วันพฤหัสบดีที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

รำคาญตัวเองที่เจริญสติไม่ได้เสียที

ผู้ถาม -- พอดีว่ามีข้อสงสัยหลายข้อสำหรับวันนี้เหมือนกันค่ะ แต่ว่า เดี๋ยวเล่านิดหนึ่งก่อนว่าก็ตามดูสภาวะมา ก็เห็นบ้างไม่เห็นบ้าง แต่ก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าตัวโมหะคืออะไร รู้แต่ว่าตอนนี้ เวลาที่เจอมีเหตุการณ์ที่เราทุกข์หนักๆ เราก็จะเห็นชัดเจน แต่ทุกวันนี้คือรู้สึกมันยุกยิกๆอยู่ทุกวินาที

รับฟังทางยูทูบ :   https://youtu.be/9g3PvJiB6Cg
ดังตฤณวิสัชนา ๒๕๕๖ ครั้งที่ ๑๖
การเจริญสติในชีวิตประจำวันแบบฆราวาส
๑๒ ต.ค. ๒๕๕๖ที่ณัฐชญาคลินิก
 

ดังตฤณ: 
ตรงที่มันยุกยิกนี่นะ มันมาจากพื้นของเราที่เป็นคนหงุดหงิดง่าย แล้วก็ออกจะ.. เหมือนกับแล่นตามอารมณ์ จิตของเรานี่แล่นตามอารมณ์ได้ไว นี่อย่างตอนนี้ พอฟังพี่พูดอยู่ เราจะรู้สึกเหมือน เหมือนใจมันคลายออกมาจากอาการเคยชินแบบเดิมๆ

ผู้ถาม -- มันไม่ได้รู้สึกว่า คลายเต็มที่

ดังตฤณ: 
มันคลาย มันคลายบ้าง คือเวลาที่เราสังเกต เราอย่าไปคาดหวังว่ามันจะคลายออกมาเต็มที่ ตอนที่พี่ชี้ให้ดูว่ามันคลายนี่

จะคลายครึ่งเดียว หรือคลายนิดเดียว
มันคืออาการคลาย มันคืออาการต่างไป
เมื่อเราเห็นอาการต่างไปอยู่เรื่อยๆ
มันจะรู้สึกว่า
เออนี่ มีอะไรอย่างหนึ่ง
แสดงความไม่เที่ยงให้เราเห็นได้
คือมันจะค่อยๆเกิดความรู้สึก
เชื่อขึ้นมาว่าเราสามารถเห็นได้


นี่ที่ผ่านมานี่ ด้วยความที่เราเป็นพวกโทสะจริต มันจะพร้อมจะหงุดหงิดแม้กระทั่งตัวเอง พอเราทำไม่ได้ พอเราเห็นไม่เป็น อารมณ์หงุดหงิดมันเข้ามาแทรกแล้ว มันเข้ามาสกัดกั้น มันเหมือนมีอาการเตะสกัดดาวรุ่งน่ะ นึกออกไหม คือ นี่มันจะกำลังเหินขึ้น เชิดหัวขึ้นอยู่ดีๆ เรามาเตะสกัดตัวเอง โอ๊ย! ทำไม่ได้หรอก โอ๊ยมันทำไม่ไม่เวิร์ก ทำไมมันอย่างโน้น ทำไมมันอย่างนี้ มันชอบมีความคิดชนิดที่หงุดหงิดเข้ามาแทรก เข้ามาทำให้ เข้ามาซ้ำเติมให้เรารู้สึกเชื่อว่า นี่ทำไปก็ล้มเหลว ไม่มีอะไรดีขึ้นสักที

ผู้ถาม -- คือคิดน้อยลง พยายามไม่คิด แต่ว่ามัน...

ดังตฤณ: 
แต่มันมีความคิดชนิดนี้ขึ้นมาอีกใช่ไหม

ผู้ถาม -- มัน มันยุกยิก

ดังตฤณ: 
เออ นั่นแหละ

ผู้ถาม -- ตลอดเวลา

ดังตฤณ: 
วิธีที่ถูกต้องนะ
เราต้องบอกตัวเองว่า
มันจะมีอารมณ์ยุกยิกแบบนี้มา
เพื่อให้ดู เพื่อให้เรียนรู้ว่า
นี่คือตัวเราที่สั่งสมมา
คือสิ่งที่เราสั่งสมมา
ด้วยกรรม ทั้งทางใจ ทั้งคำพูด


ทุกวันนี้นี่ บางทีมันเหมือน เรารำคาญตัวเอง ในเวลาปกติที่ไม่ได้คิดว่าเจริญสตินะ พอเรารำคาญตัวเองขึ้นมานี่ เราเหมือนกับคนที่หาทางออกไม่เจอ เหมือนกับอยู่ในห้องที่ไม่มีประตู พอเรามองไปแล้วไม่เห็นประตูนี่ เรายิ่งเกิดความรู้สึกงุ่นง่าน

ทีนี้จริงๆแล้ว ถ้าเราแค่ยอมรับว่าห้องนั้นเป็นสภาพชั่วคราว แป๊บหนึ่งเดี๋ยวผนังทั้งสี่ด้านก็เปิดออก เปิดออกเอง แต่ขอให้เรามีความสามารถที่จะยอมรับ ว่าเรากำลังอยู่ในห้องๆหนึ่งให้ได้ก่อน เข้าใจไหม คือต้องยอมรับให้ได้ก่อนว่านี่ มันจะมีอารมณ์ยุกยิกๆ เกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ถ้ายอมรับตรงนี้ไม่ได้ มันก็จะหงุดหงิดร่ำไป แต่ถ้ายอมรับได้ มันจะกลายเป็นเครื่องมือเจริญสติ

พอยท์ของพี่คือตรงนี้นะ
ถ้าน้องสามารถมองได้ว่า
มันมีอะไรยุกยิกๆอยู่ตลอดเวลา
แล้วมันหลีกเลี่ยงไม่ได้
ใจมันจะเบาลงไปครึ่งหนึ่งแล้ว
!

มันจะรู้สึก เออ นี่แหละ สิ่งที่จะต้องเผชิญ นี่แหละคือสิ่งที่เราจะเอามาเป็นเครื่องมือในการฝึกเจริญสติ นี่ดูความเบาที่มันเกิดขึ้น ตรงนี้มันไม่ได้คลายออกหมด แต่อย่างน้อยมันเบาให้เห็น

เบา อันเกิดจากการเลิกยึด
ว่าจะต้องได้อาการที่มันโล่งโถง
หรือว่าเป็นอิสระหมดจด

เบา อันเกิดจากการเลิกคาดหวัง
ว่าจะไม่ต้องยุกยิกสักที

ตัวความคาดหวังนั่นแหละ คือ
ตัวที่ทำให้มันเกิดอาการ
ตัวเลี้ยงอาการยุกยิกไว้นะ

ผู้ถาม -- ก็น่าจะถูกต้อง เพราะว่าจริงๆ อาการแบบนี้ จะเกิดประมาณว่าเราต้องตัดสินใจ อะไรอย่างนี้ คิดว่าเป็นคนที่ยึดแล้วก็คาดหวังลึกๆ  ทั้งๆที่พยายามทำ ความคิดว่าปล่อย ปล่อยไปตามนั้นแล้ว ก็ยังเป็น

ดังตฤณ: 
ตอนที่น้องบอกว่า พยายามปล่อยนะ มันเป็นการแกล้ง คือเหมือนสั่งตัวเอง บอกว่า  ปล่อยไปเถอะ แต่ใจจริงๆ มันยังไม่ได้ปล่อย คือมันคล้ายๆ สั่งตัวเองเฉยๆ เหมือนกับเจ้านายสั่งลูกน้องน่ะ ว่า เฮ้ย นี่ปล่อย ปล่อยทิ้งไปสิ นี่เห็นอยู่ชัดๆ ว่ามือของลูกน้องยังปล่อยไม่ได้ มันมีโซ่ มีอะไรล่ามอยู่ แต่ไปสั่งให้ปล่อยเสีย พูดง่ายๆ ว่าสั่งในสิ่งที่มันทำไม่ได้! มันเห็นอยู่ตั้งแต่แรกแล้ว ทีนี้ถ้าหากว่าเรายอมรับตามจริง เออ มันยังมีโซ่ล่ามอยู่ มันยังตัดไม่ได้ในตอนนี้ ก็แค่ไม่ต้องยกขึ้นมาได้ไหม ไม่ต้องแบกขึ้นมาเหนือหัวให้มันเสียกำลังเปล่าได้ไหม 

ผู้ถาม -- งั้นก็คือ เป็นไกด์ไลน์เดียวเลยใช่ไหมคะ เพราะคือหลายๆเรื่องที่รู้ตัวเลยว่าสู้กันกับจิตอยู่  หลายๆเรื่อง คือเราคิด คิด หัวสมองคิดว่า เฮ้ย ทางนี้น่าอาจดพราะศึกษาอะไรมาหลายสิ่ง มันก็เลยกลายเป็นว่า สมองมันคิดให้ต้องเดินทางหนึ่ง แต่จิตต้องอีกทางหนึ่ง แล้วมันเหมือน สู้กันน่ะ แล้วก็จะยิ่ง โทสะ

ดังตฤณ: 
เรามอง เรามองย้อนกลับไปนะ ว่าสิ่งหนึ่งที่ทำให้เราเป็นทุกข์นี่ คือวิธีที่เราคิด สิ่งหนึ่งที่เป็นศัตรูของเรามาตลอดก็คือตัวของเราเอง บางทีนี่ มันตั้งตนเป็นคู่ต่อสู้ของตัวเอง บางทีในเรื่องไม่เป็นเรื่องนะ เราสามารถทะเลาะกับใคร ในเรื่องที่ บางทีเห็นว่ามีเหตุผล แต่บางทีไม่มีเหตุผลเราก็อยากทะเลาะ เหมือนกัน

ตัวของเราเองในเวลาที่มันย้อนกลับมา เรื่องไม่เป็นเรื่องบางทีก็ทะเลาะกับตัวเอง ตกลงใจไม่ได้ สังเกตตอนที่ตกลงใจไม่ได้ มันจะเหมือนทะเลาะตบตีกับตัวเองอยู่ข้างใน นอนไม่หลับ คือคิดอะไรไม่ออกว่า นี่เราอยู่ข้างไหนกันแน่

ลักษณะแบบนั้นนี่นะ มันแสดงให้เห็นว่า สิ่งที่เป็นวิธีคิดของเรานี่ กระบวนการวิธีคิดของเรามันผิด ถ้าเรามองอย่างนี้ให้ได้ก่อน มันจะเริ่มเข้าสู่กระบวนการคิดอีกแบบหนึ่ง คิดว่า เออ ตอนนี้เราฝึกเจริญสติ เรายอมรับได้ไหม ว่ามันเกิดภาวะยุกยิกขึ้นมา เกิดภาวะเหมือนกับ เกิดการแบ่งข้างทะเลาะกันเอง จากข้างใน เรามีมุมมองแบบนี้ได้ สติมันจะได้มีทิศทางไง

เวลาที่เกิดภาวะอย่างที่ว่าขึ้นมานี่ อย่างน้อยที่สุดเรายอมรับได้แล้วว่า เออ มันเกิดภาวะอย่างนี้ขึ้นมา เกิดภาวะยุกยิก จากนั้นเราจะได้สังเกตต่อว่าภาวะยุกยิกน่ะ ถ้าเราสามารถยอมรับมันได้ มันอ่อนกำลังลงไหม ถ้าอ่อนกำลังลง ไม่ต้องไปดีใจนะ เพราะเดี๋ยวมันจะกลับมีกำลังขึ้นมาใหม่ แล้วพอมันมีอาการเด้ง เด้งแรงขึ้นมา ก็ไม่ต้องไปเสียใจ คือเราเฝ้าดูต่อไปในแต่ละลมหายใจ ดูเป็นแบ็คกราวน์นะ

ดูลมหายใจเป็นแบ็คกราวน์
ว่าแต่ละลมหายใจนี่
อาการยุกยิกตรงนั้น
มันเพิ่มขึ้น หรือว่า ลดลง
ได้นานแค่ไหน

ผู้ถาม -- ตลอด แต่ว่าแต่ละครั้งยังสังเกตไม่ออกว่า สั้นหรือยาวหรือว่าอะไร หรือว่าวันๆ หนึ่งความรู้สึกเปลี่ยนเยอะมาก  จนบางครั้งก็

ดังตฤณ: 
ต้องฝึก

ผู้ถาม -- จนบางครั้งก็คือ สับสนว่า ตกลงจะตามใจหรือเปล่า เพราะบางทีเราก็รู้สึกว่า  มีทั้งความรู้สึก แล้วก็พฤติกรรมที่ไม่ใช่เราทั้งสองสิ่ง แล้วบางทีก็ปล่อยเล่น ปล่อยให้เค้าเล่นไปกับอารมณ์ พฤติกรรมที่แสดงออกมา ปล่อยให้เล่นไปกับอารมณ์ จนรู้สึกว่าใกล้จะเพี้ยนแล้ว

ดังตฤณ: 
ที่ผ่านมานี่ เราดูไม่ถูกนะ คือตอนที่เราให้ความร่วมมือกับมันนี่ ก็เป็นการส่งเสริมให้กำลังของมันมีมากขึ้น แต่ตอนที่เราบอกว่า ปล่อยให้มันเล่นให้ดูนี่ นั่นมันคือการที่ เหมือนกับไม่มีเครื่องสังเกตว่าเราจะดูอะไร เข้าใจพอยท์ไหม คือ ถ้าหากว่า เราปล่อยให้มันเกิดอะไรขึ้นก็ได้ โดยไม่มีจุดหมายปลายทาง ในที่สุดแล้วนี่มันจะเข้าไปอยู่ในอารมณ์ฟุ้งซ่านแบบไม่รู้จบ

ผู้ถาม -- คิดว่า ตอนนี้ กำลังจะเป็นแบบนั้น เพราะว่า แม้กระทั่งหลับ จิตก็คือไปคิดด้วย ที่นี้ ยิ่งตื่นมายิ่งติดมากับหัวเลย

ดังตฤณ: 
เอาล่ะ สรุปง่ายๆ เดี๋ยวจะลืมที่พี่บอกนะ คือว่า ถ้าเกิดอารมณ์ยุกยิกขึ้นมา เกิดความรู้สึกขัดแย้งกับตัวเองขึ้นมา ให้สังเกตเลยนี่  ลมหายใจนี้ มันแรงแค่ไหน ยอมรับให้ได้ว่ามันแรงแค่นี้ ลองอีกลมหายใจหนึ่ง มันอ่อนลงหรือว่ามันทวีขึ้นมา เวลาทวีขึ้นมานี่ สังเกตง่ายๆนะ มันจะรู้สึกเหมือนทนไม่ได้ แต่เวลาที่มันอ่อนกำลังลง เราจะรู้สึกว่ามีความสุขขึ้น

ผู้ถาม -- ถ้าเกิดรู้สึกยุกยิกให้มาจับที่ลมหายใจ

ดังตฤณ: 
ให้ใช้ลมหายใจเป็นเครื่องสังเกตว่า
ลมหายใจนี้ มันเกิดความยุกยิกแค่นี้
คือ อย่าเพ่งเข้ามาที่ลมหายใจนะ
เพราะเราจะยิ่งอึดอัด

แต่ว่านี่ ให้หายใจทีหนึ่ง แล้วบอกว่า
นี่ตรงนี้นะ ยอมรับว่ามันกำลังยุกยิก
มันกำลังกระสับกระส่ายเหมือนจะทนไม่ได้

แล้วรอ รอเฉยๆน่ะ
เข้าใจคำว่ารอเฉยๆไหม
คือไม่ได้ไปทำอะไรกับมัน

แต่พอมันจะหายใจอีกทีหนึ่ง
นั่น ตรงนั้นเป็นเครื่องเตือนแล้ว
เหมือนมีสัญญาณเตือนว่า
ให้สังเกตเข้ามาใหม่ว่า
มันมีอารมณ์เหมือนจะทนไม่ได้
หรือว่ามันมีความรู้สึกว่า
มีความสุขมากขึ้น


นี่
! ตัวนี้แหละ ที่มันจะเป็นตัววัดว่า
อ่อนกำลังลง หรือว่า มันมีความเข้มข้นขึ้น

ผู้ถาม -- คือสรุปก็คือ  ก็ต้องหยุดสักพักหนึ่ง ถูกหรือเปล่าคะ เพราะว่าปกติก็จะปล่อยไปดู แล้วก็ยังทำพฤติกรรมอื่นไป อย่างขับรถ  ก็ยังดู ก็ยังเห็นว่ายังยุกยิกๆ ก็คือแต่เราก็จะขับรถไป แต่สักพัก ถ้าเกิดว่า เกิดเราแบบไปฟังเพลงอย่างอื่นขึ้นมาอารมณ์ก็เปลี่ยน เลย เลยมันก็เลยเปลี่ยนไปตามสิ่งที่มันเข้ามา

ดังตฤณ: 
อย่างนั้นก็ได้เหมือนกัน เพียงแต่ว่า ถ้าน้องทำแบบนั้นนี่  บางทีมันจะทอดระยะยาวเกิน คือมันจะทิ้งช่วงยาวเกิน แต่ถ้ามันสังเกตอยู่ในแต่ละลมหายใจนี่ อย่างน้อยที่สุดเราบอกได้ว่า มันไม่นานเกิน มันมีอะไรเข้ามาให้ระลึกอยู่เรื่อยๆ แน่ๆ อย่างเวลาที่มันเปลี่ยนตามอารมณ์กระทบนี่ เราเอาแน่เอานอนไม่ได้ไง ว่าจะให้อะไรมากระทบ เวลาไหน แต่อย่างลมหายใจนี่ มันไม่เกินครึ่งนาทีแน่ๆ เราได้สังเกตทุกครึ่งนาทีแน่ๆนะ

ผู้ถาม -- ทีนี้มีข้อสงสัยอีก คือบางทีเราก็จะรู้สึกถึงคลื่นอะไรบางอย่าง ความเบื่อ หรืออะไรเป็นความรู้สึกที่เหมือนกับผ่านออกจากข้างนอก มันไม่ได้เกิดจากข้างใน

ดังตฤณ: 
อย่าไปเชื่อ อย่าไปเชื่อมัน ไม่ต้องไปสงสัย คือประเภทว่ามันเป็นคลื่นมาจากข้างนอกหรืออะไรนี่ สำหรับบางคนอาจจะสังเกตได้ แต่ของเราถ้าขืนไปสังเกตแบบนั้นนะมันฟุ้งซ่านตายเลย

ผู้ถาม -- คือปกติ ทุกวันจะแบบ คือ จะไม่เคยรู้สึกอะไรนะคะ แต่อยู่ๆ บางที ก็นานๆที มันจะโชยขึ้นมา เลยไม่รู้ว่า  นั่นคือ เป็นความเบื่อของเรา หรือว่า...

ดังตฤณ: 
คือ คือนี่ประเด็นที่พี่พูดอยู่ตรงนี้  อย่าไปทำความรู้สึกสังเกตว่ามันมาจากข้างนอก หรือมันเกิดขึ้นจากข้างใน ให้ แปะป้ายไว้เสมอว่ากันว่า นี่คือความปรุงแต่งของจิต มันเป็นอันเดียวกันนั่นแหละ ของจริงแน่ๆ เป็นของปรุงแต่งจิตแน่ๆ

ผู้ถาม -- ซึ่งเกิดจากจิตเรา?

ดังตฤณ: 
ไม่ว่าจะเกิดจากข้างนอกหรือข้างใน คืออย่าไปสนใจ ว่านั่นเป็นของข้างนอกหรือของข้างใน ภาวะของเรายังไม่พร้อมที่จะรู้ ที่จะแยกแยะว่านั่นเป็นข้างนอกหรือข้างใน แต่มีความพร้อมเสมอที่จะเห็นว่า มันเป็นของปรุงแต่งจิต เป็นสภาวะปรุงแต่งจิต

ผู้ถาม -- คือก็ยังแยกไม่ออกค่ะพี่ตุลย์ว่า จิตปรุงแต่งจิตหรือเปล่า คือแยกไม่ออก

ดังตฤณ: 
อย่าไปแยก ท่องไว้คำเดียวเลยว่า นี่คือความปรุงแต่งจิต พอท่องไว้อย่างนี้ แปะป้ายไว้อย่างนี้นี่ มันจะไม่สนใจอะไรอย่างอื่นแล้ว เป็นของปรุงแต่งจิตแน่ๆ แม้แต่ที่พระพุทธเจ้าให้ดูอายตนบรรพ เวลาที่มีรูปมากระทบตา ท่านก็ให้มองว่า รูปกระทบนั้นมันปรุงแต่งให้เกิดอาการยึดแบบไหน มันปรุงแต่งให้เกิดสังโยชน์อย่างไร นี่แสดงให้เห็นว่า กระทั่งรูปชัดๆ เลยนะ ว่าเป็นของกระทบภายนอกนะ กระทบแล้วท่านก็ให้มาดูที่นี่ ไม่ใช่มามัวแยกแยะอยู่ด้วยความสงสัยว่า มันมาจากภายนอกหรือว่าเราคิดขึ้นมาเอง ขอให้มองเถอะว่ามันปรุงแต่งจิตแน่ๆ


ผู้ถาม --  ยังมีคำถาม เคยมาครั้งหนึ่งแล้ว  อันนั้นมาเพื่อแบบถาม คำถามว่าจะ คล้ายๆดัดนิสัยตัวเอง มีลักษณะก้าวร้าวนิดๆ ทีนี้พี่ตุลย์ให้ไปดูเรื่องของจิตที่บิดเบี้ยว คือ ปกติดูไม่ออกอยู่แล้ว ไม่เห็นของความเป็นรูป ว่ามันตรงหรือมันบิดเบี้ยว มันไม่เหมือนตอนที่ตุลย์พาดู ใช่ไหมคะ มันเหมือนจะมองเห็นจากตรงนี้ แต่ว่า เอ่อ เลยไม่แน่ใจว่าจริงๆแล้วมันต้องเห็นจากกลางตรงนี้หรือตรงนี้ เพราะรู้สึก จะมีการแยกแยะอยู่สองอย่าง คือ ตรงนี้มันโล่งขึ้น สว่างขึ้น กับมันไม่ได้เห็นเป็นแสงสว่าง แต่รู้สึกว่า มันโปร่งขึ้นเฉยๆ จากข้างใน

ดังตฤณ: 
งั้นจำคีย์เวิร์ดใหม่นะ อย่าพยายามแยกแยะว่ามาจากตรงไหน อย่าพยายามแยกแยะว่ามันจะต้องดูออกมาจากจิตแบบใด ให้เอาความรู้สึกในปัจจุบันเป็นตัวตั้ง อย่างถ้าเป็นความรู้สึกว่าสับสนอยู่ หาที่ตั้งไม่ถูก ก็ให้เอาตรงนั้นแหละเป็นจุดเริ่มต้น เรารู้สึกเคว้งๆงงๆอยู่ ก็ให้เอาความเคว้งๆงงๆนั่นแหละ เป็นที่ตั้งของสติ เป็นจุดแรกที่จะเห็นจริงๆ

ถ้าหากว่ารู้สึกอย่างไรอยู่ ไม่ต้องไปปรุงแต่งเพิ่ม แต่ให้มองว่านั่นแหละคือก้าวแรกของเรา นี่อย่างตอนนี้ มันเหมือนยังครึ่งๆกลางๆ เราก็เอาความครึ่งๆกลางๆ นี่เป็นตัวแรก นี่เห็นไหม พอรู้สึกถึงความครึ่งๆ กลางๆ มันชัดขึ้น มันชัดขึ้นมานิดหนึ่ง พอยอมรับว่ามันครึ่งๆ กลางๆ เมื่อกี้ตอนที่น้องยอมรับว่ามันครึ่งๆ กลางๆ มันชัดขึ้นมานิดหนึ่ง นี่ตัวนี้เรียกว่าเอาจุดที่มันกำลังเป็นภาวะปัจจุบัน เป็นภาวะปรากฏเด่น เป็นตัวตั้ง ไม่ใช่ไปพยายามคิด

ที่น้องถามมาทั้งหมดนี่ มันคือวิธีคิด ว่าเราจะต้องทำอย่างไร ออกมาจากตรงไหน พยายามหาความเข้าใจ เอาให้ได้ แต่ที่พี่บอกก็คือว่า กำลังรู้สึกอย่างไรให้เอาความรู้สึกนั้นแหละเป็นตัวตั้ง อย่าไปเอาอะไรอย่างอื่นมาเป็นตัวตั้ง เพราะมันจะทำให้เราฟุ้งซ่านไปเปล่าๆ

ผู้ถาม -- ที่บอกว่าภาวะบิดเบี้ยวนี่คือ หนูไม่ได้ให้พี่ตุลย์พาดูนะ ตอนที่พาดูมันน่ะ มันมองเห็นใช่เปล่า แต่พอกลับไป ก็คือบางที ก็คือเกิดขึ้นมาเอง เราก็รู้สึกเองว่าเราต้องรู้สึกอยู่ตรงนี้เหมือนเป็นแท่งอะไรสักอย่างแล้วดัด

ดังตฤณ: 
เอาอย่างนี้ พี่เปลี่ยนคำพูดใหม่แล้วกัน เอาความรู้สึกแบบเราก็แล้วกัน ตอนที่เราใช้คำว่ายุกยิกนั่นแหละคือบิดเบี้ยว ลืมคำว่าบิดเบี้ยวไปซะ เหลือแต่คำว่ายุกยิกคำเดียวพอนะ

ผู้ถาม -- อ๋อ ค่ะ

ดังตฤณ: 
ตรงที่รู้สึกว่ายุกยิกนั่นแหละ ที่พี่พูดถึง คือมุมมองเรามัน บางทีมันต่างกัน

ผู้ถาม -- มันเป็นความรู้สึก

ดังตฤณ: 
ของเรามันเป็นความรู้สึกอย่างหนึ่ง ของพี่มันเห็นไปอย่างหนึ่ง

ผู้ถาม -- ทีนี้ เมื่อกี้สงสัยอีกแล้ว ที่มีจิตมืดกับจิตสว่าง ทำไมถึง

ดังตฤณ: 
ตอนที่พี่พูดกับคนอื่นน่ะเหรอ

ผู้ถาม -- ใช่ๆๆ ทำไมหนู  หนูไม่เคยรู้สึกว่า  อันไหนมันคือสว่าง หรือ คือไม่แน่ใจว่าทุกวันนี้ที่เห็นอยู่มันถูกหรือเปล่า คือกระทั่งจิตสว่าง, จิตมืดยังแยกไม่ได้

ดังตฤณ: 
ไม่ใช่ มันไม่ใช่ว่าเราต้องไปเห็นสว่างกับมืดให้ได้เสียก่อน เราต้องเห็นภาวะที่กำลังปรากฏชัดอยู่ในเราให้ได้เสียก่อน อย่างของน้องใช้คำว่ายุกยิกนี่ มันเป็นสิ่งที่ตรงใจน้องที่สุดแล้ว มันเป็นประสบการณ์ตรงที่เรารู้สึกอยู่ด้วยตัวเอง

อันนั้นถ้าหากว่า เรามองเห็นได้ นั่นดีกว่าไปพยายามเห็นความแตกต่างระหว่างสว่างกับมืด ถ้าไม่เห็นความสว่างเลย แต่เห็นอาการยุกยิกอยู่เรื่อยๆ ในที่สุดมันจะสว่างขึ้นมาเอง แต่ถ้านี่ อย่างตอนนี้ มันสว่างขึ้นมาวาบหนึ่ง เมื่อกี้ตอนที่เรารู้สึกคลาย นั่นแหละเรียกว่าสว่าง แต่มันคลายอยู่แป๊บเดียวมันกลับมาสงสัยใหม่ เห็นไหม ตัวนี้ ที่ทำให้เรายังไม่สามารถแยกแยะได้ว่า  ระหว่างสว่างกับมืดมันต่างกันอย่างไร

ทีนี้ถ้า ตัวยุกยิกมันถูกเห็นได้เรื่อยๆว่า นี่มันยุกยิกมาก ลมหายใจต่อมามันยุกยิกน้อยลง เดี๋ยวมันเข้มขึ้นมาอีกแล้ว เดี๋ยวมันมากขึ้นมาอีกแล้ว เดี๋ยวมันก็กลับลดลงไปอีก เห็นไปเรื่อยๆ  จนกระทั่งรู้สึกว่า ใจเย็นที่จะเห็น ไม่ใจร้อนแล้ว ไม่มีอาการเร่งร้อนแล้ว ไม่มีอาการรีบที่จะเอาให้ได้ว่า เราจะต้องหายฟุ้งซ่าน หายยุกยิกเดี๋ยวนี้ ตัวนั้นแหละที่มันจะเกิดความรู้สึกขึ้นมาแบบหนึ่ง อ๋อ คำว่าสว่างนี่ มันไม่ได้สว่างเป็นนีออนอย่างนี้นะ แต่มันรู้สึกสว่าง สว่างขึ้น มันโล่งขึ้น มันเหมือนเดินผ่านออกมาจากป่ารก แล้วออกทุ่งโล่ง ที่มันรู้สึกสบายขึ้น ปลอดโปร่งขึ้น

ที่ผ่านมานี่ เราอยู่ในป่ารกมา จนกระทั่งรู้สึกเหมือนกับไม่เข้าใจว่าทุ่งโล่งมันเป็นอย่างไร แต่จริงๆ ก็เข้าใจขึ้นมาเป็นวูบๆ นี่อย่างตอนนี้ ตอนที่เราพยักหน้านี่ นั่นก็คือทุ่งโล่งน้อยๆ แล้วมันจะได้ผ่านทุ่งโล่งแบบนี้อีกเรื่อยๆ ถ้าหากว่าเราสังเกตอย่างที่พี่บอก ว่าภาวะของเรานี่ยุกยิกนี่มันไม่เท่าเดิม มันต่างไปเรื่อยๆ

มันก็ใช้กำลังในการที่จะสวนทางกับกระแสแบบเดิมๆไง ของแบบเดิมๆนี่ จะเอาอย่างใจให้ได้ แต่ตอนนี้ มันเหมือนกับเริ่มมาศึกษากันใหม่ว่า ที่จะเอาอย่างใจให้ได้นี่ มันไม่ใช่ มันต้องค่อยๆเป็น ค่อยๆไป ซึ่งตรงนี้มันสวนทางกับตัวตนแบบเดิมไง มันก็เลยเหมือนกับว่า เพื่อที่จะล้มล้าง เพื่อที่จะโค่นอำนาจ ตัวตนแบบเดิมๆนี่ มันต้องออกแรง อันนี้เป็นธรรมดา

เวลาที่เราจะเปลี่ยนแปลงตัวเองนะ บางทีเราจะรู้สึกเหนื่อย อยู่ๆ มันเหนื่อยอ่อนขึ้นมาเฉยๆ ไม่รู้มันเหนื่อยไปตอนไหน ตอนที่เราไม่ปล่อยให้อะไรๆ มันเป็นไปตามอารมณ์แบบเดิมๆนั่นแหละ ตอนนั้นนี่มันว่ายน้ำทวนกระแสแล้ว

เวลาเราว่ายน้ำทวนกระแส
มันเกิดการออกแรงทางร่างกายอย่างไร
การที่เราทวนกระแสตัวตนแบบเดิมๆ
อาการทางใจแบบเดิมๆ
ก็ต้องออกแรงทำนองเดียวกันแบบนั้นนะ

วันอังคารที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

หมดแรงแล้วจริงๆกับภาระทางโลก อยากนิพพาน

ถาม : ภาวนามาสักระยะหนึ่งแล้ว รู้สึกว่าตัวเองก็ตั้งใจอยู่ แต่ช่วงนี้มันหมดเรี่ยวหมดแรง งานทางโลกมันเยอะจนไม่ไหว รู้สึกว่าไม่ค่อยมีพลัง

รับฟังทางยูทูบ :  https://youtu.be/TJclBXD65Sc
ดังตฤณวิสัชนา ๒๕๕๖ ครั้งที่ ๑๖
การเจริญสติในชีวิตประจำวันแบบฆราวาส
๑๒ ต.ค. ๒๕๕๖ที่ณัฐชญาคลินิก
 

ดังตฤณ: 
เข้าใจๆ  คือบางทีพอทำงานอะไรไปบางอย่างที่มันเป็นรูทีน (routine) มากๆ มันเหมือนกับไม่มีอะไรให้ทำต่อ ไม่มีอะไรท้าทาย หรือมันท้าทายเสียจนกระทั่งเราหมดแรงสู้ มันเหมือนรบมาแล้วไม่รู้กี่ร้อยยก แล้วก็มันต้องเริ่มยกใหม่ไปเรื่อยๆ  ไม่มีให้พักหายใจหายคอ คือ..

จำเป็นที่จะต้องออกมาจากโหมดทำงาน
จำเป็นมากช่วงนี้นะ
เพราะถ้ายังอยู่ในโหมดทำงานไปเรื่อยๆ
คราวนี้มันจะเริ่มฟรีซ (freeze) แล้ว

นี่มันเกือบฟรีซแล้ว มันเหมือนกับทำๆ ไปแล้วอยากหยุดไปเฉยๆ  
คือไม่ใช่ใจอยากหยุดนะ มือไม้มันจะหยุดเอา มันคล้ายๆ ไม่มีแรงขับดันออกมาจากข้างในแล้วว่าจะทำต่อไปเพื่ออะไร

การออกจากโหมดทำงาน ไม่ได้หมายถึงการไปเที่ยวอย่างเดียว แม้แต่การเจริญสติบางทีมันก็ไม่ได้ช่วยเราถอนจิตออกมาจากโหมดทำงานนะ

ของคุณเนี่ย...พอเจริญสติไป อยู่ๆ มันมีความรู้สึกแบบเดียวกับตอนทำงาน คือเจริญสติไปแล้วมันจะหยุดไปเฉยๆ  นั่นเพราะว่าโหมดทำงานมันกินพื้นที่เข้ามาในชีวิตส่วนใหญ่เกินกว่า ๙๐ เปอร์เซ็นต์ เหมือนกับมีจิตส่วนใหญ่อยู่เพื่อทำงาน 

คำแนะนำที่ดีที่สุดคือ ต้องหาอะไรสักอย่างหนึ่ง
ที่เป็นกิจกรรมที่จะถอนจิตเรา
ออกมาจากโหมดทำงานให้ได้ทุกวัน
เช่น เล่นโยคะ
 

แม้แต่อย่างดูหนัง จิตก็ไม่ยอมดู คือมันดูไปอย่างนั้นเอง บางทีถึงแม้ว่าจะไม่คิดงานแต่ว่าจิตก็อยู่ในโหมดทำงานต่อ เหมือนกับไม่ถอนออกมาจากโหมดทำงาน อย่างโยคะผมว่าน่าจะช่วยได้เพราะว่ามันได้ขยับร่างกาย แล้วมันได้ทำท่าทำทางอะไรที่มันแตกต่างไปจากชีวิตประจำวัน การบิดตัว การยืดเส้นยืดสาย  ของคุณนะมันน่าจะช่วยได้

ถ้าดูกิจกรรมทั่วไปแทบจะช่วยไม่ได้เลยนะ มันเหมือนอยู่ในโหมดทำงานตลอด คือตอนทำงานมันต้องอยู่กับเอกสาร ต้องคุยกับคนเยอะด้วยใช่ไหม? ต้องคุยโน่นคุยนี่ แล้วพอเริ่มขยับไปคุยกับใครปุ๊บเนี่ย..มันจะเคยชินอยู่กับอาการแบบเดิม ผลิตความคิด ผลิตคำพูดแบบเดิมๆ ออกมา เพราะฉะนั้นมันต้องหาอะไรที่มันแตกต่างไปอย่างสิ้นเชิง อย่างผมนึกให้ได้ยกตัวอย่างขึ้นมานี่ก็คือ โยคะ มันได้ทำท่าทำทางอะไรที่มันผิดไปจากเดิม ต่างไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง

ให้คำแนะนำกว้างๆ นะ
ต้องแตกต่างอย่างสิ้นเชิง
มีการขยับที่มันไม่เหมือนเดิม
แล้วตรงนี้จะดีขึ้น
 

เพราะเหมือนกับเริ่มต้นชีวิตเนี่ยมันเริ่มด้วยความรู้สึกว่า เรียนมากๆ ทำงานมากๆ แล้วมันจะดี จนความเคยชินตรงนั้นมันกลายเป็นเหมือนกับเครื่องมัดใจให้ต้องอยู่กับภาวะแบบนั้น  มันเห็นการทำงานหนักเป็นของดี  แต่ตอนนี้มันเริ่มรู้สึกแล้วว่าความเชื่อนั้นมันใช้ไม่ได้ในระยะยาว  มันชักเริ่มแย่ ที่เห็นมันเห็นได้อย่างเดียวเรื่องโยคะ แต่อย่างอื่นไปหาเอาเองก็แล้วกันนะ


.. .. .. .. .. .. .. .. .. ..

ผู้ถาม : จะบรรลุธรรมระหว่างที่ทำงานหนักได้ไหมคะ?

ดังตฤณ: 
เข้าใจนะ  ตอนที่เกิดความรู้สึกเบื่อแล้วเห็นชีวิตเป็นทุกข์ ในระหว่างทำงานมันรู้สึกเบื่อมาก เป็นทุกข์มาก แล้วก็ไม่อยากเอาตรงนี้อีกแล้ว แต่ตรงนั้นมันเป็น “ทุกขเวทนา” ทางกายและทางใจ มันไม่ใช่ “นิพพิทา” มันคนละอารมณ์กัน นิพพิทาที่แท้จริงบางทีมันมีความสุขอยู่นะ จิตเปิดกว้างสว่างสบาย แต่ว่าพอมันรับรู้เข้ามาที่ความมีขันธ์ห้า รู้สึกว่านี่มีร่างกายขยับได้อยู่ มันเบื่อมันไม่เอา มันเห็นเป็นฉากลวงตา มันเห็นเหมือนแผ่นฟิล์ม มันเห็นเหมือนกับอะไรที่ เอ๊ะ มันไม่ใช่ มันของหลอกแล้วมันเบื่อ

แต่อันนี้มันเกิดความรู้สึกทุกขเวทนา เหมือนทุกขเวทนานำมาก่อน แล้วรู้สึกว่าไม่อยากเอาอีกแล้ว ไม่อยากเกิดอีกแล้ว คือมันไปรวมกัน ไปผสมกันกับธรรมะ ตอนที่รู้สึก โอ้โห ที่เคยคิดว่าเราขยันมาเนี่ย...เป็นของดี ตกลงขยันมาแล้วใครๆ ก็ทุ่มภาระมาให้เรา อะไรๆก็เรา อะไรๆก็ต้องคนนี้ มันเหมือนไม่มีคนอื่น มันเหมือนกับว่าเราใช้ชีวิตมาแบบหนึ่ง ที่ทุกคนมองเราเป็นเครื่องจักรที่ทำได้ทุกอย่าง แต่ข้างในของเรารู้ว่าเราไม่ใช่ แล้วเรายังทุกข์ได้  แต่ตรงนี้ไปบอกใคร ใครก็ไม่เชื่อ เพราะว่า เอ้า..ก็ยังเห็นทำได้อยู่นี่

บางทีคนเรามันอย่างนี้จริงๆ มองแค่ว่าเราทำได้ แต่ไม่มองว่าเรามีความทุกข์มาถึงไหนแล้ว แล้วบางทีเราเป็นคนไม่ค่อยพูดด้วย มันเหมือนพูดอยู่...แต่คนเขาไม่เชื่อ เพราะมีความรู้สึกว่าเราทำได้ เพราะฉะนั้นตรงนี้เนี่ยก็เล่นโยคะแล้วกัน หรือถ้าอยากจะเล่นวี(Wii) ก็เอา


เป็นคนเรียบง่ายจนเฉื่อย เจริญสติแล้วจม

การเคลื่อนไหวร่างกายในชีวิตประจำวัน และการเจริญสติ

ถาม : อยากให้พี่ตุลย์ช่วยแนะนำแนวทางในการเจริญสติในระหว่างวันว่า รูปแบบไหนหรือว่าเครื่องมืออะไรที่จะเหมาะสมกับตัวเราค่ะ

รับฟังทางยูทูบ :  https://youtu.be/KJDvQL1y9o0
ดังตฤณวิสัชนา ๒๕๕๖ ครั้งที่ ๑๖
การเจริญสติในชีวิตประจำวันแบบฆราวาส
๑๒ ต.ค. ๒๕๕๖ที่ณัฐชญาคลินิก
 

ดังตฤณ: 
คือของเรามันอยู่ครึ่งๆ กลางๆ ระหว่างเฉื่อยกับมีสติตื่นตัวนะ มันจะเฉื่อยก็ไม่ใช่ จะตื่นตัวก็ไม่เชิง พอจะเข้าใจไหมว่าพี่พูดถึงยังไง  

ผู้ถาม: เข้าใจค่ะ

ดังตฤณ:
ของเราเนี่ย..ถ้าจะให้นิยามว่าเฉื่อยก็ไม่ใช่ มันไม่เฉื่อยเสียทีเดียว มันก็พยายามทำโน่นทำนี่ แต่จะบอกว่ามันมีความตื่นตัวเนี่ย มันเหมือนกับในตัวของเราเอง เรารู้สึกว่ามันไม่ชัด มันไม่ได้ตื่นตัวทีเดียว มันไม่ได้ขยัน มันไม่ได้กระตือรือร้นเต็มที่ อันนั้นเกิดจากการที่ว่าเราไม่ยอมเฉื่อย เราอยากจะมีความกระตือรือร้นที่จะทำนั่นทำนี่ ความหมายทั้งงานทางโลกทั้งทางธรรมอะไรแบบเนี่ยนะ พูดง่ายๆ ว่า โดยพื้นดั้งเดิมมันเฉื่อยอยู่ แต่ใจมันไม่ยอมที่จะเฉื่อย มันเลยมีอาการครึ่งๆ กลางๆ แบบนี้

ถ้าเอาคำแนะนำแบบที่ว่า อยากก้าวหน้าในเจ็ดวันหรือหนึ่งเดือนนะ ต้องเล่นกีฬา  คือมันไม่ใช่เรื่องการปฏิบัติอย่างเดียว ไม่ใช่เรื่องว่าเราจะมีรูปแบบวิธีคิดในการทำงานอย่างไรนะ มันเหมือนขาดการออกกำลังกาย ขาดการเล่นกีฬา จิตแบบเราถ้าเล่นกีฬาเนี่ย มันถึงจะตื่นตัวขึ้นมาได้จริงๆ วิธีอื่นเราลองมาหมดแล้ว เหมือนเราทำโน่นทำนี่ พยายามที่จะปลุกตัวเองให้มันตื่นตัวอะไรขึ้นมา แต่มันไม่จริง คือร่างกายมันเหมือนจะกดไว้ มันเหมือนมีความเฉื่อยชาอยู่ตรงนั้นตลอดเวลา แต่ว่าเราไม่ยอม แค่เราไม่ยอม เราจะทำโน่นทำนี่ แล้วพอมันจะเฉื่อยขึ้นมาที..เราก็คิด จะทำงานเล็กทำงานน้อยอะไรอย่างนี้ แต่ตรงนั้นมันไม่แรงพอที่จะกระตุ้นให้เกิดความกระตือรือร้นที่แท้จริง พ้อยท์ของพี่เลยว่า ถ้าอยากเอาให้ได้ในเจ็ดวันหรือหนึ่งเดือนนะ ต้องเล่นกีฬาทุกวัน ให้เว้นได้พักได้หนึ่งฮอลิเดย์ (holiday) ต่อหนึ่งสัปดาห์

ผู้ถาม: เริ่มมาบ้างแล้ว อาจจะ -วันต่อสัปดาห์ค่ะ เพิ่งเริ่มมาสองอาทิตย์นี้

ดังตฤณ:
เล่นอะไร?

ผู้ถาม: ก็ไปเดิน แล้วก็ออกกำลังกายใช้เครื่องเล่น

ดังตฤณ:
โอ้..ไม่พอนะ พี่พูดถึงเล่นกีฬา อย่างเช่นแบดมินตัน เช่นอะไรที่มันได้เหงื่อ คือแค่เดินไม่ได้ มันน้อยเกินไป เล่นปิงปอง เล่นอะไรที่มันต้องใช้ความไวนิดหนึ่ง คือถึงจะสวนกับความต้องการโดยพื้นฐานของเรานะ ที่อยากจะทำอะไรเรียบๆง่ายๆ

ลองดู ที่มันมีสิ่งกระตุ้น กีฬามีหลายประเภท ประเภทที่ทำให้เราติดอยู่กับอาการจดๆ จ้องๆ ก็มี บางประเภทเนี่ย..มันกระตุ้นความไวของเรา แล้วเราจะรู้ตัวว่าเรามีศักยภาพที่จะไวได้มากกว่าที่เราคิดนะ ถ้าเราเล่นกับอะไรที่มันไวนิดหนึ่ง  บางทีอยู่ในกรุงเทพมันหายากอ่ะ

กีฬาที่จะไปเล่นได้ทุกวัน
แล้วก็ไปกระตุ้นให้เกิดความไว

แต่นี่เราตั้งโจทย์ไง มันเหมือนใจเราแบบอยากเห็นผลภายในเจ็ดวันภายในหนึ่งเดือนอะไรนี้ พี่ก็เลยบอกว่านี่คือคำตอบ แต่พี่ไม่รู้นะ หาโต๊ะปิงปองให้เราไม่ได้นะ คือเราต้องไปหาเอาเอง  บางทีแม้แต่พี่เอง ถ้าพี่จะเล่นอะไรมันก็ต้องหาพื้นที่เหมือนกัน แต่ถ้าทำได้มันก็คุ้ม เราจะรู้สึกเลยว่าศักยภาพข้างในของเราเนี่ย มันสามารถที่จะตื่นตัวได้มากกว่านี้หลายเท่า

ผู้ถาม: แล้วเรื่องการเจริญสติล่ะคะ

ดังตฤณ:
คือถ้าสติเรามันไม่สดชื่นขึ้นมาตามธรรมชาติ บางทีเราจะรู้สึกว่ามันยากที่จะเจริญมากไปกว่านี้ เหมือนกับเรารู้อะไร เห็นอะไรเนี่ย อารมณ์มันคอยแต่จะจม คือพอเรารู้อะไรขึ้นมาแล้วมันก็เหมือนกับจะดร็อป (drop) ลงไป

ผู้ถาม: มันเฉยๆ อย่างนี้ใช่ไหมคะ


ดังตฤณ:
ที่เรารู้สึกว่าเฉยๆ พี่เรียกว่ามันดร็อป (drop) ลงไป คือพอรู้อะไรแทนที่จะเห็นมันผ่านมาผ่านไปเนี่ย พอมันรู้ปุ๊บมันเหมือนกับเฉยๆ ทันที ใช้คำว่าเฉยก็ได้  ตรงเฉยๆ เนี่ย..ก็คือพื้นฐานของเราที่มันเฉื่อย เหมือนกับขี้เกียจจะไปยินดียินร้าย  อย่างบางทีเรามีอารมณ์ร้อนวูบขึ้นมานะ แต่พอเราดูไป มันกลายเป็นความรู้สึกเหมือนไม่รู้สึกรู้สา เหมือนกับแช่อยู่ในความรู้สึกไม่รู้สึกรู้สา ซึ่งตรงนั้นมันจะไม่พัฒนาต่อไปเป็นอาการตื่นรู้ ความรู้สึกของเรามันจะเหมือนย่ำอยู่กับที่ เหมือนไม่ไปไหน ตัวเนี้ย..พี่ถึงบอกว่า

ถ้าจะแก้จริงๆ มันต้องแก้ออกมาจากฐาน
ฐานที่มันเฉื่อยชา
ต้องหากีฬาอะไรที่มันกระตุ้นความไวสักนิดหนึ่ง
แล้วพอความเฉื่อยชามันหายไป
ความตื่นตัวที่แท้จริงมันถึงจะมา

แล้วมันถึงจะแอ็คทีฟ (
active) ขึ้นมา