วันพฤหัสบดีที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2565

วิปัสสนานุบาล EP118 (เกริ่นนำ) : ทำไมยิ่งปฏิบัติยิ่งท้อ - 18 เมย. 65

วิปัสสนานุบาล EP118 | จันทร์ 18 เมษายน 2565

เกริ่นนำ : ยิ่งปฏิบัติ ทำไมยิ่งรู้สึกท้อ

 

พี่ตุลย์ : หลายคน บอกว่าปฏิบัติมาหลายแนว หลายทาง

หรือกระทั่งว่าไปศึกษา ทฤษฎี ศึกษาพระพุทธพจน์

ว่าพระพุทธเจ้าตรัสไว้อย่างไร

แต่จนแล้วจนรอด ก็เกิดความรู้สึกว่าตัวเองยังไม่เข้าใจ

 

คือถ้าพูดว่าพระธรรมคําสอนมีอะไร จาระไนได้หมดนะ

บอกว่า พุทธศาสนาสอนเรื่องอริยสัจสี่

แนวทางการปฏิบัติคือ สติปัฏฐานสี่

บอกว่าเพื่อให้เห็นกายใจเป็นอนัตตา

ถ้าเห็นความไม่เที่ยงได้ ก็เห็นความเป็นอนัตตาได้ อะไรแบบนี้

 

สามารถที่จะจาระไนได้ พูดเป็นคํา ๆ

แต่ พอลงมือเอาจริง จะทําสมาธิ ก็ไม่ค่อยเป็นสมาธิ

หรือเมื่อเป็นสมาธิแล้ว ก็ไม่สามารถตัด หรือว่าวางหรือว่าทําใจได้

ไม่สามารถทําใจว่า .. นี่ ไม่ใช่ตัวเรา

 

บางคนบอกว่าศึกษาไปแล้วท้อ เพราะว่าเสียเซลฟ์

ที่ท้อเพราะเสียเซลฟ์ .. ในทางโลกนี่เป็นคนเก่งมาก

เป็นคนที่สามารถทําอะไรได้แบบที่คนอื่นไม่สามารถ (ทำ) นะ

แล้วก็มามีความรู้สึกว่า ถ้าปฏิบัติธรรม

ตัวเองก็ต้องสามารถบรรลุมรรคผลได้ก่อนใคร หรือว่าเร็วกว่าใคร

หรือว่าได้ไม่ยากอะไรทํานองนี้

 

แต่ปรากฏว่า ยิ่งทํายิ่งยาก .. สืบไปสืบมา

คือถ้าคนเราไม่สืบหาสาเหตุว่าทําไม ที่ทํา ๆ ไปแล้วไม่ได้ผล

ดีแต่บอกว่า เป็นเรื่องเกี่ยวกับแนวทางการปฏิบัติ

เป็นเรื่องเกี่ยวกับสํานัก เป็นเรื่องเกี่ยวกับครูบาอาจารย์

หรือเป็นเรื่องเกี่ยวกับชะตาฟ้าลิขิตอะไรต่าง ๆ นี่นะ

ถ้าไปโทษส่งเดชแบบนั้น ก็..ทั้งชาติ จะจมอยู่กับการโทษ

การกล่าวโทษคนอื่น หาแพะรับบาปอะไรอย่างนี้ไปทั้งชาติ

แต่ถ้าสืบหา สืบไปสืบมาแล้วค้นพบว่า

การปฏิบัติธรรม หรือการเจริญสติแบบพุทธ ในแนวทางแบบพุทธนี้

ไม่เหมือนการบรรลุเป้าหมายอื่นๆ

 

การบรรลุเป้าหมายอื่นๆ เอาตัวตนไปบรรลุได้

เอาความเก่ง เอาความกล้า เอาความสามารถ เอาไอคิว สูงๆ

ไปทําให้เกิดความสําเร็จได้ทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องไหนในโลก

 

แต่ว่าในการเจริญสติ ไม่ใช่แบบนั้น

เอาความเก่งมาเป็นตัวตั้งไม่ได้

ต้องเอาความเข้าใจ แล้วสามารถที่จะทําใจยอมรับได้

 

ยิ่งเก่งกล้ายิ่งสามารถเท่าไหร่ ยิ่งมีความรู้สึกว่าตัวเองเก่งเท่าไหร่

ยิ่งเป็นกําแพงขวางความเข้าใจ ชั้นแรกเลยด่านแรกเลย

 

บอกว่า.. ตัวเอง ต้องแน่กว่าคนอื่น

ตัวเอง ต้องมีหน้ามีตามากกว่าคนอื่น

ตัวเอง ต้องตัวใหญ่กว่าคนอื่น

ตัวเอง ต้องเป็นที่ยอมรับมากกว่าคนอื่น

 

แบบนั้นนั่นแหละที่เป็นกําแพงขวาง

ไม่ใช่ตัวสะพานเชื่อม

ตัวสะพานเชื่อม ได้มาอย่างไร

ตรงนี้แหละที่เป็นเรื่องยากของพุทธศาสนา

 

ขึ้นต้นมา พระพุทธเจ้าถึงไม่มาตรัสเกี่ยวกับเรื่องของตัวตน ละตัวตน

เรื่องของการที่จะมาสิ้นความรู้สึกในตัวตนอะไรแบบนี้

ท่านตรัสเกี่ยวกับ เรื่องของทุกข์และการดับทุกข์

 

เพราะว่าคําว่าทุกข์นี่ ใครๆ ก็เกลียด ใครๆ ก็กลัว ใครๆ ก็ไม่อยากได้

ส่วนการดับทุกข์ ..

ตัวอย่างของการดับทุกข์ในโลกนี้ ส่วนใหญ่ก็ประมาณว่า

มีเรื่องมีราวกับใครมา แล้วเคลียร์กันได้

หรือว่าเจ็บไข้ได้ป่วย แล้วหายป่วย ประมาณนี้นะ

 

แต่ทุกข์ และการดับทุกข์ที่พระพุทธเจ้าท่านตรัส

ท่านหมายเอาว่าเป็นทุกข์ ไม่ใช่แค่ความรู้สึกทุกข์ทางใจ

แต่เป็นการทุกข์ เพราะการเวียนว่ายตายเกิดแบบไม่รู้อิโหน่อิเหน่

 

แล้วฐานที่ตั้งของความทุกข์อยู่ที่ไหน

คือกายนี้ ใจนี้

 

บอกว่า กายนี้ใจนี้ ถ้ายังเกิดอยู่ก็ต้องตาย

ถ้าต้องตาย ก็ต้องมีอันพลัดพรากจากบุคคลอันเป็นที่รัก

พลัดพรากจาก ทรัพย์สินศฤงคารที่สะสมมา

พลัดพรากจากลูกเมีย

 

เมียอุตส่าห์จีบแทบตาย ลูกกว่าจะเลี้ยงขึ้นมาโต แต่ละวัน

มีความอาลัยยึดติดเหนียวแน่นแค่ไหน ก็ลองนึกดูว่า

ถ้าเราจะไม่ได้เจอกันอีกเลย ใจจะขาด.. รู้สึกใจจะขาด

 

แต่ถ้ามองกลับมุมว่าจะต้องพรากจากกันอีกไม่รู้กี่ล้านกี่โกฏิครั้ง

จะต้องเสียน้ำตาให้กับความไม่รู้

คือพลัดพรากจากลูกเมีย ชื่อนี้หน้าตาแบบนี้

เกิดใหม่ลืมกัน แล้วก็ไปจีบกันใหม่ ทะเลาะกันใหม่

มีเรื่องมีราว ระหองระแหงกันใหม่ มีปัญหากันใหม่

แล้วก็มามีเหตุให้ซึ้งใจกัน แล้วก็มาเสียน้ำตาจากการพรากจากกันอีก

 

หรือบางทีจับพลัดจับผลู ชาติหนึ่งรักกันมากปานจะกลืนตายแทนกันได้

อีกชาติหนึ่ง อยู่ร่วมโลกกันไม่ได้ ต้องฆ่ากันให้ตาย

หรืออย่างที่ได้ยินข่าวเยอะ ๆ .. เสียเมียไม่ได้ เสียผัวไม่ได้

ทนไม่ได้ที่เขาตีตัวออกห่าง ก็เอาปืนไปยิง เยอะมากช่วงนี้นะ

ที่ผ่านมา เป็นข่าวจนคนเบื่อ ขี้เกียจเสพข่าวแบบนี้

 

แบบนี้ ถ้าคิด.. เอาแค่แบบโลก ๆ นะ

เอาแค่แบบที่สามารถเห็นได้ด้วยตาเปล่านี่

ก็เพียงพอที่จะรู้สึกเบื่อหน่าย

 

ถ้าหากว่าเราทําไว้ในใจว่า ที่มาเจริญสติปฏิบัติธรรมกันนี่

เพื่อที่จะได้ไม่ต้องมาทุกข์ กับความไม่รู้อิโหน่อิเหน่

ไม่ต้องมา เหมือนกับเผชิญกับความไม่แน่ไม่นอน

ของการตัดสินใจก่อกรรมของตัวเอง

 

เพราะตอนนี้ เรารู้ว่าเราไม่อยากทําบาป

กําลังอยู่ในช่วงที่เป็นกุศลของของชีวิต 

อะไร ๆ มีแต่ดีกับดี ทางใจมีแต่ดีกับดี

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าปฏิบัติได้ขาขึ้นนี่

 

แต่เราไม่สามารถพยากรณ์ตัวเองได้ว่า พ้นจาก ความทรงจําแบบนี้

พ้นจากรูปร่างหน้าตา หรือว่าชื่อนามสกุลแบบนี้แล้ว

เราจะไปมีชื่อนามสกุลแบบไหน มีความรู้สึกนึกคิดอย่างไร

พื้นฐานความรู้อย่างไร คนแวดล้อม ที่ตะล่อม

ที่ทําให้เกิดความรู้สึกนึกคิดขึ้นมา ถ้าไม่ใช่แบบนี้ ให้ไปตัดสินใจแบบไหน

 

ลองนึกดูง่าย ๆ แต่ละคนที่มาปฏิบัติธรรมได้นี่

ต้องมีบุญที่เคยสะสมมาแล้ว ผลักดันให้ได้มาพบทางปฏิบัติ

แล้วก็เพียรพยายามที่จะปฏิบัติอยู่

ฉะนั้น ก็ต้องเรียกว่าเป็นคนมีบุญ

 

ในชาตินี้ ที่นั่ง ๆ กันอยู่นี่ ถือว่าเป็นคนมีบุญหนุน

แล้วการเป็นคนมีบุญ ช่วยอะไรได้บ้าง?

 

ตอนเกิดใหม่ ๆ นี่นะ พวกเราทุกคนนี่ลองทบทวนดู

พลาดทําอะไรไปบ้าง ที่ต้องมานั่งเสียใจทีหลัง

หรือว่าจะต้องมาเกิดความรู้สึกผิดว่า ไม่น่าเลย ไม่น่าทําลงไปเลย

นั่นแหละ ที่เป็นหลักฐานนะว่า

ถ้ายังเกิดไปเรื่อย ๆ จะต้องไปพบไปเจอกับความเสี่ยงแบบเดียวกันนี้

ช่วงแต่ละชีวิตนี่เหมือนกันหมด

 

ถ้าเป็นมนุษย์ ซึ่งเป็นสุขคติภูมิแล้วนี่นะ

ต้องมีระยะของการเป็นเด็กแบเบาะ ที่ให้คนอื่นเลี้ยง

เช็ดขี้เช็ดเยี่ยวให้ ให้น้ำ ให้นม ให้ขนมให้ข้าว

ระยะของการเรียนรู้ ต้องไปโรงเรียน ต้องไปเจอกับเพื่อน ๆ

เพื่อนแกล้งบ้าง หรือว่าไปแกล้งเพื่อนบ้าง

ระยะของการที่จะทํางาน เป็นหนุ่มเป็นสาว โตพอที่จะหาเลี้ยงตัว

ซึ่งแต่ละคนนี่ สารพัดเลย

 

บางคนนี่ แค่ห้าขวบต้องเลี้ยงพ่อเลี้ยงแม่ ที่นอนติดเตียงที่บ้าน

มีข่าวในจีนมาแล้วนะ

หรือ บางคนอายุสี่สิบ ยังต้องแบมือขอสตางค์พ่อแม่อยู่

เอาแน่เอานอนไม่ได้เลย ระยะของการทํามาหากิน

หรือว่าระยะของการที่จะต้องเอาตัวรอดด้วยตัวเองให้ได้

 

นี่ก็มีข่าว คนจีน คือเลี้ยงตัวเองไม่ได้ อายุมากแล้วนี่นอนตายอยู่ในบ้านนะ

เพราะพ่อแม่ ประคบประหงมมาตลอด

พอพ่อแม่ตาย ตัวเองก็ตายตามเพราะว่าเลี้ยงตัวเองไม่ได้

หาข้าวกินเองไม่ได้ .. ถึงขนาดนั้น

 

แล้วก็ระยะของการที่ จะต้องให้ลูกหลานประคบประหงม หรือว่าดูแล

คือพูดง่าย ๆ ว่าอยู่ในสภาพลุกขึ้นไปช่วยตัวเองไม่ได้จริง ๆ

คือ เอาตัวรอดด้วยตัวเองไม่ได้อีกครั้ง

 

จากเอาตัวรอดด้วยตัวเองไม่ได้ในระยะแรก

ระยะสุดท้าย ก็เอาตัวรอดตัวเองด้วยตัวเองไม่ได้อีกนะ

ภาวะทางกายนี้ ไม่มีใครดู ไม่ได้

ไม่มีใครมาเทกแคร์ ตอนที่วันท้าย ๆ ของชีวิต

นี่ระยะพวกนี้จะต้องเกิดขึ้น อันนี้เฉพาะในสุคติภูมินะ

 

แต่ว่าระยะอื่น ๆ มีอีก

ระยะของการ เป็นสัตว์นรกที่มีทั้งแบบว่าถูก ถูกเผาชั่วคราว

ถูกเผา  แล้วมีพักบ้าง กับถูกเผาแบบไม่มีพักเลย อะไรแบบนี้

 

หรือว่าเป็นสัตว์เดรัจฉาน ที่มีนัยยะของการเป็นไข่ โตขึ้นมา แล้วก็ตายไป

โตขึ้นมา เพื่อถูกกิน อะไรแบบนี้สารพัด

หรืออย่างเป็นเทวดา เกิดมาพร้อมกับรอยยิ้ม

เป็นเป็นสุคติภูมิชนิดที่ ไม่ต้องร้องไห้ ไม่ต้องเกิดมาพร้อมกับเสียงร้องไห้

มีแต่รอยยิ้ม และเสียงหัวเราะ

 

แต่ว่าพอจะตาย ร้องไห้ยิ่งกว่ามนุษย์ .. ใจจะขาด

เพราะว่าไม่อยากพรากจากสิ่งที่เป็นทิพย์

 

ภาวะเหล่านี้คือ .. โอเคเราสามารถได้แค่จินตนาการ

แต่ว่าความเป็นมนุษย์นี่ สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า

 

ระยะของการเกิด ระยะของการเรียนรู้ ระยะของการโต ระยะที่รอบรู้

รู้ทุกสิ่งรู้ไปหมด แล้วก็ระยะที่เริ่ม เลอะๆ เลือนๆ หลงๆ ลืมๆ

ระยะที่ดูแลตัวเองไม่ได้

 

นี่ เห็นอยู่นะ ด้วยตาเปล่า

แต่ ขนาดเห็นอยู่ด้วยตาเปล่า ยังเข้าถึงใจไม่ได้เลย

เพราะว่า คนเราจะจําเฉพาะภาวะที่ตัวเองกําลังประสบ ตัวเองกําลังได้ดี ตัวเองกําลังมีสุข ตัวเองกําลังยิ่งใหญ่ ตัวเองกําลังมีหน้ามีตา

 

แล้วภาวะเหล่านี้ ทั้ง ๆ ที่เป็นภาวะชั่วคราว

แต่คนก็จะจํา แล้วก็จะยึดว่า อันนี้แหละที่เราชอบ อันนี้แหละที่เราอยากได้

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าชาติไหนได้เจอบุคคล อันกระทําจิตให้พิศวาส

มีจิตหวานแหวว เกิดความรู้สึกว่า ปฏิพัทธ์

อยากจะพบกันไปทุกชาติอะไรอย่างนี้

 

ก็จะหลงเพ้อกันไปว่า เกิดมาเพื่อเธอคนเดียว

แล้วก็ขอให้ได้พบกันทุกชาติ

ไม่รู้ชาติอื่นจะหวานแหววแบบนี้หรือเปล่า ไม่ทราบนะ

 

คือไม่รู้ด้วยเหตุผลกลใด ที่จะพบกันแล้วเกิดความสุข เกิดความพอใจ

รู้แต่ว่าขอเจอ แล้วพอเจอไป ที่มาฆ่าๆ กันอยู่นี่

ก็อาจจะเคยอธิษฐาน หรือว่ามีความหวานแหววในกาลก่อนมา

แล้วก็เกิดความรู้สึกทนไม่ได้ ที่จะไม่ได้เธอ

ถ้าฉันไม่ได้คนอื่นก็ต้องไม่ได้ ก็มีวิธี ที่จะกีดกันคนอื่นได้สารพัด

รวมทั้งความตายอะไรแบบนี้นะ

 

อันนี้ถ้าหากว่าเราเข้าใจจริงๆ ตั้งแต่จุดเริ่มต้นว่า

เรามาเจริญสติ เพื่อจะไม่ต้องมาเอาสิ่งเหล่านี้อีก

ไม่ต้องมาเผชิญกับสิ่งเหล่านี้อีก .. ทําไว้ในใจแบบนี้

จะตรงกับที่พระพุทธเจ้าท่าน เทศน์โปรดพวกชาวบ้านชาวเมือง

ที่อาจจะไม่ได้มีวาสนาไปบวช ยังเป็นชาวบ้านชาวเมืองอยู่

แต่ท่านเทศน์ในลักษณะที่ให้เกิดความเข้าใจจริงๆ ว่า

การเวียนว่ายตายเกิดแบบไม่รู้อิโหน่อิเหน่

เป็นภัยใหญ่หลวงขนาดไหน ไม่น่าเอาขนาดไหน

 

เสร็จแล้ว ท่านก็ถึงจะตรัสถึงแนวทางว่า

ทำไว้ในใจอย่างไร ถึงจะไม่ต้องเกิดอีก

ซึ่งถ้าเป็นชาวบ้านทั่วไป ท่านก็จะออกแนวว่า ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน

แล้วก็ชี้ให้เห็นว่า เดี๋ยวก็ต้องตายอะไรทํานองนี้

แต่อย่าง ถ้าเราไม่มีจิตระดับพระองค์ มาเป็นกระแส

ตัวจุดชนวนให้เกิดสติอย่างใหญ่ แล้วก็เกิดความเห็นโทษเห็นภัย

ก็ต้องเจริญสติเอานะ

 

แต่จริง ๆ แล้วนี่ แม้ลูกของพระองค์เอง พระโอรสของพระองค์เอง

พระราหุลนี่นะ พระองค์ก็ไม่ได้เทศน์แบบให้บรรลุต่อเบื้องพระพักตร์

ท่านก็สอนให้เจริญสติปัฏฐานนะ

ก็มีทั้งพระองค์เอง แล้วก็ให้พระสารีบุตร เป็นผู้ช่วยสอนด้วย

 

พระราหุลเพียงท่านเดียว ทั้งท่านเองแล้วก็พระสารีบุตร

สอนให้เจริญสติ สอนทั้งอานาปานสติ สอนทั้งดูกายดูใจนะ

เหมือน เราๆ ท่านๆ ที่ปฏิบัติตามแนวทางของพระพุทธเจ้าอยู่

ทั้งอานาปานสติ สติปัฏฐานสี่ ดูกายใจโดยความเป็นขันธ์ห้า

โดยความเป็นธาตุหก อย่างนี้นะ

จนกระทั่งพระราหุลสามารถบรรลุได้ด้วยการปฏิบัติ

ไม่ใช่ด้วยการฟังธรรมต่อเบื้องพระพักตร์

 

อันนี้ก็ขึ้นต้นมา เพื่อที่จะบอกว่าถามใจตัวเองดู

ถ้าบอกปฏิบัติไปแล้วท้อ ปฏิบัติไปแล้ว ไม่ได้

ปฏิบัติไปแล้วเสียเซลฟ์ ไม่ได้ดิบได้ดี

ดูไม่ก้าวหน้า ไม่ได้แอดวานซ์แบบคนอื่นเขา

 

ถามใจตัวเองดู ว่าเรากําลังปฏิบัติด้วยความเข้าใจแบบไหน

เข้าใจว่ามรรคผลคือการพุ่งตัวชนเป้าแบบโลกๆ

เอาดิบเอาดี ทางจิตวิญญาณ ทางหน้าทางตา ทางเกียรติยศชื่อเสียง

หรือว่ามุ่งหวังจะเอาความดับทุกข์ อันเกิดจากการมีตัวมีตน

 

ถ้ายังไม่มีความเข้าใจ

ถ้ายังเหมือนกับแล่นไปตามลู่วิ่ง ที่ชาวโลกเค้าเอาไว้แข่งกัน

สมควรแล้ว ที่จะไปไม่ถึงไหน

เพราะแค่ความเข้าใจเริ่มต้นนี่ ก็มองไม่ออก บอกไม่ถูกแล้วว่า

เส้นทางการเจริญสติ คือเส้นทางของการทวนกระแส

ไม่ใช่วิ่งไล่ล่าตามหาตัวตน หรือว่าหน้าตา

หรือว่าความยิ่งใหญ่ หรือว่าชื่อเสียงใดๆ

 

นี่ ตัวนี้ ถ้าหากว่ามีความเข้าใจเป็นจุดเริ่มต้น

แล้วมาเจริญสติตามขั้นตาม ตามตอน

จะอานาปานสติ จะมาเจริญสติปัฏฐาน

ขอให้มรรคมีองค์แปด เกิดครบเป็นขั้นๆ นับตั้งแต่สัมมาทิฏฐิ

หรือความเข้าใจจริงๆ ว่าเราจะเอาอะไรจากเส้นทางแบบนี้

 

นี่แหละ ค่อยดูนะว่า จิตจะใส ใจจะเบาลงได้ไหม

แล้วด้วยจิตใส ด้วยใจเบา นี่จะเอาความคืบหน้าวันต่อวัน ได้หรือเปล่า

 

ถ้ามีความคืบหน้า ความเบาอย่างน้อยต้องถูกรักษา

ถ้าให้ดีกว่านั้นคือ เบายิ่งๆ ขึ้นไป

เบาอันเกิดจากการไม่ยึด ..

ไม่ใช่เบาอันเกิดจากการนั่งสมาธิอย่างเดียว

เบาอันเกิดจากการเอาสมาธิมารู้ มาสัมผัส ความเป็นกายใจนี้ว่า

สักว่าเป็นขันธ์ห้า สักว่าเป็นธาตุหกนะ

____________

วิปัสสนานุบาล EP118 | จันทร์ 18 เมษายน 2565

เกริ่นนำ : ยิ่งปฏิบัติ ทำไมยิ่งรู้สึกท้อ

ถอดคำ : เอ้

รับชมคลิป : https://www.youtube.com/watch?v=GXtPloI_a7g

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น