วันพฤหัสบดีที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2562

ปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน แผ่เมตตาร่วมกัน


ครั้งนี้ เราจะมานั่งสมาธิและแผ่เมตตาด้วยกัน ซึ่งจริงๆ แล้วก็ไม่ได้มีข้อแตกต่างเป็นพิเศษจากที่เราเคยคุ้นกันมาเท่าไหร่
อย่างเวลาที่เราเคยสวดมนต์ด้วยกันในโบสถ์ ในศาลาวัด หลายๆ วัดก็จะเปิดให้ฆราวาสเข้าไปนั่งสวดมนต์ ทำสมาธิ และแผ่เมตตาด้วยกัน ซึ่งหลายคนคงเคยมีประสบการณ์เหมือนกับว่ามีความสุขราวกับอยู่ในสวรรค์เลยเพราะว่าบางวัด ครูบาอาจารย์ดี แล้วก็พระหลายรูปก็เป็นผู้ทรงสมาธิ แค่สวดมนต์ด้วยกันอย่างเป็นสมาธิแล้วแผ่เมตตาร่วมกันก็มีความสุขล้นหลามแล้ว

แต่ครั้งนี้จะมีข้อพิเศษนิดหนึ่ง ตรงที่เราใช้
:เสียงสติ: เป็นตัวช่วยจูน (tune) จิตให้มีความนิ่ง หรือมีความสุขใกล้เคียงกัน แล้วเอามาแผ่เมตตาด้วยกัน ซึ่งผลเป็นอย่างไร เดี๋ยวเรามาคุยกัน

ก่อนอื่นใดขอพูดถึงตัวความเข้าใจในเรื่องของการทำสมาธิ เพราะที่ผ่านมา ผมว่าไม่เคยมีใครสักกี่คนได้มีโอกาสที่จะเห็นคลื่นสมองของตัวเอง หรือว่าทำความเข้าใจเรื่องเกี่ยวกับการทำสมาธิ เรื่องเกี่ยวกับจิต ผ่านกราฟคลื่นสมอง เพราะถ้าได้เห็นระดับคลื่นสมองผ่านกราฟ จะคุยกันรู้เรื่องมากขึ้น จะมีความเข้าใจว่าที่เรียกว่าความสงบ หน้าตาเป็นอย่างไร หรือว่าความฟุ้งซ่าน แตกต่างไปแค่ไหนนะครับ ซึ่งวันนี้เราก็จะเริ่มด้วยการทำความเข้าใจตรงนี้ เพราะถ้ามีความเข้าใจ จะเกิดทัศนคติ หรือเกิดความเข้าใจที่จะตั้งมุมมองในการทำสมาธิได้ดีขึ้นกว่าเดิม

หลายคนเลย เอาเป็นว่า 70-80
% มองว่าการทำสมาธิเป็นเรื่องลึกลับ เป็นเรื่องการไปหลับตา ทำท่าทางนิ่งๆ และไปรู้ไปเห็นอะไรที่เป็นประสบการณ์หลุดโลก ดังนั้นคนส่วนหนึ่งไม่กล้าที่จะมาทำสมาธิกัน แต่ถ้าหากว่าเรามองอย่างเข้าใจ เป็นวิทยาศาสตร์ มองเป็นเรื่องของคลื่นสมองก่อน แล้วเอามาเปรียบเทียบกับประสบการณ์ภายใน ที่เกิดขึ้น เราจะเห็นว่าจริงๆแล้ว การทำสมาธิ จะลืมตา หรือหลับตา ก็เหมือนกันนั่นแหละ จุดมุ่งหวังคือ เป็นการทำให้คลื่นสมองช้าลง มีความถี่น้อยลง เพื่อที่จะลดการทำงานของสมองส่วนหน้า

จริงๆ แล้ว สำหรับภารกิจประจำวัน สมองส่วนหน้าคือสิ่งที่จำเป็นต้องใช้นะ เพื่อคิดเอาชีวิตรอด แต่สำหรับการนั่งสมาธิ สมองส่วนหน้าถือว่าเป็นแหล่งผลิตคลื่นรบกวนทีเดียว พูดง่ายๆ สมองส่วนหน้า ยิ่งทำงานมากขึ้นเท่าไหร่ ยิ่งทำให้คนหมดความสุขไปมากขึ้นเท่านั้น นี่เป็นแง่มุมมองของคนที่เข้ามาทำสมาธิ เข้ามาเจริญสติ คือยิ่งสมองส่วนหน้าทำงานน้อยลงเท่าไหร่ ใจก็ยิ่งเป็นสุข ยิ่งมีความพร้อมรู้มากขึ้นเท่านั้น

อย่างที่ครูบาอาจารย์ท่านสอน ถ้ายังคิดอยู่ ไม่มีทางรู้ แต่ก่อนจะรู้ได้ ก็ต้องคิดมาก่อน อยู่ๆ ไม่มีใครเกิดมาแล้วมีความสามารถรู้แจ้งเห็นจริง แบบวิปัสสนา รู้ตามจริงว่าอะไรๆ ไม่เที่ยง ไม่ใช่ตัวเดิม ไม่ใช่ตัวตน เป็นไปไม่ได้ ต้องคิดมาก่อน ปัญญาแบบคิดๆ ต้องเป็นตัวนำเสมอ เป็นหัวหมู่ทะลวงฟันเสมอ แต่เมื่อเกิดความเข้าใจว่า จะดูอะไร ตั้งมุมมองอย่างไรภายในแล้ว นี้ก็เป็นเรื่องที่เราจำเป็นต้องลดการทำงานของสมองส่วนหน้าลง ให้คิดน้อยที่สุด เพื่อที่จะตื่นรู้ขึ้นมากที่สุด แล้วก่อนที่จะเข้าสู่ขั้นตอนของการตื่นรู้ หรือสงบลงพร้อมรู้ ก็ต้องมีอุปกรณ์ มีเครื่องมือ เช่น เราจะใช้ลมหายใจที่พระพุทธเจ้าย้ำนักย้ำหนา ให้เป็นศูนย์กลางกรรมฐานทั้งปวง ศูนย์กลางของการเจริญสติทั้งปวง

แต่ว่าที่ผ่านมา จะยุคไหนสมัยใดก็แล้วแต่ มักจะประสบปัญหาเหมือนกันหมด เพราะว่าสมองส่วนหน้าส่งคลื่นรบกวนออกมาตลอดเวลา สมัยพุทธกาล หรือสมัยก่อนพุทธกาลก็ตามจึงมีการให้เข้าป่าเข้าเขา ปลีกวิเวก ถ้าผู้มีกำลังแล้วนี่ เพื่อที่จะลดการทำงานของสมองลง เนื่องจากอะไร ไม่มีผู้คนรบกวน ไม่มีการงานเข้ามาเบียดเบียนจิตใจ ไม่มีผู้คนเข้ามาด่าว่า ไม่มีการยั่วยุกันด้วย รูป เสียง กลิ่น รส ที่ก่อให้เกิดกิเลส ในป่าในเขา เต็มไปด้วยธรรมชาติ ก้อนหินก็ดี น้ำก็ดี หรือว่าท้องฟ้า ปุยเมฆก็ดี เขาพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์มาแล้วว่า สามารถจูนให้จิตของเรา คล้อยลงสู่ธรรมชาติดั้งเดิมของจิตเอง คือมีความสงบจากความคิด

ที่จริง การสงบจากความคิด ในทางวิทยาศาสตร์ไม่มีนะ สงบจริงๆ ไม่มี มีแต่ว่าลดการทำงานของสมองส่วนหน้าลง แล้วทำให้เรามีความรู้สึกว่า จิตใจเงียบสงบ ในหัวมีเสียงรบกวนจากความคิดน้อยลง อันนี้แหละ พอสมองส่วนหน้าทำงานน้อยลง แล้วมีความรู้มากขึ้น ใจจะปลอดโปร่ง จะเกิดความเบา เป็นเหตุให้เกิดความรู้สึกอิ่มใจ เกิดความรู้สึกปีติ เกิดความรู้สึกเป็นสุข แบบที่ตอนกำลังคิดฟุ้งซ่าน จะสุขไม่ได้ ปีติแบบนั้นไมได้นะ 

⇿ ⇿ ⇿ ⇿ ⇿ ⇿ ⇿



ทีนี้มาทำความเข้าใจก่อน คลื่นสมองเอาง่ายๆ ไม่ต้องท่องจำนะ จะมีหลายระดับความถี่ สมองมีคลื่นทุกความถี่ตลอดเวลาอยู่แล้ว แต่สิ่งที่เราต้องการให้มีความพร้อมที่จะทำสมาธิ จะอยู่ระดับ อัลฟ่า (Alpha) ลงมา (อัลฟ่า (Alpha) เธต้า (Theta) และ เดลต้า (Delta) ) ถ้าเอาลงมาอยู่ที่ตรงนี้ได้ ก็จะทำให้มีความผ่อนคลายเนื้อตัว

การผ่อนคลายเนื้อตัวนี่สำคัญมาก ถ้ายังเกร็งเนื้อเกร็งตัวอยู่ ถ้ายังมีความขมวดมุ่น ถ้ายังมีอาการที่เหมือนกับต่อต้านความสงบ ไม่มีทางทำสมาธิได้ ทีนี้การที่เป็นคลื่นอัลฟ่า ก็มีหลายแบบ แต่ผมจะพูดให้ฟังง่ายๆ คร่าวๆ อย่างนี้






นี่เป็นตัวอย่างของผู้หญิง อายุประมาณ 42 ใช้ :เสียงสติ: เริ่มทำก็จะมีความสงบแบบง่วง 2 นาทีผ่านไป ยังมีความสงบ ยังมีอาการตื่นอยู่ แต่พอพ้นนาทีที่ 3 ขึ้นไป จะเริ่มหลับแล้ว

คลื่นที่มีความแตกต่างกัน บอกเราได้อย่างหนึ่งว่า ตอนที่เรายังตื่นอยู่ แล้วก็เหมือนกับมีความสงบแบบง่วงๆ จะสงบมากกว่าตอนที่หลับเสียอีก เพราะคนมักจะนึกกันว่าการนอนหลับคือการพักผ่อนที่ดีที่สุด ผมก็เรียนมาอย่างนี้ตั้งแต่เด็กๆ จริงๆแล้วไม่ใช่นะ สมองอาจทำงานหนักขึ้นกว่าเดิมก็ได้ อย่างตอนที่คุณฝันร้าย ตอนที่คุณรู้สึกว่าหลับไม่สนิท มีแต่ความรู้สึกว่า ยังวิ่งวนไม่หยุด นี่แหละที่ทำให้หลายคน โดยเฉพาะปัจจุบัน ตื่นขึ้นมา แล้วเกิดความรู้สึกว่า ตัวเองเหมือนยังไม่ได้นอนมาสักเท่าไหร่ นอนหลับไม่เต็มอิ่ม เพลียๆ ไม่อยากลุกขึ้นไปทำงาน เพราะอย่างนี้นะ สมองจะกิน จะสูบพลังงานในร่างกายไปถึง 20
% และถ้าหากว่ามันทำงานหนักๆ อยู่ทั้งคืน จะเกิดอะไรขึ้น ก็จะเกิดความรู้สึกเหมือนกับว่า ยังออกแรงอยู่ ยังไม่ได้นอนพักจริงจัง นี่แหละ ตรงนี้ทำให้เราเข้าใจได้ว่า ถ้าฟัง :เสียงสติ: จะมีส่วนช่วยที่ทำให้สงบลงมา
ตัวที่ผมใช้ detect (ตรวจจับ) สัญญาณจากคลื่นสมองเป็นแค่เครื่องตรวจแบบง่ายๆนะ ของราคาถูกๆ อาจตีความคลื่นสมองได้แค่หยาบๆ ว่า สงบ (calm : สีน้ำเงินเข้ม) หรือ กลางๆ (Neutral : สีม่วง) หรือกำลังแอคทีฟ (active : สีม่วงอ่อน) พอใช้ :เสียงสติ: นี่ ช่วงแรกๆ สองนาที อาจจะยังมีความตื่นอยู่ แต่สำหรับคนที่ง่วง โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่ใช้ :เสียงสติ: โดยนอนเอาเพลิน นอนเอาความสบาย พอหลับไปแล้ว จะเห็นเลยว่า คลื่นสมองตีขึ้นมาทันที
บางคนอาจบอกว่า มีความรู้สึกสงบ แล้วก็หลับได้ลึกมีความสดชื่น ตื่นขึ้นมาสบายกว่าปกติ เพราะว่าก่อนที่จะเข้าสู่อาการหลับ มีความสงบนำมาก่อนนะครับ แล้วพอความสงบนำมา ก็เลยเหมือนกัน พอปรุงแต่งให้เกิดคลื่นสมองในแบบที่เป็นผลลัพธ์ที่ตามมา เลยเป็นคลื่นดีๆ

อย่างคนนี้ ก็อาจมีคลื่นความถี่ที่สูงหน่อย แต่ว่าอย่างน้อยไม่ตีขึ้นในระดับ Active แต่ส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นจะเป็น Neutral หรือกลางๆ คือไม่ถึงกับสงบ และไม่ถึงกับ active
Active ไม่ได้เลวร้ายอะไร ถ้าเป็นระเบียบ มีความสูงเท่ากันอยู่เรื่อยๆ แสดงว่ามีโฟกัส (focus) ดี แต่ถ้าตอนหลับยัง active อยู่แล้วก็คลื่นไม่เป็นระเบียบ นี่จะทำให้เกิดความรู้สึกเหนื่อยอ่อน แล้วจะทำให้เกิดความรู้สึกเหมือนกับไม่ได้หลับจริง นี่ก็เป็นความแตกต่างซึ่งพอเอามาดูเป็นกราฟแล้ว จะเกิดความเข้าใจที่ชัดเจนขึ้นนะครับว่าเกิดอะไรขึ้นกับสมองของเรา




 ภาพนี้เป็นของเด็ก 7 ขวบ กำลังเล่นเกม ซึ่งก็เล่นได้เก่งพอสมควร อย่างบางคนก็จะมองว่าเล่นเกมจะทำให้ฟุ้งซ่านอยู่ตลอดเวลาหรือเปล่า แต่จริงๆ พอเอาคลื่นมาแบดูกัน ก็อาจจะประหลาดใจว่าจริงๆ ไม่ได้เป็นความฟุ้งซ่านเสมอไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเขามีโฟกัส เล่นเกมในแบบที่พูดง่ายๆ ว่ามีความเชี่ยวชาญ มีความชำนาญ ในการเล่น การตอบสนองทางร่างกาย จะช่วยให้สมองมีความคงเส้นคงวาได้ 

อย่างอยู่ในย่านความสงบ 
(calm : สีน้ำเงินเข้ม) ถือว่าเล่นแบบไม่ฟุ้งซ่าน เล่นแบบมีความรู้ และที่สำคัญ เล่นแบบมีความมุ่งมั่น ตั้งใจเอาจริงเอาจัง เลยทำให้สงบลงได้ ถึงแม้ว่าจะไม่สม่ำเสมอก็ตาม เพราะว่าโดยธรรมชาติของเกม โดยธรรมชาติของการทำงาน ถ้าหากว่าฉาก หรือภาพที่กระทบตา เสียงที่กระทบหู เปลี่ยนไปเรื่อยๆ ต่างไปเรื่อยๆ จะทำให้จิตมีความไม่สม่ำเสมอนะครับ แต่อย่างน้อย อธิบายเราได้ว่า ขณะเล่นเกม เด็ก 7 ขวบคนนี้มีความนิ่งพอสมควร จะออกมาเกือบๆ ฟุ้งซ่านบ้างแค่นิดหน่อย



เด็กคนเดียวกัน ใช้ :เสียงสติ: ช่วย แล้วก็ดูลมหายใจ ดูความต่างของลมหายใจอย่างเดียว ซึ่งจริงๆ เด็กคนนี้ก็มีทริค (Trick) นิดหน่อยคือ คิดขึ้นมาเองว่านอกจากดูลมหายใจแล้ว ยังนึกถึงว่าอยู่ในสถานที่ๆ ทำให้จิตใจเขาสงบด้วย

จะเห็นความแตกต่างไปเลยนะ คนๆ เดียวกัน แต่คลื่นสมองแตกต่างไปมาก ในช่วง 5 นาทีเหมือนกัน จะมีความสงบในแบบที่ คลื่นสมองจะตีขึ้นสูงน้อยลง ยิ่งระดับคลื่นความสูงน้อยลงเท่าไหร่ ยิ่งแปลว่า มีการทำงานน้อยลง ยิ่งอยู่ในระดับที่อยู่ในโซนของที่เขาเรียกว่า
calm (สีน้ำเงินเข้ม) นี่ ยิ่งบอกได้ว่า ในขณะที่ฟัง :เสียงสติ: โฟกัส ค่อนข้างจะคงที่ ไม่ได้กระโดดขึ้นๆ ลงๆ แบบอันก่อน
คลื่นสมองอันก่อนจะเห็นว่ามีการขึ้นๆ ลงๆ มีความต่างระดับมากกว่ากันเยอะ แต่พอฟัง :เสียงสติ: แล้วมีโจทย์ว่าจะตั้งเป้าอยู่กับลมหายใจอย่างเดียว จะมีความสงบในแบบที่มีโฟกัสดีกว่าเดิมนะ มีความสม่ำเสมอมากกว่าเดิม 




คนนี้ อายุ 52 นะครับ หน้าที่การงานสูง เป็นนายตำรวจ เป็นคนมีวินัย ทำสมาธิด้วยตัวเองมาก่อน จากภาพ เป็นการให้ทำสมาธิเอง โดยที่จะเคยทำอะไรมาก็แล้วแต่ จะบริกรรมพุทโธ หรือว่าดูลมหายใจอย่างไรก็แล้วแต่ เรามาดูช่วง 5 นาที ที่เขาทำสมาธิ จะเห็นว่า คลื่นที่ออกมา อยู่ย่านสงบได้ แต่ว่าการอยู่ย่านสงบ ไม่ได้แปลว่าเป็นสมาธิ แบบพร้อมที่จะรู้เสมอไป อย่างกรณีนี้จะเห็นว่าคลื่นความถี่ จะขึ้นๆ ลงๆ ไม่มีความแน่นอน ไม่ค่อยเป็นระเบียบ ไม่ค่อยสวย



แต่พอใช้ :เสียงสติ: เข้าช่วย นี่เป็นกราฟจากการทำสมาธิโดยอาศัย :เสียงสติ: เข้าช่วย สิ่งที่แตกต่างไปคือ จะมีช่วงของความเป็นระเบียบ พูดง่ายๆ คือ โฟกัส ชัดเจนขึ้น
⇿ ⇿ ⇿ ⇿ ⇿ ⇿ ⇿


ทั้งหมดทั้งปวง ก็เพื่อที่จะอธิบายว่าทำไมคุณถึงเกิดความรู้สึกว่า พอใช้ :เสียงสติ: มันมีความชัดเจน ลมหายใจชัดเจนมากขึ้น ก็เพราะว่าเหมือนกับถูกแหวกม่านความฟุ้งซ่านออกไป เพราะคลื่นสมองที่ออกมาจากสมองส่วนหน้า น้อยลง ลดระดับลง คือลดระดับการทำงานของสมองส่วนหน้าลงนะ ก็เลยเห็นลมหายใจขึ้น

คนเราพอเห็นลมหายใจชัดขึ้น ยาวขึ้น ก็เกิดความรู้สึกว่า ไม่ต้องคิดก็ได้ ทำไมแต่เดิม ต้องคิดวุ่นวายอะไรตลอดชีวิตนะ เกิดความรู้สึกว่า ร่างกายมีความยืดหยุ่น ร่างกายมีความพร้อมที่จะหายใจยาว แล้วก็จิตใจมีความเปิด มีความสบาย พร้อมที่จะรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น ลมหายใจ ณ ขณะนั้น กำลังยาว หรือว่าสั้นอยู่ แล้วลมหายใจที่ยาว พาความรู้สึกเป็นสุข เข้ามา หรือว่า ลมหายใจที่สั้น พาความอึดอัด เป็นทุกข์เข้ามาแทนกัน ก็จะเกิดความสามารถที่จะรู้ได้อย่างชัดเจนต่อเนื่อง

แล้วคนเราพอมีความรู้ มากกว่าความคิด มีความพอใจที่จะรู้ มากว่าที่จะไปฟุ้งซ่านต่อ ในที่สุด จะเกิดความรู้สึกว่า ทั้งเนื้อทั้งตัว จะผ่อนคลาย เบาหวิว จิตใจมีแต่ความสบาย มีแต่ความเปิด แผ่ออกไป มีความสามารถที่จะหน่วงเหนี่ยว รักษาความรู้สึกดีๆ ความรู้สึกที่มีความปีติ มีความสุขไว้ได้นาน แล้วก็จะอยากยิ้มขึ้นมาเอง ไม่ใช่แกล้งยิ้มนะ

หลายคนพยายามทำสมาธิ แล้วก็อยากจะหลอกตัวเองว่าฉันมีความสุขเหลือเกินที่นั่งสมาธิครั้งนี้ หรือถ้าหากนั่งอยู่ต่อหน้าใครเยอะแยะ ยิ่งอยากจะยิ้ม ยิ้มกว้าง แต่เป็นการฝืนยิ้ม จะกลายเป็นทุกข์โดยที่ไม่รู้ตัว

แต่ถ้าหากสมองส่วนหน้าทำงานลดลง ระดับความคิดต่ำลง อยู่ในระดับที่สงบอย่างสม่ำเสมอ จะกลายเป็นยิ้มออกมาเอง เพราะว่าจิตใจผ่อนคลาย เหมือนกับคุณลองนึกดู ถ้าคุณกำลังห่วงกำลังกังวลเรื่องใดเรื่องหนึ่งอยู่ แล้วสามารถปลดล็อคความคิดนั้นได้ เพราะว่าเรื่องที่ห่วงเรื่องที่กังวล กลับดีขึ้นมาแล้ว อย่างนี้ ความรู้สึกห่วงกังวลเกี่ยวกับเรื่องนั้นหายไป ถูกปลดล็อค แล้วก็เกิดความรู้สึกชุ่มชื่นขึ้นมา ดีใจเบิกบานขึ้นมา ยิ้มแย้มแจ่มใสขึ้นมาเอง ตัวนี้ที่เรียกว่า เป็นจิตที่ยิ้ม ไม่ใช่ความคิดที่ยิ้ม

แต่พอเราทำสมาธิ เรามุ่งหวังความสงบ ก็เลยไปสะกดจิตตัวเอง ไปบังคับตัวเองให้ยิ้มออกมาเสียก่อน ทั้งๆที่ใจยังไม่ได้ยิ้มนะ ร่างกายยังไม่ได้พร้อมจะหลั่งสารแห่งการยิ้มออกมา ก็ไปรีบร้อนบังคับ ก็เลยกลายเป็นความรู้สึกอึดอัดที่จะต้องฝืนยิ้มไป แต่ถ้าสมองส่วนหน้าลดการทำงานลง แล้วความคิดหายไปเอง ความคิดอันเป็นต้นเหตุของความกังวลไปในอนาคต หรือความเสียดายย้อนไปข้างหลังในอดีต หายไปหมดเลย เหลือแต่ความรู้สึกว่าไม่ต้องคิดก็ได้ เหลือแต่ใจที่เบา เหลือแต่ใจที่เปิด ที่แผ่ออก ตรงนี้จะต่างไปเลยนะ ต่อให้ไม่ตั้งใจยิ้มก็จะยิ้มออกมาเอง และร่างกายที่ยืดหยุ่น ทำให้ริมฝีปากที่สยายออกมา ไม่ได้ใช้กำลังของกล้ามเนื้อ แต่เป็นการที่มีสภาพผลักดันให้เกิดขึ้นเอง แล้วก็เราจะรู้สึกได้ว่า สิ่งที่เรียกว่า ความสุขที่ไม่ฝืน ไม่ต้องแกล้ง แล้วก็ไม่ต้องพยายาม หน้าตาเป็นอย่างนี้นี่เอง

ทีนี้ พอเราทำความเข้าใจกันว่า :เสียงสติ: ช่วยอย่างไร แล้วทำไมผมต้องใช้ :เสียงสติ: ทำไมไม่ให้พยายามทำกันเอง เพราะว่าที่สอนทำสมาธิมาร่วม 25 ปีนี่นะ ยอมรับความจริงอย่างหนึ่งว่า คนไม่พร้อมจะทำสมาธิ เพราะทุกคน เทรน (Train : ฝึกฝน) ให้สมองส่วนหน้าของตัวเองทำงานหนักทั้งวันทั้งคืน ทุกเดือนทุกปีมาตลอดชีวิต แล้วอยู่ๆ บอกว่า วันนี้ไม่ไหวแล้ว รำคาญเหลือเกินความคิดฟุ้งซ่านนี่ อยากจะสงบ แล้วก็มานั่งบังคับตัวเองให้นิ่ง ให้นั่งนิ่งๆ จะไปสู้การทำงานของสมองส่วนหน้าไม่ไหวนะครับ ต่อให้ปลีกวิเวกออกไป สามวัน เจ็ดวัน สิบห้าวัน รู้สึกดีขึ้นทำสมาธิได้ดีขึ้น แต่พอกลับเข้าเมืองมาทำงาน มันแย่หนักกว่าเดิม เพราะว่าเกิดความถวิลหา โหยหา อยากไปอยู่ป่าอยู่เขา อยากจะปลีกวิเวก ซึ่งนั่นเป็นการแก้ปัญหาไม่ตรงจุดนะครับ

คนเรา ถ้ายังเป็นฆราวาส ไม่สามารถปลีกวิเวกได้ตลอดเวลานะ เพราะต้องทำงานทำการ แต่จริงๆแล้ว มีเครื่องช่วยลดความฟุ้งซ่านมาแต่โบราณ วิหารบางแห่ง ทำเทคโนโลยีเสียงมาตั้งแต่ห้าพันปีที่แล้ว มีความเข้าใจที่นักวิทยาศาสตร์สมัยนี้ก็ยังไม่เข้าใจถ่องแท้นะ พอพูดไป หรือว่าสวดมนต์ไป ตอนอยู่ในวิหารแห่งนี้ จะมีช่องเล็กๆ ที่ตัดเข้าไปในผนัง สะท้อนเสียงออกมาเป็นคลื่น 111 เฮิรตซ์ (
Hz : Hertz) พอดี นี่เป็นเทคนิคของคนโบราณที่พยายามแก้ความฟุ้งซ่านกัน ก็เป็นหลักฐานว่าประวัติศาสตร์ความฟุ้งซ่านของมนุษย์เรามีมาแต่โบราณกาล ไม่ใช่เพิ่งมามีในปัจจุบัน แล้วก็มีคนพยายามที่จะหาเครื่องทุ่นแรงให้คนทั่วไปได้ฟุ้งซ่านน้อยลง เพื่อจะได้อยู่ในพิธีอันศักดิ์สิทธิ์ทางศาสนาด้วยความสงบอกสงบใจมากขึ้น

ปัจจุบัน เรื่องของไบเนอรัล บีตส์ (
Binaural Beats)  ไปลองหาอ่านกันเอาเอง แต่พูดอย่างรวบรัด สั้นๆง่ายๆว่า เป็นเสียงที่ผลิตคลื่นความถี่ที่แตกต่างกัน ระหว่างหูซ้ายกับหูขวา เพื่อให้สมองเราถูกเทรนให้เข้าโหมด (Mode) ที่ต้องการ ให้เข้าเป้าที่ต้องการ คือ ค่าความต่างระหว่างหูซ้าย กับหูขวา จะหักลบกันแล้วได้เป็นค่าของคลื่นสมอง อย่างที่เขานิยมกันมากก็ต้องการให้อยู่ที่ 8-12 เฮิรตซ์ ซึ่งจะอยู่ในช่วงอัลฟ่า อย่างที่เมื่อกี้แสดงให้ดูว่า เป็นช่วงของการรู้สึก relax ผ่อนคลายนะครับ

ตัว :เสียงสติ: ที่ทำมาแจกกัน ใช้เทคนิคอีกนิดหนึ่ง คือใช้ดนตรีนำ เพื่อให้เกิดความผ่อนคลายร่างกายโดยเร็ว แล้วก็จะมีคลื่นพิเศษ ผมผสมย่านความถี่คลื่นพิเศษ ที่จะกระตุ้นสมองให้ไปอยู่ในภาวะที่สงบแบบตื่นรู้ เพราะว่าไบเนอรัล บีตส์ หลายๆ แล็บ ก็ทดลองกันเพื่อจุดประสงค์ต่างๆ บางทีเขาให้สงบแบบเคลิ้ม ด้วยความอยากจะแก้อาการเครียด หรือ อาการซึมเศร้าอะไรแบบนี้นะ

แต่ที่เราจะใช้กัน เราจะใช้ร่วมแผ่เมตตาด้วยกัน พอฟังแล้ว จะเกิดความรู้สึกสงบแบบหนึ่ง มีความสุขเอ่อขึ้นมา แล้วสามารถที่จะรู้สึกถึงการแผ่ออกไปได้ง่ายๆ นี่สำหรับคืนนี้ ผมทำเป็นพิเศษนะ ที่จะนำขึ้นมาด้วยเสียงเพลงอีกแบบที่แตกต่างไป และคลื่นความถี่จะรับกันกับเสียงดนตรีตรงนั้น เพื่อจะนำให้เกิดสมาธิในแบบพร้อมจะแผ่เมตตา ภายในสี่นาที

ขอย้ำกติกา ไม่อย่างนั้นจะไม่เกิดผลนะ คือ ต้องใช้หูฟัง สเตอริโอ ใครจะใช้แบบหูอุดก็ได้ หรือใช้แบบครอบก็จะประกันได้ดีว่าเสียงจะไม่เคลื่อน เพราะใช้แบบหูอุดก็เคลื่อนออกจากรูหูได้ เดี๋ยวเรามาฟัง:เสียงสติ:พร้อมกันนะครับ ใช้เวลาสี่นาที พอเสียงเริ่มขึ้น ไม่ต้องพยายาม อันนี้สำคัญมาก ไม่ต้องพยายามที่จะมีความสุข ไม่ต้องพยายามที่จะสงบ :เสียงสติ: จะช่วยจูนให้อยู่แล้วนะครับ ขอแค่สังเกตความต่าง ระหว่างลมหายใจไปอย่างเดียว รู้ไปอย่างเดียว ไม่ต้องพยายามสงบนะ จะสงบลงเองอยู่แล้วนะครับ แล้วทุกอย่างพอเข้าที่ได้เองภายในอีกสี่นาทีข้างหน้า เราค่อยเจอกัน

สำคัญคือ พอเสียงหาย อย่าเพิ่งลืมตา แค่ฟังผมพูดก่อน พอเสียงหายไป ผมจะพูดต่อเพื่อไกด์ว่าเราจะแผ่เมตตาอย่างไร ให้เกิดทิศทางที่ถูกต้องในการแผ่เมตตา และการแผ่เมตตาร่วมกันจะเหมือนตอนที่เราอยู่ในศาลา อยู่ในโบสถ์ แล้วสวดมนต์ แผ่เมตตาร่วมกัน จะมีความรู้สึกอีกแบบที่แตกต่างจากแผ่เมตตาเองคนเดียว แล้วไม่ต้องจินตนาการไว้ก่อน ไม่ต้องคาดเดาไว้ก่อนว่าจะเกิดอะไรขึ้น ขอแค่รับรู้ไปตามจริงว่า กำลังมีอะไรเกิดขึ้นในใจของเรานะครับ

กติกง่ายนิดเดียว แค่สังเกตความต่างระหว่างลมหายใจนะครับ ว่า พอฟังเสียงไปแล้ว เกิดอะไรขึ้น

(รับฟังไฟล์เสียงโดยคลิกที่ Link ด้านล่าง)


>>>  http://bit.ly/เสียงสติปัดเป่าฟุ้งซ่าน  <<< 


เสียงที่เงียบหายไป ทำให้เราดูเข้ามาได้ไหมว่า ใจของเรายังคงค้างความรู้สึกสงบ ความรู้สึกเป็นสุข มีความกว้าง หรือมีความแคบแค่ไหน แล้วทีนี้ลองดู ใจที่มีความสุข ศูนย์กลางอยู่กับร่างกายของตัวเองในท่านั่งนี้ ถ้าหากว่าเราระลึกว่า ตรงหน้าของเรามีความสุขที่เป็นของคนอื่น ในแบบเดียวกันอีกเป็นร้อยๆ คน เป็นเหมือนกับดวงจิต ที่มีความสุขแบบเดียวกับเรา อยู่ตรงหน้าของเรา ถ้าเรายังหลับตาอยู่ แล้วเหมือนกับมองเห็นความสุขด้วยความรู้สึกที่เป็นความสุขแบบเดียวกันในตัวเรานี่นะ จะเกิดความรู้สึกขึ้นมาว่า คล้ายๆ กับมีทะเล หรือมีมหาสมุทรของความสุขอยู่ตรงหน้า ล้อมรอบตัวเรา มีความรู้สึกที่มีพลังความสุขอยู่รอบตัวเรา

คล้ายกับเราเป็นน้ำถังหนึ่ง หยดหนึ่ง บ่อหนึ่ง ร่วมกันกับความสุขที่เป็นทะเล หรือเป็นมหาสมุทร เป็นน้ำอันเดียวกันนั่นแหละ เป็นความรู้สึกที่เป็นความสุขสีขาวอันเดียวกัน เป็นความสุขที่มีอาการไม่เบียดเบียนกัน เป็นที่ตั้งลักษณะของใจที่ไม่เบียดเบียน จะมีอาการแผ่ออก จะมีอาการของความรู้สึกที่ปลอดภัย ที่อบอุ่น ที่เป็นสุข หรือมีความเยือกเย็นที่จิตใจ แต่อบอุ่นที่ความรู้สึก ยิ่งมีความนิ่ง ยิ่งมีความเย็นได้นานขึ้นเท่าไหร่ ก็จะยิ่งมีความเป็นสมาธินานขึ้นเท่านั้น

ตรงนี้แหละ ที่จะเป็นตัวอย่าง ที่จะเป็นต้นแบบให้เราจำได้ว่า การแผ่เมตตา เริ่มต้นจากความสุขทางใจก่อน ความสุขอันเกิดจากการไม่คิดเบียดเบียนใคร ไม่อยากเบียดเบียนกัน ไม่อยากที่จะไปทำร้าย ทำลาย หรือว่าโต้ตอบกับโลก ที่เต็มไปด้วยความเบียดเบียนนี้ คือเหมือนกับเราสร้างมิติขึ้นมาอีกมิติหนึ่ง ที่แตกต่าง และแยกจากกัน จากมิติที่เต็มไปด้วยการกระทบกระทั่ง และมิติที่มีแต่การทำร้าย ทำลายกัน จะเห็นเลยว่าอาการที่เบียดเบียนกัน มีความกระวนกระวายใจเป็นที่ตั้ง มีความรู้สึกร้อน มีความรู้สึกอยากจะให้เกิดการกระทบกระแทกแบบแรงๆ ขึ้นมา แต่ใจที่แผ่เป็นเมตตา ไม่อยากเบียดเบียน จะไม่อยากเกิดการกระทบกระทั่ง ไม่อยากเกิดความรู้สึกบุบสลาย ไม่ว่าจะฝ่ายเรา หรือฝ่ายเขา ตรงนี้ คือตัวอย่างของสมาธิที่เป็นเมตตานะครับ

ถ้าหากว่าเรารู้สึกได้ นี่ต่อยอดขึ้นไปอีก ว่าความคิดเหมือนส่วนเกินออกมาจากจิตที่เป็นสมาธิ อยู่รอบนอก เหมือนเป็นคนละชั้นกันกับจิตที่สว่าง จิตที่ตื่น จิตที่รู้ ตรงนี้ก็จะทำให้พิจารณาความคิดว่าไม่แตกต่างจากลมหายใจ เป็นแค่คลื่น พัดเข้า พัดออก พัดเข้ามาในหัว แป๊บหนึ่ง แล้วก็สลายตัวไป ถ้าเห็นอย่างนี้ได้ ก็ยกขึ้นเป็นวิปัสสนาแบบที่เราเห็นขันธ์อย่างละเอียดด้วยนะ

คลื่นความคิดก็คือ ขันธ์ ชนิดหนึ่ง เป็นหนึ่งในขันธ์ แล้วก็มีความแปรปรวน แสดงความแปรปรวนอยู่ตลอดเวลา แต่พอเราไปยึดด้วยจิตที่หลงผิด ด้วยจิตที่มีอุปาทานว่าความคิดเป็นตัวเรา เป็นผู้คิด ก็จะรู้สึกมาตลอดชั่วกัปชั่วกัลป์ ว่านี่แหละคือเราคิด มีเราเป็นผู้คิด

แต่พอเห็นด้วยจิตที่เป็นสมาธิชัดๆ ว่าความคิดผ่านมา แล้วผ่านไป ไม่ต่างจากสายลมหายใจเข้าออก ความรู้สึกยึดว่าเป็นตัวเรา จะหายไปหมดเลยนะ เหลือแต่จิตที่รู้ เหลือแต่จิตที่ตื่นว่า ลักษณะของขันธ์ 5 หน้าตาเป็นอย่างนี้นี่เอง คือเป็นของมันอยู่แต่เดิมนั่นแหละ แต่เราเอง พอหลงผิด หลงเข้าใจผิด จิตไปยึดว่าเป็นตัวเรา จะเกิดมโนภาพ เป็นชาย เป็นหญิง เป็นเรา เป็นเขา เป็นศัตรู เป็นเพื่อน เป็นพ่อ แม่ ลูก ตรงนี้ถ้าเราสามารถเห็นได้เป็นตัวอย่าง ก็เท่ากับได้ทิศทางแล้วว่า เขาเจริญสติกันอย่างไร!
_______________________
ปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน แผ่เมตตาร่วมกัน อาศัย :เสียงสติ: ช่วย
20 เมย. 2563

Youtube : 
http://bit.ly/2UVK5bd



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น