วันพฤหัสบดีที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2565

วิปัสสนานุบาล EP 115 (เกริ่นนำ) : ใจเบาปกติ สัญญาณเข้าเขตภาวนา - 14 เมย. 65

วิปัสสนานุบาล EP 115  | พฤหัส 14 เมษายน 2565

เกริ่นนำ : ใจเบาเป็นปกติ สัญญาณบอกชีวิตเข้าเขตภาวนา

 

พี่ตุลย์ : ช่วงนี้หลายท่านก็กำลังคุยกันออกรส เกี่ยวกับเรื่องว่า

ทำไมอยากปฏิบัติ ทำไมไม่อยากปฏิบัติ

 

จริงๆ แล้ว เรื่องของการอยากปฏิบัติ หรือไม่อยากปฏิบัติ วัดกันได้ง่ายๆ

มีเครื่องหมายบอก หรือเป็นลางบอกเหตุ ที่ชัดเจนอย่างหนึ่งคือ ใจเบา

 

ถ้าใจเบาได้เรื่อยๆ จะอยากปฏิบัติเรื่อยๆ

อันนี้ขอปักหมุดไว้ก่อนเลย คือชีวิตเข้าเขตภาวนาแล้ว

จะมีใจเบา เป็นเครื่องหมาย บอกแทนป้ายปักเขต

 

ถ้าหากคุณมีจิตใสใจเบา จะไม่ค่อยอยากไปหาเรื่องรก หาเรื่องหนัก

จะอยากหาเรื่องที่เบาเข้ากันได้ หรือปรุงแต่งให้จิตมีความเบายิ่งๆ ขึ้นไป

 

ทีนี้ ใจเบา ไม่ได้เกิดมาพร้อมความบังเอิญ

ทุกคนไม่ได้เกิดมาพร้อมความเบา

ตรงข้าม ทุกคนเกิดมาพร้อมใจที่หนัก

และใจที่หนักนี่แหละ ที่พุทธศาสนา มาชี้นำ มาชี้ทาง

มาชี้ช่องว่า ทำอย่างไร ใจจะเบาลงเรื่อยๆ

 

เริ่มต้นขึ้นมา เบาจากความเห็นแก่ตัวด้วยการ ให้ทาน

จะด้วยการให้เศษสตางค์ หรือว่าออกแรง หรือว่าเอาใจช่วยก็ตาม

ก็เป็นลักษณะของความเบา เบาลงของอาการเห็นแก่ตัว

หรือน้ำหนักของอาการเห็นแก่ตัว จะค่อยๆ ถอนออกไปทีละครั้ง ทีละหน

 

นอกจากนั้น ก็มีความเบาจากความอาฆาตมาดร้าย

ก็ได้แก่การให้อภัยเป็นทาน หรือที่เรียก อภัยทาน

 

ถ้าคนให้อภัยทานไม่เป็น เห็นแต่ตัวเองจะต้องเอาคืน ยอมไม่ได้

มีเงื่อนตายในหัว เป็นคำๆ นี้ ยอมไม่ได้ หยุดไม่ได้ ต้องเอาคืนให้ได้

แบบนี้ไม่มีทางที่จะเบา ไม่มีทางที่จะเกิดการถอดถอน

หรือถ่ายเททิ้งขว้าง ภาระพะรุงพะรังที่แบกอยู่เต็มจิตออกไปได้

 

ถัดจากความเบาจากความเห็นแก่ตัว หรือความเบาจากอาฆาตมาดร้าย

ถ้าให้ทานจนกระทั่งเบาลงได้ ก็มีความเบาอื่นๆ รออยู่อีก

เช่น ความเบาจากความรังเกียจตัวเอง

 

คนจำนวนมากนะ โดยเฉพาะคนในยุคนี้

รังเกียจตัวเองที่ ติดโน่นนิดติดนี่หน่อย ด้วยข้ออ้างที่ว่ามันจำเป็น

 

มันจำเป็นได้ทุกวัน ที่ต้องโกหกพกลม ที่จะต้องปั้นน้ำเป็นตัว

หรือต้องเบียดเบียนคนอื่นเขา

 

ตอนเบียดเบียน บางที มีโมหะพอกจิต

จนกระทั่งกระหยิ่มใจที่สามารถเอาเปรียบคนอื่นเขาได้

 

ตอนเอาเปรียบคนอื่นได้จะรู้สึกกระหยิ่ม

โสมนัสว่าเราเก่งกว่า เหนือกว่า ฉลาดกว่า ..

หลอกคนหน้าโง่ให้หลงติดกับ

 

แต่เวลาหลังจากนั้น ถัดจากที่กระหยิ่ม

ต้องมาเกิดความรู้สึกอึดอัดกับความเป็นตัวเอง

เกิดความรู้สึกรังเกียจตัวเอง แต่ไม่รู้ว่านั่นเรียกว่ารังเกียจ

ปม ความรังเกียจตัวเอง บางทีติดอยู่กับตัว

แล้วพยายามหาเรื่องอื่นมากลบเกลื่อน หาเรื่องดีๆ หาเรื่องน่าภูมิใจ

พูดง่ายๆ .. เอาสิ่งที่ไม่เป็นจริงมาเป็นหน้าเป็นตาตัวเอง

 

ยิ่งคนระดับสูงประเทศ บางทีก็ต้องมีอะไรแบบนี้

จำเป็นต้องหลอกคนเขา ว่าตัวเองมีภาพอะไร ที่จริงๆ ไม่ได้มี

เสร็จแล้วก็ต้องมารังเกียจตัวเอง จากโรคหลอกตัวเองนั้น

 

หรือระดับชาวบ้านธรรมดา ไม่ต้องถึงขั้นรังเกียจตัวเอง

แต่อาจรังเกียจความสกปรกรุงรัง ที่มีในจิต เป็นมลทินกับจิต

 

ถ้าหากเบาจากความสกปรกรุงรังด้วยการรักษาศีลได้

ก็ถือว่าเป็นอีกความเบาอีกระดับหนึ่ง

ที่ดีกว่าเบาจากความเห็นแก่ตัว และเบาจากความอาฆาตมาดร้ายเสียอีก

 

คือคนที่ตั้งใจ .. คือต้องตั้งใจนะ

เพราะชีวิตจะบีบให้เราอยากผิดโน่นผิดนี่ ประพฤติผิดอย่างโน้นอย่างนี้

ถ้าหากเบาจากความสกปรกอันเกิดจากการประพฤติผิดได้

ก็จะมีส่วนที่จะผลักดัน หรือช่วยให้ชีวิตเข้าเขตภาวนาได้ง่ายขึ้น

 

เบาจากการทำทาน และรักษาศีลแล้ว

ทีนี้มาเบาจากการภาวนา หรือเบาจากการที่ชีวิตเข้าเขตเนกขัมมะ

ได้กลิ่นอายของเนกขัมมะ ได้ลิ้มรส ความเบา ความสะอาด

ความใสของใจ ที่อยู่ในเขตเนกขัมมะ

 

อันดับแรกเลย ถ้าหากเบาจากความฟุ้งไม่ได้

ก็ยากที่คนๆ หนึ่งจะบอกตัวเองว่า อยู่ในเขตเนกขัมมะ

หรือชีวิตเข้าเขตภาวนาแล้ว

เพราะถ้ายังฟุ้งซ่านปั่นป่วน ยังเต็มไปด้วยเรื่องหนักๆ ทั้งๆ ที่วางได้

มีอะไรขมุกขมัวอยู่เต็มหัวไปหมด

หรือมีพายุของความฟุ้งซ่านซัดมา ตึงๆ ไม่หยุด

ยากที่คนๆ หนึ่งจะสามารถบอกตัวเองได้ว่า เข้าเขตภาวนาแล้ว

 

ถึงแม้จะไปหลอกชาวบ้านเขา ว่าตัวเองนุ่งขาวห่มขาว ไปวัดไปวา

แล้วก็ทำท่าปฏิบัติธรรมให้ดูเคร่งขรึม

แต่ถ้าในหัวถูกรบกวนด้วยความฟุ้งซ่านไม่หยุดไม่หย่อน

มีแต่เรื่อง มีแต่อะไรที่ไม่เป็นสาระ ไม่มีประมาณ

ตัวนี้ ตัวเองนั่นแหละที่จะบอกตน จนกระทั่งลมสุดท้ายว่า

ยังไม่ได้เข้าเขตปฏิบัติ ยังไม่ได้เข้าเขตภาวนากับใครเขาเลย

 

ซึ่งถ้าหากเรามีอุบาย ที่จะต่อยอดความเบา

ที่ได้จากการให้ทาน และจากการรักษาศีล

มาเป็นการทำสมาธิ เป็นการเดินจงกรม จะด้วยรูปแบบไหนก็ตาม

ไม่ได้จำกัดว่าต้องมามือไกด์ หรือหลับตาจงกรม

จะเลือกรูปแบบไหนก็ตาม ถ้าความฟุ้งซ่านเราบรรเทาเบาบางลงได้

ก็ถือว่าโอเค เริ่มมีจิตใสใจเบาอีกแบบหนึ่ง อีกระดับหนึ่ง

ที่จะบอกตัวเองว่า เราน่าจะเข้าเขตภาวนากับเขาได้

 

และความเบาจากอาการฟุ้งซ่านในที่นี้

ต้องไม่ใช่ความเบาแบบแป๊บๆ แต่เป็นความเบาที่รู้สึกว่า นี่เป็นปกติของเรา

ชีวิตเราเข้าเขตฟุ้งซ่านน้อย ฟุ้งซ่านเบาบาง

แบบนี้ก็เหมือนเข้าเขตภาวนาแล้ว

 

และถ้าจิตเรามีความเบาจากอาการฟุ้งซ่าน เหมือนจะจุดเครื่องติด

พร้อมที่จะภาวนารูปแบบไหนก็ตาม ที่กำลังอยู่เฉพาะหน้า

ยกตัวอย่างเช่น ถ้าอยู่ในชีวิตประจำวัน

ไม่ได้มีความสามารถมานั่งสมาธิ หรือ เดินจงกรมได้

ก็ภาวนาในแบบที่ภาวะทางกาย

เอาอิริยาบถปัจจุบันที่กำลังเห็นอยู่ในตอนนั้น มาเป็นชนวนเริ่มต้นได้

 

คือจะไม่มีการเกี่ยง ด้วยใจที่เบาพอนะ จะไม่เกี่ยง

แต่ถ้าใจยังหนักยังฟุ้ง จะเกี่ยงตลอด

ไม่ว่าจะเข้าที่สมาธิ เข้าที่ร่มแล้ว

เข้าที่ร่มจากแสงแดดของชีวิตวุ่นๆ ระหว่างวันแล้ว

หรือจะอยู่ต่อหน้าคน หรือลับหูลับตาคนก็ตาม จะไม่เกี่ยงเลย

จะมีความเสมอกันที่ใจ

 

ใจที่เบาจะหาอะไรสักอย่างมาทำให้สติเจริญ

หรือมาเป็นฐานที่ตั้งของสติจนได้

 

แล้วพอทีนี้ เบาจากความฟุ้งซ่าน มีหลายอุบาย หลายวิธีทางสมาธิ

หรือการทำให้จิตถูกตะล่อมเข้าที่ได้ มีเยอะ

 

แต่ที่จะเบาจากความขัดแย้งในตัวเอง

และเบาจากอาการยึดมั่นถือมั่น ว่ามีตัวมีตนอยู่ในกายใจนี้ อันนี้มั่วไม่ได้

ไม่ใช่บอกว่า ไปที่ไหนเดี๋ยวก็คงเจออุบาย

ที่ละความขัดแย้ง ละความยึดมั่นถือมั่นในตัวตน

 

คนเราจะมีความย้อนแย้ง บอกว่าทำให้ตัวตนเบาๆ บางๆ

แต่พฤติกรรม ขยันสร้างเหตุให้มีตัวมีตน

แม้กระทั่ง .. เอาที่แบบว่าเฉียดที่สุด

มาตรงเรื่องของการภาวนาแบบพุทธเลย บอกอยากได้มรรคผล

หรืออยากได้สิ่งที่ตนนึกว่าเป็นสิ่งที่ดีที่สุด ในเส้นทางของการเจริญสติ

 

แค่อยากได้ แค่จงใจจะเอา แค่ทุ่มเท

อันนี้พูดแบบคนที่ถูกทางด้วยนะ พยายามทุ่มเท เอาทั้งชีวิตไปทุ่มให้

บอกว่าอยากได้มรรคผล อยากข้ามเส้น

อยากเป็นโสดาบัน อยากเป็นพระอรหันต์

 

แค่ความอยากอย่างเดียวนี่ ..ขัดแย้งแล้ว

ซึ่งถ้าหากใครภาวนามา แล้วยังเกิดความรู้สึกขัดแย้ง

ตรงนี้จิตไม่เบา

 

แต่ถ้าเมื่อไหร่เราข้ามความขัดแย้งได้ .. อันนี้ยังไม่พูดถึงข้ามเส้นนะ

ถ้าเราก้าวข้ามความขัดแย้งในใจตัวเองได้

ด้วยความเข้าใจ ด้วยสัมมาทิฏฐิ ด้วยความเห็นที่ถูกต้อง

ว่า แม้อาการอยากได้ ก็เป็นทุกข์อย่างหนึ่ง

 

เห็นทุกขเวทนาเกิดขึ้น ทุกขเวทนาอันไม่มีอามิสล่อ

ไม่มีเหยื่อล่อแบบโลกๆ แต่มีลักษณะเหยื่อล่อทางธรรม

ที่อยากหมดตัวหมดตน หรืออยากได้มรรคอยากได้ผล

 

ถ้ามีความเข้าใจจริงๆ ว่ามรรคจิต ผลจิต คืออาการที่ใจทิ้ง

แม้แต่ความรู้สึกเป็นอุปาทานยึดมั่น สำคัญผิด

ว่าขณะจิตแบบนี้ อาการปรุงแต่งทางความคิด ที่กระทำต่อจิต ณ บัดนี้

ที่อยากได้มรรค อยากได้ผล .. ก็ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่ตัวใคร

และถ้าละไม่ได้ ถอนความยึดมั่น สำคัญผิดออกมาไม่ได้

ก็ไม่มีทางที่มรรคจิต ผลจิตจะเกิด

 

มรรคจิต ผลจิต จะเกิดต่อเมื่อ

ใจเราไม่เอาภาวะปรุงแต่งทางใจ นาทีนี้ วินาทีนี้ เป็นตัวของเรา

เห็นเป็นแค่สิ่งปรุงแต่งจิตชั่วคราว

เห็นเป็นแค่ของหลอก ที่จะเปรียบกับพยับแดด

หรือมายากล อะไรก็ได้ที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้

 

ถ้ามีความเข้าใจว่า มรรคผล ไม่ใช่การได้อะไรให้ใคร

แต่เป็นจิตที่ทิ้ง .. ทิ้งอุปาทาน ทิ้งความรู้สึกในตัวตน ณ ขณะนี้ได้

 

พอถามตัวเองไปบ่อยๆ จิตขณะนี้ อมเอาไว้ หวงเอาไว้

หรืออยากได้อะไร เพื่อความรู้สึกที่ไม่มีจริงๆ

ความรู้สึกในตัวตนเป็นแค่เงาหลอก เป็นแค่พยับแดด

 

ถ้าเราเข้าใจได้ทุกขณะ ที่มันกำลังเกิดความอยาก

ก็คือ การเอาชนะ การถอดถอนความขัดแย้งในตัวเองออกมาได้

บนเส้นทางการเจริญสติ ที่เบาจากอาการขัดแย้ง เบาจากการยึดติด

ก็จะทำให้จิตมีปกติ เป็นความรู้สึกใสๆ เหมือนฟองสบู่ใสๆ เบาๆ

ที่มีความพร้อมจะรู้อะไรตามจริง ที่กำลังปรากฏต่อหน้า

ตัวนี้ ที่ทำให้เกิดฉันทะ ทำให้เกิดความอยาก

 

ใจเบา .. จำเป็นคีย์เวิร์ดไว้

โอเค อาจมีอย่างอื่นเช่นเรื่องปัญหาชีวิต ปัญหาสุขภาพอะไรที่มาเบียดเบียนให้เกิดความหนัก แล้วตรงนั้น เรื่องทาน ศีล ภาวนาอาจมาช่วยไม่ได้ทุกครั้ง

 

แต่โดยคอนเซ็ปต์ โดยความเข้าใจ ขอให้เข้าใจว่า

ที่คนๆ หนึ่งจะเกิดฉันทะ คนๆ หนึ่งจะเกิดความอยากภาวนาได้เรื่อยๆ ตลอดๆ

ต้องมีใจเบา เป็นเครื่องหมายบอกแทนป้ายปักเขตว่า

ชีวิตเราเข้าเขตภาวนาแล้ว

 

ถ้าใจเบาได้เรื่อยๆ ซึ่งโอเค เริ่มต้นขึ้นมาบันไดขั้นที่ หนึ่ง สอง สาม

อาจต้องฝืนใจ เช่น รู้จักฝึกให้ เพื่อทำลายความตระหนี่

หรือรู้จักห้ามใจเพื่อที่จะไม่ต้องผิดศีล

แบบนี้อาจต้องฝืนใจบ้าง ในช่วงต้นๆ

 

แต่ว่าพอ พ้นจากเรื่องของการให้ทาน การรักษาศีล

มาเข้าเขตการภาวนาแล้ว จะเริ่มง่าย

อย่างที่พระพุทธเจ้าตรัส ผู้มีศีลเป็นปกติ

มีความรู้สึกว่าจิตใสใจสะอาด จากการไม่ออกนอกรั้วของศีล

จะเป็นผู้ได้สมาธิได้

 

ทุกคนจะพบความจริงตรงกัน

ถ้าหากศีลของเรา ทำให้เกิดความรู้สึกสบายใจในชีวิต

ความสบายใจนั้น จะพร้อมปรุงแต่งจิต ให้เป็นหนึ่งเดียวเรียบง่าย

แล้วรู้อะไรก็รู้ตรงๆ ไปอย่างเดียว ไม่คิดซับซ้อน

ไม่คิดพลิกไปพลิกมากลับไปกลับมา ไม่คิดยุ่งเหยิง

แบบที่จะเต็มไปด้วยเขม่าควันไฟ มีกลิ่นไหม้ของบาป

มารมตัวเองอยู่ตลอดเวลา มารมจิตตัวเองตลอดเวลา

 

การที่ผ่านขั้นของทาน ของศีลมาได้

ในทางโลกปัจจุบันก็ถือว่ายากพอสมควร

แต่ว่ามาเรื่องของการเอาชนะ ความฟุ้งซ่าน

ด้วยการใช้อุบายสมาธิ หรือเดินจงกรม ตรงนี้ ยากไปอีกขั้นหนึ่ง

 

แต่ถ้าหากเราผ่านความยากตรงนั้นมาได้ เข้าจุดบ่อยๆ

เข้าจุดของความเป็นสมาธิ มีสติบ่อยๆ จนเกิดอาการเข้าฝัก

คือมีปกติธรรมดาของใจเบา

ก็จะย้อนกลับไปทำให้การทำทาน การรักษาศีล จะง่ายแสนง่าย

 

ก็แค่บอกว่าไม่เอา หรือแค่บอกว่าเอาไปเถอะ

หรือแค่บอกว่า เอาแบบนี้แหละ

เอาจิตเป็นที่ตั้ง เป็นเครื่องวัดความโง่ความฉลาดของชีวิต

ไม่ใช่ เรื่องได้เปรียบ เสียเปรียบของชีวิตมาเป็นตัวตั้ง

แต่เอาเรื่องจิตใสใจเบา มาเป็นคุณค่าขั้นสูงสุด

 

ตรงนี้ก็จะง่ายแสนง่ายกับคนที่ภาวนาเป็น

 

แล้วพอภาวนาเป็น เข้าฝักบ่อยๆ ก็จะอยู่ตรงนั้น

เหมือนจิตที่เปรียบกับฟองสบู่ใสๆ

อย่างไรๆ ก็จะมีความใสเบา เหมือนฟองสบู่วันยังค่ำ

ไม่ใช่ว่าพอทำๆ ไปแล้วกลายเป็นของสกปรกขึ้นมาเองได้

ต้องมีเหตุปัจจัย อะไรบางอย่าง

 

ที่เราเอาชนะไปเรื่อยๆ ทุกวัน วันละนิดวันละหน่อย

ดีกว่าที่จะมาสงสารตัวเองหรือบ่นกับตัวเองว่า

ทำไมไม่ก้าวหน้าเสียที ทำไมจิตเป็นแบบนี้

 

การที่จิตจะใสเบาได้ เป็นเรื่องทวนกระแส ไม่ใช่ตามกระแส

แล้วพวกทวนกระแสนี่ ไม่ใช่ทวนกระแสที่หยาบๆ ดิบๆ ร้อนๆ อย่างเดียวนะ

ทวนกระแสธรรมชาติ ที่จิตจะปล่อยให้ตัวเองตกลงต่ำ

เหมือนที่พระพุทธเจ้าท่านเปรียบเทียบ

จิตมีธรรมชาติ เหมือนน้ำไหลลงสู่ที่ต่ำเป็นธรรมดา

 

ถ้าหากว่าเราจะเอาจิตขึ้นมา

แน่นอน ไม่ใช่ปล่อยเฉยๆ มันจะขึ้นมาเองได้

แต่ต้องใส่เหตุปัจจัย เยอะๆ ในแต่ละวัน

ถึงจุดหนึ่ง จิตทวนกระแสเป็นปกติ จะไม่รู้สึกว่าต้องออกแรง

 

จิตใสใจเบา จะรักษาตัวเองไว้ให้คงอยู่ แบบที่ตัวเองมีความพอใจ

ไม่ใช่มีความฝืด มีความฝืน

________________

วิปัสสนานุบาล EP 115  | พฤหัส 14 เมษายน 2565

เกริ่นนำ : ใจเบาเป็นปกติ สัญญาณบอกชีวิตเข้าเขตภาวนา

ถอดคำ : เอ้

รับชมคลิป : https://www.youtube.com/watch?v=A1BHit6y2FI

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น