วันศุกร์ที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

ที่มาของนิยายและชื่อตัวละคร กรรมพยากรณ์ (ดังตฤณ)

ถาม : แก่นของเรื่องเกี่ยวกับ เลือกเกิดใหม่ล่ะคะ ต้องการที่จะเน้นว่ากรรมที่เราทำอยู่ตอนนี้มันจะเป็นแรงส่งไปเป็นผลกระทบในภายภาคหน้าใช่ไหมคะ?

ดังตฤณ: 
มันมีหลายชั้นอยู่ในเลือกเกิดใหม่คือว่าทำปุ๊บได้ปั๊บก็มี ทำแล้วต้องรอการเผล็ดผลก็มี ทำแล้วต้องตายซะก่อนถึงจะรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็มี

ตอน เลือกเกิดใหม่มีความหมายมีนิยามที่ครอบคลุมทั้งเกิดใหม่ในปัจจุบันและก็เกิดใหม่ในแบบที่ร่างกายนี้มันแตกไปแล้วด้วย


ถาม : ไม่ทราบว่าวิเคราะห์ถูกหรือเปล่านะคะ อย่างณชเลเนี่ย เขาก็ปฏิบัติก็ดีอยู่แล้ว พูดก็ดีอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าการเลือกเกิดใหม่ของเขาเป็นทางความคิด เป็นมโนกรรมของเขา ใช่หรือเปล่าคะ?


ดังตฤณ: 
ตัวที่เป็นการเลือกเกิดใหม่จริงๆ เลย มีอยู่ 2 ตัวที่เป็นหลักจริงๆ คือพฤหัส กับอเวรา แล้วก็จองฤกษ์ด้วย ส่วนตัวอื่นเป็นตัวซับพอร์ท(เสริม) ส่วนณชเลเนี่ย เหมือนเขาดีของเขาอยู่แล้ว จะเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อย เขาไม่ต้องเลือกเกิดใหม่ เขาอยู่ในที่ๆ ดีอยู่แล้ว อยู่ในภาวะที่ดีอยู่แล้ว แล้วก็ในขั้นสุดท้ายแค่คิดว่า เออ...แม้แต่ยังดีที่รู้สึกว่าคนอื่นมองว่าเขาดีที่สุดอยู่แล้วนั้น เขารู้สึกว่าเขายังดีไม่พอ มันมียิ่งกว่าดีอยู่ให้ไปให้ถึง อย่างฉากสุดท้าย จะจบด้วยการพุ่งไปข้างหน้าพร้อมกัน ด้วยการนั่งไปในรถยนต์ มันก็เป็นสัญลักษณ์แทนอย่างหนึ่งของการเดินทางไปร่วมกัน แล้วก็พุ่งไปสู่เป้าหมายที่มันชัดเจนขึ้น ตรงนี้มันเหมือนกับฉากเหตุการณ์ที่หย่อนไว้ แล้วก็ให้เข้าไปอยู่ในใจคนอ่านเองว่าตอนจบมันเป็นการเดินทางไปร่วมกัน แล้วก็มีความสามารถที่จะร่วมกันร่วมมือกันสร้างพาหนะไปสู่ที่หมายเดียวกัน คือต่อให้คิดว่าจะอยู่ร่วมกันฉันชายหญิงเนี่ย มันก็มีเป้าหมายอะไรที่ดีกว่าการอยู่ร่วมกันเฉยๆได้


ถาม : อย่างจองฤกษ์เนี่ย ทำไมคุณดังตฤณถึงเลือกใช้ชื่อนี้คะ?

ดังตฤณ:
อันที่จริงก็ไม่มีความหมายเท่าไหร่หรอก แค่จะคิดชื่อให้มันดูเหมาะกับคาแรกเตอร์ ที่ออกจะมีอาการจองหอง คำว่า "จอง" นี่บางทีมันก็ไม่ได้มีความหมายตรงๆ หรอก แต่คำว่า "จองฤกษ์" พอใครเห็น ในส่วนลึกมันจะไปนึกถึงคำๆ นี้ได้ อย่างจองหองอะไรเนี่ย เพราะมันไปผูกกับคาแรกเตอร์ของจองฤกษ์ที่มีความยโสโอหัง หรือว่าความมีอีโก้(อัตตา)สูง มีความรู้ความสามารถแล้วดูถูกคนอื่น แต่ว่าคำว่าจองฤกษ์เนี่ยจะคิดว่าเป็นความหมายที่ดีก็ได้ คือว่า เมื่อไหร่ที่คิดจะเปลี่ยนแปลงตัวเอง เมื่อไหร่ที่คิดจะทำให้ชีวิตของเราดีขึ้น เราก็จองฤกษ์ของเราด้วยตัวเราเอง เพราะว่าคาแรกเตอร์จองฤกษ์ก็คือว่าอะไรๆ เนี่ยะเขาคิดได้เอง ขอให้มีแรงบันดาลใจเท่านั้นเอง ส่วนว่าเขาจะทำอย่างไร เลือกเวลาอะไรแบบไหนนั้น ทุกสิ่งทุกอย่างเขาเป็นคนกำหนด


ถาม : แล้วอย่างณชเล แปลว่าอะไรหรือคะ?

ดังตฤณ:
"ณชเล" ก็คือ ที่ทะเล นั่นเอง "ชเล" แปลว่าทะเล "ณชเล" ก็คือ ณ, ที่, อยู่ตรงที่ทะเล อันนี้ไปอ่านปณิธาณกวีของอังคาร กัลป์ยาณพงษ์ แล้วมันมีคำหนึ่งที่ใช้ในโคลงสี่ ท่านอังคารพูดถึงคำว่า "ณชเล" คือไม่ได้เป็นคำติดกันนะ ณ เว้นวรรค ชเล ก็รู้สึกว่าเป็นคำที่สวยดี ชื่อมันก็ทำให้เกิดความรู้สึก เหมือนกับผู้หญิงใสๆ เด็กผู้หญิงใสๆ ได้ สิ่งที่ชื่อแต่ละชื่อจะมีความหมายว่าเด็กคนนี้เนี่ย ถ้าคนอ่านรู้ความหมาย คือพี่พูดถึงความหมายของ ณชเล ในเรื่อง ว่าหมายถึงอยู่ที่ทะเล เกิดที่ทะเล ก็จะทำให้นึกถึงจิตของณชเล ที่เปิดกว้างเหมือนคนยืนดูทะเลอยู่ได้ ถ้าหากว่าคาแรกเตอร์ของณชเลเป็นอย่างนั้นอยู่แล้วด้วย คือมีใจที่เปิดกว้าง ให้ทาน มีความรู้สึกอยากให้ มีความรู้สึกอยากเสียสละ พูดง่ายๆ ว่าใจกว้าง เป็นคนใจกว้าง มันก็เหมือนกับทะเล แล้วพอนึกถึงคำว่า ณชเล ก็จะมีทั้งภาพที่ตัวอักษรตัวชื่อก็มีความไพเราะด้วย มันก็นึกถึงเด็กใสๆที่รู้สึกเลยว่าน่ารัก แล้วก็ในขณะเดียวกัน ก็อาจจะนึกถึงใจที่มันกว้างขวางเปรียบเหมือนทะเลด้วย คือเหมือนยืนอยู่ที่ทะเลแล้วใจกว้าง


ถาม : แล้วอย่าง พฤหัส”  "มาวันทา" และ "ลานดาว" ล่ะคะ?

ดังตฤณ:
พฤหัสมาจากความรู้ความเข้าใจอย่างหนึ่งว่าคนเกิดวันพฤหัสเนี่ยจะเป็นพวกที่ซื่อสัตย์ ไม่เจ้าชู้ แต่ว่าจะตั้งให้มันขัดแย้งกันซะอย่างนั้น มันไม่จำเป็นว่าเกิดวันไหนตามดวงแล้วจะต้องเป็นคนแบบนั้น มันมีคำพูดคำหนึ่งในคำพูดของพฤหัสก็คือว่า คนเกิดวันพฤหัสเนี่ยจะซื่อ จะจริงใจ จะรักเดียวใจเดียวอะไรอย่างนี้ พฤหัสจะพูดด้วยตัวของเขาเอง ซึ่งนั่นน่ะมันเป็นตามหลัก แต่ว่าของจริงมันจะเป็นอย่างไรก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

จริงๆแล้วคนจะเกิดวันอะไรก็แล้วแต่ สมมุติว่าเราเชื่อตามหลักการว่าเกิดวันพฤหัสจะเป็นคนซื่อ ก็หมายความว่าในอดีตเขาอาจจะรักเดียวใจเดียวแล้วไม่วอกแว่ก มาลงที่วันแบบนี้ แต่พอใช้ชีวิตใหม่ มันอาจจะมีกิเลสเพราะว่าเห็นตัวเองหล่อ เห็นตัวเองมีเสน่ห์ พอผู้หญิงมาชอบมากๆ ก็เลยกลายเป็นคนเจ้าชู้ไป ค่อยๆ เป็นค่อยๆไป ค่อยๆเปลี่ยน

ส่วน มาวันทาก็มาจากการคิดชื่อว่าจะให้มันเก๋ๆ แล้วก็ดูมีความอ่อนน้อมถ่อมตน วันทาก็ไหว้ มาวันทาก็คือมาไหว้ มันไม่ได้มีสัญลักษณ์พิเศษ

ส่วน ลานดาว” เป็นชื่อที่คิดได้ตั้งแต่สมัยวัยรุ่น แต่งเพลงไว้ชื่อเพลงลานดาว ช่วงนั้นชอบไปฝันเฟื่องกับเพื่อน เวลาคุยกับเพื่อนที่บ้านบางทีก็จะดูดาว แล้วก็วาดความฝันไปต่างๆนานา ว่าเออ...ผู้หญิงในฝันจะต้องเป็นอย่างโน้นอย่างนี้อะไรต่างๆ แล้วก็ผุดชื่อลานดาวขึ้นมา การมองไปบนฟ้าแล้วเห็นดาวมากๆ เนี่ยมันทำรู้สึกเหมือนกับ ถ้าเป็นผู้หญิงก็หมายความว่า ไม่ใช่เป็นดาวดวงใดดวงหนึ่ง แต่ว่าเป็นดาวทั้งฟ้า ทั้งผืนฟ้าเนี่ย มันทำให้เราฝันถึงผู้หญิง ก็เลยเป็นที่มาของชื่อลานดาว แต่ทีนี้ มันก็มาประกอบกับกรรมพยากรณ์ภาคแรกที่ลงตัวตรงพล๊อตเรื่องที่นางเอกมีทุกสิ่งทุกอย่างที่ผู้หญิงต้องการ แต่ว่าสิ่งที่ไม่มีก็คือความรู้สึกที่สมใจในเรื่องของความรัก ซึ่งอันนี้เนี่ย ชื่อก็กลายเป็นสัญลักษณ์ไปโดยปริยาย คือถึงแม้ว่าจะเป็นที่ใฝ่ฝันยังไง แต่สิ่งที่เป็นตัวดวงดาวเองก็ไม่ได้สมใจเสมอไป ตรงนั้นเนี่ยคนที่แหงนหน้ามองขึ้นไปจะมองไม่เห็น จะไม่เข้าใจ

ถาม : อย่างอมฤตในเรื่องเขาสามารถสะกดจิต มีความสามารถทางจิต ก็เลยตั้งชื่อว่าเป็นอมฤต?

ดังตฤณ:
อมฤตนี่จริงๆแล้วเป็นชื่อที่จะบอกว่าเป็นรสอมฤต มาจากคำว่ารสอมฤต ซึ่งลานดาวสัมผัสแล้วเหมือนกับ โอย...ได้น้ำทิพย์ชโลม หรือว่าได้กินอะไรที่ไม่เคยกินมาก่อน อร่อยอย่างที่สุดวิเศษอะไรอย่างนี้ละนะ แต่ก็พบในเวลาต่อมาว่าอะไรที่รู้สึกว่าสมใจที่สุดแล้ว มันยังมีรายละเอียดอีก มันยังมีเงื่อนไขอะไรอีก ที่จะกินได้ตลอดไปหรือเปล่า? อันนั้นก็สัญลักษณ์บอกอย่างหนึ่งว่า รสที่นึกว่าเป็นรสอมฤตเนี่ย มันต้องคนที่คู่กับรสตรงนั้นด้วย คือเหมาะที่จะอยู่กับรสตรงนั้นด้วย

ส่วนสรณะก็คือที่พึ่ง แปลว่าที่พึ่ง ซึ่งอันนี้เป็นความหมายของพระโพธิสัตว์ คือพระโพธิสัตว์จะทำตัวเป็นที่พึ่งให้กับคนอื่น จริงๆ เป็นชื่อที่คิดขึ้นมาว่าจะให้เป็นตัวเอกตัวสุดท้าย ที่แสดงว่าลานดาวเหมาะสมกับคนแบบไหน คือ ภาวะของลานดาวเนี่ยที่เป็นผู้หญิงติดตาม หรือว่าคล้อยตาม หรือว่ายินดีตามพระโพธิสัตว์ ก็คือพูดง่ายๆ ว่าอันนี้มันจะมีเรื่องของความเข้าใจในพุทธศาสนา เกี่ยวกับการบำเพ็ญบารมีของพระพุทธเจ้า ว่าต้องช่วยคน แล้วไม่ใช่ช่วยแบบเอาตัวเข้าไปช่วยอย่างเดียว มันช่วยแบบฉลาดได้ด้วย แล้วก็ที่จะเป็นสรณะหรือว่าที่พึ่งอย่างแท้จริงเนี่ย ต้องมีทั้งความมุ่งมั่น สติปัญญา อุบายอันแยบคาย ตรงนี้แหละตรงที่ลานดาวจะรักได้จริงๆ ก็คือว่าได้ทำบุญร่วมกันมาก่อนด้วย เป็นที่พึ่งของลานดาวมาก่อน เพราะว่าในคำของหมออุปการะมีอยู่ตอนหนึ่งที่บอกว่า ที่เขารวยมาอย่างนี้ รูปร่างหน้าตาดีมาอย่างนี้ ก็เพราะว่าในอดีต เคยอยู่ในครอบครัวที่ดี แล้วก็ทำบุญกันเป็นงานอดิเรกแล้วก็ได้สามีที่มานำทางถูกต้องดี แล้วหนูก็มีความยินดีอยู่กับบุญในแบบนั้นๆมาตลอด

ตรงนี้ถ้าไปบวกกับในช่วงสุดท้าย ก็จะเห็นว่าสรณะนี่เองที่เป็นคู่บุญ แล้วคู่บุญในทางนี้ก็หมายความว่า เป็นผู้ริเริ่ม อย่างบทสุดท้ายจะเห็นว่าสรณะริเริ่มโครงการอะไรเยอะแยะ แล้วก็ลานดาวก็ยินดีด้วยแล้วก็สามารถช่วยเหลือส่งเสริมสนับสนุน คือในที่สุดแล้วทำให้ทานเสมอกัน ศีลเสมอกัน แล้วก็ในส่วนของการภาวนาก็มีเหมือนๆกันด้วย อย่างจะเห็นข้อหนึ่งจริงๆว่าลานดาวเนี่ยมีความสามารถมากมาย แต่ขาดไปข้อหนึ่งก็คือคิดเอง อย่างตอนที่เขาจะเลือกทำอะไรให้ชีวิตตัวเองให้ตัวเองทำอะไรเนี่ย มาวันทาก็เป็นคนคิดให้ นี่ก็เป็นเหตุว่าจริงๆแล้วถ้าหากเรามองนะ ว่าคนเก่งคนมีความสามารถเนี่ยมีอยู่เยอะ แต่ที่คิดเองแล้วมันตรงจุดตรงเป้าเนี่ย บางทีมันมองไม่เห็น มันมองไม่เห็นตนเอง ต้องให้คนอื่นตีให้




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น