วันอาทิตย์ที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

ยอมรับความจริงอย่างไร ถึงจะยอมรับได้จริงๆ

ถามสวัสดีครับพี่ตุลย์ ช่วงนี้คือแบบตอนนี้เห็นโลกเป็นทุกข์ อะไรๆก็เหมือนจะไร้สาระและจิตมันก็เป็นทุกข์ จิต มันไม่เป็นกลางกับสภาวะ

รับฟังทางยูทูบ :  https://youtu.be/Yq0J41vz-lM
ดังตฤณวิสัชนา ๒๕๕๖ ครั้งที่ ๑๖
การยอมรับภาวะทางใจ
๑๒ ต.ค. ๒๕๕๖ ที่ณัฐชญาคลินิก

ดังตฤณ: 
จิตของคุณ มันเหมือนมีความไม่พอใจในตัวเองอยู่ลึกๆ ตอนนี้จริงๆแล้วมันมีความพอใจมากขึ้นกว่าแต่ก่อนตั้งเยอะแล้ว อย่างเมื่อกี้เพิ่งนั่งสมาธิไป อย่างตอนนี้ถ้าพูดถึงภาวะทางใจในปัจจุบัน มันก็เหมือนมีความพอใจอยู่พอสมควร เพียงแต่ว่าเราเล่าถึงสิ่งที่ผ่านมาแล้วในอดีต  ก่อนที่จะมาเข้าห้องนี้ หรือว่าก่อนที่เราจะมีความรู้สึกว่า เออ..เข้ามาอยู่กับภาวะยอมรับ อย่างนี้เรียกว่าภาวะที่ยอมรับได้ว่า มันจะสุขก็ช่าง มันจะทุกข์ก็ช่าง แต่ก่อนหน้านี้มันยอมรับไม่ได้ คือมันดิ้นรนกระสับกระส่ายอยู่ จะไปข้างหน้าก็ไม่ได้ จะถอยข้างหลังก็ไม่ได้ จะอยู่กับที่มันก็รู้สึกกระสับกระส่าย จำไว้ว่า ตัวความไม่พอใจ มันเป็นขั้วตรงข้ามกันกับ ความสามารถในการยอมรับ

ถ้าเมื่อไหร่เกิดความทุกข์ เกิดความกระวนกระวาย เกิดความรู้สึกว่า ภาวะทั้งหลายนี้เราไม่อยากเอา แต่ก็พ้นไปไม่ได้ ตัวนี้เรียกว่า ความไม่พอใจ

แต่เมื่อไหร่ก็ตาม เราสามารถเห็นความไม่พอใจ เห็นภาวะกระสับกระส่าย เห็นภาวะที่จะไปข้างหน้าก็ไม่ได้ ถอยไปข้างหลังก็ไม่ได้ อยู่กับปัจจุบันมันก็กระสับกระส่าย ตัวที่เห็นอยู่นี้เรียกว่า ตัวยอมรับ ยอมรับว่ามันกระสับกระส่ายอยู่ และไปไหนไม่รอด  
ตัวยอมรับว่ามันกระสับกระส่ายอยู่และไปไหนไม่รอด ตัวนี้แหละคือ ตัวปัญญา  เป็นปัญญาอ่อนๆ คือ จุดเริ่มต้นของสติที่เห็นเข้ามาในภาวะปัจจุบันว่า จิตกำลังกระสับกระส่ายฟุ้งซ่าน เมื่อจิตมีอาการฟุ้งซ่านให้เห็นได้ และเราสามารถที่จะยอมรับได้ ความฟุ้งซ่านนั้นก็แปรปรวนไป แสดงความไม่เที่ยง แสดงความไม่เท่าระดับเดิม

ส่วนใหญ่
เนี่ยจะเจริญสติกันมากี่ปีๆ
มันก็จะไม่แม่นกัน มันจะจำตรงนี้กันไม่ได้!

หลักการสำคัญเลย
มันไม่ใช่ดูให้เห็นอะไรอย่างหนึ่งอย่างเดียวนะ
แต่ต้องสังเกตด้วยว่า อะไรอย่างนั้น
มันแสดงความไม่เท่าเดิมอยู่หรือเปล่า

อย่างเช่น ความกระสับกระส่าย ความรู้สึกไม่อยากจะยอมรับแม้ภาวะอันเป็นปัจจุบัน คือมันเกิดขึ้นกับคนที่เจริญสติกันมาทั้งนั้นแหละ รู้สึกเหมือนกับว่า เรานี่น่าสงสาร ถูกโลกบีบคั้น จริงๆบางทีไม่มีใครมาทำอะไรหรอก เราทำของเราเอง จิตมันทำของมันเอง แล้วก็รู้สึกสงสารตัวเอง รู้สึกว่าไปไหนก็ไม่รอด ต้องติดบ่วงคนโน้น ติดบ่วงคนนี้ เราสงสารคนโน้น เราสงสารคนนี้ แท้ที่จริงมันสงสารตัวเองนั่นแหละ

ความสงสารตัวเอง
ความรู้สึกกระสับกระส่าย

มันจะเป็นศัตรู
มันจะเป็นขั้วตรงข้ามกันอย่างยิ่งเลยกับ
ความสามารถในการยอมรับ

สภาพที่มันเกิดขึ้นตามจริง

พอมันยอมรับสภาพที่มันเกิดขึ้นในปัจจุบันไม่ได้
แล้วจะเอาอะไรมาสังเกต ความไม่เที่ยง
 
ที่มันกำลังปรากฏเด่นอยู่ในปัจจุบัน
มันไม่มีทาง!

แต่ถ้าหากเราเริ่มต้นขึ้นมา มีอาการยอมรับได้ ยอมรับสภาพที่มันกำลังกระสับกระส่าย กำลังว้าวุ่น กำลังสงสารตัวเองอยู่นั่นแหละ  เกิดความรู้สึกว่า เออ..มันดิ้นๆๆอยู่ เหมือนเด็กกำลังพยายามยื้อของเล่น จะเรียกร้องเอาอะไรอย่างหนึ่งให้ได้  เอาอะไร..จริงๆก็ไม่รู้ พอเห็นอาการอย่างนี้ปุ๊บ มันเกิดความสะเทือนขึ้นมาว่า เออ ภาวะแบบนี้มันเป็นแค่ภาวะหลอก เป็นแค่ภาวะปรุงแต่งไป ไม่เห็นมีอะไร แล้วมันก็จะได้มีแก่ใจสังเกตนะ

พระพุทธเจ้าให้เครื่องสังเกตมาง่ายๆเลย ที่หายใจเข้า หายใจออก อยู่ปัจจุบันนี้ มันมีความสงสารตัวเองมันมีความกระสับกระส่ายอยู่ เราก็ดูภาวะไปว่า..

การหายใจครั้งต่อไป
ภาวะสงสารตัวเอง หรือภาวะกระสับกระส่าย
มันยังอยู่หรือเปล่า?
ถ้ามันยังอยู่ ก็ยอมรับว่ามันยังอยู่  
และเปรียบเทียบไปเรื่อยๆ

อาศัยลมหายใจเป็นเครื่องสังเกต เป็นเครื่องนับ เป็นเครื่องแบ่งว่า ภาวะที่มันเคยเกิดขึ้น ที่มันเห็นตั้งแต่แรกว่ามันมีความเข้มข้นแค่ไหน มันแปรปรวนไปแล้วหรือยัง เราไม่ใช่ไปจ้องลมหายใจเป็นหลักนะ เรารู้สึกถึงลมหายใจเป็นรอง

เหมือนกับให้ลมหายใจ
มันเป็นแบ็คกราวน์ (
background)
 
แต่อาการที่มันสงสารตัวเอง
อาการที่มันกระสับกระส่าย
เป็นโฟร์กราวน์ (
foreground)
 
ไม่งั้นเราจะรู้สึกเหมือนกับว่า เออนี่..กำลังดูความกระสับกระส่าย แต่จริงๆไม่ได้ดูหรอก ไปช่วยมันปรุงแต่งต่างหาก!

หลายคนนะ
พอเกิดความกระสับกระส่าย เกิดความฟุ้งซ่านขึ้นมา
ไปท่องอยู่แต่คำว่า
เออ รู้ความฟุ้งซ่าน สักแต่รู้ไป
ท่องอยู่อย่างนี้
ท่องถูก แต่ว่าอาการทางใจมันไม่ถูก
คือเราไปให้ความร่วมมือกับมันโดยไม่รู้ตัว
!

เพราะว่าอย่างที่ผมบอกแต่แรกว่าความสงสารตัวเอง ความกระสับกระส่าย มันเป็นตรงกันข้ามอย่างยิ่งกับอาการเราจะไปยอมรับสภาพตรงนั้น  แต่ถ้าหากว่า เราเอาลมหายใจเข้ามาช่วยเป็นแบ็คกราวน์ (background)  ดูว่าครั้งนี้กับอีกครั้งหนึ่ง มันมีระดับความกระสับกระส่ายที่เพิ่มขึ้นหรือลดลง ไม่สนใจว่ามันจะเพิ่มขึ้นหรือว่าลดลงนะ สนใจแต่ว่ามันเท่าเดิมหรือเปล่า

ท่องไว้เลยว่า
ถ้าหากเราสามารถเห็นความไม่เที่ยงของสิ่งใด
สิ่งนั้นมันจะครอบงำเราไม่ได้
มันจะทำให้เราเกิดอุปาทานว่ามันเป็นเราไม่ได้

ถ้าหากว่าความฟุ้งซ่าน ความกระสับกระส่าย ความสงสารตัวเอง มันแสดงความไม่เที่ยงอยู่ ความสงสารตัวเอง..มันจะไม่สามารถทำให้เราเชื่อว่ามันคือตัวเรา ตรงกันข้าม..มันจะแสดงตัวเอง มันโชว์ตัวเองชัดเลยว่า เนี่ย มันแค่อาการปรุงแต่ง เป็นส่วนเกินไปแป๊บนึง แป๊บนึงมันก็หายไป มันก็จางลง กลายเป็นความรู้สึกเป็นอิสระจากความสงสารตัวเอง

ทีนี้คุณก็ลองดูว่า ภาวะนี้มันเกาะติดเรามาอยู่เรื่อยๆแหละ มันไปเริ่มต้นจากตรงไหนก็ช่างเถอะ แต่ว่าตอนนี้มันน้อยลงแล้ว มันน้อยลงกว่าแต่ก่อนเยอะ แต่มันก็ยังอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาที่เรารู้สึกว่าโลกน่าเบื่อ โลกเป็นสิ่งบีบคั้น โลกเป็นทุกข์ โลกเป็นอะไรที่มันไม่น่าอยู่ เกิดความอึดอัด เกิดความทรมานใจขึ้นมา

ตามหลักการในเวทนานุปัสสนา พระพุทธเจ้าให้ดูทุกขเวทนา อันเกิดจากความอยากจะพ้นไป แต่พ้นไม่ได้ หลักการดูทุกขเวทนาเป็นอย่างไร..ดูว่ามันไม่เท่าเดิม

พระพุทธเจ้าท่านสอนชัดเจนนะ
บอกว่าถ้าอยากจะดูทุกขเวทนา
อยากจะดูสุขเวทนา
ให้มนสิการอานาปานสติให้ดี
ก็คือให้ดูว่าแต่ละลมหายใจ
มันมีทุกขเวทนาอยู่เท่าเดิมหรือเปล่า

ถ้าเราได้ข้อสังเกต ได้จุดสังเกตอย่างนี้ มันมีความชัดเจนเลยว่าหลักการปฏิบัติที่เหลือ มันจะเป็นไปเพื่อเห็นทุกขเวทนาแสดงความไม่เที่ยงแน่ๆ

แต่ที่ผ่านมาพอเกิดทุกขเวทนาแล้ว มันมีอาการดิ้นรน มันเหมือนกับเราจะบอกตัวเองว่า เออ..ให้ดูมันไป แต่อีกใจหนึ่งมันไม่อยากดู ตัวนั้นมันคืออาการที่ว่า เราถูกครอบงำ เราถูกครองอยู่ด้วยความกระสับกระส่าย และก็นิสัยสงสารตัวเองแบบเดิมๆ มันกลับเข้ามามีส่วนร่วม ถึงแม้ว่ามันจะเบาบางลงไปแล้ว แต่เวลาที่มันมีความทุกข์แก่กล้าขึ้นมาจริงๆเนี่ย อาการสงสารตัวเองมันจะเข้ามาให้ความร่วมมือ มาสมทบทันที ไม่ว่าใคร..ไม่ว่าจะชายจะหญิงเนี่ยนะ โรคสงสารตัวเอง มันเกิดขึ้นได้เสมอเวลาที่ทุกขเวทนามันมีกำลังแก่กล้า  ฉะนั้นเครื่องมือที่เราจะใช้รบกับมัน ก็คืออานาปานสตินั่นเองนะ   

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น