วันเสาร์ที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2565

วิปัสสนานุบาล EP 95 (เกริ่นนำ) ก้าวข้ามจากเขตคนฟุ้งซ่าน สู่เขตนักเจริญสติปัฏฐาน - 17 มีค. 65

EP 95 | พฤหัส 17 มีนาคม 2565

เกริ่นนำ : ก้าวข้ามจากเขตคนฟุ้งซ่าน สู่เขตนักเจริญสติปัฏฐาน

 

พี่ตุลย์ : ชีวิตเป็นสิ่งที่อาศัยความรู้สึกเอาเป็นหลัก

 

ของแต่ละคนนี่ไม่เหมือนกัน

อย่างบางคนบอกว่าตัวเองเป็นคนจน เอาอะไรมาวัดว่าเราจน

ก็ขึ้นอยู่กับความอยาก ขึ้นอยู่กับความรู้สึกขาด

หรือความรู้สึกพร่องในชีวิต ว่าเราพร่องมากกว่าคนส่วนใหญ่ไหม

อยากได้อะไรแล้วไม่ได้ดั่งใจ เหมือนคนส่วนใหญ่ไหม

 

หรือ ถ้าบอกว่าตัวเองมีชีวิตอยู่ในเขตคนรวย

ก็อาจจะอาศัยการเปรียบเทียบว่า ตนสามารถจับจ่ายใช้สอยได้ฟุ่มเฟือย

 

หรือบางคน บอกว่าตัวเองอยู่ในเขตคนรวย

เพราะไม่ได้ต้องการอะไรมากไปกว่าที่กําลังมีอยู่

 

ความรู้สึกคือ .. สมมุติว่าทั้งเนื้อทั้งตัวเลย

เงินสดอยู่ในธนาคารนี่ มีหนึ่งแสนบาท

คนหนึ่งบอกว่า ชีวิตของตัวเองอยู่ในเขตคนจน

ขณะที่อีกคนอาจจะบอกว่าชีวิตของตน อยู่ในเขตคนรวยแล้ว

 

ไม่ได้โกหกทั้งคู่ ไม่ได้แกล้งหลอกตัวเองทั้งคู่

แต่รู้สึกอย่างนั้นจริง ๆ

ขึ้นอยู่กับว่าเราอาศัยความรู้สึกแบบไหนมาตัดสิน

 

ความรู้สึกที่ชัดเจนอยู่กับใจตัวเอง ที่รู้อยู่กับตัวเอง เป็นปัจจัตตัง

บอกใครไม่ได้นี่แหละ ที่เป็นตัวตัดสินว่าชีวิตของเราอยู่เขตไหน

 

หากไม่เอาเรื่องรวยเรื่องจน เอาเรื่องโชคดีโชคร้าย   

เรื่องชะตา อยู่ในเกณฑ์ดีหรือเกณฑ์ร้ายในแต่ละช่วง

บางคน มีความรู้สึกว่าตัวเองเข้าเขตชีวิต ในแบบที่เป็นเขตชะตาร้าย

เพราะว่าทําอะไร ๆ ผิดหมด ตัดสินใจอะไรพลาดหมด

ดูเหมือนกับว่าใคร ๆ ทั้งโลกมองตัวเองไม่ดีหมด

แล้วไป ๆ มา ๆ ที่แย่ที่สุด ก็คือตัวเองนั่นแหละ

ที่ซ้ำเติม แล้วก็รู้สึกว่าตัวเองนี่ไม่เอาไหน ห่วยแตก

ทําอะไรไม่เข้าท่าผิดพลาดไปหมด

คิดอะไรไปพูดอะไรไป เหมือนกับทำให้ชีวิตถูกกดต่ำลงตลอด

 

อย่างนี่ นี่ก็ประมาณว่าเข้าเขตชะตาชีวิตร้าย ทุกอย่างไม่เป็นใจ

มีแต่ประดังเข้ามา ถาโถมเข้ามา ทําให้รู้สึกว่าตัวเองนี่

กําลังอยู่ในภาวะที่ทั้งโลก กําลังรุมทําร้าย

 

แต่ถ้าบอกอยู่ในช่วงที่ชะตาดี อะไร ๆ ปรุงแต่งใจ

ให้รู้สึกว่า ฉันโชคดีจัง เดี๋ยวก็มีลาภลอยมา

เดี๋ยวก็มีคนเลื่อนยศเลื่อนตําแหน่งให้ เดี๋ยวก็มีคนหาเงินให้

ทําให้รู้สึกดี ทําอะไรนิด ๆ หน่อย ๆ ก็ได้รับคําชม

ได้รับการสรรเสริญ ได้รับการอุ้มชู

อย่างนี้ก็เรียกว่า ชีวิตปรุงแต่งให้เกิดความรู้สึกว่ากําลังเข้าเขตคนชะตาดี

 

ที่พูดมาทั้งหมดเพื่ออะไร

เพื่อบอกว่าชีวิตมีเขตอยู่จริงๆ

 

เราไม่ต้องไปพูดเรื่องชะตา

เราไม่ต้องไปพูดเรื่องรวยเรื่องจนก็ได้

พูดแค่เรื่องความรู้สึก รู้สึกว่าตัวเองมีชีวิตแบบไหนอยู่

ดีหรือไม่ดี น่าพอใจหรือไม่น่าพอใจ

แล้วเป็นความรู้สึกที่แกล้งหลอกตัวเองไม่ได้

 

บางที บางคน เกิดจากความคิดที่ห่อหุ้มอยู่หนาแน่น

เกินกว่าที่จะย้ายความคิดออกจากหัว

 

คนอื่นเขามองว่าแบบนี้โชคดี วาสนาสูงมาก

แต่ความรู้สึกตัวเอง ความคิดที่กัดกร่อนหัวใจอยู่ ที่สะสมมานาน

พอกหนามานานนี่ บอกตัวเองว่าเป็นคนที่ไม่ได้เรื่อง

เป็นคนที่เหมือนกับอะไร ๆ ดูขาด ..

ขาดตกบกพร่อง ดูไม่สมใจ ดูไม่เต็มอิ่ม

 

เหมือนกัน อย่างเวลาที่คนเรา มาฝึกสมาธิ

คนมักเข้าใจว่า การทําสมาธิคือเรื่องเล่น ๆ คืองานอดิเรก

คือเรื่องที่จะมาปัดเป่าความฟุ้งซ่านว้าวุ่นใจ ชั่วคราว

มองสมาธิเป็นของเล่น เป็นของผ่านมาแล้วผ่านไปแบบดอกไม้ริมทาง

 

จุดหมายหลักของชีวิตคนส่วนใหญ่หาเงิน หาความบันเทิง

มีครอบครัวที่อบอุ่น หรือว่าได้เล่นมือถือตลอดวันตลอดคืน

แล้วแต่ว่าจุดประสงค์ที่ใจไปปักนี่คืออะไร

แต่ที่จะมาทําสมาธิ แล้วบอกตัวเอง

สงสัยไม่ถูกโฉลกกับการนั่งสมาธิ ไม่ว่าจะแบบไหน

มันฟุ้งซ่าน อยากจะออกจากสมาธิ อยากจะไปเล่นเกมส์

อยากจะไปคุยกับใครสักคนหนึ่ง อยากจะไปแชท อยากจะไปดูซีรี่ส์

แล้วก็บอกว่า ชาตินี้ตัวเองคงไม่มีหวังได้ทําสมาธิ กับใครเขา

 

แล้วก็พอฟุ้งจัดขึ้นมาที ชีวิตถาโถมเข้ามา

ทําให้ใจถูกปรุงแต่งไปในทางแย่ ก็คิดอยากจะมาทําสมาธิเสียอีกทีหนึ่ง

คนส่วนใหญ่เป็นแบบนี้ .. อันนี้เรียกว่า คน

 

มนุษย์ทั่วไป ไม่ใช่เฉพาะชาติใดชาติหนึ่ง แต่ส่วนใหญ่หลาย ๆ ชาติ

ถ้ามาจับพลัดจับผลู มีวาสนาได้เกิดเป็นมนุษย์

ก็มักจะอยู่ในเขตของมนุษย์ ผู้พยายามทําสมาธิ หรืออยากทําสมาธิ

แต่ทําไม่สําเร็จ เพราะว่าบอกตัวเอง ไม่มีกําลังมากพอ ไม่มีบุญพอ

 

การจะทําสมาธิได้ แล้วมีความรู้สึกเหมือนขนม รู้สึกมีความสุข

ต้องอาศัยอะไรบ้าง?

 

ต้องอาศัยความรู้สึกดี ๆ กับสมาธิ

ต้องอาศัย background ทําความเข้าใจพื้นความรู้อะไรแค่ไหน

แต่ละคน ก็จะเห็นว่าตัวเอง มาถึงจุดที่

มองสมาธิเป็น สิ่งที่ไกลเกินเอื้อม หรือว่าเอื้อมคว้ามาได้แล้ว

 

ถ้าหากเอื้อมคว้ามาได้แล้ว แล้วรู้สึกว่าตัวเองทําได้เรื่อยๆ

ดีบ้าง ไม่ดีบ้าง แต่ทําได้เรื่อย ๆ

อย่างนี้เรียกว่า มีชีวิตที่เข้าเขต ความเป็นนักทําสมาธิ

 

คือนักทําสมาธิ หมายถึงว่า เรารู้สึกว่าตัวเอง มีความสามารถมากพอ

ไม่ได้พูดเรื่องบุญเรื่องบาปอะไร แต่มีความสามารถมากพอ

มีความเข้าใจมากพอ มีมุมมองภายในที่จะเห็นว่า

ดําเนินจิตอย่างไร ตั้งจิตไว้อย่างไร วางจิตไว้อย่างไร

ถึงเกิดภาวะที่เรียกว่า สมาธิ ขึ้นมาได้

 

นี่ อย่างนี้ จะยกระดับขึ้นมาเหนือ นักพยายามทําสมาธิ

หรือคนพยายามทำสมาธิทั่วไป

 

พอเข้าเขตทําสมาธิได้ ทําไปทําไป ในที่สุด จะข้ามไปอีกเขตหนึ่ง

เป็นเขตของผู้มีจิตทรงสมาธิ คือไม่ต้องพยายามทํา

ไม่ต้องพยายามมาบีบคั้นหรือกดดันตัวเอง

 

แล้วก็ไม่ใช่แบบว่าทําได้บ้างไม่ได้บ้าง แต่จิตมีปกติเป็นสมาธิอยู่เอง

อย่างนี้เรียกว่า ผู้มีจิตทรงสมาธิ เป็นอีกเขตหนึ่ง ของชีวิต

 

ไม่ใช่แค่ พยายามทํา หรือว่าทําได้บ้าง ทําไม่ได้บ้าง

แต่จิตโดยรวม มีปกติเป็นสมาธิได้

 

เพราะฉะนั้น ตอนที่ใครก็ตามที่อยู่ในห้องนี้

แล้วยังมีความรู้สึก.. แหม อยากทําสมาธิ

แต่พอทําแล้วมีความทุกข์ มีความอึดอัด ไม่เข้ากับชีวิตตัวเองเลย

 

ก็ ขอให้พิจารณาว่าเรายังอยู่ในเขตคนธรรมดา

ที่ต้องถูกความฟุ้งซ่าน รุมเร้า ยังไม่เข้าเขตคนทําสมาธิ

ได้แต่อยู่ในเขต พยายามทําสมาธิ ยังไม่ถึงเขตที่จะได้มีสมาธิกับเขา

 

ซึ่งตรงนี้ถ้าเรามองเป็นภาพรวมภาพใหญ่ว่า

การทําสมาธิ ไม่ใช่แค่การมานั่งจ้องอะไรอย่างใดอย่างหนึ่ง แป๊บ ๆ

แต่เป็นเขตของชีวิต

 

เขตที่ว่า คุณจะอยู่ในเขตคนฟุ้งซ่านทั่วไป

กับเขตคนที่ทําสมาธิเป็น หรือเขตคนที่มีจิตทรงสมาธิได้

นี่เป็นเรื่องข้ามเขตชีวิตกัน

 

เพราะฉะนั้น ไม่ใช่อะไรแค่จุดเริ่มต้นว่าพยายามแล้วแต่ยาก

หรือว่าพยายามแล้วแต่ทําไม่ได้

ตรงนั้น คุณยังแค่ไม่ ข้ามเขต .. ถ้าข้ามเขตไปแล้ว ไม่ต้องพยายาม

อย่าไปสงสัยว่า ทําไมสําหรับบางคนถึงยากนัก ที่จุดเริ่มต้น

 

ทีนี้ ที่เราทํา ๆ กันอยู่ในห้องวิปัสสนานุบาล

ไม่ใช่ แค่เรื่องของการข้ามเขตจากชีวิตฟุ้งซ่าน

มาเป็นเขตของนักทําสมาธิ หรือว่าเขตของผู้มีจิตทรงสมาธิเท่านั้น

แต่เป็นเขตของสติปัฏฐาน ซึ่งเป็นอะไรอีกเขตหนึ่ง

แยกออกมาเป็นต่างหากอีก จากพวกทําสมาธิทั่วไป

 

มีพรมแดนที่เป็นต่างหากจากทุกเขตที่เป็นที่รู้จักกันในสังสารวัฏทั้งหมด

เพราะเป็นเขตที่ใกล้กับมรรคผล

 

อย่างพวกเราหลายๆ คนในนี้เริ่มเข้าใจว่า

สมาธิ ไม่ใช่ธงชัย แต่เป็นแค่จุดเริ่มต้น

ที่เราจะ ยกขึ้นทาง ที่เรียกว่าวิปัสสนา

 

ถ้าไม่เข้าใจ มองภาพไม่ออกว่าวิปัสสนาคืออะไร

ก็เอาเป็น เล็งเข้ามาที่ประสบการณ์ภายใน

อย่างที่หลาย ๆ คนเกิดความรู้สึกขึ้นมาวันต่อวัน เพิ่มขึ้น ๆ ทุกทีว่า

กายนี้ใจนี้ เป็นแค่ธาตุหก ที่คงรูปคงร่างอยู่เป็นธาตุดิน

 

ไม่ใช่ดูเอาด้วยตา

ดูเอาด้วยตา อย่างไรก็ไม่สามารถที่จะเห็นว่าเป็นธาตุดิน

แต่ต้องสัมผัสเอาด้วยใจ

 

ใจที่เริ่มตั้งมั่นเป็นสมาธิ แล้วมีมุมมองว่าเป็นวัตถุธาตุ

ที่มีความเสมอกัน กับวัตถุธาตุอื่น ๆ รอบห้อง รอบตัว รอบโลก

 

ซึ่งอุบายวิธี ก็คือเราเอาวัตถุนี้หมายเลขหนึ่ง ไปยืนเทียบกับผนัง

ซึ่งก็จะก่อให้เกิดความรู้สึกขึ้นมาว่า นี่ก็วัตถุชิ้นหนึ่ง นั่นก็วัตถุอีกชิ้นหนึ่ง

แล้วเกิดความรู้สึกขึ้นมาว่า ถ้าสามารถหลับตา

แล้วสัมผัสได้ถึงวัตถุรอบ ๆ ตัว

ก็รู้สึกขึ้นมาจริง ๆ ว่าทั้งหลายทั้งปวง เป็นธาตุดินที่คงรูปคงร่าง

แล้วก็กินพื้นที่ว่าง เป็นต่างหากจากกัน แยกจุดแยกตําแหน่งจากกัน

 

จุดเริ่มต้นที่จะให้รู้สึกว่ากายใจเป็นธาตุหกจริง ๆ ก็เอากันที่ตรงนี้ในห้องนี้

แต่จุดที่เป็นจุดเชื่อมต่อ ก็มีความสําคัญ

 

จากเขตของผู้ทําสมาธิธรรมดา มาสู่เขตของ นักเจริญสติปัฏฐาน

เราเจริญอานาปานสติกันมาก่อน

แบบที่ทําให้เกิดความคุ้นเคยว่า

ภาวะในกายในใจนี้เป็นอย่างไร กําลังหายใจออกอยู่

ภาวะในกายในใจนี้เป็นอย่างไร กําลังหายใจเข้าอยู่

 

ตัวที่เรามองเห็นว่า ภาวะทั้งหลายทุกลมหายใจเข้าออก

สักแต่เป็นของที่ปรุงแต่งขึ้นมาชั่วคราว

จากความคิด ความรู้สึกเป็นสุขเป็นทุกข์อะไรก็ตาม

อย่างนี้ ก็เป็นอีกจุดหนึ่ง ที่บอกได้ว่าเราอยู่ในเขตของผู้เจริญสติ

 

แล้วผู้เจริญสติปัฏฐาน

มีมาตรวัดที่ชัดเจน ที่เด่นชัดออกมาจากนักทําสมาธิอย่างไร

 

ก็ดูตรงที่ว่าเข้าจุดที่จะรู้สึก ว่าจิตสัมผัสอะไร ๆ แล้ว

สักแต่ว่าเห็น สักแต่ว่าได้ยิน สักแต่ว่าคิด สักแต่ว่าสัมผัสรู้

โดยไม่ยึดมั่นถือมั่นว่า สิ่งเหล่านั้นเป็นตัวเป็นตนหรือเปล่า

 

ถ้าเข้าจุดนี้ ถ้าเริ่มเข้าจุดนี้ได้ จะจากการเดินจงกรมหลับตา

หรือจะจากการเจริญอานาปานสติก็ตาม

เราบอกตัวเองได้ว่า เราย้าย.. อัพเกรดจากเขตของนักทําสมาธิ

ขึ้นมาเป็นนักเจริญสติได้จริง ๆ

 

และยิ่งถ้าหากว่า ยกระดับการเข้าจุด เป็นการเข้าฝัก

คือรู้สึกอยู่ได้เรื่อย ๆ จิตมีความเป็นสมาธิ นิ่งเงียบสงบ ว่าง

ไม่ปรุงแต่งอะไรที่เกิน ๆ แต่มีความปรุงแต่งในแบบที่จะสัมผัสรู้ตามจริง

ว่าอะไร ๆ ที่กําลังปรากฏอยู่ไม่ว่าจะกายนี้ใจนี้ หรือว่าสิ่งภายนอกก็ตาม

สักแต่ว่า เป็นเครื่องกระทบกันและกัน มีอายตนะมาประจวบกัน

 

อายตนะภายใน อายตนะภายนอก ทั้งฝั่งเราฝั่งนี้ ทั้งฝั่งเขาฝั่งโน้น

ไม่มีใครด้วยกันทั้งคู่ ไม่มีตัวใคร ไม่มีบุคคล ไม่มีเราเขา

มีแต่ภาวะของธาตุ มีแต่ภาวะของขันธ์ ด้วยอาการที่สักแต่ว่า ๆ อยู่

 

นี่ ตรงนี้จะเป็นเขตอีกเขตหนึ่ง ที่ทําให้เรามีความเข้าใจในชีวิตอีกแบบหนึ่ง

มองภาพชีวิตกับตาลปัตรกับชาวบ้านเขาหมดเลย

ไม่มีเขตคนรวยคนจน ไม่มีเขตคนชะตาดี ชะตาร้าย

ไม่มีเขตคนพยายามทําสมาธิ นักทําสมาธิ หรือว่าผู้ทรงสมาธิ

 

มีแต่เขตของจิต ที่มีความรับรู้ว่า

ทั้งหลายทั้งปวงมีแต่ธาตุ ทั้งหลายทั้งปวงมี  มีแต่ขันธ์

ที่มาหลอกให้เกิดความรู้สึกว่าเป็นตัวเป็นตนขึ้นมา เป็นขณะ ๆ

 

ถ้าหากว่าขณะไหน

จิตมีความว่าง ไร้ความคิด ไร้ความปรุงแต่งในเชิงที่เอาเข้าตัว

มีแต่ความปรุงแต่งในเชิงสัมผัส รู้ตามจริง

อะไร ๆ สักว่าเป็นธาตุหก

อะไร ๆ สักว่าเป็นขันธ์ห้า

ไม่ว่าฝั่งนี้หรือฝั่งไหน

 

ตัวนี้.. สักแต่ว่า ๆ ไปเรื่อย ๆ ในที่สุด จะเข้าเขตอีกเขตหนึ่ง

ข้ามเขตไป  ข้ามเขตนักเจริญสติไปเป็นเขตของผู้มีสติที่ทรงอยู่

หรือว่าผู้ทรงสติ แบบที่พระพุทธเจ้าอยากให้มีสติแบบนั้น

 

มีสติแบบนั้น ถ้าเป็นระดับสูงสุดก็เรียกว่า

มีสติที่เป็นธรรมชาติอยู่ในตัวเอง

จิตพรากออกมา จากขันธ์ทั้งห้า

แล้วก็มี ความรู้อยู่ตลอดเวลา ระลึกได้อยู่ตลอดเวลาว่า

อะไร ๆ ที่ปรากฏโดยความเป็นขันธ์ห้า และธาตุหก

ไม่มีตัวใคร ไม่ต้องใช้ความพยายาม ไม่ต้องใช้ความคิด

อันนั้นเป็นเขตที่ต่างหากไปเลย หลุดไปเลย

พ้นไปจากที่ เรา ๆ ท่าน ๆ นี่จะไปรับรู้ว่ามีความสุขขนาดไหน

 

รู้ได้แค่อนุมานว่า คงไม่มีความทุกข์อีกแล้ว

เพราะว่าจิต แยกออกมาเป็นอีกเขตหนึ่ง

เป็นเขตของความว่าง จากความรู้สึกในตัวตน

เขตของความว่างจากการปรุงแต่ง ว่ามีตัวเรา

 

พวกเราก็กําลังกระต้วมกระเตี้ยมดั้นด้นกันอยู่

แล้วก็หลาย ๆคน ก็แสดงสัญญาณบอกว่า

อาการสักแต่ว่า เข้าเขตสักแต่ว่า นี่ไม่ได้ยากอย่างที่คิด

 

ขอแค่เอาจริง แล้วก็ มีความเข้าใจ

ว่าพระพุทธเจ้าท่านสอนอานาปานสติมาอย่างไร

สอนให้สัมผัสรู้ ความเป็นธาตุหกอย่างไร

อันนี้เราสามารถเอาไปเทียบเคียงกันได้กับพระไตรปิฎกนะครับ

_____________

วิปัสสนานุบาล EP 95 | พฤหัส 17 มีนาคม 2565

เกริ่นนำ : ก้าวข้ามจากเขตคนฟุ้งซ่าน สู่เขตนักเจริญสติปัฎฐาน

ถอดคำ : เอ้

รับชมคลิป : https://www.youtube.com/watch?v=OYXz7doo8kY&t=65s

 

วิปัสสนานุบาล EP82 (เกริ่นนำ) - 26 กพ. 65

EP82 | เสาร์ 26 กุมภาพันธ์ 2565

 

พี่ตุลย์ : แต่ละครั้งที่จะเข้าไลฟ์ ผมก็นึกถึงความสุขที่ได้จากการเห็นความก้าวหน้าของแต่ละท่าน

 

ทุกวันนี้ก็รู้สึกอย่างนี้จริงๆ คือมีความสุขได้ทุกวัน

เป็นเหมือนกับอีกวันหนึ่ง

แต่ไม่ใช่แค่วันธรรมดาเหมือนที่ผ่านๆ มาอีกต่อไป

___________

วิปัสสนานุบาล EP 82

รับชมคลิป : https://www.youtube.com/watch?v=QeJIB5s7Dd4

 

 

 

วิปัสสนานุบาล EP97 (เกริ่นนำ) : ความเอาจริง - 19 มีค. 65

EP97 | เสาร์ 19 มีนาคม 2565

เกริ่นนำ : ความเอาจริง

 

พี่ตุลย์ : สวัสดีครับทุกท่าน

 

ที่ผ่านมา เราคุยกันเรื่องว่าเราเอาจริงหรือยัง

แล้วเราควรจะตั้งความคาดหวังไว้แค่ไหน

 

วิธีที่จะดูได้ว่า ตัวเองสามารถคาดหวังได้ตามเป็นจริง

หรือสามารถคาดหวังได้แบบลมๆ แล้งๆ ดูง่ายๆ ที่

คุยกันสองคืนติดกันมาแล้ว เรื่องเกี่ยวกับ ความเอาจริง

 

แต่นอกจากความเอาจริงแล้ว จะมีรายละเอียดอื่นๆ

ที่จะบอกได้แบบเกิดความรู้สึกตระหนัก

ไม่ใช่ฝันลมๆ แล้งๆ เกี่ยวกับเรื่องของความพร้อม

 

ความพร้อมว่า เราทำไป มีทิศทาง มีเป้าหมายที่ชัดเจนหรือยัง

เราทำไป มีความรู้ ความเข้าใจกับภาวะ ประสบการณ์ที่เกิดขึ้น

เพียงพอกับการที่เราจะเห็นความคืบหน้า เป็นเครื่องยืนยันได้แค่ไหน

 

อย่างเช่นพระพุทธเจ้าตรัสว่า

ถ้าปฏิบัติมาได้ผล เจริญสติได้ผล โลภะ โทสะ โมหะ ต้องเบาบางลง

 

ถ้าปฏิบัติมา ไม่ว่าจะแนวไหน อ้างว่าดิบดีหรือตรงทางเพียงใดก็ตาม

แล้ว โลภะ โทสะ โมหะ ไม่เบาบางลง

อันนี้พระพุทธเจ้าไม่รับประกัน ว่าเราทำมาถูกทางแล้วหรือยัง

 

แต่ถ้ามีรายละเอียดตรงนี้ ..

โลภะ โทสะ โมหะ เบาบางลงอย่างเป็นไปเอง ไม่ใช่คิดไปเอง

คือเป็นไปเองตามธรรมชาติ

รับรู้ตั้งแต่อยู่ในมุ้งว่า กิเลสเราเบาบางจริง

 

อย่างนี้ถือว่าค่อยๆ เป็นคำยืนยันให้ตัวเองได้ว่า มาถูกทาง

ไม่ใช่คิดไปเอง หรือไปฟังคำรับรองจากใคร

แล้วมาบอกว่าเขารับรองแล้วว่าดี ก็เชื่อว่าคงดี

แต่ไม่สำรวจดูด้วยตัวเองว่า หลักฐานที่ประจักษ์อยู่กับตัวเองแท้ๆ

ดีหรือยัง ดีหรือไม่ดี

 

เรื่องของความคาดหวัง ..

คนเรา ถ้าทำไปแบบไม่คาดหวังอะไรเลย ก็จะไม่ได้อะไรเลย

เพราะจะไม่ออกจากก้าวแรก ไม่มีแรงผลักดันมากพอให้ move

 

แต่มีความขัดแย้งกันอยู่ตรงนี้แหละ เหมือนความย้อนแย้ง

ที่ทางพุทธศาสนาบอกว่า การปฏิบัติไปถึงที่สุด

สิ่งที่เราจะคาดหวังได้ คือดับทุกข์

แต่รายละเอียดของการดับทุกข์ เงื่อนสำคัญคือ

เราจะต้องปลดล็อค ความรู้สึกในตัวในตน ออกให้ขาด

 

ทีนี้ จะสวนทางกับไฟ ความทะเยอทะยาน

ความอยากจะทำอะไร ของมนุษย์ธรรมดาสักคน

 

เราคาดหวังว่าจะดับทุกข์

แต่ในอีกทางหนึ่ง เราต้องคาดหวัง ให้ตัวเองหมดความรู้สึกในตัวตน

มันย้อนแย้งมาก บางคนบอกว่าทำใจไม่ถูกเลย

เพราะรู้สึกมีไฟ กระตือรือร้น ร้อนรน อยากได้มรรคได้ผล

แต่ปรากฏว่า ถูกตัดสิน บอกว่าใช้ไม่ได้

ร้อนรนเกินไป ใจร้อนไป รีบเร่งไป

ก็ .. อ้าว แล้วแบบนี้จะให้ทำอย่างไร

 

ตอนร้อนรน ก็บอกว่าเป็นไปเพื่อตัวตน

เพื่อความคาดหวังแบบผิดๆไม่ตรงทิศตรงทาง

แต่ครั้นจะเฉื่อยๆ เนือยๆ

ก็บอกว่าไม่มีไฟมากพอ ที่จะให้ก้าวไปข้างหน้า

 

แล้วที่ balance ที่อยู่ตรงกลาง สมดุลอยู่ตรงไหน

 

ทีนี้ คนยุคเรามักจะไป ใช้คำว่า ทางสายกลาง ซึ่งใช้กันผิดๆ

 

ถ้าจะฟังคำว่า มัชฌิมาปฏิปทา ที่แท้จริงต้องไปดูด้วยว่า

พระพุทธเจ้าท่านหมายถึง

ไม่ให้ทุกข์เกินไป อย่างทรมานร่างกายเจียนตาย

อย่างนั้นสุดโต่งในทางที่จะทำให้ยึดติดอยู่กับความทุกข์

 

แต่ครั้นจะเสพสุขแบบโลกๆ ท่านก็ว่าไม่ได้

นั่นเกินไป น่าติดใจเกินไป

เกินกว่าที่จิตจะทิ้งขว้างความเป็นตัวเป็นตน เป็นรูปนามนี้

มันจะไม่ยอมเชื่อว่ากายนี้ใจนี้ไม่ดี ไม่น่าเอา

สมควรจะทิ้งขว้าง ให้เหมือนถ่มเสลดออกจากปาก

 

คำว่าทางสายกลางของท่าน เอาง่ายๆ คือทำจิตให้วิเวก

ไม่ใช่ตรงกลางในแบบที่เล่นๆ ก็ได้ แล้วก็นึกจะขยัน ก็ขยัน

ไม่ใช่อะไรแบบนั้น

 

ทางสายกลางที่พระพุทธองค์ว่านี้ ต้องมีไฟนะ ต้องมีฉันทะ

 

ถ้าเราสำรวจ ส่องสังเกตดีๆ มีความเข้าใจที่ชัดเจนต้องมีไฟ

แต่ไฟในที่นี้ ต้องไปถึงจุดหนึ่ง

พูดง่ายๆ ว่าจิตเราต้องมีความสงบ

มีความตื่น มีความพร้อมรู้ มีความพร้อมทิ้ง

 

อันนี้รวบรัดให้แล้วนะ เอาแบบที่บอกว่า

อยากได้แบบไม่ต้องใช้ศัพท์แสงอะไรทั้งสิ้น

 

จิตต้องตื่น มีความพร้อมรู้ มีความพร้อมทิ้ง

 

ถ้ามีความตื่น มีความพร้อมรู้ มีความพร้อมทิ้ง

แบบนี้แหละคือทางสายกลางแบบที่จะไปถึงมรรคถึงผลได้

 

พูดง่ายๆ ว่า ขึ้นต้นมา จะร้อนรน

จะมีความรู้สึกว่า ทะเยอทะยานอยากได้มรรคผลอย่างไร

ตรงนั้นยกไว้เป็นจุดเริ่มต้น

 

แต่จุดที่ต้องคำนึงถึงคือ เมื่อขึ้นทาง เมื่อพยายามเจริญสติแล้ว

สติของเราอยู่ในความพอดิบพอดี

ที่ใจจะได้มารู้ภาวะทางกายภาวะทางใจ หรือพฤติกรรมตัวเองแค่ไหน

 

ถ้ามันยื่นๆ ทะเยอทะยาน จะเอาอนาคต ไม่เอาปัจจุบัน

แบบนี้ ถ้ามีความตื่น มีความพร้อมรู้

ก็จะพร้อมทิ้งความทะเยอทะยานส่วนเกินนั้น

 

แล้ววิธีทิ้ง ไม่ใช่ตัดใจทิ้ง แต่เห็นว่านั่นเป็นส่วนเกิน

นั่นเป็นความปรุงแต่ง ในแบบที่จะกั้นขวาง หรือบดบัง วิถีแห่งปัญญา

ไม่ได้ส่งเสริม ไม่ได้เพิ่มเติมที่จะผลักดัน ให้เราเข้าใกล้มรรค เข้าใกล้ผล

 

ตัวของมรรคจิต ผลจิต เมื่อว่ากันโดยความเป็นจิต

คือการทิ้งตัวตน ทิ้งอุปาทานว่ามีตัวอยู่ในกายใจนี้

 

ตัวนี้ ถ้าเรามีความเข้าใจ เห็นภาพกว้าง ภาพรวมอย่างชัดเจน

เราจะไม่หลงทาง แล้วพูดเรื่องมรรคผลได้แบบ save

ไม่ใช่พูดคุยเรื่องมรรคผล เพื่อที่จะยุให้เร่งเอาๆ ขยันหน่อยๆ

เสร็จแล้วขยันไปไหนไม่รู้

 

ตรงเรื่องของทิศทาง เรื่องของเป้าหมาย

ถ้าหากมีความชัดเจน ว่าเราจะเอามรรคจิต ผลจิต

ซึ่งหมายถึงจิตที่ทิ้งความรู้สึกในตัวในตน ที่อยู่ในกายใจนี้

หรือจิตที่ทิ้งอุปาทาน สักกายทิฏฐิ

ว่ามีตัวเราอยู่ในกายอยู่ในใจ หรืออยู่ที่ใดที่หนึ่ง ไม่ชาตินี้ก็ชาติหน้า

 

ความสามารถที่จะทิ้งตรงนั้น

จิตต้องมีความตื่น มีความพร้อมรู้ มีความพร้อมทิ้ง

เป็นสมาธิ เป็นปกติ ถึงจะมีอุเบกขา

 

ถ้าเราเข้าใจภาพรวมว่า

เริ่มต้นขึ้นมาร้อนรนได้ ไม่ห้าม อนุญาตเต็มที่

แต่ทำไปๆ ต้องมีสมาธิ และมีอุเบกขา ไม่รีบร้อน

มีแต่ความใจเย็นสะสมไปเรื่อยๆ ทีละนิดทีละหน่อย

 

ซึ่งตรงนี้ ก็จะไปเจอความย้อนแย้งอีกจุดหนึ่ง

บางท่านบอกว่าไม่มีเวลาเหลือมากพอแล้ว กลัวไม่ทัน

 

ส่วนบางท่าน ก็บอกว่า ยังมีเวลาเหลืออีกเยอะ ตัวนี้ อันไหนดีกว่ากัน

 

มีทั้งข้อได้เปรียบ และเสียเปรียบ เกี่ยวกับเรื่องความต่างระหว่างวัย

ซึ่งเราได้เห็นประจักษ์ตาอยู่ในเหล่าสหธรรมิกที่รวมๆ กันในห้องนี้แหละ

 

ถ้าเรามีอายุยังน้อย จะมีสิ่งที่เป็นเงาตามตัวมา

อย่างที่พระพุทธเจ้าตรัสเรียกว่าเป็นความประมาทในวัย

ความมัวเมาในวัย มีความรู้สึกว่า ยังอยู่ได้อีกนาน

 

ส่วนคนที่มีความรู้สึกว่า วัยของตัวเองใกล้ฝั่ง

ใกล้จะหมดวาระแล้ว ใกล้จะถึงอายุขัย

ที่ผมพบมา คนที่มีความเพียรเจริญภาวนาตอนช่วงอายุที่สูงๆ นี่นะ

จะพบตรงกันหมด คือมีความรู้สึกสิ้นหวัง

มีความรู้สึกว่า ทำไมฉันถึงไม่ได้พบธรรมะ

ไม่ได้พบทางเสียแต่เนิ่นๆ ตั้งแต่อายุยังน้อย

มาเอาป่านนี้ สงสัยจะไม่ทัน

 

อันนี้ผมขอแยกแยะให้เห็นเลยนะ แล้วก็จะไม่เอ่ยชื่อ

แต่ว่า ทุกท่านคงได้เห็นกันอยู่แล้วในหมู่พวกเรา

มีท่านที่สูงอายุ แล้วก็ทำได้ ดูว่าดีกว่าหนุ่มสาวอีก

เป็นแรงบันดาลใจให้หนุ่มๆ สาวๆ ได้ มีหลายท่านในห้องนี้

 

ไม่เอ่ยนามนะ เพราะเราอยู่ด้วยกัน

จะไม่ให้มีการยกย่องออกหน้าออกตา ว่ามีใครเป็นคนพิเศษขึ้นมา

จะหลีกเลี่ยงนะในห้องนี้

 

คือพี่ๆ ที่เราเห็นมา หรือบางคนจะเรียกยาย เรียกน้าอะไรก็แล้วแต่

เอาตรงๆ คือ มีความรู้สึกว่า ตัวเองเหลือเวลาน้อย

 

ฉะนั้น ที่จะมาประมาท หรือจะมาคิดมาก

เดี๋ยวจะเอาอย่างนั้นดี หรืออย่างนี้ดี ไม่ได้เหลือเวลาให้คิด

มีแต่ความตั้งอกตั้งใจ ทำเวลาที่เหลือ แข่งกับเวลาที่มีอยู่เต็มที่

กลายเป็นข้อได้เปรียบขึ้นมา คือจิตจะแน่วเข้าไป

 

คำว่าเอาจริง จิตมีความแน่วเข้าไป

แล้วอย่างที่เห็นๆ คือ จะออกมาไม่ว่าทางกระแส ให้เรารู้สึก

หรือว่าสิ่งที่ปรากฏเป็นภาพรูปร่างหน้าตา

ที่เห็นความเปลี่ยนแปลงได้ชัด เห็นความต่างได้ชัด

 

กลายเป็นว่าที่บอกว่า เหลือเวลาน้อย

เป็นตัวบีบ เป็นตัวตีกรอบ

ให้จิตตั้งมั่นอยู่บนความเอาจริงเอาจัง

 

จากข้อเสียเปรียบ พลิกเป็นข้อได้เปรียบได้

 

ในทางตรงข้าม เมื่อยังประมาท ยังมัวเมาในวัย

ซึ่งอันนี้ ไม่สามารถที่จะไปฉุดดึง ฉุดลากอะไรได้

จิตของคน จิตมนุษย์ มีอิสระ

ที่จะตัดสินว่าตัวเองจะเลือกโฟกัสกับอะไร

 

ถ้าอายุยังน้อย รู้สึกว่าเวลายังเหลือมาก

ก็ไม่ใช่ว่า เวลาเหลือมาก เพื่อการปฏิบัติธรรม

แต่มีทางเลือกอีกเยอะ ให้ไขว่คว้า ให้แสวงหา

ให้สอดส่ายสายตา เหลียวหน้าเหลียวหลัง

 

ฉะนั้น จากคนที่บอกว่าปฏิบัติได้ดีตั้งแต่อายุยังน้อย แล้วได้เปรียบ

ไม่จริงเสมอไป

 

บางที กลายเป็นช่องให้กิเลสได้โจมตี

หรือครอบงำให้เกิดความคิดขึ้นมาว่า เดี๋ยวแก่ๆ ค่อยเอาจริงก็ได้

หรือทำไปเรื่อยๆ เดี๋ยวก็ได้เอง ยังมีเวลาอีกเยอะ

 

ความเอาจริงเลยไม่เกิดการสะสมตัว

แล้วไม่เกิดการพอกพูนให้หนาแน่น เป็นปึกแผ่น มั่นคงขึ้นมา

จิตเลยตั้งมั่นเป็นสมธในทางที่จะทิ้งไม่ได้

 

ตรงที่ ข้อได้เปรียบเห็นๆ กับข้อเสียเปรียบเห็นๆ

บางทีก็พลิกกลับตาลปัตรได้

 

ทีนี้ ถามว่า ที่พูดมาทั้งหมด จะสรุปอย่างไร

 

จะบอกว่า สองคืนที่ผ่านมา พูดเรื่องความเอาจริง

ค่อยๆ พูดมาตั้งแต่บอกว่า คนเรามีเขตของชีวิตที่รู้สึกได้ด้วยตัวเอง

ชะตาดี ชะตาร้าย

เขตของคนอยู่ทางโลก หรือคนปฏิบัติธรรม

เขตที่เป็นนักทำสมาธิ หรือเป็นผู้ทรงสมาธิ

เขตที่ยักแย่ยักยันอยู่ ว่าจะเอาหรือไม่เอา กับเขตที่ปักใจแน่วว่าจะเอา

 

ความรู้สึก จะบอกเรา

 

แค่มานั่งดูลมหายใจสองสามครั้ง ไม่ได้ตัดสินอะไรเลย

แต่การที่เรามีชีวิตเป็นปกติอยู่กับอะไร นั่นต่างหาก

ที่บอกได้ว่าเราเข้าเขตไหน

 

แล้วมาถึงจุดที่บอก เอาจริงเอาจัง

จากเหตุปัจจัยทั้งหลาย เรื่องวัยวุฒิ เรื่องช่วงเวลาของชีวิต

ก็มามีความเป็นตัวแปรด้วย

 

 

 

 

 

บางคน ที่เห็นกับตาในห้องนี้เอง ไม่ต้องดูจากที่ไหน

ยังทำงานทำการ หัวยุ่ง แต่ก็สามารถหาเวลาได้

อย่างที่บอกว่า ฉันทะ นี่แหละ เป็นเครื่องผลิตเวลา

สามารถที่จะทำได้วันละสามชั่วโมงบ้าง หกชั่วโมงบ้าง

ทั้งๆ ที่ทำงานวันละเป็นสิบชั่วโมง

นี่ก็มีให้เห็นในห้องนี้ มีหลายคนทีเดียว

 

ส่วนที่บอกว่า ไม่มีเวลา

พอไปดูแล้ว อ๋อ... จริงของเขา

เวลาต้องเอาไปดูซีรีส์ เวลาต้องเอาไปแชท

ต้องเอาไปตามข่าวที่น่าสนใจ เป็นข่าวที่ขาดไม่ได้

ไม่อย่างนั้นเอาไปเม้ากับเพื่อนไม่รู้เรื่อง

 

การที่คนเรา แบ่งเวลาในชีวิตเอามาใช้ทำอะไร

ห้ามกันไม่ได้ ว่ากันไม่ได้ โทษกันไม่ได้ เป็นสิทธิ์ของแต่ละคน

 

ทีนี้ ที่เราจะบอกกับตัวเอง ..โจทย์ตั้งต้นที่พูดมา บอกว่า

เราจะคาดหวังอะไรได้ กับเรื่องของมรรคผล มีข้อสังเกตอะไรที่ชัดเจน

คือแทนที่เราจะไปพูดถึงเองคุณภาพจิต คุณภาพสมาธิ คุณภาพสติ

ได้รับการรับรองจากใครว่า นี่เจ๋งแล้ว

 

เรามาสำรวจตัวเองดีกว่า ว่าเราให้เวลากับอะไรโดยมาก

ความสนใจจริงๆ ที่เราเล็งไป

 

ถ้าบอกว่า โอเค เราเข้าใจหลักการที่จะเจริญสติ

เราเข้าใจแล้วว่า เป้าหมายชีวิตเรา คือการเอามรรคเอาผล

แต่ใจของเรายังเล็ง เลือกใช้เวลาไปในทางที่ย่ำอยู่กับที่

หรือย้อนถอยไปข้างหลัง ไม่ได้ไปข้างหน้าหาเป้าหมาย คือมรรคผล

 

แบบนี้ ลึกๆ ก็จะบอกตัวเองได้อยู่แล้วว่า

ยังมีสิทธิ์ มีเสียงไม่ได้เต็มที่เต็มทางนัก

 

แต่ถ้าเราส่องสำรวจแล้วรู้สึกว่า

เวลาในชีวิตเรา อุทิศให้กับเรื่องของการเจริญสติ

เข้ามารู้เข้ามาดูในกายใจ แล้วเห็นความคืบหน้ามากขึ้นๆ

มีความคงเส้นคงวา มีความปักหลักมั่นคงที่จะรู้ที่จะดูกายใจ

โดยความเป็นของไม่เที่ยง ไม่ใช่ตัวตน เป็นรูปนาม

 

ตัวนี้ ระดับความคาดหวัง จะยกขึ้นมา

ด้วยความสมัครใจที่จะใช้เวลาในชีวิต ไปในเรื่องนี้

 

อย่างบางคน .. ไม่ได้ว่าใครนะ อุทิศชีวิตก็จริง

แต่เสียดาย ที่ไปอุทิศให้กับการปฏิบัติในแบบที่จะจ้องเอาๆ

 

บางคน ใช้เวลาหกสิบปี อยู่กับสมถะ แล้วก็ไม่รู้ตัว

คือไม่รู้จะเอาอะไรมาตัดสิน

อันนี้แม้แต่ในพระคัมภีร์ก็มีนะ แต่เป็นคัมภีร์ชั้นรองลงมา

 

คือทำสมถะอยู่ 60 ปี แต่ไม่ได้อะไรเลย เกิดความเศร้าหมอง

ตอนที่ก่อนจะตาย รู้ตัวว่ายังไม่ได้มรรคผล

เสร็จแล้ว ก็ไปพะวงติดข้องอยู่กับกรรมเล็กๆ น้อยๆ ที่ผิดวินัยสงฆ์

เสร็จแล้วจิตท้ายๆ ของชีวิต ไปจับเอากรรมไม่ดีตรงนั้น

ซึ่งไม่ได้ผิดร้ายแรงอะไรเลย แค่ผิดวินัยสงฆ์เล็กๆ น้อยๆ

แต่กังวลว่าเราไม่ได้ปลงอาบัติ ก็เลยไปเกิดในที่ต่ำก่อน อย่างนี้ก็มีนะ

 

คือบางทีเรื่องว่าใครมีโอกาสเจอทาง ไม่มีโอกาสเจอทาง พูดยากจริงๆ

แล้วจะมาอวดอ้าง มาตีฆ้องร้องป่าว ว่าฉันถูก ฉันดี

แบบนี้ก็เหมือนฆ้องที่อยู่ๆ ดังเอง

ก็เอาไปพิสูจน์ด้วยคำพูดไม่ได้ ของพวกนี้ ว่าอันไหนดี อันไหนไม่ดี

 

ทีนี้ อย่างพวกเรา ก็ขอย้ำอีกที

ถ้าจะถือเป็นโอกาสที่ดีที่สุด ก็คือ

มีเครื่องเปรียบเทียบ เป็นสหธรรมิกที่เจริญสติมาด้วยกัน

แล้วเห็นๆ กันว่ามีความเจริญ มีความคืบหน้ามาถึงไหนกันแล้ว

 

ทั้งเทียบจากความรู้สึกของตัวเอง จากประสบการณ์ที่เกิดขึ้นภายใน

ทั้งเทียบจากการที่ฟังคนอื่นบอกเล่า

 

ถ้าเราอยู่ในเส้นทางที่แน่ใจได้ว่า โลภะ โทสะ โมหะ

โดยเฉพาะตัว โมหะ เบาบางลง ความรู้สึกในตัวตนน้อยลง

ความรู้สึกว่ากายนี้ใจนี้เป็นของฉัน เป็นตัวฉัน หรือเป็นกู น้อยลง

นี่ก็คือว่า น่าจะคาดหวังได้ ตามที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้

ให้แนวทางไว้ว่า จะสำรวจสังเกตตัวเอง

ว่าปฏิบัติมาถูก ปฏิบัติมาดี มีอะไรเป็นเครื่องวัด

 

เพราะฉะนั้น ความคาดหวัง เอาจริง ให้เวลา

แล้วก็ดูความคืบหน้าผ่านกิเลสของตัวเอง

อย่าไปดูคำรับรองจากคนอื่น

 

ผมนี่ไม่ชอบเลย ให้คำรับรองใคร

แต่นี่เรามาทำๆ กันในช่วงปีแรก ก็จำเป็น

ไม่อย่างนั้นก็ไม่รู้ว่าจะเอาอะไรมาเป็นเกณฑ์วัด

 

แต่เดี๋ยวพอทำไปถึงจุดหนึ่ง เราจะทำงานร่วมกัน

เราจะไม่ใช่แค่ให้ใครคนใดคนหนึ่งมาตัดสิน

หรือมากำหนดทิศทางของห้อง

_______________

วิปัสสนานุบาล EP 97

วันที่ 19 มีนาคม 2565

ถอดคำ : เอ้

วิปัสสนานุบาล EP 96 (เกริ่นนำ) : ต่อยอดเข้าเขตมรรคผล - 18 มี.ค. 65

EP 96 | ศุกร์ 18 มีนาคม 2565

 

พี่ตุลย์ : วันนี้วันศุกร์ จากหนึ่งทุ่มถึงสี่ทุ่ม

เรามามีความสุขกับการเจริญสติ เอาความคืบหน้าทางธรรมร่วมกัน หมายถึงตัวผมเองด้วยนะ

 

เมื่อวาน เราคุยกันเกี่ยวกับเรื่องของการเข้าเขตต่างๆ

ซึ่งจำแนกเปรียบเทียบกับทางโลก

ว่าเข้าเขตคนรวย เข้าเขตชะตาดีร้ายอะไรต่างๆ

แล้วถ้าหากว่า ยังไม่มีเหตุปัจจัยที่พร้อมพอ

เราก็จะยังรู้สึกว่า เรายังไม่เข้าเขตธรรมะเต็มตัว

 

อย่าว่าแต่ธรรมะ เอาแค่มีสมาธิให้ได้ เลิกฟุ้งซ่านให้ได้

เลิกติดใจอยู่กับเรื่องไร้สาระให้ได้ เอาตัวออกมาจากเขตคนไร้สาระ

คนในโลกส่วนใหญ่ ก็มีความรู้สึกว่า

ตัวเองเอาชีวิตออกมาจากเขตนั้น ได้ยากแล้ว

ไม่ต้องมาพูดเรื่อง การเจริญสติ มาพูดถึงการเข้าเขตสักแต่ว่าๆ

 

เอาแค่เขตเหลวไหล

หมายถึงจิต ที่เหลวไหลฟุ้งซ่าน กับจิตที่มีสติ มีสมาธิ

ก็เป็นเรื่องที่ค่อนข้างยากสำหรับคนธรรมดาทั่วไปแล้ว

 

ฉะนั้น อย่างหลายๆ ท่านในห้องนี้ เป็นคนมีบุญ

บุญดีเลือกได้ บุญเก่าเยอะ

จะคลุกอยู่กับโลกก็ไม่มีปัญหา ไม่ติดขัด สบาย

มีของเก่าช่วยหล่อเลี้ยง ช่วยทำให้อะไรๆ ในชีวิตง่าย เป็นไปได้ดังใจ

 

แต่จะเลือกอีกทาง เอาทางยากขึ้น

เอาทางไม่สนุก แต่สุขกว่าเดิม

บางคนก็จะรู้สึกว่า ตัวเองมีบุญทางธรรมน้อย

อาจด้วยเหตุที่พบกับคำสอนครูบาอาจารย์

หรือแนวธรรมะอะไรที่ไม่คลิกกัน แล้วก็รู้สึกว่าไปด้วยกันไม่ได้

 

หรือพบแนวทางที่เหมาะกับตัวเองแล้ว

แต่ก็เหมือนฉันทะ หรือ passion ที่จะพุ่งมาสุดตัว ยังไม่มากพอ

พูดง่ายๆ รู้สึกตัวเองยังมีกำลังอ่อน

 

คืนนี้ก็จะมาต่อยอด ว่าทำอย่างไร ถ้ารู้ตัวว่าตัวเองเป็นพวกมีบุญพอ

จะเอาตัวเองเข้ามาจริงจัง กับเขตธรรมะได้อย่างไร

 

อย่างถ้าเปรียบเทียบกับทางโลก เขตเอาจริงแบบโลกๆ

อย่างสมมติคุณตั้งใจจะเป็นคนเก่ง หรือตั้งใจเป็นคนรวย

จะเห็นได้ชัด เรื่องเก่าบุญใหม่

 

บุญเก่า คือรู้สึกตัวเองมีพรสวรรค์ มีความชำนาญ หรือถนัด

เรียนรู้อะไรอย่างหนึ่ง ประเภทเริ่มแรกก็แตกฉาน

สามารถเก่งในสิ่งที่คนอื่นรู้สึกว่ายาก หรือโดดเด่น

สามารถริเริ่มสร้างสรรค์ในสิ่งที่ คนอื่นงง จับต้นชนปลายไม่ถูก

แบบนี้เรียกมีพรสวรรค์

 

ส่วนบุญใหม่ ต้องไปเจอวิธีการ มีใครสักคนสอนให้คุณคิด

หรือคิดได้เองยิ่งดี ว่าจะตั้งเป้าให้ชัดได้อย่างไร

แล้วจะคืบไปทีละคืบ ทีละศอก แบบ step by step ได้อย่างไร

 

เริ่มต้นที่คุณมีพรสวรรค์

แล้วสามารถเอาความเก่ง เอาความถนัดของตัวเองมาใช้

นั่นคือเริ่มต้นมีฉันทะแล้ว มี passion แล้ว

เอาบุญเก่ามาตั้งเป้าใหม่ จะไปได้ไว .. ในทางโลกนะ

 

ยุคนี้ยิ่งสบายเลย ถ้าจับทางถูก ไม่ต้องโกง

ก็สามารถรวยได้ตั้งแต่อายุยังน้อย

บางคนเป็นเด็ก อายุแค่เจ็ดขวบ อาศัยบุญเก่า

คือมีพ่อแม่เลี้ยงมาในแบบที่จะช่วยให้รวยได้

มารีวิวของเล่นออกยูทูป แค่นี้รวยแล้ว

มี sponsor คิดเป็นเงินไทยปีละ 700 กว่าล้านบาทก็มีให้เห็น

 

ซึ่งตรงนี้ เป้าหมายทางโลก จริงๆ แล้ว ถ้าเทียบกับทางธรรม

เป้าหมายและ passion ทางโลก จับต้องได้ง่ายกว่า

 

อย่างคิดขึ้นมาว่าอยากจะรวย รวยแค่ไหน แล้วเราทำอะไรเป็นบ้าง

มีฉันทะกับการทำอะไรที่คนอื่นทำไม่ได้บ้าง

หรือสามารถที่จะผลิตของ ผลิตบริการอะไร

ที่ตอบสนองกับคนส่วนใหญ่หมู่มากได้

แบบที่รู้สึกว่าตัวเองมีกำลังเหลือเฟือ มีไฟลุกโชน

ที่จะเอาความร่ำรวยจากหมู่คน ที่มาใช้บริการ หรือสินค้าที่ตัวเองผลิต

 

อันนี้ บุญเก่าที่ดีพอ บางทีกระตุ้นให้เราเกิดสัญชาติญาณ

อยากทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งขึ้นมา แล้วประสบความสำเร็จได้เร็ว

 

แต่ถ้าตั้งโจทย์ว่า ทำอย่างไรให้เอาจริงทางธรรม

เรื่องบุญเก่าบุญใหม่ พูดกันยากกว่าการเอาจริงทางโลกไม่รู้กี่ร้อยเท่า

เพราะไม่มีบทเรียน ไม่มีแบบฝึกหัด ไม่มีกูรู

ไม่มีคอร์สที่เขาสอนแบบโลกๆ

 

ถ้าอยากรวย ทุกวันนี้ เปิดในกูเกิล .. ทำอย่างไรอยากรวยจัง

จะมีโฆษณา มีคอร์ส มีกูรู มีคำแนะนำอะไรฟรีๆ มากมายมหาศาล

ซึ่งขอให้จับจุดถูก จับทางได้ ต่อให้เป็นคำแนะนำที่ฟรี

คุณก็สามารถที่จะจับทางตัวเอง แล้วก้าว หนึ่ง สอง สาม ไปได้

 

เนื่องจากความสำเร็จแบบโลกๆ อาศัยเพียงความคิด

เพียงความทะเยอทะยาน อาศัย passion

หรือฉันทะที่แรงพอ ให้ก้าวไปแบบคิด step by step เป็น

ใช้ชะตาชีวิตตัวเอง ใช้ทุนเก่าทุ่มไปในเวลาไม่นาน ก็สามารถเห็นผลได้

 

แต่การเอาจริงทางธรรม

ถ้ามองจากสายตา หรือความรู้สึกคนธรรมดาทั่วไป

เป้าหมายแบบพุทธ ถ้าอยู่ๆ กระโดดไปพูดที่เส้นชัยสุดท้ายเลย

คนจะรู้สึกว่า.. คิดอะไรหลุดโลกไปหรือเปล่า

คิดอะไรอยู่ ถึงคิดจะสละตัวตนทิ้ง ..

จริงๆ แล้ว พระพุทธเจ้าท่านตรัสตีกรอบไว้ดีแล้ว

บอกว่าทำอย่างไรให้ดับทุกข์

 

คือไม่ได้เอาแนวการปฏิบัติ หรือการต้องไปให้ถึงจริงๆ มาพูดนำ

ไม่อย่างนั้น ชาวโลกจะติเตียนว่า

ศาสนานี้เป็นศาสนาที่ทำอะไรอยู่ จะทิ้งตัวทิ้งตนเพื่ออะไร

 

อันนี้พระพุทธเจ้าก็ตอบ เป็นการตีกรอบสำเร็จรูปไว้ว่า

ศาสนาของพระองค์ มีเป้าสูงสุดคือทำให้ความทุกข์ดับไป

 

แล้วคนยุคเรา มักตีความว่าหมายถึงทุกข์ทางใจ

ไม่ให้มีความทุกข์ทางใจขึ้นอีกเลย

ซึ่งก็ถูกต้องในแง่หนึ่ง เพราะถ้าเป็นพระอรหันต์แล้ว

จิตแยกจากขันธ์

ไม่มีความทุกข์ อันเกิดจากความสะเทือนที่ขันธ์อีกเลย

เพราะจิตแยกออกมาแล้ว

 

แม้แต่ในฝัน พระอรหันต์ก็ไม่ฝัน

ไม่มีความทุกข์ อันเกิดจากความไม่รู้ตัว ว่า

นิมิตฝันเป็นแค่ของล่อ จิตกระโจนเข้าไปยึด

ถ้าพระอรหันต์จะเกิดนิมิตระหว่างฝัน

ก็จะเป็นนิมิตแสดงถึงอนาคตบ้างหรือลางบอกเหตุ

ว่าควรไปทำสิ่งนั้นสิ่งนี้

 

แต่จะไม่มีการที่ว่าท่านหลงว่า

นิมิตที่เกิดขึ้นขณะหลับคือตัวของเรา .. ไม่มี

จิตแยกออกจากขันธ์เด็ดขาดแล้ว

 

แล้วแม้กระทั่งคนที่เข้าใจว่า ตัวเองมี passion ที่จะปฏิบัติธรรม

ก็มี passion ในทิศทางที่จะเอามรรคเอาผลให้ตัวเอง

มีความตื่นเต้น มีความรู้สึกพิเศษแปลกประหลาด

เวลาได้ยินใครบอกว่า เขาบรรลุมรรคผล

แล้วก็ไม่รู้จะเชื่อท่าไหน ได้แต่อาศัยศรัทธา

น้อมใจไปเชื่อว่าเขาน่าจะบรรลุจริง

 

แต่หน้าตาการบรรลุเป็นอย่างไร ไปเจอนิพพานอย่างไร

ผลลัพธ์หลังจากบรรลุแล้วเป็นอย่างไร

ต้องอาศัยใจล้วนๆ กลายเป็นหลีกไม่ได้ว่า

ต้องใช้ความเชื่อ ว่ามีเรื่องแบบนี้ขึ้นมาได้จริง

 

คนสมัยพุทธกาล อาศัยการพบพระพุทธเจ้า ไม่ยากเท่าไหร่

เพราะกระแสพระองค์ชัดเจน ว่ามีความสิ้นทุกข์แล้ว

มีความผ่องแผ้วบริสุทธิ์อยู่ตลอดเวลา

เหมือนจิตของพระองค์ไปอยู่มิติไหนไม่รู้

กายของพระองค์ แล้วก็สติในการพูดการคิด ยัง connect

เชื่อมต่อได้ติดกับคนที่อยู่บนโลก

แต่จิตพระองค์ไปอยู่ที่ไหนไม่รู้ ไม่ได้มีความทุกข์

ไม่ได้เกี่ยวข้องกับกายเนื้อของพระองค์ที่ปรากฏอยู่ เหมือนต่างคนต่างอยู่

 

ฉะนั้น เวลาพระองค์พูดเรื่องสิ้นทุกข์ ก็เชื่อง่าย

เวลาพระองค์ตรัสถึงทางสิ้นทุกข์ คนก็อยากเงี่ยหูฟัง

โดยเฉพาะพวกมีบุญเก่า มาเพื่อที่จะสิ้นทุกข์ตามพระองค์

 

แล้วสมัยพุทธกาล

ก็มีพวกที่มาเพื่อสะสมบุญต่อ ไม่ได้จบชาตินั้น มีทุกแบบ

 

ประเด็นคือ พอเห็นพุทธองค์แล้ว เกิดแรงบันดาลใจ

รู้สึกปีติโสมนัส พร้อมทำตามพระองค์สอน แบบไม่มีข้อแม้

ไม่มีการมาโต้แย้งว่า จริงหรือเปล่า

ไปหาครูบาอาจารย์อื่นเทียบดีไหม

เพราะ charisma ของพระองค์นี่ คนแค่เห็น นึกว่าเป็นเทพก็เยอะ

 

ประเด็นคือ ถ้าหากเราตั้งความเชื่อ

มีฉันทะจากบุคคล อย่างพระพุทธเจ้า อะไรๆ ก็ง่าย

แต่สมัยนี้ คนก็หน้าเหมือนๆ กันไปหมด

ก็มนุษย์ธรรมดา มีแขน มีขา มีมือมีไม้

พูด อะไรตามที่ตัวเองอยากพูดได้เหมือนกันหมด

 

โดยเฉพาะอย่างยิ่งยุคเรา เป็นยุคข้อมูลท่วม

อะไรๆ ก็สามารถจดจำขี้ปากคนอื่นเอามาพูด

ราวกับตัวเองคิดได้เอง หรือตัวเองเก่งกล้าสามารถเทียบเท่าใครบ้าง

 

แม้การที่จะเจริญสติ ประสบการณ์ทางการเจริญสติ

ทางสมาธิอะไรต่างๆ มีหมดแล้วใน internet

ฉะนั้นการที่เราจะมาลงใจ ปักใจ หรือเกิดแรงบันดาลใจ

จากคำของใครสักคนหนึ่ง ไม่ใช่เรื่องง่าย สับสน ทำให้ฟุ้ง ทำให้เฟ้อ

 

แล้วตรงนี้ พอจะมาสำรวจตัวเองว่า แล้วบุญเก่าของเรา

ที่จะมาต่อกับเส้นทางการเจริญสติได้ติดจริงๆ ควรจะเห็นจากตรงไหน

ที่เรามักได้ยินคำถามกันใน internet ก็คือ

อยากรู้จัง ตัวเองทำกรรมฐานชนิดไหนมา

ได้ยินว่าถ้ากลับไปทำกรรมฐานเดิม จะไปได้ไว ได้ดิบได้ดี

 

ที่แสวงหาครูบาอาจารย์ก็เรื่องหนึ่ง ยากแบบหนึ่งแล้วนะ

แล้วมาแสวงหากรรมฐานที่เหมาะกับจริตตัวเอง

ที่จะเป็นพรสวรรค์ช่วยส่ง ช่วยหนุนให้เกิด passion

ยิ่งเป็นเรื่องที่ หาที่จบ ที่ยุติไม่ได้

เพราะบางทีไปรับฟังอะไรมา จากผู้ที่น่าเชื่อถือที่สุดแล้วก็ยังไม่ได้

 

อย่างบางคน อุตส่าห์ดั้นด้นไปพบครูบาอาจารย์ที่ตนเองเชื่อแล้วนะ

พอได้ฟังสั้นๆ แทนที่จะรู้สึกดี กลับนึกไม่ออก

ต้องไปถามคนอื่นต่ออีก เจอมาแล้ว

 

คนที่ไปรับฟังแนวทางสั้นๆ จากครูบาอาจารย์ที่บอกกันว่า

รู้ว่าจะแจกแจงทางให้ใคร ได้มากกว่าครูบาอาจารย์ท่านอื่น

มาบอกว่า ท่านแนะนำมาสั้นๆ ว่า

ให้ดูกายเป็นกระดูกหรือเป็นอสุภอะไรประมาณนี้

 

พอได้ยินมา แล้วจุกมาก แล้วก็วิ่งไปตามหารายละเอียดว่า

ที่ท่านแนะนำมาต้องทำอย่างไร จากครูบาอาจารย์ท่านอื่นๆ หรือสหธรรมิก

 

สรุปว่า ที่พูดมาจะบอกว่า การจะค้นหาตัวเองในทางธรรม

หรือที่บอกว่าเป็นกรรมฐานเก่าของตัวเอง

ที่จะขุดมาต่อยอดให้เกิดความคืบหน้า

ไปถามคนอื่น หรือสังเกตจากตัวเอง บางทีไม่ได้คำตอบทั้งชีวิต

 

แม้จะตั้งความเชื่อไว้อย่างไรก็ตาม แต่ถ้าความเชื่อนั้น

ไม่สามารถมาเชื่อมต่อได้ติดกับสิ่งที่กำลังรู้สึกจริงๆ

ทำแล้วไม่ได้ผล ทำแล้วไม่ได้อะไรเลย .. อย่างไรฉันทะก็ไม่เกิด

แม้เราจะเชื่อก็ตาม ว่าเราน่าจะมีดี น่าจะมีบุญ มีของเก่า

ไม่อย่างนั้นจะเกิดแรงผลักดันให้แสวงหาทาง

อยากได้มรรค อยากได้ผลขนาดนี้ได้อย่างไร

 

ตรงนี้ก็เหมือนกับว่า หากเราไม่เจอบุญเก่าของตัวเอง

จะต่อบุญใหม่ได้ยาก

เข้าเขตคนเอาจริงทางธรรมได้ยากเย็นเหลือเกิน

 

ทีนี้คนก็อาจอยากฟัง ..

ตัวผมเอง เกิดฉันทะ อยากเอาดีทางธรรมมาจากไหน แนวทางเป็นอย่างไร

 

พูดกันแบบมีชีวิต ไม่พูดแบบเป็นไกด์ไลน์

ไม่พูดเป็นวิชาการว่าต้องมีฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสาอะไรอย่างนั้น

 

ผมพูดตรงๆ เมื่อเทียบฉันทะ

เมื่อเทียบความขยันของคนในห้องนี้ ผมเองเป็นแบบอย่างไม่ได้

ผมเองไม่ได้เติบโตทางธรรมมากับเหล่าสหธรรมิกที่ดี

หรือมีครูที่เป็นพี่เลี้ยง มาบอกเป็นวันๆ ว่าต้องทำอย่างนั้นอย่างนี้

 

แต่มาแบบมั่วๆ นี่พูดตรงไปตรงมา ไม่ได้ถ่อมตัว

ไม่ได้พยายามพูดให้เข้าใจ เกี่ยวกับภาพความจริงในตัวผมอย่างไรทั้งสิ้น

 

เล่าแบบตรงไปตรงมาว่า มาแบบเส้นทางมวยวัด

ครูพักลักจำบ้าง หรือวิ่งไปวัดโน้นวัดนี้บ้าง แต่ไม่ได้จริงจังสักสายเดียว

 

คือเริ่มต้นมา ตั้งใจฝึกเอาจริง จากคำสอนที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้

มีครูบาอาจารย์ อย่างเช่น ท่านอาจารย์ธรรมรักษา

หรืออาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ หลายท่านที่อ่านแล้ว

จับทางได้ว่า พระพุทธเจ้าท่านสอนอย่างไร แล้วทำเอง

 

คือพยายามแสวงหานะ ไม่ใช่ไม่พยายาม

แต่แนวทางเริ่มต้นหลักๆ จริงๆ มาจากพระพุทธเจ้าจริงๆ

 

ทีนี้ ฉันทะ มาจากไหน มาจากการค่อยๆ อ่านสิ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้

แล้วมีคนถอดมา อย่างเช่น พระไตรปิฎก

ฉบับประชาชนบ้าง ฉบับดับทุกข์บ้าง

หรืออะไรที่เกี่ยวกับพระไตรปิฎก สมัยนั้นชอบมาก

 

ถ้าจะมองว่าตัวเองมีบุญเก่า หรือพรสวรรค์อะไร

ก็คงเป็นทำนองที่ว่า อ่านธรรมะของพระพุทธเจ้าแล้ว

เกิดความอิน ราวกับได้เข้าเฝ้าต่อเบื้องพระพักตร์

 

ตอนเรียนอุดมศึกษา ไม่ค่อยสนใจการเรียน

แต่จะไปห้องสมุดเปิดหนังสือธรรมะอ่าน

มีความรู้สึกว่าได้ทีละเล็กทีละน้อย

ตัวฉันทะนี่ ได้จากการเก็บเล็กผสมน้อยวันต่อวัน

 

แล้วก็อาจเป็นบุญเก่าจริงๆ คือ

พอสงสัยอะไร หรือคิดติดใจ

เวลาไปเปิดมั่วๆ ก็จะได้คำตอบจากพระพุทธเจ้า

 

นี่เป็นที่มาว่า ทำไมผมถึงบูชาพระพุทธเจ้าจริงๆ

ไม่ใช่มาพูดแบบปากว่าตาขยิบ

ไม่มีการนำครูบาอาจารย์ท่านไหน มาเป็นตัวตั้ง

แล้วให้พระพุทธเจ้ามาสนับสนุน

 

แต่ตั้งต้นขึ้นมา มีคำจากพระพุทธเจ้าอยู่ในใจมาก่อน

แล้วคำของครูบาอาจารย์ร่วมสมัย ค่อยมาสนับสนุนว่าใช่หรือไม่ใช่

 

บางที เลยกล้าตัดสินว่าคำของครูบาอาจารย์บางคำ

ผมขอกรองออกไป ไม่ทรงจำไว้ในการปฏิบัติ ในการเอามาใช้ปฏิบัติจริง

เพราะไม่ตรงกับที่พระพุทธเจ้าท่านตรัส

 

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ไม่ได้ลบหลู่ครูบาอาจารย์ร่วมสมัย

แต่ตรงข้าม กราบไหว้เป็นพ่อแม่ครูบาอาจารย์

และบางท่านเอาแค่ศรัทธาในองค์ท่าน

คือ ใจนะ ตอนที่เคยไปกราบเหมือนกับคิดว่า ยอมตายแทนได้

มีศรัทธาขนาดนั้น

 

แต่ที่เทิดไว้เหนือเกล้าจริงๆ คือคำสอนในเชิงปฏิบัติ

ไม่มีอะไรเกินจากที่ได้อ่าน ได้ทรงจำ และปฏิบัติตามพระพุทธพจน์

 

สำหรับตัวผม ถ้าบอกว่ามีดีที่สุดคือ

เกิดมาพร้อมกับการไม่มีทางเลือกอื่น

 

คือต่อให้แสวงหาครูบาอาจารย์อย่างไร

บางที อุตส่าห์เดินทางข้ามจังหวัด เข้าป่าเขาคนเดียว

เพื่อที่จะไปพบครูบาอาจารย์บางท่าน สวนกับท่านแค่ห้านาที

เลยไม่ได้ฝากตัวเป็นศิษย์ท่าน

คือไม่มีทางเลือกอื่น ต้องเลือกไว้แค่พระพุทธเจ้าพระองค์เดียว

 

ทีนี้ ตัดกลับมาพูดถึงเรื่องจริง เกี่ยวกับพวกเราในห้องวิปัสสนานุบาล

อย่างคนในห้องที่เข้าท่ากันหลายคน มารวมกันในห้องนี้

โดยอาศัยเทคโนโลยีของปีนี้ พศ.นี้ มีข้อได้เปรียบ

 

เทียบกับตัวเองนี่ก็ง่ายหน่อย

คือสามารถมีแรงบันดาลใจให้กันและกันได้

 

อย่างบางที ถ้าเราจะเชื่อครูบาอาจารย์สักคน

เราต้องเห็นท่านก่อนใช่ไหม

แล้วค่อยเกิดความรู้สึกว่าใช่หรือไม่ใช่  ยอมรับหรือไม่ยอมรับ

แล้วส่วนใหญ่จะเป็นการยอมรับที่ต้องพบด้วยตา

สัมผัสด้วยใจในวาระแรก

 

ไม่ค่อยมีใครมาลงรายละเอียดกัน ไม่มีใครมีเวลาในชีวิตมากพอ

ที่จะไปลงรายละเอียดกับครูบาอาจารย์ทุกท่าน

 

แต่ว่าคนในห้องนี้ เอาจริงๆนะ พูดให้เคลียร์ ยังอยู่ในชุดฆราวาส

แต่มาดูกันและกันว่า ปฏิบัติใน format แบบนี้

รูปแบบอย่างนี้เหมือนๆ กันแล้ว เกิดอะไรขึ้น

 เป็นแรงบันดาลใจให้กันและกันได้

 

เพราะที่เราทำๆ กันอยู่ เป็น format ที่เห็นด้วยตาเปล่า

ไม่ว่าจะใช้มือไกด์ หรือหลับตาเดิน

อย่างคนที่หลับตาเดินเก่งๆ แล้ว ตีความเป็นอย่างอื่นไม่ได้นะ

ถ้าไม่มีสติจริง ไม่เห็นจริงๆ ว่ากำลังเดินไปถึงไหน

จะเป็นไปไม่ได้เลย

 

อย่างบางคนอายุยังน้อยอยู่ เดินได้เป๊ะเลย แทบจะชนผนัง

ห่างเหลือแค่ไม่กี่เซ็นต์ได้ทุกครั้ง

 

ถ้ามองจากคนนอก ประเภทที่เข้ามาในห้องนี้ เพื่อสังเกตการณ์

ก็ไม่รู้ว่า จะเดินจงกรมหลับตาไปเป๊ะๆไป เพื่ออะไร

เพราะไม่มีประสบการณ์ตาม

ไม่รู้ว่าเดินแบบนี้แล้ว ได้ดิบได้ดีทางธรรมอย่างไร

 

แต่ถ้าหากทำตามกัน จะมีพยานที่ชัดเจน คือตัวเอง

ใจตัวเองเกิดประสบการณ์ภายใน

รู้ และทราบความรู้สึกว่า ถ้าเดินเป็น ถ้าตั้งมุมมองจากภายในไว้ถูก

จะรู้สึกเหมือนกายนี้เป็นวัตถุ เทียบกับวัตถุอื่นรอบห้อง

 

ประสบการณ์ภายใน

ที่ทำให้มีความสุขในชีวิตมากขึ้นจากการมีตัวตนน้อยลง

เป็นประสบการณ์ที่หาอะไรเทียบเคียงไม่ได้

นอกจากพวกเดียวกันที่ทำกันในห้องนี้

 

ฉันทะ ที่เกิดกับคนกลุ่มที่เอาจริงแล้วทำได้ผล จะมีผลใหญ่

คือแม้คนจะยังอินทรีย์อ่อน รู้สึกว่าตัวเองขยันน้อย ไม่มี passion

ได้มาเห็น ก็เกิดความรู้สึกคึกคักตาม

รู้สึกว่า ถ้ามาทางนี้ ไม่ได้มาคนเดียว แต่มีเพื่อนร่วมทาง

เห็นแต่ละคนสติดีขึ้นเรื่อยๆ ทุกวัน เพ้อเจ้อเพ้อฝันน้อยลง

และเห็นว่า .. มรรคผล

เรานี่แหละ จะทำด้วยน้ำพักน้ำแรงตัวเองให้ได้มา

 

แล้วในเรื่องความสุข

เส้นทางไหนที่ทำแล้วไม่ได้ความสุข รู้สึกตัวตนไม่ได้เบาบางลง

เส้นทางนั้นไม่ใช่ฉันทะที่แท้จริงทางธรรม

 

เส้นทางที่จะให้ฉันทะแท้จริงทางธรรม ต้องประจักษ์ด้วยใจตัวเอง

ไม่ใช่จากการเห็นครูบาอาจารย์

หรือ จากการเห็นว่าเหล่าสหธรรมิกกำลังทำอะไรกันอยู่

แต่รู้สึกด้วยใจของตัวเองว่า มันแชร์ความรู้สึกกันได้

แชร์ความเจริญก้าวหน้าทางธรรมที่เห็นได้ด้วยตาเปล่า

แล้วสัมผัสได้ด้วยทางใจ ของตัวเองเป็นหลักเป็นพยาน

 

ทีนี้ ที่จะเข้าเขตคนเอาจริงแล้วมีประสบการณ์ สักแต่รู้ สักแต่ว่า

ตัวนี้ .. กำลังค่อยเป็นค่อยไป ค่อยๆ เกิดขึ้นกับพวกเราทีละคนๆ

ซึ่งจะมีความหมายมาก ถ้าหากพวกเราหลายๆ คนได้ยืนยันว่า

ธรรมะของพระพุทธเจ้ายังทำกันได้อยู่

แล้วก็ไม่ต้องไปพึ่งพาแบบอ้อนวอนเทวดา

หรือครูบาอาจารย์ที่ไหนที่เราเชื่อว่าท่านสำเร็จแล้ว

 

เพราะถ้าท่านไปถึงตรงนั้น

ท่านไม่มีเวลามาให้ความสำคัญกับใครเป็นคนๆ

ที่จะมาบอก ที่จะมากล่าวกันเป็นวันๆ นี่ยากนะ

เพราะภารกิจของท่าน เมื่อไปถึงจุดนั้น

ก็จะไม่ใช่เพื่อใครคนใดคนหนึ่งแล้ว

 

ก็ต้องเข้าใจว่าที่เรามารวมกันอยู่ทุกวันนี้

ก็คือส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดฉันทะ เกิดแรงบันดาลใจจะเอาจริง

ขอแค่ว่าเราไม่อยู่ในทิศทางที่เทียบเขาเทียบเรา

ไม่มีการแก่งแย่งแข่งขัน เพื่อที่ใครจะได้หน้าได้ตาก่อน

 

ตอนนี้พอมีคนได้ขึ้นมาจริงๆ แผนในใจนี่เปลี่ยนไปเยอะเลยนะ

 

คือรู้ขึ้นมาจากของจริงว่า แนวทางที่เราจะเป็นไปด้วยกัน

ในแบบที่ ไม่ใช่ว่าบรรลุมรรคผลขึ้นมา แล้วกลายเป็นเทวดาเหนือมนุษย์

แต่ตั้งธงไว้ว่า ทำอย่างไร ถ้าข้ามเส้นแล้ว

มาช่วยๆ กันทำประโยชน์เมื่อพร้อม.. เมื่อพร้อมจริงๆ

 

ไม่ใช่ว่าได้โสดาบันแล้ว จะพร้อมขึ้นมาทันที

โสดาบัน นี่ถ้าเราไปศึกษาดูตามที่พระพุทธเจ้าท่านตรัส

ยังเป็นคนธรรมดาอยู่นะ มีราคะ โทสะ โมหะ ได้เท่าคนธรรมดา

อย่างน้อยได้เท่าตัวเองก่อนข้ามเส้น

อย่างนี้ยังไม่ประกันว่าจะไปช่วย หรือเป็นประโยชน์อะไรกับใครเขาได้

 

หรือแม้ช่วงหลังๆ อาจมีคุยกัน

เพราะจุดชนวนจากที่ผมคุยกับคุณตงว่า

ถ้าใครมาทำกับเรา นั่นบาปแล้วนะ

 

คือจะตั้งใจบอกว่าให้มองตัวเองว่า เราเป็นได้ทั้งคุณและโทษ

ถ้าเขาทำดีด้วยก็ได้บุญ แต่ถ้าทำไม่ดี

ก็ได้บาปมากกว่าคนทั่วไปที่ไม่ใส่ใจปฏิบัติ

 

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ไม่ใช่เพื่อมาคิดพะวงว่า กลัวคนนั้นคนนี้จะบาป

แล้วจะมาพอกอัตตาตัวเองว่า ตนกลายเป็นผู้วิเศษ

ใครมาทำไม่ดีจะเป็นบาปเป็นกรรม มีอันเป็นไป

 

คือแม้แต่ปุถุชนที่เป็นคนธรรมดา ไม่ได้มาทางนี้เลย

เขาก็มีบางคนที่รู้สึกว่าตัวเองมีของ

ใครทำอะไรกับตัวเอง แล้วตนแช่งไป ก็จะมีอันเป็นไปอะไรแบบนี้

 

เป็นธรรมชาติวิสัยของมนุษย์ ที่จะรู้สึกว่า

ตัวเองมีดี เหนือมนุษย์ เหมือนจะทำให้ใครเขามีอันเป็นไปได้

 

ไม่ต้องถึงขนาดนั้น ไม่ต้องไปพะวง

เพราะเอาง่ายๆ เลย พระพุทธเจ้าท่าน เป็นที่สุดในอนันตจักรวาลนี้

ทุกวันนี้ท่านก็เหมือนยังมีพระชนม์อยู่

ในความรู้สึกรับรู้ของชาวพุทธว่าท่านเป็นพระศาสดา

แล้วก็มีคนปรามาสท่านเยอะแยะ

มีคนประทุษร้ายท่านด้วย วิธีคิด วิธีพูด มีอีกเยอะ

 

ฉะนั้นไม่ต้องห่วง ไม่ต้องไปกังวลว่า ตัวเองปฏิบัติธรรมได้ดี

หรือข้ามเส้นได้แล้ว จะมีใครเดือดร้อนเพราะตนเอง

กลัวเขาไปไปตกนรกอะไรแบบนี้

 

ไม่ต้องกลัว มีที่ให้ทำได้ยิ่งกว่าพวกเราเยอะ

อย่างพระพุทธเจ้านี่ เอาไปทำเป็นเกมก็มี

เอาศาสดามาสู้กับศาสดา คือคิดกันไปได้

 

ความคิดนี่ถ้าจะหาเรื่องลงนรก มันดิ้นกันได้ไม่มีที่สิ้นสุด

ฉะนั้น อุเบกขา ไม่ต้องห่วงใครมาก

 

มาห่วงว่าเราจะเอาตัวเราเข้าเขตเอาจริง

แบบไม่ถอย ไม่ถอนออกมาได้อย่างไร เท่านั้นแหละ

_______________

วิปัสสนานุบาล EP 96

วันที่ 18 มีนาคม 2565

ถอดคำ : เอ้