วันพฤหัสบดีที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2562

ยิ่งภาวนา จิตเหมือนยิ่งทุกข์มากขึ้น เพราะเหตุใด


เริ่มฝึกจิตปฏิบัติมาสักพัก แต่ทำไมแรงดึงดูดถึงเหวี่ยงไปเจอแต่สิ่งที่ไม่เป็นที่รัก ที่ไม่ชอบใจเลย รู้สึกเหมือนยิ่งฝึกยิ่งเจอทุกข์?


ดังตฤณ : พอคนเข้ามาสู่เขตธรรมะของชีวิต มักจะมีข้อสงสัย หลายคนก็มีข้อสังเกตที่แตกต่างกันไป อย่างบอกว่า ทำไมตั้งใจถือศีลแบบเอาจริง คือตั้งใจจริงๆ ไม่ใช่แค่ไปสมาทานศีลที่วัด ... ปานาติปาตา เวระมะณี ... แบบนั้น ไม่ได้ตั้งใจที่จะถือศีล แต่แค่ตั้งใจที่จะสวดตาม ยังไม่เข้าเขตธรรมะจริง

แต่เมื่อไหร่ก็ตาม ถึงแม้ว่าเราไม่ได้ไปสมาทานศีลที่วัด แต่ตั้งใจจริงๆ ว่า การฆ่าเราไม่เอา ไม่เอาจริงๆ การคดโกง แม้กระทั่งว่า ไปเอารัดเอาเปรียบเขาในแบบที่มีโอกาส ก็ไม่ทำ หรือบางคนตั้งใจว่า เจอของตก เจอเงินของใครหล่น เราจะเก็บไปคืนเจ้าของ หาทางคืนเจ้าของ แค่ตั้งใจแบบนี้ จะมีปาฏิหาริย์มาลองใจเลยนะ บางคนแค่ตั้งใจว่าถ้าเจอเงินหล่น ไม่ว่าจะเจอที่ไหน จำนวนมากแค่ไหน เราจะพยายามเอาไปคืนเจ้าของ หรือถ้าทำอะไรไม่ได้เลย เจอเศษสตางค์ไม่กี่บาท เราก็จะไม่เก็บขึ้นมา ด้วยความตั้งใจว่าเดี๋ยวให้เจ้าของเขากลับมาเจอของเขาเอง

แค่ไม่กี่วัน หรือในช่วงนั้นเอง มีเงินตกล่อตาล่อใจให้เห็นเลยนะ หลายคนแปลกใจกับเรื่องแบบนี้ว่า บังเอิญหรือเปล่า ไม่อยากเชื่อว่าเป็นเรื่องจริงนะ แค่ตั้งใจไปวันก่อนว่าจะไม่ทำ ถ้าเกิดเหตุอย่างนั้นอย่างนี้ แล้วก็มีเรื่องมาลองใจเลย ตรงนี้แหละ ที่ทำให้หลายๆคนได้เกิดความเข้าใจว่า จักรวาลทั้งจักรวาล คือการจัดฉาก คือการลองใจ คือการที่ธรรมชาติเขาโยนสิ่งต่างๆ มา ให้ปรากฏกับชีวิตเรา แล้วให้โอกาสเราตัดสินใจเลือกว่าจะเอายังไงกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้า

ถ้าไม่ตั้งใจอะไรเลย ก็จะถูกเหวี่ยงไปตามแรงของกรรมเดิม บุญเก่า หรือว่าบาปเดิมนี่ ในอดีตเคยทำไว้ยังไง ก็จะอยู่ใน
DNA ของเรา อยู่ในฤกษ์เกิด แล้วก็จะกลายเป็นแผนของชีวิต เส้นทางที่เราจะต้องไปเจอโน่น เจอนี่ ซึ่งพอเจอแล้วเกิดปฏิกริยายังไง อยากจะโต้ตอบกับมันยังไง นี่ก็เป็นการทำกรรมใหม่

แต่ถ้าเมื่อไหร่เราตั้งใจบอกว่าจะถือศีล เราอยากจะรักษาศีลให้ได้ ก็จะมีอะไรมาบีบให้อยากผิดศีลขึ้นมาแบบปัจจุบันทันด่วน บางคนเจอในวันเดียวกันกับที่อธิษฐาน บางคนอาทิตย์หนึ่งต่อมา บางคนเดือนหนึ่งต่อมา มาล่อลวง มายั่วยุให้อยากผิดศีล ถ้าหากว่าผ่านได้ ก็จะกลายเป็นคนที่มีศีลมีธรรมต่อไปนะ แล้วก็จะพบว่า เรื่องยั่วยวน หรือว่าเรื่องมาเย้ามาแหย่ มายุให้ละเมิดศีลจะห่างออกไปเรื่อยๆ ห่างออกไปไกล จนกระทั่งชีวิตเหมือนจะไม่มีอะไรมารบกวนจิตใจให้ต้องอยากผิดศีล แล้วก็สภาพชีวิตจะเหมือนยกระดับขึ้นมา จากภาวะที่เต็มไปด้วยสิ่งที่บีบให้ใจเราคิดว่าต้องผิด ไม่ผิดไม่ได้ ... จะยกระดับขึ้นมาสู่ระดับชีวิตอีกแบบที่ทำให้รู้สึกว่า ... ไม่เห็นจะต้องผิด (ศีล) เลย ทำไมคนอื่นจะต้องผิด(ศีล) กันด้วย ตรงนี้ชีวิตก็จะบอกเราว่า เราตั้งใจอย่างไร ก็จะได้อย่างนั้น

คำถามนี้ก็เหมือนกัน บอกว่า ตั้งใจฝึกจิต ตั้งใจปฏิบัติธรรม ทีนี้ขึ้นอยู่กับว่า ของเดิมของเรามาแบบไหน เพราะว่าแต่ละคนเริ่มปฏิบัติธรรมไม่เหมือนกันนะ แต่สิ่งที่จะเหมือนกันอย่างหนึ่งก็คือ มีเครื่องกระทบ

บางคนมีเครื่องกระทบเป็นความทุกข์ อย่างกรณีที่เจ้าของคำถามบอกมา ก็บอกว่าเจอสิ่งที่ไม่เป็นที่รัก ไม่น่าชอบใจ นี่เขาก็ให้เครื่องฝึกมา ว่าเวลาเจอสิ่งกระทบมีปฏิกิริยาอย่างไร จะได้เจริญสติไง จะได้มีสติเห็นว่า ปฏิกิริยา หน้าตาเป็นอย่างนี้ พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้ใน อายตนบรรพ ว่า วิธีฝึกรับเครื่องกระทบก็คือดูว่า เข้ามาทางหู ทางตา หรือทางไหน แล้วใจโต้ตอบออกไปเป็นอย่างไร โต้ตอบออกไปด้วยความยึดมั่นถือมั่น แบบที่เป็นราคะ แบบที่เป็นโลภะ แบบที่เป็นโทสะ หรือว่าแบบที่เป็นโมหะ

อย่างโลภะนี่ไม่ต้องยกตัวอย่างนะ เห็นแล้วอยากได้แบบผิดๆ หรือเปล่า หรือว่าอยากได้ธรรมดา โอเค ไม่มีปัญหา แต่ถ้าอยากได้แบบผิดๆ ผิดเพศ ผิดวัย ผิดฐานะ หรือว่าผิดสภาพของตัวเอง แบบนี้ก็ให้รู้ว่าเกิดการยึดในแบบผิดๆ ขึ้นมา เกิดการอยากได้แบบผิดๆ ขึ้นมา
หรือ โทสะ ในแบบที่กรุ่นๆ อยู่ในใจ หรือว่าอยากด่าออกปาก ถ้าอยากด่าออกปาก ท่านก็แนะนำให้ระงับ ฝึกที่จะระงับ ฝึกที่จะข่มใจ ฝึกที่จะมีขันติ ไม่ให้ของร้าย ของร้อน พ่นออกจากปากของเรา
หรืออย่างมีคนมาแห่แหน ชื่นชม หรือว่ามาให้กำลังใจในแบบที่ผิดๆ ทำให้เกิดอัตตา ทำให้เกิดมานะที่ลุ่มหลงในตัวตน ท่านก็ให้พิจารณาว่า ปฏิกิริยาทางใจของเราที่มีคนมาชื่นชม ทำให้เกิดความหลงตัวแบบผิดๆ
หรือเราไปทำผิดมาแท้ๆ แต่เขาได้รับผลประโยชน์ เขามาชื่นชม เขามาเชียร์ ตรงนี้ก็ต้องไม่ลืมว่าสิ่งที่เขาชม เขาเชียร์ เป็นการชม หรือเชียร์เพื่อที่จะให้เราดีขึ้นหรือว่าเลวลง
นี่ก็เป็นเรื่องของการเจริญสติ การฝึกสติให้อยู่ในที่ในทางที่จะรู้ว่าปฏิกิริยาทางใจของเรา เป็นอย่างไร

ในทางกลับกัน พอปฏิบัติธรรม มีแต่อะไรดีๆ เข้ามากระทบ มีแต่อะไรที่ถูกต้องเข้ามา แล้วก็ทำให้เกิดความลุ่มหลง ทำให้เกิดความยินดี ทำให้เกิดความรู้สึกปรุงแต่งไปในทางที่พูดง่ายๆว่า ติดดี หลงไปในผลของบุญ ผลของกุศลอะไรแบบนี้ ท่านก็ให้พิจารณาเช่นกันว่า นี่ยึดอยู่หรือเปล่า ว่านี่ของเรา นี่เป็นหน้าตาของเรา นี่เป็นทรัพย์สินอะไรที่จะเข้ามาหาตัวเรา มาสู่ตัวเรา

ถ้าหากว่าเราไม่ได้มีการพิจารณาปฏิกิริยาทางใจ บางทีก็ไม่ได้ผิดทางโลกนะ คนมีความสุข จะให้ไปคิดอะไรอย่างอื่น อันนี้ว่ากันตามประสาโลก แต่ถ้าว่ากันตามประสานักปฏิบัติธรรม หรือว่าคนเจริญสติ แม้สิ่งที่เข้ามากระทบแล้วเกิดความรู้สึกดีกับตัวเอง เกิดความรู้สึกว่าชีวิตยอดเยี่ยมมาก แบบนี้ ท่านก็ให้พิจารณาว่านี่แหละ ปฏิกิริยาทางใจในแบบที่จะทำให้ยึดติดว่า นั่นเป็นของๆเรา นั่นมีส่วนเกี่ยวข้องกับเรา นั่นเป็นตัวตนของเรา นั่นเป็นตัวที่น่าพอใจของเรา

ตอนแรกอาจรู้สึกว่า ไม่รู้จะเห็นไปทำไม แต่ถ้าสามารถที่จะเห็นปฏิกิริยาทางใจได้บ่อยๆ ว่า มีอะไรมากระทบ ให้เรารู้สึกไม่ดีก็ตาม หรือมีอะไรมากระทบให้เรารู้สึกดีมากๆ ก็ตาม แล้วเกิดความยึดมั่นถือมั่นในแบบไหน เห็นความต่างไปของอาการยึดมั่นถือมั่นแต่ละชนิดได้ แล้วเกิดความรู้สึกว่า ตกลงที่นึกว่าเป็นของเรา ที่นึกว่าเป็นตัวเรา จะด้านดี หรือด้านร้ายก็ตาม มันสักแต่เป็นปฏิกิริยาลวง ลวงใจ ชั่วคราว เป็นขณะๆ พอมีความรู้สึกดี วันนี้พรุ่งนี้ เอ้า กลายเป็นความรู้สึกแย่ขึ้นมาได้

หลายคน จริงๆ นะ พอตั้งใจปฏิบัติธรรม ที่เคยได้อะไรแต่ดีๆ กลายเป็นมีบางอย่างมาบั่นทอนให้เสียกำลังใจ ให้เสียความรู้สึกเกี่ยวกับตัวเอง เสียเซลฟ์อะไรแบบนี้ หรือบางคน ในทางกลับกัน ชีวิตมีแต่อะไรแย่ๆ มาตลอด แต่พอตั้งใจปฏิบัติธรรมเท่านั้นแหละ อะไรดีๆ พุ่งเข้าหามาแบบโครมครามเลย แล้วก็ไปให้ข้อสรุปว่าปฏิบัติธรรมแล้วจะมีอะไรดีๆ เข้ามาในชีวิต ซึ่งไม่ใช่นะ แล้วแต่คน แล้วก็แล้วแต่กาลด้วย

ให้คิดง่ายๆ อย่างหลวงปู่ หลวงตา ครูบาอาจารย์ของเราเอง ยังเล่าให้ฟังว่า ท่านปฏิบัติธรรมมา ปฏิบัติขั้นอุกฤษ ปฏิบัติจนได้ผลแล้วบ้าง แบบมีความปลอดภัย มีความพ้นทุกข์แล้วบ้าง บางทีท่านก็เล่าให้ฟังว่า ความเจ็บไข้ได้ป่วยก็ยังมาเยือนอยู่ หรือว่าบางทีคนมากลั่นแกล้ง บางท่านก็ประสบอุบัติเหตุก็มี อะไรแบบนี้

ฉะนั้น อย่าไปตั้งข้อสรุปง่ายๆ ประเภทที่ว่าปฏิบัติธรรมแล้ว อะไรดีๆ จะเข้ามาอย่างเดียว มันไม่ใช่ธรรมชาติแบบนั้น แต่ ปฏิบัติธรรมแล้ว มีสติ ไม่หลง ไม่ไขว้เขว ไม่เป๋ไปกับอะไรที่ ดีบ้าง ไม่ดีบ้าง ตัวนี้ต่างหากที่คือแก่นสาร ที่คือสาระ ของการปฏิบัติธรรมนะ

อะไรจะพุ่งเข้ามาใส่ชีวิต เมื่อตั้งใจปฏิบัติธรรมก็ตาม ให้เราใช้เป็นเครื่องสำรวจ เป็นเครื่องตรวจสอบ หรือว่าเป็นแบบทดสอบ ว่าสอบผ่านหรือเปล่า ถ้าสอบผ่าน จำไว้ง่ายๆ เลย จะดูเข้ามาที่ใจ ว่าใจสวนออกไปอย่างไร โต้ตอบกับเหตุการณ์ภายนอกอย่างไร

แต่ถ้าสอบไม่ผ่าน จะไม่ดูเข้ามาที่ใจ แต่จะเกร็งกำลังภายใน ฮึดสู้ หรือไม่ก็ เกิดความรู้สึกว่า ภายในนี่ อัตตาข้างใน มันถูกทำลาย ถูกบดขยี้ ให้ป่นปี้ไปอะไรแบบนั้น ตรงนี้ก็คือ ไม่ได้เจริญสติจริง ไม่ได้ปฏิบัติธรรมจริงนะ
.. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. ..

ปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน วิธีรู้ว่าตัวเองทำบุญเด่นมาทางไหน
▶▶ คำถามช่วง – ถามตอบ ◀◀
30 มี.ค.2019


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น