วันอังคารที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

พ่อดื้อ เอาแต่ใจ ไม่แคร์ความรู้สึกลูก (ดังตฤณวิสัชนา)

ถาม : คุณพ่อใช้ชีวิตคนเดียวมาตลอดเกือบ ๒๐ ปี แต่ตอนนี้ไม่สามารถอยู่คนเดียวได้ต้องมาอยู่กับลูกๆ
แต่ท่านมีนิสัยเอาแต่ใจ ดื้อ เชื่อมั่นตัวเองสูง ไม่สนใจความรู้สึกลูก ลูกได้เล่าพฤติกรรมของพ่อให้เพื่อนฟัง เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง? จะทำอย่างไร ให้ท่านเข้าใจลูกบ้าง เราควรคิดต่อท่านอย่างไร +ทำไมจึงเป็นอย่างนี้

ดังตฤณ: 
ปัญหาทำนองนี้ไม่มีคำตอบตายตัวครับ
เพราะแนวทางการแก้ปัญหาไม่ใช่ "วิธีการแบบจำเพาะเจาะจง"
แต่เป็น "ศิลปะการใช้ใจเข้าถึงใจ"

ตามแนวทางของพรหมวิหาร ๔
คุณควร "ทำใจ" ไว้ดังนี้

) มีความคิดเมตตา ไม่ใช่หมายถึงเอ็นดูผู้หลักผู้ใหญ่เหมือนเด็กๆ
แต่หมายถึงการที่เราตั้งจิตไว้เป็นสุข ไม่ปล่อยให้จิตจมปลักอยู่กับความโกรธ
และคิดถึงท่านแต่ในทางดี เอาความจริงที่ว่าท่านคือผู้มีพระคุณสูงสุดไว้เป็นที่ตั้ง
เมื่อคิดถึงใครในทางดี เราย่อมมีแต่ความปรารถนาจะให้เขาเป็นสุข
มีความสบายใจ ไม่มีทุกข์ต้องแบก ข้อนี้คือการทำใจในระดับความคิด

๒) พูดและทำด้วยกรุณา คือทำพร้อมทั้งในขั้นพื้นฐาน
เช่นเลี้ยงดู ซื้อของใช้ หรือทำกิจธุระเล็กใหญ่ให้ท่าน
นอกจากนั้นคือใช้วาจาที่เหมาะสม
ถึงท่านเอาแต่ใจอย่างไรก็มีวาจาที่เกื้อกูล ไม่หักหาญน้ำใจตรงๆ
หากมีโอกาสชวนไปทำบุญให้ร่วมมีจิตใจเยือกเย็นด้วยกันบ้างได้ก็ดี
ข้อนี้คือการทำใจในระดับพร้อมจะส่งคำพูดและการกระทำในทางดีต่อกัน

๓) คิดยินดีในเรื่องที่ชอบที่ควร อย่าขัดคอให้เสียน้ำใจตรงๆ
ถ้าเห็นท่านพูดดีเมื่อใดก็อย่าช้า ให้ทำใจคล้อยตามและสนับสนุนทันที
สั่งสมให้มากแล้วก็เป็นปัจจัยให้จิตปรับเข้าหากันได้มากอย่างที่อาจคิดไม่ถึง
ข้อนี้คือการทำใจในระดับความคิด คำพูด และการกระทำที่คล้อยตามกันในทางดี

๔) คิดวางอุเบกขา ในจังหวะที่ไม่ทราบจะปรามท่านอย่างไร
ไม่ให้ท่านคิดผิด พูดผิด ทำผิด
ก็ให้ตั้งความคิดไว้ว่านั่นเป็นการสั่งสมนิสัยมาของท่าน
เราไม่ได้ไปช่วยท่านสั่งสมนิสัยแบบนั้นตั้งแต่เมื่อไหร่
แม้ควรสลดใจที่เห็นท่านทำจิตตัวเองหมอง
จิตเราก็ควรทรงอยู่ในสภาพวางเฉย
เพราะแม้จิตเราหมองไปกับท่านด้วย ก็ไม่ได้ช่วยให้อะไรดีขึ้นมา
แต่ถ้าใจเราวางเฉย เราจะยังคงมีสติ มีกำลังกายกำลังใจ
ที่จะเห็นแจ่มแจ้งว่าช่องทางช่วยเหลือท่านอยู่ตรงไหน
ข้อนี้คือการทำใจในระดับความคิดเป็นหลัก

เมื่อฝึกมีอุเบกขาเห็นโลกตามจริงได้พักหนึ่ง
คุณจะตอบตัวเองได้ครับว่าทุกสิ่งและทุกคนต่างมีที่มาที่ไป
กรรมที่แต่ละคนสั่งสมไว้นั่นแหละ คือกรงขังให้ใครต่อใครติดอยู่
ถ้าคุณหาทางออกจากกรงได้ ก็อาจกลับมาช่วยท่านออกจากกรงได้เช่นกัน

ถ้ายังไม่เคยอ่าน ลองอ่าน วิปัสสนานุบาล ดูนะครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น