วันอังคารที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2562

ปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน วิปัสสนาญาณต่างจากคิดไปเองอย่างไร

ดังตฤณ : สำหรับคืนนี้ก็จะเป็นคำถามที่หลายๆ ท่าน ก็อาจจะมีความรู้ทางทฤษฎี และได้ทราบว่า การปฏิบัติธรรม เจริญสติ หรือว่าจะเรียกวิปัสสนาอะไรก็แล้วแต่ จะมีขั้นมีตอน มีสัญญาณบ่งบอก หรือว่าตัวชี้ว่า เรากำลังมีความเจริญของจิตใจ ผ่านสิ่งที่เรียกว่า วิปัสสนาญาณ หรือว่า ความหยั่งรู้ว่า กายใจนี้ไม่เที่ยง กายใจนี้ไม่ใช่ตัวตน

ซึ่งหลายๆ คนก็บอกว่า เอ๊ะ ผม หรือ ดิฉัน น่าจะผ่านวิปัสสนาญาณ ขั้นนั้นขั้นนี้ แต่ไม่แน่ใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของความรู้ภายใน ไม่ใช่ว่าเราจะเอามาบอกใครว่า กำลังรู้สึกอย่างนั้น กำลังรู้สึกอย่างนี้ รู้แต่ว่ามีปรากฏการณ์บางอย่าง ที่แปลก และแตกต่างจากประสบการณ์เดิมๆ ประสบการณ์ปกติสามัญของมนุษย์มนา ทั่วไป

ยกตัวอย่างเช่น พอเกิดสมาธิขึ้นมา รู้สึกว่าใจมีอาการส่องแสงได้ หรือว่ามีอาการเหมือนกับไปรู้ไปเห็นว่า ข้างนอก เป็นอย่างไร อย่างหลับตาอยู่ ก็รู้เลยว่าข้างนอกกำลังปรากฏเป็นภาพ มีใครกำลังเดินมา หน้าตาเป็นอย่างไร หรือเห็นร่างกายของตัวเอง ปรากฏเป็นรูปร่าง รูปพรรณสัณฐานต่างๆ นานา ที่ไม่เคยรู้สึกมาก่อน

สารพัดประสบการณ์ภายในนี่ บางทีถ้าเราไม่ได้ศึกษาทฤษฎีไว้ก่อน ก็จะตีความไปต่างๆนานา อย่างเช่นว่า ที่เจอบ่อยที่สุดก็คือ พอเป็นสมาธิ มีความเบา มีแสงสว่างเจิดจ้าขึ้นมา เข้าใจว่าเป็นการบรรลุธรรม อันนี้เจอบ่อยที่สุด

ที่เจอแสง หรือความสว่างแบบแปลกๆ มีสีสันนานาประการ บางทีก็เกิดจากการที่นั่งสมาธิไป แล้วรู้สึกขึ้นมา หรือบางคน เจริญวิปัสสนา เจริญสติ รู้กายใจจริงๆ แล้วก็เกิดความเบา เกิดแสงสว่าง เกิดนั่น เกิดนี่ขึ้นมา สุดแท้แต่ละคนจะได้ประสบการณ์หรือผลของการปฏิบัติแตกต่างกันอย่างไร

ทีนี้เราจะตัดสินอย่างไร เริ่มต้นขึ้นมา ที่ท่านให้ใช้เป็นเครื่องตัดสินว่า ยกขึ้นสู่ความเป็นวิปัสสนาแล้วนี่ ท่านให้ดูง่ายๆ เลย ไม่ต้องเอาอะไรอย่างอื่นมาก รู้สึกเข้ามาที่กายใจหรือเปล่า อย่างประเภทเห็นแสงสว่าง แล้วเข้าใจว่าตัวเองบรรลุธรรม บางคนก็นั่งสมาธิ กำหนดว่างๆ อะไรไปอย่างนี้ หรือไม่ก็มองไปตรงๆ แล้วเกิดแสงสว่างเจิดจ้าขึ้นมา เข้าใจว่าบรรลุธรรม นั่นก็เป็นส่วนหนึ่งของสมาธิ ที่เกิดขึ้นได้กับทุกศาสนา ไม่จำเป็นว่าจะต้องปฏิบัติธรรม หรือว่าทำวิปัสสนาแบบพุทธ แล้วถึงจะเกิดแสงสว่างอย่างนั้นได้ เพราะอะไร เพราะว่าจิตเมื่อเป็นสมาธิ เมื่อมีอาการรวมเข้ามา หรือว่า แค่ไปมีอาการที่แบบว่า เลิกคิด แล้วก็อยู่นิ่งๆ กับอะไรได้สักพัก แสงสว่างก็ปรากฏแล้ว

แต่ถ้าหากว่ารู้เข้ามาที่กายใจ หน้าตาของอาการรู้กายใจจะง่ายๆ เลย เริ่มต้นนั่งอยู่ รู้อยู่หรือเปล่าว่า สภาพนั่งอยู่เป็นอย่างไร คอตั้งหลังตรง หรือว่าหลังงอ หรือว่ากำลังขยับไม้ขยับมืออยู่ ถ้าไม่รู้อาการตื้นๆ ง่ายๆ แบบนี้ โอกาสที่จะเกิดวิปัสสนาญาณ แทบไม่มีนะ

หรืออย่างถ้าอาการทางใจ กำลังฟุ้งซ่านอยู่หรือว่าสงบอยู่ ถ้าไม่รู้ นี่ก็ยกขึ้นเป็นวิปัสสนาไม่ได้เหมือนกัน คำว่าวิปัสสนา คือการที่จิตมีสติ รู้ตามจริง ว่ากำลังเกิดอะไรขึ้นและอะไรอย่างนั้น เป็นสภาวะที่เหมือนเดิม หรือ ต่างไปจากเดิม

ถ้าเห็นคงที่เหมือนเดิมอยู่เรื่อยๆ แล้วบอกว่าไม่เปลี่ยนแปลงเลย ไม่มีอาการขยับเลย นี้เป็นความรู้ที่ผิดแน่นอนร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะอะไร ดูง่ายๆ ลมหายใจนี่ เข้าออกอยู่ตลอดเวลา นี่คือความเคลื่อนไหวที่แสดงตัวโต้งๆ ตลอด 24 ชั่วโมง ความเคลื่อนไหวแค่นี้ ถ้ารู้ไม่ได้ แล้วนึกว่า สภาพของตัวเองคงที่อยู่ตลอดเวลา นี้คือไม่ใช่รู้ตามจริงแน่นอน ไม่ได้เกิดสติแล้ว

หรืออย่างสภาพทางกาย ถ้าเข้าใจว่า เป็นก้อนอะไรก้อนหนึ่ง เป็นก้อนอัตตาที่คงที่ คงเส้นคงวาอยู่เสมอ นี่ก็คือเข้าใจผิดแน่นอนร้อยเปอร์เซ็นต์อีกเช่นกัน เพราะกล้ามเนื้อ มัดเนื้อต่างๆ ทั่วร่างกาย ถ้าอยู่ในท่าใดท่าหนึ่งไปนานๆ ก็จะค่อยๆ หด ค่อยๆ เกร็ง แล้วเกิดแรงบีบให้ต้องเปลี่ยนท่า ต้องให้คลายจากสภาพแบบนั้นๆ ที่คงตัวอยู่นานๆ รัดตัวอยู่นานๆ (กล้ามเนื้อนั้น) จะต้องหาทางคลาย ต้องหาทางที่จะขยายออกจากสภาพเดิม นี่ก็เห็นได้ว่า ถ้าใครมีสติ รู้ตามจริงว่า ร่างกายเปลี่ยนไปเรื่อยๆ นี่ก็เริ่มแล้วนะ เริ่มที่จะมีความรู้เนื้อรู้ตัวเข้ามา ในสภาพทางกายตามจริง

หรืออย่างสภาพจิต คนทั่วไป ถามว่าสภาพจิตตัวเองเป็นอย่างไร ส่วนใหญ่ก็จะตอบตัวเองขึ้นมาว่า มันฟุ้งอยู่ตลอดเลย มีความฟุ้งซ่านไม่เลิก ซึ่งถ้าหากว่าเห็นแค่อาการฟุ้งซ่านไม่เลิก คงที่อยู่ตลอดเวลา นี่ก็ผิดอีกเหมือนกัน เพราะในความเป็นจริง ในข้อเท็จจริงก็คือว่า คนเราไม่ได้มีความฟุ้งซ่านเท่าเดิมอยู่ตลอดเวลา  การที่เรารู้สึกว่าฟุ้งอยู่ตลอดเวลา จะเป็นอาการมัวๆ เป็นอาการเหมือนกับไม่รู้สภาพทางใจของตัวเอง แล้วก็เกิดความคิดสุ่ม

ขนาดความคิดสุ่ม มาเอง ไปเอง แบบไม่รู้เนื้อรู้ตัว เรายังยึดเลย เรายังรู้สึกอยู่เลยว่า นี่เป็นความคิดของเรา และเป็นความคิดของเราอยู่อย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ นึกว่าความคิดของเรา หรือว่าตัวตนทางความคิดของเรา เหมือนเดิม เป็นตัวเดิม เที่ยง ...  ตัวนี้แหละคือความสำคัญผิด ซึ่งพระพุทธเจ้าชี้ให้ดูก่อนเลยว่า ถ้ารู้สึกว่า ความคิดเป็นสิ่งที่เที่ยง นี่เป็นมิจฉาทิฏฐิ ขั้นร้ายแรงที่สุด

ถ้าใครจะเหมา จะทึกทักว่า ร่างกายนี้เป็นตัวเป็นตน ยังนับว่าถูกต้องเสียกว่าที่จะไปทึกทักว่า สภาพทางจิต สภาพทางใจ หรือความรู้สึกนึกคิดเป็นตัวเป็นตน เพราะว่าสภาพร่างกาย จะปรากฏแบบเดิมๆ อยู่เกือบร้อยปี จะเด็ก จะโตขึ้นมา หน้าก็คล้ายๆ หรือแปรไปในทิศทางที่พอทำให้รู้ได้ว่า นี่เป็นคนๆ เดียวกัน เป็นตัวเดียวกัน 

แต่ความรู้สึกนึกคิด ที่คิดอยู่ตลอดวันตลอดคืน จะเกิดดับๆ จากความคิดหนึ่ง ดับหายไปอย่างสิ้นเชิง กลายเป็นอีกความคิดหนึ่ง เป็นคนละตัวกันอย่างสิ้นเชิงภายในนาทีเดียว เกิดดับอย่างนี้ตลอดวันตลอดคืน พระพุทธเจ้าเลยให้สังเกตดูตรงนี้แหละ ถ้าเรามีความรู้เข้ามา แยกออกว่า นี่ส่วนของกาย นี่ส่วนของใจ แล้วมีความไม่เหมือนเดิมแสดงตัวอยู่ ตัวนี้นี่คือเครื่องชี้แล้ว เครื่องบอกแล้วว่า เรากำลังรู้ถูกทาง แล้วก็สามารถที่จะเข้าข่ายที่จะเป็นวิปัสสนาญาณ

แต่ที่ท่านจะนับเป็นวิปัสสนาญาณจริงๆ ไม่ใช่แค่รู้แผ่วๆ ไม่ใช่แค่รู้ตื้นๆ ไม่ใช่แค่รู้นิดๆ หน่อยๆ ว่า ตอนนี้กำลังโกรธนะ แล้วพอความโกรธหายไป นับว่าตรงนั้นเป็นวิปัสสนาญาณแล้ว ที่ครูบาอาจารย์ท่านจะนับเข้าข่ายเป็นวิปัสสนาญาณจริงๆ ท่านตัดสินจากตรงที่ว่า จิต คงสภาพเป็นผู้รู้ ผู้ดู ตั้งแต่ก่อนเกิดสภาวะหนึ่งๆ แล้วสภาวะนั้นๆ ปรากฏแล้วก็รู้ว่าปรากฏ ภาวะนั้นๆ ดับไปแล้วก็รู้ว่า ภาวะนั้นดับไป มีความคงเส้นคงวาในการรู้อย่างนี้อยู่ แยกออกว่า ฝ่ายกาย กำลังอยู่ในอิริยาบทอย่างไร ฝ่ายของใจ มีความคิดปรุงแต่ง มีความรู้สึกเป็นสุข หรือเป็นทุกข์ เมื่อถูกกระทบ

ที่คนส่วนใหญ่จะเกิดเป็นวิปัสสนา ที่จะรู้สึกแบบที่เห็นเป็นรูปเป็นนาม แยกจากกันนี่นะ ต้องมีสมาธิระดับหนึ่ง มีความคงเส้นคงวาของตัวรู้ตัวนี้ เป็นปกติ รู้สึกเป็นปกติมากพอที่จะแยกออก นั่งอยู่ รู้ว่านั่งอยู่ แล้วความรู้สึกว่างๆ ของอาการนั่ง เปลี่ยนไป กลายเป็นความคิดผุดขึ้นมา กลายเป็นสภาวะ รู้สึกถึงอะไรที่แตกต่างไปจากความรู้สึกว่างๆ เดิม แล้วพอความคิด หรือความปรุงแต่งที่ผุดขึ้นมาในความว่างนั้น หายไป ก็ยังมีความรู้ที่คงเส้นคงวาอยู่ ความรู้นั้น ไม่มีหน้าตาตัวตน ไม่มีความรู้สึกว่านี่เป็นตัวเรา เป็นบุคคล เป็นเราเขา ผ่านมาแล้วผ่านไปเฉยๆ

เปรียบเหมือนกับเราเป็นวิญญาณที่จำไม่ได้ว่าเราเป็นใคร แล้วก็นั่งดูสายหมอกอยู่บนภูสูง ก่อนที่สายหมอกจะเข้ามา เราเห็นเป็นท้องฟ้าว่างๆ เป็นเวิ้งว่างๆ แล้วรู้สึกว่างเปล่า ไม่รู้สึกว่าเป็นใคร พอสายหมอกผ่านมา แล้วสายหมอกผ่านไป ก็กลายเป็นเวิ้งว่างๆ เหมือนเดิม มีความรู้สึกเหมือนตัวเองเป็นวิญญาณที่ไร้ตัวตน เฝ้าดูสายหมอกผ่านมาแล้วผ่านไปอยู่เฉยๆ

สายหมอกที่ว่านี้ อาจเป็นความสุข ความทุกข์อันเกิดจากการได้เห็น ได้ยิน หรือว่าได้กลิ่น หรือว่ามีสภาพความคิด ผุดขึ้นมาเฉยๆ โดยไม่ต้องมีกระทบทางหู ทางตา หรืออาจเป็นความรู้สึกจำได้ หันไปเห็น อ้อ นั่นใคร แล้วผุดความรู้สึกขึ้นมาว่า นี่คนนี้ เป็นคนที่เราชอบ หรือไม่ชอบ เป็นคนที่หน้าตาเหมือนกับเป็นพ่อเป็นแม่ แล้วที่เป็นความจำนั้น จะไม่เกิดขึ้นถ้าหากว่าตาไม่ไปกระทบรูป เห็นเป็นขณะๆ ว่า ใจมีอาการยึดอยู่หรือเปล่า ว่านี่เป็นบุคคลอันเป็นที่รักของเรา หรือว่า นี่เป็นบุคคลที่เราชิงชัง อยากออกห่าง อยากหลีกหนี

คนปกติ พอเห็นปุ๊บ ยึดเลย รู้สึกเลยว่า นี่ เป็นบุคคลแน่ๆ มีความเกี่ยวข้องกับเราแน่ๆ แต่ถ้าเริ่มเกิดวิปัสสนาญาณ ตอนแรกจะมีความรู้สึกว่างๆ อยู่ ไม่ได้เป็นใคร เห็น สักแต่เป็นอิริยาบทนั่ง อิริยาบทยืน กำลังนั่งอยู่ให้รู้ โดยไม่มีความเป็นบุคคล ในท่านั่ง ท่ายืน นั่ง สักแต่นั่ง ยืน สักแต่ยืน ไม่มีบุคคลในท่านั่งหรือท่ายืน

เสร็จแล้วใจที่ว่างจากตัวตนของผู้นั่งหรือผู้ยืนนั้น เวลาที่เหลียวไปเจอใคร หรือได้ยินเสียงของใครกระทบขึ้นมา แล้วไหวขึ้นรู้ จะรู้ขึ้นมาว่าเสียงนั้น หรือว่ารูปแบบนั้น ก่อสภาพความทรงจำขึ้นมาในใจด้วยความรู้สึกอย่างไร คือมีความรู้สึกขึ้นมาก่อนเสมอนะ แต่ว่าคนจะเข้าใจว่าตัวเองจำได้ทันที แล้วก็รู้ทันทีว่าเป็นใคร แต่จริงๆ จะมีความรู้สึกขึ้นมา เช่น ความรู้สึกเดิมของการเห็นเพื่อนคนหนึ่ง ความรู้สึกครั้งสุดท้าย จะมีชอบ หรือไม่ชอบ จะมีห่างเหินหรือว่าสนิท ถ้าสนิท ถ้ามีความรู้สึกที่ดีต่อกัน ชอบเม้ากัน ชอบที่จะมาคุยอะไรกันนานๆ จะมีความรู้สึกพอใจ นึกถึงความสุขที่เกิดขึ้นจากการที่ได้เม้ากันยาวๆ ครั้งล่าสุด หรือว่า ความรู้สึกเป็นสุขที่ เจอเพื่อนคนนี้แล้วอบอุ่นใจอะไรแบบนั้น

ความรู้สึกเป็นสุข ความรู้สึกพอใจ ความรู้สึกว่าอยากจะกลับไปคุยกัน ตัวนี้ นำหน้าขึ้นมา แล้วตัดสินว่า เราอยากจะเข้าไปใกล้ หรืออยากจะออกห่าง ซึ่งถ้าหากว่าเป็นคนปกติ จะยึดเลย ไม่มีความสงสัยเลยว่ามีตัวตนหรือเปล่า เป็นเพื่อนเราจริงหรือเปล่า จะทึกทักเอาว่านี่เป็นเพื่อนของเราแน่ๆ มีตัวตนอยู่แน่ๆ แล้วคงเส้นคงวาอยู่อย่างนั้น

ต่อเมื่อเราเกิดวิปัสสนาญาณ ความรู้สึกของจิตว่างๆ โดยเดิม ที่เห็นสักแต่ว่าเป็นอิริยาบทนั่ง หรืออิริยาบทยืนกำลังปรากฏอยู่ ไม่มีตัวตนผู้นั่ง ไม่มีตัวตนผู้ยืน จะไหวตัวขึ้นมา รู้ว่ามีความพอใจ มีความรู้สึกเป็นสุขในทางที่สบายใจนำหน้าขึ้นมาว่า ก้อนความรู้สึก ความสบายใจ หรือ ความสุขที่เป็นผลของการคุยครั้งเก่า กระตุ้นให้เกิดความจำขึ้นมา ว่านี่เพื่อนเราชื่อนั้นชื่อนี้ แล้วจำได้ว่าเราจะเกิดความพอใจแบบนั้นด้วยการมองหน้า ด้วยการคุย ด้วยการสัมผัสรู้สึกกับตัวตนความเป็นเพื่อนอย่างไร แล้วถึงเกิดอาการยึดมั่นถือมั่นขึ้นมา ว่านี่เป็นเพื่อนเรา หรือว่าเป็นสิ่งที่ทำให้เราเกิดความคุ้นเคย

เมื่อตัวการเห็นปรากฏชัด แล้วเรารู้สึกถึงการปรุงแต่งของจิต รู้ว่าการคุยกัน ทำให้รู้สึกพอใจบ้าง ไม่พอใจบ้าง ตามเนื้อเรื่อง ตามหัวข้อที่คุยกัน อย่างถ้าเม้าเรื่องคนอื่น จะมีความพอใจระดับหนึ่งที่ได้พูดเรื่องคนอื่น เม้าเรื่องตัวเอง มีความพอใจอีกแบบหนึ่ง ที่ได้คุยเรื่องเกี่ยวกับตัวเอง หรือเม้าเรื่องเพื่อน ใจเกิดความรู้สึก ไม่อยากไปเม้าเรืองของเขาเลย อยากเม้าเรื่องของเราต่อ ถ้ารู้เข้ามาแบบนี้ อันนี้เป็นสติธรรมดา

แต่ถ้าหาก รู้ว่าตอนที่ใจของเราเหมือนกับไม่อยากที่จะพูด เพราะจิตมันเห็น สักแต่เป็นการปรุงแต่งที่ทำให้ฟุ้งซ่าน แล้วไม่รู้สึกถึงตัวตนของผู้ฟุ้งซ่าน มีแต่ภาวะฟุ้งซ่านปรากฏอยู่ ตัวนี้ก็จะเหมือนกับเป็นเครื่องบอกว่า เริ่มแตกต่างไปจากเดิมที่ยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นเพื่อนของเราแน่ๆ มีการคุยเกี่ยวกับเรื่องนั้นเรื่องนี้ที่เป็นตัวเป็นตน กลายเป็นเห็นเข้ามาว่า อาการของใจ พอไปอยู่กับคนนี้ คุยเรื่องนั้นเรื่องนี้แล้วเกิดความฟุ้งซ่านแตกต่างอย่างไรขึ้นมา ตัวนี้จะทำให้เราเห็นว่า ที่ผ่านมาทั้งหมดที่นึกว่าเป็นเพื่อน ที่นึกว่าเรากำลังคุยเรื่องนั้นเรื่องนี้กับเพื่อน แล้วยึดมั่นถือมั่นไปต่างๆ นานา เกิดความรู้สึกพอใจบ้าง ไม่พอใจบ้าง สักแต่เป็นสภาพปรุงแต่งทางใจทั้งสิ้น คือไม่มีตัวตนของเพื่อนอยู่จริงๆ มีแต่ตัวที่ใจของเราเริ่มต้นขึ้นมา ยึดความรู้สึกในขณะหนึ่งๆ ว่า พอใจหรือไม่พอใจ หรือจำได้ แล้วก็เกิดการปรุงแต่งไปต่างๆ นานา

สภาพที่เป็นวิปัสสนาญาณจริงๆ จะปรากฏอย่างที่ท่านว่ากันว่า มักจะไม่ปรากฏ ไม่เริ่มต้นกับผู้ที่คลุกคลี หรือว่าคุยกับใครเรื่องแบบโลกๆ โดยที่ไม่มีลิมิต (limit – ขีดจำกัด) พูดง่ายๆ ว่า เพ้อเจ้อไปเรื่อยๆ นะ แต่จะเริ่มปรากฏกับผู้ที่เงียบอยู่กับตัวเอง ได้ยินเสียงความคิดของตัวเอง หลังจากนั้น สามารถเปรียบเทียบได้ว่า ตอนที่คุยกับคนอื่น เสียงความฟุ้งซ่านแตกต่างไปอย่างไร หรือว่าเกิดความสามารถแยกแยะว่า ความฟุ้งซ่านที่คุยกับตัวเอง ที่ดังอยู่ในหัวของตัวเอง แตกต่างอย่างไร กับตอนที่เราไปคุยกับคนอื่น แล้วมีเสียงความฟุ้งซ่านออกมาทางปาก

อย่างบางที่ก็จะปฏิบัติธรรมด้วยการปิดวาจา เพื่ออะไร เพื่อที่จะให้เสียงของความฟุ้งซ่านเป็นเสียงของเราคนเดียว ไม่ใช่เสียงของความฟุ้งซ่านอันเกิดจากการที่มาคุยกับคนอื่น พอเวลาคุยกับคนอื่น สติจะตามไม่ทันว่าเสียงของความฟุ้งซ่านในหัว กับเสียงฟุ้งซ่านของตัวเอง กับเสียงความฟุ้งซ่านของคนอื่น แตกต่างกันอย่างไร จะมีความรู้สึกเหมือนกับว่า เรากำลังคุยอยู่กับใครคนหนึ่งจริงๆ แต่ถ้าหากว่าเราอยู่คนเดียวเราเก็บตัว แล้วก็ปิดวาจา บางทีจะเริ่มแยกออกขึ้นมาได้ง่ายขึ้นว่า ตอนที่เสียงของเราดังขึ้นมาในหัว มีการปรุงแต่งออกมาจากจิตที่อยู่กับตัวเองตามลำพัง ไม่ได้ไปพูดหรือไปคิดเรื่องของคนอื่น

เอาล่ะ ถ้าเราจะสรุปง่ายๆ ว่า วิปัสสนาญาณ จะเกิดขึ้นได้ เราต้องมีจิตที่เงียบแล้วก็มีความเป็นสมาธิ รู้เข้ามาในความเป็นกายใจอยู่ระดับหนึ่งนะครับ แล้ว ถ้าหากว่าเราอยู่เงียบๆคนเดียว จะเห็นได้ง่ายกว่าไปคุยกับคนอื่น เพราะว่าตอนคุยกับคนอื่น เราจะเกิดกิเลสแล่นไปตามเนื้อหาที่คุย หรือว่าความฟุ้งซ่านที่กำลังคุยกับคนอื่น แต่ถ้าหากฟุ้งซ่านอยู่คนเดียว จะสามารถที่จะเห็นความเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ได้ง่ายกว่านะครับ!

________________

https://www.youtube.com/watch?v=vjsqdjXAqio

วันอังคารที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2562

หายใจไม่อิ่ม มีผลต่อการเจริญสติมาก จะรักษาอย่างไร


ดังตฤณ : อย่างที่แนะนำไปนะครับ อยากให้ลองฟัง ))เสียงสติ(( เวอร์ชัน “สมาธิ-จงกรม ๑ ชั่วโมง”

ผมเคยตั้งชื่อไว้ตอนแรกว่าเป็น “เสียงรักษา” เพราะผมมีหลายคนฟีดแบคตรงกัน รวมทั้งตัวผมเองด้วย
ทุกวันนี้ผมก็ฟังเพื่อที่จะรักษาร่างกายตัวเองด้วยนะ แต่ผมไม่เอาชื่อนั้นไว้
เพราะจะเรียบเรียงให้เห็น แล้วก็เข้าใจได้ง่ายในหมวดหมู่เดียวกัน เป็น “เสียงสมาธิ”

ถ้าคุณฟังทุกวัน แต่ต้องต่อเนื่องนิดหนึ่ง แล้วก็จะนานแค่ไหนไม่รู้นะ
สภาพร่างกายจะซ่อมแซมตัวเองนะ แล้วก็คุณจะเห็นด้วยตัวเองเลย ทดลองดู
แต่ก็ต้องมีความต่อเนื่องนิดหนึ่ง ผมไม่กล้าบอกหรอกว่า จะใช้เวลาแค่ไหน ขึ้นกับแต่ละคน

แต่บอกได้อย่างหนึ่ง ถ้าหากว่าคุณมีสมาธิ ถ้าหากคุณหายใจได้โล่งขึ้นตอนฟังเสียงสติ
แปลว่า สมองของคุณ คลิกกับเสียงสติ แล้วจะซ่อมแซมตัวเองแน่นอน ถ้าหากว่าคุณทำต่อเนื่องแล้วก็นานพอ
หมายความว่า ทำเวอร์ชัน ชั่วโมงนี่นานพอนะ!
______________

คำถามเต็ม:
เคยฟังที่อ.ตุลย์พูดถึงเรื่อง การหายใจไม่อิ่ม อยากให้อ.ช่วยพูดถึงการรักษาให้หายได้อย่างไร? เพราะว่ามันมีผลต่อการเจริญสติมากค่ะ มันไม่สามารถหายใจได้ปกติ ทรมานมากค่ะ แต่จะดีขึ้นบ้างก็ตอนฟังเสียงสติค่ะ

ทำสมาธิแต่เผลอหลับโดยไม่ได้แผ่เมตตา รู้สึกเหมือนถูกสะกิด


ดังตฤณ : เวลาที่คุณแผ่เมตตา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คุณๆ ที่สามารถสัมผัสได้ว่ามีพลังสว่างอยู่รอบๆ ตัว
บอกว่าขออุทิศส่วนกุศล หรือว่า ขอแผ่ความสุขนี้ ให้กับสิ่งมีชีวิตที่อยู่ตรงหน้า
จะมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าก็ดี หรือไม่เห็นด้วยตาเปล่าก็ดี ตรงนี้เนี่ย ไปถึงเทวดาแล้วนะครับ

เพราะว่า คนที่มานั่งสมาธิได้ขนาดนี้ ส่วนใหญ่ จะมีเทวดาดูแลอยู่
แต่ไม่จำเป็นที่พวกท่านจะต้องมาเดินตามคุณ ไม่ใช่แบบนั้นนะ
บางทีอาจอยู่บนชั้นฟ้า อยู่ห่างๆ อยู่ไกลๆ อยู่อีกมิติหนึ่ง แต่ส่งใจมาดู ส่งทิพยจักขุ มาเล็งแล
ว่า ญาติของเรา ลูกของเรา พ่อของเรา มาเกิดในโลกนี้แล้ว ได้ทำบุญไปถึงไหน
แล้วพอเราทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ ท่านก็จะเกิดความรับรู้

ตรงนี้แหละที่บางคนอาจเกิดกรณีแบบนี้ พอทำได้ ตั้งท่าจะทำได้อยู่แล้ว แล้วหยุดไป
ก็อาจมีการเตือน ซึ่งนี่เป็นกรณีเฉพาะคนนะครับ

ไม่ต้องกลัว คือตรงกันข้ามเลย ถ้าหากคุณทำได้ คุณจะเกิดความรู้สึกอบอุ่นใจ
ราวกับว่ามีสิ่งศักดิ์สิทธิ์คุ้มครองดูแลอยู่ อาการกระตุกอะไรนี่ สังเกตไหม
ถ้ามาดี จะไม่รู้สึกกลัวนะ แต่จะรู้สึกตื่นตัว เกิดความรู้สึกเหมือนกับว่า ของแบบนี้มีจริง
ซึ่งคนที่ไปปฏิบัติธรรมตามสถานที่ปฏิบัติที่ศักดิ์สิทธิ์ ก็มักเจออะไรแบบนี้
ถ้าขี้เกียจ ถ้านอนเหมือนหมู จะมีอะไรดุๆ มาเตือน เหมือนกับผู้ใหญ่เตือนเด็ก
ไม่ใช่จะมาเตือนในแบบคุกคามให้เกิดความหวาดกลัว หรืออกสั่นขวัญแขวนอะไรแบบนั้น

ถ้าคุณแผ่เมตตาเป็น จะกลบทับความกลัวไป จะเกิดความรู้สึกว่า ความกลัว เป็นภาวะที่เกิดขึ้นมาแบบสูญเปล่า
สิ่งที่เกิดประโยชน์จริงๆ คือความสว่าง ความเมตตาต่างหาก แล้วเมื่อประสบภาวะอะไรต่างๆ ที่พิเศษพิสดารเหล่านี้
คุณจะรู้สึกว่ากลมกลืนเป็นกันเอง


พอใจเราสว่างขึ้นมาแล้ว จะสัมผัสถึงความสว่างที่มาได้
สัมผัสแห่งความสว่าง จะเป็นกระตุกผ้าห่ม หรืออะไรก็แล้วแต่
ที่มาเตือนว่า อย่าลืมแผ่เมตตานะ
เป็นสัมผัสแห่งความสว่าง ที่จะกลมกลืนกับใจที่สว่างของเรา
ฉะนั้นเราจะไม่รู้สึกกลัวนะครับ!

_______________


คำถามเต็ม : หลายคืนก่อนนอนทำสมาธิกับเสียงสติ แต่ไม่ได้แผ่อะไรเลยนะคะ เผลอหลับไป กลางคืนมีคนมาสะกิด หรือกระตุกผ้าห่มเสมอๆ นี่เกิดจากอะไรได้บ้างคะ?
.. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. ..
ปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน อธิษฐานจิตเปลี่ยนชีวิต คืนที่ ๗
12 กรกฎาคม 2562

เราจะปฏิบัติธรรมตลอดเวลาได้อย่างไร ถึงจะถูก

ดังตฤณ : ที่พระพุทธเจ้าให้เป็นหลัก เป็นเครื่องพยุง เป็นเครื่องเกาะ
ก็คือ รู้จักสังเกตความต่างระหว่างลมหายใจเข้าออกนะครับ
บางทีหายใจยาว บางทีหายใจสั้น

อย่างเมื่อกี้ ถ้าหากว่าใครคลิกกับ ))เสียงสติ((
แล้วเกิดความรู้สึก จมูกโล่ง ตัวโล่ง สบาย
ลมหายใจจะปรากฏชัด เพราะผมออกแบบไว้
ให้เสียงเล็งเป้าที่ระบบการหายใจ
ถ้าหากหายใจแล้วโล่ง รู้สึกว่าหายใจได้มีสติมากขึ้น
เห็นลมหายใจได้ชัดขึ้น นั่นแหละคือ
สมองของคุณคลิกกับเสียงสติแล้ว

นี่คือตัวตั้ง แต่เวลาทำจริงในระหว่างวัน
ตอนไม่ได้ฟังเสียงสติ ตอนเดินไปไหนต่อไหน
ตอนขับรถ ตอนนั่งรถเมล์ ลองดู สังเกตดู
คุณจะรู้สึกว่า พอได้ตัวอย่างการหายใจ สังเกตว่า
เดี๋ยวยาว เดี๋ยวสั้น จะมีสติอยู่ในระหว่างวัน เห็นเช่นนั้นได้ด้วย
แล้วพอเห็นลมหายใจเข้าออก เดี๋ยวสั้น เดี๋ยวยาว เกิดอะไรขึ้น
จะเกิดความรู้สึกขึ้นมาเองว่า เรากำลังอยู่ในอิริยาบทไหน
อิริยาบทนั้น เป็นที่ตั้งของลมหายใจเข้าออก ยาว หรือสั้น นั่นเองนะครับ

พูดง่ายๆ ว่า แค่ดูลมหายใจอย่างเดียว
จะพามาเห็นความเป็นกาย ณ เวลาปัจจุบันได้ด้วย
และความเป็นกาย ณ เวลาปัจจุบัน
จะปรากฏอยู่ในท่าทางใดท่าทางหนึ่งเสมอ

ไม่นั่งก็นอน ไม่นอนก็เดิน ไม่เดินก็ยืน
สี่อย่างนี้ ยืนเดินนั่งนอน ไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่ง
แล้วพอเห็นอิริยาบทหลักได้ ก็จะสามารถเห็น
อิริยาบทนั่นเดี๋ยวก็ขยับยิบย่อย แยกย่อยไป
ตรงนี้ เริ่มมีสติเห็นกายแล้ว

แล้วพอเห็นกายอย่างชัดเจนไปเรื่อยๆ ก็จะรู้สึกว่า
ที่ลมหายใจเข้าออกอยู่นี่ พาความรู้สึก เป็นสุข เป็นทุกข์
อึดอัดหรือว่าสบาย แตกต่างกันในแต่ละลมหายใจไปด้วย
หรือแม้กระทั่งว่า ร่างกายกำลังมีความเครียด ความเกร็ง
อยู่ที่จุดใดจุดหนึ่ง ถ้าหากผ่อนคลายไปก็จะสบายขึ้น
เห็นความต่างระหว่างความสุข กับความทุกข์แบบนั้นไปเรื่อยๆ
ก็จะเกิดความรู้สึกมาเองว่า ทั้งสุข ทั้งทุกข์ไม่ใช่ตัวเรา
สภาวะทางกายที่แตกต่าง ที่เปลี่ยนไปเรื่อยๆ ก็ไม่ใช่ตัวเรา

จนกระทั่ง สติจะเริ่มคม แล้วก็เห็นเข้ามา
แม้กระทั่งความปรุงแต่งทางความคิดที่เกิดขึ้นในหัว
ผุดขึ้นมาแล้วก็หายไปๆ ไม่มีความเป็นตัวใครอยู่ในความคิด
ความคิดไม่ใช่ตัวของใคร เกิดขึ้นอยู่ชั่วขณะ แล้วก็หายไป
ความยึดมั่นสำคัญผิดต่างหาก ที่เกิดขึ้นอย่างสืบเนื่อง
ว่า มีตัวมีตนของใครคนหนึ่ง กำลังคิด แล้วก็กำลังเปลี่ยนแปลง
หรือว่ามีใครคนหนึ่ง กำลังจะเจ็บไข้ได้ป่วย หรือว่าตายไป

จริงๆ แล้ว ไม่มีใครเกิดมาตั้งแต่ต้น
มีแต่สภาวะธรรมที่ประชุมกันด้วยความไม่รู้

ด้วยความไม่รู้ของจิต ด้วยอวิชชาของจิต
พอเรามาค่อยๆ ศึกษา ค่อยๆ มารู้
โดยอยู่ในทิศทาง สังเกตความไม่เที่ยง
ไม่ใช่ตัวเดิม ไม่ใช่ตัวตนของกายและใจ
ในที่สุด ก็จะอยู่ในเส้นทางที่ถูกต้องไปเอง

จิตจะเกิดสัญชาติญาณรู้มาเองว่า
นี่แหละ รู้อย่างนี้ ที่จะพาไปถึงการสละกิเลส
สละอุปาทานออกจากใจได้
แล้วพอสละอุปาทานได้
ก็คือทิ้งต้นเหตุของความทุกข์

ออกไปได้อย่างสิ้นเชิงนั่นเอง!

-----------------------
ปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน ๗ วันอธิษฐานจิตเปลี่ยนชีวิต
6 กรกฎาคม 2562

https://www.youtube.com/watch?v=2TmSRLNFUOY

วันเสาร์ที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2562

รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน อธิษฐานจิตร่วมกันคืนที่ ๕


Download ไฟล์เสียงสติ เพื่อใช้นั่งสมาธิได้ที่

ดังตฤณสวัสดีครับทุกท่าน คืนนี้เรามาอธิษฐานจิตร่วมกันเป็นคืนที่ ๕ นะครับ
อันดับแรก ก็มาเคลียร์คำถามที่เป็นคำถามเบสิคกันนิดหนึ่ง

ถาม : แผ่เมตตาไม่ออก ต้องทำอย่างไร?
ดังตฤณ : หลายคนบอกว่า แผ่เมตตาไม่ออก ทำอย่างไรดี
ตอนที่ฟังดนตรีไป แล้วเริ่มมี “เสียงสติ” หายใจโล่งอยู่
แต่ยังไม่ได้มีความรู้สึกปลอดโปร่ง มากพอ
ที่จะรู้สึกว่า แผ่เมตตา แผ่ความสุขออกไปได้

เป็นเรื่องธรรมดานะครับ เราออกจากจุด start ตามวันเวลาไม่เท่ากัน
คนที่เขาทำกันส่วนใหญ่ เขาทำกันมาเป็นเดือนแล้ว
ถ้าท่านเพิ่งมาเห็นเมื่อวาน หรือเมื่อวานซืน ก็อย่าตกใจ
ไม่ใช่เรื่องผิดแปลกนะครับ
ก็ ต้องเอาลมหายใจเป็นความสำคัญอันดับแรก นะ

ถ้าไม่มีความปลอดโปร่ง ไม่ได้มีความสุขมากพอ
เอาแค่เรามีความรู้สึกว่า หายใจแล้วจมูกโล่ง ตัวโล่ง หัวโล่งนิดหนึ่ง นับเป็นความสุขอ่อนๆ แล้ว
แล้วเราก็แค่คิดว่า ขอให้ความสุขที่เกิดนี้
จงได้มีส่วนเข้ามาร่วม คิดแค่นี้ คิดในหัวก็ได้
คิดในหัวแล้ว ไม่รู้สึกถึงพื้นที่ว่างรอบตัว
หรือว่าไม่เกิดความรู้สึกปีติสุข แผ่ออกไปเหมือนคนอื่น
ไม่ต้องน้อยเนื้อต่ำใจ นี่เป็นเรื่องธรรมดานะครับ

หลายคนพยายามมาเป็นเดือน เพิ่งมามีความรู้สึกปีติโสมนัส
ก็เมื่อได้ร่วมแผ่เมตตาด้วยกันมาคืนที่ ๓ หรือคืนที่ ๔ ด้วยซ้ำ
สำคัญมาก ย้ำเลยว่า สิ่งที่เราต้องการอันดับหนึ่ง
ไม่ใช่ความสุข แต่เป็น สติ
ที่สามารถนึกถึงลมหายใจเข้าออกได้
สังเกตความต่างได้
ว่า ยาว หรือ สั้น
เวลาที่ถูกปรุงแต่งด้วย “เสียงสติ” เป็นเวลา เจ็ดนาทีนะครับ

ถ้าหากรู้สึกถึงลมหายใจที่ยาวขึ้นได้
ถ้ารู้สึกถึงลมหายใจที่กลับมาสั้น
มีบางครั้ง อึดอัด ไม่อยากนั่งต่อ
บางครั้งรู้สึกปลอดโปร่ง โล่ง หายใจได้ยาว สบายจัง
นี้เรียกว่าเป็นความต่าง ซึ่งน่าพอใจแล้ว ที่เรามีสติเห็นได้นะ
นั้นคือความน่าพอใจสูงสุดนะครับ
ไม่ใช่ว่า เราจะต้องมารีด ให้ความสุขแผ่ออกมาให้ได้มากๆ นะครับ (ความสุข) จะค่อยๆ มาเองตามวันเวลา
ตามคุณภาพของจิต ตามคุณภาพของการหายใจ
ที่ปรับปรุง พัฒนาขึ้น ด้วยความต่อเนื่องนะครับ
มี “เสียงสติ” มาช่วยเป็นเครื่องทุ่นแรง
เป็นเหมือนกับที่ดีดเท้าให้เราออกวิ่ง
โจนไปข้างหน้าได้อย่างง่ายๆ รวดเร็ว เพราะอะไร
เพราะว่าเสียงสติ จะช่วยทำให้คลื่นสมองของคุณ
เข้าที่ สมดุล ในแบบที่ความฟุ้งซ่านไม่มีที่ยืน
จะเหมือนกับเบาบางลงไป เหลือแต่การรับรู้
มีความรู้สึกว่า เราสงบ พร้อมรู้ลมหายใจ
!
.. .. .. .. .. ..
คำถามอีกคำถามคือ จะ download มาฟังเองให้ครบ ๗ วันได้ไหม

ในแง่ของพลังเมตตาร่วม อาจเบาบางกว่าตอนที่นั่งทำพร้อมๆ กัน
หรือหากย้อนกลับมาฟังคลิป คลิปก็จะบันทึกความสุข
ความมีสติของส่วนรวมไว้ ยังครบถ้วนอยู่

ถ้า
download มาฟังเอง อาจเบาบางกว่า
ความสุข หรือความเมตตา หรือความมีสติ ที่เกิดขึ้นกับตัวเอง
... นี่ฟังจากฟีดแบคหลายๆ เสียง ไม่ได้พูดจากการนั่งเทียนเอานะ

เว้นแต่คุณทำสมาธิได้ดีอยู่ก่อนนะครับ
แล้วก็มีโครงสร้างทางจิตที่พร้อมจะมีความสงบ
มีความนิ่ง ตื่นรู้ รู้ความไม่เที่ยงของลมหายใจ
รู้ความไม่เที่ยงของสุขทุกข์ ของเนื้อตัวที่เกร็งบ้าง ผ่อนคลายบ้าง

ถ้าใครทำได้ดีอยู่แล้ว ก็จะมีความรู้สึกรื่นเริง
โดยเฉพาะพวกที่แผ่เมตตาเก่งอยู่ก่อน
ก็จะรู้จักความรู้สึกเป็นสุขราวกับมีงานเลี้ยง ที่เป็นบุญ

จริงๆ แล้ว พุทธศาสนาเรา สอนให้แผ่เมตตา
ก็คือ พร้อมจะสัมผัส อะไรที่มองไม่เห็นได้ด้วยตาเปล่านะ
คนที่แผ่เมตตาเก่งๆ จะมีความรู้สึกราวกับว่า
มีงานเลี้ยง ที่เป็นงานเลี้ยงแห่งความสว่าง
งานเลี้ยงแห่งความเป็นกุศล ทีเกิดขึ้นรอบๆ ตัว

นั่นเป็นเรื่องปกตินะครับ เพราะอะไร
เพราะว่า มีทั้งสิ่งมีชีวิตชั้นสูง ที่มีความประณีต
และ สิ่งมีชีวิตที่อาจเดือดร้อน แล้วก็กระวนกระวาย
เรียกหาแสงสว่าง เรียกหาบุญอยู่
พอเราแผ่เมตตาออกไปดีๆ แล้วก็เจาะจง
คือไม่ได้เจาะจงให้คนใดคนหนึ่ง แต่ว่าแผ่ออกไปแบบไม่มีประมาณ
เขาชอบ ... เหมือนกับแสงสว่างมาฉาย
เป็นแสงเย็นๆ เวลาที่เขารู้สึกกันนะ
ยิ่งคุณมีเมตตา ที่เกิดจากใจที่สว่างเย็นมากขึ้นเท่าไหร่
เขาจะยิ่งรู้สึกสว่างเย็นมากขึ้นเท่านั้นตามไปด้วยนะครับ

แต่ถ้าหากว่า
download มาฟัง ในแง่ของการอธิษฐาน
ถ้าทำครบ ๗ วัน นั่นก็ได้เหมือนกัน

การที่เรา ตัวตนของเรา มีหลายตัว แต่ละวันไม่เหมือนกัน
บางวันขยัน บางวันขี้เกียจ บางวันกระตือรือล้น บางวันซึมเซา
อย่างนี้ ถ้าเรามาตั้งอธิษฐาน คือตั้งใจมั่นว่า
จะวันขี้เกียจ หรือวันขยันก็ตาม อย่างไรเราก็จะทำคุณงามความดี
ให้จิตใจของเราพัฒนา ให้มีความสว่าง
ให้มีความก้าวหน้า แล้วได้มั่นคงสม่ำเสมอ
ไปจนครบเจ็ดวัน จะเกิดความตั้งมั่นขึ้นมาแบบหนึ่ง
คือมีลักษณะของสติ ที่อยู่เหนือตัวตน ทั้งข้างขยัน ทั้งข้างขี้เกียจ

แล้วการที่เรามีสติ มีวินัย อยู่เหนือความขยัน ความขี้เกียจ
ตรงนั้นจะเป็นพลังใหญ่
จะมีอะไรขึ้นมาอีกแบบ
คือไม่ใช่ความรู้สึก ไม่จำเป็นต้องเป็นความรู้สึกในตัวตน
แต่เป็นความรู้สึกเข้มแข็งที่อยู่เหนือกว่าตัวตน

พูดง่ายๆ ว่า เอาชนะตัวเองได้
เอาชนะกิเลสของตัวเองได้ ตัวนี้ที่สำคัญ

คือถ้าถึงแม้คุณจะ download มาฟังเอง
แล้วทำได้ครบเจ็ดวัน ก็เป็นความตั้งใจที่เข้มแข็ง
เหมือนกับที่เรามาร่วมทำกันตรงนี้นั่นแหละ
.. .. .. .. .. ..
บางคนถามมา สงสัยว่า รู้สึกสุขจริงๆ
คล้ายๆ กับมีน้ำพุ ผุดขึ้นมาในตัว หรือรอบๆ ตัว
เป็นจิตวิทยาหรือเปล่า เป็นจิตวิทยาหมู่ สะกดจิตไหม
หรือว่าเป็นของจริง

เอาอย่างนี้ ถ้าคิดว่าเป็นจิตวิทยา
คุณลองคิดดูว่า ในโลกความเป็นจริง
มีไหม ที่ไหนที่ไม่มีพลังหมู่ ไม่มีการสัมผัสพลังหมู่

ในที่ประชุมก็ดี ในห้องเชียร์ก็ดี
อย่างเวลาคุณอยู่ในห้องเชียร์กีฬา เกิดความรู้สึกคึกคักจากเสียง
เสียงคนแผดกันดังๆ เวลามีคอนเสิร์ต ชื่นชมคนอยู่บนเวที เสียงกรีดร้อง
หรืออะไรต่างๆ ที่มากระทบหู ก็ก่อให้เกิดความคึกคักทางใจใช่ไหม

คำว่าจิตวิทยา ไม่ใช่อยู่ๆ มาพูด มาหลอกอะไรกัน
แล้วจะเกิดความรู้สึกขึ้นมาได้นะ ต้องมีองค์ประกอบอะไรบางอย่าง

อย่างในห้องประชุมที่ผมยกตัวอย่างเป็นห้องเชียร์
ถ้าไม่มีเสียงคึกคักของผู้คน
ต่อให้พยายามมีการปลุกพลัง ด้วยคนนำเชียร์ที่มีพลังมากมาย
แต่คนอื่นไม่เอาด้วย จะเกิดความคึกคักขึ้นได้ไหม

ตรงนี้จริงๆ แล้วอยากให้นึกถึงห้องประชุมสักห้องหนึ่ง
แต่ไม่ใช่ห้องประชุมที่มีขนาดจำกัด
เท่าเพดานห้องหรือผนังห้องที่เป็นห้องใหญ่ๆ

แต่ให้นึกถึงท้องฟ้า ที่ครอบเราอยู่
แล้วเพื่อนๆ ที่มานั่งประชุมกัน โดยเรียกว่า
มีความตั้งใจล่วงหน้า ว่าจะทำให้ครบเจ็ดวันเหมือนๆ กับเรา

ความรู้สึกตรงนั้น ถึงแม้ว่า สายตาเราจะไม่เห็นใบหน้าว่ามีใครอยู่บ้าง
แต่ความรู้สึกทางใจจะแตกต่าง
พอคุณตั้งใจว่าจะทำให้ครบเจ็ดวัน แล้วมาพร้อมกัน ณ เวลานัดหมาย
ตรงนี้ใจจะสัมผัสอะไรขึ้นมาบางอย่าง ซึ่งหลอกกันไม่ได้ ไม่ใช่จิตวิทยา

อย่างที่ฟังฟีดแบคจากหลายคน เริ่มรู้สึกสัมผัสได้
เริ่มแยกแยะออกว่า ความสุขของเราก็ฝั่งหนึ่ง
ความสุขที่อยู่นอกตัว ที่เหมือนทะเล ก็อีกอันหนึ่ง

ยิ่งฝั่งของเรา แผ่ออกไปได้กว้างขึ้นเท่าไหร่
ยิ่งสามารถสัมผัสได้ชัดขึ้นเท่านั้น

จริงๆ พระพุทธเจ้าสอนให้ดูทั้ง ฝั่งเราและฝั่งเขา
ดูฝั่งเราให้เป็นก่อน แล้วก็จะสัมผัสฝั่งเขา
ไม่ใช่เพื่อที่จะไปรู้วาระจิตคน
ไม่ใช่เพื่อที่จะไปล้วงความลับชาวบ้านเขา
แต่เพื่อที่จะให้เห็นว่า มีฝั่งนี้ อายตนะภายใน
มีฝั่งโน้น อายตนะภายนอก

อย่างรูป เป็นอายตนะภายนอก ตาเป็นอายตนะภายใน
แล้วใจเป็นอายตนะภายใน ส่วนใจของคนอื่น ก็เป็นอายตนะภายนอก

ถ้าหากว่าเราฝึกเจริญสติปัฏฐานไปตามลำดับขั้น
จะเห็นทุกขั้นเลยที่พระพุทธเจ้า ตรัสให้ดู
ทั้งอายตนะภายในคือฝั่งของเรา และ ฝั่งอายตนะภายนอก
ไม่ว่าจะเป็นลมหายใจ ไม่ว่าจะเป็นสุขทุกข์
จิตสงบหรือฟุ้งซ่าน จิตที่ดีหรือไม่ดี
เราเห็นให้เสมอกันว่า สักแต่เป็นสภาวะทางธรรม
ที่ปรุงแต่งขึ้นมาด้วยเหตุอย่างหนึ่ง
เมื่อเหตุดับไป ภาวะตรงนั้นก็หายไปด้วย

อย่างเช่นความสุข เรามองเห็น วันนี้ สามทุ่ม
ตั้งใจจะมานั่งแผ่เมตตาร่วมกันปุ๊บ
เหมือนกับสัมผัสได้ถึงความสุขภายใน
อันเกิดจากเจตนา อันเป็นกุศล
เสร็จแล้วก็รับรู้ว่า มีเพื่อนๆ มาร่วมนั่งสมาธิและแผ่เมตตาด้วย
พร้อมๆ กัน คืนละพันคน

ความรู้สึกตรงนั้น ปรุงแต่งขึ้นมาก็จริง
แต่ว่าเราเริ่มเหมือนกับเปิดจิต ให้รับรู้ในทิศทางแบบนี้

ทีนี้พอเริ่มมีสมาธิ เริ่มรู้สึกถึงลมหายใจได้
เริ่มที่จะมีความสามารถรับรู้ เป็นอายตนะภายในที่เบ่งบานออกไป
มีความกว้างขวางขึ้น ถูกขยายขอบเขตการรับรู้ออกไป
ตรงนั้น พอเราแผ่ความสุขออกไป จะเหมือนกับเราไปเห็นอะไรบางอย่าง
ที่ไม่ใช่แค่ความสุขของเราอย่างเดียว มีความสุขรอบๆ ตัวด้วย

ซึ่งประโยชน์ตรงนี้หมายความว่า
เราสามารถที่จะเริ่มเชื่อจากสัมผัสประสบการณ์ตรงว่า
สิ่งที่เป็นนามธรรมภายนอก ถูกสัมผัสได้จริง
แล้วไม่ใช่เกี่ยวกับประสาทตา ไม่ได้เกี่ยวกับสมอง

เกี่ยวกับความรู้สึกตรงนี้ ที่บอกตัวเองว่า
เป็นการ
reset วิธีรับรู้ใหม่ มาเข้าโหมดอีกโหมดหนึ่ง
ไม่ใช้ประสาทตา ไม่ใช้ประสาทหู
แต่ใช้อายตนะทางใจไปรับรู้แทนนะครับ
!


วันอังคารที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2562

นั่งทำสมาธิได้ไม่นาน จิตก็จะคิดฟุ้งตลอดทำยังไงดี


ดังตฤณ : สังเกตความไม่เที่ยงของลมหายใจให้เป็นก่อน
แล้วคุณจะสังเกต เห็นความไม่เที่ยงของความฟุ้งซ่าน
ระดับความฟุ้งซ่าน ในแต่ละลมหายใจจะไม่เท่ากัน

บางลมหายใจที่ยาว ที่ทำให้เรามีความสุข
จะมีความคิดเบาบาง ความฟุ้งซ่านแทบจะไม่เกิดขึ้นเลย
แต่ถ้าหายใจสั้น หายใจแบบไม่รู้เนื้อรู้ตัว
อย่างนี้ ระดับความเข้มข้นของความฟุ้งซ่านจะทวีตัวขึ้นทันที
พอสังเกตแค่ความต่างไปอย่างนี้
ความฟุ้งซ่านจะกลายเป็นอุปกรณ์การเจริญสติไปโดยอัตโนมัตินะครับ

คือแทนที่จะเป็นคลื่นรบกวนเหมือนแต่เดิม
จะกลายเป็นส่วนหนึ่ง ที่ทำให้เราสามารถเห็นความไม่เที่ยง
เห็นความไม่ใช่ตัวเดิมในตัวเองได้!
__________
 
ปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน ๗ วันอธิษฐานจิตเปลี่ยนชีวิต
6 กรกฎาคม 2562

จิตจับจด ทำอย่างไร จึงจะแน่วแน่


ดังตฤณ : ลักษณะของการจับจด ก็มาจากการที่
เราเอาแน่เอานอนไม่ได้ จากการตกลงกับตัวเองนะครับ

ตกลงกับตัวเองว่า วันนี้จะตื่นเช้า
แต่พอเช้าขึ้นจริงๆ ลืมตาขึ้นมาครึ่งหนึ่ง
แล้วเกิดความรู้สึกบอกตัวเองว่า ขอผัดไปอีกหน่อย
ขอนอนต่ออีกนิดหนึ่ง สั้นๆ ตรงนี้แหละ
ที่เป็นจุดเริ่มต้นของการตกลงกับตัวเองไม่ได้

แค่ตื่นนอนไม่ได้ตามที่ตั้งใจ มีผลกับชีวิตในขั้นต่อๆ มา
โดยที่คุณไม่สามารถที่จะรู้ได้เลยนะว่าจะลุกลามไปได้ถึงขนาดไหน

เอาง่ายๆ แค่ลองตั้งใจว่า อยากจะตื่นเช้า
ก็ตื่นให้ได้จริงๆ ตามเวลาที่ต้องการ
หรือ อย่างเรามาทำสมาธิร่วมกันให้ครบเจ็ดวัน
ถ้าตั้งใจตรงนี้ได้ ก็อธิษฐานกับตัวเอง
ขอให้เลิกจับจด ขอให้มีความมั่นคง
ขอให้สามารถทำได้ อย่างนี้ จะกลายเป็นต้นทุนความสว่าง
ที่คุณรู้สึกได้ตลอดชีวิตที่เหลือเลยว่า
เราเคยผ่านการตั้งใจทำอะไรต่อเนื่องหลายๆ วัน ครบเจ็ดวันมาแล้ว

เมื่อนึกถึงทีไรคุณจะรู้สึกว่า เราผ่านความสำเร็จมาแล้ว
เป็นความสว่างอย่างใหญ่ที่ร่วมกันสร้างได้สำเร็จ กับคนจำนวนมากๆ
แล้วชีวิตที่เหลือจะเกิดความท้อแท้อะไรก็ตาม
เมื่อนึกถึงความสว่างตรงนี้ แค่นึกถึงความสว่าง
นิมิตความสว่างที่ปรากฏในใจ จะเกิดความรู้สึกว่า
เรามีพลังขึ้นมา จะเหมือนกับ เราเคยผ่านจุดนี้มา จุดที่ทำสำเร็จ
แล้วทำไมความสำเร็จอื่นๆ ในทางโลกจะสำเร็จตามมาไม่ได้
เพราะความสำเร็จในทางธรรม
เป็นความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ครอบชีวิตอยู่แล้ว!
_________
  

คำถามเต็ม: 

จิตจับจด ทำอย่างไร จึงจะแน่วแน่ครับ ? มันส่งผลถึงชีวิตที่จับจด มาตั้งแต่เด็ก?

ปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน ๗ วันอธิษฐานจิตเปลี่ยนชีวิต
6 กรกฎาคม 2562