วันพฤหัสบดีที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2562

ปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน แผ่เมตตาร่วมกัน


ครั้งนี้ เราจะมานั่งสมาธิและแผ่เมตตาด้วยกัน ซึ่งจริงๆ แล้วก็ไม่ได้มีข้อแตกต่างเป็นพิเศษจากที่เราเคยคุ้นกันมาเท่าไหร่
อย่างเวลาที่เราเคยสวดมนต์ด้วยกันในโบสถ์ ในศาลาวัด หลายๆ วัดก็จะเปิดให้ฆราวาสเข้าไปนั่งสวดมนต์ ทำสมาธิ และแผ่เมตตาด้วยกัน ซึ่งหลายคนคงเคยมีประสบการณ์เหมือนกับว่ามีความสุขราวกับอยู่ในสวรรค์เลยเพราะว่าบางวัด ครูบาอาจารย์ดี แล้วก็พระหลายรูปก็เป็นผู้ทรงสมาธิ แค่สวดมนต์ด้วยกันอย่างเป็นสมาธิแล้วแผ่เมตตาร่วมกันก็มีความสุขล้นหลามแล้ว

แต่ครั้งนี้จะมีข้อพิเศษนิดหนึ่ง ตรงที่เราใช้
:เสียงสติ: เป็นตัวช่วยจูน (tune) จิตให้มีความนิ่ง หรือมีความสุขใกล้เคียงกัน แล้วเอามาแผ่เมตตาด้วยกัน ซึ่งผลเป็นอย่างไร เดี๋ยวเรามาคุยกัน

ก่อนอื่นใดขอพูดถึงตัวความเข้าใจในเรื่องของการทำสมาธิ เพราะที่ผ่านมา ผมว่าไม่เคยมีใครสักกี่คนได้มีโอกาสที่จะเห็นคลื่นสมองของตัวเอง หรือว่าทำความเข้าใจเรื่องเกี่ยวกับการทำสมาธิ เรื่องเกี่ยวกับจิต ผ่านกราฟคลื่นสมอง เพราะถ้าได้เห็นระดับคลื่นสมองผ่านกราฟ จะคุยกันรู้เรื่องมากขึ้น จะมีความเข้าใจว่าที่เรียกว่าความสงบ หน้าตาเป็นอย่างไร หรือว่าความฟุ้งซ่าน แตกต่างไปแค่ไหนนะครับ ซึ่งวันนี้เราก็จะเริ่มด้วยการทำความเข้าใจตรงนี้ เพราะถ้ามีความเข้าใจ จะเกิดทัศนคติ หรือเกิดความเข้าใจที่จะตั้งมุมมองในการทำสมาธิได้ดีขึ้นกว่าเดิม

หลายคนเลย เอาเป็นว่า 70-80
% มองว่าการทำสมาธิเป็นเรื่องลึกลับ เป็นเรื่องการไปหลับตา ทำท่าทางนิ่งๆ และไปรู้ไปเห็นอะไรที่เป็นประสบการณ์หลุดโลก ดังนั้นคนส่วนหนึ่งไม่กล้าที่จะมาทำสมาธิกัน แต่ถ้าหากว่าเรามองอย่างเข้าใจ เป็นวิทยาศาสตร์ มองเป็นเรื่องของคลื่นสมองก่อน แล้วเอามาเปรียบเทียบกับประสบการณ์ภายใน ที่เกิดขึ้น เราจะเห็นว่าจริงๆแล้ว การทำสมาธิ จะลืมตา หรือหลับตา ก็เหมือนกันนั่นแหละ จุดมุ่งหวังคือ เป็นการทำให้คลื่นสมองช้าลง มีความถี่น้อยลง เพื่อที่จะลดการทำงานของสมองส่วนหน้า

จริงๆ แล้ว สำหรับภารกิจประจำวัน สมองส่วนหน้าคือสิ่งที่จำเป็นต้องใช้นะ เพื่อคิดเอาชีวิตรอด แต่สำหรับการนั่งสมาธิ สมองส่วนหน้าถือว่าเป็นแหล่งผลิตคลื่นรบกวนทีเดียว พูดง่ายๆ สมองส่วนหน้า ยิ่งทำงานมากขึ้นเท่าไหร่ ยิ่งทำให้คนหมดความสุขไปมากขึ้นเท่านั้น นี่เป็นแง่มุมมองของคนที่เข้ามาทำสมาธิ เข้ามาเจริญสติ คือยิ่งสมองส่วนหน้าทำงานน้อยลงเท่าไหร่ ใจก็ยิ่งเป็นสุข ยิ่งมีความพร้อมรู้มากขึ้นเท่านั้น

อย่างที่ครูบาอาจารย์ท่านสอน ถ้ายังคิดอยู่ ไม่มีทางรู้ แต่ก่อนจะรู้ได้ ก็ต้องคิดมาก่อน อยู่ๆ ไม่มีใครเกิดมาแล้วมีความสามารถรู้แจ้งเห็นจริง แบบวิปัสสนา รู้ตามจริงว่าอะไรๆ ไม่เที่ยง ไม่ใช่ตัวเดิม ไม่ใช่ตัวตน เป็นไปไม่ได้ ต้องคิดมาก่อน ปัญญาแบบคิดๆ ต้องเป็นตัวนำเสมอ เป็นหัวหมู่ทะลวงฟันเสมอ แต่เมื่อเกิดความเข้าใจว่า จะดูอะไร ตั้งมุมมองอย่างไรภายในแล้ว นี้ก็เป็นเรื่องที่เราจำเป็นต้องลดการทำงานของสมองส่วนหน้าลง ให้คิดน้อยที่สุด เพื่อที่จะตื่นรู้ขึ้นมากที่สุด แล้วก่อนที่จะเข้าสู่ขั้นตอนของการตื่นรู้ หรือสงบลงพร้อมรู้ ก็ต้องมีอุปกรณ์ มีเครื่องมือ เช่น เราจะใช้ลมหายใจที่พระพุทธเจ้าย้ำนักย้ำหนา ให้เป็นศูนย์กลางกรรมฐานทั้งปวง ศูนย์กลางของการเจริญสติทั้งปวง

แต่ว่าที่ผ่านมา จะยุคไหนสมัยใดก็แล้วแต่ มักจะประสบปัญหาเหมือนกันหมด เพราะว่าสมองส่วนหน้าส่งคลื่นรบกวนออกมาตลอดเวลา สมัยพุทธกาล หรือสมัยก่อนพุทธกาลก็ตามจึงมีการให้เข้าป่าเข้าเขา ปลีกวิเวก ถ้าผู้มีกำลังแล้วนี่ เพื่อที่จะลดการทำงานของสมองลง เนื่องจากอะไร ไม่มีผู้คนรบกวน ไม่มีการงานเข้ามาเบียดเบียนจิตใจ ไม่มีผู้คนเข้ามาด่าว่า ไม่มีการยั่วยุกันด้วย รูป เสียง กลิ่น รส ที่ก่อให้เกิดกิเลส ในป่าในเขา เต็มไปด้วยธรรมชาติ ก้อนหินก็ดี น้ำก็ดี หรือว่าท้องฟ้า ปุยเมฆก็ดี เขาพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์มาแล้วว่า สามารถจูนให้จิตของเรา คล้อยลงสู่ธรรมชาติดั้งเดิมของจิตเอง คือมีความสงบจากความคิด

ที่จริง การสงบจากความคิด ในทางวิทยาศาสตร์ไม่มีนะ สงบจริงๆ ไม่มี มีแต่ว่าลดการทำงานของสมองส่วนหน้าลง แล้วทำให้เรามีความรู้สึกว่า จิตใจเงียบสงบ ในหัวมีเสียงรบกวนจากความคิดน้อยลง อันนี้แหละ พอสมองส่วนหน้าทำงานน้อยลง แล้วมีความรู้มากขึ้น ใจจะปลอดโปร่ง จะเกิดความเบา เป็นเหตุให้เกิดความรู้สึกอิ่มใจ เกิดความรู้สึกปีติ เกิดความรู้สึกเป็นสุข แบบที่ตอนกำลังคิดฟุ้งซ่าน จะสุขไม่ได้ ปีติแบบนั้นไมได้นะ 

⇿ ⇿ ⇿ ⇿ ⇿ ⇿ ⇿



ทีนี้มาทำความเข้าใจก่อน คลื่นสมองเอาง่ายๆ ไม่ต้องท่องจำนะ จะมีหลายระดับความถี่ สมองมีคลื่นทุกความถี่ตลอดเวลาอยู่แล้ว แต่สิ่งที่เราต้องการให้มีความพร้อมที่จะทำสมาธิ จะอยู่ระดับ อัลฟ่า (Alpha) ลงมา (อัลฟ่า (Alpha) เธต้า (Theta) และ เดลต้า (Delta) ) ถ้าเอาลงมาอยู่ที่ตรงนี้ได้ ก็จะทำให้มีความผ่อนคลายเนื้อตัว

การผ่อนคลายเนื้อตัวนี่สำคัญมาก ถ้ายังเกร็งเนื้อเกร็งตัวอยู่ ถ้ายังมีความขมวดมุ่น ถ้ายังมีอาการที่เหมือนกับต่อต้านความสงบ ไม่มีทางทำสมาธิได้ ทีนี้การที่เป็นคลื่นอัลฟ่า ก็มีหลายแบบ แต่ผมจะพูดให้ฟังง่ายๆ คร่าวๆ อย่างนี้






นี่เป็นตัวอย่างของผู้หญิง อายุประมาณ 42 ใช้ :เสียงสติ: เริ่มทำก็จะมีความสงบแบบง่วง 2 นาทีผ่านไป ยังมีความสงบ ยังมีอาการตื่นอยู่ แต่พอพ้นนาทีที่ 3 ขึ้นไป จะเริ่มหลับแล้ว

คลื่นที่มีความแตกต่างกัน บอกเราได้อย่างหนึ่งว่า ตอนที่เรายังตื่นอยู่ แล้วก็เหมือนกับมีความสงบแบบง่วงๆ จะสงบมากกว่าตอนที่หลับเสียอีก เพราะคนมักจะนึกกันว่าการนอนหลับคือการพักผ่อนที่ดีที่สุด ผมก็เรียนมาอย่างนี้ตั้งแต่เด็กๆ จริงๆแล้วไม่ใช่นะ สมองอาจทำงานหนักขึ้นกว่าเดิมก็ได้ อย่างตอนที่คุณฝันร้าย ตอนที่คุณรู้สึกว่าหลับไม่สนิท มีแต่ความรู้สึกว่า ยังวิ่งวนไม่หยุด นี่แหละที่ทำให้หลายคน โดยเฉพาะปัจจุบัน ตื่นขึ้นมา แล้วเกิดความรู้สึกว่า ตัวเองเหมือนยังไม่ได้นอนมาสักเท่าไหร่ นอนหลับไม่เต็มอิ่ม เพลียๆ ไม่อยากลุกขึ้นไปทำงาน เพราะอย่างนี้นะ สมองจะกิน จะสูบพลังงานในร่างกายไปถึง 20
% และถ้าหากว่ามันทำงานหนักๆ อยู่ทั้งคืน จะเกิดอะไรขึ้น ก็จะเกิดความรู้สึกเหมือนกับว่า ยังออกแรงอยู่ ยังไม่ได้นอนพักจริงจัง นี่แหละ ตรงนี้ทำให้เราเข้าใจได้ว่า ถ้าฟัง :เสียงสติ: จะมีส่วนช่วยที่ทำให้สงบลงมา
ตัวที่ผมใช้ detect (ตรวจจับ) สัญญาณจากคลื่นสมองเป็นแค่เครื่องตรวจแบบง่ายๆนะ ของราคาถูกๆ อาจตีความคลื่นสมองได้แค่หยาบๆ ว่า สงบ (calm : สีน้ำเงินเข้ม) หรือ กลางๆ (Neutral : สีม่วง) หรือกำลังแอคทีฟ (active : สีม่วงอ่อน) พอใช้ :เสียงสติ: นี่ ช่วงแรกๆ สองนาที อาจจะยังมีความตื่นอยู่ แต่สำหรับคนที่ง่วง โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่ใช้ :เสียงสติ: โดยนอนเอาเพลิน นอนเอาความสบาย พอหลับไปแล้ว จะเห็นเลยว่า คลื่นสมองตีขึ้นมาทันที
บางคนอาจบอกว่า มีความรู้สึกสงบ แล้วก็หลับได้ลึกมีความสดชื่น ตื่นขึ้นมาสบายกว่าปกติ เพราะว่าก่อนที่จะเข้าสู่อาการหลับ มีความสงบนำมาก่อนนะครับ แล้วพอความสงบนำมา ก็เลยเหมือนกัน พอปรุงแต่งให้เกิดคลื่นสมองในแบบที่เป็นผลลัพธ์ที่ตามมา เลยเป็นคลื่นดีๆ

อย่างคนนี้ ก็อาจมีคลื่นความถี่ที่สูงหน่อย แต่ว่าอย่างน้อยไม่ตีขึ้นในระดับ Active แต่ส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นจะเป็น Neutral หรือกลางๆ คือไม่ถึงกับสงบ และไม่ถึงกับ active
Active ไม่ได้เลวร้ายอะไร ถ้าเป็นระเบียบ มีความสูงเท่ากันอยู่เรื่อยๆ แสดงว่ามีโฟกัส (focus) ดี แต่ถ้าตอนหลับยัง active อยู่แล้วก็คลื่นไม่เป็นระเบียบ นี่จะทำให้เกิดความรู้สึกเหนื่อยอ่อน แล้วจะทำให้เกิดความรู้สึกเหมือนกับไม่ได้หลับจริง นี่ก็เป็นความแตกต่างซึ่งพอเอามาดูเป็นกราฟแล้ว จะเกิดความเข้าใจที่ชัดเจนขึ้นนะครับว่าเกิดอะไรขึ้นกับสมองของเรา




 ภาพนี้เป็นของเด็ก 7 ขวบ กำลังเล่นเกม ซึ่งก็เล่นได้เก่งพอสมควร อย่างบางคนก็จะมองว่าเล่นเกมจะทำให้ฟุ้งซ่านอยู่ตลอดเวลาหรือเปล่า แต่จริงๆ พอเอาคลื่นมาแบดูกัน ก็อาจจะประหลาดใจว่าจริงๆ ไม่ได้เป็นความฟุ้งซ่านเสมอไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเขามีโฟกัส เล่นเกมในแบบที่พูดง่ายๆ ว่ามีความเชี่ยวชาญ มีความชำนาญ ในการเล่น การตอบสนองทางร่างกาย จะช่วยให้สมองมีความคงเส้นคงวาได้ 

อย่างอยู่ในย่านความสงบ 
(calm : สีน้ำเงินเข้ม) ถือว่าเล่นแบบไม่ฟุ้งซ่าน เล่นแบบมีความรู้ และที่สำคัญ เล่นแบบมีความมุ่งมั่น ตั้งใจเอาจริงเอาจัง เลยทำให้สงบลงได้ ถึงแม้ว่าจะไม่สม่ำเสมอก็ตาม เพราะว่าโดยธรรมชาติของเกม โดยธรรมชาติของการทำงาน ถ้าหากว่าฉาก หรือภาพที่กระทบตา เสียงที่กระทบหู เปลี่ยนไปเรื่อยๆ ต่างไปเรื่อยๆ จะทำให้จิตมีความไม่สม่ำเสมอนะครับ แต่อย่างน้อย อธิบายเราได้ว่า ขณะเล่นเกม เด็ก 7 ขวบคนนี้มีความนิ่งพอสมควร จะออกมาเกือบๆ ฟุ้งซ่านบ้างแค่นิดหน่อย



เด็กคนเดียวกัน ใช้ :เสียงสติ: ช่วย แล้วก็ดูลมหายใจ ดูความต่างของลมหายใจอย่างเดียว ซึ่งจริงๆ เด็กคนนี้ก็มีทริค (Trick) นิดหน่อยคือ คิดขึ้นมาเองว่านอกจากดูลมหายใจแล้ว ยังนึกถึงว่าอยู่ในสถานที่ๆ ทำให้จิตใจเขาสงบด้วย

จะเห็นความแตกต่างไปเลยนะ คนๆ เดียวกัน แต่คลื่นสมองแตกต่างไปมาก ในช่วง 5 นาทีเหมือนกัน จะมีความสงบในแบบที่ คลื่นสมองจะตีขึ้นสูงน้อยลง ยิ่งระดับคลื่นความสูงน้อยลงเท่าไหร่ ยิ่งแปลว่า มีการทำงานน้อยลง ยิ่งอยู่ในระดับที่อยู่ในโซนของที่เขาเรียกว่า
calm (สีน้ำเงินเข้ม) นี่ ยิ่งบอกได้ว่า ในขณะที่ฟัง :เสียงสติ: โฟกัส ค่อนข้างจะคงที่ ไม่ได้กระโดดขึ้นๆ ลงๆ แบบอันก่อน
คลื่นสมองอันก่อนจะเห็นว่ามีการขึ้นๆ ลงๆ มีความต่างระดับมากกว่ากันเยอะ แต่พอฟัง :เสียงสติ: แล้วมีโจทย์ว่าจะตั้งเป้าอยู่กับลมหายใจอย่างเดียว จะมีความสงบในแบบที่มีโฟกัสดีกว่าเดิมนะ มีความสม่ำเสมอมากกว่าเดิม 




คนนี้ อายุ 52 นะครับ หน้าที่การงานสูง เป็นนายตำรวจ เป็นคนมีวินัย ทำสมาธิด้วยตัวเองมาก่อน จากภาพ เป็นการให้ทำสมาธิเอง โดยที่จะเคยทำอะไรมาก็แล้วแต่ จะบริกรรมพุทโธ หรือว่าดูลมหายใจอย่างไรก็แล้วแต่ เรามาดูช่วง 5 นาที ที่เขาทำสมาธิ จะเห็นว่า คลื่นที่ออกมา อยู่ย่านสงบได้ แต่ว่าการอยู่ย่านสงบ ไม่ได้แปลว่าเป็นสมาธิ แบบพร้อมที่จะรู้เสมอไป อย่างกรณีนี้จะเห็นว่าคลื่นความถี่ จะขึ้นๆ ลงๆ ไม่มีความแน่นอน ไม่ค่อยเป็นระเบียบ ไม่ค่อยสวย



แต่พอใช้ :เสียงสติ: เข้าช่วย นี่เป็นกราฟจากการทำสมาธิโดยอาศัย :เสียงสติ: เข้าช่วย สิ่งที่แตกต่างไปคือ จะมีช่วงของความเป็นระเบียบ พูดง่ายๆ คือ โฟกัส ชัดเจนขึ้น
⇿ ⇿ ⇿ ⇿ ⇿ ⇿ ⇿


ทั้งหมดทั้งปวง ก็เพื่อที่จะอธิบายว่าทำไมคุณถึงเกิดความรู้สึกว่า พอใช้ :เสียงสติ: มันมีความชัดเจน ลมหายใจชัดเจนมากขึ้น ก็เพราะว่าเหมือนกับถูกแหวกม่านความฟุ้งซ่านออกไป เพราะคลื่นสมองที่ออกมาจากสมองส่วนหน้า น้อยลง ลดระดับลง คือลดระดับการทำงานของสมองส่วนหน้าลงนะ ก็เลยเห็นลมหายใจขึ้น

คนเราพอเห็นลมหายใจชัดขึ้น ยาวขึ้น ก็เกิดความรู้สึกว่า ไม่ต้องคิดก็ได้ ทำไมแต่เดิม ต้องคิดวุ่นวายอะไรตลอดชีวิตนะ เกิดความรู้สึกว่า ร่างกายมีความยืดหยุ่น ร่างกายมีความพร้อมที่จะหายใจยาว แล้วก็จิตใจมีความเปิด มีความสบาย พร้อมที่จะรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น ลมหายใจ ณ ขณะนั้น กำลังยาว หรือว่าสั้นอยู่ แล้วลมหายใจที่ยาว พาความรู้สึกเป็นสุข เข้ามา หรือว่า ลมหายใจที่สั้น พาความอึดอัด เป็นทุกข์เข้ามาแทนกัน ก็จะเกิดความสามารถที่จะรู้ได้อย่างชัดเจนต่อเนื่อง

แล้วคนเราพอมีความรู้ มากกว่าความคิด มีความพอใจที่จะรู้ มากว่าที่จะไปฟุ้งซ่านต่อ ในที่สุด จะเกิดความรู้สึกว่า ทั้งเนื้อทั้งตัว จะผ่อนคลาย เบาหวิว จิตใจมีแต่ความสบาย มีแต่ความเปิด แผ่ออกไป มีความสามารถที่จะหน่วงเหนี่ยว รักษาความรู้สึกดีๆ ความรู้สึกที่มีความปีติ มีความสุขไว้ได้นาน แล้วก็จะอยากยิ้มขึ้นมาเอง ไม่ใช่แกล้งยิ้มนะ

หลายคนพยายามทำสมาธิ แล้วก็อยากจะหลอกตัวเองว่าฉันมีความสุขเหลือเกินที่นั่งสมาธิครั้งนี้ หรือถ้าหากนั่งอยู่ต่อหน้าใครเยอะแยะ ยิ่งอยากจะยิ้ม ยิ้มกว้าง แต่เป็นการฝืนยิ้ม จะกลายเป็นทุกข์โดยที่ไม่รู้ตัว

แต่ถ้าหากสมองส่วนหน้าทำงานลดลง ระดับความคิดต่ำลง อยู่ในระดับที่สงบอย่างสม่ำเสมอ จะกลายเป็นยิ้มออกมาเอง เพราะว่าจิตใจผ่อนคลาย เหมือนกับคุณลองนึกดู ถ้าคุณกำลังห่วงกำลังกังวลเรื่องใดเรื่องหนึ่งอยู่ แล้วสามารถปลดล็อคความคิดนั้นได้ เพราะว่าเรื่องที่ห่วงเรื่องที่กังวล กลับดีขึ้นมาแล้ว อย่างนี้ ความรู้สึกห่วงกังวลเกี่ยวกับเรื่องนั้นหายไป ถูกปลดล็อค แล้วก็เกิดความรู้สึกชุ่มชื่นขึ้นมา ดีใจเบิกบานขึ้นมา ยิ้มแย้มแจ่มใสขึ้นมาเอง ตัวนี้ที่เรียกว่า เป็นจิตที่ยิ้ม ไม่ใช่ความคิดที่ยิ้ม

แต่พอเราทำสมาธิ เรามุ่งหวังความสงบ ก็เลยไปสะกดจิตตัวเอง ไปบังคับตัวเองให้ยิ้มออกมาเสียก่อน ทั้งๆที่ใจยังไม่ได้ยิ้มนะ ร่างกายยังไม่ได้พร้อมจะหลั่งสารแห่งการยิ้มออกมา ก็ไปรีบร้อนบังคับ ก็เลยกลายเป็นความรู้สึกอึดอัดที่จะต้องฝืนยิ้มไป แต่ถ้าสมองส่วนหน้าลดการทำงานลง แล้วความคิดหายไปเอง ความคิดอันเป็นต้นเหตุของความกังวลไปในอนาคต หรือความเสียดายย้อนไปข้างหลังในอดีต หายไปหมดเลย เหลือแต่ความรู้สึกว่าไม่ต้องคิดก็ได้ เหลือแต่ใจที่เบา เหลือแต่ใจที่เปิด ที่แผ่ออก ตรงนี้จะต่างไปเลยนะ ต่อให้ไม่ตั้งใจยิ้มก็จะยิ้มออกมาเอง และร่างกายที่ยืดหยุ่น ทำให้ริมฝีปากที่สยายออกมา ไม่ได้ใช้กำลังของกล้ามเนื้อ แต่เป็นการที่มีสภาพผลักดันให้เกิดขึ้นเอง แล้วก็เราจะรู้สึกได้ว่า สิ่งที่เรียกว่า ความสุขที่ไม่ฝืน ไม่ต้องแกล้ง แล้วก็ไม่ต้องพยายาม หน้าตาเป็นอย่างนี้นี่เอง

ทีนี้ พอเราทำความเข้าใจกันว่า :เสียงสติ: ช่วยอย่างไร แล้วทำไมผมต้องใช้ :เสียงสติ: ทำไมไม่ให้พยายามทำกันเอง เพราะว่าที่สอนทำสมาธิมาร่วม 25 ปีนี่นะ ยอมรับความจริงอย่างหนึ่งว่า คนไม่พร้อมจะทำสมาธิ เพราะทุกคน เทรน (Train : ฝึกฝน) ให้สมองส่วนหน้าของตัวเองทำงานหนักทั้งวันทั้งคืน ทุกเดือนทุกปีมาตลอดชีวิต แล้วอยู่ๆ บอกว่า วันนี้ไม่ไหวแล้ว รำคาญเหลือเกินความคิดฟุ้งซ่านนี่ อยากจะสงบ แล้วก็มานั่งบังคับตัวเองให้นิ่ง ให้นั่งนิ่งๆ จะไปสู้การทำงานของสมองส่วนหน้าไม่ไหวนะครับ ต่อให้ปลีกวิเวกออกไป สามวัน เจ็ดวัน สิบห้าวัน รู้สึกดีขึ้นทำสมาธิได้ดีขึ้น แต่พอกลับเข้าเมืองมาทำงาน มันแย่หนักกว่าเดิม เพราะว่าเกิดความถวิลหา โหยหา อยากไปอยู่ป่าอยู่เขา อยากจะปลีกวิเวก ซึ่งนั่นเป็นการแก้ปัญหาไม่ตรงจุดนะครับ

คนเรา ถ้ายังเป็นฆราวาส ไม่สามารถปลีกวิเวกได้ตลอดเวลานะ เพราะต้องทำงานทำการ แต่จริงๆแล้ว มีเครื่องช่วยลดความฟุ้งซ่านมาแต่โบราณ วิหารบางแห่ง ทำเทคโนโลยีเสียงมาตั้งแต่ห้าพันปีที่แล้ว มีความเข้าใจที่นักวิทยาศาสตร์สมัยนี้ก็ยังไม่เข้าใจถ่องแท้นะ พอพูดไป หรือว่าสวดมนต์ไป ตอนอยู่ในวิหารแห่งนี้ จะมีช่องเล็กๆ ที่ตัดเข้าไปในผนัง สะท้อนเสียงออกมาเป็นคลื่น 111 เฮิรตซ์ (
Hz : Hertz) พอดี นี่เป็นเทคนิคของคนโบราณที่พยายามแก้ความฟุ้งซ่านกัน ก็เป็นหลักฐานว่าประวัติศาสตร์ความฟุ้งซ่านของมนุษย์เรามีมาแต่โบราณกาล ไม่ใช่เพิ่งมามีในปัจจุบัน แล้วก็มีคนพยายามที่จะหาเครื่องทุ่นแรงให้คนทั่วไปได้ฟุ้งซ่านน้อยลง เพื่อจะได้อยู่ในพิธีอันศักดิ์สิทธิ์ทางศาสนาด้วยความสงบอกสงบใจมากขึ้น

ปัจจุบัน เรื่องของไบเนอรัล บีตส์ (
Binaural Beats)  ไปลองหาอ่านกันเอาเอง แต่พูดอย่างรวบรัด สั้นๆง่ายๆว่า เป็นเสียงที่ผลิตคลื่นความถี่ที่แตกต่างกัน ระหว่างหูซ้ายกับหูขวา เพื่อให้สมองเราถูกเทรนให้เข้าโหมด (Mode) ที่ต้องการ ให้เข้าเป้าที่ต้องการ คือ ค่าความต่างระหว่างหูซ้าย กับหูขวา จะหักลบกันแล้วได้เป็นค่าของคลื่นสมอง อย่างที่เขานิยมกันมากก็ต้องการให้อยู่ที่ 8-12 เฮิรตซ์ ซึ่งจะอยู่ในช่วงอัลฟ่า อย่างที่เมื่อกี้แสดงให้ดูว่า เป็นช่วงของการรู้สึก relax ผ่อนคลายนะครับ

ตัว :เสียงสติ: ที่ทำมาแจกกัน ใช้เทคนิคอีกนิดหนึ่ง คือใช้ดนตรีนำ เพื่อให้เกิดความผ่อนคลายร่างกายโดยเร็ว แล้วก็จะมีคลื่นพิเศษ ผมผสมย่านความถี่คลื่นพิเศษ ที่จะกระตุ้นสมองให้ไปอยู่ในภาวะที่สงบแบบตื่นรู้ เพราะว่าไบเนอรัล บีตส์ หลายๆ แล็บ ก็ทดลองกันเพื่อจุดประสงค์ต่างๆ บางทีเขาให้สงบแบบเคลิ้ม ด้วยความอยากจะแก้อาการเครียด หรือ อาการซึมเศร้าอะไรแบบนี้นะ

แต่ที่เราจะใช้กัน เราจะใช้ร่วมแผ่เมตตาด้วยกัน พอฟังแล้ว จะเกิดความรู้สึกสงบแบบหนึ่ง มีความสุขเอ่อขึ้นมา แล้วสามารถที่จะรู้สึกถึงการแผ่ออกไปได้ง่ายๆ นี่สำหรับคืนนี้ ผมทำเป็นพิเศษนะ ที่จะนำขึ้นมาด้วยเสียงเพลงอีกแบบที่แตกต่างไป และคลื่นความถี่จะรับกันกับเสียงดนตรีตรงนั้น เพื่อจะนำให้เกิดสมาธิในแบบพร้อมจะแผ่เมตตา ภายในสี่นาที

ขอย้ำกติกา ไม่อย่างนั้นจะไม่เกิดผลนะ คือ ต้องใช้หูฟัง สเตอริโอ ใครจะใช้แบบหูอุดก็ได้ หรือใช้แบบครอบก็จะประกันได้ดีว่าเสียงจะไม่เคลื่อน เพราะใช้แบบหูอุดก็เคลื่อนออกจากรูหูได้ เดี๋ยวเรามาฟัง:เสียงสติ:พร้อมกันนะครับ ใช้เวลาสี่นาที พอเสียงเริ่มขึ้น ไม่ต้องพยายาม อันนี้สำคัญมาก ไม่ต้องพยายามที่จะมีความสุข ไม่ต้องพยายามที่จะสงบ :เสียงสติ: จะช่วยจูนให้อยู่แล้วนะครับ ขอแค่สังเกตความต่าง ระหว่างลมหายใจไปอย่างเดียว รู้ไปอย่างเดียว ไม่ต้องพยายามสงบนะ จะสงบลงเองอยู่แล้วนะครับ แล้วทุกอย่างพอเข้าที่ได้เองภายในอีกสี่นาทีข้างหน้า เราค่อยเจอกัน

สำคัญคือ พอเสียงหาย อย่าเพิ่งลืมตา แค่ฟังผมพูดก่อน พอเสียงหายไป ผมจะพูดต่อเพื่อไกด์ว่าเราจะแผ่เมตตาอย่างไร ให้เกิดทิศทางที่ถูกต้องในการแผ่เมตตา และการแผ่เมตตาร่วมกันจะเหมือนตอนที่เราอยู่ในศาลา อยู่ในโบสถ์ แล้วสวดมนต์ แผ่เมตตาร่วมกัน จะมีความรู้สึกอีกแบบที่แตกต่างจากแผ่เมตตาเองคนเดียว แล้วไม่ต้องจินตนาการไว้ก่อน ไม่ต้องคาดเดาไว้ก่อนว่าจะเกิดอะไรขึ้น ขอแค่รับรู้ไปตามจริงว่า กำลังมีอะไรเกิดขึ้นในใจของเรานะครับ

กติกง่ายนิดเดียว แค่สังเกตความต่างระหว่างลมหายใจนะครับ ว่า พอฟังเสียงไปแล้ว เกิดอะไรขึ้น

(รับฟังไฟล์เสียงโดยคลิกที่ Link ด้านล่าง)


>>>  http://bit.ly/เสียงสติปัดเป่าฟุ้งซ่าน  <<< 


เสียงที่เงียบหายไป ทำให้เราดูเข้ามาได้ไหมว่า ใจของเรายังคงค้างความรู้สึกสงบ ความรู้สึกเป็นสุข มีความกว้าง หรือมีความแคบแค่ไหน แล้วทีนี้ลองดู ใจที่มีความสุข ศูนย์กลางอยู่กับร่างกายของตัวเองในท่านั่งนี้ ถ้าหากว่าเราระลึกว่า ตรงหน้าของเรามีความสุขที่เป็นของคนอื่น ในแบบเดียวกันอีกเป็นร้อยๆ คน เป็นเหมือนกับดวงจิต ที่มีความสุขแบบเดียวกับเรา อยู่ตรงหน้าของเรา ถ้าเรายังหลับตาอยู่ แล้วเหมือนกับมองเห็นความสุขด้วยความรู้สึกที่เป็นความสุขแบบเดียวกันในตัวเรานี่นะ จะเกิดความรู้สึกขึ้นมาว่า คล้ายๆ กับมีทะเล หรือมีมหาสมุทรของความสุขอยู่ตรงหน้า ล้อมรอบตัวเรา มีความรู้สึกที่มีพลังความสุขอยู่รอบตัวเรา

คล้ายกับเราเป็นน้ำถังหนึ่ง หยดหนึ่ง บ่อหนึ่ง ร่วมกันกับความสุขที่เป็นทะเล หรือเป็นมหาสมุทร เป็นน้ำอันเดียวกันนั่นแหละ เป็นความรู้สึกที่เป็นความสุขสีขาวอันเดียวกัน เป็นความสุขที่มีอาการไม่เบียดเบียนกัน เป็นที่ตั้งลักษณะของใจที่ไม่เบียดเบียน จะมีอาการแผ่ออก จะมีอาการของความรู้สึกที่ปลอดภัย ที่อบอุ่น ที่เป็นสุข หรือมีความเยือกเย็นที่จิตใจ แต่อบอุ่นที่ความรู้สึก ยิ่งมีความนิ่ง ยิ่งมีความเย็นได้นานขึ้นเท่าไหร่ ก็จะยิ่งมีความเป็นสมาธินานขึ้นเท่านั้น

ตรงนี้แหละ ที่จะเป็นตัวอย่าง ที่จะเป็นต้นแบบให้เราจำได้ว่า การแผ่เมตตา เริ่มต้นจากความสุขทางใจก่อน ความสุขอันเกิดจากการไม่คิดเบียดเบียนใคร ไม่อยากเบียดเบียนกัน ไม่อยากที่จะไปทำร้าย ทำลาย หรือว่าโต้ตอบกับโลก ที่เต็มไปด้วยความเบียดเบียนนี้ คือเหมือนกับเราสร้างมิติขึ้นมาอีกมิติหนึ่ง ที่แตกต่าง และแยกจากกัน จากมิติที่เต็มไปด้วยการกระทบกระทั่ง และมิติที่มีแต่การทำร้าย ทำลายกัน จะเห็นเลยว่าอาการที่เบียดเบียนกัน มีความกระวนกระวายใจเป็นที่ตั้ง มีความรู้สึกร้อน มีความรู้สึกอยากจะให้เกิดการกระทบกระแทกแบบแรงๆ ขึ้นมา แต่ใจที่แผ่เป็นเมตตา ไม่อยากเบียดเบียน จะไม่อยากเกิดการกระทบกระทั่ง ไม่อยากเกิดความรู้สึกบุบสลาย ไม่ว่าจะฝ่ายเรา หรือฝ่ายเขา ตรงนี้ คือตัวอย่างของสมาธิที่เป็นเมตตานะครับ

ถ้าหากว่าเรารู้สึกได้ นี่ต่อยอดขึ้นไปอีก ว่าความคิดเหมือนส่วนเกินออกมาจากจิตที่เป็นสมาธิ อยู่รอบนอก เหมือนเป็นคนละชั้นกันกับจิตที่สว่าง จิตที่ตื่น จิตที่รู้ ตรงนี้ก็จะทำให้พิจารณาความคิดว่าไม่แตกต่างจากลมหายใจ เป็นแค่คลื่น พัดเข้า พัดออก พัดเข้ามาในหัว แป๊บหนึ่ง แล้วก็สลายตัวไป ถ้าเห็นอย่างนี้ได้ ก็ยกขึ้นเป็นวิปัสสนาแบบที่เราเห็นขันธ์อย่างละเอียดด้วยนะ

คลื่นความคิดก็คือ ขันธ์ ชนิดหนึ่ง เป็นหนึ่งในขันธ์ แล้วก็มีความแปรปรวน แสดงความแปรปรวนอยู่ตลอดเวลา แต่พอเราไปยึดด้วยจิตที่หลงผิด ด้วยจิตที่มีอุปาทานว่าความคิดเป็นตัวเรา เป็นผู้คิด ก็จะรู้สึกมาตลอดชั่วกัปชั่วกัลป์ ว่านี่แหละคือเราคิด มีเราเป็นผู้คิด

แต่พอเห็นด้วยจิตที่เป็นสมาธิชัดๆ ว่าความคิดผ่านมา แล้วผ่านไป ไม่ต่างจากสายลมหายใจเข้าออก ความรู้สึกยึดว่าเป็นตัวเรา จะหายไปหมดเลยนะ เหลือแต่จิตที่รู้ เหลือแต่จิตที่ตื่นว่า ลักษณะของขันธ์ 5 หน้าตาเป็นอย่างนี้นี่เอง คือเป็นของมันอยู่แต่เดิมนั่นแหละ แต่เราเอง พอหลงผิด หลงเข้าใจผิด จิตไปยึดว่าเป็นตัวเรา จะเกิดมโนภาพ เป็นชาย เป็นหญิง เป็นเรา เป็นเขา เป็นศัตรู เป็นเพื่อน เป็นพ่อ แม่ ลูก ตรงนี้ถ้าเราสามารถเห็นได้เป็นตัวอย่าง ก็เท่ากับได้ทิศทางแล้วว่า เขาเจริญสติกันอย่างไร!
_______________________
ปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน แผ่เมตตาร่วมกัน อาศัย :เสียงสติ: ช่วย
20 เมย. 2563

Youtube : 
http://bit.ly/2UVK5bd



วันพุธที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2562

สามารถเจริญทางโลกและทางธรรมควบคู่กันไปได้ไหม?

ถาม : คนเราจะสามารถเจริญทั้งทางโลกและทางธรรมควบคู่กันไปได้ไหม หรือต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง?


ปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน ระงับความฟุ้งซ่านก่อนนอน
วันที่ 16.2.2019

ดังตฤณ : เวลาที่พระพุทธเจ้าสอนเรื่องการดับทุกข์ ถ้าอ่านดูในหลักฐาน ท่านจะขึ้นต้น ดูกรภิกษุ ... พูดง่ายๆ ว่าท่านเน้นสอนเจริญสติให้กับภิกษุ ถ้าหวังเอาความก้าวหน้าทางธรรมกันจริงๆ

แต่อย่างไรก็ตาม ท่านก็แสดงเทศนาธรรมชั้นสูงกับฆราวาสบางคน แล้วไม่ใช่มีแต่ผู้ใหญ่ เด็กๆ ก็มีนะ อย่างนางวิสาขะ อายุเจ็ดขวบเท่านั้น ท่านแสดงธรรม ไล่มาตั้งแต่ง่ายๆ ขึ้นไปถึงการเห็นว่าอะไรๆ ในตัวไม่ใช่ตัวเดิมอยู่ตลอดเวลา มันกำลังแสดงความไม่เที่ยง จนกระทั่งนางวิสาขาเห็นออกมาจากข้างในว่า จริงๆด้วย ไม่มีอะไรที่ซ้ำของเดิม จะต่างไปเรื่อยๆ ที่เป็นเหยื่อล่อให้ยึดเป็นตัวเป็นตน เป็นแค่ของชั่วคราว แต่เรายึดจริงจังตลอดกาล ท่านมองเห็นความจริงตรงนี้ ท่านก็บรรลุธรรม เป็นพระโสดาบันได้

ยังมีฆราวาสอีกมากมาย ที่ท่านก็ยังประกอบกิจ หรือว่าทำมาค้าขาย ทำมาหากินแบบชาวบ้าน ยังแข่งกับฆราวาสคนอื่นอยู่ แต่ท่านก็สามารถบรรลุธรรมกันได้ แล้วในความเป็นจริง พระพุทธเจ้าถ้าตรัสสอนชาวบ้าน ชาวเมืองที่ยังเป็นฆราวาสอยู่ โดยมากเราจะเห็นว่าเป็นธรรมะขั้นพื้นฐาน ให้มีใจรักในทาน รักในศีล พอขึ้นเรื่องการภาวนา ท่านแยก ท่านเน้นไปสอนภิกษุ ภิกษุณี นั่นเพราะอะไร เพราะว่าคนเอาจริง พิสูจน์ตัวเองโดยการทิ้งบ้านทิ้งเรือน ไปบวชกัน

แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าเราไม่นิยามว่า ความเจริญทางธรรม หมายถึงความเจริญแบบเข้มข้นในระดับเดียวกับพระภิกษุ หรือพระภิกษุณีในสมัยพุทธกาล ที่ท่านจะเอามรรค เอาผลกัน อย่างเร็ว เจ็ดวัน อย่างกลางเจ็ดเดือน อย่างช้าเจ็ดปี ถ้าไม่เอาแบบท่านแบบนั้น เอาแค่ว่า เราสะสมมุมมองหรือว่าประสบการณ์ภายใน ในการเห็น เพื่อที่จะไปตัดสินใจเอาทีหลังว่า จะบวช หรือไม่บวช หรือว่าแก่กล้าขนาดที่เราไม่ต้องบวช เราก็สามารถอยู่กับบ้าน แล้วเอาอย่างนางวิสาขา หรือ อนาถบิณฑิกเศรษฐี ... เป็นเศรษฐีเลยนะ ได้ธรรมขั้นสูงด้วย เป็นถึงพระอนาคามี ซึ่งเหมือนกับพูดง่ายๆ สละเรือนแล้ว

ทีนี้ ประเด็นอยู่ตรงนี้ คือการเจริญทางโลก คนส่วนใหญ่นิยามว่า คือการได้เงินเยอะๆ หรือว่าการมีตำแหน่งหน้าที่ มีหน้ามีตา มียศมีศักดิ์สูงๆ บอกว่า ผมอยากวิ่งเต้น จะเอานายพล หรือจะเป็นพลตำรวจด้วย แล้วก็ขอเป็นพระอนาคามีด้วยได้ไหม ถ้าคำถามอยู่ในใจประมาณอย่างนี้ ก็แปลว่าเข้าใจผิดตั้งแต่เริ่มต้น

เราเอาความเจริญก้าวหน้าทางโลกในแบบที่สามารถจะใช้เป็นเปลือกห่อหุ้มให้ชีวิตรอด เพื่อมาปฏิบัติธรรม เอาแก่น เอาแก่นเป็นธรรมะ อย่างนี้ได้ แต่ถ้าบอกว่า ทะเยอทะยาน มุ่งมั่น อยากจะเป็นนั่นเป็นนี่  อยากเป็นนายกฯ อยากเป็นปลัดกระทรวง หรือว่า อยากจะได้บ้านราคาประมาณ สองร้อยล้าน อะไรอย่างนี้ ความทะเยอทะยานแบบนั้น มันมีตัวตนที่รุนแรงเกินไป มันมีโมหะ มีตัวโลภะที่ล้ำออกไปเกินกว่าที่สติจะรู้ทัน หรือว่าพิจารณาว่า นี่ไม่เที่ยงนะ นี่ไม่ใช่ตัวเดิมนะ คือถ้าแรงขนาดนั้น มันแล่นออกไปแล้ว ไปไกลเกินกว่าจะกู่แล้ว

แต่ถ้าบอกว่า โอเค ปีนี้รู้สึกว่าฐานะยังง่อนแง่น น่าจะตั้งหน้าตั้งตาเก็บหอมรอมริบ หรือว่าหางานเพิ่ม หาจ๊อบเสริม หรืออาจบอกว่า ตำแหน่งหน้าที่การงานตรงนี้ยังเหมือนกับเอาแน่เอานอนไม่ได้ เราควรจะพัฒนาฝีมือ ทำงานที่ใจรัก แล้วก็ทำประโยชน์ให้สังคมกว้างๆ ในขณะเดียวกัน สังเกตเข้ามา จิตของเรากำลังเป็นทานอยู่หรือเปล่า ที่ทำงานนี่ ที่กำลังบอกว่าอยากจะเอาศักยภาพของตัวเอง มาใช้ให้เป็นประโยชน์ ให้เกิดกับสังคม หรือให้เกิดกับศาสนา ใจของเราเป็นทานจริงๆ หรือเปล่า
คิดให้ก่อนหรือเปล่า หรือว่า คิดเอาก่อน อย่างไหนนำมา อย่างไหนมาก่อนกัน

ถ้าคิดให้ก่อน จิตเป็นทาน ถึงแม้จะทำอาชีพ ทำหน้าที่อะไรที่ดูคล้ายจะมีกิเลส แต่จริงๆแล้ว คือให้ก่อน ผมยกตัวอย่าง เช่น ทำของที่มีคุณภาพออกมาขาย แล้วก็ด้วยเจตนาเริ่มต้น คือไม่ได้คิดถึงเงินก่อน แต่คิดว่า เราอยากให้ในตลาดมีของอะไรดีๆ กับผู้บริโภคบ้าง ใจที่เป็นทาน นำออกไปก่อนแบบนี้ จะมีความชุ่มชื่น มีความสามารถที่จะมองเข้ามาแล้วบอกตัวเองได้ว่า จิต กำลังสว่าง หรือกำลังมืด เพราะจิตที่คิดให้ทานนำมา จะมีความสว่างแบบหนึ่ง ที่ทำให้เกิดความรู้สึก หลับตาลงแล้วสบายใจ รู้สึกชุ่มชื่นใจ รู้สึกพร้อมที่จะพัฒนาขึ้นต่อยอดไปเป็นสมาธิ

หรืออย่างถ้าในการทำงานของเรา เราตั้งใจอยู่อย่างแน่วแน่ว่า จะไม่ไปโกงใคร จะไม่โฆษณาชวนเชื่ออะไรผิดๆ จะไม่ฉกชิง หรือไปเบียดเบียนคนอื่นด้วยวิธีที่ผิดศีลผิดธรรม ตัวนี้ก็เกิดความสบายใจขึ้นมาอีกแบบว่า ที่เราหาอยู่หากิน ไม่ได้ไปเบียดเบียนใคร บางทีอาจแข่งขันกัน แต่ไม่ใช่เบียดเบียนด้วยวิธีผิดๆ คือแข่งขันโดยชอบธรรม เหมือนกับคนเล่นกีฬา เวลาชนะ ก็รู้สึกว่าเราไม่ได้ทำร้ายจิตใจเขา เราไม่ได้ตั้งใจไปทำให้เขาเกิดความเจ็บช้ำน้ำใจ เพราะถ้าเราแพ้ เราก็แพ้แบบสมศักดิ์ศรีเหมือนกัน ชนะ เราก็ชนะแบบที่ไม่ได้ไปละเมิดกติกาอะไร ตัวความสบายใจที่เราไม่ได้ทำผิด ทำบาปตรงนี้แหละ ที่จะสามารถทำให้ความรู้สึกภายใน ยังคงพร้อมจะเห็นอะไรตามจริงอยู่ได้

แล้วถ้าหากว่า ศีล ของเรา ถึงขั้นที่บอกตัวเองว่า จะทำมาหากิน ค้าขายอะไรก็ตาม เรากลั่นเอาชีวิตของเราทั้งหมดออกมาเป็นประโยชน์กับโลกมากกว่าที่จะเป็นโทษ คือบางทีอาจไปเบียดเบียนคู่แข่งบ้าง หรือ จะต้องพูดอะไรที่ไม่ได้สะอาดปราศจากมลทินเต็มร้อย อาจต้องตามเจ้านายบ้าง อาจเพื่อนร่วมงาน หรือต้องอยู่ในขบวนการที่จะต้องพูดไม่ตรงไปตรงมาบ้าง อย่างน้อยที่สุด เราบอกตัวเองได้ว่า เราอยู่ในทิศทางที่จะทำให้โลกนี้ได้รับประโยชน์จากชีวิตเรา ก่อนเราเกิดมา โลกเป็นยังไงอยู่ พอเราเกิดมาแล้ว อาชีพการงานของเราทำให้โลกนี้ดีขึ้นได้บ้าง เราบอกตัวเองได้เต็มปากเต็มคำอย่างนั้น ถือว่าเป็นความก้าวหน้า ความรุ่งเรืองในชีวิตแบบโลกๆ ที่ไม่ขัดกันกับความก้าวหน้าทางธรรมนะ แล้วความเจริญก้าวหน้าที่ว่านี่ จะสามารถเห็นว่า ไปควบคู่กันได้ กล่าวคือ เมื่อเราทำงาน ทำเต็มที่อย่าไปพยายามตั้งโจทย์ว่า จะทำยังไง ถึงจะทำงานไปด้วย แล้วก็ปฏิบัติธรรมไปด้วย คนตั้งโจทย์แบบนี้ เสียเวลาพายเรืออยู่ในอ่างกันเป็นสิบยี่สิบปี แล้วก็ไม่ได้อะไรเลย

แล้วถ้าหากว่าถึงเวลาทำงานทำเต็มที่ ทำจนกระทั่งพบขึ้นมาว่า ไม่ต้องทำงานอยู่ทุกนาทีก็ได้ ทำๆ ไป ก็พักได้ ไม่มีใครมาจ้องว่าเราพักหายใจกี่นาที ตอนที่เราสามารถพักหายใจได้ โดยไม่ต้องเอาจิตไปจดจ่อโฟกัสกับงาน ตอนนั้นเราแค่มาดู จิต ฟุ้งมากหรือฟุ้งน้อย หายใจเข้าครั้งหนึ่ง หายใจออกครั้งหนึ่ง เห็นความแตกต่างขึ้นที่ภายในบ้างหรือเปล่า ถ้าฟุ้งจัดจะรู้สึกเหมือนมีอะไรดิ้นๆ อยู่ในหัว มีแรงดันที่ชัดเจนเลยว่า โป่งๆ ออกมา แต่พอลมหายใจต่อมามันแฟบลงได้ แค่นี้ ก็เป็นการปฏิบัติธรรมในออฟฟิศแล้ว นั่งอยู่ในที่นั่งทำงาน ก็หายใจแบบนั้นได้ รับรู้แบบนั้นได้ แล้วก็ก้าวหน้าขึ้นไปเรื่อยๆ ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าหากว่า ที่ทำงานของคุณ คุณเกิดความรำคาญ ความฟุ้งซ่านในหัวตัวเองอยู่แล้ว ถกเถียงอะไรกันก็ไม่รู้ในห้องประชุม รู้สึกเหมือนมีอะไรยุ่งๆ พันๆ ในหัว กลับมานั่งที่โต๊ะ นั่งไม่ต้องหลับตาก็ได้ นั่งดูดอกไม้บนโต๊ะ หรือมองเพดาน หายใจทีหนึ่ง หายใจอีกที ความดันในหัวมีความต่างกันจริงด้วย

แค่นี้ ถ้ามีเวลาทำงานอยู่ในออฟฟิศยี่สิบปี แปลว่าคุณมีเวลา 365 คูณ 20 นะ ก็ราวๆ 7 พัน ถึง 8 พันวัน คุณมีความก้าวหน้าในการปฏิบัติธรรม ทั้งที่ไม่ต้องไปปฏิบัติที่วัดก็ยังได้ ถ้าในปีที่ 20 ในออฟฟิศของคุณ สามารถบอกได้ว่า หน้าที่การงานของคุณมาถึงระดับผู้จัดการแล้วนะ แล้วก็การปฏิบัติธรรมของคุณเห็นภาวะความฟุ้งซ่านโดยความเป็นของไม่เที่ยงได้ ตัวนี้ชัดเจนนะ คือทั้งทางโลก และทางธรรมควบคู่ไปด้วยกันได้ คุณจะเห็น หรือไม่เห็น หรือว่าอยู่ในทิศทางถูกหรือไม่ถูกเท่านั้นเองนะครับ!

วันศุกร์ที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2562

เราสามารถตัดรอนกรรมเก่า หรือคำอธิษฐานได้ไหม


ถาม : ผมคิดว่าป่วยเพราะกรรมเก่า เคยอธิษฐานเมื่อ 20 ปีที่แล้วว่าถ้าทำชั่วอีก ขอให้ป่วยไม่หาย แล้วก็ทำชั่ว และป่วยไม่หาย เราสามารถตัดรอนกรรมเก่า หรือคำอธิษฐานนั้นได้ไหมครับ?

ดังตฤณ : ก็ให้ตั้งความเชื่อไว้นะครับ ว่าการอธิษฐานเป็น พลัง ชนิดหนึ่ง
ผมเองก็เคยมีประสบการณ์มาเหมือนกัน บอกว่าถ้าทำไม่ได้อย่างนั้นอย่างนี้
ขอให้ต้องรับความทุกข์ แล้วก็เป็นไปตามนั้นจริงๆ คือได้เห็นความทุกข์สาหัสสากรรจ์ในชีวิต

เรื่องการอธิษฐาน เรามักเห็นเป็นเรื่องเล่นๆ หรือ เห็นว่าสบาย เราผ่านได้ง่ายๆ ตอนอธิษฐาน
... แต่ตอนที่เกิดผลยืดเยื้อเป็นปีๆ นี่ เข็ดเลยนะ ไม่ใช่อย่างที่คิด ชีวิตไม่ได้ง่ายอย่างนั้น

ก็ให้ตั้งความเชื่อไว้อย่างนี้ก็แล้วกัน ว่าการอธิษฐาน การที่เราทำผิดอะไรไป เป็นพลังชนิดหนึ่ง เป็นพลังฝ่ายลบ เป็นพลังฝ่ายอกุศล เป็นพลังฝ่ายมืด ถ้าหากว่าเราเอาพลังที่เป็นกุศลเพิ่มเข้ามาในชีวิต แล้วก็ขอสู้กับตัวเอง สู้กับความผิดของตัวเอง สู้กับตัวตนที่ไม่ดีของตัวเอง เอาตัวตนที่ดี ที่มุ่งมั่นตั้งใจที่จะลบล้างความผิด ทำให้เจริญขึ้นมาในตัวเรา กลายเป็นตัวจริงๆของเรา ก่อนตายให้ได้ ในที่สุดก็จะเห็นผลเหมือนกัน คือ เอาคำของพระพุทธเจ้าเป็นหลักยืนยัน ให้เกิดความสบายใจ ให้เกิดแรงบันดาลใจก็ได้

ท่านเคยตรัสไว้ว่าให้คิดว่า บาปเก่า เหมือนกับก้อนเกลือก้อนหนึ่ง ถ้าหากว่าเราใส่ก้อนเกลือนั้นลงในแก้วเล็กๆ แล้วเทน้ำลงไป เกลือก็ยังเค็มอยู่ น้ำกินเข้าไปก็ยังเค็มปี๋
แต่ถ้าเปลี่ยนภาชนะให้ใหญ่ขึ้น เอาถังใหญ่ๆ มาใส่เกลือก้อนเท่าเดิมลงไป น้ำที่มีปริมาตรเท่ากับถังใหญ่ ย่อมให้ความรู้สึกว่าเค็มน้อยลง ทีนี้ถ้าเอาโอ่งมาโอ่งหนึ่งเลย ใส่น้ำให้เต็ม แล้วหย่อนเกลือก้อนเดียวกันลงไป เราจะรู้สึกว่าแทบไม่ได้รสความเค็มเลย ได้อยู่แค่นิดๆ แล้วถ้าหนักขึ้นไปกว่านั้นอีก ใช้ภาชนะที่มีปริมาตรมากขึ้นเรื่อยๆ เช่น แทงก์น้ำพันลิตร ใส่ก้อนเกลือลงไป ทีนี้ไม่ได้รสเค็มแล้ว ทั้งๆ ที่เกลือก็ยังเป็นเกลือก้อนเดิม เกลือยังมีรสเค็มอยู่อย่างนั้น แต่เนื่องจากว่าเราเอาปริมาตรของน้ำถมทับเข้าไปจนกระทั่งเหมือนกับหายไป

ไม่ใช่ว่าทำให้ก้อนเกลือหายไป แต่ทำให้รสเค็มของเกลือ เจือจางจนกระทั่งไม่เหลืออยู่ ก็เหมือนกันกับที่พระพุทธเจ้าท่านตรัส ถ้าหากว่าเรามีกำลังใจ มีแรงบันดาลใจมากพอ เคยไปรู้สึกผิด เคยทำ เคยผิดคำอธิษฐาน ผิดคำสัจจะของตัวเอง อะไรก็แล้วแต่ ให้ตั้งความเชื่อไว้ว่า นั่นเป็นก้อนเกลือก้อนหนึ่ง ถ้าหากว่าชีวิตที่เหลืออยู่ของเรา ใช้ไปในทางที่จะทำให้ก้อนเกลือนั้นเจือจาง ใส่น้ำเข้าไปเยอะๆ เอาความดี ทำความดีตั้งแต่เช้าจรดเย็น แบบไม่คิดชีวิต แล้วตั้งไว้ในใจว่า ขอให้รสเค็มของก้อนเกลือนั้นจางลงๆ จนกระทั่งไม่เหลือ ในที่สุดเราก็จะรู้สึกว่า ความสุข ความสดชื่นอันเกิดจากการทำบุญ ตั้งหน้าตั้งตาชดใช้ความผิด เกินความรู้สึกเป็นทุกข์

คืออาการทางใจจะมาก่อน ใจเป็นใหญ่ ใจเป็นประธานนะครับ ทำทุกอย่างสำเร็จได้ด้วยใจ เมื่อใจของเรารู้สึกเป็นสุขขึ้นมาได้ จากการทำบุญเป็นปกติ มีแต่คิดให้ ให้เปล่า มีแต่คิดจะรักษาศีลให้สะอาดหมดจด จะมันจุกอกตายยังไง เราก็รักษาศีลก่อน นอกจากนั้นก็เจริญสติบ้าง เท่าที่จะทำได้ เมื่อบุญประกอบพร้อมทั้งทาน ศีล และการเจริญสติ จนกระทั่งใจรู้สึกปลอดโปร่ง ใจรู้สึก เหมือนลืมๆ ความรู้สึกผิดตรงนั้นไป คุณจะพบว่า อาการที่ยืดเยื้อทางกาย ... ถ้าตรงกันจริงๆ ไม่ใช่เราเข้าใจไปเองนะ ... ถ้าตรงกันจริงๆ ว่าตอนนี้เราป่วยไม่หาย เพราะคำอธิษฐาน แล้วเราไปผิดคำอธิษฐาน ร่างกายจะค่อยๆ แสดงความปลอดโปร่งมากขึ้น

ถ้าอธิบายเป็นวิทยาศาสตร์ก็บอกว่า ร่างกายหลั่งสารดีๆ เช่น เอนโดรฟินออกมา ให้มีความสุข กล้ามเนื้อผ่อนคลาย พอกล้ามเนื้อผ่อนคลาย เลือดลมก็จะเดินดีทั่วร่างกาย ตรงนี้โรคภัยต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โรคเวร โรคกรรม ก็จะค่อยๆ ถูกปลิดทิ้งไปทีละกระบิๆ จนหายขาดได้

นี่ก็เป็นวิธีเดียวที่เราจะคิดได้แบบพุทธนะครับ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น กรรม และผลแห่งกรรม เป็นอจินไตย วิบากกรรมเป็น อจินไตย แปลว่า รู้ได้ก็ต่อเมื่อมีอภิญญา ชั่งน้ำหนัก ชั่งตวงวัดได้ ว่าอันไหนบุญ อันไหนบาป อันไหนหนักกว่ากัน

แต่ถ้าเป็นคนทั่วไป ไปนึกๆ คิดๆ เอา คิดไม่ออกนะ คิดไม่ได้ ไม่สามารถพยากรณ์ได้ ไม่สามารถรับรองได้ว่า ทำแค่ไหนถึงจะหาย เอาเป็นว่า พยายามทำให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ พยายามดีที่สุดเท่าที่จะดีได้ ตรงนี้แหละ ที่สุดนะครับที่เราจะเติมน้ำตามหลักของพระพุทธเจ้าเพื่อละลาย หรือเจือจางรสเค็มของเกลือ!
https://www.youtube.com/watch?v=5ukVRdsJiLE

วันพฤหัสบดีที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2562

อานิสงส์ของการทำทานทีละน้อยแต่บ่อยๆ Vs. ทำทานก้อนใหญ่ทีเดียว


ระหว่างทำทานน้อย แต่ทำไปเรื่อยๆ กับ เก็บเงินก้อนแล้วทำเรื่องใหญ่ผลบุญต่างกันอย่างไรคะ ถ้าตั้งใจเก็บเงินทำบุญใหญ่แต่ตายก่อน ทำยังไงคะ?

ดังตฤณ : พระพุทธเจ้า ถ้าเอาคำแนะนำของท่าน ท่านแนะนำให้ทำทานในทันทีที่อยากทำ
สำนวนพระพุทธเจ้าคือบอกว่า มีความเลื่อมใสในการทำทานเมื่อใด เมื่อนั้นเป็นโอกาสดีที่สุดที่จะทำทาน

อย่างบางคนบอกว่า ไม่มีเงิน เลยไม่มีโอกาสได้ทำบุญ นี่เข้าใจผิดมากเลย นึกว่าการทำทาน คือการต้องใช้เงิน
จริงๆ แล้วแค่ออกแรงช่วยคน อย่างเห็นคนหกล้ม ไปประคองเขาขึ้นมา นั่นก็เรียกว่าเป็นการทำทานแล้ว การให้แรงเป็นทาน การให้กำลังเป็นทาน

หรืออย่างเห็นเด็กหิวข้าว หิวน้ำ มายืนเกาะโต๊ะ แล้วซื้อให้เด็กกิน แค่อะไรที่ไม่กี่สิบบาท แล้วรู้สึกปลื้ม รู้สึกอิ่มยิ่งกว่าเด็กอีก ปลื้มไปเป็นวันๆ ปลื้มไปเป็นอาทิตย์ นั่นแหละ ตัวนี้คือเรื่องของการให้ผล เป็นความสุขอันเกิดจากการให้ทาน ณ เวลาที่เราอยากช่วย

บางทีการช่วยให้เด็กหายหิวพอทบทวนแล้ว เอ๊ะ ทำไมปลื้มกว่าตอนที่ไปทำบุญใหญ่ อลังการ คนยกให้เป็นหัวหน้านำสวด ถวายอะไรแบบนี้ ตอนนั้นกลับไม่ค่อยรู้สึกอะไร นี่แสดงให้เห็นที่พระพุทธเจ้าท่านตรัส (คือ) ของจริงนะ
เมื่อใดก็ตามมีจิตเลื่อมใสคิดให้ทาน เมื่อนั้นคือเวลาที่ดีที่สุดที่จะทำทาน ไม่ว่าจะเล็ก ไม่ว่าจะใหญ่

ทีนี้ตัวคำถามบอกว่า ทำทานน้อยๆ แต่ทำทานไปเรื่อยๆ ต้องถามตัวเองว่า อยากที่จะช่วยใคร หรือว่าแค่อยากจะทำบุญ
ถ้าแค่อยากจะทำบุญ สะสมไปเรื่อยๆ จนกลายเป็นความเคยชิน ลืม
! ว่าเราสะสมไปเรื่อยๆ เป็นไปเพื่ออะไร เพื่อช่วยใคร แล้วใจเราอยากช่วยหรือเปล่า ถ้าลืมแบบนี้ ในที่สุดจะเกิดความเคยชิน เกิดความรู้สึกเฉยๆ ทำแล้วไม่เกิดความรู้สึกเป็นสุขอะไรขึ้นมาเลย

หรือถ้าบอกว่า เก็บเงินก้อนใหญ่ ไว้ทำเรื่องใหญ่ ก็ต้องถามตัวเองว่าระหว่างเก็บ มีความตั้งใจ มีความมุ่งมั่นแค่ไหน บางคนมีความมุ่งมั่นสูงมาก ว่าถ้าได้ก้อนนี้เท่าไหร่ จะไปทำแบบนี้ อย่างที่เห็นง่ายๆ ก็บอกว่า ชีวิตนี้อยากสร้างพระประธานสักองค์หนึ่ง อย่างผมเอง คือเมื่อหลายปีก่อน อยู่ๆ เกิดนึกขึ้นมา อยากได้ความชุ่มชื่นที่เกิดจากการสร้างพระประธาน แล้วก็ตั้งใจทำเลย

ตอนแรกตั้งใจทำองค์เดียว ตอนนี้ ก็มีเส้นทางของมันนะ คือก็กลายเป็นว่าได้เพื่อนร่วมแนวมาสร้างพระกัน ตอนนี้เป็นร้อยๆ องค์ ซึ่งตอนที่อยากสร้างนี่ ก็คิดเรื่องเงินนะ ว่า สมควรแก่ฐานะหรือเปล่า เพราะว่าผมก็ไม่ได้มีมากมายอะไรนะ แต่อยากทำจริงๆ แล้วก็ตั้งใจจริงๆ ที่จะทำ ก็ เอ้า พอมีอยู่ ก็ดูว่าราคาสร้างพระพอไหวไหม อะไรแบบนี้ ก็รู้สึกว่าน่าจะพอไหว แล้วเรารู้สึกว่าไม่ได้เบียดเบียนใคร แล้วไม่เบียดเบียนตัวเองด้วย ไม่ได้ทำให้ครอบครัวมีฐานะตกต่ำลงอะไรแบบนี้ ก็ทำเลย คือตั้งใจเอาจริง ก็มาไถ่ถามจากเพื่อนๆ สหธรรมิก ญาติธรรมในแฟนเพจดังตฤณนี่แหละ ว่ามีใครรู้จักมั้ย วัดที่ยังขาดพระประธาน อยากทำจริงๆ แล้วก็ตามใจตัวเอง คือตามบุญของตัวเอง แล้วก็รู้สึกว่า ตรงนี้พูดง่ายต้องวัดใจกัน ต้องใช้กำลังใจกันด้วยเงินก้อนอะไรแบบนี้ ก็รู้สึกว่าประสบความสำเร็จทางใจ ไม่เอาเรื่องข้างนอกนะ ประสบความสำเร็จทางใจว่าได้ทำตามที่ใจต้องการ ตรงนี้ที่สำคัญ

คือพอเราสะสมเงิน สะสมทองมา แล้วเกิดความรู้สึกว่าสามารถใช้สิ่งที่เราสะสม ทำอะไรบางอย่างให้สำเร็จ ไม่จำเป็นต้องเป็นบุญเรื่องการสร้างพระอย่างเดียว เป็นบุญชนิดอื่นๆ หรือเป็นการช่วยเหลือสังคม เป็นการช่วยเหลือคนด้อยโอกาสบางกลุ่ม อย่างเด็กดอยไม่มีโรงเรียน ไปสร้างโรงเรียนให้เขา เขาไม่สามารถที่จะมามีความรู้ ความเข้าใจเรื่องการใช้ชีวิตอะไรดีๆ ก็เอาความรู้ไปให้เขา แบบนี้ ก็เรียกว่า ทำของใหญ่สำเร็จเหมือนกัน ซึ่งบางทีไม่ได้ใช้เงินเยอะ แต่ว่ารวมกลุ่มกลับคนที่เขามีใจรัก ที่จะทำ แล้วก็ร่วมมือกันทำให้เกิดความสำเร็จขึ้นมา

การที่เป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จ ก็คือการตอบสนองความต้องการ ความปรารถนา ตั้งต้นอันเป็นสิ่งตั้งต้นของเรานั่นแหละ ก็กลายเป็นบุญใหญ่ได้เหมือนกัน

ฉะนั้นสรุปว่า ระหว่างการทำทานน้อยๆ หรือว่าการสะสมเงินก้อนเพื่อทำเรื่องใหญ่ เพื่อทำบุญใหญ่ ไม่ใช่ตัวประเด็นว่าเราจะได้อานิสงส์มากน้อยเสมอไป ขึ้นอยู่กับว่าใจของเรา กำลังใจ ความอยากจะทำ แล้วการที่ได้ทำสำเร็จ ตามใจปรารถนา องค์ประกอบพวกนี้สำคัญ มีส่วนสำคัญทั้งสิ้นเลย

ขอให้จำเป็นคีย์เวิร์ดไว้แล้วกัน ตามที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้ เมื่อไหร่มีใจเลื่อมใสในการให้ทาน เมื่อนั้นเป็นโอกาสดีที่สุดที่จะทำทานนะครับ คำว่าความเลื่อมใสนี่ก็คือ มีใจอยากช่วยนั่นเอง มีใจอยากช่วยใครแล้วช่วยสำเร็จ ตรงนั้นเป็นบุญจริง เป็นการให้ทานจริง แต่ว่าการเอาเงินไปหยอดกระปุก หรือหยอดใส่ตู้ตามวัด บางทีต้องสำรวจใจเหมือนกันว่า ตกลงเราได้ทำบุญจริงหรือเปล่า ใจกำลังคิดอยากช่วยอยู่หรือเปล่า

อย่างบอกว่าวัดนี้ดีนะ อยากจะหยอด เป็นค่าน้ำค่าไฟ นี่เรียกว่าอยากช่วย แต่ถ้าเพื่อนบอกว่า หยอดเสียหน่อยสิ ถือว่าเป็นการทำบุญด้วยกัน ตอนนั้นใจไม่ได้นึกอะไรเลย เพื่อนบอกให้หยอดก็หยอด หยอดตามหน้าที่ หยอดโดยใจแห้งๆ อยู่ หรือบางที บางคนคิดว่าเราจะหยอดไปทำไม บาท สองบาท เอาไปทำประโยชน์ได้หรือเปล่า หรือว่าใครจะเอาไปหรือเปล่า ลักขโมยไปทำอย่างอื่นอะไรต่างๆ พูดง่ายๆ ไม่ได้คิดเป็นบุญ แต่คิดในทางที่ฟุ้งซ่าน

ทำบุญตอนฟุ้งซ่าน ความฟุ้งซ่านนี่ติดตัวไปด้วยนะ นี่พุดแบบให้คำแนะนำไปในตัวเลยนะ เมื่อใดก็ตามที่กำลังฟุ้งซ่าน ที่กำลังคิดไม่ดี อย่าเพิ่งทำบุญ เคลียร์ใจตัวเองให้ได้ก่อน ตกลงกับตัวเองให้ได้ก่อนว่าที่จะทำบุญเป็นไปเพื่ออะไร อยากช่วยใครอยู่ ใจมีความรู้สึกอยากช่วยไหม มีความรู้สึกเห็นดีเห็นงามอะไรบางอย่างที่จะไปช่วยเขาไหม

ถ้ายังมองไม่เห็นแล้วฝืนทำไป บางทีกลายเป็นต้นเหตุของการเกลียดบุญขึ้นมาได้ พอนึกถึงการทำบุญขึ้นมาทีไร นึกถึงความฝืนใจทุกที นึกถึงคำขู่ บอกว่าถ้าไม่ทำบุญ เดี๋ยวชาติหน้าจะอัตคัต จะเกิดมาแล้วไม่มีอะไร เป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องนะ

โอกาสในชีวิตของคุณมีอยู่เยอะแยะที่จะนึกอยากช่วยเหลือคน ถ้าหากว่าอยากช่วยใครแล้วช่วยทันที ให้ได้ตัวอย่างความรู้สึกชุ่มชื่นใจ แล้วเก็บมาเป็นนิสัยในการทำบุญ เห็นก่อนว่าเราอยากจะช่วยใครให้ได้ดีขึ้น ให้ได้ดีมีสุขมากขึ้น แล้วลงมือช่วยด้วยความฉลาดที่สุดเท่าที่จะทำได้ ด้วยกำลังทรัพย์ ด้วยกำลังแรงกาย ด้วยกำลังสมองที่เป็นตัวของเราจริงๆ เป็นชีวิตของเราจริงๆ เป็นต้นทุนในการทำบุญของเราจริงๆ ตัวนี้แหละที่จะได้ความชุ่มชื่นใจสูงสุด แล้วก็กลายเป็นเส้นทางของการมีนิสัยในการทำบุญแบบรู้ว่า ตัวเองกำลังทำอะไรอยู่

ไม่อย่างนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คนยุคเราสมัยเรา เจอเยอะ เจ้านายมาเรี่ยไร เพื่อนมาเรี่ยไร หรือญาติพี่น้องบอกว่าไปทำบุญด้วยกัน เสร็จแล้ว บุญคืออะไร นึกไม่ออก ตรงนี้ก็กลายเป็นต้นเหตุให้ฝืนใจทำบุญ แล้วก็เกลียดบุญกันได้นะครับ!

ปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน วิธีรู้ว่าตัวเองทำบุญเด่นมาทางไหน

▶▶ คำถามช่วง – ถามตอบ ◀◀
30 มี.ค.2019


ยิ่งภาวนา จิตเหมือนยิ่งทุกข์มากขึ้น เพราะเหตุใด


เริ่มฝึกจิตปฏิบัติมาสักพัก แต่ทำไมแรงดึงดูดถึงเหวี่ยงไปเจอแต่สิ่งที่ไม่เป็นที่รัก ที่ไม่ชอบใจเลย รู้สึกเหมือนยิ่งฝึกยิ่งเจอทุกข์?


ดังตฤณ : พอคนเข้ามาสู่เขตธรรมะของชีวิต มักจะมีข้อสงสัย หลายคนก็มีข้อสังเกตที่แตกต่างกันไป อย่างบอกว่า ทำไมตั้งใจถือศีลแบบเอาจริง คือตั้งใจจริงๆ ไม่ใช่แค่ไปสมาทานศีลที่วัด ... ปานาติปาตา เวระมะณี ... แบบนั้น ไม่ได้ตั้งใจที่จะถือศีล แต่แค่ตั้งใจที่จะสวดตาม ยังไม่เข้าเขตธรรมะจริง

แต่เมื่อไหร่ก็ตาม ถึงแม้ว่าเราไม่ได้ไปสมาทานศีลที่วัด แต่ตั้งใจจริงๆ ว่า การฆ่าเราไม่เอา ไม่เอาจริงๆ การคดโกง แม้กระทั่งว่า ไปเอารัดเอาเปรียบเขาในแบบที่มีโอกาส ก็ไม่ทำ หรือบางคนตั้งใจว่า เจอของตก เจอเงินของใครหล่น เราจะเก็บไปคืนเจ้าของ หาทางคืนเจ้าของ แค่ตั้งใจแบบนี้ จะมีปาฏิหาริย์มาลองใจเลยนะ บางคนแค่ตั้งใจว่าถ้าเจอเงินหล่น ไม่ว่าจะเจอที่ไหน จำนวนมากแค่ไหน เราจะพยายามเอาไปคืนเจ้าของ หรือถ้าทำอะไรไม่ได้เลย เจอเศษสตางค์ไม่กี่บาท เราก็จะไม่เก็บขึ้นมา ด้วยความตั้งใจว่าเดี๋ยวให้เจ้าของเขากลับมาเจอของเขาเอง

แค่ไม่กี่วัน หรือในช่วงนั้นเอง มีเงินตกล่อตาล่อใจให้เห็นเลยนะ หลายคนแปลกใจกับเรื่องแบบนี้ว่า บังเอิญหรือเปล่า ไม่อยากเชื่อว่าเป็นเรื่องจริงนะ แค่ตั้งใจไปวันก่อนว่าจะไม่ทำ ถ้าเกิดเหตุอย่างนั้นอย่างนี้ แล้วก็มีเรื่องมาลองใจเลย ตรงนี้แหละ ที่ทำให้หลายๆคนได้เกิดความเข้าใจว่า จักรวาลทั้งจักรวาล คือการจัดฉาก คือการลองใจ คือการที่ธรรมชาติเขาโยนสิ่งต่างๆ มา ให้ปรากฏกับชีวิตเรา แล้วให้โอกาสเราตัดสินใจเลือกว่าจะเอายังไงกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้า

ถ้าไม่ตั้งใจอะไรเลย ก็จะถูกเหวี่ยงไปตามแรงของกรรมเดิม บุญเก่า หรือว่าบาปเดิมนี่ ในอดีตเคยทำไว้ยังไง ก็จะอยู่ใน
DNA ของเรา อยู่ในฤกษ์เกิด แล้วก็จะกลายเป็นแผนของชีวิต เส้นทางที่เราจะต้องไปเจอโน่น เจอนี่ ซึ่งพอเจอแล้วเกิดปฏิกริยายังไง อยากจะโต้ตอบกับมันยังไง นี่ก็เป็นการทำกรรมใหม่

แต่ถ้าเมื่อไหร่เราตั้งใจบอกว่าจะถือศีล เราอยากจะรักษาศีลให้ได้ ก็จะมีอะไรมาบีบให้อยากผิดศีลขึ้นมาแบบปัจจุบันทันด่วน บางคนเจอในวันเดียวกันกับที่อธิษฐาน บางคนอาทิตย์หนึ่งต่อมา บางคนเดือนหนึ่งต่อมา มาล่อลวง มายั่วยุให้อยากผิดศีล ถ้าหากว่าผ่านได้ ก็จะกลายเป็นคนที่มีศีลมีธรรมต่อไปนะ แล้วก็จะพบว่า เรื่องยั่วยวน หรือว่าเรื่องมาเย้ามาแหย่ มายุให้ละเมิดศีลจะห่างออกไปเรื่อยๆ ห่างออกไปไกล จนกระทั่งชีวิตเหมือนจะไม่มีอะไรมารบกวนจิตใจให้ต้องอยากผิดศีล แล้วก็สภาพชีวิตจะเหมือนยกระดับขึ้นมา จากภาวะที่เต็มไปด้วยสิ่งที่บีบให้ใจเราคิดว่าต้องผิด ไม่ผิดไม่ได้ ... จะยกระดับขึ้นมาสู่ระดับชีวิตอีกแบบที่ทำให้รู้สึกว่า ... ไม่เห็นจะต้องผิด (ศีล) เลย ทำไมคนอื่นจะต้องผิด(ศีล) กันด้วย ตรงนี้ชีวิตก็จะบอกเราว่า เราตั้งใจอย่างไร ก็จะได้อย่างนั้น

คำถามนี้ก็เหมือนกัน บอกว่า ตั้งใจฝึกจิต ตั้งใจปฏิบัติธรรม ทีนี้ขึ้นอยู่กับว่า ของเดิมของเรามาแบบไหน เพราะว่าแต่ละคนเริ่มปฏิบัติธรรมไม่เหมือนกันนะ แต่สิ่งที่จะเหมือนกันอย่างหนึ่งก็คือ มีเครื่องกระทบ

บางคนมีเครื่องกระทบเป็นความทุกข์ อย่างกรณีที่เจ้าของคำถามบอกมา ก็บอกว่าเจอสิ่งที่ไม่เป็นที่รัก ไม่น่าชอบใจ นี่เขาก็ให้เครื่องฝึกมา ว่าเวลาเจอสิ่งกระทบมีปฏิกิริยาอย่างไร จะได้เจริญสติไง จะได้มีสติเห็นว่า ปฏิกิริยา หน้าตาเป็นอย่างนี้ พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้ใน อายตนบรรพ ว่า วิธีฝึกรับเครื่องกระทบก็คือดูว่า เข้ามาทางหู ทางตา หรือทางไหน แล้วใจโต้ตอบออกไปเป็นอย่างไร โต้ตอบออกไปด้วยความยึดมั่นถือมั่น แบบที่เป็นราคะ แบบที่เป็นโลภะ แบบที่เป็นโทสะ หรือว่าแบบที่เป็นโมหะ

อย่างโลภะนี่ไม่ต้องยกตัวอย่างนะ เห็นแล้วอยากได้แบบผิดๆ หรือเปล่า หรือว่าอยากได้ธรรมดา โอเค ไม่มีปัญหา แต่ถ้าอยากได้แบบผิดๆ ผิดเพศ ผิดวัย ผิดฐานะ หรือว่าผิดสภาพของตัวเอง แบบนี้ก็ให้รู้ว่าเกิดการยึดในแบบผิดๆ ขึ้นมา เกิดการอยากได้แบบผิดๆ ขึ้นมา
หรือ โทสะ ในแบบที่กรุ่นๆ อยู่ในใจ หรือว่าอยากด่าออกปาก ถ้าอยากด่าออกปาก ท่านก็แนะนำให้ระงับ ฝึกที่จะระงับ ฝึกที่จะข่มใจ ฝึกที่จะมีขันติ ไม่ให้ของร้าย ของร้อน พ่นออกจากปากของเรา
หรืออย่างมีคนมาแห่แหน ชื่นชม หรือว่ามาให้กำลังใจในแบบที่ผิดๆ ทำให้เกิดอัตตา ทำให้เกิดมานะที่ลุ่มหลงในตัวตน ท่านก็ให้พิจารณาว่า ปฏิกิริยาทางใจของเราที่มีคนมาชื่นชม ทำให้เกิดความหลงตัวแบบผิดๆ
หรือเราไปทำผิดมาแท้ๆ แต่เขาได้รับผลประโยชน์ เขามาชื่นชม เขามาเชียร์ ตรงนี้ก็ต้องไม่ลืมว่าสิ่งที่เขาชม เขาเชียร์ เป็นการชม หรือเชียร์เพื่อที่จะให้เราดีขึ้นหรือว่าเลวลง
นี่ก็เป็นเรื่องของการเจริญสติ การฝึกสติให้อยู่ในที่ในทางที่จะรู้ว่าปฏิกิริยาทางใจของเรา เป็นอย่างไร

ในทางกลับกัน พอปฏิบัติธรรม มีแต่อะไรดีๆ เข้ามากระทบ มีแต่อะไรที่ถูกต้องเข้ามา แล้วก็ทำให้เกิดความลุ่มหลง ทำให้เกิดความยินดี ทำให้เกิดความรู้สึกปรุงแต่งไปในทางที่พูดง่ายๆว่า ติดดี หลงไปในผลของบุญ ผลของกุศลอะไรแบบนี้ ท่านก็ให้พิจารณาเช่นกันว่า นี่ยึดอยู่หรือเปล่า ว่านี่ของเรา นี่เป็นหน้าตาของเรา นี่เป็นทรัพย์สินอะไรที่จะเข้ามาหาตัวเรา มาสู่ตัวเรา

ถ้าหากว่าเราไม่ได้มีการพิจารณาปฏิกิริยาทางใจ บางทีก็ไม่ได้ผิดทางโลกนะ คนมีความสุข จะให้ไปคิดอะไรอย่างอื่น อันนี้ว่ากันตามประสาโลก แต่ถ้าว่ากันตามประสานักปฏิบัติธรรม หรือว่าคนเจริญสติ แม้สิ่งที่เข้ามากระทบแล้วเกิดความรู้สึกดีกับตัวเอง เกิดความรู้สึกว่าชีวิตยอดเยี่ยมมาก แบบนี้ ท่านก็ให้พิจารณาว่านี่แหละ ปฏิกิริยาทางใจในแบบที่จะทำให้ยึดติดว่า นั่นเป็นของๆเรา นั่นมีส่วนเกี่ยวข้องกับเรา นั่นเป็นตัวตนของเรา นั่นเป็นตัวที่น่าพอใจของเรา

ตอนแรกอาจรู้สึกว่า ไม่รู้จะเห็นไปทำไม แต่ถ้าสามารถที่จะเห็นปฏิกิริยาทางใจได้บ่อยๆ ว่า มีอะไรมากระทบ ให้เรารู้สึกไม่ดีก็ตาม หรือมีอะไรมากระทบให้เรารู้สึกดีมากๆ ก็ตาม แล้วเกิดความยึดมั่นถือมั่นในแบบไหน เห็นความต่างไปของอาการยึดมั่นถือมั่นแต่ละชนิดได้ แล้วเกิดความรู้สึกว่า ตกลงที่นึกว่าเป็นของเรา ที่นึกว่าเป็นตัวเรา จะด้านดี หรือด้านร้ายก็ตาม มันสักแต่เป็นปฏิกิริยาลวง ลวงใจ ชั่วคราว เป็นขณะๆ พอมีความรู้สึกดี วันนี้พรุ่งนี้ เอ้า กลายเป็นความรู้สึกแย่ขึ้นมาได้

หลายคน จริงๆ นะ พอตั้งใจปฏิบัติธรรม ที่เคยได้อะไรแต่ดีๆ กลายเป็นมีบางอย่างมาบั่นทอนให้เสียกำลังใจ ให้เสียความรู้สึกเกี่ยวกับตัวเอง เสียเซลฟ์อะไรแบบนี้ หรือบางคน ในทางกลับกัน ชีวิตมีแต่อะไรแย่ๆ มาตลอด แต่พอตั้งใจปฏิบัติธรรมเท่านั้นแหละ อะไรดีๆ พุ่งเข้าหามาแบบโครมครามเลย แล้วก็ไปให้ข้อสรุปว่าปฏิบัติธรรมแล้วจะมีอะไรดีๆ เข้ามาในชีวิต ซึ่งไม่ใช่นะ แล้วแต่คน แล้วก็แล้วแต่กาลด้วย

ให้คิดง่ายๆ อย่างหลวงปู่ หลวงตา ครูบาอาจารย์ของเราเอง ยังเล่าให้ฟังว่า ท่านปฏิบัติธรรมมา ปฏิบัติขั้นอุกฤษ ปฏิบัติจนได้ผลแล้วบ้าง แบบมีความปลอดภัย มีความพ้นทุกข์แล้วบ้าง บางทีท่านก็เล่าให้ฟังว่า ความเจ็บไข้ได้ป่วยก็ยังมาเยือนอยู่ หรือว่าบางทีคนมากลั่นแกล้ง บางท่านก็ประสบอุบัติเหตุก็มี อะไรแบบนี้

ฉะนั้น อย่าไปตั้งข้อสรุปง่ายๆ ประเภทที่ว่าปฏิบัติธรรมแล้ว อะไรดีๆ จะเข้ามาอย่างเดียว มันไม่ใช่ธรรมชาติแบบนั้น แต่ ปฏิบัติธรรมแล้ว มีสติ ไม่หลง ไม่ไขว้เขว ไม่เป๋ไปกับอะไรที่ ดีบ้าง ไม่ดีบ้าง ตัวนี้ต่างหากที่คือแก่นสาร ที่คือสาระ ของการปฏิบัติธรรมนะ

อะไรจะพุ่งเข้ามาใส่ชีวิต เมื่อตั้งใจปฏิบัติธรรมก็ตาม ให้เราใช้เป็นเครื่องสำรวจ เป็นเครื่องตรวจสอบ หรือว่าเป็นแบบทดสอบ ว่าสอบผ่านหรือเปล่า ถ้าสอบผ่าน จำไว้ง่ายๆ เลย จะดูเข้ามาที่ใจ ว่าใจสวนออกไปอย่างไร โต้ตอบกับเหตุการณ์ภายนอกอย่างไร

แต่ถ้าสอบไม่ผ่าน จะไม่ดูเข้ามาที่ใจ แต่จะเกร็งกำลังภายใน ฮึดสู้ หรือไม่ก็ เกิดความรู้สึกว่า ภายในนี่ อัตตาข้างใน มันถูกทำลาย ถูกบดขยี้ ให้ป่นปี้ไปอะไรแบบนั้น ตรงนี้ก็คือ ไม่ได้เจริญสติจริง ไม่ได้ปฏิบัติธรรมจริงนะ
.. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. ..

ปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน วิธีรู้ว่าตัวเองทำบุญเด่นมาทางไหน
▶▶ คำถามช่วง – ถามตอบ ◀◀
30 มี.ค.2019


วิธีรู้ว่าตัวเองทำบุญเด่นมาทางไหน


ปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน วิธีรู้ว่าตัวเองทำบุญเด่นมาทางไหน

บางคนรู้เลยว่าตัวเองมีดีมาทางไหน พูดเก่งหน้าตาดี บางคนหล่อ บางคนสวย แล้วก็เหมือนกับพอพูดไป มีคนฟัง มีคนให้ความสนใจ มีคนจ้าง เอารูปร่างหน้าตาไปเป็นจุดขาย หรือว่ามีราคาแบบที่เห็นได้ชัดว่าทำให้ตัวเองอยู่ได้ หรือว่ามีชื่อเสียง หรือว่ามีคนรู้จัก มีคนจำได้ 

นี่ก็เป็นลักษณะแสดงตัวแบบหนึ่งของบุญที่เห็นได้ชัด ที่ออกมาทางหน้าตา พวกนี้ก็จะไม่ใช่แค่ทำทาน รักษาศีลดี แต่จะต้องเคยเอาตัวเองเป็นที่ดึงดูดความสนใจ ยกตัวอย่างเช่น อันนี้แค่ยกตัวอย่างนะ เหมือนเวลาที่ตัวเองจะไปทำบุญอะไรดีๆ ก็เอาความรู้สึกเป็นสุข เอาเรื่องที่ตัวเองไปประสบมาในการทำบุญมาให้ญาติพี่น้องฟัง ให้พลอยปลื้มตาม อย่างศรัทธาครูบาอาจารย์องค์ไหน ก็เอาตัวเองไปถ่ายทอดให้คนใกล้ตัวฟัง หรือคนจำนวนมากๆ ได้รับรู้ตามว่า ครูบาอาจารย์รูปนั้นรูปนี้ ท่านเทศน์ดีนะ หรือว่า มีความสามารถในการจะทำให้ตัวเองได้เกิดความรู้ ความเข้าใจในธรรมะ เลยพลอยทำให้คนอื่นได้อานิสงส์ มีความศรัทธา มีความปลื้มปีติ

อย่างบอกว่ายังไม่รู้จักพุทธศาสนา หรือว่าศาสนาอื่นๆ ก็ตาม แล้วเราได้เอาตัวเองเป็นเหมือนกับเครื่องเชื่อมต่อ เอาตัวเองเป็นเครื่องทำให้เขาเกิดความรับรู้ตาม อย่างนี้ก็ทำให้เกิดรูปร่างหน้าตา คือไม่ใช่แค่รูปร่างหน้าตาที่ดี แต่มีเสน่ห์ มีลักษณะของการดึงดูด อันนี้แค่ยกตัวอย่าง

แต่ถ้าเป็นคนทั่วไปที่ไม่ได้รูปร่างหน้าตาดีเด่น หรือว่าไม่ได้มีลักษณะที่จะเอาไปพรีเซนต์แล้วเกิดการรู้จัก เกิดการสนใจได้ ก็มักสงสัยกันว่า เอ๊ะ ตัวเองนี่มีบุญ เคยทำบุญเด่นๆ มาทางด้านไหนบ้างไหม หรือว่าจะใช้วิธีใด เป็นเครื่องสังเกต ตัวเองจะได้เอาไปต่อยอด นี่ก็มีหลายคนเคยถามกันมาเรื่อยๆ ว่าถ้าอย่างที่เป็นปกตินี่นะ เรื่องการเจริญสติ เรื่องการภาวนา ก็มักจะสงสัยว่าตัวเองเคยมีดีทางกรรมฐานด้านไหน จะได้เอามาต่อยอดถูก หรือว่าตัวเองมีดีทางการทำทาน การทำบุญด้านไหน จะได้ทำเพิ่มเพื่อหวังจะเห็นผลว่า ฉันมีบุญทางด้านนี้ แล้วก็จะได้เอามาเป็นเหมือนกับทิศทางในการดำเนินชีวิต

ข้อสังเกตง่ายๆ ว่าเราเคยทำดีหรือว่าเคยทำบุญด้านไหนเด่นๆ มา ซึ่งมักพูดในแง่ของการทำทาน การให้ การช่วยเหลือหรือว่าเคยทำนุบำรุงพระพุทธศาสนามาในด้านใด อะไรแบบนี้

ดูง่ายๆเลยว่า เราทำอะไรแล้วเกิดเป็นประโยชน์กับวงกว้างได้บ้าง อันนี้จะมีเครื่องหมาย มีนิมิตหมายบอก ซึ่งแต่ละคนไม่เหมือนกัน ไม่จำเป็นต้องลอกเลียนแบบ หลายคนเกิดแรงบันดาลใจ หรือว่าเกิดอยากจะได้เงินตามคนอื่น ที่เขาทำดี ทำเด่นอย่างเช่น ร้องเพลงแล้วดัง เห็นเพื่อนข้างบ้าน หรือว่าเพื่อนในชั้นเรียน หรือว่าใครที่อยู่ใกล้ตัว เห็นเขาร้องเพลงแล้วเด่นดังได้ ตัวเองก็เสียงคล้ายกับเขาเหมือนกัน ก็หัด ก็พยายาม หรือว่าใช้วิธี ใช้ช่องทางเดียวกันกับเขา แล้วปรากฏว่า ไม่ได้ดังแบบเขา ก็เกิดข้อสงสัย ... เสียงฉันก็ดีพอๆกับเขานะ แต่ทำไมร้องแล้วไม่ดังเท่า หรือว่าไม่ได้รางวัลจากการประกวดแบบเดียวกันทั้งๆที่เดินตามรอยกันมาเลย

ตรงนี้ก็เป็นการแสดงออกของบุญที่ทำมาไม่เหมือนกันได้เช่นกัน อย่างบางคนอาจสวดมนต์ ไม่ใช่แค่สวดให้ตัวเองได้ยินอย่างเดียว แต่เหมือนกับมีการแผ่เมตตาไป ขอให้เทวดาทั้งหลาย สิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายได้ยินได้ฟัง หรือเอาแบบที่เป็นรูปธรรมชัดเจน บางคนมีหน้าที่สวดนำในวัด หรือในที่ประชุมสงฆ์ หรือว่าบางคนเป็นหัวหน้านักเรียน แล้วได้สวดนำ นี่ก็เป็นการทำบุญด้วยเสียงแล้ว มีผลกระทบกับจิตใจของคนจำนวนมากๆ แล้ว ถ้านำสวดได้อย่างดี นำด้วยความตั้งใจ นำแล้วคนอื่นอยากสวดตามในแบบที่จิตใจเกิดความรู้สึกสงบ เกิดความรู้สึกถึงศรัทธาจากภายใน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่อง “ศรัทธา” ถ้ามีประกายของเสียงออกไปทำให้คนเกิดความรู้สึกตามกันได้มากๆ มีผลมากเลยนะ กับเสียงที่จะทำให้คนในชาติต่อมา ฟังแล้วเกิดความรู้สึกติดใจ หรือเกิดความรู้สึกว่ามีพลังดึงดูดบางอย่างที่อยากอุดหนุน อยากจะตามไปซื้อเก็บไว้ทุกอัลบั้มอะไรแบบนี้

บางคน ทำธุรกิจอย่างอื่นไม่รุ่งเท่าไหร่ แต่พอมาทำเรื่องเกี่ยวกับดอกไม้ การจัดดอกไม้ หรือว่าการตกแต่งสวยๆ งามๆ อะไรแบบนี้แล้วรุ่งขึ้นมาทันที มีแต่คนแห่เข้ามาชมว่า จัดดอกไม้สวย เก๋ แปลก ไม่เคยเห็นที่ไหนมาก่อน นี่ก็เป็นประเภทที่เหมือนกับอาจเคยถวายดอกไม้พระ แต่ไม่ใช่ถวายแบบ ซื้อจากตลาดมาแล้วใส่ที่ฝาบาตรของพระ แบบนั้นไม่ได้ใช้กำลังใจอะไรเท่าไหร่ แต่เป็นประเภทที่ ที่ผมเห็นนะ หลายคนเลยที่คิดเอง ว่าอยากจะจัดให้งานที่เกี่ยวกับงานทางศาสนาอะไรแบบนี้ ให้มีความสวยงาม ประดับประดาตกแต่งสถานที่ให้เกิดความรู้สึกว่า เข้ามาแล้วอย่างกับสวรรค์

พวกนี้เอาแค่กำลังใจ เอาแค่จิตใจ วาดภาพขึ้นมาราวกับว่า มีสวรรค์ปรากฏอยู่ในใจ แล้วทำให้สำเร็จตามใจได้ แบบนี้นอกจากจะมีรูปร่างหน้าตางดงาม หรือว่ามีสถานที่อยู่ที่เรียกว่า ไปเกิดในท้องของคนที่อยู่ในตระกูลแบบว่ามีบ้าน มีทรัพย์สินศฤงคารที่น่าดูน่าชม หรือว่าโอ่อ่าอลังการ

นอกจากนั้น ถ้าบุญไม่ได้ให้ผลในแบบไปเกิดกับคนที่มีบ้านสวย ก็อาจออกแนวที่ว่าถ้าทำอะไรของตัวเอง ทำธุรกิจของตัวเอง ที่เกี่ยวข้องกับความสวยความงาม การประดับประดา ตกแต่ง ก็เกิดความรุ่งเรือง เกิดความรู้สึกเหมือนกับมีชื่อเสียงหอมหวน ใครต่อใครอยากจะมาจ้างทำ มาซื้อหา อย่างพวกสถาปนิก ก็จะมีสถาปนิกที่เก่ง แล้วก็ไม่เก่ง มีสถาปนิกที่ออกแบบสวย แล้วก็ไม่สวย มีสถาปนิกที่ต่อให้ใช้เครื่องมือ ใช้ซอฟต์แวร์ยังไง ออกมาก็มีจุดที่ทำให้คนรู้สึกว่า ไม่ค่อยชอบ ไม่ค่อยอยากจะดู ในขณะที่บางคน ออกแบบกับมือ แค่ร่างๆ ก็กลายเป็นแบบที่สวยงามขึ้นมาได้ พวกนี้ก็เหมือนเคยมีส่วนที่ทำให้คนจำนวนมาก ได้มีที่อยู่ที่อาศัยที่สวยงาม หรือว่าเคยไปทำงานประดับตกแต่ง ซ่อมแซมโบสถ์อะไรแบบนี้

สรุปง่ายๆว่า ถ้าอยากจะรู้ว่าตัวเองเคยทำบุญที่มีความเด่น ที่มีลักษณะเฉพาะเป็นเอกลักษณ์ของตัวเองมาแบบไหน ก็ให้สังเกตเอาว่า ในชีวิตนี้ทำอะไรออกไปด้วยความสามารถ ด้วยความรู้ความเข้าใจตามมีตามเกิด แล้วเกิดประโยชน์ แล้วเกิดมีค่า มีราคากับคนทั่วไป

อย่าสังเกตเอาจากเงินอย่างเดียวนะ เพราะว่าในช่วงเริ่มต้นของหลายๆ คน โดยเฉพาะวัยรุ่น หรือวัยเด็กบางทีถ้าเราไปดูกันจริงๆ ความสามารถหรือว่าอะไรที่เป็นประโยชน์ที่ออกมาในช่วงเด็ก ช่วงวัยรุ่น ยังไม่ได้ทำเงินหรอก แต่จะเรียกความสนใจ หรือว่าทำประโยชน์ให้เกิดขึ้นได้กับเพื่อนพ้อง กับคนในครอบครัว มีใครต่อใครให้ความรู้สึกว่า เรามีประโยชน์ เรามีราคาทางด้านนั้น

แค่ตรงนี้ ถ้าเราไม่ละเลย แล้วมาพยายามที่จะพัฒนาให้กลายเป็นความสามารถ กลายเป็นสิ่งที่เราจะทำจริงๆ ด้วยใจรักก็เท่ากับเราเดินไปตามทางที่บุญเก่าปูทางให้ไว้แล้ว ขอยกตัวอย่าง อย่างผมเอง ผมรู้ตัวว่ามีความสามารถ มีความถนัดในเรื่องของการเขียน ตั้งแต่ประมาณ ป.5 ป.6 นะ

ยุคนั้น คนรอบข้างไม่มีใครที่จะเอาดีทางเรื่องการเขียนกันสักเท่าไหร่ ไม่มีใครเกิดความมั่นใจว่าจะเขียนอะไรให้ใครอ่านได้ ผมก็เป็นคนที่เหมือนกับ กลัวเหมือนกันว่า ถ้าเราขีดเขียน เราแต่งเรื่องอะไรไปจะเป็นการผิดวัย ไม่สมวัยหรือเปล่า คือไม่มีผู้ให้การสนับสนุนเลย แต่ว่าพอมีเพื่อนที่เขาเขียนนิยาย เขียนแค่สามหน้านะ แต่เรารู้สึกว่า เขาเขียนแล้ว มันอ่านสนุก ก็เกิดความรู้สึกอยากเขียนนิยายตามเพื่อนบ้าง ซึ่งเด็ก ป.5 ป.6 พอรู้สึกว่าเด็กวัยเดียวกันมีความสามารถเขียนนิยายได้ แค่สามหน้านะ แต่ว่าเป็นอะไรที่สนุกน่ะ เราก็รู้สึกว่าเราก็ต้องทำได้เหมือนกัน

ทีนี้ประเด็นคือว่า พอลองทำ พอมีอะไรมาจุดประกายแล้วเราลองทำ ก็พบว่า มีเพื่อน มีพี่น้องของตัวเอง คุณพ่อ คุณแม่ บอกว่า อ่านแล้วสนุก เด็กนี่พอทำอะไรเอง ริเริ่มทำอะไรเองแล้วมีคนชม ก็เกิด
กำลังใจ Point มันอยู่ตรงนี้นะ ถ้าเราไม่ได้ลงมือทำ บางทีก็ไม่มีประตูเปิดให้บุญเก่าเข้ามาหา อย่างถ้าเห็นเพือนเขียนนิยายสามหน้า แล้วผมไม่ได้เกิดความรู้สึกว่าอยากจะเขียนบ้าง ไม่ได้เกิดความกล้าที่จะเอาชนะความไม่รู้แบบในวัยนั้น ก็จะไม่เห็นว่า มีการตอบสนองจากคนอ่าน หรือว่าคนที่มายืนต่อคิวกันเลยสมัยนั้น ในห้องยังจำได้ความรู้สึกตรงนั้น คือภูมิใจมาก แล้วก็ทำให้เราเขียนมาเรื่อยๆ แต่ว่าเขียนแบบไม่ต่อเนื่องเท่าไหร่ คือจะว่าเป็นคนมีพรสวรรค์ทางการเขียนเสียทีเดียวก็ไม่ได้ เพราะว่าในหัวช่วงสมัยเด็กๆ ช่วงสมัยวัยรุ่น ยังเรียบเรียงความคิดไม่ค่อยดี ไม่ค่อยเป็นเส้นตรง ไม่ค่อยเป็นระบบนะ จะนึกอะไรได้ตามอารมณ์ ก็เอามาเขียน เอามาเหมือนกับปรุงแต่งให้เกิดความพอใจเฉพาะตัวเอง บางทีใครอ่านแล้วสนุก ไม่สนุก เราก็ไม่รู้นะ

แต่ว่าพอจุดชนวนติด เขียนแบบที่ทำให้คนอื่นเขาอ่านแล้วเกิดความชอบใจได้ ก็กลายเป็นเส้นทางที่พอเรามาสนใจพุทธศาสนา ก็เขียนเรื่องแบบที่เกี่ยวกับธรรมะ ซึ่งตอนแรกเขียนไว้อ่านเองนะ เขียนเป็นชอร์ตโน้ต
(short note) ไว้เยอะแยะเลย เขียนไว้เป็นสมุดเล่มเล็กๆ ยังเสียดาย หายไปแล้วนะ อยากเอากลับมาอ่านอีกเหมือนกัน เพราะว่านั่นเป็นโรงเรียนนักเขียน

อย่างมีโอกาสบวชสองเดือน เพื่อนพระได้อ่านก็เหมือนกับมีเป็นคำที่ทำให้เกิดความรู้สึกมากๆเลยว่า เราน่าจะเป็นประโยชน์กับศาสนาได้ ถ้าหากว่าเราเขียนในแบบที่ทำใหมีความรู้สึกว่า ง่ายที่จะอ่าน แล้วก็น่าติดตาม ใช้ถ้อยคำที่ทำให้เกิดภาพ เห็นภาพได้ แล้วก็เกิดความกระจ่างได้ คนร่วมสมัยที่ยังไม่ได้สนใจ หรือว่ายังไม่ได้มีความรู้เกี่ยวกับศาสนา จะได้มาเข้าอกเข้าใจ หรือหันกลับไปทำความรู้จักกับพระพุทธเจ้าอีกครั้ง

ตรงนี้นี่ก็เป็นการพบตัวเอง ว่าสามารถทำประโยชน์ คือจากศักยภาพ หรือว่าความสามารถเท่าที่ตัวเองมีอยู่ ซึ่งตอนแรกไม่ได้นึกว่าการเขียนจะเป็นประโยชน์อะไรได้สักเท่าไหร่ แต่พอเรามาเหมือนกับรู้จักประโยชน์ของชีวิต รู้จักกับประโยชน์ของสิ่งที่อยู่ในชีวิตของตัวเอง แล้วเอามาขยาย เอามาทำให้คนอื่นได้รับประโยชน์ตาม ก็กลายเป็นการรู้จักตัวเองขึ้นมา

จริงๆแล้วอยากจะบอกว่า นี่ไม่ได้ถ่อมตัวแต่พูดจริงๆว่า ผมไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองมีพรสวรรค์ด้านการเขียน เพราะว่า ต้องใช้ความพยายามมากมายที่จะเขียน ช่วงแรกๆ ที่จะเขียนออกมาแต่ละบรรทัด หรือว่าเค้นออกมาแต่ละคำ จำได้ว่า ยาก แล้วก็สมองไม่ได้ทำงานแบบเป็นเส้นตรงเหมือนกับนักเขียนที่เขามีพรสวรรค์กันจริงๆ

เอาง่ายๆ อย่างผมเขียนบทความธรรมะครั้งแรกเลยนี่ ตอนนั้นเอาไปลงในนิตยสารพ้นโลก อายุประมาณ 20 กว่าๆ 21 -22 อะไรแบบนี้นะ ยังจำได้ว่าใช้เวลาเขียนบทความแรกเป็นเวลา สอง ถึงสามเดือน แก้อยู่นั่นแหละ แก้แล้วแก้อีกๆ แต่ละบรรทัด แก้ซ้ำเป็นร้อยๆ รอบ แล้วก็เขียนเสร็จบางทีก็ย้อนกลับมาแก้ใหม่อีก ตราบเท่าที่ยังไม่รู้สึกว่าดี ก็ยังจะไม่ส่งออกไป

ทีนี้พอส่งไปได้ ยังจำความรู้สึกนี้ได้อยู่ โอ้โห เป็นสิ่งที่ยากมาก แล้วก็คงเขียนได้ชิ้นเดียวในชีวิต เป็นบทความที่ภูมิใจมากที่เขียนแล้วรู้สึกว่า ภูมิใจในตัวเอง จำได้ว่าชื่อบทความคือ “ปฏิบัติธรรมด้วยกระดาษ” คือคิดอะไรออกมาก็จดความคิดไปตรงๆเลย เหมือนกับจะได้มีสติ รู้ความคิดของตัวเองในแต่ละขณะ

แค่เรียบเรียงความคิดที่จะเขียนบทความ ประเด็นนี้ หัวข้อนี้ ใช้เวลา สองถึงสามเดือน แต่พอออกไป ปรากฏว่าได้รับความภูมิใจกลับมาว่า มีคนอ่านแล้วไปเขียนตาม แล้วก็เกิดความรู้สึกว่า ตัวเองมีสติ รู้ความคิดดีขึ้นอะไรอย่างนี้ เลยกลายเป็นบันไดขั้นต่อๆ มา ก็มีบทความเขียนมาเรื่อยๆ ลงในนิตยสาร

ตอนนั้นเขียนก็ไม่ได้ค่าจ้างนะ ไม่ได้คิดว่าจะเอาค่าจ้างอะไร เป็นเรื่องของความพอใจล้วนๆ แล้วก็เห็นว่าตัวเองสามารถทำประโยชน์ในทางนี้ได้ ฉะนั้น สิ่งที่เราจะได้เป็นข้อสรุปว่า ตัวเองจะค้นพบสิ่งที่เป็นบุญ เป็นกุศล หรือว่าเป็นความสามารถที่จะกระจายประโยชน์ไปให้คนอื่นได้แค่ไหน ดูง่ายๆ นะครับว่า เราใช้ความสามารถของตัวเองไปทำให้คนอื่นได้รับประโยชน์อะไรบ้าง แล้วอย่าดูเบา อย่าดูถูกว่า นี่ไม่ได้เงิน อย่าไปคิดว่า ถ้าจะเอาชีวิตให้รอด เอาตัวรอดได้ แล้วไม่ทำตัวแบบโลกสวย จะต้องทำงานในแบบที่ได้เงินเท่านั้น

งานในแบบที่ได้เงินก็ต้องทำนะ แต่ว่าเราหัด ต้องหัดรักงานอดิเรก หรือว่าสิ่งที่ทำแล้วมีความสุข สิ่งที่ทำแล้วได้รับความภาคภูมิใจเกี่ยวกับชีวิตของตัวเอง โดยได้รับคำยืนยันจากคนรอบข้าง

อย่างบางคนบอกว่า ตัวเองไม่ถนัดอะไรเลย ถนัดสะสม ... มีความรู้เกี่ยวกับแสตมป์ หรือแจกัน บางคนสะสมหอย ทีนี้มองเผินๆ ก็เหมือนกับว่าเป็นเรื่องส่วนตัว แต่ถ้าหากว่าสะสมมากพอ ถึงจุดหนึ่งที่ให้ความรู้แก่คนอื่นได้ หรือสร้างพิพิธภัณฑ์เล็กๆ เอาเฉพาะคนในหมู่บ้านให้มาดู จัดซุ้ม จัดบางส่วนของพื้นที่ในบ้านตัวเองให้คนเข้ามาเยี่ยมชม แค่นี้ก็ถือว่าเป็นการแพร่ประโยชน์ให้กับคนอื่นได้แล้ว

ไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องทางศาสนาอย่างเดียว แต่เป็นอะไรก็ตามที่ทำให้เรารู้สึกว่า เรามีค่า ความสามารถของเรามีค่ากับคนที่อยู่รอบข้าง พอคนที่มีประสบการณ์หรือว่าความสามารถในการทำให้ใครต่อใครรอบข้างได้รับประโยชน์จากชีวิตตัวเองแล้ว พอมาถึงจุดที่เราเข้ามาศึกษา เข้ามาเข้าใจธรรมะ ก็จะเกิดไอเดียขึ้นมาเองว่า เราสามารถทำอะไรให้เป็นประโยชน์กับคนอื่นในแบบที่รู้สึกว่า นี่คือราคาขั้นสูงสุดของชีวิต

อย่างคนที่เข้ามาชอบธรรมะ ก็ต้องรู้สึกใช่ไหมว่า สิ่งที่มีค่าที่สุดในชีวิตก็คือ แสงสว่างทางใจ หรือว่า สิ่งที่จะทำให้จิตวิญญาณของตัวเอง ก้าวหน้า พัฒนาขึ้นไปสู่เส้นทางของการพ้นทุกข์ไม่ต้องเป็นทุกข์ ถ้าเราทำให้คนอื่นเขาพ้นทุกข์ตามได้ ไม่ว่าจะด้วยความสามารถแบบไหน ก็จะมองออกว่า เรามีส่วนช่วยให้ธรรมะ มีแสงสว่างกระจายไปหาคนอื่นแบบเทียนต่อเทียนได้อย่างไร ตรงนี้นี่ ก็จะมาได้ข้อสรุปว่า บุญที่เด่นๆ ที่เราเคยทำมา ก็คือสิ่งที่เราสามารถใช้ทำประโยชน์ให้แก่คนรอบข้างได้นั่นเองนะครับ จะเห็นจากประสบการณ์ตรงของชีวิต ซึ่งไม่มีใครมารู้ดีได้เท่าเรานะ ว่าเราสามารถทำอะไรได้บ้างนะ
!
https://www.youtube.com/watch?v=FKZi__75-6U