วันอังคารที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2565

วิปัสสนานุบาล EP 43 : 3 มกราคม 2565

EP แรกของปี

****************

แหม่ม : ตรงนี้สำคัญนะ พอรู้สึกโล่ง เบา ก็ดูว่า สุข.. หายใจออก

จุดสำคัญของอานาปานสติ คืออยู่ตรงนี้แหละ

อยู่ตรงที่ เริ่มแยกรูปแยกนามได้

พอเริ่มมีความเบา โล่ง สบายกาย สบายใจ

 

ตรงที่รับรู้ถึงความโล่งกายโล่งใจได้

เป็นตัวตั้ง ที่จะพาให้เรามาดูหมวดเวทนา ในอานาปานสติ

 

หมวดเวทนาในอานาปานสติ เริ่มตรงไหน

เริ่มจากตรงที่มีความโล่ง เบา จากการมีวิตักกะ วิจาระในลมหายใจ

เมื่อเห็นกองลมทั้งปวงชัดแล้ว รู้สึกโล่งแล้ว

ก็ดูตรงที่รู้สึกสุข สบาย ใจเปิดๆ

 

พอรู้สึกถึงสุขนั้น ก็ระลึกไปด้วย .. หายใจเข้า

รู้สึกถึงความสุข หายใจออก

จะมีความปรากฏเด่นชัดว่า ความสุขอยู่เบื้องหลัง ส่วนลมหายใจ อยู่เบื้องหน้า

 

การเห็นว่าความสุขอยู่ข้างหลัง ลมหายใจอยู่ข้างหน้า

จะทำให้เกิดความรู้สึกอีกแบบ

จากเดิม ที่มีตัวเราคิดแน่ๆ

กลายเป็น กายใจถูกแยกเป็นส่วนๆ ชั้นๆ

ลมหายใจก็ชั้นหนึ่ง ความสุขเบื้องหลังลมหายใจ ก็อีกชั้นหนึ่ง

 

อานาปานสติจะไม่ใช่แค่เอาความสงบ

แต่เอาความรู้ว่า นามก็อย่างหนึ่ง เป็นตัวตั้ง

ส่วนรูป ก็คือลมหายใจ ที่กำลังปรากฏ

 

การที่รูปกับนามปรากฏควบคู่กันไป โดยมีสติเราตั้งอยู่

ทำให้เกิดความรู้สึกว่า ที่กำลังตั้งอยู่ในท่านั่งคอตั้งหลังตรง ไม่มีตัวใคร

ดูไปเรื่อยๆ .. ไม่นาน ตรงที่ปรากฏโดยความเป็นภาวะ จะไม่ยาก

แต่ที่จะให้เห็นความเป็นภาวะนี้สืบเนื่องไปเรื่อยๆ ตรงนี้ยาก

ถ้าหากเราสะสมกำลังของอานาปานสติ

บ่มกำลังอานาปานสติไปไม่นานพอ

แป๊บหนึ่ง จะกลับมาอยู่กับความคิด

ลืมตามา เราจะมีตัวตนเท่าเดิมทุกประการ

 

แต่ถ้าบ่มกำลังของอานาปานสติ ไปถึงจุดหนึ่ง

ที่ มีการแยกรูปนามชัดเจน และตั้งมั่นเป็นปกติ

เหมือนเราไม่ได้ออกแรง ไม่ได้ตั้งใจ

จะแยกออกเอง มีสติแยกออกเป็นผู้รู้ผู้ดู ว่า

เวทนาก็อย่างหนึ่ง ลมหายใจก็อย่างหนึ่ง

จะรู้สึกเหมือนมีจิตผู้รู้ผู้ดู กำกับอยู่ด้วย

นี่คือความหมายแท้จริงของสมาธิอานาปานสติ

 

ช่วงนี้อาจไม่ได้ทำธุระตามปกติหรือเปล่า

การพูดแบบเร็วๆ จะลดลง พูดแบบใจเย็นแทน

อาจเพราะช่วงปีใหม่ไม่ได้ทำงานใช่ไหม

 

แหม่ม : ไม่ได้ทำงานด้วยค่ะ และพี่ตุลย์ให้การบ้าน ไปสังเกตตัวเองก่อนพูด

 

พี่ตุลย์ : มันเย็นลงนะ เรารู้สึกถึงอาการที่ใจก่อน

เสร็จแล้วพอพูดไป เรารู้สึกว่าไม่มีอาการเร่ง

เสร็จแล้วลองดู เวลาทำสมาธิ จะไม่มีอาการเร่ง

จะสัมพันธ์กันนะ ชีวิตประจำวัน กับการทำสมาธิเป็นเรื่องเดียวกัน

 

หลายๆ คนมองว่า การทำสมาธิก็อย่างหนึ่ง

การใช้ชีวิตประจำวันก็อีกอย่าง ไม่ใช่เลยนะ

 

ถ้าระหว่างวันใจเร่ง พอมาทำสมาธิ

โอกาสที่ใจจะสงบเย็น จะ 50:50 หรือต่ำกว่า

แต่ถ้าระหว่างวัน เราคิด พูด ทำ ในลักษณะที่ใจไม่เร่ง

เวลาทำสมาธิ ใจก็จะไม่เร่งตาม .. แต่ไม่ใช่แบบเรื่อยๆ เฉื่อยๆ นะ

ทำไปเรื่อยๆ แบบที่มีความรับรู้ว่า กำลังเกิดอะไรขึ้น

 

อย่างที่ผ่านมา เวลาให้ทำความรู้สึกถึง ความสุข ความเบา

จะไม่ใช่สุข ไม่ใช่เบา ไม่ใช่เย็น

แต่จะสุขแบบเร่งๆ มีอาการคอยจดจ่อในลมหายใจต่อๆไป

 

แต่นี่ลองดูนะ เวลาที่เรารู้สึกถึงลมหายใจ รู้สึกถึงความสุข

ตอนที่บอกว่า สุข หายใจออก .. จะอยู่แค่ตรงนั้นจริงๆ

ต่างจากเดิมที่ บางทีอาจสุข แต่ว่าไม่ใช่สุขแบบที่อยู่ตรงนี้

แต่เป็นสุขแบบที่ มีอาการเร่ง ประกอบพร้อมไปด้วย

 

จุดสำคัญที่จะสังเกตได้จากวันนี้ก็คือ

พอรู้สึกสุข แล้วหายใจออก

รู้สึกถึงความสุข แล้วหายใจเข้า ประกอบพร้อมกันไป

จะมีเป็นวูบๆ ที่เรารู้สึกว่า ความสุขก็ชั้นหนึ่ง ลมหายใจก็อีกชั้น

แต่อาจไม่ได้ต่อเนื่องแบบตั้งมั่น เป็นความรู้สึกว่าจิตแยก

แต่ที่อยากชี้คือ วันนี้อยู่ในทิศทางที่ใช่ขึ้นเรื่อยๆ

 

ต้องขยันด้วยนะ ต้องต่อเนื่องหน่อย

ขอวันละไม่เกิน 15 นาที

คิดเสียว่าแปรงฟันอาบน้ำสองรอบ ต้องมีเวลาแน่นอน

 

คือเข้าใจว่า ใจเราก็อยากมาตรงนี้

แต่บางทีก็ไหลๆ ไป เพลินๆ ลืมๆ ไป

แต่ถ้าสังเกตออกว่ามีความสัมพันธ์สืบเนื่องกัน

ถ้าระหว่างวันวัน เราคิด เราทำอย่างไร

จะมีผลกับจิตขณะทำสมาธิ

และจิตเมื่อเราทำสมาธิได้ หลังออกจากสมาธิ

ก็จะรู้สึกมีจิตต้นแบบ ที่จะไปเจริญสติต่อในระหว่างวัน

 

ที่ผ่านมา เราคิดว่าจะไปเจริญสติระหว่างวัน

แต่จริงๆ จะไม่ค่อยเจริญหรอก

ก็รู้บ้างแว้บๆ ลองเทียบดูกับตอนที่เรารู้กายใจในสมาธิ

ทำแค่สิบนาที บางทีต้องใช้เวลา

สะสมในระหว่างวัน เป็นสิบวัน หรือสิบเดือน

เทียบกับตรงนี้ ผิดกันลิบลับ

ใจเรา ลึกๆ หวังความก้าวหน้าตรงนี้ แต่อีกใจก็ละล้าละลัง คิดว่าทำไม่ได้

 

ตรงที่คิดว่าทำไม่ได้ เพราะเราไม่ขยัน

และไม่มาอยู่กับตรงนี้เยอะๆ

 

ถ้าอยู่ตรงนี้เยอะจนจิตเกิดความตั้งมั่น

ไม่ว่าใครก็ตาม จะรู้สึกว่า แค่เอื้อมในชาตินี้

 

แต่ถ้าเราฟังธรรมครูบาอาจารย์มาทีหนึ่ง

รับพลังอย่างใหญ่มาจากท่าน

ใจของเราราวกับว่า จะเทียบเท่าท่านอยู่แล้ว

ก็จะรู้สึกฮึกเหิมมาวูบหนึ่ง เป็นไฟไหม้ฟาง

พอออกห่างจากท่าน เราก็จะหายไปไหนไม่รู้ ใจรู้สึกเล็กเท่าเดิม

 

ตรงนี้สำคัญ ..

สมบัติของท่าน กับสมบัติของเรานี่ต่างกัน

สมบัติของท่าน เราไปอยู่ใกล้ท่าน ไปเอาจากท่านนี่.. ง่าย

เพราะใช้เวลาแป๊บเดียวไม่ต้องพยายาม

 

แต่สมบัติของเรา ของจริงที่จะอยู่กับเรา

ต้องทำเอง แล้วใช้เวลานาน

 

ตรงนี้คนส่วนใหญ่ไปไม่ถึงไหน ไม่ได้พูดถึงเฉพาะแหม่มนะ

 

ทุกคนที่มีแนวคิดว่าเดี๋ยวค่อยกลับไปฟังธรรม

แล้วไปตั้งหลักใหม่ reset ใหม่

ก็จะรู้สึกเบื่อๆ อยากๆ ในทางนี้

 

พอมีกำลังใจที ฮึกเหิมที เราก็รู้สึกว่า นี่แหละ เอาชาตินี้แหละ

แต่พอออกมาใจแห้งเหี่ยว หดแคบลงมา

ก็จะรู้สึกว่าได้เท่าไหนเอาเท่านั้น

 

ไอ้ ได้เท่าไหนเอาเท่านั้นนี่

ก็จะได้เท่าไหนเอาเท่านั้น ไปทุกชาตินั่นแหละ

 

คือไม่ได้สอนให้มาเร่งตัวเอง ทำสิ่งที่เกินตัว

แต่อย่างน้อยทางใจ ต้องมี priority นิดหนึ่ง

ว่าเรื่องนี้ก็สำคัญ

ไม่ใช่ของที่เป็นงานอดิเรก เป็นงานเล่นๆ ที่ทำก็ได้ไม่ทำก็ได้

เพราะถามใจเราเอง ใจเราลึกๆ บอกว่าอยากมาทางนี้ อยากเอาให้ได้

และสิ่งที่จะสนองตอบกับสิ่งลึกของเรา ก็คือความเพียร

 

แหม่ม : สังเกตได้ว่า ช่วงที่คลุกกับโลกเยอะ จะดิ้น

เวลาปฏิบัติจะดิ้นกว่าปกติ และไม่อยากทำ ต้องใช้แรงมากกว่าปกติ

 

พี่ตุลย์ : งานของเราเป็นงานแบบเร่งๆ ร้อนๆ

พอใจเราเหนี่ยวนำให้ไปในทางเร่ง ก็จะรู้สึกเหมือนทุกวันคือการรีบเร่ง

แต่ช่วงที่ผ่านมา เราทำไว้ในใจว่าจะค่อยๆ พูด ก็จะรู้สึกถึงใจที่เบาลง

เราก็จะเห็นตัวอย่างของจิต

ที่เกิดจากการตั้งไว้ในใจว่า เราจะให้มันเป็นอย่างไร

 

แต่ว่า สิ่งแวดล้อม ดึงเราไปไม่ได้ กลืนกินเราไม่ได้ ถ้าเราไม่ยอม

ตรงนี้แหละที่ท่านว่า จิตเป็นนายกายเป็นบ่าว

 

ถ้าไม่มีประสบการณ์ตรงนี้

เราก็อาจยังไม่เข้าใจเรื่อง จิตในชีวิตประจำวัน สัมพันธ์กับจิตในสมาธิ
และที่สำคัญ จิตเป็นนาย กายเป็นบ่าว

นี่เป็นประสบการณ์สำคัญมาก

ที่เราจะใช้สังเกตตัวเองไปได้ตลอดชีวิต

 

แล้วที่สำคัญสูงสุดคือ การทำไว้ในใจอย่างถูกต้อง

 

ความเพียรไม่ได้เกิดจากการฟังธรรมแล้วรู้สึกว่าดีขึ้น

ความเพียรเกิดจากการที่ ใจเราให้ priority กับการเจริญสติ

 

เราจะเดินจงกรม นั่งสมาธิ หรือใช้ชีวิตประจำวันจริงๆ

ในแบบที่ให้ความสำคัญมากขึ้น

 

อย่างเริ่มต้น พี่จุดประกายให้แล้ว เรื่องวิธีพูด ซึ่งเราอาจนึกไม่ถึง

เราก็จะนึกว่าเหมือนกับ ฟังธรรมครูบาอาจารย์

แล้วให้มีสติ ในการ คิด พูด ทำ อะไรแบบนี้

ท่องไว้ในใจ แต่ไม่เอามา apply

เพราะไม่รู้ว่าจะเอามา apply ให้ตรงประเด็นกับชีวิตได้อย่างไร

 

แต่ทีนี้ พอพี่บอกให้ แล้วเราทำตาม

ก็จะพบว่า มันเจริญสติในชีวิตประจำวันได้จริงๆ

แต่เราต้องเห็นว่า สภาวะที่เกิดขึ้นบ่อยๆ คืออะไร

แล้วมองความสำคัญให้ออก อ่านเกมให้ออก

ว่าจิตเป็นจิตเดียวกันนั่นแหละ

ระหว่างวัน กับตอนทำสมาธิ หรือเดินจงกรม

ไม่ใช่จิตคนละคน แต่เป็นจิตของคนเดียวกันที่สืบเนื่องกัน

 

แล้วอย่างตอนนี้ พอเราเริ่มเข้าใจแบบนี้ เอาก่อนที่จะคุยกับพี่ในไลฟ์

เราจะมีความคิดขึ้นมาแบบครึ่งๆ กลางๆ ว่ามัน work

เราเริ่มรู้สึกถึงความสัมพันธ์

 

แต่ทีนี้ ดูใจตัวเอง มันยังครึ่งๆ กลางๆ ยังไม่ตัดสินว่าจะขยันนะ

หรือจะเอาจริงเอาจังกับตรงนี้ให้ต่อเนื่อง และสังเกตสังกา

 

ความละล้าละลัง เป็นเรื่องธรรมดาของมนุษย์คนหนึ่ง ที่ยังไม่ได้ข้ามเส้น

ยังไม่ชัวร์ว่าจะเอาอย่างไรดีกับชีวิต

ตัวนี้ พอเราเกิดความรู้สึกถึงใจที่สองแพร่ง

เรามองว่า นั่นเรียก วิจิกิจฉา ความลังเลสงสัย ความไม่ข้ามไป

ไม่เอาแน่เอานอนให้ได้สักอย่าง คืออาการที่พร้อมจะกลับไปกลับมา

 

ทีนี้ ณ เวลาที่เกิดจิตแบบนี้ มาถึงทางสองแพร่งแบบนี้

เราถามใจตัวเองที่อยู่ลึกๆ .. อยากเอานะ อยากมาทางนี้แต่ขาดกำลัง

ขาดความรู้สึกที่มี ความพร้อม ความเข้มแข็ง

 

และที่ยังอ่อนแอ ไม่พร้อมเกิดจากอะไร

เกิดจากการไม่ใช่ priority ว่าฉันจะทำเมื่อนั้นเมื่อนี้

 

แค่เรากำหนดระหว่างวัน ไม่จำเป็นต้อง fix เวลาก็ได้

แต่อย่างน้อย วันหนึ่ง ขอสัก 15 นาทีในชีวิต

คือถ้าคนไม่ชิน พอซีรีส์มา เราก็ไปดู หรือ แชทมาก็ไปตอบ

แต่ถ้าหากเราตั้งไว้ในใจจริงๆ มี priority จริงๆ

ว่าอย่างน้อย สักช่วงหนึ่งในระหว่างวัน

จากเช้าจรดเย็นถึงก่อนนอน ขอสักแป๊บหนึ่ง

 

แล้วพอกลายเป็นความเคยชิน ที่เราจะอยู่กับตรงนั้น

ที่จะไม่มีข้ออ้างว่าจะโดนลากไปได้ ก็จะรู้สึกความตั้งมั่นขึ้นมา

 

ความตั้งมั่นมาจากวินัย

 

อย่างทางโลก เรามีวินัยพอสมควร ค่อนข้างเป๊ะเรื่องเวลา

แต่เรื่องนี้ เราเห็นเป็นงานอดิเรกที่ทำก็ได้ ไม่ทำก็ได้ เราไม่เป๊ะ

 

ทีนี้ ถ้าเราเอาความเป๊ะทางโลกมาใช้กับทางธรรมบ้าง

จะรู้สึกว่า ที่คุยกับตัวเองอยู่บ่อยๆ ว่าจะเอาหรือไม่เอา

อยากเอา แต่กำลังไม่มี รู้สึกอ่อนแอ ปวกเปียก เป๋ง่าย

เราแค่เอาความเป๊ะในทางโลกมาใช้กับทางธรรม

จะรู้สึกว่าความปวกเปียกข้างใน จะปฏิรูป แปรไปเป็นความเข้มแข็งขึ้น

 

แหม่ม : วันนี้เหมือนได้ให้คำสัญญากับพี่ตุลย์ ก็น่าจะเป็นตัวบังคับให้ทำค่ะ

 

พี่ตุลย์ : แหม่มฟังมาเยอะ แล้วก็เหมือนเข้าใจหมดแล้ว

แต่ลองสังเกตดู พอใจไหลไป เหมือนไม้หลักปักขี้เลนก็จะลืมหมด

อะไรที่เคยเข้าใจแล้ว จะเหมือนต้องไปทำความเข้าใจซ้ำ

 

นั่นก็ยืนยันได้ว่า จิตนี้สำคัญ กว่าความเป็นพหูสูตร หรือว่า ความรอบรู้

 

ทางธรรม จิตที่เหมือนดินโคลนเหลวๆ เป็นไม้หลักปักขี้เลน

จะไม่เป็นที่ประดิษฐานของธรรมะชั้นสูงได้

ถึงแม้ว่าเราจะฟังมาแค่ไหนก็ตาม จะไปลงที่ความรู้สึกเหลวเป๋วหมด

และความรู้สึกเหลวเป๋วจะไม่คู่ควรกับของสูง

เราก็เลยจะรู้สึกว่า เอ๊ะ เราหวังสูงเกินไปหรือเปล่า

ออกมาจากจิตแบบนั้น ที่เหลวอยู่

 

แต่ถ้าเมื่อไร คงเส้นคงวา มีวินัย

รู้สึกว่า ที่จะเอาดีนี้ ไม่ใช่เอาดีจากสมบัติของครูบาอาจารย์

แต่สร้างสมบัติของตัวเอง

 

เพราะจริงๆ ในทางโลก เรามีคุณสมบัติพร้อมพอในทางธรรมนะ

เป็นคนที่คิดสร้างเนื้อสร้างตัวด้วยตัวเอง ไม่ไปเอาของคนอื่น

จะมีความถูกต้องในใจเรา

แม้สังคมแวดล้อมพร้อมจะให้โกง มากที่สุดก็จะอะลุ้มอล่วย

ในเส้นบางๆ ที่เรารู้สึกว่ายังถูกต้องอยู่

แต่ถ้าเกินไปกว่านั้น เราจะรู้สึกอาย ไม่อยากเอาเกินไปกว่านั้น

อาจมีเทาๆ บ้าง แต่ไม่ข้ามไปดำมืด

 

ตรงนั้นก็คือคุณสมบัติอย่างหนึ่งของคนที่เจริญทางธรรม

คือคิดสร้างด้วยกำลังตัวเอง ไม่ไปเอาของใคร

 

แต่ทางธรรมจะไม่เหมือนทางโลกตรงที่ว่า จะไม่มีไกด์ 1 2 3 ชัดเจน

ว่าตัวเราต้องทำอย่างไร วันนี้ต้องทำตรงไหนบ้าง

ก็เลยเหมือนกับ เอาที่สบาย เอาที่สะดวกก่อน

เคยฟังธรรมครูบาอาจารย์ท่านไหนแล้ว รู้สึกว่า นิพพานอยู่แค่เอื้อม

เราก็จะไปฟัง ตรงนั้นซ้ำบ่อยๆ

 

ทีนี้เราก็จะพบความจริงว่า

ต่อให้เป็นคำสอนของครูบาอาจารย์เดิม ถ้าฟังซ้ำเรื่อยๆ จะดื้อยา

จะรู้สึกเหมือน ฟังไปแล้วลบหลู่ครูบาอาจารย์ไหม ฟังแล้วไม่เข้าหัว

 

แล้วโดย nature นักปฏิบัติชาวพุทธยุคไอที ก็จะแสวงหาใหม่ไปเรื่อยๆ

แล้วจะไปพบความจริงในที่สุด ว่า

ธรรมะ .. เรารู้แค่ไหน แต่ถ้าไม่มีใจที่มีฐานที่มั่นคงจะตั้งอยู่ไม่ได้

 

ในที่สุดธรรมะที่เรารับมา จะถูกดูดลงทรายดูดหมด

 

---------------------

ขวัญ

 

พี่ตุลย์ : สังเกตความสุขแต่ละรอบ

บางทีก็รู้สึกความสุขกับลมหายใจ แยกจากกัน แต่บางทีก็มารวมกัน

 

จะยกสมถะ เป็นวิปัสสนา ตัดสินตรงที่เมื่อเกิดความคิด

รู้ไหมว่า ความคิดเป็นอะไรที่อยู่นอกสมอง นอกจิต

ปรากฏเหมือนร่างแห ใยแมงมุมที่อยู่ข้างนอก

และพยายามห่อจิต ห่อสมอง

 

ถ้าความคิดผุดกลางสมองเลย

อันนั้นจะคิดแบบไม่รู้เรื่อง ไม่รู้ว่าคิดอะไร

แต่ถ้าหากออกมาจากข้างนอก เหมือนมีร่างแหอะไรสักอย่าง

เป็นแผ่นๆ หรือเป็นกลุ่มหมอกควันที่จะมาห่อหุ้มจิต

ทำให้จิตฝักใฝ่ อยากไปอยู่กับความคิดนั้น

 

ตัวนี้จะมีความรู้เรื่องขึ้นมา มีอะไรบางอย่างปรากฏเป็นมโนภาพ

 

ถ้าเราแยกออก เวลาขึ้นไปสุด รู้สึกความว่าง เป็นสุข หายใจออก

ตรงนี้ถ้าไม่มีอะไรอยู่ในหัวเลย

จะเหมือน reset เป็นช่วงๆ ไปสู่ความว่าง ไม่มีใคร

สังเกตต่อ ในความว่าง ไม่มีใคร จะมีความคิดสองแบบ

 

ความคิดที่ออกจากสมอง จะรู้สึกเหมือนกระแสไฟฟ้าที่ครบวงจร

ผ่านมาผ่านไป ไม่รู้คิดเรื่องอะไร

แต่ถ้าเป็นอีกแบบคือ เหมือนมีอะไรลอยมาประทบใจ

ถ้าเราเริ่มรู้สึกว่า มีอะไรลอยมากระทบใจ

แล้วเห็นว่า จิตมองความคิดนั้นเป็นอย่างไร

เหมือนกับแมลงหวี่แมลงวัน ที่บินเข้ากองไฟแล้วมอดดับ

หรือเป็นร่างแหมาครอบจิตให้ไปตามมัน

 

ถ้าจิตถูกมันจับ จะคับแคบลง มีอาการยู่ยี่ เป็นความรู้สึกแตกต่าง

พอรู้สึกว่าความคิดจรเข้ามา แล้วสติยังอยู่ สิ่งที่เกิดเป็นธรรมดาคือ

สติเห็นว่า อะไรอย่างหนึ่งเกิดขึ้น เป็นภาวะแปลกปลอมเข้ามา

จะสร้างมโนภาพหรืออะไรก็แล้วแต่

สิ่งนั้นปรากฏในใจแป๊บหนึ่ง แล้วก็หายไป

 

ความสามารถของจิตที่รู้

และตั้งอยู่กับความรู้นั้น จนความคิดดับหาย สำคัญมาก

จะยกระดับขึ้นก็ตรงนี้ จากสมถะเป็นวิปัสสนา

จะรู้สึกว่า สิ่งที่ดับหายไป เป็นอะไรอย่างหนึ่งที่แปลกปลอม ไม่ใช่ตัวเรา

ตรงที่หายไปแล้วเกิดความว่าง เป็นจิตเรา

ตรงนี้แหละที่จะรู้สึกว่า ความคิดไม่ใช่เรา

 

ตอนแรกจะมีจิตของเราอยู่

แต่จิตไม่ใช่เราต้องข้ามไปอีกขั้น เห็นความไม่เที่ยงของจิตให้ได้

แต่อันดับแรก อ่านให้ออกก่อนว่า

มีความคิดที่ห่อเข้ามาเมื่อไหร่ แปลกปลอมเข้ามาเมื่อไร

ถ้าเห็นทัน ตรงนั้นแหละ

ที่จะเริ่มใช้กำลังสมาธิ ให้เป็นประโยชน์ในทางวิปัสสนาได้

 

พอความคิดซึมเข้ามา ขวัญยังมองไม่เห็น แต่ก็แล้วแต่วัน

บางวัน สังเกตว่า มีความเปียกแห้งไม่เท่ากัน

ความสามารถในการรู้ลมหายใจ มีแล้ว มีวิตักกะ วิจาระ

 

แต่ตรงจิตเปียก หรือ แห้ง

เปียก คือมีความข้องเกี่ยว คิดแบบโลกๆ

จะสังเกตว่า ความคิดเวลาเข้ามาจะดูดติด

คิดออกไหมเหมือนทิชชู ถ้าชื้น หรือเปียก

เวลาเกาะกับเศษฝุ่นผง จะติดขึ้นมา

แค่เราเอาทิชชูเปียกไปวางที่ไหน เศษฝุ่นผงจะติดมาด้วย

แต่ถ้าทิชชูแห้ง เอาไปวาง บางทีผง โดยเฉพาะที่หยาบๆ จะไม่ติด

 

ก็เหมือนกัน จิตถ้าเปียก

จะรู้สึกถึงความคิดที่ซึมตลอดเวลา อุ้มความคิดไว้ตลอดเวลา

จะรู้สึกถึงความว่าง รู้สึกถึงลมหายใจ ที่แยกออกจากความสุขแค่ไหน

แต่เดี๋ยวก็จะมีความคิด ยุบยิบๆ อยู่

ไม่ใช่ความคิดแบบฟุ้งซ่านหนัก แต่เป็นความคิดแบบพร้อมฟุ้งซ่าน

 

ถ้าสังเกตจุดนี้ได้ จะมีความแตกต่างคือ

จะเห็นว่าความคิดยุบยิบ ต้องมีเหตุปัจจัย ความคิดซึมๆ ถึงจะเกิดขึ้น

 

แต่วันไหน ถ้าใจมีความแห้ง สบาย ไม่มีเรื่องโลกมาให้จิตเปียก

ก็จะรู้สึกว่าสามารถเห็น

 

อย่างที่บอกว่า เราอยู่แบบโลกๆ ไม่ได้ต้องใช้ชีวิตแบบชาววัด

แต่อยากให้สังเกตข้อเท็จจริงตรงนี้

เพื่อให้ขวัญได้มีความก้าวหน้า ในการที่จะแยกความคิดเป็นพวกๆ

 

ความคิดที่ซึมอยู่ในจิตก็แบบหนึ่ง

ความคิดแบบที่จะอยู่นอกจิต เป็นต่างหากจากจิต ก็อีกแบบหนึ่ง

 

ตัวนี้ที่จะเป็นข้อสังเกต จะได้เห็นลักษณะการเกาะกุมความคิดชัดขึ้น

 

ขวัญ : ก่อนปีใหม่ รู้สึกว่าสมาธิเสื่อมลง เพราะมีเหตุแบบโลกๆ

สมาธิจะกลับมาใหม่ได้ไหมคะ

 

พี่ตุลย์ : อย่างที่เคยบอก การเป็นฆราวาส ไม่ใช่ชาววัด ต้องมีเรื่องโลกๆ

และต้องมีการยินยอมพร้อมใจเรา ที่จะไปขลุกกับเรื่องโลกๆ

ไม่ว่า โลภะ โทสะ โมหะ มีหลายประเภทที่จะเข้ามา

 

เราก็แค่สังเกต ต้องทำภาพรวมให้ชัด

ทำ concept การปฏิบัติธรรมที่บ้าน หรือการภาวนาแบบฆราวาสให้ชัด

ว่าเลี่ยงไม่ได้กับเรื่องโลกๆ

 

แค่ให้ตั้งข้อสังเกตว่า การที่จิตเปียกเป็นแบบหนึ่ง

อย่างเมื่อกี้ มีวิตักกะ เห็นความสุขได้

แต่ยังแยกตัวจากความคิดไม่ออก เหมือนทิชชูเปียก

เราก็ดูไปว่าการปฏิบัติธรรมแบบฆราวาส จะเป็นแบบนี้

 

ตัวพี่เองก็ไม่ได้คาดหวังให้ตัวเองมีจิตแห้งสะอาด

ปราศจากความเป็นฆราวาสตลอดเวลา

เพราะจะอยู่แบบสองโลกไม่สะดวก

 

แต่วิธีปฏิบัติธรรมแบบฆราวาสที่ดีที่สุดคือ

เมื่อใจเสื่อมถอยจากสมาธิ ไม่ใช่ไปทุรนทุราย

ฟูมฟายข้างในว่าจะเอาอย่างไรดี

 

ไม่ได้บอกว่า ห้ามไม่ให้จิตเปียก

แต่ให้สังเกตว่าช่วงที่จิตเปียก  แปลว่าความคิดจะถูกแยกออกมาไม่ได้

จิตไม่แห้งสบาย ไม่โปร่งโล่ง แบบที่จะเห็นกายใจเป็นรูปนามได้ชัด

จะมีความคิดซึมตลอดเวลา อุ้มความคิดตลอดเวลา

แต่ถ้าช่วงไหนใจแห้งสบาย จะเห็นอีกแบบ

 

ตรงนี้จะได้ภาพรวมว่า การเป็นฆราวาสที่ปฏิบัติธรรม

ต้องมีขึ้นลงบ่อย แต่สำคัญคือ เมื่อขึ้นลง เราไม่ไปแคร์

ไม่ไปเดือดร้อนมาก แต่เห็นเป็นปกติของฆราวาสที่ปฏิบัติธรรม

 

อย่างแม้ในฝัน คนปฏิบัติธรรมจะมีลักษณะฝันที่คล้ายกัน

เช่น ไปในที่เสี่ยง ขึ้นที่สูง แต่ไม่มีกำลังพอ ตกขบวนรถไฟ

หรือหมดแรงทำอะไรในความฝัน

ก็เป็นมาตรฐานเดียวกันคือมีทั้งช่วงจิตเปียก และจิตแห้ง

 

ถ้าเราไม่มองแบบรีบร้อน ไม่มองว่า อยากได้ดีแบบคนที่อยู่ในเพศบรรพชิต

 

เราจะใจเย็นลง และเห็นเหตุปัจจัยว่า

สิ่งที่คู่ควรกับอัตภาพแบบนี้ ก็ประมาณนี้แหละ มีทั้งเปียกและแห้ง

 

เวลาขวัญตั้งโจทย์ จะมองว่าเวลาถอยแต่ละทีจะกลับมายาก

แล้วก็ทุกข์ ยักแย่ยักยัน ก็ให้มองว่านั่นจัดเป็นทุกข์ชนิดหนึ่ง

ที่เกิดจากความคาดหวังทางธรรม

แต่ ความคาดหวังนั้นตั้งอยู่บนเหตุปัจจัยแบบโลกๆ

บางวันบางช่วงจิตก็เปียก บางวันบางช่วงจิตก็แห้ง ได้แค่ไหนก็แค่นั้น

 

จะเห็นซ้ำไปมาวนเวียนแบบนี้

 

ขวัญ : พอปฏิบัติ จะมีบททดสอบ มารบกวนใจมาก ต้องทำอย่างไรต่อ

 

พี่ตุลย์ : บททดสอบอย่ามองเป็นมารเสมอไป

บางทีก็เป็นอะไรที่ส่งเสริมให้เราก้าวหน้าขึ้นก็ได้

ไม่ได้ดึงเราให้ตกต่ำเสมอไป

 

อย่างบางคน พอก้าวหน้าทางสมาธิ รู้สึกอยากวิเวก

แต่ก็มีอะไรที่ offer มาในทางดีๆ

ลาภ ยศ สรรเสริญ หรือมีบางสิ่ง บางคนเข้ามาในชีวิต

 

แทนที่เราจะมองว่าเป็นบททดสอบ

แต่มองเป็นส่วนหนึ่ง อุปกรณ์หนึ่งในการภาวนา

นี่คือส่วนหนึ่งของการภาวนา จะชิวขึ้น

 

ถ้ามองเป็นบททดสอบ จะทุรนทุราย

เพราะไม่รู้จะโดนยื้อไปทางไหน หรือเข้าข้างไหน

จะกลับไปโลกเต็ม ที่หรืออาศัยฐานทางธรรมมาโต้ตอบ

 

ความขัดแย้งนี้จะหมดไปถ้าเราไม่มองว่า มีฝั่งโลก มีฝั่งธรรม

มีแต่ฝั่งที่จิตถูกปรุงแต่งไปอย่างไร

ถ้าจิตถูกปรุงแต่ง ถูกดึงดูด ทำให้รุ่มร้อน หรือพะวักพะวง

แทนที่จะดูข้างนอก ให้ดูข้างในไปเลยว่า

เอาจิตต้นแบบที่ฝึกแล้วในอานาปานสติ มาใช้บ้างหรือเปล่า

 

อย่างถ้าทำจนเคยชิน ทำประจำ ตอนเจริญอานาปานสติ

สุขหายใจออก สุขหายใจเข้า จนสติอยู่ครึ่งๆ ได้จริง

ภาวะอะไรกำลังปรากฏอยู่

แล้วมีลมหายใจประกอบพร้อม ทั้งขาออกขาเข้า

อาการพะวักพะวงก็สามารถถูกรู้ได้เช่นกัน

 

เวลามีความพะวงเรื่องเหตุการณ์หรืออะไรต่างๆ

ก็ดูความพะวงนั้น หายใจออก ดูความพะวงนั้น หายใจเข้า

เวลาที่ระลึกได้ว่า จะดูอย่างไร

เอาต้นแบบของจิตในอานาปานสติไปใช้

จะไม่มีโลกไม่มีธรรม มีแต่สติที่เจริญขึ้นทันที

 

เรื่องที่ดึง บางเรื่อง แรงเกินต้าน พี่เข้าใจ

แต่ point คือเราฝึกหรือเปล่า

 

ถ้าเรามีก้าวแรก จะมีก้าวต่อๆ ไป

เรื่องที่แรงเกินต้าน เรื่องที่ถูกยื้อ จนจิตภาวนาไม่ไหว

รู้ว่า กำลังหายใจออก หรือหายใจเข้า

ภาวะที่กำลังปรากฏอยู่ก็แสดงความไม่เที่ยงให้เห็น

หรือแม้แต่วันที่ดีที่สุด น่าจะเหลิงที่สุด ก็ดูแบบเดียวกัน

ก็เห็นว่าเป็นแค่ปีติที่ฉีดขึ้นมา พอรู้ประกอบกับลมหายใจ

ก็แสดงความไม่เที่ยง ไม่ต่างจากตอนฝึกอานาปานสติ

 

แล้วพอขวัญมองออกว่า หน้าตาเป็นอย่างนี้เอง

และเวลาที่อยู่ในระหว่างวัน ก็สามารถเห็นอะไรๆ มาลงที่จิต

การปรุงแต่งทั้งปวง มาลงที่จิตว่ากำลังเป็นอย่างไรอยู่

แล้วก็หายใจออก หายใจเข้า จะเกิดสติได้ และไม่ออกนอกทางไกล

แม้ตัวเราจะถูกดูดไปกับเรื่องนั้น ก็ไม่ใช่จะหายไปเลย

 

ขวัญ : บุคคลที่เจออยู่มีเรื่องอดีตชาติมาเกี่ยว ควรวางใจอย่างไร

 

พี่ตุลย์ : สมมติ บอกมีเด็กระลึกชาติได้

บอกได้หมดว่าถิ่นฐานเก่าอยู่ไหน เคยทำอะไรมา

เราจะรู้สึกว่าเด็กคนนี้ เหมือนเป็นอะไรที่ทำให้น่าขนลุก เหมือนมหัศจรรย์

แต่ความมหัศจรรย์ที่ว่านี้ มีในตัวทุกคนแหละ เพียงแต่จำกันไม่ได้

 

ฉะนั้นถามว่า เรารู้จริงไหมว่า แต่ละคนที่เจอมีอดีดอะไรกับเราบ้าง

 

พระพุทธเจ้าเคยตรัสว่า ในสังสารวัฏ

เราเกิดตายเหมือนเม็ดทรายบนชายหาด

ลองนึกว่า มีมากแค่ไหน แต่จริงๆ ยิ่งกว่านั้น

 

และท่านบอกว่า หายากมาก ที่เมื่อเจอใครแล้ว

จะไม่เคยเป็นพ่อแม่พี่น้อง ไม่เคยเป็นสามีภรรยา

มีหมด เคยเป็นกันมาหมด

 

บางคน มีอดีตที่ตอนจะตาย อาลัยอาวรณ์กัน

แต่เกิดใหม่ความสัมพันธ์ก็ค่อยๆ ห่าง ค่อยๆ ห่าง

จนกลายเป็นศัตรูกันในบางชาติ

อย่าว่าแต่ข้ามชาติเลย ชาติเดียวกันก็มี

เคยรักกันมากช่วงคบหากัน แต่พออยู่ด้วยกันกลายเป็นศัตรู

จองเวรกันบอกว่าอย่ามาเผาผี

 

มีเหตุปัจจัยเยอะ ที่ทำให้ละครโรงใหญ่ในสังสารวัฏ

เปลี่ยนบทบาทไปเรื่อยๆ

 

คำถามของขวัญที่ว่า เกินต้านหรือเปล่า ..

ในวิสัยฆราวาส ถ้าอยากให้อะไรเป็นไป ก็ไม่ได้ผิด

เราไม่ได้เป็นชี เราเป็นผู้หญิงธรรมดาคนหนึ่ง

จะมีความสัมพันธ์กับใครไม่ใช่เรื่องผิด

 

ขึ้นกับการตัดสินใจเราว่า เราจะทำให้เรื่องไหนสำคัญกว่ากัน

ระหว่างทำให้ใจแห้งสะอาด หรือยอมให้ใจเปียก

นี่เป็นสิทธิ์ขาดของเรา

ครูบาอาจารย์บางท่าน จะบอกให้ปฏิญาณเลยว่า ห้ามมี

แต่พี่พบว่า แบบนี้จะทำให้ทุกข์ทางใจ

เพราะถ้าไม่รับปากท่านก็ไม่ได้

แต่ถ้ารับปาก แล้วเผลอไปทำก็จะไม่ดี

 

ฉะนั้นพี่จะไม่พูดฟันธง

เพราะเข้าใจดีว่าวิสัยฆราวาส เป็นแบบนี้แหละ

ขึ้นกับความดึงดูดและความยินยอมพร้อมใจ

 

แค่ทำความเข้าใจว่า แรงดึงดูดที่เกิด หรือแรงผลักไสอะไรก็ตาม

จะเป็นเหตุให้ใจเราทำสมาธิไม่ได้ แบบนี้จะเอาไหม

หรือถ้าเราทำสมาธิ แล้วรู้สึกแบบนี้ดีกว่า สบายใจ

ก็ขึ้นกับความสมัครใจที่เราจะเลือก

 

การเลือกจิตเปียก หรือแห้ง ไม่ใช่เรื่องผิดของฆราวาส

แต่เป็นสิทธิ์ขาดที่เราจะตัดสินใจเอาเอง ว่าจะเลือกอันไหน

 

พอทำไว้ในใจแบบนี้จะได้ไม่ต้องโทษตัวเอง ไม่โทษใคร

เป็นเรื่องที่เราจะเลือก ณ เวลาปัจจุบันนี้เอง

 

-------------------

ออ

 

พี่ตุลย์ : พอว่าง เบา รู้ว่ามีความสุขหายใจออก

ถ้ารู้สึกใจเสมอลมหายใจได้ ลมหายใจมีแค่ไหนรู้แค่นั้น

นั่นคือมีจิตเสมอลมหายใจ

 

มีบางครั้งวางมือแล้วฟุ้งซ่านบ้าง หรือวางมือแล้วใจวอกแวกบ้าง

อาจใช้เทคนิคคือนับหนึ่ง สอง สามในใจ

เพื่อให้รู้ว่าจิตเราอยู่กับที่หรือเปล่า

 

ถ้าอยู่กับที่ จังหวะนับหนึ่งสองสาม มือจะปรากฏอยู่ในใจ

แต่ถ้าใจไปอยู่ที่อื่น ตอนนับ 1 2 3 มือจะไม่อยู่ในใจ

 

ถ้ามืออยู่ในใจตอนนับ ก็จะเห็นความต่อเนื่อง

ไม่ว่าทำมานานแค่ไหน เกิดจิตรวมบ้างแล้วหรืออย่างไร

แต่เมื่อเกิดความเคยชิน หรือเผลอไป

ช่วงวางมือนี่แหละ จะทำให้ฟุ้งมากที่สุด

 

พอจิตเต็มรอบ เต็มดวงมากขึ้น สังเกตง่ายๆ

พอความคิดจะจรกลับมา

จะเหมือนเข้ามามีแรงกระทำกับจิตเราได้ยากขึ้น

 

จิตที่เริ่มเต็มดวงเป็นผู้รู้ผู้ดู ถ้าดูได้แป๊บหนึ่ง เรียกว่าเป็น ขณิกสมาธิ

แต่ถ้าดูได้นาน มีความสุข มีปีติสุข ใจเปิดกว้างขยายใหญ่ นั่

นเรียกว่า อุปจารสมาธิ

 

พอมีกำลังของจิตของใจ ในแบบที่

เหมือนความคิดเป็นของนอก เป็นของอื่นแปลกปลอม

จรมากระทบจิต แล้วเหมือนพร้อมหายไป เหมือนแมลงหวี่บินเข้ากองไฟ

ตรงนั้น จิตจะเริ่มยกระดับขึ้นจากสมถะเป็นวิปัสสนาได้

 

เป็นที่สงสัยกันเสมอว่า เราเห็นแบบที่เป็นวิปัสสนาแล้วหรือยัง

 

การเห็นแบบเป็นวิปัสสนา ง่ายสุดเลยคือสังเกตว่า

เวลาความคิดจรมา เราเอากับความคิดไหม

เราโดนความคิดซัดไปเหมือนพายุซัดน้ำให้กระเพื่อม

หรือซัดให้ข้าวของกระจายระเนระนาดไหม

 

ถ้าจิตเราเหมือนเสาขนาดใหญ่ที่ตั้งมั่น

พายุซัดแล้วไม่เคลื่อนไหว คลอนแคลน

ตัวนั้นแหละ คือจิตที่พร้อมมาก จะยกเป็นวิปัสสนา

แต่จะเป็นวิปัสสนาจริงหรือไม่

ขึ้นกับมีสัมมาทิฏฐิ ประกอบพร้อมหรือเปล่า

 

ถ้าพร้อมด้วยความตั้งมั่นของจิต และสัมมาทิฏฐิ

ที่จะรู้จะดูว่าความคิดจรมาแล้วหายไป

เป็นจุดตัดที่บอกว่า เริ่มจะเป็นวิปัสสนาแล้ว

จะเป็นอ่อนๆ แบบขณิกสมาธิ หรือแรงๆ แบบอุปจารสมาธิ

ก็ขึ้นกับกำลังที่สะสมมา ชั่วโมงบินที่สะสมมา

 

ถ้าความคิดจรมาแล้วบางทีเราหลงๆ ไม่รู้ ขาดสติไป

ไปเอาด้วยกับความคิด .. ให้มองว่าเรายังติดเพดานอยู่

 

ถ้าไม่เป็นจิตฟุ้งซ่านธรรมดา ก็เป็นสมถะในแบบมีตัวตน

มีความนึกคิด อุปาทาน ไม่ต่างจากคนธรรมดา

 

สุข รู้ว่า สุข หายใจออก ถ้ารู้เอง จะเป็นจิตที่ใกล้สมาธิ

แต่ถ้ายังต้องคิด ต้องจงใจ มีตัวตน ก็ดูไปว่าเป็นลักษณะจิตที่ ...

 

ทำความรู้สึก .. อาการแบบนี้

รู้สึกแบบนี้เลย หายใจเข้า รู้สึกอย่างนี้เลย หายใจออก

เอาตามความรู้สึก ไม่ต้องไปตั้งใจให้เป็นอะไรขึ้นมา

ไม่อย่างนั้นจะยักแย่ยักยัน

เป็นอาการที่มีตัวตน เป็นสมถะที่มีตัวตนเป็นผู้กำหนด

 

แต่ถ้า หายใจออก เอาตามจริงที่ปรากฏ

อย่างนี้ จะค่อยๆเริ่ม ยกระดับขึ้นไป

ภาวะดีๆ ของเราเกิดมาเยอะแล้ว

แต่ภาวะที่เกิดตามจริง ณ วินาทีนี้แหละที่เราต้องการ

 

ว่าพอปล่อยใจไม่เอาอะไร

เอาแค่เห็นภาวะปัจจุบัน ว่าเป็นอย่างไร พร้อมทั้ง หายใจเข้า

ปล่อยให้เป็นอย่างที่กำลังเป็น หายใจออก

บางทีขึ้นกับวัน แต่ถ้าเราเคยชินกับการที่ว่า มันจะเป็นอย่างไรก็ให้เป็นไป

แล้วรับรู้พร้อมกันไปกับการหายใจออก รับรู้พร้อมกันไปกับหายใจเข้า

 

ออ : ระหว่างวัน วุ่นวาย ก็พยายามหาเครื่องอยู่ พยายามกลับมาอยู่กับลมหายใจ

 

พี่ตุลย์ : ที่ผ่านมา เหมือนออเคยไปได้ถึงระดับนี้

แต่อีกช่วงเหมือนลดเพดานลง

แล้วช่วงที่ว้าวุ่นใจ ไม่ใช่ทางโลกอย่างเดียว

แต่ว้าวุ่นว่าจะทำอย่างไร ถึงจะไต่เพดานขึ้นไปเหมือนเดิมได้

จะเหมือนกับรกทางโลกไม่พอ มารกทางธรรมเพิ่ม เป็นภาระขึ้นมา

 

ถ้ารู้ว่ารูปแบบชีวิตตัวเองว่าประมาณนี้ ต่

อให้หนีเข้าป่า ก็ยังมีช่วงมรสุมแบบนี้เข้ามา

มีช่วงสงบ มีช่วงรบกับความวุ่นบางอย่างที่ต้องมาจนได้

 

ก็มาดูตรงนี้ดีกว่า

 

ที่พี่พยายามให้ออและทุกคนฝึกคือ

ทำให้เกิดความชิน ว่าพอสุข หายใจออก พอสุข หายใจเข้า

ถ้ายังไม่มี ให้แหงนหน้าค้างตรงนั้นนิ่งๆ สักพักให้ความคิดขาดไป

เสร็จแล้วเราลงมาพร้อมลมหายใจ ที่ชัด

 

ถ้าช่วงวุ่นๆ ทางโลกเรามักจะลืม ตอนวางมือลงมา

ใจจะมีความเคยชินแบบโลกๆ ติดมาที่ใจจะว้าวุ่น ใจจะพะวง

 

เมื่อกี้ที่ให้นับ 1 2 3 จะเห็นว่า หลายรอบเข้าจะดีขึ้น

นี่คือคุณค่าของสมาธิ คุณค่าว่าเรามาเจริญอานาปานสติ

เพื่อให้เกิดต้นแบบจิต เพื่อให้เกิดการฟื้นฟู

 

นักเจริญสติ พอไต่ระดับไปสูงๆ แล้วตกกลับ

มักจะหาทางขึ้นให้ได้เพดานเก่า นี่เป็นปกติเลยนะ จะอดไม่ได้

 

ตรงอดไม่ได้ นี่แหละ เกิดขึ้นไม่เป็นไร

แต่อาการทุกข์ จากการเร่งที่เกิดขึ้น เราต้องรู้ให้ทัน

 

อย่างที่พูดว่า สุขหายใจออก แล้วเรารู้สึกว่าสุขเก๊ๆ

ก็รู้ไปว่ามีสุขแบบแฝงอาการเร่งอยู่ ก็รู้ไปตามจริง

 

ถ้าเห็นธรรมะของจริงข้างในไปเรื่อยๆ

จะเห็นลมหายใจต่อลมหายใจเลยว่า แม้อาการเร่งก็ไม่เที่ยง

เดิมเร่งไปหาอะไรไม่รู้ และไม่มีสติเห็นการเร่ง

แต่เมื่อเรารู้ทันด้วยอาการนี้แหละ

สุข หายใจออก สุข หายใจเข้า

เห็นสุขมีอาการแอบแฝง จะเริ่มมีสติ

จะเห็นอาการเร่งๆ เป็นอาการดัน แบบเปล่าประโยชน์

 

แต่ถ้าเห็นอาการเร่งทวีตัวขึ้นมา แล้วดรอปไป แล้วกลับมาอีก

หลายๆ รอบ ตรงนั้นอาการเร่งๆ จะเป็นประโยชน์

เห็นว่าอาการเร่งเป็นภาวะสูญเปล่าที่บั่นทอนสติกำลัง

เมื่อมีสติอาการเร่งนั้น จะกลาย เป็นอุปกรณ์ภาวนาชิ้นหนึ่ง

 

แต่คาแรคเตอร์จิตออ จุดใหญ่เลยคือ

จะไม่อดทนพอที่จะเห็นความไม่เที่ยง

จะมีสติเต็ม ต่อเมื่อจิตดีพร้อม setting ทั้งหลาย

ประกอบพร้อมให้เกิดความตั้งมั่น เกิดความสว่าง

แต่เวลาที่มีอาการเร่ง หรือฟุ้งซ่าน ว้าวุ่นพะวง

ใจเราจะยังไม่เทรนตัวเองให้เห้นความไม่เที่ยงสิ่งเหล่านั้น

 

ซึ่งพี่เข้าใจว่าเป็นเรื่องยาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คนที่เจริญสติ

ยังไงๆ ก็อดอยากกลับไปได้สิ่งที่เคยได้ จะเป็นแบบนี้ไปชั่วชีวิต

จนกว่าจะมาฝึกให้ใจเย็นพอ สามารถอดทน

เห็นภาวะที่ไม่ดี เห็นภาวะแย่ๆ ได้

 

ภาวะดีๆ ผ่านมาหมดแล้ว ต่อไปนี้ก็มาฝึกเห็นภาวะแย่ๆ บ้าง

ตรงนี้แหละที่จะเป็นคำตอบ

 

ออ : จริงๆ ก็เห็นว่าเสื่อมบ่อยนะคะ

 

พี่ตุลย์ : แต่อาการเร่ง เราไม่ค่อยมอง และมันเป็น factor สำคัญ

 

การเสื่อมเรายอมรับได้ง่ายๆ

เพราะเราตกลงกับตัวเองแล้วว่า ช่วงไหนไปคลุกกับเรื่องบันเทิง

วุ่นวาย หรือการงาน มันต้องเสื่อมเป็นธรรมดา เราตกลงกับตัวเองได้ ต่ภาวะเร่งยังอดไม่ได้ ยังไปตามมันอยู่

เอาการบ้านข้อเดียวเลย ไปดูเรื่องภาวะเร่ง

 

แต่ในระหว่างวัน ดูออชิวขึ้น ใจเรียบสบายขึ้น

ความพะวงเรื่องงานก็แยกไปอีกเรื่องนะ

แต่ในเรื่องความรู้สึกโดยรวม ไม่ทุกข์มาก

เหมือนเวลารู้ตัว จะดูลมหายใจ จะเริ่มฉลาด

เริ่มเห็นว่ารู้แบบสบายๆเป็นอย่างไร

แต่ที่จะรู้ได้เป๊ะ ต้องมาฝึกเอาต้นแบบ

จากอานาปานสติในการทำสมาธิ หรือเดินจงกรม

 

การดูลมหายใจในระหว่างวันก็ทำได้ แต่ช้า

แต่ถ้าเอาต้นแบบจากการนั่งสมาธิ หรือเดินจงกรมนี่แหละ

คือถ้าพัฒนาจากการดูลมหายใจในระหว่างวันก็ได้ แต่จะช้า

แต่ถ้าเอาจิตต้นแบบจากสมาธิ จะง่าย และได้ภายในไม่กี่วัน

 

ถ้าทำจิตต้นแบบได้ จะรู้สึกว่าใช้ได้ทั้งชีวิตเลย

จะเกิดภาวะอะไรขึ้นมา เด่นก็ตาม ไม่เด่นก็ตาม

แล้วเรารู้ลมหายใจ ประกอบไปด้วยครึ่งๆ อย่างที่ฝึกมา

จะใช้ได้ทั้งชีวิต

---------------------

เอ

 

พี่ตุลย์ : จิตนิ่มนวลลงเยอะ

ทั้งในขณะทำสมาธิ และในระหว่างวันจะเห็นความต่าง

ไม่ได้เปลี่ยนแบบสิ้นเชิงเป็นคนละคน แต่นิ่มนวลขึ้น

 

(ทำท่าสอง) มีความสุข รู้ว่าหายใจออก

ตรงนี้จะชัดหรือไม่ชัด แต่ถ้าหากเราอยู่ในทิศทางที่จะรับรู้

มีความสุข หายใจเข้า มีความสุขหายใจออก

ตรงที่เราสามารถรับรู้ ความรู้สึกภายใน

แค่ไม่มีอาการดิ้นรน แค่ไม่มีอาการทึบแน่น ซัดส่าย

แบบนี้จัดเป็นสุขได้แล้ว ไม่ต้องสุขล้นหลาม แบบปีติมากมาย

 

จุดเริ่มต้นของสติ ถ้ารู้สึกอยู่กับความสุขภายในได้

แล้วเห็นลมหายใจออก จะรู้สึกได้เช่นกันว่า

ความสุขก็อย่างหนึ่ง ลมหายใจก็อีกอย่าง

ตรงที่แยกจากกัน ภาวะผู้รู้จะเกิดแล้ว

ยิ่งนานเท่าไหร่ ภาวะผู้รู้ที่แยกไปจะยิ่งชัดขึ้นเท่านั้น

 

เห็นไหม เริ่มรู้สึกว่าง ความรู้สึกว่างเป็นต่างหากจากกัน

ระหว่างความสุข และลมหายใจ

พอถูกแยกเห็นว่าเป็นคนละชั้น จะสำคัญมาก

ที่กระตุ้นให้เกิดสติแบบที่ ไม่มีใคร ไม่มีความคิด

ไม่มีความรู้สึกในเรา เหมือนเงาใสที่ถอยออกไปรู้ไปดู

 

ตัวนี้ พอความรู้สึกอย่างหนึ่ง แล้วความคิดอีกอย่าง

จะมีตัวอะไรโผล่มาอีกตัว เหมือนรู้อยู่อ่อนๆ ว่า

ภาวะความสุขนี้ ลมหายใจนี้ไม่ใช่ตัวใคร มีแต่การแยกจากกัน

ความสุขก็อย่าง ลมหายใจก็อย่าง

ถ้าเห็นไปเรื่อยๆ อย่างที่คุณเอกำลังรู้สึก

จะเหมือนตัวเรา แปลงร่างไปจากที่มีตัวตนแน่ๆ มีก้อนตัวตนแน่

 

เมื่อกี้รู้สึกใช่ไหมที่ว่างๆ ขึ้นมา และในว่าง เห็นว่าไม่มีตัวเราเป็นผู้ดู

แต่มีสติรับรู้ว่าสุขก็อย่าง ลมหายใจก็อย่าง

ถ้าเราแม่นยำว่าจะอยู่ในทิศทางนี้ จะเห็นชัดขึ้นว่าจิต หรือสติเป็นผู้รู้

 

ช่วงที่ผ่านมาระหว่างวันเราก็นิ่มนวลลง

ยังมีความรู้สึกเป็นตัวตนแบบเดิมนะ แต่นิ่มนวลลง

จะรู้สึกได้ถึงความอ่อนโยนลง ไม่ใช่แกล้งอ่อนโยน

แต่มาจากความรู้สึกจากการสะสม อานาปานสติ

หรือการพิจารณาระหว่างวัน ว่าจิตต่างไป

พอสังเกตเป็นพักๆ เรื่อยๆ จะเกิดสติอีกแบบ

จากเดิมที่เชื่อว่าเราต้องเป็นอย่างนี้ไปจนตาย

ในที่สุดจะเพิ่มของใหม่ขึ้นมาได้อย่างตอนนี้

จะรู้สึกข้างในว่างๆ สว่างๆ เหมือนมีตัวหนึ่งที่ดูอยู่

ยังอ่อนๆ นะ แต่จะเริ่มรู้สึกถึงตัวที่ดูขึ้นมาได้

 

มีอีกตัวอยู่ ตัวนี้ที่จะทำให้เกิดความตั้งมั่น ชัดเจนขึ้นมาได้ก็คือ

เจริญอานาปานสติให้มากๆ ทั้งในขณะนั่งสมาธิ และในขณะอยู่ระหว่างวัน

 

เวลาอยู่ในระหว่างวัน และรู้สึกภาวะภายใน และหายใจประกอบไปด้วย

หายใจเข้า เหมือนตอนนี้ ตัวผู้รู้จะแยกไปชัดขึ้นๆ

จนถึงจุดหนึ่ง รู้สึกว่า ไม่ใช่แค่ชัด แต่มันอยู่อย่างนั้นเป็นปกติ

 

จะไล่ลำดับไปนะ อย่างตอนนี้มีผู้รู้เกิดอ่อนๆ

แต่พอทำไปๆ จากวันเป็นเดือน จะรู้สึกชัดขึ้นใสขึ้น

ไม่ใช่ของหลอก เพราะมันชัด

แต่พอผ่านหลายเดือน หรือเป็นปี อันเดียวกันเลยจะรู้สึกเป็นปกติ

จะรู้สึกชีวิตเราปฏิรูปไปเป็นอีกแบบ จากเดิมมีก้อนความคิดเป็นตัวนำ

จะมีจิตผู้รู้ตั้งเด่นเป็นปกติธรรมดา ไม่แปลกแยกไปจากชีวิตเรา

 

เอ : เวลาทำ รู้สึกลมหายใจเบา และถ้าเดินจงกรมก่อนแล้วมานั่งสมาธิ ตอนเดินจะฟุ้ง แต่นั่งแล้วสงบกว่าเวลาไม่เดิน

 

พี่ตุลย์ : ตอนแรกจะอยู่กับเท้ากระทบ

แต่ทำไปๆ จะไปอยู่กับความฟุ้งซ่าน และเรายอมไปตามความฟุ้งซ่าน

 

ให้ดูตอนที่ใจยอมไปตามความฟุ้งซ่าน แล้วกลับมารู้สึกเท้ากระทบใหม่

 

ที่เดินนี่ มีวิตักกะ รู้สึกเท้ากระทบได้แล้ว

แต่คาแรคเตอร์ความฟุ้งซ่านคุณเอ เป็นความฟุ้งซ่านแบบแข็ง

มีกำลังมาก และมาปรุงแต่งให้จิตแข็งตามมัน

 

เมื่อไหร่ที่จิตแข็ง จะไม่พร้อมดูจังหวะเท้ากระทบ

แต่พอนั่งสมาธิ จิตจะนิ่มนวล และจะไม่ยอมตามความคิด

นี่คือข้อแตกต่าง

 

ความฟุ้งซ่านของเราเป็นแบบผู้ชาย

อาจทำงานกับผู้ชายจนซึมซับความแมน วิธีพูดวิธีคิดจะแมนๆ

ที่พูดเพราะอยากให้เข้าใจที่มาที่ไป ว่าทำไมถึงฟุ้งซ่านแบบแข็ง

 

พอมาเกิดระหว่างเดินจงกรม ความฟุ้งซ่านแบบแข็ง

จะปรุงแต่งให้จิตแข็งตาม และยื้อออกมา ไม่คล้อยลงสู่ความสงบ

ต่างจากจิตนิ่มนวล

แคแรคเตอร์ความฟุ้งซ่าน แคแรคเตอร์ของจิตจะต่างไป

 

จิต ไม่มีเพศนะ

ความอ่อนโยนนิ่มนวล ไม่ได้ทำให้ความเป็นแมนหายไป

ความนิ่มนวลของจิต เข้าฝ่ายสมาธิ เข้าฝ่ายความสงบ

ทำให้จิตเราพร้อมที่จะคล้อยลงสู่ความสงบ

เมื่อเราพิจารณาว่าจิตไม่มีเพศ

มีแต่ความพร้อมจะฟุ้งซ่าน หรือคล้อยลงสู่ความสงบ

ก็จะตัดสินว่า สิ่งที่ควรจะเกิดทั้งในระหว่างวัน

และในขณะทำสมาธิ เดินจงกรม ควรเป็นความนิ่มนวล

 

อย่างที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า

จิตที่อ่อนควรต่องานคือจิตที่อ่อนโยน ใส เบา

 

เพื่อให้การเดินจงกรมก้าวหน้าขึ้น

เวลาเดินจงกรม ช่วงจังหวะแรกให้รู้เท้ากระทบ

พอมีความฟุ้งซ่านแบบแข็งๆ มาแย่งพื้นที่

ให้ลองสังเกตว่าเท้ากระทบขณะนั้นจะแข็งๆ กระด้างขึ้น

สังเกตเฉยๆ นะ

 

พอรู้สึกถึงความกระด้างได้ ลองเดินให้ช้าลง ไม่ใช่ย่องนะ

จนเกิดความรู้สึกจังหวะเท้ากระทบที่นุ่มนวลลง

เอา physical มาปรุงแต่งจิตให้นิ่มนวลลง

หรือถ้าเราเดินช้าไปจนรู้สึกถึงความเฉื่อย ไม่มีสติ ก็ให้ปรับสปีดเร็วขึ้น

ปรับอย่างไรก็ได้ ให้เกิดความรู้สึกว่าจิตนิ่มนวลลง

รู้สึกเท้าอ่อน กระทบชัดขึ้น กระทบชัดขึ้น แต่เท้าอ่อนลง

 

ถ้าทำถูกต้อง รอบที่ถูกต้อง จะรู้สึกถึงความมีใจเบา

ข้างบนว่าง ข้างล่างชัด

ตรงนี้จะช่วยการเดินจงกรมเราเข้าทางแบบไม่ฝืนใจ

ที่ฝืนนี่เพราะมันแข็ง

---------------------

เพ็ญ

 

พี่ตุลย์ : สิ่งที่เพิ่มขึ้นคือความสว่างที่รู้สึกได้

พอเรารู้สึกถึงลมหายใจอันเป็นที่สบายได้

สิ่งที่เกิดเป็นธรรมดาคือความรู้สึกโล่งสบาย และความเบาจะตามมา

 

ถ้าเราเกิดความรู้สึกเบา และใส่ใจกับความเบานั้น

ความสว่างก็ตามมาด้วย

พอมารู้ ความใส เบา สว่างที่ปรากฏอยู่ เรียกว่าความสุข

ที่ขยายเกินกายออกไป ..

 

กายนี่คับแคบลงนะ แต่ใจกว้างขึ้น

พอเรารู้สึกถึงความสุข หายใจเข้า

รู้สึกถึงความสุขหายใจออก มีความชุ่มฉ่ำขึ้นมา

ความชุ่มฉ่ำ คือลักษณะหนึ่งของปีติ

 

ปีติ บางทีก็มามาก บางทีก็น้อย บางทีก็อยู่นาน บางทีก็แป๊บเดียว

แค่รู้ มีปีติ หายใจออก เอาปีติที่กำลังปรากฏอยู่ตามจริง

แม้ชุ่มฉ่ำ สดชื่นแม้เพียงน้อย ก็เรียกแล้วว่ามีปีติ

 

มีปีติ หายใจเข้า เราก็รู้ เห็นไหม อายุปีติจะยืนขึ้น

เป็นเทคนิคที่พระพุทธเจ้าให้ไว้ในเวทนานุปัสสนานั่นแหละ

 

เมื่อมีปีติรู้ หายใจออก หายใจเข้า

ตัวลมหายใจ จะไปบันดาลให้ปีติขยายขนาดขึ้น

 

ถามว่า ปีติมีไปทำไม

 

พระพุทธเจ้าตรัสถึงสัมมาสมาธิ

คือสมาธิที่ประกอบด้วย วิตักกะ วิจาระ ปีติ และสุข

 

วิตักกะ วิจาระ ปีติ และสุขมาจากไหน

มาจากอานาปานสติ

 

เมื่อเราเจริญสติ โดยอาศัยการรู้ว่าลมหายใจผ่านเข้าผ่านออก

ที่ว่างคือจิตเป็นผู้รู้สังเกตการณ์ว่า ลมหายใจเป็นอย่างไรอยู่

ออกหรือเข้า ยาวหรือสั้น

 

พอกำหนดไปจนถึงความชุ่มฉ่ำชื่นบาน

เกิดปีติหายใจเข้า เกิดปีติหายใจออก

จิตจะอยู่กับที่ ไม่หลงเพลินไปตามปีติ

แต่จะเห็นปีติเป็นองค์ประกอบหนึ่ง

 

ในการรู้กายใจได้อย่างมีกำลังจริงๆ

ใครไม่เห็นค่าของปีติ

คนนั้นไม่เข้าใจสิ่งที่พระพุทธเจ้าต้องการจะสื่อ

 

สมาธิที่ประกอบพร้อมไปด้วยปีติและสุข สำคัญนะ

พอมีปีติได้ รู้สึกถึงความมีปีติ แล้วหายใจเข้า จะชื่นบานมากขึ้น

ขอให้มีความมั่นคงตื่น พร้อม ตั้งมั่นให้ได้ก่อน

แล้วยกไปพิจารณาธรรม จะได้ต่อเนื่องทั้งวัน

 

แต่ถ้าไม่มีปีติ แล้วไปพิจารณาธรรม

จะได้แต่พิจารณาความแห้งแล้ง อะไรผ่านมาผ่านไปก็จะไม่เห็น

คิดธรรมะอะไรได้ ก็จะรู้สึกเหมือนเราเข้าใจ ทั้

งที่จริงอยู่แค่คิดๆ เอา

 

แต่ถ้ามีปีติสุขหล่อเลี้ยงให้จิตยั่งยืน มีสติตั้งอยู่

ธรรมะที่ปรากฏเดี๋ยวนี้จะต่างไปคนละเรื่อง

 

พอมีปีติหายใจออก จะรู้ว่าภาวะปีติ เป็นสิ่งที่เกิดจากเหตุ

จะเห็นเหตุชัดว่าเพราะหายใจยาว จิตไม่ไปไหน รู้อยู่กับลมหายใจที่สดชื่น

มีเหตุ ไม่ใช่อยู่ๆ ปีติเกิดลอยๆ หรือจะเอาปีติเป็นสมบัติเราตลอดไป

 

จะเกิดปัญญาแบบพุทธว่า อะไรที่เกิดจากเหตุปัจจัย

หวังไม่ได้หรอกว่าจะสามารถตั้งอยู่ได้ตลอดไป

 

จะเกิดความรู้ว่าสภาวะที่เกิดในกายใจนี้ทั้งหลายทั้งปวง

เกิดจากเหตุปัจจัยทั้งหมด

จะลงลึกไปเรื่อยๆ ปีติและสุข มาจากลมหายใจ

จากนั้นจะเห็นไปเรื่อยๆ มีความฟุ้งซ่าน

มีอะไรจรมา ทำให้จิตต่างไปจากเดิม จากจิตมีสมาธิ เป็นไม่มีสมาธิ

เหตุปัจจัยจะขยาย scale ไปเรื่อยๆ

ถึงสุดท้าย เห็นว่าที่เป็นรูปร่างหน้าตามนุษย์แบบนี้ได้เพราะกรรม

เรื่องที่ชาวโลกมองว่าลึกลับ จะกลายเป็นของตื้นของเรา

 

จากนั้นจะเห็นแม้กระทั่งว่า ที่มีความเป็นตัวตนอยู่

ก็เพราะความไม่รู้ว่ากายใจนี้สร้างมาได้อย่างไร

สร้างจากความหลงสำคัญผิด มีอะไรมากระทบ แล้วเกิดอาการยื่นออกไป อยากจะเอา หรืออยากผลักไส เป็นตัณหา

 

จะเห็น .. คือไม่ใช่เห็นจากการด้วยทำความเข้าใจแบบนี้นะ

แต่เห็นไปในระดับที่ภาวะทางกายนี้ทางใจนี้

ที่กำลังปรากฏอยู่ในจักรวาลนี้ มีได้เพราะเหตุปัจจัย มีอาการยึด หลงอยู่

จะเห็นไปอีกระดับ ไม่ใช่ระดับความคิด

แต่เห็นไป ณ ขณะการเกิดการยึดหรือการไม่ยึด

 

เวลามีการกระทบขึ้นมา จะเห็นเลยว่ามีการยึดหรือไม่มีการยึด

และเห็นว่า นี่แหละโซ่ร้อยรัด

เป็นเหตุปัจจัย ทำให้รูปนามนี้ปรากฏเกิดดับเรื่อยๆ

จากหน้าตาแบบหนึ่งไปอีกหน้าตาแบบหนึ่ง

 

ซึ่งการเห็นแบบนี้จะเกิดไม่ได้ ถ้าไม่อาศัยกำลังของฌาน ของสมาธิ

 

ซึ่งคำว่าฌาน คำว่าสัมมาสมาธิ พระพุทธเจ้าตรัสว่า

ต้องมีวิตักกะ วิจาระ มีปีติ มีสุข

ถ้าเราชุ่มชื่นไปเรื่อยๆ

จิตก็ตั้งรู้ตั้งดู ในขอบเขตกายใจนี้ไปเรื่อยๆ เช่นกัน

 

เพ็ญ : ความรู้สึกชุ่มชื่นมีบ้าง ไม่มีบ้าง ตอนนั่งรอก็มีเมื่อย หงุดหงิดบ้าง
ตอนแรกไม่เข้าใจว่าความสุขคืออย่างไร แต่พอพอพี่ตุลย์บอกว่า

สุขคือความเบา ก็รู้สึกเบา ขาเย็นไปเรื่อยๆ รู้สึกโล่งสบาย

แต่บางครั้งก็รู้สึกว่า ทำไมหายใจครั้งนี้อึดอัด แต่บางครั้งก็สบายได้

 

พี่ตุลย์ : ปกติไม่ได้ทำดีอย่างนี้ใช่ไหม ครั้งนี้สุขค่อนข้างต่อเนื่องมายาวเลยนะ ที่ทำเองไม่ได้ชุ่มชื่นแบบนี้หรือ?

 

เพ็ญ : ไม่ได้นานแบบนี้ค่ะ บางทีรู้สึกหายใจไม่เข้าแล้วหงุดหงิด

 

พี่ตุลย์ : จริงๆ จิตเราเริ่มเข้าทางแล้ว แต่เราไปกำหนด

เอาส่วนความอึดอัดความทุกข์ ก็เลยเหมือนกับอยู่กับความแห้งแล้ง

 

แต่วินาทีนี้เลย ลองสังเกต จะเหมือนมีน้ำเลี้ยง มีความเบิกบานข้างใน

ยังไม่ต้องทำอะไรนะ จะรู้สึกเหมือนมีความชุ่มชื่นข้างใน

ถึงไม่ได้มากมาย แต่จะรู้สึกถึงใจที่ไม่โฟกัสกับอะไรที่แห้งแล้ง

 

Point คือขึ้นกับใจเราอยู่ตรงไหน

ถ้าใจอยู่ตรงที่ดี จะดีขึ้นเรื่อยๆ

แต่ถ้าไปโฟกัสตรงที่ไม่ดี แห้งแล้ง ก็จะไม่ดีมากขึ้นเรื่อยๆ เช่นกัน

 

จิตเรามีกำลัง หลายๆ ท่านในห้องนี้ มีจิตที่ทรงกำลัง

ถ้ามีความอึดอัดเริ่มต้นแม้แต่นิดเดียว

แล้วเรายังคาใจกับความอึดอัดนั้น จะยิ่งทุกข์มากขึ้นๆ

ไปจับจุดตรงแห้งแล้ง เมื่อยบ้างอะไรแบบนี้

ยิ่งจิตมีกำลัง และไปโฟกัสกับทุกขเวทนามากเท่าไหร่

ก็จะยิ่งทุกข์มากเท่านั้น

แต่ถ้าหากเอาตามที่ พระพุทธเจ้าสอนในอานาปานสติ

ท่านให้โฟกัสความสุขก่อน

ท่านไม่ได้ให้โฟกัสทุกขเวทนาก่อนนะ

พูดง่ายๆ เราตามรู้ตามดูลมหายใจ ไปจนเกิดปีติ

แล้วแค่เพ็ญมาโฟกัสแบบที่บอก ด้วยกำลังที่เรามี จะชุ่มชื่นนาน

 

เหมือนกัน ถ้าไปทำเอง แล้วยังคงล็อคกับความเคยชินเดิมๆ

ที่ไปโฟกัสความแห้งแล้ง ก็จะหายใจอย่างเป็นทุกข์

 

แต่ถ้าหายใจอย่างเป็นทุกข์แล้วหายใจออก หายใจเข้า

พร้อมประกอบกันไป ก็จะดึงตัวเองมาสู่ความโล่ง เบานี้ได้

 

เมื่อกี้ พี่แค่ชี้ให้เห็น เริ่มต้นจากสภาวะที่ปรากฏอยู่จริงๆ

อย่างพูดว่าความเบา โล่ง เกิดอยู่ก่อน

แค่เราเอาใจไปโฟกัสตรงนั้น

รู้ว่ามีความสุข หายใจออก รู้ว่ามีความสุข หายใจเข้า

ความรู้สึกจะเอ่อมาเรื่อยๆ มีความชื่นบานเป็นตัวตั้ง

แม้ทำเอง ก็จะได้ผลแบบเดียวกัน

 

ท่าสอง ยังไม่ต้องหวังความสุข

แต่พอสุขแล้วก็ดู สุขหายใจออก สุขหายใจเข้า

อย่างตอนนี้ก็จะรู้สึกรางๆ ว่า เหมือนมีตัวดู ที่ใสๆ อยู่

ตัวนี้สำคัญมาก ถ้าเข้าใจว่านี่เรียกว่า การแยกรูปนามเกิดขึ้นแล้ว

อาจไม่ชัดเป๊ะ แต่อยู่ในทิศทางที่เราจับสังเกตได้

เอาแค่ความรู้สึกเฉยๆ อย่าไปเพ่ง

 

จิตผู้รู้ผู้ดู ลักษณะอันดับแรกต้องเปิด

ไม่ใช่เพ่งมาจุดคับแคบ แต่ต้องสบายๆ

 

แต่มีหลักสังเกต ณ ขณะที่เรารู้สึกแบบนี้ มีความสุข

รู้สึกเปิดเบิกบาน หายใจออก หายใจเข้า

ถ้าเข้าใจคำนี้ได้แล้วเอามาทำ

จะเป็นคำตอบเลยว่าเราจะเดินไปให้สุดทางได้อย่างไร

เริ่มจากตรงนี้แหละ

 

เพ็ญ : ก่อนหน้านี้ มีบางจังหวะตอนแรกรู้สึกเบาๆ

แต่สักพัก หายใจออก เหมือนทิ้งจนรู้สึกเหมือนจะขาดใจ

อยากหายใจเข้าไปทันที

ตอนหายใจออก จะทิ้งลมหายใจแบบจนหมด จนอึดอัด

แล้วอยากหายใจเข้า

และความรู้สึกนี้จะเป็นทุกขเวทนา

เลยผ่อนคลายโดยการไม่ขยับมือจนเบาสบาย หายใจเข้าใหม่

 

พี่ตุลย์ : ตอนที่ หายใจออกแบบนี้

อันดับแรก ร่างกายของเรา จะปรับสภาพ

ให้สอดคล้องกับอานาปานสติมากขึ้นเรื่อยๆ จะยืดหยุ่นขึ้น

เมื่อเวลาผ่านไปจะเห็นว่า หายใจได้เป็นปกติอัตโนมัติ สบายมากขึ้นเรื่อยๆ

 

สอง ถ้ายังทุกข์อยู่คือ หายใจเข้ามากไป

หรือหายใจออกแบบมือไม่ sync กับลม

 

ถ้าเมื่อไหร่รู้สึกเหมือนจะขาดใจ หายใจไม่ทัน

การขึ้นไปสุด พัก รอแป๊บหนึ่ง ตรงนี้สำคัญ นับ หนึ่ง สอง สาม

ให้รู้สึกว่า อยากหายใจออกจริงๆ พร้อมที่จะหายใจออก

 

จังหวะจะรู้ออกมาจากสัญชาติญาณเรา ว่าครั้งนี้ ควรออกยาวหรือสั้น

เพราะบางที ควรออกสั้นแต่เราไปพยายามยาว

หรือควรออกยาว แต่เราไปพ่นลมสั้น

จะขัดแย้งกันในช่วงอกท้อง เกร็งโดยไม่รู้ตัว

 

ถ้าเริ่มสังเกตตรงนี้ออก จะเริ่มหายใจดีขึ้น smooth มากขึ้น

สั้นในเวลาควรสั้น ยาวในเวลาควรยาว

ให้เชื่อว่าจะดีขึ้นเรื่อยๆ ถ้าหายใจถูก

 

เพ็ญ : จากการหายใจออก ที่เหมือนขาดลมหายใจ ถัดไปก็หายใจไม่เข้า

เข้าก็ไม่เข้า ออกก็ไม่ออก เวลาเกิดความรู้สึกควรทำอย่างไร

 

พี่ตุลย์ : หยุดแป๊บหนึ่ง อย่าฝืน กลับมาท่านิ่ง หรือท่าที่หนึ่ง อย่าฝืน

พวกที่หงายแล้วปวดคอ หนึ่งคือมีภาวะทางกาย

คอไม่ดีจริงๆ หมอนรองกระดูกอาจเสื่อม

พวกที่สอง กระดูกดี กล้ามเนื้อดี

แต่เวลาหงาย ไม่ทิ้งน้ำหนัก แต่ไปเกร็งสะสม

 

ถ้าพวกที่ภาวะทางกายภาพจริง ไม่แนะนำให้เงยหน้า

แม้รู้ว่าเงยแล้วดีก็ตาม

แต่ถ้าร่างกายเป็นปกติ แต่เกิดจากการเกร็งไม่รู้ตัว

ให้ปรับเรื่องเกร็ง การแหงนแบบครึ่งๆ กลางๆ นี่แหละที่ทำให้รู้สึกหนัก

---------------------

 

สาธุ

 

พี่ตุลย์ : พอเราหายใจออกย่างมีความสุขได้

รู้ว่ามีความสุข พร้อมกันไปในความสุขนี้ เราหายใจออกอยู่

พอสามารถรู้สึกตั้งต้นที่ความสุขภายใน มีลมหายใจกำกับสติ

จะมีสติแบบหนึ่ง มีความสุขแล้วหายใจเข้า มีความสุขแล้วหายใจออก

เห็นไปเรื่อยๆ ว่าความสุขก็อย่างหนึ่ง ลมหายใจก็อย่างหนึ่ง

จะเกิดความรู้สึกขึ้นมาว่า

เหมือนมีใครอีกคนที่เป็นผู้ใหญ่กว่าสาธุ ดูออกมาจากข้างใน

 

บางที เหมือนกับมีใครอีกคน ที่ตัวใหญ่กว่าเรา เป็นผู้ใหญ่กว่า

กำลังรู้สึกอยู่ว่า ความสุขกับลมหายใจ เป็นคนละส่วนกัน คนละอย่างกัน

 

ตัวที่ดูเหมือนเป็นผู้ใหญ่กว่าก็คือสภาพจิตที่

บางทีใหญ่ขึ้นกว่าตัวเราเอง

แต่พอออกจากสมาธิ ก็จะกลายเป็นสาธุเหมือนเดิม

 

ตอนนี้ในสมาธิ บางทีจะรู้สึกเหมือนมีผู้ใหญ่อีกคนดูอยู่

หรือนั่งซ้อนอยู่ในตัวเรา

 

เวลาดู เวลาสุขรู้สึกดีอย่างนี้ แล้วหายใจออก

ตอนที่สาธุแหงนหน้าขึ้นมีความสุข เคยรู้สึกไหมว่าเราเป็นผู้ใหญ่ขึ้น

(พยักหน้า)

แล้วเกิดเรื่อยๆ บ่อยๆ ไหม

(บ่อยค่ะ)

ให้ทำความเข้าใจเป็นพื้นฐานไปก่อนว่า

เวลาจิตเป็นสมาธิ จิตจะใหญ่ขึ้น

จิตที่ใหญ่ขึ้นจะทำให้เราเหมือนเป็นผู้ใหญ่ขึ้น

พอออกจากสมาธิ จิตเล็กเท่าเดิม

เราก็จะรู้สึกเป็นเด้กน้อยเหมือนเดิม

เคยงงๆ ไหมว่าทำไมแปลงร่างไปมา

(เคยค่ะ)

 

ให้ทำความเข้าใจนะ ว่านี่คือจิตใหญ่หรือจิตเล็ก

---------------

 

เป้

 

พี่ตุลย์ : จากเคยฟุ้งทั้งวัน กลายเป็นสงบได้

โลกเปลี่ยนข้างในก็เพราะอย่างนี้

 

พระพุทธเจ้าตรัสว่าโลกนี้ คือกายยาววาหนาคืบนี้แหละ

ใจที่เป็นดวงกุศลบ้าง อกุศลบ้างนี้แหละ

 

โลกทั้งใบคืออย่างนี้จริงๆ

ไม่ใช่ earth ที่เป็นทรงกลม

ไมใช่โลกที่มีดินฟ้าอากาศ

 

โลกที่พระพุทธเจ้าตรัส คือภาวะทางกายทางใจ
โลกทั้งใบเป็นอย่างไรขึ้นกับจิต

ถ้าจิตไม่ฟุ้งซ่าน โลกก็โล่งว่าง

ถ้าจิตฟุ้งซ่านตลอด โลกก็เหมือนมีความทึบหนา

มีอะไรบดบังทัศนวิสัย

 

อย่างตอนนี้ เป้รู้สึกความคิดมีน้อย มีอะไรสายๆ บางๆ

ณ ขณะเดียวกันกับที่เรารู้ว่า หายใจเข้า มีความสุข หายใจออก

จะซ้อนๆ อยู่สามชั้น

ลมหายใจชั้นหนึ่ง ความสุขชั้นหนึ่ง และอะไรที่เป็นสายๆ

 

เห็นไหมมันจะเข้ามาห่อจิตเราไม่ได้ เป็นอะไรที่ตกมาเหมือนสายฝน

โดนกระจกแล้วก็กลิ้งจากด้านบนไปด้านล่างของกระจก

โดยไม่เกาะ จะมีลักษณะของจิตแบบหนึ่ง

ที่มีความเต็ม และมีความรู้ว่า ความคิดมาเป็นเหมือนเปลือกนอก

เข้าเกาะจิตไม่ได้

 

พอเห็นไปเรื่อยๆ สิ่งที่เกิดเป็นธรรมดาคือ

รู้สึกว่า กายนี้ใจนี้หาความเป็นตัวตนของใครไม่ได้

กายก็อย่างหนึ่ง ลมหายใจก็อย่างหนึ่ง

ความสุข ความสงบที่เกิดก็อย่างหนึ่ง ความคิดก็อีกอย่างหนึ่ง

 

ตรงที่ปรากฏโดยความเป็นเหมือนหุ่นกระบอก

ที่สูบลมเข้าพ่นลมออกอย่างมีความสุข ความคิดห่อหุ้มไม่ได้

จิตจะรู้ตัวเองว่า อะไรๆ ทั้งหลายที่กำลังปรากฏอยู่ ณ บัดนี้

เป็นการแสดงตัวของ ขันธ์ห้า ไม่ใช่การแสดงตัวของใคร

ชื่ออะไร นามสกุลอะไร รูปร่างหน้าตาอย่างไร จะไม่มีมโนภาพนั้น

จะแค่มีหัว ตัวแขนขา อย่างนี้ กำลังหายใจเข้า หายใจออก

 

รอบนี้ความคิดเงียบไป ก็รู้ว่าภาวะความคิดเว้นวรรค

พอความคิดกลับมา ก็รู้ว่าช่วงเว้นวรรคผ่านไปแล้ว

 

ที่ยุ่งๆ ในหัว ถ้าไม่มองเป็นแต้มลบ ไม่มองเป็นเรื่องไม่ดี
แต่มองเป็นจุดสังเกตว่าความคิดที่กลับมา มาเกาะจิตได้ไหม

ถ้าเกาะไม่ได้ เป็นการมาที่ดีมากนะ

ความคิดฟุ้งซ่านที่มาเอง ถ้าเกาะจิตไม่ได้ แล้วเราเห็น

นั่นเป็นประโยชน์มาก

 

ตอนที่ชี้ว่าความคิดเงียบ แล้วกลับมายุ่งๆ เห็นได้ไหม

แล้วเห็นได้ไหมว่ามันเกาะจิตหรือไม่เกาะจิต หรือรู้เฉยๆ

 

เป้ : ตอนบอกก็รู้สึกว่า โล่งอยู่ แต่อยู่ข้างบน เข้าใจมากขึ้นว่า อยู่ดีๆ มาเอง ไม่ได้เกาะที่จิต

 

พี่ตุลย์ : ให้สังเกตแบบนี้ไปเรื่อยๆ ว่าเวลาจิตตั้งรู้เฉยๆ

ความคิดกลับมา จะกลับมาแบบเกาะกุม

ให้เกิดความรู้สึกเป็นตัวเราเหมือนเดิม

หรือมาแป๊บหนึ่ง เกาะแป๊บ แล้วหายไป หรือเข้าไม่ถึงจิตด้วยซ้ำ

 

ถ้าเห็นแบบนี้ จะเข้าใจถึงการมาการไปของความคิดมากขึ้นๆ

 

จนถึงจุดหนึ่ง เห็นความคิดเกาะเราไม่ติดจริง

และเห็นว่าพอมาแล้วหายไป และรู้ว่าความคิดนั้นไม่ใช่ใคร

ไม่ใช่ตัวเรา เป็นแค่ธรรมะภายนอก ที่เข้ามาแล้วหายไป

 

เป้ : ตอนนั่งรอ ระหว่างทำเห็นเป็นภาพว่าเราทำอยู่ข้างในใจค่ะ เหมือนเห็นชัดเป็นภาพร่างกายขยับแว้บหนึ่ง

 

พี่ตุลย์ : คือภาวะที่บอกได้ว่า

เรากำลังเห็นรูปขันธ์ หรือเรากำลังเห็นธาตุดิน

เราจะบอกตัวเองอย่างไรก็ได้

ตอนเป็นรูปพรรณสัณฐาน มีหัว ตัว แขน ขา

นั่นคือส่วนของความเป็นรูปนั่นเอง

 

แล้วอย่างตอนที่สามารถเห็นว่า กำลังสุข หายใจออก กำลังสุข หายใจเข้า

ยิ่งชัดมากเท่าไร ภาวะกายที่นั่งนิ่ง คอตั้งหลังตรงนี่ ะปรากฏโดยความเป็นรูป เป็นธาตุดิน หรือรูปขันธ์ชัดขึ้น

 

มีประโยชน์อย่างไร คือเราจะใช้เป็นจุดเริ่มต้น

กระตุ้นให้จิตสว่าง มีปัญญาแบบพุทธ

เห็นว่าภาวะหุ่นกระบอกที่ตั้งอยู่ไม่ใช่ตัวใคร

ยิ่งเห็นว่าเป็นธาตุดินชัด เห็นรูปขันธ์ชัด จะยิ่งไม่สงสัย

 

ตอนนี้ความสงสัยเราก็ลดมามากแล้ว

ตอนนี้เข้าใจแล้วว่าตัวเองอยู่ในระหว่างทาง

ยังเห็นไม่ทั้งหมด แต่เห็นบางส่วนแล้ว

จากเดิมที่เราเคว้งคว้าง ไม่รู้จะจับจุดตรงไหน

ตอนนี้หายสงสัยแล้ว

 

แต่เมื่อกี้ ภาวะที่เราเห็นว่าเหมือนอะไรไม่รู้

เหมือนกระบอกไม้กลวงๆ ไม่มีตัวใคร

 

ถ้าหากเรามีภาวะแบบนี้เกิดอีก

แล้วไม่มีคำอธิบาย ก็จะเปล่าประโยชน์

แต่ถ้าเข้าใจตรงนี้ว่า เห็นแล้ว ให้นิยามทันทีว่านี่คือธาตุดิน

 

เห็นธาตุดินมีประโยชน์อย่างไร

ถ้าเมื่อไหร่เห็นว่ากายนั่งคอตั้งหลังตรง เป็นธาตุดิน

เสร็จแล้ว หายใจต่อ

รู้ธาตุดิน หายใจออก รู้ธาตุดิน หายใจเข้า

ซ้ำไปมาจนเกิดความรู้สึกว่างๆ

 

ใจว่าง ใส เสมออากาศรอบด้าน

จะเกิดความรู้สึกมารางๆ ว่า นี่โต๊ะ นี่จอคอม นี่โทรศัพท์

พอเห็นมาจากข้างใน เป็นสัมผัสทางใจว่า

ที่มีรูปทรงแบบนี้ ก็คงรูปเหมือนกัน มีความคงรูป

 

พอไม่มาจำแนกลักษณะว่า หน้าตาอย่างไรนี่สวยหรือไม่สวย

มีราคาไม่มีราคา ทั้งหมดเป็นธาตุดินเสมอกัน

พอรู้สึกกายนั่ง เสมอธาตุดินอื่นๆ

กายจะไม่เป็นกายแล้ว แต่จะเสมอวัตถุในห้อง

ต้องรู้ออกมาจากใจนะ ใช้คิดไม่ได้

เมื่อกี้ รู้สึกกายกลวงๆ แล้วจิตแผ่ออกไปสัมผัสวัตถุรอบด้าน

ตัวนี้ เรียกว่าการมีจิตเสมอธาตุดิน

 

ยิ่งมีจิตเสมอธาตุดินมากเท่าไหร่ การแบ่งเขาเรา จะน้อยลงๆ

พอน้อยลงถึงจุดหนึ่ง จะรู้สึกว่า

อะไรๆ ที่แบ่งเขาแบ่งเรา มันไม่ใช่ที่ธรรมชาติ

แต่เป็นที่ความคิด ความรู้สึก

และจะเข้าใจจริงๆ ว่า ความปรุงแต่งจิตหน้าตาแบบนี้

และที่เข้าใจว่ามีเขามีเรา มีกายนี้กายนั้นตั้งอยู่

มีรูปร่างหน้าตาต่างกัน คุยกันแล้วไม่เข้ากัน

เกิดจากการปรุงแต่งจิต ที่ทำให้เกิดการแบ่งเขาแบ่งเรา

 

แต่ธาตุดินก็เป็นธาตุดินอยู่อย่างนั้น เสมอกันทั้งจักรวาล

ไม่เคยมีใครในนั้น ธาตุดินเสมอกันทั้งจักรวาล คือมีความคงรูป

แม้ธาตุแท้จะเป็นทองคำ น้ำมัน กระดาษ

แต่สุดท้าย ความคงรูปของมันก็คือธาตุดิน

และสุดท้ายก็ต้องแปรเปลี่ยนไป หรือเป็นผุยผงเป็นอื่น เสมอกันหมด

นี่จะสัมผัสออกมาจากจิต

 

ตอนนี้ที่เป้เห็นธาตุดิน จะสัมผัสว่ามีหัว ตัว แขน ขา

แต่ถ้าสัมผัสวัตถุรอบด้าน จะรู้สึกแค่ว่า นี่แบน กลม เหลี่ยม

แต่พอจิตละเอียดขึ้น จะเห็นว่า

ธาตุดินที่แตกต่างกันทั้งหลาย จะต่างแค่ผิวนอกเท่านั้น

แต่พื้นฐานภายใน ก็ต้องแตกสลายเหมือนกัน

 

----------------------

โอ๊ต

 

พี่ตุลย์ : มีความสุขหายใจออก ความเบา ความรู้สึกว่าง ความรู้สึกโล่ง

เป็นองค์ประกอบของความสุขทั้งหมด

 

มีความสุขหายใจเข้า จะทำให้จิตมีความตั้งมากขึ้น ใสมากขึ้น สว่างมากขึ้น

สังเกตง่ายๆ ที่จะมีความใสกระจ่างมากขึ้น

เราจะรู้สึกว่ามีความสว่าง มีความกว้าง

ขนาดจิตเปลี่ยนไปเรื่อยๆ

ยิ่งใส สว่างมากเท่าไหร่ ยิ่งกว้างเรื่อยๆ เท่านั้น

 

พอมีลักษณะจิตที่เปิดหลายๆ ครั้งเข้า

จะรู้สึกลมหายใจเป็นรูปร่างขึ้นมา

 

พอหายใจออก รู้ว่า ลมหายใจเป็นลำอย่างนี้

ตอนที่เห็นลมหายใจชัด และรู้สึกถึงความตั้งมั่นขึ้นมาที่ฐานของใจ

ก็ให้รู้เลยว่าเรากำลังรู้ที่จิต

กำลังรู้ที่จิตหายใจออก เรากำลังรู้ที่จิตหายใจเข้า

จิตจะมีลักษณะเป็นดวงๆ ขึ้นมา

 

สังเกตเวลาใจเราโล่ง กว้าง เบิกบาน

โดยเฉพาะตอนลมหายใจลงมา จะชัด

รู้สึกใช่ไหม ลมหายใจชัด จะเห็นเหมือนเป็นน้ำตก

 

โอ๊ต : ใช่ครับ แต่รอบที่ให้พี่ตุลย์ดูจะตื่นเต้นๆ แต่ก่อนนี้จะนิ่งกว่า

 

พี่ตุลย์ : ตอนไม่ไลฟ์ เราจะเห็นชัด ตรงนั้นเป็นวิตักกะ วิจาระเต็มขั้น

ตอนเห็นเหมือนสายน้ำตก เหมือนเป็นทางยาวๆ

บางทีชัดมากชัดน้อย นั่นคือวิตักกะวิจาระ

คือจิตหน่วงลมหายใจไว้ได้ เห็นนิมิตลมหายใจ

 

พอถึงตรงนั้น จะเป็นทางสองแพร่ง

คือจะไปเพลินกับตรงนั้นเฉยๆ

หรือรับรู้อย่างที่บอกคือ มีความสุข หายใจออก มีความสุข หายใจเข้า

จะตั้งรู้ว่านาม หรือความสุข คืออย่างหนึ่ง

รูปอย่างหนึ่งคือลมหายใจ เป็นต่างหากจากกันชัดขึ้นๆ

 

ตรงนั้น จิตผู้รู้จะได้ที่ตั้ง

จำไว้เลยว่าจิตผู้รู้ จะเกิดตอนแยกรูปแยกนาม

พอมีลมหายใจเป็นนิมิตชัด ต้องไม่ลืม

 

ไม่อย่างนั้นเวลาทำเองข้างนอก

เราจะไปจับที่ความรู้สึกดีที่ได้เห็นลมหายใจชัด

 

แต่ถ้าจะเริ่มแยกรูปแยกนามได้จริงๆ

ต่างองศากันนิดเดียว คือต้องตั้งต้นจากจุดที่มีความสุข

ตอนมีความสุข ขยายออก เปิดโล่ง รู้ลมหายใจ

รู้ว่าสุข หายใจออก รู้ว่าสุขหายใจเข้า เห็นแยกจากกันชัดว่า

นี่สักแต่นาม นั่นสักแต่รูป จะต่างกันกับที่เรากำลังทำอยู่

 

ตอนนี้พอเห็นลมหายใจชัด เราจะไปโฟกัสกับนิมิต

พอเห็นความต่างไหม

 

โอ๊ต : ไม่ค่อยเข้าใจตรงเห็นนิมิตกับความต่างของความรู้สึกโล่งครับ

 

พี่ตุลย์: ตอนทำนอกไลฟ์ เห็นลมหายใจชัด

เรารู้สึกดีกับนิมิตลมหายใจ

 

แต่อย่างเมื่อกี้ แม้ว่าเราจะไม่นิ่งเท่านอกไลฟ์

แต่พี่บอกว่า สุขหายใจออก สุขหายใจเข้า

จะมีจังหวะที่โอ๊ตรู้สึกจริงๆ ว่า สุขเป็นตัวตั้ง

ลมหายใจ เข้าออก เป็นเครื่องกำกับสติ แยกจากกัน

ไม่ได้ไปติดใจความชัดลมหายใจ


เห็นความแตกต่างไหม องศาแค่นิดเดียว

แต่เป็นตัวตัดสินว่า ตอนที่โอ๊ตเห็นชัด

จะเป็นการแยกรูปแยกนามหรือเปล่า

 

ถ้าเห็นชัด จะไม่ติดใจในความสุข

จะเห็นว่า ความสุขก็อย่างหนึ่ง ลมหายใจก็อีกอย่างหนึ่ง

อาจสุขยิ่งกว่านี้ และลมหายใจจะชัดยิ่งกว่านี้ เป็นสิบเท่า

แต่จะรู้สึกว่า ตัวตั้งของสติ รู้ที่สุขนี้

และรู้ว่า กำลังหายใจเข้า หายใจเข้า

โดยเห็นเป็นรูปนาม ไม่ใช่เห็นเป็นความสุขโอ๊ต

 

ตอนอยู่นอกไลฟ์ ที่โอ๊ตบอกว่าทำได้ดี

เรายังรู้สึกว่า นี่ลมหายใจเรา นี่ความสุขเรา นี่นิมิตเรา

ยังมีความยึดมั่นถือมั่นอยู่

 

เป็นธรรมดาของคนที่ เกิดภาวะอะไรในกายใจ จะเป็นของเราทันที

อย่างเราเกิดความเศร้า เราจะรู้สึกว่า เราเป็นผู้เศร้าอยู่

 

แต่ถ้ามีสติ เห็นความเศร้าปรากฏ หายใจออก เห็นความเศร้าปรากฏหายใจเข้า

แบบนี้จะไม่มีใครเป็นผู้เศร้า จะมีแต่ความเศร้า และลมหายใจ เพียวๆ

สักแต่เป็นรูป สักแต่เป็นนาม

 

เหมือนกัน อย่างตอนที่เราทำได้ รู้สึกถึงนิมิตลมหายใจชัด

จะมีนิมิตของโอ๊ตขึ้นมาประกอบในความเห็นชัดนั้น

 

แต่ถ้าเราตั้งต้นจาก สุขหายใจออก สุขหายใจเข้า

ทำไปนานๆ จะเห็นความต่าง

รู้ว่า สุขก็ส่วน ลมหายใจก็อีกส่วน ไม่ใช่ตัวเราทั้งคู่

ไปสังเกตดู ต่างนิดเดียว แต่มีผลมหาศาล

 

พอจิตแยกเป็นผู้รู้ จะรู้สึกว่าจิตผู้รู้นั้น บริสุทธิ์

ไม่มีตัวเราอยู่ในจิตผู้รู้

ยังนึกไม่ออกใช่ไหม .. ลองสังเกตดู

ไปทำอย่างที่ทำนั่นแหละ พอเห็นลมชัด

แล้วสังเกต ณ เวลาที่ลมชัด ดูว่าโฟกัสเราตั้งต้นที่ไหน

ถ้าตั้งต้นจากนิมิตลมหายใจ นั่นคือเทน้ำหนักโฟกัสไปที่ลมหายใจ

แต่ถ้าตั้งต้นจากความรู้สึกสุข

จะเห็นทั่วทั้งตัว จะเห็นจิตทั้งดวงที่สุข เปิด โล่ง

แล้วเห็นพร้อมกันไปว่ามีลหายใจออก ลมหายใจขประกอบอยู่ด้วย

 

ถ้าเข้าใจ มาบอกอีกทีนะ อยากรู้ว่าจะเข้าใจไหม

 

โอ๊ต : ขอแนวคิดเกี่ยวกับการขอลาบวช

 

พี่ตุลย์ : ถ้าบวช เราจะอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เราไม่ได้คาดหวังไว้

ตอนนี้ใจจะเหมือนพร้อม มีความเต็มใจ สมัครใจที่จะเป็นพระ

แต่พอบวช อาจรู้สึกว่า ไม่ได้เป็นแบบที่หวังไว้

ว่าจะไปเจริญสติในหมู่พระที่เต็มใจ เข้าใจแบบเรา

 

ฉะนั้นอยากให้มองตั้งแต่ยังไม่บวชว่า

แม้ชีวิตฆราวาส หรือ ชีวิตบรรพชิต ก็เหมือนกันอย่าง

ตรงที่ อะไรๆ ก็ไม่เป็นอย่างใจ .. สำหรับภายนอก

แต่ภายใน สามารถเจริญได้เรื่อยๆ ไม่มีที่สิ้นสุด

ขึ้นกับว่า เราเล็งที่ไหน และทำอย่างไรกับสิ่งที่เล็งนั้น

 

อย่างตอนนี้เราเล็งที่เจริญสติ

เราก็ทำเต็มที่ในส่วนของเรา ก็ทำเองได้เอง

แต่ถ้าคนอื่นไม่ทำ หรือไม่ทำแบบที่เราคาดไว้

ก็อย่าไปเสียใจ อย่าไปรู้สึกอึดอัดว่าทำไมคนอื่นไม่เป็นแบบเรา

เพราะไม่มีใครเป็นแบบที่เราต้องการได้จริงหรอก

 

เราเป็นคนคาดหวังคน มีสเปคในใจ

พอไม่ได้อย่างนั้นก็จะมาผิดหวังทีหลัง เกิดความรู้สึกขัดใจ

และการไปมัวขัดใจกับคนที่เราผิดหวัง จะทำให้ยักแย่ยักยัน

เพราะเอาจริงๆ บางทีเราก็เป๋ ระหว่างมาตรฐานความดี

หรือมาตรฐานว่าใครอยู่ในฐานะอะไรควรเป็นอย่างไร

บางทีพาเราเป๋ได้เหมือนกัน

 

ฉะนั้น หากจะบวช ให้ลดความคาดหวังกับบุคคลอื่น และสถานที่

แต่มาคาดหวังกับตัวเองว่าจะตั้งเป้าเรื่องการเจริญสติ แล้วทำให้เต็มที่

 

ลองไปทำอย่างที่เข้าใจ แล้วมาส่งอีกที

พี่จะดูว่าโฟกัสได้ถูกต้องมากขึ้นไหม

ถ้าทำถูกจิตจะแยกเป็นผู้รู้ผู้ดูได้

แต่ตอนนี้ เหมือนเทน้ำหนักไปนิมิตลมหายใจมากไปนิดหนึ่ง

----------------

ตั๊ก

 

พี่ตุลย์ : สังเกตนะ มีความสุขหายใจเข้า มีความสุขหายใจออก

เห็นไหมต่างกันนะ บางทีจิตเราแต่ละรอบไม่เหมือนกัน

ถ้าเราเอากลับมาอยู่กับการระลึก

อาการหรือสภาพจิตจะชัดขึ้น

 

พอต่อเนื่อง เห็นไหมว่า

จิตจะออกไปในทิศทางความเบิกบานเปิดกว้างขึ้น

แล้วจิตที่เปิดกว้าง เบิกบาน จะมีกำลัง

 

ตอนชูมือสุด ขอค้างแป๊บหนึ่ง 1 2 3 ลดลง รู้สึกถึงหลจอ

เห็นไหมต่างไป

รายละเอียดพวกนี้ บางทีเราเข้าใจ

แต่ทำๆ ไปก็ลืมก็จะไปสู่ความเคยชิน

 

เห็นไหม ต่างเลยนะ การรับรู้ภายในที่ขยาย เปิดออกไป

 

บางทีความเคยชิน อย่าให้ทำไปๆ แล้วลืมจุดเล็กๆ น้อยๆ

ถ้าไม่ลืมจะเปิด เบิกบาน กว้างขึ้น ไม่อย่างนั้นจะเป็น autopilot

 

ตั๊ก : ครั้งล่าสุดที่ส่งการบ้าน พี่ตุลย์บอกให้ระหว่างวันสังเกตไปที่จิตตรงๆ หมายถึงให้หยุดแล้วสังเกตลมหายใจเข้าออก ตรงนั้นเลยใช่ไหมคะ

 

พี่ตุลย์ : ตอนนี้ดีขึ้น เรารู้สึกตัวที่เป็นอิริยาบถปัจจุบันสบายๆ ขึ้น

จิตเปิดกว่าเดิม ไม่ได้เพ่งมาข้างใน

แต่ใจเปิด รู้ไปข้างนอก รู้สึกอิริยาบถ รู้สึกลมหายใจ รู้สึกว่าใจเบาโล่งๆ

 

ถ้ารู้สึกถึงความเบา แล้วหายใจออก รู้สึกความเบา หายใจเข้า

แล้วตัวสบายๆ ไม่มีอาการรู้สึกหุบเข้ามา นี่คือใช่

 

ที่ผ่านมาใจเปิด รู้สึกไหม เดิมเหมือนจะพยายามจ้องเข้ามาข้างใน

แต่ช่วงนี้เปิดกว้าง สบายขึ้น ไม่ได้หุบเข้ามา

แต่เปิดออกไป รู้สึกแบบนี้ไหม

 

ตั๊ก : รู้สึกบ้างค่ะ แต่พี่ตุลย์เคยทักว่า ระหว่างวันฟุ้งๆ เราจะไปคิดให้ยืดเยื้อ หลังจากวันนั้น พอเกิดความคิดตลกๆ แปลกๆ ขึ้นมานึกได้ ..

 

พี่ตุลย์ : ไม่ใช่ดึงในลักษณะเพ่งมา แต่เปิดออกไป ทิศทางนี้ดี

ไม่ใช่เราไปเบรคมันหรือไปกดมันไว้ แต่มันเปิดออกไป

และในอาการเปิด เรารู้ว่ามีการปรุงแต่งบางอย่างที่หายไป

ที่พี่บอกว่าอยู่ในทิศทางที่ดี

 

เอาเป็นว่าตอนนี้ดีแล้ว เหมือนพอเราดู ใจเราไม่เครียด ไม่เคร่งๆ ไม่กดดัน

มีแต่การแผ่ออกไป เรารู้สึกไหม

 

ณ ขณะนี้เลย ใจยังเคร่งๆ กดๆ แต่ระหว่างวันจะชิวๆ

ตอนนี้เราตั้งใจฟัง จะกดๆ เข้ามาข้างใน

แต่พูดถึงระหว่างวัน จะชิวๆ

ตอนนี้เราตั้งใจคุย ตั้งใจฟังมากไป ก็จะรู้สึกเกร็งๆ กดๆ เข้ามาข้างใน

แต่พอขำออกมานิดหนึ่ง จิตเปิดออก สบายขึ้น

 

ที่พูดถึงระหว่างวัน คือจิตเปิดมากขึ้น

ไม่ได้ห้ามนะ ว่าเราจะคิดอะไรในทางขำหรืออะไร

แต่ตอนนี้ พออยู่ในระหว่างวัน ความคิดเราราบรื่น เป็นปกติมากขึ้น

ซึ่งเป็นข้อดี เพราะจะปรุงแต่งจิตให้ราบเรียบสม่ำเสมอมากขึ้น

 

ไม่ได้ห้ามไม่ให้คิดนะ แต่ของเดิม จะขำแบบพิเรนทร์

ที่จะทำให้เราฟุ้งแบบเพี้ยนๆ แต่ตอนนี้อะไรแบบนั้นหายไป

อย่าไปกดดันว่าจะไม่คิดเลย แต่พอมีขึ้นมา

ก็ให้สังเกตว่าทำให้จิตเปลี่ยนจากวิถีความราบลื่น

ตอนนี้ดูดีขึ้นหมดเลย ถ้าวัดจากมาตรฐานของสติ

 

สติอยู่ระหว่างวัน เป็นธรรมชาติมากขึ้น รู้ลมหายใจ

ไม่เครียด ไม่เพ่ง เครียดน้อยลง และเพ่งน้อยลง

 

ตั๊ก : บางทีกำลังโกรธอยู่แต่ไปยืนนิ่งๆ รอลิฟต์ ก็จะรู้สึกถึง ลมหายใจเข้ามาเอง ไม่ได้กดไม่ได้เพ่งอะไร แล้วความโกรธก็หายไป เลยไม่แน่ใจว่า เป็นเพราะไปเพ่งหรืออะไรหรือเปล่าค่ะ

 

พี่ตุลย์ : สังเกตง่ายๆ นะ เราฝึกอานาปานสติ

มีความสุข รู้ว่าหายใจออก มีความสุข รู้ว่าหายใจเข้า

เพื่อให้เกิดความชำนาญว่าเมื่อมีอารมณ์ปรากฏ

เราอาศัยลมหายใจมาเป็นตัวกำกับสติ

 

เช่นกัน พอมีความโกรธหายใจออก มีความโกรธหายใจเข้า

รู้อย่างนี้ ตอนที่รู้สึกว่าความโกรธหายไป

ให้สังเกตว่า จะไม่ได้หายไปแบบที่เราไปไล่มัน  

แต่เพราะรู้ว่า มีความโกรธหายใจเข้า มีความโกรธหายใจออก

ตัวนี้จะทำให้ชำนาญในการเห็นทุกอารมณ์ไปเรื่อยๆ

 

ถามว่า เป็นการเอาลมหายใจมาแทรกแซงไหม

ก็แทรกแซงอยู่แหละ แต่ถ้าดูไปเฉยๆ ต้องใช้เวลาดูหลายปีมากๆ

ดูไปนานเป็นสิบปี กว่าที่เราจะชำนาญเห็นว่า

มีความโกรธเกิดขึ้น และความโกรธหายไป

ส่วนใหญ่จะหลุด ร้อยครั้งอาจรู้ไม่เกินห้าครั้งหรือน้อยกว่า

 

ยิ่งสติอ่อน หรือจิตอ่อน ยิ่งแล้วใหญ่เลย

พอความโกรธครอบงำไปเรียบร้อย

ก็ไม่รู้จะเอาอะไรมาเป็น reference ว่า

เริ่มตอนไหน หายไปตอนไหน หรือ เบาบางไปเมื่อไหร่

 

แต่ถ้าฝึกแนวที่พระพุทธเจ้าปูไว้ด้วย อานาปานสติ

โกรธแล้วหายใจออก โกรธแล้วหายใจเข้า

รู้ว่าโกรธ .. คือรู้ด้วยนะ ไม่ใช่ไม่รู้

 

คำของพระพุทธเจ้าจะชัดเจนเลย คือ

รู้ว่าโกรธ แล้วหายใจออก รู้ว่าโกรธหายใจเข้า

ในจิตตานุปัสสนา พระองค์บอกว่า

เมื่อมีโทสะอยู่ในจิต ก็รู้ว่ามีโทสะอยู่ในจิต

เมื่อโทสะนั้นหายไป เราก็รู้ว่า โทสะนั้นหายไป

เหลือแต่จิตที่ปราศจากโทสะ

 

ถามว่า ก่อนไปถึงตรงนั้น พระองค์ปูทางไว้อย่างไร

ก็ปูทางไว้ด้วยอานาปานสตินี่แหละ

พระองค์ตรัสไว้ชัดในสูตรอื่นนะว่า

จะเจริญสติ หรือทำกรรมฐานกองไหนก็แล้วแต่

ให้มนสิการ อานาปานสติ ไว้ให้ดี

พูดง่าย คือมีลมหายใจออก ลมหายใจเข้า เป็นเครื่องกำกับสตินั่นแหละ

 

ขอให้เรามั่นใจไว้ก่อนว่า ถ้าจิตเปิด มีสติแบบรู้สบายๆ

ว่ามีสิ่งหนึ่งเกิดขึ้นและสิ่งหนึ่งหายไปจริงๆ

โดยมีลมหายใจเข้า ลมหายใจออกเป็นเครื่องกำกับ

เป็นไปตามทิศทางที่พระพุทธเจ้าสอนแน่

 

แต่จะพัฒนาไปแค่ไหนเป็นสิ่งที่เราจะเห็นด้วยตัวเราเอง

เราจะเห็นวันต่อวันว่าคืบหน้าได้อย่างไร

 

______________

วิปัสสนานุบาล EP ๔๓

วันที่ ๓ มกราคม ๒๕๖๕

ถอดคำ : เอ้

รับชมคลิป : https://www.youtube.com/watch?v=d2zolgbAKDI

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น