นนั้นก็ไม่ต้องสงสัย คือจิตนั่นแหละ

 

เวลาที่เราเปรียบเทียบ อย่างรอบนี้

มีความนิ่ง สงบ มีความผ่อนพักสบาย

พอวางมือ เรายังมีไหวๆ อยู่นิดหนึ่ง

พอไปถึงจุดสูงสุด ว่าง แล้วหายใจออก

ดูนะ ฝ่ามือเราลอยอยู่ในอากาศ ปรากฏอยู่ในใจเราประมาณนี้

แล้วพอวางมือ ขอให้วางมือลงกับหน้าตัก อย่ารีบกวักขึ้นมาทันที

 

ตอนวางมือกับหน้าตัก ถ้าเราอยู่ตรงนั้น สองวินาที สามวินาที

จะเป็นจังหวะที่เรารู้สึกว่า ใจเราทรงอยู่ได้

โดยไม่จำเป็นต้องอาศัยลมหายใจ

ฝ่ามือที่วางราบกับหน้าตัก

พาไปรู้ภาวะทางกายที่นั่งคอตั้งหลังตรงอยู่

 

จะรู้สึกภาวะทางกายที่ชัดขึ้น

รู้สึกภาวะทางกาย หายใจเข้า รู้ว่าสุขอยู่ หายใจออก

จะเกิดความรู้สึกอีกแบบ เห็นไหมว่าจิตเรามีความเต็มมากขึ้น

 

ตอนเต็มดวงขึ้นมา เวลาวิจาระเกิด จะเกิดเต็มรอบ

ไม่อย่างนั้นของเป้ จะเกิดวิจาระแค่ตอนหายใจออก

พอวางมือจะขาดตอน

แต่ละคน จะไปสะดุดตอนวางมือนี่แหละ

 

รอบนี้ก็ไหวๆ นิดหนึ่ง แต่เป็นไหวๆ แบบที่

เราจะสามารถเห็นได้ว่า กลับตั้งมั่น กลับมีความนิ่ง

ต่างกันกับที่ไหวๆ ได้

 

พอจิตเป็นดวงแบบนี้ พอวางมือ แล้วฝ่ามืออยู่ในใจเท่าเดิม

แล้วฝ่ามือพาไปรู้สึกกายที่นั่งคอตั้งหลังตรงได้ จะรู้สึกว่าจิตเป็นดวงขึ้น

 

ตัวที่เป็นดวงนั่นแหละ ถ้านิ่งไปเรื่อยๆ จิตจะตั้งมั่นขึ้นมา

แบบที่ พระพุทธเจ้า ตรัสในอานาปานสติสูตรเป็นขั้นเป็นตอนเป๊ะ

พอสุข รู้ว่าสุข หายใจเข้า พอไปถึงความว่าง รู้ว่าสุข หายใจออก

จะเริ่มเห็นอะไรละเอียดขึ้น

จิตจะเริ่มใสเบา เมื่อมากๆเข้าก็จะเกิดความตั้งมั่นขึ้นมา

 

เป้ : ตอนที่อาจารย์บอกว่าวางมือ แล้วไม่ต้องหายใจก็ได้

ไม่แน่ใจว่า ถูกหรือเปล่าที่เหมือนจะกลั้นลมแต่ไม่เชิงกลั้นค่ะ

 

พี่ตุลย์ : เป็นเรื่องที่ทุกท่านต้องสังเกต

คนเราพอเริ่มทำสมาธิ

จะมีอาการอัตโนมัติอย่างหนึ่งคือ หายใจถี่

แบบพอ จิตรู้สึกถึงการหายใจออกสุดปุ๊บ จะรีบหายใจเข้าทันที

 

แบบนี้เป็นความเคยชินแบบหนึ่ง

เป็นสมาธิ แบบไม่มีจังหวะจะโคนของการหายใจ

เรื่องจังหวะหายใจนี่ เรารู้ดีอยู่แล้ว

แต่พอทำสมาธิ จะมีความเคยชินแบบหนึ่ง

อย่างที่ถามนี่ เรื่องกลั้นลมหายใจ

 

จริงๆ ไม่ใช่การกลั้นลมหายใจ

แต่ รอจังหวะของลมหายใจที่ถูกต้อง

เหมือนตอนจะร้องเพลง จะมีจังหวะของลมหายใจที่ถูกต้อง

ว่าจะเปล่งเสียงออกมา ด้วยจังหวะลมหายใจแบบไหน

 

ไม่ใช่ออกมาเฮือกๆๆ ตลอด ต้องมีจังหวะเข้า-ออก-พัก

 

นี่ก็เหมือนกัน พอจะเป็นสมาธิขึ้นมา

ภาวะของกายจะปรากฏแสดงตลอดเวลา ว่าตอนนี้อยากหายใจเข้า

เราแค่ใช้มือไกด์เพื่อให้รู้ว่า จังหวะนี้ ร่างกายอยากได้ลมหายใจเข้า

พอไปถึงจุดสุด ลดฝ่ามือลงมา มือยังอยู่ในใจเท่าเดิม

พอวางมือลงแล้ว มือยังอยู่ในใจเท่าเดิมได้ รู้สึกผ่อนคลาย

ตัวนี้แหละ ตัวตัดสิน

 

ถ้าเรารู้สึก กดๆ อยู่นิดหนึ่ง เหมือนระงับลมหายใจ

แบบนี้ เรียกว่า ห้ามลมหายใจ

แต่ถ้ามีความรู้สึกว่า ร่างกายผ่อนคลาย ไม่มีส่วนใดส่วนหนึ่งเกร็ง

แม้แต่กล้ามเนื้อท้องก็ไม่ทำงาน ทุกส่วนผ่อนคลาย

พอถึงจังหวะหายใจเข้า เราค่อยวักลมหายใจเข้าใหม่

ด้วยความรู้สึกเป็นไปเอง สบาย นิ่มนวล แบบนี้คือถูกต้อง

 

อย่างเมื่อกี้ที่รู้สึกว่า

ใจ.. ตอนที่พี่บอกให้วางมือ แล้วเราวางสบายๆ

ฝ่ามือยังอยู่ในใจต่อได้ จะมีความรู้สึกว่าต่อเนื่องมา จิตเต็มดวง

 

ไม่อย่างนั้นจะรู้สึกว่า พอวางมือ

จะมีอะไรวนๆ ขึ้นมา จิตไม่เสถียร

จะไปตั้งลำได้ใหม่ ตอนที่เงยสุดแล้วลดมือลงมา

ซึ่งก็จะมีอะไรไหวๆ .. จำได้ใช่ไหม

 

บางรอบรู้ลม ก็รู้สึกนิ่งๆ ข้างใน

แต่บางรอบรู้ลม กลับมีอาการไหวๆ ข้างใน

ตัวนี้ ถ้าสังเกตได้ว่า ตอนวางมือลงมาแล้วฝ่ามืออยู่ในใจ

แล้วเรารู้ท่านั่งคอตั้งหลังตรงประกอบพร้อม

จิตจะเต็มมากขึ้น อาการไหวๆ จะน้อยลง

 

ตอนนี้ อยู่ระหว่างวันจะเหม่อน้อยลงแล้วนะ จะรู้ได้ด้วยตัวเอง

มีความเบิกบาน จิตเปิดมากขึ้น

ไม่ซัดส่ายในหัวแบบที่ผ่านมา

มาถูกทางแล้ว

-----------------

แก้ว

 

พี่ตุลย์ : มีวิตักกะวิจาระใช้ได้เลยนะ คื

อเริ่มมาจากจิตนั่นแหละ จิตนิ่ง เบา ใส

เวลารู้ลมหายใจ ก็รู้ได้ชัด รู้ด้วยจิตที่เป็นหนึ่งเดียว

 

พอมีท่าสองช่วยกำกับสติให้รู้เป็นขั้นๆ

ว่าขณะนี้หยุดลม ขณะนี้หายใจเข้า ขณะนี้เก็บลมในปอด

ก็จะสามารถสังเกตได้ชัดว่า แต่ละขณะมีความต่างอย่างไร

 

พอสุข รู้ว่า หายใจเข้า

รู้ว่ามีความสุข หายใจออก

ลมหายใจที่ปรากฏชัด กับจิตที่เด่นดวง จะรู้สึกแยกเป็นชั้นๆ

ว่ากายส่วนหนึ่ง ลมหายใจ ซ้อนในกาย อยู่อีกตำแหน่ง

อยู่คนละตำแหน่งกัน

ความสุขที่เกิด แฝงในกาย ในใจ เป็นอีกส่วน

จิตที่เป็นวง ว่าง สว่างอยู่เบื้องหลังก็อีกส่วน

 

ดูตรงนี้นะ พอจิตมาถึงตรงนี้ จะรู้สึกถึงภายใน

จิตที่มีความว่าง มีรัศมีแผ่ออกไป

ตัวที่เรารู้สึกถึงจิตที่อยู่เบื้องหลัง ประกอบพร้อมไปกับที่รู้ว่า

กายอยู่ข้างหน้า

ลมหายใจออกอยู่ข้างหน้า

สุขอยู่ตรงกลาง

มีจิตที่เป็นรัศมีความสว่าง ว่าง

อยู่เบื้องหลังสุด ที่ background

พอรู้มากขึ้นๆ จะรู้สึกว่ารัศมีจิตมีความคงตัว คงเส้นคงวา

 

ลักษณะจิตตั้งมั่น เริ่มจากแบบนี้

 

ในอานาปานสติสูตร ที่พระพุทธเจ้าท่านตรัส

พอรู้สุขเวทนาได้แล้ว ความคิดระงับได้แล้ว

สิ่งที่จะปรากฏอันดับต่อมาคือจิต

ท่านให้รู้ที่จิต เวลาที่จิตแยกออกไป

 

คือท่านไม่ได้ตรัสไว้อย่างนี้นะว่า จิตจะแยกออกไปเป็นผู้รู้ผู้ดู

เพราะแต่ละคนไม่เหมือนกัน แยกห่างแยกสั้นในระยะประชิดต่างๆ

แต่ท่านตรัสว่าให้รู้เข้ามาที่จิต

เพราะว่า หลังจากที่เราสามารถ ทรงความรู้เวทนาได้นานระยะหนึ่ง

สิ่งที่ปรากฏเป็นธรรมดาคือการรับรู้ว่า

จิตนี่แหละเป็นผู้รู้ผู้ดู ภาวะทางกายนั่ง

ลมหายใจเข้าออก และ ความสุขที่แฝงในกายในใจนี้

 

พอรู้มาที่จิตจะเห็นว่า

จิตมีความทรงอยู่ในสภาพรู้ จะทรงอยู่ในสภาพตื่นอยู่

อย่างที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า ให้รู้ว่าจิตมีความร่าเริงจริงๆ

คือมีความตื่นอยู่นั่นเอง

 

ลักษณะจิตที่ตื่นอยู่ คือรู้อะไรอย่างหนึ่งตลอด

ไม่ใช่สงบแบบหุบเข้าข้างใน ไม่รู้อะไรเลย

แต่มีลักษณะหงาย เปิดโล่งออก รับรู้ว่ากำลังรู้อะไร

 

และสิ่งที่เป็นประกันว่า

ยังอยู่ในทิศทางสมาธิแบบพุทธก็คือ

จิตที่กำลังเปิดโล่งนั้น

มารู้ว่าลมหายใจกำลังปรากฏอยู่ในธาตุไหน

 

ธาตุดินคือมี หัว ตัว แขน ขาอยู่นี้

และในธาตุดินนี้ มีลมพัดเข้าออกอยู่

ตัวนี้ พอจิตเข้าไปรับรู้

จิตที่ใสเสมออากาศ ก็จะเห็นว่ารอบตัว

มีวัตถุ ที่เป็นธาตุดินแบบเดียวกัน

ไม่ใช่รูปทรงเหมือนกัน แต่มีความคงรูปคงร่างเหมือนกัน

จะเป็นผนังห้อง โต๊ะ เตียง ที่มีความคงรูปคงร่าง

เสมอเหมือน ร่างกายที่มีหัวตัวแขนขา

ไม่มีใครอยู่ในนี้เสมอกัน

 

ตัวที่เราเห็นว่า อะไรๆ ที่กำลังปรากฏอยู่

ในภาวะธาตุดิน ธาตุลม อากาศธาตุนี้

มีตัว ไม่มีตน

มีแต่จิต ผู้รู้ผู้ดู

และจิต ก็เป็นแค่ธาตุหนึ่งในองค์ประกอบเท่านั้น

ไม่ใช่ทั้งหมด

 

ก็มีความรู้ตัวเองขึ้นมาว่า

แม้จิตนี้ก็ตั้งอยู่ ด้วยเหตุปัจจัย คือมีกำลังของสมาธิ

ถ้าไม่มีกำลังของสมาธิมาอุดหนุนค้ำยัน

ก็เกิดการโยกเยกได้ และเกิดความกระเพื่อมได้

 

พอจิตแยกออกเป็นดวงสว่าง ที่มีความรู้สึกว่างๆ อยู่ได้

ก็ดูว่าที่เรียก วิญญาณธาตุ

ยิ่งมีความสามารถเห็นว่า จิตแยกจากกายได้ห่างขึ้นเท่าไหร่

ยิ่งกำหนดรู้ว่า วิญญาณธาตุมีหน้าตาแบบนี้

คือไม่มีหน้าตาแน่นอน

ตัววิญญาณธาตุ ไม่มีรูปร่างแม้เป็นทรงกลมด้วยซ้ำ แต่มีรัศมี

 

เพราะฉะนั้น ก็เลยต้องเทียบเคียง

เรียกว่าดวงจิตบ้าง หรืออะไรที่เป็นวง

 

เมื่อกี้ ตอนที่ออกไปเป็นวงว่างๆ กว้างๆ ได้

เรียกว่ามีสภาพ ที่แยกออกไปเป็นผู้รู้ที่ชัดเจนนะว่า

จิตอยู่ส่วนจิต กายอยู่ส่วนกาย

 

เราแค่ดูด้วยความรู้ว่า ตรงนั้น คือวิญญาณธาตุ คือวิญญาณขันธ์

แก้วจะเห็นว่า ที่ว่าง ยังว่างได้อีก

รัศมีแผ่ไปได้กว้างกว่านั้น หรือหดแคบเข้ามา

 

ตอนแคบ จะไม่ได้แคบกระจุก แต่จะเหมือนมีขอบมีวง

แต่ตอนไม่มีขอบ ไม่มีวง เราก็เห็นความต่างไปของวิญญาณธาตุ

 

ตัวนี้ ยิ่งแยกไปได้กว้าง มีระยะห่างมากเท่าไหร่

เรายิ่งเห็นตัววิญญาณธาตุปรากฏชัดมากเท่านั้น

 

และถ้าไม่ลืม เราดูธาตุหกประกอบพร้อมไปด้วย

อย่าดูแค่จิตอย่างเดียว

เพราะแต่ก่อน เราจะอยู่กับจิตอย่างเดียว

ตอนนี้พอเราเห็นว่าจิตแยกไปด้วย

รู้สึกว่า กาย ลมหายใจ อยู่ข้างหน้า และมีระยะว่างห่างจากกัน

 

ตรงนี้เอามาเป็นข้อสังเกตได้หมดเลย

เช่น ระยะห่างบางทีเหมือนหดแคบเข้ามา

บางจังหวะที่จิตเล็กลง

เราก็เห็นว่า นั่นเป็นการปรุงแต่งทางจิตแบบหนึ่ง

หรือตอนที่แยกห่าง ก็เป็นการปรุงแต่งจิตอีกแบบ

ที่เราจะรู้สึกถึงความไม่เท่าเดิม เปลี่ยนไปเรื่อยๆ

หรือที่พระพุทธเจ้าตรัสเรียกความปรวนแปร ไม่เท่าเดิม เปลี่ยนไปเรื่อยๆ

 

แก้ว : ตอนนี้ถ้ามีเรื่องระหว่างวันก็หลุดได้เร็วมาก

ถ้าไม่เอาใจไปจับ ก็ใช้ชีวิตได้ดีขึ้น

 

พี่ตุลย์ : แน่นอนล่ะ ของแก้ว ที่มาถึงตรงนี้หาได้ยากแล้วนะ

แต่อย่าไปหลงก็แล้วกัน พี่ไม่ได้ชม แต่จะพูดว่า

แบบนี้ถ้าเป็นตามปกติ ถ้ามาถึงตรงนี้

ต้องไปอยู่ในป่าเขา แสวงวิเวกไป

 

แต่นี่เราใช้ชีวิตแบบคนสองโลก

ตอนอยู่ในโลก ยังมีสิทธิ์ที่จิตมาหมกจม ยึดเหนียวแน่น

กับความเป็นตัวตนแบบโลกๆ

เรายังมีเขา มีเรา

มีความรู้สึกว่าเราเป็นฝ่ายเสียเปรียบ เราเป็นผู้ถูกกระทำ

 

แต่ถ้าเรานั่งสมาธิได้ดีขนาดนี้ เราก็จะเห็นว่า

หากมีปัญญาประกอบพร้อมในสมาธิ เป็นต้นแบบของจิต

 

อานาปานสติ คือเราสร้างต้นแบบของจิตมา ในระหว่างนั่งสมาธิ

แล้วเอาไปตาม ในระหว่างวัน

 

ถ้าอยู่ในระหว่างวัน แก้วเป็นได้อย่างนี้ เห็นทุกภาวะของใจ

ไม่ว่าจะโดนกระทบกระทั่งหรืออะไร

บอบช้ำ หรือเบ่งบานขึ้นมา

เราไม่ลืมที่จะระลึกว่ากำลังหายใจออก

หรือหายใจเข้าเป็น background

ก็เรียกว่าจะมีอานาปานสติ

เป็นวิหารธรรมแบบที่พระพุทธเจ้าท่านตรัส

 

ในระหว่างวันจะใช้ชีวิตอย่างไรก็แล้วแต่ จะไม่เสียเปล่า

จะได้ตัวอย่างของความเป็นอนัตตา มาทีละชิ้นมากขึ้นๆ

อนุโมทนาจะแก้ว

-------------------

จ๊อก

 

พี่ตุลย์ : เงยหน้า เชิดหน้าขึ้นนิดหนึ่ง ในระดับที่รู้สึกว่าใจเปิด

ใจจะเปิด ว่าง สบายมากขึ้น

ตอนหงายมือ เพื่อดันลมเข้า

หงายมือเพื่อลากลมออก

 

จะรู้ลมชัดกว่ารอบเมื่อกี้

เพราะมีเครื่องไกด์ว่าลมหายใจไปถึงไหน

มือเป็นเครื่องไกด์ที่จับต้องได้ มีตัวตน

พอเอาไปผูกโยง กำกับลมหายใจ

เลยเหมือนกับลมหายใจกลายเป็นสิ่งจับต้องได้ตามไปด้วย

 

ตอนนี้ ความฟุ้งซ่านกลับเข้ามา จะรู้สึกเครียดๆ ในหัว เกร็งๆ อยู่

ถ้าเราสังเกต ตั้งความรู้สึกเหมือนตอนแรก

ฝ่ามือหงายดันลมเข้า จิตนิ่มนวล

ฝ่ามือคว่ำ ดันลมออก จิตนิ่มนวล

 

ตอนยกมือขึ้น ขึ้นสุดเลยถึงใบหน้า

เหมือนพนมมือท่วมหัว เงยหน้านิดหนึ่ง

แล้วคว่ำมือลงเพื่อลากลมออก

 

พอรู้สึกว่าจิตมีลมหายใจปรากฏข้างในของจิต

ที่เป็นความผูกติด รู้สึกว่าจิตเชื่อมโยงกับลมหายใจ

นี่เรียกว่า วิตักกะ

ตอนนี้ ใจเริ่มสบายนะ

 

(ทำท่าสอง)

พอชูมือสุด แหงนหน้าสุดเลยนะ

รู้สึกถึงความว่าง หายใจออก

ชูสุด ค้างมือไว้สักสองวินาที

ค่อยเอาลมออกช้าๆ

 

ถ้าจังหวะมือช้า แล้วรู้สึกถึงลมหายใจที่ลงมาพร้อมกันได้

จะรู้สึกว่า ฝ่ามือเป็นผู้ประคองลม

เหมือนมีลมหายใจ อยู่ตรงกลาง ระหว่างฝ่ามือ

 

ขอให้ดูว่า ตอนลดฝ่ามือลง ใบหน้าอย่าลดต่ำ

ขอให้อยู่ในลักษณะเงยนิดหนึ่ง ฝ่ามืออย่าเกร็ง

 

เรารู้ฝ่ามือที่ลดระดับลง

แล้วไปเสมอกันกันฝ่ามือที่ราบตรงหน้าตักนี่

ไม่ใช่ให้เกร็ง แต่ให้ความนิ่มนวลอ่อนโยนของฝ่ามือ เท่าเดิม

จะรู้สึกเหมือนใจที่นิ่มนวล จะต่อเนื่อง เต็มดวงมากขึ้น

 

หน้าเชิดนิดหนึ่ง องศาของคางอย่าให้ตก

ลักษณะของจิตจะต่างไป จะรู้สึกนิ่งขึ้น เป็นดวงมากขึ้น

ลมหายใจที่ปรากฏค่อยๆลงมาพร้อมฝ่ามือ

 

รู้ว่ามีความสุขที่ว่างๆ หายใจออก

จะเปลี่ยนมุมมองจากเดิมที่ไปโฟกัสกับลมหายใจ

เราไปตั้งต้นโฟกัสกับความสุขที่ว่างๆ

 

จะเริ่มเห็นความสุขอยู่เบื้องหลัง ลมหายใจออกยู่เบื้องหน้า

รู้ว่ามีความสุข หายใจออก

 

อยากให้ทุกท่านที่เริ่มฝึก มาถึงตรงนี้ให้ได้กัน

จะมีกำลังใจขึ้นมา

ว่ามีความสุข ความเบา ความสบาย ความโล่ง

 

แล้วความสุข ความเบาตรงนี้จะทำให้ติดใจ อยากทำอีก

 

จ๊อก : สังเกตตัวเองหน้าจะก้ม และเอียง เวลานั่งสมาธิ โดยไม่รู้ตัว

 

พี่ตุลย์ : ไม่เป็นไร พอย้อนมาดูวิดีโอตรงนี้ใหม่

เมื่อกี้ตอนผมบอกให้ทำความรู้สึกที่ฝ่ามือ เราไปเกร็งมือ

ถ้าไม่เกร็ง เราจะรู้สึกว่า มีความผ่อนคลาย

มีความอ่อนโยนที่ฝ่ามือเท่าเดิม เหมือนตอนที่ลดระดับลงมา

 

จ๊อก : หายใจถูกไหมคะ

 

พี่ตุลย์ : ท่าที่สองเป็นท่าที่ทำให้

เราเข้าใจลมหายใจตัวเอง ได้ง่ายขึ้นอยู่แล้ว

แต่จะดีขึ้น ถ้าหากคุณจ๊อกไปใช้วิธีนี้

เอาฝ่ามือทาบท้องระหว่างวัน

ดูไปว่าตอนหายใจออก ท้องป่องดันมือสบายๆ ไหม

ถ้าดันมือออกไม่สบาย แปลว่า หายใจเข้ายังไม่ดี

ถ้าหายใจไม่เป็นจังหวะ หรือถี่ไป ก็จะเกิดความเกร็งที่ท้องหรือมือ

 

ถ้ารู้สึกสบาย หรือผ่อนคลาย

ให้บอกตัวเองว่านั่นเป็นการหายใจด้วยท้องที่ถูกต้อง

 

แล้วขอให้ฝึกใช้ฝ่ามือทาบท้องทั้งวัน

แค่วันเดียวจะหายใจด้วยท้องเป็น

เราก็จะไม่ต้องใช้ฝ่ามือมาเป็นมาตรวัดแล้ว

และจะกลับมาทำท่าที่สอง

ด้วยความเข้าใจ สบาย ผ่อนคลายมากขึ้น

-------------------

 

หน่อย

 

พี่ตุลย์ : ท่าสองใช้ได้เลยนะ

 

ท่าที่หนึ่งทำแค่สองสามทีก็พอ ให้พอที่จะเป็นต้นทุน

เรารู้แน่ๆ ว่ามีวิตักกะ

ฝ่ามือหงายดันลมเข้า ฝ่ามือคว่ำลากลมออก

พอวิตักกะเกิดแน่แล้ว มีลมหายใจออกยู่ในจิตแน่แล้ว

ขึ้นท่าสองได้เลย

 

พอวางลง รู้สึกถึงฝ่ามือ รู้สึกถึงตัวนั่ง

ตรงนี้ ความสุขความผ่อนคลายเริ่มเกิด

ว่าง รู้ว่าสุข หายใจออก

สุขจะอยู่ส่วนสุข ลมหายใจ อยู่ส่วนลมหายใจ

สุขอยู่ข้างหลัง ลมหายใจ อยู่ข้างหน้า

 

เห็นไหม พอสุขรู้ว่าสุข แล้วหายใจออก

สุขรู้ว่าสุขแล้วหายใจเข้า

จะมีมุมมองที่ต่างไป

 

ถ้ามีความรู้ที่คงเส้นคงวา สิ่งที่รู้จะชัดขึ้นๆ

สุขอยู่เบื้องหลัง ลมหายใจ อยู่เบื้องหน้า

จะเหมือนกับยิ่งความสุขกับลมหายใจ แยกจากกันได้ชัดเท่าไหร่

ความรู้สึกทางใจว่าเป็นเรา จะยิ่งเบาบางเท่านั้น

 

เหมือนแต่เดิม มีความคิดก้อนเดียวที่เป็นตัวแทนเรา

แต่ตอนนี้พอถูกแบ่งว่า มีความสุขอยู่ชั้นใน มีลมหายใจ อยู่ชั้นนอก

พอใจไม่ไปไหน มีวิตักกะ วิจาระ สิ่งที่เห็นจะชัดขึ้นๆ

รู้สึกว่า สุขอยู่ส่วนสุขจริงๆ ลมหายใจออกอยู่ส่วนลมหายใจจริงๆ

 

ใจที่สงบระงับ ไม่กระสับกระส่าย จะมีความทรงอยู่ นิ่งขึ้นๆ

ยิ่งมีความตื่น นิ่ง รู้มากเท่าไหร่

สติจะยิ่งเท่าทันชัดเท่านั้นว่า

กายอยู่ส่วนกาย

ลมหายใจออกอยู่ส่วนลมหายใจ

ความสุขอยู่ส่วนความสุข

จิตผูรู้จะค่อยๆ ปรากฏขึ้นมาเองว่าอยู่ตรงไหน

จะอยู่ต่างหากออกไป

 

ทั้งหมดที่เรากำลังรับรู้ กำลังรู้สึกอยู่นี่แหละคือจิต

เป็นที่ตั้งของจิต

 

จากเดิมที่แยกไม่ออกว่าจิตอยู่ตรงไหน

แต่พอไปกองเป็นชั้นๆ ว่า

กายอยู่ส่วนกาย ลมหายใจ อยู่ส่วนลมหายใจ

จิตก็จะรู้ว่า อ๋อ อยู่ตรงที่กำลังรู้อยู่เดี๋ยวนี้ ทั้งหมดนั่นแหละ คือจิต

 

ท่าที่หนึ่ง ทำสั้นๆ ให้พอรู้ สองสามรอบให้เกิดวิตักกะ

ท่าที่สองนี่ใช้ได้เลย .. ถ้าเดาไม่ผิด ไม่ได้ดีแบบนี้ทุกครั้งไหม

(ไม่เหมือนกันทุกครั้งค่ะ)

 

แต่อย่างน้อยมีตัวอย่างแล้ว มีภาวะที่ใจเรารู้สึกสบาย

รู้ว่าสุขหายใจออก รู้ว่าสุขหายใจเข้า

แล้วเรารู้สึกว่า ลมหายใจออกยู่ข้างหน้า ความสุขอยู่ข้างหลัง

พอแยกจากกันได้ชัดขึ้น จะรู้สึกว่าจิตเป็นผู้รู้

 

แต่ละครั้งที่ทำ ถ้าตอนที่ทำเอง บางทีมีความฟุ้งยุ่งขึ้นมา

แล้วเราไปหลงความฟุ้งได้เยอะอยู่ ให้มาทบทวนเลยว่า

พอยกขึ้นไปจนสุด มีความว่าง ให้บอกตัวเอง

เรารู้ว่ากำลังสุขอยู่ หายใจออก รู้ว่าสุขอยู่ หายใจเข้า

จะเข้าจุดแบบนี้ได้บ่อยขึ้นเรื่อยๆ

 

ตอนทำเองฟุ้งซ่านเยอะไหม

(เยอะค่ะ ชีวิตประจำวันคือยุ่งค่ะ วันนี้คือเตรียมตัวมา)

 

ทีนี้พอรู้สึกถึงความว่างได้ รีบบอกตัวเอง จะเข้าจุดแบบนี้ได้บ่อยขึ้น

คืนนี้ให้เป็นตัวตั้ง ถ้าเรารู้ได้แบบนี้แล้ว

บอกตัวเองว่าเราจะรู้ได้อีกเรื่อยๆ

อย่างน้อยแต่ละครั้งให้ได้สักช่วง

 

ถ้าได้บ่อยๆ จะชำนาญ จะชินขึ้นเรื่อยๆ

 

หน่อย : ถ้าไม่ได้ใช้มือไกด์ จะเหมือนหลับ

แต่เวลาไปนั่งสมาธินอกสถานที่ ไม่สะดวกใช้มือไกด์ แก้อย่างไรได้ไหมคะ

 

พี่ตุลย์ : ต้องเดิน ฝึกเดินจงกรมรู้เท้ากระทบไป

ถ้าไม่ถนัดนั่งสมาธิ เพราะอยู่กลางผู้คน ก็ใช้วิธีเดินเล่น

แต่รู้จังหวะเท้ากระทบไป จะช่วยมากกว่านั่ง

ถ้านั่งไม่ใช้มือไกด์ ไปแน่นอน

 

แต่ไหนแต่ไร เราหมกกับความคิดตลอดเวลา

ทำให้จิตมีโอกาสพักความคิดน้อย

พอมาเจริญสติ ทำอานาปานสติ ได้ตัวอย่างจิตแบบใหม่

ก็พยายามทำให้ระหว่างวันเป็นแบบนี้

เกิดอะไรขึ้น หายใจออก เกิดอะไรขึ้น หายใจเข้า

ก็จะมีลมหายใจเป็น background

มีอานาปานสติเป็นวิหารธรรม อย่างที่พระพุทธเจ้าท่านตรัส

 

-------------------

สาธุ

 

พี่ตุลย์ : เป็นเด็กที่รอได้นานมาก รอมาตั้งแต่เริ่มรายการ

 

เด็กที่ทำสมาธิ จะมีความอดทนอดกลั้นได้นานขึ้น

มีความสุข รู้ว่าสุข หายใจออก

พอมีความสุข แล้วรู้

ตอนนี้ก็ยังสุขอยู่ รู้ว่าสุข หายใจเข้า รู้ว่าสุข หายใจออก

เห็นลมหายใจออกอยู่ข้างหน้า ความสุขอยู่ข้างหลัง

 

หายใจเข้าครั้งนี้ ลองฝึกใหม่ ไม่ต้องยกอก

ให้หายใจด้วยท้องอย่างเดียวสบายๆ

ยกขึ้นไปเลยไม่ต้องยืดอก

พอวางมือลง เรารู้สึกถึงฝ่ามือที่วางลงกับหน้าตัก

เหมือนฝ่ามือที่ลดลงมา

 

ตอนนี้เราสุขอยู่ รู้ว่าหายใจเข้า

ตอนรูดมือจากท้องถึงอก ลองใช้ท้องอย่างเดียว

ยกขึ้นไปเลยให้สุด ไม่ต้องยืดอก

พอไปสุดแบบนี้ รู้ว่ามีความสุข หายใจออก

ตรงที่ลมหายใจออกอยู่ข้างหน้า ความสุขอยู่ข้างหลัง

ตรงนี้จะทำให้ความสุขเราเบ่งบาน ตั้งมั่น

 

ตอนยกไปสุดยกช้าๆ ก็ได้

พอมีความสุข รู้ว่าสุข หายใจออก

เห็นไหมลมหายใจชัดขึ้น ความสุขชัดขึ้น ใหญ่ขึ้น

รู้สึกถึงมือที่วางหน้าตัก รู้สึกถึงตัวที่นั่งอยู่

ตอนรูดมือขึ้นเหมือนสูบลงเข้าท้อง

 

ถ้ารู้แบบนี้ซ้ำไปมาได้เรื่อยๆ ความสุขจะขยายเท่าจักรวาลเลย

ขยายเป็นท้องฟ้า จะรู้สึกว่าลมหายใจออกยู่เบื้องหน้าท้องฟ้า

 

ตอนวางมือ ถ้ารับรู้ฝ่ามือเท่าเดิมกับตอนยกมือลง

จะรู้สึกถึงความเป็นท่านั่งคอตั้งหลังตรง จิตจะนิ่งขึ้น

 

ถ้าฝ่ามือรับรู้ในใจ เทียบเท่าตอนลดฝ่ามือลง

ใจจะรู้สึกสงบสบาย จิตเต็มดวงต่อเนื่องนานขึ้น

 

ถ้าผ่อนคลายตั้งแต่ต้นจนยกขึ้นสูง

เราจะรู้สึกว่าสงบมากกว่าเดิมอีก

รู้สึกถึงความสุขหายใจเข้า .. หายใจเข้าด้วยการยกมือขึ้นมา

แบบนี้อีกไม่นานจิตรวมได้นะ

ตอนที่ยกสบายๆ รู้สึกสุขมากขึ้นไหม

(พยักหน้า)

ต่อไป หายใจด้วยท้อง แล้วยกขึ้นตรงๆ ไม่ต้องยืดอก

แล้วเราจะรู้สึกสุขมากขึ้น เพราะไม่ต้องเกร็ง

-------------------

พลอย

 

พี่ตุลย์ : นี่เพิ่งทำท่าสองไม่กี่วันนะ ตอนนี้เป็นแล้ว ใช้ได้เลย

 

พอมีความสุขรู้ว่าสุข หายใจออก ใช้ได้นะ

พอจิตมีความเด่นดวง เราจะรู้สึกว่าเหลือจิตดวงเดียว

รู้ว่าสุข หายใจออก ลมหายใจจะปรากฏอยู่ข้างหน้า

ความสุขปรากฏอยู่ข้างหลัง

อย่างนี้ ลมหายใจ flow ใช้ได้เลย

 

พอถึงจุดที่เราเห็นได้เป็นปกติ ขอให้สังเกต

จะเหมือนกับจิตเราเปลี่ยนโหมด ทำตัวเป็น ผู้รู้ผู้ดู ผู้วางเฉย

เห็นภาวะทางกายขยับเคลื่อนไหวไป

มีความสุขอยู่ รู้ว่าหายใจออก

ลมหายใจออก จะปรากฏ

เหมือนอะไรที่เด่นอยู่หน้าความว่าง ชัดขึ้นๆ

ในความสุข ความว่าง ความเบา

เมื่อรู้ว่าหายใจเข้า หายใจออก

จะมีลักษณะหนึ่งปรากฏขึ้นมา คือความทรงอยู่

ในลักษณะที่ตั้งอยู่อย่างนั้น รู้อยู่อย่างนั้น

 

ตัวนี้ ถ้าเรากำหนดว่าเรากำลังรู้ที่จิต ที่มีลักษณะตั้งอยู่

รู้ตรงที่มันรู้อยู่ ไม่ได้จี้ไปที่จุดใดจุดหนึ่ง

แต่อยู่ตรงที่กว้างว่างๆ ลักษณะรวมศูนย์เป็นดวงๆ

ลักษณะรู้แบบนี้ เมื่อเรารู้ไปเรื่อยๆ ที่ลักษณะรู้แบบนี้

จะเห็นจิตค่อยๆ ล็อคตัว เข้าสู่ความตั้งมั่นแบบหนึ่ง

 

ตั้งอยู่แบบนั้น ตั้งอยู่ในสภาพรู้ ตั้งอยู่กับความว่างจากภายใน

ไม่ได้อยู่ตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่ง

แต่ตั้งอยู่ตำแหน่งตรงที่รู้อยู่นั่นแหละ

 

รู้มาที่จิต หายใจออก รู้มาที่จิต หายใจเข้า

เคยทำได้ดีแบบช่วงนี้ไหม

ทำแล้วสุข ใจเป็นดวงแบบนี้ เคยทำได้มาก่อนไหม

 

พลอย : ฝึกสมาธิมาไม่นานค่ะ

เคยทำแบบเห็นเป็นดวงๆ แบบนี้ได้ แต่สั้นๆ เหมือนสมาธิสั้น

แต่ครั้งนี้ทำได้นาน อาจเพราะมีอาจารย์อยู่ด้วย เลยรู้สึกชัดขึ้น

 

พี่ตุลย์ : วันก่อนยังเหมือนทำไม่เป็นเลยนะ ก้าวหน้าเร็วมาก

ถ้ามาได้เร็วขนาดนี้ มาเอาดีทางสมาธิเลยแล้วกัน

มาเจริญอานาปานสติมากๆ

แล้วให้อะไรระหว่างวัน เป็นเปลือกของชีวิต

แต่แก่นของชีวิตให้มาอยู่ตรงนี้

 

ให้กลับมาดู จะมีจังหวะที่

รู้ว่าสุขอยู่ หายใจออก รู้ว่าสุขอยู่ หายใจเข้า

พอรู้ไปเรื่อยๆ ไม่สนใจอะไรทั้งสิ้น รู้ไปซื่อๆ โง่ๆ

 

แบบนั้นจะเกิดความรู้สึกว่าจิตไม่เคลื่อน ตั้งมั่นมากขึ้น

 

นี่ก็แปลกใจนะ เพราะไลฟ์ครั้งก่อนยังทำไม่เป็นเลย

แบบนี้เอาดีทางนี้ไปเลย เรื่องโลกๆ ให้เป็นเปลือกของชีวิต

ต่อจากนี้เอาดีแบบจริงจังไปเลย มีของเก่ารออยู่แน่

 

พอเรามาเอาจริงจัง ก็เหมือนไขก๊อก

ให้ของเก่ามาทำให้ชีวิตเราเปลี่ยนแปลง

ชีวิตเรา ว่ากันตรงๆ รู้สึกเหมือนวนกับอะไรที่ไม่มีสาระ

แล้วก็หาจุดที่เป็นทางออกมานาน ก็นี่แหละ เจอแล้ว

 

เมื่อก่อนที่ทำสมาธิได้แค่แวบๆ

ก็เพราะว่าเราไม่รู้จะเข้าทางเก่าอย่างไร

แต่ตอนนี้มีวิธีแน่นอน มีลำดับชัดเจน

นี่คือชีวิตที่ชัดเจน คือเส้นทางของเรา

อะไรที่ผ่านมาทั้งหมด เป็นบันไดพาให้มาถึงตรงนี้

ขอบคุณพ่อแม่ ขอบคุณสิ่งที่พาเรามาตรงนี้ได้

และไปต่อให้สุดนะ

 

พลอย : ชีวิตก่อนนี้ อยู่กับความฟุ้งซ่าน เครียดกับการทำวิทยานิพนธ์

แต่ตอนนี้รู้สึกปล่อยวาง มาดูแลใจตัวเองให้ดี แล้วค่อยไปดูวิทยานิพนธ์

เหมือนเจอเส้นทางที่ดีกับตัวเอง รู้สึกอย่างนั้นจริงๆค่ะ

 

พี่ตุลย์ : ถึงจะรุ่งเรืองทางโลกแค่ไหน เราก็จะรู้สึกย่ำอยู่ที่เดิม

เพราะในหัวเราไม่มีเป้าหมาย

จะรู้สึกว่า ชีวิต สำหรับเราเท่าเดิม อยู่ที่เดิม

อนุโมทนานะ มาได้ไวมาก

 

---------------------

เพ็ญ

 

พี่ตุลย์ : (ทำท่าที่หนึ่ง) เชิดหน้าขึ้นนิดหนึ่ง

จะให้ความรู้สึกใจเปิดสบายกว่า รู้ลมหายใจได้ชัดขึ้น

หงายมือดันลมเข้า ไปสุด คว่ำมือลากลมออก

 

(ทำท่าที่สอง) พอไปถึงที่สุด รู้สึกถึงความว่าง

ลดฝ่ามือลงมา หายใจออก

เห็นไหม มีลมหายใจปรากฏอยู่ข้างหน้า

ความว่างปรากฏอยู่ข้างหลัง

ความว่าง คือจิตที่เป็นผู้รู้ผู้สังเกตการณ์อยู่

 

พอมีความสุข ผ่อนคลายขึ้นมา รู้ แล้วหายใจออก

รู้เข้ามาที่ความสุข สุขที่เกิดขึ้นนะ

 

มีความสุข หายใจเข้า มีความสุข หายใจออก

ถึงจุดนี้ คือหมวดเวทนาในอานาปานสติ

เรารู้สึกถึงความสุข รู้สึกถึงความเบา

มีความสุขรู้ว่ามีความสุข หายใจเข้า

รู้ว่ามีความสุขหายใจออก

 

ในความรู้ว่า สุขอยู่ส่วนสุข อยู่เบื้องหลัง

ลมหายใจออกยู่เบื้องหน้า

จะเหมือนกับความรู้สึกตัวตนต่างไป

 

เดิมมีก้อนความคิดก้อนหนึ่ง เป็นตัวตนทั้งหมด

ตอนนี้กลายเป็นว่า มีความสุขเป็นตัวตั้ง

มีความสุขอยู่ข้างหลัง มีลมหายใจออกอยู่ข้างหน้า

 

มั่นใจได้ว่าเราเห็นแล้ว สิ่งที่ควรจะเห็น

พอรู้ไปเรื่อยๆ จิตจะถูกตกแต่งเข้าที่เข้าทาง นิ่งขึ้นเรื่อยๆ

 

พอความคิดในหัวเริ่มสงบ เห็นอย่างเดียวว่า

มีความสุข รู้ว่าสุขหายใจออกจะปรากฏชัด ใช้ได้นะ

 

เพ็ญ : เข้าสมาธิมาถูกทางไหมคะ

 

พี่ตุลย์ : ถ้ามาแบบนี้ไม่ต้องสงสัย ถูกทางแน่

เพราะอย่างเมื่อกี้ เรารู้แล้วว่า มีความสุขมากกว่าปกติ

ในชีวิตประจำวัน เราไม่ได้ผ่อนคลายสบายใจแบบนี้

แล้วพอสุข เรารู้ว่าหายใจออก จะเหมือนลมหายใจออกยู่ข้างหน้า

ที่เมื่อกี้ช่วงหลังๆ ชัดขึ้นเรื่อยๆ เพราะเหมือนความคิดหายไป

ความคิดที่ฟุ้งตลอด เว้นวรรคไป ถ้าจะเข้ามาก็เป็นสายบางๆ

 

ถ้ารู้ไปเรื่อยๆ จะรู้สึกว่า จิตที่รับรู้อย่างนี้เสถียรมากขึ้นเรื่อยๆ

นั่นคือจิตที่ตั้งมั่นมากขึ้นเรื่อยๆ

แล้วเราจะรู้ด้วยประสบการณ์ตัวเองว่าถูกทางแน่

 

ที่จะถูกทางแบบพุทธก็คือรู้ว่า

อะไรๆ ที่กำลังปรากฏอยู่

จะลมหายใจก็ตาม ท่านั่งก็ตาม

ความสุขก็ตาม ขนาดของความสุขมีอยู่

 

อย่างเมื่อกี้ที่ผมบอกว่าจิตสุข รู้ลมหายใจ

ตรงนั้น ขนาดของความสุข มีความเบาสบายมากกว่ารอบก่อนๆ

 

พอเห็นความเปลี่ยนแปลงของความสุขไปเรื่อยๆ

จะเป็นปัญญามากขึ้น เห็นว่าสุขก็ไม่เที่ยง

ภาวะลมหายใจก็ไม่เหมือนเดิม

การเห็นอย่างนี้ด้วยความคงเส้นคงวา

ก็คือการมีจิตตั้งมั่นเห็นความไม่เที่ยงในกายใจ

รู้สึกถึงความเป็นรูปนามของกายใจชัดขึ้นเรื่อยๆ ไม่ผิดทางแน่นอน

 

เพ็ญ : ที่บอกว่าเราไม่มีตัวตน

แต่ยังเห็นตัวเองหายใจอยู่เลย

ยังมองเป็นธาตุว่า ตัวเรามีหัวตัว เป็นธาตุดิน ยังไม่ได้รู้สึกแบบนั้น

 

พี่ตุลย์ : จะรู้สึกแบบนั้นได้จริง ต้องแยกชั้นให้ได้ก่อน

ตอนนี้ ยังไปไม่ถึงตรงนั้น

แต่จำได้ใช่ไหม ตอนที่สุข หายใจเข้า หายใจออก

รู้สึกไหมว่าตัวตนเบาบางลง

(ใช่ค่ะ)

 

นั่นแหละ คนชื่อเพ็ญที่เป็นผู้หญิง

มีรูปร่างหน้าตาอย่างไร จะยังอยู่

แต่เบาบางลง เพราะมีสติอยู่กับลมหายใจ

มีวิตักกะ วิจาระ ปีติ สุข มาแทนที่ความรู้สึกเดิม

ที่ไม่ได้มีความชุ่มชื่นแบบนี้

 

ตรงนี้เป็นการแทนที่ของเดิม ด้วยการใส่ วิตักกะ วิจาระเข้าไป

เห็นความสุข ลมหายใจ โดยความเป็นของไม่เที่ยง

ก้อนตัวก้อนตนจะค่อยๆ ละลาย ค่อยถูกถอดออกไป

ค่อยเป็นค่อยไป ค่อยๆ ไล่ไปเรื่อยๆ

 

และถ้าอยู่ระหว่างวัน บางทีเราคิดหนักไปเยอะนิดหนึ่ง

จะรู้สึกอึดอัด เหมือนมีอะไรมากด

บางทีถึงขั้นต้องพักหายใจเพื่อคิดใหม่

เพราะนิสัยเราคือคิดจริงจัง แต่เป้าหมายไม่ชัดเจน

เป็นไปตามอารมณ์ที่สะเปะสะปะบางทีชัด บางทีไม่ชัด

 

พอเป็นคนคิดหนัก ขอให้จำว่า

ตราบใดที่คิดหนักอยู่ ตราบนั้น ตัวตนจะหนักตามเสมอ

มีน้ำหนักส่วนเกินเยอะ

 

แต่ถ้าความคิดเบาบางลงตัวตนจะเบาลงด้วย

เอาตรงนี้ให้ได้ก่อน

 

และในระหว่างวัน ฝึกใหม่ ให้ตั้งต้นเท่าทันตัวเอง

เวลาเริ่มคิด โดยเฉพาะเวลาคิดเองเออเอง

ให้ดูว่าใจเราอยู่กับอารมณ์แบบไหน กับรัก โลภ โกรธ หลง

อยากได้อยากมี อยากควบคุม อยากเอาผิดถูก

 

สังเกตอารมณ์ตัวเองให้ออก

แล้วดูความคิดนั้นสนองตอบอารมณ์มากไปไหม

ถามตัวเองเรื่อยๆ จะพบความจริงด้วยตัวเองว่า

มีอารมณ์อะไรบางอย่างเกิดขึ้น แล้วเราก็คิดวนเวียนอยู่กับอารมณ์นั้น

 

จริงๆ คิดแบบมีเป้าหมายหาทางออก คิดเป็นนะ ไม่ใช่ไม่เป็น

แล้วบางทีสอนคนอื่นด้วย

แต่ตัวเอง พอติด ถูกขังในอารมณ์ จะวนเวียน

แล้วคิดหนักว่าเอาอย่างไรดี

 

ข้างในดูเผินๆ เหมือนหาทางออก

แต่จริงๆ เหมือนเสือติดจั่น

เพราะรู้สึกทางนี้ก็ไม่น่าพอใจ ทางนี้ไม่รู้ดีจริงไหม

แต่ละครั้งที่คิด จะคิดแรง คิดหนัก เหมือนเป็นระเบียบ

แต่จริงๆ ไม่ใช่ เพราะคิดตามอารมณ์

 

สังเกตใหม่ว่า เรามีอารมณ์แบบไหนเป็นตัวตั้ง มีสติ รู้อารมณ์นั้น

เช่น รู้ว่าไม่พอใจคน หายใจออก

รู้ว่าไม่พอใจคน หายใจเข้า

จะรู้ว่ามีอะไรหนักๆ อึ้งๆ เป็นตัวตั้ง จุดชนวน

เสร็จแล้วรู้ไปเรื่อยๆ ว่ากำลังหายใจเข้า หายใจออก

จะเห็นว่านั่นสลายไปทีละนิดๆ

จนจะรู้สึกโล่งแบบนี้

 

ถัดจากนั้น คิดใหม่ จะเห็นเลยว่า ความคิดต่างไปเป็นคนละคน

ออกมาจากอีกมุม จากคิดไม่ได้ ตกลงกับตัวเองไม่ได้

จะกลายเป็น แบบนี้สิถึงจะดี แล้วไม่ต้องคิดซ้ำ

 

นี่ชอบคิดซ้ำ วนไปเวียนมา

 

ไม่ได้ว่านะ คือหลายคนเลย รู้ว่า การคิดต้องมีหลักการ

แต่เอาเข้าจริง พอถึงตาตัวเอง .. เป็นธรรมชาติของมนุษย์นะ

จะเอาอารมณ์ขึ้นมาก่อนเสมอ

ไม่มีมนุษย์หน้าไหนที่ตั้งต้นด้วยปัญญา

 

แต่ถ้าเรามาเจริญสติแบบพุทธ

มาทำอานาปานสติ มาเคลียร์อารมณ์ให้ปลอดโปร่ง

ให้มีความสุขเป็นตัวตั้ง แล้วหายใจออก หายใจเข้า

อย่างนี้ จะปลอดโปร่งจริง และพร้อมคิดแบบมีเป้าหมายได้จริง

 

-------------------

 

ถือว่าเป็นอีกวันที่มาครบรส

ทั้งมือเก่ามือใหม่ มือก้าวกระโดด

จากทำสมาธิไม่เป็นเลย

มาเป็นจิตเหมือนกับใกล้จะตั้งมั่นขึ้นมาได้

 

ถ้าเรามาเจริญสติด้วยกันแบบนี้

ก็คือการมีชีวิตที่เจริญก้าวหน้าไปด้วยกันแน่ๆ

เห็นชัดด้วยตาเปล่านะครับ

 

คำสอนของพระพุทธเจ้ายังอยู่ และพวกเรายังทำได้อยู่ถึงวันนี้

------------------------

วิปัสสนานุบาล EP 23

วันที่ 23 ธันวาคม 2564

ถอดคำ : เอ้

รับชมคลิป : https://www.youtube.com/watch?v=GsuOMpR-nzo

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น